Category Archives: ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก ไม้ผล ความหลากหลายทางชีวภาพ

จิกทะเล พรรณไม้งามตามชายหาด

จิกทะเล พรรณไม้งามตามชายหาด

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ  จิกทะเล เป็นจิกอีกชนิดหนึ่งในวงศ์ LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE ซึ่งเป็นวงศ์ของจิก ที่มีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ ดอกจะบานตอนกลางคืนและร่วงหมดในตอนเช้าถึงสาย เช่น จิกนา จิกสวน จิกนมยาน และกระโดน เป็นต้น ในส่วนของจิกทะเลนั้นชื่อของมันก็บอกที่มาว่าเจริญเติบโตได้ดีตามชายทะเล ผลแห้งขนาดใหญ่กว่ากำปั้นจะมีน้ำหนักเบา และลอยน้ำทะเลไปแพร่พันธุ์ได้ในระยะทางไกล ไม่มีขอบเขต ผู้พบเห็นความสวยงามของจิกทะเลที่มีจุดเด่นหลายประการต่างก็นำต้นกล้าไปปลูกในพื้นที่ห่างไกลทะเล ทั้งในบ้าน ในวัด ในสวนสาธารณะ และอื่นๆ ต่างก็ประสบความสำเร็จในการปลูกเป็นอย่างดี จิกทะเลสามารถเจริญเติบโตได้ดีทุกแห่ง แม้ว่าจำนวนดอกและผลจะน้อยกว่าแถบชายทะเลถิ่นเดิม

จิกทะเล มีความสวยงามสะดุดตาทั้งในส่วนของใบ ดอก ผล และทรงพุ่ม ผู้พบเห็นต่างก็ชื่นชม และอยากรู้จักพรรณไม้ชนิดนี้ รวมทั้งประโยชน์ในด้านต่างๆ ผู้เขียนได้รับคำถามอยู่เสมอ จึงขอนำเรื่องของจิกทะเลมาเผยแพร่ให้รู้จักกันกว้างขวางยิ่งขึ้นพร้อมภาพประกอบที่ถ่ายมาจากแหล่งต่างๆ ที่พบเห็นเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบตามเนื้อหา

 

จิกทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์           Barringtonia asiatica (L.) Kurz

ชื่อวงศ์                     LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE

ชื่อสามัญ                  Fish Poison Tree, Putat, Sea Poison Tree

ชื่ออื่น                      จิกเล โดนเล (ภาคใต้) อามุง (มาเล-นราธิวาส)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 7-20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกที่เรือนยอดของลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบแตกกิ่งต่ำ กิ่งขนาดใหญ่จะมีรอยแผลของก้านใบที่ร่วงหล่นไปแล้วกระจายอยู่ทั่วไป เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาวและมีช่องระบายอากาศ เนื้อไม้เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน  ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันไปตามลำต้น ใบเป็นรูปมนรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเว้า โคนใบสอบเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้าง 10-18 ซม. ยาว 20-38 ซม. แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนาเกลี้ยงเป็นมันวาวด้านบน เส้นแขนงใบมีข้างละ 12-14 เส้น นูนทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นหรือไม่มี ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะตามปลายยอด ช่อดอกตั้งตรง ยาว 10-15 ซม. มี 7-8 ดอกต่อช่อ แกนช่อหนา ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ใบประดับเป็นรูปไข่ ฐานรองดอกเป็นรูปกรวย กลีบเลี้ยงติดกับตาดอก บานแยกออกเป็น 2 ส่วนไม่เท่ากัน ยาว 2.5-3.5 ซม. ปลายเป็นติ่ง ติดทนที่ก้นผลจนผลแก่ กลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพูมี 4 กลีบ ติดที่โคนหลอดเกสรเพศผู้ กลีบเป็นรูปรี ปลายกลีบมน ขอบมักม้วนเข้า ยาว 4.5-6.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีแดง สีชมพู หรือสีม่วง เรียงเป็น 6 วง ยาว 8-9.5 ซม. โคนก้านเกสรติดกันเป็นหลอด รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ ยาว 9-11 ซม. ยอดเกสรเป็นตุ่มกลมขนาดเล็ก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-12 ซม. ดอกบานในเวลากลางคืน และจะโรยในตอนเช้า ออกดอกมากในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะเป็นรูปพีระมิดสี่เหลี่ยม ตรงโคนผลจะเว้าบุ๋ม ผิวผลสีเขียวเป็นมัน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.5-10 ซม. ยาว 8.5-11 ซม. ใต้ผิวผลเป็นเส้นใยมีกากเหนียวหุ้มหนาคล้ายฟองน้ำ ทำให้ลอยน้ำได้คล้ายผลมะพร้าว ส่วนผนังผลด้านในแข็ง ภายในผลมี 1 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปขอบขนาน ยาว 4-5 ซม.

 

หมายเหตุ

1. จิกทะเล เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

2.จิกทะเลเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือแพร่พันธุ์โดยผลแห้งที่หล่นลง

มาแล้วลอยไปตามน้ำ มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลางถึงเร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคมาเลเซียรวมถึงฟิลิปปินส์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงทางภาคเหนือของออสเตรเลีย และในหมู่เกาะโพลีนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นมากตามป่าชายหาดของฝั่งทะเลและตามเกาะที่ยังไม่ถูกรบกวน และถูกนำไปปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศ

3.ใบของจิกทะเลหนา ผิวใบมันวาว เพื่อเก็บน้ำป้องกันการสูญเสียน้ำในช่วงฤดูแล้ง

4.ดอกจิกทะเลผสมเกสรด้วยผีเสื้อกลางคืนและค้างคาว เนื่องจากบานในตอนกลางคืน

ประโยชน์ของจิกทะเล

  1. ต้นจิกทะเลมีทรงพุ่มสวย ใบหนาเป็นมันสวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์ ปลูกให้ร่มเงาได้ โดยนิยมนำมาปลูกในพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ ปลูกเป็นกลุ่ม ปลูกเป็นฉากหลัง ปลูกตามริมทะเล ทนน้ำท่วมได้ดี
  2. เปลือกผลหรือเนื้อของผลใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ตามชื่อสามัญ(Fish poison tree)
  3. บางท้องถิ่นจะนำผลแห้งของจิกทะเลมาจุดเป็นยาไล่ยุง
  4. นำผลแห้งมาประดิษฐ์เป็นของตกแต่งบ้านเรือนและร้านค้าได้
  5. เนื้อไม้เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในได้

สรรพคุณของจิกทะเล

  1. ใบ ผล และเปลือก ใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการปวดศีรษะ
  2. เปลือกผลหรือเนื้อของผล เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่ช่วยให้คนที่นอนไม่หลับนอนหลับได้ ถ้ารับประทานมาก จะทำให้นอนหลับสบาย
  3. เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ
  4. เปลือกต้มทำเป็นยาทาภายนอก แก้ปวดข้อ
  5. รากฝนผสมกับน้ำมะนาว ใช้ปิดปากแผลที่ถูกงูกัด แก้พิษงู
  6. ผลชงน้ำดื่ม แก้ไอ แก้หืด แก้ท้องเสีย
  7. เมล็ดทุบให้แตก ชงน้ำดื่มแก้จุกเสียด
  8. บีบเมล็ดให้น้ำมัน ใช้เป็นเชื้อไฟให้ความสว่าง
  9. เปลือกของเมล็ดทุบให้แตกตีกับน้ำใส่บ่อใช้เบื่อปลา
  10. ในเมล็ดและลำต้นของจิกทะเลมีสารซาโปนิน ใช้ทำยาเบื่อปลาและยานอนหลับ

 

อ้างอิง

http://bangkrod.blogspot.com/2012/09/blog-post_9.html

http://www.dnp.go.th/EPAC/province_plant/ samudkram.htm

https://medthai.com

http://www.thaikasetsart.com

 

 

กุ่มน้ำ พรรณไม้ดอกสวยดองกินได้

กุ่มน้ำ พรรณไม้ดอกสวยดองกินได้

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ          เหตุผลที่นำเรื่อง“กุ่มน้ำ”มาเขียน มี 3 ประการ ประการแรกคือได้รับคำถามหลายครั้ง ทั้งที่อยู่ต่อหน้าต้นพืช ทั้งที่ส่งรูปมา รวมทั้งที่เด็ดส่วนของพืชมาให้ดู ประการที่สองคือ ต้นไม้ต้นนี้ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง กินได้ไหม เป็นพิษไหม ประการที่สามคือ ผู้เขียนเคยเห็นผักกุ่มดองในตลาดสดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อหลายปีมาแล้ว ต้องถามคุณยายที่เป็นแม่ค้าว่าคืออะไร จึงได้รู้จัก หลังจากนั้นก็แวะเวียนไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่พบอีก ทราบภายหลังคุณยายไม่อยู่แล้ว ไม่มีใครดองผักกุ่มมาขายอีกแล้ว ใครอยากกินต้องดองเอง  จากเหตุผลเหล่านี้ เลยนำมาเขียนเป็นคำตอบทั้งหมด รวมทั้งให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกุ่มน้ำมาไว้ในบทความนี้

กุ่มน้ำ มีพืชในวงศ์เดียวกันที่ลักษณะใกล้เคียงกันมาก คือ“กุ่มบก” หากได้เห็นแบบผิวเผินจะเข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่หากได้พิจารณาโดยใกล้ชิดจะเห็นความแตกต่าง   กุ่มน้ำมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crateva religiosa G.Forst.  ส่วนกุ่มบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Crateva adansonii  DC. จุดสังเกตที่เห็นได้ง่ายๆคือส่วนของใบ ปลายใบของกุ่มน้ำจะแหลม ปลายใบของกุ่มบกจะมน เนื้อใบของกุ่มน้ำจะบางกว่ากุ่มบก ส่วนอื่นที่เหลือจะคล้ายกันมาก จะนำเรื่องกุ่มบกมาให้รู้จักในโอกาสต่อไป

 

กุ่มน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์           Crateva religiosa G.Forst.

ชื่อวงศ์                     CAPPARIDACEAE

ชื่อสามัญ                  Crataeva

ชื่ออื่น                      ก่าม ผักก่าม ผักกุ่ม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์     ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบหมดทั้งต้นเมื่อออกดอก สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา หนา ผิวค่อนข้างเรียบ ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบ 3 ใบย่อย แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเป็นมัน ด้านล่างใบสีอ่อนกว่าด้านบน ก้านใบประกอบมีความประมาณ 4-14 ซม. หูใบเล็ก ร่วงได้ง่าย ใบย่อยใบกลางเป็นรูปใบหอกหรือขอบขนาน กว้าง 1.5-6.5 ซม. ยาว 4.5-18 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างอีกสองใบโคนใบจะเบี้ยวเล็กน้อย ใบย่อยไม่มีก้าน หรือถ้ามีสั้นมาก เส้นใบได้ชัดเจน เมื่อใบแห้งจะมีสีค่อนข้างแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่น(corymp)ตามปลายยอด หนึ่งช่อมีมากกว่า 20 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 4-7 ซม. กลีบเลี้ยงลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม กลีบดอกมี 4 กลีบ แบ่งเป็นกลีบล่างและกลีบบนอย่างละ 2 กลีบ กลีบบนจะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละกลีบมีก้านกลีบค่อนข้างยาว  เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีลักษณะค่อนข้างกลมถึงรี กว้าง 1-2.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมากกว่า 30 อัน ยาว 4.0-5.5 ซม. เกสรเพศเมีย มี 1 อัน มีก้านยาว 5-8 ซม. มีรังไข่  1 อัน  ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ผลเป็นรูปกลมรี มีเปลือกหนา ผิวเรียบ ผลกว้าง 3-4.5 ซม.และยาว 5-7 ซม.ก้านผลยาวประมาณ 8-13 ซม. ผลสุกจะเละ มีกลิ่นแรง เมล็ดโต รูปร่างคล้ายเกือกม้าจะนวนมาก ขนาด 0.7 ซม. สีน้ำตาลเข้ม

 

การขยายพันธุ์   1. เพาะกล้าจากเมล็ด

  1. แยกต้นอ่อนที่เกิดจากไหลของต้นเดิมมาปลูก

 

ประโยชน์ของกุ่มน้ำ

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาดองน้ำเกลือและใส่น้ำซาวข้าวตากแดด แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน แล้วรับประทานได้ หรือนำไปปรุงเป็นอาหารประเภทแกงหรือผัด
  2. เนื่องจากใบและดอกกุ่มน้ำมีความสวยงาม จึงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ ตามบ้านอยู่อาศัย รีสอร์ต หรือสวนสาธารณะ ซึ่งเหมาะสำหรับทำเลที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง เพราะทนต่อน้ำท่วมขังได้ดี
  3. ต้นกุ่มน้ำเป็นไม้โตเร็ว มีรากลึกและแผ่กว้าง เหมาะสำหรับปลูกไว้ตามริมตลิ่งชายน้ำในแนวสูงกว่าระดับน้ำปกติในช่วงฤดูฝน หรือปลูกไว้ตามริมห้วยในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายหลัก จะสามารถช่วยลดการกัดเซาะริมตลิ่งได้เป็นอย่างดี เพราะทนทานต่อน้ำท่วมขังอีกด้วย
  4. ต้นกุ่มจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันในอดีต ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะ มีเงินเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนชื่อของต้นกุ่ม
  5. ไม้กุ่มน้ำเป็นไม้เนื้ออ่อน จึงสามารถนำมาใช้ในงานแกะสลักประดิดประดอยได้ดี เช่น เครื่องประดับ หรือ เครื่องดนตรี เป็นต้น
  6. คนเมืองเหนือนำลำต้นของกุ่มน้ำนำมาเจาะทำเป็นไหข้าวได้

 

สรรพคุณของกุ่มน้ำ

  1. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาบำรุงร่างกาย ใช้เป็นยาช่วยแก้อาเจียน แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยบำรุงกำลัง ช่วยแก้กษัย แก้ในกองลม หรือต้มเป็นยาตัดลมในลำไส้ ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นยาช่วยระงับพิษที่ผิวหนัง ช่วยแก้ลมทำให้เรอ ช่วยแก้ริดสีดวงผอมแห้ง ช่วยขับน้ำดี ช่วยขับน้ำเหลืองเสียในร่างกาย
  2. รากและเปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีได้
  3. รากใช้แช่น้ำกิน เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย
  4. ใบช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ช่วยแก้อาการสะอึก ช่วยแก้อาการปวดเส้น แก้โรคไขข้ออักเสบ แก้อัมพาต ใช้เป็นยาทาภายนอก เป็นยาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงทั่วบริเวณที่นวด
  5. ดอกกุ่มบกมีรสเย็น ช่วยแก้อาการเจ็บในตา ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว
  6. ใบและเปลือกต้นมีรสหอมขม ช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้ไข้ ใช้เป็นยาระบาย ช่วยขับพยาธิ เปลือกต้นมีรสขมหอม ช่วยขับผายลม หรือใช้เป็นยาขับลม

หมายเหตุ

  1. หากปล่อยไปตามธรรมชาติกุ่มน้ำจะผลัดใบทั้งหมดก่อนออกดอก หากได้รับการรดน้ำอยู่

เสมอ หรืออยู่ในทำเลที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงในช่วงออกดอกจะผลัดใบบางส่วน และช่อดอกจะ

น้อยลง

  1. กุ่มน้ำชอบทำเลที่เป็นริมแม่น้ำ ข้างลำธาร หรือที่ชื้นแฉะ ในป่าเบญจพรรณ หรือพบได้ตามริมน้ำลำธารในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ
  2. กิ่งและใบของกุ่มน้ำมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งเป็นพิษ ไม่ควรรับประทานสด ควรทำให้สุกก่อน ด้วยการนำมาดองหรือต้มเพื่อกำจัดพิษก่อนนำมารับประทาน
  3. ใบแก่ของกุ่มน้ำมีพิษ มีฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้อาเจียนมึนงง ไม่รู้สึกตัว มีอาการหายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กระตุก ชักก่อนจะหมดสติ หากได้รับในปริมาณมาก อาจเกิดอาการรุนแรงได้ภายใน 10-15 นาที แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณเล็กน้อยจะมีสรรพคุณเป็นยาระบาย

5.วิธีทำผักกุ่มดอง โดยนำดอกและใบอ่อนมาตากแดดให้พอสลด ล้างให้สะอาด แล้วคลุกเคล้า

กับเกลือพอประมาณ ใส่ในขวดโหล ใส่น้ำซาวข้าวให้ท่วม หรือเติมข้าวเหนียวสุกเล็กน้อย กด

ให้แน่น จะช่วยให้ใบเหลืองเร็ว ปิดฝาให้สนิท ประมาณ 2 – 3 วันก็นำมากินได้

  1. ทั้งกุ่มน้ำและกุ่มบก ต่างก็เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับผักเสี้ยน เป็นที่น่าแปลกใจที่คนสมัย

โบราณมีภูมิปัญญาที่หาวิธีนำผักทั้ง3ชนิดนี้มารับประทานด้วยการดองเหมือนกัน ทั้งที่ท่านไม่

น่าจะทราบเรื่องของวงศ์พืช

 

 

อ้างอิง

http://book.baanlaesuan.com/plant-library/varuna

                   https://medthai.com

http://www.phargarden.com

http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_2.htm

 

 

ชมพู่ม่าเหมี่ยว ผลเดียวมีหลายเมล็ด

ชมพู่ม่าเหมี่ยว ผลเดียวมีหลายเมล็ด

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ          จากประสบการณ์ในการสอนในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์มากว่า 40 ปี พบว่าเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก“ชมพู่ม่าเหมี่ยว” ไม่เคยเห็น ไม่เคยกิน  ทั้งๆที่ชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นผลไม้โบราณที่มีมานานหลายชั่วอายุคน เมื่อแม่ค้านำมาขายในตลาดสด ตลาดนัด หรือในซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างหรูก็ขายได้น้อย จุดอ่อนของชมพู่ม่าเหมี่ยวมีหลายประการ คือ รสชาติฝาดอมเปรี้ยว ไม่หวานเหมือนชมพู่ชนิดอื่น ผิวผลบาง บอบช้ำง่าย มีรอยขีดข่วนง่าย ทำให้มีตำหนิ จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของชมพู่ม่าเหมี่ยวคือออกดอกจำนวนมากแต่ติดผลไม่ดกเหมือนชมพู่ชนิดอื่น กิ่งหนึ่งจะติดผลประมาณ1-3 ผลเท่านั้น ทั้งที่มีลำต้นใหญ่ จึงใช้พื้นที่มากในการเพาะปลูกกว่าพืชชนิดอื่น เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นพืชแซมในสวนลิ้นจี่ ส้มโอ และอื่นๆ ชาวสวนหันไปปลูกไม้ผลอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนต้นชมพู่ม่าเหมี่ยวลดลง ทำให้หาชมพู่ม่าเหมี่ยวมากินแทบไม่ได้ ทั้งๆที่ชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นพืชที่ปลูกง่าย มีความสวยงามทั้งทรงพุ่ม ใบ ดอกและผล จึงขอเชิญชวนให้มาปลูกกันให้มากขึ้น

มีเรื่องน่าสนใจของชมพู่ม่าเหมี่ยวที่น่ารู้อีกเรื่องหนึ่ง ที่นำไปเป็นบทเรียนได้ คือ ภายในผลชมพู่ม่าเหมี่ยวมีเมล็ดขนาดใหญ่เป็นก้อนกลมสีน้ำตาล มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นเมล็ดแบบมีหลายต้นอ่อน หรือ polyembryonic seed หมายถึงเมล็ดที่สามารถงอกเป็นต้นกล้าได้มากกว่า 1 ต้น เพราะเมล็ดก้อนโตนั้นประกอบด้วยเมล็ดจำนวน 6-9 เมล็ดเกาะติดกันเป็นก้อนใหญ่ แต่มีรอยแยกระหว่างเมล็ดอย่างชัดเจน ก้อนเมล็ดนี้จะแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะติดกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อผลสุกก้อนเมล็ดจะปริแตกเป็นร่องลึกระหว่างเมล็ดจนเห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อน(คัพภะ) ซึ่งด้านในที่มีสีขาวอมเขียวหรือชมพู สามารถแยกออกเป็นชิ้นมาปลูกได้ ตามรูปประกอบ

 

ชมพู่ม่าเหมี่ยว

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Syzygium malaccense

ชื่อวงศ์                     MYRTACEAE

ชื่อสามัญ                  Pomerac , Malay Apple

ชื่ออื่น                      ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่สาแหรก  ชมพู่แดง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์         

ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-12 เมตร ลำต้นแตกกิ่งมาก และเป็นกิ่งขนาดใหญ่ มีกิ่งขนาดเล็กเฉพาะปลายยอด ทรงพุ่มแน่นทึบ  เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน ผิวลำต้นขรุขระ และสากมือ ใบเดี่ยว เรียงตัวตรงข้ามสลับกันเป็นคู่ ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีชมพู ใบแก่ขนาดใหญ่ ค่อนข้างแข็งเหนียว แผ่นใบและขอบใบเรียบ หนาเป็นมัน สีเขียวเข้ม รูปรี โคนใบมน ปลายใบแหลม กว้าง 8-15 ซม. ยาว 15-25 ซม.  และ แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวอมเขียวชัดเจน ดอกออกเป็นช่อ แบบช่อกระจุกตามข้อบนกิ่งขนาดใหญ่ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-5 ดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นก้อนทรงกลมที่ห่อหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง ดอกบานจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล จำนวน 5 กลีบ ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีลักษณะกลม จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีสีชมพูเข้ม ตรงกลางเป็นก้านเกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว 3-5 ซม. ก้านเกสรเป็นสีชมพูเข้ม ด้านในสุดเป็นเกสรเพศเมีย และรังไข่ที่ฝังอยู่บริเวณฐานดอก ก้านเกสรเพศผู้จะร่วงหลังจากดอกบานเต็มที่ ผลกลมเป็นรูประฆัง อวบอ้วน ขนาด 4.5-6.5 ซม. ยาว 5.5-8 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวอมขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม และเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมแดง เนื้อผลหนา และนุ่ม มีสีขาว ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่เป็นก้อนกลมสีน้ำตาล เป็นเมล็ดแบบpolyembryonic seed ซึ่งสามารถงอกเป็นต้นกล้าได้มากกว่า 1 ต้น เพราะประกอบด้วยเมล็ด 6-9 เมล็ดเกาะติดกันเป็นก้อนใหญ่ แต่มีรอยแยกระหว่างเมล็ดอย่างชัดเจน ก้อนเมล็ดแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อผลสุกก้อนเมล็ดจะปริแตกเป็นร่องของแต่ละเมล็ดจนให้เห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อนด้านในที่มีสีขาวอมเขียว สามารถแยกออกเป็นชิ้นมาปลูกได้

การขยายพันธุ์

1. เพาะกล้าจากเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายมาก จะได้ต้นที่สูง

  1. ตอนกิ่ง หรือเสียบยอด จะได้ต้นที่เตี้ย สะดวกในการบำรุงรักษา และการห่อผล

ประโยชน์        1. รับประทานผลที่แก่จัดเป็นผลไม้สด เนื่องจากมีเนื้อหนา กรอบ และมีรสเปรี้ยวอมหวาน

  1. ยอดอ่อนชมพู่ม่าเหมี่ยว ใช้รับประทานคู่กับอาหารรสจัด เช่น น้ำพริก ลาบ ซุปหน่อไม้
  2. ผลห่ามของชมพู่ม่าเหมี่ยวใช้ปรุงเป็นอาหารจำพวกแกง
  3. ผลสุกชมพู่ม่าเหมี่ยวนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม น้ำชมพูม่าเหมี่ยว และไวน์ เป็นต้น
  4. ปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากชมพู่ม่าเหมี่ยว มีความสวยงามทั้งทรงต้น ใบ ดอก ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกสรเพศผู้ที่มีสีชมพูเข้มสวยงาม

สรรพคุณ

  1. ผลของชมพู่ม่าเหมี่ยวมีสารแอนโทไซยานิน ที่พบมากบริเวณผิวด้านนอกของผลมีคุณสม

บัติช่วยต้านโรคมะเร็ง ผลของชมพู่ม่าเหมี่ยวช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ลำคออักเสบ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับเมหะ ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน แก้อาหารท้องเสีย

  1. ใบอ่อนและยอดอ่อนมีฤทธิ์ต้านโรคมะเร็ง ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืด ช่วยขับลม แก้อาการท้องเสีย แก้อาการปวดฟัน แก้โรคบิด
  2. ราก เปลือก และแก่นลำต้นช่วยรักษาอาหารผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยในการลดไข้ รักษาโรคบิด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับประจำเดือน

การปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยว

การปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยว นิยมปลูกด้วยต้นกล้า เป็นวิธีที่ง่าย ได้ต้นสูง แต่จะใช้เวลานานมากกว่า 4-6 ปี จึงจะติดผล ถ้าปลูกจากกิ่งตอน ลำต้นจะไม่สูงมาก สามารถติดผลได้เร็วกว่าการปลูกต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด ส่วนต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่งหรือการเสียบยอด สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายพันธุ์ไม้ทั่วไป

การเพาะกล้า และปลูกด้วยเมล็ด

เมล็ดชมพู่ม่าเหมี่ยวใน 1 ผล จะได้ต้นกล้ามากกว่า 5 ต้น เมล็ดที่ใช้ปลูกควรเป็นเมล็ดที่มาจากผลที่ร่วงจากต้นจึงจะมีอัตราการงอกสูง แต่ก็สามารถใช้เมล็ดจากผลที่ซื้อตามร้านขายผลไม้ได้เช่นกัน หลังจากได้ผลสุกของชมพู่ม่าเหมี่ยวแล้ว ให้แกะเมล็ดออก ซึ่งจะได้เมล็ดรวมที่เกาะกันเป็นก้อนเดียว จากนั้นนำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ โดยเกลี่ยดินกลบเพียงเล็กน้อย พร้อมรดน้ำทุกวันให้ชุ่ม ซึ่งเมล็ดจะงอกต้นอ่อนภายในเวลา3-4 สัปดาห์  เมื่อต้นกล้ามีใบจริง  3-5 ใบ จึงถอนขึ้นมาแยกปลูกในถุงเพาะชำ หลังจากนั้น ดูแล และรดน้ำจนกล้าต้นสูงประมาณ 30 ซม. ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน จึงนำลงปลูกในแปลงปลูก การปลูกด้วยกล้าจากการเพาะเมล็ด ให้ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 6-8 เมตร ส่วนต้นพันธุ์จากการกิ่งตอนหรือการเสียบยอดจะปลูกในระยะที่ใกล้กว่าคือ 4-6 เมตร

การดูแลรักษา  หากปลูกในฤดูฝนก็อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ หลังจากนั้นก็รดน้ำวันเว้นวัน และให้ปุ๋ยตามความจำเป็น คือให้ปุ๋ยสูตรเสมอ15-15-15 ช่วงก่อนออกดอก ส่วนในช่วงให้ผลผลิตต้องใช้สูตร 13-13-21 ชมพู่ม่าเหมี่ยวจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3-5 ปี ในระยะแรกจะให้ผลผลิตประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อ1 ต้น เมื่อลำต้นมีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป ก็จะให้ผลผลิตประมาณ 60-80 กิโลกรัมต่อต้นและต่อปี สำหรับชมพู่ม่าเหมี่ยวที่ปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ปี จึงจะให้ผล ส่วนการปลูกด้วยกิ่งตอนหรือการเสียบยอดจะติดผลได้เมื่ออายุ 2-3 ปี เมื่อผลชมพู่เริ่มโตประมาณหัวนิ้วมือและมีสีแดงออกเรื่อๆ ให้ใช้ถุงพลาสติกชนิดมีหูหิ้วขนาด 8 x 10 นิ้ว ห่อผลชมพู่ เพื่อป้องกันแมลงและกระรอกรบกวน

การเก็บเกี่ยว เมื่อผลชมพู่ม่าเหมี่ยวในถุงที่ห่อไว้แก่ได้ที่ ผิวผลจะออกสีแดงเข้ม และส่งกลิ่นหอมแสดงว่าพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว ต้องเก็บเกี่ยวอย่างระวังเป็นพิเศษ ด้วยการใช้มือเด็ดที่ขั้วผลหรือตัดด้วยกรรไกร ไม่ให้ผลช้ำเพราะชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นผลไม้ที่มีผิวเปลือกบาง และมีอายุในการขายค่อนข้างสั้น หลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้วให้นำมาบรรจุในเข่งที่มีความหนาเป็นพิเศษบุด้วยใบตองทุกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผลชมพู่เสียดสีกัน ผลที่มีคุณภาพจะจำหน่ายในราคาขายส่งกิโลกรัมละไม่น้อยกว่า 50 บาท          การเก็บรักษา ผลชมพู่ม่าเหมี่ยวที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเก็บไว้ในห้องธรรมดาจะเก็บได้นาน 3-5วัน แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นานประมาณ 7-14 วัน

ศัตรูของชมพู่ม่าเหมี่ยว ชมพู่ทั่วไปจะถูกรบกวนจากหนอนแมลงวันทองเจาะกินเนื้อจนเน่าแล้วทยอยร่วงหล่นลงมาทั้งหมด เกษตรกรไม่มีโอกาสได้เก็บเกี่ยว  แต่ศัตรูของชมพู่ม่าเหมี่ยวกลับเป็นกระรอกแทะกินผลที่กำลังเริ่มแก่ เกษตรกรต้องห่อผลทุกผลที่คัดเลือกไว้แล้ว จึงจะได้เก็บเกี่ยวมาบริโภคและจำหน่าย

 

หมายเหตุ  เมล็ดชมพู่ม่าเหมี่ยว เป็นเมล็ดแบบpolyembryonic seed ตามความหมายทางพฤกษศาสตร์นั้น หมายถึงเมล็ดที่สามารถงอกเป็นต้นกล้าได้มากกว่า 1 ต้น ซึ่งจะพบได้ในเมล็ดมะม่วง และชมพู่อีกหลายชนิด  เมล็ดก้อนโตที่เห็นนั้นประกอบด้วยเมล็ดจำนวน 6-9 เมล็ดเกาะติดกันเป็นก้อนใหญ่ แต่มีรอยแยกระหว่างเมล็ดอย่างชัดเจน เมล็ดก้อนโตนี้จะแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะติดกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อผลสุกก้อนเมล็ดจะปริแตกเป็นร่องลึกระหว่างเมล็ดจนเห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อน(คัพภะ)ด้านในที่มีสีขาวอมเขียวหรือชมพู สามารถแยกออกเป็นชิ้นมาปลูกได้

 

อ้างอิง

http://halsat.com

                   http://puechkaset.com

                   https://sites.google.com/site/aujchara444/chmphu-ma-hemiyw

                   https://th.wikipedia.org/wiki

 

ถ้วยทอง ไม้สวยดอกใหญ่ปลูกง่ายดอกดก

ถ้วยทอง ไม้สวยดอกใหญ่ปลูกง่ายดอกดก

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ          “ถ้วยทอง”เป็นไม้เลื้อยดอกสวยมีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี ในช่วงหน้าหนาวจะให้ดอกดกเป็นพิเศษ ส่วนฤดูอื่นจะออกดอกมากบ้างน้อยบ้างตามความสมบูรณ์ของต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาด้วย  ดอกของถ้วยทองมีขนาดใหญ่เท่ากำปั้นสีเหลืองอ่อน เมื่อบานสะพรั่งพร้อมกันจะดึงดูดสายตาของผู้พบเห็น นิยมปลูกไว้ริมรั้ว ให้ปีนป่ายรั้วบ้านไปอวดความสวยงามบนที่สูง  มีผู้สนใจถามอยู่เสมอว่าชื่ออะไร มีผลมีเมล็ดหรือไม่ ขยายพันธุ์อย่างไร บทความนี้จะให้คำตอบทั้งหมดรวมทั้งให้คำแนะนำในการปลูกบำรุงรักษา

 

ถ้วยทอง

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Solandra  grandiflora Swartz

ชื่อวงศ์                     SOLANACEAE

ชื่อสามัญ                  Trumpet Plant , Golden cup

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์                    ไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ อายุหลายปี เถาเลื้อยพาดไปได้ไกล 2 – 5 เมตร มีรากพิเศษออกตามลำต้นจำนวนมาก เปลือกเถาสีเขียวเข้ม เรียบเกลี้ยงเมื่อแก่จะกลายเป็นสีน้ำตาล มีเปลือกแห้งล่อนเป็นแผ่นเล็กๆ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบถี่บริเวณปลายยอดและกิ่งก้าน ใบมีลักษณะเป็นรูปทรงรีแกมขอบขนาน แผ่นใบเรียบสีเขียวเข้มและค่อนข้างหนา โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบมีคลื่นเล็กน้อย ความยาว 11-15 ซม. ก้านใบแข็ง ยาว 1-5 ซม. ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ดอกตูมมีลักษณะพองออกคล้ายลูกโป่ง เมื่อบานกลีบดอกสีเหลืองหรือสีขาวอมเหลืองรูปถ้วยจำนวน 5 กลีบ กลีบดอกด้านในแต้มด้วยแถบสีม่วงอมน้ำตาลประมาณ 10 เส้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันและแยกออกจากกันที่ส่วนปลาย กลางดอกมีเกสรเพศผู้ยาว 6.5-9 ซม. จำนวน 5-6 อัน อับเรณูรูปขอบขนาน มีก้านชูเกสรเพศเมียยาวมาก1 อัน ยื่นพ้นออกมาเหนือดอกเล็กน้อย  บริเวณโคนดอกมีกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 6.5-10 ซม. ดอกเมื่อบานเต็มที่เต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-10 ซม. ยาว 12-18 ซม. มีกลิ่นหอมแรงตอนเย็น ออกดอกมากในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ซึ่งเป็นฤดูหนาว เมื่อกลีบดอกและเกสรเพศเมียร่วงหลุดไปพร้อมกัน จะเหลือก้านชูเกสรเพศเมียขนาดยาวคงไว้ที่ฐานรองดอกและกลีบเลี้ยง เป็นเช่นนี้ทุกดอก  ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีขนาดใหญ่ ผิวผลเรียบสีเหลืองอ่อน ปลายผลมีติ่งแหลม เปลือกผลเหนียว ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลรูปไตเป็นจำนวนมาก

การขยายพันธุ์   การปักชำกิ่ง เป็นการขยายพันธุ์ที่ง่ายและรวดเร็ว การขยายพันธุ์ถ้วยทองสามารถทำได้ง่ายด้วยการปักชำกิ่ง เนื่องจากเถาจะเกิดรากที่ข้อได้เองตามธรรมชาติอยู่แล้ว การตัดท่อนนั้นไปปักชำหรือปลูกก็จะออกรากได้ง่าย และเจริญเติบโตได้เร็ว หากติดผลก็นำเมล็ดจากผลมาเพาะกล้าได้

ประโยชน์        นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากมีดอกสวย กลิ่นหอม มีดอกให้ชื่นชมได้ตลอดทั้งปี หากทำเป็นซุ้มให้เลื้อยก็จะให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี หรือจะปลูกประดับไว้ตามแนวรั้วก็ได้

หมายเหตุ       

      1. จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะเขือ

  1. ปกติจะไม่ค่อยติดผล แต่หากติดผล จะพบว่าผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีขนาดใหญ่ ผิวผลเรียบสีเหลืองอ่อน ปลายผลมีติ่งแหลม เปลือกผลเหนียว ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลรูปไตเป็นจำนวนมาก
  2. ถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ เช่น ประเทศบราซิล จาไมก้า และเวเนซุเอล่า เป็นต้น สำหรับภูมิอากาศในประเทศไทยก็สามารถปลูกเลี้ยงพืชชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี

การปลูก          ถ้วยทองชอบแสงแดดมาก หากที่ปลูกได้รับแสงแดดเต็มวันจะให้ดอกดกมาก  ในช่วงหน้าหนาวจะให้ดอกดกเป็นพิเศษ ควรปลูกถ้วยทองบริเวณริมรั้วเพื่อให้เถาถ้วยทองสามารถใช้รั้วเป็นหลักยึดเกาะเพื่อการทรงตัวของลำต้น หรืออาจจะปลูกทำเป็นซุ้มประตูโดยใช้โครงเหล็กดัดหรือโครงไม้ก็ได้ จะได้เป็นที่อิสระ ไม่ไปเกี่ยวพันไม้อื่นให้เสียหาย  ปลูกโดยกิ่งชำที่ได้จากการปักชำมาปลูก ซึ่งง่ายกว่าการเพาะเมล็ดมาก ให้ปลูกลงดินโดยขุดหลุมปลูกให้ มีความกว้างลึกประมาณ 1 x 1 หรือ 1 x 1.5 ฟุต แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 1 กิโลกรัม กลบดินเล็กน้อย แล้วปลูกกิ่งชำลงกลางหลุม กลบดินพอแน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่มวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น เมื่อตั้งตัวได้แล้วให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ควรรดในปริมาณที่พอเหมาะ คือจะต้องรดให้ดินชุ่ม แต่ไม่ถึงกับมีน้ำขังจนแฉะเพราะจะทำให้ระบบรากเน่า  ให้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกปีละ 2-3 ครั้ง ในบริเวณโคนต้นก็เพียงพอแล้ว หากจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ให้ใช้สูตรเสมอ 15-15-15  โรยที่โคนต้น 3 – 5 ช้อนเดือนละครั้ง เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตให้เร็วขึ้น ไม่พบว่ามีโรคหรือแมลงชนิดใดรบกวนต้นถ้วยทอง  เพียง 4-6 เดือน ก็จะออกดอกให้ได้ชมเป็นครั้งแรก

 

 

อ้างอิง

https://www.gotoknow.org/posts/551827

http://www.maipradabonline.com/maileay/tuythong.htm

http://www.vichakaset.com

 

ชำมะเลียงขาว พรรณไม้หายากต้องอนุรักษ์ไว้

ชำมะเลียงขาว พรรณไม้หายากต้องอนุรักษ์ไว้

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ         เมื่อกล่าวถึง“ชำมะเลียง”  มีน้อยคนที่จะรู้จักผลไม้พื้นเมืองถิ่นเอเชียต้นนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม  แต่ถ้ากล่าวถึง “ชำมะเลียงขาว” ก็จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนที่รู้จักชำมะเลียงชนิดเดิมอยู่แล้ว ชำมะเลียงขาวเป็นพืชกลายพันธุ์มาจากชำมะเลียงชนิดดั้งเดิมที่มีผลสีม่วงดำ นานมาแล้วที่ผู้เขียนได้เห็นชำมะเลียงขาวในสวนของชาวบ้านแห่งหนึ่งแถวบางมดที่เขาอนุรักษ์พันธุ์ส้มบางมดไว้ เจ้าของหวงชำมะเลียงขาวมาก เพราะหายาก ติดผลน้อยกว่าชำมะเลียงชนิดเดิม และมาพบอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่อยู่ใกล้สวนจตุจักร ซึ่งมีจำนวน 2 ต้น สูงราว3เมตร ที่กำลังออกดอกและติดผลอ่อน ก็เลยไปติดตามพัฒนาการของผลทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง จนได้ภาพถ่ายและข้อมูลครบวงจรมาเผยแพร่ให้รู้จักกันในวงกว้างยิ่งขึ้น

“ชำมะเลียงขาว” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับ “ชำมะเลียง”ชนิดเดิมทุกประการ จนไม่สามารถแยกชนิดได้หากไม่ออกดอกติดผลให้เห็น การนำต้นกล้าชำมะเลียงมาวางขายริมทางจะขาดความเชื่อถือจากผู้ซื้อ ผู้สนใจสามารถหาซื้อจากผู้ขายในอินเตอร์เน็ทจากผู้ขายที่เชื่อถือได้ในราคาที่ค่อนข้างแพง เพื่อนำมาเป็นพืชสะสมในสวนอนุรักษ์หรือสวนสาธารณะนั่นเอง

 

 

ชำมะเลียง

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.

ชื่อวงศ์                     SAPINDACEAE

ชื่อสามัญ                  Luna nut หรือ Chammaliang

ชื่ออื่น                      โคมเรียง  พูเวียง มะเถ้า ผักเต้า หวดข้าใหญ่ ภูเวียง ชำมะเลียง พุมเรียง ชุมเรียง

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 4-7 เมตร  เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง  มีขนสีน้ำตาลตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน ใบประกอบแบบขนนกชนิดปลายคู่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-7 คู่ ออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของแผ่นใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้า ขอบใบเรียบ ใบย่อยกว้าง 2-3 ซม. ยาว 7-21 ซม. แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 ซม. มีหูใบขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นแผ่นกลมเด่นชัดบริเวณโคนก้านใบโอบติดกับกิ่งหรือลำต้น ซึ่งเป็นลักษณะที่หาได้ยากในพืชอื่น ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ(raceme)ออกตามกิ่งใหญ่และลำต้น ช่อดอกห้อยลง ยาวได้ถึง 55 ซม. ดอกย่อยในแต่ละช่อจะมีทั้งชนิดสมบูรณ์เพศและไม่สมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวครีม ดอกเมื่อบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 มม. กลีบดอกมี 5 กลีบแยกกัน ที่ฐานจะเรียวเล็ก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน อกเพศเมียมีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน มีรังไข่ติดอยู่เหนือฐานรองดอก รังไข่มี 3 พู 3 ห้อง ในแต่ละห้องจะมีไข่ 1 อัน กลีบเลี้ยงเป็นขาว(หรือสีม่วง) มี 5 กลีบ ลักษณะรูปรี ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม ผลสดออกเป็นช่อ  ในช่อหนึ่งมี 20-30 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือแป้น รูปไข่ หรือรูปไข่ถึงรูปรีป้อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียว(หรือเขียวอมม่วงแดง) เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นขาว(หรือสีม่วงดำ) เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีรสหวาน รับประทานได้ ภายในผลมีประมาณ 1-2 เมล็ด และอาจพบถึง 3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ปนขอบขนาน ผิวเรียบเป็นสีดำ มีขนาดกว้าง 1-1.5 ซม.และยาว 1.5-2.0 ซม. ติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม และแก่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ (ข้อความในวงเล็บเป็นลักษณะของชำมะเลียงชนิดเดิม)

 

ประโยชน์ของชำมะเลียง

  1. ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ ผลสุกจัดมีรสหวาน ผลห่ามรสหวานอมฝาด ถ้ารับประทานผลห่ามเกินไปจะทำให้ท้องผูก
  2. ใบอ่อน ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ทำแกงใส่ผักรวม แกงเลียง หรือใช้เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก รวมทั้งนำมาต้มจิ้มกินกับน้ำพริกหรืออาหารรสจัด
  3. นำมาใช้ทำเป็น “น้ำชำมะเลียง”โดยมีส่วนผสมของ ชำมะเลียงสุกงอม น้ำเชื่อม เกลือป่นและน้ำต้ม โดยนำผลชำมะเลียงที่สุกงอมมาล้างให้สะอาด แล้วยีให้เนื้อแยกออกจากเมล็ด เติมน้ำต้มลงไป กรองเอาเมล็ดและเปลือกออก แล้วเติมน้ำเชื่อมและเกลือ ชิมรสชาติได้ตามชอบ ก็จะได้น้ำชำมะเลียง
  4. สีม่วงที่ได้จากผลสามารถนำมาใช้เป็นสีผสมอาหารได้
  5. ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เพราะทรงพุ่มแน่น ใบมีสีเขียวเข้มตลอดปี เมื่อผลิใบใหม่จะเป็นสีเขียวอ่อนแกมเหลืองสดใส ส่วนผลก็มีสีสันสวยงาม โดยนิยมปลูกแซมไว้ตามสวนผลไม้ทั่วไป หรือใช้ปลูกเพื่อการจัดสวนตามบ้าน ตามสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ หรือใช้ปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์ป่าในป่าอนุรักษ์

 

สรรพคุณของชำมะเลียง

  1. รากมีรสเบื่อจืดและขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้กินแก้ไข้เหนือ ไข้กาฬ ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้สั่น ไข้กำเดา แก้เลือดกำเดาไหล ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย แก้ระส่ำระสาย ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นปกติ ช่วยแก้อาการท้องผูก แก้ไม่ผูกไม่ถ่าย
  2. ผลสุกหรือผลแก่ช่วยแก้ท้องเสีย คนโบราณจะใช้ผลแก่สีดำที่มีรสฝาดหวานให้เด็กรับประทานเป็นยาแก้โรคท้องเสีย

 

หมายเหตุ       

  1. ชำมะเลียงขาว สุกแล้วสีขาวเหมือนน้ำนมกินแล้วปากไม่ดำ แต่ระยะหลังนี่ชักหายากเต็มทน เห็นมีขายตามงานต้นเล็กๆ ก็ตั้งหลายร้อยแถมเป็นพันธุ์เนื้อบางอีกต่างหาก
  2. ชำมะเลียงจัดเป็นไม้ผลชนิดหนึ่งโตค่อนข้างช้า ชำมะเลียงขาวจะมีดอกและผลสีขาว จัดว่าเป็นของแปลก เพราะชำมะเลียงชนิดเดิมจะมีดอกเป็นสีม่วง หรือสีเลือดหมู
  3. ต้นชำมะเลียง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ อยู่ใน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
  4. ชำมะเลียง เป็นไม้ผลในวงศ์เดียวกันกับ เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย มะหวด คอแลน เป็นต้น
  5. ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดรวมทั้งดินเค็ม ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี

 

 

 

 

อ้างอิง

http://www.dnp.go.th/flora/plant_pages

http://www.komchadluek.net/news/agricultural/176244

https://medthai.com

https://www.nanagarden.com/

http://www.qsbg.org/database/botanic

https://www.samunpri.com

http://www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/72.htm https://th.wikipedia.org/wiki         

http://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Lepisanthes+fruticosa

         

โพธิ์ศรี พรรณไม้สวย ชื่อดี แต่มีพิษ

โพธิ์ศรี พรรณไม้สวย ชื่อดี แต่มีพิษ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ “โพธิ์ศรี”ก็เป็นต้นไม้ที่คนรู้จักแต่ต้นและความสวยงามของใบ ดอก ผล และทรงพุ่ม  แต่ไม่รู้จักชื่อ ผู้เขียนได้รับคำถามมามาก ทั้งเรื่องชื่อและประโยชน์ของโพธิ์ศรี โพธิ์ศรีมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในแถบประเทศนิคารากัวจนถึงเปรู นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏ คนไทยนิยมปลูกไว้ในวัด คงจะเป็นเพราะรูปร่างของทรงพุ่มและใบคล้าย“โพธิ์”นั่นเอง สิ่งควรรู้ที่ต้องนำมาเผยแพร่เกี่ยวกับโพธิ์ศรี มีหลายเรื่อง คือ ประการแรก โพธิ์ศรีไม่ใช่พืชจำพวกโพธิ์ ที่มีชื่อ “โพธิ์”นำหน้าเพราะใบคล้ายโพธิ์ ประการที่สองคือ โพธิ์ศรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องปลูกเฉพาะในวัด จะปลูกให้ร่มเงาในที่สาธารณะ สถานที่ราชการ หรืออาคารบ้านเรือนก็ได้ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่แผ่กิ่งก้านได้กว้างไกล ทรงพุ่มแน่น และทิ้งใบน้อย ประการสุดท้ายที่ต้องจดจำคือในผลสวยๆนั้น มีเมล็ดกลมแบนสวยงามเช่นกัน หากรับประทานเมล็ดเข้าไปมีพิษถึงตาย จึงไม่ควรปลูกในสถานศึกษา คุณครูหรือผู้ปกครองต้องเตือนนักเรียนหรือเด็กในปกครองไม่ให้รับประทานเป็นอันขาด

โพธิ์ศรี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hura crepitans Linn.
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae
ชื่อสามัญ Sand box Tree, Portia tree, Umbrella tree, Monkey pistol, Monkey’s dinner bell
ชื่ออื่น โพธิ์ทะเล โพทะเล โพธิ์ฝรั่ง โพฝรั่ง โพศรี โพธิ์อินเดีย โพธิ์หนาม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร แผ่กิ่งก้านเป็นวงกว้างคล้ายร่ม ลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามเตี้ยบนเต้าแบนกระจายอยู่ทั่วไปอย่างหนาแน่น มียางสีขาวไหลออกมาเมื่อมีแผล ใบเดี่ยวรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลมยาว โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นซี่ฟันห่างๆ ใบกว้าง 8-11 ซม. ยาว 8-16 ซม. แผ่นใบเกลี้ยง มีขนตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบข้างละ 11-16 เส้น โค้งจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 6-10 ซม. หูใบเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7-1.5 ซม. หลุดร่วงได้ง่าย ดอกแยกเพศบนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้เป็นช่อดอกยาวสีแดงเข้ม ดอกเพศเมียจะมีรูปร่างกลมแบนเป็นรูปเห็ดขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 3.5-5.5 ซม.ร ก้านช่อหนา ยาว 1.2-8 ซม. ดอกเพศเมียมีดอกเดียวอยู่ที่โคนก้าน ส่วนดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้มีประมาณ 10-20 อัน เรียงเป็น 2-3 วง เรียงสู่ด้านปลาย อับเรณูมีขนาดเล็ก ยาว 0.5 มม. ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 1.2 ซม. กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ผลเดี่ยว กลมแป้นเป็นแบบแคปซูล แบ่งออกเป็นกลีบเท่าๆ กัน ประมาณ 14-16 กลีบ รูปทรงคล้ายฟักทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6.5-8 ซม. และสูง 3-5 ซม. ขั้วและก้นบุ๋มลึก เปลือกผลแข็งและหนา เขย่าผลเมื่อแห้งจัดจะมีเสียงเมล็ดสัมผัสผนังผล ผลที่แห้งจัดจะแตกออกเป็นชิ้นตามยาวของผล แต่ละชิ้นจะเป็นซี่คู่ เมล็ดกลมแบน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. กระเด็นออกมา กว่า 10 เมล็ด นำไปเพาะกล้าได้ง่าย

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ดที่กระเด็นออกมาจากผลที่แตกเป็นซี่

ถิ่นกำเนิด ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในแถบประเทศนิการากัวจนถึงเปรู

หมายเหตุ “โพธิ์”ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ อยู่ในวงศ์ MORACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus religiosa F. มีพืชในวงศ์เดียวกันหลายชนิด เช่น ไทร กร่าง มะเดื่อ ลูกฉิ่ง ขนุน สาเก เป็นต้น

ประโยชน์

  1. ปลูกเป็นไม้ประดับ และให้ร่มเงา ตามสวนสาธารณะ วัดวาอารามอาคาร และสถานที่ต่างๆ
  2. นำผลแห้งที่แตกเป็นชิ้นมาประดิษฐ์เป็นของตกแต่ง
  3. เนื้อไม้มีคุณภาพดี สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์
  4. ในอดีต ยางใช้เป็นยาเบื่อปลา หรือใช้อาบลูกดอกสำหรับล่าสัตว์
  5. ผลและเมล็ดมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง
  6. ในอินเดียนำผลที่ยังไม่สุกมาต้ม เจาะรู แล้วนำมาตากให้แห้ง บรรจุทรายไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา จึงเป็นที่มาของชื่อ sand box tree

พิษของโพธิ์ศรี   ส่วนที่เป็นพิษ คือ เมล็ดและยางมีพิษ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำผลและเมล็ดของโพธิ์ศรีไปรับประทานและเกิดอาการพิษ ทั้งนี้เนื่องจากผลซึ่งมีลักษณะสวยงามและดึงดูดสายตา ประกอบกับมีเมล็ดซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วปากอ้าที่ใช้บริโภค จึงเกิดพิษขึ้นได้ อาการเป็นพิษ คือ เมื่อกินเมล็ดเข้าไปประมาณ 1-2 เมล็ด จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นเร็ว ตาพร่า ปวดท้อง ท้องร่วง และอาจมีเลือดปนออกมา ในรายที่ได้รับสารพิษในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ น้ำยางจะมีฤทธิ์กัดมาก เพราะประกอบไปด้วยสาร hurin และมีน้ำย่อย hurain ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีน ที่สามารถย่อยเนื้อได้ จึงทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง โดยจะเกิดอาการเป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่งและพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส หรือถ้าเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้

กรณีศึกษาเรื่องพิษของโพธิ์ศรี

กรณีที่1 ผู้ป่วยจำนวน 23 ราย รับประทานเมล็ด 1-3 เมล็ด แล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวด ศีรษะ ตาแดง มีอาการแสบร้อนในคอ ปวดท้อง ถ่ายเหลว และง่วงนอน
กรณีที่ 2 เด็กชายจำนวน 18 ราย อายุระหว่าง 12-15 ปี รับประทานเมล็ดแห้ง และเริ่มมีอาการตั้งแต่ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง มีรายเดียวที่มีอาการเมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนในคอ กระหายน้ำ และในบางรายพบว่ามีอาการปวดท้องและอุจจาระร่วง แต่วันรุ่งขึ้นอาการก็ดีขึ้น
กรณีที่ 3 ผู้ป่วยมีอาการแพ้เนื่องจากการสัมผัสยางของต้นโพธิ์ศรี มีอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังและมีอาการอักเสบของเยื่อบุจมูกและตาตลอดปี

การรักษาเมื่อมีอาการ ก่อนนำส่งโรงพยาบาลควรให้ดื่มนมหรือผงถ่านเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันที และให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันการหมดสติและอาการช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่

อ้างอิง

http://www.medplant.mahidol.ac.th/
https://medthai.com
https://th.wikipedia.org/wiki
http://thaiherbal.org/2709/2709

ทุเรียนเทศ ผลไม้หลากหลายสรรพคุณ

ทุเรียนเทศ ผลไม้หลากหลายสรรพคุณ

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ
          ชื่อของ “ทุเรียนเทศ หรือ ทุเรียนน้ำ” เพิ่งโด่งดังในประเทศไทยขึ้นมาช่วงไม่เกินสิบปีมานี้เอง เป็นเพราะงานวิจัยในอเมริกาพบว่าสารสกัดจากส่วนของใบ เมล็ด และลำต้นของทุเรียนเทศมีฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสและเซลล์มะเร็ง ผลไม้ชนิดนี้สามารถช่วยในการฆ่าเซลล์มะเร็งกว่า 12 ชนิดซึ่งรวมถึง มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งตับอ่อน ผลจากการรับประทานยาที่สกัดจากทุเรียนเทศ หรือการนำใบมาต้มเป็นชาแล้วรับประทาน จะช่วยในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำคีโมถึง 10,000 เท่า โดยไม่ทำร้ายเซลล์ดีในร่างกาย ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลไม้มหัศจรรย์นี้จะช่วยสู้เซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดการคลื่นเหียนวิงเวียน หรือเกิดอาการผมร่วงเหมือนกับการทำคีโม

          ทุเรียนเทศเป็นผลไม้ที่ขาดการให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจในไทย ไม่มีการปลูกเป็นอาชีพ ทุเรียนเทศเป็นผลไม้แปลกหน้าสำหรับผู้พบเห็นในตลาดนัดตามชนบททางใต้ โดยปกติแล้วจะพบว่ามีการปลูกมากในภาคใต้ของประเทศไทยสำหรับบริโภคในครัวเรือน พบน้อยในภาคอื่น เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง สำหรับมาเลเซียและสิงคโปร์พบว่าทุเรียนเทศได้หายไปจากตลาดท้องถิ่น แต่กลับไปอยู่ในรูปของการแปรรูป เช่น น้ำทุเรียนเทศเข้มข้น น้ำทุเรียนเทศบรรจุกล่องพร้อมดื่มในร้านแถวรัฐปีนังของมาเลเซีย และข้ามมาขายในฝั่งไทย

          บทความนี้มุ่งให้ผู้อ่านรู้จักทุเรียนเทศและสรรพคุณที่หลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นอาชีพและชวนเชิญให้รับประทานเป็นผลไม้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพโดยไม่ต้องรอให้เจ็บไข้ได้ป่วยก่อน ส่วนลู่ทางการพัฒนาทุเรียนเทศในเชิงอุตสาหกรรมเกษตรนั้น มีความเป็นไปได้สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และสะดวกต่อการรับประทานมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันน้ำทุเรียนเทศเข้มข้นยังไม่มีการผลิตในประเทศไทย ยังไม่มีการนำเนื้อมาทำไอศกรีม หรือเยลลี่เหมือนดังในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

ทุเรียนเทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona muricata L.
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ชื่อสามัญ Soursop, Prickly Custard Apple
ชื่ออื่น ทุเรียนน้ำ(ภาคใต้)  ทุเรียนแขก (ภาคกลาง) หมากเขียบหลด หรือหมากพิลด (ภาคอีสาน) และ มะทุเรียน (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ไม้ต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านค่อนข้างมากแต่ไม่เป็นระเบียบ ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลถึงดำ มีความสูง 4 – 5 เมตร ใบเดี่ยว รูปไข่รี เรียวยาว  ปลายแหลม โคนเรียวลง ค่อนข้างหนา ขอบใบเรียบ ใบเรียงสลับกันไปในระนาบเดียวกับกิ่ง ผิวใบอ่อนเป็นมัน กว้าง 5 – 7 ซม. ยาว 11 – 16 ซม. ก้านใบยาว 1 – 1.5 ซม.  เมื่อฉีกใบจะได้กลิ่นเหม็นเขียว ฉุนจัด ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่เป็นรูปหัวใจ ห้อยลงที่ซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย อยู่รวมกัน 2 – 4 ดอก กลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมหนาแข็ง จำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ มีสีเหลืองแกมเขียว ยาว 3.5 – 4.5 ซม. บานแย้มเท่านั้น ไม่บานกว้าง   ออกดอกตลอดทั้งปี มีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย ผลกลุ่ม แต่มองดูคล้ายผลเดี่ยว สีเขียวสด รูปร่างกลมรีคล้ายทุเรียน เปลือกมีหนามแหลมแต่ไม่แข็ง และหนามนิ่มเมื่อสุก เนื้อในผลสีขาวเป็นเนื้อเดียวกันทั้งผล ไม่แยกเป็นแต่ละเมล็ดเหมือนน้อยหน่า มีรสหวานอมเปรี้ยวมีเส้นใยเกาะกันเหนียวแน่น ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 – 15 ซม. ยาว 15 – 25 ซม. น้ำหนักประมาณ 0.5 – 2.0 กิโลกรัม มีรสเปรี้ยว หรือหวานเล็กน้อย ถ้าผลยังดิบมีรสอมเปรี้ยว และมีรสมันเล็กน้อย เมล็ดแก่สีน้ำตาลถึงดำ หุ้มด้วยเนื้อสีขาว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด งอกภายใน 2-3 สัปดาห์ ให้ผลรุ่นแรกหลังอายุ 3 ปี หากต้องการให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้นต้องขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด และทาบกิ่ง

หมายเหตุ ทุเรียนเทศเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับน้อยหน่า น้อยโหน่ง การเวก กระดังงา นมแมว จำปี จำปา และมณฑา เป็นต้น

ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกา ปลูกมากในแถบอเมริกากลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพืชที่ชอบสภาพพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เป็นพืชเขตร้อน เริ่มแพร่กระจายไปสู่พื้นที่เขตร้อนทั่วโลกราวคริสต์ศตวรรษที่16 และแพร่กระจายมายังประเทศฟิลิปปินส์รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนักเดินเรือชาวสเปน  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนของประเทศไทยนั้นพบได้มากในภาคใต้ ในมาเลเซียและสิงคโปร์ และในแถบรัฐปีนังของมาเลเซียก็จะพบว่ามีการน้ำทุเรียนน้ำมาแปรรูปเป็นน้ำทุเรียนเข้มข้นซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากด้วย

การใช้ประโยชน์

  1. ทุเรียนเทศใช้กินเป็นผลไม้สดในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย   คนไทยสมัยโบราณนิยมนำผลอ่อนไปแกงส้ม
  2. ทุเรียนเทศถูกนำไปแปรรูปหลายแบบ เช่น เป็นผลไม้กวน เยลลี่ ไอศกรีมและซอส ในมาเลเซียนำไปทำน้ำผลไม้กระป๋อง เวียดนามนิยมทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น ในเม็กซิโกและโคลัมเบียนอกจากจะนิยมรับประทานเป็นผลไม้สดแล้ว ยังใช้ทำขนม เช่นเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มที่ผสมนม ในอินโดนีเซียนิยมทำเป็นไอศกรีม โดยนำทุเรียนเทศไปต้มในน้ำ เติมน้ำตาลจนกว่าจะแข็ง และนำไปทำน้ำผลไม้ปั่น ในฟิลิปปินส์นิยมกินผลสุกและทำน้ำผลไม้ สมูทตี และไอศกรีม บางครั้งใช้ทำให้เนื้อนุ่ม ในเวียดนาม ใช้กินสดหรือทำสมูทตี นิยมนำเนื้อไปปั่นใส่นมข้นเติมน้ำแข็งเกล็ดหรือทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น ในมาเลเซียและอินโดนีเซียนิยมกินเป็นผลไม้เช่นกัน ในไทยจะเชื่อมแบบเชื่อมสาเก

สรรพคุณของทุเรียนเทศ

  1. ผลทุเรียนเทศมีคาร์โบไฮเดรตมาก โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโทส วิตามินซี และวิตามินบี ผล ใบ และเมล็ดมีฤทธิ์ทางยา ใช้ผลเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคกระเพาะอาหาร และมีสารต้านอนุมูลอิสระ  ผลดิบใช้รับประทานเพื่อรักษาโรคบิด ผลสุกช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  2. ผลจะช่วยเพิ่มน้ำนมกับหญิงให้นมบุตร
  3. ใบนำมาใช้ชงดื่มช่วยทำให้นอนหลับสบาย ใบใช้เป็นยาระงับประสาท ใบช่วยลดอาการไข้ลงได้ทันทีเมื่อตื่นนอน ใบเป็นยาแก้อาการท้องอืด ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทาบริเวณท้อง ใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการไอ อาการปวดตามข้อ ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทา
  4. นำใบมาใส่ไว้ในหมอนหนุน จะช่วยทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น (เนเธอร์แลนด์)
  5. รากและเปลือกนำมาทำเป็นชาชงดื่มแก้อาการเครียด ช่วยลดอาการเจ็บปวดและลดการเกร็ง
  6. ใบช่วยแก้อาการเมา ด้วยการใช้ใบขยี้ลงในน้ำผสมกับน้ำมะนาว 2 ลูก แล้วนำมาจิบ
  7. เมล็ดนำมาใช้ในการช่วยสมานแผลและห้ามเลือด
  8. ผลดิบนำมาตำแล้วพอกเป็นยาฝาดสมาน
  9. น้ำสกัดจากเนื้อยังช่วยในการขับพยาธิได้

ข้อควรระวัง

  1. เมล็ดของทุเรียนเทศมีพิษ จึงนำมาใช้ทำยาเบื่อและทำเป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช ใช้ทำยาเบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลง ประเทศมาเลเซียใช้ใบฆ่าแมลงขนาดเล็ก
  2. การรับประทานทุเรียนเทศติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน เนื่องจากในผลทุเรียนเทศจะมีสาร“แอนโนนาซิน” ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์สมอง และในส่วนของเมล็ดและเปลือกก็จะมีสารอัลคาลอยด์อยู่หลายชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ถ้ารับประทานอย่างมีสติ ไม่ได้รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็ไม่น่าจะเป็นโทษต่อร่างกาย
  3. สารสำคัญในทุเรียนเทศจะได้ผลดีที่สุด เมื่อบริโภคโดยผ่านกระบวนการน้อยที่สุด การรักษามะเร็งใช้จากใบทุเรียนเทศ ใช้ใบต้มเป็นชา ไม่ควรใช้ผ่านกระบวนการผลิต และอาจไม่ได้ผลเมือนำมาบรรจุแคปซูลหรืออัดเม็ด รวมทั้งการผ่านกระบวนการการผลิตทำเป็นน้ำผลไม้กระป๋อง เนื่องจากขั้นตอนการผลิตมักทำให้ประสิทธิภาพลดลง

การปลูกทุเรียนเทศ  ทุเรียนเทศเจริญเติบโตได้ดีในที่ดอก น้ำท่วมไม่ถึง สภาพดินร่วนที่มีความชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดี อากาศร้อนชื้นแบบภาคใต้ของประเทศไทย คนใต้มักนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับในบ้าน เพราะดูแลได้ง่าย ทุเรียนเทศขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยเมล็ด เพียงนำเมล็ดมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1-2 วัน แล้วนำไปเพาะกล้าในดินผสมทั่วไป ต้นกล้าจะงอกขึ้นมาภายใน 2-3 สัปดาห์ ต้นกล้าจะโตช้า เมื่อต้นกล้าสูงราว 50 ซม. ก็นำไปปลูกในหลุมปลูกในแปลงปลูก ห่างกันต้นละ 2-3 เมตร ทุเรศเทศเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้า จะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 3 ปี และให้ผลให้เก็บเกี่ยวในปีที่ 4  ซึ่งจะได้ผลผลิตประมาณปีละ 1.5 – 2 ตันต่อไร่

อ้างอิง

https://health.kapook.com/view66781.html
https://medthai.com
http://natres.psu.ac.th/ProjectSite/webpage/5durian-detail.htm
https://th.wikipedia.org/wiki/%

ชะมวง เป็นทั้งผักและสมุนไพรหลายสรรพคุณ

ชะมวง  เป็นทั้งผักและสมุนไพรหลายสรรพคุณ

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ คนทั่วไปส่วนใหญ่รู้จัก“ชะมวง”เฉพาะชื่อเท่านั้น แต่ไม่เคยเห็นต้นชะมวง เพราะใบชะมวงเป็นส่วนผสมของอาหารที่มีชื่อเสียงโด่งดังชื่อ“แกงหมูชะมวง”ของจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนั่นเอง อาหารชนิดนี้ได้รับความนิยมด้วยรสชาติที่กลมกล่อม มีทั้งรสเปรี้ยวรสหวานมันเค็มในชามเดียวกัน ทำให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ “ชะมวง”ก็ได้รับการกล่าวขานถึงมากขึ้นด้วย เนื่องจากชะมวงเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบอากาศร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนตลอดปีสูง จึงเจริญเติบโตได้ดีในจังหวัดทางภาคตะวันออกและจังหวัดทางภาคใต้ เช่นเดียวกันกับมังคุดซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน โอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะเห็นต้นชะมวงจึงมีน้อย และด้วยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชะมวงเป็นพืชที่มีดอกแยกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้น ทำให้โอกาสที่จะติดผลเพื่อแพร่พันธุ์ยากขึ้น    เกษตรกรผู้ปลูกจึงต้องปลูกชะมวงจำนวนหลายต้นเพื่อให้มีโอกาสได้ต้นที่มีเพศเมียและต้นที่มีเพศผู้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ติดผลสำหรับขยายพันธุ์ บทความนี้จะแนะนำให้รู้จักต้นชะมวงและส่วนประกอบต่างๆของต้นชะมวง พร้อมภาพประกอบที่ไปถ่ายมาจากแหล่งปลูกที่จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังบอกประโยชน์และสรรพคุณทางสมุนไพรโดยสรุปให้เข้าใจได้ง่าย

ชะมวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa Roxb. ex Choisy
ชื่อวงศ์ GUTTTIFERACEAE หรือ CLUSIACEAE
ชื่อสามัญ Cowa
ชื่ออื่น หมากโมง (อุดรธานี), กะมวง (ใต้), ส้มมวง (นครศรีธรรมราช) ส้มโมง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ต้นไม่พลัดใบ ลำต้นสูง 15-20 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา เมื่ออายุมากเปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด มียางสีเหลือง ต้นแตกกิ่งในระดับต่ำ ใต้เปลือกเป็นสีแดงหรือออกชมพูเข้มมีน้ำยางสีเหลือง ใบเดี่ยว แตกใบมากบริเวณปลายกิ่ง ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นมุมฉาก ใบรูปรี ค่อนข้างหนา แต่กรอบ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 8-13 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบเรียบ เป็นมัน ขอบใบเรียบ มองเห็นเส้นใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้มตามอายุใบ ใบมีรสเปรี้ยว ดอกเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ และกิ่ง ดอกมีสีเหลืองนวล ด้านในดอกมีสีชมพูหรือม่วงแดง กลีบดอกมี 4 กลีบ ค่อนข้างแข็ง ขนาดกลีบเท่ากับกลีบเลี้ยง ดอกบานมีกลิ่นหอม ดอกเพศผู้ และตัวเพศเมียแยกต้นกัน ดอกเพศผู้มักออกตามซอกใบและกิ่งกลุ่มละ 3-8 ดอก ส่วนดอกเพศเมียออกบริเวณปลายยอดกลุ่มละ 2-5 ดอก ติดดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลสด มีลักษณะกลม เบี้ยวเล็กน้อย ผิวผลเรียบเป็นมัน ด้านบนผลบุ๋มลง และมีกลีบเลี้ยง 4-8 แฉกติดอยู่ที่ขั้วผล ผลมีร่องเป็นพูตื้นๆจากขั้วผลลงไปที่ก้นผล 5-8 ร่อง ขนาดผล 2.5-5.0 ซม. ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่เมื่อสุกมีสีเหลือง เมื่อสุกจัดมีสีเหลืองออกส้ม เปลือกผลมียางสีเหลือง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อผลดิบมีรสฝาดอมเปรี้ยว เมื่อสุกออกเปรี้ยวมากกว่า เมล็ดแบนรี 4-6 เมล็ดต่อผล

แหล่งกระจายพันธุ์   ในป่าดิบชื้นตามที่ลุ่มต่ำทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด เก็บผลสุกที่ร่วงลงมาจากต้น นำมาแกะเปลือก แยกเอาเมล็ดมาตากแห้ง 5-7 วัน แล้วนั้นจึงนำไปเพาะในถุงเพาะชำ โดยใช้เนื้อดินผสมกับแกลบดำและขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1

ประโยชน์

  1. ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้นำมาปรุงอาหารประเภทต้มยำ แกงส้ม หมูชะมวง ต้มเนื้อเปื่อย แกงอ่อม และแกงที่ต้องการรสเปรี้ยว เมื่อถูกความร้อนใบจะกรอบนุ่ม
  2. ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อน ใช้รับประทานสดกับลาบ แหนมเนือง หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก
  3. ผลแก่มีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้
  4. เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง สร้างบ้านเรือน และทำเป็นเฟอร์นิเจอร์
  5. เนื้อไม้ และกิ่ง ใช้เป็นฝืนหุงหาอาหาร
  6. ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้ร่มเงา
  7. เปลือกต้นและยางให้สีเหลืองที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
  8. น้ำยางสีเหลืองจากต้นชะมวง นำมาใช้ผสมในน้ำมันชักเงาได้

สรรพคุณของชะมวง

  1. ผลอ่อนช่วยฟอกโลหิต ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ
  2. ผล ใบ ดอก ช่วยรักษาธาตุพิการ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการไอ
  3. ราก ใบ และผลอ่อนมีรสเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน
  4. รากช่วยถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
  5. ผลอ่อน ใบ ดอกใช้เป็นยาระบายท้อง
  6. ดอกช่วยในการย่อยอาหาร
  7. ใบช่วยขับโลหิตระดูของสตรี ช่วยแก้ดีพิการ
  8. แก่นใช้ฝนหรือแช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเหน็บชา
  9. สาร“ชะมวงโอน”(Chamuangone)มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้ดี ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินอาหาร  ช่วยยับยั้งเชื้อโพรโทซัว

อ้างอิง

https://medthai.com
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=219
http://puechkaset.com/%E0%
https://th.wikipedia.org/wiki
https://www.samunpri.com/%

 

 

ส้มแขก สมุนไพรภาคใต้ของไทยเรา

ส้มแขก  สมุนไพรภาคใต้ของไทยเรา

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ ส้มแขก เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับมังคุด ชะมวง มะดัน เป็นต้น มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน แต่ประชาชนทั่วไปรู้จักส้มแขกในสรรพคุณที่ช่วยลดความอ้วนเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง มีผลงานวิจัยของนักวิชาการรองรับ จนได้รับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนออกมาจำหน่ายอย่างแพร่หลาย นอกจากสรรพคุณในด้านลดความอ้วนแล้ว ส้มแขกยังมีประโยชน์ที่ควรรู้อีกมากมาย รวมทั้งมีเงื่อนไขในการบริโภคที่ควรระมัดระวัง ในส่วนของรูปร่างลักษณะของส้มแขกนั้นน้อยคนจะรู้จัก เนื่องจากส้มแขกเจริญเติบโตได้ดีในทางภาคใต้ของประเทศไทย  จึงจะสามารถพบส้มแขกทั้งที่เป็นผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปวางขายในตลาดสดหรือตลาดนัดในจังหวัดทางใต้ และอาจพบในงานแสดงสินค้าภาคอื่นบ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากส้มแขกเป็นพืชที่ติดผลตามฤดูกาล จึงจะพบได้ในช่วงปลายฤดูร้อน ต่อต้นฤดูฝนเท่านั้น บทความนี้นอกจากจะให้ความรู้เรื่องประโยชน์และสรรพคุณของส้มแขกแล้ว ผู้เขียนยังได้ติดตามเสาะแสวงหาหาแหล่งของส้มแขกและได้ถ่ายภาพมาจากหลายแหล่งมาประกอบเนื้อหา เพื่อให้ผู้ติดตามอ่านได้เห็นลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป

ส้มแขก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Garcinia atroviridis Griff. ex T.Anderson
วงศ์ CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE
ชื่อสามัญ  Garcinia , Malabar tamarind, Gambooge, Brindle berry, Assam fruit
ชื่ออื่น ชะมวงช้าง ส้มควาย (ตรัง) อาแซกะลูโก (ยะลา) ส้มพะงุน (ปัตตานี) ส้มมะอ้น ส้มมะวน มะขามแขก (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5 -12 เมตร  ทรงพุ่มกว้าง แน่น ไม้เนื้อแข็ง เปลือกต้นเรียบ ต้นอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอมดำ เมื่อลำต้นและกิ่งก้านเป็นแผลจะมียางสีเหลืองไหลออกมา ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม กว้าง 6-8 ซม. ยาว 12-20 ซม. ดอกเดี่ยวดอกแยกเพศ ออกตามปลายยอด ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียว มีเกสรเพศผู้เรียงอยู่บนฐานรองดอก ดอกเพศเมีย มีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก ผลสด ทรงกลมแป้น ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ขนาด 7-9 ซม.   เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล ประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ มีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ดต่อผล

การขยายพันธุ์

  1. เพาะกล้าจากเมล็ด จะเจริญเติบโตช้า และให้ผลผลิตช้า
  2. เสียบยอด ให้ผลผลิตเร็วขึ้น

ถิ่นกำเนิด ในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งมีปลูกมากในทางภาคใต้ของประเทศไทย

ประโยชน์

  1. ผลส้มแขกมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาปรุงอาหารที่ต้องการรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา หรือใช้เป็นส่วนผสมของการทำน้ำยาขนมจีน
  2. ใบอ่อนส้มแขกใช้รองก้นภาชนะนึ่งปลา จะช่วยดับคาวเนื้อปลา
  3. ผลดิบเมื่อโตเต็มที่นำมาตากแห้ง แล้วนำไปต้มเคี่ยวในน้ำเชื่อม รับประทานเป็นของหวาน
  4. ผลแห้งเป็นตัวช่วยให้สีย้อมติดวัสดุที่ย้อมได้แน่นทนทาน
  5. นำใบแก่ของส้มแขกมาผสมกับยางพาราที่กรีดได้ เพื่อทำปฏิกิริยาให้น้ำยางพาราแข็งตัวเร็วขึ้น โดยใช้ใบแก่จำนวน 2 กิโลกรัมหมักกับน้ำ 10 ลิตรทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วนำมาผสมกับยางพารา
  6. เนื้อไม้ของต้นส้มแขกที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป นำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นไม้แปรรูปใช้ในการก่อสร้างได้

สรรพคุณ

  1. เนื้อผลของส้มแขกทำเป็นเครื่องดื่มลดความอ้วน ในผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล เมื่อรับประทานในระยะแรกอาจจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยมากขึ้น เนื่องจากไปเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร โดยร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวไปเอง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ช่วงนี้ก็ให้ดื่มน้ำมากขึ้น เมื่อรับประทานต่อเนื่องไปก็จะช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกไม่หิว และเมื่อหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์ส้มแขก ร่างกายจึงไม่กลับมาอ้วนอีก ที่สำคัญคือการลดความอ้วนด้วยส้มแขกจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประเมินผลและพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนหน้าที่ของตับและไต รวมไปถึงระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
  2. ช่วยแก้อาการไอ ใช้เป็นยาขับเสมหะ
  3. ผลแก่หรือดอกนำมาใช้ทำเป็นชาลดความดันได้
  4. ผลทำเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์
  5. ผลเป็นยาระบายอ่อน ๆ
  6. ใบสดน้ำมารับประทานช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาขับปัสสาวะ
  7. รากใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว
  8. สารสกัดจากส้มแขกช่วยทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้นและขับไขมันออกมา
  9. ดอกตัวผู้แห้งต้มกับน้ำ ช่วยรักษาโรคเบาหวาน

 

ข้อควรระวังการใช้ส้มแขก

ส้มแขก มีสารสำคัญที่เป็นกรดมีชื่อว่า ไฮดรอกซี่ซิตริกแอสิด(Hydroxycitric Acid หรือ “HCA”) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่น ๆ อีก เช่น กรดซิตริก (Citric Acid) กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid) กรดออกตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และกรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid)

ผลิตภัณฑ์สารสกัดส้มแขกที่มีปริมาณ HCA สูง ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร เพราะสารชนิดนี้จะไปรบกวนการสร้าง Fatty Acid, Acetyl coenzyme A รวมไปถึง Cholesterol ซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้าง Steroid Hormone ได้นั่นเอง และสำหรับบุคคลทั่วไปการรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้

ในปัจจุบันส้มแขกได้มีการนำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 300-600 มิลลิกรัม และจะมีเนื้อส้มแขกประมาณ 250-500 มิลลิกรัม และมีปริมาณ HCA ประมาณ 60-70% โดยจะแตกต่างกับส้มแขกบดแห้งบรรจุแคปซูลธรรมดาที่ไม่ได้ผ่านการสกัด ซึ่งจะมีปริมาณของ HCA เพียง 30% เท่านั้น โดยวิธีการรับประทาน สารสกัดส้มแขก ให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงครั้งละ 1 แคปซูล

จึงมีคำเตือนให้ระวังในการบริโภคดังนี้

  1. สารสกัดจากส้มแขกมีความเป็นกรด หากรับประทานมาก หรือไม่รับประทานอาหารตามสลากยา จะทำให้เกิดการระคายเคือง ในกระเพาะอาหาร ทำให้ปวดท้องได้
  2. HCA อาจมีผล กระทบต่อการสร้าง acetylcholine ในสมอง และในคนซึมเศร้า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โรคความจำเสื่อมไม่ควรรับประทาน
  3. เนื่องจากสาร HCA มีผลรบกวนการสร้าง acetyl CaA, fatty acid รวมทั้ง cholesterol จึงอาจมีผลรบกวนต่อการสร้าง steroid hormone ได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ HCA หรือผลิตภัณฑ์ส้มแขกที่มี HCA ในปริมาณสูงในเด็ก และสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร

อ้างอิง

http://www.bookmuey.com/?page=Garcenia.html
https://medthai.com
http://www.natres.psu.ac.th/FNR/vfsouthern/index.php/
https://www.pstip.com
https://th.wikipedia.org/wiki/

“มะกรูดหวาน” ผลไม้ที่ต้องอนุรักษ์

“มะกรูดหวาน” ผลไม้ที่ต้องอนุรักษ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ มะกรูดหวาน เป็นมะกรูดสายพันธุ์หนึ่ง มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับต้นมะกรูดทั่วไปเกือบทุกอย่าง ยกเว้น ใบนิ่ม ผิวใบเรียบ ผลใหญ่กว่ามะกรูดเปรี้ยว เนื้อในกลีบเป็นสีเหลืองเข้ม มีรสหวานหอม คล้ายส้มตราหรือส้มเช้ง ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ไม่นิยมใช้ปรุงอาหาร

          สมัยยังเป็นเด็กผู้เขียนได้กินมะกรูดหวานอยู่เสมอ ที่บ้านเกิดอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม  ตอนเช้าจะมีชาวบ้านหิ้วใส่ตะกร้าเล็กๆมาเร่ขายตามบ้าน แม่จะซื้อให้ไว้ในครัวเป็นประจำเพราะเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่แม่ก็ชอบกิน  ด้วยติดใจในรสชาติที่หวานหอม เมื่อโตขึ้นมาก็ไม่เห็นมะกรูดหวานอีกเลย ล่าสุดเมื่อปลายปี 2560 ไปพบในตลาดสดที่บ้านเกิด ที่ชาวบ้านนำมาขาย มีมาเพียง 10 ผล รีบซื้อมาทั้งหมด เพื่อขยายพันธุ์แจกจ่ายต้นกล้า  ก็ได้ลิ้มรสดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และขอตามไปที่บ้านแม่ค้าที่อยู่ห่างเมืองออกไปราว 10 กิโลเมตร พบว่าเป็นต้นเก่าแก่อยู่ปนอยู่กับต้นกล้วย น้อยหน่า มะม่วง และอื่นๆ เป็นการปลูกแบบสวนครัว ขาดการบำรุงรักษา  คุณภาพและปริมาณของผลผลิตจึงไม่แน่นอน .ในหมู่บ้านนั้นก็มีอีก2 ครอบครัวที่ปลูกทิ้งไว้กินในครอบครัว

          มะกรูดหวาน   จึงเป็นพืชหายากอีกชนิดหนึ่งที่ต้องจะอนุรักษ์ไว้ ควรปลูกไว้เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้กัน หากสามารถปลูกจำนวนมาก ก็สามารถนำไปขายทำรายได้ให้แก่เจ้าของได้ไม่น้อย คนโบราณชอบปลูกไว้ระหว่างต้นไม้อื่นในสวน ธรรมชาติของมะกรูดหวานจะออกผลดก หากได้รับการปลูกเป็นอาชีพ ได้รับการบำรุงรักษาที่ถูกหลักวิชาการ จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อาจเป็นสินค้าชุมชนในเบื้องต้น และพัฒนาเป็นผลไม้เศรษฐกิจได้ในอนาคตเหมือนส้มชนิดอื่นๆได้

มะกรูดหวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix DC.
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่อสามัญ Sweet kaffir lime
ชื่ออื่น บักหูดหวาน(มหาสารคาม)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น สูง 2-4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามยาว แหลม รูปทรงกระบอก ยาว 4 – 5 นิ้ว ใบ เปลือกลำต้นต้นเรียบ  สีน้ำตาลอ่อน ลำต้นมีกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบประกอบ มี 1 ใบย่อย เรียงสลับ รูปรี กว้างประมาณ 6.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ใบหนา ผิวเป็นมัน สีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วแผ่นใบ ก้านใบแผ่เป็นแผ่น มีลักษณะคล้ายปีกนก ดอกออกเป็นช่อ มีดอกย่อยประมาณ 5 – 10 ดอก มีสีขาว ดอกย่อยกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ ผลมีเนื้อ ผลแบบส้ม ติดผลดกเป็นพวง 5-7 ผล มีขนาดใหญ่กว่าผลของมะกรูดบ้าน ทรงกลมถึงรูปไข่ อาจมีจุกสั้นหรือไม่มี ผิว ขรุขระน้อย มีต่อมน้ำมันที่ผิว ผลกว้าง 5-7 ซม. ยาว 6-8 ซม. เปลือกหนาประมาณ 0.3 ซม. เมื่อสุกหรือแก่จัดเป็นสีเหลืองหรือเหลืองปนเขียวเล็กน้อย เนื้อข้างในมีลักษณะเป็นกลีบหลายกลีบ ประกอบด้วยถุงเล็ก ๆ จำนวนมาก มีน้ำสีเหลืองเข้มอยู่ข้างใน มีเมล็ดเกาะอยู่ในกลีบ เมล็ดกลมรี กว้าง 0.7 ซม. ยาว 0.9 ซม. จำนวน 15-20 เมล็ดต่อผล

การขยายพันธุ์

  1. เพาะกล้าจากเมล็ด
  2. ตอนกิ่ง  และเสียบยอด

หมายเหตุ

  1. สันนิษฐานว่ามะกรูดหวานเป็นเป็นมะกรูดกลายพันธุ์จากมะกรูดที่ใช้ปรุงอาหาร ได้รับความนิยมปลูกมาแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน
  2. มะกรูดหวานมีดอกและติดผลดกตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของมะกรูดหวานกับมะกรูดธรรมดา

ส่วนประกอบ มะกรูดหวาน มะกรูดธรรมดา
ลำต้น -หนามแหลม ยาว ลำต้นตรง ทรงพุ่มแคบ -หนามสั้นกว่า จำนวนมาก กิ่งแผ่ออกด้านข้าง ทรงพุ่มกว้าง
ใบ -ปลายใบเรียวเล็ก ท่อนล่างที่เกิดจากก้านใบมีขนาดเล็ก คล้ายใบส้มเขียวหวาน -ปลายใบโค้งมน ท่อนล่างที่เกิดจากก้านใบขยายใหญ่
-มีกลิ่นเช่นเดียวกับส้มเขียวหวาน -มีกลิ่นหอมรุนแรง
-ไม่สามารถนำไปปรุงอาหารได้ -นำไปประกอบอาหารได้
ผล -มีผิวค่อนข้างเรียบ ขรุขระแต่ร่องไม่ลึก -ผิวขรุขระ มีร่องผิวลึก
-มีทรงกลม กลิ่นไม่ฉุนรุนแรง -มีทรงรี มีกลิ่นรุนแรงเหมือนใบ
-ไม่มีจุก หรือมีจุกแต่เตี้ย -มีจุกที่ขั้วผล สูงบ้าง เตี้ยบ้าง
-นำไปรับประทานเป็นผลไม้ -นำผิวไปเป็นส่วนผสมของเครื่องแกง
-คั้นน้ำ ใส่น้ำแข็ง เป็นน้ำผลไม้ -นำไปสระผม
  – นำไปเป็นน้ำมันหอมระเหย
เมล็ด – มีเมล็ดน้อย – มีเมล็ดมากกว่า
รสชาติของเนื้อผล – หวาน (เหมือนส้มตราหรือส้มเช้ง) – เปรี้ยวจัด
 -มีกลิ่นหอม -มีกลิ่นเฉพาะตัว
การขยายพันธุ์ -เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด -เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด

อ้างอิง

http://oknation.nationtv.tv/blog/chabatani/2010/12/11/entry-1
https://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.doa.go.th/pvp/images
https://www.thairath.co.th/content/1088319