โมกราชินี : พรรณไม้ใหม่ของโลก

ความนำ 

   โมกราชินี พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกค้นพบโดยศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำรวจและจำแนกพรรณไม้ กรมป่าไม้ ในระหว่างโครงการสำรวจพรรณพฤกษชาติภูเขาหินปูน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จาก การศึกษาค้นคว้าเอกสารและตรวจสอบตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงในหอพรรณไม้ต่าง ประเทศที่เกี่ยวข้องหลายประเทศ ยังไม่เคยปรากฏชื่อหรือรายงานลักษณะรูปพรรณของพรรณไม้ชนิดนี้มาก่อน และ Dr. D.J. Middleton ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ APOCYNACEAE ของโลกแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันและสนับสนุนการยก รูปพรรณไม้สกุลโมกมัน ( Wrightia ) นี้ เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก การค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่นี้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการพฤษศาสตร์ เนื่องจากในปัจจุบันโอกาสค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในวง APOCYNACEAE มีน้อยมาก โดยเฉพาะประเภทไม้ต้น พรรณไม้ใหม่นี้เป็นชนิดที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะดอกที่สวยงาม จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว
( Endemic species ) 
พบเฉพาะในประเทศไทย มีสถานภาพเป็นพรรณไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ชนิดหนึ่งของโลก ( Rare and endangered species ) สมควรที่จะอนุรักษ์และนำมาปลูกขยายพันธุ์ต่อไป กรมป่าไม้จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของสกุล Wrightia ตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ว่า “ Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk ” เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จากการที่ได้ทรงสนับสนุนและทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่องและเพื่อเป็นสิริ มงคลในวงการ พฤกษศาสตร์ของประเทศไทย

หมายเหตุ หากสนใจจะไปชมโมกราชินีเพื่อศึกษาและบันทึกภาพ ขอแนะนำให้ไปชมที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ตั้งอยู่หลังสวนจตุจักร มีเพียงต้นเดียว สูงประมาณ 3.5 เมตร สภาพสมบูรณ์มาก ออกดอกดก กลิ่นหอมมาก


 

รายละเอียดของโมกราชินี

ชื่อไทย โมกราชินี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk

ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE

การกระจายพันธุ์ ในเขตภาคกลางตั้งแต่นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี และสระแก้ว 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

   ไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 6 เมตร เปลือกลำต้นขรุขระ สีเทาอมน้ำตาล แตกกิ่งก้านห่างๆ ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.5 – 4 เซนติเมตร ยาว 3 – 10 เซนติเมตร ใบบาง ปลายใบแหลม โคนใบมน ใต้ใบมีขนอ่อนปกคลุม ดอกเดี่ยวออกที่ปลายยอด ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว กลางดอกมีรยางค์เป็นขนยาว กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ผลเป็นฝักกลมยาวเป็นแท่งขนาดปลายตะเกียบ ออกเป็นคู่กางออก เมื่อแก่มีสีน้ำตาลและแตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ปลายเมล็ดมีขนติดที่โคนช่วยกระจายพันธุ์
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่งและเสียบยอด

 

บรรณานุกรม

   ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย.กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551 หน้า 20

   ขอขอบคุณ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ 61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900โทรศัพท์ : (662) 561 42923 # 5103โทรสาร : (662) 579 2740