อินกับจัน…ต่างกันอย่างไร

อินกับจันต่างกันอย่างไร

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ จัน เป็นพืชวงศ์เดียวกับ พลับ ตะโก และมะเกลือ นิยมปลูกในวัด รูปร่างผลจะกลมแป้น เมื่อสุกมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรง รสชาติหวานอมฝาด มีขายในตลาดสดในชนบทช่วงกลางฤดูฝนในราคาไม่แพง ผู้ใหญ่มักซื้อกลับมาที่บ้านให้ลูกหลานรู้จัก เนื่องจากมีกลิ่นหอมแรง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบ  ผลของจันมีสองแบบคือ ผลที่กลมแป้นหรือค่อนข้างแบนคล้ายขนมเปี๊ยะ แบบนี้จะไม่มีเมล็ด เรียกว่า “ลูกจัน ส่วนผลที่กลมคล้ายส้มเขียวหวานนั้น จะมีเมล็ด 2-4 เมล็ด เรียกลูกอิน” เมล็ดขนาดใหญ่นี้ นำไปเพาะกล้าได้ง่าย  สรุปว่า จันกับอินนั้น เป็นชนิดเดียวกัน เกิดบนต้นเดียวกัน แต่มีข้อน่าสังเกตว่า บางปีต้นเดียวกันนี้ออกผลเป็น “ลูกจัน”ทั้งหมด บางปีก็ออกผลเป็น “ลูกอิน” ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาหาสาเหตุต่อไป

จัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros decandra Lour.

ชื่อวงศ์ EBENACEAE

ชื่ออื่นๆ จันอิน จันโอ จันขาว จันลูกหอม อิน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

             ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 20 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีดำ กิ่งก้านหนาแน่น เรือนยอดเป็นพุ่มหนา ยอดอ่อนและกิ่งก้านมีขนนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 6-9 ซม. โคนใบมนสอบแคบ ปลายใบสอบทู่ หรือแหลม ขอบใบเรียบ ใบเรียบเป็นมันวาว สีเขียวเข้ม ใบอ่อนมีขนสีแดงคลุม ดอกแยกเพศคนละดอก อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้เป็นช่อเล็กๆ ช่อหนึ่งมีประมาณ 3 ดอก มีกลิ่นหอม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท สีขาวนวล ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกลักษณะคล้ายกับดอกตัวผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆตามกิ่งเล็กๆ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ โคนเชื่อม ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก กลีบดอกสีน้ำตาลอ่อน เชื่อมกันเป็นรูปคนโท ผลสด แบบเบอร์รี เส้นผ่านศูนย์กลางผล 4-6 ซม. ผลมีสองรูปร่างคือทรงกลมแป้น ผิวเกลี้ยง เรียกว่าจัน หรือลูกจัน และทรงกลมเรียกว่าอินหรือลูกอิน ซึ่งลูกอินจะมีเมล็ด ผลดิบมีสีเขียวเข้มปนเทา ผิวผลเรียบ เมื่อสุกสีเหลือง มีกลิ่นหอมรับประทานได้ กลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล เมล็ดกลมรี สีน้ำตาล ขนาด 1.2 x 2.5 ซม.  มี 2-4 เมล็ดต่อผล

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ดที่ได้จากผลแบบ “ลูกอิน”

ประโยชน์ 1. ผลดิบอ่อน ใช้ต้มจิ้มน้ำพริก เป็นผักได้ หรือทำส้มตำแบบอีสาน โดยสับทั้งเปลือก ใช้แทน

มะละกอ ปรุงรสเปรี้ยวด้วยมะยมและมะเฟือง ผลสุกมีกลิ่นหอม รสหวานรับประทานได้หรือนำไปแปรรูปเป็นของหวาน

2. ผลช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เนื้อไม้มีรสขมปนหวาน เป็นยาบำรุงประสาท แก้ร้อนใน แก้ไข้ ขับพยาธิ แก่นใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่น ใช้เป็นยาแก้ไข้

3. สรรพคุณทางสมุนไพรคือ แก้ไข บำรุงเลือดลม แกร้อนในกระหายน้ำ บำรุงประสาท แก้เหงื่อตกหนัก ตับปอดพิการ ขับพยาธิ แก้สะอึก แก้ท้องเสีย แก้ไข้กำเดา

ข้อมูลอ้างอิง Phargarden ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 

จัน


อิน

ส้มซ่า : ส้มดีมีคุณค่า

ส้มซ่า : ส้มดีมีคุณค่า

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ

ส้มซ่าเป็นพืชตระกูลส้มชนิดหนึ่ง รูปลักษณ์ภายนอกดูคล้ายมะกรูด แต่เนื้อในและรสชาติไม่เหมือนมะกรูด  ในยุคปัจจุบันนี้ส้มซ่ากลายเป็นพืชที่มีคนรู้จักน้อย อาจจะคุ้นหูอยู่บ้างแต่น้อยคนจะได้เห็นของจริง ทั้งที่เป็นพืชสมุนไพรคู่บ้านมาตั้งแต่โบราณ ในสมัยก่อนหากบ้านใครมีสวนครัวก็มักจะปลูกต้นส้มซ่าติดสวนไว้ นิยมใช้ผิวและน้ำในผลปรุงรสอาหาร และแต่งกลิ่นอาหาร และใช้ทำเป็นยาสมุนไพรประเภทยาหอม เหตุผลที่ส้มซ่าถูกลืมเลือนไปนั้นก็น่าจะมาจากการนำมาใช้ประโยชน์ไม่หลากหลายอย่างเช่นมะนาวหรือมะกรูด ส่วนขั้นตอนในการปรุงเมนูที่ต้องใช้ส้มซ่านั้นค่อนข้างยุ่งยากไปสำหรับคนในสมัยปัจจุบัน อีกทั้งผลส้มซ่าไม่มีขายทั่วไป จะมีเฉพาะในแหล่งที่มีการทำอาหารสูตรโบราณและแหล่งผลิตยาสมุนไพรเท่านั้น ผลส้มซ่าจึงมีราคาแพงถึงผลละ 15 บาท  ส้มซ่าถูกน้ำมาใช้ในการปรุงอาหารชาววังมาแต่สมัยโบราณหลายชนิด  เช่น หมี่กรอบ ซึ่งมีร้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 5 เป็นเจ้าเก่าดั้งเดิมที่เคยทำถวายพระองค์ที่ตลาดพลู กรุงเทพฯ       รวมทั้งอาหารที่ชื่อว่า “ไส้กรอกปลาแนม” ซึ่งในส่วนของปลาแนมซึ่งมีแป้งและหนังหมูเป็นส่วนผสมหลักนั้นก็ต้องมีส่วนผสมของผิวส้มซ่าหั้นฝอยจึงจะได้รสชาติดั้งเดิม น้ำพริกรสหวานกลมกล่อมสำหรับขนมจีนนั้นก็ต้องมีส่วนผสมของน้ำส้มซ่า และผลส้มซ่าผ่าครึ่งลอยอยู่ในภาชนะบรรจุน้ำพริกนั้น บทความนี้จะไขข้อข้องใจให้ได้รู้จักส้มซ่ากันอย่างแพร่หลายมากขึ้น และส่งเสริมการปลูกเพื่อเสริมรายได้แก่ผู้สนใจด้วย


ส้มซ่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus aurantium var. aurantium

ชื่อวงศ์ RUTACEAE

ชื่ออื่นๆ มะขุน ส้มส่า มะนาวควาย ส้มมะงั่ว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ไม้ต้น สูง 3-8 เมตร เปลือกลำต้นสีดำ ทรงพุ่มกลม มีกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม กิ่งมีหนามแหลมสั้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ มีต่อมน้ำมันเป็นจุดกระจายทั่วใบ ทำให้มีกลิ่นหอม ตัวใบแบ่งเป็นสองส่วน ครึ่งบนเป็นแผ่นกว้างรูปไข่ขนาด 7x10 ซม. ครึ่งล่างแผ่เป็นปีกแคบคล้ายรูปสามเหลี่ยม ขนาดกว้างถึง2x3 ซม. ใบหนา สีเขียวเข้มขอบใบเรียบหรือมีจักเล็กน้อย ดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มออกที่ซอกใบ กลีบสีขาวมีกลิ่นหอมแรง กลีบดอก มี 4-5 กลีบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลทรงกลม ขนาดส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 ซม. มี 10-12 ห้อง เปลือกหนา สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิวผลเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย  กุ้งหยาบสีส้มเหลืองมีกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดขนาด 0.4-0.6 มม. จำนวน 25-25 เมล็ดต่อผล

การขยายพันธุ์ เพาะกล้า และตอนกิ่ง

การปลูก ปลูกบนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ได้แสงแดดไม่น้อยกว่าครึ่งวัน

การใช้ประโยชน์ 1. ผิวผล และน้ำในผล ใช้ประกอบอาหาร

2. เปลือกผล รสปร่าหอมใช้ทำยาหอมแก้ลมวิงเวียนหน้ามืดตาลาย แก้ท้องอืดเฟ้อ

3. น้ำในผล รสเปรี้ยวอมหวาน กัดฟอกเสมหะแก้ไอ ฟอกโลหิต

4. ใบ รักษาโรคผิวหนัง

ความหลากหลายของมันมือเสือพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นของพื้นที่บ้านศรีสรรเพชญ์ ตำบลอู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี

ชื่อเรื่อง ความหลากหลายของมันมือเสือพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นของพื้นที่บ้านศรีสรรเพชญ์ ตำบลอู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้วิจัย  รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนี สว่างอารมณ์, อาจารย์ภัทรภร เอื้อรักสกุล, ดร.ประกรรษวัต จันทร์ประไพ, นางสาว พิมชนก ชื่นบาน, นางสาวณัฐกาญจน์ โชติงาม และ นายคมสันต์ ขุนสิงห์

มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ปี พ.ศ. 2560

บทคัดย่อ

   งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1.ศึกษาความหลากหลายของพืชสกุลมันมือเสือ 2. การทดลองหาสภาวะที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์พืชมันมือเสือโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 3.การวิเคราะห์สารสำคัญจากหัวพืชมันมือเสือพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก   วิธีการศึกษาใช้การสำรวจ สัมภาษณ์และการทดลอง ผลการวิจัยพบว่าพืชมันมือเสือที่เกษตรกรปลูกมี 2 ชนิดคือ Dioscorea esculenta var. esculenta (Roxburgh ex Prain &Burkill) R. Knuth และ var. spinosa (Lour.) Burkill นอกจากนี้มีการปลูกมันสกุล Dioscorea ชนิดอื่นอีก 3 พันธุ์ คือมันนกหรือมันเห็บ (D. bulbifera L.) มันเลือดหรือมันแข้งช้าง (D. alata L.) และมันม่วง (D. alata L.) ในส่วนการขยายพันธุ์มันมือเสือด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในสูตรอาหาร Murashige & Skoog (MS) ที่เติมฮอร์โมนกลุ่มไซโทไคนิน(BAP)ในระดับ 0.0, 0.5, 1.0, 1.5, 2.0 mg/l และ BAP 1.5 mg/l ร่วมกับ NAA 0.5 mg/l และถ่านกัมมันต์ร้อยละ 0.1 พบว่าการขยายพันธุ์มันมือเสือ D. esculenta var. spinosa โดยใช้ BAP 1.50 และ 2.0 mg/l ชักนำให้พืชมีจำนวนยอดมากที่สุดและ BAP 1.5 + NAA  5 mg/l สามารถกระตุ้นความสูงของพืชและส่งเสริมการเจริญของรากได้อย่างรวดเร็วกว่าชุดการทดลองที่ไม่ได้เติมฮอร์โมน NAA ส่วนมันมือเสือชนิด D. esculenta var. esculenta พบว่า BAP 1.0 mg/l สามารถชักนำให้เพิ่มปริมาณยอดได้มากที่สุด และ BAP 1.5 mg/l ชักนำเกิดรากมากที่สุด ส่วน BAP   1.5 mg/l + NAA  0.5 mg/l ชักนำการเกิดแคลลัสได้ดี การวิเคราะห์สารในหัวพืชมีโปรตีนร้อยละ 1.66 ไขมันร้อยละ 0.29 เส้นใยร้อยละ 0.65 แป้งมีปริมาณอะไมโลสร้อยละ 20 อะไมโลเพคตินร้อยละ 19 และสารสำคัญที่มีได้แก่สารเทอร์ปินอยด์ ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน แทนนิน และแอลคาลอยด์

คำสำคัญ: พืชสกุลมันมือเสือ (Dioscorea spp.)  พืชเศรษฐกิจท้องถิ่น (Native Economic Plants)  บ้านศรีสรรเพชญ์ (Baan Sri Sunpetch)


 

Title Diversity of Dioscorea spp. Native Economic Plants in Baan Sri Sunpetch  Tambon U-Thong,  Supan Buri Province

Researchers Associate professor Dr. Wantanee Sawangarom, Pattaraporn U-raksakul, Dr. Pragatsawat Chanprapai, Ms. Phimchanok chuenban, Ms. Natthakarn  Chotngarm,  Mr. Komsan  Khunsing

University Bansomdejchaopraya Rajabhat University

Year 2017

Abstract

   Diversity of Dioscorea spp. the native economic plants in Baan Sri Sunpetch, Tambon U-Thong, Supan Buri Province has objectives to study the varieties of  the Dioscorea species, the experiment of plant propagation by using tissue culture and analysis of chemical composition in tuber of Dioscorea species which the farmer favorite grown.     The study used surveying, interview and experimental method. Then the results revealed that they planted lesser yam in 2 varieties, Dioscorea esculenta var. esculenta (Roxburgh ex Prain& Burkill) R. Knuth and var. spinosa (Lour.) Burkill. Besides these there were planted the other 3 species of Dioscorea ; man nok or kling klang dong (D. bulbifera L.), man lueat or man khaeng chang (D. alata L.) and man moung (D. alata L.). The propagation of plant by tissue culture in Murashige & Skoog (MS) media supplement with activated charcoal 0.1% and cytokinin; BAP 0.0, 0.5, 1.0, 1.5, 2.0 mg/l and BAP 1.5 + NAA 0.5 m/l, the results showed that for D. esculenta var. spinosa the treatment of BAP 1.5 and 2.0 mg/l was the best of plant treatment which has produced number of shootlets and the most highest stem. The treatment with combination of BAP 1.5 mg/l + NAA 0.5 mg/l could stimulate stem elongation and root development better than the other treatments which did not used NAA supplement. For the D.esculenta var. esculenta found that BAP 1.0 mg/l induced the most of shootlets. The media supplemented with BAP 1.5 mg/l induced rootlets better than the others. Besides these the media of BAP 1.5 mg/l and BAP 1.5 mg/l + NAA 0.5 mg/l could stimulate plant to produce callus also. The preliminary study of chemical composition in tuber found protein 1.66 %, fat 0.29 %, fiber 0.65%, starch; amylose 20.00% and amylopectin 19%. The other metabolites found were terpenoid, flavonoid, saponin, tannin and alkaloid also.

Keywords:  Dioscorea spp., Native Economic Plants, Baan Sri Sunpetch


 

ผลการวิจัย

   งานวิจัยเรื่องความหลากหลายของมันมือเสือพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นของพื้นที่บ้านศรีสรรเพชญ์ ตำบลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาความหลากหลายของพืชสกุลมันมือเสือ (Dioscorea spp.) ที่มีในพื้นที่บ้านศรีสรรเพชญ์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี การทดลองหาสภาวะที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์พืชมันมือเสือที่พบในพื้นที่บ้านศรีสรรเพชญ์ ฯ โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระดับห้องปฏิบัติการ และทดลองหาสารสำคัญจากพืชสกุลมันมือเสือพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ในครั้งนี้ มีผลการวิจัยดังนี้

1. การศึกษาความหลากหลายชนิดมันมือเสือ
2. การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ
3. การหาสารสำคัญในพืช

1. การศึกษาความหลากหลายชนิดมันมือเสือ

   การเก็บตัวอย่างหัวมันมันมือเสือจากแปลงปลูกของเกษตรกร มาศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาและอนุกรมวิธานในห้องปฏิบัติการ พบว่ามันมือเสือที่ได้มาจากแปลงปลูกของเกษตรกรมี 2 สายพันธุ์ คือ Dioscorea esculenta var. spinosa (Lour.) Burkill และDioscorea esculenta var. esculenta (Roxburgh ex Prain &Burkill) R. Knuth

1.1 อนุกรมวิธานและสัณฐานวิทยาของมันมือเสือ 2 varieties

      การตรวจสอบลักษณะอนุกรมวิธาน(Key to Dioscorea esculenta var. spinosa and  D. esculenta var. esculenta)  โดยใช้แนวทางของ Thawatchai Santisuk และ Kai Larsen(2009) รูปวิธานของมันมือเสือ 2 varieties มีดังนี้

1. ลำต้นพัน (หลัก) เวียนทางด้านขวา (clockwise) ใบติดแบบตรงข้าม (opposite)

1. ลำต้นพัน (หลัก) เวียนทางด้านซ้าย (anticlockwise) ใบติดแบบสลับ(alternate) ………………….

2  ใบประกอบ (compound leaves)

2 ใบเดี่ยว(simple leaf)   …………………..

ขอบใบเรียบ เว้าตรงโคนใบ      

3 ดอกมีเกสรตัวผู้ 3 สมบรูณ์ 3 อันไม่สมบูรณ์

ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ 6 อัน สมบูรณ์ทุกอัน                       ………………………..

4 ไม่มีขนปกคลุมลำต้น

4. มีขนปกคลุมลำต้น (เห็นชัดเจนตอนเป็นต้นอ่อน)     …………………………

5. ขนไม่เป็นรูป T-shape ช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกย่อย 1-3 ดอก

5. ขนเป็นเส้นรูปตัวที มีดอกเดี่ยวติดอยู่บนช่อดอก ……….มันมือเสือ (Dioscorea esculenta)

6. ลำต้นไม่ปีน/พันสูงเกิน 3 เมตร รากพืชไม่มีหนาม ในปีแรกสร้างหัวสะสมอาหาร ซึ่งหัวที่สะสมอาหารต่อต้นอาจจะมีมากถึง 20 หัว ลักษณะของหัวแบนออกและคล้ายกับมือเสือ จึงเรียกว่ามันมือเสือ(tiger paw yam) ………….….. a)    D. esculenta var. esculenta

6. ลำต้นไต่ปีป่าย/พันสูงอย่างน้อย 5 เมตร มีอายุอยู่ได้หลายปี สร้างหัวเก็บอาหารใต้ดินเช่นกัน จำนวนหัวมีตั้งแต่ 1, 2 หรือมากกว่า ต่อ1 ต้นพืช ตามลำต้นและรากมีหนามสั้นๆ ลักษณะหัวพืชค่อนข้างกลมหรือยาวรีทรงกระบอก ไม่มีลักษณะแบนแบบกรงเล็บเสือ (tubers form often globose or short and cylindric with small rootlets outside) ………………. b)    D. esculenta var. spinosa

        สัณฐานวิทยาของพืชมันมือเสือแสดงดังภาพที่ 4.1, 4.2, 4.3, 4.4

ภาพที่ 4.1 ต้นมันมือเสือ

A ยอดต้นอ่อนที่เพิ่งงอก     B ใบและต้นอ่อนมีขนปกคลุม(pubescent)

C มันมือเสือที่แปลงเกษตรกร    D  ลำต้นเวียนซ้าย(anticlockwise)

ภาพที่ 4. 2 ลักษณะหัวมันมือเสือชนิด  a) D. esculenta var. esculenta (Lour.) Burkill

 

ภาพที่ 4. 3 ลักษณะหัวมันมือเสือชนิด b) D. esculenta var. spinosa (Lour.) Burkill R. Knuth

 

ภาพที่ 4. 4 ลักษณะสีเนื้อหัวมันมือเสือ สีขาวนวลของ (D. esculenta var. spinosa)

 

1.2 มันชนิดอื่นๆ ที่เกษตรกรปลูก

การสำรวจการปลูกมันของเกษตรกรพบว่ามีพันธุ์มันที่เกษตรกรปลูกมีอีก 3 ชนิดคือมันม่วง         (D. alata L.) มันเห็บ (D. bulbifera L.) และมันเลือดหรือมันแข้งช้าง (D. alata L.) ดังภาพที่ 4.5-4.7

ภาพที่ 4. 5 มันเห็บ (D. bulbifera L.)

 

ภาพที่ 4. 6 มันเลือดหรือมันแข้งช้าง (D. alata L.)

 

ภาพที่ 4. 7 มันม่วง (D. alata L.)

 

1.3 มูลค่าทางเศรษฐกิจของมันมือเสือ

การศึกษาผลตอบแทนที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันมือเสือ ในบ้านศรีสรรเพชญ์ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในแต่ละรอบฤดูการปลูกแต่ละครั้ง(รอบปี) โดยวิธีการสัมภาษณ์เกษตรกร พบว่าพืชมันมือเสือให้ผลผลิตหัวมันต่อไร่ มีน้ำหนักประมาณไร่ละ        2.5 – 3.0 ตันต่อไร่  ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ราคาของผลผลิตต่อกิโลกรัมมีตั้งแต่ กิโลกรัมละ 15 – 20 บาท หรือสูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลิตมันที่ออกสู่ตลาด ช่วงที่มีผลผลิตมากราคาจะต่ำ ถ้ามีผลผลิตออกน้อยราคาจะค่อนข้างสูง อาจมากกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม

2. การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ

2.1 มันมือเสือสายพันธุ์สิโนซา (D. esculenta var. spinosa)

     การศึกษาการเจริญของต้นมันมือเสือชนิด var.  spinosa ที่ใช้ตาพืชมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในสภาพที่ปลอดเชื้อในอาหารสูตร MS ที่เติมฮอร์โมนกลุ่มไซโทไคนิน(BAP)ในระดับ 0.0, 0.5, 1.0, 1.5, 2.0 mg/l และ BAP 1.5 mg/l ร่วมกับ NAA 0.5 mg/l และถ่านกัมมันต์ร้อยละ 0.1  เป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีผลการศึกษา ดังตารางที่ 4.1 และภาพที่ 4.8

ตารางที่ 4.1 การเติบโตและการเจริญของเนื้อเยื่อมันมือเสือ ชนิด D. esculenta var. spinosa

Treatmen ความเข้มข้นฮอร์โมน (mg/l) ค่าเฉลี่ยความสูงลำต้น (cm) *ค่าเฉลี่ยความสูงลำต้น ± SE ค่าเฉลี่ยจำนวนใบ (ใบ)  *ค่าเฉลี่ยจำนวนใบ ± SE
 BAP  NAA
T1  0  0  5.32  5.32 ± 0.47a  8.5  8.5 ± 0.64a
T2  0.5 0  4.62 4.62 ± 0..32a  11  11 ± 1.08ab
 T3  1  0  5.40  5.40 ± 0.37ab  10.5  10.5 ± 0.64ab
 T4  1.5  0  5.75  5.75 ± 0..69ab 10.2 10.2 ± 1.03ab
 T5  2 0  6.32  6.32 ± 0.06b 12.5  12.5 ± 0.86bc
 T6  1.5  0.5  7.80  7.80 ± 0.43a  13.5 13.5 ± 1.19c

* คือ ค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

* ค่าตัวเลขเฉลี่ยที่ตามด้วยตัวอักษรที่เหมือนกันในแนวตั้งไม่มีความแตกต่างทางสถิติที่ระดับ P<0.05 โดยวิธี DMRT

จากตารางที่ 4.1 การเจริญของต้นมันมือเสือชนิด var.  spinosa ที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้จะพบว่าส่วนสูงของต้นพืช(explant) ที่สูงที่สุดคือชุดการทดลองที่ 6 ด้วยค่าเฉลี่ยความสูง7.5 ± 0.43 cm รองลงไปคือ ชุดการทดลองที่ 5 ,4, ,3,1 และ 2 มีค่าเฉลี่ยความสูงที่ 6.325 ± 0.06, 5.75 ± 0.69, 5.40 ± 0.37,  5.32 ± 0.47 และ 4.62 ± 0..32 cm ตามลำดับ   ส่วนจำนวนใบของต้นพืชที่เกิดมากที่สุดคือชุดการทดลองที่ 6 มีจำนวนใบมากที่สุด คือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5 ± 1.19 ใบ ต่อจากนั้นคือชุดการทดลองที่ 5, 2, 3, 4 และ 1 ตามลำดับ ส่วนการเจริญทางคุณภาพของพืชพิจารณาได้จาก ภาพที่ 4.8

ภาพที่ 4.8 การเจริญเติบโตมันมือเสือชนิด D. esculenta var. spinosa (Lour.) Burkill 8 สัปดาห์

โดยสรุปพบว่าสูตรอาหารที่มี BAP 1.50 และ 2.0 mg/l ชักนำให้มีจำนวนยอดพืชมากที่สุดและสูตรที่มี BAP 1.5 + NAA  5 mg/l สามารถกระตุ้นความสูงของพืชและส่งเสริมการเจริญของรากได้อย่างรวดเร็วกว่าชุดการทดลองที่ไม่ได้เติมฮอร์โมน NAA

 

2.2 มันมือเสือสายพันธุ์เอสคูเลนตา (D. esculenta var. esculenta)

การเจริญของต้นมันมือเสือชนิด var.  esculenta ที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้มีผลการศึกษาดังตารางที่ 4.2 และภาพที่ 4.9

ตารางที่ 4. 2 การเติบโตและการเจริญของเนื้อเยื่อมันมือเสือ ชนิด D. esculenta var. esculenta

Treatmen ความเข้มข้นฮอร์โมน (mg/l) ค่าเฉลี่ยความสูงลำต้น (cm) *ค่าเฉลี่ยความสูงลำต้น ± SE ค่าเฉลี่ยจำนวนใบ (ใบ)  *ค่าเฉลี่ยจำนวนใบ ± SE
 BAP  NAA
T1  0  0  5.32  5.32 ± 0.47a  8.5  8.5 ± 0.64a
T2  0.5 0  4.62 4.62 ± 0..32a  11  11 ± 1.08ab
 T3  1  0  5.40  5.40 ± 0.37ab  10.5  10.5 ± 0.64ab
 T4  1.5  0  5.75  5.75 ± 0..69ab 10.2 10.2 ± 1.03ab
 T5  2 0  6.32  6.32 ± 0.06b 12.5  12.5 ± 0.86bc
 T6  1.5  0.5  7.80  7.80 ± 0.43a  13.5 13.5 ± 1.19c

* คือ ค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

* ค่าตัวเลขเฉลี่ยที่ตามด้วยตัวอักษรที่เหมือนกันในแนวตั้งไม่มีความแตกต่างทางสถิติที่ระดับ P<0.05 โดยวิธี DMRT

   จากตารางที่ 4.2 จะพบว่าส่วนสูงของต้นพืช(explant) ที่สูงที่สุดคือชุดการทดลองที่ 3 (BAP 1mg/l) ซึ่งมีความสูง 6.55 ± 0.49 cm รองลงไปคือชุดการทดลองที่ 1, 2, 4, และ 5 ตามลำดับ คือมีความสูง 6.1 ± 0.44, 5.5 ± 0.57, 5.4 ± 0.86, 4.22 ± 1.63 และ 3.7 ± 1.08 cm   ส่วนจำนวนใบของต้นพืชที่เกิดมากที่สุดคือชุดการทดลองที่ 3 มีจำนวนใบมากที่สุดคือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.5 ± 2.32ใบ ต่อจากนั้นคือ ชุดการทดลองที่ 1, 4, 2, 5และ 6 คือมีจำนวนใบเฉลี่ยอยู่ที่ 7.75 ± 0.85, 7.25 ± 1.03, 6.5 ± 1.65, 5 ± 1.87 และ 3.75 ± 0.94 ใบ ตามลำดับ  ส่วนการเจริญทางคุณภาพของพืชพิจารณาได้ ดังภาพที่ 4.9

ภาพที่ 4.9 การเจริญเติบโตมันมือเสือชนิด D. esculenta var. esculenta  8 สัปดาห์

โดยสรุปมันมือเสือชนิด D. esculenta var. esculenta นี้พบว่า BAP 1.0 mg/l สามารถชักนำให้เพิ่มปริมาณยอดได้มากที่สุด และสูตรอาหารที่เติม BAP 1.5 mg/l ชักนำเกิดรากมากที่สุด ส่วนในอาหารที่มี BAP  1.5 mg/l และ BAP   1.5 mg/l + NAA  0.5 mg/l ชักนำให้พืชมีการพัฒนาเป็นแคลลัสได้ดี

3. การหาสารสำคัญในหัวพืชมันมือเสือ

การหาสารสำคัญในหัวพืชมันมือเสือจากพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก(D. esculenta var. spinosa) โดยวิธีสกัดโดยใช้ Soxhlet’s apparatus ในหัวมันมือเสือมีโปรตีนร้อยละ 1.66 ไขมันร้อยละ 0.29 เส้นใยหยาบร้อยละ 0.65 แป้งมีปริมาณ อะไมโลส ร้อยละ 20 และอะไมโลเพคตินร้อยละ 19 (สุมลรัตน์ อัมพวันและคณะ(2557)

การหาสารสำคัญในหัวพืชมันมือเสือจากพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกโดยวิธีการตรวจสอบพฤกษเคมีเบื้องต้น ได้แก่ การตรวจสอบกลุ่มของสารเทอร์ปินอยด์ ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน แทนนินและแอลคาลอยด์ จากสิ่งสกัดเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน เอทธิลอะซิเตท และเมทานอล จากหัวมันมือเสือ พบว่า

สิ่งสกัดเฮกเซนให้เปอร์เซ็นต์ของสิ่งสกัดเพียง 0.01% ทำให้ไม่สามารถนำสิ่งสกัดนี้มาใช้ในการตรวจสอบพฤกษเคมีเบื้องต้นได้ ดังนั้น มีเพียงสิ่งสกัดไดคลอโรมีเทน เอทธิลอะซิเตท และเมทานอล                ที่สามารถนำมาตรวจสอบสารสำคัญเบื้องต้นได้ เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ในการศึกษาอื่นต่อไป ดังแสดงในตรารางที่ 4.3

ตารางที่ 4.3 สิ่งสกัดเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน เอทธิลอะซิเตท และเมทานอล ที่สกัดได้จากหัวมันมือเสือ

ตารางที่ 4.3 สิ่งสกัดเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน เอทธิลอะซิเตท และเมทานอล ที่สกัดได้จากหัวมันมือเสือ

สิ่งสกัด

% Yield (w/w)

Hexane (เฮกเซน)

0.01

Dichloromethane (ไดคลอโรมีเทน)

0.17

Ethyl Acetate (เอทธิลอะซิเตท)

0.46

Methanol (เมทานอล)

2.15

การตรวจสอบกลุ่มของสารสำคัญเบื้องต้นที่พบอยู่ในสิ่งสกัดไดคลอโรมีเทน เอทธิลอะซิเตท และเมทานอล ของหัวมันมือเสือ พบว่า ในสิ่งสกัดทั้ง 3 ชนิด มีกลุ่มของสารเทอร์ปินอยด์ ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน แทนนิน และแอลคาลอยด์ ทั้งหมด ดังแสดงในตารางที่ 4.4

ตารางที่ 4.4 สารองค์ประกอบหลักที่พบในสิ่งสกัดมันมือเสือ

กลุ่มของสาร ผลการตรวจสอบ*
 ไดคลอโรมีเทน  เอทธิลอะซิเตท  เมทานอล
 เทอร์ปินอยด์  + +++ +++
 ฟลาโวนอยด์  +  ++ ++
 ซาโปนิน  ++  + +++
 แทนนิน  +++  +++  +++
 แอลคาลอยด์  +  ++  ++

* (-): Negative test, (+): Weak positive test, (++): Positive test, (+++): Test strongly positive.

   จากตารางที่ 4.4 จะเห็นว่า แทนนิน เป็นกลุ่มของสารที่สามารถพบได้มากที่สุดในทั้งสามสิ่งสกัด เทอร์ปินอยด์ เป็นกลุ่มของสารที่สามารถพบได้มากในสิ่งสกัดเอทธิลอะซิเตทและเมทานอล ส่วนซาโปนินสามารถพบได้มากที่สุดในสิ่งสกัดเมทานอล จากภาพรวมแล้วนั้นสิ่งสกัดเอทธิลอะซเตทและเมทานอลจะพบกลุ่มของสารที่มีความใกล้เคียงกัน รวมถึงปริมาณอีกด้วย

   จากการตรวจสอบกลุ่มของสารที่พบในมันมือเสือเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า สิ่งสกัดที่ได้จากมันมือเสือนั้นสามารถนำไปใช้ในงานการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพได้หลากหลาย ได้แก่ antioxidant activity, anticancer activity รวมถึง antimicrobial activity ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าได้มีการนำไปทดสอบในโอกาสต่อไป

เสม็ด : ผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง

เสม็ด : ผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ เสม็ด เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับฝรั่ง ชมพู่ ใบอ่อนของเสม็ดถูกนำมารับประทานเป็นผักมาแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ผักที่กล่าวถึงนี้ ถูกเรียกชื่อง่ายๆว่า “ผักเม็ก” ซึ่งมีรสฝาดปนเปรี้ยวเล็กน้อย เคี้ยวมันๆ เป็นส่วนของยอดอ่อนสีขาวอมเขียวปนชมพู รสชาติอร่อย  นิยมรับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ ยำ อาหารเวียดนาม ขนมจีนหรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก นอกจากนี้ยังนำมาปรุงกับเครื่องปรุงเป็นลาบผักใส่ข้าวคั่ว ส่วนผลแก่ก็กินเล่นเป็นผลไม้ได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นสมุนไพรแก้ได้หลายอาการของโรค บทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จัก “เสม็ด” โดยละเอียดพร้อมภาพประกอบที่ชัดเจน


เสม็ด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium gratum  (Wight)S.N. Mitra

ชื่อวงศ์ MYRTACEAE

ชื่ออื่นๆ ไคร้เม็ด ยีมือแล เสม็ด เม็ก เสม็ดขาว เสม็ดแดง เม็ดชุน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ  สูง 4-8 เมตร  กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ทรงพุ่มแน่น ทรงกลมปลายแหลม ลำต้นสีน้ำตาล เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ดบางๆ ลอกออกได้ง่าย โคนต้นมักเป็นพูพอน ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ๆ  ใบหนา รูปหอกหรือรูปรีแคบ โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 6-12 ซม. ไม่มีก้านดอก กลีบดอกเล็กมาก 5 กลีบ เกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมาก ยาว 610 มม. ผลทรงกลมแบบมีเนื้อ เปลือกผลสีขาวขุ่นหรือชมพูอ่อน  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผล 5-8 มม. มีกลีบเลี้ยงติดที่ก้นผล มีเมล็ดเดียว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด หรือตอนกิ่ง

ประโยชน์

1. ใบอ่อน ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวใช้เป็นอาหาร รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ ยำ อาหารเวียดนาม ขนมจีนหรือเป็นผักจิ้ม น้ำพริก นอกจากนี้ยังนำมาปรุงกับเครื่องปรุงเป็นลาบผัก ส่วนผลแก่ก็กินเล่นเป็นผลไม้ได้

2. สรรพคุณทางสมุนไพร ด้วยน้ำมันจากใบ มีกลิ่นคล้ายการบูร เรียกว่า “น้ำมันเขียว” ใช้นวดแก้เคล็ดยอกปวดเมื่อย ปวดบวม แก้หมัด เหา ชุบสำลีอุดฟันแก้ปวดฟัน

3. ยอดอ่อน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียดในท้อง

4. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในบ้าน หรือสวนสาธารณะ เพราะมีความสวยงามทั้งทรงพุ่ม ดอกและผลที่เป็นช่อเรียงตัวคล้ายไข่มุก

กุหลาบ…ที่ไม่ใช่กุหลาบ

กุหลาบ…ที่ไม่ใช่กุหลาบ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ กุหลาบพุกาม กับ กุหลาบเมาะลำเลิง เป็นพรรณไม้วงศ์กระบองเพชรที่มีดอกสวยงาม เมื่อบานเต็มที่แล้วดูคล้ายกับดอกกุหลาบ เลยถูกตั้งชื่อให้มีคำว่า“กุหลาบ”นำหน้าชื่อ คำต่อท้ายก็บอกแหล่งที่มาว่าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่มีคำอธิบายเหตุผลของชื่อ คนที่นำมาปลูกประดับมักสับสนเรื่องชื่อของดอกไม้2ชนิดนี้ บทความทางวิชาการนี้จะช่วยให้ความกระจ่าง ทำให้สามารถจดจำได้ง่ายจากภาพประกอบที่นำมาประกอบอย่างครบถ้วน



กุหลาบพุกาม

ชื่อวิทยาศาสตร์   Pereskia  bleo  (Kunth) DC.
ชื่อวงศ์ CACTACEAE
ชื่อสามัญ Wax Rose
ชื่ออื่น  กุหลาบเทียม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 เมตร   โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งก้านอวบน้ำ และมีหนามแข็งขนาดยาวสีน้ำตาลแดง ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ กระจุกละกว่า10หนาม ใบเดี่ยวออกสลับ รูปรี ขอบขนานหรือรูปไข่กลับ  ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 7-18 ซม. ขอบใบเป็นคลื่น ก้านใบยาว ดอกสีส้มแดง ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มๆละ 3-5 ดอก เป็นช่อสั้นที่ปลายยอด บานวันเดียว ดอกทยอยบาน ปลายก้านเชื่อมติดกันกับฐานรองดอกมีใบประดับขนาดเล็ก 2-5 กลีบ กลีบดอกรูปไข่กลับ 10-15 กลีบ เรียงซ้อนกันหลายชั้น ปลายกลีบเว้าตื้นหรือมีติ่งแหลม กลีบชั้นนอกใหญ่กว่าชั้นใน เกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมาก ติดผลมาก ผลรูปกรวยแหลมคล้ายฝักบัวกว้าง4-5ซม.เมื่อแก่สีเหลือง เมล็ดสีดำขนาด4-5มม.จำนวน5-8เมล็ดต่อผล 

ขยายพันธุ์  ด้วยการปักชำกิ่ง


กุหลาบเมาะลำเลิง

ชื่อวิทยาศาสตร์    Pereskia grandiflora Haw.
ชื่อวงศ์    CACTACEAE
ชื่อสามัญ   Bastard Rose,  Rose Cactus
ชื่ออื่น กุหลาบเทียม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม คล้ายไม้พุ่มรอเลื้อย  สูง 1-4 เมตร   โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งก้านอวบน้ำ สีเขียวแกมม่วง และมีหนามแหลมคมสีน้ำตาลดำ ออกเป็นคู่ตามซอกใบ ใบเดี่ยว  หนาเป็นมัน ออกสลับ รูปรี รูปไข่ แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ   ขอบใบเรียบ ดอกสีชมพูอมม่วง ออกเป็นกระจุกจำนวน 5-10 ดอกที่ปลายกิ่ง บานวันเดียว จะทยอยบานวัน1-2 ดอก ฐานดอกคล้ายถ้วย มีใบประดับรูปไข่ กลีบดอก 6-8 กลีบ รูปไข่กลับเรียงซ้อนสลับ กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มี 3 กลีบ รูปไข่ เกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมาก ปลายเกสรเพศเมียสีขาว ออกดอกตลอดปี  ผลคล้ายฝักบัว แต่มักไม่ติดฝัก เมื่อแก่เป็นสีหลืองอ่อน  เมล็ดสีดำขนาด 2-4 มม. 4-6เมล็ดต่อผล

ขยายพันธุ์ :  โดยการปักชำกิ่ง 


 

การศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

บทความวิจัย : การศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

คณะครุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

การศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยี และ สื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

The Study of Instruction on The Master of Education Program in Educational Technology and Communication at Bansomdejchaopraya Rajabhat University

รศ.ดร.อำนวย เดชชัยศรี *


บทคัดย่อ

   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเมินผลสภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยได้แก่นักศึกษาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา รุ่น ๑/๒๕๔๘ในปีการศึกษา๒๕๔๘ประกอบด้วยศูนย์บัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจำนวน๑๔คนศูนย์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๒ (ตระการพืชผล) จำนวน๓๑คนรวมทั้งสิ้นจำนวน๔๕คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม๒ตอนตอนที่๑เป็นแบบอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามตอนที่๒เป็นแบบสอบถามสภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

   ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามคือจำนวนประชากร ๔๕ คน ประกอบด้วย เพศหญิงคิดเป็นร้อยละ ๖๖.๖๗ เพศชายร้อยละ ๓๓.๓๓ มีอายุระหว่าง ๒๐๓๐ ปีคิดเป็นร้อยละ ๖๐.๐๐มีตำแหน่งครูคิดเป็นร้อยละ ๘๖.๖๗มีประสบการณ์ในการทำงานระหว่าง ๑๑๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๑๑ทำงานอยู่ในสังกัดรัฐบาลร้อยละ ๘๘.๘๙ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ด้านผู้เรียน ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดี(.๑๐) เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า การจัดสภาพการเรียนรู้ด้านผู้เรียนอยู่ในระดับดีทุกรายการ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ ความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปประยุกต์กับงานในหน้าที่ได้ดี(.๒๓) รายการที่มีค่าเฉลี่ยตํ่าสุดได้แก่ ความพร้อมทางด้านการเงิน(.๙๑)

   ด้านผู้สอน อยู่ในระดับดี(.๓๖) เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ด้านผู้สอนอยู่ในระดับดีทุกรายการ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น(.๕๐) รายการที่มีค่าเฉลี่ยตํ่าสุดได้แก่ วิธีการถ่ายทอดความรู้และดำเนินกิจกรรมหลากหลาย(.๒๐) ด้านวัสดุอุปกรณ์ มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการ(.๐๒) ด้านอาคารสถานที่ อยู่ในระดับดี(.๐๑) เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ด้านบรรยากาศของห้องเรียนมีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับดี(.๒๕) ค่าเฉลี่ยตํ่าสุดได้แก่ศูนย์อาหารให้บริการเพียงพอ(.๘๖)

—————————————

* ประธานหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

รูปแบบผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม

ชื่อผลงานทางวิชาการ  : รูปแบบผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม

ประเภทผลงานทางวิชาการ : งานวิจัย

ปีที่พิมพ์ : ปี 2556  ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (บัณฑิตวิทยาลัย)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : ดร.ตุลยราศรี  ประเทพ  สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัย ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

       งานวิจัย เรื่องรูปแบบผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยว เชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม” เป็นงานวิจัยของ  ดร.ตุลยราศรี  ประเทพ ดุษฎีนิพนธ์ สาขาการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  มหาวิทยาลัยราชภักบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ซึ่งในปัจจุบัน การท่องเที่ยว ถือว่าเป็นหัวใจของการได้มาซึ่งรายได้ ของแทบทุกประเทศ จึงต้องมีการพัฒนา และฟื้นฟู สภาพภูมิประเทศ แหล่งท่องเที่ยว การให้บริการอาหาร ที่พัก มัคคุเทศก์ สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย และอื่นๆ  ซึ่งทุกฝ่ายต้องตระหนักและให้ความสำคัญ  เพราะการท่องเที่ยวเป็นเป็นแหล่งรายได้ คนมีงานทำ ความเจริญเข้ามาแทนที่  ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีก็จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย ดังนั้นงานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม 2) ประเมินผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของระบบองค์กรการบริหารจัดการ สมาชิกในชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว 3) ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 4) ศึกษารูปแบบผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ผู้นำชุมชนคณะกรรมการชุมชน ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน จำนวน 337 คน เครื่องมือที่ใช้ในดำเนินการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล คือ 1) แบบประเมินตนเอง 2) การสังเกต และ 3) การสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพัทธ์และการวิเคราะห์ปัจจัยอิทธิพลการวิเคราะห์สมการโครงสร้างโมเดลเชิงสาเหตุ

  ผลการวิจัยพบว่า

       1) สภาพปัญหาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยเรียงลำดับ ดังนี้ ด้านระบบองค์กรการบริหารจัดการ  ด้านผู้ประกอบการ ด้านนักท่องเที่ยว มีค่าเฉลี่ยสูงสุด และด้านสมาชิกในชุมชนมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด

       2)   ผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม ในภาพรวมไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ย ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ความพร้อมผ่านเกณฑ์การประเมิน

       3) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยภาพรวม ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ย พบว่า ปัจจัยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และ ปัจจัยด้านกระบวนการบริหารจัดการ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด

       4) รูปแบบผลสัมฤทธิ์ของการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย ปัจจัย 4 ด้าน คือ ด้านระบบองค์การบริหารจัดการ ด้านผู้ประกอบ ด้านนักท่องเที่ยว ด้านชุมชน ซึ่งปัจจัยด้านผู้ประกอบการ ส่งผลต่อ ผลสัมฤทธิ์มากที่สุด รองมาเป็น ด้านนักท่องเที่ยว โดยด้านระบบองค์การบริหารจัดการ จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทั้งทางตรง และทางอ้อม

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

       1. ทราบสภาพปัญหาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม

       2.  ทราบผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วม

       3.  ทราบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม

       4. ได้รูปแบบผลสัมฤทธิ์ของการบริหารจัดการการบริหารจัดการการท่องเที่ยว แบบมีส่วนร่วม

       5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    สามารถนำผลการวิจัย ปรับปรุงและพัฒนาให้การท่องเที่ยวอยู่ได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

The Development of Computer-assisted Instruction on theInternet for Thai Subject of Prathomsuksa 5 Students atPrimary Demonstration School of Bansomdejchaopraya Rajabhat University

บุรินทร์ อรรถกรปัญญา* รศ.ดร.อำนวย เดชชัยศรี** วรุตม์ พลอยสวยงาม***

บทคัดย่อ

       การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 30 คน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบประเมินคุณภาพบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที

ผลการวิจัยพบว่า

1. ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทยมีค่าเท่ากับ 80.11/90.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนหลังเรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก

คำสำคัญ : บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เครือข่ายอินเทอร์เน็ต

Abstract

       The purposes of this research were 1) to develop and find the efficiency of the computer-assisted instruction (CAI) on the Internet for Thai Subject of Prathomsuksa 5 students at Primary Demonstration School of Bansomdejchaopraya Rajabhat University 2) to compare students’ learning achievement between before and after the experiment and 3) to study the students’ satisfaction towards learning through the developed CAI. The sample included thirty Prathomsuksa 5 students obtained through simple random sampling method.

       The research instruments involved 1) computer-assisted instruction (CAI) on the Internet 2) achievement test 3) CAI quality assessment and 4) a set of satisfaction questionnaire. Data were statistically analyzed in MEAN, standard deviation, and t-test.

* นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
** รองศาสตราจารย์พิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
*** อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

The findings revealed as follows.

1. The efficiency of the developed computer-assisted instruction (CAI) measured 80.11/90.33, which was higher than the set criteria 80/80.
2. The students’ learning achievement after learning through the developed CAI was higher than that before the experiment at significance level .05.
3. The students’ satisfaction towards learning through the developed CAI was generally found at the high level.

Keywords: Computer-assisted Instruction, the Internet

เสียงของพ่อ 

ชื่อผลงานทางวิชาการ : เสียงของพ่อ 

ประเภทผลงานทางวิชาการ : ละครเวที

ปีที่พิมพ์ 2560

มูลเพิ่มเติม : ละครเรื่องนี้ ได้จัดแสดง ณ หอประชุม อาคาร 1 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (22-24 มี.ค.60)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ :  อาจารย์ภัทรนันท์ไวทยะสิน  อาจารย์เพียรพิลาส พิริยาโภคานนท์ และคณะ  อาจารย์ประจำสาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา


       บ้านสมเด็จฯ ร่วมใจรวมพลัง ถวายความจงรักภักดีจัดแสดงละครเวที เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ  “เสียงของพ่อ”ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

       สืบเนื่องด้วยรัฐบาลโดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระมหากษัตริย์รัชการที่ 9) เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกไทย ในแบบพ่อ” ขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในการดำเนินงาน จึงจัดให้มีการจัดกิจกรรมละครเวทีเทิดพระเกียรติขึ้น ในชื่อโครงการ “ละครเวทีเทิดพระเกียรติ เสียงแห่งความจงรักภักดี  Sounds of Love” โดยมีวัตถุประสงค์ให้สถาบันระดับอุดมศึกษา ทั้งสถาบันของรัฐ และเอกชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นิสิต-นักศึกษา ที่เป็นเยาวชนของชาติได้ค้นคว้า เรียนรู้ และซาบซื้งในพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถที่พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 70 ปี แล้วนำมาสื่อสารแก่ประชาชนและบุคคลทั่วไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดี และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในรูปแบบของละครเวที

       สาขาวิชาโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ และวิทยาลัยการดนตรี    มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการดำเนินโครงการ “ละครเวทีเทิดพระเกียรติเสียงแห่งความจงรักภักดี : Sounds of Love เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยจัดแสดงละครเวที เรื่อง “เสียงของพ่อ” โดยเน้นกระบวนการของการผลิตละครเวทีแบบมีส่วนร่วมของนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ

เรื่องย่อ

เพื่อนสนิททั้ง 4 คน คือ ฝน กัส เป็ด ปุ๋ย เดินทางเข้ามาเรียนที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยปัญหาของทางครอบครัว จึงทำให้ เป็ดกับปุ๋ย ต้อยหยุดเรียนและกลับบ้านต่างจังหวัด ไปช่วยพ่อและแม่ทำไร่ ทำสวน จึงทำให้ฝนและกัสเรียนจบอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เพียงแค่สองคน หลังจากนั้น กัสตัดสินใจกลับบ้านเพื่อไปช่วยพ่อและแม่ทำงาน มีแต่เพียงฝนที่หางานทำในกรุงเทพฯ และกลับไปเยี่ยมพ่อและแม่ของตนเองเป็นครั้งคราว

เมื่อตัวละครเอกทั้ง 4 คน เติบโตขึ้นเรื่องราวในละครเวทีเรื่องนี้ ดำเนินเรื่องให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนเมืองและคนชนบทที่คู่ขนานกันไป สังคมเกษตรกรรม การทำไร่ทำนาทำสวน ปัญหาเรื่องดินทำกิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9) โดยทรงมอบที่ดินพระราชทานให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกิน สร้างงาน สร้างอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ความขัดแย้งและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างฝนกับพ่อ ทำให้พ่อและลูกไม่พูดคุยกัน ฝนต้องการให้พ่อและแม่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ กับฝนเพื่อความสะดวกสบาย และไม่ต้อการให้พ่อและแม่ลำบาก หากแต่ฝนไม่รู้ถึงความสำคัญของฝืนดินแห่งนี้ ที่พ่อไม่สามารถละทิ้งไปได้ เนื่องจากเป็นผืนดินของพ่อที่ยังคงกึกก้องไปด้วยพระราชดำรับของพระองค์ท่านที่พร่ำสอนแก่พวกเราเสมอมา

       จากผลงาน  ละครเวทีเทิดพระเกียรติเสียงแห่งความจงรักภักดี : Sounds of Love เรื่อง เสียงของพ่อที่จัดแสดง ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 22-24 มีนาคม 2560 ได้รับคำชมเชย และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ตามเจตนาของรัฐบาลโดยสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเน้นกระบวนการของการผลิตละครเวทีแบบมีส่วนร่วมของนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ ด้วยความมุ่งมั่น ความสามารถ และศักยภาพของสาขาโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ       โดยการนำ ของอาจารย์ภัทรนันท์ ไวทยะสิน  อาจารย์เพียรพิลาส พิริยาโภคานนท์และทีมงาน รวมทั้งวิทยาลัยการดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยาต้องขอปรบมือให้กับผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องทุกคน ที่ได้สร้างชื่อเสียงมาสู่สาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัย สมควรได้รับการยกย่องและเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติงานต่อไป


ประมวลภาพกิจกรรมลงพื้นที่เก็บข้อมูลสร้างบทละคร 

ณ โครงการพระราชดำริ หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี


ประมวลภาพกิจกรรมงานแถลงข่าวโครงการปลูกไทยในแบบพ่อ

ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วันที่ 1 กรกฎาคม 2559


ประมวลภาพกิจกรรมการซ้อมละครเวทีเทิดพระเกียรติ เรื่อง เสียงของพ่อ

ตลอดระยะ เวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2559 ถึง มีนาคม 2560)


ประมวลภาพกิจกรรมการการผลิตงานฉาก

ละครเวทีเทิดพระเกียรติ เรื่อง เสียงของพ่อ


ประมวลภาพกิจกรรมการจัดแสดงละครเวทีเทิดพระเกียรติ เรื่อง เสียงของพ่อ

วันที่ 22-24 มีนาคม 2560 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯเจ้าพระยา


ประมวลภาพกิจกรรมการจัดแสดงละครเวทีเทิดพระเกียรติ เรื่อง เสียงของพ่อ

วันที่ 22-24 มีนาคม 2560 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา


ประมวลภาพกิจกรรมเสวนาถอดบทเรียนการผลิตละครเวทีแบบมีส่วนร่วม จากต้นสู่ปลาย

วันที่ 8 เมษายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร


 

สามารถรับชม  บันทึกการแสดงสดได้ที่

วงมโหรี

ชื่อผลงานทางวิชาการ : วงมโหรี

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความ

ปีที่พิมพ์ : 2555

มูลเพิ่มเติม : ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง  กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

วงมโหรี      เป็นบทความที่   ผศ.สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ ผู้สอนในรายวิชาดนตรีปฏิบัติเพื่อธุรกิจบันเทิง    สาขาวิชาโฆษณาและธุรกิจบันเทิง  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง    ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้เรียบเรียงบทความนี้ ให้กับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง โดยผศ.สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาศิลปะการแสดง ตั้งแต่ปี พ.. 2554 จนถึงปัจจุบัน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่ง วงมโหรีได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน ปี พ..2555 อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลด้านวงเครื่องสายไทย ให้กับผู้สนใจ (นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน)  ได้สืบค้นและนำเป็นอ้างอิงข้อมูลทางวิชาการต่อไป  โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ  คำนิยามของคำว่า วง มโหรี   ลักษณะสำคัญของวงมโหรี  ประเภทของวงมโหรี โอกาสในการบรรเลง  บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยวงมโหรี  ประกอบด้วย  เพลงโหมโรง เพลงเถา เพลงตับ เพลงใหญ่ เพลงลูกล้อลูกขัด  เพลงเกร็ด เพลงลา  วิวัฒนาการ  สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของวงมโหรี  บุคคลที่มีชื่อเสียงและเกี่ยวข้องกับวงมโหรีของประเทศไทย


 

วงมโหรี

        สิทธิศักดิ์    จรรยาวุฒิ

    มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

       วงมโหรี เป็นมรดกวัฒนธรรมไทย ที่สำคัญและทรงคุณค่ายิ่ง มีโครงสร้าง องค์ประกอบ แบบแผน การพัฒนา การสืบทอด มาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน   ในการนำเสนอเนื้อหาสาระของวงมโหรีเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงในครั้งนี้ จะครอบคลุม นิยามลักษณะสำคัญของวงมโหรี ประเภทของวงมโหรี โอกาสในการบรรเลง หน้าที่และความหมายทางสังคมวัฒนธรรม การสืบทอดองค์ความรู้ สภาพการในอดีตจนปัจจุบัน การอ้างอิงนามองค์ศิลปิน และศิลปิน บางพระองค์บางท่านทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงบางท่านที่ยังคงมีชีวิตและยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลในลักษณะภาพรวมที่สำคัญและจำเป็นเพื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดนตรีของไทยที่มีการสั่งสมและพัฒนาจนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชนชาติใด แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณและวิถีความเป็นไทยที่จำเป็นต้องอนุรักษ์และพัฒนาต่อไปให้คงอยู่คู่สังคมไทยได้ในยุคกระแสโลกาภิวัฒน์เฉกเช่นในปัจจุบัน

นิยาม

       วงมโหรีหมายถึงวงดนตรีที่แสดงถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทางการแสดงดนตรีของไทยที่ทรงคุณค่ามีความโดดเด่นด้วยขนบประเพณีวิธีคิดวิธีปฏิบัติมีการดำเนินวิถีทางวัฒนธรรมดนตรีที่หล่อหลอมสืบทอดมาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันมีขอบเขตครอบคลุมถึงการประสมวงดนตรีเครื่องดนตรีรูปแบบการบรรเลงบทเพลงศิลปินผู้บรรเลงขับร้องนักประพันธ์เพลง  โอกาสการนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆและบริบทที่เกี่ยวข้อง สำหรับวงมโหรีที่กำหนดในนิยามนี้ ได้แก่ วงมโหรีเครื่องสาม วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก วงมโหรีเครื่องแปด วงมโหรีเครื่องเก้า วงมโหรีเครื่องสิบ วงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่ และวงมโหรีเครื่องใหญ่

ลักษณะสำคัญของวงมโหรี    

       วงมโหรีจัดเป็นวงดนตรีวงหนึ่งของไทยที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องดังปรากฏในงานจิตรกรรมประติมากรรมเช่นภาพปูนปั้นภาพแกะสลัก  ภาพเขียนลายทองบนตู้หนังสือ ฯลฯ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล  สาระจากงานจิตรกรรม ประติมากรรมเหล่านี้เป็นร่องรอยหลักฐานที่ใช้สืบค้นความเป็นมาเป็นไปอันเกิดมีขึ้นในวัฒนธรรมดนตรีของไทยที่ เป็นวิวัฒนาการของวงมโหรีของไทยได้   จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยามีภาพพุทธประวัติตอนที่ทรงฉัน ปัจฉิมบิณฑบาตรที่บ้านนายจุนทะกัมมารบุตร เมืองปาวา มีภาพเครื่องดนตรีคือ กระจับปี่ ซอสามสาย และทับ (โทน) ปัจจุบันอยู่ที่วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ จากภาพจิตรกรรมนี้แสดงให้เห็นว่า เป็นวงมโหรีเครื่องสาม   นอกจากนี้ยังพบภาพแกะสลักวงมโหรีเครื่องสี่อันประกอบด้วย คนสีซอสามสาย คนดีดกระจับปี่ คนตีทับหรือโทน และคนตีกรับที่เป็นผู้ขับลำนำ   ปรากฏอยู่บนฝาตู้ไม้จำหลักสมัยอยุธยา   ตรงกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ว่า มโหรีนั้นเดิมวงหนึ่งมีคนเล่นเพียงสี่คน เป็นคนขับร้องลำนำและตีกรับพวงให้จังหวะเองคนหนึ่ง คนสีซอสามสายประสานเสียงคนหนึ่ง คนดีดกระจับปี่ให้ลำนำคนหนึ่ง คนตีทับ (โทน) ประสานจังหวะกับลำนำคนหนึ่ง สังเกตเห็นได้ชัดว่ามิใช่อื่นคือการเครื่องบรรเลงพิณกับเครื่องขับไม้มารวมกันนั่นเอง เป็นแต่ใช้กระจับปี่ดีดแทนพิณ ตีทับแทนไกวบัณเฑาะว์ และเติมกรับพวงสำหรับให้จังหวะเข้าอีกอย่างหนึ่ง  ในหนังสือจินดามณีเล่ม 1 – 2 หน้า 45 ได้กล่าวถึงวงมโหรีไว้ว่า

นางขับขานเสียงแจ้ว      พึงใจ

  ตามเพลงกลอนกลใน     ภาพพร้อง

  มโหรีบรรเลงไฉน          ซอพาทย์

  ทับกระจับปี่ก้อง             เร่งเร้ารัญจวน

       พิจารณาตามโคลงบทนี้ วงมโหรีนี้มีห้าคนคือ นางขับร้องซึ่งน่าจะตีกรับด้วยคนหนึ่ง คนเป่าปี่หรือขลุ่ยคนหนึ่ง คนสีซอสามสายคนหนึ่ง คนตีทับคนหนึ่ง คนดีดกระจับปี่คนหนึ่ง จึงนับเป็นมโหรีเครื่องห้า จากภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตกในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 มีภาพของวงมโหรีเครื่องหก   มีผู้เล่น 6 คนประกอบไปด้วย ซอสามสาย กระจับปี่ โทน รำมะนา ขลุ่ย และคนขับลำนำ   สำหรับมโหรีเครื่องแปดนั้นมีการกล่าวว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีผู้คิดเพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองชนิดคือ ระนาดไม้และระนาดแก้ว   จากหลักฐานที่ปรากฏบนตู้ไม้ลายจำหลักเรื่อง ภูริทัตตชาดก สมัยกรุงศรีอยุธยา มีคนเป่าขลุ่ยสองคน และมีคนตีฆ้องวงอีก 1 คน ฆ้องวงที่เพิ่มมานี้ภายหลังปี่พาทย์นำไปผสมในวงปี่พาทย์   อาจสันนิฐานได้ว่าวงมโหรีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจะมีวงมโหรีเครื่องเก้าแล้ว    มีหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังวิหารพระนอนตรงเบื้องพระเศียรพระพุทธไสยาสน์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีผู้เล่นดนตรีสิบคนและบทเพลงยาวไหว้ครูมโหรีครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า (patakorn, 2554 : ระบบออนไลน์)

ขอพระเดชาภูวนาท พระบาทปกเกล้าเกศี

  ข้าผู้จำเรียงเครื่องมโหรี ซอกรับกระจับปี่รำมะนา

  โทนขลุ่ยฉิ่งฉาบระนาดฆ้อง ประลองเพลงขับกล่อมพร้อมหน้า

  จลเจริญศรีสวัสดิ์ ทุกเวลา ให้ปรีชาชาญเชี่ยวในเชิงพิณ

       ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีมโหรีเครื่องเก้าและมโหรีเครื่องสิบในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว

ประเภทของวงวงมโหรี

       วงมโหรีที่นิยมบรรเลงในปัจจุบันนี้ คือวงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่  และวงมโหรีเครื่องใหญ่   ส่วนวงมโหรีโบราณนั้นไม่ค่อยจะได้มีโอกาสพบเห็นกันแล้วด้วยหาผู้ดีดกระจับปี่ไม่ได้ แต่ก็มีบางโอกาสที่วงมโหรีเครื่องสี่และวงมโหรีเครื่องหก จะมีการนำมาบรรเลงในวาระพิเศษสำคัญต่างๆ

1.   วงมโหรีเครื่องสี่   จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย 1 คัน กระจับปี่ 1 ตัว
โทน 1 ใบ กรับพวง 1 พวง

2.   วงมโหรีเครื่องหก   จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย 1 คัน กระจับปี่ 1 ตัว
โทน 1 ใบ รำมะนา 1 ใบ
ขลุ่ยเพียงออ 1  เลา กรับพวง 1 พวง

3.   วงมโหรีเครื่องแปด   จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย 1 คัน กระจับปี่ 1 ตัว
ระนาดไม้ 1 ราง ระนาดแก้ว 1 ราง
โทน 1 ใบ รำมะนา 1 ใบ
ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา กรับพวง 1 พวง

4.   วงมโหรีวงเล็ก   จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย 1 คัน ซอด้วง 1 คัน
ซออู้ 1 คัน จะเข้ 1 ตัว
ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา ระนาดเอก 1 ราง
ฆ้องวงใหญ่ 1 วง โทน   รำมะนา 1 คู่
ฉิ่ง 1 คู่ ฉาบ 1 คู่
กรับ 1 คู่ โหม่ง 1 ใบ

5.   วงมโหรีเครื่องคู่   จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย 1 คัน ซอสามสายหลิบ 1 คัน
ซอด้วง 2 คัน ซออู้ 2 คัน
จะเข้ 2 ตัว ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา
ขลุ่ยหลิบ 1 เลา ระนาดเอก 1 ราง
ระนาดทุ้ม 1 ราง ฆ้องวงใหญ่ 1 วง
ฆ้องวงเล็ก 1 วง โทน 1 คู่
ฉิ่ง 1 คู่ ฉาบ 1 คู่
กรับ 1 คู่ โหม่ง 1 ใบ

6.   วงมโหรีเครื่องใหญ่   จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย 1 คัน ซอสามสายหลิบ 1 คัน
ซอด้วง 2 คัน ซออู้ 2 คัน
จะเข้ 2 ตัว ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา
ขลุ่ยหลิบ 1 เลา ระนาดเอก 1 ราง
ระนาดทุ้ม 1 ราง ระนาดเอกเหล็ก 1 ราง
ระนาดทุ้มเหล็ก 1 ราง ฆ้องวงใหญ่ 1 วง
ฆ้องวงเล็ก 1 วง โทน   รำมะนา 1 คู่
ฉิ่ง 1 คู่ ฉาบ 1 คู่
กรับ 1 คู่ โหม่ง 1 ใบ


โอกาสในการบรรเลง

       การนำเครื่องดนตรีทั้งเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่มีการปรับขนาดของเครื่องตีให้เล็กกว่าที่ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นั้นเป็นความเหมาะสมลงตัวที่ทำให้การบรรเลงเครื่องดนตรีทุกชิ้นร่วมกันร่วมกันในวงมโหรี   มีสุ้มเสียงนุ่มนวลไพเราะอ่อนหวานน่าฟังประดุจเสียงทิพย์จากสรวงสวรรค์   เพราะมีความดังของเสียงที่พอเหมาะไม่ดังจนเกินไป   เหมาะที่จะใช้บรรเลงภายในอาคารบ้านเรือน หรือสามารถบรรเลงในบริเวณริมอาคารที่เป็นบริเวณโล่งแจ้งก็ทำได้   เหมาะสมกับในการขับกล่อมที่เป็นพิธีมงคลต่างๆ   จึงมักพบวงมโหรีได้ตามงานมงคลต่างๆทั่วไป อาทิ งานมงคลสมรส งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิด งานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ  เป็นต้น   

 

บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยวงมโหรี

       เพลงโหมโรง

โหมโรงไอยเรศ
โหมโรงปฐมดุสิต
โหมโรงครอบจักรวาล
โหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง
โหมโรงเจิญศรีอยุธยา
โหมโรงแปดบท
โหมโรงมหาฤกษ์
โหมโรงสามม้า (ม้ารำ, ม้าสะบัดกีบ, ม้าย่อง)
โหมโรงขับไม้บัณเฑาะว์
โหมโรงต้องตลิ่ง
โหมโรงกระแตไต่ไม้
โหมโรงจอมสุรางค์
โหมโรงเยี่ยมวิมาน
โหมโรงรัตนโกสินทร์
โหมโรงมหาราช
โหมโรงนางกราย
โหมโรงราโค
.
โหมโรงมะลิเลื้อย
โหมโรงเพลงเรื่องชมสมุทร

      เพลงเถา

นกเขาขะแมร์  มอญอ้อยอิ่ง แขกมอญบางขุนพรม
เขมรพวง ลาวเสียงเทียน สร้อยมยุรา
สุรินทราหู แขกกุลิต โสมส่องแสง
แขกอาหวัง โยสลัม ราตรีประดับดาว
มอญรำดาบ แสนคำนึงแป๊ะ สารถี
แขกมอญ  เขมรปากท่อ สร้อยลำปาง
แขกขาว สุดสงวน นางครวญ
มอญขว้างดาบ อาถรรพ์ เขมรพายเรือ
แขกต่อยหม้อ จีนเลือกคู่ เขมรโพธิสัตว์
เงี้ยวรำลึก โลนอนงค์ ไส้พระจันทร์
ยอเร แขกสาย อาหนู
เหราเล่นน้ำ ครวญหา แขกมอญบางช้าง
จระเข้หางยาว ขอมทรงเครื่อง ญวนเคล้า
เขมรพายเรือ ขอมเงิน มอญชมจันทร์
สาวเวียงเหนือ พราหมณ์ดีดน้ำเต้า แขกแดง
อะแซหวุ่นกี้ พม่าเห่ จีนขิมเล็ก
มะลิซ้อน สี่บท หกบท
แปดบท เขมรลออองค์ ล่องลม
กล่อมนารี ชมแสงจันทร์ เทพรัญจวน
พันธ์ฝรั่ง ลาวกระแซ กาเรียนทอง
ลาวสวยรวย สาวน้อยเล่นน้ำ เขมรเลียบพระนคร
แขกเล่นกล แขกสาหร่าย การะเวก
ทองกวาว หวนคำนึง ลมพัดชายเขา
ขอมใหญ่ วายุบุตรยาตรา มุล่ง
ขอมโบราณ ทองย่อน ล่องเรือ
พม่าชมเดือน กัลยาเยี่ยมห้อง ช้างประสานงา
แขกเชิญเจ้า ลาวสมเด็จ เขมรชนบท
นกจาก แขกบรเทศ นาคบริพัตร
ลงสรงลาว หงส์ทอง ระหกระเหิน
ยโสธร กล่อมพญา คู่มอญรำดาบ
บุหลัน พญาสี่เสา ครุ่นคิด
พราหมณ์เข้าโบสถ์ เทพชาตรี แขกไทร
สาลิกาชมเดือน ตวงพระธาตุ สาริกาเขมร
ต้อยตลิ่ง เขมรเหลือง เพชรน้อย
ลาวเลียบค่าย เต่าเห่ พม่าแปลง
เทพบรรทม มังกรทอง สาวสอดแหวน
ฝรั่งควง ลาวลำปางใหญ่ เขมรใหญ่
สาลิกาแก้ว แสนเสนาะ สาวสุดสวย
จินตะหราวาตี มอญโยนดาบ จระเข้ขวางคลอง
นารายณ์แปลงรูป จีนขิมใหญ่ ใฝ่คนึง
กระต่ายเต้น พัดชา ภิรมย์สุรางค์
ผกากาญจน์ เขมรชมดง วิเวกเวหา
ทักษิณราชนิเวศน์ ขอมระทม ขอมกล่อมลูก
องเชียงสือ สุดสายใจ น้ำลอดใต้ทราย
ลมหวน ตามกวาง กำสรวลสุรางค์
เขมรภูมิประสาท สมิงทอง กราวรำ
สีนวล จีนนำเสด็จ ฝรั่งกลาย
อนงค์สุชาดา นาคเกี้ยว ดาวกระจ่าง
เทพสร้อยสน มหาราชาอศิรวาท ชื่มชุมนุมกลุ่มดนตรี
นางหงส์

เพลงตับ

วิวาห์พระสมุทร ลาวเจริญศรี อะบูหะซัน
ต้นเพลงฉิ่ง เย็นย่ำ ขะแมร์กอฮอม
สมิงทอง นางซิน ราชาธิราช
มอญคละ แม่ศรีทรงเครื่อง ภุมริน
จูล่ง พระลอคลั่ง  ตับมโหรี

 

เพลงใหญ่ เพลงลูกล้อลูกขัด

พม่าห้าท่อน เชิดจีน โอ้ลาว
ใบ้คลั่ง บังใบ แขกโอด
แขกลพบุรี ทยอยเขมร ทยอยลาว
เขมรราชบุรี จีนลั่นถัน ทยอยใน
ทยอยนอก

 

เพลงเกร็ด

ลาวคำหอม เขมรปี่แก้ว เขมรปี่แก้วน้อย
ลาวสมเด็จ จระเข้หางยาวทางสักวา จระเข้หางยาวทาง
ดอกสร้อย ลาวดวงดอกไม้ เขมรอมตึ๊ก
มอญมอบเรือ ลาวดำเนินทราย มยุราภิรมย์
จีนเก็บบุปผา จีนรำพัด บุหลันลอยเลื่อน
มหาฤกษ์ มหาชัย นางนาค
แขกภารตะ แขกฉิ่งญวน  ทีโห่

เพลงลา

เต่ากินผักบุ้ง ปลาทอง พระอาทิตย์ชิงดวง
นกขมิ้น อกทะเล

วิวัฒนาการ  สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของวงมโหรี

       ความนิยมในการบรรเลงมโหรีนั้นมีมานานมาก ดังมีบันทึกปรากฏในงานจิตรกรรม ประติมากรรม เช่น ภาพปูนปั้น ภาพแกะสลัก  ภาพเขียนลายทองบนตู้หนังสือ ฯลฯ   องค์ความรู้ต่างๆที่ได้จากงานจิตรกรรม ประติมากรรมเหล่านี้เป็นร่องรอยหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความเจริญและวิวัฒนาการทางการดนตรีของไทยได้เป็นอย่างดี   ด้วยการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นไม่เป็นวิถีปฏิบัติของบรรพบุรุษไทยสักเพียงใดด้วยนิยมใช้การสืบทอดในเชิงมุขปาฐะเป็นสำคัญ   ดังนั้นในการสืบค้นร่องรอยหลักฐานในภายหลัง จึงมีการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน   ความนิยมในการขับร้องบรรเลงมีปรากฏเด่นชัดมาแต่ครั้งในอดีตก่อนกรุงสุโขทัย  แม้ในกฏมณเฑียรบาลในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ประมาณ ปี พ.. 1991 – 2031 ก็มีบันทึกไว้ว่า ห้ามร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดจะเข้ ดีดกระจับปี่ ตีโทนตีทับ ในเขตพระราชฐาน” (อุทิศ นาคสวัสดิ์, 2525: 4) แสดงให้เห็นว่าการบรรเลงเครื่องดนตรีต่างๆนั้นได้รับความนิยมกันมากมายจนต้องห้ามไว้ในเขตพระราชฐาน  ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีการนำเครื่องสายมาจัดให้บรรเลงประสมเข้าด้วยกันกับวงปี่พาทย์ที่มีการลดขนาดสัดส่วนของเครื่องดนตรีลง  เพื่อให้มีเสียงที่เหมาะสมที่จะบรรเลงร่วมกัน   จนเกิดเป็นรากฐานของการพัฒนาวงมโหรีของไทยมาจนปัจจุบันนี้   ทั้งวงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่  วงมโหรีเครื่องใหญ่ ประเทศไทยนั้นได้มีการสืบทอดและบรรเลงวงมโหรีกันอยู่แม้จะไม่ได้มีการนำมารับใช้ในวิถีชีวิตทั่วๆไปของชาวไทยอย่างในอดีตที่ผ่านมา   แต่การเรียนดนตรีของเยาวชนไทยในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาก็ยังคงมีความชัดเจนอยู่ในทุกๆภูมิภาคของประเทศไทย   ด้วยความสนับสนุนอันดีของภาครัฐและเอกชน   และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปตราบที่แผ่นดินไทยยังยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันนี้   และตราบที่ชาวไทยกลุ่มหนึ่ง  ที่ยังคงรักและหวงแหนในมรดกภูมิปัญญาไทยทางการแสดงดนตรีมโหรีของบรรพบุรุษไทย   แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีผู้คนที่จะไม่ยอมตกเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมให้กับชาติใด   แม้จะมีทีท่าส่อเค้าทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง 

 

บุคคลอ้างอิง

1. บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับวงการวงมโหรีในอดีต   เช่น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
สมเด็จฯเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เจ้าเทพกัญญา ณ เชียงใหม่
พระยาประสานดุริยศัพท์
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
พระสรรเพลงสรวง
จางวางทั่ว พาทยโกศล
ขุนสนิทบรรเลงการ
ครูปลั่ง วนเขจร
ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล
ครูคงศักดิ์   คำศิริ
ครูเทียบ  คงลายทอง
ครูอุษา สุคันธมาลัย
ครูท้วม  ประสิทธิกุล
ครูบรรเลง สาคริก
ครูแสวง อภัยวงศ์
ครูทองดี  สุจริตกุล
ครูระตี  วิเศษสุรการ
ครูเฉลิม  บัวทั่ง
ครูจันทร์  โตวิสุทธิ์
ครูชิต  แฉ่งฉวี
ครูประเวช  กุมุท
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระสุจริตสุดา
.
พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก)
พระยาภูมีเสวิน
หลวงว่องจะเข้รับ
หลวงเสนาะเสียงกรรณ
หลวงไพเราะเสียงซอ
ครูชุ่ม กมลวาทิน
ครูไป  ล่ วนเขจร
คุณหญิงไพฑูรย์ กิติวรรณ
ครูมนตรี  ตราโมท
ครูละเมียด  จิตตเสวี
ครูชิ้น ศิลปบรรเลง
ครูศรีนาฏ  เสริมศิริ
ครูสุมิตรา สุจริตกุล
ครูนิภา  อภัยวงศ์
ครูฉลวย  จิยะจันทร์
ครูลิ้ม  ชีวสวัสดิ์
ครูจำเนียร  ศรีไทยพันธ์
ครูสุวิทย์   บวรวัฒนา
ดร.อุทิศ  นาคสวัสดิ์
ครูเจริญใจ  สุนรวาทิน

2.   บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับวงการวงมโหรีในปัจจุบัน

.เบ็ญจรงค์  ธนโกเศศ
อ.สุรางค์  ดุริยพันธ์
.ระวิวรรณ  ทับทิมศรี
.ปกรณ์  รอดช้างเผื่อน
.วิเชียร  จันทร์เกษม
.ชนก  สาคริก
.สุวัฒน์  อรรถกฤษณ์
.สุดจิตต์  ดุริยประณีต
อ.เฉลิม  ม่วงแพรศรี
.สุวัฒนา  แสงทับทิม
.ประสิทธิ์ คุ้มทรัพย์
.ชยุดี  วสวานนท์
.ปิ๊ป  คงลายทอง

เอกสารอ้างอิง

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2542). สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย. กรุงทพฯ :โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ปัญญา รุ่งเรือง. (2533). อ่านและฟังดนตรีไทยประกอบเสียง.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ. (2551). ย้อนรอยคีตังวังพญาไท.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา..

จุธาทิพย์ ดาศรี. (2551). ย้อนรอยคีตังวังพญาไท.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

อนุชา ทีรคานนท์, บรรณาธิการ.(2552). เล่าเรื่องเครื่องดนตรีชิ้นเอก.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2550). จดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา.

www.patakorn.com/modules.php/Bangkok

www.krudontri.com/artietes /111 music_men