Category Archives: จิตวิญญาณความเป็นครู คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาชุมชน (Economic History Community for Development)

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาชุมชน (Economic History Community for Development)

นายพงษ์พันธ์ นารีน้อย

View Fullscreen

รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่

รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่

นางสาวบูรณจิตร แก้วศรีมล

View Fullscreen

จิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัว

แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ :           จิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัว

ประเภทผลงานทางวิชาการ :     หนังสือประกอบวิชาจิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัว

ปีที่พิมพ์ :                         พ.ศ. ๒๕๕๙

ข้อมูลเพิ่มเติม :                   สาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ :   นางสาวปัญจนาฎ วรวัฒนชัย ตำแหน่งทางวิชาการ รองศาสตราจารย์ สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : หนังสือจิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัวเล่มนี้มีความน่าสนใจหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีเนื้อหาความน่าสนใจแตกต่างกัน ได้แก่

            ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบุคลิกภาพ ลักษณะและองค์ประกอบทั่วไป ปัจจัยที่มีอิทธิพลและประโยชน์ของการศึกษาบุคลิกภาพ ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดจิตวิเคราะห์ของซิกมันต์ ฟรอยด์ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของจุง ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดกลุ่มฟรอยด์ใหม่ของแอตเลอร์ ทฤษฎีสัมพันธ์ภาพระหว่างบุคคลของวัลลิแวน ทฤษฎีความต้องการของคาเรน ฮอร์นาย ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดมนุษย์นิยมของมาสโลว์และโรเจอร์ ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดพฤติกรรมนิยมของสกินเนอร์ ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดลักษณะนิสัยของกอร์ดอน          ออลพอร์ตและแคทเทลล์ และทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดปัญญานิยมของแคลลี่ การวัดบุคลิกภาพ การพัฒนาบุคลิกภาพ การปรับตัว กลวิธานในการปรับตัว ลักษณะของการปรับตัว พฤติกรรมที่เป็นปัญหาและความสัมพันธ์ของบุคลิกภาพกับสังคมและวัฒนธรรม

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือจิตวิทยาบุคลิกภาพและการปรับตัว ประกอบด้วยสาระสำคัญๆ หลายสาระ ซึ่งแต่ละสาระสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ ได้แก่

            บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะโดยส่วนรวมของบุคคล ซึ่งประกอบด้วย ลักษณะภายนอก ได้แก่ รูปร่าง หน้าตา กิริยา ท่าทางและลักษณะภายใน ได้แก่ นิสัย ใจคอความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม อารมณ์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดรูปแบบของพฤติกรรมแสดงออกจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีผลทำให้เป็นคุณลักษณะ เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งแสดงต่อสิ่งแวดล้อมที่ตนกำลังเผชิญอยู่แตกต่างกัน

            บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคม ปัจจุบันมากจากประเด็นต่อไปนี้

            ๑. ด้านกายภาพ

            ๒. ด้านสมอง

            ๓. ด้านความสามารถ

            ๔. ด้านความประพฤติ

            ๕. ด้านสังคม

            ๖. ด้านอารมณ์

            ทฤษฎีบุคลิกภาพ แนวคิดจิตวิเคราะห์ดั้งเดิม ประกอบด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ มีแนวคิดว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก จะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปากหรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น จะแสดงออกมาในรูปแบบสัญชาตญาณทาเพศ แต่ไม่ได้หมายความต้องการทางเพศ

            ในส่วนการทำงานของจิตได้แบ่งการทำงานของจิตมนุษย์เป็น ๓ ระดับ คือ จิตสำนึก จิตก่อนสำนึก จิตไร้สำนึก สำหรับโครงสร้างบุคลิกภาพ (Structure of Personality) ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซุปเปอร์อีโก้ (Superego) ทั้ง ๓ ส่วนจะทำงานกลมกลืนประสานกันทำให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข

            ทฤษฎีจิตวิทยาปัจเจกบุคคลของแอดเลอร์ มีแนวคิดว่ามนุษย์มีลักษณะที่แบ่งแยกไม่ได้ เรียกว่าสามารถเลือกแบบแผนของชีวิตและพบว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมความอ่อนแอ สภาพร่างกายไม่แข็งแรงเป็นสภาวะนำไปสู่ความรู้สึก (Filling)  ของปมด้อย ผลตามมาคือ การป้องกันตนเองและพึงพาผู้อื่นประสบการณ์ที่เด็กได้รับแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ

            ๑. เด็กที่เลี้ยงดูแบบตามใจ (Spoiled Child)

            ๒. เด็กถูกทอดทิ้ง (Neglected Child)

            ๓. เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างสมบูรณ์ (Warm Child)

            ทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลของวัลลิแวน เกิดจากแนวคิดที่ว่าบุคลิกภาพของมนุษย์มีผลมาจากสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและมนุษย์ภายใต้อิทธิพลของความสัมพันธ์กับผู้อื่น ตั้งแต่แรกเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต สังคมมีส่วนสำคัญต่อการสร้างบุคลิกภาพ สัมพันธ์ภาพระหว่างบุคคลในสังคมเป็นแรงจูงใจบุคคลเกิดพฤติกรรมขึ้นเป็นความมั่นคงและสัมพันธ์ภาพระหว่างบุคคลที่ดี เพื่อสุขภาพจิตสังคมสมบูรณ์ การมีสัมพันธ์ภาพระหว่างบุคคลที่ไม่ดีจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย อันเป็นผลมาจากการขาดความพึงพอใจ การเกิดมโนภาพของบุคลิกภาพเกิดจากกระบวนการจากภาพบุคคล (Personification) ภาพพจน์ (Stereo Type) กระสวนการอบรมสั่งสอน (Supervisory Pattern) ระบบตัวงาน (Self System) พัฒนาการบุคลิกภาพ (Development of Personality) มี ๗ ขั้นตอน คือ วัยทารก วัยเด็กตอนต้น วัยเด็กตอนกลาง วัยเริ่มย่างเข้าสู่วับรุ่น วัยรุ่นตอนต้น วัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่  

            ทฤษฎีความต้องการของคาเรน ฮอร์นาย แนวคิดของทฤษฎีมนุษย์ต้องการใฝ่สัมพันธ์และการยอมรับยกย่องความต้องการที่ไม่แยกแยะการที่ทำให้ผู้อื่นพอใจและให้เขายอมรับตนเอง ความต้องการคู่และต้องการให้มีผู้ที่ดูแลคุ้มครองตน ต้องการความรัก ความพยายามแก้ปัญหาความสับสนในมนุษย์สัมพันธ์ทำให้เกิดความต้องการเหล่านี้มีลักษณะ “ประสาทไม่ปกติ” เพราะว่ามิได้เป็นการแก้ปัญหาถูกจุด มีความต้องการ ๑๐ ประการ คือ ความต้องการผูกรักและความต้องการยอมรับ ความต้องการคนคู่ชีพ ความต้องการเป็นคนสมถะมักน้อย ความต้องการอำนาจ ความต้องการทำลายผู้อื่น ความต้องการมีภูมิฐาน ฯลฯ

            ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดมนุษยนิยมของมาสโลว์ เกิดจากแนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้นและต้องการที่จะรู้จักตนเอง และพัฒนาตนเอง เป็นการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ลำดับความต้องการของมนุษย์ ๕ ประการ ได้แก่

            ๑. ความต้องการพื้นฐานทางสรีระ

            ๒. ความต้องการความปลอดภัย

            ๓. ความต้องการความรักและเป็นเจ้าของ

            ๔. ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง

            ๕. ความต้องการความสมหวังในชีวิต

            ทฤษฎีมนุษยนิยมของคาร์โรเจอร์ แนวคิดของทฤษฎีผสมผสานกับปรัชญา ทฤษฎีและเทคนิคการทำจิตบำบัดแบบผู้รับ การบำบัดเป็นศูนย์กลาง มนุษย์มีธรรมชาติมีแรงจูงใจในด้านบวกเป็นผู้มีเหตุผล สามารถได้รับการขัดเกลา สามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ ถ้าอิสระเพียงพอและมีบรรยากาศเอื้ออำนวยให้นำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ (Full Potential) และพัฒนาไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละบุคคลอันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง

            ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดพฤติกรรมนิยมเป็นทฤษฎีการเรียนรู้แบบลงมือกระทำของสกินเนอร์ เกิดจากแนวคิดที่ว่าการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคนั้นจำกัดอยู่กับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนน้อยของมนุษย์ พฤติกรรมส่วนใหญ่แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเอง สิ่งที่ก่อให้เกิดขึ้นก่อน (Antecedent – พฤติกรรม Behavior) – ผลที่ได้รับ (Conseguence) เรียกย่อๆ ว่า A – B – C จะดำเนินต่อเนื่องไป ผลที่ได้รับจะกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดขึ้นก่อนอันนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมและนำไปสู่ผลที่ได้รับ

การทำให้ผู้ทำพฤติกรรมเกิดความพึงพอใจเมื่อทำพฤติกรรมใดพฤติกกรมหนึ่งแล้ว เพื่อให้ทำพฤติกรรมซ้ำๆ ต้องใช้การเสริมแรง ซึ่งมี ๒ ชนิด คือ ส่งเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcer) เช่น อาการ กับสิ่งเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcer) เช่น การที่นักเรียนกลัวว่าจะถูกครูดุ เนื่องจากทำการบ้านไม่เสร็จ จึงต้องทำให้เสร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดุ

            ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดลักษณะนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต แนวคิดเกิดจากความเชื่อว่าบุคลิกภาพของบุคคลเกิดจากกระบวนการทำงานของอุปนิสัยในตัวบุคคลสะท้อนออกมาในรูปของพฤติกรรมภายนอก ซึ่งเป็นอุปนิสัยของแต่ละคนที่มีระดับที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละคนมีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป บุคลิกภาพจะทำหน้าที่เหมือนตัวประสานระหว่างร่างกายกับจิตใจในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนบุคลิกภาพจำทำหน้าที่สำคัญ คือ แสดงออกให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของบุคคลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงสร้างบุคลิกภาพถูกกำหนดจากอุปนิสัยหรือเป็นการทำงานของอุปนิสัยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบุคคลได้เท่าๆ ความคิดของบุคคล ทำให้เข้าใจถึงและกระบวนการทำงานของอุปนิสัยต่างๆ ชัดเจน ขั้นตอนในการพัฒนาบุคลิกภาพมี ๕ ขั้นตอน คือ

            ๑. วัยเริ่มแรกของทารก

๒. วัยเริ่มแรกของตัวตน

๓. ระยะ ๔ – ๖ ขวบ

๔. ระยะ ๖ – ๑๒ ปี

๕. ระยะวัยรุ่น

            สำหรับการพัฒนาการของบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ ได้แก่ พัฒนาการทางบุคลิกภาพที่มีวุฒิภาวะ การพัฒนาความรู้สึกเป็นเจ้าของ การพัฒนาการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลอื่น ยอมรับตนเอง รับรู้ตามความเป็นจริงและมองตนเองด้วยสายตาเป็นกลาง

            ทฤษฎีการวิเคราะห์องค์ประกอบแคทเทลลส์ เกิดจากแนวคิดความเชื่อว่าถ้ารู้ลักษณะ อุปนิสัยหลักๆ ของคนใดคนหนึ่งแล้วก็สามารถเข้าใจหรือทำนายลักษณะนิสัยใจคอของบุคคลนั้นได้อย่างค่อนข้างเม่นยำ ลักษณะอุปนิสัยของบุคคลมีทั้งส่วนที่เป็นลักษณะอุปนิสัยร่วมและโดเด่นเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งสามารถจำแนกประเภทลักษณะอุปนิสัยออกเป็นหลายแนวทาง ได้แก่ ลักษณะอุปนิสัยดั้งเดิมและลักษณะนิสัยพื้นผิว ลักษณะอุปนิสัยที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมและลักษณะนิสัยที่เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม ลักษณะอุปนิสัยด้านความสามารถ ด้านอารมณ์และด้านพลังพลวัตรและลักษณะอุปนิสัยร่วมและลักษณะอุปนิสัยเฉพาะตัวบุคคล

            ทฤษฎีบุคลิกภาพแนวคิดปัญญานิยมแบบบุคคลของเคลลี่ เกิดจากแนวคิดมนุษย์ทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนแปลงการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะคนทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ เช่น เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้เราเสียขวัญ เราก็พยายามประพฤติตัวที่จะป้องกันตนเอง ถ้าทำได้ก็จะนำวิธีนั้นมาใช้ต่อไป ในความเป็นจริงการวิเคราะห์ผลจากแบบทดสอบ Rep Test ค่อนข้างซับซ้อนเพราะต้องวิเคราะห์ความแตกต่างและประเภทของรูปแบบของแต่ละคน

แสดงรูปแบบที่สำคัญของบุคคล

จุดเด่น / ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : หนังสือวิชาการเล่มนี้มีจุดเด่นน่าสนใจหลายจุด แต่ละจุดสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทุกวิชาชีพ อาทิเช่น

            จุดเด่นที่ ๑ ลักษณะทั่วไปของบุคลิกภาพ ซึ่งในความหมายของบุคลิกภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว เป็นวิถีแทนความคิดและการกระทำ สามารถสร้างความรู้สึกต่อผู้พบเห็นว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือเกิดความรู้สึกต่อคนคนนั้น ทำให้คนเกิดความรู้สึกทางใจหรืออารมณ์ โดยเฉพาะบุคคลจะมีลักษณะทั่วไปของบุคลิกภาพ ดังนี้

                        ๑.๑ บุคลิกภาพทางร่างกาย (Psysical Personality)

                        ๑.๒ บุคลิกภาพทางจิตใจ (Psychological Personality)

                        ๑.๓ บุคลิกภาพทางความสามารถ (Capibility personality)

                        ๑.๔ บุคลิกภาพทางจริยธรรม (Ethical Personality)

                        ๑.๕ บุคลิกภาพทางสังคม (Social Personality)

                        ๑.๖ บุคลิกภาพทางใจและอารมณ์ (Mental and Emotional Personality)

                        ๑.๗ บุคลิกภาพทางกำลังใจ (Morale Personality)

            องค์ประกอบของบุคลิกภาพ แบ่งออกเป็น ๗ ลักษณะ คือ ทางด้านความสนใจ เจตคติ ความต้องการ ความถนัด อารมณ์ สรีรวิทยา ลักษณะภายนอกและแนวโน้มความผิดปกติทางจิต ทั้ง ๗ ประการนี้จะพิจารณาตามเกณฑ์และต้องทำงานประสานกัน

            ก. ลักษณะทางร่างกายและอารมณ์

            ข. เชาวน์ปัญญาและความสามารถอื่น

            ค. เจตคติทางสังคม

            ง. แรงจูงใจ

            จ. ลักษณะการแสดงออก

            ฉ. แนวโน้มของความผิดปกติทางจิต

            บุคลิกภาพจะดีขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้คือ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม เช่น ลักษณะกาย ความผิดปกติทางจิตและความผิดปกติของโครโมโซม เป็นต้น

            สิ่งแวดล้อม (Environment) มีบทบาทสำคัญต่อบุคลิกภาพอย่างยิ่งเป็นการกำหนดบุคลิกภาพของคนเราในอนาคตได้แก่ การศึกษา ประสบการณ์ สภาพแวดล้อมของดินฟ้าอากาศและสุขภาพอนามัย เป็นต้น

            บุคลิกภาพเป็นลักษณะโดยรวมของบุคลิกภาพมีความแตกต่างกัน คือ ความแตกต่างทางกาย ทางอารมณ์ ทางสังคม ทางสติปัญญาหรือสมอง ทางเพศและด้านความคิด ความถนัด

            จุดเด่นที่ ๒ ลักษณะบุคลิกภาพที่ดีมีดังนี้ คือ ท่าทางง่างาม สุขภาพดี ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ทุกกาลเทศะ มีเหตุผล สุขุม อดทน กล้าตัดสินใจ ฯลฯ เป็นต้น บุคลิกภาพที่ดี ใช้คำว่า สัปปุริสธรรม หมายถึง ธรรมะที่ทำให้เป็นสัตบุรุษหรือธรรมะของผู้ดี ซึ่งมีองค์ประกอบ ๗ ข้อ คือ

            ๑. อัตตัญญาตา               คือ รู้จักตน

            ๒. ธัมมัญญตา               คือ รู้จักเกณฑ์

            ๓. อัตถัญญตา                คือ รู้จักผล รู้ความหมาย

            ๔. มัตตัญญุตา                คือ รู้จักประมาณ

            ๕. กาลัญญุตา                คือ รู้จักเวลา

            ๖. ปริสัญญุตา                คือ รู้จักชุมชน รู้จักคิด

            ๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา    คือ รู้จักบุคคล รู้จักธรรมชาติของมนุษย์

            จุดเด่นที่ ๓ พัฒนาการทางบุคลิกภาพ มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมจะช่วยบุคคลพัฒนาทักษะต่างๆ แบ่งเป็น ๕ ขั้นใหญ่ๆ ได้แก่ ขั้นปาก (Oral Stage) ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) ขั้นอวัยวะเพศขั้นต้น (Phallic Stage) ขั้นแฝงเร้น (Latency Stage) และขั้นความพอใจอยู่ที่เพศตรงข้าม (Genital Stage)

            กลวิธีในการป้องกันตนเอง เป็นลักษณะการตอบสนองที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันตนจากเหตุการณ์ที่เราไม่ต้องการที่จะเกี่ยวข้องด้วย โดยบุคคลจะสร้างกลวิธานในการป้องกันตนเองซึ่งเกิดจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ

            ๑. บุคคลมีความวิตกกังวลสูงมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งและอีโก้ (Ego) หาวิธีลดหรือแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีการที่มีเหตุผล

            ๒. อีโก้ (Ego) ไม่สามารถประนีประนอมแรงขับระหว่างความต้องการของอิส (Id) และแรงหักห้ามของซุปเปอร์อีโก้ (Superego) ได้อีโก้ (Ego) จึงตกอยู่ในภาวะตึงเครียด จึงจำเป็นต้องหาวิธีการลดความตึงเครียด จึงจำเป็นต้องหาวิธีการลดความตึงเครียด

            จุดเด่นที่ ๔ ขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพ (Stage of Personality Development) หลักการเบื้องต้นของการพัฒนาตน (Basic Concept of Development) ของมนุษย์มีลักษณะ ๓ ประการ ดังนี้

            ๑. เป้าหมายของการพัฒนาการทำให้พัฒนาไม่หยุดยั้ง

            ๒. อดีตกับอนาคต มาพิจารณาร่วมกัน

            ๓. พันธุกรรม เป็นพื้นฐานของสัญชาตญาณทางชีวภาพ ทำหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์

            การพัฒนาการของบุคคล มี ๔ ขั้นตอน คือ

            ๑. ระยะแรกเกิด – ๕ ขวบ เป็นระยะแรกของชีวิตที่พลังเพศ (Libido) จะครอบคลุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่

            ๒. วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังมีความสามารถ มีกำลังความคิดมีความกระตือรือร้นและความขยันขันแข็งในกิจกรรมต่างๆ มีแรงกระตุ้นมีพลังในการกระทำต่างๆ เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา แต่เป็นระยะที่ยังพึงพาผู้อื่นอยู่เป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้ในเรื่องอาชีพ การแต่งงานและการสร้างคนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคม

            ๓. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นระยะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น มีความสนใจใหม่ๆ เกิดขึ้นและก็มักเป็นความสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมต่างๆ

            ๔. วัยกลางคน เป็นระยะที่บุคคลที่ต้องการอิสระ ซึ่งอาจจะเก็บตัวมากขึ้น มีค่านิยมในเรื่องการทำประโยชน์ต่อสังคม สนใจศาสนา ปรัชญา ความเป็นพลเมืองดี มักจะเปลี่ยนแปลงเป็นผู้มีจิตใจต่อผู้อื่น มีคุณธรรมและมนุษยธรรม เป็นต้น

            จุดเด่นที่ ๕ คุณลักษณะของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Characteristics of Self Actualizing People) การเข้าใจตนเองมี ๑๕ ข้อ ดังนี้

            ๑. มีความสามารถที่จะรับรู้ในความเป็นจริงอย่างถูกต้อง

            ๒. ยอมรับในตนเอง ยอมรับผู้อื่นและยอมรับธรรมชาติ

            ๓. มีความคล่องตัว มีความเป็นธรรมชาติโดยไม่เสแสร้ง

            ๔. ใช้ปัญหาเป็นศูนย์กลาง

            ๕. มีความสันโดษ

            ๖. เป็นตัวของตัวเองมีอิสระจากวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

            ๗. มีความรู้สึกชื่นชมยินดีอยู่เสมอ

            ๘. มีความรู้สึกล้ำลึกกับธรรมชาติ

            ๙. สนใจสังคม

            ๑๐. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

            ๑๑. มีความเป็นประชาธิปไตย

            ๑๒. มีความแตกต่างระหว่างวิธีการและเป้าประสงค์

            ๑๓. มีอารมณ์ขันอย่างมีสันติ

๑๔. มีความสามารถในการสร้างสรรค์

๑๕. การต่อต้านวัฒนธรรมภายนอกที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมภายในตน

           

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : ประโยชน์ของการศึกษาบุคลิกภาคการศึกษาบุคลิกภาพทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีความสนใจที่จะศึกษา เพื่อนำมาพิจารณาบุคลิกภาพของตนเองควรทำดังนี้

            ๑. ใช้การคัดเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับงาน โดยใช้แบบทดสอบความถนัดทางอาชีพ ความสนใจในอาชีพ บุคลิกภาพ ค่านิยมและลักษณะพฤติกรรม

            ๒. การเสริมสร้างความเข้าใจในบุคลิกภาพลักษณะและบุคลิกลักษณะของกันและกัน โดยการฝึกอบรมสัมมนา การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของบุคคล การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อเพื่อร่วมงาน เพื่อให้เกิดการยอมรับในคุณค่าของคนในองค์การ

            ๓. การพัฒนาพฤติกรรมที่น่าปรารถนา เช่น บุคลากรจะต้องมุ่งมั่นในความสำเร็จ มีความรับผิดชอบเปิดใจกว้าง กล้าคัดค้านในสิ่งผิด มีความซื่อสัตย์ กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ความร่วมมือทำงานเป็นทีม เป็นต้น

            การศึกษาบุคลิกภาพ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป ให้มีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจ ในสภาพความเป็นจริงได้อย่างถูกต้อง

            แรงจูงใจระดับสูงเสมือนสัญชาติญาณหรือเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่นเดียวกับแรงจูงใจเบื้องต้น ถ้าได้รับการตอบสนองจนเกิดความพึงพอใจก็จะรักษาสภาพและพัฒนาให้เกิดสุขภาพจิตที่ดี หรืออาจกล่าวได้ว่าบุคคลอาจเกิดความเจ็บป่วยบ่อยทางจิต (Psachologically Sick) เป็นความเจ็บป่วยที่เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการบรรลุถึงความสมบูรณ์หรือความเจริญก้าวหน้าความเจ็บป่วย “Metapathologies” ซึ่งเป็นสภาพของจิตใจที่มีอาการเฉยเมย (Apathy) มีความผิดปกติทางจิต (Alienation) เศร้าซึม (Depress) เป็นต้น ความคับข้องใจของแรงจูงใจระดับสูงและความเจ็บป่วยทางจิตได้แสดงไว้ในตารางต่อไปนี้

สาเหตุพฤติกรรมที่มีปัญหา มักเป็นจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยทารกและวัยเด็ก พฤติกรรมนั้นก็จะสืบเนื่องต่อไปจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ พฤติกรรมที่เป็นปัญหา มี

๑. เกิดจากปัญหาทางด้านร่างกาย  

๒. เกิดปัญหาทางสติปัญญา

๓. เกิดจากปัญหาทางอารมณ์

๔. เกิดจากปัญหาทางครอบครัว

๕. เกิดจากปัญหาทางสังคม

๖. เกิดจากปัญหาสื่อมวลชน

๗. เกิดจากตนเอง

การสังเกตพฤติกรรมที่เป็นปัญหา มีหลายด้านทั้งที่เกิดจากสภาพร่างกายของบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นตัวชักนำ ซึ่งจะเป็นปัญหาที่สำคัญต่อบุคคลในการแก้ไขให้สามารถปรับตัวอยู่ในกลุ่มสังคมได้อย่างปกติสุข

ประเภทของพฤติกรรมที่เป็นปัญหามีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น พฤติกรรมการติดยาเสพติดของวัยรุ่น ในเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขเนื่องจากมีผลกระทบต่อทุกคนในสังคม อาทิเช่น ลักษณะของผู้เสพยาเสพติด อายุระหว่าง ๑๙-๒๐ ปี ระยะเวลาการเสพ ๑-๕ ปี ระดับการศึกษากำลังศึกษาอยู่ระดับ ปวส. และลักษณะการเลี้ยงดูตามใจมีอิสระหรือบริบทครอบครัวเป็นครอบครัวแตกแยก อยากรู้อยากลอง ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการติดเกมของเด็ก พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสมของวัยรุ่น ฯลฯ เป็นต้น

                                                                                                                                               

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู            บรรณากร

ทฤษฎีการเกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์

แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

 

ชื่อผลงานทางวิชาการ :           ทฤษฎีการเกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์

ประเภทผลงานทางวิชาการ :     บทความทางวิชาการ

ปีที่พิมพ์ :                         พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐

ข้อมูลเพิ่มเติม :                   สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ลงวารสารครุศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑ ISNN : ๑๙๐๖-๑๑๗x

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ :   นางสาวปัญจนาฎ วรวัฒนชัย ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : นักจิตวิทยาได้มีการนำแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanlysis Theory) ของซิกมันต์ ฟรอยด์มาอธิบายการเกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ด้วยกระบวนการทางจิตเกี่ยวกับการทำงานของจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) ซึ่งอยู่ภายใต้สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Life Instincts) และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instincts) จะปลดปล่อยพลังออกมาโดยเฉพาะพลังลิปิโด (Libido) ที่เกิดจากแรงขับทางเพศ (Sex Drive) จากสัญชาตญาณแห่งการมีชีวิตซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของสังคม จึงต้องปรับตัวด้วยการทดเทิด (Sullimation) เพื่อชดเชยความรู้สึกที่เก็บกดในจิตไร้สำนึกให้สังคมยอมรับได้ จึงเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์

            แนวความคิดทั่วไปของทฤษฎีจิตวิเคราะห์

            บุคคลสำคัญผู้นำแนวคิดนี้ คือ ซิกมัน ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นผู้ก่อกำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis Theory) ได้กล่าวเอาไว้ว่า พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก (Unconscious Motivation) เป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมและอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์และมีสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต และโรคประสาท เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinctual Drive) และเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงเคลื่อนที่ได้ ด้วยเหตุนี้จิตไร้สำนึกจึงเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่งแต่จะแสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) ซึ่งไม่ได้หมายถึงความต้องการทางเพศ (วิจิตพาณี เจริญขวัญ ,๒๕๕๒ : ๖๒-๖๓) ด้วยเหตุนี้การทำงานของจิตไร้สำนึกจะทำให้เกิดการกระตุ้นบุคคลออกไปตามความพึงพอใจของตน จิตไร้สำนึกจึงเป็นบ่อเกิดที่ยิ่งใหญ่ของพลังงานที่กำเนิดและกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์

            การทำงานของจิตไร้สำนึกใช้กระบวนการปฐมภูมิ (Primary Process) เป็นกระบวนการคิดที่ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลจึงเป็นการคิดแบบเด็กทารกไม่คำนึงถึงเวลา สถานที่ และความเป็นจริง แสดงออกเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดตามหลักการแสวงหาความสุข (Pleasure Principle) ตัวอย่างกระบวนการคิดแบบนี้ เช่น ความฝัน การนอนละเมอ และการเผลอพลั้งปาก เป็นต้น การแสดงออกเช่นนี้ย่อมทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ไม่เป็นที่ยอมรับได้ จึงต้องอาศัยกระบวนการทุติยภูมิ (Secondary Process) เป็นกระบวนการคิดในระดับจิตสำนึก (Conscious) และระดับจิตก่อนสำนึก (Preconscious) เป็นกระบวนการคิดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้หลักความเป็นจริง (Reality Principle) ยึดความถูกต้องเป็นเหตุเป็นผล (ณรงค์ฤทธิ์ สุริยะ, ๒๕๔๙ : ๑๔-๑๕)

            นอกจากนี้ฟรอยด์ (Freud) ยังได้วิเคราะห์โครสร้างของบุคลิกภาพภายใต้การทำงานของจิตมนุษย์ ๓ ส่วน ที่เรียกว่า อิด (Id)  อีโก้ (Ego) ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) ซึ่งมีลักษณะดังนี้ (William,๒๐๑๔ : ๑-๓)

            ๑. อิด (Id)  เป็นส่วนพื้นฐานที่ติดตัวมากำเนิดและอยู่ภายใต้จิตไร้สำนึก (Unconscious) และไม่ได้มีการติดต่อกับโลกความจริง จึงเป็นส่วนที่ไม่มีเหตุผล (Irrational) ทำงานตอบสนองสัญชาตญาณตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle) เท่านั้น

            ๒. อีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่พัฒนามาจากอิดเนื่องจากตั้งแต่วัยทารกมนุษย์เริ่มตระหนักว่าไม่สามารถทำอะไรได้ตามความพอใจได้ทุกอย่างในโลกแห่งความจริง อีโก้ต้องทำหน้าที่รับรู้และตอบสนองตามความจริงที่ได้รับจากโลกภายนอก โดยมีการตอบสนองหรือแสดงออกที่เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริงที่เราเป็นอยู่ ด้วยเหตุนี้ระบบการทำงานของอีโก้จึงอยู่ในกระบวนการขั้นทุติย

            ๓. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นตัวแทนภายในของมโนธรรม คุณธรรมและความคิดของสังคม ซุปเปอร์อีโก้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนของมโนธรรม (Conscience) เป็นผลมาจากค่านิยมที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ลูกว่าสิ่งใดดีควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร และส่วนของอุดมคติของอีโก้ (Ego-Ideal) พัฒนามาจากการเอาแบบอย่าง (Identification) จากบุคคลที่เคารพรัก เช่น พ่อแม่และบุคคลใกล้ชิด ทำให้เด็กรับรู้ว่าสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ

            จะเห็นได้ว่าแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์เน้นความสำคัญในเรื่องจิตไร้สำนึก ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุจูงใจให้มนุษย์มีพฤติกรรมแทบทุกอย่างจะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง ๓ ระดับ และฟรอยด์ เป็นคนแรกที่ได้ให้ความคิดเกี่ยวกับแรงผลักดันจิตไร้สำนึก (Unconscious Drive) หรือแรงจูงใจไร้สำนึก (Unconscious Motivation) ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมและมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์และมีสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

 

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ :

การเกิดความคิดสร้างสรรค์ตามแนวเชิงจิตวิเคราะห์

            ฟรอยด์ กล่าวว่า มนุษย์มีสัญชาตญาณพื้นฐานที่สำคัญ คือ สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Life Instincts) เป็นแรงขับทางเพศ (Sexual Drive) หรือความรัก (Eros) เป็นพลังชีวิตซึ่งมีคำที่เรียกพลังการแสดงออกนี้ว่า ลิบิโด (Libido) และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instincts) เป็นแรงขับทางก้าวร้าว (Aggression) ความพินาศหรือความตาย (Thanatos) สำหรับแรงขับของความก้าวร้าวไม่มีคำเฉพาะเรียกในส่วนของลิบิโด (Libido) ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีภาวะของการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดและในส่วนแรงขับความก้าวร้าว (Thanatos) มีการเคลื่อนไหวสู่สภาวะสมดุล มีการกำจัดของความตึงเครียดทั้งหมด ด้วยเหตุนี้มนุษย์ทุกคนจะถูกกระตุ้นให้ขับเคลื่อนเพื่อเกิดความสมดุลของพลังทั้งสองแรง ขับพื้นฐานทั้งสองมีจุดเริ่มต้นจากโครงสร้างบุคลิกภาพส่วนที่เรียกว่า อิด ซึ่งอยู่ในจิตไร้สำนึก แต่ถูกควบคุมด้วย อีโก้ (Ego) ทำงานภายใต้จิตสำนึก (Conscious) ด้วยการใช้กลวิธานป้องกันตนเองที่เรียกว่า การทดเทิด (Sublimation) เพื่อแสดงออกให้สังคมยอมรับได้ ผู้เขียนสรุปไว้ ดังภาพ ระดับจิตมนุษย์ของฟรอยด์

 

            จากภาพระดับจิตมนุษย์ของฟรอยด์ จะเห็นได้ว่า กาทดเทิด (Sublimation) จะเป็นกลไกป้องกันตนเอง เพื่อชดเชยความรู้สึกที่เก็บกดในจิตไร้สำนึกที่แสดงออกมาไม่ได้ ศิลปินจึงใช้งานศิลปะเป็นกลไกป้องกันตนเอง การสร้างงานศิลปะเป็นการทำตามที่ใจตนเองปรารถนาแต่อยู่ภายใต้หลักการความเป็นจริงหรือข้อห้ามตามกฎของศีลธรรมอันดี ศิลปะจึงเป็นการแสดงออกเพื่อจัดการกับแรงกดดันภายในจิตต่างๆ เพื่อทำงานตามจินตนาการด้วยการทดเทิดซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่สังคมยอมรับ จากความฝันปละการจินตนาการสามารถนำสู่สาธารณะให้ได้ชื่นชมกัน

            การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์

            จากการศึกษาของฟรอยด์ (Freud) เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ได้ให้ข้อคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) ในส่วนของโครงสร้างบุคลิกภาพอีโก้ (Ego) ที่คอยควบคุมและปรับให้แรงขับทางเพศ คือ ลิบิโด (Libido) แสดงออกด้วยการปรับตัวแบบทดเทิด ซึ่งการปรับตัวในลักษณะนี้เป็นการใช้กระบวนการทุติยภูมิในระดับจิตสำนึก (Conscious) ยึดความถูกต้อง (Reality) ของบุคคลเพื่อทดเทิดแรงขับทางเพศ (Sexual Drive) และความปรารถนาที่จะมีความสุข (Pleasure) ในระดับจิตไร้สำนึกทำงานในขั้นปฐมภูมิ (Primary Process) จะอยู่เบื้องหลังความฝันและการจินตนาการของมนุษย์เช่นเดียวกับซัลวาโน (Slvano, ๒๐๐๗ : ออนไลน์) มีความเห็นสอดคล้องกับฟรอยด์ (Freud) ว่า กระบวนการความคิดสร้างสรรค์จะเกี่ยวข้องกับการรวมตัวกันระหว่างกระบวนการปฐมและกระบวนการทุติยภูมิ เพื่อสังเคราะห์สิ่งมหัศจรรย์และเขาเสริมว่ากระบวนการสหัชญาณ (Intuitive Processes) เป็นการหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณเปรียบได้กับกระบวนการปฐมภูมิและกระบวนการทางปัญญา (Intellectual Process) เปรียบได้กับกระบวนการทุติยภูมิ

            นอกจากนี้แรงจูงใจของมนุษย์ทุกคนมีเป้าหมายอยู่ที่มีการเพิ่มความพึงพอใจของความต้องการตามสัญชาตญาณโดยเฉพาะอย่างยวดยิ่งความต้องการทางเพศและความก้าวร้าว แต่การปรับตัวด้วยการทดเทิด จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของแรงขับที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่เหมาะสมไปสู่กิจกรรมที่มีประโยชน์ในรูปแบบของกลวิธานการป้องกันตนเองเพื่อเบี่ยงเบนพลังงานจากการแสวงหาความสุขที่ไม่สามารถบรรลุได้หรือถูกห้ามเพราะความไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมให้ได้รับการยอมรับจากสังคม ด้วยเหตุนี้คุณสมบัติของการทดเทิด จากจิตสำนึกจึงเป็นกลไกการเกิดของความคิดสร้างสรรค์ ผู้เขียนสรุปไว้ดังภาพ การทดเทิดกับการคิดสร้างสรรค์

 

 

กลวิธานป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) การทดเทิด

(Sublimation) เกิดความคิดสร้างสรรค์

ภาพ การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์

 

            จากภาพ การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์จะเห็นได้ว่าแรงขับทางเพศของพลังลิบิโด (Libido) ทำงานภายใต้หลักความสุข (Pleasure Principle) ผ่านกระบวนการปฐมภูมิ (Primary Process) นับเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์เพราะพฤติกรรมที่ผ่านกระบวนการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมจึงต้องอาศัยกระบวนการทุติยภูมิ เพื่อเปลี่ยนพลังลิบิโดให้สอดคล้องตามวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมด้วยรูปแบบการทดเทิดทำให้บุคคลสามารถแสดงความรู้สึกของความต้องการทางเพศออกมาในรูปผลงานทางศิลปะ วรรณกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ดังเช่น ศิลปินจะใช้การทดเทิดเป็นกลไกป้องกันตนเองเพื่อชดเชยความรู้สึกที่เก็บกดในจิตไร้สำนึกที่แสดงออกมาไม่ได้ การสร้างงานศิลปะจึงเป็นการทำตามที่ใจตนเองปรารถนาแต่อยู่ภายใต้หลักการความเป็นจริงหรือข้อห้ามตามกฎของศีลธรรมอันดี งานศิลปะจึงเป็นการแสดงออกเพื่อจัดการกับแรงกดดันภายในจิตต่างๆ ได้ทำงานตามจินตนาการด้วยการทดเทิดซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่สังคมยอมรับ เพื่อนำความฝันและจินตนาการการออกสู่สาธารณะให้ได้ชื่นชมกัน

            รูปแบบลิบิโดกับความคิดสร้างสรรค์

            ฟรอยด์ ยอมรับว่า จากประสบการณ์รักษาคนไข้ทางคลินิกของเขาทำให้เห็นความสำคัญของเรื่องเพศเพิ่มมากขึ้น เพราะอิทธิพลต่อพฤติกรรมการแสดงออกทางบุคลิกภาพของมนุษย์ ลิบิโด มีอยู่ ๓ ชนิด มีแหล่งกำเนิดต่างกันและมีชื่อเรียกต่างกัน ดังนี้ (James and Rudolph, ๑๙๖๒ : ๕๙๓ ; วนิช สุธารัตน์ , ๒๕๔๗ : ๑๘๖-๑๘๘)

            ๑. ลิบิโดแห่งความรัก (Erotic Type)

            ลิบิโดชนิดนี้แหล่งกำเนิดมาจากอิด ซึ่งเป็นส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ที่สุดของลิบิโด (Libido) จะแสดงออกทางความรักเป็นสิ่งสำคัญ เป็นพลังผลักดันทำให้บุคคลสนใจแต่เฉพาะเรื่องความรัก และอยากให้ผู้อื่นรักตนเองกลัวการสูญเสียความรัก ดังนั้นการแสดงออกในเรื่องของความรักและความต้องการทางเพศจึงมักจะค่อนข้างรุนแรง ปราศจากความยับยั้งชั่งใจ จนบางครั้งเป็นความก้าวร้าว (Aggressive)

            ๒. ลิบิโดแห่งความหลงใหล (Obsessional Type)

            ลิบิโดชนิดนี้มีกำเนิดมาจาดซุปเปอร์อีโก้ ที่แยกออกจากอีโก้เพราะถูกกดดัน ลักษณะของผู้มีลิบิโดชนิดนี้เด่นจะมีจิตสำนึกหวาดกลัวที่จะสูญเสียความรักจึงกล้าแสดงออกด้วยการพึ่งพาสิ่งภายนอก ทำให้มีความศรัทธา เลื่อมใสหลงใหลในสิ่งต่างๆ แต่มีความเชื่อมั่นในตนเองค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นและหลงใหลในเรื่องบางเรื่องอย่างรุนแรงบุคคลพวกนี้จะรู้สึกหวั่นไหวต่อเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าการกลัวว่าใครจะรักหรือไม่รัก อย่างไรก็ตามลิบิโดชนิดนี้มีพลังผลักดันทางเพศอยู่เบื้องหลัง

            ๓. ลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type)

            ลิบิโดชนิดนี้แหล่งกำเนิดส่วนใหญ่มาจากอีโก้ (Ego) เป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ของบุคคลเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่มากระทบ ด้วยความมุ่งมั่นปกป้องรักษาตนเองเพื่อรักษาจิตไร้สำนึกให้คงเดิม ทำให้บุคคลเห็นแก่ตนเอง มีความกระตือรือร้น ก้าวร้าว และลักษณะเป็นผู้นำ ดังนั้นการแสดงออกทั้งหลายตามที่กล่าวมาจึงจัดอยู่ในระดับที่สังคมสามารถยอมรับได้

            รูปแบบของลิบิโดที่กล่าวมาทั้ง ๓ ชนิด อาจผสมผสานกันได้ ถ้าลิบิโดสองชนิดสามารถรวมกันเรียกว่าลิบิโดชนิดผสม (Mixed Type) ได้แก่ (๑) การผสมผสานของลิบิโดแห่งความรักกับลิบิโดแห่งความหลงใหล (Eeotic Obsessional) (๒) การผสมผสานลิบิโดแห่งความหลงรักตนเองกับลิบิโดแห่งความหลงใหล (Narcissistic Obsessionsl) และ (๓) การผสมผสานลิบิโดแห่งความรักกับลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Erotic Narcissistic)

            การผสมผสานของลิบิโดที่มีความสำคัญ คือ ลิบิโดแห่งความรักกับลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Erotic-Narcissistic) เป็นรูปแบบที่มีคุณค่ามากที่สุดเพราะเชื่อมโยงระหว่างคุณธรรมจริยธรรมกับสังคมอย่างสร้างสรรค์ก่อให้เกิดผลงานทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ และสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ ดังนั้นลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type) ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในส่วนจิตสำนึก (Conscious) จึงเป็นศูนย์กลางของการเกิดความคิดสร้างสรรค์เพราะลิบิโดชนิดนี้สามารถที่จะรวมกับลิบิโดที่อยู่ในจิตใจส่วนของจิตสำนึก (Conscious) ด้วยกัน คือ ลิบิโดแห่งความหลงใหล (Obsessional Type) ขณะเดียวกันก็สามารถจะเปลี่ยนรูปมาจากลิบิโดที่มาจากจิตไร้สำนึก คือ ลิบิโดแห่งความรัก (Erotic Type) ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเกิดการรวมกันหรือเกิดการเปลี่ยนรูปก็ตามเป็นการใช้กลวิธานป้องกันตนเอง คือ การทดเทิด เท่านั้น ผลที่เกิดขึ้น คือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแสดงออกมาในรูปที่มีประโยชน์ มีคุณค่าสร้างสังคม (วนิช สุธารัตน์, ๒๕๔๗ : ๑๘๘-๑๘๙) ผู้เขียนได้สร้างกรอบของการผสมผสานลิบิโด ดังภาพ การผสมผสานลิบิโด

 

            จากภาพ การผสมผสานลิบิโด (Libido) จะเห็นได้ว่าต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดการเกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ คือ เกิดจากการผสมผสานของลิบิโดแห่งความศรัทธาหลงใหล (Obsessional Type) กับลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type) และความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปของลิบิโดแห่งความรัก (Erotic Type) ที่เกิดจากความต้องการทางเพศไปเป็นลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type)

 

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเนื้อหาในบทความ :  กรณีตัวอย่างบุคคลสำคัญที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดเชิงจิตวิเคราะห์

            ฟรอยด์ (Freud) ได้กล่าวว่าผลงานของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ทุกคนล้วนเกิดจากกลไกทางจิตในระดับจิตไร้สำนึกที่นำเสนอออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่งดงาม เขาได้เสนอกรณีศึกษาศิลปินชื่อดังเจ้าของผลงานภาพวาด “โมนาลิซ่า” คือ ลีโอนาโด ดา วินชี่ (Leonardo Da Vinci) ซึ่งเป็นศิลปินวาดภาพ นักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคเรอแนสซองส์ (Renaissance) ช่วง ค.ศ. ๑๔๕๒ – ๑๕๑๙

            ฟรอยด์ ได้เขียนเรื่องน่าประทับใจเกี่ยวกับดาวินชี่ ในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ ในชื่อว่า “ลีโอนาโด ดาวินชี่ : ความทรงจำในวัยเด็ก” (Leonardo da Vinci and A Memory of His Childhood) งานเขียนของฟรอยด์เป็นที่น่าทึ่งเพราะเป็นการวิเคราะห์ศิลปินในยุคเรอแนสซองซ์ของท่านนี้ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยาเป็นคนแรกด้วยการเชื่อมโยงระหว่างจิตใจภายในของดาวินชี่กับบทบาทความเป็นศิลปินของเขาจากภาพวาดมาริซ่า (Monna Lisa) และภาพวาดเซนแอน และมาดอนนากับเด็ก (Sant’Anna and the Madonna with the Child) เพื่อเป็นการวิเคราะห์ชีวิตในวัยเด็กของดาวินชี่และจากการศึกษาชีวิตในวัยเด็กของดาวินชี่ เขาเป็นลูกนอกสมรสที่มีความทรงจำในวัยเด็กที่มีแต่ความวิตกกังวลและซึ่งฟรอยด์ พบว่า ดาวินชี่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (Homosexual) ทำให้ต้องเก็บกดและอดกลั้นมาตลอดชีวิต การเก็บกดทางเพศตั้งแต่ในวัยเด็กของเขาเกิดจากปมอีดีปุส (Oedipus Cpmplex) ในช่วงวัย ๓ – ๕ ขวบ ที่ไม่สามารถพัฒนาเทียบบทบาทความเป็นชายจากบิดาได้จึงทำให้ดาวินชี่ไม่สามารถก้าวข้ามปมนี้ได้เกิดการตราตรึงในใจเพราะประสบการณ์อบรมเลี้ยงดูของมารดาด้วยความรักและความโอนโยนทำให้เขาซึมซับลักษณะนิสัยความเป็นหญิงจากมารดาเป็นเหตุให้เขาต้องปรับตัวแบบทดเทิดเพื่อสนองพลังผลักดันทางเพศที่เรียกว่า ลิบิโด (Libido) ซึ่งเขารู้ว่าพลังด้านนี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมจึงเป็นความกดดันที่กลายเป็นแรงขับให้แสดงออกมาในงานศิลปะตอบสนองความสุขในจิตไร้สำนึก บุคคลที่มีชื่อเสียงทางศิลปะและวิทยาศาสตร์มีความคิดสร้างสรรค์ด้วยพลังผลักดันทางเพศที่เรียกว่า ลิบิโด อยู่ในตัวเกือบทุกคน (Ruwan, ๒๐๑๕ : online cited from Freund, ๑๙๑๐)

            ฟรอยด์ได้พิจารณาการเก็บกด (Repression) และการทดเทิด (Sublimation) ร่วมกันพบว่า การทดเทิดเป็นทางออกของการเก็บกดเพื่อแสดงออกในสิ่งที่ปรารถนาแต่ต้องให้สังคมยอมรับได้ และด้วยผลงานทางด้านศิลปะเองสามารถถือเป็นกลวิธานป้องกันของศิลปินเพราะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาหรือพึงพอใจในการจินตนาการของเขาโดยปฏิเสธความจริงหรือสิ่งที่ต้องห้ามผิดหลักศีลธรรม (Ken,๒๐๐๙ : ๔๒)

            สรุป ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์นั้นเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความขัดแย้งระหว่างแรงขับทางเพศ ซึ่งถูกผลักดันออกมาโดยจิตไร้สำนึก (Unconscious) กับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในสังคม ดังนั้นเพื่อให้แรงขับทางเพศ (Sex Drive) ได้เสนอออกมาในรูปแบบพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้จึงเปลี่ยนเป็นความคิดสร้างสรรค์ ฟรอยด์ (Freud) ยังให้ทรรศนะเพิ่มเติมว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะของความร่าเริง แจ่มใส ผ่อนคลาย อิสระหรือลักษณะของความเป็นเด็ก ซึ่งบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติเป็นไปตามสภาพที่แท้จริงไม่เสแสร้งหรือปรุงแต่งและมีความคิดแจ่มใส บริสุทธิ์ สนุกสนาน ไม่มียึดติดต่อสิ่งใดและไม่เคร่งเครียด

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : บทความทางวิชาการ เรื่องทฤษฎีการเกิดความคิดสร้างสรรค์ เชิงจิตวิเคราะห์ มีเนื้อหาและแนวคิดทางด้านจิตวิทยาที่สามารถนำไปใช้กับกลุ่มงานอื่นๆ ได้ทุกสายงาน อาทิเช่น

คำสำคัญ : การเกิดความคิดสร้างสรรค์ การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์

            แนวคิดทฤษฎีการเกิดความคิดสร้างสรรค์มาจากนักจิตวิทยาหลายคนได้พยายามศึกษาค้นหาคำตอบว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นสาเหตุมีกลไกและส่วนประกอบอะไรบ้างและแต่ละส่วนนั้นทำหน้าที่อย่างไร ดังเช่น ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ ซึ่งทฤษฎีนี้มีแนวคิดที่พยายามอธิบายการเกิดความคิดสร้างสรรค์ตามแนวทางของตนเองที่มีความแตกต่างกันไป การทำความเข้าใจการเกิดความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละแนวคิดจะได้รับความรู้และมีมุมมองกว้างมากขึ้นสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่ผู้เรียนได้

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู            บรรณากร

การจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

นายจิตตวิสุทธิ์ วิมุตติปัญญา

View Fullscreen

ภูมิศาสตร์ประเทศไทยเชิงวิเคราะห์

ภูมิศาสตร์ประเทศไทยเชิงวิเคราะห์

นางศรีมงคล เทพเรณู

View Fullscreen

กฎหมายมหาชนเบื้องต้น

กฎหมายมหาชนเบื้องต้น

นายชนินทร์ มณีดำ

View Fullscreen

วรรณคดีในแบบเรียนภาษาไทย

วรรณคดีในแบบเรียนภาษาไทย

นางสาวกิติยา รัศมีแจ่ม

View Fullscreen

สังคมไทยและสังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑ (Thai and Global Society in ๒๑st Century)

สังคมไทยและสังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑ (Thai and Global Society in ๒๑st Century)

นางระพีพรรณ ภู่ผกาพันธ์พงษ์ ตัณฑรัตน์

View Fullscreen

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ชื่อผลงานทางวิชาการ : พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน รายวิชาพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายพิบูลย์ วิฑูรย์ปัญญากุล ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ศึกษากฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม อำนาจศาลและอำนาจในการพิจารณา พิพากษาคดี รวมทั้งระบบตุลาการและกฎหมาย การจัดตั้งศาลแขวงและพิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง

       พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติที่บัญญัติถึงศาลและผู้พิพากษา ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างประชาชนกับพลเมือง ทั้งนี้เพราะการใช้อำนาจตุลากรโดยศาลหรือผู้พิพากษาเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องมีขอบเขตหรือหลักเกณฑ์การฟ้องคดีต้องพิจารณากฎหมายทั้งสองควบคู่กัน

       การแบ่งชั้นของศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญมี 3 ขั้น คือ ศาลขั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

       ตำแหน่งประมุขและรองประมุขในศาลยุติธรรม ตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 8 วรรคแรก กล่าวว่า ให้มีประธานศาลฎีกา ประจำศาลฎีกาหนึ่งคน ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ประจำศาลอุทธรณ์ภาคศาลละหนึ่งคน และให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรีและศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้น กำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น ศาลละหนึ่งคน ฯลฯ เป็นต้น

       อำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษารับผิดชอบราชการงานของศาล พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 บัญญัติไว้ว่าประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

       1. นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้นหรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจนำความเห็นแย้งได้

       2. สั่งคำร้องคำขอต่างๆ ที่ยื่นต่อคนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ว่าด้วยวิธีพิจารณาความ

       3. ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง เพื่อการพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว

       4. ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้อง เนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

       5. ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในบรรดากิจการอันเกี่ยวกับการจัดวางระเบียบและการดำเนินงานส่วนธุรการของศาล

       6. ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ

       7. มีอำนาจหน้าที่อื่นที่กฎหมายกำหนด

       อธิบดีผู้พิพากษาภาค ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 13 บัญญัติไว้ว่า ให้อธิการบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละหนึ่งคนจำนวนเก้าภาค มีสถานที่ตั้งและเขตอำนาจตามที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละสามคน ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม โดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคมากกว่าสามคน แต่ไม่เกินหกคนก็ได้

       อำนาจหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาภาคและรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

       1. สั่งให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมรายงานเกี่ยวกับคดีหรือรายงานกิจการอื่นของศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตน

       2. ในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตนไปช่วยทำงานชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสามเดือน ในอีกศาลหนึ่งโดยความยินยอมของผู้พิพากษานั้นก็ได้ แล้วรายงานไปยังประธานศาลฎีกาทันที

       ศาลชั้นต้นที่เป็นศาลแขวง ตามพระธรรมนูญศาล มาตรา 17 บัญญัติไว้ว่า ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีและมีอำนาจทำการไต่สวนหรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งในมาตรา 24 บัญญัติว่า ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้

       1. ออกหมายเรียก หมายอาญาหรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น

       2. ออกคำสั่งใดๆ ซึ่งไม่ใช้เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพากษาแห่งคดี

พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 บัญญัติไว้ว่า ในศาลขั้นต้นผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดี ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

       1. ไต่ศาลและวินิจฉัยชี้ขาด คำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง

       2. ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย

       3. ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

       4. พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินดังกล่าว อาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

       5. พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ละลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง เกินอัตราที่กล่าวไม่ได้

       ศาลชำนัญพิเศษ เป็นศาลชั้นต้นจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยกฎหมายที่บัญญัติโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายให้จัดตั้งศาลยุติธรรมอื่นซึ่งถือว่าเป็นศาลชั้นต้น รวม 5 ศาล ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลายและศาลภาษีอากร

       ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค มีอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ ได้แก่ อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 204 และมาตรา 208 ตลอดจนมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งจะต้องส่งไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ภาคใดภาคหนึ่งตามที่มีเขตอำนาจ อำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค มีอำนาจทั่วไปภายในเขตอำนาจของศาล ดังนี้

       1. พิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น

       2. พิพากษายืนความ แก้ไข กลับหรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

       3. วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องคำขอที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคที่กฎหมายบัญญัติ

       4. วินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่น

       ศาลฎีกาเป็นศาลเดียวเท่านั้นที่ไม่ต้องบัญญัติว่าด้วยเขตศาลฎีกา มีเขตครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร ศาลฎีกามีอำนาจรับคดี 3 ประเภท ได้แก่ คดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสนอต่อศาลฎีกาโดยตรง คดีที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ต้องเสนอต่อศาลฎีกาโดยตรงและคดีที่อุทธรณ์มาจากศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามปกติ คดีที่ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วคู่ความไม่มีสิทธิ์ที่จะทูลเกล้าถวายฎีกาคัดค้านนั้นต่อไป ศาลฎีกามีอำนาจรับคดี 3 ประเภท ได้แก่ คดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสนอต่อศาลฎีกาโดยตรง คดีที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาโดยตรงและคดีที่อุทธรณ์มาจากศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามปกติ

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ได้กล่าวถึง องค์คณะผู้พิพากษา หมายถึง จำนวนผู้พิพากษาที่กฎหมายกำหนดให้ประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแต่ละเรื่อง โดยกฎหมายกำหนดให้ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคและศาลฎีกาจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน เป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีแต่ละเรื่อง แต่ในศาลขั้นต้นนั้นบางกรณีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 1 คน และบางกรณีกำหนดให้ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เพื่อประกอบเป็นองค์คณะ จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแต่ละเรื่องได้ โดยให้ถือลักษณะคดีแต่ละประเภทเป็นเกณฑ์ในการกำหนดจำนวน ผู้พิพากษาเพื่อประกอบเป็นองค์คณะ โดยคดีแพ่งถือจำนวนทุนทรัพย์เป็นเกณฑ์ ส่วนคดีอาญานั้นถืออัตราโทษชั้นสูงในแต่ละคดีเป็นเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนผู้พิพากษา การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในศาลชั้นต้นนั้นจะต้องแยกพิจารณาออกเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นไต่สวนมูลฟ้องกับการชี้สองสถานหรือสืบพยาน ขั้นพิจารณาและขั้นพิพากษา

มาตรา 25 อำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลขั้นต้นวรรคแรก ในศาลขั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวกับคดี ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังนี้

       1. ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง

       2. ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย

       3. ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

       4. พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง

       การจ่าย การโอน และการเรียกคืนสำนวน ตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า ให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีในแต่ละศาลแล้วแต่กรณี รับผิดชอบในการจ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาให้ศาลหรือในแผนกคดีนั้นๆ โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม การออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญและความเหมาะสมขององค์คณะคณะผู้พิพากษาที่จะรับผิดชอบสำนวนคดีนั้น รวมทั้งปริมาณคดีที่องค์คณะผู้พิพากษาแต่ละองค์คณะรับผิดชอบ สำหรับเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจจะก้าวล่วงได้ ในที่นี้ในมาตรา 8 หมายถึงเหตุใดๆ ที่ทำให้ผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นไม่อาจนั่งพิจารณาคดีหรือร่วมทำคำพิพากษาคดีนั้นต่อไปได้

ส่วนเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล้วงได้มีความหมาย 7 เหตุ ดังนี้

       1. กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้น พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่

       2. กรณีที่ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้น ถูกคัดค้านและถอนตัวไป

       3. กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทำคำพิพากษาในคดีนั้นได้

       4. กรณีผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 25 (5) แล้วเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน หรือปรับเกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว

       5. กรณีผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)

       6. กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้นจะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคนและผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้

       7. กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25 (4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเอกสารประกอบการสอน ฉบับนี้ : มีหลายประเด็นอาทิ เช่น

       ประเด็นที่ 1 ความเป็นมาของผู้พิพากษาในประเทศไทย ตั้งแต่การปกครองประเทศสยามแต่โบราณ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึง ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีไว้ทำนองเดียวกันสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นำแบบพิจารณาพิพากษาคดีแบบอินเดียผสมกับแบบไทย ใช้บุคคลสองจำพวกเป็นพนักงานตุลาการจำพวกหนึ่งเป็นพราหมณ์ชาวต่างประเทศ เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์เรียกว่าลูกขุน ณ ศาลหลวง มี 12 คน หัวหน้าเป็นพระมหาราชครูปุโรหิตมีหน้าที่ชี้บทกฎหมาย แต่ยังบังคับไม่ได้ อำนาจบังคับอยู่ที่เจ้าพนักงานที่เป็นคนไทย ลูกขุนเป็นผู้พิจารณาฟ้องว่าควรรับหรือไม่ ถ้าควรรับจะชี้แจงสองสถานแล้วส่งไปยังศาลกระทรวงที่มีอำนาจพิจารณา ตุลาการจึงทำการสืบพยานตามคำลูกขุน เสร็จแล้วส่งสำนวนไปยังลูกขุนชี้ขาดเพราะเหตุใด ตุลาการจะนำคำพิพากษาส่งไปยังผู้รับๆ จะปรับลงโทษแล้วส่งให้ตุลาการบังคับคดี ดังนั้นผู้พิพากษาสมัยเดิม เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง ต้องมีความรู้ทางนิติศาสตร์

       ส่วนในหัวเมืองเจ้าเมืองมีอำนาจสิทธิขาดทุกประการในการพิจารณาพิพากษาคดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการเริ่มเป็นผู้พิพากษาและได้ถือปฏิบัติในทำนองนี้ตลอดมาจนบัดนี้ แต่คุณสมบัติผู้สมัครสอบคัดเลือกได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

       ประเด็นที่ 2 การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 บุคคลผู้ประสงค์จะเข้ารับข้าราชการเป็นผู้พิพากษาเป็นได้ 3 ทาง คือ

       2.1 สมัครสอบคัดเลือก ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 24 ปี บริบูรณ์

       2.2 สมัครทดสอบความรู้ ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 24 ปี บริบูรณ์

       2.3 สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 34 ปี บริบูรณ์

       ผู้ที่จะเข้าสอบเป็นผู้พิพากษาโดย 3 ทางดังกล่าวแล้วตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 กำหนดว่าจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นต้น และสำหรับผู้สมัครสอบคัดเลือกตามข้อ 1 ต้องมีคุณวุฒิและได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายดังต่อไปนี้

       1. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

       2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษา กฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

       3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็นจ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือพนักงานคุมประพฤติของศาลยุติธรรม พนักงานอัยการ นายทหารเล่าพระธรรมนูญ ทนายความ หรือประกอบวิชาอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีทั้งวิชาชีพนั้นๆ ด้วย

       ประเด็นที่ 3 ดะโต๊ะยุติธรรมและผู้พิพากษาสมทบ เมืองปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประธานนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ในรัชสมัยรัชกาล ที่ 1 ได้แบ่งเมืองปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง ด้วยเหตุผลทางการเมือง ต่อมารัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย โดยจัดแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี รามัน หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา สายบุรีและระแงะ มีกฎข้อบังคับปกครองทั้ง 7 หัวเมือง ร.ศ. 120 ข้อ 32 ใช้พระราชกำหนดกฎหมายทั้งปวงในความอาญาและความแพ่งในบริเวณนี้ คนนับถือศาสนาอิสลามเป็นโจทก์จำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแก่คดี (ซึ่งเกี่ยวกับความแพ่งเรื่องผัวเมียและมรดก) และในการพิจารณาให้มีโต๊ะกาลี (หรือคะโต๊ะยุติธรรมในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นผู้รู้กฎหมายอิสลามเป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม ส่วนจังหวัดสตูล ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดภาคใต้ไม่รวมอยู่ในบริเวณ 7 หัวเมืองดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับมณฑลไทรบุรี เพิ่งใช้กฎหมายอิสลามบังคับคดีแพ่งเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก เมื่อ พ.ศ. 2460 ตามตราสารกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 24 กันยายน 2460

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : การห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

(1) หลักเกณฑ์การจำกัดสิทธิอุทธรณ์ (มาตรา 22)

 

หลัก :

ข้อยกเว้น:

แผนภูมิแสดงหลักเกณฑ์การห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาของศาล

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง

เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

1. จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก

2. จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลย แต่ศาลรอการลงโทษไว้

3. ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ

4. จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท

(2) ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปัญหาข้อเท็จจริงกับปัญหาข้อกฎหมาย

ปัญหาข้อเท็จจริง

ปัญหาข้อกฎหมาย

1. ปัญหาว่ามีเหตุการณ์หรือการกระทำอาจเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยจากพยานสำนวน

2. ปัญหาการโต้เถียงดุลพินิจของศาล

     ก. ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน

     ข. ดุลพินิจในการลงโทษ

     ค. ดุลพินิจในการดำเนินกระบวนการพิจารณา

1. ปัญหาตามข้อเท็จจริงซึ่งทั้งเป็นยุติแล้วนั้น ต้องตามตัวบทกฎหมายมาตราใด ที่เรียกว่า “ปัญหา การหารือบท”

2. ปัญหาการโต้เถียงว่าศาลดำเนินคดีโดยผิดกฎหมาย

     ก. ศาลฟังพยานโดยผิดกฎหมาย

     ข. ศาลลงโทษจำเลยผิดต่อกฎหมาย

     ค. ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาผิดกฎหมาย

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร