ชื่อผลงานทางวิชาการ             การปรุงอาหาร (การผลิตรายการ) แบบ You  Can Do It!

ปีที่พิมพ์                             2556

ข้อมูลเพิ่มเติม                      เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1  และสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Youtube Channel “Keng Candoit

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์มนัสวี พัวตระกูล  สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทความ เรื่อง  การปรุงอาหาร (การผลิตรายการ) แบบ You  Can Do It! ผู้เขียน คืออาจารย์มนัสวี พัวตระกูล สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่วิธีการและขั้นตอนของการปรุงอาหารที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกับอาจารย์อารยา แสงมหาชัย สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และทีมงาน โดยได้ร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ออกอากาศทางช่อง GWE (Green World Edutainment Channel) ช่อง IPTV ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชื่อรายการ You Can Do It!    เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ผู้เขียนชื่นชอบในการชิมอาหารจากทั่วทุกมุมโลกและต้องการจะถ่ายทอดและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติต่างๆผ่านทางเมนูอาหารที่เน้นการทำได้ง่าย สามารถทำได้ด้วยตัวคุณผู้ชมเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขั้นตอนวิธีการผลิต รายการโทรทัศน์ You Can Do It! นั้นสร้างสรรค์ ขึ้นจากองค์ประกอบ พื้นฐานการผลิตสื่อซึ่งประกอบไปด้วย 3P คือ Pre Production, Production และ Post Production นั่นเอง

จุดเด่นของบทความนี้ นอกจากเป็นการผลิตรายการ การปรุงอาหาร ออกรายการโทรทัศน์ออกอากาศแล้ว การดำเนินงานของรายการนี้แต่ละรายการ ยังปฏิบัติงานเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนการเตรียมงาน เริ่มต้น ที่การวางแผน (Plan) กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับ ขั้้นตอนการทำงาน กำหนดระยะเวลาในการทำงาน (Action Plan) กำหนดวิธีการทำงาน กำหนดสถานที่ กำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอน กำหนดงบประมาณค่าใช้จ่าย การจัดทำเนื้อหา(Content)  และการ เขียนบท (Script)

ประโยชน์ที่ได้รับจากบทความนี้ จะได้รับความรู้ เมนูที่แปลกใหม่และรสชาติอร่อย ซึ่งจะขอเน้นย้ำว่า Creative Thinking  หรือความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

 

การปรุงอาหาร (การผลิตรายการ) แบบ You  Can Do It!

                                                                                                            อาจารย์มนัสวี พัวตระกูล 

            สำหรับผู้เขียนแล้วการผลิตรายการโทรทัศน์ก็เปรียบได้กับการลงมือทำอาหารจะปรุงอย่างไรให้ได้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อมแต่ต้องแฝงมาด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ผู้ปรุง(เชฟ) จะต้องคำนึงถึงวัตถุดิบปริมาณที่ใช้รวม ถึงต้องคิดว่าจะหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงมาจากที่ไหนได้บ้าง ที่สำคัญที่สุดก็คือเคล็ดลับในการปรุง ซึ่งเชฟ แต่ละท่าน คงจะมีเคล็ดลับที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วเคล็ดลับง่ายๆในการปรุงคือ Creative Thinking หรือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งก็ควรที่จะเลือกตามสิ่งที่เราสนใจ หรือมีวัตถุดิบและเนื้อหา ที่เยอะพอสมควรอยู่ในมือ

 

อย่างตัวผู้เขียนเองมีโอกาสได้ลองผลิตรายการโทรทัศน์ออกอากาศทางช่อง GWE (Green World Edutainment Channel) ช่อง IPTV ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชื่อรายการ You Can Do It! เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ผู้เขียนชื่นชอบในการชิมอาหารจากทั่วทุกมุมโลกและต้องการจะถ่ายทอดและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติต่างๆผ่านทางเมนูอาหารที่เน้นการทำได้ง่าย สามารถทำได้ด้วยตัวคุณผู้ชมเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขั้นตอนวิธีการผลิต รายการโทรทัศน์ You Can Do It! นั้นสร้างสรรค์ ขึ้นจากองค์ประกอบ พื้นฐานการผลิตสื่อซึ่งประกอบไปด้วย 3P คือ Pre Production, Production และ Post Production นั่นเอง เรามาลองลงมือปรุง อาหาร(ลงมือผลิตรายการ) โดยผ่านวิธี 3P กับรายการ You Can Do It! กันดู เริ่มจาก Pre Production หรือขั้นตอนการเตรียมงาน เริ่มต้น ที่การวางแผน (Plan) กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับ ขั้้นตอนการทำงาน กำหนดระยะเวลาในการทำงาน (Action Plan) กำหนดวิธีการทำงาน กำหนดสถานที่ กำหนดผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอน กำหนดงบประมาณค่าใช้จ่าย การจัดทำเนื้อหา(Content)  และการ เขียนบท (Script)

โจทย์ยาก! รายการอาหารกับคนที่ทำอาหารไม่เป็นแต่ชิมเป็นอย่างเดียว ผู้เขียนยอมรับว่าเริ่มแรกทีเดียว ไม่เคยคิดว่าการทำรายการเกี่ยวกับอาหารนั้นจะยุ่งยาก หากแต่เริ่มลงมือในขั้นตอนการวางแผนแล้วกลับพบ อุปสรรคนานาประการ เริ่มจากจะทำอย่างไรให้รายการอาหารของเราออกมาในรูปแบบที่แตกต่างจากรายการ อาหารอื่นๆที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้และโดยส่วนตัวนั้นผู้เขียน ก็ไม่มีความ สามารถโดดเด่นด้านการทำอาหาร หากนักหากแต่ เป็นคนที่ชอบชิม ชอบอ่านชอบคิด ชอบศึกษาจึงได้คิดนำเอา ศาสตร์ด้านการละครที่เรียนมาเข้ามา ผสมผสานเพื่อสร้างความแปลก ใหม่และแตกต่างจากรายการอาหารอื่นๆ โดยกำหนดวางโครงคร่าวๆให้ทาง รายการเปลี่ยนรูปแบบรายการและเมนูอาหารไปตาม Theme จาก ภาพยนตร์ ละคร หรือ การ์ตูนที่มีชื่อเสียงจาก ทั่วโลก

เมื่อแก้ปัญหาข้อแรกได้เรียบร้อย การกำหนดวัตถุประสงค์ของรายการให้เป็นรายการอาหารที่สามารถให้ คุณผู้ชมทางบ้านร่วมสนุกและทำตามเองได้ไม่ยากใช้เวลาน้อยและวัตถุดิบที่หาง่ายจึงตามมาซึ่งนั่นยังเป็นที่มาของชื่อรายการ You Can Do It! (คุณเองก็สามารถทำได้) อีกด้วย เสมือนทุกอย่างจะดำเนินไปได้ด้วยดีหากสิ่งที่เป็น อุปสรรคใหญ่ยังคงรออยู่ตรงหน้า

 

ใครจะมาเป็นเชฟให้กับทางรายการ? เป็นความโชคดีของผู้เขียนที่ได้รู้จักกับอาจารย์ อารยา แสงมหาชัย ผู้ที่มีพรสวรรค์โดดเด่นด้านการทำอาหารและสามารถสร้างสรรค์เมนูที่สามารถตอบสนองความคิดที่ซับซ้อนของผู้ผลิตรายการอย่างผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เป็นธีมละครเรื่องคู่กรรม เมนูอาหารก็ควรต้องเป็นอาหารไทย ผสมผสานกับอาหารญี่ปุ่นแต่จะธรรมดาๆไม่ได้ต้องเกี่ยวเนื่องกับตัวละคร อาหารที่ออกมาจึงมีลักษณะเฉพาะเป็น เอกลักษณ์ที่หาดูและทดลองทำได้เฉพาะรายการของเราเท่านั้น เช่น ขนมดอกไม้ของโกโบริ มีชื่อและส่วนผสมที่มา จากดอกมะลิเนื่องจากในละครเรื่องคู่กรรมนั้นโกโบริ ถูกเรียกว่า “พ่อดอกมะลิ” เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่าย แต่ละขั้นตอน? เป็นสิ่งที่ยากรองๆลงมาจากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ตั้งแต่การสรรหาทีมงานไม่ว่าจะเป็น พิธีกร คนเขียนสคริปต์รายการ ตากล้อง คนตัดต่อ ฝ่ายแต่งหน้าและเครื่องแต่งกาย ทีมประสานงาน  ทีมดูแลอุปกรณ์ประกอบฉากรวมถึงการจัดหาสถานที่ในการถ่ายทำ ต้องยอมรับว่าผู้เขียนคนเดียวคงไม่ สามารถทำสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้สำเร็จหากไม่ได้ความร่วมมือร่วมใจจากนิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่ารวมถึงเพื่อนๆ คณาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ

 

ปัญหาที่ต้องตอบคำถามมากที่สุด? ทำไมถึงไม่ใช้นิสิตในการเป็นพิธีกร จริงๆแล้วส่วนใหญ่ก่อนการผลิต รายการออกมาเป็นรูปแบบที่นำเสนอออกอากาศ ผู้ผลิตมักจะผลิตเทปที่เราเรียกว่าเป็นเทปทดลอง หรือ Pilot Tape ออกมาก่อน You Can Do It! ก็เช่นกัน ทางทีมงานได้ทดลองออดิชั่น นิสิตเข้ามาทดลองเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ต้องยอมรับว่านิสิตยังเกร็งและยังจดจำสคลิปได้ไม่แม่นยำ รวมถึงการต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องอาศัย ความว่องไวอย่างมืออาชีพรวมทั้งความรู้รอบตัวทางด้านประวัติศาสตร์การอาหาร จึงทำให้ทางทีมงานตัดสินใจที่ จะมองหามืออาชีพเข้ามาเสริมทีม เพื่อเป็นการสร้าง Character ให้เป็นจุดขาย จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องยากที่ต้องทำคน ให้แปลงมาเป็นสินค้าผู้ผลิตต้องอาศัยหลักการตลาดและหลักการโฆษณาเข้ามาช่วยทำให้เชฟและพิธีกรที่เลือกมาดูมีความน่าเชื่อถือ ดูมีความเชี่ยวชาญและมีความชำนาญการทั้งทางด้านการอาหารและการแสดง นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมทางรายการจึงไม่ได้ใช้นิสิตในการเป็นพิธีกรเพราะต้องการควบคุมการผลิตให้เป็นไปได้ตามกำหนดการถ่ายทำและออกอากาศ เพื่อประหยัดคอร์สทั้งด้านเวลาและการเงินที่ต้องลงทุนรวมถึงคำนึงเรื่องของประสิทธิภาพ ของรูปแบบรายการในการนำเสนอออกอากาศ ซึ่งนิสิตที่เข้ามาฝึกฝนเป็นทีมงานได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีการใน การแก้ปัญหาในรูปแบบนี้เป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้จากผลงานการทำงานส่งในรายวิชาทางด้านการผลิตสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิชาการผลิตรายการโทรทัศน์ หรือ การผลิตภาพยนตร์ นิสิตเรียนรู้ถึงเรื่องของต้นทุน การคำนวน รายรับ – รายจ่ายของกองถ่าย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานในวงการบันเทิงอย่างมืออาชีพ

ละคร อาหาร กับงานประวัติศาสตร์! เมื่อขั้นตอนพื้นฐานทั่วไปในการบริหารจัดการผ่านพ้นไป งานหลัก ต่อมาคือการเขียนบทซึ่งต้องอาศัยเนื้อหาและ Content ที่มีรายละเอียดที่ลงลึกและมีความถูกต้องแม่นยำในการ นำเสนอข้อมูลนั้นๆออกมา ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับละคร ภาพยนตร์หรือ การ์ตูน หรือประวัติศาสตร์ของ อาหารที่เลือกมาเป็นธีมในการนำเสนอ หนังสือ และการท่องเว็บไซด์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่การ ติดตามชมและอ่านข่าว เพราะบางครั้งเราต้องอาศัยสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นเข้ามาปรับและเลือกเนื้อหาให้น่า สนใจเป็นที่ติดตามหรือเป็นกระแสในขณะนั้นเพื่อเรียกเรทติ้งหรือคะแนนนิยมให้กับทางรายการ(สายวงการบันเทิงนั้นเรทติ้งถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความอยู่รอดของรายการ ละคร หรือภาพยนตร์)

เมื่อขั้นตอนแรกผ่านไปแล้วลำดับต่อไปคือ Production หรือขั้นตอนการถ่ายทำ เริ่มจากดูว่าเราเลือก การถ่ายทำในสถานที่(Studio) หรือเป็นแบบ การถ่ายทำนอกสถานที่(Outdoor) ซึ่งถ้าหากเราเลือกการถ่ายทำในสถานที่ก็จะมีข้อได้เปรียบคือสามารถ ควบคุมแสง  เสียง และจัดตกแต่งฉากได้โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพ ดินฟ้าอากาศฝนตก อากาศร้อน หนาว ช่วยให้ถ่ายทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในขั้นตอนนี้ทางรายการ You Can Do It! เลือกที่จะถ่ายทำในสถานที่มีการจัดเซทฉากรวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากขึ้นมา นอกจากนี้ขั้นตอนนี้ยังเป็นอีก หนึ่งขั้นตอนที่นิสิต นักศึกษาได้ฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะของกล้องลักษณะต่างๆ เลนส์การใช้กล้องแต่ละชนิด ที่แตกต่างกัน รวมถึงมุมกล้องและการเคลื่อนที่ของกล้องเช่น

 

 

การเคลื่อนกล้อง (Camera movement)

Pan                   การส่ายกล้องไปด้านข้าง

Pan Left            การส่ายกล้องไปด้านซ้ายของผู้ถ่าย

Pan Right          การส่ายกล้องไปด้านขวาของผู้ถ่าย

Tilt                   การแหงนและการก้มกล้อง

Tilt Up              การแหงนกล้องจากจุดต่ำขึ้นไปหาจุดสูง

Tilt Down          การถ่ายจากจุดสูงแล้วค่อยๆก้มลงต่ำ

Dolly                  การตั้งกล้องไว้บนรางสำหรับเลื่อนกล้องเข้าหาหรือ ถอยออกห่าง จากวัตถุที่ถ่าย

Dolly In             เลื่อนเข้าหาสิ่งที่ถ่าย

Dolly Out          เลื่อนออกห่างจากสิ่งที่ถ่าย

Arch                 การตั้งกล้องบนรางวงกลมแล้วเลื่อนไปรอบๆสิ่งที่ถ่าย

 

และขั้นตอนสุดท้าย คือ Post Production คือ ขั้นตอนการตัดต่อ ลำดับภาพ ลงเสียง แพร่ภาพออกอากาศ และประเมินผลรายการที่ออกอากาศ (ประเมินเรทติ้ง) ซึ่งในส่วนนี้นิสิต นักศึกษาเป็นผู้ดำเนินการตัดต่อผ่านการ ควบคุมดูแลของคณาจารย์โดยในส่วนนี้จะได้รับความรู้ในด้านการลำดับภาพ การตัดต่อภาพ การเปลี่ยนภาพเช่น

 

การเปลี่ยนภาพ (Transition)

Cut                   ในการตัดต่อ เป็นการตัดภาพจากภาพหนึ่งไปอีกภาพหนึ่งอย่าง ต่อเนื่อง เช่นตัดจาก

Long Shot เป็น Close Up  เป็นการตัดภาพชนภาพ และอีกความหมายหนึ่ง

ถ่าย

ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์  เป็นการสั่งหยุดกล้อง หยุดการแสดงใน การถ่ายแต่ละ Take

Dissolve            เป็นการเปลี่ยนภาพจากภาพหนึ่งไปยังอีกภาพหนึ่ง โดยให้ภาพ

หนึ่งกำลังจะมืดดำหมด แล้วให้ภาพที่สองค่อยๆสว่างทับเข้ามา เป็นการซ้อนภาพ   ใช้สำหรับย่นเวลา ระยะทางหรือแสดงความคิด ความฝัน

Freeze               การหยุดภาพที่กำลังเคลื่อนไหวให้นิ่งตรงจุดที่ต้องการให้นิ่ง  เพื่อ

เน้นความสนใจ เพื่อแสดงรายละเอียดบางส่วนของสิ่งที่ถูกถ่าย

Focus                การปรับเลนส์กล้องให้ภาพคมชัด

Zoom                การดึงภาพที่ถ่ายไกลให้เข้ามาใกล้หรือภาพใกล้ให้ออกไกล

Zoom In            ดึงภาพไกลให้เข้ามาใกล้

Zoom Out          ทำภาพใกล้ ให้ออกไกล

Fade Out = F.O. ทำให้ภาพที่ชัดอยู่แล้ว ค่อยๆจาง มืดหายไป ใช้ตอนจบตอน หรือจบฉาก

หรือจบเรื่อง

 

ผู้เขียนขอฝากเมนูอาหาร(รายการ) You Can Do It! ให้ผู้อ่านได้ลองลิ้มรสชาติว่ามีความกลมกล่อมและ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเพียงใด โดยสามารถทดลองชิม(รับชมรายการ) ได้ทางกล่องรับสัญญาณ ดิจิตอลของบริษัท TOT ช่องGWE (719) หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ทาง YouTube Channel “Keng Candoit” และหากใครต้องการที่จะลองปรุงอาหาร(ลองผลิตรายการโทรทัศน์) สักหนึ่งเมนูก็ขอให้ทุกท่านลองตั้งต้นคิดสูตร ที่เป็นแบบฉบับของตนเองและลองลงมือทำตามขั้นตอนคร่าวๆที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆที่เราคิดค้น การปรุงอาจจะไม่ได้รสชาติที่ถูกใจแต่เมื่อปรับสูตรและตั้งใจฝึกฝนต่อไปผู้เขียนเชื่อว่าจะได้เมนูที่แปลกใหม่และรสชาติอร่อยลงตัวอย่างแน่นอน ซึ่งจะขอเน้นย้ำว่า Creative Thinking  หรือความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการเดินในเส้นทางสายบันเทิงหรือสื่อสารมวลชนอย่างมืออาชีพ เหมือนอย่างกับ คำคมของ Edwin Land ที่ว่า  “An Essential Aspect Of Creativity Is Not Being Afraid To Fail” มุมมองที่สำคัญ ของความคิดสร้างสรรค์คือ อย่ากลัวความล้มเหลว นั่นเอง_

 

 

สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ YouTube Channel “Keng Candoit