สัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี

Morphology of Leuangawn Rice in Prachinburi Province

รัชนู แก้วแกมเกษ* วันทนี สว่างอารมณ์** และ ภัทรภร เอื้อรักสกุล**

Ratchanoo Keawkamked, Wantanee Sawangarom and Pattaraporn Uraksakul

Abstract

Thai rice cultivars are essential food crops for consuming dealing since in the past to present. This research is experimental research has an objective to study the morphology of Leuangawn Rice in Prachinburi Province. The methodology of this research was surveyed and interviewed the farmer to collect data and used the experiment to grow plant rice. Data analysis used descriptive statistics and the qualitative data used content analysis. The researcher planted in experimental plots to study the morphology since June to December 2015 and recorded pattern according to the rice research institute, Department of Agriculture, Ministry of Agriculture and Cooperatives. The result showed that the rice germination period to rice grains were 144 days. Their lamina and leaf sheath were green. Their stipules were white and clump of rice were straight. The period of seedling field to flowering were 95 to 110 days. The one hundred paddy seeds were weighed. It was found that Leuangawn the most maximum weight was 5.10 g while the minimal weight was of 2.60 g. Some characteristics from a variety may be useful in rice breeding program in the future. To maintain the Prachinburi native rice varieties should be conservation for utilization and dissemination of their knowledge.

Key word: Leuangawn Rice / Morphology / Prachinburi Province

* นิสิต วท.บ.ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** อาจารย์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

ข้าวเป็นพืชที่คนไทยปลูกเพื่อบริโภคและเพื่อการค้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี วิธีการวิจัยโดยการสอบถาม สัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผู้วิจัยนำข้าวมาปลูกในแปลงทดลอง ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ตามสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าตั้งแต่ข้าวงอกถึงออกรวงใช้ระยะเวลา 144 วัน มีแผ่นใบและกาบใบสีเขียว สีของหูใบสีขาว ข้าวส่วนใหญ่ทรงกอตั้ง จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอกส่วนใหญ่ 95 110 วัน น้ำหนัก 100 เมล็ดข้าวเปลือกของเหลืองอ่อนหนักมากที่สุด 5.10 กรัม ข้าวเหลืองอ่อนเบาที่สุด 2.10 กรัม ซึ่งลักษณะบางลักษณะของข้าวอาจจะเป็นที่ต้องการหรือมีความจำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอนาคต ควรมีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ข้าวพื้นเมืองปราจีนบุรี หากไม่ได้รับการเรียนรู้และอนุรักษ์ไว้อาจสูญไปจากท้องถิ่นได้

คำสำคัญ: ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน / สัณฐานวิทยา / จังหวัดปราจีนบุรี

 

บทนำ

       ข้าว เป็นพืชล้มลุกจัดอยู่ในวงศ์หญ้า (Family Poaceae) สกุล ออไรซา (Oryza) สันนิษฐานว่าข้าวมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีป Gondwanaland(นิลวรรณ เพชรบูระณิน, 2548) ปัจจุบันมีข้าวปลูกอยู่สองชนิด คือ Oryza sativa ซึ่งถือเป็นข้าวเอเชีย และ Oryza glaberrima ซึ่งถือเป็นข้าวแอฟริกา(Chang, 1979,Morishima et al.,1980) ประเทศไทยเป็นแหล่งที่ปลูกข้าวมาแต่โบราณกล่าวคือ มีเมล็ดข้าวถูกขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงว่ามีการปลูกข้าวในบริเวณนี้เมื่อประมาณ 3,000-3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ข้าวคือผลผลิตที่เกิดจากความวิริยะอุตสาหะของชาวนาไทย ข้าวจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันและอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอมา ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง นับว่าเป็นความหลากหลายทางด้านพันธุกรรม (Genetic diversity) ลักษณะดีบางอย่างในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเป็นฐานพันธุกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้พันธุ์ดีในอนาคต ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน ข้าวจึงไม่ใช่เพียงอาหารหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ โดยในปีพ.ศ. 2547 ประเทศไทยส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 108,393.3 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวสารร้อยละ 93 และผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ข้าวสำเร็จรูป และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ7 (นิลวรรณ เพชรบูระณิน, 2548) ข้อมูลปัจจุบัน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปี 2558 ที่ส่งออกไปทั้งหมด 9.79 ล้านตันลดลงจากปี 2557 ที่เคยส่งออกได้ 10.97 ล้านตัน ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 2 รองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้ 10.2 ล้านตัน ส่วนเวียดนามเป็นเบอร์ 3 ส่งออกได้ 6.46 ล้านตัน ในด้านมูลค่าส่งออกไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 4,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 15.2% จากปี 2557 ที่ส่งออกได้ 5,439 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกข้าว 2558 ปี ไทยเสียแชมป์ให้อินเดีย, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 มกราคม 2559, สมาคมส่งออกข้าวไทย,2559)

 

วิธีการทดลอง

       วิธีการศึกษาประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลและเก็บข้อมูลในพื้นที่ศึกษาวิจัย การนำเมล็ดพันธุ์มาทำการทดลองปลูก ณ ห้องปฏิบัติการ สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดังนี้

 

การเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายของข้าวพันธุ์พื้นเมือง

       ประชุมคณะผู้วิจัยร่วมกับชุมชนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยและกำหนดขอบเขตการสำรวจตลอดจนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความหลากชนิดของข้าวพันธุ์พื้นเมือง สำรวจความหลากหลาย และพื้นที่เพาะปลูกตลอดจนแหล่งที่มาของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี

 

การทดลองปลูกข้าวเหลืองอ่อน

       การเพาะปลูกข้าว นำเมล็ดพันธุ์ข้าวห่อด้วยผ้าขาวบางนำไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นจากน้ำและนำไปผึ่งลมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวเริ่มงอกเตรียมดิน ใส่ถุงดำสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวตัวอย่างละ 15 ต้น ระยะห่างในระหว่างปลูก 5x5 เซนติเมตร ปลูกในอัตรา 1 ต้นต่อหลุมให้ปุ๋ยและน้ำรวมทั้งการกำจัดวัชพืชตามความเหมาะสมเมื่อต้นข้าวถึงระยะแตกกอ เริ่มบันทึกข้อมูลลักษณะทางกายภาพ และสัณฐานวิทยาจำนวน 40 ลักษณะ ตามแบบบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว ดัดแปลงจากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร(อรพิน วัฒเนสก์, 2550) ดังนี้

 

การบันทึกลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมือง

1. ระยะกล้า บันทึกลักษณะของความสูงของต้นกล้า

2. ระยะแตกกอเต็มที่ บันทึกลักษณะของการมีขนบนแผ่นใบ สีของแผ่นใบ สีของกาบใบ มุมของยอดแผ่นใบ สีของลิ้นใบ รูปร่างของลิ้นใบ ความยาวเยื่อกันน้ำฝน สีของหูใบ สีของข้อต่อใบกับกาบใบ สีของปล้อง ทรงกอ

3. ระยะออกรวง บันทึกลักษณะของจำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก มุมของใบธง ความยาวของลำต้น จำนวนหน่อ มุมหรือลักษณะกอ สีของปล้องด้านนอก การชูรวง หางข้าว สีของหางข้าว สีของยอดเมล็ด การแตกระแง้

ผลการทดลอง

      จากการเก็บข้อมูลข้าวสายพันธุ์เหลืองอ่อนซึ่งเป็นข้าวที่อยู่ในพื้นที่ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี โดยทำการศึกษาข้าวสายพันธุ์เหลืองอ่อนตั้งแต่การเริ่มเพาะเมล็ดจนกระทั่งออกรวงจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มีการตรวจสอบการเจริญเติบโตของข้าวในแต่ละสัปดาห์ และบันทึกลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมืองพบว่าระบบรากเป็นแบบรากฝอย (fibrous root system) ประกอบด้วยรากที่พัฒนามาจากส่วนแรดิเคิล (radicle) เรียกว่า primary root หรือ first seedling root และรากที่แตกแขนงออกมาเรียกว่า secondary root หรือ lateral root รากที่เกิดจาก scutellar node เรียกว่า seminal root ส่วนรากที่เกิดจากข้อใต้ดินตั้งแต่ coleoptilar node ขึ้นไป เรียกว่า adventitious root ในการศึกษาครั้งนี้มีค่าเฉลี่ยความยาวรากพืชอยู่ในช่วงประมาณ 12.56 เซนติเมตร มีการเจริญของลำต้นแบบแตกเป็นกอสัน การแตกกอจะเริ่มประมาณเมื่อข้าวอายุ 10 วันหลังปักดำ และจะถึงจุดการแตกกอสูงสุดเมื่ออายุ 50 – 60 วันหลังปักดำ โดยลำต้นข้าวมีความยาวเฉลี่ย 199.5 เซนติเมตร ค่าลำต้นสูงที่สุดและต่ำสุดคือ 203.0 และ 196 เซนติเมตร มีการแตกแขนง (tiller) โดยจะแตกออกจากลำต้นหลัก (main culm) โดยแตกในลักษณะสลับข้างกัน (alternate pattern) และมีสันตรงขอบ 2 สัน ความยาวเฉลี่ย 18.52 เซนติเมตร ใบข้าวมีความยาวเฉลี่ย 94 เซนติเมตร ค่าใบสูงที่สุดและต่ำสุดคือ 96 และ 92 เซนติเมตร  ลิ้นใบมีลักษณะเป็นแผ่นรูปร่างแหลม ยาว 1 – 1.6 เซนติเมตร มักแยกออกจากกัน แผ่นใบเรียบจนถึงมีขนกระจายทั่วแผ่นใบ มีลักษณะสีเขียว แผ่นใบใต้ใบธงมีลักษณะทั้งตั้งตรงและนอน สีของข้อต่อใบกับกาบใบมีสีเขียวอ่อน ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ยาว 8 – 35  เซนติเมตร ผลยาว 4.5 7 มิลลิเมตร กว้าง 2.3 – 3.5 มิลลิเมตร รูปร่างส่วนใหญ่มักเป็นรูปทรงคล้ายรูปไข่ รูปรี หรือ ทรงกระบอก รวงข้าวมีขนาดความยาวสุด 31.5  เซนติเมตร และขนาดสั้นสุดยาว 22.50 เซนติเมตร  จำนวนเมล็ดสูงสุดเฉลี่ยต่อ 1 รวงข้าวคือ  88.5 เมล็ด ใน 1 รวง จำนวนเมล็ดมากที่สุด 114 เมล็ด และเมล็ดน้อยที่สุดใน 1 รวงคือ 63 เมล็ดโดยมีระยะการเจริญเติบโตของข้าวเหลืองอ่อน สรุปได้ดังภาพที่ 1 ภาพที่ 2

อภิปรายและสรุปผลการวิจัย

      สรุปผลการวิจัย การทดลองปลูกข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนตั้งแต่ข้าวงอกถึงออกรวงใช้ระยะเวลา 144 วัน มีแผ่นใบและกาบใบสีเขียว สีของหูใบสีขาว ข้าวส่วนใหญ่ทรงกอตั้ง จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอกส่วนใหญ่ 95 110 วัน น้ำหนัก 100 เมล็ดข้าวเปลือกของเหลืองอ่อนหนักมากที่สุด 5.10 กรัม ข้าวเหลืองอ่อนเบาที่สุด 2.10 กรัม

      ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนเป็นข้าวเฉพาะถิ่นที่มีปลูกในอำเภอประจันคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นข้าวนาปี โดยจะเริ่มปลูกข้าวประมาณเดือนเมษายน (ช่วงที่ฝนเริ่มตก) เนื่องจากวิธีการทำนาโดยการหว่านสำรวย (ไม่มีการนำเมล็ดข้าวแช่น้ำก่อนปลูก) เมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะตกอยู่ตามซอกก้อนดินและรอยไถ เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดได้รับความชื้นก็จะงอก(ความรู้เรื่องข้าว, 2534)  ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนเป็นข้าวเจ้า ขึ้นน้ำ ไวต่อช่วงแสง กาบใบและปล้องสีเขียว เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียว(งานวิจัยของกองวิจัยและพัฒนาข้าว, 2555)  ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนมีนิเวศน์การปลูกประเภทข้าวขึ้นน้ำ จะปลูกในนาที่มีน้ำท่วมขัง มีระดับน้ำลึก 1-3 เมตร ลักษณะพิเศษของข้าวเหลืองอ่อนคือ มีความสามารถในการยืดปล้อง (internode elongation ability) จึงทำให้ต้นข้าวมีลักษณะสูงสามารถหนีน้ำได้ น้ำจึงไม่ท่วมจนต้นข้าวเน่าตาย นับเป็นลักษณะที่ดีของข้าวพื้นเมืองพันธุ์นี้ สอดคล้องกับการศึกษาของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว(2546) ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดที่ลักษณะกายภาพของเมล็ดไม่ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งลักษณะดีที่ต้องการบางอย่างอาจจะมีในข้าวพันธุ์พื้นเมือง(จารุวรรณ บางแวก และคณะ, 2532) ลักษณะทางสัณฐานวิทยาข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนคือ กอตั้ง ใบสีเขียว รวงแน่นปานกลาง ใบธงตั้งตรง ระแง้ถี่ปานกลาง คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางและข้าวกล้องเมล็ดยาวเรียวคล้ายคลึงกับการศึกษาของสมพงษ์ ชูสิริ(2546) กาบใบสีเขียว ยอดเกสรสีขาว เป็นข้าวเจ้า ไม่มีลักษณะสีอื่นปรากฏตามส่วนต่างๆ ของต้นข้าว(เปรมกมล มูลนิลตา และคณะ, 2557) ผลผลิตของข้าวพื้นเมืองค่อนข้างต่ำ ข้าวคุณภาพต่ำ จึงทำให้ขายได้ราคาต่ำ แต่เมล็ดข้าวเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี เนื่องจาก ข้าวสารเมล็ดเรียวยาว แต่คุณภาพที่เป็นข้อด้อยของข้าวพื้นเมืองพันธุ์นี้คือตรงที่คุณสมบัติของข้าวที่หุงสุกแข็ง กล่าวคือลักษณะเมล็ดข้าวไม่ค่อยอ่อนนุ่ม รสชาติจึงไม่ค่อยอร่อย กลุ่มผู้บริโภคจึงไม่ค่อยต้องการ จึงมีผู้ปลูกข้าวพันธุ์นี้น้อยมากสอดคล้องกับผลกาศึกษาของสำเริง แซ่ตัน(2546)

ข้อเสนอแนะ

      ในการทำการวิจัยในครั้งนี้ซึ่งเป็นการศึกษาสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในเขต จังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้วิจัยเล็งเห็นว่า ในปัจจุบันชาวนาไทยของเราแทบจะไม่ใช่วิธีการทำนาแบบเก่าเลย วิธีที่บรรพบุรุษเราทำกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ในปัจจุบันแทบไม่มีให้เราได้เห็น ชาวนาไทยในปัจจุบันใช้เงินลงทุนเยอะขึ้น ควายหมดบทบาทในการทำนา เพราะถูกแทนที่ด้วยรถไถนา อุปกรณ์ที่ใช้ทำนาโดยใช้ควายชาวบ้านขายไปเสียหมด มีเหลือให้ดูเป็นบางส่วนไม่ครบทุกชิ้น การลงแขกหรือวานจะทำได้ลำบากขึ้น หากทำได้ก็ใช้ทุนสูงขึ้น ความสามัคคี เสน่ห์ความสวยงามของวิถีชีวิตเกษตรกรลดลง มีการใช้สารเคมีในการทำนามากขึ้นภูมิปัญญาทางด้านความเชื่อเช่นการเรียกขวัญข้าวแทบจะสูญหายไปการทำนาเน้นเพื่อเงินมากกว่าที่จะทำเพื่อไว้กิน เกษตรกรย้ายถิ่นฐานออกไปประกอบอาชีพอื่นมากขึ้น เหลือผู้สูงอายุกับเด็กเฝ้าบ้านเป็นส่วนมาก คนทำการเกษตรน้อยลง เนื่องจากขายที่ดินทำกิน หรือเปลี่ยนอาชีพ ผู้วิจัยจึงอยากจะฝากถึงชาวนาไทยในปัจจุบันให้เล็งเห็นขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ  ของบรรพบุรุษเราไว้บ้าง เพราะจะได้เป็นการอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราได้เรียนรู้กันในอนาคต

ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. การอนุรักษ์ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน สามารถอนุรักษ์ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนไว้ได้โดยชาวนาควรมีการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวไว้ รัฐบาลควรมีการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพื่อไม่ให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองสูญหายไป ควรลดเลิกการใช้สารเคมีเพื่อไม่ให้ข้าวกลายพันธุ์ การอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีการทำนาแบบดั้งเดิม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าข้าวพื้นเมือง รวมทั้งสร้างค่านิยมในการบริโภคข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้กว้างขวาง หน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์และส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองควรเข้ามาให้ความรู้แก่ชาวนาและสนับสนุนในเชิงอนุรักษ์ บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรเน้นการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าการปลูกข้าวพันธุ์ผสมเชิงธุรกิจ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการฟื้นฟูรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองระดับตำบล โดยนำพันธุ์ที่เคยสูญหายกลับคืนมาปลูก

2. ภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวพื้นบ้าน ควรมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สาธิต รวมทั้งมีการจัดพิธีทำขวัญข้าวเนื่องในโอกาสต่างๆ เพื่อรื้อฟื้นให้บททำขวัญข้าวไม่เลือนหายไป หรือจัดทำเป็นวิดีทัศน์และภาพยนตร์เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นวัฒนธรรมการปลูกข้าวของจังหวัดปราจีนบุรีไว้

3. ถ้าเกษตรกรจะเลิกปลูกข้าวพันธุ์นี้ ในขณะที่ชาวนายังปลูกข้าวอยู่นั้น แทนที่จะปลูกข้าวอย่างเดียว ควรปลูกพืชอย่างอื่นด้วย หรือกล่าวคือภาครัฐต้องทำให้ชาวนามีรายได้จากส่วนอื่นด้วย

4. ในการทำวิจัยข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนควรนำเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถช่วยในการวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมในระดับโมเลกุลเพื่อความแม่นยำและถูกต้องมากขึ้นและได้ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่ตรงตามสายพันธุ์ไปใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การนำข้าวพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สนับสนุนงานทุนวิจัยเรื่องนี้

 

เอกสารอ้างอิง

กองวิจัยและพัฒนาข้าว. (2555). พันธุ์ข้าวรับรอง ปี 2555. วารสารกรมการข้าว กรุงเทพฯ, 1(1), 8-11.

จารุวรรณ บางแวก สุวัต นาคแก้ว และ ประโยชน์ เจริญธรรม. (2532). เอกสารวิชาการ การศึกษา ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองในเขตศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี. ปราจีนบุรี: ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 12-17.

ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ. (2543). ข้าวพื้นเมืองไทย. เอกสารวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อ พันธุ์ข้าวแห่งชาติ. ปทุมธานี: ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 5-9.

ดำรง ติยวลีย์ และ กระจ่าง พันธุมนาวิน. (2512). เอกสารทางวิชาการเลขที่ 2 การศึกษาพันธุ์ข้าว ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย.เชียงใหม่: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ดำเนิน กาละดี และศันสนีย์ จำจด, (2543), ความหลากหลายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของข้าวก่ำพันธุ์ พื้นเมือง รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องพันธุศาสตร์การปรับปรุงพันธุ์และโภชศาสตร์เกษตร ขอข้าวเหนียวดำ.เชียงใหม่: สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 12-  18.

ธนพร ขจรผล ณรงฤทธิ์ เภาสระคูและ ชลธิรา แสงศิริ. (2555). วารสารวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 43(2): 601-604.

นิลวรรณ เพชรบูระณิน.(2548). พลังแห่งเอนไซม์บำบัด. กรุงเทพฯ: ฟุลเลอร์ ดิคซี. 220 หน้า.

นันทิยา พนมจันทร์ และ วิจิตรา อมรวิริยะชัย. (2554). ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำทะเลน้อย 215 จังหวัดพัทลุง โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด. วารสารหาดใหญ่วิชาการ. 9: 25-31.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์.(2559). ส่งออกข้าว 2558 ปี ไทยเสียแชมป์ให้อินเดีย. 27 มกราคม 2559.

วาสนา ผลารักษ์. (2523). ข้าว. ขอนแก่น: ภาควิชาพืชไร่คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.141 หน้า.

วิไลลักษณ์ พละกลาง. (2541). ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทย. ปราจีนบุรี: ศูนย์วิจัยข้าว ปราจีนบุรี. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 472 หน้า.

สมพงษ์ ชูสิริ. (2546). ข้าวเจ้าพันธุ์พัทลุง. ค้นเมื่อ 2 เมษายน 2559, จาก http://slbkb.psu.ac.th/xmlui/handle/2558/1768

สำเริง แซ่ตัน. (2546). ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและ พัฒนาข้าวกรมการข้าว.

. (2553). ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและ พัฒนาข้าวกรมการข้าว.

อรพิน วัฒเนสก์. (2539). การรวบรวม อนุรักษ์ ประเมิน ลักษณะและจัดหมวดหมู่ข้าวพื้นเมืองในเขตศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก.พิษณุโลก: ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สถาบันวิจัย ข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์. 215 หน้า.

อรพิน วัฒเนสก์. (2550). การประเมินลักษณะประจำพันธุ์ข้าวตามแบบบันทึกมาตรฐานของสถาบันวิจัย

ข้าวนานาชาติ. เอกสารประกอบการอบรม เรื่อง การจำแนกและประเมินลักษณะเชื้อ พันธุกรรมข้าว”. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าวเขตจตุจักร.

อรวรรณ สมใจ จรัสศรีนวลศรีและ ไพศาล เหล่าสุวรรณ. (2553). ความหลากหลายทางพันธุกรรมของ ข้าวพื้นเมือง บริเวณลุ่มน้ำนาทวีจังหวัดสงขลา โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด และเครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์.วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 41: 89-97.

Chang, T.T., Bardenas, E.A. and Rosario, A.C. (1979). The Morphology and Varietal Characteristic of the Rice Plant. Technical Bulletin 4. Los Banos, Laguna: International Rice Research Institute. 38 pp.

Morishima, H., Y. Sano and H. I. Oka. (1980). Condition for regenerating success and its variation in common wild rice. Tokyo: National Institute of Genetics.