ความคิดเห็นของนิสิตสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการ

ความคิดเห็นของนิสิตสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการ

นายสุรศักดิ์ เครือหงษ์


แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : ความคิดเห็นของนิสิตสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการ

ประเภทผลงานทางวิชาการ : งานวิจัย ได้รับทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายสุรศักดิ์ เครือหงษ์ สาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : งานวิจัยเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อความมุ่งหมายศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษา วิชาพลศึกษาที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการ มีกลุ่มตัวอย่าง 196 คน แจกแจงความถี่ โดยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์ความแตกต่าง โดยการทดสอบค่า T-Test

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : ผลการทดสอบปรากฏว่า ความคิดเห็นของนิสิตที่มีต่อการจัดการเรียนการสอน วิชาพลศึกษาและนันทนาการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก

จุดเด่นของการวิจัย : ผลการวิจัยมีจุดเด่นหลายประการ อาทิเช่น

ประเด็นที่หนึ่ง : นิสิตที่แสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลจากความรู้สึก ความเข้าใจที่มีต่อสิ่งใดเกิดขึ้นจากการไตร่ตรองหรือความเข้าใจที่ตนเองมีอยู่ด้วยการพูดหรือการเขียน โดยมีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์และเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็น และนิสิตนักศึกษาก็กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาพลศึกษาและนันทนาการด้วย

ประเด็นที่สอง : ผู้วิจัยได้กำหนดกรอบความคิดเห็นของนิสิตไว้ 5 ด้าน คือ ด้านหลักสูตร ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านครูผู้สอน ด้านวัสดุอุปกรณ์ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก และด้านการวัดและประเมินผล

จากจุดเด่นทั้ง 2 ประเด็น แสดงว่าการแสดงความคิดเห็นมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ องค์ประกอบด้านความรู้ และองค์ประกอบด้านความรู้สึก นอกจากนี้ความคิดเห็นอาจจะเกิดจากอิทธิพลจากกลุ่มต่างๆ เช่น สถานศึกษา ครูผู้สอน ฯลฯ เป็นต้น สำหรับหลักสูตรเป็นศาสตร์ เป็นทฤษฎี หลักการและการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ก็มีอิทธิพลต่อความรู้สึกความคิดเห็นเช่นกัน

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : มหาวิทยาลัยควรนำกระบวนการวิจัยสอบถามความคิดเห็นของนิสิตในทุกๆ สาขาวิชาของมหาวิทยาลัย จะได้นำผลมาปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรประยุกต์วิธีการจัดการเรียนการสอนการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยด้วย

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย

การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย

Curriculum Development & Education Management

นายจิตตวิสุทธิ์ วิมุตติปัญญา และคณะ


แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย (Curriculum Development & Education Management)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือใช้ประกอบการเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 255๘

ข้อมูลเพิ่มเติม : จัดพิมพ์โดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พิมพ์ที่บริษัท 21 เซนจูรี่ จำกัด กรุงเทพฯ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายจิตตวิสุทธิ์ วิมุตติปัญญา และคณะ ตำแหน่งอาจารย์คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : หลักสูตรเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการจัดการศึกษาทุกระดับ เพราะเป็นตัวกำหนดหรือกรอบของแนวปฏิบัติที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมาย หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระที่จัดให้ผู้เรียน เป็นเอกสาร เป็นกิจกรรม เป็นมวลประสบการณ์และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ในตัวหลักสูตร 4 องค์ประกอบ มี 3 ประเภท คือ หลักสูตรเนื้อหาวิชา หลักสูตรแกนและหลักสูตรกิจกรรม หลักสูตรที่ดีต้องสอดคล้องกับความสนใจ ความต้องการของผู้เรียนและหลักสูตรพัฒนาการด้านพุทธพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัย

   ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อนักพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎีจะบอกให้ทราบปรากฏการณ์ต่างๆ ของหลักสูตรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และยังช่วยจัดระเบียบข้อมูลจำนวนมากที่ได้จากการวิจัย ทฤษฎีหลักสูตรมี 2 ลักษณะ คือ ทฤษฎีการออกแบบหลักสูตร (Design Theories) กับทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร (Engineering Theories)

   ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างหลักสูตรการศึกษาไทยมี 3 ส่วน คือ การกำหนดจุดประสงค์ เป็นสิ่งคาดหวังในระดับโรงเรียนและสามารถวัดได้ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัย เกณฑ์การเลือกเนื้อหาเน้นความเป็นประโยชน์ ความสนใจของผู้เรียน และการพัฒนาการของมนุษย์ ด้านการพัฒนาหลักสูตรโดยเฉพาะกระบวนการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ พื้นฐานด้านปรัชญา ด้านจิตวิทยา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านสังคม การจัดการศึกษาไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน จัดเป็น 2 รูปแบบ คือ การจัดการแบบโบราณกับการจัดการศึกษาแบบใหม่หรือการจัดการศึกษาแบบปัจจุบัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 15 ได้กำหนดการจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย มีสาระเนื้อหาที่สำคัญตั้งแต่ คำว่าหลักสูตรมาจากภาษาอังกฤษว่า Curriculum สรุปว่าหลักสูตร คือ สิ่งที่สร้างขึ้นในลักษณะของรายวิชาซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระที่จัดเรียงลำดับความยาก ง่าย หรือเป็นขั้นตอน และเป็นประสบการณ์ทางการเรียนที่วางแผนล่วงหน้า เพื่อมุ่งหวังให้เด็กได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ต้องการ

   หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญการจัดการศึกษา เพราะหลักสูตรเป็นเครื่องมือในการแปลงจุดมุ่งหมายและนโยบายทางการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ดังนั้นหลักสูตรจึงจัดเป็นตัวกำหนดในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ตามที่สังคมต้องการ

   คำศัพท์เกี่ยวกับหลักสูตร ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร (Curriculum Development) คือ การจัดทำเนื้อหาใหม่กับปรับหลักสูตรเดิมใหม่ ฯลฯ เป็นต้น หลักสูตรมีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ วัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุประสงค์เฉพาะเนื้อหา จำนวนชั่วโมงสอนแต่ละวิชา วิธีการจัดการเรียนการสอน หรือนำหลักสูตรไปใช้และวิธีการประเมินผล หลักสูตรสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท คือ หลักสูตรเนื้อหารายวิชา (Subject Curriculum) หลักสูตรแกน (Core Curriculum) และหลักสูตรกิจกรรม (Activity Curriculum) การจัดประเภทของหลักสูตรขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของนักวิชาการแต่ละท่าน โดยการจำแนกตามบริบทและตามเป้าหมายของการจัดการศึกษาของแต่ละกลุ่ม

   หลักสูตรเนื้อหาวิชา เป็นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา สาระและความรู้ของวิทยาการต่างๆ เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ หลักสูตรหมวดวิชาแบบกว้างมีการผสมผสานความรู้โดยรวมวิชาต่างๆ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมารวมกัน เช่น หลักสูตรการศึกษาไทย หลักสูตรสัมพันธ์จัดทำเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนความสัมพันธ์ของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกัน เอาเนื้อหาของรายวิชาต่างๆ สอดคล้องกันเชื่อมโยงกัน หลักสูตรแบบแกน เป็นแกนร่วมกันจากเนื้อหา ความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนเข้าด้วยกัน

   หลักสูตรเอกัตบุคคล จัดทำเพื่อสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน ส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้เรียน สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายเพราะยึดหลักปรัชญาสวภาพนิยม ส่วนหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ หลักสูตรที่เน้นผู้เรียน เช่น วิชาภาษาไทย จัดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนทุกคนทุกกลุ่ม ครูสามารถสอนได้หลายรูปแบบ นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม เน้นกิจกรรมกระบวนการทางสังคมและการดำรงชีวิต ยึดปรัชญาพิพัฒนาการนิยมและปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูให้คำปรึกษา สอดคล้องกับหลักสูตรประสบการณ์หรือหลักสูตรแบบกิจกรรมและประสบการณ์ หลักสูตรกระบวนการและหลักสูตรเกณฑ์ความสามารถ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียนในด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และเจตพิสัย เพื่อพัฒนาผู้เรียนและสังคม

   การสร้างหลักสูตรแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ทฤษฎีการออกแบบ (Design Theories) และทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร (Engineering Theories) ทฤษฎีการสร้างหลักสูตรของนักการศึกษาต่างประเทศ ได้แก่ Roph W. Tylor เสนอว่าหลักสูตรมาจาก 3 แหล่งคือ ทางสังคม ทางผลเรียนและทางผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหา หลักสูตรรอง Hilda Taba เสนอรูปแบบหลักสูตร 4 ส่วน คือ จุดประสงค์เลือกประสบการณ์ จักหลักสูตรและเรียงลำดับเนื้อหาและหลักสูตรของ U. Galen Saylor , William Alexander and Arthur J. Lewis เสนอกระบวนการจัดทำหลักสูตรควรตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับเป้าหมายและจุดประสงค์ กับผู้เรียนและลักษณะทางสังคม

   ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรให้พิจารณาจาก

1) พื้นฐานด้านปรัชญา ประกอบด้วย ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม ปรัชญาสารัตถนิยม ปรัชญาพิพัฒนนิยม และปรัชญาปฏิรูปนิยม

2) พื้นฐานด้านจิตวิทยา เกี่ยวกับความแตกต่างของผู้เรียนทั้งด้านวุฒิภาวะทางร่างกาย สังคมและจิตใจ

3) พื้นฐานด้านความต้องการและความสนใจของผู้เรียน สืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม สภาพการเรียนของนักเรียนและความมุ่งหมาย

4) พื้นฐานทางด้านสังคม คือ การอนุรักษ์ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่คนรุ่นหลังและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้เข้ากับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

   หลักการพัฒนาหลักสูตร ประกอบด้วย กระบวนการพัฒนา 4 ขั้นตอน คือ เป้าหมาย / วัตถุประสงค์และความครอบคลุมการออกแบบหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผลหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้เป็นการนำไปปฏิบัติเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง โดยยึดหลักสำคัญ ดังนี้

1. ต้องวางแผนเตรียมการ

2. ต้องมีองค์คณะบุคคลส่วนกลางหรือท้องถิ่น

3. การนำหลักสูตรไปใช้อย่างเป็นระบบตามขั้นตอน

4. ต้องมีปัจจัยสำคัญ คือ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เอกสาร

5. ครู คือ บุคลากรที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ ฯลฯ เป็นต้น

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญของหนังสือ : จากเนื้อหาและข้อมูลพบว่า หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่น / ความน่าสนใจมาก อาทิเช่น การสร้างหลักสูตรที่เป็นพื้นฐานด้านสังคมดีมาก เพราะการศึกษาทำหน้าที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคมไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสังคม ค่านิยมคนในสังคม ธรรมชาติของคนในสังคม การชี้นำสังคมในอนาคต ลักษณะของสังคมตามความคาดหวังและศาสนาและวัฒนธรรม

   การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของประเทศในการพัฒนาประชาชนให้เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ มีศักยภาพ และยังช่วยคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อจัดการศึกษาในอนาคต เช่น การศึกษาของไทยเริ่มตั้งแต่โบราณ ในรัชสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้อน เป็นต้น โดยเฉพาะการศึกษาแผนใหม่ถึงปัจจุบันเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคนปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่จึงเป็นแผนการศึกษาฉบับแรกของไทย โดยเฉพาะในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์การศึกษาไทยที่เชื่อมโยงกับภารกิจ ค่านิยมและความเชื่อเข้าด้วยกัน สาระของวิสัยทัศน์ คือ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นคนดี มีความสุข มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันในเวทีโลก

   พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 4, มาตรา 6, มาตรา 8, มาตรา 9, มาตรา 10, มาตรา 16, มาตรา 17, มาตรา 24, มาตรา 47 – 51 และมาตรา 53

การนำไปใช้ประโยชน์ : หนังสือเล่มนี้สามารถนำไปใช้สอนวิชาชีพครู โดยเฉพาะวิชาการศึกษาทั่วไปด้วย เพราะผู้ที่จะเป็นครูจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องหลักสูตร การจัดการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นครูก็สามารถนำไปใช้กับการปฏิบัติงานประจำวันการสอน การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แม้แต่ผู้ที่จะศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา สายวิชาชีพครู

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดระบบการศึกษาไว้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาอัธยาศัย การศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษาปกติเรียน 6 ปี และระดับมัธยมศึกษา 2 ระดับ คือ มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย

   หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย มีแนวคิดและหลักการจัดดังนี้ คือ เกี่ยวกับการพัฒนาการเด็ก การเล่นของเด็ก เป็นต้น หลักการจัดต้องสร้างหลักสูตรให้เหมาะสม จัดสภาพแวดล้อมเอื้อเฟื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก สอนแบบบูรณาการการเรียนรู้ ประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กและความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับผู้เลี้ยงเด็ก

โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย (สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี )

โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 3 – 5 ปี
ช่วงอายุ 3 – 5 ปี ประสบการณ์สำคัญ สาระการเรียนรู้
สาระการเรียนรู้

– ด้านร่างกาย
– ด้านอารมณ์และจิตใจ
– ด้านสังคม
– ด้านสติปัญญา

  • เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก
  • เรื่องราวเกี่ยวกับบุคลและสิ่งแวดล้อม
  •  ธรรมชาติรอบตัว สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก

ระยะเวลาเรียน

ขึ้นอยู่กับอายุเด็กที่ดูแลและความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

นายสิงห์ สิงห์ขจร


แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2556

ข้อมูลเพิ่มเติม : คณะวิทยาการจัดการ ผลงานทางวิชาการ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายสิงห์ สิงห์ขจร ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของมนุษย์ ปรัชญา กฎหมาย กฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย กฎหมายสื่อสารมวลชน และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ความเป็นธรรมและความเป็นกลางในงานนิเทศศาสตร์และจิตวิญญาณของนักนิเทศศาสตร์

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : สิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดสิทธิ ดังนี้ สิทธิในครอบครัวและความเป็นส่วนตัว สิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการศึกษาฝึกอบรม สิทธิในการรับบริการทางด้านสาธารณสุขอย่างเสมอภาคและได้มาตรฐาน และสิทธิที่จะได้รับข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ เป็นต้น

สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำเสนอข่าว หรือความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เพราะสื่อมวลชน หมายถึง สื่อที่จะสามารถนำสารจากผู้ส่งสารไปสู่ผู้รับสาร ที่ประกอบด้วยคนจำนวนมากอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเดียวหรือใกล้เคียงกัน ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสังคมมาก จึงต้องรับผิดชอบต่อสังคม บทบาทของสื่อมวลชนมี 5 ประการ ได้แก่ บทบาทในฐานะผู้แจ้งข่าวสาร สุนัขเฝ้าบ้าน การเป็นตัวกลาง การเป็นตัวเชื่อมและการเป็นผู้เฝ้าประตู

สิทธิของสื่อมวลชน ประกอบด้วย สิทธิที่จะแสวงหาข่าวสาร สิทธิในการพิมพ์ สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นสื่อมวลชนจึงมีหน้าที่ต่อสาขาวิชาชีพ หน้าที่ต่อตนเอง หน้าที่ต่อผู้อื่นและหน้าที่ต่อคุณธรรม สำหรับในประเทศไทยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในมาตรา 45 , 46 , 47 และ 48 การศึกษากฎหมายเป็นการศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นระดับความคิดบริสุทธิ์ชั้นสูง ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมศึกษา ดังนั้น การศึกษากฎหมาย เหมือนการศึกษาปรัชญา ซึ่งมี 4 สาขา อาทิเช่น อภิปรัชญา คือ การศึกษาความเป็นจริงว่ากฎหมายคืออะไร ซึ่งแบ่งได้ 5 ประการ ได้แก่ กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับต้องมาจากรัฎฐาธิปัตย์ คือ ผู้มีอำนาจสูงสุด บังคับใช้ทั่วไปจนกว่ามีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงและมีสภาพบังคับด้วย

กฎหมายที่นิยมใช้อยู่มี 2 ประเภท คือ กฎหมายสารบัญญัติ คือ กฎหมายทั่วๆ ไป ใช้ความคุมความประพฤติและกำหนดสิทธิหน้าที่ต่างๆ ของพลเรือนไว้กับกฎหมายวิธีสบัญญัติ คือ กฎหมายบัญญัติถึงกระบวนการ / วิธีการบังคับให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวดที่ 3 กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 45 – 48 โดยในส่วนของสิ่งพิมพ์ มีบัญญัติไว้ในมาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น มาตรา 46 พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว แสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ มาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ทรัพยากรสื่อสารและชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมาตรา 48 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน

กฎหมายสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย กฎหมายเกี่ยวกับข้องกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม กฎหมายเกี่ยวข้องกับสารสนเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์

จุดเด่น / ความน่าสนใจและประโยชน์ : เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน เล่มนี้มีจุดเด่นหลายประเด็น อาทิเช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศที่กล่าวถึง หลักการสำคัญในพระราชบัญญัติว่าด้วย ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีสาระดังนี้ การเข้าถึงระบบที่มีมาตรการป้องกัน การเปิดเผยมาตรการป้องกันระบบ การเข้าถึงข้อมูลที่มีมาตรการป้องกันและการดักรับรู้ข้อมูลผู้อื่น ฯลฯ เป็นต้น จุดเด่นประเด็นที่ 2 กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์มี 91 มาตรา แบ่งเป็น 7 หมวดใหญ่ ๆ เช่น หมวดที่ 1 เป็นเรื่องของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ ชุดใหญ่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ฯลฯ เป็นต้น ประเด็นที่ 3 กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน เช่น มาตรา 56 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและการเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงาน ฯลฯ เป็นต้น ประเด็นที่ 4 ในหนังสือเล่มนี้ยังประกอบไปด้วย กรณีศึกษาหลายด้าน อาทิเช่น นายชาติไทยแต่งเพลงลูกทุ่งขึ้นหนึ่งเพลง ขณะเดินทางไปประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ดังนั้นนายชาติไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนี้ แม้ยังไม่ได้เผยแพร่ เป็นต้น

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : เนื้อหาสาระของเอกสารประกอบการสอน วิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชน ยังมีประโยชน์ต่อผู้สนใจที่จะนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องสื่อมวลชนมาใช้กับสถาบันอุดมศึกษาได้ดีมาก เพราะในมหาวิทยาลัยมีการผลิตบัณฑิตหลายอาชีพ เช่น แพทย์แผนไทย ศิลปะทั้งดนตรี นาฏศิลป์ แม้แต่สายวิชาการศึกษา จำเป็นต้องเรียนรู้เพราะเป็นวิชาชีพที่ต้องมีผลงาน วิชาการนำไปประยุกต์เป็นสินค้าได้ ดังนั้นเมื่อไม่เรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะเกิดปัญหาภายหลังได้ และผู้ประกอบอาชีพทุกอาชีพ ควรเรียนรู้หลักจริยธรรมสำหรับแต่ละอาชีพด้วย ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับจริยธรรมนั้นมีอยู่ในเอกสารเล่มนี้ด้วย

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

กล้วยนวล : กล้วยแปลกหาดูยาก

กล้วยนวล : กล้วยแปลกหาดูยาก

 

กล้วยนวล : กล้วยพื้นเมืองที่ต้องอนุรักษ์

ความนำ

   กล้วยนวล ไม่ใช่กล้วยเศรษฐกิจ ชาวบ้านในชนบททางภาคเหนือภาคอีสานจะปลูกไว้กินผลในครัวเรือนหรือแบ่งปันให้เพื่อนบ้านเมือผลแก่ เนื่องจากกล้วยนวลเป็นกล้วยชนิดไม่แตกกอเหมือนกล้วยทั่วไป ตกเครือได้ครั้งเดียวก็จะตายไป ต้องปลูกใหม่ด้วยเมล็ด ทำให้มีการกระจายพันธุ์ช้าและอยู่ในวงจำกัด ถึงแม้ว่ากล้วยนวลจะเป็นกล้วยที่มีเมล็ดขนาดโตที่สุดในบรรดากล้วยด้วยกัน แต่โอกาสที่จะแพร่พันธุ์ด้วยตัวมันเองก็ทำได้ยากเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น เยาวชนรุ่นใหม่ไม่นิยมกินเพราะเมล็ดมากกว่าเนื้อและรสชาติหวานปนฝาดไม่ถูกปากเลยไม่สนใจจะกิน เลยไม่เพาะกล้า อีกประการหนึ่งคือ เมื่อผลสุกทั้งเครือแล้วร่วงหล่นลงมาที่พื้นดินโอกาสที่เมล็ดจะงอกเองก็เป็นไปได้ยากเพราะเนื้อหุ้มเมล็ดไว้อย่างเหนียวแน่น กว่าเนื้อจะสลายตัวหมดให้เมล็ดมีอิสระในการงอก เมล็ดก็จะเน่าไปแล้ว สาเหตุเหล่านี้ทำให้คนรู้จักกล้วยนวลในวงแคบ เคยมีข่าวใหญ่หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ลงข่าวใหญ่ว่ามีต้นกล้วยประหลาด คนแห่ไปกราบไหว้ขอหวยต้นกล้วยประหลาดต้นนั้น ที่เป็นต้นขนาดใหญ่ไม่มีหน่อ ใบยาวสีเทาชี้ขึ้นฟ้า เครือใหญ่มากกาบปลีไม่ร่วงแต่ห่อหุ้มหวีกล้วยซ่อนไว้ตลอดชีวิต หารู้ไม่ว่านั่นคือ “กล้วยนวล” ที่เป็นกล้วยพื้นเมืองหาดูยาก ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนให้ปลูกกล้วยนวล เพื่อให้ลูกหลานในภายหน้าได้เห็นคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกล้วยนวล

ชื่อไทย กล้วยนวล 

ชื่อสามัญ Elephant banana , Ensets

ชื่ออื่นๆ กล้วยหัวโต กล้วยศาสนา กล้วยโทน กล้วยหัวโต กล้วยญวน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ensete glaucum (Roxb.) Cheesman

ชื่อวงศ์ MUSACEAE

   เป็นไม้ล้มลุกลำต้นเดี่ยว ไม่มีไหลไม่แตกกอ ไม่มีหน่อที่โคนต้น กาบใบห่อหุ้มกันกลายเป็นลำต้นเทียม ส่วนลำต้นจริงคือส่วนของเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมเป็นสีเทามีนวลขาวเหมือนทาแป้ง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีความสูงของต้นประมาณ 4-5 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของโคนต้นประมาณ 40-50 เซนติเมตร โคนต้นกว้างอวบใหญ่ แล้วเรียวเล็กขึ้นไป ต้นกล้วยนวลสามารถพบได้ทั่ว ใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนาน ปลายใบยาวคล้ายหาง ส่วนโคนใบมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 40-60 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2.2 เมตร แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีนวลหนา ก้านใบยาวเป็นสีเขียวนวล และมีร่องเปิดที่เส้นกลางใบ ส่วนก้านใบสั้น

   ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่คล้ายระฆังห้อยดิ่งลง โดยปลีมีใบประดับขนาดใหญ่สีเขียวเรียงสลับ และชิดติดกันตั้งแต่โคนจนถึงปลาย ดอกหรือปลีมีลักษณะเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 2 เมตร มีกาบปลีหรือใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีนวลติดทนอยู่ด้านใน ใต้กาบใบจะมีหวีกล้วยที่มีดอกมีประมาณ 10-20 ดอก โดยดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงปลาย ส่วนดอกเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศจะออกบริเวณช่วงโคน กลีบรวมที่เชื่อมติดกันยาวประมาณ ผลอยู่รวมกันเป็นหวีภายในปลี ผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นรูปรีสั้น ๆ และมีสันตามยาว3-4สัน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร ภายในผลมีเนื้อแทรกอยู่ระหว่างเมล็ด เมล็ดสีดำขนาดใหญ่ ผิวเรียบและแข็งมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร เพาะกล้าได้ง่าย

บรรณานุกรม

 สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง ( องค์กรมหาชน ) 65 หมู่ 1 ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร 053-328496-8  แฟกซ์ 053-328494

http://www.halsat.com/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A5/

https://medthai.com/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A5/

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A5

โมกราชินี : พรรณไม้ใหม่ของโลก

โมกราชินี : พรรณไม้ใหม่ของโลก

ความนำ 

   โมกราชินี พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกค้นพบโดยศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำรวจและจำแนกพรรณไม้ กรมป่าไม้ ในระหว่างโครงการสำรวจพรรณพฤกษชาติภูเขาหินปูน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จาก การศึกษาค้นคว้าเอกสารและตรวจสอบตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงในหอพรรณไม้ต่าง ประเทศที่เกี่ยวข้องหลายประเทศ ยังไม่เคยปรากฏชื่อหรือรายงานลักษณะรูปพรรณของพรรณไม้ชนิดนี้มาก่อน และ Dr. D.J. Middleton ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ APOCYNACEAE ของโลกแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันและสนับสนุนการยก รูปพรรณไม้สกุลโมกมัน ( Wrightia ) นี้ เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก การค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่นี้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการพฤษศาสตร์ เนื่องจากในปัจจุบันโอกาสค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในวง APOCYNACEAE มีน้อยมาก โดยเฉพาะประเภทไม้ต้น พรรณไม้ใหม่นี้เป็นชนิดที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะดอกที่สวยงาม จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว
( Endemic species ) 
พบเฉพาะในประเทศไทย มีสถานภาพเป็นพรรณไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ชนิดหนึ่งของโลก ( Rare and endangered species ) สมควรที่จะอนุรักษ์และนำมาปลูกขยายพันธุ์ต่อไป กรมป่าไม้จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของสกุล Wrightia ตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ว่า “ Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk ” เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จากการที่ได้ทรงสนับสนุนและทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่องและเพื่อเป็นสิริ มงคลในวงการ พฤกษศาสตร์ของประเทศไทย

หมายเหตุ หากสนใจจะไปชมโมกราชินีเพื่อศึกษาและบันทึกภาพ ขอแนะนำให้ไปชมที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ตั้งอยู่หลังสวนจตุจักร มีเพียงต้นเดียว สูงประมาณ 3.5 เมตร สภาพสมบูรณ์มาก ออกดอกดก กลิ่นหอมมาก


 

รายละเอียดของโมกราชินี

ชื่อไทย โมกราชินี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk

ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE

การกระจายพันธุ์ ในเขตภาคกลางตั้งแต่นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี และสระแก้ว 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

   ไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 6 เมตร เปลือกลำต้นขรุขระ สีเทาอมน้ำตาล แตกกิ่งก้านห่างๆ ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.5 – 4 เซนติเมตร ยาว 3 – 10 เซนติเมตร ใบบาง ปลายใบแหลม โคนใบมน ใต้ใบมีขนอ่อนปกคลุม ดอกเดี่ยวออกที่ปลายยอด ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว กลางดอกมีรยางค์เป็นขนยาว กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ผลเป็นฝักกลมยาวเป็นแท่งขนาดปลายตะเกียบ ออกเป็นคู่กางออก เมื่อแก่มีสีน้ำตาลและแตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ปลายเมล็ดมีขนติดที่โคนช่วยกระจายพันธุ์
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่งและเสียบยอด

 

บรรณานุกรม

   ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย.กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551 หน้า 20

   ขอขอบคุณ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ 61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900โทรศัพท์ : (662) 561 42923 # 5103โทรสาร : (662) 579 2740 

ขนุนสำปะลอ : ขนุนที่ไม่ใช่ขนุน

ขนุนสำปะลอ : ขนุนที่ไม่ใช่ขนุน

 

ความนำ

ขนุนสำปะลอ เป็นผลไม้ที่หาดูยากมาก ชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งอาจจะไม่เคยเห็นเลยก็ได้ เนื่องจากขนุนสำปะลอเป็นผลไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้น้อย บางคนอาจจะเคยเห็นต้นหรือผลของขนุนสำปะลอ แต่ผ่านเลยไปเพราะคิดว่าเป็น “สาเก” ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า “ขนุนสำปะลอ ก็น่าจะเป็นขนุนชนิดหนึ่ง รูปร่างหน้าตาก็น่าจะเหมือนขนุน

บทสรุปก็คือขนุนสำปะลอเป็น“สาเกที่มีเมล็ด” นั่นเอง ปกติแล้วสาเกจะไม่มีเมล็ด เมื่อผ่าผลสาเกก็จะพบว่าเป็นเนื้อล้วนๆ  ชาวบ้านก็นำมาปอกเปลือกออกแล้วนำมาเชื่อมหรือแกงบวด ก็จะได้ขนมหวานเนื้อเหนียวนุ่มอร่อย สาเกชนิดข้าวเหนียวจะทำขนมได้อร่อยกว่าสาเกชนิดข้าวเจ้า ส่วนผลของขนุนสำปะลอนั้นจะโตกว่าผลของสาเกเกือบเท่าตัว เปลือกผลมีหนามเหมือนขนุน น่าจะเป็นที่มาของชื่อที่มีคำว่า “ขนุน”ติดมาด้วย  เมื่อผ่าผลของขนุนสำปะลอ ก็จะพบเมล็ดขนาดหัวแม่มืออัดแน่นเต็มผล แต่ละเมล็ดก็มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน  ชาวบ้านจะนำเมล็ดของขนุนสำปะลอมาต้มกินหรือเผากินกับน้ำตาลทราย เป็นของกินเล่นในครอบครัว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของขนุนสำปะลอ

ชื่อไทย ขนุนสำปะลอ

ชื่อสามัญ Breadfruit

ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus altilis  Fosberg

ชื่อวงศ์ MORACEAE

 

   ขนุนสำปะลอ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 8 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลเข้มผิวเรียบ  ทรงพุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว ใบใหญ่หนา สีเขียวเข้ม หน้าใบมันวาว ปลายใบแหลมคม ริมใบหยักลึกหลายหยัก แต่ละหยักไม่เท่ากัน  ลักษณะคล้ายใบสาเก มีใบจำนวนมาก ทำให้ทรงพุ่มแน่นทึบ ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้เป็นแท่งยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ห้อยลง ส่วนช่อดอกเพศเมียรูปร่างกลม ออกดอกช่วงปลายฤดูฝน ผลกลมยาว สีเขียว ผิวผลมีหนามเหมือนขนุน เมื่อแก่เต็มที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผล 12-16 เซนติเมตร ผลยาว 16-22 เซนติเมตร เมื่อสุกจะร่วงลงมา มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาด 2x3 เซนติเมตร

 

ประโยชน์

1.บริโภคส่วนเมล็ดโดยนำมาต้มหรือเผา รสชาติคล้ายเมล็ดขนุนหรือเก๋าลัดจีนรวมกัน

2.นิยมปลูกไว้เป็นไม่ร่มเงาในบ้านหรือสวนสาธารณะเพราะทรงพุ่มและใบมีความสวยงามนอกจากกินเมล็ดแล้ว ไม่มีการปลูกเพื่อเศรษฐกิจ

 

  

ภาพเปรียบเทียบผลสาเกกับ ขนุนสำปะลอ

 

ภาพ ขนุนสำปะลอ

กาหลง ชงโค โยทะกา : ไม้งามสามสหาย

กาหลง ชงโค โยทะกา : ไม้งามสามสหาย

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


 

กาหลง ชงโค โยทะกา : ไม้งามสามสหาย

กาหลง ชงโค และโยทะกา พรรณไม้งาม3 ชนิดนี้เป็นไม้ดอกสวย ที่เป็นพรรณไม้ในวงศ์เดียวกัน คือวงศ์ ถั่ว ชื่อว่า CAESALPINIACEAE ผู้พบเห็นมักสับสนว่าต้นใดชื่อใดกันแน่ จึงขอนำรายละเอียดคุณลักษณะของแต่ละชนิดมาให้ทราบพร้อมภาพประกอบเปรียบเทียบให้ศึกษาอย่างชัดเจน ดังนี้

 

กาหลง

ชื่อไทย กาหลง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia acuminata L.

ชื่อวงศ์  วงศ์ถั่ว หรือ Family CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านไม่มาก กิ่งก้านชูขึ้น ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปไต ปลายใบเว้าลึกเข้ามาเกือบครึ่งใบ ทำให้ปลายแฉกสองข้างแหลม แยกเป็น 2 พู โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ กว้างประมาณ 7-9 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-11 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา เป็นสีเขียวเข้ม ดอกเป็นช่อกระจะแบบสั้น ๆที่ปลายกิ่งประมาณช่อละ 4-6 ดอก กลีบดอก 5 กลีบเป็นสีขาวบริสุทธิ์  มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 เซนติเมตร ผลเป็นฝักแบนรูปขอบขนาน กว้าง 1.3-1.6 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ขอบฝักเป็นสันหนา โคนแหลม ปลายฝักป้านมีติ่งแหลม เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ด 7-10 เมล็ด เมล็ดแบนเพาะกล้าได้ง่าย

การใช้ประโยชน์   ปลูกเป็นไม้ประดับ ในทำเลที่มีแสงแดด 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ดอกและยอดอ่อนรับประทานได้


 

ชงโค

ชื่อไทย ชงโค

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia purpurea L.

ชื่อสามัญ Orchid tree

ชื่อวงศ์  วงศ์ถั่ว หรือ Family CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

   เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน กิ่งก้านมักห้อยย้อยลงมา กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ใบเดี่ยวรูปไต ปลายของใบเว้าลึกมาก ปลายใบทั้งสองด้านกลมมนดูคล้ายใบแฝดติดกัน ดอกออกเป็นช่อกระจะตามปลายกิ่ง และลำต้น ช่อละ 5-10 ดอก กลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอก 5 กลีบสี มี1กลีบขนาดใหญ่ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกกล้วยไม้ กลีบดอกที่ใหญ่ที่สุดจะมีลายเส้นสีเข้มสะดุดตา เมื่อบานเต็มที่จะกว้าง 8-11 เซนติเมตร เกสรผู้เป็นเส้นยาว 5 เส้น ยื่นยาวออกมานอกดอก เกสรเมียอยู่ตรงกลาง 1 เส้น ยาวกว่าเกสรผู้  ชงโคชนิดฮอลแลนด์จะไม่ติดฝัก ส่วนชงโคพื้นเมืองที่มีดอกเล็ก กลีบดอกสีชมพูจะติดฝักมาก ยาว 20-25 เซนติเมตร

การขยายพันธุ์  ชงโคฮอลแลนด์ ไม่ติดฝัก ต้องขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน ส่วนชงโคพื้นเมืองติดฝักยาว 15-20 เซนติเมตร ใช้เมล็ดเพาะกล้าได้ง่าย

การใช้ประโยชน์ 

1. เพราะมีดอกดกและสีสันสวยงามจึงนิยมปลูกประดับอาคารสถานที่ต่าง ๆ
2. เป็นไม้ดอกสัญลักษณ์ของฮ่องกง
3. เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนเทพลีลา โรงเรียนปิยะบุตร และอีกหลายสถาบัน
4. เป็นสมุนไพร มีสรรพคุณรักษาได้หลายโรค

ชงโคแท้

 

ชงโคป่า

 


 

โยทะกา

ชื่อไทย โยทะกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia monandra kurz อยู่ใน

ชื่อวงศ์  วงศ์ถั่ว หรือ Family CAESALPINIACEAE

     ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-3 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน แตกกิ่งก้านขนาดเล็กจำนวนมาก จนทรงพุ่มอัดแน่น ใบเป็นรูปไต ปลายใบเว้าลึกเข้ามาเกือบครึ่งใบ ทำให้ปลายแฉกสองข้างแหลม แยกเป็น 2 พู โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร แผ่นใบบาง เป็นสีเขียวอ่อน ดอกเป็นช่อกระจะแบบสั้น ๆที่ปลายกิ่งประมาณช่อละ 1-3 ดอก กลีบดอก 5 กลีบเป็นสีเหลืองอ่อน  ดอกที่บานเต็มที่แล้วยังห่อกลีบอยู่เหมือนยังไม่บาน หน้าดอกห้อยลง บานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกที่เหี่ยวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ผลเป็นฝักแบนรูปขอบขนาน โคนฝักเรียวแหลม ฝักกว้าง 1.0-1.5 เซนติเมตร ยาว 11-13 เซนติเมตร ปลายฝักมีติ่งแหลม เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ด 10-12 เมล็ด เมล็ดแบนเพาะกล้าได้ง่าย

การขยายพันธุ์  ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน และใช้เมล็ดเพาะกล้า

การใช้ประโยชน์  ดอกมีสีสันสวยงาม เมื่อดอกบานใหม่เป็นสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีม่วงในวันถัดไป จึงนิยมปลูกประดับอาคารสถานที่ต่าง ๆ

 

 

 

พัฒนาและศึกษาประสิทธิภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน วิชาการจัดการข้อมูลเบื้องต้น เรื่อง การสร้างฟอร์มโดยใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์แอกเซส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนมัธยมวัดดาวคนอง

ชื่อผลงานทางวิชาการ :พัฒนาและศึกษาประสิทธิภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาการจัดการข้อมูลเบื้องต้นเรื่อง  การสร้างฟอร์มโดยใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์เเอกเซส  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนมัธยมวัดดาวคนอง

ประเภทผลงานทางวิชาการ  : งานวิจัย

ปีที่ทำวิจัย : ๒๕๕๑

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : ปราณี  วิศวพิพัฒน์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

       งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  เรื่อง การสร้างฟอร์มโดยใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์แอกเซส   มีการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนมัธยมศึกษาวัดดาวคนอง  ใช้กลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  จำนวน  ๓๕  คน  ปรากฏประสิทธิภาพของบทเรียนอยู่ในระดับ  ๘๑ .๓๓ / ๘๓.๘๙  สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด  ๘๐ / ๘๐   สรุปได้ว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สร้างขึ้นนี้สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

       งานวิจัยมีความละเอียดละออและดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัยอย่างชัดเจน  สามารถศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดได้ที่  Web-Online ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

รศ.ดร.อำนวย    เดชชัยศรี   บรรณากร    MST : คณิต / วิทย์ / เทคโนโลยี

กระบวนท่ารำพลายชุมพลแต่งตัว (The Artfulness of Dancing Gestures of Phlai Chumphon Taeng Tua)

    การดูละครไทยให้เกิดมโนทัศน์และสนุกสนานนั้น นอกจากเนื้อหาแล้ว กระบวนท่ารำนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความอิ่มเอมทางอารมณ์ต่อการชมครั้งหนึ่งๆ อันจะประเทืองความรู้จากการตีบทนั้นด้วยลีลาท่ารำ

    นักดูละครไทย และนักวิชาการทางการละคร ต้องติดตาม “ดุษฏี ซังตู และ สมภพ สมบูรณ์” วิเคราะห์กระบวนท่ารำได้อย่างชัดเจนจากละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ใน….

กระบวนท่ารำพลายชุมพลแต่งตัว

The Artfulness of Dancing Gestures of Phlai Chumphon Taeng Tua

ดุษฎี  ซังตู / Miss. Dutsadee Sangtoo

อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา

และ

นายสมภพ  สมบูรณ์ / Mr. Sompop Somboun

บัณฑิตสาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา

แขนงวิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทคัดย่อ

       การรำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการรำเดี่ยวที่อยู่ใน ละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ  ในตอนนี้ได้กล่าวถึงพลายชุมพล จะออกไปทำศึกกับพระไวย โดยปลอมตัวเป็นมอญไปออกรบกับพระไวย เพื่อหวังคิดแก้แค้นที่พระไวยเคยมีวาจาล่วงเกินตน ใช้ทำนอง เพลงมอญดูดาวประกอบถึงเนื้อเรื่องบรรยายถึงการแต่งตัว แสดงให้เห็นถึงความองอาจสง่างามของ ตัวละครพลายชุมพล

       การรำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการร่ายรำในแบบมอญ  จุดสำคัญอยู่ที่การตีไหล่ออกเป็นการแสดงท่าทางที่สง่าผ่าเผย การตีไหล่ออกเป็นเลขแปดจะมีท่วงท่าลักษณะของความอ่อนช้อย นุ่มนวล ซึ่งจะแตกต่างจากการตีไหล่แบบพม่าโดยพม่าจะตีไหล่เป็นแผงๆ  ในการรำชุดพลายชุมพลแต่งตัวนั้นจะมีการใช้อาวุธประกอบการแสดงคือ ม้า หอก ม้าที่ใช้ในการแสดงคือ ม้าแผง ม้ากะเลียว ตัวม้าสีเขียว ทำจากหนังวัวแกะสลัก การติดม้าจะติดอยู่ที่เอวด้านขวา ของผู้แสดง ผู้แสดงจะทำท่ากระโดดไปมาจะเป็นไปตามกิริยาของม้า ประหนึ่งว่าเป็นเท้าม้า เมื่อมีการใช้อาวุธประกอบการแสดง     ผู้แสดงควรถ่ายทอดอิริยาบถให้คล้ายกับการที่เราขี่ม้าอยู่จริง ส่วนท่อนบนก็แสดงกระบวนท่ารำตามบทบาทที่ได้รับ ส่วนการใช้หอก  ประกอบการแสดงนั้นคือ หอกสัตโลหะ กระบวนท่าของการรำที่ใช้หอกนั้น  จะมีการโยนหอก  รับหอก  ควงหอก  ผู้ที่ใช้หอกสัตโลหะนั้นจะต้องมีความชำนาญ และสามารถถ่ายทอดการใช้อาวุธได้อย่างทะมัดทะแมง และสมบทบาท

ABSTRACT

       Dance of Phlai Chumphon Taeng Tua is a pas seul (or Solo dance). It was taken from Lakhon Sepha, a Thai recital, titled Khun Chang Khun Paen, the episode “Phra Wai’s Defeat”. It describes Phlai Chumphon’s preparation for the war with Phra Wai by disguising as a Mon in order to revenge Phra Wai because Phra Wai once offensively spoke to him. The melody of Mon Do Dao is used together with story to describe the dressing of Phlai Chum Phon representing the knightly and dignified appearance of the dance.

       Dance of Phlai Chumphon Taeng Tua is the dance in Mon style. The significant point is to open shoulders to show knightly and dignified appearance. Opening shoulders like figure 8 shows the delicate and gentle appearance which is different from opening shoulders like Burmese style, which the shoulders open. In the Dance of Phlai Chumphon Taeng Tua, weapons are used as props of the play, such as horses and spears. Horses used for the play are Phaeng horse and Kaliew horse. The horse is green and made of carved cowhide. When performed, the horses attached to the right waist of the performer. The performer would jump back and forth like the gesture of horses. When weapons are used for the play, performers should transmit the movement as if they are riding the horses. For the upper part of the performer’s body, the dance will be dependent on the assigned roles. The spear used in the performance is called Satta Loha Spear (or seven-iron Spear). The artfulness of dancing gesture by using the spear is various and there are many gestures, i.e. throwing spear, taking spear and swinging spear. The performer who uses the Satta Loha spear must be skillful and able to present the gesture of using this weapon smartly and appropriately to the assigned role.

บทนำ

       รำพลายชุมพล เป็นการรำเดี่ยวที่อยู่ในละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ กล่าวถึงพลายชุมพลจะออกไปทำศึกกับพระไวย โดยปลอมตัวเป็นมอญไปออกรบกับพระไวย เพื่อหวังคิดแก้แค้นที่พระไวยเคยมีวาจาร่วงเกินตน ใช้ทำนองเพลงมอญดูดาวประกอบบรรยายถึงการแต่งตัว แสดงให้เห็นถึงความองอาจสง่างามของตัวละคร รำพลายชุมพลนี้จุดสำคัญอยู่ที่การตีไหล่ เพราะการใช้ไหล่ในท่าทางของมอญนี้จะต้องตีไหล่ออก เสียส่วนมากและเป็นท่ารำที่เรียกว่า โก้เก๋ ฉะนั้นผู้รำตัวพลายชุมพลจึงประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายคน การรำในตัวพลายชุมพลนี้กระบวนท่าเป็นการแต่งตัวมีการใช้อาวุธมีความทะมัดทะแมงเพลงที่ใช้ประกอบมีจังหวะที่กระชับและสนุกสนาน

       รำพลายชุมพล เป็นการแสดงชุดหนึ่งซึ่งอยู่ในละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน พระไวยแตกทัพโดยเฉพาะ ตอนที่พลายชุมพลแต่งตัวเป็นมอญ ซึ่งมีเนื้อเรื่องโดยย่อว่า ขุนแผนได้คบคิดกับลูกชาย คือพลายชุมพล ลูกชายของตนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากนางแก้วกิริยาธิดาเจ้าเมืองสุโขทัย และนัดแนะอุบายให้พลายชุมพล ปลอมตนเป็นมอญใหม่ ยกทัพหุ่นยนต์ ทำที่ให้ข่าวระบือไปว่ามอญใหม่ ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ความจริงเป็นศึกแก้แค้นระหว่างสมาชิกครอบครัวเดียวกัน หรือถ้าจะกล่าวให้ตรงก็คือ ศึกแก้แค้น ระหว่างพ่อลูก(ขุนแผนกับพระไวย)

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อศึกษาบทบาท ลีลาท่าทางของการรำพลายชุมพล

ประวัติความเป็นมา

       รำพลายชุมพล  เป็นการแสดงชุดหนึ่งซึ่งอยู่ในละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน พระไวยแตกทัพ  โดยเฉพาะตอนที่พลายชุมพลแต่งตัวเป็นมอญ  ซึ่งมีเนื้อร้องโดยย่อว่า  ขุนแผนได้คบคิดกับลูกชายคือพลายชุมพล  ลูกชายของตนอีกคนหนึ่ง  ซึ่งเกิดจากนางแก้วกิริยา  ธิดาเจ้าเมืองสุโขทัย  นัดแนะอุบายให้พลายชุมพลปลอมตนเป็นมอญใหม่ยกทัพหุ่นพยนต์  ทำที่ให้ข่าวระบือไปว่าพวกมอญใหม่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  แต่ความจริงเป็นศึกแก้แค้นระหว่างสมาชิกในครอบครัวเดียวกันเอง  หรือถ้าจะกล่าวให้ตรงก็คือ  ศึกแก้แค้นระหว่างพ่อกับลูก (ขุนแผนกับพระไวย)  การแสดงรำพลายชุมพลแต่งตัวมีความนิยมมาจัดการแสดงกันอย่างแพร่หลาย

รูปแบบและลักษณะการแสดง

       รำพลายชุมพลเป็นการแสดงที่อยู่ในละครเรื่องขุนช้างขุนแผน  แต่เนื่องจากมีผู้นิยมนำมาแสดงเป็นเอกเทศ  และได้รับความนิยมมา  กระบวนท่ารำทะมัดทะแมง  เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงก็สนุกสนานรวดเร็ว  ผสมผสานท่ารำในลักษณะต่างๆ  เช่นกระบวนท่าตีไหล่ออกเป็นการรำที่เรียนว่า โก้เก๋  กระบวนท่ารำหอก และกระบวนท่ารำขี่ม้า เป็นต้น

              การรำแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่างๆ  ได้ดังนี้

                     ขั้นตอนที่ 1  รำออกตามทำนองเพลงมอญดูดาว

                     ขั้นตอนที่ 2  รำตีบทตามบทร้องเพลงมอญดูดาว

                     ขั้นตอนที่ 3  รำรับท่าตรงทำนองรับ

                     ขั้นตอนที่ 4  รำตามทำนองเพลงมอญดูดาว

                     ขั้นตอนที่ 5  รำเข้าตามทำนองเพลงม้าย่อง

       การรำในชุด  “รำพลายชุมพลแต่งตัว”  นี้  จุดสำคัญอยู่ที่การใช้ไหล่  เพราะการใช้ไหล่ในท่าของมอญนี้จะต้อง  “ตีไหล่ออก”  เสียส่วนมาก  และเป็นการรำที่เรียกว่าโก้เก๋  ฉะนั้นผู้ที่รำพลายชุมพลจึงมีประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายคน

ภาพที่ 1 การตีไหล่ออก

ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง

       ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมแต่เปลี่ยน  ขลุ่ย เป็นปี่มอญ  และเพิ่มตะโพนมอญ และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง คือ  เพลงมอญดูดาว  และเพลงระบำม้า

       เพลงพญาลำพอง เพลงอัตราจังหวะสองชั้น   ทำนองเก่า   ใช้ประกอบการแสดงละคร  เช่น  บรรจุในบทละครเรื่องพญาผานอง  บทของกรมศิลปากร

       เพลงมอญดูดาว เพลงอัตราจังหวะสองชั้น  ทำนองเก่า  เป็นเพลงสำเนียงมอญใช้หน้าทับสองไม้กำกับอัตราจังหวะ  เพลงนี้ใช้ประกอบการแสดงละคร  และประกอบลีลาท่ารำในละครเรื่อง  ขุนช้างขุนแผนเรียกรำพลายชุมพล  ต่อมาเมื่อ  พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงนำเพลงนี้ไป    พระราชนิพนธ์เป็นเพลงเถา  ใช้หน้าทับปรบไก่กำกับอัตราจังหวะ (ทรงเพิ่มจังหวะในทำนองเดิน)  เรียกชื่อใหม่ว่า

       เพลงราตรีประดับดาว

(:

ซซซ

ฟํ- รํ

– รํ รํ รํ

ดํรํฟํดํ

รํ- ดํ

ทดํซล

ทรํดํท:)

— 

– ดํดํดํ

– รํ

– ดํดํดํ

– ซํฟํรํ

ดํ- ท

— รํ ดํ

ทดํ- รํ

– – – –

ฟํ- รํ

– – – –

ดํ- ท

— ดํ

รํ- ท

— 

ท- ดํ

– – – รํ

– ดํดํดํ

รํดํรํท

ดํ- รํ

– – – –

– – – –

ซ- ซ

— 

– – – –

ซ- ล

ดํ- ซ

ซซซ

  :]

(:

ซซซ

ฟํ- รํ

– รํ รํ รํ

ดํรํฟํดํ

รํ- ดํ

ทดํซล

ทรํดํท:)

— 

– ดํดํดํ

– รํ

– ดํดํดํ

– ซํฟํรํ

ดํ- ท

— รํ ดํ

ทดํ- รํ

– – – –

ฟํ- รํ

– – – –

ดํ- ท

— ดํ

รํ- ท

— 

ท- ดํ

– – – รํ

– ดํดํดํ

รํดํรํท

ดํ- รํ

– – – –

– – – –

ซ- ซ

— 

– – – –

ซ- ล

ดํ- ซ

ซซซ

ตารางกำกับโน้ต เพลงมอญดูดาว 2 ชั้น

บทร้องรำพลายชุมพลแต่งตัว

-ปี่พาทย์ทำเพลงมอญดูดาว-

– ร้องเพลงมอญดูดาว-

แล้วจัดแจงแต่งกายพลายชุมพล   ปลอมตนเป็นมอญใหม่ดูคมสัน

นุ่งผ้าตาหมากรุกของรามัญ   ใส่เสื้อลงยันต์ย้อมว่านยา

-รับ-

คอผูกผ้าประเจียดของอาจารย์   โอมอ่านเศกผงผัดหน้า
คาดตะกรุดโทนทองของบิดา   โพกผ้าสีทับทิมริมขลิบทอง

-รับ-

ถือหอกสัตตะโลหะชนะชัย   เหมือนสมิงมอญใหม่ดูไวว่อง
ขุนแผนขี่สีหมอกออกลำพอง   ชุมพลขึ้นกะเลียวผยองนำโยธา ฯ

-รับ-

ปี่พาทย์ ทำเพลงมอญดูดาว   และเพลงม้าย่อง-

(ผู้แสดงรำจนจบกระบวนท่า แล้วเข้าโรง)

ลีลาท่ารำ

       เทคนิคการรำ  การรำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการร่ายรำในแบบมอญ ลีลาของการรำไทยนั้นมีอยู่หลายแบบหรือที่เรียกกันว่าหลายภาษา แต่ในรูปแบบของมอญในการรำพลายชุมพลแต่งตัวนั้น จุดสำคัญอยู่ที่การใช้ไหล่ เพราะการใช้ไหล่ เพราะการใช้ไหล่ในท่าของมอญนี้จะต้อง “ตีไหล่ออก” เสียเป็นส่วนมากและเป็นท่ารำที่เรียกว่า “โก้เก๋” มีการใช้วิธีการขะย่อนปลายเท้าประกอบด้วยช่วยให้ดูว่าเป็นท่าที ที่กระฉับกระเฉง ส่วนการยกเท้าเดินมานั้นก็ต้องเดินเตะส้นนิดหน่อย พร้อมทั้งมีการโยกตัว ประกอบพอสมควรจึงจะดูเก๋ไก๋เข้าที (อาคม สายาคม, 2525, หน้า343)

       1.ท่าเดิน เพลงมอญดูดาวมีทั้งหมด18 จังหวะในตอนนี้เพลงมอญดูดาวขึ้น ให้เดินออกจากด้านขวาของเวทีท่าเดินออกก้าวเท้าซ้ายเอียงศีรษะไปทางซ้ายมือขวาปล่อยจีบตั้งวงล่าง และ ก้าวเท้าขวาเอียงศีรษะไปทางขวาจีบแล้วปล่อยจีบตั้งมือระดับสะเอว  มือซ้ายขัดไว้ข้างหลังระดับสะเอว (ทำท่านี้ในจังหวะที่ 1-5) การเดินแบบนี้เป็นรูปแบบของการเดินแบบพันทางนี้จะมีความแตกต่างจากการเดินในแบบอื่นๆเพราะศีรษะจะเอียงไปทางเดียวกับเท้าที่ก้าว การเดินในแบบของพลายชุมพลต้องใส่ลีลาที่เป็นแบบมอญเพราะเป็นการรำออกภาษามอญการเดินจะมีการตีไหล่ออกไปพร้อมๆกับการก้าวเท้า การเดินออกถือว่ามีความสำคัญมาก ผู้รำควรสร้างอารมณ์ให้เข้ากับบทบาทของตัว พลายชุมพลต้องมีความเคร่งครึม กรุ้มกริ่ม ในแบบของเด็กหนุ่ม เดินออกมาต้องมีท่าทีการเดินที่กระฉับกระเฉงให้เห็นถึงความกล้าหาญที่จะออกรบ

ภาพที่ 2 ท่าเดิน

       2.ท่าส่ายไหล่ก่อนท่าโบก ค่อยๆหันมาทิศทางขวามือ (ทำท่าโบกมือ) มือซ้ายจีบหงายมือมือขวาตั้งวงล่าง เปลี่ยนมาเอียงไหล่ซ้าย มือทั้งสองห่างกันประมาณ 1 คืบ น้ำหนักอยู่ขาขวา เท้าทั้งสองห่างกันประมาณ 1-2 ฟุต ยุบลง  ให้พอดีกับจังหวะที่ 9 ส่ายไหล่เล็กน้อย แล้วยกเท้าซ้ายขึ้น ม้วนมือซ้ายข้นเป็นตั้งวงบน  มือขวาแยกมาเป็นจีบหงายมือตึงแขนไว้ข้างหลัง กล่อมไหล่ซ้ายมาเอียงไหล่ขวา ค่อยๆ วางเท้าซ้ายลงที่เดิม โดยเอาส้นเท้าจรดที่พื้นไว้ หน้ามองมือซ้าย ให้พอดีกับ จังหวะที่ 10 การส่ายไหล่ก่อนท่าโบกนั้นเป็นลักษณะเฉพาะของการรำพลายชุมพลแต่งตัว ถือว่ามีความสวยงามโดดเด่นแตกต่างจากท่าโบกในรำชุดอื่นๆ

ภาพที่ 3 ท่าโบก

       3.ท่าขึ้นม้า ในท่าที่จะขึ้นสัตว์ ครูบาอาจารย์แบ่งหรือกำหนดไว้ว่า การที่จะขึ้นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่จะขึ้นด้วยท่า สูง ถ้าขึ้นม้าจะเป็นท่าบัวชูฝัก แต่ในการรำชุดนี้ คุณแม่ลมุล ยมะคุปต์ ให้ใช้ท่าสูงได้เหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ใช่สัตว์ใหญ่ก็ ตามแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะหรือข้อยกเว้น ไม่จำเป็นต้องมีหลักการตายตัว (ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ, 2545, สัมภาษณ์ 3 มีนาคม 2557)

ภาพที่ 4 ท่าขึ้นม้า

       4.การตีไหล่ ตีไหล่ซ้ายออกน้ำหนักตัวอยู่ที่ขาซ้าย และ ตีไหล่ขวาออกน้ำหนักอยู่ขาขวา การตีไหล่ในแบบของมอญนั้นก็จะแตกต่างจากการตีไหล่ในแบบอื่นๆ คือการตีไหล่ในแบบมอญนั้นจะต้องตีไหล่ออก การตีไหล่แบบมอญในการรำพลายชุมพลแต่งตัวจะตีไหล่แบบเลขแปด จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการตีไหล่แบบพม่า การตีไหล่แบบพม่าก็จะตีไหล่แบบที่เรียกว่า ไปเป็นแผงๆ การตีไหล่ของมอญจะดูความนุ่มนวล อ่อนช้อย กลมกลืนมากกว่า การตีไหล่ในแบบของมอญกับการรำพลายชุมพลแต่งตัวนี้ถือว่าเป็นสำคัญ

ภาพที่ 5 การตีไหล่

       การใช้พาหนะ  พาหนะของพลายชุมพล คือ “ม้ากะเลียว” ม้าที่ใช้ในการแสดงพลายชุมพลนี้คือ ม้าแผง ม้ากะเลียว ตัวมีสีเขียว คือม้าที่เป็นพาหนะของพลายชุมพล ในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอน พระไวยแตกทัพการติดม้าแผงจะต้องติดที่สะเอวด้านขวาของผู้รำ ในการแสดงนั้นอาจจะมีทหารที่แต่งกายเป็นมอญคอยส่งหอกและติดม้าแผง ให้กับผู้แสดง การจับม้าควรจับด้วยมือซ้ายใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจับส่วนที่เป็นหูของม้านิ้วที่เหลือกรีดออกให้สวยงาม เมื่อใส่ม้าแผงไปแล้วผู้แสดงควรถ่ายทอดอิริยาบทให้คล้ายกับการที่เราขี่ม้าอยู่จริงควรอยู่ในบทบาท และท่วงท่าของตัวละคร พลายชุมพลแต่งตัวให้มากที่สุด

ภาพที่ 6  ม้าแผง

       ดร.ไพโรจน์  ทองคำสุก  ได้กล่าวถึงเรื่องม้าในนาฏกรรมไว้ในหนังสือวารสารราชบัณฑิตยสถานว่า  ม้าปรากฏอยู่ในศิลปะการแสดงหลายแขนงด้วยกัน  ได้แก่  ศิลปกรรม  วรรณกรรม  ดุริยางค์กรรมและนาฏกรรม  ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ดังนี้

              1. ด้านศิลปกรรม  ปรากฏในรูปของการสร้างสรรค์งานด้านการออกแบบม้าแผง  เครื่องแต่งกายหัวม้า  และแส้ม้า ซึ่งใช้สำหรับประกอบการแสดง

              2. ด้านวรรณกรรม  ปรากฏในเรื่องราวของตัวละคร  เป็นม้าอยู่ในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ม้านิลพาหุของวิรุญจำบังในโขนเรื่องรามเกียรติ์  ม้าสีหมอกของขุนแผนในละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ม้านิลมังกรของสุดสาครในละครนอกเรื่องพระอภัยมณี  นางแก้วหน้าม้าในละครเรื่องแก้วหน้าม้า

              3. ด้านดุริยางคกรรม  ปรากฏชื่อเพลงม้ารำ  ม้าย่อง  ม้าโขยก  ม้าวิ่ง  และอัศวลีลา    เป็นต้น

              4. ด้านนาฏกรรม  ปรากฏกระบวนท่ารำเฉพาะที่มีลักษณะของม้า  เช่น  การกระโดด  การกระทืบเท้า  โขยกเท้า  เสียงร้อง

             นาฏกรรมไทยกล่าวถึงม้าอยู่หลายเรื่องด้วยกัน  ได้แก่  รามเกียรติ์  อิเหนา  อุณรุท  สุวรรณหงส์  สังข์ทอง  ขุนช้างขุนแผน  รถเสน  ราชาธิราช  พระอภัยมณี  โกมินทร์  และแก้วหน้าม้า  แต่ละเรื่องกจะมีความแตกต่างกันออกไป  ทั้งลักษณะของม้า  และการนำไปใช้ประกอบการแสดง  ตลอดจนกระบวนท่ารำต่างๆผู้เขียนได้วิเคราะห์สรุปได้พอสังเขปดังนี้

              1. ม้าแผงเป็นพาหนะ  อุปกรณ์ประกอบการแสดง

              2. ม้าคนเทียมรถไม่มีบทบาท

              3. ม้าคนเป็นระบำประกอบการแสดง

              4. ม้าคนเป็นพาหนะมีบทบาท

              5. ม้าจริงเป็นพาหนะ

              6. ม้าคนเป็นพาหนะ แต่เป็นม้าลูกผสม

              7. ม้าคนเป็นตัวเอกของเรื่อง  ไม่ได้เป็นพาหนะ

       บทบาทของม้าแต่ละหัวข้อมีปะปนกันอยู่ในนาฏกรรมการแสดงซึ่งมีจารีตเฉพาะ  ปรากฏเป็นรูปแบบของการแสดงโขน  ละครใน  ละครนอก  ละครพันทาง  และละครเสภา  โดยเฉพาะม้าที่มีบทบาทก็จะมีกระบวนท่ารำตามจารีตของการแสดงแต่ละประเภท

       ม้าแผง  ทำด้วยหนังวัวแกะสลัก  เขียนสีเป็นรูปม้า  มีความกว้าง 17 นิ้ว  ยาว 23 นิ้ว  ข้างตัวแผงม้าใช้ลวดทำเป็นตะขอ  เวลาแสดงใช้ตะขอลวดเกี่ยวที่สายเข็มขัดข้างลำตัวผู้แสดง  ในระหว่างแสดงผู้แสดงจะทำท่ากระโดดไปมาตามกิริยาของม้าประหนึ่งว่าเป็นเท้าม้า  ส่วนท่อนบนก็แสดงกระบวนท่ารำตามบทบาทที่ได้รับ  อุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่ใช้ประกอบการแสดงทั้งม้าแผงและ  ม้าคน  คือ  แส้ม้า  ทำด้วยหวายติดพู่สีแดง  ยาวประมาณ 34 นิ้ว

       ม้าเป็นสัตว์ที่ถูกจินตนาการให้มีความสามารถมากมาย  สามารถเหาะเหินได้รวดเร็ว  สามารถพูดได้  เป็นเพื่อน  เป็นที่ปรึกษาได้  ในกระบวนท่ารำก็จะมีกิริยาท่าทางของม้าผสมผสาน ดูแข็งแรง  น่าเอ็นดูยิ่งนัก  มีความเฉลียวฉลาด  ช่างเจรจา  อุปนิสัยของม้าพอสรุปได้ดังนี้

              1. มีความแข็งแรง  ปราดเปรียว  ว่องไว

              2. มีความซื่อสัตย์  จงรักภักดีต่อผู้เป็นนาย

              3. มีความกตัญญู  รู้จักบุญคุณ

              4. มีความรับผิดชอบ  ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

              5. มีความเฉลียวฉลาด  หลักแหลม

วิธีการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง : ม้าแผง ม้ากะเลียว (ม้าสีเขียว)

ภาพที่ 7 การจับม้า

มือซ้ายจีบที่หัวม้า  มือซ้ายตั้งวงจับที่เอวตรงหลังม้า

ภาพที่  8   การขี่ม้า

      ใช้นิ้วหัวแม่มือ ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ จับที่หูม้าแล้วงอเข่าทั้งสอง ทำน้ำหนักให้มาอยู่ที่ขาซ้ายแล้วยืดขึ้น ปลายเท้าขวายันพื้น พร้อมทั้งถ่ายน้ำหนักมาที่ขาขวานิดหน่อยและขยับขาว้ายให้เคลื่อนที่ไปมา

อารมณ์การแสดง

             ผู้ที่ได้รับบทบาทการแสดงเป็น “พลายชุมพลแต่งตัว” จะต้องถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาได้สมบทบาทให้มากที่สุดก่อนจะรำตัว “พลายชุมพล” นี้ผู้แสดงจะต้องทำจิตใจให้เคร่งครึ้ม สนุกสนานกุ๊กกิ๊กในแบบของเด็กหนุ่ม การยิ้มควรยิ้มแบบกรุ้มกริ่ม จะทำให้เกิดเสน่ห์ในการรำ ผู้รำควรอยู่กับตัวละครให้มากที่สุด ให้คิดไปได้เลยว่าเราคือ “พลายชุมพล” จริงๆ ควรทำให้ผู้ชมเชื่อในสิ่งที่เราจะทำ และเชื่อว่าเรานี่แหละคือพลายชุมพล ให้ได้ เมื่อผู้ชมมีความประทับใจและเข้าใจในสิ่งที่ผู้รำถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในการแสดง สิ่งสำคัญของอารมณ์ในการแสดงคือ สมาธิ ผู้รำควรมีสมาธิจดจ่อ กับบทบาทของพลายชุมพลจึงจะทำให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตัวละคร

ภาพที่ 9 ท่าควบม้าแสดงอารมณ์สนุกสนาน

สรุปและอภิปรายผล

       จากการที่ได้ศึกษากระบวนท่ารำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการแสดงชุดหนึ่งที่ตัดตอนมาจากการแสดงละครเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนพระไวยแตกทัพ โดยผู้รำจะเป็นตัวพลายชุมพลซึ่งปลอมตัวเป็นมอญเพื่อออกไปสู้รบกับพี่ชาย คือพระไวยเนื่องจากความไม่เข้าใจกันการแต่งกาย แต่งตัวเป็นชาย นุ่งสนับเพลา และผ้าตาหมากรุก ใส่เสื้อแขนยาวเอาชายเสื้อไว้ในชายผ้านุ่ง ใช้ผ้าตาคาดเอวทับสวมเสื้อกั๊กลงยันต์ทับเสื้อแขนยาว ที่คอจะผูกผ้าประเจียดสีขาวโพกศีรษะแบบมอญด้วยผ้าสีทับทิม ในมือผู้แสดงจะมีหอกกับม้าเป็นอุปกรณ์ในการแสดงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง นิยมใช้วงปี่พาทย์มอญเพลงร้องประกอบการแสดง ใช้เพลงมอญ ในการศึกษาครั้งนี้ได้รู้ถึงกระบวนท่ารำที่แตกต่างจากการรำประเภทอื่นเพราะเป็นการรำแบบมอญมีการตีไหล่ในท่าทางมอญเป็นส่วนใหญ่มีลักษณะท่ารำที่เท่และโก้เก๋และมีการใช้อาวุธมีความทะมัดทะแมงเพลงที่ใช้ประกอบก็มีจังหวะที่กระชับและสนุกสนาน

       การรำพลายชุมพลแต่งตัว เป็นการร่ายรำแบบมอญ มีลักษณะลีลาท่ารำที่ โก้เก๋ เป็นการ    ตีไหล่ในแบบมอญ นั้นจะต้องตีไหล่ออกเป็นเลขแปด การตีไหล่ของมอญนั้นจะดูอ่อนช้อย นุ่มนวล และการแสดงชุดนี้ผู้แสดงจะต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครนั้นออกมาให้สมบทบาทมากที่สุด และการรำชุดนี้มีการใช้อาวุธประกอบการแสดง คือ ม้าและหอก เป็นการเพิ่มอรรถรสและสีสันให้ผู้ชม ทำให้การแสดงชุดนี้มีความหน้าสนใจ ตื่นเต้น ทำให้ผู้ชมเกิดความเพลิดเพลินเข้าใจง่าย ในบทบาทของตัวนี้ ประกอบถึงเครื่องดนตรีมีจังหวะที่กระชับและสนุกสนานเหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย

ข้อเสนอแนะ

1.ควรจะมีการศึกษาการแสดงพลายชุมพลในรูปแบบอื่นๆ อาทิเช่น พลายชุมพลในรูปแบบลิเก

2.ควรมีการศึกษาการแสดง ของตัวละคร ตัวอื่นๆ ที่อยู่ในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เช่น นางวันทอง      พระไวย เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง

คมคาย แสงศักดิ์  นายสมเกียรติ ฤกษ์สิทธิชัย . (2555) . พระไวยรบพลายชุมพล . ศิลปกรรมนิพนธ์ . กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ .

ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ . สารานุกรมเพลงไทย .

เพลิน  กำราญ . (2532) . ประวัติผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ . หจก. ป. สัมพันธ์พาณิชย์ กรุงเทพฯ.

ไพโรจน์ ทองคำสุก . (2556) . วารสารราชบัณฑิตยสถาน(ปีที่ 38 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม) .

หจก.อรุณการพิมพ์  กรุงเทพฯ.

ศิลปากร,กรม. (2492) . บทละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ .

___________. เสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน .

อาคม สายาคม . (2525) . รวมงานนิพนธ์ ของ นายอาคม สายาคม (พิมพ์ครั้งที่ 1) . รุ่งศิลป์การพิมพ์.

DHANIT  YUPHO .  B.E. 2506 . THE KHON AND LAKON . BANGKOK : SIVA PHORN LIMITED PRATNERSHIP , 74 SOI RAJJATAPHAN , MAKKASAN OIREIE , BANGKOK ,THAILAND .

สัมภาษณ์

ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ. สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2557.

ประวัติศาสตร์การศึกษาไทยและการศึกษาดนตรีของไทย : ปัญหาและแนวทางแก้ไข

เชาวน์มนัส ประภักดี

       ชี้ประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทย สาเหตุและต้นตอของปัญหาด้านการศึกษา และเสนอแนะแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของการศึกษาวิชาสามัญและวิชาดนตรี โดยเฉพาะด้านวิชาดนตรีนั้นจะต้องมีการปรับปรุงบุคลากรให้เป็นผู้ชำนาญการในด้านดนตรีตลอดจน ปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารให้มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อดนตรี สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะต่อการเรียนการสอน และ ปลูกฝังค่านิยมด้านดนตรีให้กับประชาชน


ประวัติศาสตร์การศึกษาไทยและการศึกษาดนตรีของไทย
: ปัญหาและแนวทางแก้ไข

เชาวน์มนัส ประภักดี

อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ

วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทคัดย่อ

       บทความนี้เป็นการศึกษาเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทย สาเหตุและต้นตอของปัญหาด้านการศึกษาและแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของการศึกษาวิชาสามัญและวิชาดนตรี โดยใช้การศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

       จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการศึกษาของไทยตั้งแต่อดีตกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือยุคเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษา ระบบการศึกษาของไทยจะเป็นไปในรูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัยหรือตามความพึงพอใจของผู้เรียน มีการสืบทอดองค์ความรู้จาก 3 สถาบันหลักในสังคม ได้แก่ สถาบันครอบครัวโดยการสืบทอดจากบรรพบุรุษ สถาบันศาสนาโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้อบรมสั่งสอน และสถาบันกษัตริย์หรือราชสำนักโดยมีชนชั้นปกครองเป็นผู้อุปถัมภ์และสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่บุคคลในสังกัด ซึ่งเนื้อหาความรู้จะเป็นการศึกษาเพื่อความชำนาญเฉพาะทาง โดยมีจุดมุ่งหมายสำหรับการนำไปใช้ประกอบอาชีพภายใต้กรอบโครงสร้างของวัฒนธรรมและประเพณีเป็นตัวกำหนด กระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปการศึกษา ชนชั้นปกครองได้นำแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาจากชาติตะวันตกมาปรับใช้ โดยประยุกต์เอาความรู้ทั้งที่เป็นความรู้เดิมของท้องถิ่นและความรู้ใหม่จากต่างประเทศนำเข้าสู่เนื้อหาการเรียนการสอน มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

       แต่ผลจากการวิจัยและประเมินคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ระดับคุณภาพของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและบริบททางวัฒนธรรมของประเทศ จึงนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบการศึกษาในวิชาสามัญ ส่วนในด้านวิชาดนตรี ถึงแม้จะมีการนำองค์ความรู้ด้านดนตรีเข้าสู่การเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ จนทำให้เกิดผลงานด้านการศึกษา การวิจัย การใช้แนวคิดต่างๆ เข้ามาวิเคราะห์ดนตรีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แต่องค์ความรู้อีกหลายส่วนซึ่งถือเป็นคุณลักษณะเฉพาะของกระบวนการเรียนการสอนด้านดนตรีของไทยกลับสูญหายไป รวมถึงด้านคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องการให้ประชาชนในชาติมีอีกด้วย

ดังนั้น แนวทางสำคัญในการปฏิรูประบบการศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปโดย 1) ด้านวิชาสามัญ จะต้องมีการพัฒนาจากรากฐานทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับบริบททางสังคม โดยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการ ติดตาม กำกับและดูแลอย่างต่อเนื่อง 2) ด้านวิชาดนตรี จะต้องมีการปรับปรุงด้านบุคลากรให้เป็นผู้ชำนาญการ ปรับเปลี่ยนแนวคิดการบริหารงานของผู้บริหารให้มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อดนตรี สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนการสอนดนตรี และ ปลูกฝังค่านิยมด้านดนตรีให้กับประชาชน ซึ่งเมื่อดำเนินการดังนี้แล้วก็จะสามารถนำไปสู่การปฏิรูประบบการศึกษาให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Keyword) : ประวัติศาสตร์ ปฏิรูปการศึกษา ดนตรี

History of Thai Education and Thai Music Studies: Problems and Solutions

Abstract

       This study aims to present the history of the Thai education system, the causes of problems and solutions for general education and music courses. It reviews previous studies and draws data from academic studies and related studies.

       According to the study, it was found that the form of the Thai education system from its early development up to its reform in 1880 depended on the preferences and wishes of learners. Knowledge was transferred by way of three institutions: 1) family – passing on the traditions and wisdom of ancestors, 2) religion – passed on by monks, and 3) the Royal Court by patronizing or supporting its subjects through the ruling class. Education meant study for specific purposes with an aim to making a living according to culture and tradition. Later, in the era of educational reformation, the ruling class introduced a Western approach to traditional and local knowledge, and applied to the new knowledge through updated teaching methodologies. Further, it established educational and related institutes, and reformed Thai education so as to conform with economic and social demands which have been subject to ongoing change.

       According to the results of this study and the results of educational quality evaluation from related agencies, it was found that the current Thai educational system is substandard. This is because education system development policies do not conform with student needs, and the Thai cultural context has led to a failure of the general educational system. On the other hand, musical knowledge these days is still taught systematically, and this has generated a great number of academic works, researches, and ideas for analyzing music. However, many aspects of knowledge, which include unique features of Thai musical learning/teaching, morality and ethics in Thai society, have been lost.

       Therefore, there are two major issues of the education that must be reformed. First the general education has to be developed from the root of culture, under the continuous supervision of the expert, to achieve consistency with the social context. The second action is on music courses. It is important that the executives must have a good vision toward music; meanwhile, the associate must be trained as the expert. In addition, the appropriate learning environment for music and the publicity of music’s value are required. Once the education is reformed as mentioned, it would literally benefit the country and its people.

Keywords: history, education reform, music


การศึกษาไทยและดนตรีไทยในมิติประวัติศาสตร์

       ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมของสยามจากสังคมจารีตสู่สังคมสมัยใหม่ เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อชนชั้นปกครองได้น้อมนำศิลปวิทยาการอันเป็นสิ่งแปลกใหม่จากซีกโลกตะวันตกมาสู่อาณาจักรเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ผ่านการทำสนธิสัญญาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรอังกฤษ และสืบเนื่องเป็นรูปธรรมต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ตามลำดับ ศิลปวิทยาการชนิดใหม่ที่กลายเป็นตัวแทนของความเจริญก้าวหน้าและแสดงถึงความเป็นอารยะชนของบ้านเมืองแพร่กระจายเข้าสู่นโยบายการบริหารอาณาจักร มีผลเป็นภาคปฏิบัติในการให้กำเนิดระบบและกระบวนการการปฏิรูปอาณาจักรสยามครั้งยิ่งใหญ่ในทุกๆ ด้าน และส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนค่านิยมต่างๆ อันเป็นรากฐานที่มีอยู่แต่เดิมของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ จำต้องถูกปรับปรุง แปรสภาพและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของชนชั้นนำ หนึ่งในระบบที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความศิวิไลย์ให้กับบ้านเมืองและมีบทบาทสำคัญในการยกระดับสถานภาพของประชาชนในชาติให้เทียบเท่ากับชาติตะวันตกคือ การปฏิรูประบบการศึกษาดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องการศึกษาของประเทศสยาม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและเล็งเห็นคุณค่าของระบบการศึกษาที่มีต่อปวงชนในชาติ ให้เกิดจิตสำนึกที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของชาติ ในการสร้างความศิวิไลย์ให้กับอาณาจักรและการเป็นพลเมืองที่ดี ดังความว่า

       “ความประสงค์จำนงค์หมายในการสั่งสอนฝึกหัดกันนั้น ให้มุ่งก่อผลสำเร็จดังนี้คือ ให้เป็นผู้แสวงหาศิลปวิชาเครื่องอบรมปัญญา ความสามารถและความประพฤติชอบ ให้ดำรงรักษาวงษ์ตระกูลของตนให้โอบอ้อมอารีแก่พี่น้อง ให้มีความกลมเกลียวร่วมทุกข์ศุขกันในระหว่างสามีภรรยา ให้มีความซื่อตรงต่อกันในระหว่างเพื่อน ให้รู้จักกระเหม็ดกระเหม่เจียมตัว ให้มีเมตตาจิตรแก่ผู้อื่นทั้งปวง ให้อุดหนุนสาธารณประโยชน์ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ให้ปฏิบัติตนตามพระราชกำหนดกฎหมาย เมื่อถึงคราวช่วยชาติและบ้านเมืองให้มอบกายสวามิภักดิ์กล้าหาญและด้วยจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่ทุกเมื่อ

       เมื่อใดความรู้สึกต่อหน้าที่เหล่านี้ทั้งปวงหมด ได้เข้าฝังอยู่ในสันดาน จนปรากฏด้วยอาการกิริยาภายนอกแล้ว เมื่อนั้นความสั่งสอนฝึกหัดเชื่อว่าสำเร็จ และผู้ใดเล่าเรียนถึงสำเร็จเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นเชื่อว่าเป็นราษฎรอันสมควรแก่ประเทศสยามยิ่งนัก” (ประกาศกระแสพระราชโองการ เรื่องการศึกษาของประเทศสยาม อ้างใน นุชจรี ใจเก่ง,2551)

       แม้เนื้อหาในประกาศฉบับดังกล่าวจะแฝงนัยยะด้านการเมืองการปกครองและการรวมศูนย์อำนาจไว้ยังส่วนกลาง เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีตามแบบฉบับที่รัฐต้องการดังที่รัฐกำหนดขึ้น โดยขณะนั้นจะเน้นหนักไปที่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นอารยะของประเทศชาติ แต่ทั้งนี้ประกาศฉบับดังกล่าวยังถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยกอบกู้อาณาจักรให้มีความเป็นปึกแผ่นรอดพ้นภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม ที่กำลังคุกคามดินแดนในแถบอุษาคเนย์โดยการให้คุณค่าของการศึกษาที่จะเกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมืองสู่ประชาชน

       จากการสำรวจประวัติศาสตร์การศึกษาของไทยก่อนการปฏิรูประบบการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการทบทวนงานศึกษาของอรสา สุขเปรม (2541) และศรีชัย พรประชาธรรม (2547) พบว่าถึงแม้ในแต่ละยุคสมัยจะไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบแบบแผนเช่นปัจจุบัน แต่ลักษณะธรรมชาติของการเรียนการสอนของคนสยามในอดีตก็มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้ทราบข้อมูลและบริบททางสังคมในอดีต ว่าชาวสยามนั้นก็มีรูปแบบการเรียนการสอนในศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของสยามมานานแล้ว โดยเฉพาะการสอนกันตามอัธยาศัยและตามความสะดวก 

       เริ่มต้นจากสมัยสุโขทัย (พ.ศ.1781-1921) รูปแบบของระบบการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายอาณาจักร ได้แก่ ทหารและพลเรือนและฝ่ายศาสนจักร โดยมีสถานที่สำหรับใช้เป็นสถานศึกษาคือ บ้าน สำนักสงฆ์ สำนักราชบัณฑิต และพระราชสำนัก วิชาสามัญทั่วไปสันนิษฐานว่าใช้ภาษาบาลีและสันสกฤตในการศึกษา ต่อมาหลังจากพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย จึงมีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยอย่างจริงจังส่วนในด้านวิชาชีพจะเป็นการเรียนรู้โดยอาศัยการสืบทอดองค์ความรู้ต่างๆ จากคนในครอบครัว ส่วนด้านจริยธรรมศึกษา จะมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับหลักธรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นการศึกษาที่สืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีเป็นสำคัญ

       สมัยอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) การศึกษาในนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยสุโขทัย ทั้งเรื่องสถานศึกษา ผู้สอนและผู้เรียน แต่เนื่องจากเป็นสมัยที่มีความรุ่งเรืองจากการติดต่อค้าขายกับต่างชาติและความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ จึงส่งผลให้สมัยดังกล่าวมีรูปแบบการจัดระบบการศึกษาที่มีแบบแผนมากขึ้น ด้านการศึกษาวิชาสามัญ มุ่งเน้นการอ่าน เขียน ซึ่งได้ปรากฏหนังสือจินดามณีที่ถูกนำมาใช้เป็นตำราเรียน โดยมีสถาบันศาสนาที่ขณะนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับสถานภาพทางสังคมของชายชาวสยาม เพราะเป็นแหล่งเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้ติดตัวโดยผ่านการบวชเรียน ในด้านวิชาชีพจะเรียนรู้กันภายในเชื้อสายวงศ์ตระกูล เช่นวิชาวาดเขียน แกะสลัก และช่างฝีมือต่างๆ สมัยต่อมาหลังชาติตะวันตกเข้ามารวมอยู่ในอาณาจักรอยุธยา ก็ได้มีการเรียนวิชาชีพชั้นสูงด้วย เช่น ดาราศาสตร์ การทำน้ำประปา การทำปืน การพาณิชย์ แพทยศาสตร์ ตำรายา การก่อสร้าง ตำราอาหาร เป็นต้น

       สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนการปฏิรูประบบการศึกษา (พ.ศ.2322-2411) เนื่องจากการพ่ายแพ้ต่อสงครามในสมัยอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2310 ดังนั้นในยุคดังกล่าวจึงเป็นยุคแห่งการก่อรูปอาณาจักร ณ ดินแดนแห่งใหม่ทางด้านซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนได้รวบรวม บูรณะ ซ่อมแซม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำนุบำรุงสรรพวิชาความรู้และศิลปวัฒนธรรมให้กลับคืนมาคงรูปดังเดิม กระทั่งก้าวเข้าสู่แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325) การจัดระบบการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการฟื้นฟูการศึกษาด้านอักษรศาสตร์และวรรณคดี โดยส่งเสริมให้มีการแต่งวรรณกรรมรวมถึงการสังคายนาพระไตรปิฎก สมัยรัชกาลที่ 2 เนื่องจากชาติตะวันตกเกิดการปฏิวัติระบบอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตในระดับมหภาค ผ่านการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยลดภาระกำลังคน และจำต้องถ่ายเทสินค้าและตระเวนหาวัตถุดิบจากดินแดนอื่น ดังนั้นสมัยดังกล่าวจึงมีชาวต่างชาติมาติดต่อสัมพันธ์และถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และจริยศาสตร์

       สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ดูได้จากการที่ทรงจัดให้มีการมีจารึกวิชาความรู้ทั้งทางด้านวิชาสามัญและด้านวิชาชีพลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ที่ระเบียงของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีการใช้หนังสือไทยชื่อ ประถม ก กา ประถมมาลา สุบินทกุมาร ประถมจินดามณีเล่ม 1 และเล่ม 2 แทนหนังสือจินดามณีที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กระทั่งมีการตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยเป็นครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ 4 มีลักษณะคล้ายในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่จะเน้นหนักไปทางด้านอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ เนื่องจากสมัยดังกล่าวมีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติอย่างเด่นชัดมากขึ้น

       ก้าวเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคแห่งการปฏิรูประบบการศึกษา ในยุคดังกล่าวเกิดโรงเรียนหลวงโดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานเนื้อหาในตำรา มีการผลักดันทางการเมืองที่ส่งผลให้สยามต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการเจรจากับมหาอำนาจตะวันตก และได้ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการยังต่างประเทศเพื่อให้กลับมาพัฒนาประเทศ และตั้งแต่ปี พ.ศ.2423 เป็นต้นมาได้จัดตั้งโรงเรียนและสถานศึกษาในแขนงต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับสถานภาพของปวงชนและถ่ายโอนความรู้แพร่กระจายไปยังประชาชนในชาติให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับส่วนกลาง กระทั่งปี พ.ศ.2435 ได้ประกาศตั้งกระทรวงธรรมการ ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษา การพยาบาล พิพิธภัณฑ์และศาสนา

       สมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาต่อจากพระราชบิดา โดยการเพิ่มเนื้อหาและรูปแบบการศึกษาให้กว้างขวางและเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ทรงเพิ่มเนื้อหาการศึกษาที่เรียกว่ากองลูกเสือหรือเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมุ่งให้ประชาชนมีความรู้ทางด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพตามอัตภาพของตน และในปี พ.ศ.2464 ได้ประกาศให้มีการใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ให้เรียนอยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ 14 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการเรียกเก็บเงินศึกษาพลีจากประชาชนคนละ 1-3 บาทเพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดดำเนินการประถมศึกษา

       ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย (พ.ศ.2475) คณะราษฎรประกาศให้เรื่องการศึกษาเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยประกาศไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า “ต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เอื้อต่อประโยชน์ในด้านการปกครองและเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตย ได้มอบให้ท้องถิ่นมีการจัดการศึกษา ในปี พ.ศ.2476 และยังได้ปรับปรุงหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังได้เปลี่ยนชื่อแผนการศึกษาที่แต่เดิมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเรียกว่าโครงการศึกษาให้เป็นแผนการศึกษาแห่งชาติ และในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำเนินนโยบายทางด้านการศึกษาโดยมุ่งเน้นด้านสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา โดยการเพิ่มเติมความรู้วิชาด้านการปฏิบัติให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดการศึกษาภาคผนวกหรือการศึกษาผู้ใหญ่เพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาให้ทั่วถึงกัน ยุคสมัยต่อมาแผนการศึกษาถูกปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ปี พ.ศ.2494 , 2503 , 2520 , 2535 และในปี พ.ศ.2542 ได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ(พรบ.) ในการวางรากฐานของระบบการศึกษาของชาติไทย โดยแบ่งรูปแบบของการศึกษาออกเป็น 3 รูปแบบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มุ่งเน้นในการพัฒนาชีวิตให้ผู้ได้รับการศึกษานั้น มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีความรู้และคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข หรือกล่าวอีกอย่างคือบุคคลจะต้องมีความ “เก่ง ดี มีสุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายหรืออุดมการณ์หลักในการสร้างบุคลากรของรัฐที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตอย่างสมบูรณ์พรั่งพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม และด้วยบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ.2545 จึงได้มีการปรับปรุงแผน พรบ.ดังกล่าวอีกครั้งเพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อภาครัฐในด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

       ด้านการศึกษาดนตรีก่อนสยามจะปรับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า ระบบการศึกษาดนตรีมิได้ถูกนำเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ แต่มีการสืบทอด เรียนรู้และปลูกฝังองค์ความรู้ด้านดนตรีกันภายในครอบครัวและเครือญาติเป็นการศึกษาที่บ้าน ที่วัดและในราชสำนัก โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อนำดนตรีไปใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมต่างๆซึ่งหลักสูตรแบบไม่เป็นทางการนี้จะเน้นการฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรีตามแบบครูผู้สอนแล้วผู้เรียนนำไปใช้จริงในสังคมเป็นสำคัญรูปแบบการศึกษาดนตรีของไทยที่เป็นแบบแผนมาแต่ดั้งเดิมและปัจจุบันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมเดิมอยู่บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย จะเป็นในรูปแบบของการที่ผู้สอนหรือที่สังคมนักดนตรีไทยนิยมเรียกว่า “ครู” ซึ่งการที่จะรับผู้ใดเข้ามารับการสืบทอดวิชาความรู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในวงศ์ตระกูลหรืออยู่ในครอบครัวเดียวกันผู้เรียนจำเป็นจะต้องมีผู้ใหญ่เป็นผู้พาไปฝากตัวกับครูผู้สอน โดยนิยมนำดอกไม้รูปเทียนไปแสดงความเคารพต่อครู หลังจากฝากตัวเป็นศิษย์แล้วผู้เรียนบางคนอาจต้องพักอาศัยอยู่กับครูที่บ้านหรือที่สำนักดนตรีโดยเฉพาะผู้เรียนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด กิจวัตรประจำวันในช่วงแรกที่ได้เข้าเป็นสมาชิกในสำนักดนตรีคือ ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดบ้านเรือน ปรนนิบัติรับใช้ครูและเอื้ออำนวยความสะดวกในกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจหรือครูผู้สอนพิจารณาเห็นว่าสมควรได้รับการสืบทอดวิชาความรู้ จึงจะได้เริ่มรับการถ่ายทอดศาสตร์วิชาด้านดนตรี ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนเพราะจะต้องใช้ความทรงจำเป็นหลักในการเรียนรู้ เนื่องจากการเรียนดนตรีไทยในอดีตเป็นวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะ คือมีการถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก บรรเลงเป็นตัวอย่างแล้วให้ผู้เรียนจดจำและปฏิบัติตาม ไม่มีการบันทึกโน้ตและยังไม่ปรากฏเครื่องบันทึกเสียงอย่างปัจจุบันซึ่งกระบวนการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวของวัฒนธรรมดนตรีไทยนอกจากจะเป็นการสืบทอดความรู้อันเป็นศาสตร์เฉพาะด้านดนตรีแล้ว ครูผู้สอนยังมีโอกาสสอดแทรกความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามอุดมคติของสังคมในแต่ละยุคสมัยซึ่งครูผู้สอนได้แก่ครูผู้สอนที่เป็นคนในครอบครัว ครูดนตรีที่มีความรู้ความสามารถ พระสงฆ์ รวมทั้งเจ้าสำนักทั้งภายนอกและภายในราชสำนัก อันมีขนบธรรมเนียม จารีตและวิถีปฏิบัติที่ใช้เป็นกรอบในการกำหนดพฤติกรรมของผู้เรียนผู้สอนดนตรีอย่างเป็นรูปธรรมเคร่งครัด ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวบางส่วนยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบันและอีกหลายส่วนได้เลือนหายไปตามกาลเวลาและค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

       กระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูประบบการศึกษา ศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในระบบด้วยเช่นกัน ดังที่สุกรี เจริญสุข (มปท.) ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ผนวกองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมดนตรีเข้าสู่ระบบ โดยจัดให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2438 เนื้อหาจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของรัฐและสถาบันการปกครองในแต่ละยุคสมัยที่ได้ให้คุณค่า นิยามความหมายและกำหนดขอบเขตความรู้ของศิลปะ นาฏศิลป์ ขับร้องและดนตรีที่แตกต่างกันออกไป พอสรุปได้ดังนี้

หลักสูตรการศึกษา

พ.ศ.

ขอบเขตเนื้อหา/คำอธิบาย

ฉบับที่ 1

2438

การเรียนวิชาศิลปะ เป็นเรื่องการวาดภาพและการขับร้อง ซึ่งได้แก่ เพลงสรรเสริญพระบารมี ทำนองเทศน์มหาชาติ สวดสรภัญญะและท่ารำต่างๆ ตามแต่ครูสามารถสอนได้

ฉบับที่ 2

2450

การเรียนดนตรีเพื่อให้รู้ไว้เป็นเครื่องแก้ความรำคาญสำหรับบ้านเรือนในเวลาว่าง หัดร้องเพลงง่ายๆ ส่วนเพลงยากๆ และการดีดสีตีเป่า ให้เป็นไปตามใจรักและครูสามารถสอนได้

ฉบับที่ 3

2452

เน้นการเรียนภาษาและจริยธรรม มีวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปะเป็นวิชาเลือก มีการสอนขับร้องเพลงง่ายๆ เช่น เพลงบทดอกสร้อย

ฉบับที่ 4

2454

วิชาขับร้องเป็นวิชาเลือก จุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีจิตใจเบิกบานและคลายความเครียด

ฉบับที่ 5

2456

วิชาขับร้องมีเนื้อหาเดิม แต่เริ่มมีการสนับสนุนการหัดเล่นดนตรี เริ่มมีการเรียนดนตรีแบบท่องจำผสมตัวโน้ต มีการใช้โน้ตสากลในการเรียนบ้าง

ฉบับที่ 6

2467

จุดมุ่งหมายของการเรียนขับร้องและดนตรี เพื่อให้จิตใจผู้เรียนเบิกบาน เห็นความงามและความไพเราะ เพลงที่ใช้ยังคงเป็นเพลงเดิมคือ เพลง 2 ชั้น เพลง 3 ชั้น และเพลงบทดอกสร้อยง่ายๆ

ฉบับที่ 7

2480

ในหนึ่งสัปดาห์จะต้องมีกิจกรรมสวดคำนมัสการ ร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ฉบับที่ 8

2491

ฝึกการใช้เสียงดนตรีและให้รู้จักจังหวะ ให้เพลิดเพลินร่างกายและรู้จักใช้เวลาว่าง และให้ร้องเพลงเป็นเครื่องกล่อมเกลาให้เกิดอุปนิสัยอันดีงาม เพลงที่ต้องสอนได้แก่ เพลงรักชาติบ้านเมือง เพลงโรงเรียน เพลง 2 ชั้น และเพลงพื้นเมือง โดยฝึกร้องหมู่และร้องเดี่ยว

ฉบับที่ 9

2493

ฝึกการใช้เสียงดนตรีให้รู้จักจังหวะ ให้เพลิดเพลินร่างกายและรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเป็นเครื่องกล่อมเกลาอารมณ์และให้เกิดอุปนิสัยอันดีงาม รายวิชาที่ต้องสอนได้แก่ เพลงรักชาติบ้านเมือง เพลงโรงเรียน เพลง 2 ชั้น และเพลงพื้นบ้าน โดยฝึกหัดร้องเป็นหมู่และร้องเดี่ยว ร้องเสียงสูงเสียงต่ำ ให้รู้จักจังหวะของเพลงและอ่านโน้ตสากลตามสมควร

ฉบับที่ 10

2498

เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในการขับร้องหมู่และเดี่ยว

เพื่อให้เกิดความเข้าใจจังหวะเมื่อได้ยินเสียงดนตรี

เพื่อให้เกิดสันทนาการของเสียง การออกเสียงที่มีคุณภาพนุ่มนวลและสามารถเลียนเสียงได้ถูกต้อง

เพื่อส่งเสริมให้มีโอกาสสำหรับร่วมกันในการเล่นดนตรีเสมอๆ

เพื่อส่งเสริมรสนิยมในการฟังดนตรีที่ดี ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

เพื่อส่งเสริมรสนิยมทางดนตรี

เพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นร่วมกันทางจิตใจ เช่น เมื่อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีหรือร้องเพลงชาติ

เพื่อสามารถเข้าใจและอ่านโน้ตง่ายๆ ได้

เพื่อให้เข้าใจความไพเราะของการร้องประสานเสียงและสามารถร้องได้

ฉบับที่ 11

2501

ให้รู้สึกชื่นชมและซาบซึ้งในความงามตามธรรมชาติในด้านต่างๆ สี เสียง และให้เป็นผู้มีความเจริญทางจินตนาการ

ให้รู้จักใช้ศิลปะเพื่อความเพลิดเพลิน ร่าเริง และผ่อนคลายอารมณ์ในยามว่าง

ให้รู้จักฟังเพลง ร้องเพลง ฟ้อนรำ ฟังและเล่นดนตรีตามสมควร

ฉบับที่ 12

2503

มีลักษณะเช่นเดียวกับหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 11

ฉบับที่ 13

2521

ให้เห็นคุณค่าของวิชาดนตรีและนาฏศิลป์

ให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีและนาฏศิลป์

ให้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง มีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรีนาฏศิลป์ตามความถนัดและความสนใจของตน

ให้แสดงออกตามความคิดเห็นและจินตนาการของตน มีความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน

ให้รู้จักดนตรีนาฏศิลป์ของไทยและของชาติอื่น

ให้นำประสบการณ์ทางดนตรีและนาฏศิลป์ไปปรับปรุงบุคลิกภาพของตน

       กระทั่งปี พ.ศ.2542 ได้ปรากฏพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมดนตรีอยู่ไม่น้อย ดังที่ได้บรรจุเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมดนตรีอยู่ในมาตราที่ 6 ในหมวดที่ 1 กล่าวโดยสรุปว่า ลักษณะสำคัญอันพึงประสงค์ของพลเมืองในชาติไทย ที่มีความสมบูรณ์จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านจิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่รวมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และในมาตราที่ 7 ได้กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ในส่วนของดนตรีได้เข้ามาเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปลูกจิตสำนึกให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและความรู้สากล นอกจากนั้นยังมีมาตราอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งในเรื่องของการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติให้คิดเป็นทำเป็น จากสื่อที่มีความหลากหลาย เป็นต้น (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี,มปท) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าจากพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับดังกล่าวนี้ดนตรีถือว่ามีบทบาทสำคัญในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านการเสริมสร้างสติปัญญา ความรู้ความสามารถและการสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมเพื่อสร้างบุคคลให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ครบทุกด้านตามที่รัฐต้องการ

       จากที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่า บทบาทสำคัญของรัฐในการทำหน้าที่ปฏิรูประบบการศึกษาด้วยการกำหนดเนื้อหาและคัดสรรองค์ความรู้ที่ถูกนำมาบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีสถาบันและบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดและผลิตซ้ำองค์ความรู้ต่างๆ นั้น หลายองค์ความรู้ถือเป็นฐานความรู้เดิมที่มีอยู่ในประเทศ เช่น ภาษา ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม ศาสนา ภูมิปัญญา ฯลฯ และอีกหลากหลายองค์ความรู้ที่แสดงถึงความเป็นอารยะ ซึ่งถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ผ่านกรรมวิธีการผสมผสานกลมกลืน คัดสรรจนเป็นระบบระเบียบและถ่ายทอดให้กับผู้เรียน โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญในการสร้างความรู้ให้กับผู้เรียนและประชาชนในชาติได้เป็นประชาชน/พลเมืองที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยความรู้ จริยธรรมสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและดำเนินวิถีชีวิตตามอุดมการณ์ที่รัฐเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และมีบริบททางสังคมวัฒนธรรมอันได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองเป็นเหตุปัจจัยร่วมในการกำหนดวิถีการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยอย่างต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน

ระบบการศึกษากับความจริง ณ ปัจจุบัน
       จากสภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ถึงแม้จะผ่านกระบวนการตกแต่งให้มีความสมบูรณ์และเท่าทันต่อสังคมโลกที่เปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากคณะรัฐบาลในรูปแบบของกระทรวง ทบวง กรมเป็นผู้กำหนดนโยบายและถ่ายทอดคำสั่งให้หน่วยงานซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ ได้ปฏิบัติตาม รวมถึงได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐาน เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเรียกตามชื่อย่อว่า “สมศ.” เป็นต้น  แต่จากเสียงสะท้อนของหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยและประเมินระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมไปถึงสื่อสารมวลชน ต่างชี้ชัดถึงระดับคุณภาพการศึกษาของไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤต ดังตัวอย่างการเปรียบเทียบระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บ่งชี้ว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยตามหลังประเทศเวียดนาม ขณะที่ระดับอุดมศึกษาอยู่อันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศ ซึ่งตามหลังประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ส่วนในระดับโลกนั้น ระบบการศึกษาองประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 37  ภาพสะท้อนจากการประเมินระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของไทยเหล่านี้ต่างบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า “ระบบการศึกษาไทยล้มเหลว” ดังนั้นผลิตผลของฟันเฟืองเครื่องจักรในระบบการศึกษาที่ได้ผลิตนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรทางด้านการศึกษาที่ในอนาคตอันใกล้บุคคลเหล่านี้จะต้องก้าวขึ้นสู่การเป็นทรัพยากรบุคคลในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ จึงตกอยู่ในสภาวะอ่อนแอทั้งด้านวิชาความรู้และด้านคุณธรรมจริยธรรม อันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพสังคมวัฒนธรรมที่เน้นหนักไปสู่สังคมบริโภคนิยมและนำไปสู่การเป็นสังคมทุกขภาวะในที่สุด สำหรับในส่วนของสถาบันการศึกษาที่สามารถผลิตผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถหรือเด็กเก่ง ก็สร้างได้เฉพาะผู้เรียนที่มีเฉพาะความรู้แต่ขาดจิตสำนึกสาธารณะที่พึงมีต่อสังคม ไม่รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ขาดคุณธรรมจริยธรรม ห่างไกลจากศาสนา ส่วนเด็กที่เรียนไม่เก่งกลับถูกทอดทิ้ง ถูกนิยามให้กลายเป็นส่วนเกินเป็นปมด้อยของสังคม ขาดการดูแลเอาใจใส่และไร้การเหลียวแลอย่างจริงจัง จนทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหาและสร้างปัญหาให้แก่สังคม ทั้งการหมกมุ่นกับอบายมุข สื่อลามกอนาจาร สิ่งเสพติด การพนัน ฯลฯ ซึ่งขัดแย้งกับจินตนาการของรัฐในการที่จะสร้างสังคมอุดมสุขอย่างสิ้นเชิง

       ด้วยสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาที่เป็นภาพใหญ่ของชาติและผลกระทบจากการจัดการความรู้เกี่ยวกับดนตรีให้เข้าสู่ระบบ ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการมุ่งเพียงแต่สร้างผู้เรียนหรือผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณสมบัติเป็นเลิศเฉพาะด้านความรู้ ภายใต้กรอบของวิชาและองค์ความรู้ที่จำกัดเฉพาะในสถาบันการศึกษา แต่ขาดคุณลักษณะของการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ อย่างแท้จริง หรือรู้จักนำเอาความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตจริง ที่สำคัญคือการขาดซึ่งคุณธรรมจริยธรรมที่ดีอันเป็นเครื่องประกอบของบุคคลในการที่จะสร้างประโยชน์และความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับสังคม ถึงแม้รัฐจะได้ดำเนินการคิดค้นนวัตกรรมและเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาผู้เรียนและระบบการศึกษาไทยมาโดยตลอดก็ตาม แต่กลับไร้ประสิทธิผลในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์แบบรอบด้านอย่างที่รัฐต้องการ

       หลากหลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยในส่วนของวิชาสามัญ ซึ่งจากการสรุปความโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากหนังสือการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทย(2544) ได้สะท้อนให้เห็นถึงที่มาของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของไทย อันมีเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นต่างๆ พอสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยไม่สนับสนุนระบบการศึกษาของตนเองมาตั้งแต่แรก แต่เป็นการเลียนแบบตะวันตกโดยไม่มีการปรับใช้ให้เข้ากับฐานทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ จึงทำให้ระบบการศึกษาไทยอยู่ในภาวะที่แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ยาก เนื้อหาสาระของการปฏิรูประบบการศึกษายังคงเน้นให้ผู้เรียนจดจำมากกว่าการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาล่าช้าไม่จริงจังและขาดความต่อเนื่อง รวมทั้งจากฐานคิดเดิมของรัฐในเรื่องการจัดระบบการเรียนการสอนที่พยายามสร้างมาตรฐานความรู้ให้มีความเป็นหนึ่งเดียว และถ่ายทอดความรู้ฉบับมาตรฐานดังกล่าวทั้งในแนวราบคือ การแพร่กระจายความรู้จากส่วนกลางไปภูมิภาค และในแนวดิ่งคือจากผู้บริหาร/กระทรวงหรือผู้มีอำนาจในการกำหนดมาตรฐานความรู้มาสู่บุคลากร หน่วยงานและสถานศึกษาภายใต้สังกัดการรับผิดชอบดูแล ซึ่งขาดการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงกับศาสตร์ความรู้อันเป็นฐานเดิม หรือเรียกว่ามิได้ใส่ความเป็นตัวของตัวเองอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นถิ่นแล้วนำไปรวมอยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้ที่ห่างเหินประเด็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นผลิตผลอันเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตด้วยระบบการศึกษา จึงเปลี่ยนคุณลักษณะจากเดิมที่เคยมีความรู้คู่คุณธรรม ความอ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ มีเมตตาเป็นเครื่องประกอบของบุคคล เปลี่ยนไปสู่การเป็นคนโอ้อวดจองหอง ขี้โมโห ขาดความยับยั้งชั่งใจ และส่งผลขยายไปสู่การสร้างปัญหาแก่สังคม ซึ่งขัดแย้งกับจินตนาการหรืออุดมการณ์ที่รัฐต้องการสร้างบุคลากรภายใต้การปกครองของรัฐให้มีความ “เก่ง ดี มีสุข” โดยสิ้นเชิง

       ด้านวิชาการศึกษาดนตรี ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐได้นำองค์ความรู้ด้านดนตรีเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในระบบการศึกษา ซึ่งจากการนำเสนอข้อมูลของขำคม พรประสิทธิ์ (2539) ว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพและบทบาทของวัฒนธรรมดนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวโดยสรุปว่า ด้วยวัฒนธรรมดนตรีของไทยที่ระบบการเรียนการสอนดนตรีแต่เดิมเน้นรูปแบบการเรียนในระบบครอบครัว โดยมีครูผู้สอนที่มีสถานภาพไม่ต่างจากพ่อหรือผู้มีพระคุณต่อชีวิตเป็นผู้อบรมสั่งสอนทั้งวิชาความรู้และจริยธรรมคุณธรรม ผู้เรียนก็จะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในวิชาการดนตรีอยู่ในเบื้องต้นก่อนที่จะเข้ารับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ดังนั้นการศึกษาเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าวจึงสามารถพัฒนาและต่อยอดด้านดนตรีทั้งความสามารถของผู้เรียนและวิชาความรู้ด้านดนตรีที่มีการสืบทอดถ่ายเทอย่างกว้างขวาง รวมถึงกลายเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ด้วยการขัดเกลาจากครูผู้สอนและขนบต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในขั้นตอนของการเรียนการสอนดนตรีมาตั้งแต่ครั้งอดีต แต่เมื่อวิชาการดนตรีดังกล่าวถูกบรรจุเข้าสู่ระบบกระบวนการเรียนรู้ตามมาตรฐานที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้นใหม่ จากครอบครัว/บ้าน สำนัก วัดและวัง สู่สถาบันการศึกษา มีพัฒนาการครอบคลุมและบังคับให้ผู้เรียนต้องมีความรู้ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาอย่างที่พบเห็นในปัจจุบัน ดังนั้นจากขนบธรรมเนียมเดิมที่ผู้เรียนจะต้องมีใจรักในวัฒนธรรมดนตรีเป็นทุนเดิม เคารพนบน้อมในการเข้าไปฝากตัวกับครูผู้สอนตามบ้านหรือสำนักเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะได้วิชาความรู้อย่างแท้จริง กลับเปลี่ยนเป็นครูผู้สอนที่อยู่ภายใต้สังกัดของรัฐหรือหน่วยงานที่มีการเรียนการสอนด้านดนตรี จะต้องเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนเสียเอง เนื่องด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องสั่งสอนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จึงส่งผลให้กลายเป็นครูผู้สอนในสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ผู้เรียนมิได้มีความสนใจอย่างจริงจังในด้านดนตรี ต้องกลายเป็นผู้ยัดเยียดวิชาความรู้ให้แก่ผู้เรียน จนเกิดภาวะความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับตัวผู้เรียนไม่มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นเช่นอดีต

       อีกทั้งด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จึงปรากฏสิ่งเร้าอื่นๆ ให้ผู้เรียนสนใจมากกว่าการตั้งใจเรียนรู้ดนตรี ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะต้องมีสมาธิ มีความเอาใจใส่ และหมั่นฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้รับวิชาความรู้ครบถ้วนดังนั้นจึงส่งผลให้วิชาความรู้อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถูกสร้างสรรค์และกลั่นกรองอย่างพิถีพิถันจนเป็นศิลปะชั้นสูงประจำชาติ กลับต้องสูญหาย เจือจางและได้รับการสืบทอดองค์ความรู้เพียงบางส่วนโดยเฉพาะในส่วนที่รัฐเป็นผู้กำหนดและเห็นชอบว่าได้มาตรฐานและเหมาะสมเท่านั้น จากการตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนพบว่า ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยหรือให้ความสนใจกับวัฒนธรรมดนตรีไทยผ่านระบบการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี โทและเอกหรือสามารถผลิตบุคลากรทางด้านวิชาการดนตรีเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่องค์ความรู้อันเป็นศาสตร์จำเพาะของดนตรีไทย ที่ไม่สามารถเข้ากับระบบการศึกษาสมัยใหม่ได้นั้น กลับตกอยู่ในสภาวะการสูญหายขององค์ความรู้และขาดการสานต่ออย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะสู่การปฏิรูประบบการศึกษาไทยและการศึกษาดนตรีของไทย

       จากปมปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการสะสมมูลเหตุต่างๆ อย่างยาวนานของกระบวนการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ทั้งในด้านวิชาสามัญและด้านวิชาดนตรีโดยสถาบันหลักในสังคมที่มีผู้มีอำนาจในการชี้นำทิศทางการศึกษาจากส่วนกลางได้นำไปสู่การสร้างปัญหาให้แก่ผู้เรียนและสังคมในวงกว้าง ส่งผลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวต้องทำหน้าที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาผ่านกระบวนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยมีประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักวิชาการ นักวิจัย สื่อสารมวลชน ฯลฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากที่ได้ให้ความสนใจและทำการศึกษาวิจัยรวมถึงให้หากลวิธีและข้อเสนอแนะ ในการหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวนี้ โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดเฉพาะของนักวิชาการบางท่านที่เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างและคลุกคลีกับแวดวงวิชาการศึกษาโดยตรง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้

       เอกวิทย์ ณ ถลาง(2544) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของไทย ได้ให้ข้อมูลเพื่อเป็นทางออก ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนที่ควรพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ส่วนแรกเน้นไปที่การพัฒนาบุคลากร และส่วนที่ 2 เป็นการปรับยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความรู้

       ด้านการพัฒนาคน ได้แก่ 1) ให้ความสำคัญกับการคัดสรรคนที่มีศักยภาพทั้งทางด้านความฉลาดทางสติปัญญา ทางอารมณ์หรือวุฒิภาวะ และทางศีลธรรม 2) ปลดถ่ายกำลังคนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมและการศึกษาไปสู่อาชีพอื่นที่เหมาะสมแก่วัยวุฒิและศักยภาพ 3) พัฒนากระบวนทัศน์และวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน 4) สร้างขวัญและกำลังใจแก่คนดีมีความสามารถ 5) เสริมองค์ความรู้ด้านพุทธศาสนา ทางจิตวิญญาณ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมวิทยา เพื่อการบูรณาการความรู้อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและไม่กระจัดกระจาย และ 6) ให้ความสำคัญกับผู้มีความรู้หรือปราชญ์ในการเสริมสร้างความรู้ที่มีประสิทธิภาพและหลากหลาย

       ด้านยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้และเกิดประโยชน์สูงสุด 2) มีการคัดสรรผู้ที่จะเข้าทำงานให้เน้นการประเมินศักยภาพทั้งทางด้านความรู้ ความคิดและคุณธรรมจริยธรรม 3) ควรมีการอบรมเพื่อพัฒนากระบวนการสอนที่มีประสิทธิภาพและมุ่งขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม 5) มีการประเมินประสิทธิภาพกระบวนการเรียนมากกว่าผลสัมฤทธิ์ และ 6) มีการพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับ เช่น ผู้นำ ครูอาจารย์ ผู้ปฏิบัติการ และระดับชาวบ้านรวมถึงเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างครบถ้วนทุกมิติ

       พระธรรมปิฎก (2544) ให้แนวทางกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งพอสรุปได้ว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาล้วนเป็นผลพวงมาจากบริบทที่หลากหลาย โดยเฉพาะสภาพปัญหาของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ผู้คนหลงลืมกับสภาพที่เป็นจริงทางวัฒนธรรมอันเป็นฐานเดิมของบ้านเมือง หลงใหลตามกระแสของความแปลกใหม่ที่มิใช่ของตนเอง จนทำให้รากฐานทางวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องที่จะช่วยในการเยียวยาปัญหาและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองนั้นต้องชำรุดเสียหาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุดมการณ์หลักของสถาบันการศึกษามีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างเด็กเก่ง ดีและมีความสุข แต่ข้อดี 3 ประการนี้ยังคงกระจัดกระจายไม่สมบูรณ์ในคนใดคนหนึ่งเท่าที่ควรคือ “ถ้าเก่งก็มักจะดียาก ถ้าดีก็มักจะเก่งยาก หรือถ้าเก่งและดีก็มักไม่มีความสุข” ดังนั้นระบบการศึกษาที่ถูกต้องจึงที่จะสามารถประสานทั้ง 3 ส่วนให้สอดคล้องกลมกลืนกันได้

       ประเวศ วะสี( 2544) ปราชญ์คนสำคัญของชาติ ให้ข้อเสนอแนะว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาในปัจจุบันคือ ความบกพร่องของระบบการปฏิรูปการศึกษาที่แยกศาสนาและวัฒนธรรมออกจากกัน มุ่งเน้นเพียงให้ผู้เรียนมีความรู้ความชำนาญเป็นส่วนๆ ไม่มีการบูรณาการความรู้ระหว่างกันและกัน อีกทั้งควรมีการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานด้านการศึกษาหรือจัดกระบวนการศึกษาที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนาสังคมได้อย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพ

       จากข้อเสนอแนะของนักวิชาการข้างต้นพอสรุปได้ว่า ทางออกที่สำคัญในการที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของระบบการศึกษาของชาตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมร้อยเครื่องมือต่างๆ ทั้งทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยี อีกทั้งรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แต่เดิมมาปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จำเป็นจะต้องดำเนินการ กำกับและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยมีชุมชนและปราชญ์ผู้มีความรู้เป็นผู้คอยให้คำปรึกษาและชี้แนะแนวทางเพื่อการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุดและเหมาะสมกับสังคมไทย

       สำหรับทางออกของปัญหาด้านระบบการศึกษาดนตรี ทั้งประเด็นการนำศาสตร์ด้านดนตรีเข้าสู่ระบบการศึกษาจนทำให้หลากหลายองค์ความรู้ที่มิอาจคงอยู่ในบริบทใหม่ต้องสูญเสียไป รวมถึงคุณธรรมจริยธรรมที่เคยได้รับการขัดเกลาจากครูผู้สอนผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบ้าน/สำนักดนตรี วัด หรือราชสำนัก(วัง) จึงส่งผลให้ผู้เรียนดนตรีส่วนใหญ่ในปัจจุบันขาดทั้งความรู้และคุณธรรมจริยธรรม หรือการที่ผู้เรียนไม่สามารถนำวิชาความรู้ที่ได้รับไปสร้างความสุขในการดำเนินชีวิตให้แก่ตนเองได้เท่าที่ควร อีกทั้งค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงทำให้สถานภาพของการเรียนการสอนดนตรีประสบปัญหาทั้งในระดับบุคคลและสังคม เช่นเดียวกับระบบการศึกษาในวิชาสามัญด้วยเช่นเดียวกัน

       สุกรี เจริญสุข (ม..ท.) นักวิชาการผู้ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาสาขาดนตรีคนสำคัญของประเทศ ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับโฉมหน้าใหม่ของระบบการศึกษาดนตรี สรุปความเป็นประเด็นได้ดังนี้

1) ปฏิรูปด้านปรัชญาการศึกษาดนตรี คือต้องเปลี่ยนค่านิยมการนิยามคุณค่าและความหมายของดนตรีที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระไม่มีคุณค่า ให้กลายเป็นวิชาของนักปราชญ์ คือต้องได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง

2) ปฏิรูปครูดนตรี คือการซ่อมและสร้างภาพลักษณ์ของครูดนตรีจากภาพลักษณ์เก่าที่เคยขี้เมา เจ้าชู้ ไม่ทำงาน ขี้เกียจ ทำตัวไม่น่าเชื่อถือ ให้กลายเป็นครูที่ไม่มีปัญหา มีความรู้ความสามารถทักษะด้านดนตรีทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ และมีความเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อวิชาชีพ

3) ปฏิรูปหลักสูตรดนตรี คือจะต้องปรับหลักสูตรการศึกษาด้านดนตรีให้มีความต่อเนื่องตั้งแต่ในระดับพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัญหาที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันคือยังไม่มีความต่อเนื่อง การศึกษาดนตรีในระดับพื้นฐานเป็นเพียงแค่เครื่องประดับในโรงเรียนหรือเป็นเพียงแค่กิจกรรมพิเศษ ส่วนการศึกษาดนตรีที่จริงจังกลับเริ่มต้นในระดับอุดมศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงของการศึกษาในระดับดังกล่าวยังอ่อนด้านคุณภาพและมาตรฐาน

4) ปฏิรูปห้องเรียนดนตรี คือการลงทุนสร้างมาตรฐานด้านดนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและบริบทที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนดนตรีและคำนึงถึงเรื่องของเสียง เช่นเดียวกับการสนับสนุนวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5) ปฏิรูปโรงเรียนดนตรี คือการให้ผู้บริหารโรงเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ เล็งเห็นถึงคุณค่าของวิชาดนตรี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการกำหนดนโยบายการปฏิรูปโรงเรียนดนตรี และวางรากฐานวิชาการดนตรีในประเทศ

6) ปฏิรูปการเรียนรู้ดนตรี คือการปรับปรุงทั้งครูผู้สอนให้มีความกระตือรือร้น มีประสิทธิภาพซึ่งวัดจากผลงาน ปรับกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี และขยายขอบเขตความรู้ไปสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ

7) ปฏิรูปนักเรียนดนตรี คือการปรับค่านิยมด้านการเรียนการสอนดนตรี จากที่เคยถูกมองว่าเป็นวิชาที่ใครก็เรียนได้หรือใครที่เรียนอะไรไม่ได้ให้ส่งไปเรียนดนตรีเพราะเป็นวิชาที่ไม่มีแก่นสาร ไปสู่การสร้างค่านิยมใหม่ที่ว่าใครจะเรียนดนตรีต้องเป็นคนเก่งและคนดี มีศักดิ์ศรีและได้รับการยอมรับจากสังคม

8) ปฏิรูปอาชีพดนตรี คือการสร้างให้ผู้เรียนดนตรีมีอาชีพที่หลากหลายมิใช่แค่เพียงการเป็นนักดนตรีหรือครูดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถรอบด้านและรอบรู้ด้านดนตรีอย่างเชี่ยวชาญ เมื่อสำเร็จการศึกษาหรือก้าวเข้าสู่สังคมจะมีงานทำ สร้างงานเองได้ ไม่ต้องคอยงาน ไม่ต้องหางาน

       จากที่ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาข้างต้นพอสรุปได้ว่าแนวทางการปรับโฉมหน้าการปฏิรูปการศึกษาสาขาวิชาดนตรีให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสอดคล้องกัน ทั้งด้านบุคลากร แนวความคิดการบริหาร สิ่งแวดล้อม ค่านิยม ซึ่งปัจจัยทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างหลักทางสังคมที่มีบุคคลและสถาบันต่างๆ เกี่ยวข้องสัมพันธ์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น กระบวนการปฏิรูประบบการศึกษาทั้งในส่วนของวิชาสามัญและวิชาดนตรีจึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ ดูแลและได้รับการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที เพื่อการแก้ไขปัญหาได้สอดคล้อง ตรงจุดและเกิดมาตรฐานในระดับสากลอย่างแท้จริง

       จากการนำเสนอให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ก่อนสมัยการปฏิรูปการศึกษา กระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมที่มีการปรับโฉมหน้าใหม่ของระบบการเมืองการปกครองสยาม ซึ่งเป็นผลพวงทำให้เกิดระบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และประเด็นระดับคุณภาพการศึกษาของชาติที่มีคุณภาพตกต่ำที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นภาพลักษณ์ของความอ่อนแอด้านวิชาการของนักเรียนนักศึกษา และการบริหารจัดการแบบไร้ทิศทางของภาครัฐ กระทั่งการนำเสนอให้เห็นถึงข้อเสนอแนะจากนักวิชาการผู้คลุกคลีและมีประสบการณ์โดยตรงกับปัญหาทั้งในส่วนของวิชาสามัญและศาสตร์ความรู้ด้านดนตรี ซึ่งสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้เป็นทางเลือกในการดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษาที่ตรงจุดอย่างแท้จริง เพื่อมุ่งไปสู่ทางออกของปัญหาระบบการศึกษา

       ประเด็นเรื่องของระบบการศึกษาซึ่งถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งการปฏิรูประบบการศึกษาดังกล่าวจะส่งผลดีสำหรับการนำไปใช้เพื่อการต่อรองกับอำนาจของลัทธิล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก ที่มองว่าการศึกษาคือตัวแทนของดินแดนที่มีอารยธรรมมีความเจริญ และในสภาวการณ์ปัจจุบันก็ถือได้ว่าประเด็นเรื่องของระบบการศึกษาถือเป็นประเด็นหลักสำคัญของทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกต้องตรงจุด โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันที่โลกต่างมีการแข่งขันกันในหลากหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและรวมไปถึงด้านการศึกษา โดยมีมูลเหตุหลักจากความพยายามในการสร้างและกำหนดมาตรฐานชนิดเดียวที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินรอยตามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นความแตกต่างซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหรือเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสังคม แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศจึงถูกสั่นคลอนและถูกมองว่าไม่เป็นมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงตนเองให้สอดคล้องกลมกลืนกับมาตรฐานชนิดเดียวกับประเทศมหาอำนาจเป็นผู้กำหนดขึ้น และต่างยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานว่าข้อกำหนดและนโยบายเหล่านั้นคืออารยะธรรมสูงสุดหรือเป็นมาตรฐานสูงสุดที่ควรดำเนินรอยตามอย่างเคร่งครัด

       ด้วยสภาวการณ์และค่านิยมที่มิใช่เพียงแค่รัฐเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว แต่คนในชาติทุกคนต่างยอมสิโรราบต่อกระบวนการสร้างมาตรฐานฉบับดังกล่าว จึงส่งผลให้องค์ความรู้หลายชนิดที่ถือเป็นภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษในแต่ละท้องถิ่น ในแต่ละภูมิภาคและในแต่ละประเทศจึงถูกลิดรอนคุณค่าและความสำคัญให้เจือจางและสาบสูญ เนื่องจากมาตรฐานชนิดใหม่ที่สังคมเรียกว่า “ความรู้” ที่ถูกนำมาบรรจุและถ่ายทอดให้กับคนในสังคมได้ซึมซับและเรียนรู้นั้นมิได้มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม มิได้มีเรื่องราวข้องเกี่ยวกับผู้คนในพื้นที่ ดังนั้นความรู้ต่างๆ ที่ถูกกรอกเข้าสู่มโนทัศน์ของนักเรียน นักศึกษาและบุคลากรด้านการศึกษาจึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในการดำเนินชีวิต ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมตนเอง และยังนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสร้างปัญหาตามมาอีกมากมายสุดท้ายยังเป็นการทำให้คนในสังคมมองไม่เห็นถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเลือดเนื้อและชีวิตของตนเองในที่สุด   


บรรณานุกรม

ขำคม พรประสิทธิ. (2539). แบบนำเสนอ จรรยาบรรณวิชาชีพและบทบาทของวัฒนธรรมดนตรี. บุญช่วย     โสวัตรและคณะ. (2539). การปรับวงดนตรีไทยขั้นสูง.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.

ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์. มาตรฐานโปรแกรมวิชาดนตรีศึกษาแขนงวิชาดนตรีไทยของสถาบันราชภัฏ. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

นุชจรี ใจเก่ง. (2511). ระลึกชาติในแบบเรียนภาษาไทย. อ่าน. 1,2,22. (เอกสารอัดสำเนา).

ประเวศ วะสี. (2541). ปฏิรูปการศึกษา ยกเครื่องทางปัญญา ทางรอดพ้นจากความหายนะ. กรุงเทพฯ.

สุกรี เจริญสุข. การศึกษาดนตรีในประเทศไทย. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

                  . เล่าเรื่องดนตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล(11)ดนตรีกับอนาคต. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

                  . โฉมหน้าใหม่การปฏิรูปการศึกษาสาขาวิชาดนตรี. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2544). การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ภัคธรรศ. 

ศรีชัย พรประชาธรรม. (2547). วงศาวิทยาว่าด้วยระบบการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อรสา สุขเปรม. (2541). เอกสารคำสอนการศึกษาไทย. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.