หางนกยูงสีทอง : พรรณไม้กลายพันธุ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

   คนทั่วไปจะรู้จักต้นหางนกยูง ซึ่งหมายถึงหางนกยูงฝรั่ง เป็นอย่างดีที่เป็นชนิดออกดอกสีแดงทั้งต้นในช่วงปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี นอกจากจะมีดอกสีแดงเข้มสวยงามไปทั้งต้นแล้ว ยังมีหางนกยูงฝรั่งสีแดงที่ลดความเข้มลงหลายระดับสี จนถึงสีส้มสวยงามหลายแบบเช่นกัน บางครั้งอาจพบต้นที่มีเหลือบสีบนกลีบใหญ่ของดอกด้วย ทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกัน จะติดฝักจำนวนมาก และมีเมล็ดที่สมบูรณ์สามารถนำไปขยายพันธุ์ปลูกได้อย่างแพร่หลาย

   ส่วน “หางนกยูงสีทอง”นั้นเป็นไม้กลายพันธุ์ มีความสวยงามโดดเด่นเป็นพิเศษ แปลกตามากสำหรับผู้พบเห็นเป็นครั้งแรก แต่ที่แตกต่างไปจากหางนกยูงฝรั่งชนิดเดิมที่กล่าวมาแล้วก็คือ “หางนกยูงสีทอง”จะติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักเป็นอาหารอันโอชะของกระรอก ที่เหลือรอดมาก็มักจะเป็นเมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก “หางนกยูงสีทอง”จึงไม่แพร่หลาย หาดูได้ยาก ต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นแทนการเพาะกล้าจากเมล็ด  ต้นพันธุ์“หางนกยูงสีทอง”จึงมีราคาสูงสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปปลูก

 

หางนกยูงสีทอง

ชื่อสามัญ  Golden Flame Tree

ชื่ออื่นๆ นกยูงทอง นกยูงเหลือง หางนกยูงฝรั่งสีทอง หางนกยูงสีเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Delonix regia (Bojer ex Hook) Raf.

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 8 – 12 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้างคล้ายร่ม ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อน สีครีมถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอนรอบโคนต้น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยขนาดเล็กเรียวยาวรูปขอบขนานออกตรงข้าม ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง และซอกกิ่งใกล้ยอด กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองทอง เฉพาะกลีบใหญ่ของดอกจะมีเหลือบสีขาวเป็นลายเส้นตามยาวทำให้เพิ่มความสวยงามให้ดอกได้อีก เกสรผู้ยาวโค้งขึ้นมาเหนือกลีบดอก ฝักเป็นลักษณะแบนยาว แห้งแล้วแตก กว้าง 3.54.5 ซม. ยาว 25-35 ซม. สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ปกติหางนกยูงสีทองจะติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักก็มักจะลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก

หมายเหตุ

1.“หางนกยูงสีทอง”เป็นพรรณไม้กลายพันธุ์ จึงติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักก็มักจะลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก “หางนกยูงสีทอง”จึงไม่แพร่หลาย จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น

2. การขยายพันธุ์“หางนกยูงสีทอง”  ทำได้ 2 วิธี คือ การเสียบยอด และทาบกิ่ง โดยใช้ต้นกล้าหางนกยูงฝั่งชนิดเดิมมาเป็นต้นตอ (root stock)  ส่วนการตอนกิ่งนั้นจะไม่ออกราก

3. ประโยชน์ของหางนกยูงฝรั่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และปลูกให้ร่มเงาเมล็ดหางนกยูงที่แก่จัดนำมาต้มให้สุกรับประทานได้ ปรุงเป็นอาหารคาวหวานได้ เป็นที่นิยมในสาธารณรัฐประชาชนลาว

4. ผู้สนใจจะไปชม“หางนกยูงสีทอง” ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถไปชมได้ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มี 6 ต้นหลายขนาด ที่สวนหลวงร.9  มีต้นขนาดเล็กเพียงต้นเดียว ที่วัดมะพร้าวเตี้ย มี 1 ต้นซึ่งมีขนาดเล็กไม่ติดฝักเลย

ขอบคุณ วิกิพีเดีย