พัฒนาพฤติกรรมมนุษย์

ชื่อผลงานทางวิชาการ : พัฒนาพฤติกรรมมนุษย์

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนวิชาพัฒนาพฤติกรรมมนุษย์

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558 – 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งวิชาการ  : นางสาวปัญจนาฎ วรวัฒนชัย ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : หนังสือเล่มนี้มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะเป็นแนวคิดในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีระบบตามแนวทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเกณฑ์การแบ่งไว้ อาทิเช่น แนวคิดทวินิยม (Dualism) แนวคิดเอกนิยม (Monism) และมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนา

       พฤติกรรม หมายถึง การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ภายใต้กลไกของความรู้สึกนึกคิดของตนเอง มีหลายประเภท อาทิเช่น พฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก ปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ อาทิเช่น ปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น

       ปัจจัยส่งเสริมความเข้าใจตนเองและผู้อื่น ได้แก่ อัตมโนทัศน์ การเห็นคุณค่าแห่งตนและการเปิดเผยตนเองกระบวนการพัฒนาตนเองเป็นหน้าที่หลักของมนุษย์ ประกอบด้วย แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตนเอง หลักการพัฒนาตนเองมี 3 แนวทาง ได้แก่ พัฒนาตนเองเชิงการแพทย์ ตามแนวคิดจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม เป็นต้น

       สุขภาพและการปรับตัว การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์มีหลายด้าน อาทิเช่น ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ-การงาน ด้านชีวิตครอบครัวและด้านเพื่อนร่วมงาน เทคนิคการจัดการความเครียดของมนุษย์ มีลักษณะบางประการ อาทิเช่น แยกแยะสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด และแยกแยะผลกระทบของสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด เป็นต้น กลวิธีในการปรับตัวของมนุษย์ ได้แก่ กลไกในการเผชิญปัญหา กลไกป้องกันตนเอง และปฏิกิริยากลบเกลื่อน

       จิตตปัญญาศึกษาและจิตสาธารณะ การเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษา มีการฝึกการใช้ชีวิตทั้งฐานกาย ฐานใจและฐานปัญญา ส่วนจิตสาธารณะเป็นความสำนึกต่อส่วนร่วมเป็นลักษณะหนึ่งของจิตสาธารณะ คือ การตระหนักและคำนึงถึงส่วนระบบร่วมกัน ความสำคัญของจิตสาธารณะ คือ การที่คนมาอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีความสัมพันธ์ในรูปแบบการพึ่งพากันและวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางปัญญา เพื่อพัฒนาจิตสาธารณะสามารถทำได้โดยการใช้บทบาทสมมติกับตัวแบบ ฯลฯ เป็นต้น

       การบริหารตนเองเป็นการจัดการกับตนเองให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิต การพัฒนาพฤติกรรมกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมของมนุษย์ มี 3 รูปแบบ ได้แก่ แสดงออกแบบก้าวร้าว ไม่กล้าแสดงออก และกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม

       การติดต่อสื่อสาร คือ กระบวนการถ่ายทอดข้อมูล ข่าวสาร ข้อเท็จจริง ความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึกจากผู้ส่งไปยังผู้รับ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลจะเกิดขึ้นเมื่อมีกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่าง 2 คนขึ้นไป

       ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์สัมพันธ์มี 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีวิเคราะห์การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และทฤษฎีหน้าต่างหัวใจของ โจว – แฮรี่ รูปแบบการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมมีรูปแบบที่ 1 คือ หลีกเลี่ยง รูปแบบที่ 2 แบบพิธีการ รูปแบบที่ 4 การพูดคุยสนทนา รูปแบบที่ 5 เกม และรูปแบบที่ 6 ความใกล้ชิด เทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์มีวิธีการดังนี้ การทักทายผู้อื่น ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ ฯลฯ เป็นต้น การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคลทั่วไปในสังคม คือ สร้างกับคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว คนขลาดกลัว คนดื้อรั้นและคนก้าวร้าว

จุดเด่น / ความน่าสนใจของสาระเนื้อหา : การแบ่งเกณฑ์ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ประกอบด้วย

1. แนวคิดทวินิยม ประกอบด้วย กายและจิต มี 3 แนวคิดย่อย คือ ลัทธิปฏิสัมพันธ์ ลัทธิคู่ขนานและลัทธิผลพลอยได้

2. แนวคิดเอกนิยม ประกอบด้วย กายและจิตเป็นสิ่งเดียวกัน สามารถอธิบายรูปแบบของกิจกรรมทางสองได้หมด

3. มนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา ร่างกายมีองค์ประกอบ 5 อย่าง คือ ขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม

       หลักธรรมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เรียกหลักธรรม 7 ประการ ได้แก่ ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ อัตถัญญุตา รู้จักผล อัตตัญญุตา รู้จักตน ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นคุณธรรมที่มนุษย์สามารถประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง มนุษย์เรามีการกระทำที่เรียกว่า พฤติกรรม จึงแบ่งพฤติกรรมตามลักษณะได้ 4 ลักษณะ ได้แก่ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากการเรียนรู้ พฤติกรรมปกติ และพฤติกรรมอปกติ

ปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ 4 ปัจจัย เช่น

       ปัจจัยทางชีวภาพ ร่างกายของมนุษย์เกิดการปะทะสัมพันธ์ระหว่างระบบสรีรวิทยาของร่างกายกับสิ่งเร้าภายนอก ปัจจัยทางด้านสังคมเป็นการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น กาลเวลา ฯลฯ เป็นต้น วิธีศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ทำได้โดย การสังเกตการณ์สำรวจ การทดสอบและการวัด ศึกษาสหสัมพันธ์ ศึกษาอัตชีวประวัติและการทดลอง การประเมินพฤติกรรมโดยตรงสามารถทำได้หลายวิธีอาทิเช่น การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมตนเอง บันทึกพฤติกรรมผู้อื่น ประเมินตนเองจากการสังเกตและบันทึก นอกจากนั้นศึกษาพฤติกรรมจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น สิ่งแวดล้อมก่อนเกิด กับหลังเกิด เป็นต้น หลักการในการพัฒนาตนเองมี 3 แนวทาง ได้แก่ พัฒนาตนเองเชิงการแพทย์ อวัยวะของร่างกาย เป็นต้น

       หลักการพัฒนาตนเองตามแนวทางพุทธศาสนาประกอบด้วย 3 ประการ คือ ทมะ สิกขา และภาวนา หลักการพัฒนาชีวิตที่ดีงามถูกต้องมี 7 ประการ คือ เลือกแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี รู้จักระเบียบชีวิต มีแรงจูงใจสร้างสรรค์ พัฒนาให้เต็มศักยภาพ ปรับเจตคติและค่านิยม มีสติ กระตือรือร้นและรู้จักแก้ปัญหา พึ่ง พาตนเองได้ ขั้นตอนพัฒนาตนเอง

ขั้นที่ 1 การสำรวจ – พิจารณาตนเอง รับรู้สภาพการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์จุดเด่น-จุดบกพร่อง ของตนเองต่อจากขั้นที่ 1

ขั้นที่ 3 การกำหนดปัญหาและพฤติกรรมเป้าหมาย มีสภาพใดควรปรับปรุง เกิดจากสาเหตุใด เช่น ปัญหาเกิดจากความคิด อารมณ์ ความรู้สึก

ขั้นที่ 4 รวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเลือกเทคนิคที่จะปรับปรุงต่อไป

ขั้นที่ 5 การเลือกเทคนิค วิธีและการวางแผนปรับปรุงตนเอง อาจใช้การฝึกหัดได้

ขั้นที่ 6 การทดลองปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ควรทำเป็นระยะๆ ตามเวลาที่ระบุไว้

ขั้นที่ 7 การประเมินและขยายผลการพัฒนาตนเองวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า

       กลวิธีในการปรับตัวของบุคคล ได้แก่ กลไกการเผชิญหน้าหรือการตอบโต้ปัญหาหรือบุคคล เช่น การร้องไห้ หัวเราะ ฯลฯ เป็นต้น กลไกป้องกันตนเอง เป็นวิธีลดความเครียด ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ หรือปกป้องตนเอง จะเป็นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้ จึงเป็นความสามารถทางอารมณ์ที่จะช่วยให้การดำเนินงานของชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : สาระของหนังสือการพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์เล่มนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน ทุกอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพครู อาชีพให้บริการ (ธุรกิจ) ฯลฯ เป็นต้น เพราะจะทำให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ เพิ่มความสำเร็จบังเกิดประสิทธิผลในงานสูงมาก

       ด้านการให้ความรู้ โดยเฉพาะการให้การศึกษาผู้ใหญ่ จะสามารถปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ วิธีการ แปลความหมายได้ง่ายจากพฤติกรรมที่แสดงออก โดยใช้วิธีศึกษาจิตปัญญา เพื่อมุ่งมั่นให้เกิดการพัฒนาด้านจิตและการคิด เพราะจิตตปัญญา เป็นกระบวนการจัดการศึกษาที่มุ้งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยการพัฒนาจากด้านจิตและความคิดของมนุษย์

       โดยการใช้กิจกรรมจิตปัญญาจะช่วยย้อนพิจารณาถึงประสบการณ์หรือกิจกรรมที่ผ่านมา เพื่อน้อมนำไปสู่ใจ ใคร่ครวญด้วยใจนำไปพัฒนาให้ดีขึ้น จะช่วยให้บุคคลมีการเปลี่ยนแปลง 3 ขั้นตอน เริ่มจากการตระหนักต่อกระบวนการคิด เข้าใจความรู้สึกของตนต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวบุคคลจะปรับเปลี่ยนความคิดจะช่วยให้เกิดมโนทัศน์เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งสาระดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการบริหารตนเองได้ และกล้าแสดงออกทางพฤติกรรมอย่างเหมาะสม เช่น การบริหารเวลา การอ่อนน้อมถ่อมตน การคิดเชิงบวก โดยเริ่มจากมองตนเองว่าดี หาข้อดี มองคนอื่นว่าดี มองสิ่งที่เหลืออยู่ไม่ใช่สิ่งที่ขาดหาไป หมั่นบอกตัวเองและใช้ประโยชน์จากคำว่า ขอบคุณ

       สำหรับการนำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด วางแผน เตรียมการติดต่อสื่อสาร ศึกษาอุปนิสัยใจคอ ความต้องการและตำแหน่งของผู้ที่เราจะติดต่อสัมพันธ์ด้วย

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขากลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางจุติมา รัตนพลแสนย์ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และคณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การพัฒนาหมายถึง การทำให้เจริญงอกงามเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งดีกว่าเดิมอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาของสังคมหรือประเทศต้องมีแผนหรือแนวทางของการพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทางและควบคุมการดำเนินการพัฒนาให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ การพัฒนาในบริบทของสังคมไทยจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ

       การศึกษาเป็นปัจจัยสำหรับด้านต่างๆ ทุกด้าน ช่วยในการวางแผนกำลังคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ตรงตามเป้าหมาย การพัฒนาการศึกษาให้กับประชาชนของประเทศจึงต้องมีแผนหรือแนวทางของการพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทาง ประชาชนต้องมีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยของการบริหารประเทศด้วย

       การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มี 2 แนวทาง คือ แนวอนุรักษ์นิยม พัฒนามนุษย์ให้มีความรู้คู่คุณธรรมและแนวเสรีนิยม พัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้มีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติ กระบวนการพัฒนามี 4 ด้าน คือ ด้านกาย ศีล จิตและปัญญา

       การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นผลมาจากแบบจำลองการพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาที่เน้นทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการใช้และกอบโกยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติขนานใหญ่ ก่อให้เกิดมลภาวะในลักษณะต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโดยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักในการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ การธำรงรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ แนวคิดและแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย แนวคิดการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การพัฒนาคุณภาพด้วยคุณธรรมนำความรู้ แนวทางการจัดการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการพัฒนาตามแนวพระพุทธศาสนา

       บทบาทของการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาในบทบาทของกลไกการพัฒนาบุคคล การถ่ายทอดวัฒนธรรมและเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ แนวคิดการพัฒนากับการศึกษาไทยในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาโดยการเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมและประโยชน์ โดยการปรับบทบาทภาครัฐมาเป็นผู้กำกับนโยบาย แผน มาตรฐานและส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน และการกระจายอำนาจการบริหารไปยังสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาให้มีอิสระ คล่องตัว ฐานะเป็นนิติบุคคล

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอนเล่มนี้มีสาระสำคัญหลายประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 กล่าวถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาซึ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ ประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กล่าวถึงลักษณะเด่นของแต่ละแผน และจุดเน้นของการพัฒนาดังนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (2504-2509) เป็นเครื่องมือรวบรวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศกับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 (2510-2514) ให้ความสำคัญกับหลักพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง ฯลฯ เป็นต้น

       แผนพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์นั้นเป็นการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยขึ้นอยู่กับแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจด้านการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านการศึกษา คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2475 , 2478 , 2503 , 2512 , 2520 , 2535 , 2545 – 2559, 2552 – 2559 พบปัญหาจากการพัฒนาว่าต้นเหตุที่จะขจัดปัญหาการพัฒนาที่ไม่พึ่งประสงค์คือ ต้องเสริมสร้างความเข็มแข็งด้วยการพัฒนามนุษย์เพราะการพัฒนามนุษย์ต่างจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

       การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบยั่งยืน เรียกว่า ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการอนุรักษ์โลกโดยมีวัตถุ 3 ประการ คือ การธำรงรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ โดยเน้นการพัฒนาที่ท้องถิ่นและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งการพัฒนาที่มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสม การพัฒนาแบบยั่งยืน หมายถึง รูปแบบการพัฒนาที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความขาดแคลนหรือเกิดภาวะมลพิษซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Sustainable Development แนวคิดการอนุรักษ์ได้ผนวกเข้ากับการจัดทำแผนพัฒนาประเทศทำให้เกิดแนวทางพัฒนาแบบใหม่ คือ การพัฒนาแบบยั่งยืน กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทุกสาขา ดังที่ปัจจุบันแนวความคิดในการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทุกสาขา โดยที่แต่ละระบบสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายของตนเองได้ทั้งนี้เป้าหมายของระบบทางชีววิทยา คือ การนำไปสู่ความหลากหลายของพันธุกรรม (Genetic –Enhancing ) และมีสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามแนวความคิดของ Brown และ Barbier กล่าวถึง ลักษณะพึงประสงค์ชัดเจน ประกอบด้วยด้านระบบชีววิทยา ด้านระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมแนวคิดและแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย พัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การพัฒนาคุณภาพคนด้วยคุณธรรมนำความรู้ ฯลฯ เป็นต้น สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาตามการพัฒนาแนวพุทธศาสนานั้นได้นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้หรือประยุกต์ในการบริหารและพัฒนาผู้เรียน เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ เช่น รูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นระบบพัฒนาไตรสิกขาด้านปัญญา จิตใจและพฤติกรรม

ประเด็นที่ 2 กล่าวถึงบทบาทของการศึกษากับการพัฒนาว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นเรื่องชีวิตมนุษย์เพราะเป็นวิถีแห่งการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถสรุปบทบาทของการศึกษาได้ดังนี้ 1) บทบาทของกลไกการพัฒนาบุคคล 2) กลไกถ่ายทอดวัฒนธรรม 3) เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ ปัจจุบันเป็นยุคสังคมแห่งการเรียนรู้จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมและกำหนดเงื่อนไข ปัจจัยที่เหมาะสม วัตถุประสงค์ในการแบ่งระบบการศึกษา 6 ประการ คือ ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ตลอดช่วงอายุอย่างต่อเนื่อง สามารถเทียบโอนในระหว่างรูปแบบเดียวกันและต่างรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น แนวทางในการจัดการศึกษาในแต่ละรูปแบบมีการศึกษาในระบบ ประกอบด้วย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษานอกระบบไม่แบ่งระดับและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ประเด็นที่ 3 แนวคิดการพัฒนากับการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้คำนึงถึงการดำเนินงานตามนโยบายแห่งรัฐ สำหรับแนวทางในการพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้มีการขยายรูปแบบการเรียนการสอนมุ่งให้เด็กเรียนให้รู้ ฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบเข้าใจและควบคุมตนเองได้ สร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนให้มีความพร้อมด้านสติปัญญา อารมณ์และศีลธรรม ภายใต้ระบบการศึกษาทั้งปฏิบัติและวิชาการ นอกจากนี้ยังเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง จนเกิดนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้กับห่วงโซ่เป็นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : นอกจากทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นนั้น ยังพบว่าหนังสือเล่มนี้มีจุดอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนกับการจัดการศึกษาในสังคมที่กล่าวถึงกระแสการพัฒนาและสภาพเศรษฐกิจย่อมมีผลทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาและทวีความรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นปัญหาของสังคมในทุกๆ สังคม อาทิเช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทารุณแรงงานเด็กและสตรี ปัญหาธุรกิจบริการทางเพศ ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และปัญหาภาวะวัยเจริญพันธุ์และประชากรสูงวัย ดังนั้นการศึกษาจำเป็นต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกด้าน หลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนในการจัดการศึกษาต้องสนับสนุนและส่งเสริมหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เข้มแข็งเป็นความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ศักยภาพของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่พบปัญหาอุปสรรคของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย อาทิเช่น การยกระดับความตระหนัก การนำเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรจุในหลักสูตร และการพัฒนานโยบาย ฯลฯ เป็นต้น

       กลยุทธ์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระตุ้นให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสำคัญ 2 ประเด็น คือ ความซับซ้อนและพลังความร่วมมือระหว่างประเด็นที่คุกคามความยั่งยืน เป็นต้น

       การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของไทยมุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย เพื่อให้เกิดกรเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ ทัศนคติ ระบบความเชื่อต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมของบุคคลเพราะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนวิชาการศึกษา

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : พิมพ์ที่ บริษัท สหธรรมิก จำกัด กรุงเทพฯ โดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางจุติมา รัตนพลแสนย์ และคณะ ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : การจัดการเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร สืบเนื่องมาจากประสบการณ์และการฝึกหัด เป็นกระบวนการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์กัน แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ สิ่งเร้า การสัมผัส การรับรู้ มโนทัศน์และการตอบสนอง องค์ประกอบที่สำคัญต่อการรับรู้มีทางกาย ทางจิตใจและด้านสังคม

     ทฤษฎีการเรียนรู้แบ่งเป็น ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบแสดงอาการการกระทำ ทฤษฎีการเชื่อมโยง กลุ่มทฤษฎีความคิดความเข้าใจหรือทฤษฎีสนาม และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

     รูปแบบการจัดการเรียนการสอน 5 หมวด ได้แก่ เน้นพัฒนาด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย ด้านทักษะพิสัย ด้านกระบวนการและประสบการณ์

     การออกแบบการเรียนการสอนและการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ คือ การประยุกต์ใช้วิธีสอนโดยครู เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การออกแบบเป็นวิธีการสอนหลักก่อน และเสริมยุทธวิธีรองและต้องรู้จักเลือกเนื้อหา การออกแบบจะเริ่มต้นจากการกำหนดวัตถุประสงค์ ต่อไปออกแบบกิจกรรม และทำการวัดและประเมินผล ในการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ ต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนดำเนินการเขียนแผนการสอน ซึ่งประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และบันทึกผลการจัดการเรียนรู้

     หลักสูตรบูรณาการมีการผสมผสานสาระตั้งแต่สองกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสองวิชาขึ้นไป ขั้นตอนการสร้างหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ได้แก่ กำหนดหัวเรื่อง ทำเครือข่ายความคิด จัดเรียงลำดับเนื้อหาและทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่อง เพื่อนำไปวางแผนการจัดการเรียนรู้ การเลือกใช้สื่อการเรียนรู้มีบทบาทมากในการจัดการเรียนการสอน สื่อการสอนแบ่งได้ 4 ลักษณะ ได้แก่ สื่อการเรียนรู้ตามทรัพยากรการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้แบ่งตามกระบวนการพัฒนาความคิดตามทฤษฎีของบรูเนอร์ สื่อการเรียนรู้แบ่งตามประสบการณ์การเรียนรู้ ที่ผู้เรียนได้รับและสื่อการเรียนรู้แบ่งตามโครงสร้างของสื่อ

     การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้และส่งผลต่อประสิทธิภาพของผู้เรียน หลักการจัดชั้นเรียนต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นความความเหมาะสม สร้างเสริมความรู้ทุกด้านโดยการจัดอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม จัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น สภาพแวดล้อมทางกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ : กล่าวถึง ทฤษฎีการเรียนรู้มี 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning Theory) เป็นการทดลองของ    พาพลอฟ (Ivan P.Pavlov) เป็นการกำหนดสิ่งเร้าก่อนวางเงื่อนไข ทดลองกับสุนัข ใช้เสียงกระดิ่งเป็นสิ่งเร้าและสามารถสร้างกฎการเรียนรู้จากทฤษฎี ได้ดังนี้ คือ ต้องมีการเสริมสร้างแรงการลบพฤติกรรม ฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ ฯลฯ เป็นต้น

2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบแสดงอาการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ของสกินเนอร์ (Burshus F.Skinner) ทดลองกับหนูและนกพิราบ กล่าวถึง พฤติกรรมคือการกระทำของอินทรีย์แสดงออกมาจากสิ่งแวดส้อม

3. ทฤษฎีเชื่อมโยง (Connectionism Theory) ของเอ็ดเวิด ลี ธอร์นไดด์ (Edward Lee Thorndike) เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง คือ การแก้ปัญหา

4. กลุ่มทฤษฎีความคิด ความเข้าใจหรือทฤษฎีสนาม (Cognitives Field Theory) ทดลองกับลิงซิม แพนซี การเรียนรู้แบบหยั่งรู้หรือหยั่งเห็น

5. ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning or Observational Learing or Modeleling Theory) ของอัลเบิร์ต แมนดูรา (Albert Bendura) เชื่อว่าพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการสังเกตและเลียนแบบบุคคลที่สนใจหรือผู้ใกล้ชิด

     รูปแบบและเทคนิคการจัดการเรียนการสอนมี 5 หมวด คือ รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นพัฒนาด้านพุทธิสัยมี 5 รูปแบบ เช่น การสอนมโนทัศน์ การสอนเน้นความจำ ฯลฯ เป็นต้น รูปแบบการเรียนการสอนเน้นการพัฒนาด้านจิตพิสัยมี 3 รูปแบบ เช่น การสอนตามแนวคิดการพัฒนาด้านจิตพิสัยของบลูม และการสอนใช้บทบาทสมมติ ฯลฯ เป็นต้น รูปแบบการสอนที่เน้นการพัฒนาด้านทักษะพิสัยมี 3 รูปแบบ ได้แก่ พัฒนาทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันและปฏิบัติตามองค์ประกอบของทักษะ เป็นต้น รูปแบบการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการมี 4 รูปแบบ คือ สอนแบบสืบสอบและแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม และการสอนกระบวนการคิดอุปนัย ฯลฯ เป็นต้น และรูปแบบการสอนที่เน้นการบูรณาการมี 4 รูปแบบๆ ได้แก่ รูปแบบการสอนโดยตรง โดยการสร้างเรื่อง ฯลฯ เป็นต้น

     การออกแบบการจัดการเรียนรู้ ต้องเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ ออกแบบกิจกรรมและวัดและประเมินผลการออกแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพมากเรียกว่า Backward Design คือ การออกแบบย้อนกลับ 3 ขั้นตอน  คือ กำหนดเป้าหมายปลายทาง กำหนดการประเมินผล และออกแบบการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการสอนที่ช่วยให้ครูสามารถจัดกระบวนการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของนักเรียน องค์ประกอบของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ได้แก่ สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อแหล่งการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ ในการจัดการเรียนการสอนสามารถใช้บูรณาการ คือ การจัดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาในทางศาสตร์จัดเนื้อหาผสมผสานกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน เพราะการบูรณาการเป็นการผสมผสาน การเชื่อมโยงทำให้กลมกลืน สมดุลหรือสมบูรณ์ โดยใช้วิธีการบูรณาการแบบหลอมรวมหรือแบบสอดแทรก แบบคู่ขนาน แบบสหวิยาการ และแบบเชื่อมโยงข้ามวิชา เริ่มจากการกำหนดหัวเรื่อง (Theme) ทำเครือข่ายความคิด (Web) หรือยังความคิด (Concept Map) หรือยังกราฟฟิค (Graphic Organisers) จัดเรียงลำดับเนื้อหา ทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปวางแผนการจัดการเรียนรู้และวางแผนการจัดการเรียนรู้

     การเลือกและการใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญมากกับการจัดการเรียนรู้ นำมาใช้จัดกิจกรรม ซึ่งสื่อการเรียนรู้แบ่งเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ การเรียนรู้ตามทรัพยากรการเรียนรู้ สื่อตามกระบวนการพัฒนาความคิดตามทฤษฎีของบรูเนอร์และสื่อตามลักษณะโครงสร้างของสื่อ หลักการเลือกสื่อใช้สื่อต้องเหมาะสม เชื่อถือได้ น่าสนใจ การรวบรวมและความสมดุล คุณภาพด้านเทคนิคและราคา สำหรับการวางแผนการใช้สื่อต้องเริ่มจากการเตรียมตัวผู้สอน การเตรียมสภาพแวดล้อม การเตรียมความพร้อมผู้เรียน ต้องใช้ตามแผนการเรียน และการประเมินการใช้สื่อการเรียนรู้ และขั้นตอนการใช้สื่อ เริ่มจากการนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นดำเนินการสอนหรือประกอบกิจกรรม ขั้นวิเคราะห์และฝึกปฏิบัติ ขั้นสรุปบทเรียนและขั้นประเมินผู้เรียน

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือวิชาการเล่มนี้ สามารถนำเนื้อหาสาระไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้ทุกเนื้อหา ทุกรายวิชา โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่สำคัญมาก ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนด้วย โดยเฉพาะผู้สอนต้องจัดกระทำทุกอย่าง ในห้องเรียนให้เป็นระบบระเบียบที่ดี เพราะการจัดชั้นเรียน คือ การจัดสภาพห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์และกิจกรรม รวมทั้งวิธีการในการจัดการพฤติกรรมของเด็กด้วย เพื่อรักษาบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เด็กจะเกิดความร่วมมือในกิจกรรมการเรียนรู้ได้

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

สัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี

สัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี

Morphology of Leuangawn Rice in Prachinburi Province

รัชนู แก้วแกมเกษ* วันทนี สว่างอารมณ์** และ ภัทรภร เอื้อรักสกุล**

Ratchanoo Keawkamked, Wantanee Sawangarom and Pattaraporn Uraksakul

Abstract

Thai rice cultivars are essential food crops for consuming dealing since in the past to present. This research is experimental research has an objective to study the morphology of Leuangawn Rice in Prachinburi Province. The methodology of this research was surveyed and interviewed the farmer to collect data and used the experiment to grow plant rice. Data analysis used descriptive statistics and the qualitative data used content analysis. The researcher planted in experimental plots to study the morphology since June to December 2015 and recorded pattern according to the rice research institute, Department of Agriculture, Ministry of Agriculture and Cooperatives. The result showed that the rice germination period to rice grains were 144 days. Their lamina and leaf sheath were green. Their stipules were white and clump of rice were straight. The period of seedling field to flowering were 95 to 110 days. The one hundred paddy seeds were weighed. It was found that Leuangawn the most maximum weight was 5.10 g while the minimal weight was of 2.60 g. Some characteristics from a variety may be useful in rice breeding program in the future. To maintain the Prachinburi native rice varieties should be conservation for utilization and dissemination of their knowledge.

Key word: Leuangawn Rice / Morphology / Prachinburi Province

* นิสิต วท.บ.ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** อาจารย์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

ข้าวเป็นพืชที่คนไทยปลูกเพื่อบริโภคและเพื่อการค้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี วิธีการวิจัยโดยการสอบถาม สัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผู้วิจัยนำข้าวมาปลูกในแปลงทดลอง ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ตามสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าตั้งแต่ข้าวงอกถึงออกรวงใช้ระยะเวลา 144 วัน มีแผ่นใบและกาบใบสีเขียว สีของหูใบสีขาว ข้าวส่วนใหญ่ทรงกอตั้ง จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอกส่วนใหญ่ 95 110 วัน น้ำหนัก 100 เมล็ดข้าวเปลือกของเหลืองอ่อนหนักมากที่สุด 5.10 กรัม ข้าวเหลืองอ่อนเบาที่สุด 2.10 กรัม ซึ่งลักษณะบางลักษณะของข้าวอาจจะเป็นที่ต้องการหรือมีความจำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอนาคต ควรมีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ข้าวพื้นเมืองปราจีนบุรี หากไม่ได้รับการเรียนรู้และอนุรักษ์ไว้อาจสูญไปจากท้องถิ่นได้

คำสำคัญ: ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน / สัณฐานวิทยา / จังหวัดปราจีนบุรี

 

บทนำ

       ข้าว เป็นพืชล้มลุกจัดอยู่ในวงศ์หญ้า (Family Poaceae) สกุล ออไรซา (Oryza) สันนิษฐานว่าข้าวมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีป Gondwanaland(นิลวรรณ เพชรบูระณิน, 2548) ปัจจุบันมีข้าวปลูกอยู่สองชนิด คือ Oryza sativa ซึ่งถือเป็นข้าวเอเชีย และ Oryza glaberrima ซึ่งถือเป็นข้าวแอฟริกา(Chang, 1979,Morishima et al.,1980) ประเทศไทยเป็นแหล่งที่ปลูกข้าวมาแต่โบราณกล่าวคือ มีเมล็ดข้าวถูกขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงว่ามีการปลูกข้าวในบริเวณนี้เมื่อประมาณ 3,000-3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ข้าวคือผลผลิตที่เกิดจากความวิริยะอุตสาหะของชาวนาไทย ข้าวจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันและอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอมา ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง นับว่าเป็นความหลากหลายทางด้านพันธุกรรม (Genetic diversity) ลักษณะดีบางอย่างในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเป็นฐานพันธุกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้พันธุ์ดีในอนาคต ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน ข้าวจึงไม่ใช่เพียงอาหารหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ โดยในปีพ.ศ. 2547 ประเทศไทยส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 108,393.3 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวสารร้อยละ 93 และผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ข้าวสำเร็จรูป และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ7 (นิลวรรณ เพชรบูระณิน, 2548) ข้อมูลปัจจุบัน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปี 2558 ที่ส่งออกไปทั้งหมด 9.79 ล้านตันลดลงจากปี 2557 ที่เคยส่งออกได้ 10.97 ล้านตัน ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 2 รองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้ 10.2 ล้านตัน ส่วนเวียดนามเป็นเบอร์ 3 ส่งออกได้ 6.46 ล้านตัน ในด้านมูลค่าส่งออกไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 4,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 15.2% จากปี 2557 ที่ส่งออกได้ 5,439 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกข้าว 2558 ปี ไทยเสียแชมป์ให้อินเดีย, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 มกราคม 2559, สมาคมส่งออกข้าวไทย,2559)

 

วิธีการทดลอง

       วิธีการศึกษาประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลและเก็บข้อมูลในพื้นที่ศึกษาวิจัย การนำเมล็ดพันธุ์มาทำการทดลองปลูก ณ ห้องปฏิบัติการ สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดังนี้

 

การเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายของข้าวพันธุ์พื้นเมือง

       ประชุมคณะผู้วิจัยร่วมกับชุมชนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยและกำหนดขอบเขตการสำรวจตลอดจนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความหลากชนิดของข้าวพันธุ์พื้นเมือง สำรวจความหลากหลาย และพื้นที่เพาะปลูกตลอดจนแหล่งที่มาของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี

 

การทดลองปลูกข้าวเหลืองอ่อน

       การเพาะปลูกข้าว นำเมล็ดพันธุ์ข้าวห่อด้วยผ้าขาวบางนำไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นจากน้ำและนำไปผึ่งลมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวเริ่มงอกเตรียมดิน ใส่ถุงดำสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวตัวอย่างละ 15 ต้น ระยะห่างในระหว่างปลูก 5x5 เซนติเมตร ปลูกในอัตรา 1 ต้นต่อหลุมให้ปุ๋ยและน้ำรวมทั้งการกำจัดวัชพืชตามความเหมาะสมเมื่อต้นข้าวถึงระยะแตกกอ เริ่มบันทึกข้อมูลลักษณะทางกายภาพ และสัณฐานวิทยาจำนวน 40 ลักษณะ ตามแบบบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว ดัดแปลงจากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร(อรพิน วัฒเนสก์, 2550) ดังนี้

 

การบันทึกลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมือง

1. ระยะกล้า บันทึกลักษณะของความสูงของต้นกล้า

2. ระยะแตกกอเต็มที่ บันทึกลักษณะของการมีขนบนแผ่นใบ สีของแผ่นใบ สีของกาบใบ มุมของยอดแผ่นใบ สีของลิ้นใบ รูปร่างของลิ้นใบ ความยาวเยื่อกันน้ำฝน สีของหูใบ สีของข้อต่อใบกับกาบใบ สีของปล้อง ทรงกอ

3. ระยะออกรวง บันทึกลักษณะของจำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก มุมของใบธง ความยาวของลำต้น จำนวนหน่อ มุมหรือลักษณะกอ สีของปล้องด้านนอก การชูรวง หางข้าว สีของหางข้าว สีของยอดเมล็ด การแตกระแง้

ผลการทดลอง

      จากการเก็บข้อมูลข้าวสายพันธุ์เหลืองอ่อนซึ่งเป็นข้าวที่อยู่ในพื้นที่ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี โดยทำการศึกษาข้าวสายพันธุ์เหลืองอ่อนตั้งแต่การเริ่มเพาะเมล็ดจนกระทั่งออกรวงจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มีการตรวจสอบการเจริญเติบโตของข้าวในแต่ละสัปดาห์ และบันทึกลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมืองพบว่าระบบรากเป็นแบบรากฝอย (fibrous root system) ประกอบด้วยรากที่พัฒนามาจากส่วนแรดิเคิล (radicle) เรียกว่า primary root หรือ first seedling root และรากที่แตกแขนงออกมาเรียกว่า secondary root หรือ lateral root รากที่เกิดจาก scutellar node เรียกว่า seminal root ส่วนรากที่เกิดจากข้อใต้ดินตั้งแต่ coleoptilar node ขึ้นไป เรียกว่า adventitious root ในการศึกษาครั้งนี้มีค่าเฉลี่ยความยาวรากพืชอยู่ในช่วงประมาณ 12.56 เซนติเมตร มีการเจริญของลำต้นแบบแตกเป็นกอสัน การแตกกอจะเริ่มประมาณเมื่อข้าวอายุ 10 วันหลังปักดำ และจะถึงจุดการแตกกอสูงสุดเมื่ออายุ 50 – 60 วันหลังปักดำ โดยลำต้นข้าวมีความยาวเฉลี่ย 199.5 เซนติเมตร ค่าลำต้นสูงที่สุดและต่ำสุดคือ 203.0 และ 196 เซนติเมตร มีการแตกแขนง (tiller) โดยจะแตกออกจากลำต้นหลัก (main culm) โดยแตกในลักษณะสลับข้างกัน (alternate pattern) และมีสันตรงขอบ 2 สัน ความยาวเฉลี่ย 18.52 เซนติเมตร ใบข้าวมีความยาวเฉลี่ย 94 เซนติเมตร ค่าใบสูงที่สุดและต่ำสุดคือ 96 และ 92 เซนติเมตร  ลิ้นใบมีลักษณะเป็นแผ่นรูปร่างแหลม ยาว 1 – 1.6 เซนติเมตร มักแยกออกจากกัน แผ่นใบเรียบจนถึงมีขนกระจายทั่วแผ่นใบ มีลักษณะสีเขียว แผ่นใบใต้ใบธงมีลักษณะทั้งตั้งตรงและนอน สีของข้อต่อใบกับกาบใบมีสีเขียวอ่อน ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ยาว 8 – 35  เซนติเมตร ผลยาว 4.5 7 มิลลิเมตร กว้าง 2.3 – 3.5 มิลลิเมตร รูปร่างส่วนใหญ่มักเป็นรูปทรงคล้ายรูปไข่ รูปรี หรือ ทรงกระบอก รวงข้าวมีขนาดความยาวสุด 31.5  เซนติเมตร และขนาดสั้นสุดยาว 22.50 เซนติเมตร  จำนวนเมล็ดสูงสุดเฉลี่ยต่อ 1 รวงข้าวคือ  88.5 เมล็ด ใน 1 รวง จำนวนเมล็ดมากที่สุด 114 เมล็ด และเมล็ดน้อยที่สุดใน 1 รวงคือ 63 เมล็ดโดยมีระยะการเจริญเติบโตของข้าวเหลืองอ่อน สรุปได้ดังภาพที่ 1 ภาพที่ 2

อภิปรายและสรุปผลการวิจัย

      สรุปผลการวิจัย การทดลองปลูกข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนตั้งแต่ข้าวงอกถึงออกรวงใช้ระยะเวลา 144 วัน มีแผ่นใบและกาบใบสีเขียว สีของหูใบสีขาว ข้าวส่วนใหญ่ทรงกอตั้ง จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอกส่วนใหญ่ 95 110 วัน น้ำหนัก 100 เมล็ดข้าวเปลือกของเหลืองอ่อนหนักมากที่สุด 5.10 กรัม ข้าวเหลืองอ่อนเบาที่สุด 2.10 กรัม

      ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนเป็นข้าวเฉพาะถิ่นที่มีปลูกในอำเภอประจันคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นข้าวนาปี โดยจะเริ่มปลูกข้าวประมาณเดือนเมษายน (ช่วงที่ฝนเริ่มตก) เนื่องจากวิธีการทำนาโดยการหว่านสำรวย (ไม่มีการนำเมล็ดข้าวแช่น้ำก่อนปลูก) เมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะตกอยู่ตามซอกก้อนดินและรอยไถ เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดได้รับความชื้นก็จะงอก(ความรู้เรื่องข้าว, 2534)  ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนเป็นข้าวเจ้า ขึ้นน้ำ ไวต่อช่วงแสง กาบใบและปล้องสีเขียว เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียว(งานวิจัยของกองวิจัยและพัฒนาข้าว, 2555)  ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนมีนิเวศน์การปลูกประเภทข้าวขึ้นน้ำ จะปลูกในนาที่มีน้ำท่วมขัง มีระดับน้ำลึก 1-3 เมตร ลักษณะพิเศษของข้าวเหลืองอ่อนคือ มีความสามารถในการยืดปล้อง (internode elongation ability) จึงทำให้ต้นข้าวมีลักษณะสูงสามารถหนีน้ำได้ น้ำจึงไม่ท่วมจนต้นข้าวเน่าตาย นับเป็นลักษณะที่ดีของข้าวพื้นเมืองพันธุ์นี้ สอดคล้องกับการศึกษาของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว(2546) ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดที่ลักษณะกายภาพของเมล็ดไม่ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งลักษณะดีที่ต้องการบางอย่างอาจจะมีในข้าวพันธุ์พื้นเมือง(จารุวรรณ บางแวก และคณะ, 2532) ลักษณะทางสัณฐานวิทยาข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนคือ กอตั้ง ใบสีเขียว รวงแน่นปานกลาง ใบธงตั้งตรง ระแง้ถี่ปานกลาง คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางและข้าวกล้องเมล็ดยาวเรียวคล้ายคลึงกับการศึกษาของสมพงษ์ ชูสิริ(2546) กาบใบสีเขียว ยอดเกสรสีขาว เป็นข้าวเจ้า ไม่มีลักษณะสีอื่นปรากฏตามส่วนต่างๆ ของต้นข้าว(เปรมกมล มูลนิลตา และคณะ, 2557) ผลผลิตของข้าวพื้นเมืองค่อนข้างต่ำ ข้าวคุณภาพต่ำ จึงทำให้ขายได้ราคาต่ำ แต่เมล็ดข้าวเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี เนื่องจาก ข้าวสารเมล็ดเรียวยาว แต่คุณภาพที่เป็นข้อด้อยของข้าวพื้นเมืองพันธุ์นี้คือตรงที่คุณสมบัติของข้าวที่หุงสุกแข็ง กล่าวคือลักษณะเมล็ดข้าวไม่ค่อยอ่อนนุ่ม รสชาติจึงไม่ค่อยอร่อย กลุ่มผู้บริโภคจึงไม่ค่อยต้องการ จึงมีผู้ปลูกข้าวพันธุ์นี้น้อยมากสอดคล้องกับผลกาศึกษาของสำเริง แซ่ตัน(2546)

ข้อเสนอแนะ

      ในการทำการวิจัยในครั้งนี้ซึ่งเป็นการศึกษาสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในเขต จังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้วิจัยเล็งเห็นว่า ในปัจจุบันชาวนาไทยของเราแทบจะไม่ใช่วิธีการทำนาแบบเก่าเลย วิธีที่บรรพบุรุษเราทำกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ในปัจจุบันแทบไม่มีให้เราได้เห็น ชาวนาไทยในปัจจุบันใช้เงินลงทุนเยอะขึ้น ควายหมดบทบาทในการทำนา เพราะถูกแทนที่ด้วยรถไถนา อุปกรณ์ที่ใช้ทำนาโดยใช้ควายชาวบ้านขายไปเสียหมด มีเหลือให้ดูเป็นบางส่วนไม่ครบทุกชิ้น การลงแขกหรือวานจะทำได้ลำบากขึ้น หากทำได้ก็ใช้ทุนสูงขึ้น ความสามัคคี เสน่ห์ความสวยงามของวิถีชีวิตเกษตรกรลดลง มีการใช้สารเคมีในการทำนามากขึ้นภูมิปัญญาทางด้านความเชื่อเช่นการเรียกขวัญข้าวแทบจะสูญหายไปการทำนาเน้นเพื่อเงินมากกว่าที่จะทำเพื่อไว้กิน เกษตรกรย้ายถิ่นฐานออกไปประกอบอาชีพอื่นมากขึ้น เหลือผู้สูงอายุกับเด็กเฝ้าบ้านเป็นส่วนมาก คนทำการเกษตรน้อยลง เนื่องจากขายที่ดินทำกิน หรือเปลี่ยนอาชีพ ผู้วิจัยจึงอยากจะฝากถึงชาวนาไทยในปัจจุบันให้เล็งเห็นขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ  ของบรรพบุรุษเราไว้บ้าง เพราะจะได้เป็นการอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราได้เรียนรู้กันในอนาคต

ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. การอนุรักษ์ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน สามารถอนุรักษ์ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนไว้ได้โดยชาวนาควรมีการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวไว้ รัฐบาลควรมีการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพื่อไม่ให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองสูญหายไป ควรลดเลิกการใช้สารเคมีเพื่อไม่ให้ข้าวกลายพันธุ์ การอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีการทำนาแบบดั้งเดิม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าข้าวพื้นเมือง รวมทั้งสร้างค่านิยมในการบริโภคข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้กว้างขวาง หน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์และส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองควรเข้ามาให้ความรู้แก่ชาวนาและสนับสนุนในเชิงอนุรักษ์ บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรเน้นการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าการปลูกข้าวพันธุ์ผสมเชิงธุรกิจ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการฟื้นฟูรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองระดับตำบล โดยนำพันธุ์ที่เคยสูญหายกลับคืนมาปลูก

2. ภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวพื้นบ้าน ควรมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สาธิต รวมทั้งมีการจัดพิธีทำขวัญข้าวเนื่องในโอกาสต่างๆ เพื่อรื้อฟื้นให้บททำขวัญข้าวไม่เลือนหายไป หรือจัดทำเป็นวิดีทัศน์และภาพยนตร์เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นวัฒนธรรมการปลูกข้าวของจังหวัดปราจีนบุรีไว้

3. ถ้าเกษตรกรจะเลิกปลูกข้าวพันธุ์นี้ ในขณะที่ชาวนายังปลูกข้าวอยู่นั้น แทนที่จะปลูกข้าวอย่างเดียว ควรปลูกพืชอย่างอื่นด้วย หรือกล่าวคือภาครัฐต้องทำให้ชาวนามีรายได้จากส่วนอื่นด้วย

4. ในการทำวิจัยข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนควรนำเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถช่วยในการวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมในระดับโมเลกุลเพื่อความแม่นยำและถูกต้องมากขึ้นและได้ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่ตรงตามสายพันธุ์ไปใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การนำข้าวพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สนับสนุนงานทุนวิจัยเรื่องนี้

 

เอกสารอ้างอิง

กองวิจัยและพัฒนาข้าว. (2555). พันธุ์ข้าวรับรอง ปี 2555. วารสารกรมการข้าว กรุงเทพฯ, 1(1), 8-11.

จารุวรรณ บางแวก สุวัต นาคแก้ว และ ประโยชน์ เจริญธรรม. (2532). เอกสารวิชาการ การศึกษา ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองในเขตศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี. ปราจีนบุรี: ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 12-17.

ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ. (2543). ข้าวพื้นเมืองไทย. เอกสารวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อ พันธุ์ข้าวแห่งชาติ. ปทุมธานี: ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 5-9.

ดำรง ติยวลีย์ และ กระจ่าง พันธุมนาวิน. (2512). เอกสารทางวิชาการเลขที่ 2 การศึกษาพันธุ์ข้าว ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย.เชียงใหม่: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ดำเนิน กาละดี และศันสนีย์ จำจด, (2543), ความหลากหลายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของข้าวก่ำพันธุ์ พื้นเมือง รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องพันธุศาสตร์การปรับปรุงพันธุ์และโภชศาสตร์เกษตร ขอข้าวเหนียวดำ.เชียงใหม่: สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 12-  18.

ธนพร ขจรผล ณรงฤทธิ์ เภาสระคูและ ชลธิรา แสงศิริ. (2555). วารสารวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 43(2): 601-604.

นิลวรรณ เพชรบูระณิน.(2548). พลังแห่งเอนไซม์บำบัด. กรุงเทพฯ: ฟุลเลอร์ ดิคซี. 220 หน้า.

นันทิยา พนมจันทร์ และ วิจิตรา อมรวิริยะชัย. (2554). ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำทะเลน้อย 215 จังหวัดพัทลุง โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด. วารสารหาดใหญ่วิชาการ. 9: 25-31.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์.(2559). ส่งออกข้าว 2558 ปี ไทยเสียแชมป์ให้อินเดีย. 27 มกราคม 2559.

วาสนา ผลารักษ์. (2523). ข้าว. ขอนแก่น: ภาควิชาพืชไร่คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.141 หน้า.

วิไลลักษณ์ พละกลาง. (2541). ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทย. ปราจีนบุรี: ศูนย์วิจัยข้าว ปราจีนบุรี. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 472 หน้า.

สมพงษ์ ชูสิริ. (2546). ข้าวเจ้าพันธุ์พัทลุง. ค้นเมื่อ 2 เมษายน 2559, จาก http://slbkb.psu.ac.th/xmlui/handle/2558/1768

สำเริง แซ่ตัน. (2546). ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและ พัฒนาข้าวกรมการข้าว.

. (2553). ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและ พัฒนาข้าวกรมการข้าว.

อรพิน วัฒเนสก์. (2539). การรวบรวม อนุรักษ์ ประเมิน ลักษณะและจัดหมวดหมู่ข้าวพื้นเมืองในเขตศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก.พิษณุโลก: ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สถาบันวิจัย ข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์. 215 หน้า.

อรพิน วัฒเนสก์. (2550). การประเมินลักษณะประจำพันธุ์ข้าวตามแบบบันทึกมาตรฐานของสถาบันวิจัย

ข้าวนานาชาติ. เอกสารประกอบการอบรม เรื่อง การจำแนกและประเมินลักษณะเชื้อ พันธุกรรมข้าว”. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าวเขตจตุจักร.

อรวรรณ สมใจ จรัสศรีนวลศรีและ ไพศาล เหล่าสุวรรณ. (2553). ความหลากหลายทางพันธุกรรมของ ข้าวพื้นเมือง บริเวณลุ่มน้ำนาทวีจังหวัดสงขลา โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด และเครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์.วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 41: 89-97.

Chang, T.T., Bardenas, E.A. and Rosario, A.C. (1979). The Morphology and Varietal Characteristic of the Rice Plant. Technical Bulletin 4. Los Banos, Laguna: International Rice Research Institute. 38 pp.

Morishima, H., Y. Sano and H. I. Oka. (1980). Condition for regenerating success and its variation in common wild rice. Tokyo: National Institute of Genetics.

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ภาครัฐ (Human Resource Management in the Public Sector)

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การบริหารทรัพยากรมนุษย์ภาครัฐ (Human Resource Management in the Public Sector)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายพยนต์ เอี่ยมสำอาง ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRM) เป็นการจัดการทรัพยากรคน เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง สามารถปฏิบัติงานจนก่อให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ต่อสังคมได้มากมาย เริ่มตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก การบรรจุและแต่งตั้ง การพัฒนา การประเมินผลการปฏิบัติงาน การจัดสวัสดิการและการให้พ้นจากการปฏิบัติงาน ผู้บริหารพนักงานจะต้องทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายต่างมีความสำคัญและสัมพันธ์กัน ผู้บริหารจะต้องสนับสนุนการทำงานเต็มศักยภาพ

       ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีหลักการ รูปแบบและวิธีการบริหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาทางวิชาการ ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์อาจจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ระบบคุณธรรมและระบบอุปถัมภ์

       สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี แนวคิดทฤษฎีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ แนวคิดการจัดการยุคคลาสสิค มี 3 แนวคิด คือ การจัดแบบวิทยาศาสตร์ แบบกระบวนการและแบบระบบราชการ ส่วนแนวคิดการจัดการยุคพฤติกรรมศาสตร์มีหลายประเภท เช่น แบบมนุษย์สัมพันธ์ แบบสังคมศาสตร์ และแบบพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น กระบวนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์มีขั้นตอนสำคัญดังนี้ การกำหนดทิศทางขององค์การ การคาดการณ์อุปสงค์กำลังคน การคาดการณ์อุปทานกำลังคน และการกำหนดความต้องการทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น เทคนิคการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วย เทคนิคเดลฟาย เทคนิคการพยากรณ์แนวโน้ม เทคนิคการพยากรณ์จากหน่วยงานภายในองค์กรและการสร้างภาพจำลอง กำลังแรงงาน

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : ผู้บริหารและพนักงานจะต้องทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญและสัมพันธ์กัน ผู้บริหารจะต้องสนับสนุนการทำงานเต็มศักยภาพ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้ คือ ช่วยให้พนักงานพัฒนาตนเองเต็มที่มีความสุขจากการทำงาน องค์การเจริญก้าวหน้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์การต้องสรรหาคนที่มีคุณภาพที่เหมาะสมกับงานและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ พนักงานสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเป็นกระบวนการเชื่อมโยงหลายส่วนระหว่างเป้าหมายของบุคคลกับเป้าหมายขององค์การไปสู่ทิศทางเดียวกัน

       วัตถุประสงค์ของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสรรหาเลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความประพฤติดี ใช้ประโยชน์ของบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุดรักษาไว้เพื่อให้อยู่กับองค์การนานๆ และเพิ่มพัฒนาสมรรถภาพอย่างต่อเนื่อง สรุปบริหารเพื่อให้ได้คนเก่ง คนดีและมีความสามารถเข้ามาทำงาน การบริหารราชการแผ่นดินของไทยต้องมีบุคลากรคือ ข้าราชการเป็นผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 มาตรา 5 กล่าวว่า การแบ่งราชการออกเป็นส่วนๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้กำหนดตำแหน่งและเงินเดือน โดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงานของส่วนราชการนั้นๆ ไว้ด้วยการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นการบริหารงานบุคคลในระบบราชการไทยต้องมีกฎหมายรองรับประกอบด้วย ประเภทของราชการ มีข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ได้แก่ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับพนักงานราชการ คือ บุคคลได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ ได้แก่ พนักงานราชการทั่วไปกับพนักงานราชการแบบพิเศษและตำแหน่งของพนักงานราชการจำแนกตามลักษณะงานและผลผลิตของงาน คือ กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิค กลุ่มงานบริหารทั่วไป กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะและกลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ

       ความแตกต่างระหว่างการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของรัฐกับเอกชนในด้านต่างๆ อาทิเช่น ด้านกฎหมาย ด้านการใช้กำลังคน การเลือกสรรคน ความมั่นคงในตำแหน่งและความรับผิดชอบต่อประชาชน ข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมือง หมายถึง บุคคลที่ปฏิบัติงานของรัฐ มีโอกาสก้าวหน้าจนกว่าจะออกจากงาน ซึ่งลักษณะสำคัญของข้าราชการประจำมี 5 ประการ คือ การมีหลักประกันความมั่นคง อยู่ภายใต้กฎแห่งความสามารถการมีโอกาสเท่าเทียมกัน มีความเป็นกลางในทางการเมืองและมีองค์กรกลางจัดระเบียบและควบคุม

       ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ จำแนกเป็น 2 รูปแบบ คือ ระบบคุณธรรม (Merit System) จำแนกได้ 4 ประการ ได้แก่ หลักความเสมอภาค (Equality of Opportunity) หลักความสามารถ (Competence) หลักความมั่นคง (Security on Ienure) และหลักความเป็นกลางทางการเมือง (Polical Neutrality) และระบบอุปถัมภ์ (Patronage System)

       การใช้ระบบคุณธรรมการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทำให้องค์การได้คนที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาปฏิบัติงานและบุคลากรก็จะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากผู้บริหารด้วยความเป็นธรรมตามหลักเกณฑ์ที่แน่นอน กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การกำหนดความต้องการทรัพยากรมนุษย์ การตอบสนองความต้องการของทรัพยากรมนุษย์และการธำรงรักษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะฉะนั้นกระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการธำรงรักษาพัฒนาจนถึงการพ้นตำแหน่ง นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 – 2559)

       ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการนำแนวคิดทฤษฎีขององค์การมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่แนวการจัดการแนวคลาสสิค หรือสมัยเดิม การจัดการแนวพฤติกรรมศาสตร์ การจัดการเชิงปริมาณและการจัดการสมัยใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

       ความสำคัญของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญ ได้แก่ ความสำคัญต่อองค์การและความสำคัญต่อผู้บริหาร วัตถุประสงค์ของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ 5 ประการ คือ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่ต้องการให้จำนวนที่ต้องการพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ให้สามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆ ขององค์การได้ และเพื่อใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฯลฯ เป็นต้น ความจำเป็นที่ต้องการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ดังนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองระดับโลก การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและค่านิยมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความสำเร็จในการจัดทำแผนทรัพยากรมนุษย์มีปัจจัยสำคัญกำหนดความสำเร็จไว้ดังนี้ คือ ความมุ่งมั่นและเอาใจใส่ของผู้บริหารระดับสูง งานข้อมูล การมีส่วนร่วมของหน่วยงานในองค์การและการรายงาน ติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ เทคนิคการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ อาทิเช่น เทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) เทคนิคการพยากรณ์แนวโน้ม (Tread Technique) เทคนิคการพยากรณ์จากหน่วยงานภายในองค์การและเทคนิคการสร้างภาพจำลองกำลังแรงงาน (Model)

       การบรรจุและแต่งตั้ง ภายหลังการสรรหาและคัดเลือกบุคคลได้แล้ว เป็นการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการว่าจะรับบุคคลใดเป็นพนักงาน ควบคู่ไปกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง จึงเป็นการมอบหมายภารกิจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามคำบรรยายลักษณะงานให้พนักงานใหม่สอดคล้องตรงกับความรู้ ความสามารถของบุคคลนั้น ขณะเดียวกันผู้ได้รับการบรรจุแล้วควรปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบตามหน้าที่ของตนและควรมีพัฒนาตนเองตลอดเวลา หลักของการแต่งตั้งข้าราชการจะต้องคำนึงถึงหลักประกันความมั่นคง (Security of Lenure) หลักความเสมอภาค (Rule of Competence) หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) และหลักความเสมอภาคในโอกาส (Equality of Opportunity)

       การเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนไทยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับข้าราชการแต่ละประเภท โดยมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เป็นเสมือนพระราชบัญญัติกลางที่กฎหมายบริหารงานบุคคลฝ่ายพลเรือนยึดเป็นแนวและมาตรฐาน โดนยึด ก.พ. เป็นบรรทัดฐานการเลื่อนตำแหน่งมีหลายวิธี อาทิเช่น การสอบแข่งขัน การสอบคัดเลือก โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ความประพฤติ ประวัติการรับราชการและความเหมาะสมกับตำแหน่งเป็นเกณฑ์

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญ : องค์การเมื่อสรรหาคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับตำแหน่งที่เหมาะสม แต่ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการดำเนินงานในทุกตำแหน่ง จึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยวิธีการฝึกอบรม

       การฝึกอบรม หมายถึง การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ความชำนาญและเปลี่ยนแปลงเจตคติ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงาน โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูง การฝึกอบรมถือว่าเป็นงานส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร ซึ่งต้องดำเนินการอย่างไม่หยุดยั้ง การฝึกอบรมมีหลายประเภท อาทิเช่น การฝึกอบรมปฐมนิเทศ การฝึกอบรมการทำงาน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับนักบริหาร เป็นต้น สำหรับวิธีการฝึกอบรมมี 3 วิธี ได้แก่ วิธีการบอกกล่าว (Telling Method) เช่น การบรรยาย (Lecture) การประชุมอภิปราย (Conference) การศึกษากรณีตัวอย่าง (Case Study) และการสัมมนา (Seminar) วิธีการกระทำ (Doing Method) เช่น การระดมสมอง (Brainstorming) การทดลองเรียนงาน (Understudies) การสอนแนะ (Coaching) และการประชุมกลุ่มซินดิเคท (Syndicate) และวิธีการแสดง (Showing Method) เช่น การสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) การแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) การสาธิต (Demonstration) และการศึกษาดูงานนอกสถานที่ (Field Trip)

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือเล่มนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในองค์การของรัฐ วิสาหกิจ ธุรกิจ แม้แต่ธุรกิจหรือกิจการต่างๆ ที่มีบุคลากรปฏิบัติงาน ที่เป็นระบบนายจ้าง ลูกจ้าง โดยเฉพาะการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง การพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง การพิจารณาปรับปรุงสมรรถภาพของผู้ปฏิบัติงานให้ดีขึ้น การพิจารณาความดีความชอบประจำปี จะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง จะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรแต่ละคนก่อนว่า มีความรู้ความสามารถหรือคุณลักษณะที่เหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ พิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาว่าได้มาตรฐานเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ ฉะนั้นการประเมินผลงานจึงมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นองค์การของรัฐ บุคลากรมีทั้งข้าราชการ พนักงาน บุคลากรและเจ้าหน้าที่ หลักในการประเมินผลการปฏิบัติงานถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารทุกระดับ ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการประเมินเป็นอันดับแรก ต้องเลือกใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารด้วย ต้องแจ้งผลการประเมินให้พนักงานทุกคนทราบและต้องทำอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่อง

       กระบวนการในการประเมินผลการปฏิบัติงานมีขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอน คือ กำหนดวัตถุประสงค์ในการประเมิน กำหนดแบบและลักษณะงานที่จะประเมิน กำหนดตัวผู้ประเมินและทำการอบรมผู้ทำการประเมิน กำหนดวิธีการประเมินและการวิเคราะห์และการนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้

       ในปัจจุบันพบว่า การประเมินผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย มีปัญหาสามารถสรุปได้ว่า เกิดจากตัวผู้ประเมินขาดการตัดสินใจ เช่น ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากความคล้ายคลึงกับตน ความผิดพลาดจากการเปรียบเทียบ และผู้ประเมินมีความโน้มเอียงในการกำหนดแบ่งระดับการประเมิน เช่น การให้คะแนนต่ำ สูง ปานกลาง จึงไม่สามารถแยกคนดีและไม่ดียากและความผิดพลาดจากการให้คะแนน ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ความผิดพลาดยังเกิดจากเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินและพฤติกรรมการเมืองในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

       แนวทางแก้ไขสามารถกระทำได้ เช่น ถ้าเกิดจากตัวผู้ประเมิน ควรจัดให้เกิดการอบรมผู้ประเมินก่อน เป็นต้น นอกจากนั้นแก้ไขที่ระบบและเกณฑ์การประเมินของหน่วยงานควรเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีมาตรฐานเชื่อถือได้สำหรับ เครื่องมือการประเมิน ควรเลือกใช้เครื่องมือการประเมินของหน่วยงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ต้องผสมผสานกับข้อมูลข่าวสารที่ใช้ในการประเมิน ควรจัดให้มีคลังข้อมูล (Data Warehouse) เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศและพฤติกรรมทางการเมืองนั้น ช่วยทำให้เกิดความแม่นยำและยุติธรรมโดยฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน

       ความมุ่งหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คือ การให้บุคลากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรโดยใช้ความรู้ความสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันนี้พบบุคลากรจะมีความรู้ความสามารถเพียงใดก็ตามจะมีปัญหาเรื่องความประพฤติ ซึ่งการควบคุมความประพฤติของบุคลากร โดยส่วนใหญ่ได้แก่ กฎหมาย หากผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษและยังถูกควบคุมความประพฤติ โดยวินัยของข้าราชการอีกด้วยเพราะวินัยขององค์การราชการนั้น หมายถึง ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ซึ่งใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงานราชการ จึงสรุปว่า ข้าราชการต้องสนับสนุนการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญด้วยบริสุทธิ์ใจ สุภาพเรียบร้อย เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา อุทิศเวลาให้แก่ราชการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประพฤติชั่ว รักษาและปฏิบัติตามธรรมเนียมของราชการและต้องรักษาความลับของทางราชการ

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

วิธีการวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์

ชื่อผลงานทางวิชาการ : วิธีการวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชาวิธีวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายสุรศักดิ์ โตประสี ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การวิจัยเป็นเรื่องของการศึกษา การค้นคว้าหาคำตอบอย่างละเอียดรอบคอบต่อประเด็นคำถามที่กำหนดขึ้นไว้ก่อน โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องหรือไม่ ลักษณะสำคัญ คือ การมุ่งหาคำตอบตั้งจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์มีระเบียบแบบแผนและมีการวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น แนวคิดพื้นฐานในการวิจัย หมายถึง ความเชื่อหรือความเชื่ออันเป็นพื้นฐานของการวิจัยมี 2 แนวทาง คือ ปรัชญาปฏิฐานนิยมและปรัชญาในกลุ่มคัดค้านปฏิฐานนิยม

       ลักษณะของความรู้ที่จริงมี 3 ระดับ คือ ข้อเท็จจริง ความจริง ความเป็นจริง ซึ่งต้องมีจรรยาบรรณของการวิจัย เช่น ต้องซื่อสัตย์ มีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ ต้องมีพันธกรณีหรือข้อตกลงทำไว้ก่อนและต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาที่ทำการวิจัย การจำแนกประเภทของการวิจัย ได้แก่ จำแนกตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย จำแนกตามประโยชน์ของการใช้ จำแนกตามลักษณะวิชาและจำแนกตามวิธีการรวบรวมข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น

       การจำแนกตามชนิดของข้อมูล ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณที่มุ่งศึกษาที่เป็นปริมาณ สามารถแจงนับได้อาศัยเทคนิคทางสถิติมาวิเคราะห์ เช่น ค่าเฉลี่ย ฯลฯ เป็นต้น ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เป็นคุณลักษณะไม่สามารถแจงนับได้ เป็นการวิเคราะห์เชิงข้อมูลเชิงคุณลักษณะ เช่น การตีความ เป็นต้น

       กระบวนการวิจัยมี 8 ขั้นตอน เช่น กำหนดหัวข้อวิจัย ทบทวนวรรณกรรมและกำหนดตัวแปร กำหนดวัตถุประสงค์และตั้งสมมติฐาน ออกแบบงานวิจัย ฯลฯ เป็นต้น

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ : ได้เขียนรายละเอียดในการวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์ ในการกำหนดหัวข้อวิจัยหรือการกำหนดปัญหาในการวิจัย ต้องพิจารณาให้ชัดเจน เพราะปัญหา/ข้อสงสัยจะนำไปสู่การหาคำตอบ เทคนิคการกำหนดปัญหามี 2 ประการ คือ นักวิจัยมักขาดความรู้ทางด้านทฤษฎีหรือวิชาการของเรื่องเรียกว่าขาด Theoretical Reference และขาดความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเรื่องที่จะวิจัย เรียกว่าขาด Empirical Reference สำหรับการประเมินค่าของปัญหาการวิจัย ควรพิจารณาว่าปัญหาเร่งด่วน จำเป็นเพราะต้องการแก้ไขและหาคำตอบ มีความเป็นไปได้ว่าวิจัยแล้วสามารถบรรลุความสำเร็จในการหาคำตอบ และปัญหานั้นผู้วิจัยมีความถนัดสามารถวิจัยให้สำเร็จคุ้มค่าภายใต้ทรัพยากรที่มี ฯลฯ เป็นต้น สำหรับการกำหนดหัวข้อให้มีความเป็นกลาง กำหนดขอบเขตการวิจัยให้ชัดเจน เป็นต้น และควรเขียนวัตถุประสงค์เป็นประโยคบอกเล่าไม่ใช้คำถาม สำหรับการทบทวนวรรณกรรม คือ การค้นคว้าศึกษา รวบรวมประมวลและสังเคราะห์ผลงานทางวิชาการ เพื่อศึกษาความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะวิจัย โดยเฉพาะแนวคิด ฯลฯ เป็นต้น ประกอบด้วย หนังสือ หนังสืออ้างอิง วารสาร จุลสาร วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ ฯลฯ เป็นต้น

       การวิจัยตัวแปรจัดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นประเด็นต้องศึกษาหาคำตอบ การศึกษารูปแบบตัวแปรของความสัมพันธ์พบว่าตัวแปรอิสระกับตัวแปรตามมีทิศทางสัมพันธ์กันทั้งทางบวกและลบ เพราะตัวแปรคือ สิ่งต่างๆ หรือสัญญาลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ปรากฏในประเด็นที่ต้องศึกษา การวัดและคุณสมบัติที่ดีของการวัด คือ การแปรสภาพความคิดหรือตัวแปรซึ่งลักษณะเป็นนามธรรม การวัดเป็นสิ่งสำคัญของการวิจัยมีประโยชน์ อาทิ เช่น มีความสามารถในการเปรียบเทียบการควบคุม การนำเอาวิธีทางสถิติมาใช้ และความมีวัตถุวิสัยของการวิจัย ซึ่งการวัดต้องมีคุณสมบัติที่ดี คือ ความถูกต้องในเชิงเนื้อหาและโครงสร้าง เป็นต้น เพราะการวัดเป็นกระบวนการแปรสภาพความคิดหรือตัวแปรที่มีลักษณะเป็นนามธรรม

       กรอบแนวคิดและสมมุติฐานในการวิจัยเป็นภาพรวมของการวิจัยที่ระบุขอบเขตและความสัมพันธ์ของตัวแปร สามารถสร้างกรอบแนวคิดได้หลายระดับ ซึ่งมี 3 ประเภท ได้แก่ แบบพรรณนาความ แบบสมการและแบบแผนภาพ สำหรับสมมติฐานการวิจัย คือ ข้อเสนอ เงื่อนไขหรือหลักการที่สมมติฐานขึ้นเพื่อระบุความสัมพันธ์กันเชิงเหตุผล เพื่อทดสอบข้อเท็จจริง เกณฑ์การตั้งสมมติฐาน ประกอบด้วย นิรนัย (Declucibility) ทดสอบได้ (Testability) มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสามารถค้นพบ สรุปได้ เหมาะสมไม่กว้างหรือแคบเกินไป เป็นต้น

       ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง หมายถึง กลุ่มหรือหน่วยงานที่ศึกษาหรือหน่วยในการวิเคราะห์ ประชากรมี 2 ประเภท คือ ประชากรที่นับได้ กับประชากรที่มีจำนวนอนันต์ (มากจนไม่สามารถนับได้) สำหรับกลุ่มตัวอย่าง คือ ส่วนหนึ่งของประชากรที่เลือกมาศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ดีมีลักษณะใกล้เคียงประชากรมากที่สุด มีความเป็นตัวแทนของประชากรและใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างให้เหมาะสม โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น คือ สุ่มแบบง่าย กับการสุ่มแบบเป็นระบบ การสุ่มแบบแบ่งชั้นและการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น มีวิธีการสุ่มแบบบังเอิญ แบบเจาะจง แบบโควตาและแบบบอกต่อหรือบอลหิมะ

       การเก็บรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นขั้นตอนที่สำคัญ มีข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) คือ การสำรวจข้อมูลภาคสนามด้วย การสัมภาษณ์ สนทนากลุ่มและสังเกตการณ์จริงในพื้นที่ กับการทดลองเพื่อควบคุมตัวแปร กับการใช้ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) เป็นข้อมูลผ่านการวิเคราะห์ประมวลมาแล้ว เช่น รายงานการประชุม สถิติที่รวบรวมไว้ ประวัติบุคคล หนังสือพิมพ์ วารสารและผลงานทางวิชาการจัดเป็นบุคคลหรือหน่วยงาน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลในแนวทางเชิงปริมาณ 2 ประเภท คือ การใช้แบบสอบถามกับการใช้แบบทดสอบ สำหรับสถิติในการวิจัย คือ การให้ค่าต่างๆของลักษณะที่รวบรวมหรือคำนวณจากกลุ่มตัวอย่างแสดงเป็นสัญลักษณ์ คือ ค่าเฉลี่ย () ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S) ค่าความแปรปรวน (X2) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) และค่าสัดส่วน (P)

       การเขียนรายงานการวิจัยต้องถูกต้องและเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งข้อมูลต้องตรงกับวัตถุประสงค์การวิจัย ใช้ภาษาให้ถูกต้อง ฯลฯ เป็นต้น สำหรับรูปแบบการเขียนทำได้โดยการนำเสนอโดยบทความ เสนอรูปแบบตารางเสนอโดยกราฟหรือแผนภูมิ โครงสร้างการเขียนรายงานวิจัยประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่องและส่วนอ้างอิง

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : เอกสารประกอบการสอนเล่มนี้มีประโยชน์มากสำหรับนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ นิสิต นักศึกษาเพราะมีการนำเสนอตัวอย่างไว้ตั้งแต่ตัวอย่างการพิมพ์หน้าบทคัดย่อและหน้าปกใน ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตัวอย่างการพิมพ์สารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ เริ่มจากขนาดของกระดาษ การจัดหน้า การลำดับเลขหน้า

นอกจากนี้ยังเสนอแนะนักวิจัยตั้งแต่เริ่มการเขียนโครงการวิจัยเกี่ยวกับสภาพจริง เรียกว่า “คำถามเชิงวิจัย” ส่วนประกอบเค้าโครงสารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ เริ่มจาก ชื่อเรื่อง ชื่อผู้ทำวิจัย บทที่ 1 (บทนำ) ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ สมมุติฐาน(ถ้ามี) ขอบเขตการวิจัย ฯลฯ เป็นต้น บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (แนวคิดและทฤษฎี) บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัยและบรรณานุกรม

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

ความหลากหลาย การวิเคราะห์พันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของข้าวพันธ์พื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ความหลากหลายการวิเคราะห์พันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ภัทรภร เอื้อรักสกุล, วันทนี สว่างอารมณ์ และ จรัญ ประจันบาล

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

[email protected] และ [email protected]

INTRODUCTION


 

ข้าว (Oryza sativa) เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในประเทศไทยเป็นอย่างมาก การพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่ดี มีประสิทธิภาพ ให้ผลผลิตมากและมีคุณภาพเมล็ดที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งพันธุกรรมข้าวที่ดี พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีเนื่องจากมีความหลากหลาย มีบางลักษณะเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นจากการคัดเลือกพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนานจนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ของประเทศ มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเหมาะแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปจึงนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต้องสูญไป อีกทั้งจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่ที่ยังมีการปลูกข้าวอยู่มาก

โครงการวิจัยเรื่อง ความหลากหลาย การวิเคราะห์พันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี นี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
2. ศึกษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
3. ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี

METHODS


1.ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง
สืบค้น ออกแบบสอบถาม สำรวจเพื่อศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

2. ศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
สืบค้น ออกแบบสอบถาม สอบถาม สำรวจ และเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางชนิดในเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา

3. ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
(พะยอม โคเบลลี่ วราพงษ์ ชมาฤกษ์ และพูนศักดิ์ เมฆวัฒนากาญจน์, 2550)

3.1 สกัดดีเอ็นเอจากใบของข้าวที่คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางชนิดที่พบในเขตพื้นที่ศึกษา
3.2 ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของดีเอ็นเอ
3.3 ทดสอบโมเลกุลเครื่องหมายเพื่อใช้ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าว
3.3.1) ออกแบบโมเลกุลเครื่องหมายที่ใช้ตรวจสอบ (Wanchana et al., 2003)
3.3.2) ทำปฏิกิริยาลูกโซ่ (polymerase chain reaction)
3.3.3) วิเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอในตำแหน่งที่สนใจที่เพิ่มจำนวนได้ด้วยเทคนิคพีซีอาร์แยกความแตกต่างของขนาดชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่เพิ่มจำนวนได้

RESULTS


2. ผลการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

2.1 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวพลายงามปราจีนบุรี 

2.2 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวจินตหรา

2.3 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเขียวใหญ่

2.4 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวขาวบ้านนา

2.5 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเหลืองอ่อน

2.6 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเหลืองทอง

 

 

 

 


3. ผลการศึกษาลักษณะพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากการเพิ่มปริมาณดีเอ็ นเอด้วยเทคนิค RAPD

1-2 พลายงามปราจีนบุรี1(ปลูกเก็บพันธุ์เอง)จากต่างเมล็ด 
3-4 พลายงามปราจีนบุรี2(ซื้ อพันธุ์) จากต่างเมล็ด
9-10 ขาวบ้านนา จากต่างเมล็ด
13-14 เหลืองทอง จากต่างเมล็ด

5-6 จินตหราจากต่างเมล็ด
7-8 เขียวใหญ่จากต่างเมล็ด
11-12 เหลืองอ่อน จากต่างเมล็ด

RESULTS


1. ผลการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง

ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี พบเป็นข้าวนาปีเหมาะสมกับธรรมชาติของพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นที่ราบลุ่มน้าท่วมขังและลึก ไม่ต้องดูแลมาก วัชพืชมีน้อยมาก ข้าวพื้นเมืองยืดตัวหนีน้าได้ดี ต้นเอนบังแสงวัชพืช ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมากหรืออาจใส่ครั้งเดียวช่วงหว่านข้าวหรือช่วงข้าวใกล้ตั้งท้องจะออกรวง ศัตรูพืชไม่มากจึงไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง ต้นทุนโดยรวมจึงไม่สูง  ไม่ว่าปลูกเร็วหรือช้าแต่เมื่อถึงฤดูกาลน้ำที่แดดดีจะออกดอกออกรวงตามเวลาปกติ และเนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกถนนหนทางพัฒนาดีเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกรวมถึงการที่ข้าวส่วนใหญ่จะมีโรงสีมารับซื้อทำเป็นแป้งเพื่อส่งทำก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นขนมจีนส่งขายในหลายจังหวัดนับว่ามีตลาดที่ดีรองรับบางพื้นที่มีการจองรับซื้อและในหลายพื้นที่จะมีโรงสีจัดรถมารอรับซื้อถึงริมคันนาเพื่ออำนวยสะดวกต่อชาวนา  ด้วยชาวนาบางรายจึงอาจไม่จำเป็นต้องจัดหาพื้นที่หรือยุ้งฉางรองรับข้าวที่เก็บเกี่ยวรอการรับซื้อหรือส่งขายแต่อย่างใด นับเป็นการอำนวยความสะดวกช่วยลดต้นทุนการขนส่งแม้ราคาขายไม่สูงแต่คำนวณกับต้นทุนซึ่งน้อยแล้วจึงมีกำไรค่อนข้างดีจากการสัมภาษณ์พบว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกไม่ต้องเช่าทำกินอีกทั้งชาวนาส่วนใหญ่มีรายได้เสริมส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวมีชีวิตที่มีความสุขดีชาวนาจึงคงนิยมปลูกข้าวพื้นเมืองอย่างกว้างขวางอย่างไรก็ตามประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวได้เลือนหายไปอย่างมากอีกทั้งลูกหลานชาวนาไม่นิยมทำนาเป็นอาชีพ  ประกอบกับการพัฒนาที่เข้าถึงมากในหลายพื้นที่จึงเริ่มมีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปล่อยเช่าทำนาหรือนำพื้นที่ไปทำรายได้อื่น

CONCLUSIONS


 1. ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง เริ่มสูญหายไปมาก และเหลือเพียงชาวนาผู้สูงวัยบางรายเท่านั้นที่ยังประกอบพิธีกรรม
2. พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวนาปลูกเหลือเพียงบางสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นที่ต้องการของตลาดเท่านั้น
3. การวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่สกัดได้ของข้าวสายพันธุ์ต่างๆด้วย marker primer ทั้ ง2 ชนิด ได้แก่ marker primer ITS และ A13 ทำให้ได้รูปแบบลายพิมพ์ดี เอ็นเอที่มีจานวนแถบแตกต่างกันตามแต่ละชนิด พบว่ามี marker primer A13 ให้รูปแบบลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ ผล การทดลองแสดงให้เห็นว่าเทคนิคอย่างง่าย เช่น RAPD โดยไพรเมอร์12 นิวคลีโอไทด์สามารใช้ในการศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมของข้าวสาย พันธุ์ท้องถิ่นได้

 REFERENCES

พะยอม โคเบลลี่  วราพงษ์ ชมาฤกษ์ และพูนศักดิ์ เมฆวัฒนากาญจน์. 2550. การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวด้วยโมเลกุลเครื่องหมาย. วารสารวิชาการข้าว 1(1): 44-51.

อรุณรัตน์ ฉวีราช. (2554). เครื่องหมายระดับโมเลกุลเพื่อการระบุพืช. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

Wanchana, S., T. Toojinda, S. Tragoonrung and A. Vanavichit. 2003. Duplicated coding sequence in the waxy allele of tropical glutinous rice (Oryza sativa L.) Plant Science 165 : 1193-1199

กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

การรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุ

การรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุ*

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา**

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชีพ เบียดนอก***

* ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ปีงบประมาณ 2554

** อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

*** อาจารย์ประจำ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยปทุมธานี

คำสำคัญ : การรับรู้/ วัยสูงอายุ/ วัยก่อนวัยสูงอายุ

 

บทคัดย่อ

       การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้และการเตรียมตัว เพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ของประชากรไทยวัย 50-59 ปี ศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ศึกษารูปแบบ หรือวิธีการในการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ และวิเคราะห์รูปแบบ หรือวิธีการในการส่งเสริมให้มีการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ วิธีการวิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative) โดยใช้แบบสอบถามประชากรผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ใน 4 ภาคของประเทศไทย ภาคละ 4 จังหวัด รวม 16 จังหวัดจำนวนทั้งสิ้น 1,620 ตัวอย่าง

       ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการรับรู้การเข้าสู่วัยสูงอายุอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 73.4 แยกเป็นมีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 60.6 มีทัศนคติต่อการสูงอายุอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 76.5 การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุพบว่ามีการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 72.6 และเมื่อจำแนกรายด้านพบว่าทุกด้านอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุมีเพียงปัจจัยเดียวที่ไม่มีความสัมพันธ์คืออายุ ส่วนปัจจัยอื่นๆมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมกับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุทุกด้านมีความสัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และการรับรู้การเข้าสู่วัยสูงอายุ มีความสัมพันธ์กับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จากการวิเคราะห์ด้วยสมการถดถอย พบว่ารูปแบบในการส่งเสริมให้มีการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุได้ดีที่สุดคือการสร้างเสริมทัศนคติต่อการสูงอายุร่วมกับการ สร้างประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ และการสร้างความเพียงพอของรายได้ โดยเน้นกลุ่มบุคคลที่เป็น เป้าหมายสำคัญคือกลุ่มบุคคลที่มีการเตรียมตัวเข้าสู่ วัยสูงอายุน้อยกว่ากลุ่มคนอื่นๆ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในวัยสูงอายุควบคู่ไปกับการสร้างทัศนคติทางบวก และควรมีการศึกษาวิเคราะห์/ วิจัยว่า บทบาทของครอบครัว รัฐบาล และตัวผู้สูงอายุ แต่ละฝ่ายควรมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ/ ตนเองอย่างไร

Abstract

       The purposes of the present research were to study the perception and preparation for aging of Thai population aged between 50-59 years old, to examine the factors related to the perception and preparation for aging, to investigate the pattern or methods of the perception and preparation for aging, and to analyze the pattern or methods to promote the preparation for aging. Research methodology was quantitative using questionnaire for population aged between 50-59 years old in 4 parts of Thailand. There were 16 provinces selected from each part. The samples were totally 1,620.

       The research results revealed that most of samples had the perception for aging at the moderated level (73.4%). They were divided as the moderated levels in knowledge (60.6%), attitude towards aging (76.5%), and preparation for aging (72.6). Considering each aspect revealed that every aspect was at the moderated level. The relationship between personal factors and the preparation for aging showed that the age factor was only one factor which did not relate to the preparation for aging. The other factors showed the relation at the statistically significant level of .05. The environmental factor had the relation with the preparation for aging at the statistically significant level of .01 and the perception for aging had the relation with the preparation for aging at the statistically significant level of .01. The pattern to promote the preparation for aging can be explained in terms of regression equation was that the preparation for aging must have the promotion of attitude towards aging, creating the experience in old people caring, and creating the enough outcomes focused on the person group who shows the least preparation to aging comparing to the other groups. The knowledge for aging living should be given along with creating positive attitude and the analytic study/research should be conducted to investigate the roles of family, government, and old persons in old people caring or self-caring.

พฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของซาเล้ง

พฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของซาเล้ง

 

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา*

กนกวรรณ เขื่อนคา, ณภัทร งิ้ววิจิตร, ภาคภูมิ ตอบสันเทียะ, วิทวัส ละดาพงษ์ และอิ๊ด สรวลสันต์ **

* ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** นิสิตสาขาวิทยาศาสตร์ความปลอดภัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (นักวิจัย)

คำสำคัญ : พฤติกรรมการป้องกันโรค / การบาดเจ็บจากการทำงาน/ การป้องกันโรคของชาเล้ง


 

บทคัดย่อ

       การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของซาเล้ง ในเขตพื้นที่ยานนาวา กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง จำนวน 20 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา และฟิชเชอร์ เอ็กแชคเทส (Fisher’s Exast Test)

       ผลการวิจัยพบว่า ซาเล้งส่วนใหญ่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป เพศชายเท่ากับเพศหญิง สถานภาพ สมรสคู่ การศึกษาระดับประถมมีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาทมีรายได้พอกับรายจ่ายสุขภาพปานกลางถึงแข็งแรงดีมีการตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อเจ็บป่วยจะมีการซื้อยามารับประทานเองมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานระดับปานกลางเจตคติเกี่ยวกับการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานในระดับต่ำมีความพึงพอใจในการประกอบอาชีพซาเล้งระดับสูงได้รับการอบรมด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานในระดับปานกลางระดับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานระดับสูง

       ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานกับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานและเจตคติกับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานมีความสอดคล้องอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

       จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดอบรมให้ความรู้กับซาเล้งในเรื่องการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานเพื่อส่งเสริมความรู้และเจตคติของซาเล้งในการประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย

 

Abstract

       This descriptive research aims to study the factors relate to disease and injuries from works protection behaviors of “Zaleng” in Yannawa area Bangkok. Target groups are 20 three wheel cart drivers. To collect data by interviewing and analyse the data by descriptive statistics and Fisher’s Exact Test.

The research results show that Zaleng have of 51 year old men equal with women, with marital status and primary school education, average incomes 5,000 baht per month. Their incomes fit with their expenses and their healths are average to good level. They can get yearly health check service. When they are ill, they will buy the medicine by themselves and have average knowledge of disease and injuries from works protection. Their attitudes toward disease and injuries protection are low while their occupation contentment is high. They are acknowledged for disease and injuries from works protection in average level. The level of disease and injuries from works protection behavior is high.

       The relationship between knowledge of prevention and injuries from works and prevention behaviors and attitude have no statistical related significance at level 0.05.

From research results, the recommendation is that the involved institutes should provide the training of disease and injuries from works protection for “Zaleng” to give them knowledge and raise their attitudes toward their harmless working.

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา *

* อาจารย์ประจำ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

คำสำคัญ : ผู้สูงอายุ/ สุขภาพผู้สูงอายุ


 

บทนำ

       บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกเล่าวิธีการในการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุนั่นคือก่อนที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามนิยามในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.. 2546 มาตรา 3 ซึ่งตราขึ้นไว้ ณ วันที่ 22 ธันวาคม พ.. 2546 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 130 ก ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.. 2546 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.. 2547 นับถึงวันนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 11 แล้ว

       ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลสถานการณ์ทางประชากรจากแหล่งต่างๆ แสดงให้เห็นตรงกันว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย และยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตด้วยอัตราที่เร็วมากสถานการณ์ทางประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้นำไปสู่ประเด็นท้าทายต่อคุณภาพชีวิตประชากรสูงอายุไม่ว่าจะเป็นในด้านทุนมนุษย์ที่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังคงมีการศึกษาค่อนข้างน้อยมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้นที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป การที่ผู้สูงอายุมีการศึกษาน้อยน่าจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล บริการด้านสุขภาพและสังคม รวมทั้งโอกาสในการทำงานเชิงเศรษฐกิจ ในด้านการมีบุตรนั้นผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันมีบุตรน้อยกว่าในอดีต และมีแนวโน้มที่จะอยู่อาศัยกับบุตรน้อยลง อยู่กับคู่สมรสและอยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงมากและรวมทั้งการย้ายถิ่นของบุตรที่อยู่ในวัยแรงงานไปทำงานในต่างพื้นที่ ผู้สูงอายุในรุ่นต่อไปจะยิ่งมีบุตรน้อยลงตามแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ การหวังพึ่งพาบุตรในการเกื้อหนุนในยามสูงวัยน่าจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ในด้านสุขภาพผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และมีภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:8)

สถานการณ์ผู้สูงอายุ

       โครงสร้างทางอายุของประชากรแสดงด้วยสัดส่วนของประชากรในวัยต่างๆ เมื่อจำแนกประชากรออกเป็นกลุ่มอายุ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชากรวัยเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) วัยแรงงาน(อายุ 15-59 ปี) และวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเห็นได้ว่า ในระหว่างปี พ..2553 – ..2583 สัดส่วนของประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงาน มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ในพ..2553 เป็นร้อยละ 32.1ในพ..2583 และที่น่าสังเกต คือ ในปีพ..2560 จะเป็นปีที่คาดว่าสัดส่วนของประชากรวัยเด็กจะเท่ากันกับสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุ (รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:14) สำหรับ

       ด้านสุขภาพพบว่าพบว่าร้อยละของผู้สูงอายุที่ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากลดลง ทั้งในเขตเมืองและในเขตชนบท นอกจากนี้ ร้อยละที่มีสุขภาพดีหรือดีมากนั้นยังผันแปรกับอายุ และเพศ โดยผู้สูงอายุที่มีอายุมากมีร้อยละที่รายงานว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากต่ำกว่าผู้สูงอายุที่มีอายุน้อยและผู้สูงอายุหญิงมีสัดส่วนผู้ที่รายงานว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากต่ำกว่าผู้สูงอายุชาย(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ..2555-2556:16)

       ปัญหาด้านการมองเห็นเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ และอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและการพลัดตกหกล้ม จากข้อมูลพบว่าในปี พ..2554 ร้อยละ 47.4 ของผู้สูงอายุรายงานว่ามีปัญหาด้านการมองเห็น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ..2550 เล็กน้อย โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุหญิงมีแนวโน้มประสบปัญหาดังกล่าวมากกว่าเพศชาย และผู้ที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหามากกว่าในเขตชนบท อีกปัญหาที่ผู้สูงอายุประสบคือ ปัญหาด้านการได้ยิน พบว่า ในปีพ..2554 ประมาณร้อยละ 15 ของผู้สูงอายุประสบปัญหาดังกล่าว และปัญหาดังกล่าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากผลการสำรวจในรอบก่อน โดยปัญหาการได้ยินจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และเพศหญิงจะประสบปัญหามากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตชนบทจะมีปัญหาสูงกว่าในเขตเมือง

       ปัญหาสุขภาพที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและอาจนำไปสู่ความพิการได้คือการพลัดตกหกล้ม ซึ่งการพลัดตกหกล้มนี้ เกิดจากทั้งสภาพร่างกาย และศักยภาพในการควบคุมการเคลื่อนไหวที่ถดถอยตามอายุ และสภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุไทยในปี พ..2550 และปี พ..2554 พบว่า สัดส่วนการพลัดตกหกล้มลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 10.3 เหลือเพียง ร้อยละ 8.6 เมื่อพิจารณาตามลักษณะประชากรจะพบว่า การพลัดตกหกล้มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุหญิงมีแนวโน้มที่จะพลัดตกหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุชาย และผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะมีการหกล้มมากกว่าในเขตชนบท อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบระหว่างปี พ.. 2550 กับ 2554 มีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มประชากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุหญิง(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:18) สอดคล้องกับงานวิจัยของ วรรณรา ชื่นวัฒนา(2556:56-59) ที่พบว่าอัตราการเกิดอุบัติการของผู้สูงอายุที่เกิดในบ้านพักอาศัยร้อยละ 11.5 5 เกิดมากในช่วงเวลากลางวัน ร้อยละ 47.8 เกิดภายนอกตัวอาคาร ร้อยละ 58.7 เกิดที่ห้องน้ำร้อยละ 57.9 กิจกรรมขณะเกิดอุบัติเหตุคือการเดินร้อยละ 76.1 ส่วนใหญ่เป็นแผลฟกช้ำร้อยละ 73.8 มีความรุนแรงเล็กน้อยร้อยละ 58.7

       จากข้อมูลที่นำเสนอจะพบว่าผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและมีสุขภาพไม่ดีเพิ่มมากขึ้นดังนั้นประชากรวัยก่อนสูงอายุควรได้ตระหนักและควรวางแผนเข้าสู่วัยสูงอายุก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุเพื่อที่จะเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจมีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียงมีที่พักอาศัยที่เหมาะสมและมีกิจกรรมทางสังคมอย่างมีคุณค่า

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

       การเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุถือว่าเป็นการวางแผนชีวิตอย่างหนึ่งที่มีเป้าหมายอยู่ที่การประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิต ไคเคอร์และไมเออร์ (Kiker & Myers, 1990 อ้างในวรรณรา ชื่นวัฒนา, 2556:25) กล่าวว่าในการวางแผนของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย

       ประการปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการวางแผนชีวิตได้แก่ อัตมโนทัศน์ ค่านิยมของบุคคล ความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละบุคคล การปฏิบัติตามพฤติกรรมที่ต้องพัฒนาตามวัย (development task) และการตัดสินใจ

       จากการศึกษาแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวต่อการเข้าสู่วัยสูงอายุและหลังเกษียณอายุพบว่าการเตรียมตัวต่อการเข้าสู่วัยสูงอายุจำแนกออกเป็น 4 ด้านคือการเตรียมตัวด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจการเตรียมตัวด้านการเงินการเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัยและการเตรียมตัวด้านการมีส่วนร่วมในสังคมและงานอดิเรก

1. การเตรียมตัวด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ

       เป้าหมายของการวางแผนสุขภาพ คือการรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีความสุขมีความกระฉับกระเฉงและอายุยืน (วิจิตร บุณยะโหตระ, 2533) บุคคลในวัยสูงอายุจะมีความเสื่อมของร่างกายตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายลดลงมีโอกาสเกิดโรคได้ง่ายและเมื่อเป็นแล้วต้องใช้เวลารักษานาน ปัญหาที่คนสูงอายุส่วนใหญ่ประสบได้แก่ ปัญหาสุขภาพอนามัย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและประชากรของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุไทยประสบปัญหา 2 ประการคือปัญหาด้านเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นทันที่ทันใด ขึ้นอยู่กับสุขนิสัย และการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยเด็กวัยผู้ใหญ่จนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ( Kiker & Myers, 1990) การเตรียมตัวเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีทำได้ดังนี้ (Kiker & Myers, 1990; บรรลุ ศิริพานิช, 2538)

       รับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย มีส่วนประกอบของอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ละเว้นอาหารรสจัดและเครื่องดื่มมึนเมาหรือน้ำชา กาแฟ ได้รับอาหารครบทั้ง 3 มื้อและดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 10 แก้วควบคุมน้ำหนักโดยไม่รับประทานอาหารให้มากหรือน้อยเกินไปเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายมีแนวโน้มจะต้องการอาหารลดลงการใช้กำลังงานลดลงจะทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้งานนอกจากว่ารับประทานอาหารน้อยลงแต่ถ้ารับประทานอาหารน้อยเกินไปก็จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างได้การควบคุมน้ำหนักทำได้โดยชั่งน้ำหนักตัวอยู่เสมอส่องกระจกดูรูปร่างตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

       นอนหลับวันละ 7-8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายทุกส่วนได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอทำให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นแจ่มใสพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในวันต่อไปหากนอนกลางคืนไม่พอก็นอนกลางวันได้ถ้านอนไม่หลับให้หาสาเหตุว่ามีสิ่งใดรบกวนถ้ารู้สาเหตุต้องรีบแก้ไขตามความเหมาะสม

       ออกกำลังกายเป็นประจำการออกกำลังกายเป็นปัจจัยเดียวที่ชะลอความเสื่อมจากความสูงอายุได้การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะนำความแข็งแรงมาสู่ปอดหัวใจลดความดันโลหิตทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงมีสมาธิการรับประทานอาหารและการนอนดีขึ้นทำให้บุคลิกภายนอกดีขึ้นมองโลกในแง่ดีและมั่นใจในตนเองมากขึ้นการออกกำลังทำได้ตั้งแต่การทำงานบ้านทำสวนขุดดินการเดินการวิ่งเหยาะว่ายน้ำถีบจักรยานโยคะหรือรำมวยจีนตามที่ร่างกายและความพอใจของตนเองที่เห็นว่าเหมาะสมโดยปฏิบัติตนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ

       ให้ความสนใจกับสุขภาพอนามัยและการปฏิบัติเมื่อเจ็บป่วยโดยการตรวจสุขภาพประจำทุกปีรักษาโรคที่เป็นอยู่หรือตรวจพบอย่างสม่ำเสมอ

       รักษาอารมณ์ให้เหมาะสมฝึกทำใจให้สงบยอมรับความจริงในชีวิตตัดสินใจด้วยความมีเหตุผลขจัดภาวะความคับข้องใจอารมณ์ขุ่นมัวหรือวิตกจริตต่างๆควรทำจิตให้ว่างจากกิเลสตัณหาเสมอต้นเสมอปลายมองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่บวกพยายามค้นหาสิ่งที่ดีจากสิ่งที่คิดว่าไม่ดีการมีอารมณ์ไม่ดีจะส่งผลให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้นและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงความต้านทานโรคลดลงความเครียดระยะยาวจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นความจำการรับความรู้สึกการตัดสินใจเปลี่ยนไป

2. การเตรียมตัวด้านการเงิน

       เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องรายรับและรายจ่าย รายได้หลักที่เคยได้จากการทำงานจะหมดไป อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต ดังนั้นการวางแผนทางการเงินเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นสิ่งที่ควรมีการจัดทำขึ้นเสมอในการวางแผนการเงินสำหรับช่วงชีวิตของบุคคลควรมีการเตรียมดังนี้ (สุขใจ น้าผุด, 2536)

       การประเมินรายรับรายจ่ายโดยวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันของตนเองว่ามีรายได้ทั้งหมดเท่าไรจากแหล่งใดบ้างมีรายจ่ายเท่าใดถ้ารายจ่ายเกินรายรับจะได้วางแผนเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่าย

       การเตรียมเงินสำหรับรายจ่ายจรเช่นค่ารักษาพยาบาลและเตรียมรับกับปัญหาเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินเป็นต้นประเมินความสามารถของตนเองที่จะหารายได้จากการมีอาชีพสำรองก่อนหรือหลังเกษียณอายุที่เหมาะสมกับตนเตรียมสะสมทรัพย์ในรูปแบบของเงินออมการซื้อหุ้นการลงทุนซื้อบ้านและที่ดินการประกันชีวิตและสุขภาพและอุบัติเหตุอื่นๆ

3. การเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัย

       การเลือกที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความตั้งใจของบุคคลสภาพการณ์ของครอบครัวญาติพี่น้องที่จะเอื้ออำนวยตลอดจนสถานภาพการเงินของผู้สูงอายุในขณะนั้นสำหรับครอบครัวไทยแล้วผู้สูงอายุทั่วไปนิยมอาศัยอยู่กับบุตรหลานแต่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวควรวางแผนเรื่องที่อยู่อาศัยตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อให้เกิดความพร้อมและความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตการเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัยควรพิจารณาดังนี้

สถานที่ต้องกำหนดว่าจะอยู่ที่ไหนกับใครจะย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่หรือไม่โดยคำนึงถึงทำเลที่ง่ายต่อการติดต่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูงและแหล่งบริการอื่นๆจากชุมชนถ้าต้องการหาที่อยู่ใหม่ต้องเตรียมพร้อมทางด้านการเงินและด้านเวลาเพื่อจะได้มีเวลาปรับปรุงบ้านใหม่ให้เหมาะสมในกรณีที่ต้องการอยู่บ้านนอกเมืองที่สงบเงียบห่างไกลผู้คนอาจจะต้องทดลองอยู่ดูก่อนและทดลองทุกฤดูกาลเพราะในชนบทฤดูกาลแต่ละฤดูกาลแตกต่างกันค่อนข้างมากและถ้าต้องไปอยู่บ้านพักคนชราทั้งของทางราชการและขององค์กรการกุศลจะต้องศึกษาสอบถามระเบียบการของแต่ละแหล่งว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้างและถ้าเป็นไปได้ต้องลองไปเยี่ยมบ้านพักดังกล่าวดูก่อนหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และผู้อยู่อาศัยเพื่อประเมินว่าเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ยิ่งใช้เวลาสัมผัสมากเท่าใดก็จะมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้นเท่านั้น

สถานที่อยู่หมายถึงสภาพบ้านการจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมต้องมีความเหมาะสมกับสภาพของวัยและความต้องการของผู้สูงอายุควรเตรียมปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเปลี่ยนวัสดุต่างๆใหม่แต่เนิ่นๆในขณะที่ยังมีรายได้หรือสามารถทำด้วยตนเองได้

4. การเตรียมตัวด้านการมีส่วนร่วมในสังคมและงานอดิเรก

       จากทฤษฎี (Activity Theory) เชื่อว่าผู้สูงอายุไม่ควรมองตนเองว่าไร้บทบาทแต่ควรจะหาบทบาทหรือกิจกรรมใหม่ทดแทนบทบาทหรือกิจกรรมเดิมที่สูญเสียไป (Matras, 1990) โดยมีข้อตกลงพื้นฐานว่าบุคคลจะต้องรู้ความต้องการของตนแต่ละช่วงวัยของชีวิตและต้องปฎิบัติกิจกรรมนั้นสม่ำเสมอความสำเร็จในวัยสูงอายุขึ้นอยู่กับบทบาทและกิจกรรมใหม่ทดแทนกิจกรรมและบทบาทเดิมที่หมดไปผู้ที่มีกิจกรรมหรือบทบาทใหม่ในวัยสูงอายุโดยที่ยังดำรงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้จะมีความพึงพอใจในชีวิตสูงและมองตนในด้านบวกการมีกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงความมีคุณค่าและปรับตัวได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่ปราศจากกิจกรรม

นอกจากนี้จากผลงานวิจัยต่างๆพบว่ากิจกรรมมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีเช่นผู้สูงอายุที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมบ่อยครั้งกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้สูงอายุที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมน้อยครั้งกว่าผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมสูงมีงานอดิเรกหรืองานยามว่างจะมีสุขภาพจิตดีกว่าและผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมในสังคมมากจะมีความพึงพอใจในชีวิตสูงและมีความซึมเศร้าน้อย

       จากการที่กิจกรรมต่างๆมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุนั้นนักวิชาการแบ่งประเภทของกิจกรรมออกเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมการมีงานอดิเรกและการทำงานที่มีรายได้

       การมีส่วนร่วมในสังคม (social participation) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆขององค์การที่ตนเป็นสมาชิกซึ่งแบ่งเป็นการมีส่วนร่วมทางสังคมภายในครอบครัวได้แก่การมีกิจกรรมต่างๆร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตนและการมีส่วนร่วมทางสังคมภายนอกครอบครัวได้แก่การมีกิจกรรมร่วมกับองค์กรอื่นๆนอกครอบครัวเช่นกลุ่มเพื่อนเพื่อนบ้านญาติพี่น้องศาสนาการเมืองและสมาชิกต่างๆที่ตนเป็นสมาชิก

       การมีงานอดิเรก (hobby) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมของตนในเวลาว่างหรือกิจกรรมที่เป็นการพักผ่อนทาเพื่อความเพลิดเพลินทำให้รู้สึกว่าตนเองมีค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้โดยลำพังคนเดียว

       การทำงานที่มีรายได้ (work) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ไม่ว่าจะเป็นงานประจำงานพิเศษหรืองานชั่วคราว

 

บทสรุป

       ผู้สูงอายุคืออนาคตของทุกท่านเนื่องด้วยเป็นธรรมดาสัตว์โลกที่เกิดมาก็จะเติบโตพัฒนาตามวัยและเข้าสู่การแก่ชราแล้วตายในที่สุดดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายจิตใจการเงินที่อยู่อาศัยและสังคมย่อมเป็นสิ่งปรารถนาของบุคคลทุกคนผู้เขียนหวังว่าในอนาคตประชากรไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีความสุขหากมีการเตรียมตัวไว้ก่อน

 

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ .. 2546 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 130 ลงวันที่ 31 ธันวาคม .. 2546.

บรรลุ ศิริพานิช.(2538).คู่มือการเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุ.(พิมพ์ครั้งที่ 3).กรุงเทพมหานคร:พี.บี. เบสท์ซับพลายจำกัด.

วิจิตร บุณยโหตระ. (2533). คู่มือเกษียณอายุ. กรุงเทพมหานคร :บพิธการพิมพ์.

วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555. :นนทบุรี: บริษัท เอส.เอส. พลัส มีเดีย จำกัด.

วรรณรา ชื่นวัฒนา. (2556). การเกิดอุบัติเหตุในบ้านของผู้สูงอายุ ตำบล ดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่ม แบน จังหวัดสมุทรสาคร.รายงานการวิจัย. เอกสารอัดสาเนา.

สุขใจ น้าผุด. (2535). การวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณ. เอกสารประกอบการสัมมนา วิชาการ เรื่องการเตรียมตัวก่อนการเกษียณอายุ. วันที่ 16-18 กันยายน 2535. กรุงเทพมหานคร: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

Matras, Jadah. (1990). Dependency, Obligations and Entitlements. A New Sociology of Aging the Life Course and Elderly. NewJersey : Hall Inc.