ขนุนสำปะลอ : ขนุนที่ไม่ใช่ขนุน

 

ความนำ

ขนุนสำปะลอ เป็นผลไม้ที่หาดูยากมาก ชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งอาจจะไม่เคยเห็นเลยก็ได้ เนื่องจากขนุนสำปะลอเป็นผลไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้น้อย บางคนอาจจะเคยเห็นต้นหรือผลของขนุนสำปะลอ แต่ผ่านเลยไปเพราะคิดว่าเป็น “สาเก” ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า “ขนุนสำปะลอ ก็น่าจะเป็นขนุนชนิดหนึ่ง รูปร่างหน้าตาก็น่าจะเหมือนขนุน

บทสรุปก็คือขนุนสำปะลอเป็น“สาเกที่มีเมล็ด” นั่นเอง ปกติแล้วสาเกจะไม่มีเมล็ด เมื่อผ่าผลสาเกก็จะพบว่าเป็นเนื้อล้วนๆ  ชาวบ้านก็นำมาปอกเปลือกออกแล้วนำมาเชื่อมหรือแกงบวด ก็จะได้ขนมหวานเนื้อเหนียวนุ่มอร่อย สาเกชนิดข้าวเหนียวจะทำขนมได้อร่อยกว่าสาเกชนิดข้าวเจ้า ส่วนผลของขนุนสำปะลอนั้นจะโตกว่าผลของสาเกเกือบเท่าตัว เปลือกผลมีหนามเหมือนขนุน น่าจะเป็นที่มาของชื่อที่มีคำว่า “ขนุน”ติดมาด้วย  เมื่อผ่าผลของขนุนสำปะลอ ก็จะพบเมล็ดขนาดหัวแม่มืออัดแน่นเต็มผล แต่ละเมล็ดก็มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน  ชาวบ้านจะนำเมล็ดของขนุนสำปะลอมาต้มกินหรือเผากินกับน้ำตาลทราย เป็นของกินเล่นในครอบครัว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของขนุนสำปะลอ

ชื่อไทย ขนุนสำปะลอ

ชื่อสามัญ Breadfruit

ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus altilis  Fosberg

ชื่อวงศ์ MORACEAE

 

   ขนุนสำปะลอ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 8 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลเข้มผิวเรียบ  ทรงพุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว ใบใหญ่หนา สีเขียวเข้ม หน้าใบมันวาว ปลายใบแหลมคม ริมใบหยักลึกหลายหยัก แต่ละหยักไม่เท่ากัน  ลักษณะคล้ายใบสาเก มีใบจำนวนมาก ทำให้ทรงพุ่มแน่นทึบ ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้เป็นแท่งยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ห้อยลง ส่วนช่อดอกเพศเมียรูปร่างกลม ออกดอกช่วงปลายฤดูฝน ผลกลมยาว สีเขียว ผิวผลมีหนามเหมือนขนุน เมื่อแก่เต็มที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผล 12-16 เซนติเมตร ผลยาว 16-22 เซนติเมตร เมื่อสุกจะร่วงลงมา มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาด 2x3 เซนติเมตร

 

ประโยชน์

1.บริโภคส่วนเมล็ดโดยนำมาต้มหรือเผา รสชาติคล้ายเมล็ดขนุนหรือเก๋าลัดจีนรวมกัน

2.นิยมปลูกไว้เป็นไม่ร่มเงาในบ้านหรือสวนสาธารณะเพราะทรงพุ่มและใบมีความสวยงามนอกจากกินเมล็ดแล้ว ไม่มีการปลูกเพื่อเศรษฐกิจ

 

  

ภาพเปรียบเทียบผลสาเกกับ ขนุนสำปะลอ

 

ภาพ ขนุนสำปะลอ