Category Archives: การผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ

การตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดของสารสกัดใบมะขามที่ปลูกในประเทศไทย

 

การตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดของสารสกัดใบมะขามที่ปลูกในประเทศไทย
The Phytochemical Screening, antioxidant activityand total phenolic compounds of extracts of Tamarindus indica Linn leaves cultivated in Thailand.

 

ศุภรัตน์ ดวนใหญ่* เพชรน้ำผึ้ง รอดโพธิ์** อัจฉรา แก้วน้อย* อรุณรัตน์ แซ่อู้**
วิชุดา ฉันวิจิตร**  วิภารัตน์ ปัตถานะ** นุชบา สุวรรณโคตร**

Supharat Duanyai* Petnumpung Rodpo** Atchara Kaewnoi* Arunrat Saeou**
Wichuda Chanwijit** Wiparat Patthana** Nuchaba Sunwannakotr**


 

บทคัดย่อ

               งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดโดยวิธี Folin reagent method และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยวิธี 2,2-Diphenyl-1-picrylhydrazyl radial scavenging capacity assay (DPPH assay) และตรวจสอบองค์ประกอบทางพฤษเคมีเบื้องต้นของสารสกัดใบมะขามไทย  (Tamarindus indica Linn.) ที่เก็บจาก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ  จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร สกัดด้วยตัวทำละลายเอทานอล และเอทิล อะซีเตท พบว่า สารสกัดเอทานอลของใบมะขาม แสดงผลการต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดสูงกว่า สารสกัดเอทิลอะซีเตท โดยสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้น 1,000 ppm มีร้อยละการต้านอนุมูลอิสระของจังหวัดนครสวรรค์สูงที่สุด มีค่าเท่ากับร้อยละ (91.081 ± 0.013; และ IC50 = 79.439 ppm).และสารสกัดเอทานอลของกรุงเทพมหานคร มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดสูงที่สุด มีค่าเท่ากับ 178.34 มิลลิกรัมของกรดแกลิกต่อกรัมสารสกัด  เมื่อนำสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มาตรวจสอบองค์ประกอบทางพฤษเคมีเบื้องต้น 7 กลุ่ม ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ แอลคาลอยด์ แทนนิน คาร์ดิแอกไกลโคไซด์ เทอร์พีนอยด์ แอนทราควิโนน และซาโปนิน ผลพบว่า สารสกัดเอทานอลของใบมะขามไทย ไม่พบ กลุ่มสารแอลคาลอยด์ ซาโปนิน และคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ ส่วนสารสกัดเอทิลอะซีเตท ไม่พบกลุ่มสารแอลคาลอยด์ คาร์ดิแอกไกลโคไซด์ และแอน ทราควิโนน

คำสำคัญ : มะขามไทย, สารประกอบฟีโนลิก, การต้านอนุมูลอิสระ

 

Abstract

               This study aimed for determination of phenolic compounds by the Folin-Ciocalteu analysis and the antioxidant activity was evaluated by 2, 2-diphenyl-1-picrylhydrazyl scavenging capacity (DPPH) method.  The phytochemical screening was measured of the ethanolic and ethyl acetate extracts of leaves of Tamarindus indica Linn. that were harvested from 5 provinces of Thailand; Sisaket, Phetchaburi, Nakhonsawan, Suphanburi and Bangkok.  The results showed that ethanolic extracts have antioxidant activity and total phenolic compounds more than ethyl acetate extracts. The antioxidant activity indicated that ethanolic extract from Nakhonsawan showed highest effect at 1,000 ppm (91.081 ± 0.013; and IC50 = 16.664). For the content of phenolic compounds, the ethanolic extract from Bangkok was found to be 178.34 mgGAE/1g.  However, all extracted were screened for investigate 7 groups of phytochemical compounds; flavonoids, alkaloids, tannins, cardiac glycosides, terpenoids anthraquinones and saponins. The results showed that ethanolic extracts were not found alkaloids, saponin and cardiac glycosides whereas ethyl acetate extracts were not found alkaloids, cardiac glycosides and anthraquinones.

Keywords : Tamarindus indica Linn. phenolic compounds, antioxidant

 


 

View Fullscreen

การศึกษาสภาวะการปลูกสมุนไพรพลูจีนในเขตพื้นที่ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ให้ได้ตามตำรามาตรฐานสมุนไพรไทย

การศึกษาสภาวะการปลูกสมุนไพรพลูจีนในเขตพื้นที่ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ให้ได้ตามตำรามาตรฐานสมุนไพรไทย

The Study of Growing Conditions of Piper betle (L.) in Huai Duan District, Dontum  Prefecture, Nakhon Pathom Province according to the Thai Herbal Pharmacopoeia 2000 Volume II

 

อภิญญา ไชยคำ*, สุชาดา  มานอก**, อัจฉรา แก้วน้อย**, ศุภรัตน์  ดวนใหญ่**,
เพชรน้ำผึ้ง  รอดโพธิ์***, ชารินันท์ แจงกลาง***

Apinya  Chaiyakam*, Suchada Manok**, Atchara Keawnoi**, Supharat Duanyai**,
Petnumpung Rodpo***, charinan jaengklang***


บทคัดย่อ

               การปลูกสมุนไพรพลูจีนใน 2 สภาวะคือ พรางแสงร้อยละ 50 และปลูกกลางแจ้งใช้ค้างเดียว โดยได้รับแสงอาทิตย์ ร้อยละ 100 ปลูกเป็นระยะเวลา 4 เดือน ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม พบว่า ปลูกที่แจ้งใช้ค้างเดียวมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าปลูกพรางร้อยละ 50 โดยผลการตรวจสอบมาตรฐาน พบว่า ลักษณะเด่นทางจุลทรรศน์ของพลูจีนทั้ง 2 สภาวะ พบ oil droplets และ upper epidermis showing stomata เป็นจำนวนมาก ผลการตรวจสอบเอกลักษณ์ทางเคมี พบว่า พลูจีนทั้ง 2 สภาวะ มีสารกลุ่มฟีโนลิกเป็นองค์ประกอบ เมื่อทดสอบด้วยเทคนิคทินเลเยอร์โครมาโทกราฟี แสดงสารยูจีนอลอยู่ตำแหน่งที่ 3 มีค่า hRf เท่ากับ 34.545 โดยผลการตรวจเอกลักษณ์ทางเคมีและทางกายภาพ พบว่า สมุนไพรพลูจีนที่ปลูกกลางแจ้งค้างเดี่ยว พบปริมาณสิ่งแปลกปลอม 0.001 โดยน้ำหนัก ความชื้นร้อยละ 4.887±1.260 โดยน้ำหนัก เถ้ารวมร้อยละ 13.966±3.453 โดยน้ำหนัก เถ้าที่ไม่ลายในกรดร้อยละ 5.920±0.488 โดยน้ำหนักผลของการหาปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำอยู่ที่ร้อยละ 15.367±0.665และ 26.500±0.953 โดยน้ำหนักแห้ง และสมุนไพรพลูจีนที่ปลูกพรางแสงร้อยละ 50 พบปริมาณสิ่งแปลกปลอมร้อยละ 0.001 โดยน้ำหนัก ความชื้นร้อยละ 5.330±0.882 โดยน้ำหนัก รวมร้อยละ 18.366±0.189 โดยน้ำหนัก เถ้าที่ไม่ละลายในกรดร้อยละ 13.222±0.648 โดยน้ำหนักผลของการหาปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำอยู่ที่ร้อยละ 12.333±0.378และ 28.867±0.288 โดยน้ำหนักแห้ง จากผลการตรวจสอบเอกลักษณ์ พบว่า สมุนไพรพลูจีนที่ปลูกกลางแจ้งค้างเดี่ยวเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน Thai Herbal Pharmacopoeia2000 Volume IIส่วนสมุนไพรพลูจีนที่ปลูกพรางแสงร้อยละ 50 แสดงปริมาณเถ้ารวมและเถ้าที่ไม่ละลายในกรดมากกว่าเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานพลูจีนตาม Thai Herbal Pharmacopoeia 2000 Volume II

คำสำคัญ; พลูจีน ตำรามาตรฐานยาสมุนไพร

 

Abstract

               Piper betle (L.) was mono-cultivated by two conditions of plantations, in 50% sunshade and out door at Huai Duan District, Dontum  Prefecture, Nakhon Pathom for 4 months on July 2012-October 2012, found that plant out door had the better growth than in 50% sunshade. The microscopic characteristics of these two conditions of the herb found Oil droplets, Upper epidermis showing stomata. Chemica identification found that phenolic compound was found in Piper betle (L.) leaves. Chromatogram of Piper betle (L.) extract determined by thin-layer chromatography technique showed eugenol at 3th position which possessed hRf as 34.545. The identification of chemical and physical properties of the plant out door conditions of Piper betle (L.) found that the quantity foreign matter was 0.001% by weight; moisture content was 4.887±1.260% by weight, total ash was 15.367±0.665% by weight and acid-insoluble ash was 5.920±0.488% The % yields of the extract with ethanol-soluble and water were 13.966±3.453 and 26.500±0.953 by dry weight respectively. The 50% sunshade plant found that the quantity foreign matter was 0.001% by weight, moisture content was 5.330±0.882% by weight, total ash was 8.366±0.189% by weight and acid-insoluble ash was 13.222±0.648%. The % yield of the extract with ethanol-soluble and water were 12.333±0.378 and 28.867±0.288 by dry weight respectively. The identification of the plant out door condition of Piper betle (L.) found to comply with the requirements in the herbal Piper betle (L.) of Thai Herbal Pharmacopoeia 200 Volume II. The 50% sunshade plant display of total ash and acid-insoluble ash was more than the requirements in the herbal Piper betle (L.) of Thai Herbal Pharmacopoeia 200 Volume II.

Keywords: Piper betle (L.), Thai Herbal Pharmacopoeia 2000 Volume II,

 

View Fullscreen

การควบคุมมาตรฐานสมุนไพรบัวบกในเขตพื้นที่ ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ตามตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย

 

การควบคุมมาตรฐานสมุนไพรบัวบกในเขตพื้นที่ ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ตามตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย

Quality Control of Centella asiatica (L.) Urb. from Huai Duan District, Dontum Prefecture, Nakhon Pathom Province according to the Supplement to Thai Herbal Pharmacopoeia 2004

 

ศิริพร ปัททุม*, สุชาดา  มานอก**, อัจฉรา แก้วน้อย**, ศุภรัตน์  ดวนใหญ่**,
เพชรน้ำผึ้ง  รอดโพธิ์***, อรุณรัตน์ แซ่อู้***

Siriporn Puttum*, Atchara Keawnoi**, Supharat Duanyai**, Suchada Manok**,
Petnumpung Rodpo***, Arunrat Saeou***


 

บทคัดย่อ

               การตรวจเอกลักษณ์สมุนไพรบัวบกในเขตพื้นที่พื้นที่ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐมตามตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย โดยผลการตรวจสอบ พบว่า ลักษณะเด่นทางจุลทรรศน์ของบัวบก epidermis showing stoma, vascular bundle and rosette aggregate crystals, unicellular trachoma, scalarform and pitted vessels และ collenchymas ผลการตรวจสอบเอกลักษณ์ทางเคมีพบสารกลุ่มฟีโนลิกและไตรเทอร์ปีนไกลโคไซค์ เมื่อทำการทดสอบด้วยวิธีเทคนิคทินเลเยอร์โครมาโทกราฟี พบสาร asiaticoside และ asiatic acid ตรงตำแหน่งที่ 4,5 มีค่า hRf เท่ากับ 30.909, 58.182 ตามลำดับ ผลการตรวจสอบเอกลักษณ์ทางเคมี-ฟิสิกส์และกายภาพ พบปริมาณสิ่งแปลกปลอมน้อยกว่า 2.00 โดยน้ำหนัก ความชื้นอยู่ที่ช่วงร้อยละ 6.980±0.517 ถึง 11.997±1.253 โดยน้ำหนัก เถ้ารวมอยู่ที่ช่วงร้อยละ 7.343±4.623 ถึง 9.821±1.812 โดยน้ำหนัก และเถ้าที่ไม่ละลายในกรดร้อยละ 0.416±0.076  ถึง 0.533±0.160  โดยน้ำหนัก ปริมาณสารสกัดด้วยเอทานอลความเข้มข้นร้อยละ 95 และปริมาณสารสกัดด้วยน้ำมีค่าอยู่ที่ช่วง17.266±0.378 ถึง 17.666±2.470 และ 32.233±1.594 ถึง 34.600±2.773 โดยน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ จากผลการตรวจสอบเอกลักษณ์ พบว่า สมุนไพรบัวบกที่ปลูกในเขตพื้นที่ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐมเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานสมุนไพรบัวบกตาม Supplement to Thai Herbal Pharmacopoeia 2004

คำสำคัญ  บัวบก, ไตรเทอร์ปีนไกลโคไซค์, ตำบลห้วยด้วน

 

Abstract

               Identification of Centella asiatica (L.) Urb. Cultured in Huai Duan District, Dontum Prefecture, Nakhon Pathom Province according to the Supplement to  Thai Herbal Pharmacopoeia 2004 was performed. The microscopic characteristics of the herb revealed epidermis showing stoma, vascular bundle and rosette aggregate crystals, unicellular trachoma, scalarform and pitted vessels and collenchymas. Chemical Identification found that Phenolic and triterpene glycoside were found in Centella asiatica (L.) Urb. Extract determined by thin-layer chromatography technique showed asiaticoside and asiatic acid at 4 th and 5 th position which possessed hRf as 30.909 and 58.182. respectively. The Identification of chemical and physical properties of Centella asiatica (L.) Urb. Found that the quantity of foreigh matter was less than 2.00% by weight, moistuer content was in the range of 6.980 ± 0.517% to 11.997± 1.253% by weight, total ash was in the range of 7.343 ± 4.623% to 9.821 ± 1.812% by weight and acid-insoluble ash was in the range of  0.416± 0.076% to 0.533 ± 0.160% by weight. The % yield of extract with 95% ethanol and water were 17.666± 2.470 to 17.266 ± 0.378 and 34.600 ± 2.773 and 32.233 ± 1.594 by dry weight respectively. The Identification of Centella asiatica (L.) Urb. Cultured in Huai Duan District, Dontum Prefecture, Nakhon Pathom Province found to comply with the requirements in the herbal Centella asiatica (L.) Urb.. of Supplement to Thai Herbal Pharmacopoeia 2004.

 Keyword (s)  Centella asiatica (L.) Urb., Triterpene glycoside, Huai Duan District

 

View Fullscreen

จันทน์หอม…ไม้มงคลในพระราชพิธี

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่กำลังจะมาถึงในปลายเดือนตุลาคม 2560 นั้น สื่อสารมวลชนทุกแขนงต่างก็ออกข่าวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของพระราชพิธี หนึ่งในความสำคัญของงานพระราชพิธีนี้ที่จะขาดเสียไม่ได้คือ การนำไม้จันทน์หอมมาสร้างพระรองประดับพระโกศ พระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ผู้เขียนเห็นสมควรนำความรู้เรื่อง “จันทน์หอม”มาเผยแพร่ให้รู้จักกันพร้อมภาพที่ถ่ายมาจากต้นจริง

 

ไม้จันทน์หอม
ไม้มงคลที่กำลังเป็นที่สนใจในช่วงเวลานี้ นั่นคือไม้จันทน์หอม เพราะเป็นไม้มงคลที่จะนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ทำไมถึงใช้ไม้จันทน์หอมในพระราชพิธี
เหตุผลที่ใช้ไม้จันทน์หอมในพระราชพิธี เพราะว่า ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มีค่าหายาก จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ที่ถูกนำไปใช้ในงานพระราชพิธีนับตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล โดยพบประวัติการใช้ไม้จันทน์หอมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับแต่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นสมัยอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบประวัติที่ระบุในจดหมายเหตุว่า ไม้จันทน์หอมเป็นเครื่องหมายบรรณาการที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย
และด้วยเหตุที่เนื้อไม้จันทน์หอมมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เนื้อไม้แข็ง มีความละเอียด จึงนิยมนำไม้จันทน์หอมมาสร้างพระรองประดับพระโกศ พระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไม่ว่าไม้จันทน์หอมจะเป็นหรือตาย ก็ยังคงมีความหอม เปรียบเหมือนคนที่ตอนมีชีวิตอยู่นั้นได้ทำความดีไว้มากมาย แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ความดีนั้นก็ยังคงอยู่ ขณะเดียวกัน ความหอมของไม้จันทน์หอมยังช่วยรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีการฉีดยา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม้จันทน์หอมเป็นไม้หายากและมีราคาแพง จึงนำมาใช้เฉพาะในงานพระศพของราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น ภายหลังกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์หอมทำเป็นแผ่นบาง ๆ มัดเป็นช่อเรียกว่าดอกไม้จันทน์ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพและนิยมใช้จนถึงปัจจุบัน

 

พิธีตัดไม้จันทน์หอม
พิธีตัดไม้จันทน์หอมจะประกอบไปด้วยการบวงสรวง ก่อนจะใช้ขวานทองจามไปที่ต้นไม้ที่ถูกคัดเลือกไว้แล้วในเชิงสัญลักษณ์แต่ยังไม่ได้เป็นการตัดจริง โดยจะต้องรอให้ทางช่างสิบหมู่ออกแบบกำหนดลักษณะไม้ที่ต้องการเสร็จสิ้นก่อน จึงจะทำการตัดจริงได้ อีกทั้งต้นไม้จันทน์หอมที่เลือกจะต้องเป็นต้นที่ตายพรายซึ่งหมายถึงยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ โดยพิจารณาจากลักษณะไม้ที่มีเนื้อหอม เนื้อไม้แกร่ง เปลาตรง คุณภาพดี ซึ่งก่อนตัดก็ต้องทำพิธีขอจากรุกขเทวดาโดยพราหมณ์อ่านโองการและตัดตามฤกษ์ดี
ไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไม้ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกคัดเลือกไว้ 4 ต้นด้วยกัน จากทั้งหมด 19 ต้น คือต้นไม้จันทน์หอมลำดับที่ 10, 11, 14 และ 15 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก นายจำลอง ยิ่งนึก ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และนายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฝ่ายปกครอง ตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้อง และทุกต้นยืนต้นตายตามธรรมชาติ มีกลิ่นหอม ลักษณะต้นไม้เปลาตรง ขนาดความโตตั้งแต่ 142-203 เซนติเมตรและสูง11-15เมตร โดยมีกำหนดฤกษ์ตัด เวลา 14.09-14.39 น. ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีการตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวง ตลอดจนเครื่องสังเวยต่าง ๆ โดยหลั่งน้ำเทพมนต์เจิมบริเวณต้นไม้จันทน์หอม และลงขวานทองที่ต้นไม้จันทน์หอม ต้นที่ 15 เป็นปฐมฤกษ์ ก่อนจะตัดต้นที่เหลืออีก 3 ต้นพร้อมกัน

 

จันทน์หอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Mansonia gagei Drumm.

ชื่อวงศ์ STERCULIACEAE

ชื่ออื่น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว จันทน์พม่า

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 10 – 20 เมตร  เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบสีเทาอมขาว เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านอ่อน มักห้อยลง  ใบเดี่ยว เรียงสลับ มักออกใบถี่ที่ปลายยอด แผ่นใบรูปรี แกมรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3 – 6 เซนติเมตร ยาว 8 – 14 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบเว้า เบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่นห่าง ๆ  ดอกเล็กสีขาวออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลาย กิ่งและตามง่ามใบ  ผลรูปกระสวย มีปีกบางรูปทรงสามเหลี่ยมสามปีก กว้าง 0.5 – 0.7 เซนติเมตร ยาว 1 – 1.5 เซนติเมตร มีปีก ปีกกว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 3 เซนติเมตร

 

การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

หมายเหตุ

1. จันทน์หอมเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดนครปฐม

2. ต้นจันทน์หอมที่วัดนรนาถสุนทริการาม ที่เทเวศร์มีขนาดใหญ่ สูงราว 12 เมตร อยู่ข้างพระอุโบสถ์ ผู้สนใจสามารถไปชมได้

 

ประโยชน์

1.เนื้อไม้ กระพี้ สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่อง แกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมัน

2.ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม หอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอมและเครื่อง สำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ

3.เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย

 

อ้างอิง 

1.ส่วนเพาะชำกล้าไม้สำนักส่งเสริมการปลูกป่ากรมป่าไม้
   อุทยานแห่งชาติกุยบุรีสำนักอุทยานแห่งชาติ

2. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 2 มกราคม 2560

3. Kapook.com

มะเขือต้น

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ ผู้เขียนได้รับคำถามอยู่เสมอจากผู้รักต้นไม้เกี่ยวกับ “มะเขือต้น” จนเมื่อวันก่อนไปพบมะเขือต้นพรรณไม้ดอกสวยต้นนี้ที่วังตะไคร้ ก็ได้โอกาสบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษาที่พาไปศึกษานอกสถานที่ให้ เป็นความรู้ใหม่สำหรับเยาวชน จึงถือโอกาสนำความรู้เรื่องนี้มาเผยแพร่แก่ผู้สนใจ

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum wrightii  Benth

ชื่อวงศ์ SOLANACEAE

ชื่อสามัญ Potato tree

ชื่ออื่น มะเขือยักษ์  มะเขือดอก  มะเขือประดับ

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร มีหนามห่างๆ แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกลมสวยงาม กิ่งเปราะฉีกขาดง่าย  ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ รูปไข่ เรียงสลับ กว้าง 15-20 ซม. ยาวถึง 20-25 ซม. ขอบใบเว้าลึกเป็นพูหลายพู ปลายใบแหลม โคนใบทู่ ไม่สมมาตร ผิวใบมีขนสากทั้งสองด้าน เส้นกลางใบและก้านใบ มีหนามห่าง ดอก สีม่วงแล้วจางเป็นสีขาว ออกเป็นช่อสั้น จากกิ่งใกล้ปลายยอด ยาว 7-10 ซม. ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-7 ซม. กลีบรองดอก โคนเชื่อมกัน ปลายเว้าลึกเป็น 5 แฉก กลีบดอก เชื่อมกันคล้ายรูปปากแตร ปลายกลีบเว้าเป็น 5 แฉก ขอบกลีบย่น เกสรผู้ 5 อัน อับเรณูสีเหลือง ยาวประมาณ 1.5 ซม. ผล รูปทรงกลม สีเขียวสด ขนาด 3.5-4.5 ซม. มีกลีบเลี้ยงติดคาที่ขั้วผลกินไม่ได้ ผลสุกสีเขียวคล้ำ เนื้อเหลว มีเมล็ดขนาด 0.1 ซม.จำนวนมากกว่า 100 เมล็ด

 

การกระจายพันธุ์ เป็นไม้ต่างประเทศมีถิ่นกำเนิด ในประเทศเปรูในทวีปอเมริกาใต้ นำมาปลูกที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ จังหวัดเชียงใหม่ เจริญเติบโตได้ดี ออกดอกและติดผลตลอดปี

 

ประโยชน์

1. ดอกสวยเพราะกลีบดอกมีสีม่วงสดเมื่อแรกบานแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อนและขาวในช่อเดียวกัน ออกดอกตลอดปี จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

2. ใบดกหนาทึบให้ร่มเงาดีมาก เหมาะสำหรับปลูกประดับในสวนสาธารณะ  เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะสวยงาม

 

การขยายพันธุ์ เพาะกล้า และ ตอนกิ่ง

 

การปลูก นำผลสุกมาแยกเอาเมล็ด เพาะกล้าในภาชนะรวม เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 3-5 ใบ ให้ย้ายปลูกในภาชนะเดี่ยว เมื่อต้นกล้าสูงราว 20 ซม. นำไปปลูกลงดิน ในสภาพที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง รดน้ำใส่ปุ๋ยเหมือนพืชทั่วไปจะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 8-10 เดือน

 

อ้างอิง

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. 2546.  สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7 . โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮาส์. กรุงเทพฯ. 347 หน้า.

ตีนเป็ดสองชนิดทำของประดิษฐ์ได้สวยงาม

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ ตีนเป็ดทราย กับ ตีนเป็ดทะเล เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง นิยมปลูกกันมากในสวนในบ้านส่วนตัว ที่ทำงานทั้งเอกชนและของรัฐ รวมทั้งสวนสาธารณะทุกแห่ง จึงพบเห็นกันอยู่เสมอ  เพราะตีนเป็ดทั้ง2ชนิดนี้เป็นพรรณไม้ในวงศ์เดียวกันจึงมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่คล้ายกันมาก แม้จะเป็นคนละชนิดกัน จึงทำให้เกิดความสับสนของผู้พบเห็น อีกทั้งเมล็ดแห้งขนาดใหญ่ที่มีความสวยงาม แต่มีน้ำหนักเบาก็ถูกนำมาใช้ในการประดับและประดิดประดอยเป็นของตกแต่งกันทั่วไป  ก็เกิดความสงสัยกันว่าได้มาจากพืชต้นใด บทความนี้จะไขข้อข้องใจได้ทั้งหมด 

 

ตีนเป็ดทราย

ชื่อวิทยาศาสตร์   Cerbera manghas  L.

ชื่อวงศ์    APOCYNACEAE

ชื่ออื่นๆ  ตีนเป็ดเล็ก เทียนหนู  เนียนหนู ปงปง  ปากเป็ด มะตากอ  รักขาว

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

ไม้ต้น สูง 5-12 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมากทำให้เรือนยอดกลม เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลอ่อน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว สีเขียวเข้มเป็นมัน เรียงสลับ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง  ใบรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ดอกสีขาวออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ใจกลางดอกเป็นสีแดงอมชมพู กลีบดอกเมื่อตูมจะซ้อนกันเวียนเป็นเกลียว รูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ปลายด้านหนึ่งจะยาวและแหลมกว่าอีกด้านหนึ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ออกดอกตลอดปี  ผลโต รูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 ซม. ผิวผลสีเขียว เรียบ เมื่อแก่มีสีแดง เป็นมัน เมล็ดแข็งมีลายเส้นตามยาวโดยรอบเมล็ด  น้ำหนักเบา

 

การขยายพันธุ์  เพาะกล้าจากเมล็ด และกิ่งตอน

 

การใช้ประโยชน์

1.  ปลูกเป็นไม้ประดับสวน เพราะมีความสวยงามทั้งใบ ดอก ผล และทรงพุ่ม

2. เมล็ดแห้งมีน้ำหนักเบา ลวดลายสวยงาม นำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ของตกแต่งได้สวยงาม

3.  มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรหลายด้านสรรพคุณของตีนเป็ด ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยแก้ลม แก้ลมให้กระจาย ช่วยแก้โลหิตพิการ ใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน  น้ำมันจากเมล็ดใช้ทามีสรรพคุณแก้หวัด

แก้หลอดลมอักเสบ ช่วยขับผายลม ช่วยแก้อาการบิด ช่วยสมานลำไส้

 

ตีนเป็ดทรายตีนเป็ดทะเล

การขยายและการอนุรักษ์พันธุ์ม่วงไตรบุญ เพื่อเป็นพันธุ์ไม้เศรษฐกิจในอู่ทอง

การขยายและการอนุรักษ์พันธุ์ม่วงไตรบุญ เพื่อเป็นพันธุ์ไม้เศรษฐกิจในอู่ทอง (Tribounia venosa (Barnett) D.J. Middleton) เพื่อเป็นพันธุ์ไม้เศรษฐกิจในอู่ทอง Propagation and conservation of Tribounia venosa (Barnett) D.J. Middleton landrace Muang – Triboun to economic crop at Authong district

ไข่ดาว…กลีบดอกขาวนาสรเหลือง

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ ไม้พุ่มดอกหอมต้นนี้ใครเห็นดอกก็จะสะดุดตาทันที เนื่องจากดอกแบนใหญ่ขนาดฝ่ามือหน้าตาคล้ายไข่ดาว มองเห็นแต่ไกลเพราะดอกชูช่อสวยนอกทรงพุ่มคราวละหลายดอก ผู้เขียนได้รับคำถามถึงชื่อดอกไม้ต้นนี้อยู่เสมอ เมื่อยืนยันว่าชื่อ”ไข่ดาว”จริงๆ ก็จะชื่นชมว่าตั้งชื่อได้เหมาะสมมาก ความสวยงามของดอกอยู่ที่กลีบดอกเป็นสีขาวบริสุทธิ์ส่วนเกสรเพศผู้นับร้อยอันเป็นสีเหลืองอยู่ตรงกลางดอก เห็นควรนำมาเผยแพร่ให้รู้จักกันให้กว้างขวางมากขึ้น

ไข่ดาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Oncoba spinosa Forsk.

ชื่อสามัญ Fried egg tree, Oncoba

ชื่อวงศ์ FLACOURTIACEAE

ถิ่นกำเนิด แอฟริกาเขตร้อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มรอเลื้อย ลักษณะพุ่มไม่แน่นอนเนื่องจากแตกกิ่งก้านยื่นยาวออกไปไม่มีระเบียบ สูงได้ถึง 5 เมตร ลำต้นมีหนามยาวจำนวนมากและมีช่องอากาศตามกิ่ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3.5-14 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง ขอบใบจักซี่ฟันถี่ ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง ดอกขนาดใหญ่ ออกเดี่ยว ตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวบริสุทธิ์ มี 8-10 กลีบ ก้านดอกยาว 1-2 ซม. ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อนๆในช่วงอากาศค่อนข้างเย็น กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ติดทนที่ขั้วผล เกสรเพศผู้สีเหลืองเป็นเส้นเล็กจำนวนมาก รวมกันอยู่กลางดอก  ทำให้ดูคล้ายไข่ดาว ผลมีเนื้อ ทรงกลม มีสันเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลแดง เปลือกแข็ง มีสันตื้นๆหลายสัน เมล็ดมีจำนวนมาก รูปไข่ สีน้ำตาลดำ เกลี้ยง ยาว 6-7 มม.แทรกอยู่ในเนื้อผลสีดำ

 

การขยายพันธุ์

1. เพาะกล้าจากเมล็ด โดยแคะเมล็ดออกมาจากเนื้อผล แม้เปอร์เซ็นต์ความงอกจะต่ำแต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ได้ต้นไข่ดาว

2. การตอนกิ่ง ควรใช้ฮอร์โมนช่วยเร่งการออกราก

 

หมายเหตุ

1.ไข่ดาวมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา

2.ต้นไข่ดาวเป็นไม้ปลูกง่าย โตเร็ว ในเมืองไทยเรามีปลูกเป็นไม้ประดับแต่ไม่แพร่หลายเนื่องจากทรงพุ่มไม่แน่นอน มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ และตัดหนามออกเพื่อป้องกันอันตราย

3. ต้นไข่ดาวเหมาะสำหรับปลูกในสวนสาธารณะ โดยจำกัดพื้นที่ให้เจริญเติบโตอย่างอิสระ เพื่อให้เห็นความเป็นธรรมชาติของไม้ดอกสวยงามต้นนี้

 

อ้างอิง

หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ  ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลองคณะเกษตร กำแพงแสน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. 2544. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. โอ.เอส.พริ้นติ้งส์เฮาส์, กรุงเทพฯ. 151 หน้า.

ลูกชิต : ผลผลิตจากต้นตาว

ลูกชิด : ผลผลิตจากต้นตาว

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ 

“ลูกชิด” เป็นของกินคู่กับน้ำแข็งไสและไอศกรีมเป็นที่รู้จักดีกันของทุกคนทุกเพศทุกวัย แต่มีน้อยคนที่จะรู้จักที่มาของมัน คนในหลายท้องถิ่นเช่นคนในภาคตะวันเฉียงเหนือจะเรียกลูกชิดว่า “ลูกจาก” ก็เรียกต่อๆกันมาหลายชั่วอายุโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข อาจจะไม่ทราบว่าลูกชิดกับลูกจากนั้นมีที่มาจากคนละต้นกัน  ลูกชิดได้มาจากต้นตาว ส่วนลูกจากได้มาจากต้นจาก หน้าตาก็แตกต่างกันมาก แม้รสชาติจะคล้ายกัน อย่างไรก็ตามพืชทั้งสองชนิดนี้ต่างก็อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือวงศ์มะพร้าว หรือ PALMAE นั่นเอง บทความนี้มุ่งให้ความรู้เรื่อง“ต้นตาว”ที่มาของลูกชิดและประโยชน์หลายประการของต้นตาวและลูกชิด ซึ่งมีอีกหลายชื่อ เช่น ลูกตาว ลูกต๋าว ลูกเหนา ลูกชก และส่งเสริมให้ช่วยกันปลูกเพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากในปัจจุบันมีจำนวนต้นตาวลดน้อยลงอย่างมาก สาเหตุมาจากการที่ป่าถูกทำลายอย่างต่อเนื่องและไม่มีการปลูกเพื่อทดแทน ต้นที่ตายไป ต้นตาวจึงมีโอกาสสูญพันธุ์ เพราะต้นตาวสามารถออกดอกติดผลได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตประมาณ4-5 ปีแล้วก็จะยืนต้นตาย การปลูกทดแทนจะต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 ปีตั้งแต่เริ่มปลูกจึงจะออกดอกติดผลครั้งเดียวดังได้กล่าวไว้

 

ตาว

ชื่อสามัญ  Sugar palm, Aren, Arenga palm, Black-fiber palm, Gomuti palm, Kaong, Irok

ชื่อวิทยาศาสตร์  Arenga pinnata (Wurmb) Merr.

ชื่อวงศ์ ARECACEAE  ชื่อเดิม PALMAE

ชื่ออื่นๆ ชิด   ต๋าว มะต๋าว ฉก ชก ต้นชก เต่าเกียด

การกระจายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว อินโดนีเซีย และอินเดีย สำหรับในประเทศไทยนั้นจะพบขึ้นตามป่าในเขตจังหวัดภาคเหนือเป็นหลัก เช่น น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ และตาก ส่วนจังหวัดในภาคตะวันตกและภาคใต้นั้นพอมีบ้างแต่ไม่หนาแน่น ในปัจจุบันมีจำนวนต้นตาวลดน้อยลงอย่างมาก สาเหตุมาจากการที่ป่าถูกทำลายและไม่มีการปลูกเพื่อทดแทน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นปาล์มแบบต้นเดี่ยวที่มีอายุยืนลักษณะคล้ายต้นตาล ลำต้นตรงสูงชะลูด มีหลายขนาด มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางต้นราว 35-65 ซม. ใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกันบนทาง แต่ละทางมีความยาวประมาณ 6-10 เมตร ทางใบยาวประมาณ 6-10 เมตร ประมาณ 50 ทางต่อต้น มีใบย่อยประมาณ 80-130 ใบต่อทาง ใบมีลักษณะเช่นเดียวกับใบมะพร้าว แต่จะใหญ่และแข็งกว่า ใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนและแหลม ส่วนโคนใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอก ขอบเรียบ ผิวหนา หลังใบเป็นสีเขียวเข้มมันวาว ส่วนใต้ใบมีสีขาวนวล เมื่อใบแก่จะห้อยจนปิดคลุมลำต้น  มีระบบรากฝอยเหมือนพืชวงศ์ปาล์ม ดอกออกเป็นช่อเชิงลดขนาดใหญ่ โดยดอกจะมีทั้งดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกันแต่อยู่คนละช่อดอก โดยช่อดอกเพศผู้จะยาวประมาณ 1-2 เมตร ส่วนช่อดอกสมบูรณ์เพศจะยาวกกว่าช่อดอกเพศผู้ ออกดอกตามซอกใบ ห้อยยาวลงได้มากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ออกดอกจนเป็นผลสุกแก่จนร่วงหล่น อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี  ดอกมีสีขาวขุ่น ผลเป็นกลุ่มเบียดติดแน่นบนทะลาย ผลเป็นรูปไข่สีเขียว มีขนาดประมาณ 3-4 ซม. เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มจนถึงสีดำ ส่วนเมล็ดมีสีขาวขุ่น มีลักษณะนิ่มและอ่อน มี 2-3 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาว ส่วนเมล็ดแก่มีสีดำ เปลือกของเมล็ดจะกลายเป็นกะลาบาง ๆ แข็ง ๆ มีสีดำ ส่วนเนื้อในของเมล็ดก็คือ “ลูกชิด” โดยต้นตาวจะให้ผลในช่วงอายุ 8-12 ปี

ข้อควรระวัง ผลตาวมีน้ำยาง ถ้าถูกผิวหนังจะคัน การเก็บผลออกจากทะลายจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรสวมเสื้อแขนยาวหรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดใส่ถุงมือใส่แว่นกันน้ำยางเข้าตา
การเก็บผลตาว จะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคม ให้ตัดเฉพาะทะลายที่แก่ ไม่โค่นทั้งต้น การเก็บแต่ละครั้งผู้เก็บต้องไปนอนค้างแรมอยู่ในป่าอย่างน้อย 2-3 คืน ในช่วงที่ฝนหยุดตก ส่วนในช่วงที่มีฝนจะหยุดการดำเนินการ เพราะไม่มีฟืนใช้ต้มลูกตาว เมื่อผลตาวต้มพอสุกแล้ว ก็ตัดขั้วผลแล้วหนีบเมล็ดออกโดยใช้เครื่องมือผลิตเองที่มีคันยกเพื่อออกแรงกดลงให้เมล็ดหลุดออกมา นำเมล็ดไปล้างน้ำให้สะอาดนำไปขายให้พ่อค้าคนกลางไปส่งโรงงานลูกชิดหรือนำมาต้มสุกหรือเชื่อมรับประทานได้

การส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ตาว

ต้นตาว ต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 ปี จึงจะเริ่มออกดอกที่มีเกสรดอกแรก จากนั้นจึงเริ่มออกงวงและติดผล การออกงวงและติดผลของตาวนั้น จะเริ่มออกจากส่วนบนของต้น คือ บริเวณใต้ก้านทางหรือก้านล่างสุด โดยจะทยอยออกงวงรอบคอต้น ตาวหนึ่งต้นจะใช้เวลาออกงวงทั้งหมดประมาณ 2-3 ปี นับตั้งแต่งวงแรกที่อยู่ส่วนบนของต้น ไล่ลงมาจนโคนต้นด้านล่างที่ติดกับพื้นดิน เมื่อถึงงวงสุดท้าย ชีวิตของตาวก็จะจบลงไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นชีวิตของตาวต้นหนึ่งจึงจะมีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 8-12 ปี ขึ้นอยู่กับว่าตาวต้นนั้นจะเริ่มออกงวงแรกเมื่อใด เมื่อออกงวงแรกแล้วอีก 4-5 ปี ตาวต้นนั้นก็จะตายจากไป

จะเห็นว่าต้นตาวสามารถออกดอกติดผลได้เพียงครั้งเดียวก็จะตายการปลูกทดแทนจะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนออกดอกประมาณ 8-12 ปี ฉะนั้นจึงควรหันมาช่วยกันปลูกต้นตาวเสริมไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้ต้นแก่ตายไปก่อนแล้วจึงปลูก สำหรับต้นพันธุ์ตาวเพื่อนำมาปลูกนั้นสามารถขอคำปรึกษาได้จากสำนักงานเกษตรจังหวัดที่ระบุไว้ข้างบนได้

ประโยชน์ของตาว

1. เนื้อในเมล็ดผลตาว เรียกว่า ลูกชิดกินได้สดๆ หรืออาจนำไปเชื่อมน้ำตาล เพื่อให้ได้รสอร่อยขึ้นสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นลูกชิดแช่อิ่ม ลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง ลูกชิดอบแห้ง ซึ่งนำไปทำขนมได้หลายชนิด เช่น ใส่ในไอศกรีม หวานเย็น น้ำแข็งไส รวมมิตร  ส่วนแหล่งผลิตลูกชิดที่สำคัญตั้งอยู่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปลูกชิตแห่งเดียวในเขตพื้นที่ภาคเหนือ

2. หน่ออ่อนและเนื้อข้างในลำต้นก็สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารเช่นการทำเป็นแกงหรือใส่ข้าวเบือน เป็นต้น

3. ใบใช้มุงหลังคากั้นฝาบ้าน ก้านใบนำมาเหลารวมทำไม้กวาด เส้นใยที่ลำต้นใช้ทำแปรง

4. งวงตาวหรือดอกตาวสามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำตาลคล้ายกับน้ำตาลโตนดได้ ก้านช่อดอกมีน้ำหวาน อาจนำมาใช้ทำเป็นไวน์ผลไม้หรือน้ำส้มได้

5. ลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ทำเป็นอุปกรณ์การเกษตรได้

6. ก้านทางใบนำมาใช้ทำฟืนสำหรับก่อไฟ

ขอบคุณ    วิกิพีเดีย   

มะแพร้ว : มะพร้าวกลายพันธ์

มะแพร้ว : มะพร้าวกลายพันธุ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

“มะแพร้ว” มีมานานแล้ว ฟังชื่อแล้วอาจไม่คุ้นเคยนักสำหรับคนรุ่นใหม่เพราะคุ้นเคยกับมะพร้าวมากกว่า มะแพร้วจัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลปาล์ม ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก น้อยคนจะรู้จักว่า มะแพร้ว คือมะพร้าวชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของยีนซึ่งก็คือการกลายพันธุ์นั่นเอง  ทำให้มะแพร้วไม่มีหางหนู(ระแง้)และดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียหรือผลอ่อนจะเกิดอย่างหนาแน่นบนแกนกลาง(หรืองวง)โดนตรง มะแพร้วจะติดผลน้อยกว่ามะพร้าว คือเพียง 4-5 ผลต่อทะลาย นั่นเป็นเพราะไม่มีดอกเพศผู้หรือมีดอกเพศผู้น้อยกว่าปกติหรือมีดอกตัวเมียมากเกินไป


 

มะแพร้ว

ชื่อสามัญ  Spitapa

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera L.  var. spicata K.C.Jacob

ชื่อวงศ์ PALMAE – ARECACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะแพร้วมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันกับมะพร้าวทุกประการจนแยกไม่ออก หากพบเห็นต้นมะแพร้วก็จะเข้าใจว่าเป็นมะพร้าว แต่หากพิจารณาจากช่อดอกหรือทะลายของผลบนต้นก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งจะไม่พบเส้นหางหนูที่เกะกะเหมือนในทะลายมะพร้าว  มะพร้าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera L. แต่มะแพร้วมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Cocos nucifera L.  var. spicata K.C.Jacob จะเห็นว่ามะแพร้วแตกต่างจากมะพร้าวเพียง variety เท่านั้น

หมายเหตุ

1. มะแพร้วมีโอกาสสูญพันธุ์ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

  • มะแพร้วติดผลน้อย เกษตรกรไม่นิยมปลูก ขาดแคลนผลแก่ที่จะทำพันธุ์
  • มะแพร้วมีโอกาสกลายพันธุ์กลับมาเป็นมะพร้าวหากได้ผสมข้ามกับเกสรเพศผู้ของมะพร้าว หากในบริเวณที่ปลูกนั้นมีต้นมะพร้าวปลูกอยู่แล้ว

2. หากสนใจอยากรู้จักต้นมะแพร้ว สามารถไปชมได้ที่

– วัดนางชีที่อยู่ใกล้วัดปากน้ำภาษีเจริญ

สวนหลวง ร.9   สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตำบลสระยายโสม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มี 2 ต้นซึ่งติดผลมา 3 ปีแล้ว

สรรพคุณของมะแพร้ว มีหลายประการดังนี้

1.ดื่มน้ำของมะแพร้วจะช่วยลดการกระหายน้ำ คลายร้อน รู้สึกสดชื่น ช่วยลดอาการบวมน้ำ มีส่วนในการเสริมสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ช่วยทำให้ผิวพรรณกระชับ ลดการเกิดริ้วรอย ช่วยรักษาอาการไอ ช่วยรักษาอาการอ่อนเพลียเนื่องจากการสูญเสียน้ำภายในร่างกายจากโรคท้องร่วง ช่วยรักษาอาการอาเจียนเป็นเลือด ช่วยรักษาอาการเมาค้าง ช่วยถอนพิษเบื่อเมา รักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยขับปัสสาวะ

2.น้ำและเนื้อของมะแพร้วมีวิตามินและแร่ธาตุอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ กรดอะมิโน แคลเซียม เป็นต้น

3.ดอกของมะแพร้วช่วยในการบำรุงโลหิต รักษาอาการเจ็บคอ ลดเสมหะ

4.น้ำของมะแพร้วสามารถฉีดเข้าเส้นเลือดได้ กรณีผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำหรือมีปริมาณเลือดน้อย

5.น้ำของมะแพร้วอ่อนมีปริมาณของสารที่เรียกว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน อยู่สูง ช่วยในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมได้ ช่วยป้องกันและรักษาการเกิดโรคหัวใจ

6.ใช้เปลือกหุ้มรากของมะแพร้วรักษาโรคคอตีบได้

7.ช่วยรักษาอาการระคายเคืองดวงตาโดยใช้เนื้อมะแพร้วอ่อนนำมาวางบนเปลือกตา

8.ใช้รากหรือจั่นน้ำของมะแพร้ว รักษาโรคไข้ทับระดู

9.การอมน้ำกะทิสดของมะแพร้วประมาณ 3 วันช่วยในการรักษาปากเป็นแผล ปากเปื่อย

10.รากของมะแพร้วใช้อมบ้วนปากเพื่อรักษาอาการเจ็บคอ

11.น้ำมันของมะแพร้วช่วยรักษาอาการปวดกระดูกและเส้นเอ็น ช่วยรักษาแผลติดเชื้อ แผลเรื้อรัง ใช้ทาผิวหนังใช้ทารักษาแผลที่เกิดจากไฟไหม้หรือแผลถูกน้ำร้อนลวกเพื่อป้องกันแสงแดดและทำให้ผิวชุ่มชื้นในหน้าหนาว

12.ใบของมะแพร้วใช้ต้มน้ำดื่มเพื่อรักษาโรคอีสุกอีใส

ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย

สาระเร็ว.COM