การดูละครไทยให้เกิดมโนทัศน์และสนุกสนานนั้น นอกจากเนื้อหาแล้ว กระบวนท่ารำนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความอิ่มเอมทางอารมณ์ต่อการชมครั้งหนึ่งๆ อันจะประเทืองความรู้จากการตีบทนั้นด้วยลีลาท่ารำ

    นักดูละครไทย และนักวิชาการทางการละคร ต้องติดตาม “ดุษฏี ซังตู และ สมภพ สมบูรณ์” วิเคราะห์กระบวนท่ารำได้อย่างชัดเจนจากละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ใน….

กระบวนท่ารำพลายชุมพลแต่งตัว

The Artfulness of Dancing Gestures of Phlai Chumphon Taeng Tua

ดุษฎี  ซังตู / Miss. Dutsadee Sangtoo

อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา

และ

นายสมภพ  สมบูรณ์ / Mr. Sompop Somboun

บัณฑิตสาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา

แขนงวิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทคัดย่อ

       การรำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการรำเดี่ยวที่อยู่ใน ละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ  ในตอนนี้ได้กล่าวถึงพลายชุมพล จะออกไปทำศึกกับพระไวย โดยปลอมตัวเป็นมอญไปออกรบกับพระไวย เพื่อหวังคิดแก้แค้นที่พระไวยเคยมีวาจาล่วงเกินตน ใช้ทำนอง เพลงมอญดูดาวประกอบถึงเนื้อเรื่องบรรยายถึงการแต่งตัว แสดงให้เห็นถึงความองอาจสง่างามของ ตัวละครพลายชุมพล

       การรำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการร่ายรำในแบบมอญ  จุดสำคัญอยู่ที่การตีไหล่ออกเป็นการแสดงท่าทางที่สง่าผ่าเผย การตีไหล่ออกเป็นเลขแปดจะมีท่วงท่าลักษณะของความอ่อนช้อย นุ่มนวล ซึ่งจะแตกต่างจากการตีไหล่แบบพม่าโดยพม่าจะตีไหล่เป็นแผงๆ  ในการรำชุดพลายชุมพลแต่งตัวนั้นจะมีการใช้อาวุธประกอบการแสดงคือ ม้า หอก ม้าที่ใช้ในการแสดงคือ ม้าแผง ม้ากะเลียว ตัวม้าสีเขียว ทำจากหนังวัวแกะสลัก การติดม้าจะติดอยู่ที่เอวด้านขวา ของผู้แสดง ผู้แสดงจะทำท่ากระโดดไปมาจะเป็นไปตามกิริยาของม้า ประหนึ่งว่าเป็นเท้าม้า เมื่อมีการใช้อาวุธประกอบการแสดง     ผู้แสดงควรถ่ายทอดอิริยาบถให้คล้ายกับการที่เราขี่ม้าอยู่จริง ส่วนท่อนบนก็แสดงกระบวนท่ารำตามบทบาทที่ได้รับ ส่วนการใช้หอก  ประกอบการแสดงนั้นคือ หอกสัตโลหะ กระบวนท่าของการรำที่ใช้หอกนั้น  จะมีการโยนหอก  รับหอก  ควงหอก  ผู้ที่ใช้หอกสัตโลหะนั้นจะต้องมีความชำนาญ และสามารถถ่ายทอดการใช้อาวุธได้อย่างทะมัดทะแมง และสมบทบาท

ABSTRACT

       Dance of Phlai Chumphon Taeng Tua is a pas seul (or Solo dance). It was taken from Lakhon Sepha, a Thai recital, titled Khun Chang Khun Paen, the episode “Phra Wai’s Defeat”. It describes Phlai Chumphon’s preparation for the war with Phra Wai by disguising as a Mon in order to revenge Phra Wai because Phra Wai once offensively spoke to him. The melody of Mon Do Dao is used together with story to describe the dressing of Phlai Chum Phon representing the knightly and dignified appearance of the dance.

       Dance of Phlai Chumphon Taeng Tua is the dance in Mon style. The significant point is to open shoulders to show knightly and dignified appearance. Opening shoulders like figure 8 shows the delicate and gentle appearance which is different from opening shoulders like Burmese style, which the shoulders open. In the Dance of Phlai Chumphon Taeng Tua, weapons are used as props of the play, such as horses and spears. Horses used for the play are Phaeng horse and Kaliew horse. The horse is green and made of carved cowhide. When performed, the horses attached to the right waist of the performer. The performer would jump back and forth like the gesture of horses. When weapons are used for the play, performers should transmit the movement as if they are riding the horses. For the upper part of the performer’s body, the dance will be dependent on the assigned roles. The spear used in the performance is called Satta Loha Spear (or seven-iron Spear). The artfulness of dancing gesture by using the spear is various and there are many gestures, i.e. throwing spear, taking spear and swinging spear. The performer who uses the Satta Loha spear must be skillful and able to present the gesture of using this weapon smartly and appropriately to the assigned role.

บทนำ

       รำพลายชุมพล เป็นการรำเดี่ยวที่อยู่ในละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ กล่าวถึงพลายชุมพลจะออกไปทำศึกกับพระไวย โดยปลอมตัวเป็นมอญไปออกรบกับพระไวย เพื่อหวังคิดแก้แค้นที่พระไวยเคยมีวาจาร่วงเกินตน ใช้ทำนองเพลงมอญดูดาวประกอบบรรยายถึงการแต่งตัว แสดงให้เห็นถึงความองอาจสง่างามของตัวละคร รำพลายชุมพลนี้จุดสำคัญอยู่ที่การตีไหล่ เพราะการใช้ไหล่ในท่าทางของมอญนี้จะต้องตีไหล่ออก เสียส่วนมากและเป็นท่ารำที่เรียกว่า โก้เก๋ ฉะนั้นผู้รำตัวพลายชุมพลจึงประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายคน การรำในตัวพลายชุมพลนี้กระบวนท่าเป็นการแต่งตัวมีการใช้อาวุธมีความทะมัดทะแมงเพลงที่ใช้ประกอบมีจังหวะที่กระชับและสนุกสนาน

       รำพลายชุมพล เป็นการแสดงชุดหนึ่งซึ่งอยู่ในละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน พระไวยแตกทัพโดยเฉพาะ ตอนที่พลายชุมพลแต่งตัวเป็นมอญ ซึ่งมีเนื้อเรื่องโดยย่อว่า ขุนแผนได้คบคิดกับลูกชาย คือพลายชุมพล ลูกชายของตนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากนางแก้วกิริยาธิดาเจ้าเมืองสุโขทัย และนัดแนะอุบายให้พลายชุมพล ปลอมตนเป็นมอญใหม่ ยกทัพหุ่นยนต์ ทำที่ให้ข่าวระบือไปว่ามอญใหม่ ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ความจริงเป็นศึกแก้แค้นระหว่างสมาชิกครอบครัวเดียวกัน หรือถ้าจะกล่าวให้ตรงก็คือ ศึกแก้แค้น ระหว่างพ่อลูก(ขุนแผนกับพระไวย)

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อศึกษาบทบาท ลีลาท่าทางของการรำพลายชุมพล

ประวัติความเป็นมา

       รำพลายชุมพล  เป็นการแสดงชุดหนึ่งซึ่งอยู่ในละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน พระไวยแตกทัพ  โดยเฉพาะตอนที่พลายชุมพลแต่งตัวเป็นมอญ  ซึ่งมีเนื้อร้องโดยย่อว่า  ขุนแผนได้คบคิดกับลูกชายคือพลายชุมพล  ลูกชายของตนอีกคนหนึ่ง  ซึ่งเกิดจากนางแก้วกิริยา  ธิดาเจ้าเมืองสุโขทัย  นัดแนะอุบายให้พลายชุมพลปลอมตนเป็นมอญใหม่ยกทัพหุ่นพยนต์  ทำที่ให้ข่าวระบือไปว่าพวกมอญใหม่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  แต่ความจริงเป็นศึกแก้แค้นระหว่างสมาชิกในครอบครัวเดียวกันเอง  หรือถ้าจะกล่าวให้ตรงก็คือ  ศึกแก้แค้นระหว่างพ่อกับลูก (ขุนแผนกับพระไวย)  การแสดงรำพลายชุมพลแต่งตัวมีความนิยมมาจัดการแสดงกันอย่างแพร่หลาย

รูปแบบและลักษณะการแสดง

       รำพลายชุมพลเป็นการแสดงที่อยู่ในละครเรื่องขุนช้างขุนแผน  แต่เนื่องจากมีผู้นิยมนำมาแสดงเป็นเอกเทศ  และได้รับความนิยมมา  กระบวนท่ารำทะมัดทะแมง  เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงก็สนุกสนานรวดเร็ว  ผสมผสานท่ารำในลักษณะต่างๆ  เช่นกระบวนท่าตีไหล่ออกเป็นการรำที่เรียนว่า โก้เก๋  กระบวนท่ารำหอก และกระบวนท่ารำขี่ม้า เป็นต้น

              การรำแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่างๆ  ได้ดังนี้

                     ขั้นตอนที่ 1  รำออกตามทำนองเพลงมอญดูดาว

                     ขั้นตอนที่ 2  รำตีบทตามบทร้องเพลงมอญดูดาว

                     ขั้นตอนที่ 3  รำรับท่าตรงทำนองรับ

                     ขั้นตอนที่ 4  รำตามทำนองเพลงมอญดูดาว

                     ขั้นตอนที่ 5  รำเข้าตามทำนองเพลงม้าย่อง

       การรำในชุด  “รำพลายชุมพลแต่งตัว”  นี้  จุดสำคัญอยู่ที่การใช้ไหล่  เพราะการใช้ไหล่ในท่าของมอญนี้จะต้อง  “ตีไหล่ออก”  เสียส่วนมาก  และเป็นการรำที่เรียกว่าโก้เก๋  ฉะนั้นผู้ที่รำพลายชุมพลจึงมีประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายคน

ภาพที่ 1 การตีไหล่ออก

ดนตรีและเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง

       ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมแต่เปลี่ยน  ขลุ่ย เป็นปี่มอญ  และเพิ่มตะโพนมอญ และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง คือ  เพลงมอญดูดาว  และเพลงระบำม้า

       เพลงพญาลำพอง เพลงอัตราจังหวะสองชั้น   ทำนองเก่า   ใช้ประกอบการแสดงละคร  เช่น  บรรจุในบทละครเรื่องพญาผานอง  บทของกรมศิลปากร

       เพลงมอญดูดาว เพลงอัตราจังหวะสองชั้น  ทำนองเก่า  เป็นเพลงสำเนียงมอญใช้หน้าทับสองไม้กำกับอัตราจังหวะ  เพลงนี้ใช้ประกอบการแสดงละคร  และประกอบลีลาท่ารำในละครเรื่อง  ขุนช้างขุนแผนเรียกรำพลายชุมพล  ต่อมาเมื่อ  พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงนำเพลงนี้ไป    พระราชนิพนธ์เป็นเพลงเถา  ใช้หน้าทับปรบไก่กำกับอัตราจังหวะ (ทรงเพิ่มจังหวะในทำนองเดิน)  เรียกชื่อใหม่ว่า

       เพลงราตรีประดับดาว

(:

ซซซ

ฟํ- รํ

– รํ รํ รํ

ดํรํฟํดํ

รํ- ดํ

ทดํซล

ทรํดํท:)

— 

– ดํดํดํ

– รํ

– ดํดํดํ

– ซํฟํรํ

ดํ- ท

— รํ ดํ

ทดํ- รํ

– – – –

ฟํ- รํ

– – – –

ดํ- ท

— ดํ

รํ- ท

— 

ท- ดํ

– – – รํ

– ดํดํดํ

รํดํรํท

ดํ- รํ

– – – –

– – – –

ซ- ซ

— 

– – – –

ซ- ล

ดํ- ซ

ซซซ

  :]

(:

ซซซ

ฟํ- รํ

– รํ รํ รํ

ดํรํฟํดํ

รํ- ดํ

ทดํซล

ทรํดํท:)

— 

– ดํดํดํ

– รํ

– ดํดํดํ

– ซํฟํรํ

ดํ- ท

— รํ ดํ

ทดํ- รํ

– – – –

ฟํ- รํ

– – – –

ดํ- ท

— ดํ

รํ- ท

— 

ท- ดํ

– – – รํ

– ดํดํดํ

รํดํรํท

ดํ- รํ

– – – –

– – – –

ซ- ซ

— 

– – – –

ซ- ล

ดํ- ซ

ซซซ

ตารางกำกับโน้ต เพลงมอญดูดาว 2 ชั้น

บทร้องรำพลายชุมพลแต่งตัว

-ปี่พาทย์ทำเพลงมอญดูดาว-

– ร้องเพลงมอญดูดาว-

แล้วจัดแจงแต่งกายพลายชุมพล   ปลอมตนเป็นมอญใหม่ดูคมสัน

นุ่งผ้าตาหมากรุกของรามัญ   ใส่เสื้อลงยันต์ย้อมว่านยา

-รับ-

คอผูกผ้าประเจียดของอาจารย์   โอมอ่านเศกผงผัดหน้า
คาดตะกรุดโทนทองของบิดา   โพกผ้าสีทับทิมริมขลิบทอง

-รับ-

ถือหอกสัตตะโลหะชนะชัย   เหมือนสมิงมอญใหม่ดูไวว่อง
ขุนแผนขี่สีหมอกออกลำพอง   ชุมพลขึ้นกะเลียวผยองนำโยธา ฯ

-รับ-

ปี่พาทย์ ทำเพลงมอญดูดาว   และเพลงม้าย่อง-

(ผู้แสดงรำจนจบกระบวนท่า แล้วเข้าโรง)

ลีลาท่ารำ

       เทคนิคการรำ  การรำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการร่ายรำในแบบมอญ ลีลาของการรำไทยนั้นมีอยู่หลายแบบหรือที่เรียกกันว่าหลายภาษา แต่ในรูปแบบของมอญในการรำพลายชุมพลแต่งตัวนั้น จุดสำคัญอยู่ที่การใช้ไหล่ เพราะการใช้ไหล่ เพราะการใช้ไหล่ในท่าของมอญนี้จะต้อง “ตีไหล่ออก” เสียเป็นส่วนมากและเป็นท่ารำที่เรียกว่า “โก้เก๋” มีการใช้วิธีการขะย่อนปลายเท้าประกอบด้วยช่วยให้ดูว่าเป็นท่าที ที่กระฉับกระเฉง ส่วนการยกเท้าเดินมานั้นก็ต้องเดินเตะส้นนิดหน่อย พร้อมทั้งมีการโยกตัว ประกอบพอสมควรจึงจะดูเก๋ไก๋เข้าที (อาคม สายาคม, 2525, หน้า343)

       1.ท่าเดิน เพลงมอญดูดาวมีทั้งหมด18 จังหวะในตอนนี้เพลงมอญดูดาวขึ้น ให้เดินออกจากด้านขวาของเวทีท่าเดินออกก้าวเท้าซ้ายเอียงศีรษะไปทางซ้ายมือขวาปล่อยจีบตั้งวงล่าง และ ก้าวเท้าขวาเอียงศีรษะไปทางขวาจีบแล้วปล่อยจีบตั้งมือระดับสะเอว  มือซ้ายขัดไว้ข้างหลังระดับสะเอว (ทำท่านี้ในจังหวะที่ 1-5) การเดินแบบนี้เป็นรูปแบบของการเดินแบบพันทางนี้จะมีความแตกต่างจากการเดินในแบบอื่นๆเพราะศีรษะจะเอียงไปทางเดียวกับเท้าที่ก้าว การเดินในแบบของพลายชุมพลต้องใส่ลีลาที่เป็นแบบมอญเพราะเป็นการรำออกภาษามอญการเดินจะมีการตีไหล่ออกไปพร้อมๆกับการก้าวเท้า การเดินออกถือว่ามีความสำคัญมาก ผู้รำควรสร้างอารมณ์ให้เข้ากับบทบาทของตัว พลายชุมพลต้องมีความเคร่งครึม กรุ้มกริ่ม ในแบบของเด็กหนุ่ม เดินออกมาต้องมีท่าทีการเดินที่กระฉับกระเฉงให้เห็นถึงความกล้าหาญที่จะออกรบ

ภาพที่ 2 ท่าเดิน

       2.ท่าส่ายไหล่ก่อนท่าโบก ค่อยๆหันมาทิศทางขวามือ (ทำท่าโบกมือ) มือซ้ายจีบหงายมือมือขวาตั้งวงล่าง เปลี่ยนมาเอียงไหล่ซ้าย มือทั้งสองห่างกันประมาณ 1 คืบ น้ำหนักอยู่ขาขวา เท้าทั้งสองห่างกันประมาณ 1-2 ฟุต ยุบลง  ให้พอดีกับจังหวะที่ 9 ส่ายไหล่เล็กน้อย แล้วยกเท้าซ้ายขึ้น ม้วนมือซ้ายข้นเป็นตั้งวงบน  มือขวาแยกมาเป็นจีบหงายมือตึงแขนไว้ข้างหลัง กล่อมไหล่ซ้ายมาเอียงไหล่ขวา ค่อยๆ วางเท้าซ้ายลงที่เดิม โดยเอาส้นเท้าจรดที่พื้นไว้ หน้ามองมือซ้าย ให้พอดีกับ จังหวะที่ 10 การส่ายไหล่ก่อนท่าโบกนั้นเป็นลักษณะเฉพาะของการรำพลายชุมพลแต่งตัว ถือว่ามีความสวยงามโดดเด่นแตกต่างจากท่าโบกในรำชุดอื่นๆ

ภาพที่ 3 ท่าโบก

       3.ท่าขึ้นม้า ในท่าที่จะขึ้นสัตว์ ครูบาอาจารย์แบ่งหรือกำหนดไว้ว่า การที่จะขึ้นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่จะขึ้นด้วยท่า สูง ถ้าขึ้นม้าจะเป็นท่าบัวชูฝัก แต่ในการรำชุดนี้ คุณแม่ลมุล ยมะคุปต์ ให้ใช้ท่าสูงได้เหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ใช่สัตว์ใหญ่ก็ ตามแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะหรือข้อยกเว้น ไม่จำเป็นต้องมีหลักการตายตัว (ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ, 2545, สัมภาษณ์ 3 มีนาคม 2557)

ภาพที่ 4 ท่าขึ้นม้า

       4.การตีไหล่ ตีไหล่ซ้ายออกน้ำหนักตัวอยู่ที่ขาซ้าย และ ตีไหล่ขวาออกน้ำหนักอยู่ขาขวา การตีไหล่ในแบบของมอญนั้นก็จะแตกต่างจากการตีไหล่ในแบบอื่นๆ คือการตีไหล่ในแบบมอญนั้นจะต้องตีไหล่ออก การตีไหล่แบบมอญในการรำพลายชุมพลแต่งตัวจะตีไหล่แบบเลขแปด จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการตีไหล่แบบพม่า การตีไหล่แบบพม่าก็จะตีไหล่แบบที่เรียกว่า ไปเป็นแผงๆ การตีไหล่ของมอญจะดูความนุ่มนวล อ่อนช้อย กลมกลืนมากกว่า การตีไหล่ในแบบของมอญกับการรำพลายชุมพลแต่งตัวนี้ถือว่าเป็นสำคัญ

ภาพที่ 5 การตีไหล่

       การใช้พาหนะ  พาหนะของพลายชุมพล คือ “ม้ากะเลียว” ม้าที่ใช้ในการแสดงพลายชุมพลนี้คือ ม้าแผง ม้ากะเลียว ตัวมีสีเขียว คือม้าที่เป็นพาหนะของพลายชุมพล ในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอน พระไวยแตกทัพการติดม้าแผงจะต้องติดที่สะเอวด้านขวาของผู้รำ ในการแสดงนั้นอาจจะมีทหารที่แต่งกายเป็นมอญคอยส่งหอกและติดม้าแผง ให้กับผู้แสดง การจับม้าควรจับด้วยมือซ้ายใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจับส่วนที่เป็นหูของม้านิ้วที่เหลือกรีดออกให้สวยงาม เมื่อใส่ม้าแผงไปแล้วผู้แสดงควรถ่ายทอดอิริยาบทให้คล้ายกับการที่เราขี่ม้าอยู่จริงควรอยู่ในบทบาท และท่วงท่าของตัวละคร พลายชุมพลแต่งตัวให้มากที่สุด

ภาพที่ 6  ม้าแผง

       ดร.ไพโรจน์  ทองคำสุก  ได้กล่าวถึงเรื่องม้าในนาฏกรรมไว้ในหนังสือวารสารราชบัณฑิตยสถานว่า  ม้าปรากฏอยู่ในศิลปะการแสดงหลายแขนงด้วยกัน  ได้แก่  ศิลปกรรม  วรรณกรรม  ดุริยางค์กรรมและนาฏกรรม  ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ดังนี้

              1. ด้านศิลปกรรม  ปรากฏในรูปของการสร้างสรรค์งานด้านการออกแบบม้าแผง  เครื่องแต่งกายหัวม้า  และแส้ม้า ซึ่งใช้สำหรับประกอบการแสดง

              2. ด้านวรรณกรรม  ปรากฏในเรื่องราวของตัวละคร  เป็นม้าอยู่ในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ม้านิลพาหุของวิรุญจำบังในโขนเรื่องรามเกียรติ์  ม้าสีหมอกของขุนแผนในละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ม้านิลมังกรของสุดสาครในละครนอกเรื่องพระอภัยมณี  นางแก้วหน้าม้าในละครเรื่องแก้วหน้าม้า

              3. ด้านดุริยางคกรรม  ปรากฏชื่อเพลงม้ารำ  ม้าย่อง  ม้าโขยก  ม้าวิ่ง  และอัศวลีลา    เป็นต้น

              4. ด้านนาฏกรรม  ปรากฏกระบวนท่ารำเฉพาะที่มีลักษณะของม้า  เช่น  การกระโดด  การกระทืบเท้า  โขยกเท้า  เสียงร้อง

             นาฏกรรมไทยกล่าวถึงม้าอยู่หลายเรื่องด้วยกัน  ได้แก่  รามเกียรติ์  อิเหนา  อุณรุท  สุวรรณหงส์  สังข์ทอง  ขุนช้างขุนแผน  รถเสน  ราชาธิราช  พระอภัยมณี  โกมินทร์  และแก้วหน้าม้า  แต่ละเรื่องกจะมีความแตกต่างกันออกไป  ทั้งลักษณะของม้า  และการนำไปใช้ประกอบการแสดง  ตลอดจนกระบวนท่ารำต่างๆผู้เขียนได้วิเคราะห์สรุปได้พอสังเขปดังนี้

              1. ม้าแผงเป็นพาหนะ  อุปกรณ์ประกอบการแสดง

              2. ม้าคนเทียมรถไม่มีบทบาท

              3. ม้าคนเป็นระบำประกอบการแสดง

              4. ม้าคนเป็นพาหนะมีบทบาท

              5. ม้าจริงเป็นพาหนะ

              6. ม้าคนเป็นพาหนะ แต่เป็นม้าลูกผสม

              7. ม้าคนเป็นตัวเอกของเรื่อง  ไม่ได้เป็นพาหนะ

       บทบาทของม้าแต่ละหัวข้อมีปะปนกันอยู่ในนาฏกรรมการแสดงซึ่งมีจารีตเฉพาะ  ปรากฏเป็นรูปแบบของการแสดงโขน  ละครใน  ละครนอก  ละครพันทาง  และละครเสภา  โดยเฉพาะม้าที่มีบทบาทก็จะมีกระบวนท่ารำตามจารีตของการแสดงแต่ละประเภท

       ม้าแผง  ทำด้วยหนังวัวแกะสลัก  เขียนสีเป็นรูปม้า  มีความกว้าง 17 นิ้ว  ยาว 23 นิ้ว  ข้างตัวแผงม้าใช้ลวดทำเป็นตะขอ  เวลาแสดงใช้ตะขอลวดเกี่ยวที่สายเข็มขัดข้างลำตัวผู้แสดง  ในระหว่างแสดงผู้แสดงจะทำท่ากระโดดไปมาตามกิริยาของม้าประหนึ่งว่าเป็นเท้าม้า  ส่วนท่อนบนก็แสดงกระบวนท่ารำตามบทบาทที่ได้รับ  อุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่ใช้ประกอบการแสดงทั้งม้าแผงและ  ม้าคน  คือ  แส้ม้า  ทำด้วยหวายติดพู่สีแดง  ยาวประมาณ 34 นิ้ว

       ม้าเป็นสัตว์ที่ถูกจินตนาการให้มีความสามารถมากมาย  สามารถเหาะเหินได้รวดเร็ว  สามารถพูดได้  เป็นเพื่อน  เป็นที่ปรึกษาได้  ในกระบวนท่ารำก็จะมีกิริยาท่าทางของม้าผสมผสาน ดูแข็งแรง  น่าเอ็นดูยิ่งนัก  มีความเฉลียวฉลาด  ช่างเจรจา  อุปนิสัยของม้าพอสรุปได้ดังนี้

              1. มีความแข็งแรง  ปราดเปรียว  ว่องไว

              2. มีความซื่อสัตย์  จงรักภักดีต่อผู้เป็นนาย

              3. มีความกตัญญู  รู้จักบุญคุณ

              4. มีความรับผิดชอบ  ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

              5. มีความเฉลียวฉลาด  หลักแหลม

วิธีการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง : ม้าแผง ม้ากะเลียว (ม้าสีเขียว)

ภาพที่ 7 การจับม้า

มือซ้ายจีบที่หัวม้า  มือซ้ายตั้งวงจับที่เอวตรงหลังม้า

ภาพที่  8   การขี่ม้า

      ใช้นิ้วหัวแม่มือ ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ จับที่หูม้าแล้วงอเข่าทั้งสอง ทำน้ำหนักให้มาอยู่ที่ขาซ้ายแล้วยืดขึ้น ปลายเท้าขวายันพื้น พร้อมทั้งถ่ายน้ำหนักมาที่ขาขวานิดหน่อยและขยับขาว้ายให้เคลื่อนที่ไปมา

อารมณ์การแสดง

             ผู้ที่ได้รับบทบาทการแสดงเป็น “พลายชุมพลแต่งตัว” จะต้องถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาได้สมบทบาทให้มากที่สุดก่อนจะรำตัว “พลายชุมพล” นี้ผู้แสดงจะต้องทำจิตใจให้เคร่งครึ้ม สนุกสนานกุ๊กกิ๊กในแบบของเด็กหนุ่ม การยิ้มควรยิ้มแบบกรุ้มกริ่ม จะทำให้เกิดเสน่ห์ในการรำ ผู้รำควรอยู่กับตัวละครให้มากที่สุด ให้คิดไปได้เลยว่าเราคือ “พลายชุมพล” จริงๆ ควรทำให้ผู้ชมเชื่อในสิ่งที่เราจะทำ และเชื่อว่าเรานี่แหละคือพลายชุมพล ให้ได้ เมื่อผู้ชมมีความประทับใจและเข้าใจในสิ่งที่ผู้รำถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในการแสดง สิ่งสำคัญของอารมณ์ในการแสดงคือ สมาธิ ผู้รำควรมีสมาธิจดจ่อ กับบทบาทของพลายชุมพลจึงจะทำให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตัวละคร

ภาพที่ 9 ท่าควบม้าแสดงอารมณ์สนุกสนาน

สรุปและอภิปรายผล

       จากการที่ได้ศึกษากระบวนท่ารำพลายชุมพลแต่งตัวเป็นการแสดงชุดหนึ่งที่ตัดตอนมาจากการแสดงละครเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนพระไวยแตกทัพ โดยผู้รำจะเป็นตัวพลายชุมพลซึ่งปลอมตัวเป็นมอญเพื่อออกไปสู้รบกับพี่ชาย คือพระไวยเนื่องจากความไม่เข้าใจกันการแต่งกาย แต่งตัวเป็นชาย นุ่งสนับเพลา และผ้าตาหมากรุก ใส่เสื้อแขนยาวเอาชายเสื้อไว้ในชายผ้านุ่ง ใช้ผ้าตาคาดเอวทับสวมเสื้อกั๊กลงยันต์ทับเสื้อแขนยาว ที่คอจะผูกผ้าประเจียดสีขาวโพกศีรษะแบบมอญด้วยผ้าสีทับทิม ในมือผู้แสดงจะมีหอกกับม้าเป็นอุปกรณ์ในการแสดงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง นิยมใช้วงปี่พาทย์มอญเพลงร้องประกอบการแสดง ใช้เพลงมอญ ในการศึกษาครั้งนี้ได้รู้ถึงกระบวนท่ารำที่แตกต่างจากการรำประเภทอื่นเพราะเป็นการรำแบบมอญมีการตีไหล่ในท่าทางมอญเป็นส่วนใหญ่มีลักษณะท่ารำที่เท่และโก้เก๋และมีการใช้อาวุธมีความทะมัดทะแมงเพลงที่ใช้ประกอบก็มีจังหวะที่กระชับและสนุกสนาน

       การรำพลายชุมพลแต่งตัว เป็นการร่ายรำแบบมอญ มีลักษณะลีลาท่ารำที่ โก้เก๋ เป็นการ    ตีไหล่ในแบบมอญ นั้นจะต้องตีไหล่ออกเป็นเลขแปด การตีไหล่ของมอญนั้นจะดูอ่อนช้อย นุ่มนวล และการแสดงชุดนี้ผู้แสดงจะต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครนั้นออกมาให้สมบทบาทมากที่สุด และการรำชุดนี้มีการใช้อาวุธประกอบการแสดง คือ ม้าและหอก เป็นการเพิ่มอรรถรสและสีสันให้ผู้ชม ทำให้การแสดงชุดนี้มีความหน้าสนใจ ตื่นเต้น ทำให้ผู้ชมเกิดความเพลิดเพลินเข้าใจง่าย ในบทบาทของตัวนี้ ประกอบถึงเครื่องดนตรีมีจังหวะที่กระชับและสนุกสนานเหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย

ข้อเสนอแนะ

1.ควรจะมีการศึกษาการแสดงพลายชุมพลในรูปแบบอื่นๆ อาทิเช่น พลายชุมพลในรูปแบบลิเก

2.ควรมีการศึกษาการแสดง ของตัวละคร ตัวอื่นๆ ที่อยู่ในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เช่น นางวันทอง      พระไวย เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง

คมคาย แสงศักดิ์  นายสมเกียรติ ฤกษ์สิทธิชัย . (2555) . พระไวยรบพลายชุมพล . ศิลปกรรมนิพนธ์ . กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ .

ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ . สารานุกรมเพลงไทย .

เพลิน  กำราญ . (2532) . ประวัติผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ . หจก. ป. สัมพันธ์พาณิชย์ กรุงเทพฯ.

ไพโรจน์ ทองคำสุก . (2556) . วารสารราชบัณฑิตยสถาน(ปีที่ 38 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม) .

หจก.อรุณการพิมพ์  กรุงเทพฯ.

ศิลปากร,กรม. (2492) . บทละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ .

___________. เสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน .

อาคม สายาคม . (2525) . รวมงานนิพนธ์ ของ นายอาคม สายาคม (พิมพ์ครั้งที่ 1) . รุ่งศิลป์การพิมพ์.

DHANIT  YUPHO .  B.E. 2506 . THE KHON AND LAKON . BANGKOK : SIVA PHORN LIMITED PRATNERSHIP , 74 SOI RAJJATAPHAN , MAKKASAN OIREIE , BANGKOK ,THAILAND .

สัมภาษณ์

ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ. สัมภาษณ์, 3 มีนาคม 2557.