Category Archives: การท่องเที่ยว การบัญชี ธุรกิจบันเทิง และคหกรรมศาสตร์

การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

ชื่อผลงานทางวิชาการ             การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม     

ปีที่พิมพ์                           25๖๐

ข้อมูลเพิ่มเติม                           เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์กันยาวรรนธ์  กำเนิดสินธุ์  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

บทความวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม” ผู้เรียบเรียง คืออาจารย์อาจารย์กันยาวรรนธ์  กำเนิดสินธุ์  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง  (2) ศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง กลุ่มตัวอย่าง   คือ ประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งจำนวน 357 คน (โดยใช้แบบสอบถาม) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ใหญ่บ้าน จำนวน  12  คน (โดยใช้การสัมภาษณ์)

      จุดเน้นของบทความวิจัยนี้ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ทำให้ชุมชนมีการจัดการรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย ตลาดน้ำบางผึ้ง โฮมสเตย์ สวนป่าชุมชนที่เขียวขจี และหมู่บ้านโอท็อป เป็นต้น  โดยการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร อบต.และผู้ใหญ่บ้าน การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยกันเอง

     ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย   เป็นแหล่งสร้างและกระจายรายได้ให้คนในชุมชนบางน้ำผึ้งและชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน และยังเป็นประโยชน์กับผู้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาชุมชนบางน้ำผึ้ง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนอื่นๆต่อไป

 

การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

The Participation Process of Local People in Bangnamphueng

                          Community in Managing the Ecotourism and Cultural Tourism

 

กันยาวรรนธ์  กำเนิดสินธุ์

Kanyawan Kamnedsin

 

บทคัดย่อ

      การวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม  มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง  (2) ศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง

    ประชากรกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จำนวนประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน  357 คน ได้จากการสุ่มแบบไม่เจาะจง  (Simple Random Sampling) และการคำนวณจากตารางของเครจซี่และมอร์แกน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประชากรกลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling)คือผู้บริหารท้องถิ่น 1 คน คือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำท้องที่  คือผู้ใหญ่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน 11 คน รวมประชากรกลุ่มตัวอย่าง 12 คน

   ผลของการวิจัย พบว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.32  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ  ระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน ค่าเฉลี่ย 4.02 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.92 อยู่ในระดับมาก และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม ค่าเฉลี่ย 2.76 อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้มากทุกด้านแต่อยู่ที่ด้านที่ประชาชนสนใจและได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ดังที่พบว่าการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลอยู่ในระดับมากและรองลงมาคือการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ซึ่งการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนบางน้ำผึ้งมี 3 ส่วนคือ การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร อบต.และผู้ใหญ่บ้าน การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยกันเองเอง  จึงทำให้ชุมชนมีการจัดการรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง พบได้จากการได้รับรางวัลด้านต่างๆ ของชุมชน เช่น รางวัลกินรี  ปี 2550  และ 2555 เรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจาก ททท.  รางวัลนวัตกรรมการท่องเที่ยวจากสำนักนายก  และผลิตภัณฑ์ชุมชนก็ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นลูกประคบธัญพืช KBO ที่ 1  ระดับประเทศ  ได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ระดับอาเซียนของภาคกลาง  อีกทั้งสมาชิกในชุมชนยังได้รับประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันคือ ได้รับเงินปันผลจากธนาคารชุมชนทุกปี  กองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ  จัดแพทย์ตรวจรักษาฟรีสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

คำสำคัญ :  การมีส่วนร่วม,   แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

 

Abstract

      The objectives of this research were (1) to study the participation process of local people in Bangnamphueng community in managing the community’s conservative and cultural tourism, (2) to study a model of conservative and cultural tourism for Bangnamphueng community.

         For quantitative research, the population was 357 local people which were selected based on Simple Random Sampling. The sample size was determined by Krejcie & Morgan’s table. For qualitative research, the population was a community by selected based on purposive sampling.  The sample size was  president of sub-district administration organization  and  village headmen from 11 villages, totaling 12 individuals.

      The results of the study showed that the sample had moderate level of participation process with a mean score of 3.32. When individual aspects were considered, follow-up and performance evaluation had the highest mean score (x̄  = 4.02, at high level). It was followed by mutual benefit taking (x̄  = 3.92, at high level). The lowest mean score was planning for implementing activities( x̄  = 2.76, at moderate level). These results were consistent to the results of interviewing local administrator and leaders. The interview results indicated that local people did not have high level of participation in all aspects but only interesting and fair aspects. As mentioned earlier, follow-up and evaluation had the high mean score. It was followed by mutual benefit taking. The participation process of the members of Bangnamphueng community consisted of three parts: the participation of  Subdistrict Administrative Organization (SAO)’s administrators and village headmen; village headmen-local people participation; and public participation. This led to vigorous management of ecotourism and cultural tourism, reflecting by several awards, for example, Kinnaree Awards in 2007 and 2012 under the title of the participation in managing local tourist attractions granted by TAT, Innovative Tourism Award granted by Prime Minister Office. Additionally, Bangnamphueng local product “Herbal Compress Ball” won the Innovative Local Wisdom Award for Knowledge-Based OTOP (KBO) at national level. Bangnamphueng community also received the award of homestay standard at ASEAN region. Moreover, the community members gained mutually benefits from tourist attractions because they gained dividend from community bank each year and from Elderly Welfare Fund,  right to be physically checked by a group of physicians twice a week. Besides, a body of knowledge was promoted to consistently enhance local wisdom potentiality.

Key  words :   Paticipation, Ecotourism and Culture tourism

 

บทนำ

      ประเทศไทยในปีพ.ศ. 2559 หลังเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ  ประเทศไทยจะได้รับวิกฤตหรือโอกาสทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของประชาชนไทย  อันเนื่องจากการเปิดประชาคมอาเซียนได้นำมาซึ่งความร่วมมือและการแข่งขันควบคู่กันไป  แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศก็ยังคงยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการอยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11  ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม   เพื่อให้สภาพการคงอยู่ของชุมชนท้องถิ่นไทยรวมทั้งการอนุรักษ์เอกลักษณ์ความเป็นไทย  จากความร่วมมือของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ได้ปรากฎอยู่ในกฎบัตรอาเซียน  (Asean contract)  หรือข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกด้วยเช่นกัน  อาเซียนมิได้มุ่งส่งเสริมแต่การขยายตัวของธุรกิจ อุตสาหกรรม  และแรงงานเท่านั้น  แต่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประชาคมอาเซียนควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สังคม  และวัฒนธรรมของชุมชนอาเซียนด้วยเช่นกัน(สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2558 : ออนไลน์)  ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหัวใจของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community based Tourism : CBT)  ท่ามกลางกระแสการเปิดประชาคมอาเซียนการทำความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนอาเซียนไปด้วยกันในทุกๆ มิติ  จากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ท่ามกลางการขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนไปพร้อมๆ กันของประเทศสมาชิก

   ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูปการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง  โดยการส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  โดยการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาสินค้าและบริการด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน  เพื่อการพึ่งพาตนเองและดึงดูดนักท่องเที่ยวอื่นๆ  ด้วยเหตุนี้  ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน  และภาคประชาชนจึงต้องเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนอย่างเร่งด่วน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวและเกิดความยั่งยืน เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มีความพร้อมทางด้านคุณภาพการแข่งขัน เกิดการสร้างรายได้  และกระจายรายได้ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2554 : 72)  โดยการจัดสรรงบประมาณไปสู่ชุมชนเพื่อเป็นการให้ชุมชนได้บริหารจัดการสร้างเศรษฐกิจ  สร้างรายได้ และพัฒนาให้ไปสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ดังกรณีของชุมชนบางน้ำผึ้งหรือตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นชุมชนที่ผู้วิจัยสนใจทำการวิจัย   เนื่องจากเป็นชุมชนที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร  เป็นแหล่งพักผ่อนของทั้งคนกรุงเทพฯและใกล้เคียง เนื่องจากชุมชนนี้มีทรัพยากรที่สนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว  โดยเฉพาะเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นส่วนหนึ่งของกระเพาะหมูในเขตบางกระเจ้า    ผู้นำท้องถิ่นใช้ความความสมบูรณ์ของทรัพยากรเสนอวิสัยทัศน์พัฒนาชุมชน  โดยการประชุมประชาคมและลงมติร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  และจากการพัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (แผนพัฒนาสามปี อบต.บางน้ำผึ้ง, 2558)   หากแต่เมื่อผู้วิจัยได้ลงพื้นที่ก็จะพบว่ามีทั้งประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

      ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสนใจที่จะศึกษา การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม  เนื่องจากการจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ดูจะมีทีท่าเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง  เป็นเหตุให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนบางน้ำผึ้ง   ที่นำมาซึ่งรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

 

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

  1. เพื่อศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง
  2. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง

 

วิธีวิจัย

         ประชากร ประชากรชุมชนบางน้ำผึ้งประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน  มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,161 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นมีประชากรรวม 4,921 คน แยกเป็น ชาย 2,341 คน และหญิง 2,580 (แหล่งข้อมูล :  องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง 9 มกราคม 2558)

         กลุ่มตัวอย่าง (Samples)  วิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) โดยการสุ่มแบบไม่เจาะจง (Simple random sampling) ได้จำนวนประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน  357 คน คำนวณโดยตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) ค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ 0.5 ระดับความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ 5% และระดับความเชื่อมั่น 95%

         เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

                 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed  Method) ระหว่างวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) กับวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ(Quality  Research)

          1.1 การวิจัยเชิงปริมาณใช้ แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สร้างขึ้นโดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกรอบแนวคิดการศึกษาวิจัย ซึ่งมีขั้นตอนการสร้างแบบสอบถาม

                     รายละเอียดเนื้อหาของแบบสอบถามที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 3 ตอน ดังนี้

ตอนที่ 1  เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย เพศ อายุ

สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน โดยเป็นคำถามแบบตรวจสอบรายการ (checklist)

                       ตอนที่ 2  เป็นข้อมูลเกี่ยวกับระดับความคิดเห็นระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยเป็นคำถามลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประเมินค่า  (Rating Scale) แบบลิเคอร์ท     (Likert)  โดยผู้วิจัยกำหนดระดับค่าคะแนนไว้เป็น  5 ระดับ

                       ตอนที่ 3  ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเพิ่มเติมในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวฯ เป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิด (Open ended)  เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาปรับปรุงต่อไป

1.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ มีผู้ให้ข้อมูลหลักและวิธีการสุ่มตัวอย่างดังนี้

                     ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key informants) ผู้ให้ข้อมูลหลักในการสัมภาษณ์ระดับลึก (In-depth interviews) โดยเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักจากการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เป็นผู้นำท้องถิ่น  คือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง 1 คน และผู้นำท้องที่ได้แก่ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน จำนวน 11 คน  รวมผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 12 คน คุณสมบัติของผู้ให้ข้อมูลหลักคือ

  1.     1.  ผู้ผลิตนโยบายในการจัดการชุมชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง
  2.     2.  ผู้ที่มีส่วนร่วมผลักดันนโยบายให้ประสบผลสำเร็จ

               เครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ  แนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์ระดับลึก  โดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลการศึกษาที่ได้จากการวิจัยเชิงปริมาณมาพัฒนาขึ้นเป็นแนวคำถามในการสัมภาษณ์ระดับลึก (In-depth interviews) ที่ครอบคลุมกระบวนการจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีกระบวนการเก็บข้อมูลตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจชุมชน จัดนิสิตไปศึกษาดูงาน ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยลงพื้นที่สังเกตการณ์และสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการกับกลุ่มชาวบ้าน และสุดท้ายสัมภาษณ์แบบเป็นทางการกับกลุ่มตัวอย่างที่กำหนด

 

แนวคิดทฤษฎี

แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน     

      โคเฮน และอัฟฮอฟฟ์ (Cohen & Uphoff, 1980 : 213) กล่าวไว้ว่าการมีส่วนร่วมโดยทั่วไปในมักจะกล่าวถึงขั้นตอนการตัดสินใจแต่ไม่ได้หมายความว่าการมีส่วนร่วมมีแต่ขั้นตอนการสินใจเพียงอย่างเดียว  ยิ่งเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่จะปฏิบัติเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ยิ่งต้องมีขั้นตอนสำคัญๆ คือ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (decision making)  การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ (implementation)  การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ (benefit)  และการมีส่วนร่วมในการประเมินผล (evaluation)   ซึ่งทุกขั้นตอนมีความสัมพนธ์ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมที่ขนตอนการตัดสินใจเป็นประการสำคัญ  จึงอาจกล่าวได้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การที่กลุ่มประชาชนหรือสมาชิกของชุมชนได้ออกมาทำงานร่วมกัน แสดงออกถึงความต้องการร่วมกัน และมีความต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม และการดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่อการปรับปรุงสภาพสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม โดยที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนหรือของกลุ่มตั้งแต่ต้น คือ มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา การแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติในกิจกรรม และมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล เพื่อการปรับปรุงแก้ไขในการพัฒนาต่อไป ซึ่งโกวิทย์  พวงงาม (2545 : 8) ได้กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมการจัดการชุมชนไว้4 ประการคือ การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกัน  การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน

 แนวคิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชน

     แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ( Ecotourism) (Wood, 2002, p. 9)   เป็นการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ส่วนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือการท่องเที่ยวในลักษณะการศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่นการดำรงชีวิต วัฒนธรรมชุมชน โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีอยู่ในชุมชนเป็นต้น  ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมจึงเป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวและสมาชิกชุมชนควรตระหนักในเรื่องของการรักษาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชนให้คงอยู่  เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างความสุขให้ทั้งนักท่องเที่ยวและสมาชิกในชุมชน

ผลการวิจัยและอภิปราย

การวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม  สามารถสรุปการวิจัย  อภิปรายผล  และข้อเสนอแนะจากการวิจัยดังต่อไปนี้

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

  1. เพื่อศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
  2. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง

 

ผลการวิจัย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลของการวิจัย สรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

  1. ปัจจัยส่วนบุคคล พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงจำนวน 210 คน คิดเป็นร้อยละ 58.4 รองลงมาเป็นเพศชายจำนวน 150 คน คิดเป็นร้อยละ 41.6 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41 – 50 ปีคิดเป็นร้อยละ 53.8 และรองลงมามีอายุ 51 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ  25.4 สถานะของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีสถานะสมรสร้อยละ 67.6 และรองลงมาคือสถานะโสดคิดเป็นร้อยละ 21.4 ระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 33.8  รองลงมาคือระดับประถมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 24.1 และในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 22.4 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวคิดเป็นร้อยละ 46.5  รองลงมามีอาชีพรับจ้างคิดเป็นร้อยละ 34.6   ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 75.9  รองลงมามีรายได้ตั้งแต่ 20,001 – 30,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.0

 

  1. วิเคราะห์กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม ในภาพรวมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.32 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน ค่าเฉลี่ย 4.02 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก 3.92 และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม มีค่าเฉลี่ย 2.76 อยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อแยกพิจารณาเป็นรายด้านมีรายละเอียดดังนี้

                 2.1 ด้านการมีส่วนร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา มีระดับระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 2.99 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือเมื่อวิเคราะห์เป็นรายข้อพบว่าระดับการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาครัวเรือน ค่าเฉลี่ย 3.66  อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือระดับการมีส่วนร่วมในการรับทราบปัญหาชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.57 อยู่ในระดับมาก  ส่วนระดับน้อยสุด  คือระดับการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน ค่าเฉลี่ย 2.45 อยู่ในระดับน้อย

                    2.2 ด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม มีระดับระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 2.76 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการเสนอแผนการจัดการชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.12  อยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา คือระดับการมีส่วนร่วมในโอกาสเสนอโครงการและกิจกรรมชุมชน ค่าเฉลี่ย 2.71 อยู่ในระดับปานกลาง และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือท่านมีส่วนร่วมในการลงมติจัดลำดับโครงการของชุมชน  ค่าเฉลี่ย 2.60  อยู่ในระดับน้อย

                     2.3 ด้านการมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน  มีระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 2.89  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของชุมชนและช่วยสอดส่องดูแล  ค่าเฉลี่ย 3.99 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ เป็นผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดชุมชน  ค่าเฉลี่ย 3.34  อยู่ในระดับปานกลาง และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือระดับการมีส่วนร่วมเป็นผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมชุมชน (โฮมสเตย์) ค่าเฉลี่ย 2.45 อยู่ในระดับน้อย

                     2.4 ด้านการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน มีระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.92 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า  ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือระดับการมีส่วนร่วมในการมีรายได้จากการขายสินค้าในตลาดชุมชน  ค่าเฉลี่ย 3.97 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการมีรายได้จากสินค้าเกษตรหรือวัตถุดิบที่ส่งไปยังกลุ่มอาชีพ  ค่าเฉลี่ย 3.96   อยู่ในระดับมาก และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือระดับการมีส่วนร่วมในการมีความสุขจากการจัดกิจกรรมของชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.84 อยู่ในระดับมาก

                     2.5 ด้านการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน มีระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.02  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุดมีสองด้านเท่ากัน คือ ระดับการมีส่วนร่วมในโอกาสตรวจสอบประเมินผลรายจ่ายและรายได้ของชุมชนและระดับการมีส่วนร่วมในโอกาสประชุมร่วมนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ค่าเฉลี่ย 4.06 อยู่ในระดับมากทั้งสองด้าน  รองลงมา คือ ด้านท่านเข้าร่วมติดตามความก้าวหน้าของแผนพัฒนาชุมชน ค่าเฉลี่ย 4.02  อยู่ในระดับมาก และค่าเฉลี่ยต่ำสุดมีสองด้านเช่นกัน คือระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามผลการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมและระดับการมีส่วนร่วมมีโอกาสติดตามความก้าวหน้าการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ค่าเฉลี่ย 3.89  อยู่ในระดับมากทั้งสองด้าน

 

  1. วิเคราะห์ผลการสัมภาษณ์ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ ได้แก่นายก อบต.และผู้ใหญ่บ้าน พบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

                     3.1 การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการประชุมร่วมกับผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่  โดยการส่งตัวแทนของแต่ละบ้านเข้าร่วมประชุมก่อนจะนำไปสู่ผู้บริหาร อบต. แต่ในเรื่องของข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐานนั้นจะอยู่ในระดับดีมากเนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่เก็บจากทุกบ้าน อีกทั้งผู้นำท้องที่คือ ผู้ใหญ่บ้านให้ความร่วมมือในการประชุมกลุ่มย่อยกับชาวบ้านในแต่ละหมู่อย่างสม่ำเสมอ

                     3.2. การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม  ประชาชนก็ให้ความสนใจในการจะลงความเห็นในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง แต่การจัดลำดับโครงการจะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่จะถูกตั้งมาตามปฏิทินกิจกรรมของ อบต. แต่ชาวบ้านจะเสนอกิจกรรมเข้ามาร่วมหรือรูปแบบกิจกรรมมากกว่า

                     3.3  การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน  การมีส่วนร่วมในการมีธุรกิจครัวเรือนของชุมชนมีจำนวนมาก  แต่ที่กล่าวว่าในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางอันเนื่องจากผู้คนวัยทำงานจำนวนมากที่ไม่มีเวลามาร่วมในกิจการต่างๆ ของชุมชน ส่วนที่ร่วมกิจกรรมคือผู้ที่อยู่บ้านหรือผู้ที่มีวันหยุดตรงกับการเปิดตลาดน้ำเช่นอาชีพข้าราชการ เป็นต้น แต่จะพบความร่วมมือที่ดีคือชาวบ้านจะยึดถือกฎระเบียบของชุมชนเป็นสำคัญ ทั้งสอดส่องดูแล ทั้งปฏิบัติตาม ทั้งนี้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ก็ถือปฏิบัติและแจ้งให้สมาชิกในชุมชนทราบ เพื่อรักษาความสงบสุขของชุมชนท่ามกลางนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

                     3.4  การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เป็นการมีส่วนร่วมที่มีในระดับสูงอันเนื่องจากมีการแบ่งปันความสุข สวัสดิการต่างๆ กลับมาให้สมาชิกชุมชน และการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างทั่วถึง ได้แก่ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง  กลุ่มสถาบันการเงินชุมชน  กลุ่มโฮมสเตย์ (รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 2553 และรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ระดับอาเซียนภาคกลางของ หมู่ 3)  วิสาหกิจชุมชนจำนวนมาก เช่น กลุ่มขนมหวานพื้นบ้าน บ้านลูกประคบสมุนไพร (รางวัลนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นลูกประคบธัญพืช  KBO ที่ 1  ระดับประเทศ ) บ้านธูปสมุนไพร รวมทั้งการตั้งกองทุนวันละบาทเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นกับสมาชิกชุมชน มีดูแลเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนโดยการจัดแพทย์มาตรวจรักษาฟรีในวันอังคารและวันพฤหัสบดี เป็นต้น

                        3.5 การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน  จะพบว่าการจัดประชุมทั้งกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่  ชาวบ้านหรือสมาชิกกลุ่มจะสามารถถามสิ่งที่สงสัยได้ทุกครั้ง  หัวหน้ากลุ่มต้องชี้แจงได้ ดังนั้นในทุกกลุ่มอาชีพก็จะมีหัวหน้ากลุ่มที่รับผิดชอบและหัวหน้ากลุ่มและผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเข้าร่วมประชุมสรุปการดำเนินงานอยู่เป็นประจำทุกเดือน

              3.6 รูปแบบการท่องเที่ยวของบางน้ำผึ้ง  จะพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งทำให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวที่ที่โดดเด่น  คือชุมชนบางน้ำผึ้งหลังจากการเปิดตลาดน้ำมากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2547 จะพบการพัฒนาอย่างก้าวหน้า มีนักท่องเที่ยวและกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาดูงาน  แต่ชุมชนยังคงอนุรักษ์ความเป็นบางน้ำผึ้งไว้ได้อย่างสวยงาม และที่ยิ่งน่าศึกษาชุมชนนี้มากกว่าความสวยงามคือความสามัคคีของคนในชุมชนทั้ง 3 ส่วน คือการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร อบต.และผู้ใหญ่บ้าน การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนเอง  เมื่อเกิดการมีส่วนร่วมภายในที่ดี จึงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งตั้งตั้งภายในก่อนที่จะได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ   การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทำให้ชุมชนบางน้ำผึ้งรางวัลกินรี  ปี 2550 และ 2555 เรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จาก ททท.  รางวัลนวัตกรรมการท่องเที่ยวจากสำนักนายก และผลิตภัณฑ์ชุมชนก็ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นลูกประคบธัญพืช  KBO ที่ 1 ระดับประเทศ ได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ระดับอาเซียนของภาคกลาง  และประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนนี้คือ ธนาคารชุมชนที่เข้มแข็งมีปันผลแก่สมาชิกทุกปี กองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ  จัดแพทย์ตรวจรักษาฟรีสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เช่นการจัดให้สมาชิกได้ไปศึกษาดูงานในองค์กรต่างๆ และจัดวิทยากรเข้ามาในพื้นที่ เป็นต้น

 

 

ผลการวิจัยรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง

รูปแบบแหล่งท่องเที่ยวของบางน้ำผึ้ง

    1. ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตั้งอยู่ในหมู่ 10 ซึ่งถือเป็นแหล่งสร้างและกระจายรายได้ให้คนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน

    2. โฮมสเตย์ ตั้งอยู่ในหมู่ 3   ซึ่งโฮมสเตย์ที่เป็นบ้านเรือนไทยเก่าแก่อายุถึง 200 กว่าปีเป็นบ้านทรงไทยสวยสง่า นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น  ชนบท และได้พักในโฮมสเตย์ที่มีคุณภาพตามแนวปฏิบัติของสำนักพัฒนาการท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย อีกทั้งมีวิสาหกิจชุมชนที่มีชื่อเสียง เช่นบ้านธูปสมุนไพร  และลูกประคบธัญพืช

    3. สวนป่าชุมชนที่เขียวขจี ตั้งอยู่ใน หมู่ 4 หมู่ 6 และ  หมู่  11 เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวในบรรยากาศร่มรื่น  พร้อมทั้งซุ้มที่มีป้ายบอกถึงแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน

4.  หมู่บ้านโอท็อปมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ  มีฐานอาชีพต่าง ๆ ให้ฝึกทักษะตามความถนัด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นการทำขนมพื้นบ้าน  สิ่งประดิษฐ์จากกะลามะพร้าวและลูกต้นตีนเป็ด เป็นต้น

5. เส้นทางมรกต  หรือเส้นทางสีเขียว  เป็นเส้นทางจักรยานสำหรับให้นักท่องเที่ยวและชาวชุมชนออกกำลังกายและชื่นชมธรรมชาติสีเขียว  รวมทั้งชื่นชมวิถีชีวิต  วัฒนธรรม  ประเพณี ปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

ภาพที่  5.1  ผลการวิจัยรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง

ที่มา   กันยาวรรนธ์   กำเนิดสินธุ์, (2559) (ผลการวิจัย)

 

 

5.3 ข้อเสนอแนะ

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปปฏิบัติ

  1. จากผลการวิจัยพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งอยู่ในระดับปานกลาง อันเนื่องจากประชาชนไม่ได้สนใจเข้าร่วมในทุกๆด้าน จึงควรมีการสร้างความเข้าใจความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกๆ ด้านเริ่มตั้งแต่ การมีส่วนร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน การส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน มิใช่ให้ความสำคัญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาชุมชน
  2. จากผลการวิจัยพบว่าปัจจัยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดจากความร่วมมือของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ รวมถึงผู้นำกลุ่มย่อยต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าความสามัคคีของผู้นำเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชน ดังนั้นชุมชนที่ต้องการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งจึงควรสร้างความร่วมมือ  ความสามัคคีของกลุ่มผู้นำให้ได้ก่อน  จากนั้นผู้นำจึงร่วมมือกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  3. จากผลการวิจัยพบว่าผู้นำและประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งบางส่วนวิตกกับเรื่องการบริหารจัดการขยะดังนั้นจึงควรเร่งสร้างความเข้าใจในระดับครัวเรือนอย่างเร่งด่วนถึงวิธีการลดขยะปริมาณขยะเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป

 

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

  1. การวิจัยครั้งต่อไป ผู้วิจัยควรให้ข้อมูลถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกับผู้ตอบแบบสอบถามก่อน เพื่อการให้ข้อมูลที่ตรงประเด็นมากขึ้น
  2. ผู้วิจัยหวังว่าข้อมูลการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาชุมชนบางน้ำผึ้ง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนอื่นๆต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยพ.. 2558 – 2560.  [ออนไลน์].

http://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=7114.  [สืบค้นเมื่อ 7พฤศจิกายน

2558].

โกวิทย์ พวงงาม. (2545). การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

         ข้อมูลสำนักบริหารงานทะเบียนท้องถิ่น. อำเภอพระประแดง  ณ เดือน กุมภาพันธ์ 2557

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2539 : 1-2). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

          แห่งชาติฉบับที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม

แห่งชาติ.

เฉลียว บุรีภักดี และคณะ. (2545). ชุดวิชาการวิจัยชุมชน. กรุงเทพฯ : สำนักมาตรฐานการศึกษา

สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ.

ชนินทร์  เกษแก้ว. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9. สัมภาษณ์วันที่ 10 มีนาคม 2559.

นางยุวดี สังข์นาค.  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10.  สัมภาษณ์วันที่ 8 มีนาคม 2559.

บุญจรี ฤทธิ์รัตน์.ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7. สัมภาษณ์วันที่ 10 มีนาคม 2559.

ปิยพงษ์ พูนสวัสดิ์. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3.สัมภาษณ์วันที่ 11 มีนาคม 2559.

พจนา  สวนศรี.  (2546).  เอกสารการสอนชุดวิชาการจัดการนันทนาการและการท่องเที่ยว

          ธรรมชาติ หน่วยที่ 8 – 15. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

เพชรศรี   นนท์ศิริ.  (2551).  วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ.  พิษณุโลก :  มหาวิทยาลัยนเรศวร

รายงาน ASEAN Ecotourism workshop. (2557). [ออนไลน์]. www.tourism.go.th. [สืบค้นเมื่อ

23  ธันวาคม 2558].

วีรพล พรหมมะ.  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4.  สัมภาษณ์วันที่ 10  มีนาคม  2559.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.(2554). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและ

          สังคมแห่งชาติฉบับที่ 11. [ออนไลน์] www.ldd.go.th/files/FilesFolders/Documents.

[สืบค้นเมื่อ 23  ธันวาคม 2558].

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2558).  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประชาคม

          อาเซียน. [ออนไลน์] http://www.aseanthai.net/ewt_news. [25 ตุลาคม 2558].

สำเนาว์  รัศมิทัต.  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง.  สัมภาษณ์วันที่ 19 มีนาคม 2559.

Cohen J. M. & Uphof, N. T. (1980).  Participation’s Place in Rural Development,

         Seeking Clarity Through Specificity. World  Development.

Wood, M. E. (2002). ECOTOURISM, PRINCIPLES, PRACTICES, & POLICIES  FOR  

          SUSTAINABILITY.  United  Nations  Evironment  Program  Division  of

Technology, Industry  and  Economics.

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Public Administration of Faculty of Humanities and Social science Rajabhat Bansomdej Chaopraya University

ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์

ชื่อผลงานทางวิชาการ         ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์

เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปีที่พิมพ์                           2560

ข้อมูลเพิ่มเติม      เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาการจัดการและพัฒนาสังคม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฉบับพิเศษ 19 มกราคม 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์กรองทอง  หีบโคกสูง การจัดการโลจิสติกส์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

          บทความวิจัย   เรื่อง      ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  SATISFACTION OF TOURISTS TOWARD THE TOURISM    LOGISTICS MANAGEMENT CASE STUDY : AYUTTHAYA PROVINCE ผู้ศึกษา คือ อาจารย์กรองทอง หีบโคกสูง   สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จำแนกตาม เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 383 คน และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่วนการทดสอบสมมติฐานใช้ค่าสถิติ t-test ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ใช้สถิติ One – way ANOVA โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการวิจัยพบว่า ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรวมอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการเข้าถึงสถานที่ ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ด้านความสะดวกสบาย ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านราคา (ค่าใช้จ่าย) รองลงมา คือ ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร และด้านเวลา นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว

ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว พบว่า เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกันจึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย ทำให้ทราบระดับความพึงพอใจและผลการเปรียบเทียบของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลการวิจัยไปพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

SATISFACTION OF TOURISTS TOWARD THE TOURISM

LOGISTICS MANAGEMENT CASE STUDY : AYUTTHAYA PROVINCE

 

                                                                                      กรองทอง หีบโคกสูง[1]

 

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จำแนกตาม เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 383 คน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่วนการทดสอบสมมติฐานใช้ค่าสถิติ t-test ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ใช้สถิติ One – way ANOVA โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการวิจัยพบว่า ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรวมอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการเข้าถึงสถานที่ ด้านการให้บริการแกนักท่องเที่ยว ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ด้านความสะดวกสบาย ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านราคา (ค่าใช้จ่าย) รองลงมา คือ ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร และด้านเวลา นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว

ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว พบว่า เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกันจึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย

 

คำสำคัญ: โลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว, นักท่องเที่ยว

Abstract

This study aimed to determine and compare tourists toward the tourism logistics management of  Ayutthaya Province, as classified by gender, age, marital status, education level and occupation. The tool for data collection was a questionnaire given to 383 people who used the service system of Ayutthaya Province, and chosen by random sampling. Statistical tools used in the data analysis were frequency, percentage, mean, standard deviation, t- test and One – way ANOVA with a statistical significance set at 0.05

The results of the study showed that, most people in the study were satisfied

with the tourists toward the tourism logistics management at the highest satisfaction level. When focusing on each particular aspect, it was found that the highest mean scores were: first, accessability, safety, environmental friendliness and price; second, Information and time.

With comparison of people’s level of satisfaction with the tourists toward the tourism logistics management of Ayutthaya Province by population factor, it can be concluded that differences in gender, age, marital status, education level and occupation were not significantly no different.

 

Keyword: Tourism logistics, Tourist

_________________________________________________________________________

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีอายุยาวนาน และมีอารยธรรมที่เก่าแก่ โดยการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี 2558 พบว่าสถิติผู้มาท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 1,678,000 คน บวกกับนักทัศนาจร 5,368,000 คน ซึ่งเมื่อรวมแล้วนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาเยี่ยมเยือน 7,046,000 คน (อิสระพงษ์ แทนศิริ, 2558)

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และต่างชาติร้อยละ 30 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 13,000 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 16 ของประเทศ รายได้จากแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจจะมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่าชาวต่างชาติ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557)

ในปัจจุบันการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประชาชนในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยอย่างยิ่งถ้าใช้วิธีการจัดการโลจิสติกส์เพื่อไปช่วยจัดระบบการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอารยธรรม ประวัติศาสตร์ และเป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจากรุงเทพมหานคร เหมาะแก่การพัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว โดยผลที่ได้จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีความสะดวก สบาย ปลอดภัย ทั้งในด้านเวลา ต้นทุน และเกิดความพึงพอใจสูงสุดของนักท่องเที่ยว โดยแนวคิดในการวิเคราะห์การขนส่งนักท่องเที่ยวไว้ 8 ประการ คือ สิ่งที่มีให้บริการ การเข้าถึง ข้อมูลข่าวสาร เวลา การเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Lumsdon and Page, 2004) โดยต่อมาเพื่อให้เหมาะกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มขึ้นมาอีก 4 ประการ คือ แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว ถนนคนเดิน จุดทำเงิน การสร้างความเพลิดเพลินระหว่างการเดินทาง (คมสัน สุริยะ, 2551) ปัญหาด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่เรื่องแหล่งท่องเที่ยว หากแต่อยู่ที่การจัดการห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) ซึ่งก็คือการจัดการขั้นตอนต่าง ๆ ในการบริการที่ต้องต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเวลาต้นทุน และเกิดความพึงพอใจสูงสุด (มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด, 2551)

 

วัตถุประสงค์ในการวิจัย

  • เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำแนกเพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

สมมติฐานการวิจัย

          สมมติฐานที่ 1 นักท่องเที่ยวที่มีลักษณะประชากรศาสตร์แตกต่างกันจะมีความพึงพอใจต่อการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว ในด้านต่างๆ แตกต่างกัน

สมมติฐานที่ 2 นักท่องเที่ยวที่มีลักษณะประชากรศาสตร์แตกต่างกันจะมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน

 

ขอบเขตในการวิจัย

ในการวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการวิจัยเป็นการศึกษานักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยไม่เจาะจงรูปแบบการเดินทาง

โดยมีตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ตัวแปรด้านประชากรศาสตร์ คือ เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้

เฉลี่ยต่อเดือน

  • ตัวแปรด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยว คือ จำนวนครั้งของการมาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเดินทางมาท่องเที่ยวท่านมากับใคร การจัดการเดินทางมาท่องเที่ยว ช่วงเวลาใดที่ท่านเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ รูปแบบการเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดประสงค์หลักที่ท่านเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ ท่านมาท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนหรือไม่ สถานที่ท่องเที่ยวที่ชอบมากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านใช้จ่ายเงินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวท่านเสียค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ท่านได้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งใดในการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และท่านรู้สึกอย่างไรกับการมาท่องเที่ยวครั้งนี้
  • ตัวแปรด้านความพึงพอใจ ได้แก่ ด้านการเข้าถึงสถานที่ ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร ด้านเวลา ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ด้านความสะดวกสบาย ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านราคา (ค่าใช้จ่าย)

 

 

            

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

การเลือกกลุ่มตัวอย่างจะใช้ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental sampling) ที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของปี 2557 มีทั้งหมด 5,213,103 คน ได้กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างในกรณีที่ทราบจำนวนประชากรโดยใช้สูตรของ (Taro Yamane, 1973) โดยใช้สูตรดังนี้

 

 

 

ดังนั้น จากการคำนวณหาขนาดตัวอย่าง พบว่าขนาดตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย 400 ตัวอย่าง โดยแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์จำนวน 383 ชุด ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

 

เครื่องมือการวิจัย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามจำนวน 1 ชุด เป็นแบบสอบถามสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมการท่องเที่ยวและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อองค์ประกอบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว

การวิเคราะห์ข้อมูล

การทดสอบสมมติฐานใช้ค่าสถิติ t-test ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ใช้สถิติ One – way  ANOVA โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

ผลการศึกษา

การวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษานี้สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ 2) การวิเคราะห์ข้อมูลด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว 3) การวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านต่างๆ และ 4) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ กับระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนี้

  1. การวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยด้านประชากรศาสตร์

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 64.5 และนักท่องเที่ยวเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 35.5 ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 21-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 37.3 ในด้านสถานภาพพบว่าส่วนใหญ่มีสถานภาพโสด คิดเป็นร้อยละ 73.4 ในด้านระดับการศึกษาส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 45.4 ในด้านอาชีพส่วนใหญ่มีอาชีพนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 45.4 ด้านสุดท้ายในด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.0

 

  1. การวิเคราะห์ข้อมูลด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยแล้วพบว่ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2 ครั้ง ส่วนใหญ่การเดินทางมาท่องเที่ยวท่านมากับครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 55.9 ส่วนการจัดการเดินทางมาท่องเที่ยวจะจัดการเดินทางเอง คิดเป็นร้อยละ 92.2 ช่วงเวลาใดที่ท่านเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆส่วนใหญ่จะทำการเดินทางมาในช่วง เสาร์ – อาทิตย์ คิดเป็นร้อยละ 72.6 โดยรูปแบบการเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนบุคคล คิดเป็นร้อยละ 67.4 โดยจุดประสงค์หลักที่เดินทางมาท่องเที่ยว ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ คิดเป็นร้อยละ 80.9 โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ต้องการพักค้างคืน คิดเป็นร้อยละ 83.8 โดยส่วนใหญ่สถานที่ท่องเที่ยวที่ชอบมากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ วัด จำนวน 189 คน คิดเป็นร้อยละ 49.3 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะใช้จ่ายด้วยเงินสด คิดเป็นร้อยละ 100 โดยค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวท่านเสียค่าใช้จ่าย 501 – 1,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 100 โดยข้อมูลข่าวสารได้มาจากการบอกเล่าจากคนรู้จัก คิดเป็นร้อยละ 43.9 ความรู้สึกต่อการท่องเที่ยวในครั้งนี้ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะประทับใจ คิดเป็นร้อยละ 51.4 และความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวจะกลับมาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกครั้ง คิดเป็นร้อยละ 97.7

 

  1. การวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านต่างๆ

ตารางที่ 1 : ตารางค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโล-     จิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว  S.D. ระดับความพึงพอใจ
1.       ด้านการเข้าถึงสถานที่

2.       ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

3.       ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร

4.       ด้านเวลา

5.       ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว

6.       ด้านความสะดวกสบาย

7.       ด้านความปลอดภัย

8.       ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

9.       ด้านราคา (ค่าใช้จ่าย)

3.18

3.18

2.97

2.97

3.05

3.11

3.01

3.02

3.11

0.55

0.62

0.69

0.65

0.67

0.63

0.64

0.71

0.61

มากที่สุด

มากที่สุด

มาก

มาก

มากที่สุด

มากที่สุด

มากที่สุด

มากที่สุด

มากที่สุด

ภาพรวม 3.07 0.64 มากที่สุด

 

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในภาพรวมในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.07 โดยแบ่งออกเป็นด้านการเข้าถึงสถานที่อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.18 ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.18 ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยวอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.05 ด้านความสะดวกสบายอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.11 ด้านความปลอดภัยอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.01 ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.02 ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.11 ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสารอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.97 และด้านเวลาอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.97

 

  1. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ กับระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามสถานภาพทางเพศ พบว่า ความพึงพอใจโดยภาพรวม และความพึงพอใจทุกด้านไม่มีความแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามช่วงอายุโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามสถานภาพโดยภาพรวม พบว่า มีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามระดับการศึกษาโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามอาชีพโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามรายได้เฉลี่ยต่อเดือนโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน

 

อภิปรายผลการวิจัย

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะพบว่าความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีเพียง 2 ด้านเท่านั้นที่อยู่ในระดับมาก นั้นคือ ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร และด้านเวลา จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงประเด็นหลัก คือ การที่ทำให้การเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีแผ่นป้าย แผ่นผับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแจกให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น การประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์/วิทยุ ไม่เพียงแต่การประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ควรประชาสัมพันธ์ทางด้านข้อมูลร้านอาหารด้วย ร่วมถึงมีศูนย์ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวหลายจุดเพิ่มมากขึ้น ส่วนทางด้านเวลา ควรจัดเวลาการเดินรถระบบขนส่งสาธารณะให้ตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวโดยไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อให้การท่องเที่ยวง่ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่น มีระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวอาจอยากเดินทางด้วยรถสาธารณะเพื่อมาท่องเที่ยวที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

 

ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย

จากการวิจัยพบว่าประเด็นที่ผู้วิจัยเสนอแนะเพิ่มเติม คือ

  1. ควรปรับปรุงการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องสามารถหาข้อมูลการท่องเที่ยวได้ง่าย โดยไม่เพียงแต่การประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว ควรประชาสัมพันธ์ทางด้านร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ และของที่ระลึกของทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใช้บริการ
  2. ควรปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดตารางการเดินรถที่ตรงต่อเวลา เพื่อที่จะไม่ให้นักท่องเที่ยวเสียเวลาในการท่องเที่ยว
  3. ในการทำวิจัยครั้งต่อไปควรจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดมูลค่าต่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากผลที่ได้ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางท่องเที่ยว ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้เส้นทางที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

 

เอกสารอ้างอิง

กัลยา วาณิชย์บัญชา. (2546). การใช้ SPSS FOR WINDOWS ในการวิเคราะห์ข้อมูล: กรุงเทพฯ:

บริษัทธรรมสาร จำกัด.

คมสัน สุริยะ. (2551). กรอบแนวคิดโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว. วันที่ค้นข้อมูล 13 พฤษภาคม

2559, เว็บไซต์: www.tourismlogistics.com

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2557). การวิเคราะห์ข้อมูลการท่องเที่ยว เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์จังหวัด

พระนครศรีอยุธยา. วันที่ค้นข้อมูล 15 พฤษภาคม 2559, เว็บไซต์: osthailand.nic.go.th/files/policy_sector/…/Tourism-Ayuthaya

มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด. (2551). ทิศทางการท่องเที่ยวไทย. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อิสระพงษ์ แทนศิริ. (2558). วารสารศาสตร์ดิจิทัล. วันที่ค้นข้อมูล 11 พฤษภาคม 2559,

จากหนังสือพิมพ์รังสิต เว็บไซต์: http://www.jr-rsu.net/article/2107

Lumsdon, Les and Stephen Page. (2004). Progress in Transport and Tourism Research

Reformulating the  Transport-Tourism Interface and Future Research Agendas.

 

 

 

 

[1] อาจารย์  สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  อีเมล์: [email protected]

การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรกร ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 ชื่อผลงานทางวิชาการ             การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรกร ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปีที่พิมพ์    2556

ข้อมูลเพิ่มเติม      เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาการจัดการและพัฒนาสังคม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฉบับพิเศษ 19 มกราคม 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์นเรศ นิภากรพันธ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ 

คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทความวิจัย เรื่อง      การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม :กรณีศึกษา

เกษตรกร ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ศึกษา คือ อาจารย์นเรศ นิภากรพันธ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์    เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม และปัจจัยที่ส่งผลกระทบถึงต้นทุนการผลิต รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือเกษตรผู้เลี้ยงหอยนางรมในเขตพื้นที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 52 ราย

จุดเน้นของการวิจัยนี้ จะบ่งชี้ให้เห็นถึงสถิติตัวเลขเกี่ยวกับ การดำเนินงานของเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม ค่าจ้างแรงงาน ค่าเสียโอกาส ต้นทุน ค่าอุปกรณ์และผลตอบแทน รวมถึงรายได้จากการผลิตหอยนางรม ปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน.

ผลการศึกษาพบว่าการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจะมีต้นทุนเฉลี่ย 1,704.71 บาท/ไร่ และ

รายได้เฉลี่ย 1,716.18 บาท/ไร่ โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนเท่ากับ 1.01 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายได้ที่ผู้ผลิตหอยนางรมได้รับนั้นมากกว่าต้นทุนการผลิตหอยนางรม ดังนั้นการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจึงเหมาะสมต่อการลงทุน โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและต้นทุนการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร ได้แก่ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งประกอบด้วยปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากทำให้น้ำทะเลมีความเค็มลดลงส่งผลให้หอยนางรมตาย คิดเป็นร้อยละ 37.96 ของต้นทุนการผลิต การปล่อยน้ำเสียจากบ่อกุ้งและโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่ทะเล คิดเป็นร้อยละ 52.06 ของต้นทุนการผลิต และการลักขโมยหอยนางรมคิดเป็นร้อยละ 9.98ของต้นทุนการผลิต  แนวทางแก้ไขจะพบว่า ในด้านของปัญหาการลักขโมยหอยนางรมนั้นเกษตรกรจะต้องทำการเฝ้าระวังเอง ส่วนในด้านของน้ำเสียและฝนตกนั้นยังไม่มีแนวทางแก้ไข แต่จะการผลิต  แนวทางแก้ไขจะพบว่า ในด้านของปัญหาการลักขโมยหอยนางรมนั้นเกษตรกรจะต้องทำการเฝ้าระวังเอง ส่วนในด้านของน้ำเสียและฝนตกนั้นยังไม่มีแนวทางแก้ไข แต่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย  เป็นแนวทางในการตัดสินใจให้แก่เกษตรกร ผู้ที่ต้องการทำอาชีพเลี้ยงหอยนางรม เป็นอาชีพที่น่าลงทุน เนื่องจากมีรายได้มากกว่าต้นทุน รวมถึงแสดงให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงหอยนางรม ว่ามีปัญหาด้านใดบ้าง จะให้เกษตรกรรุ่นหลังเตรียมแก้ไข ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น

 

การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิต

หอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรกรในเขต

อำเภอกาญจนดิษฐ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี

COST AND BENEFITS ANALYSIS OF OYSTER PRODUCTION

A CASE  STUDY

KANCHANADIT IN SURAT THANI.

 

นเรศ  นิภากรพันธ์1

Naret Nipakronpan1

1อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

     การศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม และปัจจัยที่ส่งผลกระทบถึงต้นทุนการผลิต รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร

กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือเกษตรผู้เลี้ยงหอยนางรมในเขตพื้นที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 52 ราย โดยเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามเกษตรกร และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย และร้อยละ ในการคำนวณอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนจะใช้รายได้จากการขายและต้นทุนในการผลิต

ผลการศึกษาพบว่าการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจะมีต้นทุนเฉลี่ย 1,704.71 บาท/ไร่ และรายได้เฉลี่ย 1,716.18 บาท/ไร่ โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนเท่ากับ 1.01 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายได้ที่เกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมได้รับนั้นมากกว่าต้นทุนการผลิตหอยนางรม ดังนั้นการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจึงเหมาะสมต่อการลงทุน โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและต้นทุนการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร ได้แก่ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งประกอบด้วยปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากทำให้น้ำทะเลมีความเค็มลดลงส่งผลให้หอยนางรมตาย คิดเป็นร้อยละ 37.96 ของต้นทุนการผลิต การปล่อยน้ำเสียจากบ่อกุ้งและโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่ทะเล คิดเป็นร้อยละ 52.06 ของต้นทุนการผลิต และการลักขโมยหอยนางรมคิดเป็นร้อยละ 9.98ของต้นทุนการผลิต  แนวทางแก้ไขจะพบว่า ในด้านของปัญหาการลักขโมยหอยนางรมนั้นเกษตรกรจะต้องทำการเฝ้าระวังเอง ส่วนในด้านของน้ำเสียและฝนตกนั้นยังไม่มีแนวทางแก้ไข แต่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ

คำสำคัญ: การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทน, การผลิตหอยนางรม, อำเภอกาญจนดิษฐ์, จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ABSTRACT

     Cost and benefit analysis of oyster production a case study Kanchadit in Surat Thani. The objective to study the cost and benefit analysis of oyster production and the factor affecting production cost. Including the problems happened in the production of oyster agriculturist.

The sampling groups were 52 case of oyster agriculturist in Kanchadit, Surat Thani province. The research tools were interview questionnaires, statistics for data analysis such as average percentage. The calculation of return on the using revenue from the sales and production cost.

The results showed that production of agriculturist’s oyster have an average cost 1,704.71 baht /rai and average revenue 1,716.18 baht per rai.ฟังอ่านออกเสียง Return on costs was 1.01 demonstrating that Income agriculturist’s oyster production has been higher than the cost of producing oysters. Therefore, the productions of oyster agriculturist are  suitable for investment. The factors that will affect production and production costs of agriculturist’s oyster. Including external factors that can’t control. Consists of rain that has a lot of the water salinity resulted in reduced oyster mortality. Representing 37.96 percent of the cost of production. Discharge of wastewater from shrimp ponds and factories into the sea. Representing 52.06 percent of the cost of production. And stealing oysters per cent. 9.98 of the cost of production. Solution is found. In the problem of theft of oysters, Agriculturist will have to watch yourself. In the area of waste water and rain is not solution yet. But will receive assistance from the government in the event of natural disasters.

 

Keyword: Cost and Benefit Analysis, Oyster production, Kanchanadit, Surat Thani Province.

บทนำ

          หอยนางรมมีชื่อสามัญคือ Oyster หอยนางรม (วงศ์ Osteridae) นั้นมีหลายสายพันธุ์แต่ที่นิยมใช้เลี้ยงกันอยู่โดยทั่วไปนั้น แบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ หอยนางรมพันธุ์เล็กหรือหอยนางรมปากจีบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saccostreacommercoalis หอยนางรมพันธุ์นี้มีเลี้ยงมากทางภาคตะวันออก ส่วนหอยนางรมอีกสองพันธุ์ที่เหลือเป็นหอยนางรมที่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่เรียกว่า หอยตะโกรม (Crassostreabelcheri) และหอยตะโกรมกรามดำ (C.lugubris) แม้ว่าจะมีการเลี้ยงกันบ้างในภาคตะวันออก แต่การเลี้ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตจังหวัดภาคใต้

โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงหอยนางรมเป็นจำนวนมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยงหอยนางรมและมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ลักษณะการขึ้นลงของน้ำทะเลไม่รุนแรงมากนัก อีกทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีลักษณะเป็นอ่าวที่บรรจบกับแม่น้ำที่เป็นน้ำจืดกับน้ำทะเล จึงทำให้ระดับความเค็มของน้ำทะเลอยู่ในสภาวะสมดุลที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของหอย ประกอบกับเป็นบริเวณที่แม่น้ำตาปีไหลมาบรรจบจึงเกิดเป็นน้ำกร่อยที่มีระดับความเค็มพอเหมาะและอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมทำให้มีแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของหอยนางรมมีเป็นจำนวนมาก  จากลักษณะที่หอยนางรมเป็นหอยสองฝาที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงจึงมีผู้บริโภคหอยนางรมกันมากและตลาดของหอยนางรมนั้นยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก เพราะผลผลิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศทำให้การเพาะเลี้ยงหอยนางรมมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น

คำขวัญจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ว่า  เมืองร้อยเกาะ  เงาะอร่อย  หอยใหญ่  ไข่แดง  แหล่งธรรมะซึ่งแสดงให้เห็นว่าหอยนางรมเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกทั้งราคาของหอยนางรมมีราคาสูงมาก  จึงทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาในเรื่องของต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม เพื่อทราบถึงต้นทุนและผลตอบแทนที่แท้จริงของการผลิตหอยนางรมและปัจจัยที่ส่งผลกระทบถึงต้นทุนการผลิต รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร โดยนำผลการศึกษาที่ได้ไปเป็นแนวทางในการวางแผนการผลิต หอยนางรมของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  2. เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  3. เพื่อศึกษาถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขในการเลี้ยงหอยนางรม

 

ขอบเขตของการศึกษา

การศึกษาเรื่องต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตหอยนางรมนี้  จะศึกษาเกษตรกรในเขต อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะทำการศึกษาวิธีการดำเนินการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 52 ราย โดยทำการศึกษาข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคม 2555 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556

 

ระเบียบวิธีวิจัย

การศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตหอยนางรมของเกษตรในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการดำเนินการดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากร

ประชากรที่ศึกษา ได้แก่เกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์มีทั้งหมด 13 ตำบล แต่ผู้วิจัยจะทำการศึกษาเฉพาะ 5 ตำบล เนื่องจาก 5 ตำบลนี้จะมีบริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเล ซึ่งจะเป็นบริเวณที่ใช้ในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร ส่วนที่เหลืออีก 8 ตำบล จะไม่มีพื้นที่ติดบริเวณชายฝั่งทะเลจึงทำให้เกษตรกรไม่มีการผลิตหอยนางรม

กลุ่มตัวอย่าง

การศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนฟาร์มหอยนางรมทั้งหมด 525 ราย (จากการสอบถามจากเกษตรกร) และเนื่องจากประชากรมีความคล้ายคลึงในด้านของวิธีการผลิต ผู้วิจัยจึงได้กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 52 ราย จากทั้งหมด 525 ราย มาเป็นตัวแทนในการวิจัย โดยใช้วิธีการสุ่มแบบลูกโซ่ (ตามคำแนะนำของเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่มีความรู้)

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือแบบสอบถาม โดยการวางแนวคำถามตามประเด็นในกรอบความคิดของการวิจัย ซึ่งครั้งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร

ตอนที่ 2 การดำเนินการผลิตหอยนางรม

ตอนที่ 3 ต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิต

ตอนที่ 4 สภาพปัญหาการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร

โดยแบบสอบถามจะมีลักษณะคำถามเป็นคำถามปลายปิด ดังตัวอย่างของแบบสัมภาษณ์ซึ่งสอดคล้องกับกรอบแนวความคิดของการวิจัยที่ได้แนบไว้

 

การเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยแบบสอบถามที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แบ่งออกเป็น 4 ตอนดังนี้

ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร

ตอนที่ 2 การดำเนินการผลิตหอยนางรม

ตอนที่ 3 ต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิต

ตอนที่ 4 สภาพปัญหาการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร

ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามจะได้นำมาทำการรวบรวมข้อมูลโดยการจัดเรียงข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Excel เข้ามาช่วยในการจัดเรียงข้อมูล เพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป

การวิเคราะห์ข้อมูล

จากข้อมูลที่ได้จากการสอบถามโดยใช้แบบสอบถามแล้ว ผู้วิจัยจะนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัย โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ดังนี้

  1. ใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 โดยการนำข้อมูลที่จากแบบสอบถามของเกษตรกรมาทำการวิเคราะห์เพื่อศึกษาถึงต้นทุนและผลตอบแทนที่ได้รับจากการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร ในการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตหอยนางรม สามารถนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาทำการวิเคราะห์ได้จากดังนี้

การวิเคราะห์ต้นทุน (Cost Analysis)

ต้นทุนรวม (Total Cost: TC)

เป็นต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ ในการผลิตสินค้าและบริการจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วยต้นทุนคงที่รวมและต้นทุนผันแปรรวม สามารถคำนวณได้จากสมการ

TC = TFC + TVC

ต้นทุนคงที่รวม(Total Fixed Cost: TFC)

เป็นต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณการผลิต หรือเป็นต้นทุนที่จ่ายสำหรับปัจจัยคงที่ทุกชนิดของธุรกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับอัตราการผลิตหนึ่ง เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่าที่ดิน ค่าเครื่องมือ-อุปกรณ์ ค่าเช่าโรงเรือน ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น เหล่านี้เป็นต้นทุนที่กิจการไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่ากิจการจะทำการผลิตสินค้าหรือไม่ก็ตาม

ต้นทุนผันแปรรวม(Total Variable Cost: TVC)

เป็นต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณการผลิตหรือเป็นต้นทุนที่จ่ายสำหรับการใช้ปัจจัยผันแปรจำนวนต่างๆกัน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณการผลิต เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื่อเพลิง จำนวนแรงงาน หรือชั่วโมงทำงาน ค่าอาหาร  และค่าพาหนะ เป็นต้น

ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)

ในการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ค่าเสียโอกาสในการใช้แรงงาน ค่าเสียโอกาสที่ดิน ค่าเสียโอกาสสำหรับเงินทุนของผู้ผลิตเองที่ใช้ในการซื้อเครื่องจักรและเครื่องมือ ค่าเสียโอกาสในการใช้เงินทุนหมุนเวียน

ผลตอบแทนจากการผลิต (Benefit of  Production)

ผลตอบแทนจากการผลิตทาง การเกษตรในที่นี้ หมายถึง รายได้  (Income )

รายรับรวม  (Total Revenue : TR) คือจำนวนเงินที่เกษตรกรได้จากการขายผลผลิตที่ผลิตได้จากฟาร์มซึ่งเท่ากับ ราคาผลผลิต ( P ) คูณด้วยจำนวนผลผลิต ( Q )

 

  1. ใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 และ 3 โดยการนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามของเกษตรกรมาทำการศึกษาถึงปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตหอยนางรม รวมทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เกิดขึ้นในการผลิตหอยนางรม

 

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

การศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรมครั้งนี้ได้กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 52 ราย จากประชากรทั้งหมด 525 ราย ที่ผลิตหอยนางรมในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี การวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งออกเป็น 5 ตอนดังนี้คือ

ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร

ตารางที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรม

รายการ จำนวนราย ร้อยละ n=52
เพศ

ชาย

หญิง

28

24

53.84

46.16

อายุ

25 ปี – 35 ปี

36 ปี – 45 ปี

46 ปี – 55 ปี

55 ปีขึ้นไป

4

20

13

15

7.69

38.46

25.00

28.85

ระดับการศึกษา

ประถมศึกษา

มัธยมศึกษาตอนต้น

มัธยมศึกษาตอนปลาย

อนุปริญญา

ปริญญาตรี

31

6

9

4

2

59.62

11.54

17.31

7.69

3.84

  จำนวน(ราย) ค่าเฉลี่ย สูงสุด ต่ำสุด
ประสบการณ์(ปี) 52 14.42 30 1

ที่มา: จากการสำรวจและการคำนวณ

 

จากการสอบถามพบว่าเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมส่วนใหญ่(ร้อยละ 54) เป็นเพศชาย โดยอายุของเกษตรกรร้อยละ 38 มีอายุ 36 ปี – 45 ปี ร้อยละ 29 จะเป็นเกษตรกรที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ร้อยละ 25 จะมีอายุอยู่ที่ 46 ปี – 55 ปี ส่วนอายุ 25 ปี – 35 ปี จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8

ทั้งนี้ระดับการศึกษาของเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 60 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ร้อยละ17 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 12 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนเกษตรกรที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาและระดับปริญญาตรี มีร้อยละ 8 และร้อยละ 4 ตามลำดับ

ด้านการประกอบอาชีพพบว่าเกษตรกรได้ทำการผลิตหอยนางรมเป็นอาชีพหลักและเป็นเจ้าของกิจการเองโดยเงินทุนที่ใช้ในการผลิตหอยนางรมจะใช้เงินทุนของตนเอง ในด้านประสบการณ์ในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14 ปี โดยที่ประสบการณ์ในการผลิตหอยนางรมสูงสุดเท่ากับ 30 ปี และต่ำสุดคือ 1 ปี

ตอนที่ 2 ด้านการดำเนินงาน

ตารางที่ 2 การดำเนินงานของเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรม

รายการ จำนวน(ราย)   ร้อยละ n=52
วิธีการเลี้ยง
แท่งซีเมนต์ 24 46.16
หลอดหรือท่อซีเมนต์ 28 53.84
จำนวน(ราย) ค่าเฉลี่ย สูงสุด ต่ำสุด
พื้นที่เพาะเลี้ยง 52 14.42 100 4
แรงงาน จ้าง ร้อยละ ทำเอง ร้อยละ
การปักแท่งซีเมนต์,หลอดซีเมนต์ 20 38.46 32 61.54
การปักเขต 14 26.92 38 73.08
การเก็บหอย 16 30.77 36 69.23
ค่าจ้างแรงงาน ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย ค่าเสียโอกาสแรงงานเฉลี่ย
การปักแท่งซีเมนต์,หลอดซีเมนต์(บาท/ไร่/เดือน) 83.63

69.38

94.21

0

74.35

35.99

72.09

334.65

การปักเขต(บาท/ไร่/เดือน)
การเก็บหอย(บาท/ไร่/เดือน)
การเฝ้าระวัง(บาท/ไร่/เดือน)
รวม 247.22 517.08

ที่มา : จาการสำรวจและการคำนวณ

 

หมายเหตุ :

  1. ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยต่อไร่คิดจาก ค่าจ้างแรงรวม/พื้นที่รวม
  2. ค่าเสียโอกาสแรงงานในครัวเรือน ค่าจ้างแรงรวม /พื้นที่รวม โดยค่าจ้างแรงงานครัวเรือนต่อคน คือ 172 บาท /วัน (กระทรวงแรงงาน.2555)

จากการสอบถามพบว่าเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมส่วนใหญ่(ร้อยละ 54) จะเลี้ยงโดยการใช้หลอดซีเมนต์หรือท่อซีเมนต์ และร้อยละ 46 จะใช้แท่งซีเมนต์ และพื้นที่การเพาะเลี้ยงหอยนางรมของเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14 ไร่ โดยมีพื้นที่การผลิตหอยนางรมสูงสุดเท่ากับ 100 ไร่ และต่ำสุดคือ 4 ไร่

ในด้านของแรงงานในการดำเนินการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรในขั้นการปักแท่งซีเมนต์หรือหลอดซีเมนต์ส่วนใหญ่(ร้อยละ62) จะดำเนินการทำเองโดยจะมีค่าเสียโอกาสประมาณ 74 บาท/ไร่ ส่วนร้อยละ 38 จะมีการจ้างแรงงานมาดำเนินการแทน โดยจะมีค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย 84 บาท/ไร่ ในขั้นของการปักเขตเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของนั้นสวนใหญ่ (ร้อยละ 73) จะมีการดำเนินการเอง โดยจะมีค่าเสียโอกาสประมาณ 36 บาท/ไร่ ส่วนร้อยละ 27 จะมีการจ้างแรงงานมาดำเนินการ โดยจะมีค่าจ้างเฉลี่ย 69 บาท/ไร่ และในขั้นของการเก็บผลผลิตหรือการเก็บหอยนางรมนั้นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69) จะมีการดำเนินการเอง โดยจะมีค่าเสียโอกาสประมาณ 72 บาท/ไร่ ส่วนร้อยละ 31 จะการจ้างแรงงานมาดำเนินการแทน โดยจะมีค่าจ้างเฉลี่ย 94 บาท/ไร่  ทั้งนี้ในขั้นตอนการเฝ้าระวังนั้นเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมจะมีการไปเฝ้าเองโดยจะมีค่าเสียโอกาสประมาณ 335 บาท/ไร่

กระบวนการผลิต

 

ตอนที่ 3 ด้านต้นทุนและผลตอบแทน

 

ตารางที่ 3 ต้นทุนค่าอุปกรณ์

รายการ จำนวน

(หน่วย/ไร่)

จำนวนเงิน

(บาท/หน่วย)

จำนวนเงิน

(บาท/ไร่)

อายุการใช้งาน(ปี) ค่าเสื่อม

(บาท/เดือน)

ค่าเสียโอกาส

(บาท/เดือน)

ค่าแท่งปูน 2,565 15 38,475 12 267.19 167
ค่าเรือ 1 12,375 12,375 20 51.56 32.23
ค่าที่พัก 1 35,882 35,882 25 119.61 74.75
รวม 438.36 273.98

ที่มา: จาการสำรวจและคำนวณ

 

หมายเหตุ :

  1. ค่าเสื่อมราคาคิดจาก

ราคาทุน/จำนวนปีใช้งาน *  1/12

  1. ในการคิดค่าเสียโอกาสคิดในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ร้อยละ 0.625/ปี (ธนาคารพาณิชย์.2555)

จากการศึกษาพบว่าในพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปักแท่งซีเมนต์ได้ประมาณ 2,565 แท่ง โดยจะมีราคาเฉลี่ยแท่งละ 15 บาท และมีอายุการใช้งาน 12 ปี จะมีค่าเสื่อมราคาของแท่งซีเมนต์เท่ากับ 267.19 บาท/เดือนและมีค่าเสียโอกาสเท่ากับ 167 บาท/เดือน และในการดำเนินการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจะมีการใช้เรือยนต์โดยเรือยนต์จะมีราคาเฉลี่ย 12,375 บาท/ลำ มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 20 ปี จะมีค่าเสื่อมราคาของเรือเท่ากับ 51.56 บาท/เดือน และมีค่าเสียโอกาสเท่ากับ 32.23 บาท/เดือน ทั้งนี้เกษตรกรยังมีการสร้างที่พักไว้เพื่อพักอาศัยในเวลากลางคืนตอนที่ทำการเฝ้าระวังโดยที่พัก จะมีราคาเฉลี่ย 35,882 บาท/ไร่  มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 25 ปี จะมีค่าเสื่อมราคาของที่พักเท่ากับ 119.61 บาท/เดือน และมีค่าเสียโอกาสเท่ากับ 74.75 บาท/เดือน

ตารางที่ 4 ต้นทุนของการผลิตหอยนางรม (ไร่ : เดือน)

รายการ ต้นทุนที่เป็นตัวเงิน ต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน ต้นทุนรวม
ต้นทุนคงที่     719.01
ค่าน้ำ 6.67 6.67
ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ 438.36 438.36
ค่าเสียโอกาสเงินทุนอุปกรณ์ 273.98 273.98
ต้นทุนผันแปร     985.7
แรงงาน 247.22 247.22
ค่าเชื้อเพลิง 221.4 221.4
ค่าเสียโอกาสด้านแรงงาน 517.08 517.08
รวม 475.29 962.23 1,704.71

ที่มา: จากการสำรวจและคำนวณ

 

หมายเหตุ :

  1. ค่าน้ำ 80 บาท/ไร่/ปี เมื่อคิดเป็นเดือนจะได้ 6.67 บาท /ไร่/ เดือน
  2. ตัวเลขต้นทุนนำมาจากตารางที่ 2 และตารางที่ 3

             จากการสอบถามจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมพบว่าในด้านของต้นทุนการผลิตหอยนางรมจะประกอบด้วยต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร โดยต้นทุนส่วนใหญ่ของเกษตรกรจะเป็นต้นทุนที่ไม่ได้จ่ายออกไปเป็นตัวเงิน และต้นทุนที่จ่ายออกเป็นตัวเงินจะประกอบด้วยต้นทุนคงที่คือค่าน้ำ (อาชญาบัตร) 6.67 บาท /ไร่/เดือน ส่วนต้นทุนผันแปรประกอบด้วยค่าจ้างแรงงาน 247.22 บาท/ไร่/เดือน และค่าเชื้อเพลิง 221.4 บาท/ไร่/เดือน จะเห็นได้ว่าต้นทุนที่จ่ายออกเป็นตัวเงินหรือต้นทุนการผลิตทางบัญชีจะเท่ากับ 475.29 บาท/ไร่/เดือน

ในด้านของต้นทุนที่ไม่ได้จ่ายออกไปเป็นตัวเงินจะประกอบด้วยต้นทุนคงที่คือ ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ 438.36 บาท /ไร่ /เดือน และค่าเสียโอกาสเงินทุนอุปกรณ์ 273.98 บาท/ไร่/เดือน ส่วนต้นทุนผันแปรคือ ค่าเสียโอกาสด้านแรงงานในครัวเรือน 517.08 บาท/ไร่/เดือน ซึ่งหากรวมต้นทุนที่ไม่ได้จ่ายออกไปเป็นตัวเงินด้วยแล้วจะได้ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เท่ากับ 1,704.71 บาท/ไร่/เดือน

 

ตารางที่ 5 รายรับที่ได้จากการผลิตหอยนางรม (ไร่ : เดือน)

รายการ ราคา

(เฉลี่ย)

ปริมาณ

(ตัว/ไร่)

ร้อยละ

n=202

รายได้

(บาท/ไร่)

ร้อยละ (รายได้)
ขนาดใหญ่ 9.75 112 55.32 1092 63.63
ขนาดกลาง 7.85 41 20.21 321.85 18.75
ขนาดเล็ก 6.17 49 24.47 302.33 17.62
รวม   202 100 1716.18 100

ที่มา : จากการสำรวจและคำนวณ

            จากการสอบถามพบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมจะมีการจำหน่ายหอยนางรมเป็น 3 ขนาด โดยจะมีการจำหน่ายหอยนางรมขนาดใหญ่ในราคาเฉลี่ยตัวละ 9.75 บาท ขนาดกลางราคา 7.85 บาท/ตัว และขนาดเล็กราคา 6.17 บาท/ตัว โดยผลผลิตหอยนางรมที่ได้รับเฉลี่ย 202 ตัว/ไร่/เดือน และจะมีการจำหน่ายหอยนางรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 55 ขนาดกลางและขนาดเล็ก ร้อยละ 20.21 และร้อยละ 24.47 ตามลำดับ

ในด้านผลตอบแทนจากการจำหน่ายหอยนางรมตามขนาดจะได้รับผลตอบแทนคือ หอยนางรมขนาดใหญ่ 1092 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.63 หอยนางรมขนาดกลาง 321.85 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.75 และหอยนางรมขนาดเล็ก 302.33 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17.62 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจำหน่ายหอยนางรมของเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมจะมีรายได้จากการจำหน่ายเท่ากับ 1716.18 บาท/ไร่/เดือน

 

ตอนที่ 4 สัดส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนในการผลิตหอยนางรม

            รายได้จากการจำหน่ายหอยนางรมในพื้นที่ 1 ไร่/เดือน โดยจากการการสอบถามจากเกษตรกรพบว่ารายได้จากการจำหน่ายหอยนางรมเท่ากับ 1,716.18 บาท/ไร่/เดือน และมีต้นทุนในการผลิตหอยนางรมตามการคิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เท่ากับ 1,704.71 บาท /ไร่/เดือนดังนั้นสัดส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนในการผลิตหอยนางรมสามารถคำนวณได้จากสูตร

 

จากการคำนวณจะเห็นได้ว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนของการผลิตหอยนางรมมีค่าเท่ากับ 1.01 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายได้ที่เกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมได้รับนั้นมีมากกว่าต้นทุนการผลิตหอยนางรม ดังนั้นการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจึงเหมาะสมที่จะลงทุน

 

ตอนที่ 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต

ตารางที่ 6 ปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตหอยนางรม

ปัจจัยภายนอก ร้อยละ
การลักขโมย 9.98
น้ำเสีย 52.06
ฝนตก 37.96

ที่มา: จากการสำรวจและคำนวณ

 

จากการสอบถามเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบว่า ปัจจัยภายในไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตหอยนางรม จะมีเพียงแต่ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร โดยปัจจัยภายนอกได้แก่ การลักขโมยคิดเป็นร้อยละ 9.98 น้ำเสียที่ปล่อยจากบ่อกุ้งและโรงงานอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 52.06 และฝนตกคิดเป็นร้อยละ 37.96 ของต้นทุนการผลิต

 

ตอนที่ 6 ด้านปัญหา

ตารางที่ 7 ปัญหาและอุปสรรคในการผลิตหอยนางรม

ปัญหา ผู้ประสบปัญหา(ราย) ร้อยละ
1.การลักขโมยหอยนางรม 11 17.74
2.น้ำเสีย 15 24.2
3.ฝนตก 36 58.06
รวม 62 100

ที่มา: จากการสำรวจและคำนวณ

หมายเหตุ : ผู้ผลิตหอยนางรมบางรายอาจให้คำตอบมากกว่า 1 คำตอบ

            จากการสอบถามเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้นพบ เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาเรื่องฝนตกมากที่สุดคือมีจำนวน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 รองลงมาคือปัญหาเกี่ยวกับน้ำเสียที่ปล่อยมาจากบ่อกุ้งมีจำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.2 และปัญหาการลักขโมยหอยนางรมมีจำนวน 11ราย คิดเป็นร้อยละ 17.7

จากการสอบถามจากเกษตรกรในด้านของแนวทางแก้ไขจะพบว่า ในด้านของปัญหาการลักขโมยหอยนางรมนั้นเกษตรกรจะไปทำการเฝ้าระวังเอง ส่วนในด้านของน้ำเสียและฝนตกนั้นยังไม่มีแนวทางแก้ไข แต่จะมีความช่วยเหลือจากรัฐบาลในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ อย่างเช่นในปีที่ผ่านเกิดภัยจากธรรมชาติทำให้หอยนางรมตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรเกิดการเสียหาย ทางรัฐบาลก็ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยให้เงินสนับสนุนเกษตรกร โดยไร่ที่ 1-5 จะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 9,000 บาท ส่วนไร่ที่ 6 ขึ้นไปจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 4,500 บาท

 

สรุปการวิจัย อภิปราย และข้อเสนอแนะ

หอยนางรมเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหอยนางรมเป็นหอยสองฝาที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงจึงมีผู้บริโภคหอยนางรมกันมากและตลาดของหอยนางรมนั้นยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก เพราะผลผลิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศทำให้การเพาะเลี้ยงหอยนางรมมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตหอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรกรในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการนำแบบสอบถามจำนวน 52 ราย มาใช้ในการวิเคราะห์ในเรื่องของต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม เพื่อทราบถึงต้นทุนและผลตอบแทนที่แท้จริงของการผลิตหอยนางรมและปัจจัยที่ส่งผลถึงต้นทุนในการผลิตหอยนางรม รวมถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เกิดขึ้นในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร

สรุปผลการวิจัย

จากการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตหอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรในเขตอำเภอ

กาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

  1. จากการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

จากการศึกษาพบว่าเกษตรกรที่ทำการผลิตหอยนางรมส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาโดยเฉพาะประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นส่วนใหญ่ โดยเกษตรจะทำการผลิตหอยนางรมเป็นอาชีพหลักและเป็นเจ้าของกิจการเองโดยเงินทุนที่ใช้ในการผลิตหอยนางรมจะใช้เงินทุนของตนเอง ในด้านประสบการณ์ในการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14 ปี ในด้านการดำเนินงานเกษตรกรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54) จะทำการเลี้ยงหอยนางรมโดยใช้หลอดซีเมนต์หรือท่อซีเมนต์ โดยมีพื้นที่การผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ไร่ และในด้านแรงงานจะพบว่าส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครัวเรือนมากกว่าการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะการเฝ้าระวังหอยนางรมเกษตรกรจะมีการดำเนินการเอง

ส่วนในเรื่องของต้นทุนในการผลิตหอยนางรมจะพบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนที่เกษตรกรไม่จ่ายเป็นตัวเงิน ซึ่งทำให้การคำนวณต้นทุนทางบัญชีได้ผลการคำนวณออกมาคือ 475.29 บาท /ไร่ /เดือน แต่ต้นทุนทางบัญชีไม่ได้รวมถึงต้นทุนในด้านที่ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน ดังนั้นจึงต้องคำนวณต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อที่จะได้นำต้นทุนที่ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงินมาคำนวณไว้ในต้นทุนด้วย โดยต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่คำนวณได้คือ 1,704.71 บาท /ไร่ /เดือน และด้านผลตอบแทนจากการจำหน่ายหอยนางรมของเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมพบว่า การจำหน่ายหอยนางรมของเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายเท่ากับ 1,716.18 บาท /ไร่ /เดือน และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนของการผลิตหอยนางรมจะพบว่าสัดส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนในการผลิตมีค่าเท่ากับ 1.01 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รายได้ที่เกษตรกรผู้ผลิต  หอยนางรมได้รับนั้นมีมากกว่าต้นทุนการผลิตหอยนางรม ดังนั้นการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจึงเหมาะสมต่อการลงทุน อีกทั้งการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรนั้นจะเป็นการลงทุนที่มีการลงทุนที่ละน้อยและค่อยๆ ขยายตัว รวมทั้งค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตก็ไม่สูง จึงสามารถที่จะลงทุนในการประกอบอาชีพได้

  1. จากการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตหอยนางรมจะเป็นปัจจัยภายนอกได้แก่ การลักขโมยหอยนางรมร้อยละ 9.98 น้ำเสียร้อยละ 52.06 และฝนตกร้อยละ37.96 ส่วนปัจจัยภายในนั้นจะไม่มีผลต่อต้นทุนการผลิตหอยนางรม

  1. จากการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

จากการศึกษาพบว่าปัญหาในการผลิตหอยนางรมของเกษตรได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากทำให้น้ำทะเลมีความเค็มลดลงส่งให้หอยนางรมตายและอุปกรณ์การเลี้ยงหอยเกิดการเสียหายซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนในการผลิตหอยนางรมสูงขึ้น  น้ำเสียที่ปล่อยมาจากบ่อกุ้งจะส่งผลให้หอยนางรมตาย และการลักขโมยหอยนางรมจะเป็นปัญหาที่ส่งผลทำให้เกิดต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นเนื่องจากจะต้องใช้แรงงานในการเฝ้าระวังฟาร์มหอยนางรม

ด้านของแนวทางแก้ไขพบว่า ปัญหาการลักขโมยหอยนางรมนั้นเกษตรกรจะไปทำการเฝ้าระวังเอง ส่วนปัญหาน้ำเสียและปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากนั้นยังไม่มีแนวทางแก้ไข แต่จะมีความช่วยเหลือจากรัฐบาล อย่างเช่นในปีที่ผ่านเกิดภัยจากธรรมชาติทำให้หอยนางรมตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรเกิดการเสียหาย ทางรัฐบาลก็ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยให้เงินสนับสนุนเกษตรกรไร่ละ 4,500 บาท

 

 อภิปรายผล

            จากการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตหอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรกรในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบประเด็นสำคัญที่ได้จากผลการวิจัย และผู้วิจัยได้นำมาอภิปรายผลโดยการนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาอ้างอิงสนับสนุนหรือขัดแย้งดังนี้

จากผลการวิจัยพบว่า ต้นทุนการผลิตหอยนางรมของเกษตรกรจะประกอบด้วยต้นทุนที่จ่ายออกไปเป็นตัวเงิน(ต้นทุนทางบัญชี) และต้นทุนที่ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน(ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียโอกาส)  จึงทำให้เมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตทางเศรษฐศาสตร์จะได้ต้นทุนการผลิตคือ 1,704.72 บาท/ไร่/เดือน และในด้านของผลตอบแทน (รายได้) จากการจำหน่ายหอยนางรมของเกษตรกรจะเท่ากับ 1,716.18 บาท/ไร่/เดือน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเกษตรกรจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าผลตอบแทน

จากผลการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการผลิตหอยนางรมในประเทศไทย(สมคิด.2550) จะได้ผลการศึกษาว่าผลตอบแทน (รายได้) ที่ได้รับจากการจำหน่ายหอยนางรมของเกษตรกรสูงกว่าต้นทุนการผลิตของหอยนางรม และในด้านของปัญหาในการผลิตหอยนางรมจะประกอบไปด้วย น้ำเสีย และภัยธรรมชาติ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการที่ผลการศึกษาไม่มีความต่างกัน และถึงแม้ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมได้ประสบปัญหาในด้านของผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ จึงทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับอยู่ในอัตราที่ลดลง

 

ข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตหอยนางรม : กรณีศึกษาเกษตรกรในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์  จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีข้อเสนอแนะดังนี้

  1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรโดยข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลในปี 2555 จึงทำให้ข้อมูลอาจจะแตกต่างจากปีอื่นๆ เนื่องมาจากในปี 2555 เกษตรกรผู้ผลิตหอยนางรมได้ประสบปัญหาในการดำเนินการผลิตซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นและรายรับลดลงเป็นจำนวนมาก

  1. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

.2.1 ควรมีการทำการวิจัยในเรื่องของตลาดของหอยนางรมว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร และราคาของหอยนางรมนั้นเป็นอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตหอยนางรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ควรมีการทำวิจัยเรื่องปัญหาการผลิตหอยนางรมอย่างละเอียดว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อที่จะได้หาแนวทางป้องกันและแก้ไขทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งศึกษาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้การสนับสนุนการผลิตหอยนางรมของเกษตรกร

 

เอกสารอ้างอิง (Reference)

 

จุฑามาศ ทวีไพบูลย์วงษ์(แปล) .2550. เศรษฐศาสตร์จุลภาค. กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโด

ไชน่า .

ชยันต์ ตันติวัสดาการ. 2550. เศรษฐศาสตร์จุลภาค : ทฤษฎีและการประยุกต์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นราทิพย์ ชุติวงศ์. 2548. หลักเศรษฐศาสตร์ : จุลเศรษฐศาสตร์.กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทรูปลูกปัญญา. 2552. .หอยนางรมจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี.(ออนไลน์).สืบค้นได้จาก :

Error! Hyperlink reference not valid.true/knowledge_detail.php?mul_content_id=41.

[กุมภาพันธ์ 2554]

ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2554. อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร.(ออนไลน์).สืบค้นได้จาก :

http://www.bot.or.th/thai/statistics/financialmarkets/interestrate/_layouts/application/

interest_rate/in_rate.aspx.[กุมภาพันธ์ 2554]

มือทอง. 2554. อัตราค่าจ้างแรงงานปี 2554.(ออนไลน์).สืบค้นได้จาก :

http://www.oknation.net/blog/Pasakorn/2010/12/09/entry-1.[กุมภาพันธ์ 2554]

ยุพิน ผัดแสน. 2545. การศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนการลงทุนเลี้ยงปลานิลจากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยง

 ปลานิล   อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย.หลักสูตรปริญญาบัญชีมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมพงษ์ อรพินท์. 2539. เศรษฐศาตร์จุลภาค. กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล .

เสาวลักษณ์ กล้าอยู่. 2545. การศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำขนาด 3-4ไร่ ใน

อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช.หลักสูตรปริญญาบัญชีมหาบัณฑิต

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช.

อภิรัฐ ตั้งกระจ่าง. 2546. เศรษฐศาสตร์การจัดการ. กรุงเทพฯ : บริษัท ธรรมสาร จำกัด.

อมร สุวรรณชนะและคณะ. 2552. การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตไผ่หวานของสมาชิก

ในวิสาหกิจชุมชน : กรณีศึกษาบ้านคลองเรือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี.สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

Robin Bade, Michael Parkin. 2008. Foundations of microeconomics. Pearson Education

Indochina Ltd.

Janya HIGANO. 2009. Research of oyster.(ออนไลน์). สืบค้นได้จาก : http://www.fra.affrc.go.jp/

bulletin/ bull/bull29/5.pdf. [ธันวาคม 2553]

 

 

 

 

 

 

ส้วม ๆ 

ชื่อผลงานทางวิชาการ : ส้วม  

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความวิชาการ

ปีที่พิมพ์ : 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในวารสารวิทยาการ คณะวิทยาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ :  อาจารย์วิชุณี สารสุวรรณ  สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ   คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทความวิชาการ เรื่อง ส้วม ๆ  “สุขา”  ผู้เขียน คือ อาจารย์วิชุณี สารสุวรรณ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ   คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ศึกษา และรวบรวม เกี่ยวกับเรื่อง ส้วม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสในการศึกษาดูงานในประเทศต่าง ๆ และเกิดความตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับ “ส้วม” หรือ “สุขา” ที่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับสิ่งที่อยู่ในการดำรงชีวิตของคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จุดเน้นในบทความนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึง “ส้วม กับ “เทคโนโลยี ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญยิ่งกับชีวิตของคน โดยบทความนี้ได้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของส้วมแบบไทย ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  จนถึงส้วมที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวก รวมถึงจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวยามต้องเดินทางหรือท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ  จะได้ทราบข้อมูลและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องไว้ล่วงหน้า

 


 

อาจารย์วิชุณี สารสุวรรณ

 

ส้วม ๆ

ศึกษาการนุ่ง พับ จับ จีบ ศิลปะอาภรณ์ละครไทย สู่การออกแบบโรงมหรสพละครในเคลื่อนที่

ชื่อผลงานทางวิชาการ : ศึกษาการนุ่ง พับ จับ จีบ ศิลปะอาภรณ์ละครไทย สู่การออกแบบโรงมหรสพละครในเคลื่อนที่ (FOLD AND WRAP: A STUDY IN THAI DRAMATIC COSTUMES FOR MOBILE THEATRE DESIGN)

ปีที่พิมพ์ : 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาการจัดการ ปี 2557 ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (หน้า 13-27)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ  : อาจารย์เพียรพิลาส พิริยาโภคานนท์ สาขาวิชาการการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทความวิจัย เรื่อง  ศึกษาการนุ่ง พับ จับ จีบ ศิลปะอาภรณ์ละครไทย  สู่การออกแบบโรงมหรสพ

             ละครในเคลื่อนที่ FOLD AND WRAP: A STUDY IN THAI DRAMATIC COSTUMES FOR MOBILE THEATRE DESIGN  ผู้ศึกษา คือ อาจารย์เพียรพิลาศ พิริยาโภคานนท์ สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ   มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาประวัติความเป็นมา รูปแบบ และวิธีการ ของศิลปะการนุ่ง พับ จับ จีบเครื่องแต่งกายละครไทย (2) ศึกษากลุ่มผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ  รวมไปถึงงานระบบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงมหรสพเคลื่อนที่ (3) ศึกษาวิเคราะห์และนำผลจากการศึกษามาออกแบบโรงมหรสพละครในเคลื่อนที่ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้เชี่ยวชาญในด้านการนุ่งแบบนาฎศิลปประเพณีที่มีแบบแผน และกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายอายุ 18-25 ปี ที่สนใจเกี่ยวกับมโหรสพไทย

จุดเด่นของงานวิจัยนี้   เน้นประเด็นเรื่อง ศิลปะนุ่งพับจับจีบ การแต่งกายยืนเครื่อง จากผู้เชี่ยวชาญในด้านการนุ่งแบบนาฎศิลปประเพณีที่มีแบบแผน และขนบธรรมเนียม รวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจในเรื่องของมหรสพไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดโรงมหรสพในด้านต่างๆ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึกจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อสรุปมาเป็นแนวทางสู่การออกแบบ  เพื่อเป็นตัวกำหนดพื้นที่ใช้สอยภายในโครงการสู่การตอบสนองผู้ให้บริการอย่างมีประสิทธิผล

ผลการศึกษาประวัติความเป็นมาพบว่ารูปแบบวิธีการของการแต่งกายยืนเครื่องทำให้ทราบว่าได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องต้นเครื่องทรงของกษัตริย์และพระบรมวงศ์จนกลายมาเป็นเครื่องแต่งกายยืนเครื่องตัวพระจากนั้นได้ดัดแปลงจากเครื่องทรงของกษัตริย์ผสมผสานกับพระภูษาจีบของเจ้านางฝ่ายในโดยรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีรูปแบบวิธีการที่มีความสวยงามประณีตทำให้เกิดเครื่องแต่งกายยืนเครื่องตัวนางและจากผ้าหนึ่งผืนสามารถรังสรรค์จนเกิดเครื่องแต่งกายที่มีความงดงามผสานกับการใช้งานให้เกิดท่วงท่าต่างๆ  ในการแสดงเพิ่มความวิจิตรตระการตาด้วยเครื่องศิราภรณ์และถนิมพิมพาภรณ์ก่อให้เกิดเครื่องแต่งกายยืนเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบมา

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

             เป็นความรู้แนวความคิดในการออกแบบโรงมรสพละครในเคลื่อนที่ นำมาแปรรูปเนื้อหาที่ตอบสนองพื้นที่ใช้สอยต่อโครงการและกลุ่มเป้าหมาย ในด้านพฤติกรรม ส่งผลต่อการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยเชิงรุกที่เน้นวัยรุ่นตอนปลาย เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงอย่างมีประสิทธิภาพ

 


 

บทคัดย่อ

             บทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาประวัติความเป็นมารูปแบบและวิธีการของศิลปะการนุ่งพับจับจีบเครื่องแต่งกายละครไทย (2) ศึกษากลุ่มผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการรวมไปถึงงานระบบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงมหรสพเคลื่อนที่ (3) ศึกษาวิเคราะห์และนำผลจากการศึกษามาออกแบบโรงมหรสพละครในเคลื่อนที่

วิธีการวิจัยผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น 2ประเภทคือ (1)แนวทางเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก ที่เน้นประเด็นเรื่อง ศิลปะนุ่งพับจับจีบ การแต่งกายยืนเครื่อง จากผู้เชี่ยวชาญในด้านการนุ่งแบบนาฎศิลปประเพณีที่มีแบบแผน และขนบธรรมเนียม รวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจในเรื่องของมหรสพไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดโรงมหรสพในด้านต่างๆ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึกจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา เพื่อนำข้อสรุปมาเป็นแนวทางสู่การออกแบบ (2) แนวทางเชิงปริมาณ ผู้วิจัยใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถาม จากวัยรุ่นตอนปลายอายุระหว่าง 18-25 ปี ที่มีความสนใจเกี่ยวกับมหรสพไทย ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปวิเคราะห์ด้วยสถิติพรรณนาและสถิติอ้างอิง เพื่อเป็นตัวกำหนดพื้นที่ใช้สอยภายในโครงการสู่การตอบสนองผู้ให้บริการอย่างมีประสิทธิผล

การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษา ศิลปะอาภรณ์ละครไทย นำมาสรุปสาระสำคัญ อันเป็นความรู้สู่แนวความคิดในการออกแบบโรงมหรสพละครในเคลื่อนที่ นำมาแปรรูปเนื้อหาที่ตอบสนองพื้นที่ใช้สอยต่อโครงการได้เป็นอย่างดี เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ให้บริการฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงมหรสพละครในเคลื่อนที่ รวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้บริการด้านพฤติกรรม และคุณสมบัติ ซึ่งส่งผลต่อการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่เน้นวัยรุ่นตอนปลาย เพื่อตอบจุดประสงค์ของการเผยแพร่โดยพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่สามารถปลูกฝังจิตสำนึกให้เห็นถึงคุณค่าของศิลปะการแสดงละครในได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำสำคัญ : นุ่งพับจับจีบ, พัสตรา, เนรมิตแห่งนาฏกรรม

 

Abstract 

             This present dissertation aims to 1) research the history, formats and practices in the wrapping and folding of Thai dramatic costumes art, including accessories, 2) study those using and those offering theatre services, as well as the system relevant to mobile theatre work, and 3) examine, analyze, and apply the knowledge acquired from the study to the design of mobile theatre.

researcher has employed two approaches, that is 1) Qualitative Approach, in which in-depth interviews with experts who specialize in formats and customs of traditional costume wearing, were conducted – focusing on the art and practices of wearing Thai standard costumes. The interview was also conducted with university students who are interested in Thai traditional performances, including people from various aspects who are related to theatre business. The data obtained from the study were analyzed and concluded as ideas that can be further applied to the design; 2) Quantitative Approach, in which researcher has employed questionnaires and interviewing by questionnaire with late teenagers and university students aged 18-25 years old who are interested in Thai traditional performances. The data obtained were analyzed by descriptive and inferential statistics, so as to determine the space required in the project and efficiently satisfy the needs of those offering services.

The analysis of data acquired by researching Thai dramatic costumes art in which history, formats, and practices are incorporated, has concluded to certain ideas and knowledge, which can be well applied to the use of space in mobile theatre design. This helps to satisfy the needs, behavioral and qualification-wise, of several service sectors involved in Thai theatre business – mobile and not – in general, including potential theatre users and audiences, particularly late teenagers who are the target of this cultural diffusion. The study allows the target group to gain more access and thus exposure to traditional dramatic arts, which in turn efficiently helps to promote values of Thai performing arts.

Keywords : The Magic of Thai Performance: Fold and Wrap Costume

 

ศึกษาการนุ่ง จับ จีบ ศิลปะอาภรณ์ไทย

การประกวดแข่งขันรายการนวัตกรรมอาหารใน (Thailand Innovative Urban Food Challenge ๒๐๑๗) ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญเงินและเหรียญทองแดง สาขาวิชาผู้ประกอบการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโลยี

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การประกวดแข่งขัน รายการนวัตกรรมอาหารในเมือง (Thailand Innovative Urban Food Challenge 2017)

ข้อมูลเพิ่มเติม : ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์พิมลนาฏ วิธุรัติ อาจารย์วิชชุมา เตชะสิริวิชัย และคณะ สาขาวิชาผู้ประกอบการอาหาร   คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาผู้ประกอบการอาหาร (คหกรรมศาสตร์) ได้ส่งนิสิตสาขาดังกล่าว เข้าประกวดแข่งขันเป็นครั้งแรก  ของรายการนวัตกรรมอาหารในเมือง (Thailand Innovative Urban Food Challenge 2017 ) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  โดยการนำของอาจารย์พิมลนาฏ วิธุรัติ  อาจารย์วิชชุมา เตชะสิริวิชัยและคณะ ให้การสนับสนุนโดยประธานสาขาผู้ประกอบการอาหาร (อาจารย์ณัฏฐกิตติ์ เหมทานนท์) ร่วมกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ประจำสาขาทุกคน และได้รางวัลชนะเลิศ 3 รายการ (1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง) ซึ่งรายละเอียดการแข่งขัน ประกาศรับสมัครผู้เข้าแข่งขันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ถึง 8 กันยายน 2560  ผู้จัดจะตัดสินผลงานส่งเข้าสมัครโดยคณะกรรมการประกาศผลการคัดเลือกวันที่ 10 กันยายน 2560 เพื่อเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 13 กันยายน 2560 ณ ห้างเซ็นทรัลเวิล์ด (Central World)

ในการแข่งขันครั้งนี้ นิสิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ดังนี้

1) นายธนาคารโศภิณวงศ์รางวัลเหรียญเงิน

  • เมนู ซูชิข้าวผัดไส้อั่วพันเบคอน ซอสน้ำพริกเผา เสิร์ฟเคียงกิมจิห่อสาหร่าย

2) นายวีรภัสอยู่ศูนย์ตรงรางวัลเหรียญทองแดง

  • เมนูพิซซ่าญี่ปุ่นเส้นสปาเกตตี้แฮมและเบคอนรสน้ำพริกเผา

3) นายรามรักษ์เที่ยงตรงรางวัลเหรียญทองแดง

  • เมนูสปาเกตตี้ครีมซอสนมสดแฮมและเบคอนเสิร์ฟเคียงไข่ออนเซนและขนมปังทอดอบชีส

ด้วยความตั้งใจ วิริอุตสาหะ นิสิตสามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ได้รับเหรียญเงินและเหรียญทองแดง จากผู้แข่งขันทั่วประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของนิสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากศึกษาในห้องเรียน ผ่านสู่กระบวนการภาคปฎิบัติในการแข่งขันระดับชาติ จนได้รับรางวัลชนะเลิศดังกล่าว และต้องขอชื่นชมในศักยภาพของอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาผู้ประกอบการอาหารทุกคน ที่ได้พร่ำอบรม สั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ จนกระทั่งนิสิตประสบความสำเร็จ สามารถสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น Community Based Tourism for Community and Locality

ปีที่พิมพ์ : 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับชาติ สหวิทยาการเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 3

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ  : ผศ.ดร.สุดถนอม  ตันเจริญ สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทความวิชาการ เรื่อง   การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น ผู้ศึกษา คือ ผศ.ดร.สุดถนอม ตันเจริญ   สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ซึ่งบทความนี้ มีจุดเน้นที่สำคัญ โดยจะกล่าวถึง การท่องเที่ยวโดยชุมชน ความหมาย  องค์ประกอบของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน   องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีอยู่ 4 ด้าน คือ 1) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม 2) องค์กรชุมชน 3) การจัดการ 4) การเรียนรู้ ประเด็นสำคัญของแต่ละองค์ประกอบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน กับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม  ความแตกต่างระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่น  ข้อควรคำนึงในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

จากการศึกษา พบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนจำเป็นจะต้องมีหลักการจัดการที่ดีด้านการอนุรักษ์ และเสริมสร้างศักยภาพของการใช้ทรัพยากรท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ ความเข้มแข็งของชุมชนและการพึ่งตนเอง ตลอดจนคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและปริมาณของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น มีผลต่อการประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยยึดมั่นต่อการปฏิบัติตามแนวทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน โดยแสวงหาการสนับสนุนสำคัญจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเทศบาล อบต. ใกล้เคียง สถาบันการศึกษา ชุมชนข้างเคียง  ร้านค้าต่างๆ นักธุรกิจร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมหรือกองทุนเพื่อพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะในประเทศใด จะยั่งยืนได้ สมาชิกในชุมชนด้วยความเข้าใจในแนวคิดของการท่องเที่ยวโดยชุมชนประสมประสานกับการวางแผนการตลาดการท่องเที่ยว (7Ps) การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับความหมาย องค์ประกอบ และหลักการการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น


 

การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น

Community Based Tourism for Community and Locality

 

ดร.สุดถนอม  ตันเจริญ

Dr.Sudthanom  Tancharoen

 

มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ 19/1 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพฯ 10160

Email: [email protected] โทร.0982899495 โทรสาร 028074528

บทคัดย่อ 

การท่องเที่ยวโดยชุมชนแสดงถึงการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการจัดการการท่องเที่ยว จัดการดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม องค์กรชุมชน การจัดการ และการเรียนรู้ โดยทุกส่วนจะเกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ ปัจจุบันทุกชุมชนยังต้องการความร่วมมือภายในชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถช่วยกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนโดยทำความเข้าใจในบทบาทด้านการวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินการ และการสรุปบทเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ทั้งด้านการสร้างงานสร้างรายได้ ความเข้มแข็งของชุมชนและการพึ่งตนเอง ตลอดจนคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและปริมาณของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ: การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการการท่องเที่ยว ท้องถิ่น

Community Based Tourism presents the consideration of sustainable environment, society, and culture. By which community’s people play roles in the directing the tourism management, taking care of tourism resources for clients’ learning. Its essential components are natural resources, culture, communal organizations, management, and learning which concerning to natural travel destinations, cultural custom, way of life, and history. Nowadays every community needs more cooperation within their community including the participation among communes, municipality and local administrative organization, public and private concerned organizations. All such organizations are able to create and enhance public’s knowledge and understanding about Sustainable Community Based Tourism with community’s potential development by understanding the roles in planning, making decision, operating, and lesson learned summary. Leading to community based tourism management by next generation continually would occur and usefulness for locality on income and careers’ contribution, stronger and self-reliance, including the tourism destination’s quality and more tourists.

Keywords: tourism, community based tourism, tourism management, community

 

การท่องเที่ยวโดยชุมชนฯ

การปรุงอาหาร (การผลิตรายการ) แบบ You  Can Do It!

ชื่อผลงานทางวิชาการ             การปรุงอาหาร (การผลิตรายการ) แบบ You  Can Do It!

ปีที่พิมพ์                             2556

ข้อมูลเพิ่มเติม                      เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1  และสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Youtube Channel “Keng Candoit

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์มนัสวี พัวตระกูล  สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทความ เรื่อง  การปรุงอาหาร (การผลิตรายการ) แบบ You  Can Do It! ผู้เขียน คืออาจารย์มนัสวี พัวตระกูล สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่วิธีการและขั้นตอนของการปรุงอาหารที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกับอาจารย์อารยา แสงมหาชัย สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และทีมงาน โดยได้ร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ออกอากาศทางช่อง GWE (Green World Edutainment Channel) ช่อง IPTV ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชื่อรายการ You Can Do It!    เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ผู้เขียนชื่นชอบในการชิมอาหารจากทั่วทุกมุมโลกและต้องการจะถ่ายทอดและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติต่างๆผ่านทางเมนูอาหารที่เน้นการทำได้ง่าย สามารถทำได้ด้วยตัวคุณผู้ชมเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขั้นตอนวิธีการผลิต รายการโทรทัศน์ You Can Do It! นั้นสร้างสรรค์ ขึ้นจากองค์ประกอบ พื้นฐานการผลิตสื่อซึ่งประกอบไปด้วย 3P คือ Pre Production, Production และ Post Production นั่นเอง

จุดเด่นของบทความนี้ นอกจากเป็นการผลิตรายการ การปรุงอาหาร ออกรายการโทรทัศน์ออกอากาศแล้ว การดำเนินงานของรายการนี้แต่ละรายการ ยังปฏิบัติงานเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนการเตรียมงาน เริ่มต้น ที่การวางแผน (Plan) กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับ ขั้้นตอนการทำงาน กำหนดระยะเวลาในการทำงาน (Action Plan) กำหนดวิธีการทำงาน กำหนดสถานที่ กำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอน กำหนดงบประมาณค่าใช้จ่าย การจัดทำเนื้อหา(Content)  และการ เขียนบท (Script)

ประโยชน์ที่ได้รับจากบทความนี้ จะได้รับความรู้ เมนูที่แปลกใหม่และรสชาติอร่อย ซึ่งจะขอเน้นย้ำว่า Creative Thinking  หรือความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

 

การปรุงอาหาร (การผลิตรายการ) แบบ You  Can Do It!

                                                                                                            อาจารย์มนัสวี พัวตระกูล 

            สำหรับผู้เขียนแล้วการผลิตรายการโทรทัศน์ก็เปรียบได้กับการลงมือทำอาหารจะปรุงอย่างไรให้ได้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อมแต่ต้องแฝงมาด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ผู้ปรุง(เชฟ) จะต้องคำนึงถึงวัตถุดิบปริมาณที่ใช้รวม ถึงต้องคิดว่าจะหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงมาจากที่ไหนได้บ้าง ที่สำคัญที่สุดก็คือเคล็ดลับในการปรุง ซึ่งเชฟ แต่ละท่าน คงจะมีเคล็ดลับที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วเคล็ดลับง่ายๆในการปรุงคือ Creative Thinking หรือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งก็ควรที่จะเลือกตามสิ่งที่เราสนใจ หรือมีวัตถุดิบและเนื้อหา ที่เยอะพอสมควรอยู่ในมือ

 

อย่างตัวผู้เขียนเองมีโอกาสได้ลองผลิตรายการโทรทัศน์ออกอากาศทางช่อง GWE (Green World Edutainment Channel) ช่อง IPTV ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชื่อรายการ You Can Do It! เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ผู้เขียนชื่นชอบในการชิมอาหารจากทั่วทุกมุมโลกและต้องการจะถ่ายทอดและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติต่างๆผ่านทางเมนูอาหารที่เน้นการทำได้ง่าย สามารถทำได้ด้วยตัวคุณผู้ชมเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขั้นตอนวิธีการผลิต รายการโทรทัศน์ You Can Do It! นั้นสร้างสรรค์ ขึ้นจากองค์ประกอบ พื้นฐานการผลิตสื่อซึ่งประกอบไปด้วย 3P คือ Pre Production, Production และ Post Production นั่นเอง เรามาลองลงมือปรุง อาหาร(ลงมือผลิตรายการ) โดยผ่านวิธี 3P กับรายการ You Can Do It! กันดู เริ่มจาก Pre Production หรือขั้นตอนการเตรียมงาน เริ่มต้น ที่การวางแผน (Plan) กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับ ขั้้นตอนการทำงาน กำหนดระยะเวลาในการทำงาน (Action Plan) กำหนดวิธีการทำงาน กำหนดสถานที่ กำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอน กำหนดงบประมาณค่าใช้จ่าย การจัดทำเนื้อหา(Content)  และการ เขียนบท (Script)

โจทย์ยาก! รายการอาหารกับคนที่ทำอาหารไม่เป็นแต่ชิมเป็นอย่างเดียว ผู้เขียนยอมรับว่าเริ่มแรกทีเดียว ไม่เคยคิดว่าการทำรายการเกี่ยวกับอาหารนั้นจะยุ่งยาก หากแต่เริ่มลงมือในขั้นตอนการวางแผนแล้วกลับพบ อุปสรรคนานาประการ เริ่มจากจะทำอย่างไรให้รายการอาหารของเราออกมาในรูปแบบที่แตกต่างจากรายการ อาหารอื่นๆที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้และโดยส่วนตัวนั้นผู้เขียน ก็ไม่มีความ สามารถโดดเด่นด้านการทำอาหาร หากนักหากแต่ เป็นคนที่ชอบชิม ชอบอ่านชอบคิด ชอบศึกษาจึงได้คิดนำเอา ศาสตร์ด้านการละครที่เรียนมาเข้ามา ผสมผสานเพื่อสร้างความแปลก ใหม่และแตกต่างจากรายการอาหารอื่นๆ โดยกำหนดวางโครงคร่าวๆให้ทาง รายการเปลี่ยนรูปแบบรายการและเมนูอาหารไปตาม Theme จาก ภาพยนตร์ ละคร หรือ การ์ตูนที่มีชื่อเสียงจาก ทั่วโลก

เมื่อแก้ปัญหาข้อแรกได้เรียบร้อย การกำหนดวัตถุประสงค์ของรายการให้เป็นรายการอาหารที่สามารถให้ คุณผู้ชมทางบ้านร่วมสนุกและทำตามเองได้ไม่ยากใช้เวลาน้อยและวัตถุดิบที่หาง่ายจึงตามมาซึ่งนั่นยังเป็นที่มาของชื่อรายการ You Can Do It! (คุณเองก็สามารถทำได้) อีกด้วย เสมือนทุกอย่างจะดำเนินไปได้ด้วยดีหากสิ่งที่เป็น อุปสรรคใหญ่ยังคงรออยู่ตรงหน้า

 

ใครจะมาเป็นเชฟให้กับทางรายการ? เป็นความโชคดีของผู้เขียนที่ได้รู้จักกับอาจารย์ อารยา แสงมหาชัย ผู้ที่มีพรสวรรค์โดดเด่นด้านการทำอาหารและสามารถสร้างสรรค์เมนูที่สามารถตอบสนองความคิดที่ซับซ้อนของผู้ผลิตรายการอย่างผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เป็นธีมละครเรื่องคู่กรรม เมนูอาหารก็ควรต้องเป็นอาหารไทย ผสมผสานกับอาหารญี่ปุ่นแต่จะธรรมดาๆไม่ได้ต้องเกี่ยวเนื่องกับตัวละคร อาหารที่ออกมาจึงมีลักษณะเฉพาะเป็น เอกลักษณ์ที่หาดูและทดลองทำได้เฉพาะรายการของเราเท่านั้น เช่น ขนมดอกไม้ของโกโบริ มีชื่อและส่วนผสมที่มา จากดอกมะลิเนื่องจากในละครเรื่องคู่กรรมนั้นโกโบริ ถูกเรียกว่า “พ่อดอกมะลิ” เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่าย แต่ละขั้นตอน? เป็นสิ่งที่ยากรองๆลงมาจากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ตั้งแต่การสรรหาทีมงานไม่ว่าจะเป็น พิธีกร คนเขียนสคริปต์รายการ ตากล้อง คนตัดต่อ ฝ่ายแต่งหน้าและเครื่องแต่งกาย ทีมประสานงาน  ทีมดูแลอุปกรณ์ประกอบฉากรวมถึงการจัดหาสถานที่ในการถ่ายทำ ต้องยอมรับว่าผู้เขียนคนเดียวคงไม่ สามารถทำสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้สำเร็จหากไม่ได้ความร่วมมือร่วมใจจากนิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่ารวมถึงเพื่อนๆ คณาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ

 

ปัญหาที่ต้องตอบคำถามมากที่สุด? ทำไมถึงไม่ใช้นิสิตในการเป็นพิธีกร จริงๆแล้วส่วนใหญ่ก่อนการผลิต รายการออกมาเป็นรูปแบบที่นำเสนอออกอากาศ ผู้ผลิตมักจะผลิตเทปที่เราเรียกว่าเป็นเทปทดลอง หรือ Pilot Tape ออกมาก่อน You Can Do It! ก็เช่นกัน ทางทีมงานได้ทดลองออดิชั่น นิสิตเข้ามาทดลองเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ต้องยอมรับว่านิสิตยังเกร็งและยังจดจำสคลิปได้ไม่แม่นยำ รวมถึงการต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องอาศัย ความว่องไวอย่างมืออาชีพรวมทั้งความรู้รอบตัวทางด้านประวัติศาสตร์การอาหาร จึงทำให้ทางทีมงานตัดสินใจที่ จะมองหามืออาชีพเข้ามาเสริมทีม เพื่อเป็นการสร้าง Character ให้เป็นจุดขาย จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องยากที่ต้องทำคน ให้แปลงมาเป็นสินค้าผู้ผลิตต้องอาศัยหลักการตลาดและหลักการโฆษณาเข้ามาช่วยทำให้เชฟและพิธีกรที่เลือกมาดูมีความน่าเชื่อถือ ดูมีความเชี่ยวชาญและมีความชำนาญการทั้งทางด้านการอาหารและการแสดง นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมทางรายการจึงไม่ได้ใช้นิสิตในการเป็นพิธีกรเพราะต้องการควบคุมการผลิตให้เป็นไปได้ตามกำหนดการถ่ายทำและออกอากาศ เพื่อประหยัดคอร์สทั้งด้านเวลาและการเงินที่ต้องลงทุนรวมถึงคำนึงเรื่องของประสิทธิภาพ ของรูปแบบรายการในการนำเสนอออกอากาศ ซึ่งนิสิตที่เข้ามาฝึกฝนเป็นทีมงานได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีการใน การแก้ปัญหาในรูปแบบนี้เป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้จากผลงานการทำงานส่งในรายวิชาทางด้านการผลิตสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิชาการผลิตรายการโทรทัศน์ หรือ การผลิตภาพยนตร์ นิสิตเรียนรู้ถึงเรื่องของต้นทุน การคำนวน รายรับ – รายจ่ายของกองถ่าย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานในวงการบันเทิงอย่างมืออาชีพ

ละคร อาหาร กับงานประวัติศาสตร์! เมื่อขั้นตอนพื้นฐานทั่วไปในการบริหารจัดการผ่านพ้นไป งานหลัก ต่อมาคือการเขียนบทซึ่งต้องอาศัยเนื้อหาและ Content ที่มีรายละเอียดที่ลงลึกและมีความถูกต้องแม่นยำในการ นำเสนอข้อมูลนั้นๆออกมา ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับละคร ภาพยนตร์หรือ การ์ตูน หรือประวัติศาสตร์ของ อาหารที่เลือกมาเป็นธีมในการนำเสนอ หนังสือ และการท่องเว็บไซด์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่การ ติดตามชมและอ่านข่าว เพราะบางครั้งเราต้องอาศัยสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นเข้ามาปรับและเลือกเนื้อหาให้น่า สนใจเป็นที่ติดตามหรือเป็นกระแสในขณะนั้นเพื่อเรียกเรทติ้งหรือคะแนนนิยมให้กับทางรายการ(สายวงการบันเทิงนั้นเรทติ้งถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความอยู่รอดของรายการ ละคร หรือภาพยนตร์)

เมื่อขั้นตอนแรกผ่านไปแล้วลำดับต่อไปคือ Production หรือขั้นตอนการถ่ายทำ เริ่มจากดูว่าเราเลือก การถ่ายทำในสถานที่(Studio) หรือเป็นแบบ การถ่ายทำนอกสถานที่(Outdoor) ซึ่งถ้าหากเราเลือกการถ่ายทำในสถานที่ก็จะมีข้อได้เปรียบคือสามารถ ควบคุมแสง  เสียง และจัดตกแต่งฉากได้โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพ ดินฟ้าอากาศฝนตก อากาศร้อน หนาว ช่วยให้ถ่ายทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในขั้นตอนนี้ทางรายการ You Can Do It! เลือกที่จะถ่ายทำในสถานที่มีการจัดเซทฉากรวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากขึ้นมา นอกจากนี้ขั้นตอนนี้ยังเป็นอีก หนึ่งขั้นตอนที่นิสิต นักศึกษาได้ฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะของกล้องลักษณะต่างๆ เลนส์การใช้กล้องแต่ละชนิด ที่แตกต่างกัน รวมถึงมุมกล้องและการเคลื่อนที่ของกล้องเช่น

 

 

การเคลื่อนกล้อง (Camera movement)

Pan                   การส่ายกล้องไปด้านข้าง

Pan Left            การส่ายกล้องไปด้านซ้ายของผู้ถ่าย

Pan Right          การส่ายกล้องไปด้านขวาของผู้ถ่าย

Tilt                   การแหงนและการก้มกล้อง

Tilt Up              การแหงนกล้องจากจุดต่ำขึ้นไปหาจุดสูง

Tilt Down          การถ่ายจากจุดสูงแล้วค่อยๆก้มลงต่ำ

Dolly                  การตั้งกล้องไว้บนรางสำหรับเลื่อนกล้องเข้าหาหรือ ถอยออกห่าง จากวัตถุที่ถ่าย

Dolly In             เลื่อนเข้าหาสิ่งที่ถ่าย

Dolly Out          เลื่อนออกห่างจากสิ่งที่ถ่าย

Arch                 การตั้งกล้องบนรางวงกลมแล้วเลื่อนไปรอบๆสิ่งที่ถ่าย

 

และขั้นตอนสุดท้าย คือ Post Production คือ ขั้นตอนการตัดต่อ ลำดับภาพ ลงเสียง แพร่ภาพออกอากาศ และประเมินผลรายการที่ออกอากาศ (ประเมินเรทติ้ง) ซึ่งในส่วนนี้นิสิต นักศึกษาเป็นผู้ดำเนินการตัดต่อผ่านการ ควบคุมดูแลของคณาจารย์โดยในส่วนนี้จะได้รับความรู้ในด้านการลำดับภาพ การตัดต่อภาพ การเปลี่ยนภาพเช่น

 

การเปลี่ยนภาพ (Transition)

Cut                   ในการตัดต่อ เป็นการตัดภาพจากภาพหนึ่งไปอีกภาพหนึ่งอย่าง ต่อเนื่อง เช่นตัดจาก

Long Shot เป็น Close Up  เป็นการตัดภาพชนภาพ และอีกความหมายหนึ่ง

ถ่าย

ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์  เป็นการสั่งหยุดกล้อง หยุดการแสดงใน การถ่ายแต่ละ Take

Dissolve            เป็นการเปลี่ยนภาพจากภาพหนึ่งไปยังอีกภาพหนึ่ง โดยให้ภาพ

หนึ่งกำลังจะมืดดำหมด แล้วให้ภาพที่สองค่อยๆสว่างทับเข้ามา เป็นการซ้อนภาพ   ใช้สำหรับย่นเวลา ระยะทางหรือแสดงความคิด ความฝัน

Freeze               การหยุดภาพที่กำลังเคลื่อนไหวให้นิ่งตรงจุดที่ต้องการให้นิ่ง  เพื่อ

เน้นความสนใจ เพื่อแสดงรายละเอียดบางส่วนของสิ่งที่ถูกถ่าย

Focus                การปรับเลนส์กล้องให้ภาพคมชัด

Zoom                การดึงภาพที่ถ่ายไกลให้เข้ามาใกล้หรือภาพใกล้ให้ออกไกล

Zoom In            ดึงภาพไกลให้เข้ามาใกล้

Zoom Out          ทำภาพใกล้ ให้ออกไกล

Fade Out = F.O. ทำให้ภาพที่ชัดอยู่แล้ว ค่อยๆจาง มืดหายไป ใช้ตอนจบตอน หรือจบฉาก

หรือจบเรื่อง

 

ผู้เขียนขอฝากเมนูอาหาร(รายการ) You Can Do It! ให้ผู้อ่านได้ลองลิ้มรสชาติว่ามีความกลมกล่อมและ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเพียงใด โดยสามารถทดลองชิม(รับชมรายการ) ได้ทางกล่องรับสัญญาณ ดิจิตอลของบริษัท TOT ช่องGWE (719) หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ทาง YouTube Channel “Keng Candoit” และหากใครต้องการที่จะลองปรุงอาหาร(ลองผลิตรายการโทรทัศน์) สักหนึ่งเมนูก็ขอให้ทุกท่านลองตั้งต้นคิดสูตร ที่เป็นแบบฉบับของตนเองและลองลงมือทำตามขั้นตอนคร่าวๆที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆที่เราคิดค้น การปรุงอาจจะไม่ได้รสชาติที่ถูกใจแต่เมื่อปรับสูตรและตั้งใจฝึกฝนต่อไปผู้เขียนเชื่อว่าจะได้เมนูที่แปลกใหม่และรสชาติอร่อยลงตัวอย่างแน่นอน ซึ่งจะขอเน้นย้ำว่า Creative Thinking  หรือความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการเดินในเส้นทางสายบันเทิงหรือสื่อสารมวลชนอย่างมืออาชีพ เหมือนอย่างกับ คำคมของ Edwin Land ที่ว่า  “An Essential Aspect Of Creativity Is Not Being Afraid To Fail” มุมมองที่สำคัญ ของความคิดสร้างสรรค์คือ อย่ากลัวความล้มเหลว นั่นเอง_

 

 

สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ YouTube Channel “Keng Candoit

 

อิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ต่อคำหยาบคายด้านความสัมพันธ์เชิงชู้สาวในบทภาพยนตร์ เรื่อง “ปั๊มน้ำมัน”

 

อิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ต่อคำหยาบคายด้านความสัมพันธ์เชิงชู้สาวในบทภาพยนตร์ เรื่อง “ปั๊มน้ำมัน”


The influence of the film media on profanity in relation to fictitious relationships  In the screenplay TitledGas Station”.

 

นายวรรณลักษณ์ อินทร์จันทร์

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการรับรู้คำหยาบคายของผู้ชมในบทภาพยนตร์เรื่องปั๊มน้ำมัน ศึกษาพฤติกรรมการเลียนแบบคำหยาบคายด้านความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของผู้ชมภาพยนตร์ เพื่อชี้ให้เห็นอิทธิพลของสื่อภาพยนตร์ต่อการรับรู้เกี่ยวกับคำหยาบคายด้านความสัมพันธ์เชิงชู้สาวจากบทภาพยนตร์เรื่อง “ปั้มน้ำมัน” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่ผู้วิจัยใชวิธีการสุมตัวอยางแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ด้วยการกําหนดเลือกผู้ชมภาพยนตร์ ที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง “ปั้มน้ำมัน” มีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In – depth Interview) เปนเครื่องมือในการเก็บรวบรวมขอมูล รวมระยะเวลาดำเนินการวิจัยจำนวนทั้งสิ้น 6 เดือน

ผลการวิจัยพบว่า สื่อภาพยนตร์ไม่มีอิทธิพลต่อผู้ชมภาพยนตร์ในเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาว หากภาพยนตร์นั้นได้รับการจัดประเภทให้เหมาะสมกับอายุของผู้ชมภาพยนตร์ ในส่วนผู้ชมภาพยนตร์เรื่อง “ปั๊มน้ำมัน”สามารถรับรู้ในคำหยาบคาย แต่ไม่ถึงขั้นต้องมีพฤติกรรมเลียนแบบตามบทภาพยนตร์

ความคิดเห็นส่วนมากเห็นว่าถ้อยคำหยาบคายที่ส่อไปในทางชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ในบางประโยคที่มีในบทภาพยนตร์สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ผู้ชมส่วนมากคิดว่าเป็นการถ่ายทอดตามอารมณ์ของตัวละครมากกว่าการยั่วยุเรื่องเพศ และพฤติกรรมเชิงชู้สาวเป็นพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละบุคคล

สื่อภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบในกรณีที่ผู้ชมไม่มีวุฒิภาวะและวิจารณญาณในการรับชม เนื่องจากภาพยนตร์เป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย หาชมได้ตามเว็บโซต์ทั่วไป ผู้ชมอาจจะจดจำภาพจากภาพยนตร์และเกิดพฤติกรรมในการเลียนแบบขึ้น เช่น บทสนทนา หรือภาพล่อแหลมชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ อาจส่งผลต่อเด็กและเยาวชนเพราะเป็นวัยที่กำลังอยากรู้ อยากเห็น ถ้าไม่มีดุลยพินิจในการรับชมที่เพียงพออาจมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนได้ ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

อิทธิพลของสื่อภาพยนตร์กับสื่อมวลชนแขนงอื่นมีความแตกต่างกัน และมีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบของผู้เสพสื่อที่แตกต่างกัน เช่น สื่อภาพยนตร์ และสื่อโทรทัศน์การเข้าถึงในเนื้อหาทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบของผู้เสพสื่อนั้นช้ากว่าสื่ออินเทอร์เน็ต เพราะสื่ออินเทอร์เน็ตมีการเข้าถึงอย่างรวดเร็วและถ้าผู้เสพสื่อไม่มีวิจารณญาณการกลั่นกรองที่ดีเพียงพออาจมีพฤติกรรมการเลียนแบบได้ง่ายกว่าสื่อภาพยนตร์และสื่อโทรทัศน์ ที่มักจะถูกปิดกั้นจากทางภาครัฐได้โดยง่าย มากกว่าสื่ออินเทอร์เน็ตที่มีการเข้าถึงข้อมูลของผู้เสพสื่อได้อย่างรวดเร็วและขาดการกลั่นกรองข้อมูลก่อนตัดสินใจ ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบของผู้เสพสื่อได้ง่ายกว่าสื่อมวลชนแขนงอื่น

คำสำคัญ : ภาพยนตร์, คำหยาบคาย, ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว, การรับรู้, พฤติกรรมการเลียนแบบ
Abstract

The objective of this research is to study the recognition of the violent words of the person who watched the movie named “Gas Station” and to study the imitation of using those words relating to the sexual relationship in order to show the influence of movie on the recognition of the words represent in the movie’s menu script of the Gas Station. The qualitative technique is applied and the technique of sampling is the purposive sampling technique. The in-depth interview technique is pursued for correcting data. Total research time is 6 months.            The research found that Film has no influence on movie audiences on fictional relationships. If the movie is categorized appropriately for the age of the movie audience. In the movie audience. “Gas station” can be recognized in profanity. But not to the point of having to imitate the script.

The informers perceive that the violent words relating to sexual relationship represented in the movie’s menu script are prevalence in daily life. Most of the watchers think that those words are only the way of showing the emotion but do not the intent of encouraging the sexual behavior. In fact, the sexual behavior is the personal preference.

The movie will influence the behavior of individual only in the case of person who currently don’t meet mutuality level of life or who don’t have sufficient ability to make judgment. As it is prevalence, it thus allows the watchers to remember and to imitate the dialogues or picture that encourage the sexual relationship especially by adolescent. In this case, the adult should offer recommendation closely.

Comparatively, the influence produced from the movie differs from other kinds of media and they also results in difference level of the imitation behavior of the person who internalizes them. For instance, movie and television which are under strictly controlled of government can affect the imitated behavior slower than internet because this internet offers a fastest way to reach and if the person who consumes the information of it doesn’t have enough ability to make judgment, it then can result in the imitation behavior easily.

 

Keywords : film, vulgarity, adulterous, perception, Imitation behavior

 View Fullscreen

 

การจัดนิทรรศการท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทย

 ชื่อผลงานทางวิชาการ  การจัดนิทรรศการท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทย

ปีที่พิมพ์  2556

ข้อมูลเพิ่มเติม  เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2556

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

ผศ.ดร.สุดถนอม  ตันเจริญ สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

                บทความวิจัย  เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (Travel Exhibition Influencing the Purchasing Decision Making on Domestic Travel of Thai Tourists) ผู้ศึกษา คือ ผศ.ดร.สุดถนอม ตันเจริญ  สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและองค์ประกอบสำคัญของการจัดนิทรรศการท่องเที่ยว ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทย โดยการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานนิทรรศการท่องเที่ยว ในกรุงเทพฯ จำนวน 400 คน

ผลการวิจัย พบว่า สถานที่จัดงาน ที่จอดรถ ภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยว พนักงานขาย และการลดราคา มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวจากโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตมีผลต่อการกระตุ้นการซื้อมากที่สุด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่นิยมท่องเที่ยวในวันหยุดกับครอบครัว จากผลการวิจัย นำมาสู่ข้อเสนอแนะว่า ผู้จัดงานควรให้ความสำคัญกับการวางแผนเกี่ยวกับที่จอดรถและแผนผังการจัดงาน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายและมนุษยสัมพันธ์ของพนักงานขาย เนื่องจากเป็นปัจจัย ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานและข้อมูลด้านการท่องเที่ยวผ่านสื่อโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตให้มาก ในส่วนของภาครัฐ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยว สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเชิงกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างจริงจัง ตลอดจนการรณรงค์การท่องเที่ยวภายในประเทศ ร่วมกับเอกชนและหน่วยงานอื่นทุกภาคส่วน โดยเน้นการประชาสัมพันธ์โปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับที่ได้รับจากการวิจัยครั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลจากการศึกษาไปปรับปรุงและ/พัฒนาแผนงานด้านการจัดนิทรรศการท่องเที่ยว และแผนการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 

มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ 19/1 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพฯ 10160

Email: [email protected] โทร.0982899495 โทรสาร 028074528

 

บทคัดย่อ

                การท่องเที่ยวโดยชุมชนแสดงถึงการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการจัดการการท่องเที่ยว จัดการดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม องค์กรชุมชน การจัดการ และการเรียนรู้ โดยทุกส่วนจะเกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ ปัจจุบันทุกชุมชนยังต้องการความร่วมมือภายในชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถช่วยกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนโดยทำความเข้าใจในบทบาทด้านการวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินการ และการสรุปบทเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ทั้งด้านการสร้างงานสร้างรายได้ ความเข้มแข็งของชุมชนและการพึ่งตนเอง ตลอดจนคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและปริมาณของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ: การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการการท่องเที่ยว ท้องถิ่น

                Community Based Tourism presents the consideration of sustainable environment, society, and culture. By which community’s people play roles in the directing the tourism management, taking care of tourism resources for clients’ learning. Its essential components are natural resources, culture, communal organizations, management, and learning which concerning to natural travel destinations, cultural custom, way of life, and history. Nowadays every community needs more cooperation within their community including the participation among communes, municipality and local administrative organization, public and private concerned organizations. All such organizations are able to create and enhance public’s knowledge and understanding about Sustainable Community Based Tourism with community’s potential development by understanding the roles in planning, making decision, operating, and lesson learned summary. Leading to community based tourism management by next generation continually would occur and usefulness for locality on income and careers’ contribution, stronger and self-reliance, including the tourism destination’s quality and more tourists.

Keywords: tourism, community based tourism, tourism management, community

 

 

บทนำ

                การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศมากขึ้น การเดินทางที่สะดวกขึ้น โทรคมนาคมที่ให้ข้อมูลมากขึ้น สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่าง ๆ มีมากขึ้น กำลังซื้อมีมากขึ้น ทิศทางการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกจึงมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางในอาเซียนกว่า 80 ล้านคน เป็น 80 ล้านคนที่มีคุณภาพ ที่มองว่าอาเซียนคือแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้ไหลเวียนในภูมิภาคกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นได้ บทบาทของชุมชนต่อการท่องเที่ยว คือกระบวนการในการจัดการความรู้ภายในชุมชนเอง มีการพัฒนาทักษะและเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้กับสมาชิกในชุมชนในการ บริหารจัดการท่องเที่ยว(ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 2559)

                การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางพาณิชย์ที่มีความสำคัญมากสาหรับเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน ถึงแม้การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งการท่องเที่ยวก่อให้ผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ สังคมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย เช่น  การที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากกว่าที่สิ่งแวดล้อมจะรองรับไหวจนเกิดปัญหาขยะ น้ำเสีย จนสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมในที่สุด เกิดปัญหาขัดแย้งกับคนในชุมชน เช่น ปริมาณน้ำไม่พอใช้ ปัญหาบุกรุกที่ดิน วัฒนธรรมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป

                ก่อนที่จะกล่าวถึงสาระสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนและท้องถิ่น ผู้เขียนขอกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” และ “การท่องเที่ยวชุมชน” อยู่ที่ “การจัดการ” เนื่องจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีการจัดการเองโดยชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และเพื่อประโยชน์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเป็นสำคัญ แต่การท่องเที่ยวชุมชนอาจจะอาศัยองค์ประกอบที่มีอยู่ของชุมชนหรือศักยภาพของชุมชนเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น ๆ โดยมีผู้ประกอบการและ/หรือรัฐเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชน

                ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับมีหลายทาง คือประโยชน์ในด้านการพัฒนาของชุมชนเองโดยที่การท่องเที่ยวทำขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาหรือความต้องการของชุมชนบางอย่าง มิใช่เพียงความต้องการทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่ชุมชนต้องการประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนนั้นก็จะมีแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม หรืออาจจะเป็นการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีของชาติและท้องถิ่นไว้ให้ยั่งยืนสู่ลูกหลานรุ่นต่อไป ดังนั้นประโยชน์ก็คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายกับชุมชน มุ่งไปที่การพัฒนาการจัดการมากกว่าประโยชน์ในเรื่องรายได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การสร้างงานและรายได้เป็นผลพลอยได้ที่เกิดแก่ชุมชนและท้องถิ่นภายหลังที่ชุมชนได้มีการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

 

การท่องเที่ยวโดยชุมชน

                ช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาและในอนาคตมีแนวโน้มของพัฒนาแนวคิดและรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) เติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายมากขึ้น คือ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ด้วยเหตุที่ชาวบ้านในบางชุมชนที่เกิดความตระหนักในปัญหาดังกล่าว บวกกับแรงหนุนเสริมจากภาครัฐและเอกชน  การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงถูกริเริ่มขึ้น

การท่องเที่ยวท่องเที่ยวชุมชน เป็นการเน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน กล่าวคือ การที่มุ่งพัฒนาให้คนในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการท่องเที่ยว และไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ได้เน้นถึงการสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้ใช้ความรู้ของตนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยให้มีความสมดุลกับภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งการเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจของชุมชนในอนาคต เพราะการดูแลทรัพยากรเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนซึ่งเป็นของส่วนรวมไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

                การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงสะท้อนให้เห็นถึงการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการจัดการการท่องเที่ยว จัดการดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม องค์กรชุมชน การจัดการ และการเรียนรู้ โดยทุกส่วนจะเกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ ปัจจุบันทุกชุมชนยังต้องการความร่วมมือภายในชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลเชื่อมโยงจากคุณค่าของการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมของชุมชน และสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากร ไปสู่ความยั่งยืนในการท่องเที่ยว ในขณะที่การท่องเที่ยวกระแสหลัก เน้นมูลค่าจากการท่องเที่ยว และตัวนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ตลอดจนอาศัยอำนาจเป็นเครื่องมือบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ทำให้ทรัพยากรเกิดความเสื่อมโทรม และไม่มีความยั่งยืน นับได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนโดยแท้ ทำให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นด้วยกันเอง

ความหมายของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) หมายถึง “ทางเลือกในการจัดการท่องเที่ยวที่ชุมชนเข้ามากำหนดทิศทางของการท่องเที่ยวบนฐานคิดที่ว่าชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรและเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากการท่องเที่ยว โดยการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นด้านต่างๆ ไม่ว่า ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชุมชน มาใช้เป็นต้นทุนหรือปัจจัยในการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้มีความรู้ความสามารถและบทบาทที่สำคัญในการตัดสินใจ การวางแผน การดำเนินงาน การสรุปบทเรียน และมุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนสู่คนรุ่นลูกหลานและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของธรรมชาติเป็นสำคัญ” ทั้งนี้ความหมายเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้ถูกเขียนขึ้นภายใต้ข้อสรุปที่เกิดจากการดำเนินงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชน ของชุมชน และเพื่อชุมชน อันเป็นความพยายามของชุมชนเองที่จะสร้างอัตตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว (Tourism Identity) ให้กับพื้นที่ทางสังคมของชุมชนที่ถูกท่องเที่ยว (สินธุ์ สโรบล, 2559)

องค์ประกอบของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

                องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีอยู่ 4 ด้าน คือ 1) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม 2) องค์กรชุมชน 3) การจัดการ 4) การเรียนรู้ ประเด็นสำคัญของแต่ละองค์ประกอบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 2559) อธิบายได้ดังต่อไปนี้

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม

1) ชุมชนมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีวิถีการผลิตที่พึ่งพาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

2) ชุมชนมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

ด้านองค์กรชุมชน

1) ชุมชนมีระบบสังคมที่เข้าใจกัน

2) มีปราชญ์ หรือผู้มีความรู้ และทักษะในเรื่องต่าง ๆ หลากหลาย

3) ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา

ด้านการจัดการ

1) มีกฎ-กติกาในการจัดการสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

2) มีองค์กรหรือกลไกในการทำงานเพื่อจัดการการท่องเที่ยว และสามารถเชี่อมโยงการท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยรวมได้

3) มีการกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม

4) มีกองทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

ด้านการเรียนรู้

1) ลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่าง

2) มีระบบจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านกับผู้มาเยือน

3)  สร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งในส่วนของชาวบ้านและผู้มาเยือน

หลักการของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน  ที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนมีหลักการ (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 2559) ดังนี้

  1. ชุมชนเป็นเจ้าของ
  2. ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ
  3. ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง
  4. ยกระดับคุณภาพชีวิต
  5. มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม
  6. คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น
  7. ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
  8. เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  9. เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น
  10. มีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

                การที่จะให้ชุมชนดำเนินการท่องเที่ยวตามหลักการดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจในความแตกต่างของการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวทั่วไป กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นความสำคัญและเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้มาเยือน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) กับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในสังคมท้องถิ่นที่ชุมชนใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงมีจุดเด่นคือชุมชนเป็นแหล่งข้อมูลหรือแหล่งเรียนรู้เอง มีวิถีชีวิตชุมชนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงจัดการทรัพยากรบนพื้นฐาน 3 ประการ คือฐานการเรียนรู้และจัดการโดยชุมชน ฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และฐานพิธีกรรม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เพราะมีความแตกต่างกับการท่องเที่ยวกระแสหลักอย่างชัดเจน (สุภาวิณี ทรงพรวาณิชย์, 2558)

                ดังนั้น การท่องเที่ยวแบบนี้จึงมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม ด้วยการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ชุมชนใช้เป็นฐานการผลิต โดยมีวัฒนธรรมธรรมและสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องจิตวิญญาณของชุมชน ในการสร้างสัมพันธ์กันภายในชุมชนและการสัมพันธ์กับภายนอก  ในความหมายของการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม

ความแตกต่างระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่น

                สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (2559) อธิบายว่า Ecotourism ภาษาราชการเรียกว่า “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” แต่หลายชุมชนหรือหลายองค์กร เรียก “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ความแตกต่างของ Ecotourism กับการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) คือการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) เน้นที่ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานแต่ Ecotourism มีธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ชุมชนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง

                Homestay ภาษาราชการเรียกว่า “ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท” มีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) คือ เน้นบ้านเป็นศูนย์กลาง แต่การท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการบริหารจัดการที่ชัดเจนในรูปองค์กรชุมชน จะพักค้างคืนในชุมชนในรูปแบบที่ชุมชนจัดการ อาทิ โฮมสเตย์ รีสอร์ทชุมชน ตั้งแคมป์หรือไม่ค้างคืนก็ได้

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม  โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันในภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างคุณภาพใหม่ของการท่องเที่ยวให้มีความหมายมากกว่าการพักผ่อน ความสนุกสนาน และความบันเทิง เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

                การรับรู้และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวคือหัวใจของการพฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากผลงานวิจัยของ  Ellis (2014) เรื่อง The legacy of war for community-based tourism development: learnings from Cambodia ศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนในกัมพูชา พบว่า ชุมชนรับรู้เรื่องกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน เช่น โฮมสเตย์กับกิจกรรมที่เสนอแก่นักท่องเที่ยว และอาหาร ผ่านคณะกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนเท่านั้น ไม่รวมถึงกิจกรรมในการซื้อของในตลาดของนักท่องเที่ยว หรือใช้บริการอื่น ๆ ในชุมชน ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวอิสระและมากับทัวร์ที่ใช้บริการของกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนทั้งสิ้น การรับรู้ที่ขาดหายไปมีผลต่อรายได้ของชุมชน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้โดยตรงจากนักท่องเที่ยว และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชนในภาพรวม นอกจากนั้น ชุมชนยังมีรายได้ทางอ้อมจากธุรกิจหรือองค์กรทางการศึกษา วัฒนธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้มีส่วนร่วมโดยตรงและคนในชุมชนที่ไม่มีส่วนร่วมก็ตาม

                จากผลการวิจัยของ Ellis ชี้ให้เห็นว่า การจัดการการท่องเที่ยวตามแนวคิดของการท่องเที่ยวโดยชุมชนส่งผลต่อมิติทางสังคม คือความสมัครสมานกลมเกลียวและความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน หากสมาชิกในชุมชนได้รับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กรรมการหรือผู้นำชุมชนคือส่วนสำคัญอย่างมากต่อการรับรู้และการมีส่วนร่วม ซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชนโดยรวมอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับงานวิจัยในประเทศไทยของอภิวัฒน์ ภูริศิวารักษ์ (2553) เรื่อง การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ศึกษาพื้นที่ บ้านฝั่งท่า ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน การจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น และการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน ผลการศึกษาพบว่า ชมรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อการอนุรักษ์ บ้านฝั่งท่า พัฒนามาจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน ซึ่งเกิดจากความคิดเห็นและการร่วมกลุ่มกันเองของชาวบ้าน เพื่อให้การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จ จึงได้พัฒนารูปแบบเป็นการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่คนในชุมชนและนำมาซึ่งแรงจูงใจในการให้ความร่วมมืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน

                ดังที่กล่าวมา ประเด็นการอนุรักษ์สอดคล้องกับมติที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The United Nations Conference on Conference on Environment and Development) หรือการประชุม Earth Summit พ.ศ.2535 กับปลุกกระแสการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการมุ่งหารายได้ทางเศรษฐกิจ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความตระหนักถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจุดหมายปลายทางจะเป็นที่ใด จะเป็นกลุ่มใหญ่ (Mass Tourism) เป็นกลุ่มขนาดเล็ก ทั้งในเมืองและชนบท (บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา, 2548) และจากการประชุม Globe’90 ณ ประเทศแคนาดา ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่าหมายถึงการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และผู้ที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นในปัจจุบัน โดยมีการปกป้องและสงวนรักษาโอกาสต่างๆ ของอนุชนรุ่นหลัง (เพชรี นนท์ศิริ, 2550) การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาความสมดุลของทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญและ มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อชุมชน เช่น ผลงานวิจัยของ จรินทร์ อาสาทรงธรรม (2554) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แนวทาง การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนตลาดน้ำอย่างยั่งยืน ต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบยั่งยืน เพื่อให้มีความสามารถในการดูแลรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีทักษะการจัดการและการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ดังนั้นชุมชนควรมีการวางแผนและควบคุมการใช้ทรัพยากรท่องเที่ยว และการได้รับผลประโยชน์จากการให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเยือน อันจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ชุมชนตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2547 ตลาดน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นจากสมาชิกในชุมชนริมน้ำ ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบเดิม ซึ่งนับวันจะมีแต่การล่มสลายของวิถีชีวิตริมน้ำ จึงได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยมขึ้นมา และในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

                จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน จะเน้นคุณค่าของการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมของชุมชนและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในขณะที่การท่องเที่ยวกระแสหลัก เน้นมูลค่าจากการท่องเที่ยว และตัวนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ตลอดจนอาศัยอำนาจเป็นเครื่องมือบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ทำให้ทรัพยากรเกิดความเสื่อมโทรม และไม่มีความยั่งยืน นับได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนโดยแท้ ทำให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดคุณค่า พลัง และความสุขของชุมชนอย่างยั่งยืน

                ในเรื่องของความตระหนักของสมาชิกในชุมชนประกอบกับความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายของตนเองคือหัวใจของการจัดการที่จะนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างยั่งยืนคือ “เราอยากจะทำท่องเที่ยวเพื่ออะไร” สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี ความเข้มแข็งของชุมชน หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือผสมผสานกัน  ไม่ใช่ตามกระแสหรือตามความต้องการขององค์กรใด เช่น เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีด้านความเชื่อของการทำบุญเข้าวัด ประเพณีรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ หรือเพื่อป้องกันการย้ายถิ่น ไม่อยากให้ลูกหลานไปทำงานในเมือง แล้วมาวางแผนจะดำเนินการอย่างไรในด้านการท่องเที่ยวลูกหลานจะได้มาทำงานสร้างเยาวชน มันก็จะมีประโยชน์แล้วเป็นไปตามเป้าหมาย ในความหมายของการมุ่งมั่นต่อเป้าหมายและดำเนินการไปในทิศทางนั้นอย่างจริงจัง

ข้อควรคำนึงในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

                การป้องกันปัญหาด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผู้นำหรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะต้องมีวิธีการจัดสรรงานและรายได้อย่างเป็นธรรม ตรงกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องการให้มีการจัดการรายได้จากการท่องเที่ยวลงไปสู่ชุมชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยกรรมการของชุมชนที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มชาวบ้าน นักธุรกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น ยึดมั่นต่อเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ การดูแลสิ่งแวดล้อม หรือความเข้มแข็งของชุมชน หากมุ่งเป้าหมายเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวก็จะเกิดผลเสียตามมา อาจมีความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นไม่ตรงกัน

                เรื่องที่สองคือควรระมัดระวังเรื่องความชัดเจนของผู้ดำเนินการ คือ เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว ใครล่ะที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ทุกคนควรต้องมีส่วนร่วม ขึ้นอยู่กับว่าจะมีส่วนร่วมในลักษณะใด เช่น ผู้นำชุมชนจะต้องมีกระบวนการวางโครงสร้างบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจน เช่น เด็กประถม มัธยม วัยรุ่น วัยทำงาน ทำอะไรบ้าง  ถ้าต่างคนต่างทำก็อาจจะขัดแย้งกันได้

                เรื่องสุดท้ายคือ ผลกระทบด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรการท่องที่ยวได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น น้ำตก แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ เป็นต้น ส่วนของสิ่งแวดล้อมจะเกี่ยวข้องกับการดูแลให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติ ไม่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและฝีมือมนุษย์ เช่น การเข้าไปในอุทยานการเน้นย้ำจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ไม่ตัด ดึง ฉีก กิ่งไม้ต้นไม้ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ล่าสัตว์ หลีกเลี่ยงการส่งเสียงดังอันจะเป็นการสร้างความรำคาญแก่สัตว์ป่าและอาจเข้ามาทำร้ายได้ เป็นต้น

 

การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

                ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องอาศัยสมาชิกภายในชุมชนที่มีความสามัคคีและมีโอกาสหารายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจัดการท่องเที่ยว จากการมีโอกาสใกล้ชิดกัน มีการพูดคุยกันมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างต่อเนื่องจากผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวและได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอดจนการกำหนดให้มีการประเมินผลและสรุปบทเรียนทุกครั้งของกิจกรรม จะส่งผลให้ชุมชนข้างเคียงเกิดการตื่นตัวและสนใจในกิจกรรมไปด้วย

                จากผลการวิจัยหลายกรณี คณะกรรมการของชุมชนคือตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ หรือกลุ่มวัยที่แตกต่างกัน และสมาชิกชุมชนดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ รวมถึงสาธารณูปโภคพร้อมต่อการรองรับนักท่องเที่ยว ชุมชนจึงต้องตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนโดยทำความเข้าใจในบทบาทด้านการวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินการ และการสรุปบทเรียน เกี่ยวกับทรัพยากรการท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยว สถานที่พัก ร้านอาหาร บริการสาธารณะที่จำเป็น เป็นต้น นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนและการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวแล้ว การพัฒนาส่วนประสมการตลาดบริการ (7 Ps) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ตามแนวคิดของ Kotler (2003) ประกอบด้วย 1) การกำหนดมาตรฐานสินค้า/บริการ มีการขายสินค้า/บริการที่มีคุณภาพดี 2) การกำหนดราคาที่ยุติธรรม ไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว 3) การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย มีการจัดวางและบอกตำแหน่งร้านค้าที่ชัดเจน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อสินค้าได้สะดวก 4) การส่งเสริมการตลาด เพื่อจูงใจหรือสื่อสารข้อมูลให้นักท่องเที่ยว 5) การพัฒนาคนในชุมชน/เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ และคุณสมบัติของผู้ให้บริการที่ดี (มีจิตบริการ หรือ Service Minded) 6) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และทัศนียภาพ รวมถึง 7) กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบริการและรับบริการต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เช่น ถนน/ป้ายบอกทาง สถานที่จอดรถ ถังขยะที่เพียงพอ ห้องน้ำ มีเสียงตามสายสำหรับประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น

 

สรุป

                อุตสาหกรรมการทำรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล ฉะนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนจำเป็นจะต้องมีหลักการจัดการที่ดีด้านการอนุรักษ์และเสริมสร้างศักยภาพของการใช้ทรัพยากรท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ ความเข้มแข็งของชุมชนและการพึ่งตนเอง ตลอดจนคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและปริมาณของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น มีผลต่อการประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยยึดมั่นต่อการปฏิบัติตามแนวทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน โดยแสวงหาการสนับสนุนสำคัญจากองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงเทศบาล อบต. ใกล้เคียง สถาบันการศึกษา ชุมชนข้างเคียง  ร้านค้าต่างๆ นักธุรกิจร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมหรือกองทุนเพื่อพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะในประเทศใด จะยั่งยืนได้ สมาชิกในชุมชนด้วยความเข้าใจในแนวคิดของการท่องเที่ยวโดยชุมชนประสมประสานกับการวางแผนการตลาดการท่องเที่ยว (7Ps) และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับความหมาย องค์ประกอบ และหลักการการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงข้อค้นพบตรงกันจากงานวิจัยในประเทศและต่างประเทศ

เอกสารอ้างอิง

7.1 บทความจากวารสาร (Journal)

[1] จรินทร์ อาสาทรงธรรม. (2554). การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนตลาดน้ำอย่างยั่งยืน. วารสารนักบริหาร ปีที่ 31(1), 204-209.

[2] Ellis, Sotear. (2014). The legacy of war for community-based tourism development: learnings from Cambodia. Community Development Journal, 49 (1), 129-142.

[3] เพชรศรี นนท์ศิริ. (2550). การพัฒนาการท่องเที่ยวชนบทของประเทศไทย: การถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ในประเทศฝรั่งเศส. วารสารวิชาการ การท่องเที่ยวไทยนานาชาติ, (2), 164-182.

7.2 หนังสือ

[1] บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา. (2548). การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน. กรุงเทพฯ: เพรส แอนด์ ดีไซน์.

[2] Kotler, P. (2003). Marketing management. New Jersey: Prentice-Hall.

7.3 เว็บไซด์

[1] ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาคน. [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา https:// thaicommunitybasedtourismnetwork__bestpractice/leeled-2/, เข้าดูเมื่อวันที่ 29/01/2559.

[2] สุภาวิณี ทรงพรวาณิชย์. (2558). สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน. [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา https:// thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/media/new/cbtrongkla/, เข้าดูเมื่อวันที่ 1/02/2559.

[3] สินธุ์ สโรบล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาคและเครือข่ายการเรียนรู้และประสานงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชน. การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน. [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.trf.or.th/index.php__:research-forum&Item id=146, เข้าดูเมื่อวันที่ 5/02/2559.

[4] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). รายงานการวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก, [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.trf.or.th/ index.php?option=com__tid=54:2554&Itemid=203, เข้าดูเมื่อวันที่ 12/02/2559.

[5] สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2559). การท่องเที่ยวโดยชุมชน, [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.cbt-i.org/?ge=show_pages&gen_ lang=20112012094103#.VtqNi32LTtQ, เข้าดูเมื่อวันที่ 19/02/2559.

 

ประวัติผู้เขียนบทความ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุดถนอม ตันเจริญ

คุณวุฒิปริญญาเอก รัฐศาสตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ การตลาด การท่องเที่ยว การบริหารทรัพยากรมนุษย์ รัฐประศาสนศาสตร์

ตำแหน่งปัจจุบัน รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

งานวิจัยที่สนใจ การท่องเที่ยว การบริหารธุรกิจ การสื่อสารการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

View Fullscreen