ชื่อผลงานทางวิชาการ  การจัดนิทรรศการท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทย

ปีที่พิมพ์  2556

ข้อมูลเพิ่มเติม  เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2556

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

ผศ.ดร.สุดถนอม  ตันเจริญ สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

                บทความวิจัย  เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (Travel Exhibition Influencing the Purchasing Decision Making on Domestic Travel of Thai Tourists) ผู้ศึกษา คือ ผศ.ดร.สุดถนอม ตันเจริญ  สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและองค์ประกอบสำคัญของการจัดนิทรรศการท่องเที่ยว ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทย โดยการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานนิทรรศการท่องเที่ยว ในกรุงเทพฯ จำนวน 400 คน

ผลการวิจัย พบว่า สถานที่จัดงาน ที่จอดรถ ภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยว พนักงานขาย และการลดราคา มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวจากโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตมีผลต่อการกระตุ้นการซื้อมากที่สุด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่นิยมท่องเที่ยวในวันหยุดกับครอบครัว จากผลการวิจัย นำมาสู่ข้อเสนอแนะว่า ผู้จัดงานควรให้ความสำคัญกับการวางแผนเกี่ยวกับที่จอดรถและแผนผังการจัดงาน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายและมนุษยสัมพันธ์ของพนักงานขาย เนื่องจากเป็นปัจจัย ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อบริการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานและข้อมูลด้านการท่องเที่ยวผ่านสื่อโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตให้มาก ในส่วนของภาครัฐ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเน้นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยว สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเชิงกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างจริงจัง ตลอดจนการรณรงค์การท่องเที่ยวภายในประเทศ ร่วมกับเอกชนและหน่วยงานอื่นทุกภาคส่วน โดยเน้นการประชาสัมพันธ์โปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับที่ได้รับจากการวิจัยครั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลจากการศึกษาไปปรับปรุงและ/พัฒนาแผนงานด้านการจัดนิทรรศการท่องเที่ยว และแผนการสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 

มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ 19/1 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพฯ 10160

Email: [email protected] โทร.0982899495 โทรสาร 028074528

 

บทคัดย่อ

                การท่องเที่ยวโดยชุมชนแสดงถึงการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการจัดการการท่องเที่ยว จัดการดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม องค์กรชุมชน การจัดการ และการเรียนรู้ โดยทุกส่วนจะเกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ ปัจจุบันทุกชุมชนยังต้องการความร่วมมือภายในชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถช่วยกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนโดยทำความเข้าใจในบทบาทด้านการวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินการ และการสรุปบทเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ทั้งด้านการสร้างงานสร้างรายได้ ความเข้มแข็งของชุมชนและการพึ่งตนเอง ตลอดจนคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและปริมาณของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ: การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการการท่องเที่ยว ท้องถิ่น

                Community Based Tourism presents the consideration of sustainable environment, society, and culture. By which community’s people play roles in the directing the tourism management, taking care of tourism resources for clients’ learning. Its essential components are natural resources, culture, communal organizations, management, and learning which concerning to natural travel destinations, cultural custom, way of life, and history. Nowadays every community needs more cooperation within their community including the participation among communes, municipality and local administrative organization, public and private concerned organizations. All such organizations are able to create and enhance public’s knowledge and understanding about Sustainable Community Based Tourism with community’s potential development by understanding the roles in planning, making decision, operating, and lesson learned summary. Leading to community based tourism management by next generation continually would occur and usefulness for locality on income and careers’ contribution, stronger and self-reliance, including the tourism destination’s quality and more tourists.

Keywords: tourism, community based tourism, tourism management, community

 

 

บทนำ

                การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศมากขึ้น การเดินทางที่สะดวกขึ้น โทรคมนาคมที่ให้ข้อมูลมากขึ้น สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่าง ๆ มีมากขึ้น กำลังซื้อมีมากขึ้น ทิศทางการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกจึงมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางในอาเซียนกว่า 80 ล้านคน เป็น 80 ล้านคนที่มีคุณภาพ ที่มองว่าอาเซียนคือแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้ไหลเวียนในภูมิภาคกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นได้ บทบาทของชุมชนต่อการท่องเที่ยว คือกระบวนการในการจัดการความรู้ภายในชุมชนเอง มีการพัฒนาทักษะและเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้กับสมาชิกในชุมชนในการ บริหารจัดการท่องเที่ยว(ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 2559)

                การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางพาณิชย์ที่มีความสำคัญมากสาหรับเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน ถึงแม้การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งการท่องเที่ยวก่อให้ผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ สังคมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย เช่น  การที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากกว่าที่สิ่งแวดล้อมจะรองรับไหวจนเกิดปัญหาขยะ น้ำเสีย จนสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมในที่สุด เกิดปัญหาขัดแย้งกับคนในชุมชน เช่น ปริมาณน้ำไม่พอใช้ ปัญหาบุกรุกที่ดิน วัฒนธรรมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป

                ก่อนที่จะกล่าวถึงสาระสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนและท้องถิ่น ผู้เขียนขอกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” และ “การท่องเที่ยวชุมชน” อยู่ที่ “การจัดการ” เนื่องจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีการจัดการเองโดยชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และเพื่อประโยชน์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเป็นสำคัญ แต่การท่องเที่ยวชุมชนอาจจะอาศัยองค์ประกอบที่มีอยู่ของชุมชนหรือศักยภาพของชุมชนเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น ๆ โดยมีผู้ประกอบการและ/หรือรัฐเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชน

                ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับมีหลายทาง คือประโยชน์ในด้านการพัฒนาของชุมชนเองโดยที่การท่องเที่ยวทำขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาหรือความต้องการของชุมชนบางอย่าง มิใช่เพียงความต้องการทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่ชุมชนต้องการประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนนั้นก็จะมีแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม หรืออาจจะเป็นการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีของชาติและท้องถิ่นไว้ให้ยั่งยืนสู่ลูกหลานรุ่นต่อไป ดังนั้นประโยชน์ก็คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายกับชุมชน มุ่งไปที่การพัฒนาการจัดการมากกว่าประโยชน์ในเรื่องรายได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การสร้างงานและรายได้เป็นผลพลอยได้ที่เกิดแก่ชุมชนและท้องถิ่นภายหลังที่ชุมชนได้มีการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

 

การท่องเที่ยวโดยชุมชน

                ช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาและในอนาคตมีแนวโน้มของพัฒนาแนวคิดและรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) เติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายมากขึ้น คือ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ด้วยเหตุที่ชาวบ้านในบางชุมชนที่เกิดความตระหนักในปัญหาดังกล่าว บวกกับแรงหนุนเสริมจากภาครัฐและเอกชน  การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงถูกริเริ่มขึ้น

การท่องเที่ยวท่องเที่ยวชุมชน เป็นการเน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน กล่าวคือ การที่มุ่งพัฒนาให้คนในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการท่องเที่ยว และไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ได้เน้นถึงการสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้ใช้ความรู้ของตนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยให้มีความสมดุลกับภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งการเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจของชุมชนในอนาคต เพราะการดูแลทรัพยากรเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนซึ่งเป็นของส่วนรวมไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

                การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงสะท้อนให้เห็นถึงการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการจัดการการท่องเที่ยว จัดการดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม องค์กรชุมชน การจัดการ และการเรียนรู้ โดยทุกส่วนจะเกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ ปัจจุบันทุกชุมชนยังต้องการความร่วมมือภายในชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลเชื่อมโยงจากคุณค่าของการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมของชุมชน และสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากร ไปสู่ความยั่งยืนในการท่องเที่ยว ในขณะที่การท่องเที่ยวกระแสหลัก เน้นมูลค่าจากการท่องเที่ยว และตัวนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ตลอดจนอาศัยอำนาจเป็นเครื่องมือบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ทำให้ทรัพยากรเกิดความเสื่อมโทรม และไม่มีความยั่งยืน นับได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนโดยแท้ ทำให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นด้วยกันเอง

ความหมายของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) หมายถึง “ทางเลือกในการจัดการท่องเที่ยวที่ชุมชนเข้ามากำหนดทิศทางของการท่องเที่ยวบนฐานคิดที่ว่าชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรและเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากการท่องเที่ยว โดยการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นด้านต่างๆ ไม่ว่า ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชุมชน มาใช้เป็นต้นทุนหรือปัจจัยในการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้มีความรู้ความสามารถและบทบาทที่สำคัญในการตัดสินใจ การวางแผน การดำเนินงาน การสรุปบทเรียน และมุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนสู่คนรุ่นลูกหลานและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของธรรมชาติเป็นสำคัญ” ทั้งนี้ความหมายเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้ถูกเขียนขึ้นภายใต้ข้อสรุปที่เกิดจากการดำเนินงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชน ของชุมชน และเพื่อชุมชน อันเป็นความพยายามของชุมชนเองที่จะสร้างอัตตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว (Tourism Identity) ให้กับพื้นที่ทางสังคมของชุมชนที่ถูกท่องเที่ยว (สินธุ์ สโรบล, 2559)

องค์ประกอบของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

                องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีอยู่ 4 ด้าน คือ 1) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม 2) องค์กรชุมชน 3) การจัดการ 4) การเรียนรู้ ประเด็นสำคัญของแต่ละองค์ประกอบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 2559) อธิบายได้ดังต่อไปนี้

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม

1) ชุมชนมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีวิถีการผลิตที่พึ่งพาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

2) ชุมชนมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

ด้านองค์กรชุมชน

1) ชุมชนมีระบบสังคมที่เข้าใจกัน

2) มีปราชญ์ หรือผู้มีความรู้ และทักษะในเรื่องต่าง ๆ หลากหลาย

3) ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา

ด้านการจัดการ

1) มีกฎ-กติกาในการจัดการสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

2) มีองค์กรหรือกลไกในการทำงานเพื่อจัดการการท่องเที่ยว และสามารถเชี่อมโยงการท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยรวมได้

3) มีการกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม

4) มีกองทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

ด้านการเรียนรู้

1) ลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่าง

2) มีระบบจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านกับผู้มาเยือน

3)  สร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งในส่วนของชาวบ้านและผู้มาเยือน

หลักการของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน  ที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนมีหลักการ (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 2559) ดังนี้

  1. ชุมชนเป็นเจ้าของ
  2. ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ
  3. ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง
  4. ยกระดับคุณภาพชีวิต
  5. มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม
  6. คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น
  7. ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
  8. เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  9. เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น
  10. มีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

                การที่จะให้ชุมชนดำเนินการท่องเที่ยวตามหลักการดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจในความแตกต่างของการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวทั่วไป กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นความสำคัญและเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้มาเยือน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) กับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในสังคมท้องถิ่นที่ชุมชนใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงมีจุดเด่นคือชุมชนเป็นแหล่งข้อมูลหรือแหล่งเรียนรู้เอง มีวิถีชีวิตชุมชนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงจัดการทรัพยากรบนพื้นฐาน 3 ประการ คือฐานการเรียนรู้และจัดการโดยชุมชน ฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และฐานพิธีกรรม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เพราะมีความแตกต่างกับการท่องเที่ยวกระแสหลักอย่างชัดเจน (สุภาวิณี ทรงพรวาณิชย์, 2558)

                ดังนั้น การท่องเที่ยวแบบนี้จึงมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม ด้วยการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ชุมชนใช้เป็นฐานการผลิต โดยมีวัฒนธรรมธรรมและสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องจิตวิญญาณของชุมชน ในการสร้างสัมพันธ์กันภายในชุมชนและการสัมพันธ์กับภายนอก  ในความหมายของการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม

ความแตกต่างระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่น

                สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (2559) อธิบายว่า Ecotourism ภาษาราชการเรียกว่า “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” แต่หลายชุมชนหรือหลายองค์กร เรียก “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ความแตกต่างของ Ecotourism กับการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) คือการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) เน้นที่ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานแต่ Ecotourism มีธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ชุมชนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง

                Homestay ภาษาราชการเรียกว่า “ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท” มีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) คือ เน้นบ้านเป็นศูนย์กลาง แต่การท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการบริหารจัดการที่ชัดเจนในรูปองค์กรชุมชน จะพักค้างคืนในชุมชนในรูปแบบที่ชุมชนจัดการ อาทิ โฮมสเตย์ รีสอร์ทชุมชน ตั้งแคมป์หรือไม่ค้างคืนก็ได้

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม  โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันในภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างคุณภาพใหม่ของการท่องเที่ยวให้มีความหมายมากกว่าการพักผ่อน ความสนุกสนาน และความบันเทิง เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

                การรับรู้และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวคือหัวใจของการพฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากผลงานวิจัยของ  Ellis (2014) เรื่อง The legacy of war for community-based tourism development: learnings from Cambodia ศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนในกัมพูชา พบว่า ชุมชนรับรู้เรื่องกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในชุมชน เช่น โฮมสเตย์กับกิจกรรมที่เสนอแก่นักท่องเที่ยว และอาหาร ผ่านคณะกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนเท่านั้น ไม่รวมถึงกิจกรรมในการซื้อของในตลาดของนักท่องเที่ยว หรือใช้บริการอื่น ๆ ในชุมชน ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวอิสระและมากับทัวร์ที่ใช้บริการของกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนทั้งสิ้น การรับรู้ที่ขาดหายไปมีผลต่อรายได้ของชุมชน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้โดยตรงจากนักท่องเที่ยว และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชนในภาพรวม นอกจากนั้น ชุมชนยังมีรายได้ทางอ้อมจากธุรกิจหรือองค์กรทางการศึกษา วัฒนธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้มีส่วนร่วมโดยตรงและคนในชุมชนที่ไม่มีส่วนร่วมก็ตาม

                จากผลการวิจัยของ Ellis ชี้ให้เห็นว่า การจัดการการท่องเที่ยวตามแนวคิดของการท่องเที่ยวโดยชุมชนส่งผลต่อมิติทางสังคม คือความสมัครสมานกลมเกลียวและความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน หากสมาชิกในชุมชนได้รับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กรรมการหรือผู้นำชุมชนคือส่วนสำคัญอย่างมากต่อการรับรู้และการมีส่วนร่วม ซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชนโดยรวมอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับงานวิจัยในประเทศไทยของอภิวัฒน์ ภูริศิวารักษ์ (2553) เรื่อง การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ศึกษาพื้นที่ บ้านฝั่งท่า ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน การจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น และการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน ผลการศึกษาพบว่า ชมรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อการอนุรักษ์ บ้านฝั่งท่า พัฒนามาจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน ซึ่งเกิดจากความคิดเห็นและการร่วมกลุ่มกันเองของชาวบ้าน เพื่อให้การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จ จึงได้พัฒนารูปแบบเป็นการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่คนในชุมชนและนำมาซึ่งแรงจูงใจในการให้ความร่วมมืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน

                ดังที่กล่าวมา ประเด็นการอนุรักษ์สอดคล้องกับมติที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The United Nations Conference on Conference on Environment and Development) หรือการประชุม Earth Summit พ.ศ.2535 กับปลุกกระแสการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการมุ่งหารายได้ทางเศรษฐกิจ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความตระหนักถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจุดหมายปลายทางจะเป็นที่ใด จะเป็นกลุ่มใหญ่ (Mass Tourism) เป็นกลุ่มขนาดเล็ก ทั้งในเมืองและชนบท (บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา, 2548) และจากการประชุม Globe’90 ณ ประเทศแคนาดา ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่าหมายถึงการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และผู้ที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นในปัจจุบัน โดยมีการปกป้องและสงวนรักษาโอกาสต่างๆ ของอนุชนรุ่นหลัง (เพชรี นนท์ศิริ, 2550) การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาความสมดุลของทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญและ มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อชุมชน เช่น ผลงานวิจัยของ จรินทร์ อาสาทรงธรรม (2554) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แนวทาง การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนตลาดน้ำอย่างยั่งยืน ต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบยั่งยืน เพื่อให้มีความสามารถในการดูแลรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีทักษะการจัดการและการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ดังนั้นชุมชนควรมีการวางแผนและควบคุมการใช้ทรัพยากรท่องเที่ยว และการได้รับผลประโยชน์จากการให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเยือน อันจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ชุมชนตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2547 ตลาดน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นจากสมาชิกในชุมชนริมน้ำ ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบเดิม ซึ่งนับวันจะมีแต่การล่มสลายของวิถีชีวิตริมน้ำ จึงได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยมขึ้นมา และในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

                จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน จะเน้นคุณค่าของการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมของชุมชนและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในขณะที่การท่องเที่ยวกระแสหลัก เน้นมูลค่าจากการท่องเที่ยว และตัวนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ตลอดจนอาศัยอำนาจเป็นเครื่องมือบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ทำให้ทรัพยากรเกิดความเสื่อมโทรม และไม่มีความยั่งยืน นับได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนโดยแท้ ทำให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดคุณค่า พลัง และความสุขของชุมชนอย่างยั่งยืน

                ในเรื่องของความตระหนักของสมาชิกในชุมชนประกอบกับความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายของตนเองคือหัวใจของการจัดการที่จะนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างยั่งยืนคือ “เราอยากจะทำท่องเที่ยวเพื่ออะไร” สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี ความเข้มแข็งของชุมชน หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือผสมผสานกัน  ไม่ใช่ตามกระแสหรือตามความต้องการขององค์กรใด เช่น เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีด้านความเชื่อของการทำบุญเข้าวัด ประเพณีรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ หรือเพื่อป้องกันการย้ายถิ่น ไม่อยากให้ลูกหลานไปทำงานในเมือง แล้วมาวางแผนจะดำเนินการอย่างไรในด้านการท่องเที่ยวลูกหลานจะได้มาทำงานสร้างเยาวชน มันก็จะมีประโยชน์แล้วเป็นไปตามเป้าหมาย ในความหมายของการมุ่งมั่นต่อเป้าหมายและดำเนินการไปในทิศทางนั้นอย่างจริงจัง

ข้อควรคำนึงในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

                การป้องกันปัญหาด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผู้นำหรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะต้องมีวิธีการจัดสรรงานและรายได้อย่างเป็นธรรม ตรงกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องการให้มีการจัดการรายได้จากการท่องเที่ยวลงไปสู่ชุมชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยกรรมการของชุมชนที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มชาวบ้าน นักธุรกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น ยึดมั่นต่อเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ การดูแลสิ่งแวดล้อม หรือความเข้มแข็งของชุมชน หากมุ่งเป้าหมายเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวก็จะเกิดผลเสียตามมา อาจมีความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นไม่ตรงกัน

                เรื่องที่สองคือควรระมัดระวังเรื่องความชัดเจนของผู้ดำเนินการ คือ เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว ใครล่ะที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ทุกคนควรต้องมีส่วนร่วม ขึ้นอยู่กับว่าจะมีส่วนร่วมในลักษณะใด เช่น ผู้นำชุมชนจะต้องมีกระบวนการวางโครงสร้างบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจน เช่น เด็กประถม มัธยม วัยรุ่น วัยทำงาน ทำอะไรบ้าง  ถ้าต่างคนต่างทำก็อาจจะขัดแย้งกันได้

                เรื่องสุดท้ายคือ ผลกระทบด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรการท่องที่ยวได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น น้ำตก แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ เป็นต้น ส่วนของสิ่งแวดล้อมจะเกี่ยวข้องกับการดูแลให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติ ไม่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและฝีมือมนุษย์ เช่น การเข้าไปในอุทยานการเน้นย้ำจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ไม่ตัด ดึง ฉีก กิ่งไม้ต้นไม้ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ล่าสัตว์ หลีกเลี่ยงการส่งเสียงดังอันจะเป็นการสร้างความรำคาญแก่สัตว์ป่าและอาจเข้ามาทำร้ายได้ เป็นต้น

 

การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

                ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องอาศัยสมาชิกภายในชุมชนที่มีความสามัคคีและมีโอกาสหารายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจัดการท่องเที่ยว จากการมีโอกาสใกล้ชิดกัน มีการพูดคุยกันมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างต่อเนื่องจากผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวและได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอดจนการกำหนดให้มีการประเมินผลและสรุปบทเรียนทุกครั้งของกิจกรรม จะส่งผลให้ชุมชนข้างเคียงเกิดการตื่นตัวและสนใจในกิจกรรมไปด้วย

                จากผลการวิจัยหลายกรณี คณะกรรมการของชุมชนคือตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ หรือกลุ่มวัยที่แตกต่างกัน และสมาชิกชุมชนดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ รวมถึงสาธารณูปโภคพร้อมต่อการรองรับนักท่องเที่ยว ชุมชนจึงต้องตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนโดยทำความเข้าใจในบทบาทด้านการวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินการ และการสรุปบทเรียน เกี่ยวกับทรัพยากรการท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยว สถานที่พัก ร้านอาหาร บริการสาธารณะที่จำเป็น เป็นต้น นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนและการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวแล้ว การพัฒนาส่วนประสมการตลาดบริการ (7 Ps) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ตามแนวคิดของ Kotler (2003) ประกอบด้วย 1) การกำหนดมาตรฐานสินค้า/บริการ มีการขายสินค้า/บริการที่มีคุณภาพดี 2) การกำหนดราคาที่ยุติธรรม ไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว 3) การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย มีการจัดวางและบอกตำแหน่งร้านค้าที่ชัดเจน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อสินค้าได้สะดวก 4) การส่งเสริมการตลาด เพื่อจูงใจหรือสื่อสารข้อมูลให้นักท่องเที่ยว 5) การพัฒนาคนในชุมชน/เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ และคุณสมบัติของผู้ให้บริการที่ดี (มีจิตบริการ หรือ Service Minded) 6) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และทัศนียภาพ รวมถึง 7) กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบริการและรับบริการต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เช่น ถนน/ป้ายบอกทาง สถานที่จอดรถ ถังขยะที่เพียงพอ ห้องน้ำ มีเสียงตามสายสำหรับประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น

 

สรุป

                อุตสาหกรรมการทำรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล ฉะนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนจำเป็นจะต้องมีหลักการจัดการที่ดีด้านการอนุรักษ์และเสริมสร้างศักยภาพของการใช้ทรัพยากรท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ ความเข้มแข็งของชุมชนและการพึ่งตนเอง ตลอดจนคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและปริมาณของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น มีผลต่อการประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยยึดมั่นต่อการปฏิบัติตามแนวทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน โดยแสวงหาการสนับสนุนสำคัญจากองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงเทศบาล อบต. ใกล้เคียง สถาบันการศึกษา ชุมชนข้างเคียง  ร้านค้าต่างๆ นักธุรกิจร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมหรือกองทุนเพื่อพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะในประเทศใด จะยั่งยืนได้ สมาชิกในชุมชนด้วยความเข้าใจในแนวคิดของการท่องเที่ยวโดยชุมชนประสมประสานกับการวางแผนการตลาดการท่องเที่ยว (7Ps) และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับความหมาย องค์ประกอบ และหลักการการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงข้อค้นพบตรงกันจากงานวิจัยในประเทศและต่างประเทศ

เอกสารอ้างอิง

7.1 บทความจากวารสาร (Journal)

[1] จรินทร์ อาสาทรงธรรม. (2554). การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนตลาดน้ำอย่างยั่งยืน. วารสารนักบริหาร ปีที่ 31(1), 204-209.

[2] Ellis, Sotear. (2014). The legacy of war for community-based tourism development: learnings from Cambodia. Community Development Journal, 49 (1), 129-142.

[3] เพชรศรี นนท์ศิริ. (2550). การพัฒนาการท่องเที่ยวชนบทของประเทศไทย: การถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ในประเทศฝรั่งเศส. วารสารวิชาการ การท่องเที่ยวไทยนานาชาติ, (2), 164-182.

7.2 หนังสือ

[1] บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา. (2548). การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน. กรุงเทพฯ: เพรส แอนด์ ดีไซน์.

[2] Kotler, P. (2003). Marketing management. New Jersey: Prentice-Hall.

7.3 เว็บไซด์

[1] ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาคน. [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา https:// thaicommunitybasedtourismnetwork__bestpractice/leeled-2/, เข้าดูเมื่อวันที่ 29/01/2559.

[2] สุภาวิณี ทรงพรวาณิชย์. (2558). สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน. [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา https:// thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/media/new/cbtrongkla/, เข้าดูเมื่อวันที่ 1/02/2559.

[3] สินธุ์ สโรบล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาคและเครือข่ายการเรียนรู้และประสานงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชน. การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน. [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.trf.or.th/index.php__:research-forum&Item id=146, เข้าดูเมื่อวันที่ 5/02/2559.

[4] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). รายงานการวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก, [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.trf.or.th/ index.php?option=com__tid=54:2554&Itemid=203, เข้าดูเมื่อวันที่ 12/02/2559.

[5] สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2559). การท่องเที่ยวโดยชุมชน, [ระบบออนไลน์], แหล่งที่มา http://www.cbt-i.org/?ge=show_pages&gen_ lang=20112012094103#.VtqNi32LTtQ, เข้าดูเมื่อวันที่ 19/02/2559.

 

ประวัติผู้เขียนบทความ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุดถนอม ตันเจริญ

คุณวุฒิปริญญาเอก รัฐศาสตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ การตลาด การท่องเที่ยว การบริหารทรัพยากรมนุษย์ รัฐประศาสนศาสตร์

ตำแหน่งปัจจุบัน รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

งานวิจัยที่สนใจ การท่องเที่ยว การบริหารธุรกิจ การสื่อสารการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

View Fullscreen