อภิปรายผลการวิจัย

ผลจากการทำวิจัย เรื่องบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย สามารถนำมาอภิปรายผลการวิจัย ได้ดังต่อไปนี้

1. ด้านการหาประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทยที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กล่าวคือ ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายวิชาภาษาไทย ผู้เรียนได้คะแนนเฉลี่ยของแบบทดสอบระหว่างเรียนมีค่าเท่ากับ 80.11 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (E1) และคะแนนเฉลี่ยแบบทดสอบหลังเรียนมีค่าเท่ากับ 90.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (E2) เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย คะแนนแบบทดสอบระหว่างเรียนและแบบทดสอบหลังเรียนที่ผู้เรียนทำได้มีค่าเท่ากับ 80.11/90.33 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ เป็นเพราะการดำเนินการพัฒนาและการประเมินได้เป็นไปตามขั้นตอน ตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา การสร้างแบบทดสอบ การออกแบบบทเรียนโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา และด้านเทคนิคและวิธีการ ตรวจสอบทุกขั้นตอน จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนพบว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย มีกิจกรรมที่มีส่วนกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความตั้งใจและสนใจเรียน โดยในการจัดบทเรียนจะเน้นจุดสำคัญที่การนำเสนอเนื้อหา ข้อความ เสียง รูปภาพ และภาพเคลื่อนไหว ช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียนมากขึ้น ที่สำคัญคือ ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในกลุ่มด้วยการใช้กระดานสนทนากลุ่ม (Chartroom) พร้อมทั้งผู้สอนสามารถเข้าสนทนากับผู้เรียนในแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการเรียนกับผู้สอนได้ทันที สอดคล้องกับงานวิจัยของณัฐพล สว่างจิตต์ (2551) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดียเน้นปฏิสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาการถ่ายภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเว็บ 3 มิติ ผลการวิจัยปรากฏว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบมัลติมีเดียที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 82.96/80.63 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ วราภรณ์ ศรีแสงฉาย (2556) ได้ทำงานวิจัยการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนนาคประสิทธิ์ เน้นการสร้างสื่อ วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลการวิจัยปรากฏว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพของบทเรียน 83.85/88.21 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80

2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณาจากผลคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนจากการทำแบบทดสอบหลังเรียนมีค่าเท่ากับ 27.80 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนจากการทำแบบทดสอบก่อนเรียนซึ่งมีค่าเท่ากับ 13.53 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายวิชาภาษาไทย ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนพบว่า ผู้เรียนตั้งใจเรียนรู้จากเนื้อหาตลอดเวลา เพราะมีกิจกรรมที่กำหนดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน ส่วนการนำเสนอเนื้อหา ข้อความ เสียง รูปภาพ และภาพเคลื่อนไหว ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ซึ่งสื่อต่างๆ ในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนและผู้เรียนมีกิจกรรมร่วมระหว่างการเรียนตลอดเวลา ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งผู้เรียนสามารถทบทวนเนื้อหาได้บ่อยครั้งตามความต้องการสอดคล้องกับงานวิจัยของสถาพร อยู่สมบูรณ์ (2550) ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาบทเรียน Web Based Instruction แบบปฏิสัมพันธ์ วิชาคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี 2 สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผลการวิจัยปรากฏว่า ผลการวิจัยพบว่า ที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 83.29/80.79 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ เมื่อนำคะแนนเฉลี่ยการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบด้วยการทดสอบ t-test สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยของเฉลิมชัย ตาระกา (2552) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายแบบปรับเปลี่ยนเนื้อหาโดยนำเสนอรูปแบบการ์ตูน 2 มิติ วิชา คณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผลการวิจัยปรากฏว่า ผลการวิจัยพบว่า บทเรียนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 86.12/80.15 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งสมมติฐานไว้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยบทเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

3. การศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย ค่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.16 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่าเท่ากับ 0.02 มีความพึงพอใจมาก โดยมีความพึงพอใจในด้านของเนื้อหาการดำเนินเรื่อง ภาพ ภาษา เสียง ตัวอักษรสี แบบทดสอบ และการจัดการบทเรียน เนื่องจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย เป็นการใช้สื่อเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับบทเรียน รวมทั้งสามารถทบทวนเนื้อหาได้บ่อยครั้งตามความต้องการจึงทำให้มีความเข้าใจในเนื้อหาได้ดีขึ้น ทำให้ความพึงพอใจของผู้เรียนอยู่ในระดับมาก สอดคล้องกับงานวิจัยของวิชุณี สารสุวรรณ (2551) ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือรูปแบบทีมแข่งขัน (TGT) กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผลการวิจัยปรากฏว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจในการเรียนด้วยบทเรียนที่ผู้วิจัย พัฒนาขึ้นในระดับมาก