กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

นายสิงห์ สิงห์ขจร


แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2556

ข้อมูลเพิ่มเติม : คณะวิทยาการจัดการ ผลงานทางวิชาการ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายสิงห์ สิงห์ขจร ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของมนุษย์ ปรัชญา กฎหมาย กฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย กฎหมายสื่อสารมวลชน และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ความเป็นธรรมและความเป็นกลางในงานนิเทศศาสตร์และจิตวิญญาณของนักนิเทศศาสตร์

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : สิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดสิทธิ ดังนี้ สิทธิในครอบครัวและความเป็นส่วนตัว สิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการศึกษาฝึกอบรม สิทธิในการรับบริการทางด้านสาธารณสุขอย่างเสมอภาคและได้มาตรฐาน และสิทธิที่จะได้รับข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ เป็นต้น

สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำเสนอข่าว หรือความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เพราะสื่อมวลชน หมายถึง สื่อที่จะสามารถนำสารจากผู้ส่งสารไปสู่ผู้รับสาร ที่ประกอบด้วยคนจำนวนมากอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเดียวหรือใกล้เคียงกัน ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสังคมมาก จึงต้องรับผิดชอบต่อสังคม บทบาทของสื่อมวลชนมี 5 ประการ ได้แก่ บทบาทในฐานะผู้แจ้งข่าวสาร สุนัขเฝ้าบ้าน การเป็นตัวกลาง การเป็นตัวเชื่อมและการเป็นผู้เฝ้าประตู

สิทธิของสื่อมวลชน ประกอบด้วย สิทธิที่จะแสวงหาข่าวสาร สิทธิในการพิมพ์ สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นสื่อมวลชนจึงมีหน้าที่ต่อสาขาวิชาชีพ หน้าที่ต่อตนเอง หน้าที่ต่อผู้อื่นและหน้าที่ต่อคุณธรรม สำหรับในประเทศไทยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในมาตรา 45 , 46 , 47 และ 48 การศึกษากฎหมายเป็นการศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นระดับความคิดบริสุทธิ์ชั้นสูง ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมศึกษา ดังนั้น การศึกษากฎหมาย เหมือนการศึกษาปรัชญา ซึ่งมี 4 สาขา อาทิเช่น อภิปรัชญา คือ การศึกษาความเป็นจริงว่ากฎหมายคืออะไร ซึ่งแบ่งได้ 5 ประการ ได้แก่ กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับต้องมาจากรัฎฐาธิปัตย์ คือ ผู้มีอำนาจสูงสุด บังคับใช้ทั่วไปจนกว่ามีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงและมีสภาพบังคับด้วย

กฎหมายที่นิยมใช้อยู่มี 2 ประเภท คือ กฎหมายสารบัญญัติ คือ กฎหมายทั่วๆ ไป ใช้ความคุมความประพฤติและกำหนดสิทธิหน้าที่ต่างๆ ของพลเรือนไว้กับกฎหมายวิธีสบัญญัติ คือ กฎหมายบัญญัติถึงกระบวนการ / วิธีการบังคับให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวดที่ 3 กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 45 – 48 โดยในส่วนของสิ่งพิมพ์ มีบัญญัติไว้ในมาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น มาตรา 46 พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว แสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ มาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ทรัพยากรสื่อสารและชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมาตรา 48 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน

กฎหมายสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย กฎหมายเกี่ยวกับข้องกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม กฎหมายเกี่ยวข้องกับสารสนเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์

จุดเด่น / ความน่าสนใจและประโยชน์ : เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน เล่มนี้มีจุดเด่นหลายประเด็น อาทิเช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศที่กล่าวถึง หลักการสำคัญในพระราชบัญญัติว่าด้วย ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีสาระดังนี้ การเข้าถึงระบบที่มีมาตรการป้องกัน การเปิดเผยมาตรการป้องกันระบบ การเข้าถึงข้อมูลที่มีมาตรการป้องกันและการดักรับรู้ข้อมูลผู้อื่น ฯลฯ เป็นต้น จุดเด่นประเด็นที่ 2 กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์มี 91 มาตรา แบ่งเป็น 7 หมวดใหญ่ ๆ เช่น หมวดที่ 1 เป็นเรื่องของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ ชุดใหญ่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ฯลฯ เป็นต้น ประเด็นที่ 3 กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน เช่น มาตรา 56 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและการเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงาน ฯลฯ เป็นต้น ประเด็นที่ 4 ในหนังสือเล่มนี้ยังประกอบไปด้วย กรณีศึกษาหลายด้าน อาทิเช่น นายชาติไทยแต่งเพลงลูกทุ่งขึ้นหนึ่งเพลง ขณะเดินทางไปประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ดังนั้นนายชาติไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนี้ แม้ยังไม่ได้เผยแพร่ เป็นต้น

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : เนื้อหาสาระของเอกสารประกอบการสอน วิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อมวลชน ยังมีประโยชน์ต่อผู้สนใจที่จะนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องสื่อมวลชนมาใช้กับสถาบันอุดมศึกษาได้ดีมาก เพราะในมหาวิทยาลัยมีการผลิตบัณฑิตหลายอาชีพ เช่น แพทย์แผนไทย ศิลปะทั้งดนตรี นาฏศิลป์ แม้แต่สายวิชาการศึกษา จำเป็นต้องเรียนรู้เพราะเป็นวิชาชีพที่ต้องมีผลงาน วิชาการนำไปประยุกต์เป็นสินค้าได้ ดังนั้นเมื่อไม่เรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะเกิดปัญหาภายหลังได้ และผู้ประกอบอาชีพทุกอาชีพ ควรเรียนรู้หลักจริยธรรมสำหรับแต่ละอาชีพด้วย ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับจริยธรรมนั้นมีอยู่ในเอกสารเล่มนี้ด้วย

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร