Category Archives: การผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ประสะไพล : ยาไทยหลังคลอด

ชายศักดิ์  ถนนแก้ว, ปิลันธนา เลิศสถิตธนกร

*สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย, หลักสูตร วท.ม.เภสัชกรรมไทย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 1061 ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 10600

บทคัดย่อ

        ประสะไพล เป็นตำรับยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จัดเป็นยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา  ส่วนประกอบมีไพลหนัก 81 ส่วน และมีส่วนประกอบของสมุนไพรอื่นๆ คือ ผิวมะกรูด ว่านน้ำ กระเทียม หัวหอม พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้นอ้อย เทียนดำ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ 8 ส่วน และการบูรหนัก 1 ส่วน ข้อบ่งใช้ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ  แก้ปวดประจำเดือน และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอด ในด้านของแพทย์แผนไทยมีการใช้ยาประสะไพลเพื่อฟื้นฟูหญิงหลังคลอดมาตั้งแต่สมัยโบราญ เพราะยาประสะไพลเป็นยาที่มีรสร้อน จะช่วยให้ ร่างกายอบอุ่น น้ำนมไหลดี  ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย  และช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย  ยิ่งไปกว่านั้นประสะไพลยังมีคุณสมบัติในการช่วยให้มดลูกคลายตัวและลดการอักเสบได้  ด้วยยาประสะไพลเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยฟื้นฟูหญิงหลังคลอดได้ดี ดังนั้นยาประสะไพลจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของตำรับยาสมุนไพรที่ควรนำไปใช้ในสถานบริการสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูหญิงหลังคลอด และควรได้รับการพัฒนาต่อไปในอนาคต

คำสำคัญ : ประสะไพล/ไพล/ยาสมุนไพร/หญิงหลังคลอด

 

Abstract

        Prasaplai is herbal drug in the National List of Essential Medicines. It been used to cure Gynaecology diseases. This recipe consists of 81 parts of Zingiber Cassumunar Roxb. and 1 part of camphor. The other herbs are Citrus hystrix DC.peel, Acorus calamus L., Allium sativum L., Allium ascalonicum, Piper nigrum L., Piper retrofractum Vahl., Zingiber officinale Roscoe., Curcuma zedoaria Rose  ,Nigella sativa Linn, rock salt, 8 parts per each herb. The indication of Prasaplai are dysmenorrhea relief and excretion of amniotic fluid in post partum mother.

Thai Traditional Medical Doctors have used Prasaplai for health promotion in post partum mothers. Because Prasaplai is hot medicine. It cause worm to the body. Cause milk breast is good flow, Help to excretion the waste, and cause balance to the body. Moreover Prasaplai cause the Uterus is relax and reduce inflammation also. On account of Prasaplai can health promotion in post partum mothers be successful. Therefore Prasaplai is a choice of herbal drug that should to use in the Health facilities. In order to health promotion in post partum mothers and was developed in the future.

Keyword : Prasaplai/Zingiber Cassumunar Roxb./herbal drug/post partum mother.

บทบาทของอาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านต่อการจัดการมูลฝอยครัวเรือน

The Role of Village Health Volunteer on Household Solid Waste Management

ลักษณา เหล่าเกียรติ และ จิราพร ทรงพระ

View Fullscreen

โรคปอดจากการประกอบอาชีพและการทดสอบสไปโรเมตรีย์ในงานอาชีวอนามัย

Occupational Lung Diseases and Spirometry Test in Occupational Health

อ.ฌาน ปัทมะ พลยง และคณะ

View Fullscreen

สะตือ : พรรณไม้สำคัญที่ควรรู้

สะตือ : พรรณไม้สำคัญที่ควรรู้

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

สะตือ เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านพฤกษศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของชาติไทยจึงเห็นสมควรเผยแพร่เรื่องของสะตือให้ผู้สนใจได้รู้จัก

สะตือ เป็นต้นไม้ที่มีคนรู้จักน้อยมาก เนื่องจากหาดูยาก เป็นไม้ใหญ่ที่ต้องใช้พื้นที่กว้าง  มักปลูกในวัดเพื่อให้ร่มเงาเพราะแผ่ทรงพุ่มให้ร่มเงาได้กว้างในรัศมี 10-15 เมตร

สะตือ ถูกจัดให้ขึ้นบัญชีพรรณไม้หายากของกรมป่าไม้ สมควรจะช่วยกันปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนให้แพร่หลาย ให้ประชาชนในรุ่นต่อไปเห็นคุณค่า

สะตือ จะออกดอกดกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และติดฝักจำนวนมาก ซึ่งจะแก่และให้เมล็ดช่วงกลางฤดูฝน เมล็ดจะงอกง่ายมากเนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่ว แต่ต้นกล้ามักถูกพัดพาให้เสียหาย ทำให้แทบไม่มีต้นกล้าใต้ต้นเดิม ควรที่มนุษย์จะช่วยกันนำไปเพาะขยายพันธุ์เพื่อปลูกแพร่พันธุ์ต่อไป

ในส่วนที่ “สะตือ” เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ก็คือ สะตือเป็นไม้เก่าโบราณ เป็นหมุดหมายแห่งประวัติศาสตร์ต้นหนึ่ง มีชื่อวัดตามต้นสะตือหลายแห่งเช่น วัดสะตือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยวัดนี้เป็นหนึ่งในเก้าวัดของการไหว้พระเก้าวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้มีต้นสะตือขนาดใหญ่อายุเป็นร้อยปี เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อโตหรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จึงมีประชาชนมาไหว้พระขอพรกันไม่ขาดสายส่วนวัดลุ่ม หรือวัดลุ่มมหาชัยชุมพล ที่อำเภอเมือง จังหวัดระยองนั้น ก็มีต้นสะตืออายุกว่า 300 ปี เป็นต้นสะตือที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน พาทหารและพลเรือนอพยพมาผูกช้าง ม้า และพักแรมที่โคนต้นสะตือที่มีร่มเงาแผ่กว้างมาก แล้วจึงเดินทัพบุกไปจังหวัดจันทบุรีเพื่อกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า

ประโยชน์ของสะตือ ก็มีทั้งด้านการใช้เนื้อไม้ และด้านสมุนไพร   เนื้อไม้สีน้ำตาลถึงน้ำตาล

ดำ แข็งและเหนียวของสะตือ นิยมใช้ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องเรือนและงานก่อสร้างทั่วไป ใช้ต้นทำครก  สาก  กระเดื่อง  และเครื่องใช้ต่าง ๆในชีวิตประจำวัน   สะตือเป็นไม้ร่มเงาได้ดี เพราะแผ่ทรงพุ่มและใบเป็นพุ่มกว้าง ควรปลูกในวัด สวนสาธารณะ หรือสถานศึกษา   สะตือมีสรรพคุณทางสมุนไพร คือ   ใช้ได้ทั้งต้น  เอาทั้งต้นซึ่งเรียกว่าทั้งห้า  ปรุงต้มเป็นยาแล้วเอาน้ำกินและอาบ  รับประทานครั้งละ  1  ถ้วยชา  แก้ไข้หัว  หัดหลบลงลำไส้  เหือด  ดำแดง  สุกใส  ฝีดาษ  แก้ไข้หัวทุกชนิด ต้มใบใช้อาบแก้โรคอีสุกอีใส โรคหัด ใช้เปลือกต้นปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง

สะตือ

ชื่อสามัญ     Crudia  chrysantha,  (Pierre) K. Schum

ชื่ออื่นๆ    เดือยขาว ดู่ไก่  ประดู่ขาว  แห้

ชื่อวงศ์     LEGUMINOSAE  – CAESALPINIOIDAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ

รูปเจดีย์ต่ำ   ใบเป็นพุ่มกว้างทึบมาก เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาวลำต้นยอดอ่อนมีกาบหุ้มแน่นคล้ายกระสวย ใบเดี่ยวออกสลับ ขนาดกว้าง 4.5 5 ซม. ยาว 7 11 ซม. ผลัดใบในช่วงเดือนธันวาคม ถึง มกราคม แล้วแตกใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดง รูปร่างใบมน รูปไข่ ปลายใบแหลมเรียวสอบเป็นติ่งยาว โคนใบสอบป้านถึงหยักเว้า ขอบหยักถี่มีตุ่มสีน้ำตาลแดงตามปลายหยัก เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ออกดอกเป็นช่อแบบหางกระรอกตามปลายกิ่ง ยาว 5-10 ซม. กว้าง  4  ซม.  แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยสีชมพูอมน้ำตาล ขนาด  2 -5  มม.   ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม ทั้งดอกและผลดกมาก ผลเป็นฝักแบนรูปไข่มน สีเขียวอมน้ำตาล เปลือกฝักเป็นคลื่น เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลแดง ขนาดกว้าง 4-5 ซม. ยาว 6-8 ซม. มี 1 เมล็ด เมื่อแห้งแล้วแตกเมล็ดกระเด็นออกมา เปลือกฝักยังติดคู่กันแต่ม้วนงอเป็นหลอดกลมแข็ง และติดค้างอยู่บนกิ่งอีกนานหลายเดือนจึงจะร่วงลงมา

หมายเหตุ ผู้สนใจที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถไปดูต้นสะตือขนาดใหญ่ได้ที่วัดสังข์กระจาย ถนนอิสรภาพ ซอย 21 เขตบางกอกใหญ่  วัดทองธรรมชาติ ใกล้โรงพยาบาลตากสิน  วัดราชาธิวาส ถนนสามเสน ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย 

น้อยหน่าครั่ง : ผลไม้กลายพันธุ์

น้อยหน่าครั่ง : ผลไม้กลายพันธุ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

ได้รับคำถามอยู่เสมอว่า

1. น้อยหน่าครั่ง มันมีมาได้อย่างไร

2. “น้อยหน่าครั่ง” กินได้ไหม อร่อยไหม

3. “น้อยหน่าครั่ง” อยากปลูกบ้าง ปลูกยากไหม มีต้นพันธุ์ขายที่ไหน

4. “น้อยหน่าครั่ง” มีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรหรือไม่

จากคำถามเหล่านี้จึงนำมาสู่การเขียนบทความทางวิชาการเรื่องนี้

 

น้อยหน่าครั่ง

สรุปประเด็นสำคัญของน้อยหน่าครั่งเป็นข้อๆ ดังนี้

1. น้อยหน่าครั่ง เป็นน้อยหน่าชนิดเดิมที่มีสีเขียวที่คุ้นเคยกัน เพียงแต่เปลือกผลเป็นสีม่วงเข้ม

2. น้อยหน่าครั่ง เกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติของน้อยหน่าพันธุ์เดิมที่มีสีเขียว ซึ่งปลูกด้วยเมล็ด ไม่ได้เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ของมนุษย์แต่อย่างใด

3. น้อยหน่าครั่ง อาจมีจำนวนผลบนต้นมากน้อยไม่แน่นอนในแต่ละปี เพราะว่ามีน้อยหน่าทั้ง2แบบปนกันอยู่บนต้นเดียวกัน สัดส่วนของทั้ง2ชนิดไม่แน่นอน ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่าการกลายพันธุ์แบบนี้เป็นแบบไม่ถาวร หมายความว่าน้อยหน่าครั่งอาจกลับกลายมาเป็นชนิดเขียวแบบเดิมได้อีก ซึ่งลักษณะแบบนี้พบเห็นในพืชหลายชนิด เช่น ไทรด่าง สาคูด่าง

4. น้อยหน่าครั่ง มีทั้งชนิด “เนื้อ” และ “หนัง” รสชาติเหมือนน้อยหน่าชนิดเดิมทุกประการ

5. น้อยหน่าครั่ง มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น “น้อยหน่าสีม่วง”  น้อยหน่าสีแดง”

6. น้อยหน่าครั่ง มีเนื้อสีขาวเช่นเดิม เพียงแต่ส่วนที่อยู่ติดเปลือกอาจมีสีชมพูหรือม่วงปนอยู่

7. เปลือกผลของน้อยหน่าครั่ง มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นรงควัตถุที่พบในพืชทั้งในดอกและในผลของพืช ที่มีสีแดง น้ำเงิน หรือม่วง เป็นสารที่ละลายในน้ำได้ดี มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของลิโปโปรตีน และการตกตะกอนของเกล็ดเลือด ทำให้แอนโทไซยานินมีบทบาทในการป้องการการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน จากเหตุผลนี้ทำให้เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคนิยมบริโภคผักผลไม้ที่มีสีม่วง ทำให้หลายสวนหันมานิยมปลูกน้อยหน่าครั่ง แต่ก็ชั่วระยะเวลาสั้นๆผู้บริโภคก็ลืมเรื่องแอนโทไชยานิน เมื่อได้เวลาน้อยหน่าครั่งออกผลผลิตมามากก็ขายได้ยาก อีกทั้งผู้บริโภคเพิ่งมาทราบภายหลังว่าเนื้อของน้อยหน่าครั่งไม่ได้เป็นสีครั่งหรือสีม่วงเข้มเหมือนเปลือกของมัน แล้วเปลือกมันก็กินไม่ได้

8. น้อยหน่าครั่ง อยู่ในวงศ์เดียวกันกับน้อยหน่าชนิดเดิม และมีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันทุกประการ คือ   วงศ์ ANNONACEAE  และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona squamosa Linn.

9.น้อยหน่าครั่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับต้นน้อยหน่าทั่วไปทุกประการบ่อยครั้งที่น้อยหน่าครั่งเกิดอยู่บนต้นเดียวกันกับน้อยหน่าพันธุ์เดิมโดยที่เจ้าของไม่ทราบ

10. การปลูกน้อยหน่าครั่งก็เหมือนการปลูกน้อยหน่าชนิดเดิม เติบโตได้ในดินร่วนปนทราย ทนแล้งได้ดี ชอบแดดจัด ชอบที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง  ใช้ปุ๋ยตามอัตราที่เหมาะสม ต้องการการตัดแต่งอย่างหนัก(heavy pruning) เพื่อกระตุ้นการออกดอกติดผล ป้องกันกำจัดศัตรูของผลอย่างพิถีพิถัน มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

11. หากต้องการซื้อต้นกล้าของ “น้อยหน่าครั่ง”ไปปลูก ก็ค้นหาแหล่งจำหน่ายในอินเตอร์เน็ตได้เลย  หรือทำได้ง่ายๆด้วยการซื้อน้อยหน่าครั่งมารับประทาน แล้วนำเมล็ดไปเพาะกล้าเอง จะประหยัดเงินได้มาก

………………………………………

นมแมวซ้อน : ไม้สวยดอกหอมหาดูยาก

นมแมวซ้อน : ไม้สวยดอกหอมหาดูยาก

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ นมแมวซ้อน เป็นพรรณไม้ดอกหอม วงศ์เดียวกันกับน้อยหน่า กระดังงา ลำดวน จำปี จำปา

การเวก เป็นต้น พรรณไม้ในวงศ์นี้มีมากชนิด ทุกชนิดจะมีดอกที่มีกลิ่นหอม  มีหลายชนิดที่หาดูยาก รวมทั้ง

“นมแมวซ้อน” ซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย เคยพบที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปี พ.ศ. 2551 ครั้งล่าสุดมาพบที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2557 เมื่อนำเรื่องและภาพออกเผยแพร่ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่สนใจพรรณไม้เป็นจำนวนมาก จึงพิจารณาเห็นว่าสมควรจะนำรายละเอียดทั้งหมดของ“นมแมวซ้อน”มาเผยแพร่สู่สาธารณะชนให้ครบถ้วนกว่าที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและอื่นๆต่อไป

 

นมแมวซ้อน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Anomianthus dulcis (Dunal) J.Sinclair

ชื่อวงศ์ ANNONACEAE

ชื่ออื่น ๆ ตบหู ตีนตั่งน้อย (นครพนม) ตีนตั่ง (อุบลราชธานี)  นมวัว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มรอเลื้อยที่อาศัยไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียงพยุงตัวขึ้นไปที่สูงกิ่งก้านจะยาวได้ประมาณ 4-8 เมตร เปลือกต้นเรียบ เป็นสีเทาดำ เปลือกเหนียว เนื้อไม้แข็ง ปลายกิ่งมีหนามแข็งกระจายห่างๆอยู่ทั่วลำต้น กิ่งอ่อนใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบเดี่ยวออกเรียงสลับสองด้านในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน หรือรูปหอกกลับแกมขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะมีขนาดกว้างกว่าส่วนที่ค่อนมาทางโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 ซม. และยาวประมาณ 12-18 ซม. หน้าใบเกลี้ยง ท้องใบมีขน ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. พองเล็กน้อยและมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบอ่อนมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายยอด ประมาณ 2-4 ดอก ก้านช่อดอกเรียว ดอกเป็นสีเหลือง สีชมพูอ่อน หรือสีเหลืองอมชมพู ดอกมีลักษณะห้อยลง กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกบางเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลม ขอบกลีบดอกบิดเป็นลอนหรือเป็นคลื่น มีขนาดกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 2.5-3.5 ซม. ด้านนอกกลีบมีขนนุ่ม กลีบเลี้ยงสีเขียวรูปไข่ มี 3 กลีบ มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 0.5 ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลขึ้นหนาแน่น ออกดอกในช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน ดอกจะบานวันเดียว มีกลิ่นหอมมากในตอนเย็นจนถึงกลางคืน ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 8-15 ผล ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปทรงกระบอกมี 1-3 กระเปาะ ผิวผลเรียบ ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้มแดง มีรสหวาน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก 1-2 เมล็ด

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด  ตอนกิ่ง  และแยกเอาไหลที่ขึ้นรอบๆต้นเดิมมาปลูก

สรรพคุณ ลำต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมขณะอยู่ไฟของสตรี

ประโยชน์ ผลสุกมีรสหวาน ใช้รับประทานได้

นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในสวนไม้หอม โดยทำรั้วหรือซุ้มให้อยู่เป็นเอกเทศ

ฝาง : สมุนไพรหลายร้อยสรรพคุณ

ฝาง : สมุนไพรหลายร้อยสรรพคุณ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

“ฝาง” เป็นสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับของแวดวงนักการแพทย์แผนไทยมานาน สรรพคุณของ

“ฝาง”นั้น หากสรุปออกมาจะพบว่าสามารถแก้หรือบรรเทาโรคของมนุษย์ได้ทุกระบบในร่างกาย ทั้งของบุรุษและสตรี ตำราแพทย์แผนไทยทุกเล่มจะมีสูตรยาสมุนไพรนับร้อยสูตรที่มีฝางเป็นส่วนผสม อาจบอกได้ว่า “ฝาง”เป็นสมุนไพรครอบจักรวาล  เชื่อว่าหลายคนรู้จัก “น้ำยาอุทัย”ที่นำมาเจือน้ำดื่มแก้กระหายที่มีมานมนานนั้นมีส่วนผสมของ “แก่นฝาง”ด้วย นอกจากนั้น “ฝาง”ยังถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นเครื่องบรรณาการระหว่างประเทศ และเป็นสินค้าออกของไทยด้วย แสดงว่า “ฝาง”มีความสำคัญมานานในอดีต

บทความทางวิชาการเรื่องนี้ มุ่งให้รู้จักสรรพคุณของ “ฝาง” และเห็นภาพโดยละเอียดของฝางทุกส่วนประกอบ รวมทั้งภาพการนำเอาแก่นฝางมามาใช้ประโชน์ด้วย

 

ฝาง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Caesalpinia sappan L.

ชื่อสามัญ  Sappan  , Sappan tree

ชื่อวงศ์ FABACEAE  (CAESALPINIACEAE)

ชื่ออื่น ๆ ขวาง  ฝางแดง หนามโค้ง ฝางส้ม ฝางเสน เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่ม ทรงพุ่มแผ่กว้าง สูง 4 – 8 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ อยู่ทั่วไป แก่นเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มหรือส้มแดง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ แกนช่อใบยาวประมาณ 20-40 ซม. ใบย่อย 8-15 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มม.ยาว 8-20 มม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนาดสั้นมากหรือไม่มี หูใบยาวประมาณ 3-4 มม. หลุดร่วงได้ง่าย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ยาว20-30 ซม. ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. ขอบกลีบดอกย่น ออกดอกในช่วงต้นฤดูฝนเป็นต้นไป ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักแบนแข็งเป็นจะงอยแหลมสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีขนาดกว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-8 ซม. โคนฝักแคบกว่าปลายฝัก มีเมล็ด 2-4 เมล็ด เมล็ดรูปรี กว้าง 0.8-1 ซม.

หมายเหตุ หากแก่นเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มจะมีรสขมหวานเรียกว่า “ฝางเสน” แต่ถ้าแก่นเนื้อไม้เป็นสีเหลืองส้มจะมีรสฝาดขื่นเรียกว่า “ฝางส้ม”

สรรพคุณของฝาง  มีมากมายหลายประการ เช่น

1. แก่นเนื้อไม้เป็นยาแก้ธาตุพิการ

2. เมล็ดแห้งนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรืออาจบดเป็นผงกินก็ได้

3. เปลือกลำต้นและเนื้อไม้ ต้มรับประทานเป็นยารักษาวัณโรค

4. แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอมอย่างละเท่ากัน ต้มกินเป็นยาบำรุงร่างกายทั้งบุรุษและสตรี

5. แก่นฝางตากแห้งผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย

6. แก่นฝาง ต้มกับเถาวัลย์เปรียง และรากเตยอย่างละเท่ากัน แก้กษัย

7. แก่นฝางมีรสฝาด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิตและใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตของสตรี

8. แก่นฝางช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก แก้เส้นเลือดอุดตัน จุกเสียดแน่นและเจ็บหน้าอก

9. แก่นฝางช่วยแก้โลหิต แก้ไข้กำเดา แก้กำเดา ทำให้โลหิตเย็น

10. แก่นฝางใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ตัวร้อน

11. แก่นฝางแก้ไข้ทับระดู

12. น้ำต้มแก่นฝางเสนช่วยแก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำได้ดี

13. แก่นฝางมีสรรพคุณแก้เสมหะ ขับเสมหะ

14. แก่นฝางช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด

15. แก่นฝางช่วยแก้ปอดพิการ

16. แก่นฝางช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน

17. แก่นช่วยแก้บิด

18. แก่นใช้เป็นยาสมานลำไส้

19. แก่นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคนิ่วร่วมกับสมุนไพรอื่น

20. แก่นช่วยแก้ปัสสาวะขุ่นข้น

21. แก่นช่วยแก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา ช่วยแก้โลหิตตกหนัก

22. แก่นฝางใช้เข้าตำรับยาบำรุงโลหิต ฟอกโลหิตในกลุ่มยาสตรี ทำให้เลือดดี ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี

23. แก่นฝางช่วยลดอาการปวดมดลูกของสตรีหลังการคลอดบุตร

24. แก่นฝางช่วยคุมกำเนิด

25. แก่นฝางช่วยแก้ดีและโลหิต

26. แก่นฝางช่วยขับหนอง ขับหนองในฝีอักเสบ

27. แก่นฝางช่วยแก้คุดทะราด

28. แก่นฝางช่วยรักษามะเร็งเพลิง

29. แก่นและเปลือกฝางใช้เป็นยาฝาดสมานและรักษาแผล

30. แก่นฝางใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนังบางชนิดและฆ่าเชื้อโรคได้

31. แก่นฝางช่วยแก้น้ำกัดเท้า ช่วยฆ่าเชื้อและสมานแผล

32. แก่นฝางใช้เป็นยาแก้ปวด แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ช้ำใน

33. แก่นฝางช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

34. กิ่งนำมาตัดเป็นท่อน ๆ นำไปตากแห้ง แล้วนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว

35. เนื้อไม้ใช้เป็นส่วนผสมหลักในตำรับยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี

36. เนื้อไม้ผสมกับปูนขาวแล้วบดทาหน้าผากสตรีหลังการคลอดบุตรจะช่วยทำให้เย็นศีรษะลดอาการเจ็บปวด

37.ฝางช่วยรักษา โรคประดง โรคไต ไข้หวัด แก้ไอ หอบหืด ขับปัสสาวะ บำรุงโลหิตของสตรี

 

ประโยชน์ของฝางโดยสรุป มีดังนี้

1. ชาวเมี่ยนจะใช้กิ่งแก่นำไปต้มกินเป็นน้ำชา

2. เป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน แก้เสมหะ บำรุงโลหิต แก้เลือดกำเดา

3. แก่นไม้เมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับใบเตยหรือผลมะตูม จะช่วยให้มีสีสันสวยงาม

4. น้ำต้มจากแก่นฝางแดงจะให้สีแดงที่เรียกว่า Sappanin ใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย

5. ใช้เป็นสีผสมอาหาร และนิยมนำมาย้อมสีผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าขนสัตว์

6. ส่วนฝางส้มจะนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์

7. ทำเป็นสีทาตัวสำหรับงานเทศกาลในอินเดีย

8. ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเนื้อไม้ของต้นฝางถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

9. ไม้ฝางถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคยเป็นสินค้าผูกขาดของรัฐด้วย

10. ภูมิปัญญาชาวบ้านจะใช้แก่นของต้นฝางเสี้ยมให้แหลม ตอกลงบนต้นขนุนจนถึงเนื้อไม้ จะไปกระตุ้นให้ขนุนติดลูกบริเวณที่ตอกลงไป

11. เนื้อไม้ฝางทำเป็นเครื่องเรือนชั้นดี ตกแต่งชักเงาได้ดี โดยสีของเนื้อไม้จะออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม

12.ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ดอกดกสีเหลืองสดสวยสดุดตา

อ้างอิง    ขอขอบคุณข้อมูลเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)

อินทนิลมี 2 อย่าง…ต่างกันอย่างไร

อินทนิลมี 2 อย่าง…ต่างกันอย่างไร

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ 

อินทนิล”ในธรรมชาติมี 2 ชนิด คือ อินทนิลบกกับอินทนิลน้ำ แต่ที่พบเห็นอยู่เสมอไม่ว่าจะ

เป็นที่ริมถนน ที่ปลูกประดับในสวนสาธารณะหรืออาคารบ้านเรือนทั่วไปคือ “อินทนิลน้ำ”  ส่วน “อินทนิลบก” นั้นจะหาดูได้ยากกว่า ทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ผู้พบเห็นมักจะสับสนมองไม่เห็นความแตกต่าง บทความนี้จะให้ความชัดเจนอย่างละเอียด โดยมีภาพประกอบเปรียบเทียบให้เห็นทุกส่วนทั้งใบ ดอก และผล

   

อินทนิลน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lagerstroemia speciosa Pers.

ชื่อสามัญ  Queen’s Flower, Queen’s Crape Myrtle, Pride of India

วงศ์  LYTHRACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

      ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง คลุมต่ำ เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบและมีรอยด่าง ใบออกเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ใบเดี่ยวรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 6-10 ซม. ยาว 11-26 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ปลายใบแหลม โคนใบกลมมนหรือเบี้ยว ออกดอกในฤดูร้อน เป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ดอกรวมกันเป็นช่อโต ยาวถึง 30 ซ.ม. จะบานจากโคนช่อไล่ขึ้นไปถึงปลายช่อ  กลีบดอกสีม่วงสด ม่วงปนชมพู หรือชมพู กลีบดอก 6 กลีบ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.0-7.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย มีสันนูนตามยาวเห็นชัดเจน และมีขนสั้นประปราย กลีบดอกบาง ปลายกลีบพลิ้ว ผิวกลีบเป็นคลื่นเล็กน้อย เกสรผู้จำนวนมาก  ผลเกือบกลม ผิวเกลี้ยง แข็ง ยาว 2-3 ซม. ผลแห้งแล้วแตกตามยาว 5 พู เมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก มีปีกซีกหนึ่งทำให้สามารถแพร่กระจายไปขยายพันธุ์ได้ในรัศมีกว้างไกล

ประโยชน์ใช้สอย

1. เนื้อไม้ นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและเครื่องมือการเกษตรต่าง ๆ

2. ใบ รสจืดขมฝาดเย็น ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้โรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ เป็นยาลดความดัน

3. ปลูกประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะ และทางเดินริมถนน

 


 

อินทนิลบก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia  macrocarpa  Wall.

ชื่อวงศ์ LYTHRACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลาง สูง 8 -15 เมตร เรือนยอดทรงสูง กิ่งก้านคลุมต่ำ เปลือกลำต้นขรุขระ เป็นเกล็ด   ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 6-18 ซม. ยาว 14-40 ซม. โคนใบมน ปลายใบมน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงมันวาว ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ยาว 10-20 ซม.กลีบดอก 6 กลีบ กลีบหนา เป็นสีชมพูอมม่วง ถึงม่วงแดง ดอกตูมเป็นรูปลูกข่าง ส่วนบนมีรอยบุ๋มตามยาว ดอกบานเต็มที่กว้าง 7-12 ซม.  เกสรผู้จำนวนมาก เป็นกระจุกสีเหลืองอยู่กลางดอก ผลเป็นผลแห้งขนาดใหญ่ รูปไข่หรือป้อมรี ยาว 3-4 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 6 แฉก เมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาล จำนวนมาก มีปีกบางโค้งทางด้านบนของปีก ทำให้สามารถแพร่กระจายไปขยายพันธุ์ได้ในรัศมีกว้างไกล

ประโยชน์ใช้สอย

ดอกสวยสะดุดตา นิยมปลูกประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะ และทางเดินริมถนน

อัญชันสมุนไพรหลายประโยชน์กับความหลากหลายทางชีวภาพ

อัญชันสมุนไพรหลายประโยชน์กับความหลากหลายทางชีวภาพ

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

น้อยคนที่จะไม่รู้จัก“อัญชัน”เพราะอัญชันขึ้นอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งเพราะขยายพันธุ์ง่าย ติดฝักง่าย มีเมล็ดที่สมบูรณ์จำนวนมาก จึงสามารถพบได้ทั้งริมรั้วบ้าน ในสวนหย่อม สวนสาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่า  ในสวนสมุนไพรทุกแห่ง และ แม้กระทั่งในป่า ซึ่งอาจพบว่ามีลักษณะดอกที่แตกต่างกันทั้งรูปแบบและสีสัน ทั้งนี้เพราะอัญชันเป็นพืชปลูกง่ายผสมข้ามได้ง่ายทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญคือมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร และเป็นอาหารได้หลายรูปแบบ  บทความนี้จะให้รายละเอียดทั้งสองด้าน

อัญชัน

ชื่อสามัญ     Blue Pea , Butterfly Pea

ชื่ออื่นๆ    แดงชัน  อัญชัน  เอื้องชัน อังจัน

ชื่อวิทยาศาสตร์     Clitoria ternatea L.

ชื่อวงศ์    LEGUMINOSAE – PAPILIONIOIDEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  

   ไม้ล้มลุกเลื้อยพัน ยาวได้ถึง 5 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่(odd pinnate leaf) เรียงสลับ ใบย่อย 5-7 ใบ ใบย่อยรูปไข่ปลายมน กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 3.5-5.5 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีน้ำเงิน ม่วงหรือขาว ก้านดอกมีใบเกล็ดขนาด 6 มม. จำนวน 2 อันประกบที่ฐานนดอก โคนกลีบและหลังกลีบจะเป็นสีขาวหรือสีขาวหม่น มีทั้งชนิดกลีบดอกซ้อนและกลีบดอกชั้นเดียว(ดอกลา) ชนิดดอกซ้อนจะมี 5 กลีบขนาดใกล้เคียงกัน เบียดกันแน่นเป็นดอกสวยงาม ชนิดดอกลามี 1 กลีบใหญ่ และ 2 กลีบเล็กประกบกันอยู่ตรงกลางดอก  ผลเป็นฝักแบน  รูปดาบ โค้งเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย  กว้าง 1 ซม. ยาว 7-9 ซม. เมื่อแก่เป็นสีฟางแห้ง แห้งแล้วไม่แตก  เมล็ดรูปไต จำนวน 5-7 เมล็ดต่อฝัก

การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ง่ายด้วยเมล็ด แต่อาจกลายพันธุ์ หากเปลี่ยนมาปักชำด้วยลำต้นเก่าขนาดหลอดดูดน้ำอัดลมก็จะได้พันธุ์เดิม

ประโยชน์ของอัญชัน มีหลายด้าน ดังนี้

1. เป็นสีแต่งอาหารดอกสีน้ำเงินใช้เป็นสีแต่งอาหารและขนมตามต้องการ มักนิยมใช้แต่งสีน้ำเงินของขนมช่อม่วง ขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ข้าวเหนียวสังขยา

2. เป็นอาหาร เช่น ดอกสดของอัญชันในจานสลัด   ดอกอัญชันชุบแป้งทอด ต้มน้ำเป็นเครืองดื่มสีสวย

3. เป็นสมุนไพร ดอกอัญชันสีน้ำเงินมีสารแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ดีมากขึ้น  เมล็ดเป็นยาระบาย รากช่วยบำรุงตาแก้ตาฟาง ถูฟันแก้ปวดฟัน ตาแฉะ และปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ นำรากมาถูกับหินผสมกับน้ำฝนใช้หยอดหูและหยอดตา โดยเฉพาะส่วนดอก เป็นต้น

4. เป็นเครื่องสำอาง มีแชมพูสระผมดอกอัญชันวางขายในตลาดหลายตรา โดยระบุว่าผมจะดกดำไว้ในสลาก ในสมัยก่อนหญิงสาวมักนำดอกอัญชันมาเขียนคิ้วให้ดำขลับ ซึ่งมีหลักฐานในนิราศธารโศก และมหาชาติคำหลวง ปัจจุบันก็นิยมนำดอกอัญชันชนิดสีน้ำเงินมาขยำทาคิ้วทารกเพื่อให้คิ้วดกดำและมีรูปร่างตามที่ได้นำก้านพลูมาร่างแบบไว้ก่อนทา

5. เป็นอุปกรณ์การเรียนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โดยใช้กลีบดอกอัญชันสดมาตำให้แหลกแล้วเติมน้ำเล็กน้อย กรองด้วยผ้าขาวบาง บีบคั้นเอาน้ำออกมา จะได้น้ำสีน้ำเงินซึ่งเป็นสาร Anthocyanin ใช้เป็นตัวทดสอบความเป็นกรด( indicator) แทนกระดาษลิตมัส(lithmus) ถ้าเติมน้ำมะนาว หรือก้นมดแดงซึ่งมีฟอร์มิคแอสิดลงไปเล็กน้อย น้ำสกัดนั้นจะกลายเป็นสีม่วง

6. เป็นพืชทดลองการผสมพันธุ์พืช  อัญชันเป็นพืชที่ผสมเกสรได้ง่าย และมีอายุให้ดอกเร็ว เหมาะสำหรับนำมาผสมข้ามหาลูกผสมประกอบการเรียน

7. ปลูกเป็นไม้ประดับ ด้วยอัญชันมีดอกที่สวยงามหลายสี ปลูกง่ายออกดอกเร็วและออกดอกทั้งปี

ความหลากหลายทางชีวภาพของอัญชัน

เนื่องจากอัญชันเป็นพืชที่ผสมข้ามกันตามธรรมชาติได้ง่าย  ทำให้เกิดความหลากหลายของรูปร่างและสีของดอกปรากฏให้เห็นหลายแบบ พอสรุปได้ดังนี้

1. สีน้ำเงิน ชนิดกลีบดอกชั้นเดียว  พบว่าความเข้มของสีดอกมีหลายระดับ

2. สีน้ำเงิน ชนิดกลีบดอกซ้อน

3. สีม่วง ชนิดกลีบดอกชั้นเดียว  พบว่าความเข้มของสีดอกมีหลายระดับ

4. สีม่วง ชนิดกลีบดอกซ้อน

5. สีขาว ชนิดกลีบดอกชั้นเดียว

6. สีขาวชนิดกลีบดอกซ้อน

ขอขอบคุณ    โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และ วิกิพีเดีย    

พวงทอง : ไม้สวยชื่อดีมีสามอย่าง

พวงทอง : ไม้สวยชื่อดีมีสามอย่าง

ความนำ

พวงทอง” พรรณไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลสำหรับความเชื่อของคนไทย เมื่อจะปลูกต้นไม้ประดับสวนในบ้านก็มองหาต้นไม้ที่มีชื่อไพเราะและเป็นมงคล พวงทองเป็นชื่อดั้งเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากผู้ค้าต้นไม้เพื่อให้ขายได้แต่อย่างใด ปัญหาที่ผู้รักต้นไม้มักจะพบคือผู้ค้าต้นไม้จะถามว่า จะรับพวงพวงแบบไหน ก็จะตอบไม่ถูก เพราะพวงทองมี 3 ชนิด คือ พวงทองต้น พวงทองเครือ และ พวงทองปีกผีเสื้อ ทั้ง3ชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ไม่เหมือนกัน แต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือวงศ์ MALPIGHIACEAE พวงทองแต่ละชนิดก็มีความสวยงามและมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน จึงขอเสนอรายละเอียดของแต่ละชนิดพร้อมภาพประกอบที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน จนสามารถแยกชนิดได้ด้วยตนเอง

  

พวงทองต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  Thryallis glauca;

ชื่อสามัญ Galphimia ,  Gold Shower

ชื่ออื่น  พวงทอง ดอกน้ำผึ้ง

ชื่อวงศ์ MALPIGHIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม กิ่งก้านบอบบาง ใบยาวรีแหลม ยาวประมาณ 3 ซม. ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ปลายยอด ช่อยาว 10-12 ซม. กลีบดอก 5 กลีบสีเหลืองสด เกสรผู้ 10 อัน อยู่เป็นกระจุกกลางดอก ขนาดดอกบานเต็มที่ 1.0 ซม. จะบานไล่ขึ้นไปจากโคนช่อ ออกดอกตลอดปี ผลค่อนข้างกลม มี 3 พู เมื่อแก่แตกได้ แต่ไม่ค่อยติดผล ชอบแดดจัด ต้องการน้ำปานกลาง ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย

การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด ปักชำกิ่งและ ตอนกิ่ง

การใช้ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นแปลง ตัดเป็นพุ่มเพื่อบังกำแพง ปลูกเป็นแนวรั้ว ในการแต่งสวนหย่อม สวนสาธารณะ


 

พวงทองเครือ

ชื่อวิทยาศาสตร์    Tristellateia australasiae   A. Rich

ชื่อสามัญ       Siam Vine

ชื่ออื่นๆ พวงทองเถา

วงศ์                MALPIGHIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นพันธุ์ไม้เลื้อย อายุหลายปี  มีลำต้นเป็นเถาขนาดเล็ก สามารถเลื้อยเกาะพันสิ่งอื่น ๆ หรือต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้ยาวประมาณ 3 เมตร ลักษณะของเถาจะเป็นสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน แผ่นใบเรียบเกลี้ยง หนาและแข็ง รูปใบมน เกือบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน และขนานไปตามลำต้น ใบกว้าง 4- 5ซม. ยาว 4-6 ซม. ดอกออกเป็นช่อกระจะ ห้อยลง ช่อยาวประมาณ 12 ซม. ช่อละ 5-10 ดอก ดอกเล็ก มี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง โคนสอบแคบ ก้านสั้น  ขอบกลีบหยักเป็นริ้วตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-3 ซม. ออกดอกตลอดปี มีกลิ่นหอมเล็กน้อย บางต้นก็ติดผล เป็นผลแห้งสีน้ำตาลเมื่อแก่ มีปีกแบนตามยาว 1 ปีก เมล็ดมักลีบ หมายเหตุ ถ้ากล่าวถึงพวงทอง” แบบสั้นๆ ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงพวงทองเครือต้นนี้

การขยายพันธุ์ ปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง

การใช้ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับขึ้นซุ้มหรือทำค้างเป็นเอกเทศไม่ปะปนกับพรรณไม้อื่น


 

พวงทองปีกผีเสื้อ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Mascagnia macroptera (Moc. & Sessé ex DC.) Nied

ชื่อสามัญ Yellow Butterfly Bush / Yellow Orchid Vine

ชื่ออื่นๆ ทองนพคุณ
ชื่อวงศ์  MALPIGHIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เลื้อยขนาดกลาง อายุหลายปี  ยอดเลื้อยพาดไปได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกแกมรูปรี ขนาด 2-3.5 x 5-8 ซม. ปลายและโคนแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้ม ผิวใบเกลี้ยงดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ 5-15 ดอก ดอกทรงกลม กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน 5 กลีบ บางกลีบมีต่อมขนาดใหญ่ 1-2 ต่อม กลีบดอกสีเหลืองสด 5 กลีบ มีก้านกลีบ ขอบกลีบหยักเป็นริ้วตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-3 ซม.ออกดอกตลอดปี ผลสดสีเขียว เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล ไม่แตก มีปีกตามยาว 3 ปีก ปีกด้านข้างทั้งสองมีขนาดใหญ่กว่าปีกกลาง กว้าง 1ซม. ผลสดสีเขียวอ่อน เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่แตก มักไม่ติดเมล็ด

การขยายพันธุ์  เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และการตอน

การใช้ประโยชน์  ปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อย มีดอกสีเหลืองสดและผลเหมือนผีเสื้อกางปีก สวยงามแปลกตา