ชื่อผลงานทางวิชาการ         ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์

เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปีที่พิมพ์                           2560

ข้อมูลเพิ่มเติม      เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาการจัดการและพัฒนาสังคม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฉบับพิเศษ 19 มกราคม 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์กรองทอง  หีบโคกสูง การจัดการโลจิสติกส์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

          บทความวิจัย   เรื่อง      ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  SATISFACTION OF TOURISTS TOWARD THE TOURISM    LOGISTICS MANAGEMENT CASE STUDY : AYUTTHAYA PROVINCE ผู้ศึกษา คือ อาจารย์กรองทอง หีบโคกสูง   สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จำแนกตาม เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 383 คน และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่วนการทดสอบสมมติฐานใช้ค่าสถิติ t-test ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ใช้สถิติ One – way ANOVA โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการวิจัยพบว่า ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรวมอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการเข้าถึงสถานที่ ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ด้านความสะดวกสบาย ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านราคา (ค่าใช้จ่าย) รองลงมา คือ ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร และด้านเวลา นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว

ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว พบว่า เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกันจึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย ทำให้ทราบระดับความพึงพอใจและผลการเปรียบเทียบของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลการวิจัยไปพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

SATISFACTION OF TOURISTS TOWARD THE TOURISM

LOGISTICS MANAGEMENT CASE STUDY : AYUTTHAYA PROVINCE

 

                                                                                      กรองทอง หีบโคกสูง[1]

 

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จำแนกตาม เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 383 คน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่วนการทดสอบสมมติฐานใช้ค่าสถิติ t-test ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ใช้สถิติ One – way ANOVA โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการวิจัยพบว่า ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรวมอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการเข้าถึงสถานที่ ด้านการให้บริการแกนักท่องเที่ยว ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ด้านความสะดวกสบาย ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านราคา (ค่าใช้จ่าย) รองลงมา คือ ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร และด้านเวลา นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว

ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว พบว่า เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มีความพึงพอใจต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกันจึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย

 

คำสำคัญ: โลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว, นักท่องเที่ยว

Abstract

This study aimed to determine and compare tourists toward the tourism logistics management of  Ayutthaya Province, as classified by gender, age, marital status, education level and occupation. The tool for data collection was a questionnaire given to 383 people who used the service system of Ayutthaya Province, and chosen by random sampling. Statistical tools used in the data analysis were frequency, percentage, mean, standard deviation, t- test and One – way ANOVA with a statistical significance set at 0.05

The results of the study showed that, most people in the study were satisfied

with the tourists toward the tourism logistics management at the highest satisfaction level. When focusing on each particular aspect, it was found that the highest mean scores were: first, accessability, safety, environmental friendliness and price; second, Information and time.

With comparison of people’s level of satisfaction with the tourists toward the tourism logistics management of Ayutthaya Province by population factor, it can be concluded that differences in gender, age, marital status, education level and occupation were not significantly no different.

 

Keyword: Tourism logistics, Tourist

_________________________________________________________________________

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีอายุยาวนาน และมีอารยธรรมที่เก่าแก่ โดยการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี 2558 พบว่าสถิติผู้มาท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 1,678,000 คน บวกกับนักทัศนาจร 5,368,000 คน ซึ่งเมื่อรวมแล้วนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาเยี่ยมเยือน 7,046,000 คน (อิสระพงษ์ แทนศิริ, 2558)

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยร้อยละ 70 และต่างชาติร้อยละ 30 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 13,000 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 16 ของประเทศ รายได้จากแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจจะมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่าชาวต่างชาติ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557)

ในปัจจุบันการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประชาชนในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยอย่างยิ่งถ้าใช้วิธีการจัดการโลจิสติกส์เพื่อไปช่วยจัดระบบการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอารยธรรม ประวัติศาสตร์ และเป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจากรุงเทพมหานคร เหมาะแก่การพัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว โดยผลที่ได้จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีความสะดวก สบาย ปลอดภัย ทั้งในด้านเวลา ต้นทุน และเกิดความพึงพอใจสูงสุดของนักท่องเที่ยว โดยแนวคิดในการวิเคราะห์การขนส่งนักท่องเที่ยวไว้ 8 ประการ คือ สิ่งที่มีให้บริการ การเข้าถึง ข้อมูลข่าวสาร เวลา การเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Lumsdon and Page, 2004) โดยต่อมาเพื่อให้เหมาะกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มขึ้นมาอีก 4 ประการ คือ แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว ถนนคนเดิน จุดทำเงิน การสร้างความเพลิดเพลินระหว่างการเดินทาง (คมสัน สุริยะ, 2551) ปัญหาด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่เรื่องแหล่งท่องเที่ยว หากแต่อยู่ที่การจัดการห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) ซึ่งก็คือการจัดการขั้นตอนต่าง ๆ ในการบริการที่ต้องต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเวลาต้นทุน และเกิดความพึงพอใจสูงสุด (มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด, 2551)

 

วัตถุประสงค์ในการวิจัย

  • เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำแนกเพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

สมมติฐานการวิจัย

          สมมติฐานที่ 1 นักท่องเที่ยวที่มีลักษณะประชากรศาสตร์แตกต่างกันจะมีความพึงพอใจต่อการจัดการโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว ในด้านต่างๆ แตกต่างกัน

สมมติฐานที่ 2 นักท่องเที่ยวที่มีลักษณะประชากรศาสตร์แตกต่างกันจะมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน

 

ขอบเขตในการวิจัย

ในการวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการวิจัยเป็นการศึกษานักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยไม่เจาะจงรูปแบบการเดินทาง

โดยมีตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ตัวแปรด้านประชากรศาสตร์ คือ เพศ ช่วงอายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้

เฉลี่ยต่อเดือน

  • ตัวแปรด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยว คือ จำนวนครั้งของการมาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเดินทางมาท่องเที่ยวท่านมากับใคร การจัดการเดินทางมาท่องเที่ยว ช่วงเวลาใดที่ท่านเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ รูปแบบการเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดประสงค์หลักที่ท่านเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ ท่านมาท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนหรือไม่ สถานที่ท่องเที่ยวที่ชอบมากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านใช้จ่ายเงินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวท่านเสียค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ท่านได้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งใดในการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และท่านรู้สึกอย่างไรกับการมาท่องเที่ยวครั้งนี้
  • ตัวแปรด้านความพึงพอใจ ได้แก่ ด้านการเข้าถึงสถานที่ ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร ด้านเวลา ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว ด้านความสะดวกสบาย ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านราคา (ค่าใช้จ่าย)

 

 

            

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

การเลือกกลุ่มตัวอย่างจะใช้ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental sampling) ที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของปี 2557 มีทั้งหมด 5,213,103 คน ได้กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างในกรณีที่ทราบจำนวนประชากรโดยใช้สูตรของ (Taro Yamane, 1973) โดยใช้สูตรดังนี้

 

 

 

ดังนั้น จากการคำนวณหาขนาดตัวอย่าง พบว่าขนาดตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย 400 ตัวอย่าง โดยแบบสอบถามที่มีความสมบูรณ์จำนวน 383 ชุด ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

 

เครื่องมือการวิจัย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามจำนวน 1 ชุด เป็นแบบสอบถามสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมการท่องเที่ยวและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อองค์ประกอบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว

การวิเคราะห์ข้อมูล

การทดสอบสมมติฐานใช้ค่าสถิติ t-test ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ใช้สถิติ One – way  ANOVA โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

ผลการศึกษา

การวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษานี้สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ 2) การวิเคราะห์ข้อมูลด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว 3) การวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านต่างๆ และ 4) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ กับระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนี้

  1. การวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยด้านประชากรศาสตร์

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 64.5 และนักท่องเที่ยวเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 35.5 ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 21-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 37.3 ในด้านสถานภาพพบว่าส่วนใหญ่มีสถานภาพโสด คิดเป็นร้อยละ 73.4 ในด้านระดับการศึกษาส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 45.4 ในด้านอาชีพส่วนใหญ่มีอาชีพนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 45.4 ด้านสุดท้ายในด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.0

 

  1. การวิเคราะห์ข้อมูลด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยแล้วพบว่ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2 ครั้ง ส่วนใหญ่การเดินทางมาท่องเที่ยวท่านมากับครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 55.9 ส่วนการจัดการเดินทางมาท่องเที่ยวจะจัดการเดินทางเอง คิดเป็นร้อยละ 92.2 ช่วงเวลาใดที่ท่านเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆส่วนใหญ่จะทำการเดินทางมาในช่วง เสาร์ – อาทิตย์ คิดเป็นร้อยละ 72.6 โดยรูปแบบการเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนบุคคล คิดเป็นร้อยละ 67.4 โดยจุดประสงค์หลักที่เดินทางมาท่องเที่ยว ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ คิดเป็นร้อยละ 80.9 โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ต้องการพักค้างคืน คิดเป็นร้อยละ 83.8 โดยส่วนใหญ่สถานที่ท่องเที่ยวที่ชอบมากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ วัด จำนวน 189 คน คิดเป็นร้อยละ 49.3 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะใช้จ่ายด้วยเงินสด คิดเป็นร้อยละ 100 โดยค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวท่านเสียค่าใช้จ่าย 501 – 1,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 100 โดยข้อมูลข่าวสารได้มาจากการบอกเล่าจากคนรู้จัก คิดเป็นร้อยละ 43.9 ความรู้สึกต่อการท่องเที่ยวในครั้งนี้ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะประทับใจ คิดเป็นร้อยละ 51.4 และความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวจะกลับมาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกครั้ง คิดเป็นร้อยละ 97.7

 

  1. การวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านต่างๆ

ตารางที่ 1 : ตารางค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโล-     จิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว  S.D. ระดับความพึงพอใจ
1.       ด้านการเข้าถึงสถานที่

2.       ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

3.       ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร

4.       ด้านเวลา

5.       ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยว

6.       ด้านความสะดวกสบาย

7.       ด้านความปลอดภัย

8.       ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

9.       ด้านราคา (ค่าใช้จ่าย)

3.18

3.18

2.97

2.97

3.05

3.11

3.01

3.02

3.11

0.55

0.62

0.69

0.65

0.67

0.63

0.64

0.71

0.61

มากที่สุด

มากที่สุด

มาก

มาก

มากที่สุด

มากที่สุด

มากที่สุด

มากที่สุด

มากที่สุด

ภาพรวม 3.07 0.64 มากที่สุด

 

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในภาพรวมในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.07 โดยแบ่งออกเป็นด้านการเข้าถึงสถานที่อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.18 ด้านการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.18 ด้านการเอาใจใส่นักท่องเที่ยวอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.05 ด้านความสะดวกสบายอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.11 ด้านความปลอดภัยอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.01 ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.02 ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.11 ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสารอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.97 และด้านเวลาอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.97

 

  1. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ กับระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามสถานภาพทางเพศ พบว่า ความพึงพอใจโดยภาพรวม และความพึงพอใจทุกด้านไม่มีความแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามช่วงอายุโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามสถานภาพโดยภาพรวม พบว่า มีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามระดับการศึกษาโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามอาชีพโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจที่มีต่อการให้บริการในด้านต่างๆ จำแนกตามรายได้เฉลี่ยต่อเดือนโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมแตกต่างกัน

 

อภิปรายผลการวิจัย

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะพบว่าความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีเพียง 2 ด้านเท่านั้นที่อยู่ในระดับมาก นั้นคือ ด้านการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสาร และด้านเวลา จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงประเด็นหลัก คือ การที่ทำให้การเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีแผ่นป้าย แผ่นผับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแจกให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น การประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์/วิทยุ ไม่เพียงแต่การประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ควรประชาสัมพันธ์ทางด้านข้อมูลร้านอาหารด้วย ร่วมถึงมีศูนย์ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวหลายจุดเพิ่มมากขึ้น ส่วนทางด้านเวลา ควรจัดเวลาการเดินรถระบบขนส่งสาธารณะให้ตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวโดยไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อให้การท่องเที่ยวง่ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่น มีระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวอาจอยากเดินทางด้วยรถสาธารณะเพื่อมาท่องเที่ยวที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

 

ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย

จากการวิจัยพบว่าประเด็นที่ผู้วิจัยเสนอแนะเพิ่มเติม คือ

  1. ควรปรับปรุงการเคลื่อนที่ของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องสามารถหาข้อมูลการท่องเที่ยวได้ง่าย โดยไม่เพียงแต่การประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว ควรประชาสัมพันธ์ทางด้านร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ และของที่ระลึกของทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใช้บริการ
  2. ควรปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดตารางการเดินรถที่ตรงต่อเวลา เพื่อที่จะไม่ให้นักท่องเที่ยวเสียเวลาในการท่องเที่ยว
  3. ในการทำวิจัยครั้งต่อไปควรจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดมูลค่าต่อการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากผลที่ได้ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางท่องเที่ยว ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้เส้นทางที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

 

เอกสารอ้างอิง

กัลยา วาณิชย์บัญชา. (2546). การใช้ SPSS FOR WINDOWS ในการวิเคราะห์ข้อมูล: กรุงเทพฯ:

บริษัทธรรมสาร จำกัด.

คมสัน สุริยะ. (2551). กรอบแนวคิดโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว. วันที่ค้นข้อมูล 13 พฤษภาคม

2559, เว็บไซต์: www.tourismlogistics.com

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2557). การวิเคราะห์ข้อมูลการท่องเที่ยว เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์จังหวัด

พระนครศรีอยุธยา. วันที่ค้นข้อมูล 15 พฤษภาคม 2559, เว็บไซต์: osthailand.nic.go.th/files/policy_sector/…/Tourism-Ayuthaya

มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด. (2551). ทิศทางการท่องเที่ยวไทย. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อิสระพงษ์ แทนศิริ. (2558). วารสารศาสตร์ดิจิทัล. วันที่ค้นข้อมูล 11 พฤษภาคม 2559,

จากหนังสือพิมพ์รังสิต เว็บไซต์: http://www.jr-rsu.net/article/2107

Lumsdon, Les and Stephen Page. (2004). Progress in Transport and Tourism Research

Reformulating the  Transport-Tourism Interface and Future Research Agendas.

 

 

 

 

[1] อาจารย์  สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  อีเมล์: [email protected]