การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา *

* อาจารย์ประจำ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

คำสำคัญ : ผู้สูงอายุ/ สุขภาพผู้สูงอายุ


 

บทนำ

       บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกเล่าวิธีการในการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุนั่นคือก่อนที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามนิยามในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.. 2546 มาตรา 3 ซึ่งตราขึ้นไว้ ณ วันที่ 22 ธันวาคม พ.. 2546 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 130 ก ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.. 2546 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.. 2547 นับถึงวันนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 11 แล้ว

       ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลสถานการณ์ทางประชากรจากแหล่งต่างๆ แสดงให้เห็นตรงกันว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย และยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตด้วยอัตราที่เร็วมากสถานการณ์ทางประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้นำไปสู่ประเด็นท้าทายต่อคุณภาพชีวิตประชากรสูงอายุไม่ว่าจะเป็นในด้านทุนมนุษย์ที่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังคงมีการศึกษาค่อนข้างน้อยมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้นที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป การที่ผู้สูงอายุมีการศึกษาน้อยน่าจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล บริการด้านสุขภาพและสังคม รวมทั้งโอกาสในการทำงานเชิงเศรษฐกิจ ในด้านการมีบุตรนั้นผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันมีบุตรน้อยกว่าในอดีต และมีแนวโน้มที่จะอยู่อาศัยกับบุตรน้อยลง อยู่กับคู่สมรสและอยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงมากและรวมทั้งการย้ายถิ่นของบุตรที่อยู่ในวัยแรงงานไปทำงานในต่างพื้นที่ ผู้สูงอายุในรุ่นต่อไปจะยิ่งมีบุตรน้อยลงตามแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ การหวังพึ่งพาบุตรในการเกื้อหนุนในยามสูงวัยน่าจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ในด้านสุขภาพผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และมีภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:8)

สถานการณ์ผู้สูงอายุ

       โครงสร้างทางอายุของประชากรแสดงด้วยสัดส่วนของประชากรในวัยต่างๆ เมื่อจำแนกประชากรออกเป็นกลุ่มอายุ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชากรวัยเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) วัยแรงงาน(อายุ 15-59 ปี) และวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเห็นได้ว่า ในระหว่างปี พ..2553 – ..2583 สัดส่วนของประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงาน มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ในพ..2553 เป็นร้อยละ 32.1ในพ..2583 และที่น่าสังเกต คือ ในปีพ..2560 จะเป็นปีที่คาดว่าสัดส่วนของประชากรวัยเด็กจะเท่ากันกับสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุ (รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:14) สำหรับ

       ด้านสุขภาพพบว่าพบว่าร้อยละของผู้สูงอายุที่ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากลดลง ทั้งในเขตเมืองและในเขตชนบท นอกจากนี้ ร้อยละที่มีสุขภาพดีหรือดีมากนั้นยังผันแปรกับอายุ และเพศ โดยผู้สูงอายุที่มีอายุมากมีร้อยละที่รายงานว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากต่ำกว่าผู้สูงอายุที่มีอายุน้อยและผู้สูงอายุหญิงมีสัดส่วนผู้ที่รายงานว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากต่ำกว่าผู้สูงอายุชาย(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ..2555-2556:16)

       ปัญหาด้านการมองเห็นเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ และอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและการพลัดตกหกล้ม จากข้อมูลพบว่าในปี พ..2554 ร้อยละ 47.4 ของผู้สูงอายุรายงานว่ามีปัญหาด้านการมองเห็น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ..2550 เล็กน้อย โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุหญิงมีแนวโน้มประสบปัญหาดังกล่าวมากกว่าเพศชาย และผู้ที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหามากกว่าในเขตชนบท อีกปัญหาที่ผู้สูงอายุประสบคือ ปัญหาด้านการได้ยิน พบว่า ในปีพ..2554 ประมาณร้อยละ 15 ของผู้สูงอายุประสบปัญหาดังกล่าว และปัญหาดังกล่าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากผลการสำรวจในรอบก่อน โดยปัญหาการได้ยินจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และเพศหญิงจะประสบปัญหามากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตชนบทจะมีปัญหาสูงกว่าในเขตเมือง

       ปัญหาสุขภาพที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและอาจนำไปสู่ความพิการได้คือการพลัดตกหกล้ม ซึ่งการพลัดตกหกล้มนี้ เกิดจากทั้งสภาพร่างกาย และศักยภาพในการควบคุมการเคลื่อนไหวที่ถดถอยตามอายุ และสภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุไทยในปี พ..2550 และปี พ..2554 พบว่า สัดส่วนการพลัดตกหกล้มลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 10.3 เหลือเพียง ร้อยละ 8.6 เมื่อพิจารณาตามลักษณะประชากรจะพบว่า การพลัดตกหกล้มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุหญิงมีแนวโน้มที่จะพลัดตกหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุชาย และผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะมีการหกล้มมากกว่าในเขตชนบท อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบระหว่างปี พ.. 2550 กับ 2554 มีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มประชากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุหญิง(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:18) สอดคล้องกับงานวิจัยของ วรรณรา ชื่นวัฒนา(2556:56-59) ที่พบว่าอัตราการเกิดอุบัติการของผู้สูงอายุที่เกิดในบ้านพักอาศัยร้อยละ 11.5 5 เกิดมากในช่วงเวลากลางวัน ร้อยละ 47.8 เกิดภายนอกตัวอาคาร ร้อยละ 58.7 เกิดที่ห้องน้ำร้อยละ 57.9 กิจกรรมขณะเกิดอุบัติเหตุคือการเดินร้อยละ 76.1 ส่วนใหญ่เป็นแผลฟกช้ำร้อยละ 73.8 มีความรุนแรงเล็กน้อยร้อยละ 58.7

       จากข้อมูลที่นำเสนอจะพบว่าผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและมีสุขภาพไม่ดีเพิ่มมากขึ้นดังนั้นประชากรวัยก่อนสูงอายุควรได้ตระหนักและควรวางแผนเข้าสู่วัยสูงอายุก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุเพื่อที่จะเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจมีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียงมีที่พักอาศัยที่เหมาะสมและมีกิจกรรมทางสังคมอย่างมีคุณค่า

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

       การเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุถือว่าเป็นการวางแผนชีวิตอย่างหนึ่งที่มีเป้าหมายอยู่ที่การประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิต ไคเคอร์และไมเออร์ (Kiker & Myers, 1990 อ้างในวรรณรา ชื่นวัฒนา, 2556:25) กล่าวว่าในการวางแผนของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย

       ประการปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการวางแผนชีวิตได้แก่ อัตมโนทัศน์ ค่านิยมของบุคคล ความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละบุคคล การปฏิบัติตามพฤติกรรมที่ต้องพัฒนาตามวัย (development task) และการตัดสินใจ

       จากการศึกษาแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวต่อการเข้าสู่วัยสูงอายุและหลังเกษียณอายุพบว่าการเตรียมตัวต่อการเข้าสู่วัยสูงอายุจำแนกออกเป็น 4 ด้านคือการเตรียมตัวด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจการเตรียมตัวด้านการเงินการเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัยและการเตรียมตัวด้านการมีส่วนร่วมในสังคมและงานอดิเรก

1. การเตรียมตัวด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ

       เป้าหมายของการวางแผนสุขภาพ คือการรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีความสุขมีความกระฉับกระเฉงและอายุยืน (วิจิตร บุณยะโหตระ, 2533) บุคคลในวัยสูงอายุจะมีความเสื่อมของร่างกายตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายลดลงมีโอกาสเกิดโรคได้ง่ายและเมื่อเป็นแล้วต้องใช้เวลารักษานาน ปัญหาที่คนสูงอายุส่วนใหญ่ประสบได้แก่ ปัญหาสุขภาพอนามัย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและประชากรของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุไทยประสบปัญหา 2 ประการคือปัญหาด้านเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นทันที่ทันใด ขึ้นอยู่กับสุขนิสัย และการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยเด็กวัยผู้ใหญ่จนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ( Kiker & Myers, 1990) การเตรียมตัวเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีทำได้ดังนี้ (Kiker & Myers, 1990; บรรลุ ศิริพานิช, 2538)

       รับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย มีส่วนประกอบของอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ละเว้นอาหารรสจัดและเครื่องดื่มมึนเมาหรือน้ำชา กาแฟ ได้รับอาหารครบทั้ง 3 มื้อและดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 10 แก้วควบคุมน้ำหนักโดยไม่รับประทานอาหารให้มากหรือน้อยเกินไปเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายมีแนวโน้มจะต้องการอาหารลดลงการใช้กำลังงานลดลงจะทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้งานนอกจากว่ารับประทานอาหารน้อยลงแต่ถ้ารับประทานอาหารน้อยเกินไปก็จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างได้การควบคุมน้ำหนักทำได้โดยชั่งน้ำหนักตัวอยู่เสมอส่องกระจกดูรูปร่างตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

       นอนหลับวันละ 7-8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายทุกส่วนได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอทำให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นแจ่มใสพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในวันต่อไปหากนอนกลางคืนไม่พอก็นอนกลางวันได้ถ้านอนไม่หลับให้หาสาเหตุว่ามีสิ่งใดรบกวนถ้ารู้สาเหตุต้องรีบแก้ไขตามความเหมาะสม

       ออกกำลังกายเป็นประจำการออกกำลังกายเป็นปัจจัยเดียวที่ชะลอความเสื่อมจากความสูงอายุได้การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะนำความแข็งแรงมาสู่ปอดหัวใจลดความดันโลหิตทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงมีสมาธิการรับประทานอาหารและการนอนดีขึ้นทำให้บุคลิกภายนอกดีขึ้นมองโลกในแง่ดีและมั่นใจในตนเองมากขึ้นการออกกำลังทำได้ตั้งแต่การทำงานบ้านทำสวนขุดดินการเดินการวิ่งเหยาะว่ายน้ำถีบจักรยานโยคะหรือรำมวยจีนตามที่ร่างกายและความพอใจของตนเองที่เห็นว่าเหมาะสมโดยปฏิบัติตนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ

       ให้ความสนใจกับสุขภาพอนามัยและการปฏิบัติเมื่อเจ็บป่วยโดยการตรวจสุขภาพประจำทุกปีรักษาโรคที่เป็นอยู่หรือตรวจพบอย่างสม่ำเสมอ

       รักษาอารมณ์ให้เหมาะสมฝึกทำใจให้สงบยอมรับความจริงในชีวิตตัดสินใจด้วยความมีเหตุผลขจัดภาวะความคับข้องใจอารมณ์ขุ่นมัวหรือวิตกจริตต่างๆควรทำจิตให้ว่างจากกิเลสตัณหาเสมอต้นเสมอปลายมองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่บวกพยายามค้นหาสิ่งที่ดีจากสิ่งที่คิดว่าไม่ดีการมีอารมณ์ไม่ดีจะส่งผลให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้นและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงความต้านทานโรคลดลงความเครียดระยะยาวจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นความจำการรับความรู้สึกการตัดสินใจเปลี่ยนไป

2. การเตรียมตัวด้านการเงิน

       เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องรายรับและรายจ่าย รายได้หลักที่เคยได้จากการทำงานจะหมดไป อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต ดังนั้นการวางแผนทางการเงินเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นสิ่งที่ควรมีการจัดทำขึ้นเสมอในการวางแผนการเงินสำหรับช่วงชีวิตของบุคคลควรมีการเตรียมดังนี้ (สุขใจ น้าผุด, 2536)

       การประเมินรายรับรายจ่ายโดยวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันของตนเองว่ามีรายได้ทั้งหมดเท่าไรจากแหล่งใดบ้างมีรายจ่ายเท่าใดถ้ารายจ่ายเกินรายรับจะได้วางแผนเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่าย

       การเตรียมเงินสำหรับรายจ่ายจรเช่นค่ารักษาพยาบาลและเตรียมรับกับปัญหาเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินเป็นต้นประเมินความสามารถของตนเองที่จะหารายได้จากการมีอาชีพสำรองก่อนหรือหลังเกษียณอายุที่เหมาะสมกับตนเตรียมสะสมทรัพย์ในรูปแบบของเงินออมการซื้อหุ้นการลงทุนซื้อบ้านและที่ดินการประกันชีวิตและสุขภาพและอุบัติเหตุอื่นๆ

3. การเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัย

       การเลือกที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความตั้งใจของบุคคลสภาพการณ์ของครอบครัวญาติพี่น้องที่จะเอื้ออำนวยตลอดจนสถานภาพการเงินของผู้สูงอายุในขณะนั้นสำหรับครอบครัวไทยแล้วผู้สูงอายุทั่วไปนิยมอาศัยอยู่กับบุตรหลานแต่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวควรวางแผนเรื่องที่อยู่อาศัยตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อให้เกิดความพร้อมและความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตการเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัยควรพิจารณาดังนี้

สถานที่ต้องกำหนดว่าจะอยู่ที่ไหนกับใครจะย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่หรือไม่โดยคำนึงถึงทำเลที่ง่ายต่อการติดต่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูงและแหล่งบริการอื่นๆจากชุมชนถ้าต้องการหาที่อยู่ใหม่ต้องเตรียมพร้อมทางด้านการเงินและด้านเวลาเพื่อจะได้มีเวลาปรับปรุงบ้านใหม่ให้เหมาะสมในกรณีที่ต้องการอยู่บ้านนอกเมืองที่สงบเงียบห่างไกลผู้คนอาจจะต้องทดลองอยู่ดูก่อนและทดลองทุกฤดูกาลเพราะในชนบทฤดูกาลแต่ละฤดูกาลแตกต่างกันค่อนข้างมากและถ้าต้องไปอยู่บ้านพักคนชราทั้งของทางราชการและขององค์กรการกุศลจะต้องศึกษาสอบถามระเบียบการของแต่ละแหล่งว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้างและถ้าเป็นไปได้ต้องลองไปเยี่ยมบ้านพักดังกล่าวดูก่อนหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และผู้อยู่อาศัยเพื่อประเมินว่าเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ยิ่งใช้เวลาสัมผัสมากเท่าใดก็จะมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้นเท่านั้น

สถานที่อยู่หมายถึงสภาพบ้านการจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมต้องมีความเหมาะสมกับสภาพของวัยและความต้องการของผู้สูงอายุควรเตรียมปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเปลี่ยนวัสดุต่างๆใหม่แต่เนิ่นๆในขณะที่ยังมีรายได้หรือสามารถทำด้วยตนเองได้

4. การเตรียมตัวด้านการมีส่วนร่วมในสังคมและงานอดิเรก

       จากทฤษฎี (Activity Theory) เชื่อว่าผู้สูงอายุไม่ควรมองตนเองว่าไร้บทบาทแต่ควรจะหาบทบาทหรือกิจกรรมใหม่ทดแทนบทบาทหรือกิจกรรมเดิมที่สูญเสียไป (Matras, 1990) โดยมีข้อตกลงพื้นฐานว่าบุคคลจะต้องรู้ความต้องการของตนแต่ละช่วงวัยของชีวิตและต้องปฎิบัติกิจกรรมนั้นสม่ำเสมอความสำเร็จในวัยสูงอายุขึ้นอยู่กับบทบาทและกิจกรรมใหม่ทดแทนกิจกรรมและบทบาทเดิมที่หมดไปผู้ที่มีกิจกรรมหรือบทบาทใหม่ในวัยสูงอายุโดยที่ยังดำรงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้จะมีความพึงพอใจในชีวิตสูงและมองตนในด้านบวกการมีกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงความมีคุณค่าและปรับตัวได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่ปราศจากกิจกรรม

นอกจากนี้จากผลงานวิจัยต่างๆพบว่ากิจกรรมมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีเช่นผู้สูงอายุที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมบ่อยครั้งกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้สูงอายุที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมน้อยครั้งกว่าผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมสูงมีงานอดิเรกหรืองานยามว่างจะมีสุขภาพจิตดีกว่าและผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมในสังคมมากจะมีความพึงพอใจในชีวิตสูงและมีความซึมเศร้าน้อย

       จากการที่กิจกรรมต่างๆมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุนั้นนักวิชาการแบ่งประเภทของกิจกรรมออกเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมการมีงานอดิเรกและการทำงานที่มีรายได้

       การมีส่วนร่วมในสังคม (social participation) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆขององค์การที่ตนเป็นสมาชิกซึ่งแบ่งเป็นการมีส่วนร่วมทางสังคมภายในครอบครัวได้แก่การมีกิจกรรมต่างๆร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตนและการมีส่วนร่วมทางสังคมภายนอกครอบครัวได้แก่การมีกิจกรรมร่วมกับองค์กรอื่นๆนอกครอบครัวเช่นกลุ่มเพื่อนเพื่อนบ้านญาติพี่น้องศาสนาการเมืองและสมาชิกต่างๆที่ตนเป็นสมาชิก

       การมีงานอดิเรก (hobby) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมของตนในเวลาว่างหรือกิจกรรมที่เป็นการพักผ่อนทาเพื่อความเพลิดเพลินทำให้รู้สึกว่าตนเองมีค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้โดยลำพังคนเดียว

       การทำงานที่มีรายได้ (work) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ไม่ว่าจะเป็นงานประจำงานพิเศษหรืองานชั่วคราว

 

บทสรุป

       ผู้สูงอายุคืออนาคตของทุกท่านเนื่องด้วยเป็นธรรมดาสัตว์โลกที่เกิดมาก็จะเติบโตพัฒนาตามวัยและเข้าสู่การแก่ชราแล้วตายในที่สุดดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายจิตใจการเงินที่อยู่อาศัยและสังคมย่อมเป็นสิ่งปรารถนาของบุคคลทุกคนผู้เขียนหวังว่าในอนาคตประชากรไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีความสุขหากมีการเตรียมตัวไว้ก่อน

 

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ .. 2546 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 130 ลงวันที่ 31 ธันวาคม .. 2546.

บรรลุ ศิริพานิช.(2538).คู่มือการเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุ.(พิมพ์ครั้งที่ 3).กรุงเทพมหานคร:พี.บี. เบสท์ซับพลายจำกัด.

วิจิตร บุณยโหตระ. (2533). คู่มือเกษียณอายุ. กรุงเทพมหานคร :บพิธการพิมพ์.

วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555. :นนทบุรี: บริษัท เอส.เอส. พลัส มีเดีย จำกัด.

วรรณรา ชื่นวัฒนา. (2556). การเกิดอุบัติเหตุในบ้านของผู้สูงอายุ ตำบล ดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่ม แบน จังหวัดสมุทรสาคร.รายงานการวิจัย. เอกสารอัดสาเนา.

สุขใจ น้าผุด. (2535). การวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณ. เอกสารประกอบการสัมมนา วิชาการ เรื่องการเตรียมตัวก่อนการเกษียณอายุ. วันที่ 16-18 กันยายน 2535. กรุงเทพมหานคร: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

Matras, Jadah. (1990). Dependency, Obligations and Entitlements. A New Sociology of Aging the Life Course and Elderly. NewJersey : Hall Inc.