Category Archives: การท่องเที่ยว การบัญชี ธุรกิจบันเทิง และคหกรรมศาสตร์

การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความวิจัย

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 16    ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม) 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : อาจารย์ ดร.จริยาภรณ์ เจริญชีพ   สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

    บทความวิจัย เรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี THE PARTICIPATION IN THE MANAGEMENT OF SUSTAINABLE TOURISM: A CASE STUDY OF THAM RONG SUB-DISTRICT BAN LAT DISTRICT PHETCHABURI PROVINCE ผู้ศึกษา คือ อาจารย์ ดร.จริยาภรณ์ เจริญชีพ สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2) เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3) เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 4) เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  กลุ่มตัวอย่าง คือ คนในชุมชนตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี  จำนวน 359 คนและตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว  โดยใช้วิธีการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ  12 คน

สาระสำคัญของบทความวิจัยนี้

  1. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นอย่างดี
  2. ด้านการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนใหญ่ อยู่ในระดับบ่อยครั้ง และการมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์อยู่ในระดับปานกลาง โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเพศ สถานภาพแตกต่างกัน จะมีส่วนร่วมของชุมชนในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ไม่แตกต่างกัน
  3. คนในชุมชนมีการริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว  มีการรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่น มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น  จะทำให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น บางพื้นที่ไม่สามารถมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่จะนำเข้ามาร่วมวางแผนในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนได้ จึงมีการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว

การนำไปใช้ประโยชน์

  1. คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของในทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของตน
  2. หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่นทำงานร่วมกันเพื่อจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
  3. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถนำข้อมูลในการส่งเสริมและออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเส้นทางท่องเที่ยว เชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้
  4. นักท่องเที่ยวทั่วไปได้แหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่น่าสนใจ และน่าเรียนรู้ ซึ่งนำมาซึ่งประสบการณ์นันทนาการและการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพต่อไป

 

การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

THE PARTICIPATION IN THE MANAGEMENT OF SUSTAINABLE TOURISM: A CASE STUDY OF THAM RONG SUB-DISTRICT BAN LAT DISTRICT PHETCHABURI PROVINCE

 

จริยาภรณ์ เจริญชีพ

สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

JARIYAPORN CHAROENSHEEP

Social Sciences for Development   Faculty of Humanities and Social Sciences

Bansomdejchaopraya Rajabhat University

บทคัดย่อ

      การวิจัยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2) เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3) เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 4) เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

      โดยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed method) ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 359 คน ใช้แบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐาน โดยค่า t-test การวิเคราะห์ ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance) และการสัมภาษณ์โดยการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ จำนวน 12 คน โดยใช้การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation)

     ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมาก มีความรู้ ความเข้าใจ ในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารบ่อยครั้งในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (X = 3.08)  กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ แตกต่างกันมีความรู้ ความเข้าใจ การรับรู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01 มีการเสนอให้จัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยวและศึกษาดูงาน ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่

ABSTRACT

     The purposes of this research were 1) to study knowledge understanding and information  exposure of public participation in sustainable tourism management 2) to study level of public participation in sustainable tourism management 3) to compare individual, knowledge, understanding and information exposure factor with public participation in sustainable tourism management 4) to submit an appropriated proposal in public participation in sustainable tourism management.

    This research was quantitative mixed method research and qualitative research. There were  359 samples. Data was collected using questionnaire. Data was statistically analyzed in percentage, arithmetic mean, standard deviation, t-distribution, one way analysis of variance and focus group discussion with 12 sector head by using triangulation data check.

    The finding revealed that almost samples have knowledge understanding in public participation in sustainable tourism management. They always get information exposure in public participation in sustainable tourism management. Public participation in sustainable tourism management in generally was in middle level (X=3.08). Samples at difference in aged educational level career and income had difference knowledge understanding information exposure and public participation in sustainable tourism management as significant statistic at 0.05 0.01 level. Suggestions were to establish community enterprise in tourism and filed trip with network of educational institution in the area.

คำสำคัญ : การมีส่วนร่วม การจัดการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน

Keywords : THE PARTICIPATION THE MANAGEMENT SUSTAINABLE

 

บทนำ

     ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่จัดว่ามีทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลายประเภท กระจายอยู่ในภูมิภาค ทั้งที่เป็นแหล่งธรรมชาติ กึ่งธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งเก่าและใหม่ จนกล่าวได้ว่าเป็นมรดกทางการท่องเที่ยว (Tourism Heritage) อันมีคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ในความหลากหลายมีทรัพยากรการท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพสูง และเหมาะสมที่สามารถจะนำมาพัฒนาและจัดการเพื่อการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ (Alternative Tourism) ที่มีการอนุรักษ์การท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นนั้น

     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้มีการนำเสนอโครงการปฏิญญารักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือแนวคิด 7 Greens Concept ซึ่งหมายถึงแนวคิดที่สื่อถึงการท่องเที่ยวที่ใส่ใจ หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นนโยบายหลักของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่นำมาใช้เป็นหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วย Green Heart, Green Logistics, Green Attraction, Green Community, Green Activity, Green Service และGreen Plus โดยเน้นให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้ สอดคล้องกับหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การการท่องเที่ยวโลก (WTO) และสอดรับนโยบายที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้น Green Tourtism ให้ผู้คนตระหนักและส่งเสริมกิจกรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม (หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 2553)

     การท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลให้ความสำคัญเนื่องจากมีความสำคัญต่อการสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาประเทศอย่างมาก และยังเป็นรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ และมีการกระจายไปในหลายภาคอย่างค่อนข้างชัดเจน เช่น การเดินทาง ที่พัก การซื้อของที่ระลึก ภัตตาคาร ร้านค้าต่างๆ จึงมีการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมขยายมากขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของสถานที่พักทั้งโรงแรมขนาด 5 ดาวไปถึงที่พักแบบพื้นบ้านที่เรียกว่า โฮมสเตย์ การเพิ่มขึ้นของร้านอาหารและบริการอื่นๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ มีการขยายตัวไปในแทบทุกภูมิภาคของไทยก่อให้เกิดการ ตื่นตัว เพราะมองว่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวที่มีผู้มาซื้อสินค้า แต่จากการที่ทรัพยากรการท่องเที่ยวมีจำกัดไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นซึ่งผู้ดูแลหรือเป็นเสมือนเจ้าของก็คือประชาชนที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ  ว่าจะมีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะทรัพยากรทุกอย่างต้องมีข้อจำกัดในการใช้ ทั้งนี้ ซึ่งจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาโครงการพัฒนาหลายโครงการเป็นโครงการที่ดี แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมองที่โครงการเป็นตัวตั้งไม่ได้มองที่ประชาชน ดังนั้นการให้บทบาท และความสำคัญของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของอันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน (พจนา สวนศรี, 2546, น.178-179)

  แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะก่อประโยชน์มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในท้องถิ่น ทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดจากการแสวงหารายได้ของการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ตามมา เช่น ปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว ปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวเป็นต้น โดยมีสาเหตุมาจากขาดการวางแผน  ที่ดี มาตรฐาน คุณภาพ รูปแบบที่เหมาะสม ขาดความรู้ความเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงดูแลรักษา และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตของแหล่งท่องเที่ยว   ในพื้นที่เพื่อที่จะคงสภาพความสมบูรณ์ต่อไป

     ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงให้ความสนใจที่จะศึกษา การมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาภาพรวมของความรู้ความเข้าใจและการรับรู้ข่าวสาร เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยคาดว่าผลจากการศึกษาที่ได้ในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น และเพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 

  1. เพื่อศึกษาความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  2. เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  3. เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสาร กับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  4. เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ขอบเขตของการวิจัย   

          1.1   ขอบเขตประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

     ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้วิเคราะห์จากกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอ     บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3,428 คน มีจำนวน 6 หมู่บ้าน  ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านท่ามะเฟือง   หมู่ที่ 2 บ้านม่วงงาม หมู่ที่ 3 บ้านถ้ำรงค์ หมู่ที่ 4 บ้านไร่กระท้อน หมู่ที่ 5 บ้านดอนตะโก หมูที่ 6 บ้านหนองช้างตาย (องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์, 2558)

        กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  (งานวิจัยเชิงปริมาณ)

      กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของคนในชุมชนตำบลถ้ำรงค์ได้จำนวน 359 คน โดยคำนวณ กลุ่มตัวอย่างจากสูตรของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane, 1960, p.1088-1089 อ้างถึงในพิสณุ  ฟองศรี,  2549, น.110)

   ผู้ให้ข้อมูลหลักสำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพ  ตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว  โดยใช้วิธีการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ  12 คน

          1.2   ขอบเขตเนื้อหา

แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมของชุมชน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ความรู้ความเข้าใจ ข้อมูลทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์

          1.3   ขอบเขตพื้นที่

ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

 

วิธีดำเนินการวิจัย

     1.1   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

     เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม (Questionnaires) การสร้างเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยการศึกษาเอกสาร ตำราวิชาการ และผลวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ

     ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน ลักษณะคำถาม เป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) จำนวน 6 ข้อ

     ตอนที่ 2 แบบสอบถามปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วม แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ

1.) ความรู้ ความเข้าใจ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม ของชุมชนในด้านการท่องเที่ยว เป็นลักษณะคำถามประเภทปลายปิด โดยให้เลือกเป็นตอบแบบ ถูก ผิด จำนวน    10 ข้อ

2.) การรับรู้ข่าวสาร ซึ่งมีลักษณะเป็นลักษณะแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) ตามมาตรวัดแบบลิเคิร์ท (Likert Scale อ้างอิงในชิดชนก เชิงเชาว์, 2539, น.163-164) จำนวน 5 ข้อ

     ตอนที่ 3 แบบสอบถามข้อมูลการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามลำดับ การมีส่วนร่วมในขั้นต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) ตามมาตรวัดแบบ      ลิเคิร์ท (Likert Scale อ้างอิงในชิดชนก เชิงเชาว์, 2539, น.163-164) จำนวน 35 ข้อ

  1. การทดสอบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย การทดสอบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยการทดสอบความเที่ยงตรงของ เนื้อหา (Content Validity Test) และการทดสอบความน่าเชื่อถือ (Reliability Test) ของแบบสอบถาม (Questionnaire) มีวิธีการดังนี้

1.) การทดสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity Test) การวิจัยนี้จะนำ แบบสอบถามที่สร้างเสร็จแล้วมอบให้กับผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความถูกต้องของ เนื้อหาและทำการแก้ไขตามข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัย

2.) การทดสอบความน่าเชื่อถือ (Reliability Test) เมื่อผู้วิจัยได้แก้ไขแบบสอบถามตามที่ ผู้ทรงคุณวุฒิระบุเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำแบบสอบถามมาทำการทดสอบความน่าเชื่อถือโดยทำการแจกกับกลุ่มตัวอย่างที่มีความเป็นสภาพความเป็นกลุ่มตัวอย่างซึ่งได้แก่ ประชาชนที่มีภูมิลำเนาตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 30 คน แล้วนำผลมาวิเคราะห์หาค่าความน่าเชื่อถือ (Reliability) โดยการหาค่าความเชื่อมั่นด้วยวิธีการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’Alpha Coefficient) โดยกำหนดให้แบบทดสอบที่มีค่า 0.75 ขึ้นไป จึง เป็นความน่าเชื่อถือที่ยอมรับได้ ผลการทดสอบความน่าเชื่อถือได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า เท่ากับ 0.97 แสดงว่าแบบทดสอบสามารถนำไปใช้ได้

 

1.2   การเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้

1.2.1) แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ได้จากการศึกษาค้นคว้าจากข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนดังนี้

1.2.1.1) หนังสือทางวิชาการ บทความ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

1.2.1.2) เอกสารเผยแพร่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

1.2.1.3) จุลสาร วารสารต่างๆ

1.2.1.4) ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต

     1.2.2) แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ได้จากการเก็บแบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 359 คน ในชุมชนตำบลถ้ำรงค์ โดยแบ่งเป็น หมูที่ 1 บ้านท่ามะเฟืองจำนวน 56 คน หมู่ที่ 2 บ้านม่วงงามจำนวน 70 คน หมู่ที่ 3 บ้านถ้ำรงค์จำนวน 33 คน หมู่ที่ 4 บ้านไร่กระท้อนจำนวน 50 คน หมู่ที่ 5 บ้านดอนตะโกจำนวน 88 คน หมู่ที่ 6 บ้านหนองช้างตายจำนวน 62 คน

1.3   การวิเคราะห์ข้อมูล

     1.3.1) การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

          1.3.1.1) การรายงานผลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) โดยใช้เกณฑ์สมบูรณ์ (Absolute Criteria) ของวัน เดชพิชัย (2532, น.11)

          1.3.1.2) สถิติ T-Test ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณ หรือทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 2 กลุ่มตัวอย่าง

          1.3.1.3) สถิติ One-Way Anova ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณหรือทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 3 กลุ่มตัวอย่างขึ้นไป เพื่อคำนวณหาค่า F-Test

          1.3.1.4) การรายงานผลด้วยสถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) โดยมีสถิติการวิจัยดังนี้

          1) สมมุติฐาน สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) สถิติ T-Test ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณ หรือทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 2 กลุ่มตัวอย่าง และสถิติ One-Way Anova  ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณหรือ ทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 3 กลุ่มตัวอย่างขึ้นไป เพื่อคำนวณหาค่า  F-Test

     1.3.2) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

     ระเบียบวิธีวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการ สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก โดยประเด็นคำถามได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและนำมาถอดประเด็นเพื่อตั้งเป็นแนวคำถาม ตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ 12 คน

     เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

     คณะผู้วิจัยใช้เครื่องมือวิจัยเชิงคุณภาพที่ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก แหล่งข้อมูลต่างๆ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ และใช้เครื่องมือบันทึกเสียงและกล้องถ่ายรูปเป็นเครื่องมือช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีรายละเอียดดังนี้

      1.) การสัมภาษณ์ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เป็นการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ซึ่งคำถามจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่าง ยั่งยืนในตำบลถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสม

     การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบสามเส้า (Triangulation) ด้วยการจัดหมวดหมู่ ข้อมูลที่ได้จากข้อสัมภาษณ์ การถอดเทป แยกตามประเด็น และแหล่งข้อมูล หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์และประเมินความหมายของข้อมูลนั้นตามกรอบบริบทของแหล่งข้อมูลนั้นๆ

ผลการวิจัย

  1. ข้อมูลทั่วไป ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายมีจำนวน 199 คน คิดเป็นร้อยละ 55.4 และเป็นเพศชายจำนวน 159 คน คิดเป็นร้อยละ 44.6 มีอายุระหว่าง 41-50 ปี มีจำนวน 82 คนคิดเป็นร้อยละ 22.8  สถานภาพสมรสมีจำนวน 214 คน คิดเป็นร้อยละ 59.6  การศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษา/ปวช.หรือต่ำกว่า มีจำนวน 159 คน คิดเป็นร้อยละ 44.3 อาชีพเกษตรกรมจำนวน 140 คนคิดเป็นร้อยละ 39.0 รายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาท จำนวน 151 คน คิดเป็นร้อยละ 42.1
  2. ข้อมูลสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในภาพรวมมีดังนี้

     1) การรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนถือเป็นการริเริ่มการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 322 คน (ร้อยละ 89.7) และตอบไม่ใช่ จำนวน 37 คน (ร้อย ละ 10.3)

     2) การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่ง ท่องเที่ยวไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ตอบใช่ จำนวน 265 คน (ร้อยละ 73.8) และตอบไม่ใช่ จำนวน 94 คน (ร้อยละ 26.2)

     3) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแก่ชุมชนและ ท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 313 คน (ร้อยละ 87.2) และตอบไม่ใช่ จำนวน 46 คน (ร้อยละ 12.8)

     4) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 304 คน (ร้อยละ 84.7) และตอบไม่ใช่ จำนวน 55 คน (ร้อย ละ 15.3)

     5) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นภายในแหล่งท่องเที่ยวไม่นับเป็นผลที่สืบเนื่องจาก การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 255 คน (ร้อยละ 71.0) และตอบไม่ใช่จำนวน 104 คน (ร้อยละ 29.0)

     6) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 192 คน (ร้อยละ 53.5) และตอบไม่ใช่ จำนวน 167 คน (ร้อยละ 46.5)

     7) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวควรมีการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 255 คน (ร้อยละ 71.0) และ ตอบไม่ใช่ จำนวน 104 คน (ร้อยละ 29.0)

     8) การรณรงค์ให้ประชาชนในท้องที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 217 คน (ร้อยละ 60.4) และตอบไม่ใช่ จำนวน 142 คน (ร้อยละ 39.6)

     9) หลังจากการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 211 คน (ร้อยละ 58.8) และตอบ ไม่ใช่ จำนวน 148 คน (ร้อยละ 41.2)

     10) การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 222 คน (ร้อยละ 61.8) และตอบไม่ใช่ จำนวน 137 คน (ร้อยละ 38.2)

     ด้านการรับรู้ข่าวสาร ชุมชนรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุม และจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน จากหอกระจายข่าวหมู่บ้าน (X=3.97) มีตัวแทนจากชุมชนแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ทราบ (X=3.56) อยู่ในระดับการรับรู้บ่อยครั้ง มีการจัดการประชุมเพื่อแจ้งข่าวสารแก่ประชาชน (X=3.50) ชุมชนรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุม และจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น (X=3.35) มีเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ทราบ (X=3.25) อยู่ในระดับการรับรู้บางครั้ง

     การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา และประเด็นปัญหาร่วมกันมีส่วนร่วมในการสำรวจ เก็บข้อมูลของชุมชน (X=3.21) ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษาสาเหตุของปัญหาชุมชน (X=3.14) ชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน (X=3.10) ชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดประเด็นปัญหาขึ้น (X=3.09) ชุมชนมีส่วนร่วม ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการค้นหาปัญหาของชุมชน (X=43.07) ชุมชนได้ร่วมประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่างๆ ของชุมชน      (X=3.03)  อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการวางแผนร่วมกัน มีส่วนร่วมในการวางกฎระเบียบข้อบังคับของแต่ละกิจกรรม (X=3.17) ชุมชนช่วยสนับสนุนด้านอุปกรณ์ต่างๆ ในการวางแผนของชุมชน (X=3.10) ชุมชนช่วยอำนวยความสะดวกในการวางแผนกิจกรรมต่างๆ (X=3.08) ชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการวางแผน (X=3.07) ชุมชนช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการวางแผนชุมชน (X=3.06) ชุมชนมีส่วนร่วมในการเขียนและจัดทำแผนกิจกรรมต่างๆ (X=2.98) อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกัน ช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติกิจกรรม (X=3.12) ชุมชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามแผนหรือกิจกรรมของชุมชน (X=3.11) ชุมชนชักชวนผู้อื่นให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมชน (X=3.11) ชุมชนช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมของชุมชน (X=3.08) ชุมชนให้การสนับสนุนงบประมาณวัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ กับชุมชน (X=2.95) ชุมชนช่วยจัดหางบประมาณในการปฏิบัติงานชุมชน (X=2.78)  อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ชุมชนร่วมตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน (X=3.10)ชุมชนร่วมกำหนดแผนงานหรือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน (X=3.05) ชุมชนร่วมเลือกกิจกรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยว (X=3.00) ชุมชนร่วมกำหนดคัดเลือกบุคลากรในการปฏิบัติกิจกรรมของชุมชน (X=2.96)  ชุมชนร่วมตัดสินใจวางกฎระเบียบของกิจกรรมต่างๆ (X=2.92) ชุมชนร่วมตัดสินใจในการสรุปผลการดำเนินงานของชุมชน (X=2.92) อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลร่วมกัน ชุมชนมีส่วนร่วมควบคุมกฎเกณฑ์และมาตรการด้านการท่องเที่ยวของชุมชน (X=2.98) ชุมชนมีส่วนร่วมอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนการประเมินผลชุมชน (Χ=2.96) ชุมชนร่วมติดตามและหาแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานชุมชน (X=2.94) ชุมชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนในรอบปีที่ผ่านมา (X=2.94) ชุมชนมีส่วนร่วมวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานของชุมชน (X=2.94) ชุมชนร่วมประเมินผลกิจกรรมของชุมชน (X=2.92) อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ ชุมชนได้รับการกระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจในมรดกของท้องถิ่นและของชาติทำให้เกิดความใส่ใจในการอนุรักษ์ (X=3.51) อยู่ในระดับมาก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะเวลาคือการส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมของชุมชน (X=3.49) ชุมชนได้เรียนรู้คุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อรายได้ (X=3.41) ชุมชนได้รับประโยชน์จากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงระบบสาธารณสุขและการขนส่ง (X=3.34) ชุมชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว (X=3.29) อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

  1. การทดสอบสมมติฐาน ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า

     3.1) ยอมรับสมมติฐานเป็นจริง

          3.1.1) กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ความแตกต่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01

          3.1.2)  กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาความแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนใน การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและ ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01

          3.1.3) กลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01

          3.1.4) กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสาร ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทาง สถิติที่ระดับ 0.05

     3.2) ปฏิเสธสมมติฐาน

          3.2.1) กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่มีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.2) กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.3) กลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการ มีส่วนร่วมของชุมชน ไม่มีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.4) กลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.5) กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ และด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่มีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

  1. การสนทนากลุ่ม พบว่า

     4.1) คนในชุมชนมีการริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนเป็นผู้รับผลประโยชน์นั้น

     4.2) มีการรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว

     4.3) กระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมใน การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น  จะทำให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น บางพื้นที่ไม่สามารถมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่จะนำเข้ามาร่วมวางแผนในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนได้ จึงมีการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว

อภิปรายผล

     จากผลการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี สามารถอภิปรายได้ดังนี้

  1. ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง

   1.1) จำแนกตามเพศแตกต่างกัน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กุลจิรา เสาวลักษณ์จินดา (2555) ทำการศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว : กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า อายุ ระดับ การศึกษา และอาชีพ ที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวแตกต่างกัน ส่วนเพศ สถานภาพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่แตกต่างกัน   มีผลต่อการมี  ส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวไม่ต่างกัน

   1.2) จำแนกตามอายุที่แตกต่างกัน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสาร และด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี    มรนนท์ (2555) ทำการศึกษาเรื่องศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก การมีส่วนร่วมมีค่าเฉลี่ยจากมากมาถึงน้อย ดังนั้นการดำเนินการพัฒนามีค่าเฉลี่ยสูงสุด ขั้นการประเมินผลการพัฒนา ขั้นผลการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา ขั้นการริเริ่มการพัฒนา และขั้นการวางแผนตามลำดับ ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ เวลา และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่ แตกต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน

  1.3) จำแนกตามสถานภาพที่แตกต่างกัน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กุลจิรา เสาวลักษณ์จินดา (2555) ทำการศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว : กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัด สิงห์บุรี พบว่า อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ ที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวแตกต่างกัน ส่วน เพศ สถานภาพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ที่แตกต่างกันมีผลต่อ การมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวไม่แตกต่างกัน

     1.4) จำแนกตามระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี มรนนท์ (2555) ทำการศึกษาเรื่องศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก การมีส่วนร่วมมีค่าเฉลี่ยจากมากมาถึงน้อย ดังนั้นขั้นการดำเนินการพัฒนา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ขั้นการประเมินผลการพัฒนา ขั้นผลการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา ขั้นการริเริ่มการพัฒนา และขั้นการวางแผนตามลำดับ ปัจจัยด้าน ประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ เวลา และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน ส่วนปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ รายได้ และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วม ด้านความรู้ ความเข้าใจ ที่แตกต่างการกันมีระดับการมีส่วนร่วมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 0.05

     1.5) จำแนกตามอาชีพที่แตกต่างกัน พบว่า มีอาชีพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี มรนนท์ (2555) ทำการศึกษาเรื่องศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก การมีส่วนร่วมมีค่าเฉลี่ยจากมากมาถึงน้อยดังนี้ ขั้นการดำเนินการพัฒนา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ขั้นการประเมินผลการพัฒนา ขั้นการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา ขั้นการริเริ่มการพัฒนา และขั้นการวางแผนตามลำดับ ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ เวลา และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน       มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน

     1.6) จำแนกตามรายได้ต่อเดือนที่แตกต่าง พบว่า มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสาร ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี    มรนนท์  (2555)  ทำการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน ส่วนปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ รายได้ และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้าน ความรู้ ความเข้าใจ ที่แตกต่างกันมีระดับการมีส่วนร่วมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 0.05

  1. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

     2.1) อภิปรายตามวัตถุประสงค์ข้อแรกของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการศึกษาการทดสอบความรู้ความเข้าใจของกลุ่มตัวอย่างในท้องถิ่นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากแบบสอบถาม จำนวน 10 ข้อ มีผู้ตอบ 359 คน ซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจ อยู่ในระดับมากหรือที่ตอบว่าใช่มากกว่าไม่ใช่ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ศลิษา หมัดลัง (2549) พบว่า คนในชุมชนบ้านคลองสนกิ่ง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ได้กล่าวถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พบว่า ชาวบ้านคลองสนยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอยู่ในระดับมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ทุกชุมชนมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับดี เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มีการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยว และการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ที่ยั่งยืนจาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงจำเป็นที่ชาวบ้านต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี และด้านการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากแบบสอบถาม จำนวน 5 ข้อ ผู้ตอบแบบสอบถาม 359 คน ส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารอยู่ในระดับบ่อยครั้ง ซึ่งสอดคล้อง กับงานวิจัยของรัตนวดี จุลพันธ์ (2547) ที่ได้ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของประชาชนในท้องถิ่น กรณีศึกษา เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับ ปัจจัยต่างๆ ของลักษณะทางประชากรศาสตร์ พบว่า อาชีพ ประสบการณ์ในการอบรมกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการรับรู้ผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สถานภาพทางสังคม และการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ระยะเวลาที่อยู่อาศัยในชุมชน ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการให้คุณค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะว่าลักษณะทางประชากรศาสตร์ของคนในชุมชนแตกต่างกัน จึงทำให้มีความคิดเห็นหรือระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนแตกต่างกัน และเหมือนกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ มีส่วนทำให้มีระดับ การมีส่วนร่วมมากหรือน้อย

     2.2) อภิปรายตามวัตถุประสงค์ข้อที่สองของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์อยู่ในระดับปานกลาง การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและประเด็นปัญหาร่วมกันอยู่ในระดับปานกลาง การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกันอยู่ระดับปานกลาง การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอยู่ในระดับปานกลาง และการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลร่วมกันอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับงานวิจัยของ อารีย์ นัยพินิจ และคณะ (2551) ศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวหมู่บ้านบุไทรโฮมสเตย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา พบว่า ชุมชนมีส่วนร่วมโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดอยู่ในระดับมากที่สุด มีส่วนร่วมในการลงมติหรือลงความคิดเห็นที่ช่วยกันในการจัดการการท่องเที่ยวทุกครั้งที่มีการประชุมในหมู่บ้าน และการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและรับผลประโยชน์ตอบแทน ได้รับผลประโยชน์จาการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมในการวางแผนอยู่ในระดับมาก มีการประชุมวางแผนจัดสถานที่บริเวณหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีการเข้าร่วมการตัดสินใจในกิจกรรมรณรงค์รักษาความสะอาด ความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน การมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล โดยรวมอยู่ในระดับมาก และการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะการได้รับข่าวสารการท่องเที่ยวภายนอกชุมชนจากสื่อต่างๆ

     2.3) อภิปรายตามวัตถุประสงค์ข้อที่สามของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลต่อปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และด้านการรับรู้ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศ สถานภาพแตกต่างกัน จะมีส่วนร่วมของชุมชนในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ  กุลจิรา เสาวลักษณ์จินดา (2555) ทำการศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว : กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ ที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่ง ท่องเที่ยวแตกต่างกัน  ส่วนเพศ  สถานภาพ  และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวไม่แตกต่างกัน

ข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยในครั้งต่อไป

1.1) ในการวิจัยครั้งต่อไป ควรศึกษาในด้านความคาดหวังและศึกษาในด้านของนักท่องเที่ยว เพื่อจะได้ทราบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจในการจัดการการท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

1.2) ควรศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว ให้ตรงกับความต้องการ และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว

1.3) ควรมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบระหว่างชุมชนเพื่อให้ทราบถึงชุมชนหรือพื้นที่ใดที่มีส่วนร่วมต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากกว่ากัน เพื่อที่จะได้ส่งเสริมได้ถูกต้อง

1.4) ควรศึกษาแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมทั้งแนวทางการ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือกลุ่มสินค้าพื้นบ้าน สินค้างานฝีมือต่างๆ และสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละตำบล

1.5) ควรมีการทำวิจัยเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการทำแผนงานการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมในแหล่งท่องเที่ยว

1.6) ควรมีการศึกษาเรื่องเส้นทางการเดินทางท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับความต้องการของนักท่องเที่ยว เพื่อเตรียมการรองรับกระแสนิยมของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งจากภายในและนอกประเทศ

บรรณานุกรม

กุลจิรา  เสาวลักษณ์จินดา. (2555).  การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว:  

               กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี. ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

วิชาเอกการจัดการทั่วไป คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

เกศิณี  มรนนท์. (2555).  ศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่ง

               ท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ชิดชนก เชิงเชาว์ (2539). วิธีวิจัยทางการศึกษา. ปัตตานี: ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

พจนา  สวนศรี. (2546).  คู่มือการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน.กรุงเทพมหานคร : โครงการ

ท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ.

พิสณุ ฟองศรี. (2549). วิจัยทางการศึกษา “แนวคิดทฤษฎี”. พิมพครั้งที่ 2. กทม. เทียมฝาการพิมพ.

รัตนวดี  จุลพันธุ์. (2547). การมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของประชาชนใน

               ท้องถิ่น กรณีศึกษา เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี.วิทยานิพนธ์สังคมศาสตรมหาบัณฑิต,

               สาขาวิชาสิ่งแวดล้อม. คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

วัน  เดชพิชัย. (2532). “แบบประเมินตนเองสำหรับผู้บริหาร” ศึกษาศาสตร์, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย

               สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. 5(ตุลาคม 2531 – มกราคม 2532), 1-12.

ศลิษา หมัดลัง. (2549). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กรณีศึกษา

               ชุมชนบ้านคลองสน กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต).            กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์. (2553).  7 Greens Concept ไม่รู้จัก ไม่อินเทรนด์. สืบค้นเมื่อ

14 ธันวาคม 2555, จาก http:// www.thaipost.net.

องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์. (2558). ข้อมูลทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์  

              อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี: ส่วนสวัสดิการสังคม.

อารีย์  นัยพินิจ และ ฐิรชญา มณีเนตร. (2551).  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ ท่องเที่ยว

               หมู่บ้านบุไทรโฮมสเตย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา.

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Interaction of moisture content and fat content on puffing properties of expanded-product from native rice starch

Interaction of moisture content and fat
content on puffing properties of
expanded-product from native rice starch

Rossaporn Jiamjariyatam 1,* and Suriya Atiwittaporn2

1 Department of Home Economics, Faculty of Science, Srinakharinwirot University, Sukhumvit 23, Bangkok 10110, Thailand.
2 Department of Applied Science, Home Economics Program, Bansomdej chaopraya Rajabhat University, 1061Isaraphab 15 Rd. Dhonburi, Bangkok 10600, Thailand.
* Corresponding author, e-mail: [email protected]

 

การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง  เพื่อศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาของปริมาณความชื้น และปริมาณไขมันที่มีต่อผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า  เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหาร  เช่น ขนมปังที่มีความกรอบ และพองฟู

ศึกษารายละเอียดของการทดลอง  และข้อค้นพบได้ในวารสาร Food and Applied Bioscience Journal

 

Rossaporn  Jiamjariyatam  and   Suriya  Atiwittaporn. (2016). “ Interaction  of

Moisture  content  and  fat  content on puffing  properties  of

expanded-product  from native  rice starch”   Food and Applied

Bioscience Journal.  4(3) : 116–125

วารสารวิชาการ Food and Applied Bioscience Journal

ลิงค์ที่เข้าถึงได้ https://www.tci-thaijo.org/index.php/fabjournal/article/view/78300

View Fullscreen

วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณา ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

 ชื่อผลงานทางวิชาการ : วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย
Analysis Narrative Strategies through Movie Advertising of 
Thanonchai Sornsriwichai

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความวิจัย

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านวิทยาการจัดการ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 1 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์พัชนี  แสนไชย สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

           บทความวิจัย เรื่อง วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณา ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย Analysis Narrative Strategies through Movie Advertising of  Thanonchai Sornsriwichaiอาจารย์พัชนี  แสนไชย  สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย และเพื่อวิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

           จุดเด่นของบทความนี้  เป็นการวิจัยคุณภาพ มีการวิเคราะห์เนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลของธนญชัย โดยใช้การศึกษาแนวคิดการสื่อสารการตลาดยุคดิจิทัล การเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) และมรรค 8 เพื่ออธิบายกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาและวิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการทำงานของธนญชัย ซึ่งธนญชัย ศรศรีวิชัย เป็นผู้กำกับโฆษณาที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก(The Most Awarded Directors in The World) โดยที่ครองตำแน่งนี้ถึง 6 ปีซ้อน ชื่อรางวัลสิงโตเมืองคานส์ จากเทศกาลภาพยนตร์โฆษณาเมืองคานส์ ในประเภท Gold Lions (สิงโตทองคำ) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดและเป็นที่ใฝ่ฝันของคนทำงานโฆษณาทั่วโลก

           จากงานวิจัยพบว่า ในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย  โครงเรื่อง(Plot) มักสร้างโครงเรื่องจากเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ โดยพยายามหาจุดเชื่อมโยงของตราสินค้า(Brand) แล้วค่อยๆถ่ายทอดออกมาสู่การออกแบบเนื้อหาและสร้างเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์โฆษณา แก่นเรื่อง (Theme) มักนำหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแก่นเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา ส่วนมุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาโดยมีหลักความคิดแบบอภิปรัชญา จึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเอง สร้างสรรค์ผลงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อคนดูและสังคม

ประโยชน์ที่ได้รับจากบทความวิจัยนี้

  1. ทราบและเข้าใจกลวิธีการเล่าเรื่องภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย
  2. เข้าใจมุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย
  3. สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย

 

วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย
Analysis Narrative Strategies through Movie Advertising of  Thanonchai Sornsriwichai

 

นางสาวพัชนี แสนไชย

อาจารย์ประจำสาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

              งานวิจัยเรื่อง วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่อง วิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการทำงานของธนญชัย  ศรศรีวิชัย โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์เนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลของธนญชัย โดยใช้การศึกษาแนวคิดการสื่อสารการตลาดยุคดิจิทัล การเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) และมรรค 8 เพื่ออธิบายกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาและวิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการทำงานของธนญชัย

              ผู้วิจัยพบว่าภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ใช้มุมมองด้านการสื่อสารการตลาดมาวิเคราะห์ผ่านการออกแบบเนื้อหาภาพยนตร์โฆษณาที่เน้นการวิเคราะห์ในด้านการสื่อสาร (communication ) ซึ่งใช้กลวิธีในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์  (emotional communication) ส่วนใหญ่จะเน้นไปในทางการใช้กลวิธีการสร้างอารมณ์ที่ค่อยๆไต่ระดับ จากอารมณ์เศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และมักมีจุดจบด้วยอารมณ์สุขแบบอิ่มเอมใจเสมอ

              ผู้วิจัยพบว่า ในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย มีดังนี้ โครงเรื่อง(Plot) มักสร้างโครงเรื่องจากเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ โดยพยายามหาจุดเชื่อมโยงของตราสินค้า(Brand) แล้วค่อยๆถ่ายทอดออกมาสู่การออกแบบเนื้อหาและสร้างเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์โฆษณา แก่นเรื่อง (Theme) มักนำหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแก่นเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา  เช่น การให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ความขัดแย้ง (Conflict) ส่วนใหญ่มักสร้างความขัดแย้งในจิตใจของมนุษย์ ขัดแย้งจากความจน และขัดแย้งจากโอกาสทางสังคม ตัวละคร (Character) มักเป็นตัวละครที่เป็นคนธรรมดา หน้าตาธรรมดา ฐานะธรรมดา แต่ตัวละครหลักเหล่านี้กลับเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง  ฉาก (Setting) ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นฉากที่หรูหราแต่เลือกใช้ฉากที่สะท้อนให้เห็นความเป็นสามัญธรรมดาทั่วไปของมนุษย์ เช่น ท้องถนน, ห้องเช่า, รถเมล์ เป็นต้น สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)     การเลือกใช้โทนภาพที่ออกสีเหลืองๆตุ่นๆ, มุมกล้องและระยะภาพที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละครผ่านภาพยนตร์โฆษณา, การใช้ดนตรีบรรเลง อย่างเปียโนและไวโอลิน, เสียงบรรยายที่เป็นเอกลักษณ์หนักแน่นและจริงใจ มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) มักมีมุมมองในการเล่าเรื่องมาจากจุดเล็กๆของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคม หรือผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

              ปรากฏการณ์ที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย มักใช้อารมณ์ต่างๆของมนุษย์มาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ อารมณ์เศร้า ซาบซึ้ง หรือบางทีอาจสอดแทรกความตลกขบขันลงไป โดยภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว หรือถ่ายทอดออกมาโดยการเชื่อมั่นในความดี ที่จะเป็นพลังในการคอยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นเรื่อง “การให้”

              นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังพบว่า ธนญชัย ศรศรีวิชัย มีมุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาโดยมีหลักความคิดแบบอภิปรัชญา เขาจึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเอง สร้างสรรค์ผลงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อคนดูและสังคม

 

คำสำคัญ: กลวิธีการเล่าเรื่อง, ภาพยนตร์โฆษณา, ธนญชัย  ศรศรีวิชัย

 

Abstract

              Research Analyze the narrative strategies through the movie advertising of Thanonchai Sornsriwichai. The objective is to study the narrative strategies. Analyze views and concepts in the work of Thanonchai Sornsriwichai. This study is a qualitative research. Analyze the content of the award-winning commercials of Thanonchai. By studying the concept of digital marketing communication. Storytelling Phenomenological concept and Atthangika-magga: the Noble Eightfold Path 8 to describe the narrative strategies through movie advertising and analysis of the views and concepts of the work of Thanonchai.

              The researcher found that the movie advertising of Thanonchai. Uses the perspective of marketing communication to analyze through content design, advertising, communication.Which uses strategies to create emotional communication, most of which focus on the use of emotional strategies that gradually climb. From sad emotions, gradually grateful and always end with a happy mood.

              The researcher found that. The narrative through the movie advertising of Thanonchai Sornsriwichai is as follows. The plot often creates a story from the human story. By trying to find the link of the brand and gradually conveying it to the design of the content and create a story through the movie advertising. Theme often brings the doctrine of the Buddha as the theme in the movie advertising, such as giving people. Otherwise, without return, conflicts most often conflict in the human mind, the paradox of the poor. The characters are usually ordinary characters, ordinary characters but these main characters are highly moral. The setting is mostly not a luxury scene, but a choice use a scene that reflects common humanity, such as the road, rent, buses, etc. Special symbols the camera angles and the distance that reflect the emotions of the characters through the commercials, the use of instrumental music  piano and violin, the voice is unique, strong and sincere. Point of view views often have a narrative viewpoint from a small group of people in society. Or what’s happening in society.

              The phenomenon found in Thanonchai Sornsriwichai’s movie advertising often uses human emotions as a conductor for driving. Most often, it is used to be sentimental, or perhaps humorous. Most commercials are linked to family institutions or conveyed by the belief in good. To be a force to drive social well. Mostly it is a matter of “giving”

              In addition, the researcher found that Thanonchai Sornsriwichai had the view and idea of ​​creating an movie advertising based on metaphysics. He is living his life by using the Atthangika-magga: the Noble Eightfold Path 8 to create content through commercials that will change society in a better way. Do not accept the beer ads to mescalize people in society. Trying to lower selfish ego without going to the global director’s award and keep practicing with straightforward, minimalist approach. Most beneficial Reliable, benefit the public, benefit people and society.

 

Keywords: Narrative Strategies , Movie Advertising ,Thanonchai Sornsriwichai

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
              “ภาพยนตร์” เป็นสื่อสากลแขนงหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เป็นเวลาหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว ที่ผู้คนพยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ภาพยนตร์สามารถทำให้ผู้คนหลงใหลประทับใจ ภาพยนตร์ส่งผ่านข้อมูลและความคิด แสดงสถานที่และแนวทางการใช้ชีวิตในแบบที่เราไม่เคยรู้จัก ทั้งยังนำเสนอประสบการณ์และความรู้สึกที่มาให้เราพึงพอใจอย่างลึกซึ้ง (Bordwell and Thompson, 2008: 2)

              ดังนั้น ภาพยนตร์จึงถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการตลาดเพื่อเป้าหมายสูงสุดของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในยุคการตลาด 4.0 การใช้วิธีการเล่าเรื่องของสินค้าด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบสอดแทรกเรื่องราวต่างๆผ่านตัวละคร ใช้อารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์เศร้า,ซึ้ง,หดหู่,ฮึกเหิม,ทำให้เกิดพลังใจและแรงบันดาลใจ ฯลฯ ของมนุษย์ในการเล่าเรื่อง เป็นกลวิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์โฆษณาที่มีความน่าสนใจและน่าศึกษาค้นหาคำตอบในการทำการวิจัยเรื่องนี้

              การผลิตภาพยนตร์โฆษณาในยุคดิจิทัล 4.0 นักโฆษณาจึงต้องคิดหากลวิธีสร้างสรรค์ให้มากขึ้นกว่าในอดีต เพราะการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีวิธีการใช้สื่อที่แตกต่างไป สื่อเองก็ขยายขอบเขต (media landscape) วิธีการการเล่าเรื่องจึงกลายเป็นตัวแปรต้นที่มีความสำคัญในการพัฒนาและออกแบบเนื้อหาสื่อเพื่อให้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ โดยประเทศไทยมีบริษัทโฆษณาและผู้กำกับโฆษณาที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก คือ ธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก(The Most Awarded Directors in The World) โดยที่ครองตำแน่งนี้ถึง 6 ปีซ้อน

              ธนญชัย ศรศรีวิชัย คือ ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลสิงโตเมืองคานส์ จากเทศกาลภาพยนตร์โฆษณาเมืองคานส์ ในประเภท Gold Lions (สิงโตทองคำ) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดและเป็นที่ใฝ่ฝันของคนทำงานโฆษณาทั่วโลก

              ธนญชัย ศรศรีวิชัย มีเอกลักษณ์ในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาที่แฝงมุขตลก ใช้โทนภาพสีตุ่นๆ ตัวละครในเรื่องมักเป็นชาวบ้าน รวมถึงการก็ใช้เสียงบรรยายที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นเสียงของเขาเอง อย่างโฆษณาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) “จน เครียด กินเหล้า” ”เลิกเหล้า เลิกเครียด เลิกจน”, ทิชชู่ของสมาร์ทเพิรส์, สมูทอี, เมืองไทยประกันชีวิต, ไทยประกันชีวิต และภาพยนตร์โฆษณาชุดล่าสุดของผู้กำกับภาพยนตร์คนนี้คือ โฆษณาของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด โดยถ่ายทอดเนื้อหาออกมาได้อยากโดดเด่นและน่าสนใจ เกี่ยวกับการเป็นหนี้ของคนไทย โดยใช้หลักทางพระพุทธศาสนามาเป็นแก่นในการนำเสนอ เช่น การใช้สติในการคิดถึงสิ่งที่อยากทำมากที่สุด หาความรู้ แล้วลงมือทำ ทำทีละเล็กทีละน้อย ไม่วอกแวก ไม่คาดหวัง ทำไม่หยุด ทำทุกวัน จนเป็นอิสระและไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก นั่นคือ การสอนเรื่องความเพียรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมเอาไว้ให้กับมนุษย์

              การวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย”  ผู้วิจัยมองเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษา วิธีการออกแบบ กลวิธีการเล่าเรื่องที่โดดเด่น จากผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาระดับโลกอย่างธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้ที่มีตัวตนและวิธีคิดที่แตกต่างจากคนอื่น คือ การสลายตัวตนในการทำงานสะท้อนจากการที่เขาได้รับรางวัลแต่กลับไม่ไปรับรางวัลเพราะเกรงว่าตนเองจะมีอัตตา โดยวิธีการคิดดังกล่าวเป็นการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแก่นกลางในการดำเนินชีวิตและสะท้อนออกมากลายเป็นผลงานของเขา

              ด้วยสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ พุทธศาสนาจึงเป็นศูนย์กลางของศิลปะทุกแขนง รวมทั้งในงานภาพยนตร์โฆษณา ไม่ได้จำกัดแค่ในงานวรรณกรรมเท่านั้น ดังนั้น การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จึงอยากมุ่งศึกษาวิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา และวิเคราะห์มุมมอง แนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย เพื่อให้ได้ผลวิจัยที่จะได้เป็นแนวทาง องค์ความรู้ในการพัฒนาหลักสูตรของสาขาภาพยนตร์หรือวงการภาพยนตร์ในประเทศไทยต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย
  2. เพื่อวิเคราะห์มุมมอง และแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย

 

ขอบเขตของการวิจัย
              การวิจัยครั้งนี้จะศึกษาถึงโครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ รวมทั้งศึกษาแนวคิด รูปแบบแนวทางในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ของธนญชัย ศรศรีวิชัย โดยคัดเฉพาะเรื่องที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เรื่อง

              -Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่(2558) ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Interactive Lotus -Best Use Of Viral

              – จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)(2558)ได้รับรางวัล  Bronze Adfest Awards 2016 || Film Lotus – Household Product

              – โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)(2557) ได้รับรางวัล  Short List Cannes Lions 2014 (Film Lions) และGold Adman Awards 2014 (Film Corporate)

              – ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)(2557) ได้รับรางวัล Bronze Cannes Lions 2014 (PR Lions) และ Silver Adman Awards 2014 (Film Corporate)

 

นิยามศัพท์เฉพาะ

              กลวิธีการเล่าเรื่อง หมายถึง เทคนิควิธีการออกแบบเนื้อหาผ่านองค์ประกอบการเล่าเรื่อง 7 ส่วน ได้แก่ โครงเรื่อง แก่นความคิด บทบาทและคุณสมบัติของตัวละคร ขั้วขัดแย้ง ฉากสัญลักษณ์พิเศษ และจุดยืนการเล่าเรื่อง

              ภาพยนตร์โฆษณา หมายถึง เครื่องมือทางการตลาดที่นำมาใช้เพื่อใช้ในการสื่อสารสินค้าผ่านสื่อภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาเพื่อช่วยในการส่งเสริมการขายของสินค้านั้นๆ

              ชัย  ศรศรีวิชัย หมายถึง ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลสิงโตเมืองคานส์ จากเทศกาลภาพยนตร์โฆษณาเมืองคานส์ ในประเภท Gold Lions (สิงโตทองคำ) ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาอันดับหนึ่งของโลกที่ได้รับรางวัล 6 ปีซ้อน

              มุมมองและแนวคิด หมายถึง หลักคิดและหลักปฏิบัติที่มนุษย์ใช้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและใช้เป็นแนวทางในการทำงาน

 

 

วิธีดำเนินการวิจัย
แผนการดำเนินการ ขอบเขตและวิธีการวิจัย

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหารูปแบบของภาพยนตร์เป็นกรณีศึกษา เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงโครงสร้างการเล่าเรื่อง มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ โดยนำเสนอผลการวิจัยแบบพรรณาวิเคราะห์ (Analytical Description) มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

  1. ทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งประเภทข้อมูลที่ใช้ทำการศึกษา เป็น 2 ประเภท ดังนี้
    1.1 ข้อมูลประเภทเอกสาร ได้แก่ เอกสารอันเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ เรื่องย่อและรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์จากบทความ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย บทวิจารณ์ภาพยนตร์ออนไลน์
    1.2 ข้อมูลประเภทภาพยนตร์ ได้แก่ ภาพยนตร์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมจากสื่อออนไลน์ (youtube.com)
  2. เรียบเรียงและวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมา เพื่อชี้ให้เห็นถึงส่วนประกอบต่างๆของเรื่องเล่าโดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Textual Analysis) ซึ่งมีขั้นตอนในการวิเคราะห์ ดังนี้
    2.1 อ่านและศึกษาแหล่งข้อมูลประเภทเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรับชมข้อมูลภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้แก่เรื่อง Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่, จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure), โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero) และทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)
    2.2 วิเคราะห์ข้อมูลและศึกษาเนื้อหาของภาพยนตร์ (Content Analysis) ภายใต้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง เพื่อวิเคราะห์ว่าโครงสร้างการเล่าเรื่องได้มากำหนดความหมายของเรื่องเล่าอย่างไร และการวางโครงสร้างการเล่าเรื่องได้มีผลกระทบต่อความเข้าใจสังคมยุคปัจจุบัน การสื่อสารการตลาดโฆษณาดิจิทัล  แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาและมรรค 8 ใช้เป็นกรอบในการอธิบาย

 

ผลการวิจัย
          การสื่อสารการตลาดโฆษณายุคดิจิทัล

การสร้างสรรค์งานโฆษณา คือ ความคิดของผู้สร้างสรรค์ที่พยายามทำให้ชิ้นงานโฆษณาสามารถแก้ปัญหาให้กับสินค้าตามวัตถุประสงค์ของผู้โฆษณาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดงานโฆษณา ในรูปแบบต่างๆที่มีผู้โฆษณาต้องการจะสื่อกับผู้รับสารเพื่อกระตุ้นให้ผู้รับสารเกิดการตอบสนองอย่างที่ผู้โฆษณาต้องการ ดังนั้นเนื้อหาในงานโฆษณาจึงจำเป็นต้องได้รับการสร้างสรรค์อย่างดีๆ (Kotler,1994, p.48)

Customer (ความต้องการของผู้บริโภค), Cost (ต้นทุนของผู้บริโภค) ,Convenience (ความสะดวกในการซื้อ) และCommunication (การสื่อสาร) แทนที่จะสนใจโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเพียงอย่างเดียว ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและภาพลักษณ์ของสินค้า ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเหตุผลและความรู้สึกของผู้บริโภคได้ การสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication) ได้กลายมาเป็นตัวแปรใหม่ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากขึ้น และนับเป็นจุดเริ่มต้น ของการสื่อสารที่สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับลูกค้า (Product and customer relationship)

ดังนั้นภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ส่วนใหญ่มักจะเป็นการสื่อสาร (Communication)ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)โดยธนญชัย เป็นผู้ริเริ่มใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาแบบนี้มาในยุคแรกๆจนกลายเป็นกระแสในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาในปัจจุบัน

ภาพยนตร์ที่ธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้สร้างขึ้นมานั้นก็มีด้วยกันหลากหลายอารมณ์ โดยผู้วิจัยจะวิเคราะห์การสื่อสารทางอารมณ์ไปทีละเรื่อง ดังนี้

  1. Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่(2558)  ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Interactive Lotus -Best Use Of Viral เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความรักความผูกพันของแม่และลูกที่เป็นพนักงานบาร์บีคิวพลาซ่า สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกออกมาผ่านการทำแบบสอบถามและเลือกใช้มุมกล้องเป็นแบบแอบถ่ายโดยที่ตัวละครไม่รู้ตัว (candid) แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่ซ่อนเอาไว้อยู่ในเฟรมภาพ โดยในภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้นั้น มีการวางอารมณ์ในการเล่าเรื่องแบบไต่ระดับความรู้สึก เริ่มต้นด้วยความเศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และจบลงด้วยความอิ่มเอมใจ
  2. จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)(2558)ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Film Lotus – Household Product เป็นการใช้กลวิธีในการเล่าเรื่อง ที่ให้อารมณ์ในเชิงตลกขบขัน โดยสอดแทรกอารมณ์ผ่านเสียงดนตรี ภาษาพูดของตัวละคร และมุขตลก พร้อมกับการสอดแทรกการขายคุณสมบัติของสินค้าเอาไว้ในภาพยนตร์โฆษณาโดยใช้ระยะเวลาในการขายของเพียงแค่ไม่กี่วินาที
  3. โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)(2557) ได้รับรางวัล  Short List Cannes Lions 2014 (Film Lions) และGold Adman Awards 2014 (Film Corporate)  ธนญชัย ศรศรีวิชัย ใช้วิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาไทยประกันชีวิต ใช้อารมณ์ความสุขที่เล่าผ่านเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง โดยใช้แก่นทางพระพุทธศาสนามาเป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ คือ เรื่อง “การให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน เล่าผ่านตัวละครผู้ชายที่เป็นคนธรรมดา เขาดำเนินชีวิตด้วยการให้โดยไม่หวังผลแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสุข ความเข้าใจ ได้ความรัก ได้สิ่งที่เงินหาซื้อไม่ได้
  4. ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)(2557) ได้รับรางวัล Bronze Cannes Lions 2014 (PR Lions) และ Silver Adman Awards 2014 (Film Corporate) ใช้วิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาในสังคม โดยดัดแปลงเรื่องราวมาจากสังคมออนไลน์  โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้อารมณ์สงสาร เศร้า และจบด้วยความซาบซึ้งและอิ่มเอมใจ

สรุป การสื่อสาร (communication )ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)ของผู้กำกับธนญชัย ศรศรีวิชัย ที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 เรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางการใช้กลวิธีสร้างอารมณ์ที่ค่อยๆไต่ระดับจากอารมณ์เศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และมักมีจุดจบด้วยอารมณ์สุขแบบอิ่มเอมใจเสมอ

 

แนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา

ผู้วิจัยจะทำการวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในธนญชัย ศรศรีวิชัย โดยการใช้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งประกอบด้วย7 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ โครงเรื่อง(Plot), แก่นเรื่อง (Theme), ความขัดแย้ง (Conflict), ตัวละคร (Character),ฉาก (Setting),สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)  และมุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) เป็นส่วนอธิบายลักษณะพิเศษต่างๆที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

  1. Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่(2558) ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Interactive Lotus -Best Use Of Viral

รูปที่ 1 ภาพโฆษณา Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot)  ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความรู้สึกของพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่า(Bar B Q Plaza) ที่ไม่ได้มีโอกาสเจอแม่เหมือนกับลูกคนอื่นๆแต่ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ก็สร้างสถานการณ์ให้แม่กับลูกจูงมือกันมากินข้าวในร้านบาร์บีคิวพลาซ่า บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและคราบน้ำตาแห่งความสุขระหว่างแม่กับลูก

          แก่นเรื่อง (Theme) ทุกคนก็มีแม่ไม่เว้นแม้แต่พนักงานตัวเล็กๆในร้านอาหารอย่างร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ที่อยากทำหน้าที่ลูกในวันแม่เหมือนกับคนอื่นๆเช่นกัน

          ความขัดแย้ง (Conflict) ความขัดแย้งของความรู้สึกระหว่างหน้าที่การทำงานและหน้าที่ของความเป็นลูก

          ตัวละคร (Character) มีการใช้ตัวละคร 3 กลุ่ม คือ

  1. ตัวละครเป็นกลุ่มพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่าที่หลากหลายทั้งอายุ และเพศ ซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วๆไปที่มีความรู้สึกรักแม่เหมือนกับคนอื่นๆ
  2. ตัวละครที่เป็นแม่ของพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่า
  3. บริษัทบาร์บีคิวพลาซ่า (Bar B Q Plaza) ซึ่งไม่ปรากฏตัวเป็นตัวละครแต่เป็นคนดำเนินเรื่องราวและสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น

 

          ฉาก (Setting)

  1. ห้องตอบแบบสอบถามของพนักงาน
  2. ร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่า

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)สัญลักษณ์พิเศษ ในภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้คือ การใช้มุมกล้องแบบแอบถ่ายโดยที่ตัวละครไม่รู้ตัว (candid) ทั้งหมดในการเล่าเรื่อง ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างและออกแบบบทบาทของตัวละครที่เป็นคนธรรมดา จึงแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของตัวละครผ่านเลนส์กล้อง นอกจากนั้นยังเสริมอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครด้วยเสียงดนตรีบรรเลงแบบซึ้งๆ และใช้ตัวหนังสือขึ้นข้อความต่างๆในการร้อยเรียงเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแต่ละคน

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view)  ในมุมมองการเล่าเรื่องผ่านจุดเล็กๆของพนักงานร้านอาหารที่เปรียบเสมือนคนชายขอบของสังคมที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของคนเหล่านี้ออกมาทำให้เห็นจุดยืนของพนักงานที่เป็นกลุ่มคนเล็กๆของสังคม โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้วิธีเล่าแบบมุมมองจากคนใน คนในที่นี้หมายถึงพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่าที่ขยายขอบเขตไปยังคนนอกที่เป็นลูกค้าของร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่าดังคำพูดตอนจบของภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ “ในวันแม่นี้ เราพร้อมแล้ว กับมื้อนี้ที่ดีที่สุด”

2.จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)(2558)ได้รับรางวัล  Bronze Adfest Awards 2016 || Film Lotus – Household Product

                

รูปที่ 2 ภาพโฆษณา จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot) เป็นเรื่องราวของสามีภรรยาในยุคหินที่มีปัญหาเรื่องบ้าน ทั้งน้ำซึม น้ำรั่ว สีบ้านไม่สวย การเปลี่ยนกระเบื้อง ป้องกันราดำ และพื้นลื่น โดยทั้งหมดนี้ภรรยาเป็นคนสั่ง และผู้เป็นสามีดำเนินการแก้ไขให้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ของจระเข้  สุดท้ายหักมุขด้วย เอาจระเข้ที่เป็นสัตว์มาใช้กันภรรยาขี้บ่น ปิดท้ายด้วยสโลแกนนวัตกรรมก่อสร้างความสุขจระเข้มาตรฐานอเมริกา

          แก่นเรื่อง (Theme)ความสุขของมนุษย์ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความสงบสุขของบ้านที่สวยงามและคงทน

          ความขัดแย้ง (Conflict)ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ สร้างความขัดแย้งด้วยการสร้างปัญหาต่างที่เกิดขึ้นภายในบ้าน เช่น บ้านรั่ว น้ำซึม  พื้นลื่น สามารถคลี่คลายได้ด้วยผลิตภัณฑ์จากจระเข้

          ตัวละคร (Character)ตัวละครมี 2 ตัว คือ ภรรยาและสามี โดยภรรยานั้นจะคอยควบคุมดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างในบ้าน มีลักษณะเอาแต่ใจตัวเองและขี้บ่น ส่วนสามีมีลักษณะตามใจภรรยาคอยดูแลความเรียบร้อยในบ้านให้กับภรรยาโดยมีผู้ช่วย คือ ผลิตภัณฑ์ของจระเข้

          ฉาก (Setting)บ้านที่เป็นถ้ำของมนุษย์ยุคหิน, บรรยากาศในถ้ำ, นอกถ้ำ, หลังคา และห้องน้ำ

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้ระยะภาพและมุมภาพที่หลากหลาย ทั้งภาพระยะกว้าง (Long shot), ระยะกลาง (Medium shot), ระยะใกล้ (Close up) ส่วนมุมกล้องนั้นภาพมุมปกติ (Normal angle shot),ภาพมุมต่ำ( Low angle shot)และมุมวัตถุ (Objective ) ส่วนเสียงดนตรีนั้นก็ใช้ดนตรีที่ให้จังหวะคึกคักสนุกสนานสร้างอารมณ์ขันให้กับภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังมีเสียงพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์โฆษณาอีกด้วย

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view)เป็นการเล่าเรื่องที่เอาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบำรุงรักษาบ้าน มาเชื่อมโยงเรื่องราวของครอบครัว ที่ย้อนไปในยุคหิน เพราะจะสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องบ้านที่มีมานาน ทำให้เห็นความแข็งแรงของตราสินค้า และการรักษาบรรยากาศในครอบครัวให้มีความสุข ซึ่งคนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญกับบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย

3.โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)(2557) ได้รับรางวัล  Short List Cannes Lions 2014 (Film Lions) และGold Adman Awards 2014 (Film Corporate) 

รูปที่ 3 ภาพโฆษณา ไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot)ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครผู้ชายที่เป็นคนธรรมดาทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้มีรายได้มากมาย แต่ชีวิตเขากลับดำเนินชีวิตด้วย “การให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้ธรรมชาติกลับมาสวยงามจากการกระทำสิ่งเล็กๆน้อยๆ ให้น้ำใจด้วยการเข็นรถเข็นช่วยป้าขายของ ให้อาหารแก่สุนัขผู้หิวโหย ให้เงินแก่ขอทานแม่ลูกเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ ให้อาหารแก่คนแก่ผู้อ่อนแอด้วยการซื้อกล้วยไปแขวนไว้ที่หน้าห้อง ให้ที่นั่งด้วยการเสียสละให้กระเป๋ารถเมล์ผู้เหนื่อยล้า และสิ่งที่เขาได้กลับมาจากการให้ก็งดงามเกินคำบรรยาย ที่เงินไม่สามารถหาซื้อได้

           แก่นเรื่อง (Theme)“การให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสุข ความเข้าใจ ได้ความรัก ได้สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้

          ความขัดแย้ง (Conflict)ความขัดแย้งของอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในการเอาชนะใจตัวเอง ด้วยการให้ผู้อื่น และการเอาชนะสายตาของคนรอบข้างที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของตัวเขา ที่ให้สรรพสิ่งทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีเช่นกัน

          ตัวละคร (Character)

ตัวละครผู้ชาย : อายุประมาณ 40 ปี ที่เป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง จิตใจดี เสียสละ และให้ผู้อื่นจนลืมความสุขส่วนตัว

ต้นมะลิ : เหี่ยวเฉาขาดน้ำก็กลายมาสดชื่นอีกครั้งหลังจากที่ตัวละครชายหนุ่มขยับกระถางมาใกล้น้ำที่ไหลลงมาจากหลังคา

ป้าแม่ค้าขายอาหารรถเข็น : อายุประมาณ 50 ปี ผู้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชายที่เป็นตัวเอกของเรื่อง โดยป้าแม่ค้าขายอาหารรถเข็นก็ได้รับความสุขจากการได้รับความช่วยเหลือจากตัวละครเอกผู้ชายและเกิดการให้ต่อผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง

สุนัข : ที่หิวโหยหลังจากได้รับอาหารจากตัวละครผู้ชายที่เป็นตัวเอกของเรื่อง ก็กลายเป็นเพื่อนและกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่แสนซื่อสัตย์

ขอทาน 2 แม่ลูก  : หลังจากที่ได้เงินจากตัวละครผู้ชายแล้วลูกของขอทานก็มีเงินไปโรงเรียนและกลับมาสอนแม่ขอทานนับเลข

กระเป๋ารถเมล์ : ผู้หญิงวัยรุ่น ที่มีสีหน้าเหน็ดเหนื่อย ชายหนุ่มเสียสละที่นั่งให้เขาได้นั่งพัก

คุณยาย : วัย 80 ปี ที่ได้รับกล้วยจากชายหนุ่มทุกวัน ก็มีความสุข ตอบแทนชายหนุ่มด้วยอ้อมกอด

เจ้าของร้านแว่นและเจ้าของร้านอาหาร :ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของชายหนุ่มที่ให้เงินขอทานและให้อาหารสุนัข

          ฉาก (Setting) หน้าร้านก๋วยเตี๋ยว, ริมฟุตบาท, ร้านข้าว , สะพานลอย, รถเมล์, หน้าห้องคุณยาย ,บ้าน

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)โทนสีภาพใช้สีหม่นๆตุ่นๆให้อารมณ์สงบๆ,ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้ระยะภาพและมุมภาพที่หลากหลาย ทั้งภาพระยะกว้าง (Long shot), ระยะกลาง (Medium shot), ระยะใกล้ (Close up) ส่วนมุมกล้องนั้นภาพมุมปกติ (Normal angle shot),ภาพมุมต่ำ( Low angle shot)และมุมวัตถุ (Objective ) ให้ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆผ่านตัวละครในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณา ส่วนเสียงดนตรี เป็นดนตรีบรรเลง โดยใช้เสียงเปียโนและไวโอลิน และเสียงการบรรยายโฆษณาที่เป็นเอกลักษณ์ให้ความรู้สึกหนักแน่นของตัวละคร

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) มุมมองในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ คือ การเชื่อในความดีผ่านตัวละครผู้ชายที่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีเงินทอง แต่สิ่งที่เขามี คือ มีน้ำใจที่เสียสละให้กับสรรพสิ่งในโลกใบนี้ โดยใช้เรื่องราวเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับตราสินค้าไทยประกันชีวิต อย่างคำพูดปิดท้ายภาพยนตร์โฆษณาที่ว่า “ไทยประกันชีวิตเชื่อในความดี” เป็นวิธีการสร้างคุณค่าให้กับตราสินค้า(Brand Value)นั่นเอง

4.ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)(2557) ได้รับรางวัล Bronze Cannes Lions 2014 (PR Lions) และ Silver Adman Awards 2014 (Film Corporate)

รูปที่ 4 ภาพโฆษณา ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot)เรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งยากจนไม่มีเงินแม้กระทั่งจะซื้อยาให้แม่ เลยต้องไปขโมยยาในร้านขายยา แต่ถูกจับได้พร้อมกับโดนเจ้าของร้านด่าและทุบตี หนุ่มเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเห็นเข้าจึงมาช่วยด้วยการจ่ายค่ายาและให้เกาเหลากับเด็กผู้ชาย หลังจากนั้นผ่านไป 30 ปี ชายเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวก็ยังคงช่วยเหลือคนอื่นๆอยู่เสมอ จนกระทั่งเขาล้มป่วยและต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ค่าใช้จ่ายกลับมีราคาสูงมาก ลูกสาวเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้เงินมารักษาพ่อ แต่แล้วเขาก็ต้องประหลาดใจเมื่อได้รับเอกสารที่มีคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พ่อของเขา โดยคนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเด็กผู้ชายที่พ่อของเขาได้ช่วยเหลือเอาไว้ตอนเด็ก ซึ่งในตอนนี้ได้กลายมาเป็นคุณหมอที่รักษาเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง

          แก่นเรื่อง (Theme)การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด

          ความขัดแย้ง (Conflict)ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้นั้น มี 2 ประเด็นความขัดแย้ง

ประเด็นที่ 1  เด็กผู้ชาย ที่ถูกความยากจนบีบคั้นจนถึงขั้นจำเป็นต้องไปขโมยยามาเพื่อรักษาแม่

ประเด็นที่ 2 การล้มป่วยของเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวแต่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล

          ตัวละคร (Character)

เด็กผู้ชาย : อายุประมาณ 9 ขวบ ถูกความยากจนบีบคั้นเลยต้องกลายเป็นขโมย ,คุณหมอหนุ่ม :อายุประมาณ 30 ปี เป็นคนเดียวกันกับเด็กผู้ชาย ด้วยความมานะบากบั่นทำให้เขาได้เป็นหมอแล้วกลับมาช่วยเหลือเจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยว, เจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยว :มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการให้อยู่เสมอๆ ,ลูกสาวเจ้าของหลานขายก๋วยเตี๋ยว :ขี้เหวี่ยง แต่ก็เชื่อฟังพ่อ ,คนจรจัด : ที่คอยมาขออาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยวและเจ้าของร้านขายยา : ขี้โมโห ไม่มีเหตุผล และไม่มีน้ำใจ

          ฉาก (Setting)ร้านขายก๋วยเตี๋ยว(หน้าร้าน,ในร้าน) ,หน้าร้านขายยา, โรงพยาบาล,ห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล,ห้องทำงานคุณหมอ

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)โทนภาพอมสีเหลืองและภาพโทนสีหม่นๆ  ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้ระยะภาพและมุมภาพที่หลากหลาย ทั้งภาพระยะกว้าง (Long shot), ระยะกลาง (Medium shot), ระยะใกล้ (Close up) ส่วนมุมกล้องนั้นภาพมุมปกติ (Normal angle shot),ภาพมุมต่ำ( Low angle shot)และมุมวัตถุ (Objective ) ให้ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆผ่านตัวละครในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณา โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้เสียงตัวละครในการเล่าเรื่อง ส่วนเสียงดนตรีใช้ดนตรีบรรเลง จากเปียโนและไวโอลิน

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view)ใช้วิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาในสังคม โดยดัดแปลงเรื่องราวมาจากสังคมออนไลน์  โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้การเล่าเรื่องเพื่อให้ตราสินค้ามีคุณค่า (Brand Value) เพราะทรูมูฟเอช เป็นเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ ผู้ผลิตจึงใช้การให้ไปเชื่อมโยงกับการสื่อสารที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของตัวละครที่สื่อสารกัน และการให้ก็จะถูกเชื่อมโยงกันไปมาไม่มีที่สิ้นสุดดังเช่นภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้

 

สรุป การวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในธนญชัย ศรศรีวิชัย ของ โดยการใช้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งประกอบด้วย7 องค์ประกอบที่สำคัญครบทุกองค์ประกอบ

 

แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)

การใช้แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) วิเคราะห์ภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

นักปรากฏการณ์นิยมเน้นการศึกษากระบวนการเกิดพฤติกรรมต่างๆภายในสังคม และภายหลังในสังคมหรือจากความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกสังคมที่เขาศึกษานั้นส่วนใหญ่มักจะอาศัยเทคนิคการให้สมาชิกได้หยุดดำเนินชีวิตตามปกติชั่วคราว แล้วให้คิดว่าความจริงนี้ควรเป็นอย่างไร “ปรากฏการณ์วิทยา คือการศึกษาเกี่ยวกับแก่นแท้” ดังนั้นในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรีศรีวิชัย ทั้ง 4 เรื่อง ผู้วิจัยจะใช้แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)มาวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

 

สรุป การใช้แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)

ปรากฏการณ์ที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย มักใช้อารมณ์ต่างๆของมนุษย์มาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนภาพยนตร์โฆษณาทั้งตลกขบขัน หรือส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์เศร้า ซาบซึ้ง และอิ่มเอมใจ โดยภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับบ้าน สถาบันครอบครัว หรือถ่ายทอดออกมาโดยการเชื่อมั่นในความดี ที่จะเป็นพลังในการคอยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการ คือ “การให้” ที่จะเป็นตัวคอยสกัดอัตตาในตัวมนุษย์ออกไป

มรรค 8 มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย

มรรค 8 ได้แก่ 1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูกต้อง 2. สัมมาสังกัปปะ คือ ความใฝ่ใจถูกต้อง 3. สัมมาวาจา คือ การพูดจาถูกต้อง 4. สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำถูกต้อง 5. สัมมาอาชีวะ คือ การดำรงชีพถูกต้อง 6. สัมมาวายามะ คือ ความพากเพียรถูกต้อง 7. สัมมาสติ คือ การระลึกประจำใจถูกต้อง 8. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งใจมั่นถูกต้อง

ดังนั้น ภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย จึงมักปรากฏการเล่าเรื่องโฆษณาที่มีจุดเชื่อมไปสู่ความดีงามเพื่อเป็นพลังให้สังคมขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีๆ เบื้องหลังปรัชญาในการทำงานของธนญชัย ศรศรีวิชัยในงานภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้นั้น “กับการคิดสโลแกนนั้น ต้องคิดใส่สิ่งที่มันคลาสสิก แล้วสโลแกนอะไรเป็นสิ่งที่มันอยู่ได้นานที่สุด มันเป็นเรื่องของพุทธ  คือ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด นำมาปรับใช้กับการทำงาน การโฆษณา ต้องเป็นความคิดที่ถูกต้องตลอดไป วิธีที่จะเล่าเนื้อหาที่ลึกซึ้งให้คนเข้าใจได้ง่าย เหตุการณ์ต้องง่าย ถ้าไม่ง่ายมันจะเล่าลึกไม่ได้ อยากให้คนได้รับคอนเท้นต์นี้มองเห็นความคิดที่อยู่ในภาพยนตร์ หวังว่าอยากให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ หวังว่าความคิดที่ท่านเห็นมันจะเป็นประโยชน์ต่อท่าน ส่วน Bar B Q Plaza ก็ได้เลือกสิ่งที่ดีมาอยู่ในภาพยนตร์โฆษณาของเขาแล้ว เป็นกุศลของคนคิดที่จะทำมันขึ้นมา”

นอกจากนั้นเอกลักษณ์ของตัวละครที่สวมบทบาทในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ก็มักเป็นคนหน้าตาธรรมดา และมักได้รับคำวิจารณ์ว่า หน้าตาไม่ดี ไม่เข้ากับตัวสินค้า ทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าเสีย ทำให้บ่อยครั้งที่ธนญชัยต้องมีปัญหากับเจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ซึ่งยึดติดกับค่านิยมในการทำโฆษณาแบบเดิมๆ และความเชื่อที่ว่า คนเราอยากดูแต่สิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น แต่ธนญชัยกลับไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีดังกล่าว

ธนญชัยยังกล่าวว่า ตัวเขาโชคดีที่ได้ทำงานกับเจ้าของสินค้าที่เปิดใจกว้าง รวมถึงทีมงานและเอเจนซี่โฆษณาที่มีส่วนทำให้โฆษณาของเขาประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นเขายังให้ความสำคัญกับปรัชญาและพระพุทธศาสนา อย่างที่เขาได้กล่าวไว้ว่า “อภิปรัชญา” ทำอย่างเข้าใจ  มีเหตุจึงมีผล มันต้องคิดจากการความเข้าใจมนุษย์ ทำงานทุกอย่างให้ดีขึ้น  ดีที่สุด มีคุณค่า

“เทคนิคทำงานให้ดี คือ การคิดถึงคนอื่น ผู้กำกับมักมีอัตตา มักข่มคนอื่น คิดใหม่ คือ เพื่อคนอื่นมันจะงดงาม คิดยังไงก็ได้ให้คนดูสนุก เล่นกับอารมณ์คนดู เราสนใจว่าคนดูเขาจะรู้สึกยังยังไง ไม่มีตัวกูเข้ามาเกี่ยวสนใจว่าจะควบคุมคนดูแบบไหน ต้องมีจิตวิทยากับคนดู ทำยังไงให้มันเหนือกว่าที่คนดูคิด เมื่อไหร่ก็ตามที่หนังไปช้ากว่าคนดูมันจะไม่น่าสนใจ ทุกอย่างต้องเข้าบริบทและหนังนอกจากสร้างความสนุกแล้วต้องสร้างคุณค่าและเกิดความคิด งานออกแบบไม่ใช่แค่สวยแต่มันต้องเกิดประโยชน์ต่อคน”

จะเห็นได้ว่าธนญชัย มีหลักในการทำงานโดยใช้หลักคิดทางพระพุทธศาสนามาเป็นแก่น ในการดำเนินชีวิตการทำงานโดยมุ่งหวังสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในสังคม “บางคนมีต้นทุนแห่งความดี อาวุธที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนได้ คือ ความดี”

สรุป มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัยมีหลักการความคิดแบบอภิปรัชญา เขาจึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเองโดยไม่ไปรับรางวัลผู้กับกับระดับโลก และหมั่นฝึกฝนตนเองด้วยการทำงานตรงไปตรงมา ถ้าขายสินค้าก็ต้องง่ายที่สุดน้อยที่สุด ตรงประเด็นที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุด เกิดประโยชน์กับลูกค้าได้โดยตรง เกิดความน่าเชื่อถือ เกิดประโยชน์กับส่วนรวมเกิดประโยชน์กับคนดูและสังคม

 

อภิปรายผล
ภาพยนตร์โฆษณาในยุคดิจิทัล

ภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ส่วนใหญ่มักจะเป็นการ การสื่อสาร (Communication)ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)โดยธนญชัย เป็นผู้ริเริ่มใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาแบบนี้ทำมาในยุคแรกๆจนกลายเป็นกระแสในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาในปัจจุบัน

การสื่อสาร (communication )ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)ของผู้กำกับธนญชัย ศรศรีวิชัย ที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 เรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางการใช้กลวิธีสร้างอารมณ์ที่ค่อยๆไต่ระดับจากอารมณ์เศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และมักมีจุดจบด้วยอารมณ์สุขแบบอิ่มเอมใจเสมอ

 

แนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา

การวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในธนญชัย ศรศรีวิชัย โดยการใช้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งประกอบด้วย7 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ

          โครงเรื่อง(Plot) โครงเรื่องการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย นั้นส่วนใหญ่มักสร้างโครงเรื่องจากเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ เช่น เรื่องครอบครัว , เรื่องปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างในสังคม ที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์โฆษณาหลายๆเรื่องของธนญชัย พยายามหาจุดเชื่อมโยงของตราสินค้าแล้วค่อยถ่ายทอดออกแบบเนื้อหาและสร้างเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์โฆษณา

แก่นเรื่อง (Theme) มักนำหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นแก่นเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา  เช่น การให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งตรงกับวิธีคิดในการทำงานของเขาที่ต้องการสร้างสังคมให้ดีขึ้นผ่านภาพยนตร์โฆษณา

          ความขัดแย้ง (Conflict) ส่วนใหญ่ธนญชัย มักสร้างความขัดแย้งในจิตใจของมนุษย์, ขัดแย้งจากความจน และขัดแย้งจากโอกาสทางสังคม

ตัวละคร (Character) มักเป็นตัวละครที่เป็นคนธรรมดา หน้าตาธรรมดา ฐานะธรรมดา ไม่ได้เป็นดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง  แต่น่าสนใจตรงตัวละครที่เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ตัวละครหลักเหล่านี้กลับเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมประจำใจ

           ฉาก (Setting) ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นฉากที่หรูหราแต่เลือกใช้ฉากที่สะท้อนให้เห็นความสามัญธรรมดาทั่วไปของมนุษย์ เช่น ท้องถนน, ร้านก๋วยเตี๋ยว, บ้านเก่า ,ห้องเช่า,รถเมล์ เป็นต้น

           สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol) การเลือกใช้โทนภาพที่ออกสีเหลืองๆตุ่นๆ ,มุมกล้องและระยะภาพที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละครผ่านภาพยนตร์โฆษณา, การใช้ดนตรีบรรเลง อย่างเปียโนและไวโอลิน, เสียงบรรยายที่เป็นเอกลักษณ์หนักแน่นและจริงใจ

            มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) ธนญชัย ศรศรีวิชัย มักมีมุมมองในการเล่าเรื่องมาจากเรื่องราวจุดเล็กๆของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคม หรือผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ส่วนใหญ่มักมีแนวทางในการเล่าเรื่องที่ค่อยๆไต่ระดับอารมณ์จากเศร้า ซาบซึ้งและมักจบด้วยความอิ่มเอมใจเสมอ

 

แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) วิเคราะห์ภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

           ปรากฏการณ์ที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย มักใช้อารมณ์ต่างๆของมนุษย์มาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนภาพยนตร์โฆษณาทั้งตลกขบขัน หรือส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์เศร้า ซาบซึ้ง และอิ่มเอมใจ โดยภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับบ้าน สถาบันครอบครัว หรือถ่ายทอดออกมาโดยการเชื่อมั่นในความดี ที่จะเป็นพลังในการคอยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการ คือ “การให้” ที่จะเป็นตัวคอยสกัดอัตตาในตัวมนุษย์ออกไป

 

มรรค 8 มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย

           คำว่า มรรค แปลว่า ทาง ในที่นี้หมายถึงทางเดินของใจ เป็นการเดินจากความทุกข์ไปสู่ความเป็นอิสระ หลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์หลงยึดถือและประกอบขึ้นใส่ตนด้วยอำนาจของอวิชชา มรรคมีองค์แปด คือต้องพร้อมเป็นอันเดียวกันทั้งแปดอย่างดุจเชือกฟั่นแปดเกลียว  ธนญชัยได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆเอาไว้ว่าเขานั้นมีหลักการความคิดแบบอภิปรัชญา เขาจึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ 1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูกต้อง 2. สัมมาสังกัปปะ คือ ความใฝ่ใจถูกต้อง 3. สัมมาวาจา คือ การพูดจาถูกต้อง 4. สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำถูกต้อง 5. สัมมาอาชีวะ คือ การดำรงชีพถูกต้อง 6. สัมมาวายามะ คือ ความพากเพียรถูกต้อง 7. สัมมาสติ คือ การระลึกประจำใจถูกต้อง 8. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งใจมั่นถูกต้อง โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเองไม่ไปรับรางวัลผู้กับกับระดับโลก และหมั่นฝึกฝนตนเองด้วยการทำงานแบบตรงไปตรงมา ถ้าขายสินค้าก็ต้องง่ายที่สุดน้อยที่สุด ตรงประเด็นที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุด เกิดประโยชน์กับลูกค้าได้โดยตรง เกิดความน่าเชื่อถือ เกิดประโยชน์กับส่วนรวมเกิดประโยชน์กับคนดูและสังคม

 

ข้อเสนอแนะ
           การศึกษาเรื่อง   การวิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย  ยังสามารถค้นคว้าได้จากแง่มุมประเด็นรูปแบบความคิดทางศิลปะทางด้านภาพยนตร์  หรือในเรื่องของจิตวิญญาณ แนวคิดทางปรัชญาหรือศาสนาด้านอื่น ๆ     ที่มีความน่าสนใจหรือศึกษาหลักในการดำเนินชีวิตที่จะสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตหรือการทำงาน

ภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้สะท้อนความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน สมกับได้รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาของเมืองไทยอันดับหนึ่งของโลก  6 ปีซ้อน ดังนั้นการที่จะศึกษาผลงานของธนญชัย ศรศรีวิชัยอย่างเดียวคงไม่ได้ต้องศึกษาวิธีคิดในการทำงานของเขาแบบลึกซึ้งมากกว่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อวงการภาพยนตร์ของเมืองไทยต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

เขมิกา จินดาวงศ์. (255). การวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล.

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อบัณฑิตวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับหนังโฆษณาที่ได้รางวัลมากที่สุดในโลกที่คนไทยไม่เคยรู้ (ตอนที่1) (2560).

สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560. จาก https://tingtongbear.wordpress.com

บทสัมภาษณ์ คุณต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย Phenomena. (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560

ประพนธ์ ตติยวรกุลวงศ์. (2553). การเล่าเรื่องและทัศนคติของผู้ชมเกี่ยวกับความรุนแรงในภาพยนตร์ไทย

 และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด. นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ยูทูบบริษัท ฟีโนมีน่า จำกัด.(2560). สืบค้นเมื่อวันที่15 เมษายน 2560.จาก

https://www.youtube.com/user/PHENOMENA10310

วันณุ พูลสมบัติ. (2555). การวิเคราะห์ภาพยนตร์อเมริกันประเภทโรแมนติก คอมเมดี้ ระหว่างปี ค.ศ. 1990 ถึง 2010. นิเทศศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เว็บไซต์บริษัท ฟีโนมีน่า จำกัด .(2560). สืบค้นเมื่อวันที่15 เมษายน 2560. จาก

Thanonchai

สุกัญญา กัณหา.2551. การรับรู้เนื้อหาสารในภาพยนตร์รณรงค์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ทางโทรทัศน์ของ

          สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. นิเทศศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา

การประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

CIDI Designer Talk Series# 11: ธนญชัย ศรศรีวิชัย (ต่อ ฟิโนมีน่า). (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน

2560. จาก https://www.youtube.com/watch?v=LExddTZ1RaY&t=3s

 

การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริม ธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์สุภาพร   ปริญญาเศรษฐกุล สาขาวิชาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทความวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด (The Development of Marketing Learning Management Model to Encourage the Community Business : A Case Study of Clay Pottery Business in Koh Kret Community) ผู้ศึกษา คือ อาจารย์สุภาพร ปริญญาเศรษฐกุล สาขาวิชาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด ที่ส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด จำนวน 30 ราย และกลุ่มลูกค้าที่มาท่องเที่ยวเกาะเกร็ดจำนวน 400 ราย

          จุดเน้นของการวิจัยเรื่องนี้ คือ การพัฒนาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา ชุมชนเกาะเกร็ดให้มีความรู้ทางด้านการตลาดที่จะดำเนินการให้ธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน  โดยการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดที่บูรณาการองค์ความรู้ ความคิด ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านผู้ประกอบการ ควรมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าและคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และด้านรัฐบาล ควรมีนโยบายที่ส่งเสริมการตลาดเกาะเกร็ดอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดระบบการเดินทาง การจัดการเกาะเกร็ด  การรณรงค์ส่งเสริมเพื่อสร้างชื่อเสียงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รู้จักเกาะเกร็ดมากขึ้น

          ประโยชน์ของการวิจัย ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด

The Development of Marketing Learning Management Model to Encourage the Community Business : A Case Study of Clay Pottery Business

 in Koh Kret Community.

 

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด เป็นการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยขั้นตอนใช้การวิจัยเชิงสำรวจ และเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด จำนวน 30 ราย และกลุ่มลูกค้าที่มาท่องเที่ยวเกาะเกร็ดจำนวน 400 ราย  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 8 ชนิด คือ 1) แบบวัดความต้องการของลูกค้า  2) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก  3) แผนการอบรม  4) แบบวัดระดับการดำเนินการทางการตลาด  5) แบบวัดความรู้ด้านการตลาด  6) แบบวัดระดับการเรียนรู้การอบรม  7) แบบวัดความพึงพอใจของลูกค้า  8) แบบวัดรายได้ของกิจการ  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบถดถอย และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา

          ผลการวิจัยพบว่า ความต้องการของลูกค้าที่มีผลต่อการกำหนดส่วนประสมการตลาดโดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง โดยลูกค้าให้ความสำคัญปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาดมากที่สุด ซึ่งสมการพยากรณ์องค์ประกอบของปัจจัยส่วนประสมการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดในรูปของคะแนนดิบ คือ

=   1.060 + 0.358 (x1) + 0.218 (x2) + 0.150 (x3)+ 0.376 (x)

          ตัวพยากรณ์ทั้ง 4 ตัว ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ (x1)  ราคา (x2)  การจัดจำหน่าย (x3) และการส่งเสริมการตลาด (x4)  มีความสัมพันธ์กับอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด เท่ากับ 0.770 โดยตัวแปรทั้ง 4 ตัว มีอำนาจพยากรณ์ค่าอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดร่วมกันได้ร้อยละ 59.40 โดยตัวพยากรณ์ที่มีอิทธิพลส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ได้แก่  ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ในด้านผู้ประกอบการได้ให้ระดับการดำเนินการทางการตลาดต่อการกำหนดส่วนประสมการตลาดโดยรวมอยู่ในระดับน้อย โดยผู้ประกอบการให้ความสำคัญปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์มากที่สุด รองลงมาคือปัจจัยด้านราคา

          ผลการประเมินภายหลังการอบรม พบว่า  ระดับการดำเนินการทางการตลาด  ความรู้ด้านการตลาด  และระดับการเรียนรู้ของผู้ประกอบการก่อนและหลังการอบรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  กล่าวคือ ระดับค่าเฉลี่ยของคะแนนภายหลังการอบรมเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับระดับค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนการอบรม

          ผลการประเมินความสำเร็จของธุรกิจจากการวัด 2 ด้าน คือ  1) การวัดความพึงพอใจของลูกค้า พบว่า ความพึงพอใจของลูกค้าที่มีผลต่อการกำหนดส่วนประสมการตลาดในมุมมองลูกค้า โดยรวมอยู่ในระดับมาก  โดยลูกค้าให้ความสำคัญปัจจัยด้านการตอบสนองความต้องการ  2) การวัดรายได้ของกิจการ  พบว่า ผู้ประกอบการมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มมากขึ้นภายหลังการนำความรู้ที่อบรมไปใช้ดำเนินธุรกิจ โดยรายได้เฉลี่ยเปรียบเทียบระหว่างเดือนที่ 1 และเดือนที่ 6 เพิ่มขึ้น 17,565 บาท คิดเป็นร้อยละ 39.68

          ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละส่วน พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม  เป็นขั้นตอนที่ทำให้ทราบศักยภาพของธุรกิจ  2) การกำหนดตลาดเป้าหมาย เป็นการเลือกตลาดเป้าหมายและจุดเด่นของธุรกิจ  3) การดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด  โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่  การสร้างแผนการอบรมเพื่อการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด  การวัดผล 3 ด้านก่อนการอบรม  การจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดด้วยวิธีการอบรม  การวัดผล 3 ด้านหลังการอบรม  4) การประเมินผลสำเร็จของธุรกิจ เป็นการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าและรายได้ของกิจการ

คำสำคัญ : รูปแบบการจัดการเรียนรู้, ธุรกิจชุมชน, เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด

 

ABSTRACT

          The aim of this research was to develop the model of marketing learning management to encourage the clay pottery business in Koh Kret community. It was Research and Development using the procedure of surveying and qualitative approach. The data were collected from two sample groups. The first group was collected from the entrepreneurs who conducted the clay pottery business in Koh Kret community with the size of 30 and the second group was collected from 400 tourists who visited Koh Kret. Tools used in the research were classified into eight categories as follows: 1) Customer’s demand survey 2) Depth interview 3) Training plans 4) Level of marketing operation survey 5) Level of marketing base knowledge survey 6) Level of training base knowledge survey 7) Customer satisfaction survey 8) The income from the business survey were administered to collect the data which, in turn, were analyzed by using percentage, mean, standard deviation, the analysis of correlation of two sample groups, regression analysis as well as content analysis.

          The research result revealed that theoverall customer demand in marketing mix was in moderate level. Customers gave the most concentrate in promotion. The forecast equation of marketing mix factors that affected the customer’s decision to buy clay pottery in Koh Kret, in the form of raw score was:

                         =   1.060 + 0.358 (x1) + 0.218 (x2) + 0.150 (x3)+ 0.376 (x)

          The four variables were Product (x1), Price (x2), Place (x3), and Promotion (x4) which were related to the marketing mix that affected the customer’s decision to buy clay pottery in Koh Kret by 0.770. The four variables had the value of marketing mix factors that affected the customer’s decision to buy clay pottery in Koh Kret of 59.40 percent. The variable that affected the customer’s decision the most were promotion and product with a standard deviation of 0.01. Entrepreneur had determined the level of market act by overall marketing mix as low level. Entrepreneur gave the most concentrate in product, followed by price.

          The results after the training session showed that the level of marketing act, knowledge, and learning levels of entrepreneur, before and after the training had a standard deviation of 0.05. This can be concluded that the score increased after the training.

          The success of the business was measured by these two aspects: 1) The measurement of customer’s satisfaction, which found that customer satisfaction affects the overall customer’s view in marketing mix with high level. Customers were interested in response needs 2) The measurement of income of entrepreneur showed that average income per month increased after the training. By comparison, the average income between first month and sixth month increased by 17,565 baht or 39.68 percent.

          The analysis showed that the model of marketing learning management to encourage the clay pottery business in Koh Kret community consisted of four components: 1) An environment analysis step by step for showing the potential of the business 2) Market targeting was a selection of market and advantage of the business 3) The operation of marketing learning was divided into four stages, which were the building training plan for marketing learning management by evaluating of three aspects before the training marketing learning management by training and evaluating of three aspects after the training. 4) The evaluation of business succession was the determination of customer satisfaction and business income.

Keywords : Learning Management Model, Community Business, Clay Pottery in Koh Kret.

 

บทนำ

          ในยุคกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบโลกาภิวัตน์ (Globalization) ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนอย่างมาก ภายหลังจากการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 หรือที่เรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “เศรษฐกิจฟองสบู่แตก” ทำให้เกิดการทบทวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งใหญ่ (ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ, 2546, น.23) โดยกระแสการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาแบบปัจเจกนิยม  ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากวิกฤตของประเทศในปัจจุบันแล้วว่า  ไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างความยุติธรรมให้เกิดกับสังคมโดยรวมได้ เนื่องจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบโลกาภิวัตน์มีความคิดแบบลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศอย่างเสรี ซึ่งถูกมองว่า เป็นทฤษฎีที่มุ่งตอบคำถามให้แก่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าที่จะตอบคำถามให้แก่นักธุรกิจระดับกลาง ระดับเล็ก และคนธรรมดาทั่วไป

          หนึ่งในทางออกของปัญหาดังกล่าวคือ การหันมาใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเอง ที่เน้นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในระดับหมู่บ้านหรือระดับตำบล ซึ่งต้องมีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนนั้นๆ ให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ชุมชนจะต้องยืนหยัดด้วยลำแข้งของชุมชนเอง โดยอาศัยความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การทำให้ชุมชนเข้มแข็งจะต้องมีการพัฒนาชุมชนด้วย “ธุรกิจชุมชน” ซึ่งการทำธุรกิจต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ทุน การตลาด การจัดการ แรงงาน วัตถุดิบ เทคโนโลยี และข้อมูล (สมพันธ์ เตชะอธิก, 2540, น.109) ธุรกิจชุมชนเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัตถุดิบในชุมชน โดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน

          หลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทย กิจกรรมธุรกิจชุมชนกลายเป็นความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนของทางราชการ จนประกาศเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2541 (มงคล  ด่านธานินทร์, 2541, น.คำนิยม) และไม่เพียงแต่ทางราชการเท่านั้น นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนก็ได้คาดหวังให้ธุรกิจชุมชนเป็นตัวนำในการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง (ณรงค์  เพ็ชรประเสริฐ, 2542, น.21) จากความพยายามพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นในด้านรายได้ ทำให้มีการส่งเสริมอาชีพเสริมที่มักเป็นการผลิตสินค้าหัตถกรรมหรือการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่กลุ่มชาวบ้านจำนวนมากหลายกลุ่มได้ประสบความสำเร็จในการผลิตเป็นอย่างดีแต่กลับขายผลผลิตไม่ได้ ทำให้ไม่เกิดรายได้เป็นตัวเงินอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านการตลาด เพราะการผลิตเกินความต้องการของตลาด มีคู่แข่งจำนวนมากทั้งธุรกิจเอกชนหรือกลุ่มชาวบ้านในที่อื่น

          กลุ่มธุรกิจชุมชนจำนวนมากไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เนื่องจากขาดการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความรู้ ความสามารถด้านการตลาด เพราะธุรกิจชุมชนมักเริ่มต้นที่ชุมชนสามารถผลิตสินค้าอะไรได้แล้วจึงไปโน้มน้าวให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ชุมชนผลิตจึงทำให้การดำเนินงานทางด้านการตลาดค่อนข้างยาก (สมพันธ์  เตชะอธิก, 2540, น.115) ดังนั้นธุรกิจชุมชนจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยคนในชุมชนที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เกี่ยวกับการจัดการด้านการตลาด

          เครื่องปั้นดินเผาเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ที่มีพัฒนาการมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น ที่สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจชุมชนที่สร้างรายได้อย่างมากให้กับชุมชน อย่างชุมชนเกาะเกร็ดซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะเล็กๆ กลางน้ำเป็นที่ตั้งของชุมชนมอญเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตเรียบง่าย และชื่อเสียงด้านเครื่องปั้นดินเผามานานนับร้อยปี ในอดีตชาวมอญเกาะเกร็ดจะทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลัก  แต่ปัจจุบันมิได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาทุกครัวเรือนแล้ว เนื่องจากความนิยมในการใช้เครื่องปั้นดินเผาลดลง อีกทั้งวัสดุในการผลิตก็หายากและมีราคาแพง จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลถึงการอนุรักษ์วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำเครื่องปั้นดินเผาที่สืบทอดกันมานานนับร้อยปีนับวันก็จะหายไป  ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สัญลักษณ์  ยิ้มเฟือง (2548, น.47) ที่กล่าวว่า  การพัฒนาเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมของชุมชนมอญเกาะเกร็ด  วัยรุ่นหนุ่มสาวชาวไทยเชื้อสายมอญรุ่นใหม่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต  สังคม  และวัฒนธรรมจากเดิมในอดีตสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น  และสอดคล้องกับผลการวิจัยของ อธิคม  ปัทมาคม (2547, น.ง) ที่กล่าวว่า  แนวโน้มของการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดแก่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันหมดสิ้นความหมายและความสำคัญ เนื่องจากหาคนสืบทอดความรู้ยาก คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น หากไม่หาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วันหนึ่งเครื่องปั้นดินเผาภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าจะหายไปเหลือไว้เพียงตำนานที่เล่าให้ลูกหลานรุ่นใหม่ฟัง  ถ้าเปรียบจังหวัดนนทบุรีเป็นร่างกาย เกาะเกร็ดจะเปรียบเป็นหัวใจของจังหวัดนนทบุรี เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยม ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เกาะเกร็ดมีวัฒนธรรม จริยธรรม ประเพณี อาหาร ศิลปะต่างๆ ของชาวมอญที่หลากหลาย ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่ยังมีชีวิตทรงคุณค่า เรียบง่ายและงดงาม เกาะเกร็ดได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบภาคกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญที่ได้สืบทอดกันมายาวนาน รวมทั้งการทำขนมมงคลซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวมอญ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งการเพิ่มมูลค่าให้กับการทำเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดจะช่วยส่งเสริมธุรกิจชุมชนโดยตรงอย่างแท้จริง

          การพัฒนาธุรกิจชุมชนเกาะเกร็ดทุกวันนี้ประสบปัญหาการขาดความรู้ทางด้านการตลาดที่จะดำเนินการให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืน  ชาวบ้านส่วนใหญ่มองธุรกิจชุมชนเป็นเพียงรายได้เสริม  คนรุ่นใหม่เกาะเกร็ดไม่เห็นความสำคัญของธุรกิจชุมชนที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเครื่องปั้นดินเผาที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมชาวมอญยาวนานนับร้อยปี  การที่จะพัฒนาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดให้ยั่งยืนนั้น ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดที่บูรณาการความรู้ ความคิด ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

          ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด  ซึ่งผลของการวิจัยดังกล่าวนี้จะได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

วิธีการวิจัย

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) โดยในขั้นตอนของการวิจัยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research)  และการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ประชากรและและกลุ่มตัวอย่าง

            ในการวิจัยครั้งนี้ประชากรที่ศึกษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. 1. กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ คือ ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ซึ่งมีร้านอยู่ในชุมชนเกาะเกร็ด จำนวน 52 ราย
  2. 2. กลุ่มลูกค้า คือ ลูกค้าที่มาท่องเที่ยวเกาะเกร็ด ซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน

กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. 1. กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ ได้ทำการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) (นราศรี ไววนิชกุล และชูศักดิ์ อุดมศรี, 2552, น.125) โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่เต็มใจจะพัฒนาตนเอง และสมัครใจเข้าร่วมการอบรม จำนวน 30 ราย
  2. 2. กลุ่มลูกค้า โดยใช้สูตรการคำนวณเพื่อหาจำนวนของกลุ่มตัวอย่างจาก W.G. Cochran (W.G. Cochran, 1953 อ้างถึงในระพินทร์ โพธิ์ศรี, 2549, น.46)

 

จำนวนของกลุ่มตัวอย่างที่คำนวณได้เท่ากับ 369 ราย เพื่อความสะดวกในการสำรวจผู้วิจัยจะใช้จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 400 ราย และใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างจากลูกค้าที่มาท่องเที่ยวเกาะเกร็ด ด้วยวิธีการแบบตามสะดวก (Convenience sampling)

  1. การเก็บรวบรวมข้อมูล

          ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยในปี พ.ศ. 2556 – 2558 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสำรวจ ช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2556  เป็นการสำรวจกลุ่มลูกค้าและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา เพื่อค้นหาความต้องการ โดยใช้แบบวัดความต้องการของลูกค้า เก็บข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประสมการตลาด และใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์กิจการเครื่องปั้นดินเผา เมื่อผู้วิจัยเก็บข้อมูลในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมประมวลผลข้อมูลสำเร็จรูปทางสถิติและสรุปผลความต้องการทั้งด้านลูกค้า และด้านผู้ประกอบการ เป็นรายประเด็น แล้วนำมาสรุปสร้างแผนการอบรมเพื่อจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด  ระยะที่ 2 เป็นการสร้างแผนการอบรม และการจัดการเรียนรู้ทางการตลาดช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2557 หลังจากนั้นจะเป็นการอบรม การอภิปรายกลุ่มย่อย และการวัดผลการจัดการเรียนรู้ช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2557 เป็นการวัดผลกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้ารับการอบรมเรียนรู้ด้านการตลาด โดยเก็บข้อมูลก่อน และหลังการอบรม เพื่อทำการเปรียบเทียบประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด ข้อมูลที่วัดผลแบ่งเป็น 3 ด้าน  โดยใช้แบบวัดระดับการดำเนินการทางการตลาด  แบบวัดความรู้ด้านการตลาด  และแบบวัดระดับการเรียนรู้การอบรม  เมื่อผู้วิจัยเก็บข้อมูลในระยะที่ 2 เสร็จสิ้นแล้วได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมประมวลผลข้อมูลสำเร็จรูปทางสถิติและสรุปประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเปรียบเทียบก่อน-หลังการอบรม เพื่อร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดที่ส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด  หลังจากการเก็บข้อมูลระยะที่ 2 ได้เว้นระยะให้ผู้ประกอบการได้นำความรู้ด้านการตลาดจากการอบรมไปใช้ในการดำเนินธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาของตน จากนั้นจึงเก็บข้อมูลระยะที่ 3 เพื่อประเมินผลสำเร็จของธุรกิจ  ระยะที่ 3 เป็นการวัดผลกำไรของกิจการ โดยการเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยของเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 กับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ดูการเปลี่ยนแปลง และเก็บข้อมูลความพึงพอใจของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 โดยการเก็บข้อมูลจะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน 1) ใช้แบบวัดความพึงพอใจของลูกค้า  2) ใช้แบบวัดรายได้ของกิจการ ซึ่งจะเป็นการเปรียบเทียบรายได้ระหว่างเดือนแรกกับเดือนที่ 6 เพื่อประเมินรายได้เฉลี่ยที่เปลี่ยนแปลง หลังจากการเก็บข้อมูลระยะที่ 3 เสร็จสิ้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลสรุปผลสำเร็จของธุรกิจ

          หลังจากนั้นผู้วิจัยได้นำผลสรุปประเด็นทั้งหมดจากการวิเคราะห์ผลข้อมูลทั้ง 3 ระยะ มาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ เพื่อหาผลสรุปในขั้นตอนสุดท้ายตรวจสอบกับร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดที่ส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาที่ผู้วิจัยได้ร่างขึ้นในระยะที่ 2 จากนั้นจึงทำการปรับปรุงปัจจัยต่างๆ ในร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจึงพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดที่สมบูรณ์  โดยการวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้

  1. การสำรวจ  ในขั้นนี้แบ่งการสำรวจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.1  กลุ่มลูกค้า  เป็นการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าที่มีต่อการกำหนดส่วนประสมการตลาด โดยใช้เครื่องมือ แบบสอบถามความต้องการของลูกค้า ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

1.2  กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด  โดยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การกำหนดเป้าหมาย และการดำเนินการด้านส่วนประสมทางการตลาด เพื่อกำหนดความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด  โดยอาศัยเทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก  เพื่อค้นหา “What is need to know” ?  โดยใช้เครื่องมือแบบสัมภาษณ์เชิงลึกในการเก็บรวบรวมข้อมูล

  1. การวางแผนในขั้นนี้เป็นการนำข้อมูลที่ได้รับจากขั้นตอนแรกมาจัดเตรียม เพื่อสร้างแผนการอบรมด้านการตลาด ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด
  2. การสร้างแผนการอบรม  เป็นขั้นตอนของการสร้างแผนการฝึกอบรมด้านการตลาดสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การกำหนดเป้าหมาย และการกำหนดส่วนประสมการตลาด  เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา
  3. การจัดการอบรม เป็นขั้นตอนของการนำแผนการอบรมไปใช้กับผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด โดยแบ่งการอบรมเป็น 2 ภาค คือ ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้จริง  โดยกิจกรรมในการอบรมจะมีการบรรยาย อภิปราย ฝึกวิเคราะห์กรณีศึกษา และการสนทนากลุ่มย่อย (Focus group) ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้มุ่งเน้นให้การจัดการอบรมเกิดประสิทธิผลสูงสุด
  4. การวัดระดับการดำเนินการทางการตลาดก่อนและหลังการอบรม เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินการทางการตลาดในด้านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางการตลาด  การกำหนดเป้าหมาย  การกำหนดส่วนประสมการตลาดด้านผลิตภัณฑ์  ด้านราคา  ด้านการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการตลาด
  5. การวัดระดับการเรียนรู้ก่อนและหลังการอบรม  ในขั้นนี้เป็นการประเมินระดับการเรียนรู้ที่เกิดจากการอบรมของผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา โดยในขั้นนี้จะใช้เครื่องมือแบบวัดระดับการเรียนรู้ 4 ระดับ ตามทฤษฎีของบลูม ได้แก่  ความรู้ที่เกิดจากความจำ (Knowledge) ความเข้าใจ (Comprehend) การประยุกต์ (Application) และการวิเคราะห์ (Analysis)
  6. การวัดความรู้ด้านการตลาดก่อนและหลังจากการอบรมซึ่งในขั้นตอนนี้ จะเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการเพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาด เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา
  7. หลังจากทำการอบรมแล้ว ผู้วิจัยจะได้ร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ทางด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดเบื้องต้น จากนั้นจะเป็นการเก็บข้อมูล เพื่อประเมินความสำเร็จของธุรกิจ ดังนี้

8.1  ในเดือนที่ 1 จะทำการเก็บข้อมูลรายได้เฉลี่ยหลังหักต้นทุน ของผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด

8.2  ในเดือนที่ 6  จะทำการเก็บข้อมูลรายได้เฉลี่ยหลังหักต้นทุนเป็นรอบที่สอง เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงผลกำไรที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งผลกำไรโดยเปรียบเทียบที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการเมินความสำเร็จของธุรกิจ

8.3  ในเดือนที่ 6 จะทำการเก็บข้อมูลจากลูกค้าเกี่ยวกับความพึงพอใจของลูกค้าที่ต่อธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด  โดยแบบวัดนี้จะเป็นการสำรวจความพึงพอใจเกี่ยวกับการกำหนดส่วนประสมการตลาด ซึ่งเป็นการติดตามผลความพึงพอใจของลูกค้าในปัจจัยส่วนประสมความพึงพอใจ 4 ด้าน ได้แก่  ด้านการตอบสนองความต้องการ  ด้านต้นทุน ด้านความสะดวก  และด้านการติดต่อสื่อสาร

  1. ทำการแก้ไขปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด และปรับร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดเพื่อให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ และลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด
  2. ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดเพื่อการนำไปใช้จริง

 

  1. การวิเคราะห์ข้อมูล

ในการวิจัยครั้งนี้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการพัฒนารูปแบบใช้สถิติการวิเคราะห์ปัจจัย และการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่

  1. สถิติสำหรับการหาคุณภาพเครื่องมือ

1.1  การหาค่าความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (Content validity) วิธีการพิจารณาแบบนี้เรียกว่า การหาค่าสัมประสิทธิ์ความสอดคล้อง (Index of Item – Objective Congruence: IOC) (ประภัสรา  โคตะขุน, 2554, ออนไลน์) โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้

1.2  การหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) จากการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (a – Coefficient) หรือสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเป็นค่าความเชื่อมั่นที่คำนวณหาได้จากสูตรครอนบราช (Cronbach)  (ฐิรชัย หงษ์ยันตรชัย, 2557, น.94) ที่ใช้ในการคำนวณมีดังนี้

  1. สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics)

2.1  การหาค่าร้อยละ  เป็นการนำผลจากการแจกแจงความถี่หรือค่าร้อยละเพื่อแสดงภาพรวมของข้อมูลที่ได้

2.2  การหาค่าเฉลี่ย  เป็นการหาค่าเฉลี่ยที่ใช้กับตัวแปรระดับช่วงขึ้นไปโดยจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนข้อมูล (นราศรี ไววนิชกุล และ ชูศักดิ์ อุดมศรี, 2552, น.237)

2.3  การหาค่าความแปรปรวนและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  เป็นการหาค่าบอกขนาดของกลุ่ม ถ้าข้อมูลทั้งหมดมีค่าเข้าใกล้ค่าเฉลี่ย ความแปรปรวนจะมีค่าน้อยที่สุด (นราศรี ไววนิชกุล และ ชูศักดิ์ อุดมศรี, 2552, น.246)

  1. สถิติเชิงอนุมาน (Inferential statistics)

3.1 การทดสอบสมมติฐานของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม (t-test) (กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ, 2556, น.178)

3.2 การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบถดถอย (Regression Analysis) การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงซ้อนหรือหพุคูณ คือ การวิเคราะห์การถดถอยที่มีตัวแปรอิสระที่ศึกษานั้นมีค่ามากกว่า 1 ตัวแปร และตัวแปรตาม 1 ตัว ผลที่ได้จากการวิเคราะห์สามารถสรุปได้เป็นความสัมพันธ์อยู่ในรูปของสมการเส้นตรง ดังนี้ (กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ, 2556, น.176)

 

ผลการวิจัย

สามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้  สมการพยากรณ์องค์ประกอบของปัจจัยส่วนประสมการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ในรูปของคะแนนดิบ คือ

ตัวพยากรณ์ทั้ง 4 ตัว ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ (x1)  ราคา (x2)  การจัดจำหน่าย (x3)  และการส่งเสริมการตลาด (x4)  มีความสัมพันธ์กับอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด เท่ากับ 0.770 โดยตัวแปรทั้ง 4 ตัว มีอำนาจพยากรณ์ค่าอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดร่วมกันได้ร้อยละ 59.4 โดยตัวพยากรณ์ที่มีอิทธิพลส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ได้แก่  ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01  และมีความคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์ หรือการประมาณค่าอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดสำหรับการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดของลูกค้าเท่ากับ 0.049

รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

         องค์ประกอบที่ 1  การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม  เป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้ทราบศักยภาพของธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดในด้านจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของธุรกิจ ซึ่งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้จะนำมาใช้ประกอบการกำหนดเป้าหมาย และการกำหนดส่วนประสมการตลาดในองค์ประกอบที่ 3 โดยในการวิจัยครั้งนี้ผลการวิเคราะห์จุดแข็งของธุรกิจ ได้แก่ การเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเอง  ธุรกิจมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลวดลายและรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ส่วนผลการวิเคราะห์จุดอ่อนของธุรกิจ คือ พนักงานขายไม่สามารถให้ข้อมูลลูกค้า และแรงงานผลิตสินค้ามีน้อย  ในด้านโอกาสของธุรกิจ ได้แก่ เกาะเกร็ดเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนนทบุรี ส่วนอุปสรรคของธุรกิจ ได้แก่ การมีคู่แข่งขันมาก  สภาพเศรษฐกิจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ  และการเดินทาง การขนส่งสินค้าทางเรือค่อนข้างลำบาก ข้อมูลจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมจะทำให้ธุรกิจเห็นจุดดีเด่นที่ควรเสริมให้แข็งแกร่งเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่จุดอ่อนของธุรกิจควรป้องกันหรือแก้ไข

         องค์ประกอบที่ 2  การกำหนดเป้าหมาย  เป็นขั้นตอนการแบ่งส่วนตลาด (Segmentation)  การกำหนดตลาดเป้าหมาย (Targeting) และการกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนนี้ทำให้ทราบถึงการตัดสินใจเลือกตลาดเป้าหมายและจุดเด่นหรือจุดขายของธุรกิจ ซึ่งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้จะนำมาใช้ประกอบการกำหนดเป้าหมายในองค์ประกอบที่ 3 ให้สอดคล้องกับธุรกิจมากที่สุดโดยในการวิจัยครั้งนี้ผลการวิเคราะห์การแบ่งส่วนตลาด และการกำหนดตลาดเป้าหมาย ธุรกิจมีทางเลือก 3 กลุ่ม ได้แก่  1) ลูกค้าที่ซื้อของไปใช้สอย ซื้อไปตกแต่งประดับ และซื้อเป็นของที่ระลึก  2) ลูกค้าที่ซื้อเป็นของที่ระลึก  3) ลูกค้าชาวต่างชาติ  ส่วนผลการวิเคราะห์การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์มีสีสันสวยงาม และมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์

         องค์ประกอบที่ 3  การดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด ในองค์ประกอบนี้ประกอบด้วยการดำเนินการ 4 ขั้น ได้แก่

                        ขั้นที่ 1  การสร้างแผนการอบรมเพื่อการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด ในขั้นนี้เป็นการสร้างแผนการอบรมเพื่อการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด  โดยการนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเนื้อหา รายละเอียดของแผนการอบรม  ในแผนการอบรมประกอบด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่  1) เนื้อหาสาระ  2) วัตถุประสงค์  3) กิจกรรมการเรียนรู้4)สื่อการเรียนรู้  5) การวัดและประเมินผลซึ่งในส่วนของเนื้อหาด้านการตลาดที่อบรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ประกอบด้วย  การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT) การกำหนดเป้าหมาย (STP) และการกำหนดส่วนประสมการตลาด (4 P’s)

                        ขั้นที่ 2  การวัดผล 3 ด้านก่อนการอบรม  เป็นการวัดผลผู้ประกอบการก่อนการจัดการอบรมซึ่งผลที่ได้ในขั้นนี้จะนำไปเปรียบเทียบกับการวัดผลหลังการอบรม เพื่อพิจารณาประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด  โดยการวัดผล 3 ด้าน ได้แก่ การวัดระดับการดำเนินการทางการตลาด  การวัดความรู้ด้านการตลาด และการวัดระดับการเรียนรู้การอบรม

                        ขั้นที่ 3 การจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดด้วยวิธีการอบรม  เป็นการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดด้วยกระบวนการเรียนรู้ 4 ระดับ ตามหลักทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูมคือ ความรู้ที่เกิดจากความจำ (Knowledge)  ความเข้าใจ (Comprehension)  การประยุกต์ (Application) และการวิเคราะห์ (Analysis) โดยใช้วิธีการอบรมในหัวข้อต่างๆได้แก่การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT) การกำหนดเป้าหมาย (STP) การกำหนดส่วนประสมการตลาด (4 P’s) ใน 4 หัวข้อ คือ ผลิตภัณฑ์ (Product)  ราคา (Price)  การจัดจำหน่าย (Place) และการส่งเสริมการตลาด (Promotion)  โดยการจัดการเรียนรู้จะเน้นเสริมความรู้เป็นพิเศษในประเด็นความต้องการของลูกค้า  ความต้องการที่จำเป็นของผู้ประกอบการ และความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งเป็นการนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านผู้ประกอบการ และด้านลูกค้า มากำหนดการวางแผนส่วนประสมการตลาดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปได้ว่า  ปัจจัยส่วนประสมการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้ามากที่สุด คือ ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในปัจจัย 2 ด้านนี้มากกว่าปัจจัยด้านอื่นๆ โดยในปัจจัยแต่ละด้านควรให้ความสำคัญในประเด็นต่อไปนี้

–  ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด ควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การส่งเสริมการขายโดยการลดราคาและแถมของ  รองลงมาคือ การส่งเสริมการขาย ณ จุดซื้อ  การประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายบอกสถานที่ท่องเที่ยว  และการตลาดออนไลน์  ตามลำดับ

– ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์หลายด้าน  รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์มีความคงทนแข็งแรง   ผลิตภัณฑ์มีลวดลายการแกะสลักสวยงาม  ผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางจิตใจ  และตราผลิตภัณฑ์มีชื่อเสียง ตามลำดับ

–  ปัจจัยด้านราคา ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การกำหนดราคาระดับเดียวกับคู่แข่งขัน  รองลงมาคือ ราคาเหมาะสมกับคุณภาพผลิตภัณฑ์  การตั้งราคาแบบจิตวิทยาลงท้ายเลข 9  และลดราคาเมื่อซื้อปริมาณมาก  ตามลำดับ

– ปัจจัยด้านการจัดจำหน่าย ควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การจัดจำหน่ายผ่านงานแสดงสินค้า  รองลงมาคือ การจัดจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า  การจัดจำหน่ายผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต  และมีความสะดวกในกระบวนการสั่งซื้อ  ตามลำดับ

                        ขั้นที่ 4  การวัดผล 3 ด้านหลังการอบรม  เป็นการวัดผลผู้ประกอบการหลังการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดด้วยวิธีการอบรมซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อเปรียบเทียบก่อนการอบรมและหลังการอบรม พบว่า ผู้ประกอบการมีระดับการดำเนินการทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นทุกปัจจัยระดับการเรียนรู้การอบรมเพิ่มมากขึ้นในทุกระดับการเรียนรู้  และการวัดความรู้ด้านการตลาดเพิ่มมากขึ้นทุกปัจจัยเช่นกัน

         องค์ประกอบที่ 4  การประเมินผลสำเร็จของธุรกิจ  เป็นการประเมินผลธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดใน 2 ด้าน  คือ 1) ด้านความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจภายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้นำความรู้จากการอบรมไปใช้ดำเนินการธุรกิจ  2) ด้านรายได้ของกิจการ ซึ่งจะเป็นการเปรียบเทียบรายได้ระหว่างเดือนที่ 1 กับเดือนที่ 6  ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้นำความรู้ด้านการตลาดจากการอบรมไปใช้ดำเนินการธุรกิจแล้ว

ภาพที่ 1  รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด

 

อภิปรายผลการวิจัย

            จากผลการวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดในครั้งนี้ มีประเด็นต่างๆ ที่สามารถนำมาอภิปรายผลได้ดังนี้

สมการพยากรณ์องค์ประกอบของปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดในรูปของคะแนนดิบ คือ

ตัวพยากรณ์ทั้ง 4 ตัว ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ (x1)  ราคา (x2)  การจัดจำหน่าย (x3)  และการส่งเสริมการตลาด (x4)  มีความสัมพันธ์กับอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด เท่ากับ 0.770 โดยตัวแปรทั้ง 4 ตัว มีอำนาจพยากรณ์ค่าอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดร่วมกันได้ร้อยละ 59.4 โดยตัวพยากรณ์ที่มีอิทธิพลส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ได้แก่  ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01  และมีความคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์ หรือการประมาณค่าอิทธิพลของส่วนประสมการตลาดสำหรับการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดของลูกค้าเท่ากับ 0.049  โดยในการทำนายการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดนั้น ด้านการส่งเสริมการตลาดมีอิทธิพลมากที่สุด รองลงมาคือด้านผลิตภัณฑ์  ด้านราคา และด้านการจัดจำหน่ายน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา และด้าน การจัดจำหน่าย จะส่งผลให้การตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ซึ่งผลการวิจัยไม่สอดคล้องกับ วรุตม์  ประไพพักตร์ (2557, น.61) ศึกษาปัจจัยพฤติกรรมผู้บริโภคและปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดบริการที่ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าประเภทเครื่องครัวในเขตอำเภอเมืองจังหวัดระยอง พบว่า ปัจจัยส่วนประสมการตลาดบริการเป็นรายประเภท  ด้านราคา  ด้านการส่งเสริมการตลาด  ด้านการสร้าง  และด้านการนำเสนอลักษณะทางกายภาพ ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าด้านการประเมินผลทางเลือกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 โดยด้านราคาส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าด้านการประเมินผลทางเลือกมากที่สุด

รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ  ได้แก่  1) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม  เป็นขั้นตอนที่ทำให้ทราบศักยภาพของธุรกิจ  2) การกำหนดเป้าหมาย เป็นการเลือกตลาดเป้าหมายและจุดเด่นของธุรกิจ  3) การดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด  โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่  การสร้างแผนการอบรมเพื่อการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด  การวัดผล 3 ด้านก่อนการอบรม  การจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดด้วยวิธีการอบรม  การวัดผล 3 ด้านหลังการอบรม  4) การประเมินผลสำเร็จของธุรกิจ เป็นการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าและรายได้ของกิจการ จากการวิเคราะห์องค์ประกอบแต่ละส่วนทำให้สามารถนำเสนอแผนภาพความสัมพันธ์รูปแบบการวิจัยได้ ซึ่งสอดคล้องกับ รัตนะ  บัวสนธ์ (2552, น.124) ที่กล่าวว่า แผนภาพที่แสดงถึงองค์ประกอบการทำงานของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รูปแบบในความหมายนี้บางทีเรียกว่า ภาพย่อส่วนของทฤษฎีหรือแนวคิด เช่น รูปแบบการบริหาร  จากแผนภาพรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ในส่วนขององค์ประกอบที่ 3  การดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาด เกี่ยวกับส่วนประสมการตลาด จะพบว่า ภาพแสดงสัดส่วนพื้นที่ปัจจัยส่วนประสมการตลาดทั้ง 4 ด้าน ไม่เท่ากัน โดยปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด และด้านผลิตภัณฑ์ มีสัดส่วนที่มากกว่าด้านราคา และด้านการจัดจำหน่าย ตามผลการสำรวจความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ ไม่เท่ากัน  ผู้วิจัยจึงได้จัดรูปแบบการเรียนรู้เกี่ยวกับส่วนประสมการตลาด โดยเน้นเนื้อหาการอบรมแต่ละด้านแตกต่างกัน ตามการอ้างอิงจากสมการพยากรณ์ปัจจัยส่วนประสมการตลาดสำหรับการตัดสินใจซื้อเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดของลูกค้า  จากนั้นได้จัดการอบรมด้วยรูปแบบการอภิปรายกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และสามารถนำเสนอสิ่งที่ตนได้จากการอบรมอย่างเต็มที่ อีกทั้ง ผู้สอนสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งผลด้านความต้องการของลูกค้าจากการวิจัยนี้ สอดคล้องกับ ทัศนา หงษ์มา (2555, น.66) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้ซื้อในตลาดนัด : กรณีศึกษาตลาดนัดในกระทรวงสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ซึ่งพบว่าแนวทางในการพัฒนาตลาดนัดในกระทรวงสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีมีดังนี้ ด้านผลิตภัณฑ์ต้องการให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ด้านราคาต้องการให้มีการต่อรองเรื่องราคาได้มากขึ้น ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายต้องการให้เพิ่มด้านความสะอาดของสถานที่ และการจัดส่งสินค้านอกสถานที่ และด้านการส่งเสริมการตลาดต้องการให้ผู้ขายมีอัธยาศัยที่ดี  อีกทั้งรูปแบบการจัดการเรียนรู้ยังสอดคล้องกับ เอนก  เหลาโชติ (2547, น.153) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษากลุ่มหัตถกรรมตุ๊กตาราชบุรี ซึ่งพบว่า ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดยมีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้หลากหลาย ได้แก่ การบอกเล่า การสาธิตการทำจริง การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ รวมถึงรูปแบบของครูพักลักจำ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดในหมู่สมาชิกครอบครัว เครือญาติ คนในชุมชน รวมทั้งจากผู้รู้ หรือผู้นำกลุ่ม โดยมีลักษณะของการถ่ายทอดแบบทำไปสอนไป การจัดการถ่ายทอดความรู้แบบเป็นทางการ อาทิ การจัดอบรม สัมมนา ดูงานระยะสั้นและระยะยาว

 

ข้อเสนอแนะการวิจัย

            จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ด ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้

ข้อเสนอแนะเพื่อการประยุกต์ใช้

  1. ด้านผู้ประกอบการ

1.1  ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดจำนวนไม่น้อยที่ให้คำตอบในเรื่องจุดแข็งว่า “ราคาของผลิตภัณฑ์ไม่แพง” ซึ่งความคิดแบบนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้ที่ควรจะเก็บได้จากลูกค้า การลดราคาลงไม่ใช้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ เพราะผลจากข้อมูลความพึงพอใจของลูกค้าพบว่า ต้นทุนที่จ่ายเป็นปัจจัยลำดับสุดท้ายที่ลูกค้าให้ความสำคัญ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าและคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกค้ายอมจ่ายเงินแลกกับผลิตภัณฑ์ที่ดี

1.2  ผู้ประกอบการควรเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะขายความคิดสร้างสรรค์บวกกับงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม เช่น  การทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากดินที่มีการผสมสีจากวัสดุแก้วที่นำมาบด เพื่อให้เกิดสีสันสวยงามของผลิตภัณฑ์ และออกแบบเป็นของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับสวยงาม หรือเป็นของที่ระลึก โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สื่อถึงตราสินค้าที่มีคุณค่าในจิตใจ  อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย

1.3  ผู้ประกอบการควรปรับแผนส่วนประสมการตลาดตามความต้องการของลูกค้า โดยเน้นปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์เป็นพิเศษ เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า

1.4  ผู้ประกอบการควรวิเคราะห์สภาพแวดล้อม และปรับแผนส่วนประสมการตลาดทุกๆ 3-6 เดือน เพราะสภาพแวดล้อมทางการตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แผนระยะสั้นควรมีการทบทวนอย่างส่ำเสมอ

  1. ด้านรัฐบาล

เนื่องจากเกาะเกร็ดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในจังหวัดนนทบุรีและเป็นแหล่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับภูมิภาค  รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวมศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น  ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่า  รัฐบาลจึงควรมีนโยบายที่ส่งเสริมการตลาดเกาะเกร็ดอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดระบบการเดินทาง การจัดการเกาะเกร็ด  การรณรงค์ส่งเสริมเพื่อสร้างชื่อเสียงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รู้จักเกาะเกร็ดมากยิ่งขึ้น โดยการนำจุดเด่นที่สำคัญในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปวัฒนธรรม และความเป็นตำนานเล่าเรื่องราว ผ่านผลิตภัณฑ์งานฝีมือที่มีคุณภาพ ทำการตลาดเชิงท่องเที่ยวเน้นกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ ขายผลิตภัณฑ์ผ่านตำนานเก่าแก่ของชาวมอญ เล่าเรื่องราวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งถ้าการท่องเที่ยวเกาะเกร็ดเติบโตก็หมายถึงเศรษฐกิจของเกาะเกร็ดจะเติบโตเช่นกัน และจะทำให้ธุรกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป                                                                             

  1. ควรทำการศึกษาวิจัยธุรกิจชุมชนประเภทต่างๆ เพื่อทำการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และเศรษฐกิจแบบพอเพียงอย่างยั่งยืน
  2. ควรทำการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนเกาะเกร็ดในแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการตลาด เช่น การผลิต การท่องเที่ยว การจัดการ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาชุมชนเกาะเกร็ดได้รับการพัฒนาอย่างครบวงจร
  3. ควรทำการศึกษารูปแบบการพัฒนาการจัดการเรียนรู้สำหรับธุรกิจชุมชน เพื่อให้สามารถถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

 

บรรณานุกรม

กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ. (2556). ระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจ. (พิมพ์ครั้งที่ 4).

          กรุงเทพฯ:  สยาม บุ๊คส์.

ฐิรชัย หงษ์ยันตรชัย. (2557). เอกสารประกอบการสอน SPSS for Window. กรุงเทพฯ :

โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. (2542).  ธุรกิจชุมชนเส้นทางที่เป็นไปได้. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุน

สนับสนุนการวิจัย.

ทัศนา หงษ์มา. (2555). ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อ

            สินค้าOTOP ที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะเกร็ดจังหวัดนนทบุรี.

วิทยาลัยราชพฤกษ์.

นราศรี ไววนิชกุล และ ชูศักดิ์ อุดมศรี.(2552). ระเบียบวิธีวิจัยธุรกิจ. กรุงเทพฯ:

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประภัสรา โคตะขุน. (2554). เว็บไซต์การเรียนรู้. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2557. จาก https://sites.googie.com/site/prapasara/2-6

มงคล ด่านธานินทร์. (2541). เศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.

ระพินทร์ โพธิ์ศรี. (2549). สถิติเพื่อการวิจัย. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

รัตนะ บัวสนธ์. (2552). การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา. กรุงเทพฯ : คำสมัย.

วรุตม์ ประไพพักตร์. (2557). ปัจจัยพฤติกรรมผู้บริโภคและปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดบริการที่ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าประเภทเครื่องครัวในเขตอำเภอเมืองจังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

สมพันธ์ เตชะอธิก. (2540). การพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้าน. ขอนแก่น :

          สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สัญญลักษณ์ ยิ้มเฟือง. (2548). การพัฒนาเมืองกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

            ของชุมชนมอญเกาะเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

สาขาการวิจัยและพัฒนาเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.

อธิคม ปัทมาคม. (2547). การถ่ายทอดภูมิปัญญาของชุมชนเกาะเกร็ดในการผลิตเครื่องปั้น

ดินเผา และอาหารคาว-หวาน. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

เอนก เหลาโชติ. (2547). การบริหารจัดการธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษากลุ่มหัตถกรรมตุ๊กตา

            ราชบุรี.วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษา

          ต่อเนื่องมหาวิทยาลัยศิลปากร.

 

 

 

กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล

ชื่อผลงานทางวิชาการ : กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความ

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : ได้รับการตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 2  มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์พัชนี  แสนไชย สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

          บทความวิชาการ เรื่อง “กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัลThai Film Production Strategy in the Digital Age”  เรียบเรียงโดย อาจารย์พัชนี แสนไทย สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จุดเน้นของบทความนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยสะท้อนภาพการทำงานและเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวิเคราะห์กลยุทธ์ในการผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล  ตั้งแต่การให้ความสำคัญในขั้นตอนของกระบวนการผลิตภาพยนตร์ การวางแผนการตลาดยุคดิจิทัล การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับการบทความนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องพัฒนาและปรับกลยุทธ์รูปแบบใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการสื่อสาร ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจภาพยนตร์ที่รายล้อมไปด้วยคู่แข่งขันรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการเข้าใจบริบทของสังคมในความแปรเปลี่ยนไปของกระบวนการสื่อสาร และการเข้าใจการตลาดในยุคดิจิทัล จนกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านภาพยนตร์ให้เติบโตขึ้นในอนาคตต่อไป

 

บทความวิชาการ

กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล

Thai Film Production Strategy

in the Digital Age

 

พัชนี แสนไชย

Patchanee Sanchai

   อาจารย์สาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

          บทความวิชาการเรื่อง “กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล” เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวิเคราะห์กลยุทธ์ในการผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัลตั้งแต่การให้ความสำคัญในขั้นตอนของกระบวนการผลิตภาพยนตร์ การวางแผนการตลาดยุคดิจิทัล การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องพัฒนาและปรับกลยุทธ์รูปแบบใหม่ๆให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการเข้าใจบริบทของสังคมในความแปรเปลี่ยนไปของกระบวนการสื่อสาร และการเข้าใจการตลาดในยุคดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านภาพยนตร์ให้เติบโตขึ้นในอนาคตต่อไป

คำสำคัญ:  กลยุทธ์ ,การผลิตภาพยนตร์ไทย ,ยุคดิจิทัล

 

ABSTRACT

          The academic article “Thai Film Production Strategy in the Digital Age” was written as a tool to analyze strategies for the recent  Thai film production. This article focus on many key processes of film production, for instance; Filmmaking, Administration, Marketing planning, Advertising and Film Promotion, Integrated Marketing Communication and Thai Film Trans media Storytelling. There is a critical need among Thai film-makers for develop and apply new strategies and new forms to suit the modern communications technology. In particular, to understand marketing and the social context of communication process changing in the digital age becomes an important part in driving the film business to grow in the future.

KEYWORD: Strategy, Thai Film Production, Digital Age

 

บทนำ

          ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์วิกฤติของวงการสื่อไปทั่วโลกรวมทั้ง(บริษัท)บีบีซี (BBC)ของประเทศอังกฤษที่มีการปรับลดพนักงานกว่า 1,000 ตำแหน่งส่วนในประเทศไทยเองก็มีการปรับผังโครงสร้างใหม่ เช่น โครงการให้พนักงานสมัครใจลาออกและยินยอมเกษียณอายุก่อนกำหนด การประกาศปิดตัวขององค์สื่อต่างๆทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ฯลฯ   เรียกได้ว่ากลายเป็นปรากฏการณ์ที่แต่ละสื่อจะต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรสื่อสามารถอยู่รอดได้ ไม่เว้นแม้แต่ “สื่อภาพยนตร์”เป็นสื่อที่มีความเก่าแก่มีต้นกำเนิดมากว่า 100 ปี มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเกิดคลื่นมรสุมมาหลายระรอก จากยุคเฟื่องฟูสู่ยุคขาลงเพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ดังนั้น ภาพยนตร์จึงต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆในการผลิตอยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นการธำรงไว้ซึ่งผลงานอันศิลปะแขนงที่ 7 ของโลก ที่มีความสร้างสรรค์และเป็นสื่อที่มีคุณค่าต่อสังคม

          นอกจากนั้นสื่อภาพยนตร์ยังเป็นเครื่องมือทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและมีบทบาทในการเป็นภาพสะท้อนสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย ถ่ายทอดความคิด เผยแพร่วัฒนธรรม สร้างความบันเทิงและเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ โดยในปี 2554  รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสการขยายฐานการผลิตและการตลาดในระดับภูมิภาค ธุรกิจภาพยนตร์จึงเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริม โดยมีการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน และการส่งเสริมงานด้านการตลาดด้วย

          ทั้งนี้ บทความวิชาการเรื่อง กลยุทธ์การผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล จะมีส่วนสำคัญในการช่วยสะท้อนภาพการทำงานของภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล สะท้อนให้เห็นกระบวนการผลิตงานภาพยนตร์ในยุคดิจิทัล            การวางแผนการตลาดยุคดิจิทัล การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องพัฒนาและปรับกลยุทธ์รูปแบบใหม่ๆให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการสื่อสาร ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจภาพยนตร์ที่   รายล้อมไปด้วยคู่แข่งอย่างรอบด้าน

 

กระบวนการผลิตภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล (Thai Film Production in Digital Age)

          ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นมีกระบวนการผลิตและการดำเนินงานที่กว้างขวาง และครอบคลุมกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน มีความซับซ้อนของกระบวนการทำงานและบทบาทคนทำงาน ดังนั้นต้องมีความเข้าใจในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างละเอียด

          กระบวนการผลิตภาพยนตร์นั้น ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานของการทำงาน ความเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หรือแหล่งเงินทุน (producer/finance) นักแสดง(Actor)  บทภาพยนตร์ (script) ผู้กำกับภาพยนตร์(director) โรงภาพยนตร์ (theatre) การโฆษณาภาพยนตร์(film advertising) และการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ (film public relations) ซึ่งองค์ประกอบของกระบวนการทำงานทั้ง 7 ประการนี้มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตภาพยนตร์  โดยในวงการภาพยนตร์เรียกองค์ประกอบเหล่านี้ว่า “ฟอร์มหนัง”

          ผู้บริหารระดับสูงที่มีความต้องการผลิตภาพยนตร์จึงจำเป็นต้องนำเอาส่วนผสมที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างการตลาดของภาพยนตร์นั้นๆหรือเรียกอีกอย่างว่าการ “ปั้นหน้าหนัง” ไว้เป็นกลยุทธ์เพื่อสร้าง “จุดขาย” ให้แก่ภาพยนตร์ที่ตนผลิต ซึ่งอาจสร้างขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มโดยอาศัยการสื่อสารการตลาดเพื่อให้ “หน้าหนัง” เป็น  “หนังฟอร์มใหญ่” อันเป็นการก่อกระแสกระตุ้นความอยากชมให้กับคนดู

 

ปัจจัยพื้นฐานในการผลิตภาพยนตร์ยุคดิจิทัล

          ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หรือแหล่งเงินทุน การผลิตภาพยนตร์แต่ละเรื่องต้องมี ”เงินทุน” อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการผลิต ซึ่งเงินทุนดังกล่าวขึ้นกับอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารของบริษัทภาพยนตร์ที่จะกำหนดให้ผู้อำนวยการสร้างไปเป็นผู้ควบคุมการผลิตหรือการสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆด้วย การควบคุม”เงินทุน”   ที่ใช้ในการผลิตภาพยนตร์ เพราะในการบริหารงานถือว่าการควบคุมทางการเงินจัดเป็นการควบคุมอย่างสมบูรณ์ (absolutely control) กล่าวคือ เส้นทางการเงินในการควบคุมการใช้จ่ายมีผลต่อการตัดสินใจในการบ่งชี้             ทิศทางการผลิตภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ทั้งในการคัดเลือกเรื่อง การคัดเลือกผู้กำกับภาพยนตร์ การคัดเลือกผู้เขียนบทภาพยนตร์ การคัดเลือกดารานักแสดง การประสานงานการสร้างภาพยนตร์ การตรวจสอบงาน  การสร้างภาพยนตร์ การเผยแพร่และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์จัดเป็นผู้ที่มีอำนาจที่มีผลต่อ “ฟอร์มของหนัง” เพราะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่ตนรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะการควบคุมเงินทุนที่เกี่ยวพันโดยตรงต่อการผลิตภาพยนตร์ และความน่าเชื่อถือของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ดังเช่น ถ้าผู้ชมรับทราบว่าใครเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีผลงานโดดเด่นก็เกิดรับรู้ว่า “ฟอร์มของหนัง” เรื่องนั้นจะเป็นฟอร์มใหญ่หรือไม่ การ “ปั้นหน้าหนัง” จึงนิยมนำเอาชื่อเสียงของผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไปใช้ในการสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างกระแสความต้องการชมภาพยนตร์ดังกล่าว

          ดาราหรือผู้แสดงนำ จัดเป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิตที่มีความสำคัญต่อ “ฟอร์มของหนัง” เช่นกัน โดยเฉพาะผู้แสดงนำที่เป็น “ดารา”  มีพื้นฐานที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมอยู่แล้ว ดังนั้นหากได้ดาราที่เป็นที่ชื่นชอบของคนดู มาแสดงภาพยนตร์ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จหรือทำให้ผู้ชมหันมาสนใจภาพยนตร์ในเรื่องนั้นๆมากกว่านักแสดงที่ไม่มีคนรู้จัก โดยเฉพาะ ดาราที่มี “แฟนคลับ” จำนวนมาก ก็จะยิ่งดึงดูดให้ผู้ชมเข้ามาชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว  อันเป็นการช่วยประกันความเสี่ยงที่จะไม่มีผู้เข้าชมภาพยนตร์ ขณะเดียวกันการคัดเลือกนักแสดงประกอบที่เล่นประกอบในภาพยนตร์ก็มีความสำคัญเช่นกัน จึงต้องพิจารณาจากผู้ที่มีชื่อเสียงและแสดงบทบาทได้เหมาะสมให้เข้าร่วมแสดง เพื่อช่วยดึงดูดผู้ชมด้วย การ“ปั้นหน้าหนัง” ให้เป็น “หนังฟอร์มยักษ์” ด้วยการหยิบยกเอาชื่อเสียงของดาราและผู้แสดงมาเป็น “จุดขาย” โดยการสร้างกระแสให้เป็นข้อมูลข่าวสารในด้านการสื่อสารการตลาดอย่างแยบยลและต่อเนื่องจึงนิยมทำกันอย่างแพร่หลาย

          ดาราและผู้แสดงนำในภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์เลือกที่จะนำมาใช้ และเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์เลือกนำมาใช้เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้ชมภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น โดยจัดให้นักแสดงและ   ผู้กำกับเดินสายมาร่วมชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ด้วย แตกต่างจากเมื่อก่อนที่นักแสดงและผู้กำกับจะมาร่วมชมภาพยนตร์แค่เฉพาะวันแถลงข่าวเท่านั้น ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของค่าย GDH “ภาพยนตร์เรื่องพรจากฟ้า”ที่เหล่านักแสดงและผู้กำกับรวมตัวกันเพื่อมาชมภาพยนตร์ในโรงเดียวกันกับผู้ชมทั่วไป มีการแสดงความใกล้ชิดด้วยการถ่ายรูปร่วมกันทั้งโรงภาพยนตร์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมภาพยนตร์ออกมาชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์อีกทางหนึ่งด้วย

ภาพที่ 1 เว็บไซต์ : อินสตราแกรม GDH

ที่มา : instagram.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:

          https://www.instagram.com/p/BN1IVa4jSMC/?taken-by=gdh559

          บทภาพยนตร์ เนื้อหาของภาพยนตร์ส่วนใหญ่นั้น มักจะนำมาจากบทประพันธ์นวนิยายของนักเขียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งเขียนขึ้นสำหรับผู้อ่านงานวรรณกรรม โดยเฉพาะเรื่องที่ได้รับความนิยมและชื่นชอบจากมหาชน ก็จะได้รับการหยิบยกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เสมอ เช่น เรื่องทวิภพ คู่กรรมและแม่นากพระโขนง เป็นต้น โดยจะมีการโหมโฆษณาให้กลายมาเป็นหนังฟอร์มยักษ์ เพื่อเร้าความสนใจให้ชวนแก่การติดตามหรือยั่วยุให้เกิดความรู้สึกอยากดู ทั้งนี้เพราะเรื่องราวอันเป็นเนื้อหาที่มีผู้อ่านจำนวนมาก ย่อมจะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายนี้ให้เข้าดูภาพยนตร์         เมื่อผนวกกับความโด่งดังของนวนิยายเรื่องนั้นๆก็ย่อมมีส่วนกระตุ้นให้คนดูเกิดความอยากเข้าชมเพื่อลิ้มอรรถรสดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น สำหรับภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นบทภาพยนตร์โดยตรงก็จะมีการสื่อสารการตลาดอย่างต่อเนื่องในการ “ปั้นหน้าหนัง”

          แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานของผู้เขียนบทภาพยนตร์ในยุคการสื่อสารศตวรรษที่ 21 ก็ต้องอาศัยการ   พลิกแพลง มองมุมใหม่ เสริมความคิดสร้างสรรค์และสามารถขายวัฒนธรรมให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น ด้วยการคัดเลือกนักแสดงที่เป็นลูกครึ่งอย่างภาพยนตร์เรื่องพี่มาก….พระโขนง ที่รื้อสร้างวิธีการดำเนินเรื่องของวรรณกรรมเรื่อง      แม่นากพระโขนงแบบเดิมซึ่งสร้างความแปลกใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำสถิติภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยทำรายได้กว่า 1,000 ล้านบาททั่วประเทศ ถึงแม้วรรณกรรมเรื่อง     นางนากจะถูกทำมาตีความใหม่หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับชื่อดังอย่างนนทรี นิมิตบุตร ที่สร้างเรื่อง    นางนากหรือพิมพกา โตวิระ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่า“พี่มาก พระโขนง”

ภาพที่ 2 : เว็บไซต์ : GDH

ที่มา : gdh.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก : http://gth.co.th/films-and-series/-pee-mak/

          ผู้กำกับภาพยนตร์ ผลงานของภาพยนตร์แต่ละเรื่องย่อมมีความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของผู้กำกับภาพยนตร์ปรากฏเป็น “สไตล์” ให้รับรู้ ทั้งนี้เพราะผู้กำกับภาพยนตร์ คือ ผู้ที่รังสรรค์โดยการตกแต่งและสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆให้มีชีวิต เพื่อบอกเล่าหรือถ่ายทอดเรื่องราวและอรรถรสให้แก่ผู้ชมได้เสพ ซึ่งความสามารถในการกำกับเพื่อชุบภาพยนตร์ให้มีชีวิตชีวาของแต่ละผู้กำกับภาพยนตร์ย่อมมีลักษณะโดดเด่นเป็นการเฉพาะของตน เพื่อให้การผลิตหรือการสร้างภาพยนตร์ของตนนั้นสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย จนปรากฏเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ชมได้รับรู้สาระและความเพลิดเพลิน เมื่อภาพยนตร์แต่ละเรื่องเปรียบเสมือนชิ้นงานที่เป็นตัวแทนความคิดของผู้กำกับภาพยนตร์แต่ละคน และเมื่อผู้ชมเกาะติดภาพยนตร์อยู่เป็นประจำก็จะเกิดการยึดติดกับผลงานการกำกับของผู้กำกับภาพยนตร์ จนกลายเป็นรูปแบบของการกำกับภาพยนตร์ของผู้กำกับคนดังกล่าว ฉะนั้นภาพยนตร์ก็ต้องอาศัยชื่อเสียงของผู้กำกับด้วยเช่นกัน โดยนำมาใช้ในการ “ปั้นหน้าหนัง”และ กำหนด “ฟอร์มของหนัง” ด้วยเช่นกัน

          โรงภาพยนตร์ ในปัจจุบันโดยเฉพาะจังหวัดหรือพื้นที่ธุรกิจเชิงพาณิชยกรรมหนาแน่นจะพบว่า              โรงภาพยนตร์มักตั้งอยู่ในแหล่งหรือสถานที่ที่สะดวกต่อการเข้าชม เช่น ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆหรือบริเวณจุดรวมของชุมชน ซึ่งโรงภาพยนตร์เหล่านี้ล้วนมีสายสัมพันธ์ในลักษณะความเป็นเครือข่ายและมีการวางโปรแกรมการฉายไว้แล้ว ฉะนั้นจึงถือว่าโรงภาพยนตร์จัดได้ว่าเป็นองค์ประกอบประการหนึ่งของการ “ปั้นหน้าหนัง” ที่เกี่ยวข้องกับ “ฟอร์มของหนัง” กล่าวคือ ภาพยนตร์ที่ผลิตหรือสร้างเสร็จแล้วไม่สามารถบรรจุโปรแกรมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์   ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่อำนวยความสะดวกในการเข้าชมได้ง่ายและอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมย่อมส่งผลกระทบรุนแรง     ต่อรายได้ในการจัดฉายภาพยนตร์ เมื่อเช่นนั้นจะเห็นได้ว่า “หนังฟอร์มใหญ่” มักจะได้รับเลือกให้บรรจุเข้าฉาย      ในโปรแกรมของโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ซึ่งมีแฟนภาพยนตร์สามารถเข้าดูได้จำนวนมากและกระจายไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง ทั้งในกาลเทศะที่นำออกฉายได้อย่างเหมาะสม

          การโฆษณาภาพยนตร์  มีคำกล่าวไว้ว่า “การโฆษณาของภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีผลต่อการคงอยู่หรือ      ล่มสลายของธุรกิจภาพยนตร์แต่ละบริษัทผู้สร้างนั้นๆโดยมีความสำคัญเท่าๆกับเนื้อหาและคุณภาพของภาพยนตร์เลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากงบประมาณที่สร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งๆอาจต้องหมดไปกับงบประมาณค่าโฆษณาเกือบครึ่งหนึ่งหรืออาจมากกว่างบประมาณในการสร้างเสียด้วยซ้ำไป” ซึ่งการโฆษณาภาพยนตร์นอกจากจะต้องดำเนินการตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มเมื่อมีการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์แล้ว ยังต้องโหมหนักทำการโฆษณาผ่านสื่อ และกิจกรรมโฆษณาอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ช่วงตัดสินใจเริ่มคิดสร้างภาพยนตร์ไล่เรียงไปถึงก่อนเข้าโรงภาพยนตร์     ด้วยความแยบยลแบบหลากหลายวิธีและต่อเนื่อง โดยสามารถทำได้โดยตรง เช่น เผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณา             การเดินสายไปสัมภาษณ์ตามสื่อหรือรายการต่างๆทางวิทยุหรือโทรทัศน์ ตลอดจนจัดทำของที่ระลึกหรือของชำร่วย เป็นต้น

          การประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์  การออกข่าวอย่างต่อเนื่องในเชิงสร้างสรรค์เพื่อรายงานความก้าวหน้าอย่างมีประเด็นและสาระ ย่อมส่งผลต่อความเตรียมพร้อมของผู้ชม อันเป็นการสร้างกระแสได้เป็นอย่างดี โดยการประชาสัมพันธ์ เป็นเหมือน “ทัพหน้า”ของการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ผลิตหรือสร้างขึ้น ถือเป็นการ “ปั้นหน้าหนัง” ให้เป็นหนังฟอร์มใหญ่ได้เช่นกัน ดังเช่นภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท

ภาพที่ 3 เว็บไซต์ : pantip

ที่มา : pantip.com, เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:

http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2012/09/

          ที่มีการนำเสนอข่าวสารเป็นระยะๆเพื่อปลุกกระแสให้เกิดความต้องการในการดูภาพยนตร์ในแต่ละมุมมองที่ผ่านการนำเสนอในข่าว เช่น การบ่งบอกว่าเป็นการกำกับภาพยนตร์ที่มีหลายผู้กำกับ หรือบอกว่ามีการเตรียมอุปกรณ์เพื่อประกอบฉากอย่างพิถีพิถัน เป็นต้น

          จากปัจจัยพื้นฐานของการผลิตภาพยนตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า จัดเป็นแนวทางสำหรับการผลิตภาพยนตร์บันเทิง อาจต้องปรับเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการที่เปลี่ยนไปตามประเภทภาพยนตร์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ทดลองและภาพยนตร์โฆษณา ฯลฯ อาจจะไม่สามารถนำปัจจัยพื้นฐานแบบดังกล่าวมาใช้ได้ทั้งหมด ต้องมีการปรับเปลี่ยนและพลิกแพลงเพื่อให้เข้ากับบริบทการทำงานต่อไป

          นอกจากการศึกษาปัจจัยพื้นฐานในการผลิตภาพยนตร์แล้ว การวิเคราะห์ผู้ชมภาพยนตร์ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นประสบผลสำเร็จเพราะจะทำให้เรามีแนวทางในการผลิตให้เหมาะสมกับผู้รับสาร โดยมีแนวทางในการวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ

  • การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาของผู้ชม เป็นการวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมายของตนว่าต้องการให้เขามีความต้องการรับรู้อะไร มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยมและรสนิยมอย่างไร อาทิ ผู้ชมประเภทที่ชอบ        ชมภาพยนตร์ที่สนุกสนาน ก็มักจะเลือกชมภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิง สนุกสนาน คลายเครียด เป็นต้น
  • การวิเคราะห์ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ชม เป็นการพิจารณาถึงสภาพที่เป็นอยู่ของผู้ชม อาทิ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพศ อายุ ระดับการศึกษา ศาสนา และภูมิลำเนา เป็นต้น ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่แตกต่างกัน ความต้องการในการเลือกชมภาพยนตร์ย่อมแตกต่างกันไปด้วย อาทิ ภาพยนตร์ที่ผูกพันกับเรื่องราวในอดีตกลุ่มผู้ชมมักเป็นผู้สูงอายุ หรือภาพยนตร์ที่สนุกสนาน ครื้นแครง เรื่องความรัก อกหัก มักมีกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่น กลุ่มนิสิตนักศึกษา หรือนักเรียน เป็นต้น

          การคัดเลือกทีมงานในการผลิตภาพยนตร์การคัดเลือกทีมงานในการผลิตภาพยนตร์นั้น มีความจำเป็น   อย่างมากเพราะจะเป็นการกำหนดทิศทางในการทำงาน มองเห็นทิศทางและช่วยในการวางแผนให้เป็นไปตามเป้าหมายของผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำงาน 4 ส่วนด้วยกัน คือ       การคัดเลือกเรื่อง การคัดเลือกผู้กำกับ การคัดเลือกผู้เขียนบท และการคัดเลือกนักแสดง

                   การคัดเลือกเรื่อง การคัดเลือกเรื่องที่จะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นหัวใจสำคัญอย่างมาก ผู้ผลิตจะต้องมีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน และมองเห็นถึงกลไกการตลาด มองเห็นความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ชมภาพยนตร์

                   การคัดเลือกผู้กำกับภาพยนตร์  ผู้กำกับมีส่วนสำคัญในการสร้างสุนทรียภาพและความงดงามของภาพยนตร์ ภายใต้เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ ดังนั้นผู้กำกับภาพยนตร์จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนภาพยนตร์หนึ่งเรื่องให้สมบูรณ์ตรงตามความต้องการของผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ ที่สำคัญจะต้องเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีด้วย

                   การคัดเลือกบทภาพยนตร์ หลังจากคัดเลือกเรื่องและผู้กำกับที่เห็นว่าเหมาะสมแล้วขั้นตอนต่อไป คือ การคัดเลือกผู้เขียนบทภาพยนตร์โดยผูกเนื้อหาที่มีอยู่นั้นออกเป็นบทภาพยนตร์ที่เหมาะสมต่อการถ่ายทอดสาระผ่านสื่อภาพยนตร์ได้อย่างน่าสนใจชวนแก่การติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์    ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้เขียนบทภาพยนตร์จะต้องพิจารณาตรวจสอบ แก้ไข พิจารณาบทจนเป็นที่พอใจ จึงนำไปสู่การถ่ายทำ การแยกบทภาพยนตร์และตารางถ่ายทำภาพยนตร์ โดยดูว่ามีความเป็นไปได้และมีความสมเหตุสมผลเพียงใด

                   การคัดเลือกนักแสดง นักแสดงจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จ ทั้งด้านการแสดงและธุรกิจภาพยนตร์ โดยที่นักแสดงนั้นจะต้องมีบทบาทเหมาะสมกับเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยที่การคัดเลือกนักแสดงนั้นต้องได้ผลลัพธ์ทั้งแง่ของการตลาดและการแสดงบทบาทที่เหมาะสม

          ดังนั้นในการคัดเลือกทีมงานการผลิตภาพยนตร์นั้นจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นได้รับความนิยมจากผู้ชม หรือรายได้ดีหรือไม่นั้นขั้นตอนนี้จึงมีความสำคัญ เช่น  5 อันดับหนังไทยที่ทำเงินน้อยที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องมีรายได้หลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น

          ข้อมูลจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ภาพยนตร์เรื่อง “หมวยจิ้นดิ้นก้องโลก” เพิ่งทำลายสถิติใหม่ของภาพยนตร์ที่ทำเงินต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพพยนตร์ไทยในรอบหลายสิบปี เข้าฉายวันที่ 30 มกราคม 2557 เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ เรื่องราวของมิตรภาพของวัยรุ่นสุดฮา ที่ต้องปฏิบัติภารกิจกอบกู้ร้านขายของชำของตระกูล ในวันที่มินิมาร์ทครองเมือง เรื่องนี้ทำรายได้แค่ 29,000 บาทเท่านั้น คิดเป็นจำนวนผู้เข้าชม 200 คน

ภาพที่ 4 เว็บไซต์ : pantip

ที่มา : pantip.com, เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:

          http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2012/09/

          อันดับ 2 เรื่อง “หล่อลากไส้” หนังแนวแฟนตาซีกึ่งแอนิเมชั่น ตัดสลับเหตุการณ์ที่เป็นคนแสดงกับเหตุการณ์ในการ์ตูน เป็นการต่อสู้ระหว่างเสือสมิงกับมนุษย์หมาป่า นำแสดงโดยดาราหน้าใหม่ เรื่องนี้ทำรายได้ 5 หมื่นบาท เข้าฉายวันที่ 25 เมษายน 2556

          อันดับ 3 หนังทำรายได้ต่ำสุด คือเรื่อง “เด็กสาว”   เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของมิตรภาพอันงดงามของ 5 เด็กสาวในช่วงมัธยมปลาย รับบทนำโดยนักแสดงหน้าใหม่ เรื่องนี้เข้าฉาย 8 พฤศจิกายน 2555 ทำเงินไป 56,000 บาท

          อันดับ 4 “เก๋าเกรียน” หนังผีตลกขบวนการปราบผี นำแสดงโดยบอย เอเอฟ3 ที่ไม่มีอะไรโดดเด่น แม้จะได้ดาวตลกอย่างค่อม ชวนชื่น, โย่ง เชิญยิ้มมาช่วย แต่ก็ไม่ช่วยดันรายได้ เรื่องนี้เข้าฉาย 29 กันยายน 2555 ทำเงินเพียง 57,000 บาท

          อันดับ 5 คือเรื่อง “สมาน-ฉัน”  ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ ชูโรงโดยนางเอกสาว จิ๊บ ปกฉัตร เป็นเรื่องราวของความรักหนุ่มสาว หลังเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553  หวังว่าจะสร้างความปรองดองในชาติ     เข้าฉาย 3 กันยายน 2553 ทุนสร้างถึง 50 ล้านบาท ทำรายได้ไปเพียง 60,000 บาท เท่านั้น

          ปัจจัยที่ส่งผลให้ภาพยนตร์เหล่านี้ทำรายได้ต่ำ เกิดมาจากหลายองค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของการผลิตภาพยนตร์  ดารานำแสดงที่ไม่ดึงดูดผู้ชม  การออกแบบโปสเตอร์ของภาพยนตร์ คลิปตัวอย่างภาพยนตร์ที่ปล่อยออกมาเพื่อโปรโมทภาพยนตร์ที่ยังไม่มีความน่าสนใจ ตลอดจนการเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง เมื่อคนดูน้อย ทางโรงภาพยนตร์จึงตัดจำนวนรอบฉายลง และเมื่อไม่มีคนดู ในที่สุดภาพยนตร์ก็ต้องถูกถอดออกจากโปรแกรม ทั้งที่ฉายได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น

          ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการผลิตภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นจะต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างละเอียด โดยเฉพาะการคัดเลือกทีมงานในการผลิตภาพยนตร์ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลิตภาพยนตร์ให้ออกมาอย่างมีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหลัก อาทิ ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ช่างกล้อง ผู้แสดง ผู้ตัดต่อ ผู้บันทึกเสียง ไล่เรียงไปถึงทีมงานในแต่ละฝ่ายล้วนมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการผลิตภาพยนตร์ด้วยกันทั้งสิ้น

 

การสื่อสารตลาดภาพยนตร์ไทยในยุคดิจิทัล(Marketing Communication Thai Film in Digital Age)

          การสื่อสารการตลาด (Marketing Communication) เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่สามารถบอกถึงความสำเร็จของภาพยนตร์ได้ การที่ผู้ชมจะทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับภาพยนตร์ได้นั้น เจ้าของภาพยนตร์ไทยจำเป็นต้องทำการสื่อสารกับผู้ชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในรูปแบบใดก็ตาม การสื่อสารที่ประสิทธิภาพนั้นไม่เพียงแต่จะใช้วิธีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นการใช้เครื่องมือการสื่อสารที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา  การประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย  การใช้พนักงานขาย การตลาดทางตรง เป็นต้น มาผสมผสานกันเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (Integrated  Marketing Communication: IMC)จึงเป็นแนวคิดการตลาดที่ถูกนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน

          การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (IMC)เป็นแนวคิดการตลาดสมัยใหม่ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางจิตใจกับผู้ชมภาพยนตร์ ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยตรง แต่เป็นลักษณะของการติดต่อสื่อสารที่ดีเพื่อให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับจากผู้ชม การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานมีการใช้สื่อมวลชน อาทิ การติดป้ายโฆษณาตามโรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารต่างเกี่ยวกับภาพยนตร์กับผู้ชมว่ามีภาพยนตร์เรื่องใดเข้าฉายบ้าง การลงโฆษณาตามสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเครือข่ายของสังคมออนไลน์ที่สามารถแชร์ไปยังผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับการบอกต่อกันแบบปากต่อปากในอดีต หรือแม้แต่การสร้างกลยุทธ์โดยการขาย เช่น เสื้อยืด กระเป๋า แก้วน้ำ พวงกุญแจ ที่มีการพิมพ์ลายจากภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เป็นต้น

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการสื่อสารแบบผสมผสานกันแบบครบวงจรจะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารแบบละเอียด ทำให้ผู้ชมรู้จักภาพยนตร์เรื่องนั้นมากขึ้น เกิดความสนใจที่อยากจะชมภาพยนตร์และท้ายที่สุดนำไปสู่พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

การบริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ (Administration  Advertising and Promotion Films)

          ก่อนที่ภาพยนตร์จะถูกนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์นั้น จะต้องมีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆเพื่อให้กลุ่มผู้ชมเป้าหมายทราบว่าจะมีภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์ใด และเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะเลือกชมภาพยนตร์เรื่องใดดี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่จะต้องพยายามหาจุดขาย (Selling Point) ที่เป็นจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนั้น เพื่อเป็นจุดที่จะทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เกิดความสนใจและเกิดความต้องการที่อยากชมภาพยนตร์ โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉายและวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย

          ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่จะนำออกฉายนั้น จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถนำมาเป็นจุดขาย (Selling Point) ของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆได้ คือ

          ดารานำแสดง ภาพยนตร์บางเรื่องจะเน้นดาราที่มีชื่อเสียงเป็นจุดขาย บทบาทการแสดงของดารา ข่าวความเคลื่อนไหวของดารานำแสดง

          แนวของภาพยนตร์ แนวของภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมีด้วยกันหลายแนว ดังนั้น จะต้องพยายามจับแนวภาพยนตร์เรื่องนั้นๆให้ออกว่าเป็นภาพยนตร์แนวใด

          ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ อาจเกิดจากการลงทุนสร้างสูง หรือเทคนิคการถ่ายทำขั้นสูง เป็นฉากที่มีความยิ่งใหญ่อลังการ เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมและทำรายได้สูงจากทั่วโลก เป็นภาพยนตร์ที่รับรางวัลเกียรติยศจากสถาบันภาพยนตร์ อาทิ ภาพยนตร์ไทยเรื่องสุริโยไท และภาพยนตร์ไทยเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีฉากที่แสดงถึงแสนยานุภาพของกองทัพที่ยิ่งใหญ่ เป็นต้น

          ผู้กำกับภาพยนตร์มีชื่อเสียงฝีมือดี ไม่ว่าจะกำกับภาพยนตร์เรื่องใดมักจะได้รับความเชื่อถือว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นๆย่อมมีคุณภาพ บทประพันธ์ของภาพยนตร์ อาจพิจารณาถึงจุดเด่นของบทประพันธ์ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในแง่มุมต่างๆ อาทิ เป็นบทประพันธ์ของใคร ผู้ประพันธ์มีชื่อเสียงในระดับใด ระดับความนิยมของประชาชนต่อบทประพันธ์เป็นอย่างไร แนวคิดของบทประพันธ์มีจุดเด่นอะไรที่แตกต่างไปจากบทประพันธ์ของภาพยนตร์ที่เข้าฉายพร้อมๆกัน ฯลฯ

          ผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์มักจะได้รับความเชื่อถือจากผู้ชมอย่างมากเช่นกัน

          ผู้ชมภาพยนตร์ เมื่อผู้สร้างภาพยนตร์ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ต่อมาผู้ชมภาพยนตร์ก็เกิดความศรัทธาและความเชื่อมั่นในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆว่าต้องมีคุณภาพ

          นอกจากผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องหา จะต้องหาจุดขาย (Selling Point) ของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆได้แล้ว ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยสร้างการจดจำในภาพยนตร์เรื่องนั้น คือ “การตั้งชื่อภาพยนตร์”

          การตั้งชื่อภาพยนตร์

          ชื่อ ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นจะมีความสำคัญ คือ ช่วยทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจและสามารถระบุเรื่องของภาพยนตร์ที่ต้องการดูได้ การตั้งชื่อมีผลต่อรายได้ของภาพยนตร์ ลักษณะการตั้งชื่อของภาพยนตร์ไทย โดยทั่วไปหากภาพยนตร์ไทยสร้างเรื่องมาจากบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียง ก็มักจะใช้ชื่อบทประพันธ์นั้นๆเป็นชื่อภาพยนตร์ แต่บางครั้งชื่อบทประพันธ์บางเรื่องอาจจะต้องมีการดัดแปลงเสียใหม่ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น ส่วนภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นมาจากบทที่เขียนขึ้นใหม่โดยมิได้นำจาก  บทประพันธ์ จะมีการตั้งชื่อภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ ให้มีความน่าสนใจและแสดงถึงแนวคิดของภาพยนตร์และความคิดรวบยอดของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

 

การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทย (Integrated Marketing Communication)

          การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย(Target)  ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่จะมีกลุ่มผู้ชมเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรองที่แตกต่างกัน

         การกำหนดวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ในการสื่อสาร  (Communication  Objective  and  Strategies)  ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่    ไม่มีการกำหนด วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ ในการสื่อสารที่เป็นแบบแผนมากนัก โดยมาก    กลยุทธ์ที่ใช้ในการสื่อสาร คือ การโปรโมทหรือแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้ผู้ชมรับทราบ ผ่านตัวอย่างภาพยนตร์หรือเทรลเลอร์ โปสเตอร์ ไปตามสื่อๆต่างๆทั้งสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้ชมรับทราบ รับรู้และเกิดการตัดสินใจในการรับชมภาพยนตร์

          การกำหนดวัตถุประสงค์ทางการตลาด (Marketing Objective)  ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่มักจะเน้นวัตถุประสงค์เรื่องรายได้หรือยอดขายภาพยนตร์ ซึ่งแต่ละบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยจะมีการกำหนดเกณฑ์ตัวเลขรายได้ที่เป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน

          การกำหนดสัดส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารการตลาด  (Marketing  Communication)  บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะใช้การโฆษณาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารการตลาดไปยังกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์มากที่สุด โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ภาพยนตร์ตัวอย่างใน       โรงภาพยนตร์ก็สามารถทำให้ผู้รับสารอยากชมภาพยนตร์เรื่องนั้น ดังนั้น เครื่องมือทางโฆษณาสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน

          กำหนดวิธีการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค (Marketing Communication Tactics) นอกจากการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆทั้งสื่อมวลชนและออนไลน์แล้ว การส่งเสริมการขายมีการให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ตลอดจนกระแสการแชร์ (Share)เป็นกลยุทธ์แบบวิธีการบอกแบบปากต่อปากแต่ได้ผลรวดเร็วและมีการแชร์ไปได้อย่างกว้างขวาง การที่จะสามารถสื่อสารการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายนั้น นักการตลาดจะต้องศึกษาถึงวิถีชีวิต (Life Style)ตลอดจนพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้ชมกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด เนื่องจากจะมีผลต่อการกำหนดวิธีการสื่อสารและพิจารณาจากการเลือกใช้สื่อของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่านักการตลาดส่วนใหญ่หันมาใช้เครื่องมือทางสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะมีการลงทุนต่ำแต่ได้ผลเยอะ

          ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามรักหมอ” ของผู้กำกับ “เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ที่เป็นกระแสก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้าโรง จากการที่มีการออกแบบฟ้อนต์ให้เลียนแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ จนเกิดกระแสเต็มฟีด ติดอันดับแฮชแท็ค#ในทวิตเตอร์ด้วย แม้แต่คนดังๆก็ยังร่วมเล่นกิจกรรมนี่ด้วย

ภาพที่ 5 เว็บไซต์ : facebookfreelancethemovie

ที่มา : facebook.com/Freelancethemovie/   27 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:

          https://www.facebook.com/Freelancethemovie/

          โดยกิจกรรมนี้จัดทำขึ้นโดย The Book (ซึ่งทำงานเป็นฟรีแลนซ์) เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพราะมีความประทับใจในภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์ฯ มีเจตนาเพียงให้ทุกคนสามารถสร้างป้ายล้อเลียนภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงซึ่งมิได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์หรือสร้างความเสื่อมเสียใดๆ ทั้งสิ้น  โดยที่เจ้าของผลงานครั้งนี้ได้ชี้แจงเจตนารมณ์เอาไว้ผ่านเว็บไซต์ของเขา

ภาพที่ 5 เว็บไซต์ : freelance.splendith

ที่มา : freelance.splendith.com/, เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2559, เข้าถึงได้จาก

        http://freelance.splendith.com/

          ด้วยรูปแบบที่เป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้สื่อในสังคมออนไลน์อยากร่วมสนุก และบวกกับโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่ใช้โปรโมทมีเอกลักษณ์ในการออกแบบ จึงทำให้นักสร้างแอพพลิเคชั่นสามารถต่อยอดพัฒนาความคิด หยิบเอาไป     สร้างเว็บ ผลิตป้ายสร้างจุดยืนให้แต่ละคนได้เข้าไปกรอกถ้อยคำได้ตามรูปแบบของตนเอง จนเกิดเป็นกระแส “คิดสนุก-แชร์สนั่น” ไปทั่วโลกออนไลน์ภายในเวลาไม่กี่วัน เลยส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับกระแสการต้อนรับที่ดีตั้งแต่ภาพยนตร์ยังไม่เริ่มฉาย

          จะเห็นได้ว่าปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างทำงานได้เป็นอย่างดีและเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ จนเกิดการชื่นชอบ นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลภาพยนตร์กับเพื่อนหรือกลุ่มคนในสังคมเดียวกัน จากนั้นจะมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคกับบริษัทและสุดท้ายคือการที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผูกพันกับองค์กรหรือผลิตภัณฑ์มากที่สุด เช่น การใช้รูปแบบการส่งเสริมการขายต่างๆของบริษัทเพื่อทำให้ผู้บริโภคอยากร่วมกิจกรรม โดยระยะเวลาในการสร้างกลยุทธ์ดังกล่าวคือ ช่วงสัปดาห์แรกที่ภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพื่อสร้างการรับรู้    ให้คนรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้ กระตุ้นและตอกย้ำให้ผู้บริโภคที่ยังไม่รับชมไปชมภาพยนตร์ และพอถึงช่วงเวลาที่ภาพยนตร์จะออกจากโรงภาพยนตร์ บริษัทก็จะมีการพูดคุยกับผู้บริโภคที่ได้รับชมไปแล้ว ให้เกิดความรู้สึกผูกพันซึ่งกันและกัน แล้วอยากดูภาพยนตร์เรื่องต่อไปของบริษัท

          ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง“ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามรักหมอ” ออกจากโรงภาพยนตร์ก่อนที่จะวางจำหน่ายแผ่นดีวีดีและวีซีดี ผู้ผลิตก็จะเพิ่มการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์อีกรอบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการกระตุ้นการตลาดให้กับผู้ชมได้รับชมภาพยนตร์นั้นต้องมีการสื่อสารตลอดเวลาผ่านช่องทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ นอกจากนั้นยังขยายขอบเขตไปยังการซื้อขายลิขสิทธิ์ให้กับช่องโทรทัศน์ดิจิทัลบางช่อง หรือกล่อง TV ของค่ายต่างๆเช่น AIS หรือ TOT  เป็นต้น

 

ภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Thai Film Trans media: Story telling)

          ภาพยนตร์บางเรื่องหลังจากที่ออกจากโรงภาพยนตร์ การจัดจำหน่ายเป็นแผ่นวีซีดีและดีวีดี การขาย      ลิขสิทธ์ในการออกอากาศแล้วยังมีการต่อยอดพัฒนาจากบทภาพยนตร์ มีการพัฒนาเรื่องราวกลายมาเป็นละครซีรี่ส์เพื่อออกอากาศและขายลิขสิทธิ์ต่ออีกรอบ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ATM เออรัก…เออเร่อ เป็นภาพยนตร์ไทยแนว      โรแมนติก – คอมเมดี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555 กำกับโดย เมษ ธราธร ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้รวม 152.5 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ตลอดกาล        จากเวลาเข้าฉาย 4 วันและยังเคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดของจีทีเอชมาประมาณ 1 ปี โดยมีนักแสดง คือ เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร,แจ็ค แฟนฉัน,เผือก-พงศธร จงวิลาส และโจ๊ก โซคูล จนกระทั่งปี  (2556) ภาพยนตร์พี่มาก พระโขนงทำรายได้แซงเป็นอันดับหนึ่งทะลุ 1,000 ล้านบาททั่วประเทศ

 ภาพที่ 6 เว็บไซต์ : GDH

ที่มา : gdh.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:

         http://gth.co.th/films-and-series/atm

          ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 มีละครซีรีส์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องต่อจากภาพยนตร์เรื่องนี้ในชื่อเรื่องATM 2  “คู่เวอร์ เออเร่อ เออรัก” ออกอากาศทางช่อง  GTH ON AIR ในระบบ HD ผ่านกล่อง GMM Z โดยมีนักแสดง      ชุดเดิมและตัวละครใหม่ๆมาร่วมแสดง

ภาพที่ 7 เว็บไซต์ : GDH

ที่มา : gdh.com, เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2559, เข้าถึงได้จาก:

        http://gth.co.th/films-and-series/atm

          ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นตัวอย่างของการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Transmedia: Story telling)ซึ่งในอดีต สื่อมวลชนเรียนวิชาเล่าเรื่องตามรูปแบบช่องทางสื่อ เช่น เล่าเรื่องผ่านหนังสือพิมพ์ ผ่านวิทยุ    ผ่านโทรทัศน์ ผ่านโฆษณา  ผ่านภาพยนตร์หรือ ผ่านนิตยสาร ภาพถ่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องผ่านสื่อเดียว

(one channel) หรือเล่าเรื่องผ่านรูปแบบเนื้อหาเดี่ยวๆ เช่น เล่าเรื่องข่าว ละคร เกมโชว์ เรียลลิตี้ ฯลฯ ซึ่งเน้นไปที่ “รูปแบบเดียว” (one genre/format)

          แต่ในวันนี้ การหลอมรวมสื่อ(Convergence)และการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ(Media Landscape) ทั้งหมด  การเล่าเรื่องจึงจำเป็นต้องเล่าแบบข้ามสื่อ (cross media platform) ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณในฐานะ    นักเล่าเรื่อง จำเป็นต้องเรียนรู้ “วิธีการขยายเรื่อง” ให้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้น (trans media) ทั้งใน      สื่อเก่าและสื่อใหม่

          เพราะในโลกสื่อสารปัจจุบัน มีความท้าทายสองอย่างที่ต้องคิดให้หนัก หนึ่ง คือ เรื่องเล่ามีมากขึ้น ผู้คนในโลกออนไลน์กำลังเล่าเรื่องตัวเองกันอย่างคึกคักสนุกสนาน และ สอง พวกเขาบางคนอาจเล่าเรื่องเก่งกว่า             นักสื่อสารมวลชนบางคน ดังนั้นในฐานะคนทำสื่อมืออาชีพ ที่ตอนนี้กำลังเจอความท้าทายจากผู้รับสารในโลกสื่อใหม่ที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อย่างท้าทาย ดังนั้นผู้ผลิตภาพยนตร์หรือนักสื่อสารมวลชนในสื่ออื่นๆต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์วิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจและดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น แน่ว่าหลักการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

          บทสรุป  กลยุทธ์กระบวนการผลิตภาพยนตร์ยุคดิจิทัล ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องเลือกแหล่งทุนที่มีความน่าเชื่อถือที่สามารถปั้นหน้าหนังและฟอร์มของหนังได้ และนิยมเอาชื่อผู้อำนวยการสร้างไปใช้ในการสื่อสารการตลาด ส่วนดาราหรือผู้แสดงนำนั้นมีการสร้างกลยุทธ์ด้วยการสร้างความใกล้ชิดให้กับผู้ชมภาพยนตร์มากขึ้น ด้วยการเดินสายไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เพื่อกระตุ้นการออกไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และต้องมีมุมมองใหม่ๆในการเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งในส่วนของผู้กำกับภาพยนตร์นั้นมีส่วนสำคัญในการปั้นหน้าหนังและฟอร์มของหนังและสร้างอัตลักษณ์ให้กับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ส่วนในโรงภาพยนตร์นั้นผู้ผลิตควรเลือกที่ตั้งให้อยู่ในทำเลที่อำนวยความสะดวกในการเข้าชมได้ง่ายและอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยส่งผลกระทบรุนแรงต่อรายได้ในการจัดฉายภาพยนตร์ การโฆษณาภาพยนตร์ มีความสำคัญเท่าๆกับเนื้อหาและคุณภาพของภาพยนตร์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มเมื่อมีการผลิตหรือสร้างภาพยนตร์แล้ว ยังต้องโหมหนักทำการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และสร้างกิจกรรมโฆษณาอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ช่วงตัดสินใจเริ่มคิดสร้างภาพยนตร์      ไล่เรียงไปถึงก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ ด้วยวิธีการแยบยลแบบหลากหลายวิธีและต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ การออกข่าวอย่างต่อเนื่องในเชิงสร้างสรรค์เพื่อรายงานความก้าวหน้าอย่างมีประเด็นและสาระย่อมส่งผลต่อความเตรียมพร้อมของผู้ชม และเป็นการสร้างกระแสได้เป็นอย่างดี การวิเคราะห์ผู้ชมภาพยนตร์ มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นประสบผลสำเร็จเพราะจะทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์มีแนวทางในการผลิตภาพยนตร์ให้เหมาะสมกับผู้รับสาร โดยมีแนวทางในการวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ  1.การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาของผู้ชม 2.การวิเคราะห์ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ชม นอกจากนั้นการคัดเลือกทีมงานการผลิตภาพยนตร์นั้นมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นได้รับความนิยมจากผู้ชม หรือรายได้ดี การคัดเลือกทีมในการผลิตภาพยนตร์เป็นกลยุทธ์สำคัญมากเพราะทีมงานในการผลิตภาพยนตร์นั้นเป็นฟันเฟือนสำคัญอย่างมากในการสร้างภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องให้ประสบผลสำเร็จ

          กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (IMC)เป็นแนวคิดการตลาดสมัยใหม่ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางจิตใจกับผู้ชมภาพยนตร์ ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยตรง แต่เป็นลักษณะของการติดต่อสื่อสารที่ดีเพื่อให้ผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับจากผู้ชม การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานมีการใช้สื่อมวลชน อาทิ การติดป้ายโฆษณาตามโรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับภาพยนตร์กับผู้ชมว่ามีภาพยนตร์เรื่องใดเข้าฉายบ้าง การลงโฆษณาตามสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเครือข่ายของสังคมออนไลน์ที่สามารถแชร์ไปยังผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับการบอกต่อกันแบบปากต่อปากในอดีต การสื่อสารแบบผสมผสานกันแบบครบวงจรจะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารแบบละเอียด ทำให้ผู้ชมรู้จักภาพยนตร์เรื่องนั้นมากขึ้น เกิดความสนใจที่อยากจะชมภาพยนตร์และท้ายที่สุดนำไปสู่พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

          กลยุทธ์การบริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ก่อนที่ภาพยนตร์จะถูกนำออกฉายตาม       โรงภาพยนตร์นั้น จะต้องมีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆเพื่อให้กลุ่มผู้ชมเป้าหมายทราบว่าจะมีภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์ใด และเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้ชมว่าจะเลือกชมภาพยนตร์เรื่องใดดี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่จะต้องพยายามหาจุดขาย (Selling Point) ที่เป็นจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนั้น เพื่อเป็นจุดที่จะทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เกิดความสนใจและเกิดความต้องการที่อยากชมภาพยนตร์ โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉายและวิเคราะห์กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย คือ ดารานำแสดง แนวของภาพยนตร์ ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงและ   ฝีมือดี ผู้สร้างภาพยนตร์ และผู้ชมภาพยนตร์

          กลยุทธ์การวางแผนการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานของภาพยนตร์ไทยโดยมีวิธีการ คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย(Target)  การกำหนดวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ในการสื่อสาร (Communication Objective and Strategies)  การกำหนดวัตถุประสงค์ทางการตลาด (Marketing Objective)  การกำหนดสัดส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารการตลาด (Marketing  Communication)  และกำหนดวิธีการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค (Marketing Communication Tactics)โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้เกิดการแชร์ส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวางและตรงกลุ่มเป็นหมายซึ่งเป็นการลงทุนต่ำแต่ได้ผลเยอะ

          กลยุทธ์ภาพยนตร์ไทยกับการเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Thai Film Transmedia: Story telling)มีการใช้กลยุทธ์ของการเล่าเรื่องข้ามสื่อหลังจากที่ภาพยนตร์ออกจากโรงภาพยนตร์ โดยมีการจัดจำหน่ายเป็นแผ่นวีซีดีและดีวีดี   การขายลิขสิทธ์ในการออกอากาศ นอกจากนั้นยังมีการต่อยอดพัฒนาจากบทภาพยนตร์ มีการพัฒนาเรื่องราวจากภาพยนตร์ให้กลายมาเป็นละครซีรี่ส์โทรทัศน์เพื่อออกอากาศและขายลิขสิทธิ์ต่ออีกรอบทางช่องทางอื่นๆ เช่น     ไลน์ทีวี, ทีวีดิจิทัล, TV BOX ฯลฯ สะท้อนให้เห็นการหลอมรวมสื่อ การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทั้งหมด การเล่าเรื่องจึงจำเป็นต้องเล่าแบบข้ามสื่อ (cross media platform) ดังนั้นนักเล่าเรื่อง จำเป็นต้องเรียนรู้ “วิธีการขยายเรื่อง” ให้มีการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น (trans media)

 

 

บรรณานุกรม

กาญจนา แก้วเทพ. (2554). สื่อสารมวลทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ:

หุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.

คณะผู้ผลิต. (2551). การผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ฐิติภา สัมพันธ์พร. (2556). กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ของบริษัท จีเอ็ม

เอ็ม ไท หับจำกัด (จีทีเอช) กรณีศึกษา ภาพยนตร์เรื่อง ATM เออรัก..เออเร่อ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

สมสุข หินวิมานและคณะ. (2558). ธุรกิจสื่อสารมวลชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อัญญลักษณ์ บัวศรี. (2549). กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาดของภาพยนตร์

แอนิเมชั่นไทย. นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไทยซีนีม่า. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก http://www.thaicinema.org/

พันทิป.  (2559).  สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก www.pantip.com

โพซิชั่นนิ่ง. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนธันวาคม 2559. จาก http://positioningmag.com/58244

เพชรมายา. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก http://petmaya.com

เฟซบุ๊กภาพยนตร์ฟรีแลนซ์. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559. จาก

              https://www.facebook.com/Freelancethemovie/

ผู้จัดการออนไลน์.(2559). สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 จาก

  http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000096110

อินสตราแกรม. (2559). สืบค้นเมื่อเดือนธันวาคม 2559. จาก

              https://www.instagram.com/gdh559/

Atkinson, D . (2010). Alternative Media and Politics of Resistance. New York:

              Peterlang  Atton. C. (2002). Alternative Media, London: Sage

Bailey, O. et al. (2008). Understanding Alternative Media, Berkshire: Open

              University Press.

การจัดการอุตสาหกรรมบริการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การจัดการอุตสาหกรรมบริการ 

ประเภทผลงานทางวิชาการ : ตำรา

ปีที่พิมพ์ : ฉบับปรับปรุง 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : _

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์  สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

    ตำรา เรื่อง “การจัดการอุตสาหกรรม” เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์ อาจารย์สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นตำราที่มีลักษณะข้อมูลประกอบเชิงทฤษฎี และการปฏิบัติการบริหารอุตสาหกรรมบริการ เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมบริการ โดยแบ่งเนื้อหาการเรียนการสอนเป็น 11 หัวข้อเรื่อง(บท) เนื้อหาเริ่มจากเรื่องของการจัดการ ความสำคัญของอุตสาหกรรมบริการที่มีต่อประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนา ลักษณะของการบริการ การกำหนดแนวคิด ยุทธศาสตร์การบริการ การบริหารการตลาด การไหลของกิจกรรมบริการ โมเดลและช่องว่างการบริการ วิธีแก้ไขฟื้นฟูให้ลูกค้ากลับมาพึงพอใจ การใช้เทคโนโลยีในการบริการ และการส่งออกบริการไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนั้นท้ายบทยังประกอบด้วย บทสรุป คำอภิธานศัพท์ และคำถามทบทวน นับได้ว่าเป็นตำราที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ในชีวิตจริงของอุตสาหกรรมบริการ ดังปรากฏรายละเอียดของแต่ละบท ดังนี้

 

 

 

            บทที่  1   ความสำคัญของการบริการ         เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจการบริการ  ประกอบด้วย การบริการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ  อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมบริการของโลก            ความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมบริการ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการขนส่ง  การเจริญเติบโตอย่างคู่ขนานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  การส่งออกบริการกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา   วิธีการให้บริการ    ประกอบด้วย    องค์ประกอบของการบริการท่องเที่ยว   การเข้าใจการบริการของอุตสาหกรรมบริการ  การระยุกต์ใช้ทฤษฎีการบริหาร ลักษณะของการบริการ   การเหมารวมของการบริการ ประกอบด้วย  การเหมารวมของการท่องเที่ยว     บริการหลักกับบริการสนับสนุน  การออกแบบการเหมารวมที่ดึงดูดใจ  การจัดการเหมารวมให้เพิ่มพูนผลประโยชน์แก่ลูกค้า  การจัดการเหมารวมให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพของธุรกิจ กระบวนทัศน์ใหม่ของอุตสาหกรรมบริการ

            บทที่  2     ลักษณะของการบริการ เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับ  การบริการแตกต่างจากสินค้า          เกณฑ์ที่ใช้บ่งชี้การบริการ  ลักษณะของการบริการ   ประกอบด้วย สัมผัสแตะต้องไม่ได้  แบ่งแยกไม่ได้   ความหลากหลาย  เสียง่าย  การปรับการบริการใช้ในการบริหาร ประกอบด้วย        ปัญหาและทางแก้การบริการ  การประเมินคุณภาพของการบริการก่อนการบริโภค  สินค้าที่มองไม่เห็นสัมผัสไม่ได้   การกระตุ้นหรือก่อให้เกิดข้อคิดเห็นคำร้องเรียนความสามารถในการให้บริการ            ปัญหาเฉพาะในเรื่องความหลากหลาย ปัญหาเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเสียง่าย  การแบ่งแยกไม่ได้ทำให้บุคลากรมีความสำคัญ

            บทที่  3   คุณภาพการบริการ       เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ  คุณภาพของสินค้าและคุณภาพของการบริการ ประกอบด้วย คุณภาพสินค้า คุณภาพของการบริการ ความเป็นมาและแนวคิดของคุณภาพ      ประกอบด้วย ความเป็นมาของการควบคุมคุณภาพ  แรงกระทบของคุณภาพทางด้านเศรษฐกิจ   ต้นทุนคุณภาพ ประกอบด้วย ต้นทุนป้องกัน ต้นทุนการประเมิน ต้นทุนล้มเหลวภายในต้นทุนล้มเหลวภายนอก        การป้องกันดีกว่าแก้ไข ประกอบด้วย ต้นทุนความล้มเหลว   ต้นทุนประเมิน   ต้นทุนป้องกัน ครูทางคุณภาพ ประกอบด้วย W. Edwards Deming  (1900 – 1993)  Joseph M. Juran (1904 – …..)Philip Crosby (1926-2001)  68 ความคิดหลักเรื่อง TQM ประกอบด้วย กระบวนการการปรับปรุงคุณภาพต่อเนื่อง   การนำคุณภาพมาใช้ในการบริหารอุตสาหกรรมบริการ

            บทที่ 4  โมเดลคุณภาพการบริการ   เนื้อหาจะเกี่ยวกับ  การสร้างคุณค่าการบริการ การบริการที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง   ประกอบด้วย ลูกค้ามีความคาดหวังอะไร ที่มาของความคาดหวังของลูกค้า  การได้รับการตอบสนองซึ่งความคาดหวัง   โมเดลการบริการ ประกอบด้วย  โมเดลคุณภาพทางเทคนิคกับคุณภาพทางหน้าที่ โมเดลการปฏิบัติการ ที่มีผลการปฏิบัติงานที่เป็นเครื่องมือกับผลการปฏิบัติงานที่เป็นความประทับใจ         โมเดลคุณภาพกระบวนการและคุณภาพผลส่งออก   โมเดลห้าองค์ประกอบโมเดล 3 มิติ ของ Rust and Oliver โมเดลหลายระดับชั้น ช่องว่างของคุณภาพการบริการ             

            บทที่  5  การเข้าใจความจำเป็นของลูกค้า    เนื้อหาจะเกี่ยวกับ  ลูกค้าขององค์การ  พิมพ์เขียวการบริการ   การทำงานเป็นทีมของกระบวนการภายในกับความมีประสิทธิภาพ    การตลาดภายในทำให้เกิดการตลาดภายนอก ประกอบด้วย  ความสัมพันธ์ของข่าวสาร ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า รู้แนวโน้มความชอบของลูกค้า   วิธีได้ข้อมูลการรับรู้ของลูกค้า   การตรวจวัดคุณภาพของการบริการ  การเพิ่มความใกล้ชิดกับลูกค้า

            บทที่  6  แนวคิดและยุทธศาสตร์การบริการ  เนื้อหาจะเกี่ยวกับ   แนวคิดทางการบริหาร   สายโซ่แห่งการบริการและภาพลักษณ์ของการบริการ ประกอบด้วย         สายโซ่แห่งการบริการภาพลักษณ์ของการบริการ   การกำหนดแนวคิดการบริการ ประกอบด้วย ที่มาของแนวคิดการบริการ จุดประสงค์ของแนวคิดการบริการ การปรับใช้ในการตลาด          กระบวนการการบริการ  ประกอบด้วยองค์ประกอบของกระบวนการ การออกแบบกระบวนการการบริการ        ความเข้าใจระบบการส่งมอบบริการ การวิเคราะห์ขั้นตอนการบริการ  คุณภาพกระบวนการกับคุณภาพผลผลิต ประกอบด้วย หลักการการออกแบบกระบวนการ ความรับผิดชอบการออกแบบกระบวนการ  ทำระบบการบริการให้สมบูรณ์แบบโดยการออกแบบไม่ใช่โดยวิวัฒนาการ วิธีออกแบบการบริการอย่างเป็นระบบ ขั้นตอนการออกแบบบริการและการส่งมอบ รอยตำหนิที่เกิดในตัวบริการ การคิดอย่างสร้างสรรค์      การออกแบบการบริการกับการสร้างพิมพ์เขียว  ประกอบด้วย พิมพ์เขียวการบริการคืออะไร ลักษณะของพิมพ์เขียว  หัวใจส่วนประกอบของการบริการ  จุดพลาดกับจุดเผชิญหน้า

            บทที่  7  การบริหารการตลาดบริการสมัยใหม่-การตลาดภายนอก เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ กระบวนทัศน์ใหม่ของการตลาด  ประกอบด้วย ความต้องการของลูกค้า 4 ด้าน  ส่วนผสมทางการตลาด คล้องรวมกระบวนทัศน์ (Paradigm) ใหม่ของการตลาด     ลักษณะ ของการตลาดสินค้าที่ไม่มีตัวตน การบริการเกิดการผลิตพร้อมกับการบริโภค การปฏิบัติทางการตลาดและทรัพยากรบุคคล    ส่วนผสมทางการตลาดบริการ ประกอบด้วย  การมีส่วนร่วมของลูกค้าองค์ประกอบพื้นฐานของการบริการ

            บทที่  8  การบริหารการตลาดบริการสมัยใหม่-การตลาดภายใน เนื้อหาเกี่ยวกับ สายโซ่แห่งการทำกำไรของการบริการ  แนวคิดการจัดโครงสร้างองค์การ ประกอบด้วย  การตลาดสัมพันธภาพ  การตลาดภายในหน่วยงาน. การจัดการและการตลาด         การบริหารอุปสงค์ อุปาทานกับความสามารถของการให้บริการ   ประกอบด้วย  การบริหารความสามารถกับการบริหารอุปสงค์          ลักษณะสำคัญที่จะต้องพิจารณา   ข้อพิจารณาการบริหารอุปสงค์  การจัดการอุปสงค์โดยจัดแบบเวลาชุม (peak time)  และเวลาบาง (off time)  การจัดการกับอุปาทาน

            บทที่  9  การมอบสิทธิอำนาจ การประกันบริการและการฟื้นฟูบริการ       เนื้อหาเกี่ยวกับ ระดับการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการให้การบริการ  ประกอบด้วย  การบริการที่เหนือชั้นกว่า ปัญหาการลอกเลียน ลักษณะหรือธรรมชาติความจงรักภักดี   การออกนอกกฎเพื่อทำสิ่งถูกต้องยุทธศาสตร์สำหรับความได้เปรียบเชิงแข่งขัน  ประกอบด้วย  การมอบสิทธิอำนาจ    การประกันบริการ        การฟื้นฟูบริการ  ขั้นตอนของการสร้างระบบฟื้นฟูบริการ

            บทที่  10  ยุทธศาสตร์ระดับโลกของอุตสาหกรรมบริการ    เนื้อหาเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมบริการระดับนานาชาติ ประกอบด้วย  จากโรงเตี๊ยม เป็นโรงแรมระดับนานาชาติ  การพัฒนาของโรงแรมแบบลูกโซ่  แรงผลักดันให้ก้าวไปสู่นานาชาติ การเลือกทำเลที่ตั้งในนานาชาติ ประกอบด้วย  ข้อพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจ ข้อพิจารณาทางการเมือง  ข้อพิจารณาทางด้านวัฒนธรรม  ข้อพิจารณาทางด้านเทคโนโลยี          อุปสรรคของการเข้าสู่ตลาดสากลประกอบด้วย  การเสี่ยงภัยพิเศษสำหรับทรัพย์สินที่มีตัวตน  อุปสรรคทางด้านวัฒนธรรม อุปสรรคทางด้านเทคโนโลยี การแสวงหาศักยภาพระดับนานาชาติ          ประกอบด้วย  การขยายการขาย  ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์   การเสาะแสวงหาแหล่งทรัพยากร  การสร้างความตระหนักในตรายี่ห้อหรือแบรนด์เนม ยุทธศาสตร์สำหรับองค์การอุตสาหกรรมบริการระดับโลก ประกอบด้วย การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ   สัญญาการจัดการ  ธุรกิจร่วมค้า แฟรนไชส์  พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมบริการประกอบด้วย  การขยายไปในหลายประเทศ  การนำเข้าลูกค้า  การติดตามลูกค้า การแบ่งส่วนการบริการ การทำไล่ตามเวลา ทัศนะของยุทธศาสตร์ที่มีต่อการเข้าสู่ความเป็นสากล ประกอบด้วย การก้าวไปสู่นานาชาติโดยการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ประเภทและคุณลักษณะของพันธมิตร ความมีประสิทธิภาพในการบริการลูกค้า การเสี่ยงและความสำเร็จของการเป็นพันธมิตร การสูญเสียความเป็นอิสระ การใช้ทรัพยากรที่ไร้ประสิทธิภาพ การสูญเสียตำแหน่งทางการแข่งขัน ความสำคัญของการไว้วางใจกัน ข้อคิดบางประการในการเป็นพันธมิตร  เป้าประสงค์ของการเป็นพันธมิตร ปรับปรุงการเข้าถึงการแข่งขันและการลดต้นทุน           ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์                                                             

            บทที่  11  เทคโนโลยีกับการบริการ เนื้อหาเกี่ยวกับ ความสำคัญของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมบริการ      ประกอบด้วย  การใช้เทคโนโลยีช่วยบริการ  เทคโนโลยีช่วยบริการอย่างไร  การเปลี่ยนจุดเน้นของลูกค้าทางด้านธุรกิจ ความสำคัญของบุคลากรต่อเทคโนโลยี ประกอบด้วย  การพัฒนาคนเข้าสู่อุตสาหกรรม  การใช้ อินเตอร์เน็ทสนับสนุนผู้ปฏิบัติงาน คล้องรวมทรัพยากรบุคคล การปรับใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมบริการ ประกอบด้วย  การใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ   เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่แขก  การอนุรักษ์พลังงานและความปลอดภัย  การควบคุมโปรแกรมโดยซอฟท์แวร์พิเศษ            การบริการอื่นๆ  การตลาดและการขายในยุคเทคโนโลยี ประกอบด้วย การตลาดกับ อินเทอร์เน็ การตลาดแบบฐานข้อมูล  การจัดการกับอุปาทานและอุปสงค์ ลักษณะผู้นำด้านเทคโนโลยี                                                                   

         

บรรณานุกรม

ชัยสมพล  ชาวประเสริฐ. (2547). การตลาดบริการ. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.

ฉัตยาพร  เสมอใจ. (2543). การตลาดธุรกิจบริการ. กรุงเทพฯ: เอ็กซเบอร์เน็ท.

นิคม  จารุมณี. (2536). การจัดการอุตสาหกรรมบริการ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

_________. (2538). การท่องเที่ยวและการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ:

          โอเดียนสโตร์.

ยุพาวรรณ  วรรณวาณิชย์. (2547). การตลาดบริการ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิยะดา  วรธนานันท์. (ม.ป.ป.). การบริการเพื่อสร้างความประทับใจ. กรุงเทพฯ: เธิร์ดเวฟ

          เอ็ดคูเคชั่น.

วีรพงศ์  เฉลิมจิระวัฒน์. (2539). คุณภาพในงานบริการ. กรุงเทพฯ: ดวงกมลสมัย.

สมยศ  นาวีการ. (2546). การบริหารและพฤติกรรมองค์การ. พิมพ์ครั้งที่ 3,กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.

สุโขทัยธรรมธิราช, มหาวิทยาลัย. (2544). เอกสารการสอนชุดวิชาอุตสาหกรรมการบริการ.

          หน่วยที่ 1-15, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.

Baker, D. (2004). The strategic management of technology. Oxford: Chandos.

Baker, K., & Huyton, J. (2001). Hospitality management, an introduction. Melbourne: Hospitality.

Best, R. J. (2000). Market-based  management. NJ: Prentice – Hall.

Brodabent, M., & Kitzis, E. S. (2005). The new CIO leader: setting the agenda and delivering results. Boston: Harvard Business School.

Chanana, A.K. (2000).  At coropate level. Tokyo: Asian Productivity Organization.

Cook, S. (2002). Customer are excellenlent. London: Kogan.

Davis M. M., Heineke, J. (2003).  Managing service: using technology to create value. Boston: McGraw-Hill.

Economic Affairs Officer, Division on International Goods and Service, and Commodities, UNCTAD. (2004, June). Exports of  Services and Economic Growth in Developing Countries: Author.

Fitzsrmmons, J. A.  (2001). Service management operation, strategy and information technology, (3rd ed.). Boston: McGraw-Hill.

Gomez-Mejia, L. R., Balkin, D. B., & Cardy, R. L.(2001). Managing  human resources, (3rd ed.). NJ: Prentice-Hall.

Griffiths, P. (2004). Managing your internet and intranet service. (2nd ed.).London: Facet.

Gronroos, C. (2000). Service management and marketing: A customer relationship management approach. (2nd ed.). West Sussex: John Wiley and Sons.

Hoffman, K. D., & Bateson, J. E. G. (2001). Essentials of service    marketing: concept, strategies & Cases. (2nd ed.). OH: South-Western Thomson.

Juran, J.M. (1999). Quality control handbook. New York: McGraw-Hill.

Kotler, P., Bowen, J., & Makens, J. (2003). Marketing for hospitality and tourism.

          (3rd ed.). NJ: Prentice-Hall.

Kuglin, F. A., & Hook, J. (2002). New York: American  Management Association.

Lashleyl, C. (2000). Hospittality retail management Oxford: Butlerworth-Heinemann.

Looy, B. V., Gemmel, P. & Dierdonck. R.V. (2003). Service management. (2nd ed.). NJ: Prentice-Hall.

Lovelock, C. (2000). Service – marketing, people technology, strategy. (4th ed.). NJ. : Prentice – Hall.

Lovelock, C. H., Patterson, P. G., & Walker, R. H. (2001). Service marketing: an asia-pacific pesspcetive. New southwales: PrenticeHall.

Noe, R. A. (2002). Employee training  & development, (2nd ed).  Boston: McGraw–Hill.

Olsen, M.D., & Connolly, D. (2000, February).  How technology is changing the hospitality industry, Cornell Hotel & Restaurant Administration Quarterly.  Vol. 41, Issue 1, (pp. 30-43).

Seannell, E. E., & Donaldson, L. (2000). Human resource development. (3rd ed.). MA: Persues.

Thorne, K., and Machray A. (2000). World class training. London: Kogan Page.

World Tourism Organization, (1991). Tourism to the year 2000, qualitative aspects affecting global growth. Madrid: Author.

Yu, L. (1999). The international hospitality business, management and operations. New York: Harworth Hospitality.

Zeithaml, V. A., & Bitner, M. J. (2003). Service marketing: integrate customer focus across the firm. Boston: McGraw-Hill.

 

สำนักพิมพ์วันทิพย์ 36/14 ถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

สนใจติดต่อ ผศ.ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์ โทร. ๐๘๙-๗๔๖๘๘๕๐

จากวิดีโอถึงออนไลน์ | พฤติกรรมผู้ใช้ กับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไปในการวิจารณ์ภาพยนตร์

ชื่อผลงานทางวิชาการ : จากวิดีโอถึงออนไลน์ | พฤติกรรมผู้ใช้ กับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไปในการวิจารณ์ภาพยนตร์”

ปีที่พิมพ์ : 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในวารสารวิทยาการ คณะวิทยาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์ไซนิล สมบูรณ์ สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

                  บทความทางวิชาการ เรื่อง  จากวิดีโอถึงออนไลน์ | พฤติกรรมผู้ใช้ กับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไปในการวิจารณ์ภาพยนตร์” เรียบเรียงโดย อาจารย์ไซนิล สมบูรณ์ สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จจ้าพระยา บทความนี้ มีบทบาทสำคัญควบคู่กับพัฒนาทางการชมภาพยนตร์ของผู้ชมในประเทศไทยเป็นเวลานาน ซึ่งก่อนชมภาพยนตร์การอ่านบทวิจารณ์มีส่วนในการทำผู้ชมภาพยนตร์ตัดสินใจเลือกชมภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ จุดเน้นเนื้อหาในบทความ จะกล่าวถึง  วิวัฒนาการของรูปแบบของการวิจารณ์ภาพยนตร์ ผู้ชมภาพยนตร์ อุปกรณ์การฉายภาพยนตร์ สถานที่ฉายภาพยนตร์ รวมทั้งช่องทางการชมภาพยนตร์ ในยุคต่างๆ ซึ่งมีงานวิจัยได้กล่าวว่า ทิศทางในการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบ และช่องทางของการวิจารณ์ภาพยนตร์นั้น จะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นการผสมผสานสื่อต่าง ๆ เพื่อการใช้งานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงน่าจับตามองว่า ในอนาคตเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเข้ามา เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งผู้ชมภาพยนตร์ นักวิจารณ์ และช่องทางการนำเสนอบทวิจารณ์ภาพยนตร์ต่อไปอย่างไร

                  ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้ ช่วยให้เห็นถึงพัฒนาการของการวิจารณ์ภาพยนตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นศาสตร์สำคัญที่ช่วยสะท้อนมุมมองและแนวคิดของผู้สร้าง รวมไปถึงการต่อยอดแนวคิดและขยายความศาสตร์การวิจารณ์ภาพยนตร์ ให้เข้าใจในทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในช่องทางและรูปแบบการเสนอ แต่โดยเนื้อหาและความตั้งใจในการส่งเสริมวงการภาพยนตร์ยังคงอยู่เช่นเดิม

 

จากวิดีโอถึงออนไลน์ | พฤติกรรมผู้ใช้ กับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไป

การวิจารณ์ภาพยนตร์”

 

ไซนิล สมบูรณ์
อาจารย์ คณะวิทยาการจัดการ
สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน ภาพยนตร์และมัลติมีเดีย

 

                  การวิจารณ์ภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญควบคู่กับพัฒนาการทางการชมภาพยนตร์ของผู้ชมใน ประเทศไทยมาเป็นเวลานานก่อนชมภาพยนตร์การอ่านบทวิจารณ์มีส่วนในการทำให้ผู้ชมตัดสินใจเลือกชม ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆงานวิจัยของภานุพลรอดกุล(2556)ได้กล่าวถึงอิทธิพลของบทวิจารณ์ภาพยนตร์ว่า แม้ไม่ได้ส่งผลโดยตรง แต่บทวิจารณ์ มีผลต่อการตัดสินใจของผู้อ่านในการเลือกไปชมภาพยนตร์

                  นอกจากนั้น หลังชมภาพยนตร์ ผู้ชมส่วนหนึ่งมักมีการเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมของหนัง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเบื้องหลังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหนังรวมไปถึงการตามอ่านบทวิจารณ์ของหนังที่ตนเองสนใจหรือชื่นชอบเพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจและได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นอยู่เสมอ   จึงนับได้ว่าการวิจารณ์ภาพยนตร์นั้นอยู่คู่กับการชมภาพยนตร์ของผู้ชมในบ้านเรามาโดยตลอด

                  การวิจารณ์ภาพยนตร์ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปแบบและช่องทางมาหลายช่วง ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยรูปแบบของการวิจารณ์ภาพยนตร์ในยุคแรกจะปรากฏให้เห็นในสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างนิตยสาร และหนังสือพิมพ์

                  บทวิจารณ์ในนิตยสารยุคแรกๆมักจะเน้นรูปแบบการเขียนไปในเชิงวิชาการอธิบายเนื้อหาของหนัง ควบคู่ไปกับคุณงามความดีที่หนังมีต่อคนดูเพราะช่องทางในการรับชมภาพยนตร์ของผู้อ่านในยุคนั้นยังมี เพียงโรงภาพยนตร์ในเมืองใหญ่ที่มีข้อจำกัดในการเลือกหนังเข้ามาฉายทำให้ภาพยนตร์สำคัญ  ๆ หลายเรื่องไม่ได้ถูกนำเข้ามาฉาย บทวิจารณ์ จึงตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่หาชมไม่ได้ จึงต้องอธิบายให้เห็นภาพไปด้วยส่วนในหนังสือพิมพ์มักเป็นบทวิจารณ์สั้นๆเพื่อเชิญชวนผู้คนไปชม ภาพยนตร์ที่ เข้าฉายในช่วงเวลานั้นการเข้ามาของวิดีโอเทป(Videotape)ในช่วงเวลาต่อมาเข้ามาช่วยให้การ ชมภาพยนตร์ไม่จำกัดเฉพาะการต้องไปดูในโรงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปผู้ชมสามารถรับชมที่บ้านในเวลาใด ก็ได้ทำให้ผู้ชมเข้าถึงหนังได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้นแต่อย่างไรก็ตามเนื้อหาของภาพยนตร์ในระบบวิดีโอ เทปเมืองไทยนั้นส่วนมากยังเน้นไปที่การให้ความบันเทิงส่วนหนังเพื่อการศึกษา เช่น หนังของนักสร้างหนัง ในประวัติศาสตร์ที่อยู่ในเนื้อหาตำราเรียนหรือหนังดังของประเทศอื่นๆนอกจากอเมริกาและฮ่องกงยังหา ดูได้ยาก รูปแบบของการวิจารณ์ในยุควิดีโอเทปนี้ยังพบได้ในสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลักเช่นเดิม เพียงแต่มีหมวดหมู่ การวิจารณ์หรือแนะนำวิดีโอเทปที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากภาพยนตร์บางเรื่อง อาจไม่ได้เข้าฉาย ในโรงภาพยนตร์แต่มีขายหรือให้เช่าในระบบวิดีโอเทปเลย เช่นหนังเกรดบี หนังทุนน้อย การ์ตูน หรือนอกหนัง กระแสด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้นิตยสารและหนังสือพิมพ์บางฉบับ ต้องมีหมวดหมู่พิเศษ   สำหรับ วิดีโอเพิ่มเติมเข้ามา

                  ช่วงปี พ.ศ. 2541 เป็นยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างวิดีโอเทป ไปสู่การรับชมภาพยนตร์ด้วยวิดีโอซีดี (Video cd) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า วีซีดี (VCD) ซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่า มีความคมชัดมากกว่า มีความจุมากกว่า และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าวิดีโอเทปมากทำให้ความนิยมในตัววิดีโอเทปเริ่มถดถอยลงจนก้าวเข้าสู่ ยุคของวีซีดีเต็มตัวที่มาพร้อมกับการเติบโตของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Power Computer,PC) ที่ใช้เป็นเครื่อง เล่นวีซีดีไปได้ด้วยในตัวพร้อมกับอินเทอร์เน็ตในไทยเริ่มเป็นที่แพร่หลายและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทำให้เกิด ชุมชนออนไลน์ที่ใช้เป็นช่องทางใหม่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ในการเลือกรับชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางต่างๆ ได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีอินเทอร์เน็ตในยุคแรกยังมีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อหลายประการทำให้ช่องทางหลัก ในการรับชมภาพยนตร์ยังคงเป็นโรงภาพยนตร์ควบคู่ไปกับวีซีดีอยู่

                  และเช่นเดียวกันกับในยุควิดีโอเทป การวิจารณ์ภาพยนตร์มีการแยกหมวดหมู่ภาพยนตร์ออกเป็น  2 ประเภท โดยแบ่งเป็นภาพยนตร์ที่กำลังฉายในโรงหรือเรียกว่า หนังชนโรง และ ภาพยนตร์ที่ออกจำหน่าย ในรูปแบบวีซีดี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป ในยุคนี้คือช่องทางในการวิจารณ์ภาพยนตร์ ช่อง ทางใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา พร้อมกับอินเทอร์เน็ต และรูปแบบ ของการเขียนบทวิจารณ์ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะภาพยนตร์หลาย เรื่องที่เคยหาดูได้ยาก ก็เริ่มหาชมได้บ้างแล้ว

                  ขณะที่โลกของการรับชมภาพยนตร์กำลังเบ่งบานเนื่องจากสามารถหาชมได้ง่ายขึ้น ในยุคนี้เอง ไทยได้ให้ กำเนิดผู้กำกับหนัง นักวิจารณ์หนัง และชุมชนนักดูหนังรุ่นใหม่ๆ ทั้งในด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ได้เกิด นิตยสารเกี่ยวกับ ภาพยนตร์หัวใหม่ๆ ขึ้นมาบนแผงหลายฉบับ  มีการรวบรวมบทวิจารณ์ที่เคย ตีพิมพ์บน นิตยสารหรือสื่ออื่นๆออกมา เป็นหนังสือเล่ม(Pocket book) ในปริมาณถี่มากขึ้น ด้านสื่อดิจิตอลก็เกิด ชุมชนออนไลน์ที่พูดถึงหนังและวิจารณ์หนัง เรื่องต่างๆ หลายแห่ง เช่น เวบไซต์ พันทิป (Pantip.com) และเวบบอร์ดสนทนาต่างๆ อีกทั้งการวิจารณ์ภาพยนตร์ก็มี รูปแบบที่หลากหลายขึ้น จากการอธิบาย หนังทั้งเรื่องให้เห็นภาพ ก็เปลี่ยนมาเป็นการเชิญชวนให้ไปชม และมาร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตีความ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ภาพยนตร์เหล่านั้นร่วมกันการมาถึงของดีวีดี (Digital Video Disc, DVD) ที่มีคุณภาพคมชัดกว่า และมีราคาที่สามารถเข้าถึง ได้ง่าย (เพราะเป็นช่วงเดียวกับที่แผ่นผีเป็นที่แพร่หลาย) ทำให้เกิดเวบหนังใหม่ๆและเกิดวัฒนธรรม การวิจารณ์ หนังจาก นักวิจารณ์หน้าใหม่จำนวนมากบนเวบล็อก (weblog) หรือบล็อก (blog) เช่น bloggang.com, exteen.com ซึ่งมีรูปแบบ การเขียนที่หลากหลาย ทั้งกึ่งทางการ เป็นทางการ หรือไม่เป็น ทางการเลย และค่อนข้างมีความอิสระในการนำเสนอ ทั้งรูปแบบและความยาวที่ไม่จำกัดเหมือนในสื่อ สิ่งพิมพ์ ในยุคนี้เองนักวิจารณ์หน้าใหม่หลายคนที่ไม่เคยมีผลงานตีพิมพ์มาก่อน ได้รับความนิยมและ ความเชื่อถือ จากผู้อ่านจนถูกนำไปรวมเป็นหนังสือเล่มและมีชื่อเสียงมาจนถึง ยุคปัจจุบัน

                  แม้การวิจารณ์ภาพยนตร์บนเวบไซต์ต่างๆ และในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ยังคงมีอยู่ และยังมี อิทธิพลต่อ การตัดสินใจชมภาพยนตร์ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่การเข้ามามีบทบาทของเฟสบุ๊คนั้น ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้านในการวิจารณ์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะการเสื่อมความนิยมจากการเขียนบท วิจารณ์ลงบนเวบบล็อก

                  ปัจจัยสำคัญ 3 อย่างที่นำมาสู่ การเปลี่ยนผ่านจากยุคดีวีดีมาเป็นยุคปัจจุบัน นั่นคือ เฟซบุ๊ค (Facebook.com) ยูทูป (Youtube.com) และความเร็วของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ที่ทำให้การ ชมภาพยนตร์ออนไลน์มีความง่ายจน ไม่จำเป็นต้องซื้อแผ่นหนังอีก พฤติกรรมผู้ชมถูกปรับเปลี่ยนจาก ยุคของสิ่งที่จับต้องได้ มาสู่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ การเลือกชมภาพยนตร์สามารถดาวน์โหลดจากผู้ให้บริการ หรือชมทันทีได้เลยผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ ทำให้โลกของการชมภาพยนตร์เปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็น มาก่อน และสิ่งใหม่ในโลกของการวิจารณ์ได้เกิดขึ้นนั่นคือการทำคลิปวิจารณ์ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก และยังเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งควบคู่ไปกับบทวิจารณ์ในช่องทางอื่นเท่านั้น

                  ในปี พ.ศ. 2557 ผู้ใช้บริการเฟซบุ๊คในประเทศไทยมีถึง 26 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของ ประชากรไทยและ อัตราการใช้งานของผู้ใช้รายใหม่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จากผลงานวิจัยการวิจารณ์ ภาพยนตร์ : รอยต่อระหว่างวัฒนธรรม สื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต (อัญชลี ชัยวรพร และสุทธิพงศ์ นุกูลเอื้ออารุง, 2557) พบว่าการวิจารณ์ภาพยนตร์ใน เฟสบุ๊คได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จากเดิมที่ใช้เป็นพื้นที่เก็บงานเก่าเท่านั้น ต่อมาเริ่มพบว่า ผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อการวิจารณ์ จํานวนหนึ่ง พัฒนาข้ามไปเขียนงานวิจารณ์บนสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนนักวิจารณ์อาชีพ ที่เติบโตมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เริ่มหันมาใช้พื้นที่อินเทอร์เน็ตในการนำเสนองานวิจารณ์ขนาดสั้นหรือประเด็นความคิดแบบไม่เป็นทางการสําหรับงานภาพยนตร์ที่จะไม่ได้รับการตีพิมพ์ ทำให้เห็นการเชื่อมโยงในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ กับสื่ออินเทอร์เน็ต ที่เต็มไปด้วยพลวัตร ความลื่นไหล และมีความน่าสนใจมากขึ้น

                  รูปแบบของงานวิจารณ์ภาพยนตร์ในเฟสบุ๊คนั้นถูกปรับเปลี่ยนใหม่จากความเป็นทางการใน นิตยสารหรือในเวบบล็อกให้มีความกระชับ สั้น และลดการใช้ภาษาที่เป็นทางการลง เพื่อความเข้าใจง่าย ส่วนใหญ่เน้นไปที่การแสดงทัศนคติต่อภาพยนตร์และเพื่อตอบสนองลักษณะนิสัยใหม่ของผู้อ่านในเฟซบุ๊คจนเกิดเป็นคำที่ใช้หยอกล้อ กันว่า “ยาวไป ไม่อ่าน” ทำให้ต้องมีการใช้ทักษะการใช้ภาษาให้มีความกระชับ รัดกุมและเข้าใจง่ายนอกจากนี้ความเป็นกันเองหรือรูปแบบของภาษานั้นยังขึ้นอยู่กับช่องทางในเฟซบุ๊คอีกด้วย ว่านักวิจารณ์เผยแพร่มันลงไปในช่องทาง ใด เช่น แฟนเพจ(Fanpage) กระทู้ในหน้าส่วนตัวของผู้เขียน (Timeline) หรือกลุ่มที่สนใจเรื่องเดียวกัน(Group) เป็นต้น

                  ถึงแม้จากงานวิจัยของภานุพล รอดกุล (2556) กล่าวถึงแนวโน้มจำนวนผู้อ่านนิตยสาร Filmmax ที่มีจำนวน ลดลงเนื่องมาจากมีสื่อที่หลากหลายในการเข้าถึงมากขึ้น ผู้ชมที่ไม่ใช่นักดูหนังตัวจริงหันไปสนใจ อ่านบทวิจารณ์จากช่องทางอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะเฟซบุ๊คที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและอ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าแต่ผลงาน วิจัยของอัญชลี ชัยวรพร และสุทธิพงศ์ นุกูลเอื้ออารุง (2557) ได้กล่าวว่าทิศทางในการเปลี่ยนแปลงทั้ง รูปแบบ และช่องทางของการวิจารณ์ ภาพยนตร์นั้น จะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค แต่มิได้เป็น ลักษณะทิ้งสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง แต่เป็นการผสมผสาน สื่อต่างๆเพื่อการใช้งานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ มากกว่า จึงน่าจับตามองว่า ในอนาคต เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามา เปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้ชมภาพยนตร์ นักวิจารณ์ และช่องทางในการนำเสนอบทวิจารณ์ไปในทิศทางใดต่อไป

 

บรรณานุกรม

ภาณุพล  รอดกุล (2556).  บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในนิตยสารFilmaxกับการตัดสินใจรับชมภาพยนตร์

                  ของผู้ชมภาพยนตร์”.  ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

อัญชลี ชัยวรพรและสุทธิพงศ์ นุกูลเอื้ออารุง. (2557). การวิจารณ์ภาพยนตร์: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรม

                  สื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต(เล่ม5). สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

 

 

 

การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ             การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ

ปีที่พิมพ์                                    2560

ข้อมูลเพิ่มเติม                           เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสารสนเทศสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ  ดร. ศรัณย์ ฐิตารีย์ และ ดร. สุรศักดิ์ โตประสี  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

       บทความวิจัย เรื่อง “การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ The  Eco-tourism Management of Bangnampheung Sub-district Administrative Organization in Samutprakarn Province ผู้วิจัย คือ     ดร. ศรัณย์ ฐิตารีย์     และ ดร. สุรศักดิ์ โตประสี สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับปัจจัยการจัดการและการจัดการของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ 2) ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่างเป็นข้าราชการ พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน จำนวน 393 คน ซึ่งปัจจัยด้านการควบคุม การจัดองค์การ การสั่งการและการวางแผนนั้น ถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญและมีความสัมพันธ์กับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ

ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้  องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปวางแผน และพัฒนา ด้านการท่องเที่ยวของชุมชน ให้คงอยู่และยั่งยืนต่อไป

 

การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ

The  Eco-tourism Management of Bangnampheung Sub-district

Administrative Organization in Samutprakarn Province

                                                                                                                                                                       ศรัณย์ ฐิตรีย์*

                                                                                                             สุรศักดิ์ โตประสี**

 

บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาระดับปัจจัยการจัดการและการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการและ 2) ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่างเป็นข้าราชการ พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน จำนวน 393 คนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามชนิดมาตรประมาณค่า 5 ระดับชนิดตรวจสอบรายการ  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติถดถอยพหุ

ผลการวิจัย  พบว่า

  1)ปัจจัยการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพรวมเห็นด้วยอยู่ในระดับมากและการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการโดยภาพรวมมีความสำเร็จอยู่ในระดับมาก

  2) ปัจจัยการจัดการท่องเที่ยว ด้านการควบคุม การจัดองค์การ การสั่งการและการวางแผนมีความสัมพันธ์กับการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ

            คำสำคัญ:  การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

——————————————————————-

*       อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

**      อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

ABSRACT

   The purposes of this research were 1) to study the factors affecting the management and the management of eco-tourism of Bangnampheung Sub-district Administrative Organization in Samutprakarn Province and 2) to study the relation between the factors and the management of               eco-tourism. The sample included three hundred and ninety-three government officials, employees,  village heads and peoples. Data were collected using 5-point rating scale questionnaire and checklist and were statistically analyzed in percentage, mean, standard deviation, and multiple regression analysis.

            The findings revealed as follows.

  1. The factors affecting the management and the management of eco-tourism of Bangnampheung Sub-district Administrative Organization in Samutprakarn Province were generally found at the high level, and the achievement in management of eco-tourism was generally found at the high level.
  2. Controlling, Organizing, Directing, and Planning were related to the achievement in management of eco-tourism Bangnampheung Sub-district Administrative Organization in Samutprakarn Province.

 

Keyword: The Management of Eco-tourism

 

บทนำ

          อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูง และมีบทบาทความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญนำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศ การสร้างงาน และการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการค้าและการลงทุน เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศสามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่าภาคผลิตและบริการอื่น ๆ

            ในปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นสาขาหนึ่งของการค้าบริการที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะสร้างรายได้โดยมีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่งของการค้าบริการรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการพัฒนา และการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในด้านต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงาน และการกระจายรายได้ในภาคเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีการส่งเสริม สนับสนุน และมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งดูได้จากสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ในปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 15.93 ล้านคน อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.63 และเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2554 ก็พบว่า นักท่องเที่ยวมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 19.23 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.67 (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย2540, น.5 ออนไลน์ 2559) ดังนั้น จึงคาดประมาณได้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2559 และในปีต่อ ๆ ไป ก็คงจะขยายตัว และเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง            จะเห็นได้ว่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การสร้างงานสร้างอาชีพในภาคบริการและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างอื่น ๆ ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นจนกลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างเลี่ยงไม่ได้ทั้งผลกระทบทางด้านกายภาพ เช่น ปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาขยะ ปัญหาการทำลายทัศนียภาพ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหามลพิษทางทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ และเกิดผลกระทบทางด้านสังคม เช่น ปัญหาค่าครองชีพ การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในท้องถิ่น ปัญหาเพศพาณิชย์ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น โรคเอดส์ รวมถึงผลกระทบทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี ปัญหาความขัดแย้งในขนบธรรมเนียมประเพณีระหว่างคนในท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยว (วันดี สีสังข์, 2549, น.1)

          การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นการท่องเที่ยวธรรมชาติ และเป็นแนวคิดที่นำกิจกรรมการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาประสานเข้าด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำให้กิจกรรมทั้งสองเกื้อกูลซึ่งกันและกันอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยังเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มรายได้ เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยวก็จะเป็นการช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้หรืออาจกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

         เนื่องจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นการท่องเที่ยวธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ในหลายกรณีพบว่าการท่องเที่ยวธรรมชาติได้ส่งผลทางลบต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทิ้งขยะมูลฝอย ความแออัด การสร้างมลพิษจากธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหารหรือแม้กระทั่งการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยน้ำมือของนักท่องเที่ยวเองด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยป้องกันมิให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมเกินขีดความสามารถที่สภาพแวดล้อมจะรองรับได้ นอกจากจะช่วยควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการแล้วยังจะเป็นเครื่องมือในการปันผลประโยชน์จากธุรกิจท่องเที่ยวสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสู่มือประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นไปในตัวในท้ายสุดการที่ธุรกิจท่องเที่ยว การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการกระจายรายได้ สามารถดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างสมดุลกัน จะเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (นันทรัตน์ ทองมีเพชร, 2553, น.1-2)

          ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงเป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการศึกษาเป็นหลัก เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจในการทำงานของสภาพแวดล้อมว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งเป็นฐานของวิถีชีวิตของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ และเมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมนั้น ๆ สภาพแวดล้อมจึงมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการเมืองในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่นกัน แนวความคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจึงเป็นการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม

           ตำบลบางน้ำผึ้งตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้บริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน ในเวลาที่น้ำผ่านเข้ามาในบริเวณลำคลองต่างๆ เข้าสู่พื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ทำสวนเป็นส่วนใหญ่ ดินบริเวณตำบลบางน้ำผึ้งมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารของพืชนานาชนิด อาชีพดั้งเดิมของชาวตำบลบางน้ำผึ้งคืออาชีพทำสวนผลไม้ น้ำหวานจากเกสรดอกไม้นานาชนิดได้ดึงดูดให้ผึ้งมาอาศัยอยู่โดยทั่วไปในพื้นที่ ชาวบ้านได้นำน้ำผึ้งมาตักบาตรจนเป็นวิถีชีวิต กลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงได้ขนานนามพื้นที่นี้ว่า “บางน้ำผึ้ง” ชาวบ้านในตำบลบางน้ำผึ้งส่วนใหญ่เรียกตำบลบางน้ำผึ้งว่ากระเพาะหมู เพราะเมื่ออดีตน้ำท่วมนาน ตำบลต่างๆทั้ง 6 ตำบล ในอำเภอพระประแดงอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำก็เลยไหลเข้ามาได้ทุกด้าน พอน้ำลดก็เลยเป็นแอ่งกระทะ จึงเรียกว่า “กระเพาะหมู” จึงทำให้โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์พิเศษเป็นของตน ซึ่งคนในสมัยนั้นนิยมปลูกข้าว จากประวัติศาสตร์ของชุมชน น่าจะมีอายุราวไม่ต่ำกว่า 200 กว่าปีที่แห่งนี้มีโฉนดที่ดินทุกแปลงดังปรากฏตามโฉนดที่ดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประกอบกับประวัติศาสตร์การสร้างเมืองศรีนครเขื่อนขันขันธ์หรืออำเภอพระประแดงในปัจจุบัน ชุมชนบางน้ำผึ้งน่าจะมีอายุราว 200 กว่าปี คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยภาคกลาง และมอญและจีนบางส่วน ตำบลบางน้ำผึ้งมีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน ประชาชนประกอบอาชีพทางการเกษตร  รับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน รับราชการและอื่นๆ และกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป  เล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 52 ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของบางกะเจ้าหรือกระเพาะหมู ที่ถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ใกล้กรุงเทพมหานครที่ได้รับการอนุรักษ์พื้นที่ไว้(มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2520)

          ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นการร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งและชาวบ้านในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตการเกษตรล้นตลาด ซึ่งนับว่าได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากตลาดน้ำแห่งนี้จะเป็นที่ระบายสินค้าเกษตรแล้วยังสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี เอกลักษณ์เฉพาะตัวของตลาดน้ำแห่งนี้ คือ ผู้ขายเป็นคนในชุมชน มีการจำกัดจำนวนผู้ขายและสินค้าที่ต้องผลิตขึ้นเอง รายล้อมด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านริมคลอง น้ำในคลองที่ยังใสสะอาด ชาวบ้านยังใช้เรือสัญจรไปมาเป็นปกติ ขนถ่ายพืชผลทางการเกษตร และค้าขาย เช่น ผลไม้ ขนมสด ก๋วยเตี๋ยว อาหารแปรรูปและของกินส่วนใหญ่ในตลาดเป็นฝีมือของชาวบ้านในพื้นที่ เช่น ไข่เค็มดินสอพอง ผลิตภัณฑ์จากทะเลอย่างกุ้งแห้ง กะปิ หอยดอง ขนมไทยนานาชนิด เช่น ทองหยอด เม็ดขนุน ฝอยทอง ลูกชุบ กะละแม ข้าวตู ขนมใส่ไส้ นอกจากนี้ก็มีผลไม้จากสวน ที่ขึ้นชื่อที่สุดของที่นี่ คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ ส่วนของใช้และของที่ระลึก ได้แก่ ไม้ดอกไม้ประดับ สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกไม้เกล็ดปลา ธูปปั้นสมุนไพร ภาพประดิษฐ์จากรกมะพร้าว โมบาย ลูกตีนเป็ดประดิษฐ์รูปร่างแปลกตา สินค้าพื้นบ้านมอญ เป็นต้น (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน พ.ศ. 2558)

            ในอดีตการท่องเที่ยวเริ่มต้นจากการเดินทางติดต่อสื่อสารเพื่อการค้าขายหรือการทำกิจกรรมเกี่ยวกับธุระต่าง ๆ ของผู้เดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยจุดประสงค์ของนักเดินทางจะแตกต่างกันออกไป แต่ในปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ เพื่อพักผ่อนจากการทำงานหรือจากภารกิจที่ทำอยู่เป็นประจำทุกวัน จุดประสงค์ของการท่องเที่ยวในปัจจุบันอาจมีส่วนคล้ายหรือแตกต่างจากจุดประสงค์ของการท่องเที่ยวในอดีตบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับกาลเวลาที่เป็นตัวกำหนดหรือเป็นปัจจัยหลักในการกำหนด ในปัจจุบันการท่องเที่ยวได้กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับเจ้าของพื้นที่จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ และทรัพยากรทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นสินค้าหรือเป็นจุดขายที่น่าสนใจสำหรับนักเดินทางที่ให้ความสนใจในกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก (กษมา ประจง, 2546, น. 1)

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาระดับปัจจัยการจัดการและการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ
  2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ

 

วิธีการวิจัย

           เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

               ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญได้ค่าความเที่ยงตรง(validity)เชิงเนื้อหา (IOC – index of congruence)ของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ .66-1.00และหาค่าความเชื่อมั่น(reliability) ของแบบสอบถามทั้งฉบับโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (α – coefficient) ของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) (อังคณา สายยศ, 2544 น. 6) ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .890 โดยแบบสอบถามประกอบด้วย 2 ตอนลักษณะของคำถามเป็นแบบมาตรประมาณค่า(rating scale) ของ Likert จำนวน 5 ระดับ

           การเก็บรวบรวมข้อมูล

           ผู้วิจัยรวบรวมแบบสอบถามจำนวน 393 ชุด ระยะเวลาการเก็บข้อมูลตั้งแต่ พฤศจิกายน- ธันวาคม 2559 รวมระยะเวลา 2 เดือน

           สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

                 ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา (descriptive statistics)ในรูปความถี่( frequency )ค่าร้อยละ( percentage ) ค่าเฉลี่ย ( mean x̄  )และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน( standard  deviation  S.D. ) เพื่อใช้อธิบายลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างและตัวแปรอิสระและตัวแปรตามและทดสอบสมมติฐานด้วยการหาความสัมพันธ์ของตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม ด้วยแบบจำลอง (model of analysis) แบบความสัมพันธ์เชิงเส้น (linearity)การวิเคราะห์ถดถอยพหุ(multiple regression)

ผลการวิจัย

            1.ผลการวิเคราะห์ระดับปัจจัยการจัดการและการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ แสดงดังตารางที่ 1 และ 2

ผลการวิจัย

            1.ผลการวิเคราะห์ระดับปัจจัยการจัดการและการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ แสดงดังตารางที่ 1 และ 2

            จากตารางที่ 1  พบว่า ปัจจัยการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพรวมเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.80

 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านการควบคุมเห็นด้วยอยู่ในระดับมากค่าเฉลี่ยเท่ากับ คือ 3.94 รองลงมา คือ การวางแผน เห็นด้วยอยู่ในระดับมากค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.84 และค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ การจัดองค์การ เห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.69

          จากตารางที่ 2  พบว่า การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.61

เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านประสิทธิภาพอยู่ในระดับมากค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.69 รองลงมา คือด้านประสิทธิผล อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ3.59 และค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือด้านประหยัด อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.57

            2.ผลการวิเคราะห์ตามสมมติฐาน

   ปัจจัยการจัดการ ได้แก่ การวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการ การควบคุม มีความสัมพันธ์กับการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ  แสดงผลวิเคราะห์ตามตารางที่ 3

         จากตารางที่ 3 พบว่า ตัวแปรอิสระทั้ง 4 ตัว มีผลเชิงบวกต่อตัวแปรตามอย่างนัยสำคัญทางสถิติ เรียงตามค่าสัมประสิทธิ์ของการถดถอยจากมากไปหาน้อย คือ การควบคุม การจัดองค์การ การสั่งการและการวางแผนซึ่งตัวแปรอิสระทั้ง 4 ตัว สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตาม คือ การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการได้ถึงร้อยละ 68.70  แสดงว่ายังมีปัจจัยด้านอื่นที่ไม่ได้นำมาพิจารณาในครั้งนี้อีกร้อยละ 31.30  ที่มีผลต่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ และสมการที่ได้จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอน (stepwise) ที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .000 มีค่าผิดพลาดของการคาดประมาณด้วยสมการ (standard error of estimate) เกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการเท่ากับ 8.334 

 

อภิปรายผล

           สมมติฐานที่ว่า ปัจจัยการจัดการด้านการวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการ และการควบคุม มีความสัมพันธ์กับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ผลวิจัยพบว่าตัวแปรอิสระทั้ง 4 ตัว มีผลเชิงบวกต่อตัวแปรตามอย่างนัยสำคัญทางสถิติ เรียงตามค่าสัมประสิทธิ์ของการถดถอยจากมากไปหาน้อย คือ การควบคุม การจัดองค์การ การสั่งการและการวางแผนซึ่งสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตาม คือ การจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการได้ถึงร้อยละ 68.70 สอดคล้องกับแนวคิดของศิริวรรณ  เสรีรัตน์ และคณะ( 2545, น.21-22)กล่าวว่ากระบวนการบริหารจัดการ ประกอบด้วย การวางแผน เป็นสิ่งที่องค์กรต้องการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การวางแผนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคตซึ่งทำได้โดยการให้บรรลุเป้าหมายผลลัพธ์ที่ต้องการ การจัดการองค์กร เป็นการใช้ความพยายามทุกกรณีโดยการกำหนดงานและความสำคัญของอำนาจหน้าที่  การนำหรือการสั่งการ เป็นการใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจพนักงานให้ปฏิบัติงานและนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ระบุไว้  การควบคุม เป็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กรถือว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบ หรือติดตามผลและประเมินการปฏิบัติงานในกิจกรรมต่าง ๆ และสอดคล้องกับผลงานวิจัยของของพุฒิตา  หวัดสนิท(2555)เรื่องการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสะพลี : กรณีศึกษาหาดทุ่งวัวแล่น ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ในประเด็นที่ว่าปัจจัยด้านการวางแผน และการควบคุม มีความสัมพันธ์กับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสะพลี : กรณีศึกษาหาดทุ่งวัวแล่น ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

        ในประเด็นนี้สามารถอภิปรายได้ว่า  การควบคุม การจัดองค์การ การสั่งการและการวางแผนนั้น ถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยว เนื่องจากการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายของแผนงานที่วางไว้ และมีการควบคุม การจัดองค์การ การสั่งการไปพร้อมกับการกำกับดูแลขั้นตอนการดำเนินงาน จึงจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างสูงองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง มีนโยบายในส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งมีการควบคุมคุณภาพโดยภาพรวมเพื่อให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของการวางแผนการจัดการ เน้นการควบคุมคุณภาพในองค์การเพื่อให้บุคลากรมีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานทุกด้านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน นักท่องเที่ยว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเชื่อมโยงการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงจะทำให้สามารถทราบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการประยุกต์ใช้        

         จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้สามารถนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อการประยุกต์ใช้ได้ดังนี้

  1. ด้านการควบคุม องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งควรมีการวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อให้กำดำเนินงานของแหล่งท่องเที่ยวได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้
  2. 2. ด้านการจัดองค์การ องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งควรกำหนดโครงสร้างของหน่วยงานให้มีการแบ่งสายงานของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนตลอดไปเพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชาชนในชุมชน

            3.ด้านการสั่งการ องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งควรมีการออกกฎ ระเบียบข้อบังคับ ข้อห้ามปฏิบัติในการท่องเที่ยว และปิดประกาศให้นักท่องเที่ยวทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่ออนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืนและเกิดความสะอาด

            4.ด้านการวางแผน องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้งควรมีการนำโครงการ/กิจกรรม ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความความสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลอดทั้งปี

 

 บรรณานุกรม  

  

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(2540, น.5). สืบค้นจาก

            https://sites.google.com/site/tanapoomza/com/xngkh-prakxb-khxng-kar-thxng-

            theiyw-tourism-element เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2559.

กษมา ประจง. (2546). ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อชุมชน:กรณีศึกษาชุมชนบ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

นันทรัตน์  ทองมีเพชร. (2553). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กรณีศึกษาชุมชนลีเล็ด   ตำบลลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา           การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร.

พุฒิตา  หวัดสนิท. (2555). การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสะพลี : กรณีศึกษาหาดทุ่งวัวแล่น ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร. สารนิพนธ์

รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2520 การอนุรักษ์พื้นที่บางกระเจ้าเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร.

วันดี  สีสังข์. (2549). แนวทางเพื่อการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของจังหวัด กาญจนบุรี. ปริญญาการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนและการจัดการ การท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ศิริวรรณ เสรีรัตน์และคณะ. (2545). องค์การและการจัดการ. กรุงเทพฯ: ธรรมสาร.

ค่ายเพลง “บทเพลงตามรอยพ่ออัครศิลปิน” ปี ๒๕๖๐

ชื่อผลงานทางวิชาการ         ค่ายเพลง  “บทเพลงตามรอยพ่ออัครศิลปิน” ปี 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม                   ตามโครงการกิจกรรม ทำดี ตามคำพ่อสอน จัดแสดงเมื่อ  วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2560 ณ อาคาร 1 ชั้น 4มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ  อาจารย์ณัฏฐ์ เดชะปัญญา สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิ บันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ เจ้าพระยา    โดยการนำของอาจารย์ณัฏฐ์ เดชะปัญญาและทีมงาน ได้จัดค่ายเพลงเพื่อสร้างบทเพลงตามรอยพ่ออัครศิลปิน  “จากค่ายเพลง บ้านสมเด็จฯเรคคอร์ด (ค่ายเพลงแห่งแรกในสถาบันการศึกษา)”ภายใต้สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนการสอน อาจารย์ณัฏฐ์ เดชะปัญญา ได้ถ่ายทอดความรู้ และเทคนิค ในการจัดทำค่ายเพลง  ตัวของศิลปินนักร้อง ได้ฝึกฝน  เรียนรู้ ตลอดจนกระบวนการผลิตศิลปิน / เพลง / มิวสิควิดีโอ   อย่างเป็นรูปธรรมออกสู่สายตาของประชาชนและฝึกปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมิได้มุ่งหวังการแสวงหาซึ่งผลกำไรจากผลประกอบการเป็นหลัก แต่ต้องการผลตอบแทนในเชิงของการได้มาซึ่งประสบการณ์ และทักษะการเรียนรู้ ในการปฏิบัติงานจริงของนักศึกษา ทำให้เกิดการฝึกฝนทักษะความสามารถ สำหรับการทำงานจริงในแวดวงธุรกิจบันเทิง จะเป็นผลงานส่วนตัวให้กับนักศึกษาในการรับรองความสามารถ สำหรับใช้ในการแสดงผลงานหรือสมัครงาน หลังจบการศึกษาได้…

 

ดีที่ ๒ – สร้างคนให้ทำค่ายเพลงเพื่อสร้างบทเพลงตามรอยพ่ออัครศิลปิน ตามรอยพระยุคลบาทอัครศิลปินสืบไป (ค่ายเพลง #บ้านสมเด็จฯเรคคอร์ด)

 

โดยมีเพลงและเนื้อเพลง / ศิลปิน / มิวสิควิดีโอ และงานจำนวนมาก “สามารถเข้าไปชมได้ในยูทูป”

ติดตามรายละเอียดได้ที่

https://www.youtube.com/user/BansomdejRecord/videos

https://www.youtube.com/watch?v=2ShQl9OBuHI

https://www.youtube.com/watch?v=uVggOdvBUKg

https://www.youtube.com/watch?v=Myeq2j9UNp0

https://www.youtube.com/watch?v=K-n3C0NJVfw

และ http://music.sanook.com/gallery_detail/2383493/content/?v=grid

ค่ายละครเวที : ละครเวทีบ้านสมเด็จฯ “จุดจบแห่งพันธนาการ” ปี 2560

ชื่อผลงานทางวิชาการ         ค่ายละครเวที : ละครเวทีบ้านสมเด็จฯ “จุดจบแห่งพันธนาการ” ปี 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม                 การจัดทำค่ายละครเวที    ตามโครงการกิจกรรม ทำดี ตามคำพ่อสอน  จัดแสดง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2560

ณ ห้องประชุม  อาคาร ๑ ชั้น ๔  มหาวิทยาลัยราชภัฏ

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ  อาจารย์ณัฏ เดชะปัญญา สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง   คณะวิทยาการจัดการ     โดยการนำของอาจารย์ณัฎฐ์

เดชะปัญญา และทีมงานละครเวทีบ้านสมเด็จฯ ได้จัดค่ายละครเวที     เรื่อง  “จุดจบแห่งมีที่มาจากแนวคิดเริ่มต้นของโครงการกิจกรรม ทำดี ตามคำพ่อสอน” จัดแสดงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20  เมษายน 2560 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รายได้ในการจัดงาน  มอบเป็นทุนกิจกรรมการศึกษาให้กับนักศึกษาที่เรียนดีมีคุณธรรมแต่ขาดทุนทรัพย์  (โดยมีผู้ชมประมาณ  3,000 คน)  และฝึกปฏิบัติงานด้านการจัดค่ายละครอย่างเป็นรูปธรรม โดยมิได้มุ่งหวังการแสวงหาซึ่งผลกำไรจากผลประกอบการเป็นหลัก แต่ต้องการผลตอบแทนในเชิงของการได้มาซึ่งประสบการณ์ และทักษะการเรียนรู้ ในการปฏิบัติงานจริงของนักศึกษา ทำให้เกิดการฝึกฝนทักษะความสามารถ สำหรับการทำงานจริงในแวดวงธุรกิจบันเทิง อันจะเป็นผลงานส่วนตัวให้กับนักศึกษาในการรับรองความสามารถ สำหรับใช้ในการแสดงผลงานหรือสมัครงาน หลังจบการศึกษาได้…

ดีที่ ๑ – สร้างคนให้ทำละครด้วยคำสอนของพ่อนำใจ

ดีที่ ๑ นี้ อาจารย์ณัฏฐ์ เดชะปัญญา ได้ถ่ายทอดความรู้ วิธีการ และฝึกซ้อมศึกษา “จากค่าย ละครเวทีบ้านสมเด็จฯ” ในรายวิชา การแสดงเพื่อธุรกิจบันเทิง ให้นักศึกษาได้เรียนรู้การแสดงและกระบวนการผลิตละครเวทีอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณสราวุธ มาตรทอง นำแสดง รับบทเป็น “ชายปริศนา” เพื่อเป็นต้นแบบของนักแสดงมืออาชีพ และเพื่อการพัฒนาด้านการแสดงของนักศึกษาในเรื่อง The End has No End จุดจบแห่งพันธนาการ (โดยนำคำสอนของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ในเรื่องของการ“ให้อภัย”มาใช้ในบทละคร) จนกระทั่งนักศึกษา สามารถนำองค์ความรู้ ผลงาน ที่ได้รับการถ่ายทอดในห้องเรียน นำไปสู่กระบวนการการปฏิบัติสู่สังคมภายนอกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

 

ดี 1 ค่ายละครเวที #ละครเวทีบ้านสมเด็จฯ


 

ติดตามรายละเอียดได้ที่

https://www.facebook.com/bankanlakon/

และ https://www.youtube.com/user/BansomdejRecord/videos

https://www.youtube.com/watch?v=CiY3SJk82Mk

https://www.youtube.com/watch?v=8JdcJHt0lNw&t=38s