บริบทและภูมิปัญญาท้องถิ่นของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

Local Wisdom of Local Rice in Prachinburi Province

 

ภัทรภร เอื้อรักสกุล1, วันทนี สว่างอารมณ์, Ph.D. 2,นายจรัญ ประจันบาล 3

1อาจารย์ สาขาวิชาชีววิทยา, 2รองศาสตราจารย์ สาขาวิชาชีววิทยา, 3อาจารย์ สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Pataraporn Uaraksakul1, Wantanee Sawangarom, Ph.D.2, Jaran Prajanban 3

1Lecturer, Biology Program, E-mail: [email protected]

2 Associate Professor, Biology Program, E-mail: [email protected]

3Lecturer, Microbiology Program, E-mail: [email protected], Faculty of Science and Technology, Bansomdejchaopraya  Rajabhat University

 

บทคัดย่อ

       การศึกษาภูมิปัญญาของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญาเกี่ยวกับการปลูกข้าวพื้นเมืองในจังหวัดปราจีนบุรี วิธีการศึกษาใช้การสืบค้น การสำรวจพื้นที่เพาะปลูกและการสัมภาษณ์เกษตรกรเพื่อศึกษาบริบทและภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองของจังหวัดปราจีนบุรี การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบข้าวพื้นเมืองจำนวน 6 สายพันธุ์ คือพลายงามปราจีนบุรี เหลืองอ่อน เขียวใหญ่ จินตหรา ขาวบ้านนา และเหลืองทอง ทั้งหมดเป็นข้าวเจ้านาปีที่ชาวนาเลือกปลูกอย่างต่อเนื่องมานานจากข้อดีคือ เป็นข้าวขึ้นน้ำ ทนโรค ทนแมลง ทนต่อสภาพแวดล้อม และมีลักษณะที่เหมาะสมกับพื้นที่ตามธรรมชาติ ปลูกและดูแลง่าย ผลผลิตดี มีตลาดรองรับ ราคารับซื้อมาตรฐาน อีกทั้งชาวนาส่วนใหญ่ปลูกบนพื้นที่ที่ตนเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ต้องเช่าทำกินต้นทุนโดยรวมจึงไม่สูง ขายได้กำไร  ข้าวพลายงามปราจีนบุรี และข้าวเขียวใหญ่ ซึ่งเป็นข้าวขึ้นน้ำได้มากและยืดตัวหนีน้ำได้เร็ว แต่เนื้อข้าวแข็งจึงนิยมส่งอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปทำแป้งเพื่อทำเส้นก๋วยจั๊บ เส้นขนมจีน และเส้นก๋วยเตี๋ยว ส่งขายนอกพื้นที่  ข้าวเหลืองอ่อนเป็นข้าวขึ้นน้ำแต่หนีน้ำได้ไม่ดีเท่าข้าวพลายงามปราจีนบุรี  ข้าวจินตหราเป็นข้าวนิ่ม รสชาติอร่อยคล้ายข้าวหอมมะลิ ที่สำคัญพบชาวนาผู้ปลูกข้าวขาวบ้านนาและข้าวเหลืองทองที่ใช้ภูมิปัญญาในการปลูก ดูแล และเก็บรักษาจนได้สายพันธุ์ที่ไม่กลายเพื่อใช้ปลูกต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 30 ปี  ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาได้แก่การทำขวัญข้าว การหว่านสำรวยคือหว่านแห้งให้เมล็ดข้าวรอฝน และหุ่นไล่กา อย่างไรก็ตามจากการปรับตัวของชาวนา เช่น การยกเลิกปลูกข้าวพื้นเมืองที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นที่นิยม ประกอบกับที่ปัจจุบันลูกหลานชาวนาส่วนใหญ่ไม่สนใจสานต่ออาชีพทำนา  ทำให้ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ที่เคยมีการบันทึกสูญหายไปจากพื้นที่

คำสำคัญ (Keywords):   ข้าวพื้นเมือง, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, Local Rice, Local Wisdom

 

บทนำ

       ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งต่อการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกสู่ตลาดโลก ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 54 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 9 ล้านไร่ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 23 ล้านตัน และ 6 ล้านตันตามลำดับ พันธุ์ข้าวที่ปลูกมีทั้งพันธุ์ที่ทางราชการส่งเสริมและข้าวพื้นเมือง (กรมการข้าว, 2551)

       ข้าวพื้นเมือง (Local Rice) หมายถึง พันธุ์ข้าวตามธรรมชาติที่กำเนิดจากการเพาะและคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ทนและเหมาะสมกับท้องที่โดยการคัดเลือกในท้องถิ่นเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีที่ปลูกแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อเพาะปลูกต่อ

       ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) หมายถึง ความรู้ของชาวบ้านที่เรียนรู้ หรือองค์ความรู้ ความเชื่อ ความสามารถของคนในท้องถิ่นหรือชุมชนในเขตจังหวัดปราจีนบุรีที่เกี่ยวข้องกับข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้สืบต่อมากันเป็นระยะเวลายาวนาน มีลักษณะเป็นองค์รวมและมีคุณค่าทางวัฒนธรรมสำหรับการดำรงชีวิต

       พันธุ์ข้าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอันดับแรกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต หากมีพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ ทั้งข้าวคุณภาพดี ข้าวคุณภาพปานกลาง ข้าวคุณภาพต่ำ และข้าวคุณภาพพิเศษที่ตรงกับความต้องการของตลาดและเพื่อทำผลิตภัณฑ์ พันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคแมลงและมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าวหรือเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้เป็นอย่างดีจากอดีตถึงปัจจุบัน สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้ดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่องจนได้ข้าวพันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ และพันธุ์ทั่วไป ให้เกษตรกรปลูกในระบบนิเวศน์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งพันธุ์ข้าวนาสวน ข้าวไร่ ข้าวขึ้นน้ำ ข้าวน้ำลึก ข้าวญี่ปุ่น และธัญพืชเมืองหนาว จำนวน 118 พันธุ์ เช่น พันธุ์ข้าวนาสวนไวต่อช่วงแสง 44 พันธุ์ พันธุ์ข้าวนาสวนไม่ไวต่อช่วงแสง 38 พันธุ์ พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง 6 พันธุ์ เป็นต้น พันธุ์ข้าวเหล่านี้มีทั้งชนิดข้าวเจ้าและข้าวเหนียว มีทั้งพันธุ์ที่ปลูกเฉพาะนาปีและปลูกได้ตลอดปี และมีบางพันธุ์เป็นข้าวหอม พันธุ์ข้าวส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญ มีคุณภาพการหุงต้มตามความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวยังคงต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะพันธุ์ที่ออกแนะนำแล้วปัจจุบันบางพันธุ์เกษตรกรอาจจะยังคงนิยมปลูกอยู่ แต่บางพันธุ์เกษตรกรอาจเลิกปลูก เนื่องจากมีข้อด้อยบางประการ การที่เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวเหล่านั้นไปใช้จึงเป็นไปในลักษณะของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะที่ออกพันธุ์ข้าวนั้นเท่านั้น รวมทั้งบางพันธุ์เมื่อแนะนำให้ปลูกไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วอาจไม่มีความเหมาะสมในระยะเวลาต่อมา เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หรือโรคและแมลงศัตรูข้าวมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องหาพันธุ์ที่มีคุณภาพดีตามความต้องการของตลาดโลก และมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกได้ จึงต้องดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์โดยไม่มีที่สิ้นสุด (สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว, 2551) ซึ่งการพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่ดี มีประสิทธิภาพ ให้ผลผลิตมากและมีคุณภาพเมล็ดที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งพันธุกรรมข้าวที่ดี ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีเนื่องจากมีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทยที่ผ่านการพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนาน สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของประเทศ ทั้งยังมีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเหมาะแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เนื่องจากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมีบางลักษณะเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นเป็นระยะเวลายาวนาน (www.brrd.in.th, 2557) จึงนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองสูญพันธุ์ไปโดยไม่มีการเก็บรักษาหรืออนุรักษ์พันธุกรรมไว้

       ดังนั้นนักวิจัยจึงมีความสนใจศึกษาวิจัยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป  โดยในขั้นต้นผู้วิจัยมีแนวคิดที่จะศึกษาข้อมูลด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่พบในเขตจังหวัดปราจีนบุรี

 

วิธีดำเนินการวิจัย

       เครื่องมือวิจัย

       แบบสอบถามเกี่ยวกับบริบทและภูมิปัญญาข้าวพื้นเมือง (เสถียร ฉันทะ. 2558) ประกอบด้วยประเด็นคำถาม ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลบริบทชุมชน การอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง การใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง เศรษฐกิจ ภูมิปัญญาด้านการปลูกการดูแลรักษา และวิถีชีวิตชาวนา

       วิธีการวิจัย

       สืบค้น สำรวจ และสอบถามเพื่อศึกษาบริบทและภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

       การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา(content analysis)

 

ผลการวิจัย

       ผลการลงพื้นที่ศึกษาในช่วงปลายพฤศจิกายน พ.ศ.2557 ถึงต้นธันวาคม พ.ศ.2558 พบพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวนายังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อเตรียมเพาะปลูกในกลางปี พ.ศ.2558 รวม 6 สายพันธุ์ คือ ข้าวพลายงามปราจีนบุรี ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเขียวใหญ่ ข้าวจินตหรา ข้าวขาวบ้านนา และข้าวเหลืองทอง ส่วนข้าวเหลืองรวย ข้าวขาวตาแห้ง รวมถึงข้าวอีกหลายพันธุ์ที่เคยพบมีการปลูกแต่ปัจจุบันพบว่ามีการเลิกปลูกหรือปลูกน้อยลงเนื่องจากความเหมาะสมต่อสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการคาดการณ์ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่นปริมาณน้ำฝน เป็นต้น

       1. ข้าวพลายงามปราจีนบุรี  มีการปลูกในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างของอำเภอประจันตคาม เป็นข้าวเจ้านาปี และเป็นข้าวหนัก มีคุณสมบัติการขึ้นน้ำได้มากและเร็ว สามารถยืดตัวหนีน้ำได้ 1.5 – 5 เมตร ไม่ต้องดูแลรักษามาก ทนโรคและแมลง ทนแล้งได้ จึงเหมาะกับพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขังสูงในฤดูน้ำหลาก นิยมปลูกแพร่หลายในหลายพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรี  ชาวนาจะมีเมล็ดพันธุ์ทั้งที่เพาะขยายพันธุ์เอง และซื้อพันธุ์มาจากผู้ค้าพันธุ์ข้าว

       การเก็บรักษาพันธุ์ข้าวกระทำโดยเก็บไว้ในกระสอบป่านวางบนแผ่นไม้ยกสูงจากพื้นดินในโรงเรือนหลังบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นโรงเรือนที่ไม่อับชื้น แสงแดดไม่มาก โดยผู้วิจัยได้รับพันธุ์ข้าวพลายงามปราจีนบุรีและพันธุ์ข้าวเหลืองอ่อนเพื่อใช้ศึกษาวิจัยในครั้งนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี พ.ศ.2558 ชาวนาดังกล่าวได้ตัดสินใจปลูกแต่ข้าวพลายงามปราจีนบุรี ไม่ปลูกข้าวเหลืองอ่อน เนื่องจากการคาดการณ์ระดับน้ำที่อาจสูงซึ่งข้าวเหลืองอ่อนมีคุณสมบัติยืดตัวหนีน้ำไม่ดีเท่าข้าวพลายงามปราจีนบุรี

       ขั้นตอนการปลูกข้าวนี้จะทำการหว่านแบบน้ำตมกล่าวคือ เตรียมเมล็ดด้วยการนำพันธุ์ข้าวห่อด้วยผ้านำไปแช่น้ำหนึ่งคืน จากนั้นนำห่อผ้าไปผึ่งลม 2 วัน โดยไม่ให้ผ้าแห้ง ซึ่งข้าวจะเริ่มงอกตั้งแต่วันที่สอง การเตรียมดินก่อนหว่านควรให้เป็นดินเลนจะดีมาก จากการช่วงกลางพฤษภาคมถึงกลางมิถุนายนในปี พ.ศ.2558 ฝนทิ้งช่วง หรือที่ชาวนาเรียกว่าฝนหลอก เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ คือฝนตกมาระยะหนึ่งแต่เมื่อชาวนาหว่านข้าวจนข้าวเริ่มงอก ฝนกลับหายไปจนกระทั่งข้าวที่งอกแห้งตาย กระทบต่อการงอกของข้าวหลังหว่านไปแล้ว จึงต้องสูญเสียต้นทุนการหว่านในครั้งแรก และจำเป็นต้องมีการหว่านแก้เป็นรอบที่ 2 โดยการหว่านครั้งที่ช่วงก่อนพืชมงคลจำนวน 3 ถัง/ ไร่ และ ครั้งที่ 2 หลังพืชมงคลอีก 3 ถัง/ ไร่ ทำให้ต้องเสียต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากข่าวการคาดการณ์สถานการณ์น้ำฝนที่พลาดทำให้มีการงดการปลูกข้าวเหลืองอ่อนซึ่งขึ้นน้ำไม่ดีเมื่อเทียบกับข้าวพลายงามปราจีนบุรี

       2. ข้าวเหลืองอ่อน  มีการปลูกในบางพื้นที่ของอำเภอประจันตคาม เป็นข้าวเจ้า ข้าวนาปี ขึ้นน้ำไม่มาก ชาวนาในเขตจังหวัดปราจีนบุรีปลูกมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันระดับน้ำสูง แต่ข้าวเหลืองอ่อนไม่หนีน้ำ จึงมีคนปลูกน้อยลงมาก และเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ ในปี 2558 จึงพบว่าไม่มีการปลูกข้าวพันธุ์เหลืองอ่อนในพื้นที่เดิมที่เคยปลูกมา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากกับที่เกษตรกรอธิบาย ว่าข้าวเหลืองอ่อน สู้แล้งและขึ้นน้ำไม่ดีเท่าข้าวพลายงามปราจีนบุรี ประกอบกับการคาดการณ์สภาวะอากาศของต้นปี พ.ศ.2558 พบว่าอาจมีความไม่แน่นอนของน้ำฝนชาวนาบางส่วนในพื้นที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวตามสถานการณ์จึงตัดสินใจเลิกปลูกข้าวเหลืองอ่อนเช่นกัน คงเหลือแต่ปลูกข้าวพลายงามปราจีนบุรีเต็มทั้งพื้นที่ ปัจจุบันพบว่าข้าวพื้นเมืองมีจำนวนลดน้อยลงเนื่องจากข้าวพื้นเมืองบางพันธุ์ไม่สามารถทนต่อแมลงศัตรูพืชได้ และปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ลักษณะของข้าวที่สามารถทนต่อแมลงศัตรูพืชได้ รวมถึงการปรับปรุงให้ได้เมล็ดข้าวที่มีสารอาหารตามที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นต้น

       3.ข้าวเขียวใหญ่  เป็นข้าวเจ้า นาปี พบมีการปลูกบนพื้นที่กว้างในหลายอำเภอ เช่น อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพ ปลูกข้าวพันธุ์นี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม ชาวนาในตำบลลาดตะเคียนเริ่มมีการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเขียวใหญ่โดยเก็บไว้ในส่วนกลาง โดยเริ่มมีการลงทะเบียนเกษตรกรที่ที่ว่าการตำบลลาดตะเคียนเพื่อขึ้นชื่อเป็นเกษตรกรข้าวพื้นเมือง และเริ่มมีโครงการเก็บพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชนิดต่างๆเอาไว้ที่เกษตรอำเภอของตำบลลาดตะเคียน  รวมทั้งเริ่มมีการทดลองคัดพันธุ์ข้าวเขียวใหญ่ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น  ข้อดีของข้าวเขียวใหญ่คือเป็นข้าวขึ้นน้ำ ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง มีลักษณะทรงกอแบะ  จากการสอบถามชาวนาต่างพื้นที่ได้รับข้อมูลที่ต่างกันคือ บางรายว่าเมล็ดข้าวเขียวใหญ่มีหาง แต่บางรายว่าไม่มีหางด้วยเหตุผลคือ หางนั้นเกิดจากการกลาย(mutation) ซึ่งพันธุ์ที่มีหางนี้ทนต่อสภาพแห้งแล้ง และยากต่อการกำจัดให้หมดจากพื้นที่ปลูก การมีหางนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านทำการเพาะปลูกลดน้อยลงเนื่องจากหางของเมล็ดข้าวติดตะแกรงในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว  อีกทั้งหากนำไปเป็นอาหารให้ไก่ หางของเมล็ดข้าวอาจติดคอเป็นเหตุให้ไก่ตายได้  อย่างไรก็ตาม พันธุ์ข้าวที่ได้รับจากชาวนาเพื่อนำมาทดลองปลูกในระดับปฏิบัติการนั้นเป็นข้าวเขียวใหญ่ชนิดที่เมล็ดมีหาง มีลักษณะการแตกกอประมาณ 5-6 กอ  ลักษณะของยอดแผ่นใบเป็นลักษณะตก

       การพัฒนาข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ที่ทนต่อสภาพแวดล้อม อาจส่งผลให้มีแนวโน้มปลูกข้าวเขียวใหญ่ลดลงเนื่องจากคุณลักษณะเมล็ดข้าวกล้องมีสีน้ำตาลอ่อน และเป็นข้าวที่ค่อนข้างแข็งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมารับประทาน ต้องผสมกับข้าวเจ้าชนิดอื่นๆ เพื่อรับประทาน ดังนั้นส่วนใหญ่จะส่งขายเพื่อทำการแปรรูป เช่น ทำเป็นแป้งเพื่อส่งทำเส้นก๋วยจั๊บ  เส้นขนมจีน  เส้นก๋วยเตี๋ยว โดยส่งขายนอกพื้นที่ปลูก

       4.ข้าวจินตหรา  พบมีการปลูกในบางพื้นที่ของอำเภอประจันตคาม เป็นข้าวนิ่มรสชาติอร่อยคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ไม่หอมเท่าข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวอีกพันธุ์หนึ่งที่นิยมรับประทาน แต่ไม่นิยมนำไปทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นขนมจีนดังเช่นข้าวอื่นที่ปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง แม้ว่ามีปัจจัยต่างๆไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำนา ความทนได้ของข้าวต่อสภาพแวดล้อมที่ผันผวนจากเดิม ประกอบกับที่ปัจจุบันมีข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุกรรมเข้ามาให้เลือกตามสภาวการณ์อย่างหลากหลาย  อย่างไรก็ตามชาวนาในพื้นที่ศึกษายังคงมีฐานะที่ไม่ลำบากเนื่องจากทำนาบนพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตนเองไม่ต้องเช่า  มีรายได้จากพืชที่ปลูกแซมตามคันนาเช่น มันเทศ มันสำปะหลัง กระถินณรงค์ กระถินเทพา รวมทั้งต้นยูคาลิปตัสที่ส่งทำเยื่อกระดาษ  รวมถึงการทำจักรสานเป็นอาชีพเสริมยามว่าง

       ปีพ.ศ.2558 พบมีการปลูกข้าวจินตหราน้อยลง เนื่องจากในแต่ละปีที่ผ่านมาทำการปลุกพันธุ์นี้แบบซ้ำๆ ทำให้ข้าวเกิดการกลาย มีข้าวปน เกิดปัญหาตามมาคือ ข้าวขาดความสมบรูณ์ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดจึงทำให้ข้าวจินตหราราคาถูก ได้ผลผลิตต่ำลง เกษตรกรบางรายจึงหาข้าวสายพันธุ์อื่นมาปลูกทั้งนี้ การปลูกข้าวในเขตพื้นที่นี้ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด

       5. ข้าวขาวบ้านนา  พบมีการปลูกในพื้นที่ของอำเภอบ้านสร้าง เป็นข้าวเจ้านาปี  ยืดตัวหนีน้ำได้  พบชาวนาที่ปลูกข้าวขาวบ้านนาต่อเนื่องบนพื้นที่เดิมมาตลอด 30 ปี ด้วยพันธุ์ข้าวที่ปลูกและเก็บรักษาพันธุ์เองเพื่อให้ได้พันธุ์ที่บริสุทธิ์ ไม่กลาย ไม่ปน โดยวิธี  การปล่อยให้ข้าวปนที่หลงเหลือในพื้นที่งอกไประยะหนึ่งก่อน แล้วกำจัด จากนั้นจึงหว่านข้าวที่ต้องการปลูก รวมทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวที่ดี เก็บพันธุ์เอง ปลูกข้าวพันธุ์เดิมนั้นในพื้นที่เดิม รวมถึงการมีระยะห่างจากข้าวพันธุ์อื่นเพื่อป้องกันการปนของละอองเรณูระหว่างพันธุ์  ดังวิธีที่ชาวนาเรียกว่า “เก็บรวงขาว ทิ้งรวงแดง” หมายถึง การกำจัดข้าวปน ข้าวดัด หญ้ารวงขาว และวัชพืชทิ้งเสมอ และข้าวที่จะเก็บทำพันธุ์ปีต่อไปจะเก็บช่วงท้ายๆของการสีข้าว เพื่อไม่ให้มีข้าวอื่นปน  จากนั้นนำมากองตากแดด 2-3 แดด เพื่อลดความชื้นและกันผุเสีย ใส่ในกระสอบป่าน เก็บในยุ้งโดยมีไม้รองพื้นกันชื้น สามารถใช้หว่านปลูกปีหน้าได้โดยไม่จำเป็นต้องตากแดดอีก โดยเก็บเกี่ยวช่วงต้น ม.ค. และหว่านต้น พ.ค คือช่วงวันพืชมงคล พิธีแรกนาขวัญจะทำเมื่อฝนแรก จะทำการะไถคราดดินแห้ง หว่านแห้ง ไถกลบ เพื่อรอฝนอีกครั้ง จากนั้นจะกักน้ำและคอยคุมประตูน้ำ รวมทั้งคอยสื่อสารกับนายด่านที่ควบคุมการปล่อยน้ำชลประทานเพื่อสำรองน้ำจากเขื่อนขุนด่านประการชลวันต่อวัน เพื่อปรับระดับน้ำที่ปล่อยมาตามเส้นทางชลประทาน  “หน้าดินต้องไม่เป็นหนัง หมายถึง ถ้ารอจนฝนมามากแล้ว หน้าดินจะเรียบเกินไป เมื่อหว่านแล้วเมล็ดข้าวจะไม่จม และไม่งอกติดดิน รากจะลอย หรืออาจถูกนกกินก่อนจะงอกเป็นต้น  ใส่ปุ๋ยสูตรกลางๆ 2 ครั้งคือ ระยะที่ “ข้าวขึ้นต้น” มีน้ำในนา และระยะที่ “ข้าวกำลังจะท้อง” คือช่วงออกพรรษา มีน้ำในนา สิ่งที่ต้องระวังคือ ระวังเกสรร่วงก่อนติดเมล็ด ในกรณีที่ฝนหรือลมแรงเกินไป  ด้านพิธีกรรมนั้นพบเพียงชาวนาที่อายุค่อนข้างมากที่ยังคงรักษาพิธีกรรมเดิมอยู่ คือ เมื่อเริ่มหว่าน จะจุดธูป 5 ดอก ไหว้เจ้าที่ พร้อมกล่าว “ฝากแม่นางธรณี อย่าให้มดแมงกวน ขอให้หญ้าเน่า ข้าวงาม ถ้าได้เกวียนจะเลี้ยงหัวหมูและเหล้า เลี้ยงเจ้าที่เจ้าทาง  เมื่อแม่โพสพจะแพ้ท้อง จะจุดธูป 5 ดอก พร้อมถวายส้ม กล้วย อ้อย พร้อมตาแหลวปัก ผูกผ้า3สี เมื่อจะเก็บเกี่ยว จะจุดธูป 5 ดอก กล่าวคำขออนุญาตบาปกรรมแม่โพสพ ขอตัดต้นตัดกอ ขออนุญาตแม่นางธรณี และเชิญแม่โพสพเข้าอยู่ในร่มในเงา

       6.ข้าวเหลืองทอง  พบมีการปลูกในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง เป็นข้าวเจ้านาปี ขึ้นน้ำ วิธีการในการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคล้ายคลึงกับชาวนาผู้ปลูกข้าวขาวบ้านนา ซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกัน

 

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับพิธีกรรมการเพาะปลูกข้าว

       พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก พิธีช่วงเพาะปลูก พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา และพิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว โดยพิธีกรรมก่อนการเพาะปลูกมีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวง บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษ พิธีช่วงเพาะปลูก มีเป้าหมายเพื่อบวงสรวงบนบาน บอกกล่าว ฝากฝังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าวหรือการเพาะปลูกแก่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้การเพาะปลูกข้าวดำเนินไปได้ด้วยดี ปราศจากอันตรายต่างๆ พิธีแรกไถนา พิธีเลี้ยงผีตาแฮก ตกกล้า พิธีแรกดำนา และพิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยวฉลองผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตมาก และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมกตัญญูต่อข้าว การปลูกข้าวจินตหรานี้จะทำการหว่านแห้ง โดยใส่ปุ๋ยพร้อมกับการหว่านเมล็ดพันธุ์ แต่จะไม่ใส่ปุ๋ยมากเกินไปเพราะจะทำให้ข้าวไม่ออกรวง ของการเก็บเกี่ยวจะเริ่มช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยใช้รถเกี่ยว จากนั้นนำข้าวเก็บไว้ในยุ้งฉาง และทำการทำขวัญข้าว

 

ข้อค้นพบของการวิจัย

       1. ชาวบ้านรับข้าวสายพันธุ์อื่นเข้ามา โดยหวังผลผลิตที่มาก และเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก จึงทำให้ข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองค่อยๆ หายไป การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวที่ทำมาตลอดคือการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ และคอยกำจัดข้าวปน คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบรูณ์  เพื่อจำหน่ายแก่ชาวบ้านที่ต้องการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง

       2. ในระดับผู้นำชุมชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะช่วยนำสายพันธุ์ข้าวเก็บไว้ เพื่อนำไปศึกษาต่อไป

       3. คติ ความเชื่อ ประเพณี หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกข้าวของชาวนาในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะไม่มีดังเช่นในอดีต เนื่องจากยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  ประกอบกับมีการจัดระบบชลประทานมิได้อาศัยเพียงน้ำฝนหรือแหล่งน้ำจากธรรมชาติ จึงไม่มียึดติดกับข้าวสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง แต่พร้อมปรับเปลี่ยนการปลูกตามความรู้และข้อแนะนำด้านวิชาการใหม่ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารกันเป็นระยะในองค์กรท้องถิ่น มีการรับรู้ข้อมูลทางการเกษตรที่รวดเร็วขึ้น มีการใช้เครื่องจักรในการเพาะปลูกเป็นหลักทั้งจากการซื้อเองหรือการเช่าเครื่องจักร การปลูกข้าวบนพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อส่งขายต่อให้อุตสาหกรรมการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือขนมจีน ยกเว้นในบางพื้นที่

       4. ชาวนาส่วนมากทำนาด้วยตนเองเป็นหลัก ยกเว้นงานบางส่วนจะจ้างคนมาช่วยทำบ้าง มีการใช้เครื่องจักรช่วยในการไถและเก็บเกี่ยว

       5. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวนา เช่น นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับราคารับซื้อข้าวซึ่งแตกต่างกันมากในแต่ละยุคการบริหารของภาครัฐ รวมถึงราคาเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อชาวนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้ในแต่ละปีที่ได้จากการทำนาไม่แน่นอน การเกิดภาวะน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากที่ป้องกันได้ยากเพราะพื้นที่ทำนาในจังหวัดปราจีนบุรีมีขอบเขตกว้างขวางมาก ในทางกลับกันส่วนที่อยู่นอกเขตชลประทานหรือที่ดอนก็ประสบปัญหาความแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ทำให้ได้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอและรายได้ไม่มั่นคง ดังนั้น ชาวนาจึงมีวิธีการรวมกลุ่มช่วยเหลือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ ในแต่ละเดือนจะมีการประชุมที่จังหวัด โดยมีตัวแทนจากหมู่บ้าน หมู่บ้านละอย่างน้อย 1 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อสื่อสารข้อมูลของแต่ละหมู่บ้านเกี่ยวกับเรื่องราคาปุ๋ย ราคาข้าว ค่าคนงาน เป็นต้น รวมถึงเพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ ที่พบเจอในการทำนา

       6. เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของเกษตรกร  ผู้ปลูกข้าว ข้าวขาวบ้านนาซึ่งเป็นข้าวขึ้นน้ำมาตลอด 30 ปี บนพื้นที่เดิมนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ดินเหนียว ผลผลิต 50-60 ถึง 80 ถังต่อไร่  หรือ 5 เกวียนต่อ 10 ไร่ ขายได้ราคา 5,000-8,500 บาท ถึง 13,000 บาทต่อเกวียน ขึ้นกับบางปี โดยโรงสีจะนำรถมารอรับซื้อริมคันนาทันทีที่เก็บเกี่ยวผลผลิต จึงไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เพื่อเก็บข้าวเพื่อรอขาย โดยเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อทำพันธุ์ต่อเองทุกปี ยกเว้นบางปีหากต้องซื้อพันธุ์จากเกษตร จะซื้อในราคาประมาณ 200 บาทต่อถัง การ “เก็บรวงขาว ทิ้งรวงแดง” หมายถึง จะคอยกำจัดข้าวปน ข้าวดัด หญ้ารวงขาว และวัชพืชทิ้งเสมอ ข้าวที่จะเก็บทำพันธุ์ปีต่อไป จะเก็บช่วงท้ายๆของการสีข้าว เพื่อไม่ให้มีข้าวปนซึ่งอาจมีข้าวของแปลงอื่นตกค้างที่คอสี  จากนั้นนำมากองตากแดด 2-3 แดด เพื่อลดความชื้นและกันผุเสีย ใส่ในกระสอบป่าน เก็บในยุ้งโดยมีไม้รองพื้นกันชื้น สามารถใช้หว่านปลูกปีหน้าได้โดยไม่จำเป็นต้องตากแดดอีก โดยเก็บเกี่ยวช่วงต้น ม.ค. และหว่านต้น พ.ค คือช่วงวันพืชมงคล ทั้งนี้ ที่ทำเช่นนี้ได้แม้จะทำนาเพียงคนเดียว เนื่องจากทำนาเพียง 10 ไร่ อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยที่มากแล้ว เริ่มมีปัญหาสุขภาพ และลูกๆมีอาชีพรับราชการที่จังหวัดอื่น จึงไม่ทราบว่าในอนาคตพื้นที่ที่ติดถนนคอนกรีตนี้จะถูกใช้ทำประโยชน์ใดต่อไป มีเครื่องสูบน้ำเป็นของตนเอง เพื่อใช้สูบน้ำขึ้นนา พิธีแรกนาขวัญเมื่อฝนมา เมื่อหน้าดินแห้ง จะไถคราด หว่านแห้ง ไถกลบ เพื่อรอฝนอีกครั้ง จากนั้นจะกักน้ำ และคอยคุมประตูน้ำ รวมทั้งคอยสื่อสารกับนายด่านที่ควบคุมการปล่อยน้ำชลประทานเพื่อสำรองน้ำจากเขื่อนขุนด่านประการชลวันต่อวัน เพื่อปรับระดับน้ำที่ปล่อยมาตามเส้นทางชลประทาน “หน้าดินต้องไม่เป็นหนัง หมายถึง ถ้ารอจนฝนมามากแล้ว หน้าดินจะเรียบเกินไป เมื่อหว่านแล้วเมล็ดข้าวจะไม่จม และไม่งอกติดดิน รากจะลอย หรืออาจถูกนกกินก่อนจะงอกเป็นต้น การให้ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยสูตรกลางๆ เช่น 14-14-14 หรือ 15-15-15 ให้ 2 ครั้งคือ ครั้งที่1 ให้ปุ๋ยระยะที่ “ข้าวขึ้นต้น” และมีน้ำในนา ปริมาณ 2ไร่ต่อลูก คือ ปุ๋ย 1 กระสอบต่อพื้นที่ 2 ไร่ ครั้งที่2 ให้ปุ๋ยระยะที่ “ข้าวกำลังจะท้อง” คือช่วงออกพรรษา มีน้ำในนา ปริมาณ 2ไร่ต่อลูก คือ ปุ๋ย 1 กระสอบต่อพื้นที่ 2 ไร่ เช่นกัน การที่ชาวนาไม่นิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจาก งานเยอะ คือ ต้องใช้แรงงานมาก ให้ผลช้า สิ่งที่ต้องระวังคือ ระวังเกสรร่วงก่อนติดเมล็ด ในกรณีที่ฝนหรือลมแรงเกินไป พิธีกรรม ชาวนารุ่นใหม่ไม่ค่อยมีพิธีเหล่านี้แล้ว เหลือแต่ชาวนาที่อายุค่อนข้างมากจึงจะยังคงรักษาพิธีกรรมเดิมอยู่ คือ เมื่อเริ่มหว่าน จะจุดธูป 5 ดอก ไหว้เจ้าที่ พร้อมกล่าว “ฝากแม่นางธรณี อย่าให้มดแมงกวน ขอให้หญ้าเน่า ข้าวงาม ถ้าได้เกวียนจะเลี้ยงหัวหมูและเหล้า เลี้ยงเจ้าที่เจ้าทาง…. ” เมื่อแม่โพสพจะแพ้ท้อง จะจุดธูป 5 ดอก พร้อมถวายส้ม กล้วย อ้อย พร้อมตาแหลวปัก ผูกผ้า 3สี เมื่อจะเก็บเกี่ยว จะจุดธูป 5 ดอก กล่าวคำขออนุญาตบาปกรรมแม่โพสพ ขอตัดต้นตัดกอ ขออนุญาตแม่นางธรณี และเชิญแม่โพสพเข้าอยู่ในร่มในเงา ข้าวที่มีปลูกช่วงพื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.ปราจีนบุรี กับ จ.นครนายก เช่น ข้าวขาวหลง ข้าวทองมาเอง ข้าวอยุธยา ข้าวเหลืองใหญ่ ข้าวขาวพวง แม้เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตดี แต่ข้าวที่กล่าวนี้เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่ลุ่ม คือค่อนข้างเป็นที่ดอน น้ำไม่มาก ดังนั้นที่ชาวนาในเขตปราจีนบุรีส่วนใหญ่ไม่ปลูกข้าวเหล่านี้ เนื่องจาก ไม่ทนโรค ไม่ทนต่อสิ่งแวดล้อม น้ำขึ้นหรือน้ำท่วมแล้วหนีไม่ทัน

       7. ปัญหาเรื่องข้าวปน มักเกิดจากการใช้เครื่องเกี่ยวรวมกัน จึงปนที่คอเกี่ยวข้าว ที่เช่าต่อกันมา นายชด คำแหง ป้องกันข้าวปนโดยจะให้เครื่องเกี่ยวข้าวเกี่ยวไประยะหนึ่งก่อน เพื่อให้ข้าวอื่นที่ค้างอยู่ในคอเกี่ยวข้าวออกหมดก่อน จึงเก็บเมล็ดข้าวที่จะใช้เป็นข้าวพันธุ์ต่อไป ข้าวปน เกิดได้จากการที่มีข้าวนกหรือข้าวแดงซึ่งหลุดร่วงจากรวงง่าย จึงยากต่อการกำจัดออกจากพื้นที่เพาะปลูก และการปล่อยให้ข้าวปนที่หลงเหลือในพื้นที่งอกไประยะหนึ่งก่อน แล้วกำจัด จากนั้นจึงหว่านข้าวที่ต้องการปลูก รวมทั้งการเลือกพันธุ์ข้าวที่ดี เก็บพันธุ์เอง ปลูกข้าวพันธุ์เดิมนั้นในพื้นที่เดิม รวมถึงการมีระยะห่างจากข้าวพันธุ์อื่นเพื่อป้องกันการปนของละอองเรณูระหว่างพันธุ์

 

สรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล

       โดยสรุปข้อดีของข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นข้าวนาปีคือ เหมาะสมกับธรรมชาติของพื้นที่เพาะปลูกที่น้ำลึกมาก  ไม่ต้องดูแลมาก วัชพืชมีน้อยมาก เพราะข้าวพื้นเมืองยืดตัวหนีน้ำได้ดีกว่า ต้นเอนบังแสงวัชพืช ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก หรืออาจใส่ครั้งเดียว คือ ใส่พร้อมกับช่วงหว่านข้าว หรือ ช่วงข้าวใกล้ตั้งท้องจะออกรวง  และเนื่องจากศัตรูพืชไม่มาก ไม่มีศัตรูพืชระบาด จึงไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง ต้นทุนโดยรวมจึงไม่มาก ไม่ว่าปลูกเร็วช้าแต่เมื่อถึงฤดูกาลน้ำถึงแดดดีก็จะออกดอกออกรวงตามเวลาปกติ และเนื่องจากการคมนาคมสะดวก ถนนหนทางพัฒนาดีเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงการที่ข้าวส่วนใหญ่จะมีโรงสีมารับซื้อทำเป็นแป้งเพื่อส่งทำก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นขนมจีนส่งขายในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย นับว่ามีตลาดที่ดีรองรับ  บางพื้นที่จึงมีการจองรับซื้อ และในหลายพื้นที่จะมีโรงสีจัดรถมารอรับซื้อถึงริมคันนาเพื่ออำนวยสะดวกต่อชาวนาด้วย จึงไม่ต้องจัดหาพื้นที่ หรือ ยุ้งฉาง รองรับข้าวที่เก็บเกี่ยวรอคนมาซื้อหรือส่งขาย จึงนับว่าเป็นการอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนการขนส่ง แม้ราคาขายไม่สูง แต่คำนวณกับต้นทุนซึ่งน้อยแล้ว จึงมีกำไรค่อนข้างดี จากการสัมภาษณ์พบว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกไม่ต้องเช่าทำกิน ส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวมีชีวิตที่มีความสุขดี ชาวนาจึงยังนิยมปลูกข้าวพื้นเมืองอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม พบว่า ลูกหลานชาวนาไม่นิยมทำนาเป็นอาชีพ และเริ่มมีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปล่อยเช่าทำนา หรือนำพื้นที่ไปทำรายได้อื่น ในอนาคตสถานการณ์การทำนาปลูกข้าวในบางพื้นที่จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย รวมถึงการปรับตัวของชาวนา โดยการยกเลิกปลูกข้าวพื้นเมืองที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นที่นิยมด้วยสาเหตุหลายประการ ทำให้ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ที่เคยมีผู้ศึกษาและบันทึกไว้ได้มีผู้ปลูกลดลง และหายไปจากพื้นที่ที่เคยพบ

 

กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ”ชุดโครงการข้าวพื้นเมือง” ประจำปีงบประมาณ 2558

นายมงคล  งามหาญ อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลเกาะลอย อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี

นางอารีรัตน์ มาลา ตัวแทนเกษตรหมู่บ้านและเป็นสมาชิกสภาเกษตรของหมู่บ้าน  อยู่ที่ 95 หมู่ 1 ตำบลบ้านหอย อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี (พิกัดบ้าน 47P 0775022   UTM 1551321) (พิกัดบ้าน 47P 0775022 UTM 1551321) เป็นชาวนาผู้ปลูกข้าวพันธุ์พลายงามปราจีนบุรี บนพื้นที่กรรมสิทธิ์ตนเองปีละ 80 ไร่ (พิกัดที่นา 47P 0774064 UTM 1550450)

นายมนตรี ซ้อยจำปา บ้านโคกกระท้อน  ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี (GPS :47P  0784117   UTM 1543579)

นายประดิษฐ์ พามั่น  บ้านโคกมะม่วง ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี (GPS :47 P 0788107    UTM 1543413) 

นายจำปี เข้าคลอง ผู้ใหญ่บ้านหนองคุ้มเบอร์  หมู่11 .คำโตนด  อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ศูนย์ดำรงธรรม (ศดธ..) (GPS :47 P0782264 UTM 1565774) ชาวนาผู้ปลูกข้าวจินตหราบนพื้นที่ 40 ไร่

นายฉลาง บัวดอก เจ้าของพื้นที่และผู้ให้พันธุ์ข้าวจินตหราเพื่อการศึกษาวิจัยอยู่ที่ 55 ม.11 ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

นายชด คำแหง อยู่ที่ 3/1 หมู่ 10 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง  จังหวัดปราจีนบุรี (Location  ±76ft       UTM 47      0739154  , 1553980) ทำนาบนพื้นที่นาของตนเอง 10 ไร่ (Location  ±12tf       UTM  47      P 0739144 ,1553959)

นายวิมล เนื่องจากอวน อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ 10 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง  จังหวัดปราจีนบุรี(Location ±18ft UTM 47  P 0739326, 1554225) ชาวนาผู้ปลูกข้าวเหลืองทอง

 

เอกสารอ้างอิง

กรมการข้าว. 2551. ข่าวเศรษฐกิจการเกษตร. แหล่งที่มา : http//human.rru.ac.th/icon/local-infor/rice.doc, 30 ตุลาคม 2551.

รัติกา ยาหอม และคณะ. (2548). ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบปักหลักในชุมชนปากคลอพันท้ายนรสิงห์. กรุงเทพมหานคร: โปรแกรมวิทยาศาสตร์ทั่วไปมหาวิทยาลัย ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

วิชิต นันทสุวรรณ. (2528).ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานพัฒนา วารสารสังคมพัฒนา.(5):6-11.

วีระพงษ์ แสงชูโต. (2544). การวิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีพื้นบ้านในทางวิทยาศาสตร์ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ธวัช ปุณโณทก. (2531). ภูมิปัญญาชาวบ้านอีสาน : ทัศนะของอาจารย์ปรีชา พิณทอง. ทิศทางหมู่บ้านไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมู่บ้าน.

เสถียร ฉันทะ. 2558. เอกสารประกอบการบรรยายการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเครื่องมือวิจัย

กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ”ชุดโครงการข้าวพื้นเมือง”.10-11 ก.พ.2558 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย