ชื่อผลงานทางวิชาการ : การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขากลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางจุติมา รัตนพลแสนย์ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และคณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การพัฒนาหมายถึง การทำให้เจริญงอกงามเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งดีกว่าเดิมอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาของสังคมหรือประเทศต้องมีแผนหรือแนวทางของการพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทางและควบคุมการดำเนินการพัฒนาให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ การพัฒนาในบริบทของสังคมไทยจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ

       การศึกษาเป็นปัจจัยสำหรับด้านต่างๆ ทุกด้าน ช่วยในการวางแผนกำลังคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ตรงตามเป้าหมาย การพัฒนาการศึกษาให้กับประชาชนของประเทศจึงต้องมีแผนหรือแนวทางของการพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทาง ประชาชนต้องมีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยของการบริหารประเทศด้วย

       การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มี 2 แนวทาง คือ แนวอนุรักษ์นิยม พัฒนามนุษย์ให้มีความรู้คู่คุณธรรมและแนวเสรีนิยม พัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้มีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติ กระบวนการพัฒนามี 4 ด้าน คือ ด้านกาย ศีล จิตและปัญญา

       การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นผลมาจากแบบจำลองการพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาที่เน้นทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการใช้และกอบโกยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติขนานใหญ่ ก่อให้เกิดมลภาวะในลักษณะต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโดยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักในการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ การธำรงรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ แนวคิดและแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย แนวคิดการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การพัฒนาคุณภาพด้วยคุณธรรมนำความรู้ แนวทางการจัดการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการพัฒนาตามแนวพระพุทธศาสนา

       บทบาทของการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาในบทบาทของกลไกการพัฒนาบุคคล การถ่ายทอดวัฒนธรรมและเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ แนวคิดการพัฒนากับการศึกษาไทยในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาโดยการเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมและประโยชน์ โดยการปรับบทบาทภาครัฐมาเป็นผู้กำกับนโยบาย แผน มาตรฐานและส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน และการกระจายอำนาจการบริหารไปยังสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาให้มีอิสระ คล่องตัว ฐานะเป็นนิติบุคคล

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอนเล่มนี้มีสาระสำคัญหลายประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 กล่าวถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาซึ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ ประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กล่าวถึงลักษณะเด่นของแต่ละแผน และจุดเน้นของการพัฒนาดังนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (2504-2509) เป็นเครื่องมือรวบรวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศกับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 (2510-2514) ให้ความสำคัญกับหลักพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง ฯลฯ เป็นต้น

       แผนพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์นั้นเป็นการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยขึ้นอยู่กับแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจด้านการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านการศึกษา คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2475 , 2478 , 2503 , 2512 , 2520 , 2535 , 2545 – 2559, 2552 – 2559 พบปัญหาจากการพัฒนาว่าต้นเหตุที่จะขจัดปัญหาการพัฒนาที่ไม่พึ่งประสงค์คือ ต้องเสริมสร้างความเข็มแข็งด้วยการพัฒนามนุษย์เพราะการพัฒนามนุษย์ต่างจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

       การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบยั่งยืน เรียกว่า ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการอนุรักษ์โลกโดยมีวัตถุ 3 ประการ คือ การธำรงรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ โดยเน้นการพัฒนาที่ท้องถิ่นและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งการพัฒนาที่มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสม การพัฒนาแบบยั่งยืน หมายถึง รูปแบบการพัฒนาที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความขาดแคลนหรือเกิดภาวะมลพิษซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Sustainable Development แนวคิดการอนุรักษ์ได้ผนวกเข้ากับการจัดทำแผนพัฒนาประเทศทำให้เกิดแนวทางพัฒนาแบบใหม่ คือ การพัฒนาแบบยั่งยืน กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทุกสาขา ดังที่ปัจจุบันแนวความคิดในการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทุกสาขา โดยที่แต่ละระบบสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายของตนเองได้ทั้งนี้เป้าหมายของระบบทางชีววิทยา คือ การนำไปสู่ความหลากหลายของพันธุกรรม (Genetic –Enhancing ) และมีสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามแนวความคิดของ Brown และ Barbier กล่าวถึง ลักษณะพึงประสงค์ชัดเจน ประกอบด้วยด้านระบบชีววิทยา ด้านระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมแนวคิดและแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย พัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การพัฒนาคุณภาพคนด้วยคุณธรรมนำความรู้ ฯลฯ เป็นต้น สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาตามการพัฒนาแนวพุทธศาสนานั้นได้นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้หรือประยุกต์ในการบริหารและพัฒนาผู้เรียน เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ เช่น รูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นระบบพัฒนาไตรสิกขาด้านปัญญา จิตใจและพฤติกรรม

ประเด็นที่ 2 กล่าวถึงบทบาทของการศึกษากับการพัฒนาว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นเรื่องชีวิตมนุษย์เพราะเป็นวิถีแห่งการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถสรุปบทบาทของการศึกษาได้ดังนี้ 1) บทบาทของกลไกการพัฒนาบุคคล 2) กลไกถ่ายทอดวัฒนธรรม 3) เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ ปัจจุบันเป็นยุคสังคมแห่งการเรียนรู้จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมและกำหนดเงื่อนไข ปัจจัยที่เหมาะสม วัตถุประสงค์ในการแบ่งระบบการศึกษา 6 ประการ คือ ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ตลอดช่วงอายุอย่างต่อเนื่อง สามารถเทียบโอนในระหว่างรูปแบบเดียวกันและต่างรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น แนวทางในการจัดการศึกษาในแต่ละรูปแบบมีการศึกษาในระบบ ประกอบด้วย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษานอกระบบไม่แบ่งระดับและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ประเด็นที่ 3 แนวคิดการพัฒนากับการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้คำนึงถึงการดำเนินงานตามนโยบายแห่งรัฐ สำหรับแนวทางในการพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้มีการขยายรูปแบบการเรียนการสอนมุ่งให้เด็กเรียนให้รู้ ฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบเข้าใจและควบคุมตนเองได้ สร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนให้มีความพร้อมด้านสติปัญญา อารมณ์และศีลธรรม ภายใต้ระบบการศึกษาทั้งปฏิบัติและวิชาการ นอกจากนี้ยังเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง จนเกิดนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้กับห่วงโซ่เป็นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : นอกจากทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นนั้น ยังพบว่าหนังสือเล่มนี้มีจุดอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนกับการจัดการศึกษาในสังคมที่กล่าวถึงกระแสการพัฒนาและสภาพเศรษฐกิจย่อมมีผลทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาและทวีความรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นปัญหาของสังคมในทุกๆ สังคม อาทิเช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทารุณแรงงานเด็กและสตรี ปัญหาธุรกิจบริการทางเพศ ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และปัญหาภาวะวัยเจริญพันธุ์และประชากรสูงวัย ดังนั้นการศึกษาจำเป็นต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกด้าน หลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนในการจัดการศึกษาต้องสนับสนุนและส่งเสริมหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เข้มแข็งเป็นความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ศักยภาพของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่พบปัญหาอุปสรรคของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย อาทิเช่น การยกระดับความตระหนัก การนำเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรจุในหลักสูตร และการพัฒนานโยบาย ฯลฯ เป็นต้น

       กลยุทธ์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระตุ้นให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสำคัญ 2 ประเด็น คือ ความซับซ้อนและพลังความร่วมมือระหว่างประเด็นที่คุกคามความยั่งยืน เป็นต้น

       การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของไทยมุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย เพื่อให้เกิดกรเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ ทัศนคติ ระบบความเชื่อต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมของบุคคลเพราะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร