ข้อเสนอแนะ
1. จากผลการวิจัยสมการถดถอยรูปแบบการส่งเสริมการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่ดีที่สุดคือ ทัศนคติต่อการสูงอายุ + ประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ + ความเพียงพอของรายได้ดังนั้นการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการสูงอายุโดยการให้ประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งควรส่งเสริมให้แก่บุคคลทุกวัยโดยเฉพาะการปลูกฝังแก่เยาวชนผ่านการเรียนรู้อย่างรอบด้านและหลากหลายรวมถึงการปลูกฝังทัศนคติแก่บุคคลวัยทำงานโดยผ่านกระบานการสื่อสารต่างๆเพื่อให้เกิดการตระหนักที่จะเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ
2. กลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุคือกลุ่มบุคคลที่มีการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุน้อยกว่ากลุ่มคนอื่นๆซึ่งจากผลการวิจัยกลุ่มบุคคลดังกล่าวคือคนเพศชายกลุ่มคนโสดกลุ่มคนที่ไม่ได้เรียนกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว
3. ถึงแม้ความรู้เกี่ยวกับวัยสูงอายุส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับปานกลาง แต่กลุ่มคนที่มีความรู้เกี่ยวกับวัยสูงอายุในระดับต่ำมีถึงร้อยละ 38.1 ดังนั้นการให้ความรู้เกี่ยวกับวัยสูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญควบคู่ไปกับการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันดำเนินการเพื่อให้ความรู้แก่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตน
4. ความเห็นเกี่ยวกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าครอบครัว และรัฐบาลควรเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมากเป็นอันดับหนึ่ง และสองตามลำดับ ขณะที่เห็นว่าผู้สูงอายุควรดูแลตนเองอยู่ในลำดับที่สาม แสดงว่าผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลจากบุคคลอื่นก่อนที่จะดูแลตนเอง ซึ่งเป็นทัศนคติด้านหนึ่งที่ควรพิจารณา ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาวิเคราะห์/ วิจัยว่า บทบาทของครอบครัว รัฐบาล และตัวผู้สูงอายุ แต่ละฝ่ายควรมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ/ ตนเองอย่างไรมากน้อยแค่ไหนทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้สูงอายุในการดูแลตนเองและกำหนดบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมในการสนับสนุนส่งเสริมหรือช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวและรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม