บทนำ

       พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมวดแนว การจัดการศึกษา การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และ มีความรอบรู้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, .7-8) ในหมวดเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่น วัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิต และมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิตและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้ เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, .18-19)

       แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (.. 2552-2559) ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในข้อที่ 3 เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคนและสร้างสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ และได้กำหนดนโยบายการพัฒนาและ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีกรอบการดำเนินงานคือ เร่งรัดพัฒนาเครือข่ายและเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อ

       การศึกษาที่เข้าถึงง่าย ประหยัด และสะดวกต่อการใช้สำหรับผู้เรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และพัฒนาประสิทธิภาพการสอนของครู ให้เป็นไปอย่างทั่วถึงทุกระดับและประเภทการศึกษา โดยพัฒนาครูให้มีความรู้ ความสามารถในการผลิตและใช้สื่อเทคโนโลยีในการเรียนการสอน (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา,2553, .19)

       ด้านการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ ให้มีความรู้ ความสามารถ และมีปริมาณเพียงพอ จากที่ผ่านมาพบว่า นโยบายจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐ ผนวกกับการใช้มาตรการจูงใจให้ครูออกก่อนเกษียณ ตั้งแต่ปี 2543-2549 ทำให้ต้องสูญเสียอัตราครู ไปจำนวน 53,948 อัตรา (ครูเกษียณ 74,784 อัตรา ได้อัตราคืนเพียง 20,836 อัตรา) อีกทั้งบัณฑิตครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ บางส่วนจบแล้วไม่ได้เป็นครู อาจารย์ มีปัญหาครูสอนไม่ตรงวุฒิ และขาดแคลนครูในบางพื้นที่ ทำให้มีการ ขาดแคลนครูโดยรวมในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา รวมทั้งอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ประกอบกับในอนาคตประมาณ 5-10 ปี จะมีครูประจำการเกษียณอายุจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งต้องเตรียมการเพื่อรองรับปัญหาด้านการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่วิชาชีพครูพบว่า มีผู้เลือกคณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์เป็นอันดับท้ายๆ เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเข้าเรียนสาขาอื่นไม่ได้ จึงทำให้ไม่ได้คนเก่งและมีใจรักเข้ามาเป็นครู นอกจากนี้ด้านการพัฒนาครูพบว่า ขาดระบบการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง และขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง ทำให้ครูไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบเพียงพอ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2553, .8)

       การผลิตและพัฒนาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จึงมีความสำคัญและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาผลการดำเนินงาน 9 ปี ของการปฏิรูปการศึกษา พ.. 2542-2551 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติพบว่า มีปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข พัฒนา และสานต่อในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาพบว่า ปัญหาในการดำเนินงาน ขาดการพัฒนาเนื้อหาผ่านสื่อที่มีคุณภาพ รวมทั้งด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้สอน ครูและนักเรียนนำความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ด้วยตนเองน้อย สถานศึกษามีจำนวนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ไม่เพียงพอ ล้าสมัย (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2553, .9)

       ปัจจุบันบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีลักษณะการทำงานในรูปแบบของสื่อประสม (Multimedia) คือใช้สื่อร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด เช่น ตัวอักษร ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว ที่สำคัญคือ สามารถโต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ มีการประเมินผลเพื่อสนองตอบให้กับผู้เรียนอย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกใจ ที่ทำไมบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วใน ยุคการศึกษาไร้พรหมแดน คอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หมายถึง การนำเสนอบทเรียนด้วยคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการนำบทเรียนที่เตรียมไว้อย่างเป็นระบบ มานำเสนอตามลำดับขั้นตอน มีการโต้ตอบ ชมเชย หรือมีการย้อนกลับไปทบทวนได้ เพื่อกระตุ้นความสนใจ โดยคอมพิวเตอร์จะช่วยสอนเนื้อหาวิชา อาจเป็นตัวหนังสือและกราฟิก การถามคำถาม การรับคำตอบ ตรวจคำตอบ และแสดงผลการเรียนให้ผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นได้ เช่น เครื่องบันทึกเสียง วีดีทัศน์ เป็นต้น (สวงค์ พุทธิเนตร, 2554)

       วิชาภาษาไทย เป็นวิชาหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มาตรฐาน ท 1.1 ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิด เพื่อนำไปใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและมีนิสัยรักการอ่านและ มาตรฐาน ท 4.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงและพลังของภาษาภูมิปัญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ ได้กำหนดตัวชี้วัดชั้นปีของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คือ นักเรียนต้องอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะได้ถูกต้อง อธิบายความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัยของคำ ประโยค ข้อความ สำนวนโวหาร จากเรื่องที่อ่าน เข้าใจคำแนะนำ คำอธิบายในคู่มือต่างๆ แยกแยะข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริง รวมทั้งจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านและนำความรู้ความคิดจากเรื่องที่อ่านไปตัดสินใจแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตได้ มีมารยาทและมีนิสัยรักการอ่านและเห็นคุณค่าสิ่งที่ (กระทรวงศึกษาธิการ,2551, .216-217) ซึ่งเนื้อหาวิชาภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นความรู้เกี่ยวกับทฤษฏี จึงทำให้การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนมักพบปัญหาเกี่ยวกับผู้เรียนที่มีความรู้พื้นฐานต่างกันมีความเข้าใจในบทเรียนไม่พร้อมกัน ผู้เรียนที่มีความรู้มากกว่า จะเข้าใจในบทเรียนได้เร็ว แต่ก็ต้องรอเพื่อนๆ ที่ยังเรียนไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายหรือขาดความสนใจ ดังนั้นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ สามารถสนองความต้องการการเรียนรู้ที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดี และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนได้ด้วยตนเองตามเวลาที่สะดวก ตามความสนใจของผู้เรียน สิ่งสำคัญที่สุดคือ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีการประเมินผลในตนเอง ผู้เรียนสามารถเห็นผลสำเร็จของตนในการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้สอนได้ด้วย เพราะสามารถใช้สอนแทนครูและสอนผู้เรียนได้จำนวนมากๆ ในเวลาเดียวกัน

       การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พบว่า ปัญหาพื้นฐานการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในแต่ละวิชาของครูผู้สอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 โดยธรรมชาติของผู้เรียนจะให้ความสนใจการสอนที่ใช้สื่อมากกว่าการบรรยายหน้าชั้นเรียน โดยเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำเป็นต้องใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเข้ามาช่วย ให้การสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

       จากเหตุผลและความสำคัญของบริบทดังกล่าวข้างต้น การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปัญหาพื้นฐานการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนไม่เท่ากัน วิจัยจึงมีความต้องการวิจัยเรื่องการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่สามารถสร้างความสนใจแก่ผู้เรียน ผู้เรียนเกิดปฏิสัมพันธ์กับบทเรียน สามารถให้ผู้เรียนทบทวนบทเรียนใหม่ได้เมื่อ ไม่เข้าใจและไม่จำกัดเวลาในการเรียนรู้