เชาวน์มนัส ประภักดี

       ชี้ประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทย สาเหตุและต้นตอของปัญหาด้านการศึกษา และเสนอแนะแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของการศึกษาวิชาสามัญและวิชาดนตรี โดยเฉพาะด้านวิชาดนตรีนั้นจะต้องมีการปรับปรุงบุคลากรให้เป็นผู้ชำนาญการในด้านดนตรีตลอดจน ปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารให้มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อดนตรี สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะต่อการเรียนการสอน และ ปลูกฝังค่านิยมด้านดนตรีให้กับประชาชน


ประวัติศาสตร์การศึกษาไทยและการศึกษาดนตรีของไทย
: ปัญหาและแนวทางแก้ไข

เชาวน์มนัส ประภักดี

อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ

วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทคัดย่อ

       บทความนี้เป็นการศึกษาเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทย สาเหตุและต้นตอของปัญหาด้านการศึกษาและแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของการศึกษาวิชาสามัญและวิชาดนตรี โดยใช้การศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

       จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการศึกษาของไทยตั้งแต่อดีตกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือยุคเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษา ระบบการศึกษาของไทยจะเป็นไปในรูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัยหรือตามความพึงพอใจของผู้เรียน มีการสืบทอดองค์ความรู้จาก 3 สถาบันหลักในสังคม ได้แก่ สถาบันครอบครัวโดยการสืบทอดจากบรรพบุรุษ สถาบันศาสนาโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้อบรมสั่งสอน และสถาบันกษัตริย์หรือราชสำนักโดยมีชนชั้นปกครองเป็นผู้อุปถัมภ์และสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่บุคคลในสังกัด ซึ่งเนื้อหาความรู้จะเป็นการศึกษาเพื่อความชำนาญเฉพาะทาง โดยมีจุดมุ่งหมายสำหรับการนำไปใช้ประกอบอาชีพภายใต้กรอบโครงสร้างของวัฒนธรรมและประเพณีเป็นตัวกำหนด กระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปการศึกษา ชนชั้นปกครองได้นำแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาจากชาติตะวันตกมาปรับใช้ โดยประยุกต์เอาความรู้ทั้งที่เป็นความรู้เดิมของท้องถิ่นและความรู้ใหม่จากต่างประเทศนำเข้าสู่เนื้อหาการเรียนการสอน มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

       แต่ผลจากการวิจัยและประเมินคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ระดับคุณภาพของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและบริบททางวัฒนธรรมของประเทศ จึงนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบการศึกษาในวิชาสามัญ ส่วนในด้านวิชาดนตรี ถึงแม้จะมีการนำองค์ความรู้ด้านดนตรีเข้าสู่การเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ จนทำให้เกิดผลงานด้านการศึกษา การวิจัย การใช้แนวคิดต่างๆ เข้ามาวิเคราะห์ดนตรีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แต่องค์ความรู้อีกหลายส่วนซึ่งถือเป็นคุณลักษณะเฉพาะของกระบวนการเรียนการสอนด้านดนตรีของไทยกลับสูญหายไป รวมถึงด้านคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องการให้ประชาชนในชาติมีอีกด้วย

ดังนั้น แนวทางสำคัญในการปฏิรูประบบการศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปโดย 1) ด้านวิชาสามัญ จะต้องมีการพัฒนาจากรากฐานทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับบริบททางสังคม โดยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการ ติดตาม กำกับและดูแลอย่างต่อเนื่อง 2) ด้านวิชาดนตรี จะต้องมีการปรับปรุงด้านบุคลากรให้เป็นผู้ชำนาญการ ปรับเปลี่ยนแนวคิดการบริหารงานของผู้บริหารให้มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อดนตรี สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนการสอนดนตรี และ ปลูกฝังค่านิยมด้านดนตรีให้กับประชาชน ซึ่งเมื่อดำเนินการดังนี้แล้วก็จะสามารถนำไปสู่การปฏิรูประบบการศึกษาให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Keyword) : ประวัติศาสตร์ ปฏิรูปการศึกษา ดนตรี

History of Thai Education and Thai Music Studies: Problems and Solutions

Abstract

       This study aims to present the history of the Thai education system, the causes of problems and solutions for general education and music courses. It reviews previous studies and draws data from academic studies and related studies.

       According to the study, it was found that the form of the Thai education system from its early development up to its reform in 1880 depended on the preferences and wishes of learners. Knowledge was transferred by way of three institutions: 1) family – passing on the traditions and wisdom of ancestors, 2) religion – passed on by monks, and 3) the Royal Court by patronizing or supporting its subjects through the ruling class. Education meant study for specific purposes with an aim to making a living according to culture and tradition. Later, in the era of educational reformation, the ruling class introduced a Western approach to traditional and local knowledge, and applied to the new knowledge through updated teaching methodologies. Further, it established educational and related institutes, and reformed Thai education so as to conform with economic and social demands which have been subject to ongoing change.

       According to the results of this study and the results of educational quality evaluation from related agencies, it was found that the current Thai educational system is substandard. This is because education system development policies do not conform with student needs, and the Thai cultural context has led to a failure of the general educational system. On the other hand, musical knowledge these days is still taught systematically, and this has generated a great number of academic works, researches, and ideas for analyzing music. However, many aspects of knowledge, which include unique features of Thai musical learning/teaching, morality and ethics in Thai society, have been lost.

       Therefore, there are two major issues of the education that must be reformed. First the general education has to be developed from the root of culture, under the continuous supervision of the expert, to achieve consistency with the social context. The second action is on music courses. It is important that the executives must have a good vision toward music; meanwhile, the associate must be trained as the expert. In addition, the appropriate learning environment for music and the publicity of music’s value are required. Once the education is reformed as mentioned, it would literally benefit the country and its people.

Keywords: history, education reform, music


การศึกษาไทยและดนตรีไทยในมิติประวัติศาสตร์

       ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมของสยามจากสังคมจารีตสู่สังคมสมัยใหม่ เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อชนชั้นปกครองได้น้อมนำศิลปวิทยาการอันเป็นสิ่งแปลกใหม่จากซีกโลกตะวันตกมาสู่อาณาจักรเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ผ่านการทำสนธิสัญญาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรอังกฤษ และสืบเนื่องเป็นรูปธรรมต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ตามลำดับ ศิลปวิทยาการชนิดใหม่ที่กลายเป็นตัวแทนของความเจริญก้าวหน้าและแสดงถึงความเป็นอารยะชนของบ้านเมืองแพร่กระจายเข้าสู่นโยบายการบริหารอาณาจักร มีผลเป็นภาคปฏิบัติในการให้กำเนิดระบบและกระบวนการการปฏิรูปอาณาจักรสยามครั้งยิ่งใหญ่ในทุกๆ ด้าน และส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนค่านิยมต่างๆ อันเป็นรากฐานที่มีอยู่แต่เดิมของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ จำต้องถูกปรับปรุง แปรสภาพและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของชนชั้นนำ หนึ่งในระบบที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความศิวิไลย์ให้กับบ้านเมืองและมีบทบาทสำคัญในการยกระดับสถานภาพของประชาชนในชาติให้เทียบเท่ากับชาติตะวันตกคือ การปฏิรูประบบการศึกษาดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องการศึกษาของประเทศสยาม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและเล็งเห็นคุณค่าของระบบการศึกษาที่มีต่อปวงชนในชาติ ให้เกิดจิตสำนึกที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของชาติ ในการสร้างความศิวิไลย์ให้กับอาณาจักรและการเป็นพลเมืองที่ดี ดังความว่า

       “ความประสงค์จำนงค์หมายในการสั่งสอนฝึกหัดกันนั้น ให้มุ่งก่อผลสำเร็จดังนี้คือ ให้เป็นผู้แสวงหาศิลปวิชาเครื่องอบรมปัญญา ความสามารถและความประพฤติชอบ ให้ดำรงรักษาวงษ์ตระกูลของตนให้โอบอ้อมอารีแก่พี่น้อง ให้มีความกลมเกลียวร่วมทุกข์ศุขกันในระหว่างสามีภรรยา ให้มีความซื่อตรงต่อกันในระหว่างเพื่อน ให้รู้จักกระเหม็ดกระเหม่เจียมตัว ให้มีเมตตาจิตรแก่ผู้อื่นทั้งปวง ให้อุดหนุนสาธารณประโยชน์ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ให้ปฏิบัติตนตามพระราชกำหนดกฎหมาย เมื่อถึงคราวช่วยชาติและบ้านเมืองให้มอบกายสวามิภักดิ์กล้าหาญและด้วยจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่ทุกเมื่อ

       เมื่อใดความรู้สึกต่อหน้าที่เหล่านี้ทั้งปวงหมด ได้เข้าฝังอยู่ในสันดาน จนปรากฏด้วยอาการกิริยาภายนอกแล้ว เมื่อนั้นความสั่งสอนฝึกหัดเชื่อว่าสำเร็จ และผู้ใดเล่าเรียนถึงสำเร็จเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นเชื่อว่าเป็นราษฎรอันสมควรแก่ประเทศสยามยิ่งนัก” (ประกาศกระแสพระราชโองการ เรื่องการศึกษาของประเทศสยาม อ้างใน นุชจรี ใจเก่ง,2551)

       แม้เนื้อหาในประกาศฉบับดังกล่าวจะแฝงนัยยะด้านการเมืองการปกครองและการรวมศูนย์อำนาจไว้ยังส่วนกลาง เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีตามแบบฉบับที่รัฐต้องการดังที่รัฐกำหนดขึ้น โดยขณะนั้นจะเน้นหนักไปที่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นอารยะของประเทศชาติ แต่ทั้งนี้ประกาศฉบับดังกล่าวยังถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยกอบกู้อาณาจักรให้มีความเป็นปึกแผ่นรอดพ้นภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม ที่กำลังคุกคามดินแดนในแถบอุษาคเนย์โดยการให้คุณค่าของการศึกษาที่จะเกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมืองสู่ประชาชน

       จากการสำรวจประวัติศาสตร์การศึกษาของไทยก่อนการปฏิรูประบบการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการทบทวนงานศึกษาของอรสา สุขเปรม (2541) และศรีชัย พรประชาธรรม (2547) พบว่าถึงแม้ในแต่ละยุคสมัยจะไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบแบบแผนเช่นปัจจุบัน แต่ลักษณะธรรมชาติของการเรียนการสอนของคนสยามในอดีตก็มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้ทราบข้อมูลและบริบททางสังคมในอดีต ว่าชาวสยามนั้นก็มีรูปแบบการเรียนการสอนในศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของสยามมานานแล้ว โดยเฉพาะการสอนกันตามอัธยาศัยและตามความสะดวก 

       เริ่มต้นจากสมัยสุโขทัย (พ.ศ.1781-1921) รูปแบบของระบบการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายอาณาจักร ได้แก่ ทหารและพลเรือนและฝ่ายศาสนจักร โดยมีสถานที่สำหรับใช้เป็นสถานศึกษาคือ บ้าน สำนักสงฆ์ สำนักราชบัณฑิต และพระราชสำนัก วิชาสามัญทั่วไปสันนิษฐานว่าใช้ภาษาบาลีและสันสกฤตในการศึกษา ต่อมาหลังจากพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย จึงมีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยอย่างจริงจังส่วนในด้านวิชาชีพจะเป็นการเรียนรู้โดยอาศัยการสืบทอดองค์ความรู้ต่างๆ จากคนในครอบครัว ส่วนด้านจริยธรรมศึกษา จะมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับหลักธรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นการศึกษาที่สืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีเป็นสำคัญ

       สมัยอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) การศึกษาในนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยสุโขทัย ทั้งเรื่องสถานศึกษา ผู้สอนและผู้เรียน แต่เนื่องจากเป็นสมัยที่มีความรุ่งเรืองจากการติดต่อค้าขายกับต่างชาติและความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ จึงส่งผลให้สมัยดังกล่าวมีรูปแบบการจัดระบบการศึกษาที่มีแบบแผนมากขึ้น ด้านการศึกษาวิชาสามัญ มุ่งเน้นการอ่าน เขียน ซึ่งได้ปรากฏหนังสือจินดามณีที่ถูกนำมาใช้เป็นตำราเรียน โดยมีสถาบันศาสนาที่ขณะนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับสถานภาพทางสังคมของชายชาวสยาม เพราะเป็นแหล่งเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้ติดตัวโดยผ่านการบวชเรียน ในด้านวิชาชีพจะเรียนรู้กันภายในเชื้อสายวงศ์ตระกูล เช่นวิชาวาดเขียน แกะสลัก และช่างฝีมือต่างๆ สมัยต่อมาหลังชาติตะวันตกเข้ามารวมอยู่ในอาณาจักรอยุธยา ก็ได้มีการเรียนวิชาชีพชั้นสูงด้วย เช่น ดาราศาสตร์ การทำน้ำประปา การทำปืน การพาณิชย์ แพทยศาสตร์ ตำรายา การก่อสร้าง ตำราอาหาร เป็นต้น

       สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนการปฏิรูประบบการศึกษา (พ.ศ.2322-2411) เนื่องจากการพ่ายแพ้ต่อสงครามในสมัยอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2310 ดังนั้นในยุคดังกล่าวจึงเป็นยุคแห่งการก่อรูปอาณาจักร ณ ดินแดนแห่งใหม่ทางด้านซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนได้รวบรวม บูรณะ ซ่อมแซม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำนุบำรุงสรรพวิชาความรู้และศิลปวัฒนธรรมให้กลับคืนมาคงรูปดังเดิม กระทั่งก้าวเข้าสู่แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325) การจัดระบบการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการฟื้นฟูการศึกษาด้านอักษรศาสตร์และวรรณคดี โดยส่งเสริมให้มีการแต่งวรรณกรรมรวมถึงการสังคายนาพระไตรปิฎก สมัยรัชกาลที่ 2 เนื่องจากชาติตะวันตกเกิดการปฏิวัติระบบอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตในระดับมหภาค ผ่านการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยลดภาระกำลังคน และจำต้องถ่ายเทสินค้าและตระเวนหาวัตถุดิบจากดินแดนอื่น ดังนั้นสมัยดังกล่าวจึงมีชาวต่างชาติมาติดต่อสัมพันธ์และถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และจริยศาสตร์

       สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ดูได้จากการที่ทรงจัดให้มีการมีจารึกวิชาความรู้ทั้งทางด้านวิชาสามัญและด้านวิชาชีพลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ที่ระเบียงของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีการใช้หนังสือไทยชื่อ ประถม ก กา ประถมมาลา สุบินทกุมาร ประถมจินดามณีเล่ม 1 และเล่ม 2 แทนหนังสือจินดามณีที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กระทั่งมีการตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยเป็นครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ 4 มีลักษณะคล้ายในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่จะเน้นหนักไปทางด้านอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ เนื่องจากสมัยดังกล่าวมีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติอย่างเด่นชัดมากขึ้น

       ก้าวเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคแห่งการปฏิรูประบบการศึกษา ในยุคดังกล่าวเกิดโรงเรียนหลวงโดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานเนื้อหาในตำรา มีการผลักดันทางการเมืองที่ส่งผลให้สยามต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการเจรจากับมหาอำนาจตะวันตก และได้ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการยังต่างประเทศเพื่อให้กลับมาพัฒนาประเทศ และตั้งแต่ปี พ.ศ.2423 เป็นต้นมาได้จัดตั้งโรงเรียนและสถานศึกษาในแขนงต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับสถานภาพของปวงชนและถ่ายโอนความรู้แพร่กระจายไปยังประชาชนในชาติให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับส่วนกลาง กระทั่งปี พ.ศ.2435 ได้ประกาศตั้งกระทรวงธรรมการ ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษา การพยาบาล พิพิธภัณฑ์และศาสนา

       สมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาต่อจากพระราชบิดา โดยการเพิ่มเนื้อหาและรูปแบบการศึกษาให้กว้างขวางและเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ทรงเพิ่มเนื้อหาการศึกษาที่เรียกว่ากองลูกเสือหรือเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมุ่งให้ประชาชนมีความรู้ทางด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพตามอัตภาพของตน และในปี พ.ศ.2464 ได้ประกาศให้มีการใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ให้เรียนอยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ 14 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการเรียกเก็บเงินศึกษาพลีจากประชาชนคนละ 1-3 บาทเพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดดำเนินการประถมศึกษา

       ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย (พ.ศ.2475) คณะราษฎรประกาศให้เรื่องการศึกษาเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยประกาศไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า “ต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เอื้อต่อประโยชน์ในด้านการปกครองและเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตย ได้มอบให้ท้องถิ่นมีการจัดการศึกษา ในปี พ.ศ.2476 และยังได้ปรับปรุงหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังได้เปลี่ยนชื่อแผนการศึกษาที่แต่เดิมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเรียกว่าโครงการศึกษาให้เป็นแผนการศึกษาแห่งชาติ และในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำเนินนโยบายทางด้านการศึกษาโดยมุ่งเน้นด้านสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา โดยการเพิ่มเติมความรู้วิชาด้านการปฏิบัติให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดการศึกษาภาคผนวกหรือการศึกษาผู้ใหญ่เพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้หนังสือได้รับการศึกษาให้ทั่วถึงกัน ยุคสมัยต่อมาแผนการศึกษาถูกปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ปี พ.ศ.2494 , 2503 , 2520 , 2535 และในปี พ.ศ.2542 ได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ(พรบ.) ในการวางรากฐานของระบบการศึกษาของชาติไทย โดยแบ่งรูปแบบของการศึกษาออกเป็น 3 รูปแบบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ มุ่งเน้นในการพัฒนาชีวิตให้ผู้ได้รับการศึกษานั้น มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีความรู้และคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข หรือกล่าวอีกอย่างคือบุคคลจะต้องมีความ “เก่ง ดี มีสุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายหรืออุดมการณ์หลักในการสร้างบุคลากรของรัฐที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตอย่างสมบูรณ์พรั่งพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม และด้วยบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ.2545 จึงได้มีการปรับปรุงแผน พรบ.ดังกล่าวอีกครั้งเพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อภาครัฐในด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

       ด้านการศึกษาดนตรีก่อนสยามจะปรับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า ระบบการศึกษาดนตรีมิได้ถูกนำเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ แต่มีการสืบทอด เรียนรู้และปลูกฝังองค์ความรู้ด้านดนตรีกันภายในครอบครัวและเครือญาติเป็นการศึกษาที่บ้าน ที่วัดและในราชสำนัก โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อนำดนตรีไปใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมต่างๆซึ่งหลักสูตรแบบไม่เป็นทางการนี้จะเน้นการฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรีตามแบบครูผู้สอนแล้วผู้เรียนนำไปใช้จริงในสังคมเป็นสำคัญรูปแบบการศึกษาดนตรีของไทยที่เป็นแบบแผนมาแต่ดั้งเดิมและปัจจุบันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมเดิมอยู่บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย จะเป็นในรูปแบบของการที่ผู้สอนหรือที่สังคมนักดนตรีไทยนิยมเรียกว่า “ครู” ซึ่งการที่จะรับผู้ใดเข้ามารับการสืบทอดวิชาความรู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในวงศ์ตระกูลหรืออยู่ในครอบครัวเดียวกันผู้เรียนจำเป็นจะต้องมีผู้ใหญ่เป็นผู้พาไปฝากตัวกับครูผู้สอน โดยนิยมนำดอกไม้รูปเทียนไปแสดงความเคารพต่อครู หลังจากฝากตัวเป็นศิษย์แล้วผู้เรียนบางคนอาจต้องพักอาศัยอยู่กับครูที่บ้านหรือที่สำนักดนตรีโดยเฉพาะผู้เรียนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด กิจวัตรประจำวันในช่วงแรกที่ได้เข้าเป็นสมาชิกในสำนักดนตรีคือ ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดบ้านเรือน ปรนนิบัติรับใช้ครูและเอื้ออำนวยความสะดวกในกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจหรือครูผู้สอนพิจารณาเห็นว่าสมควรได้รับการสืบทอดวิชาความรู้ จึงจะได้เริ่มรับการถ่ายทอดศาสตร์วิชาด้านดนตรี ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนเพราะจะต้องใช้ความทรงจำเป็นหลักในการเรียนรู้ เนื่องจากการเรียนดนตรีไทยในอดีตเป็นวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะ คือมีการถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก บรรเลงเป็นตัวอย่างแล้วให้ผู้เรียนจดจำและปฏิบัติตาม ไม่มีการบันทึกโน้ตและยังไม่ปรากฏเครื่องบันทึกเสียงอย่างปัจจุบันซึ่งกระบวนการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวของวัฒนธรรมดนตรีไทยนอกจากจะเป็นการสืบทอดความรู้อันเป็นศาสตร์เฉพาะด้านดนตรีแล้ว ครูผู้สอนยังมีโอกาสสอดแทรกความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามอุดมคติของสังคมในแต่ละยุคสมัยซึ่งครูผู้สอนได้แก่ครูผู้สอนที่เป็นคนในครอบครัว ครูดนตรีที่มีความรู้ความสามารถ พระสงฆ์ รวมทั้งเจ้าสำนักทั้งภายนอกและภายในราชสำนัก อันมีขนบธรรมเนียม จารีตและวิถีปฏิบัติที่ใช้เป็นกรอบในการกำหนดพฤติกรรมของผู้เรียนผู้สอนดนตรีอย่างเป็นรูปธรรมเคร่งครัด ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวบางส่วนยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบันและอีกหลายส่วนได้เลือนหายไปตามกาลเวลาและค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

       กระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูประบบการศึกษา ศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในระบบด้วยเช่นกัน ดังที่สุกรี เจริญสุข (มปท.) ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ผนวกองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมดนตรีเข้าสู่ระบบ โดยจัดให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2438 เนื้อหาจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของรัฐและสถาบันการปกครองในแต่ละยุคสมัยที่ได้ให้คุณค่า นิยามความหมายและกำหนดขอบเขตความรู้ของศิลปะ นาฏศิลป์ ขับร้องและดนตรีที่แตกต่างกันออกไป พอสรุปได้ดังนี้

หลักสูตรการศึกษา

พ.ศ.

ขอบเขตเนื้อหา/คำอธิบาย

ฉบับที่ 1

2438

การเรียนวิชาศิลปะ เป็นเรื่องการวาดภาพและการขับร้อง ซึ่งได้แก่ เพลงสรรเสริญพระบารมี ทำนองเทศน์มหาชาติ สวดสรภัญญะและท่ารำต่างๆ ตามแต่ครูสามารถสอนได้

ฉบับที่ 2

2450

การเรียนดนตรีเพื่อให้รู้ไว้เป็นเครื่องแก้ความรำคาญสำหรับบ้านเรือนในเวลาว่าง หัดร้องเพลงง่ายๆ ส่วนเพลงยากๆ และการดีดสีตีเป่า ให้เป็นไปตามใจรักและครูสามารถสอนได้

ฉบับที่ 3

2452

เน้นการเรียนภาษาและจริยธรรม มีวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปะเป็นวิชาเลือก มีการสอนขับร้องเพลงง่ายๆ เช่น เพลงบทดอกสร้อย

ฉบับที่ 4

2454

วิชาขับร้องเป็นวิชาเลือก จุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีจิตใจเบิกบานและคลายความเครียด

ฉบับที่ 5

2456

วิชาขับร้องมีเนื้อหาเดิม แต่เริ่มมีการสนับสนุนการหัดเล่นดนตรี เริ่มมีการเรียนดนตรีแบบท่องจำผสมตัวโน้ต มีการใช้โน้ตสากลในการเรียนบ้าง

ฉบับที่ 6

2467

จุดมุ่งหมายของการเรียนขับร้องและดนตรี เพื่อให้จิตใจผู้เรียนเบิกบาน เห็นความงามและความไพเราะ เพลงที่ใช้ยังคงเป็นเพลงเดิมคือ เพลง 2 ชั้น เพลง 3 ชั้น และเพลงบทดอกสร้อยง่ายๆ

ฉบับที่ 7

2480

ในหนึ่งสัปดาห์จะต้องมีกิจกรรมสวดคำนมัสการ ร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ฉบับที่ 8

2491

ฝึกการใช้เสียงดนตรีและให้รู้จักจังหวะ ให้เพลิดเพลินร่างกายและรู้จักใช้เวลาว่าง และให้ร้องเพลงเป็นเครื่องกล่อมเกลาให้เกิดอุปนิสัยอันดีงาม เพลงที่ต้องสอนได้แก่ เพลงรักชาติบ้านเมือง เพลงโรงเรียน เพลง 2 ชั้น และเพลงพื้นเมือง โดยฝึกร้องหมู่และร้องเดี่ยว

ฉบับที่ 9

2493

ฝึกการใช้เสียงดนตรีให้รู้จักจังหวะ ให้เพลิดเพลินร่างกายและรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเป็นเครื่องกล่อมเกลาอารมณ์และให้เกิดอุปนิสัยอันดีงาม รายวิชาที่ต้องสอนได้แก่ เพลงรักชาติบ้านเมือง เพลงโรงเรียน เพลง 2 ชั้น และเพลงพื้นบ้าน โดยฝึกหัดร้องเป็นหมู่และร้องเดี่ยว ร้องเสียงสูงเสียงต่ำ ให้รู้จักจังหวะของเพลงและอ่านโน้ตสากลตามสมควร

ฉบับที่ 10

2498

เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในการขับร้องหมู่และเดี่ยว

เพื่อให้เกิดความเข้าใจจังหวะเมื่อได้ยินเสียงดนตรี

เพื่อให้เกิดสันทนาการของเสียง การออกเสียงที่มีคุณภาพนุ่มนวลและสามารถเลียนเสียงได้ถูกต้อง

เพื่อส่งเสริมให้มีโอกาสสำหรับร่วมกันในการเล่นดนตรีเสมอๆ

เพื่อส่งเสริมรสนิยมในการฟังดนตรีที่ดี ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

เพื่อส่งเสริมรสนิยมทางดนตรี

เพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นร่วมกันทางจิตใจ เช่น เมื่อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีหรือร้องเพลงชาติ

เพื่อสามารถเข้าใจและอ่านโน้ตง่ายๆ ได้

เพื่อให้เข้าใจความไพเราะของการร้องประสานเสียงและสามารถร้องได้

ฉบับที่ 11

2501

ให้รู้สึกชื่นชมและซาบซึ้งในความงามตามธรรมชาติในด้านต่างๆ สี เสียง และให้เป็นผู้มีความเจริญทางจินตนาการ

ให้รู้จักใช้ศิลปะเพื่อความเพลิดเพลิน ร่าเริง และผ่อนคลายอารมณ์ในยามว่าง

ให้รู้จักฟังเพลง ร้องเพลง ฟ้อนรำ ฟังและเล่นดนตรีตามสมควร

ฉบับที่ 12

2503

มีลักษณะเช่นเดียวกับหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 11

ฉบับที่ 13

2521

ให้เห็นคุณค่าของวิชาดนตรีและนาฏศิลป์

ให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีและนาฏศิลป์

ให้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง มีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรีนาฏศิลป์ตามความถนัดและความสนใจของตน

ให้แสดงออกตามความคิดเห็นและจินตนาการของตน มีความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน

ให้รู้จักดนตรีนาฏศิลป์ของไทยและของชาติอื่น

ให้นำประสบการณ์ทางดนตรีและนาฏศิลป์ไปปรับปรุงบุคลิกภาพของตน

       กระทั่งปี พ.ศ.2542 ได้ปรากฏพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมดนตรีอยู่ไม่น้อย ดังที่ได้บรรจุเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมดนตรีอยู่ในมาตราที่ 6 ในหมวดที่ 1 กล่าวโดยสรุปว่า ลักษณะสำคัญอันพึงประสงค์ของพลเมืองในชาติไทย ที่มีความสมบูรณ์จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านจิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่รวมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และในมาตราที่ 7 ได้กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ในส่วนของดนตรีได้เข้ามาเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปลูกจิตสำนึกให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและความรู้สากล นอกจากนั้นยังมีมาตราอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งในเรื่องของการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติให้คิดเป็นทำเป็น จากสื่อที่มีความหลากหลาย เป็นต้น (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี,มปท) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าจากพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับดังกล่าวนี้ดนตรีถือว่ามีบทบาทสำคัญในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านการเสริมสร้างสติปัญญา ความรู้ความสามารถและการสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมเพื่อสร้างบุคคลให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ครบทุกด้านตามที่รัฐต้องการ

       จากที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่า บทบาทสำคัญของรัฐในการทำหน้าที่ปฏิรูประบบการศึกษาด้วยการกำหนดเนื้อหาและคัดสรรองค์ความรู้ที่ถูกนำมาบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีสถาบันและบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดและผลิตซ้ำองค์ความรู้ต่างๆ นั้น หลายองค์ความรู้ถือเป็นฐานความรู้เดิมที่มีอยู่ในประเทศ เช่น ภาษา ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม ศาสนา ภูมิปัญญา ฯลฯ และอีกหลากหลายองค์ความรู้ที่แสดงถึงความเป็นอารยะ ซึ่งถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ผ่านกรรมวิธีการผสมผสานกลมกลืน คัดสรรจนเป็นระบบระเบียบและถ่ายทอดให้กับผู้เรียน โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญในการสร้างความรู้ให้กับผู้เรียนและประชาชนในชาติได้เป็นประชาชน/พลเมืองที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยความรู้ จริยธรรมสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและดำเนินวิถีชีวิตตามอุดมการณ์ที่รัฐเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และมีบริบททางสังคมวัฒนธรรมอันได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองเป็นเหตุปัจจัยร่วมในการกำหนดวิถีการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยอย่างต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน

ระบบการศึกษากับความจริง ณ ปัจจุบัน
       จากสภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ถึงแม้จะผ่านกระบวนการตกแต่งให้มีความสมบูรณ์และเท่าทันต่อสังคมโลกที่เปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากคณะรัฐบาลในรูปแบบของกระทรวง ทบวง กรมเป็นผู้กำหนดนโยบายและถ่ายทอดคำสั่งให้หน่วยงานซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ ได้ปฏิบัติตาม รวมถึงได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐาน เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเรียกตามชื่อย่อว่า “สมศ.” เป็นต้น  แต่จากเสียงสะท้อนของหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยและประเมินระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมไปถึงสื่อสารมวลชน ต่างชี้ชัดถึงระดับคุณภาพการศึกษาของไทยที่อยู่ในขั้นวิกฤต ดังตัวอย่างการเปรียบเทียบระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บ่งชี้ว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยตามหลังประเทศเวียดนาม ขณะที่ระดับอุดมศึกษาอยู่อันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศ ซึ่งตามหลังประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ส่วนในระดับโลกนั้น ระบบการศึกษาองประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 37  ภาพสะท้อนจากการประเมินระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของไทยเหล่านี้ต่างบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า “ระบบการศึกษาไทยล้มเหลว” ดังนั้นผลิตผลของฟันเฟืองเครื่องจักรในระบบการศึกษาที่ได้ผลิตนักเรียนนักศึกษาและบุคลากรทางด้านการศึกษาที่ในอนาคตอันใกล้บุคคลเหล่านี้จะต้องก้าวขึ้นสู่การเป็นทรัพยากรบุคคลในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ จึงตกอยู่ในสภาวะอ่อนแอทั้งด้านวิชาความรู้และด้านคุณธรรมจริยธรรม อันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพสังคมวัฒนธรรมที่เน้นหนักไปสู่สังคมบริโภคนิยมและนำไปสู่การเป็นสังคมทุกขภาวะในที่สุด สำหรับในส่วนของสถาบันการศึกษาที่สามารถผลิตผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถหรือเด็กเก่ง ก็สร้างได้เฉพาะผู้เรียนที่มีเฉพาะความรู้แต่ขาดจิตสำนึกสาธารณะที่พึงมีต่อสังคม ไม่รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ขาดคุณธรรมจริยธรรม ห่างไกลจากศาสนา ส่วนเด็กที่เรียนไม่เก่งกลับถูกทอดทิ้ง ถูกนิยามให้กลายเป็นส่วนเกินเป็นปมด้อยของสังคม ขาดการดูแลเอาใจใส่และไร้การเหลียวแลอย่างจริงจัง จนทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหาและสร้างปัญหาให้แก่สังคม ทั้งการหมกมุ่นกับอบายมุข สื่อลามกอนาจาร สิ่งเสพติด การพนัน ฯลฯ ซึ่งขัดแย้งกับจินตนาการของรัฐในการที่จะสร้างสังคมอุดมสุขอย่างสิ้นเชิง

       ด้วยสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาที่เป็นภาพใหญ่ของชาติและผลกระทบจากการจัดการความรู้เกี่ยวกับดนตรีให้เข้าสู่ระบบ ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการมุ่งเพียงแต่สร้างผู้เรียนหรือผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณสมบัติเป็นเลิศเฉพาะด้านความรู้ ภายใต้กรอบของวิชาและองค์ความรู้ที่จำกัดเฉพาะในสถาบันการศึกษา แต่ขาดคุณลักษณะของการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ อย่างแท้จริง หรือรู้จักนำเอาความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตจริง ที่สำคัญคือการขาดซึ่งคุณธรรมจริยธรรมที่ดีอันเป็นเครื่องประกอบของบุคคลในการที่จะสร้างประโยชน์และความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับสังคม ถึงแม้รัฐจะได้ดำเนินการคิดค้นนวัตกรรมและเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาผู้เรียนและระบบการศึกษาไทยมาโดยตลอดก็ตาม แต่กลับไร้ประสิทธิผลในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์แบบรอบด้านอย่างที่รัฐต้องการ

       หลากหลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยในส่วนของวิชาสามัญ ซึ่งจากการสรุปความโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากหนังสือการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทย(2544) ได้สะท้อนให้เห็นถึงที่มาของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของไทย อันมีเหตุเกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นต่างๆ พอสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยไม่สนับสนุนระบบการศึกษาของตนเองมาตั้งแต่แรก แต่เป็นการเลียนแบบตะวันตกโดยไม่มีการปรับใช้ให้เข้ากับฐานทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ จึงทำให้ระบบการศึกษาไทยอยู่ในภาวะที่แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ยาก เนื้อหาสาระของการปฏิรูประบบการศึกษายังคงเน้นให้ผู้เรียนจดจำมากกว่าการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาล่าช้าไม่จริงจังและขาดความต่อเนื่อง รวมทั้งจากฐานคิดเดิมของรัฐในเรื่องการจัดระบบการเรียนการสอนที่พยายามสร้างมาตรฐานความรู้ให้มีความเป็นหนึ่งเดียว และถ่ายทอดความรู้ฉบับมาตรฐานดังกล่าวทั้งในแนวราบคือ การแพร่กระจายความรู้จากส่วนกลางไปภูมิภาค และในแนวดิ่งคือจากผู้บริหาร/กระทรวงหรือผู้มีอำนาจในการกำหนดมาตรฐานความรู้มาสู่บุคลากร หน่วยงานและสถานศึกษาภายใต้สังกัดการรับผิดชอบดูแล ซึ่งขาดการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงกับศาสตร์ความรู้อันเป็นฐานเดิม หรือเรียกว่ามิได้ใส่ความเป็นตัวของตัวเองอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นถิ่นแล้วนำไปรวมอยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้ที่ห่างเหินประเด็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นผลิตผลอันเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตด้วยระบบการศึกษา จึงเปลี่ยนคุณลักษณะจากเดิมที่เคยมีความรู้คู่คุณธรรม ความอ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ มีเมตตาเป็นเครื่องประกอบของบุคคล เปลี่ยนไปสู่การเป็นคนโอ้อวดจองหอง ขี้โมโห ขาดความยับยั้งชั่งใจ และส่งผลขยายไปสู่การสร้างปัญหาแก่สังคม ซึ่งขัดแย้งกับจินตนาการหรืออุดมการณ์ที่รัฐต้องการสร้างบุคลากรภายใต้การปกครองของรัฐให้มีความ “เก่ง ดี มีสุข” โดยสิ้นเชิง

       ด้านวิชาการศึกษาดนตรี ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐได้นำองค์ความรู้ด้านดนตรีเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในระบบการศึกษา ซึ่งจากการนำเสนอข้อมูลของขำคม พรประสิทธิ์ (2539) ว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพและบทบาทของวัฒนธรรมดนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวโดยสรุปว่า ด้วยวัฒนธรรมดนตรีของไทยที่ระบบการเรียนการสอนดนตรีแต่เดิมเน้นรูปแบบการเรียนในระบบครอบครัว โดยมีครูผู้สอนที่มีสถานภาพไม่ต่างจากพ่อหรือผู้มีพระคุณต่อชีวิตเป็นผู้อบรมสั่งสอนทั้งวิชาความรู้และจริยธรรมคุณธรรม ผู้เรียนก็จะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในวิชาการดนตรีอยู่ในเบื้องต้นก่อนที่จะเข้ารับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ดังนั้นการศึกษาเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าวจึงสามารถพัฒนาและต่อยอดด้านดนตรีทั้งความสามารถของผู้เรียนและวิชาความรู้ด้านดนตรีที่มีการสืบทอดถ่ายเทอย่างกว้างขวาง รวมถึงกลายเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ด้วยการขัดเกลาจากครูผู้สอนและขนบต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในขั้นตอนของการเรียนการสอนดนตรีมาตั้งแต่ครั้งอดีต แต่เมื่อวิชาการดนตรีดังกล่าวถูกบรรจุเข้าสู่ระบบกระบวนการเรียนรู้ตามมาตรฐานที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้นใหม่ จากครอบครัว/บ้าน สำนัก วัดและวัง สู่สถาบันการศึกษา มีพัฒนาการครอบคลุมและบังคับให้ผู้เรียนต้องมีความรู้ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาอย่างที่พบเห็นในปัจจุบัน ดังนั้นจากขนบธรรมเนียมเดิมที่ผู้เรียนจะต้องมีใจรักในวัฒนธรรมดนตรีเป็นทุนเดิม เคารพนบน้อมในการเข้าไปฝากตัวกับครูผู้สอนตามบ้านหรือสำนักเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะได้วิชาความรู้อย่างแท้จริง กลับเปลี่ยนเป็นครูผู้สอนที่อยู่ภายใต้สังกัดของรัฐหรือหน่วยงานที่มีการเรียนการสอนด้านดนตรี จะต้องเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนเสียเอง เนื่องด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องสั่งสอนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จึงส่งผลให้กลายเป็นครูผู้สอนในสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ผู้เรียนมิได้มีความสนใจอย่างจริงจังในด้านดนตรี ต้องกลายเป็นผู้ยัดเยียดวิชาความรู้ให้แก่ผู้เรียน จนเกิดภาวะความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับตัวผู้เรียนไม่มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นเช่นอดีต

       อีกทั้งด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จึงปรากฏสิ่งเร้าอื่นๆ ให้ผู้เรียนสนใจมากกว่าการตั้งใจเรียนรู้ดนตรี ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะต้องมีสมาธิ มีความเอาใจใส่ และหมั่นฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้รับวิชาความรู้ครบถ้วนดังนั้นจึงส่งผลให้วิชาความรู้อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถูกสร้างสรรค์และกลั่นกรองอย่างพิถีพิถันจนเป็นศิลปะชั้นสูงประจำชาติ กลับต้องสูญหาย เจือจางและได้รับการสืบทอดองค์ความรู้เพียงบางส่วนโดยเฉพาะในส่วนที่รัฐเป็นผู้กำหนดและเห็นชอบว่าได้มาตรฐานและเหมาะสมเท่านั้น จากการตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนพบว่า ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยหรือให้ความสนใจกับวัฒนธรรมดนตรีไทยผ่านระบบการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี โทและเอกหรือสามารถผลิตบุคลากรทางด้านวิชาการดนตรีเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่องค์ความรู้อันเป็นศาสตร์จำเพาะของดนตรีไทย ที่ไม่สามารถเข้ากับระบบการศึกษาสมัยใหม่ได้นั้น กลับตกอยู่ในสภาวะการสูญหายขององค์ความรู้และขาดการสานต่ออย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะสู่การปฏิรูประบบการศึกษาไทยและการศึกษาดนตรีของไทย

       จากปมปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการสะสมมูลเหตุต่างๆ อย่างยาวนานของกระบวนการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ทั้งในด้านวิชาสามัญและด้านวิชาดนตรีโดยสถาบันหลักในสังคมที่มีผู้มีอำนาจในการชี้นำทิศทางการศึกษาจากส่วนกลางได้นำไปสู่การสร้างปัญหาให้แก่ผู้เรียนและสังคมในวงกว้าง ส่งผลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวต้องทำหน้าที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาผ่านกระบวนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยมีประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักวิชาการ นักวิจัย สื่อสารมวลชน ฯลฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากที่ได้ให้ความสนใจและทำการศึกษาวิจัยรวมถึงให้หากลวิธีและข้อเสนอแนะ ในการหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวนี้ โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดเฉพาะของนักวิชาการบางท่านที่เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างและคลุกคลีกับแวดวงวิชาการศึกษาโดยตรง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้

       เอกวิทย์ ณ ถลาง(2544) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของไทย ได้ให้ข้อมูลเพื่อเป็นทางออก ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนที่ควรพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ส่วนแรกเน้นไปที่การพัฒนาบุคลากร และส่วนที่ 2 เป็นการปรับยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความรู้

       ด้านการพัฒนาคน ได้แก่ 1) ให้ความสำคัญกับการคัดสรรคนที่มีศักยภาพทั้งทางด้านความฉลาดทางสติปัญญา ทางอารมณ์หรือวุฒิภาวะ และทางศีลธรรม 2) ปลดถ่ายกำลังคนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมและการศึกษาไปสู่อาชีพอื่นที่เหมาะสมแก่วัยวุฒิและศักยภาพ 3) พัฒนากระบวนทัศน์และวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน 4) สร้างขวัญและกำลังใจแก่คนดีมีความสามารถ 5) เสริมองค์ความรู้ด้านพุทธศาสนา ทางจิตวิญญาณ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมวิทยา เพื่อการบูรณาการความรู้อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและไม่กระจัดกระจาย และ 6) ให้ความสำคัญกับผู้มีความรู้หรือปราชญ์ในการเสริมสร้างความรู้ที่มีประสิทธิภาพและหลากหลาย

       ด้านยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้และเกิดประโยชน์สูงสุด 2) มีการคัดสรรผู้ที่จะเข้าทำงานให้เน้นการประเมินศักยภาพทั้งทางด้านความรู้ ความคิดและคุณธรรมจริยธรรม 3) ควรมีการอบรมเพื่อพัฒนากระบวนการสอนที่มีประสิทธิภาพและมุ่งขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม 5) มีการประเมินประสิทธิภาพกระบวนการเรียนมากกว่าผลสัมฤทธิ์ และ 6) มีการพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับ เช่น ผู้นำ ครูอาจารย์ ผู้ปฏิบัติการ และระดับชาวบ้านรวมถึงเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างครบถ้วนทุกมิติ

       พระธรรมปิฎก (2544) ให้แนวทางกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งพอสรุปได้ว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาล้วนเป็นผลพวงมาจากบริบทที่หลากหลาย โดยเฉพาะสภาพปัญหาของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ผู้คนหลงลืมกับสภาพที่เป็นจริงทางวัฒนธรรมอันเป็นฐานเดิมของบ้านเมือง หลงใหลตามกระแสของความแปลกใหม่ที่มิใช่ของตนเอง จนทำให้รากฐานทางวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องที่จะช่วยในการเยียวยาปัญหาและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองนั้นต้องชำรุดเสียหาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุดมการณ์หลักของสถาบันการศึกษามีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างเด็กเก่ง ดีและมีความสุข แต่ข้อดี 3 ประการนี้ยังคงกระจัดกระจายไม่สมบูรณ์ในคนใดคนหนึ่งเท่าที่ควรคือ “ถ้าเก่งก็มักจะดียาก ถ้าดีก็มักจะเก่งยาก หรือถ้าเก่งและดีก็มักไม่มีความสุข” ดังนั้นระบบการศึกษาที่ถูกต้องจึงที่จะสามารถประสานทั้ง 3 ส่วนให้สอดคล้องกลมกลืนกันได้

       ประเวศ วะสี( 2544) ปราชญ์คนสำคัญของชาติ ให้ข้อเสนอแนะว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาในปัจจุบันคือ ความบกพร่องของระบบการปฏิรูปการศึกษาที่แยกศาสนาและวัฒนธรรมออกจากกัน มุ่งเน้นเพียงให้ผู้เรียนมีความรู้ความชำนาญเป็นส่วนๆ ไม่มีการบูรณาการความรู้ระหว่างกันและกัน อีกทั้งควรมีการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานด้านการศึกษาหรือจัดกระบวนการศึกษาที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนาสังคมได้อย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพ

       จากข้อเสนอแนะของนักวิชาการข้างต้นพอสรุปได้ว่า ทางออกที่สำคัญในการที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของระบบการศึกษาของชาตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมร้อยเครื่องมือต่างๆ ทั้งทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยี อีกทั้งรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แต่เดิมมาปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จำเป็นจะต้องดำเนินการ กำกับและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยมีชุมชนและปราชญ์ผู้มีความรู้เป็นผู้คอยให้คำปรึกษาและชี้แนะแนวทางเพื่อการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุดและเหมาะสมกับสังคมไทย

       สำหรับทางออกของปัญหาด้านระบบการศึกษาดนตรี ทั้งประเด็นการนำศาสตร์ด้านดนตรีเข้าสู่ระบบการศึกษาจนทำให้หลากหลายองค์ความรู้ที่มิอาจคงอยู่ในบริบทใหม่ต้องสูญเสียไป รวมถึงคุณธรรมจริยธรรมที่เคยได้รับการขัดเกลาจากครูผู้สอนผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบ้าน/สำนักดนตรี วัด หรือราชสำนัก(วัง) จึงส่งผลให้ผู้เรียนดนตรีส่วนใหญ่ในปัจจุบันขาดทั้งความรู้และคุณธรรมจริยธรรม หรือการที่ผู้เรียนไม่สามารถนำวิชาความรู้ที่ได้รับไปสร้างความสุขในการดำเนินชีวิตให้แก่ตนเองได้เท่าที่ควร อีกทั้งค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงทำให้สถานภาพของการเรียนการสอนดนตรีประสบปัญหาทั้งในระดับบุคคลและสังคม เช่นเดียวกับระบบการศึกษาในวิชาสามัญด้วยเช่นเดียวกัน

       สุกรี เจริญสุข (ม..ท.) นักวิชาการผู้ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปการศึกษาสาขาดนตรีคนสำคัญของประเทศ ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับโฉมหน้าใหม่ของระบบการศึกษาดนตรี สรุปความเป็นประเด็นได้ดังนี้

1) ปฏิรูปด้านปรัชญาการศึกษาดนตรี คือต้องเปลี่ยนค่านิยมการนิยามคุณค่าและความหมายของดนตรีที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระไม่มีคุณค่า ให้กลายเป็นวิชาของนักปราชญ์ คือต้องได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง

2) ปฏิรูปครูดนตรี คือการซ่อมและสร้างภาพลักษณ์ของครูดนตรีจากภาพลักษณ์เก่าที่เคยขี้เมา เจ้าชู้ ไม่ทำงาน ขี้เกียจ ทำตัวไม่น่าเชื่อถือ ให้กลายเป็นครูที่ไม่มีปัญหา มีความรู้ความสามารถทักษะด้านดนตรีทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ และมีความเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อวิชาชีพ

3) ปฏิรูปหลักสูตรดนตรี คือจะต้องปรับหลักสูตรการศึกษาด้านดนตรีให้มีความต่อเนื่องตั้งแต่ในระดับพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัญหาที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันคือยังไม่มีความต่อเนื่อง การศึกษาดนตรีในระดับพื้นฐานเป็นเพียงแค่เครื่องประดับในโรงเรียนหรือเป็นเพียงแค่กิจกรรมพิเศษ ส่วนการศึกษาดนตรีที่จริงจังกลับเริ่มต้นในระดับอุดมศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงของการศึกษาในระดับดังกล่าวยังอ่อนด้านคุณภาพและมาตรฐาน

4) ปฏิรูปห้องเรียนดนตรี คือการลงทุนสร้างมาตรฐานด้านดนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและบริบทที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนดนตรีและคำนึงถึงเรื่องของเสียง เช่นเดียวกับการสนับสนุนวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5) ปฏิรูปโรงเรียนดนตรี คือการให้ผู้บริหารโรงเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ เล็งเห็นถึงคุณค่าของวิชาดนตรี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการกำหนดนโยบายการปฏิรูปโรงเรียนดนตรี และวางรากฐานวิชาการดนตรีในประเทศ

6) ปฏิรูปการเรียนรู้ดนตรี คือการปรับปรุงทั้งครูผู้สอนให้มีความกระตือรือร้น มีประสิทธิภาพซึ่งวัดจากผลงาน ปรับกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี และขยายขอบเขตความรู้ไปสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ

7) ปฏิรูปนักเรียนดนตรี คือการปรับค่านิยมด้านการเรียนการสอนดนตรี จากที่เคยถูกมองว่าเป็นวิชาที่ใครก็เรียนได้หรือใครที่เรียนอะไรไม่ได้ให้ส่งไปเรียนดนตรีเพราะเป็นวิชาที่ไม่มีแก่นสาร ไปสู่การสร้างค่านิยมใหม่ที่ว่าใครจะเรียนดนตรีต้องเป็นคนเก่งและคนดี มีศักดิ์ศรีและได้รับการยอมรับจากสังคม

8) ปฏิรูปอาชีพดนตรี คือการสร้างให้ผู้เรียนดนตรีมีอาชีพที่หลากหลายมิใช่แค่เพียงการเป็นนักดนตรีหรือครูดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถรอบด้านและรอบรู้ด้านดนตรีอย่างเชี่ยวชาญ เมื่อสำเร็จการศึกษาหรือก้าวเข้าสู่สังคมจะมีงานทำ สร้างงานเองได้ ไม่ต้องคอยงาน ไม่ต้องหางาน

       จากที่ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาข้างต้นพอสรุปได้ว่าแนวทางการปรับโฉมหน้าการปฏิรูปการศึกษาสาขาวิชาดนตรีให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสอดคล้องกัน ทั้งด้านบุคลากร แนวความคิดการบริหาร สิ่งแวดล้อม ค่านิยม ซึ่งปัจจัยทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างหลักทางสังคมที่มีบุคคลและสถาบันต่างๆ เกี่ยวข้องสัมพันธ์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น กระบวนการปฏิรูประบบการศึกษาทั้งในส่วนของวิชาสามัญและวิชาดนตรีจึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ ดูแลและได้รับการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที เพื่อการแก้ไขปัญหาได้สอดคล้อง ตรงจุดและเกิดมาตรฐานในระดับสากลอย่างแท้จริง

       จากการนำเสนอให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ก่อนสมัยการปฏิรูปการศึกษา กระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมที่มีการปรับโฉมหน้าใหม่ของระบบการเมืองการปกครองสยาม ซึ่งเป็นผลพวงทำให้เกิดระบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และประเด็นระดับคุณภาพการศึกษาของชาติที่มีคุณภาพตกต่ำที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นภาพลักษณ์ของความอ่อนแอด้านวิชาการของนักเรียนนักศึกษา และการบริหารจัดการแบบไร้ทิศทางของภาครัฐ กระทั่งการนำเสนอให้เห็นถึงข้อเสนอแนะจากนักวิชาการผู้คลุกคลีและมีประสบการณ์โดยตรงกับปัญหาทั้งในส่วนของวิชาสามัญและศาสตร์ความรู้ด้านดนตรี ซึ่งสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้เป็นทางเลือกในการดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษาที่ตรงจุดอย่างแท้จริง เพื่อมุ่งไปสู่ทางออกของปัญหาระบบการศึกษา

       ประเด็นเรื่องของระบบการศึกษาซึ่งถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งการปฏิรูประบบการศึกษาดังกล่าวจะส่งผลดีสำหรับการนำไปใช้เพื่อการต่อรองกับอำนาจของลัทธิล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก ที่มองว่าการศึกษาคือตัวแทนของดินแดนที่มีอารยธรรมมีความเจริญ และในสภาวการณ์ปัจจุบันก็ถือได้ว่าประเด็นเรื่องของระบบการศึกษาถือเป็นประเด็นหลักสำคัญของทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกต้องตรงจุด โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบันที่โลกต่างมีการแข่งขันกันในหลากหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและรวมไปถึงด้านการศึกษา โดยมีมูลเหตุหลักจากความพยายามในการสร้างและกำหนดมาตรฐานชนิดเดียวที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินรอยตามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นความแตกต่างซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหรือเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสังคม แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศจึงถูกสั่นคลอนและถูกมองว่าไม่เป็นมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงตนเองให้สอดคล้องกลมกลืนกับมาตรฐานชนิดเดียวกับประเทศมหาอำนาจเป็นผู้กำหนดขึ้น และต่างยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานว่าข้อกำหนดและนโยบายเหล่านั้นคืออารยะธรรมสูงสุดหรือเป็นมาตรฐานสูงสุดที่ควรดำเนินรอยตามอย่างเคร่งครัด

       ด้วยสภาวการณ์และค่านิยมที่มิใช่เพียงแค่รัฐเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว แต่คนในชาติทุกคนต่างยอมสิโรราบต่อกระบวนการสร้างมาตรฐานฉบับดังกล่าว จึงส่งผลให้องค์ความรู้หลายชนิดที่ถือเป็นภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษในแต่ละท้องถิ่น ในแต่ละภูมิภาคและในแต่ละประเทศจึงถูกลิดรอนคุณค่าและความสำคัญให้เจือจางและสาบสูญ เนื่องจากมาตรฐานชนิดใหม่ที่สังคมเรียกว่า “ความรู้” ที่ถูกนำมาบรรจุและถ่ายทอดให้กับคนในสังคมได้ซึมซับและเรียนรู้นั้นมิได้มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม มิได้มีเรื่องราวข้องเกี่ยวกับผู้คนในพื้นที่ ดังนั้นความรู้ต่างๆ ที่ถูกกรอกเข้าสู่มโนทัศน์ของนักเรียน นักศึกษาและบุคลากรด้านการศึกษาจึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในการดำเนินชีวิต ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมตนเอง และยังนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสร้างปัญหาตามมาอีกมากมายสุดท้ายยังเป็นการทำให้คนในสังคมมองไม่เห็นถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเลือดเนื้อและชีวิตของตนเองในที่สุด   


บรรณานุกรม

ขำคม พรประสิทธิ. (2539). แบบนำเสนอ จรรยาบรรณวิชาชีพและบทบาทของวัฒนธรรมดนตรี. บุญช่วย     โสวัตรและคณะ. (2539). การปรับวงดนตรีไทยขั้นสูง.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.

ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์. มาตรฐานโปรแกรมวิชาดนตรีศึกษาแขนงวิชาดนตรีไทยของสถาบันราชภัฏ. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

นุชจรี ใจเก่ง. (2511). ระลึกชาติในแบบเรียนภาษาไทย. อ่าน. 1,2,22. (เอกสารอัดสำเนา).

ประเวศ วะสี. (2541). ปฏิรูปการศึกษา ยกเครื่องทางปัญญา ทางรอดพ้นจากความหายนะ. กรุงเทพฯ.

สุกรี เจริญสุข. การศึกษาดนตรีในประเทศไทย. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

                  . เล่าเรื่องดนตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล(11)ดนตรีกับอนาคต. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

                  . โฉมหน้าใหม่การปฏิรูปการศึกษาสาขาวิชาดนตรี. (ม.ป.ท.). (เอกสารอัดสำเนา).

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2544). การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ภัคธรรศ. 

ศรีชัย พรประชาธรรม. (2547). วงศาวิทยาว่าด้วยระบบการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อรสา สุขเปรม. (2541). เอกสารคำสอนการศึกษาไทย. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.