พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรา ชื่นวัฒนา*

ณิชานาฏ สอนภักดี**

* อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

** นิสิตสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

คำสำคัญ : การดูแลสุขภาพ/ ผู้ป่วยเบาหวาน


 

บทคัดย่อ

       การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน แรงสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ประชากรเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับการตรวจรักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นางและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน จำนวน 51 คน เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและไคว์สแควร์ (Chi-Square test, χ² )

       ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองโดยรวมอยู่ในระดับสูง การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน, การรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวาน, การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรค และการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคล ได้แก่ แรงสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัว, แรงสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยเบาหวานด้วยกัน และแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคลากรด้านสาธารณสุข มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Abstracts

       The purposes of this research were to study self-care behaviors of diabetic patients, and to investigate the relationship between the perception of the diabetes, social support on diabetic patients self-care behaviors. The population were the 51 of patients who took the medical care in the Diabetic Clinic Center at Bangmeanang Tambon Health Promoting Hospital and Ban-nongkangkhean Tambon Health Promoting Hospital. The data were collected by using questionnaire. Data were analyzed by using descriptive statistic and Chi-Square.

       The results of the study: The most diabetic patients had self- care behaviors in the high level. Perception of diabetes mellitus: risk perception of complications of diabetes mellitus, perceived severity of diabetes mellitus, benefits of their practice to controlling the disease and barriers of self- care for complication preventing from the disease that positively related to self-care behaviors of diabetes mellitus patients by statistic significance at the level of 0.05, and in part of social support: getting encouraging from family, diabetes mellitus friends and getting encouraging medical personnel that positively related to self-care behaviors of diabetes mellitus patients by statistic significance at the level of 0.05.

 

บทนำ

       โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของโลก เป็นภัยคุกคามที่ลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากข้อมูลสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ(international diabetes federation : IDF) ได้รายงานสถานการณ์ผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกแล้ว 285 ล้านคนและได้ประมาณการว่าจะมีจำนวนผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกเพิ่มมากกว่า 435 ล้านคน ในปี พ.. 2573

       ในประเทศไทยพบว่าประชากรไทยทุกๆ 100 คนจะมีผู้เป็นเบาหวานถึง 8 คนโดยคนที่มีอายุเกิน 35 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.6 คนที่อายุเกิน 65 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 18 สำหรับประเทศไทยและประเทศทางเอเชียนั้นมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 99 เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 หรือเบาหวานที่พบในผู้ใหญ่และไม่มีแนวโน้มในการเกิดภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโตน ในขณะที่ทางยุโรปและอเมริกามีผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เพียงร้อยละ 85 เท่านั้น(เทพ หิมะทองคา และคณะ, 2552)

       จากข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นางและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน ในปี 2554 – 2555 มีจำนวนการเพิ่มขึ้นในทุกปีคือ 34 คนและ 51 คน ตามลำดับซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน, 2556) และพบว่าผู้ป่วยยังไม่สามารถปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องและเกิดมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆซึ่งหากปล่อยให้มีการดำเนินโรคต่อไปอาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ยากแก่การป้องกันและแก้ไขตามมาด้วยดังนั้นผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาถึงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานการศึกษาครั้งนี้จะทำให้ทราบความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยการปฏิบัติและการปรับตัวด้านพฤติกรรมสุขภาพอย่างถูกต้องเพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

       1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานในตำบลบางแม่นางอำเภอบางใหญ่จังหวัดนนทบุรี

       2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแรงสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

วิธีดำเนินการวิจัย

1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

       ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับการตรวจรักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นางและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 51 คนโดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคน

2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

       เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จากการศึกษางานวิจัยต่างๆหนังสือที่เกี่ยวข้องมาดัดแปลงการสร้างเครื่องมือโดยมีเนื้อหาที่คลอบคลุมวัตถุประสงค์ของการวิจัยและประยุกต์ใช้แบบสอบถามของมงคลชัย แก้วเอี่ยม(2550), มนต์ธิรา ไชยแขวง (2548), ชนาธิป ศรีพรหม (2550), สมจิต แซ่จึง (2547) และนำตยา คงคามี (2549)

3. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้

       ใช้สถิติพรรณา ได้แก่ จำนวนความถี่ ค่าร้อยละ ทดสอบความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแควร์ (Chi-Square test)

 

ผลการวิจัย

       1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 68.63 มีอายุสูงกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 52.94 มีสถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 66.67 มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 72.55 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 21.57 มีรายได้อยู่ในช่วง 5,001 – 10,000 บาท ร้อยละ 41.18 มีแหล่งรายได้มาจากอาชีพของตัวเอง ร้อยละ 52.95 มีระยะเวลาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 0 – 5 ปี ร้อยละ 62.75 มีภาวะแทรกซ้อน โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 47.06

       2. การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีการรับรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 62.75 มีการรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 76.47 มีการรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 72.55 มีการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 74.51 การรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานภาพรวมพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานภาพรวมอยู่ในระดับสูง จำนวน 39 คน คิดเป็นร้อยละ 76.47

       3. แรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลในครอบครัวพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลในครอบครัวอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 66.67 ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อนบ้าน/เพื่อร่วมงาน/ผู้ป่วยเบาหวานด้วยกันอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 62.75 ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคลากรด้านสาธารณสุขอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 60.78 แรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลภาพรวมพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลภาพรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 68.63

       4. พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการควบคุมอาหารอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 50.98 พบว่า มีพฤติกรรมการออกกำลังกายอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 56.86 มีพฤติกรรมการการรับประทานยาหรือฉีดยาอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 52.94 มีพฤติกรรมดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 56.86 ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองภาพรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 54.90

       5. ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน แรงสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ความสัมพันธ์ของการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคและการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แรงสนับสนุนทางสังคม ได้แก่ แรงสนับสนุนจากบุคคลในครอบครัว แรงสนับสนุนจากเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานและผู้ป่วยเบาหวานด้วยกัน และแรงสนับสนุนจากบุคลากรด้านสาธารณสุขมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

อภิปรายผล

       จากการศึกษาพบว่า การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีการรับรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 62.75 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงจะมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดีการที่บุคคลมีการรับรู้โอกาสเสี่ยงหรืออันตรายต่อการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อน บุคคลนั้น ๆ จะมีความพร้อมที่จะปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้น (Rosen-stock, 1974 อ้างใน จาตุรงค์ ประดิษฐ์, 2540) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของเสียงสวรรค์ ทิพยรักษ์ (2549) ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองมากขึ้นสามารถปฏิบัติตนได้เหมาะสมกับสภาวะโรคที่เป็นอยู่ส่งผลให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำรงชีวิตอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข

       การรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 76.47 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่กล่าวว่าการที่บุคคลใด ๆ เชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นมีผลกระทบที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อร่างกายและบทบาททางสังคมของเขา จะเป็นแรงผลักดันให้มีพฤติกรรมการดูแลตนเองเพื่อป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากโรคนั้น ๆ (Rosen-stock, 1974 อ้างใน จาตุรงค์ ประดิษฐ์, 2540) ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่มีการรับรู้ความรุนแรงของโรคสูงจะส่งให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดีด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของชนาธิป ศรีพรหม (2550) การที่ผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองได้ก็จะนำไปสู่การดูแลสุขภาพตนเองที่ถูกวิธีก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้และที่สำคัญยังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขตลอดจนการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกตินั้นเป็นสิ่งสำคัญกับผู้ป่วยเบาหวานเป็นอย่างมาก

       การรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 72.55 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมงคลชัย แก้วเอี่ยม(2550) การรับรู้ถึงประโยชน์ของการดูแลสุขภาพตนเองจะส่งผลให้มีพฤติกรรมการปฏิบัติตนที่ดีการที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานรับรู้ผลดีและประสิทธิภาพของพฤติกรรมที่จะสามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้และวิธีการนั้นๆเป็นวิธีการที่ให้ประโยชน์แก่เขามากที่สุดจึงส่งเสริมให้เขามีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้องและเหมาะสม

       การรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 74.51 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของศิริพร ปาระมะ(2545)การที่ผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ว่าตนเองมีอุปสรรคในการปฏิบัติตนเป็นการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับปัจจัยหรือกิจกรรมต่างๆตามสภาพเป็นจริงที่ขัดขวางการมีพฤติกรรมสุขภาพอนามัยส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมอนามัยนั้นๆและบุคคลจะประเมินระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจ

การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคม ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลในครอบครัวอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 68.63 และมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของกาญจนา บริสุทธิ์(2553) การที่ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับคำแนะนำข้อมูลข่าวสารกำลังใจและการกระตุ้นเตือนจากบุคคลในครอบครัวเพื่อนบ้านเพื่อนร่วมงานผู้ป่วยเบาหวานด้วยกันและบุคคลากรด้านสาธารณสุขมีพฤติกรรมการดูแลตนเองดีสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องต่อไป

       พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยรวมอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 54.90 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการควบคุมอาหาร ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการควบคุมอาหารอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 50.98 การเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและในปริมาณที่เหมาะสม ตามหลักอาหารผู้ป่วยเบาหวาน คือ งดอาหารประเภทของหวานรับประทานผักได้ไม่จำกัดปริมาณ จำกัดอาหารพวกข้าว แป้งเนื้อสัตว์ และอาหารที่มีที่มีไขมันมากหากปฏิบัติตนในด้านอาหารได้ถูกต้องแล้วจะส่งผลให้มีสุขภาพดีขึ้นและระดับน้ำตาลในเลือดลดลง (จรรยา ธัญน้อม, 2550)

       ด้านการออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 56.86 ผู้ป่วยเบาหวานมีการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง มีการปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย บริหารเท้าด้วยการเขย่งนิ้วเท้า และออกกำลังกายครั้งละ 20 –30 นาที ช่วยทำให้การไหลเวียนเลือดทั่วร่างกายดีขึ้น ช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบแข็ง และทำให้รูปร่างดี ดัชนีมวลกายอยู่ในภาวะปกติ(จรรยา ธัญน้อม, 2550)

       ด้านการรับประทานยาหรือฉีดยา ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการการรับประทานยาหรือฉีดยาอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 52.94 ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับประทานยาหรือฉีดยาตามกำหนดเวลาปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดไม่ลดหรือเพิ่มขนาดยาเองและมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งจึงทำให้จึงสามารถปฏิบัติตนด้านการทำนยาได้อย่างถูกต้องและรับประทานยาได้อย่างถูกวิธีจนสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างดี

       ด้านการดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มีพฤติกรรมดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 56.86 การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้ป่วยเบาหวานจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดความห่วงใยในตนเอง ตระหนักและเอาใจใส่ตนเองมากขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมการดูแลตนเองโดยทั่วไปและดูแลตนเองด้านอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้น(พรทิวา อินทร์พรหม, 2539) ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานจัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแต่จะต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องสม่าเสมอเพื่อติดตามและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติการที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคเบาหวานและมาตรวจตามนัดทุกครั้งก็จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์พยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคเบาหวานสาเหตุอาการการรักษาตลอดจนการปฏิบัติตัวหรือการดูแลตนเองให้ถูกต้องและเหมาะสมกับภาวะโรคได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทำให้เกิดการรับรู้และตระหนักในปัญหาสุขภาพของตนเองอย่างสม่าเสมอมีความเชื่อมั่นในแบบแผนการรักษาของแพทย์ทำให้เกิดความห่วงใยในตนเองและเอาใจใส่ดูแลตนเองมากขึ้น

 

ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ

       1.1 การวิจัยครั้งนี้พบว่าการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานได้แก่การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนการรับรู้ความรุนแรงของโรคเบาหวานการรับรู้ผลดีของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานและการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวานจึงควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความรู้ที่เกี่ยวกับโรคเบาหวานภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองให้ดียิ่งขึ้น

       1.2 การวิจัยพบว่าแรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวและบุคคลในเครือข่ายต่างๆของชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน

2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

       2.1 การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงปริมาณทำให้ได้รับรายละเอียดไม่เพียงพอดังนั้นจึงควรมีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกร่วมด้วยเพื่อให้ได้รายละเอียดอย่างครบถ้วนและได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

       2.2 ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงผลในกลุ่มประชากรต่อไป

 

กิตติกรรมประกาศ

       ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่ให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ขอขอบคุณคุณผู้อานวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง และผู้อานวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พยาบาล เจ้าหน้าที่ และ อสม.ทุกท่านที่ช่วยนาเก็บข้อมูลและอานวยความสะดวกในการทำงานขอบคุณผู้ป่วยเบาหวานทุกท่านที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์และเสียสละเวลาในการตอบแบบสอบถามตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำวิจัยฉบับนี้ทุกท่านที่มิได้กล่าวนามณที่นี้

 

บรรณานุกรม

กาญจนา บริสุทธิ์. (2553). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน ศูนย์แพทย์เฉลิมพระเกียตริ 80 พรรษา เทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สุขศึกษา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

จาตุรงค์ ประดิษฐ์. (2540). ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการ ดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลกาแพงเพชร. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

จรรยา ธัญน้อม. (2549). ปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชนาธิป ศรีพรหม.(2550). พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานใน โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาการ สร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

เทพ หิมะทองคำและคณะ. (2552.ความรู้เรื่องเบาหวานฉบับสมบูรณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : วิทยพัฒน์.

นาตยา คงคามี. (2549). การพัฒนาการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับ บริการในโรงพยาบาลสิงห์บุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.

พรทิวา อินทร์พรหม. (2539). ผลการดูแลสุขภาพอนามัยที่บ้านต่อการรับรู้ความสามารถใน การดูแลตนเองและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยานิพนธ์ปริญญา พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล.

มนต์ธิรา ไชยแขวง. (2548). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

มงคลชัย แก้วเอี่ยม. (2550). การรับรู้และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลหนองกลางนา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี. รายงานการวิจัยโปรแกรมสุขศึกษา.

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง. (2556). ทะเบียนคลินิกโรคเบาหวานโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแม่นาง. นนทบุรี.

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน. (2556). ทะเบียนคลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองกางเขน. นนทบุรี.

ศิริพร ปาระมะ. (2545). ความเชื่อด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย เบาหวานโรงพยาบาลลี้ จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยา การศึกษาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมจิต แซ่จึง. (2547). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ เข้ารับการรักษาคลินิกโรคเบาหวานในโรงพยาบาลราชวิถี. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคาแหง.

เสียงสวรรค์ ทิพยรักษ์. (2549). การพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตำบลลานารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.