การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย

Curriculum Development & Education Management

นายจิตตวิสุทธิ์ วิมุตติปัญญา และคณะ


แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย (Curriculum Development & Education Management)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือใช้ประกอบการเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 255๘

ข้อมูลเพิ่มเติม : จัดพิมพ์โดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พิมพ์ที่บริษัท 21 เซนจูรี่ จำกัด กรุงเทพฯ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายจิตตวิสุทธิ์ วิมุตติปัญญา และคณะ ตำแหน่งอาจารย์คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : หลักสูตรเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการจัดการศึกษาทุกระดับ เพราะเป็นตัวกำหนดหรือกรอบของแนวปฏิบัติที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมาย หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระที่จัดให้ผู้เรียน เป็นเอกสาร เป็นกิจกรรม เป็นมวลประสบการณ์และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ในตัวหลักสูตร 4 องค์ประกอบ มี 3 ประเภท คือ หลักสูตรเนื้อหาวิชา หลักสูตรแกนและหลักสูตรกิจกรรม หลักสูตรที่ดีต้องสอดคล้องกับความสนใจ ความต้องการของผู้เรียนและหลักสูตรพัฒนาการด้านพุทธพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัย

   ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อนักพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎีจะบอกให้ทราบปรากฏการณ์ต่างๆ ของหลักสูตรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และยังช่วยจัดระเบียบข้อมูลจำนวนมากที่ได้จากการวิจัย ทฤษฎีหลักสูตรมี 2 ลักษณะ คือ ทฤษฎีการออกแบบหลักสูตร (Design Theories) กับทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร (Engineering Theories)

   ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างหลักสูตรการศึกษาไทยมี 3 ส่วน คือ การกำหนดจุดประสงค์ เป็นสิ่งคาดหวังในระดับโรงเรียนและสามารถวัดได้ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัย เกณฑ์การเลือกเนื้อหาเน้นความเป็นประโยชน์ ความสนใจของผู้เรียน และการพัฒนาการของมนุษย์ ด้านการพัฒนาหลักสูตรโดยเฉพาะกระบวนการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ พื้นฐานด้านปรัชญา ด้านจิตวิทยา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านสังคม การจัดการศึกษาไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน จัดเป็น 2 รูปแบบ คือ การจัดการแบบโบราณกับการจัดการศึกษาแบบใหม่หรือการจัดการศึกษาแบบปัจจุบัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 15 ได้กำหนดการจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาไทย มีสาระเนื้อหาที่สำคัญตั้งแต่ คำว่าหลักสูตรมาจากภาษาอังกฤษว่า Curriculum สรุปว่าหลักสูตร คือ สิ่งที่สร้างขึ้นในลักษณะของรายวิชาซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระที่จัดเรียงลำดับความยาก ง่าย หรือเป็นขั้นตอน และเป็นประสบการณ์ทางการเรียนที่วางแผนล่วงหน้า เพื่อมุ่งหวังให้เด็กได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ต้องการ

   หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญการจัดการศึกษา เพราะหลักสูตรเป็นเครื่องมือในการแปลงจุดมุ่งหมายและนโยบายทางการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ดังนั้นหลักสูตรจึงจัดเป็นตัวกำหนดในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ตามที่สังคมต้องการ

   คำศัพท์เกี่ยวกับหลักสูตร ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร (Curriculum Development) คือ การจัดทำเนื้อหาใหม่กับปรับหลักสูตรเดิมใหม่ ฯลฯ เป็นต้น หลักสูตรมีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ วัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุประสงค์เฉพาะเนื้อหา จำนวนชั่วโมงสอนแต่ละวิชา วิธีการจัดการเรียนการสอน หรือนำหลักสูตรไปใช้และวิธีการประเมินผล หลักสูตรสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท คือ หลักสูตรเนื้อหารายวิชา (Subject Curriculum) หลักสูตรแกน (Core Curriculum) และหลักสูตรกิจกรรม (Activity Curriculum) การจัดประเภทของหลักสูตรขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของนักวิชาการแต่ละท่าน โดยการจำแนกตามบริบทและตามเป้าหมายของการจัดการศึกษาของแต่ละกลุ่ม

   หลักสูตรเนื้อหาวิชา เป็นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชา สาระและความรู้ของวิทยาการต่างๆ เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ หลักสูตรหมวดวิชาแบบกว้างมีการผสมผสานความรู้โดยรวมวิชาต่างๆ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมารวมกัน เช่น หลักสูตรการศึกษาไทย หลักสูตรสัมพันธ์จัดทำเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนความสัมพันธ์ของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกัน เอาเนื้อหาของรายวิชาต่างๆ สอดคล้องกันเชื่อมโยงกัน หลักสูตรแบบแกน เป็นแกนร่วมกันจากเนื้อหา ความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนเข้าด้วยกัน

   หลักสูตรเอกัตบุคคล จัดทำเพื่อสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน ส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้เรียน สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายเพราะยึดหลักปรัชญาสวภาพนิยม ส่วนหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ หลักสูตรที่เน้นผู้เรียน เช่น วิชาภาษาไทย จัดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนทุกคนทุกกลุ่ม ครูสามารถสอนได้หลายรูปแบบ นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม เน้นกิจกรรมกระบวนการทางสังคมและการดำรงชีวิต ยึดปรัชญาพิพัฒนาการนิยมและปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูให้คำปรึกษา สอดคล้องกับหลักสูตรประสบการณ์หรือหลักสูตรแบบกิจกรรมและประสบการณ์ หลักสูตรกระบวนการและหลักสูตรเกณฑ์ความสามารถ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียนในด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และเจตพิสัย เพื่อพัฒนาผู้เรียนและสังคม

   การสร้างหลักสูตรแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ทฤษฎีการออกแบบ (Design Theories) และทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร (Engineering Theories) ทฤษฎีการสร้างหลักสูตรของนักการศึกษาต่างประเทศ ได้แก่ Roph W. Tylor เสนอว่าหลักสูตรมาจาก 3 แหล่งคือ ทางสังคม ทางผลเรียนและทางผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหา หลักสูตรรอง Hilda Taba เสนอรูปแบบหลักสูตร 4 ส่วน คือ จุดประสงค์เลือกประสบการณ์ จักหลักสูตรและเรียงลำดับเนื้อหาและหลักสูตรของ U. Galen Saylor , William Alexander and Arthur J. Lewis เสนอกระบวนการจัดทำหลักสูตรควรตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับเป้าหมายและจุดประสงค์ กับผู้เรียนและลักษณะทางสังคม

   ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรให้พิจารณาจาก

1) พื้นฐานด้านปรัชญา ประกอบด้วย ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม ปรัชญาสารัตถนิยม ปรัชญาพิพัฒนนิยม และปรัชญาปฏิรูปนิยม

2) พื้นฐานด้านจิตวิทยา เกี่ยวกับความแตกต่างของผู้เรียนทั้งด้านวุฒิภาวะทางร่างกาย สังคมและจิตใจ

3) พื้นฐานด้านความต้องการและความสนใจของผู้เรียน สืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม สภาพการเรียนของนักเรียนและความมุ่งหมาย

4) พื้นฐานทางด้านสังคม คือ การอนุรักษ์ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่คนรุ่นหลังและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้เข้ากับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

   หลักการพัฒนาหลักสูตร ประกอบด้วย กระบวนการพัฒนา 4 ขั้นตอน คือ เป้าหมาย / วัตถุประสงค์และความครอบคลุมการออกแบบหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผลหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้เป็นการนำไปปฏิบัติเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง โดยยึดหลักสำคัญ ดังนี้

1. ต้องวางแผนเตรียมการ

2. ต้องมีองค์คณะบุคคลส่วนกลางหรือท้องถิ่น

3. การนำหลักสูตรไปใช้อย่างเป็นระบบตามขั้นตอน

4. ต้องมีปัจจัยสำคัญ คือ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เอกสาร

5. ครู คือ บุคลากรที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ ฯลฯ เป็นต้น

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญของหนังสือ : จากเนื้อหาและข้อมูลพบว่า หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่น / ความน่าสนใจมาก อาทิเช่น การสร้างหลักสูตรที่เป็นพื้นฐานด้านสังคมดีมาก เพราะการศึกษาทำหน้าที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคมไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสังคม ค่านิยมคนในสังคม ธรรมชาติของคนในสังคม การชี้นำสังคมในอนาคต ลักษณะของสังคมตามความคาดหวังและศาสนาและวัฒนธรรม

   การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของประเทศในการพัฒนาประชาชนให้เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ มีศักยภาพ และยังช่วยคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อจัดการศึกษาในอนาคต เช่น การศึกษาของไทยเริ่มตั้งแต่โบราณ ในรัชสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้อน เป็นต้น โดยเฉพาะการศึกษาแผนใหม่ถึงปัจจุบันเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคนปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่จึงเป็นแผนการศึกษาฉบับแรกของไทย โดยเฉพาะในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์การศึกษาไทยที่เชื่อมโยงกับภารกิจ ค่านิยมและความเชื่อเข้าด้วยกัน สาระของวิสัยทัศน์ คือ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นคนดี มีความสุข มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันในเวทีโลก

   พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 4, มาตรา 6, มาตรา 8, มาตรา 9, มาตรา 10, มาตรา 16, มาตรา 17, มาตรา 24, มาตรา 47 – 51 และมาตรา 53

การนำไปใช้ประโยชน์ : หนังสือเล่มนี้สามารถนำไปใช้สอนวิชาชีพครู โดยเฉพาะวิชาการศึกษาทั่วไปด้วย เพราะผู้ที่จะเป็นครูจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องหลักสูตร การจัดการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นครูก็สามารถนำไปใช้กับการปฏิบัติงานประจำวันการสอน การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แม้แต่ผู้ที่จะศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา สายวิชาชีพครู

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดระบบการศึกษาไว้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาอัธยาศัย การศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษาปกติเรียน 6 ปี และระดับมัธยมศึกษา 2 ระดับ คือ มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย

   หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย มีแนวคิดและหลักการจัดดังนี้ คือ เกี่ยวกับการพัฒนาการเด็ก การเล่นของเด็ก เป็นต้น หลักการจัดต้องสร้างหลักสูตรให้เหมาะสม จัดสภาพแวดล้อมเอื้อเฟื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก สอนแบบบูรณาการการเรียนรู้ ประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กและความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับผู้เลี้ยงเด็ก

โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย (สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี )

โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 3 – 5 ปี
ช่วงอายุ 3 – 5 ปี ประสบการณ์สำคัญ สาระการเรียนรู้
สาระการเรียนรู้

– ด้านร่างกาย
– ด้านอารมณ์และจิตใจ
– ด้านสังคม
– ด้านสติปัญญา

  • เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก
  • เรื่องราวเกี่ยวกับบุคลและสิ่งแวดล้อม
  •  ธรรมชาติรอบตัว สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก

ระยะเวลาเรียน

ขึ้นอยู่กับอายุเด็กที่ดูแลและความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร