ชื่อผลงานทางวิชาการ             การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม     

ปีที่พิมพ์                           25๖๐

ข้อมูลเพิ่มเติม                           เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์กันยาวรรนธ์  กำเนิดสินธุ์  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

บทความวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม” ผู้เรียบเรียง คืออาจารย์อาจารย์กันยาวรรนธ์  กำเนิดสินธุ์  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง  (2) ศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง กลุ่มตัวอย่าง   คือ ประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งจำนวน 357 คน (โดยใช้แบบสอบถาม) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ใหญ่บ้าน จำนวน  12  คน (โดยใช้การสัมภาษณ์)

      จุดเน้นของบทความวิจัยนี้ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ทำให้ชุมชนมีการจัดการรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย ตลาดน้ำบางผึ้ง โฮมสเตย์ สวนป่าชุมชนที่เขียวขจี และหมู่บ้านโอท็อป เป็นต้น  โดยการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร อบต.และผู้ใหญ่บ้าน การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยกันเอง

     ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย   เป็นแหล่งสร้างและกระจายรายได้ให้คนในชุมชนบางน้ำผึ้งและชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน และยังเป็นประโยชน์กับผู้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาชุมชนบางน้ำผึ้ง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนอื่นๆต่อไป

 

การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

The Participation Process of Local People in Bangnamphueng

                          Community in Managing the Ecotourism and Cultural Tourism

 

กันยาวรรนธ์  กำเนิดสินธุ์

Kanyawan Kamnedsin

 

บทคัดย่อ

      การวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม  มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง  (2) ศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง

    ประชากรกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จำนวนประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน  357 คน ได้จากการสุ่มแบบไม่เจาะจง  (Simple Random Sampling) และการคำนวณจากตารางของเครจซี่และมอร์แกน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประชากรกลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling)คือผู้บริหารท้องถิ่น 1 คน คือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำท้องที่  คือผู้ใหญ่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน 11 คน รวมประชากรกลุ่มตัวอย่าง 12 คน

   ผลของการวิจัย พบว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.32  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ  ระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน ค่าเฉลี่ย 4.02 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.92 อยู่ในระดับมาก และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม ค่าเฉลี่ย 2.76 อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้มากทุกด้านแต่อยู่ที่ด้านที่ประชาชนสนใจและได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ดังที่พบว่าการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลอยู่ในระดับมากและรองลงมาคือการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ซึ่งการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนบางน้ำผึ้งมี 3 ส่วนคือ การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร อบต.และผู้ใหญ่บ้าน การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยกันเองเอง  จึงทำให้ชุมชนมีการจัดการรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง พบได้จากการได้รับรางวัลด้านต่างๆ ของชุมชน เช่น รางวัลกินรี  ปี 2550  และ 2555 เรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจาก ททท.  รางวัลนวัตกรรมการท่องเที่ยวจากสำนักนายก  และผลิตภัณฑ์ชุมชนก็ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นลูกประคบธัญพืช KBO ที่ 1  ระดับประเทศ  ได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ระดับอาเซียนของภาคกลาง  อีกทั้งสมาชิกในชุมชนยังได้รับประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันคือ ได้รับเงินปันผลจากธนาคารชุมชนทุกปี  กองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ  จัดแพทย์ตรวจรักษาฟรีสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

คำสำคัญ :  การมีส่วนร่วม,   แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

 

Abstract

      The objectives of this research were (1) to study the participation process of local people in Bangnamphueng community in managing the community’s conservative and cultural tourism, (2) to study a model of conservative and cultural tourism for Bangnamphueng community.

         For quantitative research, the population was 357 local people which were selected based on Simple Random Sampling. The sample size was determined by Krejcie & Morgan’s table. For qualitative research, the population was a community by selected based on purposive sampling.  The sample size was  president of sub-district administration organization  and  village headmen from 11 villages, totaling 12 individuals.

      The results of the study showed that the sample had moderate level of participation process with a mean score of 3.32. When individual aspects were considered, follow-up and performance evaluation had the highest mean score (x̄  = 4.02, at high level). It was followed by mutual benefit taking (x̄  = 3.92, at high level). The lowest mean score was planning for implementing activities( x̄  = 2.76, at moderate level). These results were consistent to the results of interviewing local administrator and leaders. The interview results indicated that local people did not have high level of participation in all aspects but only interesting and fair aspects. As mentioned earlier, follow-up and evaluation had the high mean score. It was followed by mutual benefit taking. The participation process of the members of Bangnamphueng community consisted of three parts: the participation of  Subdistrict Administrative Organization (SAO)’s administrators and village headmen; village headmen-local people participation; and public participation. This led to vigorous management of ecotourism and cultural tourism, reflecting by several awards, for example, Kinnaree Awards in 2007 and 2012 under the title of the participation in managing local tourist attractions granted by TAT, Innovative Tourism Award granted by Prime Minister Office. Additionally, Bangnamphueng local product “Herbal Compress Ball” won the Innovative Local Wisdom Award for Knowledge-Based OTOP (KBO) at national level. Bangnamphueng community also received the award of homestay standard at ASEAN region. Moreover, the community members gained mutually benefits from tourist attractions because they gained dividend from community bank each year and from Elderly Welfare Fund,  right to be physically checked by a group of physicians twice a week. Besides, a body of knowledge was promoted to consistently enhance local wisdom potentiality.

Key  words :   Paticipation, Ecotourism and Culture tourism

 

บทนำ

      ประเทศไทยในปีพ.ศ. 2559 หลังเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ  ประเทศไทยจะได้รับวิกฤตหรือโอกาสทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของประชาชนไทย  อันเนื่องจากการเปิดประชาคมอาเซียนได้นำมาซึ่งความร่วมมือและการแข่งขันควบคู่กันไป  แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศก็ยังคงยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการอยู่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11  ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม   เพื่อให้สภาพการคงอยู่ของชุมชนท้องถิ่นไทยรวมทั้งการอนุรักษ์เอกลักษณ์ความเป็นไทย  จากความร่วมมือของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ได้ปรากฎอยู่ในกฎบัตรอาเซียน  (Asean contract)  หรือข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกด้วยเช่นกัน  อาเซียนมิได้มุ่งส่งเสริมแต่การขยายตัวของธุรกิจ อุตสาหกรรม  และแรงงานเท่านั้น  แต่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประชาคมอาเซียนควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สังคม  และวัฒนธรรมของชุมชนอาเซียนด้วยเช่นกัน(สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2558 : ออนไลน์)  ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหัวใจของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community based Tourism : CBT)  ท่ามกลางกระแสการเปิดประชาคมอาเซียนการทำความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนอาเซียนไปด้วยกันในทุกๆ มิติ  จากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ท่ามกลางการขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนไปพร้อมๆ กันของประเทศสมาชิก

   ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูปการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง  โดยการส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  โดยการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาสินค้าและบริการด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน  เพื่อการพึ่งพาตนเองและดึงดูดนักท่องเที่ยวอื่นๆ  ด้วยเหตุนี้  ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน  และภาคประชาชนจึงต้องเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนอย่างเร่งด่วน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวและเกิดความยั่งยืน เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มีความพร้อมทางด้านคุณภาพการแข่งขัน เกิดการสร้างรายได้  และกระจายรายได้ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2554 : 72)  โดยการจัดสรรงบประมาณไปสู่ชุมชนเพื่อเป็นการให้ชุมชนได้บริหารจัดการสร้างเศรษฐกิจ  สร้างรายได้ และพัฒนาให้ไปสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ดังกรณีของชุมชนบางน้ำผึ้งหรือตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นชุมชนที่ผู้วิจัยสนใจทำการวิจัย   เนื่องจากเป็นชุมชนที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร  เป็นแหล่งพักผ่อนของทั้งคนกรุงเทพฯและใกล้เคียง เนื่องจากชุมชนนี้มีทรัพยากรที่สนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว  โดยเฉพาะเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นส่วนหนึ่งของกระเพาะหมูในเขตบางกระเจ้า    ผู้นำท้องถิ่นใช้ความความสมบูรณ์ของทรัพยากรเสนอวิสัยทัศน์พัฒนาชุมชน  โดยการประชุมประชาคมและลงมติร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  และจากการพัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (แผนพัฒนาสามปี อบต.บางน้ำผึ้ง, 2558)   หากแต่เมื่อผู้วิจัยได้ลงพื้นที่ก็จะพบว่ามีทั้งประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

      ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสนใจที่จะศึกษา การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม  เนื่องจากการจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ดูจะมีทีท่าเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง  เป็นเหตุให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนบางน้ำผึ้ง   ที่นำมาซึ่งรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

 

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

  1. เพื่อศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง
  2. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง

 

วิธีวิจัย

         ประชากร ประชากรชุมชนบางน้ำผึ้งประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน  มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,161 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นมีประชากรรวม 4,921 คน แยกเป็น ชาย 2,341 คน และหญิง 2,580 (แหล่งข้อมูล :  องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง 9 มกราคม 2558)

         กลุ่มตัวอย่าง (Samples)  วิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) โดยการสุ่มแบบไม่เจาะจง (Simple random sampling) ได้จำนวนประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน  357 คน คำนวณโดยตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) ค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ 0.5 ระดับความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ 5% และระดับความเชื่อมั่น 95%

         เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

                 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed  Method) ระหว่างวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) กับวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ(Quality  Research)

          1.1 การวิจัยเชิงปริมาณใช้ แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สร้างขึ้นโดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกรอบแนวคิดการศึกษาวิจัย ซึ่งมีขั้นตอนการสร้างแบบสอบถาม

                     รายละเอียดเนื้อหาของแบบสอบถามที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 3 ตอน ดังนี้

ตอนที่ 1  เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย เพศ อายุ

สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน โดยเป็นคำถามแบบตรวจสอบรายการ (checklist)

                       ตอนที่ 2  เป็นข้อมูลเกี่ยวกับระดับความคิดเห็นระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยเป็นคำถามลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประเมินค่า  (Rating Scale) แบบลิเคอร์ท     (Likert)  โดยผู้วิจัยกำหนดระดับค่าคะแนนไว้เป็น  5 ระดับ

                       ตอนที่ 3  ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเพิ่มเติมในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวฯ เป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิด (Open ended)  เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาปรับปรุงต่อไป

1.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ มีผู้ให้ข้อมูลหลักและวิธีการสุ่มตัวอย่างดังนี้

                     ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key informants) ผู้ให้ข้อมูลหลักในการสัมภาษณ์ระดับลึก (In-depth interviews) โดยเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักจากการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) เป็นผู้นำท้องถิ่น  คือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง 1 คน และผู้นำท้องที่ได้แก่ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน จำนวน 11 คน  รวมผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 12 คน คุณสมบัติของผู้ให้ข้อมูลหลักคือ

  1.     1.  ผู้ผลิตนโยบายในการจัดการชุมชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง
  2.     2.  ผู้ที่มีส่วนร่วมผลักดันนโยบายให้ประสบผลสำเร็จ

               เครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ  แนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์ระดับลึก  โดยอาศัยแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลการศึกษาที่ได้จากการวิจัยเชิงปริมาณมาพัฒนาขึ้นเป็นแนวคำถามในการสัมภาษณ์ระดับลึก (In-depth interviews) ที่ครอบคลุมกระบวนการจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีกระบวนการเก็บข้อมูลตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจชุมชน จัดนิสิตไปศึกษาดูงาน ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยลงพื้นที่สังเกตการณ์และสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการกับกลุ่มชาวบ้าน และสุดท้ายสัมภาษณ์แบบเป็นทางการกับกลุ่มตัวอย่างที่กำหนด

 

แนวคิดทฤษฎี

แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน     

      โคเฮน และอัฟฮอฟฟ์ (Cohen & Uphoff, 1980 : 213) กล่าวไว้ว่าการมีส่วนร่วมโดยทั่วไปในมักจะกล่าวถึงขั้นตอนการตัดสินใจแต่ไม่ได้หมายความว่าการมีส่วนร่วมมีแต่ขั้นตอนการสินใจเพียงอย่างเดียว  ยิ่งเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่จะปฏิบัติเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ยิ่งต้องมีขั้นตอนสำคัญๆ คือ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (decision making)  การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ (implementation)  การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ (benefit)  และการมีส่วนร่วมในการประเมินผล (evaluation)   ซึ่งทุกขั้นตอนมีความสัมพนธ์ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมที่ขนตอนการตัดสินใจเป็นประการสำคัญ  จึงอาจกล่าวได้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การที่กลุ่มประชาชนหรือสมาชิกของชุมชนได้ออกมาทำงานร่วมกัน แสดงออกถึงความต้องการร่วมกัน และมีความต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม และการดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่อการปรับปรุงสภาพสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม โดยที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนหรือของกลุ่มตั้งแต่ต้น คือ มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา การแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติในกิจกรรม และมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล เพื่อการปรับปรุงแก้ไขในการพัฒนาต่อไป ซึ่งโกวิทย์  พวงงาม (2545 : 8) ได้กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมการจัดการชุมชนไว้4 ประการคือ การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกัน  การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน

 แนวคิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชน

     แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ( Ecotourism) (Wood, 2002, p. 9)   เป็นการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ส่วนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือการท่องเที่ยวในลักษณะการศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่นการดำรงชีวิต วัฒนธรรมชุมชน โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีอยู่ในชุมชนเป็นต้น  ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมจึงเป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวและสมาชิกชุมชนควรตระหนักในเรื่องของการรักษาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชนให้คงอยู่  เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างความสุขให้ทั้งนักท่องเที่ยวและสมาชิกในชุมชน

ผลการวิจัยและอภิปราย

การวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม  สามารถสรุปการวิจัย  อภิปรายผล  และข้อเสนอแนะจากการวิจัยดังต่อไปนี้

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

  1. เพื่อศึกษากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
  2. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมของชุมชนบางน้ำผึ้ง

 

ผลการวิจัย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลของการวิจัย สรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

  1. ปัจจัยส่วนบุคคล พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงจำนวน 210 คน คิดเป็นร้อยละ 58.4 รองลงมาเป็นเพศชายจำนวน 150 คน คิดเป็นร้อยละ 41.6 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41 – 50 ปีคิดเป็นร้อยละ 53.8 และรองลงมามีอายุ 51 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ  25.4 สถานะของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีสถานะสมรสร้อยละ 67.6 และรองลงมาคือสถานะโสดคิดเป็นร้อยละ 21.4 ระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 33.8  รองลงมาคือระดับประถมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 24.1 และในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 22.4 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวคิดเป็นร้อยละ 46.5  รองลงมามีอาชีพรับจ้างคิดเป็นร้อยละ 34.6   ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 75.9  รองลงมามีรายได้ตั้งแต่ 20,001 – 30,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.0

 

  1. วิเคราะห์กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม ในภาพรวมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.32 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน ค่าเฉลี่ย 4.02 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก 3.92 และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม มีค่าเฉลี่ย 2.76 อยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อแยกพิจารณาเป็นรายด้านมีรายละเอียดดังนี้

                 2.1 ด้านการมีส่วนร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา มีระดับระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 2.99 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือเมื่อวิเคราะห์เป็นรายข้อพบว่าระดับการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาครัวเรือน ค่าเฉลี่ย 3.66  อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือระดับการมีส่วนร่วมในการรับทราบปัญหาชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.57 อยู่ในระดับมาก  ส่วนระดับน้อยสุด  คือระดับการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน ค่าเฉลี่ย 2.45 อยู่ในระดับน้อย

                    2.2 ด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม มีระดับระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 2.76 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการเสนอแผนการจัดการชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.12  อยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา คือระดับการมีส่วนร่วมในโอกาสเสนอโครงการและกิจกรรมชุมชน ค่าเฉลี่ย 2.71 อยู่ในระดับปานกลาง และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือท่านมีส่วนร่วมในการลงมติจัดลำดับโครงการของชุมชน  ค่าเฉลี่ย 2.60  อยู่ในระดับน้อย

                     2.3 ด้านการมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน  มีระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 2.89  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของชุมชนและช่วยสอดส่องดูแล  ค่าเฉลี่ย 3.99 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ เป็นผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดชุมชน  ค่าเฉลี่ย 3.34  อยู่ในระดับปานกลาง และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือระดับการมีส่วนร่วมเป็นผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมชุมชน (โฮมสเตย์) ค่าเฉลี่ย 2.45 อยู่ในระดับน้อย

                     2.4 ด้านการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน มีระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.92 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า  ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือระดับการมีส่วนร่วมในการมีรายได้จากการขายสินค้าในตลาดชุมชน  ค่าเฉลี่ย 3.97 อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ระดับการมีส่วนร่วมในการมีรายได้จากสินค้าเกษตรหรือวัตถุดิบที่ส่งไปยังกลุ่มอาชีพ  ค่าเฉลี่ย 3.96   อยู่ในระดับมาก และค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือระดับการมีส่วนร่วมในการมีความสุขจากการจัดกิจกรรมของชุมชน ค่าเฉลี่ย 3.84 อยู่ในระดับมาก

                     2.5 ด้านการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน มีระดับการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.02  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุดมีสองด้านเท่ากัน คือ ระดับการมีส่วนร่วมในโอกาสตรวจสอบประเมินผลรายจ่ายและรายได้ของชุมชนและระดับการมีส่วนร่วมในโอกาสประชุมร่วมนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ค่าเฉลี่ย 4.06 อยู่ในระดับมากทั้งสองด้าน  รองลงมา คือ ด้านท่านเข้าร่วมติดตามความก้าวหน้าของแผนพัฒนาชุมชน ค่าเฉลี่ย 4.02  อยู่ในระดับมาก และค่าเฉลี่ยต่ำสุดมีสองด้านเช่นกัน คือระดับการมีส่วนร่วมในการติดตามผลการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมและระดับการมีส่วนร่วมมีโอกาสติดตามความก้าวหน้าการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ค่าเฉลี่ย 3.89  อยู่ในระดับมากทั้งสองด้าน

 

  1. วิเคราะห์ผลการสัมภาษณ์ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ ได้แก่นายก อบต.และผู้ใหญ่บ้าน พบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

                     3.1 การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการประชุมร่วมกับผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่  โดยการส่งตัวแทนของแต่ละบ้านเข้าร่วมประชุมก่อนจะนำไปสู่ผู้บริหาร อบต. แต่ในเรื่องของข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐานนั้นจะอยู่ในระดับดีมากเนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่เก็บจากทุกบ้าน อีกทั้งผู้นำท้องที่คือ ผู้ใหญ่บ้านให้ความร่วมมือในการประชุมกลุ่มย่อยกับชาวบ้านในแต่ละหมู่อย่างสม่ำเสมอ

                     3.2. การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม  ประชาชนก็ให้ความสนใจในการจะลงความเห็นในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง แต่การจัดลำดับโครงการจะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่จะถูกตั้งมาตามปฏิทินกิจกรรมของ อบต. แต่ชาวบ้านจะเสนอกิจกรรมเข้ามาร่วมหรือรูปแบบกิจกรรมมากกว่า

                     3.3  การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน  การมีส่วนร่วมในการมีธุรกิจครัวเรือนของชุมชนมีจำนวนมาก  แต่ที่กล่าวว่าในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางอันเนื่องจากผู้คนวัยทำงานจำนวนมากที่ไม่มีเวลามาร่วมในกิจการต่างๆ ของชุมชน ส่วนที่ร่วมกิจกรรมคือผู้ที่อยู่บ้านหรือผู้ที่มีวันหยุดตรงกับการเปิดตลาดน้ำเช่นอาชีพข้าราชการ เป็นต้น แต่จะพบความร่วมมือที่ดีคือชาวบ้านจะยึดถือกฎระเบียบของชุมชนเป็นสำคัญ ทั้งสอดส่องดูแล ทั้งปฏิบัติตาม ทั้งนี้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ก็ถือปฏิบัติและแจ้งให้สมาชิกในชุมชนทราบ เพื่อรักษาความสงบสุขของชุมชนท่ามกลางนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

                     3.4  การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เป็นการมีส่วนร่วมที่มีในระดับสูงอันเนื่องจากมีการแบ่งปันความสุข สวัสดิการต่างๆ กลับมาให้สมาชิกชุมชน และการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างทั่วถึง ได้แก่ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง  กลุ่มสถาบันการเงินชุมชน  กลุ่มโฮมสเตย์ (รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 2553 และรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ระดับอาเซียนภาคกลางของ หมู่ 3)  วิสาหกิจชุมชนจำนวนมาก เช่น กลุ่มขนมหวานพื้นบ้าน บ้านลูกประคบสมุนไพร (รางวัลนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นลูกประคบธัญพืช  KBO ที่ 1  ระดับประเทศ ) บ้านธูปสมุนไพร รวมทั้งการตั้งกองทุนวันละบาทเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นกับสมาชิกชุมชน มีดูแลเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนโดยการจัดแพทย์มาตรวจรักษาฟรีในวันอังคารและวันพฤหัสบดี เป็นต้น

                        3.5 การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน  จะพบว่าการจัดประชุมทั้งกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่  ชาวบ้านหรือสมาชิกกลุ่มจะสามารถถามสิ่งที่สงสัยได้ทุกครั้ง  หัวหน้ากลุ่มต้องชี้แจงได้ ดังนั้นในทุกกลุ่มอาชีพก็จะมีหัวหน้ากลุ่มที่รับผิดชอบและหัวหน้ากลุ่มและผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเข้าร่วมประชุมสรุปการดำเนินงานอยู่เป็นประจำทุกเดือน

              3.6 รูปแบบการท่องเที่ยวของบางน้ำผึ้ง  จะพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งทำให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวที่ที่โดดเด่น  คือชุมชนบางน้ำผึ้งหลังจากการเปิดตลาดน้ำมากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2547 จะพบการพัฒนาอย่างก้าวหน้า มีนักท่องเที่ยวและกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาดูงาน  แต่ชุมชนยังคงอนุรักษ์ความเป็นบางน้ำผึ้งไว้ได้อย่างสวยงาม และที่ยิ่งน่าศึกษาชุมชนนี้มากกว่าความสวยงามคือความสามัคคีของคนในชุมชนทั้ง 3 ส่วน คือการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร อบต.และผู้ใหญ่บ้าน การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนเอง  เมื่อเกิดการมีส่วนร่วมภายในที่ดี จึงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งตั้งตั้งภายในก่อนที่จะได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ   การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทำให้ชุมชนบางน้ำผึ้งรางวัลกินรี  ปี 2550 และ 2555 เรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จาก ททท.  รางวัลนวัตกรรมการท่องเที่ยวจากสำนักนายก และผลิตภัณฑ์ชุมชนก็ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นลูกประคบธัญพืช  KBO ที่ 1 ระดับประเทศ ได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ระดับอาเซียนของภาคกลาง  และประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนนี้คือ ธนาคารชุมชนที่เข้มแข็งมีปันผลแก่สมาชิกทุกปี กองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ  จัดแพทย์ตรวจรักษาฟรีสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เช่นการจัดให้สมาชิกได้ไปศึกษาดูงานในองค์กรต่างๆ และจัดวิทยากรเข้ามาในพื้นที่ เป็นต้น

 

 

ผลการวิจัยรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง

รูปแบบแหล่งท่องเที่ยวของบางน้ำผึ้ง

    1. ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตั้งอยู่ในหมู่ 10 ซึ่งถือเป็นแหล่งสร้างและกระจายรายได้ให้คนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน

    2. โฮมสเตย์ ตั้งอยู่ในหมู่ 3   ซึ่งโฮมสเตย์ที่เป็นบ้านเรือนไทยเก่าแก่อายุถึง 200 กว่าปีเป็นบ้านทรงไทยสวยสง่า นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น  ชนบท และได้พักในโฮมสเตย์ที่มีคุณภาพตามแนวปฏิบัติของสำนักพัฒนาการท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย อีกทั้งมีวิสาหกิจชุมชนที่มีชื่อเสียง เช่นบ้านธูปสมุนไพร  และลูกประคบธัญพืช

    3. สวนป่าชุมชนที่เขียวขจี ตั้งอยู่ใน หมู่ 4 หมู่ 6 และ  หมู่  11 เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวในบรรยากาศร่มรื่น  พร้อมทั้งซุ้มที่มีป้ายบอกถึงแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน

4.  หมู่บ้านโอท็อปมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ  มีฐานอาชีพต่าง ๆ ให้ฝึกทักษะตามความถนัด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นการทำขนมพื้นบ้าน  สิ่งประดิษฐ์จากกะลามะพร้าวและลูกต้นตีนเป็ด เป็นต้น

5. เส้นทางมรกต  หรือเส้นทางสีเขียว  เป็นเส้นทางจักรยานสำหรับให้นักท่องเที่ยวและชาวชุมชนออกกำลังกายและชื่นชมธรรมชาติสีเขียว  รวมทั้งชื่นชมวิถีชีวิต  วัฒนธรรม  ประเพณี ปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

ภาพที่  5.1  ผลการวิจัยรูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชนบางน้ำผึ้ง

ที่มา   กันยาวรรนธ์   กำเนิดสินธุ์, (2559) (ผลการวิจัย)

 

 

5.3 ข้อเสนอแนะ

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปปฏิบัติ

  1. จากผลการวิจัยพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งอยู่ในระดับปานกลาง อันเนื่องจากประชาชนไม่ได้สนใจเข้าร่วมในทุกๆด้าน จึงควรมีการสร้างความเข้าใจความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกๆ ด้านเริ่มตั้งแต่ การมีส่วนร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน การส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลงาน มิใช่ให้ความสำคัญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาชุมชน
  2. จากผลการวิจัยพบว่าปัจจัยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดจากความร่วมมือของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ รวมถึงผู้นำกลุ่มย่อยต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าความสามัคคีของผู้นำเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชน ดังนั้นชุมชนที่ต้องการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งจึงควรสร้างความร่วมมือ  ความสามัคคีของกลุ่มผู้นำให้ได้ก่อน  จากนั้นผู้นำจึงร่วมมือกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  3. จากผลการวิจัยพบว่าผู้นำและประชาชนชุมชนบางน้ำผึ้งบางส่วนวิตกกับเรื่องการบริหารจัดการขยะดังนั้นจึงควรเร่งสร้างความเข้าใจในระดับครัวเรือนอย่างเร่งด่วนถึงวิธีการลดขยะปริมาณขยะเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป

 

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

  1. การวิจัยครั้งต่อไป ผู้วิจัยควรให้ข้อมูลถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกับผู้ตอบแบบสอบถามก่อน เพื่อการให้ข้อมูลที่ตรงประเด็นมากขึ้น
  2. ผู้วิจัยหวังว่าข้อมูลการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาชุมชนบางน้ำผึ้ง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนอื่นๆต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยพ.. 2558 – 2560.  [ออนไลน์].

http://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=7114.  [สืบค้นเมื่อ 7พฤศจิกายน

2558].

โกวิทย์ พวงงาม. (2545). การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

         ข้อมูลสำนักบริหารงานทะเบียนท้องถิ่น. อำเภอพระประแดง  ณ เดือน กุมภาพันธ์ 2557

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2539 : 1-2). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

          แห่งชาติฉบับที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม

แห่งชาติ.

เฉลียว บุรีภักดี และคณะ. (2545). ชุดวิชาการวิจัยชุมชน. กรุงเทพฯ : สำนักมาตรฐานการศึกษา

สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ.

ชนินทร์  เกษแก้ว. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9. สัมภาษณ์วันที่ 10 มีนาคม 2559.

นางยุวดี สังข์นาค.  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10.  สัมภาษณ์วันที่ 8 มีนาคม 2559.

บุญจรี ฤทธิ์รัตน์.ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7. สัมภาษณ์วันที่ 10 มีนาคม 2559.

ปิยพงษ์ พูนสวัสดิ์. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3.สัมภาษณ์วันที่ 11 มีนาคม 2559.

พจนา  สวนศรี.  (2546).  เอกสารการสอนชุดวิชาการจัดการนันทนาการและการท่องเที่ยว

          ธรรมชาติ หน่วยที่ 8 – 15. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

เพชรศรี   นนท์ศิริ.  (2551).  วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ.  พิษณุโลก :  มหาวิทยาลัยนเรศวร

รายงาน ASEAN Ecotourism workshop. (2557). [ออนไลน์]. www.tourism.go.th. [สืบค้นเมื่อ

23  ธันวาคม 2558].

วีรพล พรหมมะ.  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4.  สัมภาษณ์วันที่ 10  มีนาคม  2559.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.(2554). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและ

          สังคมแห่งชาติฉบับที่ 11. [ออนไลน์] www.ldd.go.th/files/FilesFolders/Documents.

[สืบค้นเมื่อ 23  ธันวาคม 2558].

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2558).  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประชาคม

          อาเซียน. [ออนไลน์] http://www.aseanthai.net/ewt_news. [25 ตุลาคม 2558].

สำเนาว์  รัศมิทัต.  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง.  สัมภาษณ์วันที่ 19 มีนาคม 2559.

Cohen J. M. & Uphof, N. T. (1980).  Participation’s Place in Rural Development,

         Seeking Clarity Through Specificity. World  Development.

Wood, M. E. (2002). ECOTOURISM, PRINCIPLES, PRACTICES, & POLICIES  FOR  

          SUSTAINABILITY.  United  Nations  Evironment  Program  Division  of

Technology, Industry  and  Economics.

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Public Administration of Faculty of Humanities and Social science Rajabhat Bansomdej Chaopraya University