Category Archives: การผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ

หางนกยูงสีทอง : พรรณไม้กลายพันธุ์

หางนกยูงสีทอง : พรรณไม้กลายพันธุ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

   คนทั่วไปจะรู้จักต้นหางนกยูง ซึ่งหมายถึงหางนกยูงฝรั่ง เป็นอย่างดีที่เป็นชนิดออกดอกสีแดงทั้งต้นในช่วงปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี นอกจากจะมีดอกสีแดงเข้มสวยงามไปทั้งต้นแล้ว ยังมีหางนกยูงฝรั่งสีแดงที่ลดความเข้มลงหลายระดับสี จนถึงสีส้มสวยงามหลายแบบเช่นกัน บางครั้งอาจพบต้นที่มีเหลือบสีบนกลีบใหญ่ของดอกด้วย ทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกัน จะติดฝักจำนวนมาก และมีเมล็ดที่สมบูรณ์สามารถนำไปขยายพันธุ์ปลูกได้อย่างแพร่หลาย

   ส่วน “หางนกยูงสีทอง”นั้นเป็นไม้กลายพันธุ์ มีความสวยงามโดดเด่นเป็นพิเศษ แปลกตามากสำหรับผู้พบเห็นเป็นครั้งแรก แต่ที่แตกต่างไปจากหางนกยูงฝรั่งชนิดเดิมที่กล่าวมาแล้วก็คือ “หางนกยูงสีทอง”จะติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักเป็นอาหารอันโอชะของกระรอก ที่เหลือรอดมาก็มักจะเป็นเมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก “หางนกยูงสีทอง”จึงไม่แพร่หลาย หาดูได้ยาก ต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นแทนการเพาะกล้าจากเมล็ด  ต้นพันธุ์“หางนกยูงสีทอง”จึงมีราคาสูงสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปปลูก

 

หางนกยูงสีทอง

ชื่อสามัญ  Golden Flame Tree

ชื่ออื่นๆ นกยูงทอง นกยูงเหลือง หางนกยูงฝรั่งสีทอง หางนกยูงสีเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Delonix regia (Bojer ex Hook) Raf.

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 8 – 12 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้างคล้ายร่ม ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อน สีครีมถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอนรอบโคนต้น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยขนาดเล็กเรียวยาวรูปขอบขนานออกตรงข้าม ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง และซอกกิ่งใกล้ยอด กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองทอง เฉพาะกลีบใหญ่ของดอกจะมีเหลือบสีขาวเป็นลายเส้นตามยาวทำให้เพิ่มความสวยงามให้ดอกได้อีก เกสรผู้ยาวโค้งขึ้นมาเหนือกลีบดอก ฝักเป็นลักษณะแบนยาว แห้งแล้วแตก กว้าง 3.54.5 ซม. ยาว 25-35 ซม. สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ปกติหางนกยูงสีทองจะติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักก็มักจะลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก

หมายเหตุ

1.“หางนกยูงสีทอง”เป็นพรรณไม้กลายพันธุ์ จึงติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักก็มักจะลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก “หางนกยูงสีทอง”จึงไม่แพร่หลาย จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น

2. การขยายพันธุ์“หางนกยูงสีทอง”  ทำได้ 2 วิธี คือ การเสียบยอด และทาบกิ่ง โดยใช้ต้นกล้าหางนกยูงฝั่งชนิดเดิมมาเป็นต้นตอ (root stock)  ส่วนการตอนกิ่งนั้นจะไม่ออกราก

3. ประโยชน์ของหางนกยูงฝรั่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และปลูกให้ร่มเงาเมล็ดหางนกยูงที่แก่จัดนำมาต้มให้สุกรับประทานได้ ปรุงเป็นอาหารคาวหวานได้ เป็นที่นิยมในสาธารณรัฐประชาชนลาว

4. ผู้สนใจจะไปชม“หางนกยูงสีทอง” ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถไปชมได้ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มี 6 ต้นหลายขนาด ที่สวนหลวงร.9  มีต้นขนาดเล็กเพียงต้นเดียว ที่วัดมะพร้าวเตี้ย มี 1 ต้นซึ่งมีขนาดเล็กไม่ติดฝักเลย

ขอบคุณ วิกิพีเดีย

บริบทและภูมิปัญญาท้องถิ่นของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

บริบทและภูมิปัญญาท้องถิ่นของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

Local Wisdom of Local Rice in Prachinburi Province

 

ภัทรภร เอื้อรักสกุล1, วันทนี สว่างอารมณ์, Ph.D. 2,นายจรัญ ประจันบาล 3

1อาจารย์ สาขาวิชาชีววิทยา, 2รองศาสตราจารย์ สาขาวิชาชีววิทยา, 3อาจารย์ สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Pataraporn Uaraksakul1, Wantanee Sawangarom, Ph.D.2, Jaran Prajanban 3

1Lecturer, Biology Program, E-mail: [email protected]

2 Associate Professor, Biology Program, E-mail: [email protected]

3Lecturer, Microbiology Program, E-mail: [email protected], Faculty of Science and Technology, Bansomdejchaopraya  Rajabhat University

 

บทคัดย่อ

       การศึกษาภูมิปัญญาของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญาเกี่ยวกับการปลูกข้าวพื้นเมืองในจังหวัดปราจีนบุรี วิธีการศึกษาใช้การสืบค้น การสำรวจพื้นที่เพาะปลูกและการสัมภาษณ์เกษตรกรเพื่อศึกษาบริบทและภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองของจังหวัดปราจีนบุรี การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบข้าวพื้นเมืองจำนวน 6 สายพันธุ์ คือพลายงามปราจีนบุรี เหลืองอ่อน เขียวใหญ่ จินตหรา ขาวบ้านนา และเหลืองทอง ทั้งหมดเป็นข้าวเจ้านาปีที่ชาวนาเลือกปลูกอย่างต่อเนื่องมานานจากข้อดีคือ เป็นข้าวขึ้นน้ำ ทนโรค ทนแมลง ทนต่อสภาพแวดล้อม และมีลักษณะที่เหมาะสมกับพื้นที่ตามธรรมชาติ ปลูกและดูแลง่าย ผลผลิตดี มีตลาดรองรับ ราคารับซื้อมาตรฐาน อีกทั้งชาวนาส่วนใหญ่ปลูกบนพื้นที่ที่ตนเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ต้องเช่าทำกินต้นทุนโดยรวมจึงไม่สูง ขายได้กำไร  ข้าวพลายงามปราจีนบุรี และข้าวเขียวใหญ่ ซึ่งเป็นข้าวขึ้นน้ำได้มากและยืดตัวหนีน้ำได้เร็ว แต่เนื้อข้าวแข็งจึงนิยมส่งอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปทำแป้งเพื่อทำเส้นก๋วยจั๊บ เส้นขนมจีน และเส้นก๋วยเตี๋ยว ส่งขายนอกพื้นที่  ข้าวเหลืองอ่อนเป็นข้าวขึ้นน้ำแต่หนีน้ำได้ไม่ดีเท่าข้าวพลายงามปราจีนบุรี  ข้าวจินตหราเป็นข้าวนิ่ม รสชาติอร่อยคล้ายข้าวหอมมะลิ ที่สำคัญพบชาวนาผู้ปลูกข้าวขาวบ้านนาและข้าวเหลืองทองที่ใช้ภูมิปัญญาในการปลูก ดูแล และเก็บรักษาจนได้สายพันธุ์ที่ไม่กลายเพื่อใช้ปลูกต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 30 ปี  ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาได้แก่การทำขวัญข้าว การหว่านสำรวยคือหว่านแห้งให้เมล็ดข้าวรอฝน และหุ่นไล่กา อย่างไรก็ตามจากการปรับตัวของชาวนา เช่น การยกเลิกปลูกข้าวพื้นเมืองที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นที่นิยม ประกอบกับที่ปัจจุบันลูกหลานชาวนาส่วนใหญ่ไม่สนใจสานต่ออาชีพทำนา  ทำให้ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ที่เคยมีการบันทึกสูญหายไปจากพื้นที่

คำสำคัญ (Keywords):   ข้าวพื้นเมือง, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, Local Rice, Local Wisdom

 

บทนำ

       ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งต่อการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกสู่ตลาดโลก ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 54 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 9 ล้านไร่ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 23 ล้านตัน และ 6 ล้านตันตามลำดับ พันธุ์ข้าวที่ปลูกมีทั้งพันธุ์ที่ทางราชการส่งเสริมและข้าวพื้นเมือง (กรมการข้าว, 2551)

       ข้าวพื้นเมือง (Local Rice) หมายถึง พันธุ์ข้าวตามธรรมชาติที่กำเนิดจากการเพาะและคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ทนและเหมาะสมกับท้องที่โดยการคัดเลือกในท้องถิ่นเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีที่ปลูกแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อเพาะปลูกต่อ

       ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) หมายถึง ความรู้ของชาวบ้านที่เรียนรู้ หรือองค์ความรู้ ความเชื่อ ความสามารถของคนในท้องถิ่นหรือชุมชนในเขตจังหวัดปราจีนบุรีที่เกี่ยวข้องกับข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้สืบต่อมากันเป็นระยะเวลายาวนาน มีลักษณะเป็นองค์รวมและมีคุณค่าทางวัฒนธรรมสำหรับการดำรงชีวิต

       พันธุ์ข้าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอันดับแรกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต หากมีพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ ทั้งข้าวคุณภาพดี ข้าวคุณภาพปานกลาง ข้าวคุณภาพต่ำ และข้าวคุณภาพพิเศษที่ตรงกับความต้องการของตลาดและเพื่อทำผลิตภัณฑ์ พันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคแมลงและมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าวหรือเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้เป็นอย่างดีจากอดีตถึงปัจจุบัน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้ดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่องจนได้ข้าวพันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ และพันธุ์ทั่วไป ให้เกษตรกรปลูกในระบบนิเวศน์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งพันธุ์ข้าวนาสวน ข้าวไร่ ข้าวขึ้นน้ำ ข้าวน้ำลึก ข้าวญี่ปุ่น และธัญพืชเมืองหนาว จำนวน 118 พันธุ์ เช่น พันธุ์ข้าวนาสวนไวต่อช่วงแสง 44 พันธุ์ พันธุ์ข้าวนาสวนไม่ไวต่อช่วงแสง 38 พันธุ์ พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง 6 พันธุ์ เป็นต้น พันธุ์ข้าวเหล่านี้มีทั้งชนิดข้าวเจ้าและข้าวเหนียว มีทั้งพันธุ์ที่ปลูกเฉพาะนาปีและปลูกได้ตลอดปี และมีบางพันธุ์เป็นข้าวหอม พันธุ์ข้าวส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญ มีคุณภาพการหุงต้มตามความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวยังคงต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะพันธุ์ที่ออกแนะนำแล้วปัจจุบันบางพันธุ์เกษตรกรอาจจะยังคงนิยมปลูกอยู่ แต่บางพันธุ์เกษตรกรอาจเลิกปลูก เนื่องจากมีข้อด้อยบางประการ การที่เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวเหล่านั้นไปใช้จึงเป็นไปในลักษณะของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะที่ออกพันธุ์ข้าวนั้นเท่านั้น รวมทั้งบางพันธุ์เมื่อแนะนำให้ปลูกไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วอาจไม่มีความเหมาะสมในระยะเวลาต่อมา เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หรือโรคและแมลงศัตรูข้าวมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องหาพันธุ์ที่มีคุณภาพดีตามความต้องการของตลาดโลก และมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ จึงต้องดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์โดยไม่มีที่สิ้นสุด (สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว, 2551) ซึ่งการพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่ดี มีประสิทธิภาพ ให้ผลผลิตมากและมีคุณภาพเมล็ดที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งพันธุกรรมข้าวที่ดี ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีเนื่องจากมีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทยที่ผ่านการพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนาน สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของประเทศ ทั้งยังมีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเหมาะแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เนื่องจากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมีบางลักษณะเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นเป็นระยะเวลายาวนาน (www.brrd.in.th, 2557) จึงนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองสูญพันธุ์ไปโดยไม่มีการเก็บรักษาหรืออนุรักษ์พันธุกรรมไว้

       ดังนั้นนักวิจัยจึงมีความสนใจศึกษาวิจัยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป  โดยในขั้นต้นผู้วิจัยมีแนวคิดที่จะศึกษาข้อมูลด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่พบในเขตจังหวัดปราจีนบุรี

 

วิธีดำเนินการวิจัย

       เครื่องมือวิจัย

       แบบสอบถามเกี่ยวกับบริบทและภูมิปัญญาข้าวพื้นเมือง (เสถียร ฉันทะ. 2558) ประกอบด้วยประเด็นคำถาม ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลบริบทชุมชน การอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง การใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง เศรษฐกิจ ภูมิปัญญาด้านการปลูกการดูแลรักษา และวิถีชีวิตชาวนา

       วิธีการวิจัย

       สืบค้น สำรวจ และสอบถามเพื่อศึกษาบริบทและภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

       การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา(content analysis)

 

ผลการวิจัย

       ผลการลงพื้นที่ศึกษาในช่วงปลายพฤศจิกายน พ.ศ.2557 ถึงต้นธันวาคม พ.ศ.2558 พบพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวนายังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อเตรียมเพาะปลูกในกลางปี พ.ศ.2558 รวม 6 สายพันธุ์ คือ ข้าวพลายงามปราจีนบุรี ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเขียวใหญ่ ข้าวจินตหรา ข้าวขาวบ้านนา และข้าวเหลืองทอง ส่วนข้าวเหลืองรวย ข้าวขาวตาแห้ง รวมถึงข้าวอีกหลายพันธุ์ที่เคยพบมีการปลูกแต่ปัจจุบันพบว่ามีการเลิกปลูกหรือปลูกน้อยลงเนื่องจากความเหมาะสมต่อสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการคาดการณ์ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่นปริมาณน้ำฝน เป็นต้น

       1. ข้าวพลายงามปราจีนบุรี  มีการปลูกในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างของอำเภอประจันตคาม เป็นข้าวเจ้านาปี และเป็นข้าวหนัก มีคุณสมบัติการขึ้นน้ำได้มากและเร็ว สามารถยืดตัวหนีน้ำได้ 1.5 – 5 เมตร ไม่ต้องดูแลรักษามาก ทนโรคและแมลง ทนแล้งได้ จึงเหมาะกับพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขังสูงในฤดูน้ำหลาก นิยมปลูกแพร่หลายในหลายพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรี  ชาวนาจะมีเมล็ดพันธุ์ทั้งที่เพาะขยายพันธุ์เอง และซื้อพันธุ์มาจากผู้ค้าพันธุ์ข้าว

       การเก็บรักษาพันธุ์ข้าวกระทำโดยเก็บไว้ในกระสอบป่านวางบนแผ่นไม้ยกสูงจากพื้นดินในโรงเรือนหลังบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นโรงเรือนที่ไม่อับชื้น แสงแดดไม่มาก โดยผู้วิจัยได้รับพันธุ์ข้าวพลายงามปราจีนบุรีและพันธุ์ข้าวเหลืองอ่อนเพื่อใช้ศึกษาวิจัยในครั้งนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี พ.ศ.2558 ชาวนาดังกล่าวได้ตัดสินใจปลูกแต่ข้าวพลายงามปราจีนบุรี ไม่ปลูกข้าวเหลืองอ่อน เนื่องจากการคาดการณ์ระดับน้ำที่อาจสูงซึ่งข้าวเหลืองอ่อนมีคุณสมบัติยืดตัวหนีน้ำไม่ดีเท่าข้าวพลายงามปราจีนบุรี

       ขั้นตอนการปลูกข้าวนี้จะทำการหว่านแบบน้ำตมกล่าวคือ เตรียมเมล็ดด้วยการนำพันธุ์ข้าวห่อด้วยผ้านำไปแช่น้ำหนึ่งคืน จากนั้นนำห่อผ้าไปผึ่งลม 2 วัน โดยไม่ให้ผ้าแห้ง ซึ่งข้าวจะเริ่มงอกตั้งแต่วันที่สอง การเตรียมดินก่อนหว่านควรให้เป็นดินเลนจะดีมาก จากการช่วงกลางพฤษภาคมถึงกลางมิถุนายนในปี พ.ศ.2558 ฝนทิ้งช่วง หรือที่ชาวนาเรียกว่าฝนหลอก เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ คือฝนตกมาระยะหนึ่งแต่เมื่อชาวนาหว่านข้าวจนข้าวเริ่มงอก ฝนกลับหายไปจนกระทั่งข้าวที่งอกแห้งตาย กระทบต่อการงอกของข้าวหลังหว่านไปแล้ว จึงต้องสูญเสียต้นทุนการหว่านในครั้งแรก และจำเป็นต้องมีการหว่านแก้เป็นรอบที่ 2 โดยการหว่านครั้งที่ช่วงก่อนพืชมงคลจำนวน 3 ถัง/ ไร่ และ ครั้งที่ 2 หลังพืชมงคลอีก 3 ถัง/ ไร่ ทำให้ต้องเสียต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากข่าวการคาดการณ์สถานการณ์น้ำฝนที่พลาดทำให้มีการงดการปลูกข้าวเหลืองอ่อนซึ่งขึ้นน้ำไม่ดีเมื่อเทียบกับข้าวพลายงามปราจีนบุรี

       2. ข้าวเหลืองอ่อน  มีการปลูกในบางพื้นที่ของอำเภอประจันตคาม เป็นข้าวเจ้า ข้าวนาปี ขึ้นน้ำไม่มาก ชาวนาในเขตจังหวัดปราจีนบุรีปลูกมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันระดับน้ำสูง แต่ข้าวเหลืองอ่อนไม่หนีน้ำ จึงมีคนปลูกน้อยลงมาก และเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ ในปี 2558 จึงพบว่าไม่มีการปลูกข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในพื้นที่เดิมที่เคยปลูกมา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากกับที่เกษตรกรอธิบาย ว่าข้าวเหลืองอ่อน สู้แล้งและขึ้นน้ำไม่ดีเท่าข้าวพลายงามปราจีนบุรี ประกอบกับการคาดการณ์สภาวะอากาศของต้นปี พ.ศ.2558 พบว่าอาจมีความไม่แน่นอนของน้ำฝนชาวนาบางส่วนในพื้นที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวตามสถานการณ์จึงตัดสินใจเลิกปลูกข้าวเหลืองอ่อนเช่นกัน คงเหลือแต่ปลูกข้าวพลายงามปราจีนบุรีเต็มทั้งพื้นที่ ปัจจุบันพบว่าข้าวพื้นเมืองมีจำนวนลดน้อยลงเนื่องจากข้าวพื้นเมืองบางพันธุ์ไม่สามารถทนต่อแมลงศัตรูพืชได้ และปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ลักษณะของข้าวที่สามารถทนต่อแมลงศัตรูพืชได้ รวมถึงการปรับปรุงให้ได้เมล็ดข้าวที่มีสารอาหารตามที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นต้น

       3.ข้าวเขียวใหญ่  เป็นข้าวเจ้า นาปี พบมีการปลูกบนพื้นที่กว้างในหลายอำเภอ เช่น อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพ ปลูกข้าวพันธุ์นี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม ชาวนาในตำบลลาดตะเคียนเริ่มมีการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเขียวใหญ่โดยเก็บไว้ในส่วนกลาง โดยเริ่มมีการลงทะเบียนเกษตรกรที่ที่ว่าการตำบลลาดตะเคียนเพื่อขึ้นชื่อเป็นเกษตรกรข้าวพื้นเมือง และเริ่มมีโครงการเก็บพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชนิดต่างๆเอาไว้ที่เกษตรอำเภอของตำบลลาดตะเคียน  รวมทั้งเริ่มมีการทดลองคัดพันธุ์ข้าวเขียวใหญ่ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น  ข้อดีของข้าวเขียวใหญ่คือเป็นข้าวขึ้นน้ำ ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง มีลักษณะทรงกอแบะ  จากการสอบถามชาวนาต่างพื้นที่ได้รับข้อมูลที่ต่างกันคือ บางรายว่าเมล็ดข้าวเขียวใหญ่มีหาง แต่บางรายว่าไม่มีหางด้วยเหตุผลคือ หางนั้นเกิดจากการกลาย(mutation) ซึ่งพันธุ์ที่มีหางนี้ทนต่อสภาพแห้งแล้ง และยากต่อการกำจัดให้หมดจากพื้นที่ปลูก การมีหางนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านทำการเพาะปลูกลดน้อยลงเนื่องจากหางของเมล็ดข้าวติดตะแกรงในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว  อีกทั้งหากนำไปเป็นอาหารให้ไก่ หางของเมล็ดข้าวอาจติดคอเป็นเหตุให้ไก่ตายได้  อย่างไรก็ตาม พันธุ์ข้าวที่ได้รับจากชาวนาเพื่อนำมาทดลองปลูกในระดับปฏิบัติการนั้นเป็นข้าวเขียวใหญ่ชนิดที่เมล็ดมีหาง มีลักษณะการแตกกอประมาณ 5-6 กอ  ลักษณะของยอดแผ่นใบเป็นลักษณะตก

       การพัฒนาข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ที่ทนต่อสภาพแวดล้อม อาจส่งผลให้มีแนวโน้มปลูกข้าวเขียวใหญ่ลดลงเนื่องจากคุณลักษณะเมล็ดข้าวกล้องมีสีน้ำตาลอ่อน และเป็นข้าวที่ค่อนข้างแข็งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมารับประทาน ต้องผสมกับข้าวเจ้าชนิดอื่นๆ เพื่อรับประทาน ดังนั้นส่วนใหญ่จะส่งขายเพื่อทำการแปรรูป เช่น ทำเป็นแป้งเพื่อส่งทำเส้นก๋วยจั๊บ  เส้นขนมจีน  เส้นก๋วยเตี๋ยว โดยส่งขายนอกพื้นที่ปลูก

       4.ข้าวจินตหรา  พบมีการปลูกในบางพื้นที่ของอำเภอประจันตคาม เป็นข้าวนิ่มรสชาติอร่อยคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ไม่หอมเท่าข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวอีกพันธุ์หนึ่งที่นิยมรับประทาน แต่ไม่นิยมนำไปทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นขนมจีนดังเช่นข้าวอื่นที่ปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง แม้ว่ามีปัจจัยต่างๆไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำนา ความทนได้ของข้าวต่อสภาพแวดล้อมที่ผันผวนจากเดิม ประกอบกับที่ปัจจุบันมีข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุกรรมเข้ามาให้เลือกตามสภาวการณ์อย่างหลากหลาย  อย่างไรก็ตามชาวนาในพื้นที่ศึกษายังคงมีฐานะที่ไม่ลำบากเนื่องจากทำนาบนพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตนเองไม่ต้องเช่า  มีรายได้จากพืชที่ปลูกแซมตามคันนาเช่น มันเทศ มันสำปะหลัง กระถินณรงค์ กระถินเทพา รวมทั้งต้นยูคาลิปตัสที่ส่งทำเยื่อกระดาษ  รวมถึงการทำจักรสานเป็นอาชีพเสริมยามว่าง

       ปีพ.ศ.2558 พบมีการปลูกข้าวจินตหราน้อยลง เนื่องจากในแต่ละปีที่ผ่านมาทำการปลุกพันธุ์นี้แบบซ้ำๆ ทำให้ข้าวเกิดการกลาย มีข้าวปน เกิดปัญหาตามมาคือ ข้าวขาดความสมบรูณ์ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดจึงทำให้ข้าวจินตหราราคาถูก ได้ผลผลิตต่ำลง เกษตรกรบางรายจึงหาข้าวสายพันธุ์อื่นมาปลูกทั้งนี้ การปลูกข้าวในเขตพื้นที่นี้ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด

       5. ข้าวขาวบ้านนา  พบมีการปลูกในพื้นที่ของอำเภอบ้านสร้าง เป็นข้าวเจ้านาปี  ยืดตัวหนีน้ำได้  พบชาวนาที่ปลูกข้าวขาวบ้านนาต่อเนื่องบนพื้นที่เดิมมาตลอด 30 ปี ด้วยพันธุ์ข้าวที่ปลูกและเก็บรักษาพันธุ์เองเพื่อให้ได้พันธุ์ที่บริสุทธิ์ ไม่กลาย ไม่ปน โดยวิธี  การปล่อยให้ข้าวปนที่หลงเหลือในพื้นที่งอกไประยะหนึ่งก่อน แล้วกำจัด จากนั้นจึงหว่านข้าวที่ต้องการปลูก รวมทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวที่ดี เก็บพันธุ์เอง ปลูกข้าวพันธุ์เดิมนั้นในพื้นที่เดิม รวมถึงการมีระยะห่างจากข้าวพันธุ์อื่นเพื่อป้องกันการปนของละอองเรณูระหว่างพันธุ์  ดังวิธีที่ชาวนาเรียกว่า “เก็บรวงขาว ทิ้งรวงแดง” หมายถึง การกำจัดข้าวปน ข้าวดัด หญ้ารวงขาว และวัชพืชทิ้งเสมอ และข้าวที่จะเก็บทำพันธุ์ปีต่อไปจะเก็บช่วงท้ายๆของการสีข้าว เพื่อไม่ให้มีข้าวอื่นปน  จากนั้นนำมากองตากแดด 2-3 แดด เพื่อลดความชื้นและกันผุเสีย ใส่ในกระสอบป่าน เก็บในยุ้งโดยมีไม้รองพื้นกันชื้น สามารถใช้หว่านปลูกปีหน้าได้โดยไม่จำเป็นต้องตากแดดอีก โดยเก็บเกี่ยวช่วงต้น ม.ค. และหว่านต้น พ.ค คือช่วงวันพืชมงคล พิธีแรกนาขวัญจะทำเมื่อฝนแรก จะทำการะไถคราดดินแห้ง หว่านแห้ง ไถกลบ เพื่อรอฝนอีกครั้ง จากนั้นจะกักน้ำและคอยคุมประตูน้ำ รวมทั้งคอยสื่อสารกับนายด่านที่ควบคุมการปล่อยน้ำชลประทานเพื่อสำรองน้ำจากเขื่อนขุนด่านประการชลวันต่อวัน เพื่อปรับระดับน้ำที่ปล่อยมาตามเส้นทางชลประทาน  “หน้าดินต้องไม่เป็นหนัง หมายถึง ถ้ารอจนฝนมามากแล้ว หน้าดินจะเรียบเกินไป เมื่อหว่านแล้วเมล็ดข้าวจะไม่จม และไม่งอกติดดิน รากจะลอย หรืออาจถูกนกกินก่อนจะงอกเป็นต้น  ใส่ปุ๋ยสูตรกลางๆ 2 ครั้งคือ ระยะที่ “ข้าวขึ้นต้น” มีน้ำในนา และระยะที่ “ข้าวกำลังจะท้อง” คือช่วงออกพรรษา มีน้ำในนา สิ่งที่ต้องระวังคือ ระวังเกสรร่วงก่อนติดเมล็ด ในกรณีที่ฝนหรือลมแรงเกินไป  ด้านพิธีกรรมนั้นพบเพียงชาวนาที่อายุค่อนข้างมากที่ยังคงรักษาพิธีกรรมเดิมอยู่ คือ เมื่อเริ่มหว่าน จะจุดธูป 5 ดอก ไหว้เจ้าที่ พร้อมกล่าว “ฝากแม่นางธรณี อย่าให้มดแมงกวน ขอให้หญ้าเน่า ข้าวงาม ถ้าได้เกวียนจะเลี้ยงหัวหมูและเหล้า เลี้ยงเจ้าที่เจ้าทาง  เมื่อแม่โพสพจะแพ้ท้อง จะจุดธูป 5 ดอก พร้อมถวายส้ม กล้วย อ้อย พร้อมตาแหลวปัก ผูกผ้า3สี เมื่อจะเก็บเกี่ยว จะจุดธูป 5 ดอก กล่าวคำขออนุญาตบาปกรรมแม่โพสพ ขอตัดต้นตัดกอ ขออนุญาตแม่นางธรณี และเชิญแม่โพสพเข้าอยู่ในร่มในเงา

       6.ข้าวเหลืองทอง  พบมีการปลูกในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง เป็นข้าวเจ้านาปี ขึ้นน้ำ วิธีการในการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคล้ายคลึงกับชาวนาผู้ปลูกข้าวขาวบ้านนา ซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกัน

 

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับพิธีกรรมการเพาะปลูกข้าว

       พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก พิธีช่วงเพาะปลูก พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา และพิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว โดยพิธีกรรมก่อนการเพาะปลูกมีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวง บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษ พิธีช่วงเพาะปลูก มีเป้าหมายเพื่อบวงสรวงบนบาน บอกกล่าว ฝากฝังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าวหรือการเพาะปลูกแก่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้การเพาะปลูกข้าวดำเนินไปได้ด้วยดี ปราศจากอันตรายต่างๆ พิธีแรกไถนา พิธีเลี้ยงผีตาแฮก ตกกล้า พิธีแรกดำนา และพิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยวฉลองผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตมาก และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมกตัญญูต่อข้าว การปลูกข้าวจินตหรานี้จะทำการหว่านแห้ง โดยใส่ปุ๋ยพร้อมกับการหว่านเมล็ดพันธุ์ แต่จะไม่ใส่ปุ๋ยมากเกินไปเพราะจะทำให้ข้าวไม่ออกรวง ของการเก็บเกี่ยวจะเริ่มช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยใช้รถเกี่ยว จากนั้นนำข้าวเก็บไว้ในยุ้งฉาง และทำการทำขวัญข้าว

 

ข้อค้นพบของการวิจัย

       1. ชาวบ้านรับข้าวสายพันธุ์อื่นเข้ามา โดยหวังผลผลิตที่มาก และเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก จึงทำให้ข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองค่อยๆ หายไป การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวที่ทำมาตลอดคือการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ และคอยกำจัดข้าวปน คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบรูณ์  เพื่อจำหน่ายแก่ชาวบ้านที่ต้องการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง

       2. ในระดับผู้นำชุมชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะช่วยนำสายพันธุ์ข้าวเก็บไว้ เพื่อนำไปศึกษาต่อไป

       3. คติ ความเชื่อ ประเพณี หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกข้าวของชาวนาในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะไม่มีดังเช่นในอดีต เนื่องจากยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  ประกอบกับมีการจัดระบบชลประทานมิได้อาศัยเพียงน้ำฝนหรือแหล่งน้ำจากธรรมชาติ จึงไม่มียึดติดกับข้าวสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง แต่พร้อมปรับเปลี่ยนการปลูกตามความรู้และข้อแนะนำด้านวิชาการใหม่ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารกันเป็นระยะในองค์กรท้องถิ่น มีการรับรู้ข้อมูลทางการเกษตรที่รวดเร็วขึ้น มีการใช้เครื่องจักรในการเพาะปลูกเป็นหลักทั้งจากการซื้อเองหรือการเช่าเครื่องจักร การปลูกข้าวบนพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อส่งขายต่อให้อุตสาหกรรมการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือขนมจีน ยกเว้นในบางพื้นที่

       4. ชาวนาส่วนมากทำนาด้วยตนเองเป็นหลัก ยกเว้นงานบางส่วนจะจ้างคนมาช่วยทำบ้าง มีการใช้เครื่องจักรช่วยในการไถและเก็บเกี่ยว

       5. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวนา เช่น นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับราคารับซื้อข้าวซึ่งแตกต่างกันมากในแต่ละยุคการบริหารของภาครัฐ รวมถึงราคาเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อชาวนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้ในแต่ละปีที่ได้จากการทำนาไม่แน่นอน การเกิดภาวะน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากที่ป้องกันได้ยากเพราะพื้นที่ทำนาในจังหวัดปราจีนบุรีมีขอบเขตกว้างขวางมาก ในทางกลับกันส่วนที่อยู่นอกเขตชลประทานหรือที่ดอนก็ประสบปัญหาความแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ทำให้ได้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอและรายได้ไม่มั่นคง ดังนั้น ชาวนาจึงมีวิธีการรวมกลุ่มช่วยเหลือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ ในแต่ละเดือนจะมีการประชุมที่จังหวัด โดยมีตัวแทนจากหมู่บ้าน หมู่บ้านละอย่างน้อย 1 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อสื่อสารข้อมูลของแต่ละหมู่บ้านเกี่ยวกับเรื่องราคาปุ๋ย ราคาข้าว ค่าคนงาน เป็นต้น รวมถึงเพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ ที่พบเจอในการทำนา

       6. เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของเกษตรกร  ผู้ปลูกข้าว ข้าวขาวบ้านนาซึ่งเป็นข้าวขึ้นน้ำมาตลอด 30 ปี บนพื้นที่เดิมนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ดินเหนียว ผลผลิต 50-60 ถึง 80 ถังต่อไร่  หรือ 5 เกวียนต่อ 10 ไร่ ขายได้ราคา 5,000-8,500 บาท ถึง 13,000 บาทต่อเกวียน ขึ้นกับบางปี โดยโรงสีจะนำรถมารอรับซื้อริมคันนาทันทีที่เก็บเกี่ยวผลผลิต จึงไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เพื่อเก็บข้าวเพื่อรอขาย โดยเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อทำพันธุ์ต่อเองทุกปี ยกเว้นบางปีหากต้องซื้อพันธุ์จากเกษตร จะซื้อในราคาประมาณ 200 บาทต่อถัง การ “เก็บรวงขาว ทิ้งรวงแดง” หมายถึง จะคอยกำจัดข้าวปน ข้าวดัด หญ้ารวงขาว และวัชพืชทิ้งเสมอ ข้าวที่จะเก็บทำพันธุ์ปีต่อไป จะเก็บช่วงท้ายๆของการสีข้าว เพื่อไม่ให้มีข้าวปนซึ่งอาจมีข้าวของแปลงอื่นตกค้างที่คอสี  จากนั้นนำมากองตากแดด 2-3 แดด เพื่อลดความชื้นและกันผุเสีย ใส่ในกระสอบป่าน เก็บในยุ้งโดยมีไม้รองพื้นกันชื้น สามารถใช้หว่านปลูกปีหน้าได้โดยไม่จำเป็นต้องตากแดดอีก โดยเก็บเกี่ยวช่วงต้น ม.ค. และหว่านต้น พ.ค คือช่วงวันพืชมงคล ทั้งนี้ ที่ทำเช่นนี้ได้แม้จะทำนาเพียงคนเดียว เนื่องจากทำนาเพียง 10 ไร่ อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยที่มากแล้ว เริ่มมีปัญหาสุขภาพ และลูกๆมีอาชีพรับราชการที่จังหวัดอื่น จึงไม่ทราบว่าในอนาคตพื้นที่ที่ติดถนนคอนกรีตนี้จะถูกใช้ทำประโยชน์ใดต่อไป มีเครื่องสูบน้ำเป็นของตนเอง เพื่อใช้สูบน้ำขึ้นนา พิธีแรกนาขวัญเมื่อฝนมา เมื่อหน้าดินแห้ง จะไถคราด หว่านแห้ง ไถกลบ เพื่อรอฝนอีกครั้ง จากนั้นจะกักน้ำ และคอยคุมประตูน้ำ รวมทั้งคอยสื่อสารกับนายด่านที่ควบคุมการปล่อยน้ำชลประทานเพื่อสำรองน้ำจากเขื่อนขุนด่านประการชลวันต่อวัน เพื่อปรับระดับน้ำที่ปล่อยมาตามเส้นทางชลประทาน “หน้าดินต้องไม่เป็นหนัง หมายถึง ถ้ารอจนฝนมามากแล้ว หน้าดินจะเรียบเกินไป เมื่อหว่านแล้วเมล็ดข้าวจะไม่จม และไม่งอกติดดิน รากจะลอย หรืออาจถูกนกกินก่อนจะงอกเป็นต้น การให้ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยสูตรกลางๆ เช่น 14-14-14 หรือ 15-15-15 ให้ 2 ครั้งคือ ครั้งที่1 ให้ปุ๋ยระยะที่ “ข้าวขึ้นต้น” และมีน้ำในนา ปริมาณ 2ไร่ต่อลูก คือ ปุ๋ย 1 กระสอบต่อพื้นที่ 2 ไร่ ครั้งที่2 ให้ปุ๋ยระยะที่ “ข้าวกำลังจะท้อง” คือช่วงออกพรรษา มีน้ำในนา ปริมาณ 2ไร่ต่อลูก คือ ปุ๋ย 1 กระสอบต่อพื้นที่ 2 ไร่ เช่นกัน การที่ชาวนาไม่นิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจาก งานเยอะ คือ ต้องใช้แรงงานมาก ให้ผลช้า สิ่งที่ต้องระวังคือ ระวังเกสรร่วงก่อนติดเมล็ด ในกรณีที่ฝนหรือลมแรงเกินไป พิธีกรรม ชาวนารุ่นใหม่ไม่ค่อยมีพิธีเหล่านี้แล้ว เหลือแต่ชาวนาที่อายุค่อนข้างมากจึงจะยังคงรักษาพิธีกรรมเดิมอยู่ คือ เมื่อเริ่มหว่าน จะจุดธูป 5 ดอก ไหว้เจ้าที่ พร้อมกล่าว “ฝากแม่นางธรณี อย่าให้มดแมงกวน ขอให้หญ้าเน่า ข้าวงาม ถ้าได้เกวียนจะเลี้ยงหัวหมูและเหล้า เลี้ยงเจ้าที่เจ้าทาง…. ” เมื่อแม่โพสพจะแพ้ท้อง จะจุดธูป 5 ดอก พร้อมถวายส้ม กล้วย อ้อย พร้อมตาแหลวปัก ผูกผ้า 3สี เมื่อจะเก็บเกี่ยว จะจุดธูป 5 ดอก กล่าวคำขออนุญาตบาปกรรมแม่โพสพ ขอตัดต้นตัดกอ ขออนุญาตแม่นางธรณี และเชิญแม่โพสพเข้าอยู่ในร่มในเงา ข้าวที่มีปลูกช่วงพื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.ปราจีนบุรี กับ จ.นครนายก เช่น ข้าวขาวหลง ข้าวทองมาเอง ข้าวอยุธยา ข้าวเหลืองใหญ่ ข้าวขาวพวง แม้เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตดี แต่ข้าวที่กล่าวนี้เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่ลุ่ม คือค่อนข้างเป็นที่ดอน น้ำไม่มาก ดังนั้นที่ชาวนาในเขตปราจีนบุรีส่วนใหญ่ไม่ปลูกข้าวเหล่านี้ เนื่องจาก ไม่ทนโรค ไม่ทนต่อสิ่งแวดล้อม น้ำขึ้นหรือน้ำท่วมแล้วหนีไม่ทัน

       7. ปัญหาเรื่องข้าวปน มักเกิดจากการใช้เครื่องเกี่ยวรวมกัน จึงปนที่คอเกี่ยวข้าว ที่เช่าต่อกันมา นายชด คำแหง ป้องกันข้าวปนโดยจะให้เครื่องเกี่ยวข้าวเกี่ยวไประยะหนึ่งก่อน เพื่อให้ข้าวอื่นที่ค้างอยู่ในคอเกี่ยวข้าวออกหมดก่อน จึงเก็บเมล็ดข้าวที่จะใช้เป็นข้าวพันธุ์ต่อไป ข้าวปน เกิดได้จากการที่มีข้าวนกหรือข้าวแดงซึ่งหลุดร่วงจากรวงง่าย จึงยากต่อการกำจัดออกจากพื้นที่เพาะปลูก และการปล่อยให้ข้าวปนที่หลงเหลือในพื้นที่งอกไประยะหนึ่งก่อน แล้วกำจัด จากนั้นจึงหว่านข้าวที่ต้องการปลูก รวมทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวที่ดี เก็บพันธุ์เอง ปลูกข้าวพันธุ์เดิมนั้นในพื้นที่เดิม รวมถึงการมีระยะห่างจากข้าวพันธุ์อื่นเพื่อป้องกันการปนของละอองเรณูระหว่างพันธุ์

 

สรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล

       โดยสรุปข้อดีของข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นข้าวนาปีคือ เหมาะสมกับธรรมชาติของพื้นที่เพาะปลูกที่น้ำลึกมาก  ไม่ต้องดูแลมาก วัชพืชมีน้อยมาก เพราะข้าวพื้นเมืองยืดตัวหนีน้ำได้ดีกว่า ต้นเอนบังแสงวัชพืช ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก หรืออาจใส่ครั้งเดียว คือ ใส่พร้อมกับช่วงหว่านข้าว หรือ ช่วงข้าวใกล้ตั้งท้องจะออกรวง  และเนื่องจากศัตรูพืชไม่มาก ไม่มีศัตรูพืชระบาด จึงไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง ต้นทุนโดยรวมจึงไม่มาก ไม่ว่าปลูกเร็วช้าแต่เมื่อถึงฤดูกาลน้ำถึงแดดดีก็จะออกดอกออกรวงตามเวลาปกติ และเนื่องจากการคมนาคมสะดวก ถนนหนทางพัฒนาดีเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงการที่ข้าวส่วนใหญ่จะมีโรงสีมารับซื้อทำเป็นแป้งเพื่อส่งทำก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นขนมจีนส่งขายในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย นับว่ามีตลาดที่ดีรองรับ  บางพื้นที่จึงมีการจองรับซื้อ และในหลายพื้นที่จะมีโรงสีจัดรถมารอรับซื้อถึงริมคันนาเพื่ออำนวยสะดวกต่อชาวนาด้วย จึงไม่ต้องจัดหาพื้นที่ หรือ ยุ้งฉาง รองรับข้าวที่เก็บเกี่ยวรอคนมาซื้อหรือส่งขาย จึงนับว่าเป็นการอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนการขนส่ง แม้ราคาขายไม่สูง แต่คำนวณกับต้นทุนซึ่งน้อยแล้ว จึงมีกำไรค่อนข้างดี จากการสัมภาษณ์พบว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกไม่ต้องเช่าทำกิน ส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวมีชีวิตที่มีความสุขดี ชาวนาจึงยังนิยมปลูกข้าวพื้นเมืองอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม พบว่า ลูกหลานชาวนาไม่นิยมทำนาเป็นอาชีพ และเริ่มมีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปล่อยเช่าทำนา หรือนำพื้นที่ไปทำรายได้อื่น ในอนาคตสถานการณ์การทำนาปลูกข้าวในบางพื้นที่จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย รวมถึงการปรับตัวของชาวนา โดยการยกเลิกปลูกข้าวพื้นเมืองที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นที่นิยมด้วยสาเหตุหลายประการ ทำให้ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ที่เคยมีผู้ศึกษาและบันทึกไว้ได้มีผู้ปลูกลดลง และหายไปจากพื้นที่ที่เคยพบ

 

กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ”ชุดโครงการข้าวพื้นเมือง” ประจำปีงบประมาณ 2558

นายมงคล  งามหาญ อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลเกาะลอย อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี

นางอารีรัตน์ มาลา ตัวแทนเกษตรหมู่บ้านและเป็นสมาชิกสภาเกษตรของหมู่บ้าน  อยู่ที่ 95 หมู่ 1 ตำบลบ้านหอย อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี (พิกัดบ้าน 47P 0775022   UTM 1551321) (พิกัดบ้าน 47P 0775022 UTM 1551321) เป็นชาวนาผู้ปลูกข้าวพันธุ์พลายงามปราจีนบุรี บนพื้นที่กรรมสิทธิ์ตนเองปีละ 80 ไร่ (พิกัดที่นา 47P 0774064 UTM 1550450)

นายมนตรี ซ้อยจำปา บ้านโคกกระท้อน  ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี (GPS :47P  0784117   UTM 1543579)

นายประดิษฐ์ พามั่น  บ้านโคกมะม่วง ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี (GPS :47 P 0788107    UTM 1543413) 

นายจำปี เข้าคลอง ผู้ใหญ่บ้านหนองคุ้มเบอร์  หมู่11 .คำโตนด  อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ศูนย์ดำรงธรรม (ศดธ..) (GPS :47 P0782264 UTM 1565774) ชาวนาผู้ปลูกข้าวจินตหราบนพื้นที่ 40 ไร่

นายฉลาง บัวดอก เจ้าของพื้นที่และผู้ให้พันธุ์ข้าวจินตหราเพื่อการศึกษาวิจัยอยู่ที่ 55 ม.11 ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

นายชด คำแหง อยู่ที่ 3/1 หมู่ 10 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง  จังหวัดปราจีนบุรี (Location  ±76ft       UTM 47      0739154  , 1553980) ทำนาบนพื้นที่นาของตนเอง 10 ไร่ (Location  ±12tf       UTM  47      P 0739144 ,1553959)

นายวิมล เนื่องจากอวน อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ 10 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง  จังหวัดปราจีนบุรี(Location ±18ft UTM 47  P 0739326, 1554225) ชาวนาผู้ปลูกข้าวเหลืองทอง

 

เอกสารอ้างอิง

กรมการข้าว. 2551. ข่าวเศรษฐกิจการเกษตร. แหล่งที่มา : http//human.rru.ac.th/icon/local-infor/rice.doc, 30 ตุลาคม 2551.

รัติกา ยาหอม และคณะ. (2548). ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบปักหลักในชุมชนปากคลอพันท้ายนรสิงห์. กรุงเทพมหานคร: โปรแกรมวิทยาศาสตร์ทั่วไปมหาวิทยาลัย ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

วิชิต นันทสุวรรณ. (2528).ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานพัฒนา วารสารสังคมพัฒนา.(5):6-11.

วีระพงษ์ แสงชูโต. (2544). การวิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีพื้นบ้านในทางวิทยาศาสตร์ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ธวัช ปุณโณทก. (2531). ภูมิปัญญาชาวบ้านอีสาน : ทัศนะของอาจารย์ปรีชา พิณทอง. ทิศทางหมู่บ้านไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมู่บ้าน.

เสถียร ฉันทะ. 2558. เอกสารประกอบการบรรยายการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเครื่องมือวิจัย

กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ”ชุดโครงการข้าวพื้นเมือง”.10-11 ก.พ.2558 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี

สัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี

Morphology of Leuangawn Rice in Prachinburi Province

รัชนู แก้วแกมเกษ* วันทนี สว่างอารมณ์** และ ภัทรภร เอื้อรักสกุล**

Ratchanoo Keawkamked, Wantanee Sawangarom and Pattaraporn Uraksakul

Abstract

Thai rice cultivars are essential food crops for consuming dealing since in the past to present. This research is experimental research has an objective to study the morphology of Leuangawn Rice in Prachinburi Province. The methodology of this research was surveyed and interviewed the farmer to collect data and used the experiment to grow plant rice. Data analysis used descriptive statistics and the qualitative data used content analysis. The researcher planted in experimental plots to study the morphology since June to December 2015 and recorded pattern according to the rice research institute, Department of Agriculture, Ministry of Agriculture and Cooperatives. The result showed that the rice germination period to rice grains were 144 days. Their lamina and leaf sheath were green. Their stipules were white and clump of rice were straight. The period of seedling field to flowering were 95 to 110 days. The one hundred paddy seeds were weighed. It was found that Leuangawn the most maximum weight was 5.10 g while the minimal weight was of 2.60 g. Some characteristics from a variety may be useful in rice breeding program in the future. To maintain the Prachinburi native rice varieties should be conservation for utilization and dissemination of their knowledge.

Key word: Leuangawn Rice / Morphology / Prachinburi Province

* นิสิต วท.บ.ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** อาจารย์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

ข้าวเป็นพืชที่คนไทยปลูกเพื่อบริโภคและเพื่อการค้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในจังหวัดปราจีนบุรี วิธีการวิจัยโดยการสอบถาม สัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผู้วิจัยนำข้าวมาปลูกในแปลงทดลอง ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ตามสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าตั้งแต่ข้าวงอกถึงออกรวงใช้ระยะเวลา 144 วัน มีแผ่นใบและกาบใบสีเขียว สีของหูใบสีขาว ข้าวส่วนใหญ่ทรงกอตั้ง จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอกส่วนใหญ่ 95 110 วัน น้ำหนัก 100 เมล็ดข้าวเปลือกของเหลืองอ่อนหนักมากที่สุด 5.10 กรัม ข้าวเหลืองอ่อนเบาที่สุด 2.10 กรัม ซึ่งลักษณะบางลักษณะของข้าวอาจจะเป็นที่ต้องการหรือมีความจำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอนาคต ควรมีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ข้าวพื้นเมืองปราจีนบุรี หากไม่ได้รับการเรียนรู้และอนุรักษ์ไว้อาจสูญไปจากท้องถิ่นได้

คำสำคัญ: ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน / สัณฐานวิทยา / จังหวัดปราจีนบุรี

 

บทนำ

       ข้าว เป็นพืชล้มลุกจัดอยู่ในวงศ์หญ้า (Family Poaceae) สกุล ออไรซา (Oryza) สันนิษฐานว่าข้าวมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีป Gondwanaland(นิลวรรณ เพชรบูระณิน, 2548) ปัจจุบันมีข้าวปลูกอยู่สองชนิด คือ Oryza sativa ซึ่งถือเป็นข้าวเอเชีย และ Oryza glaberrima ซึ่งถือเป็นข้าวแอฟริกา(Chang, 1979,Morishima et al.,1980) ประเทศไทยเป็นแหล่งที่ปลูกข้าวมาแต่โบราณกล่าวคือ มีเมล็ดข้าวถูกขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงว่ามีการปลูกข้าวในบริเวณนี้เมื่อประมาณ 3,000-3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ข้าวคือผลผลิตที่เกิดจากความวิริยะอุตสาหะของชาวนาไทย ข้าวจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันและอยู่คู่กับสังคมไทยเสมอมา ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง นับว่าเป็นความหลากหลายทางด้านพันธุกรรม (Genetic diversity) ลักษณะดีบางอย่างในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเป็นฐานพันธุกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้พันธุ์ดีในอนาคต ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน ข้าวจึงไม่ใช่เพียงอาหารหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ โดยในปีพ.ศ. 2547 ประเทศไทยส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 108,393.3 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวสารร้อยละ 93 และผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ข้าวสำเร็จรูป และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ7 (นิลวรรณ เพชรบูระณิน, 2548) ข้อมูลปัจจุบัน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปี 2558 ที่ส่งออกไปทั้งหมด 9.79 ล้านตันลดลงจากปี 2557 ที่เคยส่งออกได้ 10.97 ล้านตัน ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 2 รองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้ 10.2 ล้านตัน ส่วนเวียดนามเป็นเบอร์ 3 ส่งออกได้ 6.46 ล้านตัน ในด้านมูลค่าส่งออกไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 4,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 15.2% จากปี 2557 ที่ส่งออกได้ 5,439 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกข้าว 2558 ปี ไทยเสียแชมป์ให้อินเดีย, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 มกราคม 2559, สมาคมส่งออกข้าวไทย,2559)

 

วิธีการทดลอง

       วิธีการศึกษาประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลและเก็บข้อมูลในพื้นที่ศึกษาวิจัย การนำเมล็ดพันธุ์มาทำการทดลองปลูก ณ ห้องปฏิบัติการ สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดังนี้

 

การเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายของข้าวพันธุ์พื้นเมือง

       ประชุมคณะผู้วิจัยร่วมกับชุมชนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยและกำหนดขอบเขตการสำรวจตลอดจนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความหลากชนิดของข้าวพันธุ์พื้นเมือง สำรวจความหลากหลาย และพื้นที่เพาะปลูกตลอดจนแหล่งที่มาของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี

 

การทดลองปลูกข้าวเหลืองอ่อน

       การเพาะปลูกข้าว นำเมล็ดพันธุ์ข้าวห่อด้วยผ้าขาวบางนำไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นจากน้ำและนำไปผึ่งลมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง เมื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวเริ่มงอกเตรียมดิน ใส่ถุงดำสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวตัวอย่างละ 15 ต้น ระยะห่างในระหว่างปลูก 5x5 เซนติเมตร ปลูกในอัตรา 1 ต้นต่อหลุมให้ปุ๋ยและน้ำรวมทั้งการกำจัดวัชพืชตามความเหมาะสมเมื่อต้นข้าวถึงระยะแตกกอ เริ่มบันทึกข้อมูลลักษณะทางกายภาพ และสัณฐานวิทยาจำนวน 40 ลักษณะ ตามแบบบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว ดัดแปลงจากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร(อรพิน วัฒเนสก์, 2550) ดังนี้

 

การบันทึกลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมือง

1. ระยะกล้า บันทึกลักษณะของความสูงของต้นกล้า

2. ระยะแตกกอเต็มที่ บันทึกลักษณะของการมีขนบนแผ่นใบ สีของแผ่นใบ สีของกาบใบ มุมของยอดแผ่นใบ สีของลิ้นใบ รูปร่างของลิ้นใบ ความยาวเยื่อกันน้ำฝน สีของหูใบ สีของข้อต่อใบกับกาบใบ สีของปล้อง ทรงกอ

3. ระยะออกรวง บันทึกลักษณะของจำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก มุมของใบธง ความยาวของลำต้น จำนวนหน่อ มุมหรือลักษณะกอ สีของปล้องด้านนอก การชูรวง หางข้าว สีของหางข้าว สีของยอดเมล็ด การแตกระแง้

ผลการทดลอง

      จากการเก็บข้อมูลข้าวสายพันธุ์เหลืองอ่อนซึ่งเป็นข้าวที่อยู่ในพื้นที่ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี โดยทำการศึกษาข้าวสายพันธุ์เหลืองอ่อนตั้งแต่การเริ่มเพาะเมล็ดจนกระทั่งออกรวงจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มีการตรวจสอบการเจริญเติบโตของข้าวในแต่ละสัปดาห์ และบันทึกลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมืองพบว่าระบบรากเป็นแบบรากฝอย (fibrous root system) ประกอบด้วยรากที่พัฒนามาจากส่วนแรดิเคิล (radicle) เรียกว่า primary root หรือ first seedling root และรากที่แตกแขนงออกมาเรียกว่า secondary root หรือ lateral root รากที่เกิดจาก scutellar node เรียกว่า seminal root ส่วนรากที่เกิดจากข้อใต้ดินตั้งแต่ coleoptilar node ขึ้นไป เรียกว่า adventitious root ในการศึกษาครั้งนี้มีค่าเฉลี่ยความยาวรากพืชอยู่ในช่วงประมาณ 12.56 เซนติเมตร มีการเจริญของลำต้นแบบแตกเป็นกอสัน การแตกกอจะเริ่มประมาณเมื่อข้าวอายุ 10 วันหลังปักดำ และจะถึงจุดการแตกกอสูงสุดเมื่ออายุ 50 – 60 วันหลังปักดำ โดยลำต้นข้าวมีความยาวเฉลี่ย 199.5 เซนติเมตร ค่าลำต้นสูงที่สุดและต่ำสุดคือ 203.0 และ 196 เซนติเมตร มีการแตกแขนง (tiller) โดยจะแตกออกจากลำต้นหลัก (main culm) โดยแตกในลักษณะสลับข้างกัน (alternate pattern) และมีสันตรงขอบ 2 สัน ความยาวเฉลี่ย 18.52 เซนติเมตร ใบข้าวมีความยาวเฉลี่ย 94 เซนติเมตร ค่าใบสูงที่สุดและต่ำสุดคือ 96 และ 92 เซนติเมตร  ลิ้นใบมีลักษณะเป็นแผ่นรูปร่างแหลม ยาว 1 – 1.6 เซนติเมตร มักแยกออกจากกัน แผ่นใบเรียบจนถึงมีขนกระจายทั่วแผ่นใบ มีลักษณะสีเขียว แผ่นใบใต้ใบธงมีลักษณะทั้งตั้งตรงและนอน สีของข้อต่อใบกับกาบใบมีสีเขียวอ่อน ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ยาว 8 – 35  เซนติเมตร ผลยาว 4.5 7 มิลลิเมตร กว้าง 2.3 – 3.5 มิลลิเมตร รูปร่างส่วนใหญ่มักเป็นรูปทรงคล้ายรูปไข่ รูปรี หรือ ทรงกระบอก รวงข้าวมีขนาดความยาวสุด 31.5  เซนติเมตร และขนาดสั้นสุดยาว 22.50 เซนติเมตร  จำนวนเมล็ดสูงสุดเฉลี่ยต่อ 1 รวงข้าวคือ  88.5 เมล็ด ใน 1 รวง จำนวนเมล็ดมากที่สุด 114 เมล็ด และเมล็ดน้อยที่สุดใน 1 รวงคือ 63 เมล็ดโดยมีระยะการเจริญเติบโตของข้าวเหลืองอ่อน สรุปได้ดังภาพที่ 1 ภาพที่ 2

อภิปรายและสรุปผลการวิจัย

      สรุปผลการวิจัย การทดลองปลูกข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนตั้งแต่ข้าวงอกถึงออกรวงใช้ระยะเวลา 144 วัน มีแผ่นใบและกาบใบสีเขียว สีของหูใบสีขาว ข้าวส่วนใหญ่ทรงกอตั้ง จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอกส่วนใหญ่ 95 110 วัน น้ำหนัก 100 เมล็ดข้าวเปลือกของเหลืองอ่อนหนักมากที่สุด 5.10 กรัม ข้าวเหลืองอ่อนเบาที่สุด 2.10 กรัม

      ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนเป็นข้าวเฉพาะถิ่นที่มีปลูกในอำเภอประจันคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นข้าวนาปี โดยจะเริ่มปลูกข้าวประมาณเดือนเมษายน (ช่วงที่ฝนเริ่มตก) เนื่องจากวิธีการทำนาโดยการหว่านสำรวย (ไม่มีการนำเมล็ดข้าวแช่น้ำก่อนปลูก) เมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะตกอยู่ตามซอกก้อนดินและรอยไถ เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดได้รับความชื้นก็จะงอก(ความรู้เรื่องข้าว, 2534)  ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนเป็นข้าวเจ้า ขึ้นน้ำ ไวต่อช่วงแสง กาบใบและปล้องสีเขียว เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียว(งานวิจัยของกองวิจัยและพัฒนาข้าว, 2555)  ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนมีนิเวศน์การปลูกประเภทข้าวขึ้นน้ำ จะปลูกในนาที่มีน้ำท่วมขัง มีระดับน้ำลึก 1-3 เมตร ลักษณะพิเศษของข้าวเหลืองอ่อนคือ มีความสามารถในการยืดปล้อง (internode elongation ability) จึงทำให้ต้นข้าวมีลักษณะสูงสามารถหนีน้ำได้ น้ำจึงไม่ท่วมจนต้นข้าวเน่าตาย นับเป็นลักษณะที่ดีของข้าวพื้นเมืองพันธุ์นี้ สอดคล้องกับการศึกษาของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว(2546) ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดที่ลักษณะกายภาพของเมล็ดไม่ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งลักษณะดีที่ต้องการบางอย่างอาจจะมีในข้าวพันธุ์พื้นเมือง(จารุวรรณ บางแวก และคณะ, 2532) ลักษณะทางสัณฐานวิทยาข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนคือ กอตั้ง ใบสีเขียว รวงแน่นปานกลาง ใบธงตั้งตรง ระแง้ถี่ปานกลาง คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางและข้าวกล้องเมล็ดยาวเรียวคล้ายคลึงกับการศึกษาของสมพงษ์ ชูสิริ(2546) กาบใบสีเขียว ยอดเกสรสีขาว เป็นข้าวเจ้า ไม่มีลักษณะสีอื่นปรากฏตามส่วนต่างๆ ของต้นข้าว(เปรมกมล มูลนิลตา และคณะ, 2557) ผลผลิตของข้าวพื้นเมืองค่อนข้างต่ำ ข้าวคุณภาพต่ำ จึงทำให้ขายได้ราคาต่ำ แต่เมล็ดข้าวเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี เนื่องจาก ข้าวสารเมล็ดเรียวยาว แต่คุณภาพที่เป็นข้อด้อยของข้าวพื้นเมืองพันธุ์นี้คือตรงที่คุณสมบัติของข้าวที่หุงสุกแข็ง กล่าวคือลักษณะเมล็ดข้าวไม่ค่อยอ่อนนุ่ม รสชาติจึงไม่ค่อยอร่อย กลุ่มผู้บริโภคจึงไม่ค่อยต้องการ จึงมีผู้ปลูกข้าวพันธุ์นี้น้อยมากสอดคล้องกับผลกาศึกษาของสำเริง แซ่ตัน(2546)

ข้อเสนอแนะ

      ในการทำการวิจัยในครั้งนี้ซึ่งเป็นการศึกษาสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในเขต จังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้วิจัยเล็งเห็นว่า ในปัจจุบันชาวนาไทยของเราแทบจะไม่ใช่วิธีการทำนาแบบเก่าเลย วิธีที่บรรพบุรุษเราทำกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ในปัจจุบันแทบไม่มีให้เราได้เห็น ชาวนาไทยในปัจจุบันใช้เงินลงทุนเยอะขึ้น ควายหมดบทบาทในการทำนา เพราะถูกแทนที่ด้วยรถไถนา อุปกรณ์ที่ใช้ทำนาโดยใช้ควายชาวบ้านขายไปเสียหมด มีเหลือให้ดูเป็นบางส่วนไม่ครบทุกชิ้น การลงแขกหรือวานจะทำได้ลำบากขึ้น หากทำได้ก็ใช้ทุนสูงขึ้น ความสามัคคี เสน่ห์ความสวยงามของวิถีชีวิตเกษตรกรลดลง มีการใช้สารเคมีในการทำนามากขึ้นภูมิปัญญาทางด้านความเชื่อเช่นการเรียกขวัญข้าวแทบจะสูญหายไปการทำนาเน้นเพื่อเงินมากกว่าที่จะทำเพื่อไว้กิน เกษตรกรย้ายถิ่นฐานออกไปประกอบอาชีพอื่นมากขึ้น เหลือผู้สูงอายุกับเด็กเฝ้าบ้านเป็นส่วนมาก คนทำการเกษตรน้อยลง เนื่องจากขายที่ดินทำกิน หรือเปลี่ยนอาชีพ ผู้วิจัยจึงอยากจะฝากถึงชาวนาไทยในปัจจุบันให้เล็งเห็นขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ  ของบรรพบุรุษเราไว้บ้าง เพราะจะได้เป็นการอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราได้เรียนรู้กันในอนาคต

ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. การอนุรักษ์ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน สามารถอนุรักษ์ข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนไว้ได้โดยชาวนาควรมีการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวไว้ รัฐบาลควรมีการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพื่อไม่ให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองสูญหายไป ควรลดเลิกการใช้สารเคมีเพื่อไม่ให้ข้าวกลายพันธุ์ การอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีการทำนาแบบดั้งเดิม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าข้าวพื้นเมือง รวมทั้งสร้างค่านิยมในการบริโภคข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้กว้างขวาง หน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์และส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองควรเข้ามาให้ความรู้แก่ชาวนาและสนับสนุนในเชิงอนุรักษ์ บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรเน้นการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากกว่าการปลูกข้าวพันธุ์ผสมเชิงธุรกิจ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการฟื้นฟูรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองระดับตำบล โดยนำพันธุ์ที่เคยสูญหายกลับคืนมาปลูก

2. ภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวพื้นบ้าน ควรมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สาธิต รวมทั้งมีการจัดพิธีทำขวัญข้าวเนื่องในโอกาสต่างๆ เพื่อรื้อฟื้นให้บททำขวัญข้าวไม่เลือนหายไป หรือจัดทำเป็นวิดีทัศน์และภาพยนตร์เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นวัฒนธรรมการปลูกข้าวของจังหวัดปราจีนบุรีไว้

3. ถ้าเกษตรกรจะเลิกปลูกข้าวพันธุ์นี้ ในขณะที่ชาวนายังปลูกข้าวอยู่นั้น แทนที่จะปลูกข้าวอย่างเดียว ควรปลูกพืชอย่างอื่นด้วย หรือกล่าวคือภาครัฐต้องทำให้ชาวนามีรายได้จากส่วนอื่นด้วย

4. ในการทำวิจัยข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนควรนำเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถช่วยในการวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมในระดับโมเลกุลเพื่อความแม่นยำและถูกต้องมากขึ้นและได้ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่ตรงตามสายพันธุ์ไปใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การนำข้าวพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สนับสนุนงานทุนวิจัยเรื่องนี้

 

เอกสารอ้างอิง

กองวิจัยและพัฒนาข้าว. (2555). พันธุ์ข้าวรับรอง ปี 2555. วารสารกรมการข้าว กรุงเทพฯ, 1(1), 8-11.

จารุวรรณ บางแวก สุวัต นาคแก้ว และ ประโยชน์ เจริญธรรม. (2532). เอกสารวิชาการ การศึกษา ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองในเขตศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี. ปราจีนบุรี: ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 12-17.

ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ. (2543). ข้าวพื้นเมืองไทย. เอกสารวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อ พันธุ์ข้าวแห่งชาติ. ปทุมธานี: ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร. หน้า 5-9.

ดำรง ติยวลีย์ และ กระจ่าง พันธุมนาวิน. (2512). เอกสารทางวิชาการเลขที่ 2 การศึกษาพันธุ์ข้าว ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย.เชียงใหม่: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ดำเนิน กาละดี และศันสนีย์ จำจด, (2543), ความหลากหลายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของข้าวก่ำพันธุ์ พื้นเมือง รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องพันธุศาสตร์การปรับปรุงพันธุ์และโภชศาสตร์เกษตร ขอข้าวเหนียวดำ.เชียงใหม่: สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 12-  18.

ธนพร ขจรผล ณรงฤทธิ์ เภาสระคูและ ชลธิรา แสงศิริ. (2555). วารสารวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 43(2): 601-604.

นิลวรรณ เพชรบูระณิน.(2548). พลังแห่งเอนไซม์บำบัด. กรุงเทพฯ: ฟุลเลอร์ ดิคซี. 220 หน้า.

นันทิยา พนมจันทร์ และ วิจิตรา อมรวิริยะชัย. (2554). ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำทะเลน้อย 215 จังหวัดพัทลุง โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด. วารสารหาดใหญ่วิชาการ. 9: 25-31.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์.(2559). ส่งออกข้าว 2558 ปี ไทยเสียแชมป์ให้อินเดีย. 27 มกราคม 2559.

วาสนา ผลารักษ์. (2523). ข้าว. ขอนแก่น: ภาควิชาพืชไร่คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.141 หน้า.

วิไลลักษณ์ พละกลาง. (2541). ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทย. ปราจีนบุรี: ศูนย์วิจัยข้าว ปราจีนบุรี. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 472 หน้า.

สมพงษ์ ชูสิริ. (2546). ข้าวเจ้าพันธุ์พัทลุง. ค้นเมื่อ 2 เมษายน 2559, จาก http://slbkb.psu.ac.th/xmlui/handle/2558/1768

สำเริง แซ่ตัน. (2546). ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและ พัฒนาข้าวกรมการข้าว.

. (2553). ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและ พัฒนาข้าวกรมการข้าว.

อรพิน วัฒเนสก์. (2539). การรวบรวม อนุรักษ์ ประเมิน ลักษณะและจัดหมวดหมู่ข้าวพื้นเมืองในเขตศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก.พิษณุโลก: ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สถาบันวิจัย ข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์. 215 หน้า.

อรพิน วัฒเนสก์. (2550). การประเมินลักษณะประจำพันธุ์ข้าวตามแบบบันทึกมาตรฐานของสถาบันวิจัย

ข้าวนานาชาติ. เอกสารประกอบการอบรม เรื่อง การจำแนกและประเมินลักษณะเชื้อ พันธุกรรมข้าว”. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าวเขตจตุจักร.

อรวรรณ สมใจ จรัสศรีนวลศรีและ ไพศาล เหล่าสุวรรณ. (2553). ความหลากหลายทางพันธุกรรมของ ข้าวพื้นเมือง บริเวณลุ่มน้ำนาทวีจังหวัดสงขลา โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด และเครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์.วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 41: 89-97.

Chang, T.T., Bardenas, E.A. and Rosario, A.C. (1979). The Morphology and Varietal Characteristic of the Rice Plant. Technical Bulletin 4. Los Banos, Laguna: International Rice Research Institute. 38 pp.

Morishima, H., Y. Sano and H. I. Oka. (1980). Condition for regenerating success and its variation in common wild rice. Tokyo: National Institute of Genetics.

ความหลากหลาย การวิเคราะห์พันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของข้าวพันธ์พื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ความหลากหลายการวิเคราะห์พันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ภัทรภร เอื้อรักสกุล, วันทนี สว่างอารมณ์ และ จรัญ ประจันบาล

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

[email protected] และ [email protected]

INTRODUCTION


 

ข้าว (Oryza sativa) เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในประเทศไทยเป็นอย่างมาก การพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่ดี มีประสิทธิภาพ ให้ผลผลิตมากและมีคุณภาพเมล็ดที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งพันธุกรรมข้าวที่ดี พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีเนื่องจากมีความหลากหลาย มีบางลักษณะเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นจากการคัดเลือกพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนานจนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ของประเทศ มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเหมาะแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปจึงนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต้องสูญไป อีกทั้งจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่ที่ยังมีการปลูกข้าวอยู่มาก

โครงการวิจัยเรื่อง ความหลากหลาย การวิเคราะห์พันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี นี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
2. ศึกษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
3. ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี

METHODS


1.ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง
สืบค้น ออกแบบสอบถาม สำรวจเพื่อศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

2. ศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
สืบค้น ออกแบบสอบถาม สอบถาม สำรวจ และเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางชนิดในเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา

3. ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
(พะยอม โคเบลลี่ วราพงษ์ ชมาฤกษ์ และพูนศักดิ์ เมฆวัฒนากาญจน์, 2550)

3.1 สกัดดีเอ็นเอจากใบของข้าวที่คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางชนิดที่พบในเขตพื้นที่ศึกษา
3.2 ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของดีเอ็นเอ
3.3 ทดสอบโมเลกุลเครื่องหมายเพื่อใช้ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าว
3.3.1) ออกแบบโมเลกุลเครื่องหมายที่ใช้ตรวจสอบ (Wanchana et al., 2003)
3.3.2) ทำปฏิกิริยาลูกโซ่ (polymerase chain reaction)
3.3.3) วิเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอในตำแหน่งที่สนใจที่เพิ่มจำนวนได้ด้วยเทคนิคพีซีอาร์แยกความแตกต่างของขนาดชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่เพิ่มจำนวนได้

RESULTS


2. ผลการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

2.1 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวพลายงามปราจีนบุรี 

2.2 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวจินตหรา

2.3 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเขียวใหญ่

2.4 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวขาวบ้านนา

2.5 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเหลืองอ่อน

2.6 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเหลืองทอง

 

 

 

 


3. ผลการศึกษาลักษณะพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากการเพิ่มปริมาณดีเอ็ นเอด้วยเทคนิค RAPD

1-2 พลายงามปราจีนบุรี1(ปลูกเก็บพันธุ์เอง)จากต่างเมล็ด 
3-4 พลายงามปราจีนบุรี2(ซื้ อพันธุ์) จากต่างเมล็ด
9-10 ขาวบ้านนา จากต่างเมล็ด
13-14 เหลืองทอง จากต่างเมล็ด

5-6 จินตหราจากต่างเมล็ด
7-8 เขียวใหญ่จากต่างเมล็ด
11-12 เหลืองอ่อน จากต่างเมล็ด

RESULTS


1. ผลการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง

ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี พบเป็นข้าวนาปีเหมาะสมกับธรรมชาติของพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นที่ราบลุ่มน้าท่วมขังและลึก ไม่ต้องดูแลมาก วัชพืชมีน้อยมาก ข้าวพื้นเมืองยืดตัวหนีน้าได้ดี ต้นเอนบังแสงวัชพืช ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมากหรืออาจใส่ครั้งเดียวช่วงหว่านข้าวหรือช่วงข้าวใกล้ตั้งท้องจะออกรวง ศัตรูพืชไม่มากจึงไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง ต้นทุนโดยรวมจึงไม่สูง  ไม่ว่าปลูกเร็วหรือช้าแต่เมื่อถึงฤดูกาลน้ำที่แดดดีจะออกดอกออกรวงตามเวลาปกติ และเนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกถนนหนทางพัฒนาดีเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกรวมถึงการที่ข้าวส่วนใหญ่จะมีโรงสีมารับซื้อทำเป็นแป้งเพื่อส่งทำก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นขนมจีนส่งขายในหลายจังหวัดนับว่ามีตลาดที่ดีรองรับบางพื้นที่มีการจองรับซื้อและในหลายพื้นที่จะมีโรงสีจัดรถมารอรับซื้อถึงริมคันนาเพื่ออำนวยสะดวกต่อชาวนา  ด้วยชาวนาบางรายจึงอาจไม่จำเป็นต้องจัดหาพื้นที่หรือยุ้งฉางรองรับข้าวที่เก็บเกี่ยวรอการรับซื้อหรือส่งขายแต่อย่างใด นับเป็นการอำนวยความสะดวกช่วยลดต้นทุนการขนส่งแม้ราคาขายไม่สูงแต่คำนวณกับต้นทุนซึ่งน้อยแล้วจึงมีกำไรค่อนข้างดีจากการสัมภาษณ์พบว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกไม่ต้องเช่าทำกินอีกทั้งชาวนาส่วนใหญ่มีรายได้เสริมส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวมีชีวิตที่มีความสุขดีชาวนาจึงคงนิยมปลูกข้าวพื้นเมืองอย่างกว้างขวางอย่างไรก็ตามประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวได้เลือนหายไปอย่างมากอีกทั้งลูกหลานชาวนาไม่นิยมทำนาเป็นอาชีพ  ประกอบกับการพัฒนาที่เข้าถึงมากในหลายพื้นที่จึงเริ่มมีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปล่อยเช่าทำนาหรือนำพื้นที่ไปทำรายได้อื่น

CONCLUSIONS


 1. ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง เริ่มสูญหายไปมาก และเหลือเพียงชาวนาผู้สูงวัยบางรายเท่านั้นที่ยังประกอบพิธีกรรม
2. พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวนาปลูกเหลือเพียงบางสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นที่ต้องการของตลาดเท่านั้น
3. การวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่สกัดได้ของข้าวสายพันธุ์ต่างๆด้วย marker primer ทั้ ง2 ชนิด ได้แก่ marker primer ITS และ A13 ทำให้ได้รูปแบบลายพิมพ์ดี เอ็นเอที่มีจานวนแถบแตกต่างกันตามแต่ละชนิด พบว่ามี marker primer A13 ให้รูปแบบลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ ผล การทดลองแสดงให้เห็นว่าเทคนิคอย่างง่าย เช่น RAPD โดยไพรเมอร์12 นิวคลีโอไทด์สามารใช้ในการศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมของข้าวสาย พันธุ์ท้องถิ่นได้

 REFERENCES

พะยอม โคเบลลี่  วราพงษ์ ชมาฤกษ์ และพูนศักดิ์ เมฆวัฒนากาญจน์. 2550. การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวด้วยโมเลกุลเครื่องหมาย. วารสารวิชาการข้าว 1(1): 44-51.

อรุณรัตน์ ฉวีราช. (2554). เครื่องหมายระดับโมเลกุลเพื่อการระบุพืช. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

Wanchana, S., T. Toojinda, S. Tragoonrung and A. Vanavichit. 2003. Duplicated coding sequence in the waxy allele of tropical glutinous rice (Oryza sativa L.) Plant Science 165 : 1193-1199

กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

การรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุ

การรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุของประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุ*

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา**

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชีพ เบียดนอก***

* ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ปีงบประมาณ 2554

** อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

*** อาจารย์ประจำ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยปทุมธานี

คำสำคัญ : การรับรู้/ วัยสูงอายุ/ วัยก่อนวัยสูงอายุ

 

บทคัดย่อ

       การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้และการเตรียมตัว เพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ของประชากรไทยวัย 50-59 ปี ศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการรับรู้และการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ ศึกษารูปแบบ หรือวิธีการในการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ และวิเคราะห์รูปแบบ หรือวิธีการในการส่งเสริมให้มีการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุ วิธีการวิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative) โดยใช้แบบสอบถามประชากรผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ใน 4 ภาคของประเทศไทย ภาคละ 4 จังหวัด รวม 16 จังหวัดจำนวนทั้งสิ้น 1,620 ตัวอย่าง

       ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการรับรู้การเข้าสู่วัยสูงอายุอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 73.4 แยกเป็นมีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 60.6 มีทัศนคติต่อการสูงอายุอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 76.5 การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุพบว่ามีการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 72.6 และเมื่อจำแนกรายด้านพบว่าทุกด้านอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุมีเพียงปัจจัยเดียวที่ไม่มีความสัมพันธ์คืออายุ ส่วนปัจจัยอื่นๆมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมกับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุทุกด้านมีความสัมพันธ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และการรับรู้การเข้าสู่วัยสูงอายุ มีความสัมพันธ์กับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จากการวิเคราะห์ด้วยสมการถดถอย พบว่ารูปแบบในการส่งเสริมให้มีการเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุได้ดีที่สุดคือการสร้างเสริมทัศนคติต่อการสูงอายุร่วมกับการ สร้างประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ และการสร้างความเพียงพอของรายได้ โดยเน้นกลุ่มบุคคลที่เป็น เป้าหมายสำคัญคือกลุ่มบุคคลที่มีการเตรียมตัวเข้าสู่ วัยสูงอายุน้อยกว่ากลุ่มคนอื่นๆ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในวัยสูงอายุควบคู่ไปกับการสร้างทัศนคติทางบวก และควรมีการศึกษาวิเคราะห์/ วิจัยว่า บทบาทของครอบครัว รัฐบาล และตัวผู้สูงอายุ แต่ละฝ่ายควรมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ/ ตนเองอย่างไร

Abstract

       The purposes of the present research were to study the perception and preparation for aging of Thai population aged between 50-59 years old, to examine the factors related to the perception and preparation for aging, to investigate the pattern or methods of the perception and preparation for aging, and to analyze the pattern or methods to promote the preparation for aging. Research methodology was quantitative using questionnaire for population aged between 50-59 years old in 4 parts of Thailand. There were 16 provinces selected from each part. The samples were totally 1,620.

       The research results revealed that most of samples had the perception for aging at the moderated level (73.4%). They were divided as the moderated levels in knowledge (60.6%), attitude towards aging (76.5%), and preparation for aging (72.6). Considering each aspect revealed that every aspect was at the moderated level. The relationship between personal factors and the preparation for aging showed that the age factor was only one factor which did not relate to the preparation for aging. The other factors showed the relation at the statistically significant level of .05. The environmental factor had the relation with the preparation for aging at the statistically significant level of .01 and the perception for aging had the relation with the preparation for aging at the statistically significant level of .01. The pattern to promote the preparation for aging can be explained in terms of regression equation was that the preparation for aging must have the promotion of attitude towards aging, creating the experience in old people caring, and creating the enough outcomes focused on the person group who shows the least preparation to aging comparing to the other groups. The knowledge for aging living should be given along with creating positive attitude and the analytic study/research should be conducted to investigate the roles of family, government, and old persons in old people caring or self-caring.

พฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของซาเล้ง

พฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของซาเล้ง

 

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา*

กนกวรรณ เขื่อนคา, ณภัทร งิ้ววิจิตร, ภาคภูมิ ตอบสันเทียะ, วิทวัส ละดาพงษ์ และอิ๊ด สรวลสันต์ **

* ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** นิสิตสาขาวิทยาศาสตร์ความปลอดภัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (นักวิจัย)

คำสำคัญ : พฤติกรรมการป้องกันโรค / การบาดเจ็บจากการทำงาน/ การป้องกันโรคของชาเล้ง


 

บทคัดย่อ

       การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานของซาเล้ง ในเขตพื้นที่ยานนาวา กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง จำนวน 20 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา และฟิชเชอร์ เอ็กแชคเทส (Fisher’s Exast Test)

       ผลการวิจัยพบว่า ซาเล้งส่วนใหญ่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป เพศชายเท่ากับเพศหญิง สถานภาพ สมรสคู่ การศึกษาระดับประถมมีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาทมีรายได้พอกับรายจ่ายสุขภาพปานกลางถึงแข็งแรงดีมีการตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อเจ็บป่วยจะมีการซื้อยามารับประทานเองมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานระดับปานกลางเจตคติเกี่ยวกับการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานในระดับต่ำมีความพึงพอใจในการประกอบอาชีพซาเล้งระดับสูงได้รับการอบรมด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานในระดับปานกลางระดับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานระดับสูง

       ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานกับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานและเจตคติกับพฤติกรรมการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานมีความสอดคล้องอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

       จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดอบรมให้ความรู้กับซาเล้งในเรื่องการป้องกันโรคและการบาดเจ็บจากการทำงานเพื่อส่งเสริมความรู้และเจตคติของซาเล้งในการประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย

 

Abstract

       This descriptive research aims to study the factors relate to disease and injuries from works protection behaviors of “Zaleng” in Yannawa area Bangkok. Target groups are 20 three wheel cart drivers. To collect data by interviewing and analyse the data by descriptive statistics and Fisher’s Exact Test.

The research results show that Zaleng have of 51 year old men equal with women, with marital status and primary school education, average incomes 5,000 baht per month. Their incomes fit with their expenses and their healths are average to good level. They can get yearly health check service. When they are ill, they will buy the medicine by themselves and have average knowledge of disease and injuries from works protection. Their attitudes toward disease and injuries protection are low while their occupation contentment is high. They are acknowledged for disease and injuries from works protection in average level. The level of disease and injuries from works protection behavior is high.

       The relationship between knowledge of prevention and injuries from works and prevention behaviors and attitude have no statistical related significance at level 0.05.

From research results, the recommendation is that the involved institutes should provide the training of disease and injuries from works protection for “Zaleng” to give them knowledge and raise their attitudes toward their harmless working.

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา *

* อาจารย์ประจำ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

คำสำคัญ : ผู้สูงอายุ/ สุขภาพผู้สูงอายุ


 

บทนำ

       บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกเล่าวิธีการในการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุนั่นคือก่อนที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามนิยามในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.. 2546 มาตรา 3 ซึ่งตราขึ้นไว้ ณ วันที่ 22 ธันวาคม พ.. 2546 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 130 ก ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.. 2546 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.. 2547 นับถึงวันนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 11 แล้ว

       ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลสถานการณ์ทางประชากรจากแหล่งต่างๆ แสดงให้เห็นตรงกันว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย และยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตด้วยอัตราที่เร็วมากสถานการณ์ทางประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้นำไปสู่ประเด็นท้าทายต่อคุณภาพชีวิตประชากรสูงอายุไม่ว่าจะเป็นในด้านทุนมนุษย์ที่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังคงมีการศึกษาค่อนข้างน้อยมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้นที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป การที่ผู้สูงอายุมีการศึกษาน้อยน่าจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล บริการด้านสุขภาพและสังคม รวมทั้งโอกาสในการทำงานเชิงเศรษฐกิจ ในด้านการมีบุตรนั้นผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันมีบุตรน้อยกว่าในอดีต และมีแนวโน้มที่จะอยู่อาศัยกับบุตรน้อยลง อยู่กับคู่สมรสและอยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงมากและรวมทั้งการย้ายถิ่นของบุตรที่อยู่ในวัยแรงงานไปทำงานในต่างพื้นที่ ผู้สูงอายุในรุ่นต่อไปจะยิ่งมีบุตรน้อยลงตามแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ การหวังพึ่งพาบุตรในการเกื้อหนุนในยามสูงวัยน่าจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ในด้านสุขภาพผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และมีภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:8)

สถานการณ์ผู้สูงอายุ

       โครงสร้างทางอายุของประชากรแสดงด้วยสัดส่วนของประชากรในวัยต่างๆ เมื่อจำแนกประชากรออกเป็นกลุ่มอายุ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชากรวัยเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) วัยแรงงาน(อายุ 15-59 ปี) และวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเห็นได้ว่า ในระหว่างปี พ..2553 – ..2583 สัดส่วนของประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงาน มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ในพ..2553 เป็นร้อยละ 32.1ในพ..2583 และที่น่าสังเกต คือ ในปีพ..2560 จะเป็นปีที่คาดว่าสัดส่วนของประชากรวัยเด็กจะเท่ากันกับสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุ (รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:14) สำหรับ

       ด้านสุขภาพพบว่าพบว่าร้อยละของผู้สูงอายุที่ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากลดลง ทั้งในเขตเมืองและในเขตชนบท นอกจากนี้ ร้อยละที่มีสุขภาพดีหรือดีมากนั้นยังผันแปรกับอายุ และเพศ โดยผู้สูงอายุที่มีอายุมากมีร้อยละที่รายงานว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากต่ำกว่าผู้สูงอายุที่มีอายุน้อยและผู้สูงอายุหญิงมีสัดส่วนผู้ที่รายงานว่าตนเองมีสุขภาพดีหรือดีมากต่ำกว่าผู้สูงอายุชาย(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ..2555-2556:16)

       ปัญหาด้านการมองเห็นเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ และอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและการพลัดตกหกล้ม จากข้อมูลพบว่าในปี พ..2554 ร้อยละ 47.4 ของผู้สูงอายุรายงานว่ามีปัญหาด้านการมองเห็น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ..2550 เล็กน้อย โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุหญิงมีแนวโน้มประสบปัญหาดังกล่าวมากกว่าเพศชาย และผู้ที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหามากกว่าในเขตชนบท อีกปัญหาที่ผู้สูงอายุประสบคือ ปัญหาด้านการได้ยิน พบว่า ในปีพ..2554 ประมาณร้อยละ 15 ของผู้สูงอายุประสบปัญหาดังกล่าว และปัญหาดังกล่าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากผลการสำรวจในรอบก่อน โดยปัญหาการได้ยินจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และเพศหญิงจะประสบปัญหามากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตชนบทจะมีปัญหาสูงกว่าในเขตเมือง

       ปัญหาสุขภาพที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและอาจนำไปสู่ความพิการได้คือการพลัดตกหกล้ม ซึ่งการพลัดตกหกล้มนี้ เกิดจากทั้งสภาพร่างกาย และศักยภาพในการควบคุมการเคลื่อนไหวที่ถดถอยตามอายุ และสภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุไทยในปี พ..2550 และปี พ..2554 พบว่า สัดส่วนการพลัดตกหกล้มลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 10.3 เหลือเพียง ร้อยละ 8.6 เมื่อพิจารณาตามลักษณะประชากรจะพบว่า การพลัดตกหกล้มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุหญิงมีแนวโน้มที่จะพลัดตกหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุชาย และผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะมีการหกล้มมากกว่าในเขตชนบท อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบระหว่างปี พ.. 2550 กับ 2554 มีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มประชากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุหญิง(รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555,2556:18) สอดคล้องกับงานวิจัยของ วรรณรา ชื่นวัฒนา(2556:56-59) ที่พบว่าอัตราการเกิดอุบัติการของผู้สูงอายุที่เกิดในบ้านพักอาศัยร้อยละ 11.5 5 เกิดมากในช่วงเวลากลางวัน ร้อยละ 47.8 เกิดภายนอกตัวอาคาร ร้อยละ 58.7 เกิดที่ห้องน้ำร้อยละ 57.9 กิจกรรมขณะเกิดอุบัติเหตุคือการเดินร้อยละ 76.1 ส่วนใหญ่เป็นแผลฟกช้ำร้อยละ 73.8 มีความรุนแรงเล็กน้อยร้อยละ 58.7

       จากข้อมูลที่นำเสนอจะพบว่าผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและมีสุขภาพไม่ดีเพิ่มมากขึ้นดังนั้นประชากรวัยก่อนสูงอายุควรได้ตระหนักและควรวางแผนเข้าสู่วัยสูงอายุก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุเพื่อที่จะเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจมีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียงมีที่พักอาศัยที่เหมาะสมและมีกิจกรรมทางสังคมอย่างมีคุณค่า

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

       การเตรียมตัวเพื่อการเข้าสู่วัยสูงอายุถือว่าเป็นการวางแผนชีวิตอย่างหนึ่งที่มีเป้าหมายอยู่ที่การประสบความสำเร็จและความสุขในชีวิต ไคเคอร์และไมเออร์ (Kiker & Myers, 1990 อ้างในวรรณรา ชื่นวัฒนา, 2556:25) กล่าวว่าในการวางแผนของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย

       ประการปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการวางแผนชีวิตได้แก่ อัตมโนทัศน์ ค่านิยมของบุคคล ความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละบุคคล การปฏิบัติตามพฤติกรรมที่ต้องพัฒนาตามวัย (development task) และการตัดสินใจ

       จากการศึกษาแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวต่อการเข้าสู่วัยสูงอายุและหลังเกษียณอายุพบว่าการเตรียมตัวต่อการเข้าสู่วัยสูงอายุจำแนกออกเป็น 4 ด้านคือการเตรียมตัวด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจการเตรียมตัวด้านการเงินการเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัยและการเตรียมตัวด้านการมีส่วนร่วมในสังคมและงานอดิเรก

1. การเตรียมตัวด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ

       เป้าหมายของการวางแผนสุขภาพ คือการรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีความสุขมีความกระฉับกระเฉงและอายุยืน (วิจิตร บุณยะโหตระ, 2533) บุคคลในวัยสูงอายุจะมีความเสื่อมของร่างกายตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายลดลงมีโอกาสเกิดโรคได้ง่ายและเมื่อเป็นแล้วต้องใช้เวลารักษานาน ปัญหาที่คนสูงอายุส่วนใหญ่ประสบได้แก่ ปัญหาสุขภาพอนามัย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและประชากรของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุไทยประสบปัญหา 2 ประการคือปัญหาด้านเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นทันที่ทันใด ขึ้นอยู่กับสุขนิสัย และการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยเด็กวัยผู้ใหญ่จนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ( Kiker & Myers, 1990) การเตรียมตัวเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีทำได้ดังนี้ (Kiker & Myers, 1990; บรรลุ ศิริพานิช, 2538)

       รับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย มีส่วนประกอบของอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ละเว้นอาหารรสจัดและเครื่องดื่มมึนเมาหรือน้ำชา กาแฟ ได้รับอาหารครบทั้ง 3 มื้อและดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 10 แก้วควบคุมน้ำหนักโดยไม่รับประทานอาหารให้มากหรือน้อยเกินไปเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายมีแนวโน้มจะต้องการอาหารลดลงการใช้กำลังงานลดลงจะทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้งานนอกจากว่ารับประทานอาหารน้อยลงแต่ถ้ารับประทานอาหารน้อยเกินไปก็จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างได้การควบคุมน้ำหนักทำได้โดยชั่งน้ำหนักตัวอยู่เสมอส่องกระจกดูรูปร่างตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

       นอนหลับวันละ 7-8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายทุกส่วนได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอทำให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นแจ่มใสพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในวันต่อไปหากนอนกลางคืนไม่พอก็นอนกลางวันได้ถ้านอนไม่หลับให้หาสาเหตุว่ามีสิ่งใดรบกวนถ้ารู้สาเหตุต้องรีบแก้ไขตามความเหมาะสม

       ออกกำลังกายเป็นประจำการออกกำลังกายเป็นปัจจัยเดียวที่ชะลอความเสื่อมจากความสูงอายุได้การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะนำความแข็งแรงมาสู่ปอดหัวใจลดความดันโลหิตทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงมีสมาธิการรับประทานอาหารและการนอนดีขึ้นทำให้บุคลิกภายนอกดีขึ้นมองโลกในแง่ดีและมั่นใจในตนเองมากขึ้นการออกกำลังทำได้ตั้งแต่การทำงานบ้านทำสวนขุดดินการเดินการวิ่งเหยาะว่ายน้ำถีบจักรยานโยคะหรือรำมวยจีนตามที่ร่างกายและความพอใจของตนเองที่เห็นว่าเหมาะสมโดยปฏิบัติตนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ

       ให้ความสนใจกับสุขภาพอนามัยและการปฏิบัติเมื่อเจ็บป่วยโดยการตรวจสุขภาพประจำทุกปีรักษาโรคที่เป็นอยู่หรือตรวจพบอย่างสม่ำเสมอ

       รักษาอารมณ์ให้เหมาะสมฝึกทำใจให้สงบยอมรับความจริงในชีวิตตัดสินใจด้วยความมีเหตุผลขจัดภาวะความคับข้องใจอารมณ์ขุ่นมัวหรือวิตกจริตต่างๆควรทำจิตให้ว่างจากกิเลสตัณหาเสมอต้นเสมอปลายมองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่บวกพยายามค้นหาสิ่งที่ดีจากสิ่งที่คิดว่าไม่ดีการมีอารมณ์ไม่ดีจะส่งผลให้ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้นและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงความต้านทานโรคลดลงความเครียดระยะยาวจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นความจำการรับความรู้สึกการตัดสินใจเปลี่ยนไป

2. การเตรียมตัวด้านการเงิน

       เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องรายรับและรายจ่าย รายได้หลักที่เคยได้จากการทำงานจะหมดไป อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต ดังนั้นการวางแผนทางการเงินเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นสิ่งที่ควรมีการจัดทำขึ้นเสมอในการวางแผนการเงินสำหรับช่วงชีวิตของบุคคลควรมีการเตรียมดังนี้ (สุขใจ น้าผุด, 2536)

       การประเมินรายรับรายจ่ายโดยวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันของตนเองว่ามีรายได้ทั้งหมดเท่าไรจากแหล่งใดบ้างมีรายจ่ายเท่าใดถ้ารายจ่ายเกินรายรับจะได้วางแผนเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่าย

       การเตรียมเงินสำหรับรายจ่ายจรเช่นค่ารักษาพยาบาลและเตรียมรับกับปัญหาเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินเป็นต้นประเมินความสามารถของตนเองที่จะหารายได้จากการมีอาชีพสำรองก่อนหรือหลังเกษียณอายุที่เหมาะสมกับตนเตรียมสะสมทรัพย์ในรูปแบบของเงินออมการซื้อหุ้นการลงทุนซื้อบ้านและที่ดินการประกันชีวิตและสุขภาพและอุบัติเหตุอื่นๆ

3. การเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัย

       การเลือกที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความตั้งใจของบุคคลสภาพการณ์ของครอบครัวญาติพี่น้องที่จะเอื้ออำนวยตลอดจนสถานภาพการเงินของผู้สูงอายุในขณะนั้นสำหรับครอบครัวไทยแล้วผู้สูงอายุทั่วไปนิยมอาศัยอยู่กับบุตรหลานแต่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวควรวางแผนเรื่องที่อยู่อาศัยตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อให้เกิดความพร้อมและความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตการเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัยควรพิจารณาดังนี้

สถานที่ต้องกำหนดว่าจะอยู่ที่ไหนกับใครจะย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่หรือไม่โดยคำนึงถึงทำเลที่ง่ายต่อการติดต่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูงและแหล่งบริการอื่นๆจากชุมชนถ้าต้องการหาที่อยู่ใหม่ต้องเตรียมพร้อมทางด้านการเงินและด้านเวลาเพื่อจะได้มีเวลาปรับปรุงบ้านใหม่ให้เหมาะสมในกรณีที่ต้องการอยู่บ้านนอกเมืองที่สงบเงียบห่างไกลผู้คนอาจจะต้องทดลองอยู่ดูก่อนและทดลองทุกฤดูกาลเพราะในชนบทฤดูกาลแต่ละฤดูกาลแตกต่างกันค่อนข้างมากและถ้าต้องไปอยู่บ้านพักคนชราทั้งของทางราชการและขององค์กรการกุศลจะต้องศึกษาสอบถามระเบียบการของแต่ละแหล่งว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้างและถ้าเป็นไปได้ต้องลองไปเยี่ยมบ้านพักดังกล่าวดูก่อนหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และผู้อยู่อาศัยเพื่อประเมินว่าเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ยิ่งใช้เวลาสัมผัสมากเท่าใดก็จะมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้นเท่านั้น

สถานที่อยู่หมายถึงสภาพบ้านการจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมต้องมีความเหมาะสมกับสภาพของวัยและความต้องการของผู้สูงอายุควรเตรียมปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเปลี่ยนวัสดุต่างๆใหม่แต่เนิ่นๆในขณะที่ยังมีรายได้หรือสามารถทำด้วยตนเองได้

4. การเตรียมตัวด้านการมีส่วนร่วมในสังคมและงานอดิเรก

       จากทฤษฎี (Activity Theory) เชื่อว่าผู้สูงอายุไม่ควรมองตนเองว่าไร้บทบาทแต่ควรจะหาบทบาทหรือกิจกรรมใหม่ทดแทนบทบาทหรือกิจกรรมเดิมที่สูญเสียไป (Matras, 1990) โดยมีข้อตกลงพื้นฐานว่าบุคคลจะต้องรู้ความต้องการของตนแต่ละช่วงวัยของชีวิตและต้องปฎิบัติกิจกรรมนั้นสม่ำเสมอความสำเร็จในวัยสูงอายุขึ้นอยู่กับบทบาทและกิจกรรมใหม่ทดแทนกิจกรรมและบทบาทเดิมที่หมดไปผู้ที่มีกิจกรรมหรือบทบาทใหม่ในวัยสูงอายุโดยที่ยังดำรงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้จะมีความพึงพอใจในชีวิตสูงและมองตนในด้านบวกการมีกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงความมีคุณค่าและปรับตัวได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่ปราศจากกิจกรรม

นอกจากนี้จากผลงานวิจัยต่างๆพบว่ากิจกรรมมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตดีเช่นผู้สูงอายุที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมบ่อยครั้งกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้สูงอายุที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมน้อยครั้งกว่าผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมสูงมีงานอดิเรกหรืองานยามว่างจะมีสุขภาพจิตดีกว่าและผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมในสังคมมากจะมีความพึงพอใจในชีวิตสูงและมีความซึมเศร้าน้อย

       จากการที่กิจกรรมต่างๆมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุนั้นนักวิชาการแบ่งประเภทของกิจกรรมออกเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมการมีงานอดิเรกและการทำงานที่มีรายได้

       การมีส่วนร่วมในสังคม (social participation) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆขององค์การที่ตนเป็นสมาชิกซึ่งแบ่งเป็นการมีส่วนร่วมทางสังคมภายในครอบครัวได้แก่การมีกิจกรรมต่างๆร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตนและการมีส่วนร่วมทางสังคมภายนอกครอบครัวได้แก่การมีกิจกรรมร่วมกับองค์กรอื่นๆนอกครอบครัวเช่นกลุ่มเพื่อนเพื่อนบ้านญาติพี่น้องศาสนาการเมืองและสมาชิกต่างๆที่ตนเป็นสมาชิก

       การมีงานอดิเรก (hobby) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมของตนในเวลาว่างหรือกิจกรรมที่เป็นการพักผ่อนทาเพื่อความเพลิดเพลินทำให้รู้สึกว่าตนเองมีค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้โดยลำพังคนเดียว

       การทำงานที่มีรายได้ (work) หมายถึงการที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ไม่ว่าจะเป็นงานประจำงานพิเศษหรืองานชั่วคราว

 

บทสรุป

       ผู้สูงอายุคืออนาคตของทุกท่านเนื่องด้วยเป็นธรรมดาสัตว์โลกที่เกิดมาก็จะเติบโตพัฒนาตามวัยและเข้าสู่การแก่ชราแล้วตายในที่สุดดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายจิตใจการเงินที่อยู่อาศัยและสังคมย่อมเป็นสิ่งปรารถนาของบุคคลทุกคนผู้เขียนหวังว่าในอนาคตประชากรไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีความสุขหากมีการเตรียมตัวไว้ก่อน

 

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ .. 2546 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 120 ตอนที่ 130 ลงวันที่ 31 ธันวาคม .. 2546.

บรรลุ ศิริพานิช.(2538).คู่มือการเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุ.(พิมพ์ครั้งที่ 3).กรุงเทพมหานคร:พี.บี. เบสท์ซับพลายจำกัด.

วิจิตร บุณยโหตระ. (2533). คู่มือเกษียณอายุ. กรุงเทพมหานคร :บพิธการพิมพ์.

วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พศ.2555. :นนทบุรี: บริษัท เอส.เอส. พลัส มีเดีย จำกัด.

วรรณรา ชื่นวัฒนา. (2556). การเกิดอุบัติเหตุในบ้านของผู้สูงอายุ ตำบล ดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่ม แบน จังหวัดสมุทรสาคร.รายงานการวิจัย. เอกสารอัดสาเนา.

สุขใจ น้าผุด. (2535). การวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณ. เอกสารประกอบการสัมมนา วิชาการ เรื่องการเตรียมตัวก่อนการเกษียณอายุ. วันที่ 16-18 กันยายน 2535. กรุงเทพมหานคร: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

Matras, Jadah. (1990). Dependency, Obligations and Entitlements. A New Sociology of Aging the Life Course and Elderly. NewJersey : Hall Inc.

พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา*

ณิชานาฏ สอนภักดี**

* อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** นิสิตสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

คำสำคัญ : การดูแลสุขภาพ/ ผู้ป่วยเบาหวาน


 

บทคัดย่อ

       การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน แรงสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ประชากรเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับการตรวจรักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นางและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน จำนวน 51 คน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและไคว์สแควร์ (Chi-Square test, χ² )

       ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองโดยรวมอยู่ในระดับสูง การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน, การรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวาน, การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรค และการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคล ได้แก่ แรงสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัว, แรงสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยเบาหวานด้วยกัน และแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคลากรด้านสาธารณสุข มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Abstracts

       The purposes of this research were to study self-care behaviors of diabetic patients, and to investigate the relationship between the perception of the diabetes, social support on diabetic patients self-care behaviors. The population were the 51 of patients who took the medical care in the Diabetic Clinic Center at Bangmeanang Tambon Health Promoting Hospital and Ban-nongkangkhean Tambon Health Promoting Hospital. The data were collected by using questionnaire. Data were analyzed by using descriptive statistic and Chi-Square.

       The results of the study: The most diabetic patients had self- care behaviors in the high level. Perception of diabetes mellitus: risk perception of complications of diabetes mellitus, perceived severity of diabetes mellitus, benefits of their practice to controlling the disease and barriers of self- care for complication preventing from the disease that positively related to self-care behaviors of diabetes mellitus patients by statistic significance at the level of 0.05, and in part of social support: getting encouraging from family, diabetes mellitus friends and getting encouraging medical personnel that positively related to self-care behaviors of diabetes mellitus patients by statistic significance at the level of 0.05.

 

บทนำ

       โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของโลก เป็นภัยคุกคามที่ลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากข้อมูลสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ(international diabetes federation : IDF) ได้รายงานสถานการณ์ผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกแล้ว 285 ล้านคนและได้ประมาณการว่าจะมีจำนวนผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกเพิ่มมากกว่า 435 ล้านคน ในปี พ.. 2573

       ในประเทศไทยพบว่าประชากรไทยทุกๆ 100 คนจะมีผู้เป็นเบาหวานถึง 8 คนโดยคนที่มีอายุเกิน 35 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.6 คนที่อายุเกิน 65 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 18 สำหรับประเทศไทยและประเทศทางเอเชียนั้นมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 99 เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 หรือเบาหวานที่พบในผู้ใหญ่และไม่มีแนวโน้มในการเกิดภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโตน ในขณะที่ทางยุโรปและอเมริกามีผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เพียงร้อยละ 85 เท่านั้น(เทพ หิมะทองคา และคณะ, 2552)

       จากข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นางและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน ในปี 2554 – 2555 มีจำนวนการเพิ่มขึ้นในทุกปีคือ 34 คนและ 51 คน ตามลำดับซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน, 2556) และพบว่าผู้ป่วยยังไม่สามารถปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องและเกิดมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆซึ่งหากปล่อยให้มีการดำเนินโรคต่อไปอาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ยากแก่การป้องกันและแก้ไขตามมาด้วยดังนั้นผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาถึงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานการศึกษาครั้งนี้จะทำให้ทราบความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยการปฏิบัติและการปรับตัวด้านพฤติกรรมสุขภาพอย่างถูกต้องเพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

       1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานในตำบลบางแม่นางอำเภอบางใหญ่จังหวัดนนทบุรี

       2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแรงสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

วิธีดำเนินการวิจัย

1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

       ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับการตรวจรักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นางและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 51 คนโดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคน

2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

       เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จากการศึกษางานวิจัยต่างๆหนังสือที่เกี่ยวข้องมาดัดแปลงการสร้างเครื่องมือโดยมีเนื้อหาที่คลอบคลุมวัตถุประสงค์ของการวิจัยและประยุกต์ใช้แบบสอบถามของมงคลชัย แก้วเอี่ยม(2550), มนต์ธิรา ไชยแขวง (2548), ชนาธิป ศรีพรหม (2550), สมจิต แซ่จึง (2547) และนำตยา คงคามี (2549)

3. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้

       ใช้สถิติพรรณา ได้แก่ จำนวนความถี่ ค่าร้อยละ ทดสอบความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแควร์ (Chi-Square test)

 

ผลการวิจัย

       1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 68.63 มีอายุสูงกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 52.94 มีสถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 66.67 มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 72.55 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 21.57 มีรายได้อยู่ในช่วง 5,001 – 10,000 บาท ร้อยละ 41.18 มีแหล่งรายได้มาจากอาชีพของตัวเอง ร้อยละ 52.95 มีระยะเวลาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 0 – 5 ปี ร้อยละ 62.75 มีภาวะแทรกซ้อน โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 47.06

       2. การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีการรับรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 62.75 มีการรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 76.47 มีการรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 72.55 มีการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 74.51 การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานภาพรวมพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานภาพรวมอยู่ในระดับสูง จำนวน 39 คน คิดเป็นร้อยละ 76.47

       3. แรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลในครอบครัวพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลในครอบครัวอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 66.67 ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อนบ้าน/เพื่อร่วมงาน/ผู้ป่วยเบาหวานด้วยกันอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 62.75 ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคลากรด้านสาธารณสุขอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 60.78 แรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลภาพรวมพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลภาพรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 68.63

       4. พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการควบคุมอาหารอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 50.98 พบว่า มีพฤติกรรมการออกกำลังกายอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 56.86 มีพฤติกรรมการการรับประทานยาหรือฉีดยาอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 52.94 มีพฤติกรรมดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 56.86 ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองภาพรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 54.90

       5. ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน แรงสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ความสัมพันธ์ของการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคและการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แรงสนับสนุนทางสังคม ได้แก่ แรงสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัว แรงสนับสนุนจากเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานและผู้ป่วยเบาหวานด้วยกัน และแรงสนับสนุนจากบุคลากรด้านสาธารณสุขมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

อภิปรายผล

       จากการศึกษาพบว่า การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีการรับรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 62.75 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงจะมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดีการที่บุคคลมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงหรืออันตรายต่อการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อน บุคคลนั้น ๆ จะมีความพร้อมที่จะปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้น (Rosen-stock, 1974 อ้างใน จาตุรงค์ ประดิษฐ์, 2540) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของเสียงสวรรค์ ทิพยรักษ์ (2549) ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองมากขึ้นสามารถปฏิบัติตนได้เหมาะสมกับสภาวะโรคที่เป็นอยู่ส่งผลให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำรงชีวิตอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข

       การรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 76.47 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่กล่าวว่าการที่บุคคลใด ๆ เชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นมีผลกระทบที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อร่างกายและบทบาททางสังคมของเขา จะเป็นแรงผลักดันให้มีพฤติกรรมการดูแลตนเองเพื่อป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากโรคนั้น ๆ (Rosen-stock, 1974 อ้างใน จาตุรงค์ ประดิษฐ์, 2540) ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่มีการรับรู้ความรุนแรงของโรคสูงจะส่งให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดีด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของชนาธิป ศรีพรหม (2550) การที่ผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองได้ก็จะนำไปสู่การดูแลสุขภาพตนเองที่ถูกวิธีก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้และที่สำคัญยังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขตลอดจนการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกตินั้นเป็นสิ่งสำคัญกับผู้ป่วยเบาหวานเป็นอย่างมาก

       การรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 72.55 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมงคลชัย แก้วเอี่ยม(2550) การรับรู้ถึงประโยชน์ของการดูแลสุขภาพตนเองจะส่งผลให้มีพฤติกรรมการปฏิบัติตนที่ดีการที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับรู้ผลดีและประสิทธิภาพของพฤติกรรมที่จะสามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้และวิธีการนั้นๆเป็นวิธีการที่ให้ประโยชน์แก่เขามากที่สุดจึงส่งเสริมให้เขามีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้องและเหมาะสม

       การรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 74.51 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของศิริพร ปาระมะ(2545)การที่ผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ว่าตนเองมีอุปสรรคในการปฏิบัติตนเป็นการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับปัจจัยหรือกิจกรรมต่างๆตามสภาพเป็นจริงที่ขัดขวางการมีพฤติกรรมสุขภาพอนามัยส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมอนามัยนั้นๆและบุคคลจะประเมินระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจ

การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลในครอบครัวอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 68.63 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของกาญจนา บริสุทธิ์(2553) การที่ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับคำแนะนำข้อมูลข่าวสารกำลังใจและการกระตุ้นเตือนจากบุคคลในครอบครัวเพื่อนบ้านเพื่อนร่วมงานผู้ป่วยเบาหวานด้วยกันและบุคคลากรด้านสาธารณสุขมีพฤติกรรมการดูแลตนเองดีสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องต่อไป

       พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยรวมอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 54.90 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการควบคุมอาหาร ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการควบคุมอาหารอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 50.98 การเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและในปริมาณที่เหมาะสม ตามหลักอาหารผู้ป่วยเบาหวาน คือ งดอาหารประเภทของหวานรับประทานผักได้ไม่จำกัดปริมาณ จำกัดอาหารพวกข้าว แป้งเนื้อสัตว์ และอาหารที่มีที่มีไขมันมากหากปฏิบัติตนในด้านอาหารได้ถูกต้องแล้วจะส่งผลให้มีสุขภาพดีขึ้นและระดับน้ำตาลในเลือดลดลง (จรรยา ธัญน้อม, 2550)

       ด้านการออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 56.86 ผู้ป่วยเบาหวานมีการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง มีการปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย บริหารเท้าด้วยการเขย่งนิ้วเท้า และออกกำลังกายครั้งละ 20 –30 นาที ช่วยทำให้การไหลเวียนเลือดทั่วร่างกายดีขึ้น ช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบแข็ง และทำให้รูปร่างดี ดัชนีมวลกายอยู่ในภาวะปกติ(จรรยา ธัญน้อม, 2550)

       ด้านการรับประทานยาหรือฉีดยา ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการการรับประทานยาหรือฉีดยาอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 52.94 ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับประทานยาหรือฉีดยาตามกำหนดเวลาปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดไม่ลดหรือเพิ่มขนาดยาเองและมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งจึงทำให้จึงสามารถปฏิบัติตนด้านการทำนยาได้อย่างถูกต้องและรับประทานยาได้อย่างถูกวิธีจนสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างดี

       ด้านการดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 56.86 การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้ป่วยเบาหวานจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดความห่วงใยในตนเอง ตระหนักและเอาใจใส่ตนเองมากขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมการดูแลตนเองโดยทั่วไปและดูแลตนเองด้านอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้น(พรทิวา อินทร์พรหม, 2539) ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานจัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแต่จะต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องสม่าเสมอเพื่อติดตามและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติการที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคเบาหวานและมาตรวจตามนัดทุกครั้งก็จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์พยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคเบาหวานสาเหตุอาการการรักษาตลอดจนการปฏิบัติตัวหรือการดูแลตนเองให้ถูกต้องและเหมาะสมกับภาวะโรคได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทำให้เกิดการรับรู้และตระหนักในปัญหาสุขภาพของตนเองอย่างสม่าเสมอมีความเชื่อมั่นในแบบแผนการรักษาของแพทย์ทำให้เกิดความห่วงใยในตนเองและเอาใจใส่ดูแลตนเองมากขึ้น

 

ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ

       1.1 การวิจัยครั้งนี้พบว่าการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานได้แก่การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนการรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานการรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานและการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวานจึงควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความรู้ที่เกี่ยวกับโรคเบาหวานภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองให้ดียิ่งขึ้น

       1.2 การวิจัยพบว่าแรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวและบุคคลในเครือข่ายต่างๆของชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน

2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

       2.1 การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงปริมาณทำให้ได้รับรายละเอียดไม่เพียงพอดังนั้นจึงควรมีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกร่วมด้วยเพื่อให้ได้รายละเอียดอย่างครบถ้วนและได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

       2.2 ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงผลในกลุ่มประชากรต่อไป

 

กิตติกรรมประกาศ

       ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่ให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ขอขอบคุณคุณผู้อานวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง และผู้อานวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พยาบาล เจ้าหน้าที่ และ อสม.ทุกท่านที่ช่วยนาเก็บข้อมูลและอานวยความสะดวกในการทำงานขอบคุณผู้ป่วยเบาหวานทุกท่านที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์และเสียสละเวลาในการตอบแบบสอบถามตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำวิจัยฉบับนี้ทุกท่านที่มิได้กล่าวนามณที่นี้

 

บรรณานุกรม

กาญจนา บริสุทธิ์. (2553). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน ศูนย์แพทย์เฉลิมพระเกียตริ 80 พรรษา เทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สุขศึกษา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

จาตุรงค์ ประดิษฐ์. (2540). ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการ ดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลกาแพงเพชร. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

จรรยา ธัญน้อม. (2549). ปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชนาธิป ศรีพรหม.(2550). พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานใน โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการ สร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

เทพ หิมะทองคำและคณะ. (2552.ความรู้เรื่องเบาหวานฉบับสมบูรณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : วิทยพัฒน์.

นาตยา คงคามี. (2549). การพัฒนาการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับ บริการในโรงพยาบาลสิงห์บุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.

พรทิวา อินทร์พรหม. (2539). ผลการดูแลสุขภาพอนามัยที่บ้านต่อการรับรู้ความสามารถใน การดูแลตนเองและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยานิพนธ์ปริญญา พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล.

มนต์ธิรา ไชยแขวง. (2548). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

มงคลชัย แก้วเอี่ยม. (2550). การรับรู้และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลหนองกลางนา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี. รายงานการวิจัยโปรแกรมสุขศึกษา.

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง. (2556). ทะเบียนคลินิกโรคเบาหวานโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง. นนทบุรี.

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน. (2556). ทะเบียนคลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน. นนทบุรี.

ศิริพร ปาระมะ. (2545). ความเชื่อด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย เบาหวานโรงพยาบาลลี้ จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยา การศึกษาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมจิต แซ่จึง. (2547). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ เข้ารับการรักษาคลินิกโรคเบาหวานในโรงพยาบาลราชวิถี. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคาแหง.

เสียงสวรรค์ ทิพยรักษ์. (2549). การพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลลานารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.

พฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

พฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

 

ผศ.ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา*

นิภาวรรณ คำแสน และ รณฤทธิ์ แก้วรากมุข**

* อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** นิสิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

คำสำคัญ : พฤติกรรมวัยรุ่น/ การเที่ยวกลางคืน

บทคัดย่อ

       การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น ปัจจัยสาเหตุของการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสาเหตุของการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่นกับพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างเป็น วัยรุ่นอายุระหว่าง 12-22 ปี ที่อาศัยอยู่ในตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 300 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และไคสแควร์

ผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ จะใช้เวลาเที่ยวกลางคืน 3-4 ชั่วโมงนิยมออกไปเที่ยววันศุกร์ ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา วัยรุ่นจะเที่ยวกลางคืน 1-2 วัน สถานบันเทิงที่ไปเที่ยวเป็นผับ ในการเที่ยวกลางคืนทุกครั้งจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจะไปเที่ยวกับเพื่อน ปัจจัยสาเหตุในการเที่ยวกลางคืน คือ ราคาหรือโปรโมมั่นของสถานบันเทิง ความสะดวกสบายในการเดินทางไปเที่ยวและความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน ปัจจัยสาเหตุที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ปัจจัยนำในส่วนของความรู้เกี่ยวกับอันตรายและโทษของการเที่ยวกลางคืน ด้านสุขภาพ ความคิดเห็นเกี่ยวกับอันตรายและโทษของการเที่ยวด้านกฎหมาย ปัจจัยเอื้อในส่วนของการเงิน ราคาหรือโปรโมชั่นของสถานบันเทิง ความสะดวกสบายในการเดินทางไปเที่ยว และปัจจัยเสริมในส่วนของความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน และพบว่าเพศมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

       จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะคือควรจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และให้ความตระหนักเกี่ยวกับอันตรายและโทษของการเที่ยวกลางคืนส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัวการดูแลเอาใจใส่และให้เวลากับวัยรุ่นให้มากยิ่งขึ้นบิดามารดาหรือผู้ปกครองควรมีการพูดคุยคอยดูแลตักเตือนให้คำปรึกษาและแนะแนวเรื่องการเที่ยวกลางคืนให้กับวัยรุ่น

Abstract

       This survey research aimed to study the nightlife behavior of teenager, factors and reasons that influence to their nightlife behavior as well as relationship between reason and their nightlife behavior. Samples were 300 teenager aged between 12-22 years old, lived at Bang Mae Nang Sub district, Bang Yai District,

Nonthburi Province for 300 persons. Colleted by questionnaire and analyze with the descriptive analysis and Chi-square test.

The result showed that most of teenagers spent their nightlife about 3-4 hrs on Friday in every 3 months for 1-2 days. They liked to spend their nightlife at pubs. Causal attributions for nightlife behavior were their financial status, promotion of pub or club, comfort ability to reach such pubs and clubs and relationship among them and friends.Causal Attributions which had the statistical significance with their nightlife behavior were knowledge about danger of nightlife behavior in term of health and legal. The supportive factors to their nightlife behavior were financial status, promotion of pub or club, comfort ability to reach such pubs and clubs. Supportive factors in term of relationship among them and friends showed that gender had relationship with nightlife behavior of teenagers with statistical significance at 0.05 level.

The suggestion from research was: there should set up some activities to provide knowledge and awareness for teenagers about danger of nightlife behavior while promoting the relationship among family‘s member. Parent should concern and care their children about suggestion, warning and consultant for nightlife behavior.

Effect of Ti – doped in Y 134 Superconductor

Effect of Ti – doped in Y 134 Superconductor

รัตนสุดา สุภคนัยสร


View Fullscreen