บทนำ

       สังคมไทยในอนาคตจะเป็นสังคมของผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในสังคมคือผู้สูงอายุ โดยข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลผู้สูงอายุในปี 2541 ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จำนวน 5.2 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 6.3 ล้านคนในปี 2548 เพิ่มเป็น 9.1 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มเป็น 13.9 ล้านคนในปี 2568 โดยเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละของประชากรทั้งหมดคือ 8.6 9.8 13.3 และ 19.6 ตามลำดับ โดยสรุปจะเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าตัวในระยะเวลา 27 ปี (ปราโมทย์ ประสาทกุล และคณะ, 2542) มิใช่แต่จำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้นเท่านั้นอัตราส่วนของผู้สูงอายุเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในช่วงวัยอื่นๆแล้วยังเพิ่มมากขึ้นด้วยการที่จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรกลุ่มอายุอื่นเพิ่มขึ้นเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อตัวผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มอายุอื่นๆและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย

       ในขณะที่ร่างกายยังคงมีความสมบูรณ์ แข็งแรง หรือชีวิตอยู่ในสภาพความพร้อม ประสบความสำเร็จสูงสุดเช่นในวัยอายุ 50-59 ปี ซึ่งถือว่าชีวิตได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดแล้ว บุคคลในวัยนี้มีศักยภาพเพียงพอต่อการเตรียมความพร้อมให้แก่ตนเอง โดยการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุโดยการพึ่งพาหรือสร้างภาระให้กับบุคคลใกล้ชิดและสังคมน้อยที่สุด การตระหนักรู้และการเตรียมตัวเพื่อเผชิญภาวะความชราภาพในวัยสูงอายุก่อนที่จะถึงวัยนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับบุคคลวัยนี้ หากผู้อยู่ในวัย 50-59 ปีได้มีการตระหนักรู้และเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุย่อมจะลดปัญหาต่างๆ ลงได้ ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาสถานการณ์การรับรู้ และการเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับความชราภาพในอนาคตเมื่อตนเองอายุ 60 ปี มีปัจจัยอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากรไทยซึ่งอยู่ในวัย 50-59 ปี มีรูปแบบหรือวิธีการในการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากรวัย 50-59 ปีอย่างไรและเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมให้กับประชากรไทยที่จะเป็นผู้สูงอายุและการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยในไม่ช้านี้ทั้งนี้จะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในช่วงวัยดังกล่าวเพื่อลดภาระของตนเองครอบครัวและสังคมเมื่อคนวัยนี้เข้าสู่วัยสูงอายุและเป็นข้อมูลในการวางแผนรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตสำหรับประเทศไทยต่อไปด้วย

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

1. เพื่อศึกษาการรับรู้และการเตรียมตัว เพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ของประชากรไทย วัย 50-59 ปี

2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ของประชากรไทย วัย 50-59 ปี

3. เพื่อศึกษารูปแบบ หรือวิธีการในการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ของประชากรไทย วัย 50-59 ปี

4. เพื่อวิเคราะห์รูปแบบ หรือวิธีการในการส่งเสริมให้มีการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ของประชากรไทย วัย 50-59 ปี เสนอแก่องค์การ/ หน่วยงาน/ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง

 

ขอบเขตการวิจัย

1 ขอบเขตด้านประชากร

       ศึกษาจากประชากรไทยในกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 50-59 ปี ใน4 ภูมิภาคของประเทศโดยการสุ่มตัวอย่างประชากรพิจารณาจากประชากรทั้งในเขตเมืองและชนบทกระจายทุกสาขาอาชีพทั้งแบบมีรายได้ประจำและไม่มีรายได้ประจำ

2 ขอบเขตด้านระเบียบวิธี

       ใช้การวิจัยเชิงปริมาณ โดยวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบสมมุติฐาน และสถิติสำหรับสร้างสมการพยากรณ์ และการวิเคราะห์/สังเคราะห์ผลการวิจัย

3 ขอบเขตด้านเนื้อหา

       ศึกษาการรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุประกอบด้วยด้านร่างกายและจิตใจด้านเศรษฐกิจด้านที่อยู่อาศัยและด้านสังคมปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุวิธีการหรือรูปแบบในการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ

 

วิธีการวิจัย

       การวิจัยเรื่อง การรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ของประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุ ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative) โดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) มีแบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประชากรได้แก่ผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี (นับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554) กระจายอยู่ใน 4 ภาคของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi Stage Sampling) โดยแบ่งประเทศไทยเป็น 4 ภาคตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ทำการสุ่มจังหวัดโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) ด้วยการจับฉลาก กำหนดภาคละ 4 จังหวัด ภาคเหนือได้แก่จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดลำพูนและจังหวัดแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดหนองบัวลำภู ภาคกลางได้แก่จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระแก้ว ภาคใต้ได้แก่จังหวัดสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุงและจังหวัดชุมพร ในแต่ละจังหวัดเลือกมาสองอำเภอ โดยการสุ่มอย่างง่าย(simple random sampling) ในแต่ละอำเภอแบ่งพื้นที่เก็บข้อมูลโดยใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ(stratified random sampling)เป็นในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล คือเขตองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในแต่ละเขตให้เก็บข้อมูลเขตละ 25 ชุด ใน 25 ชุดให้ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (stratified random sampling) เป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำกับกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน แล้วทำการสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) โดยการจับฉลากรายชื่อประชากรที่มีอายุ 50-59 ปี ในเขตนั้นๆ จนครบจำนวน หากไม่พบตัวผู้ที่ถูกเลือกในวันเข้าพื้นที่ให้จับฉลากใหม่จนได้ครบตามที่ต้องการได้กลุ่มตัวอย่างจังหวัดละ 100 ราย รวม ทั้งสิ้น 1,600 ราย นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป โดยข้อมูลทั่วไปและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการรับรู้ วิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ค่าคะแนนความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (arithmetic mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยข้อมูลทั่วไปและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการรับรู้ กับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุด้านต่างๆ ทั้ง 4 ด้านใช้สถิติใช้ Chi-square test สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ และใช้ค่าสหสัมพันธ์โดยวิธีเพียสันต์ (Person’s Product Moment Correlation) สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณแล้วทดสอบนัยสำคัญโดยใช้ t-test วิเคราะห์ความทดถอยพหุคูณ โดยวิธี Stepwise Multiple Regression Analysis ซึ่งมีการเลือกตัวแปรที่มีความสัมพันธ์และเป็นตัวทำนายที่ดีที่สุดเข้าไปวิเคราะห์แล้วทดสอบนัยสำคัญทางสถิติโดยการทดสอบค่าเอฟรวม (Over All F) กับการทดสอบสัมประสิทธิ์ถดถอย (b) แต่ละค่า โดยการทดสอบค่าสถิติเอฟ (F-test) คาถามปลายเปิดใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)