Category Archives: การท่องเที่ยว การบัญชี ธุรกิจบันเทิง และคหกรรมศาสตร์

การตลาดแบบไวรัส เครื่องมือสำคัญในยุคการสื่อสารแบบดิจิทัล

การนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ: การตลาดแบบไวรัส เครื่องมือสำคัญในยุคการสื่อสารแบบดิจิทัล

Viral Marketing :  Communication in the Digital Age

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความวิชาการ

ปีที่พิมพ์: 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม: บทความนี้ได้ลงในวารสารของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฉบับที่ 1 ปีที่ 1

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ   อาจารย์พิมพ์พิไล ไทพิทักษ์

                    สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

บทความวิชาการ     เรื่อง  การตลาดแบบไวรัส  เครื่องมือสำคัญในยุคการสื่อสารแบบดิจิทัล  (Viral

Marketing : Communication in the Digital Age )   ผู้เขียน คือ อาจารย์พิมพ์พิไล ไทพิทักษ์ อาจารย์สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการตลาดแบบไวรัสที่มีการพัฒนามาจากการตลาดแบบปากต่อปาก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทำให้วงการสื่อสารการตลาดและการโฆษณาต้องมีการปรับวิธีการสื่อสารไปหาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยในบทความนี้จะมีการศึกษาถึง 3 ประเด็น ได้แก่  (1) ความหมายหรือคำจำกัดความและลักษณะพื้นฐานของการตลาดแบบปากต่อปากและการตลาดแบบไวรัส (2) เคล็ดลับในการทำการตลาดแบบไวรัสให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนข้อดี-ข้อเสียของการทำการตลาดแบบไวรัส และ(3) อิทธิพลของผู้นำทางความคิดที่มีต่อการตลาดแบบไวรัส

ประโยชน์ที่ได้รับจากบทความนี้  ผู้อ่านจะได้มีความรู้ เข้าใจถึงลักษณะและเคล็ดลับต่าง ๆ ของการตลาดแบบไวรัส จะช่วยให้องค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นในภาคส่วนของอุตสาหกรรมบริการ หรือธุรกิจบันเทิง สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของตนสู่ยังผู้รับสารตามเป้าหมายได้ อีกทั้งวิธีการทำตลาดแบบไวรัสที่เผยแพร่ผ่านทางผู้มีอิทธิพลทางความคิดไปยังกลุ่มเป้าหมายนั้น ยังช่วยสร้างความเชื่อถือและเพิ่มโอกาสในการเปิดรับสารของกลุ่มเป้าหมายด้วย
ธุรการเข้าใจ

 

 

การตลาดแบบไวรัส เครื่องมือสำคัญในยุคการสื่อสารแบบดิจิทัล

Viral Marketing : Communication in the Digital Age

 

พิมพ์พิไล ไทพิทักษ์

Pimpilai Thaipitak

สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ

Advertising and Entertainment Business, Faculty of Management Science

 

บทคัดย่อ

บทความนี้เป็นการศึกษาถึงการตลาดแบบไวรัสที่มีการพัฒนามาจากการตลาดแบบปากต่อปาก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทำให้วงการสื่อสารการตลาดและการโฆษณาต้องมีการปรับวิธีการสื่อสารไปหาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยในบทความนี้จะมีการศึกษาถึง 3 ประเด็น อันได้แก่ (1) ความหมายหรือคำจำกัดความและลักษณะพื้นฐานของการตลาดแบบปากต่อปากและการตลาดแบบไวรัส (2) เคล็ดลับในการทำการตลาดแบบไวรัสให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนข้อดี-ข้อเสียของการทำการตลาดแบบไวรัส และ(3) อิทธิพลของผู้นำทางความคิดที่มีต่อการตลาดแบบไวรัส

 

Abstract

The purposes of this journal is to studyviral marketing that developed from word of mouth marketingas a reason from the change of consumer behavior, the progress of communication technology which is a reason why marketing communication and advertising has to be adjusted itselves in terms of communication channel to the targeted consumer. In this journal, there will be 3 issues namely (1) the meaningor definition and basic type of viral marketing and word of mouth marketing (2) the secret success of viral marketing including advantages and disadvantages of viral marketing and (3) the influences of the opinion leader to the viral marketing.

 

คำสำคัญ :    การตลาดแบบไวรัส, การตลาดแบบปากต่อปาก, การโฆษณา, การสื่อสารการตลาด,

ผู้นำทางความคิด

Keywords: Viral Marketing, Word of mouth Marketing, Advertising, Marketing Communication, Opinion Leader

 

บทนำ
สืบเนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2558 ถือเป็นปีที่ต้องดิ้นรนและต้องแข่งขันเพราะสถานการณ์ต่างๆขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นสำคัญว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเปิดตัวออกมาใหม่นั้นจะได้ผลมากน้อยเพียงใด  และจากที่หลายฝ่ายประเมินว่าจีดีพีของประเทศน่าจะอยู่ที่ 3.5-4% โดยอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1 แสนกว่าล้านบาทน่าจะโตได้ถึง 6-8% แต่จากการที่ชาวนายังมีปัญหารายได้ยังไม่เข้ามาเงินที่จะเข้ามาต้องรอดูผลผลิตในรอบถัดไป ถ้าชาวนาไม่มีเงินกำลังซื้อก็จะไม่มี กลุ่มสินค้า FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ก็จะไม่มีงบลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะตลาดใหญ่อยู่ต่างจังหวัดเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี โดยรวมในปี 2558 อุตสาหกรรมโฆษณามีแนวถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 (3 นายกธุรกิจฯ ชี้เศรษฐกิจไทยปี 58 “แพะอมโรค-รับบาป”, 2558) กล่าวคือ ผู้ขายโฆษณา มีแนวโน้มจะขยายช่องทางการโฆษณาและสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ค่าโฆษณา และเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ผู้ขายโฆษณาในสื่อแบบดั้งเดิม เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ป้ายโฆษณา จะหันมารุกในธุรกิจสื่อสมัยใหม่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ซื้อโฆษณามากขึ้น ในส่วนของ ผู้ซื้อโฆษณา จะไม่ลดงบประมาณในการโฆษณาลง แต่จะคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่าย โดยจะกระจายงบประมาณไปยังสื่อโฆษณาที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อีกทั้ง SME จะ มีความสามารถในการเข้าถึงสื่อโฆษณามากขึ้น เนื่องจากสื่อโฆษณามีความหลากหลายและราคายังต่ำลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทข้ามชาติจะหันมาใช้การโฆษณาในรูปแบบโฆษณาตัวเดียวกันแต่ใช้ในหลายประเทศ เพื่อสร้างการจดจำในตัวสินค้าและประหยัดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ เอเยนซี่โฆษณา และโปรดักชั่น เฮ้าส์ มีแนวโน้มขยายธุรกิจออกสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อขยายฐานลูกค้า และมุ่งใช้ประโยชน์จากการเปิด AEC ทั้งในด้านการจัดหาหรือนำเข้าอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทำโฆษณาจากต่างประเทศ และร่วมทุนกับประเทศต่างๆในอาเซียน (“ธุรกิจโฆษณาโตขึ้น : จับตา การเติบโตของสื่อทางเลือก และ AEC ส่งให้ผู้เล่นหลักปรับกลยุทธ์,” 2557)

จากการเติบโตของธุรกิจโฆษณาที่ทำให้เกิดสื่อใหม่ๆ หรือวิธีการการสื่อสารการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นการใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดไปยังผู้บริโภคในรูปแบบเดิมๆ หรือกลยุทธ์ที่ใช้ผ่านสื่อหลักอย่างสื่อมวลชน (Mass Media) เพียงอย่างเดียวจึงไม่อาจตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้สื่อหลักดังกล่าวก็มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและมีจำนวนมากขึ้น จนอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดการปิดกั้นการรับสื่อ อีกทั้งผู้บริโภคในปัจจุบันมีส่วนร่วมในการเลือกที่จะรับสื่อมากขึ้น โดยพวกเขาสามารถควบคุมการสื่อสารต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี Uses and Gratifications Theory ที่ว่า ผู้บริโภคจะมีความกระตือรือร้นในการรับสารมากขึ้น มีบทบาทในการตัดสินใจที่จะเลือกเปิดรับสื่อตามความสนใจของตนเองมากขึ้น (Katz, 1974, as cited in Solomon, 2007)

พฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าวทำให้ในบางครั้งการสื่อสารจากนักการตลาดไปยังผู้บริโภคโดยตรง (Marketer to Consumer) ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้การสื่อสารการตลาดจากผู้บริโภคไปยังผู้บริโภคด้วยกันเอง (Consumer to Consumer) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้นักการตลาดต้องพัฒนาช่องทางการสื่อสารทางการตลาดต่างๆ อยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้ทำให้กลยุทธ์การตลาดและการโฆษณาแบบ Below-the-line Strategy เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันที่รุดหน้าไปมาก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ ในประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 62.3 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 23.8 ล้านคน (ร้อยละ 38.2) ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 21.7 ล้านคน (ร้อยละ 34.9) และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 19.1 ล้านคน (ร้อยละ 38.2) โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 22.4 (จำนวน 13.8 ล้านคน) เป็นร้อยละ 34.9 (จำนวน 21.7 ล้านคน) ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 61.8 (จำนวน 32.8 ล้านคน) เป็นร้อยละ 77.2 (จำนวน 48.1 ล้านคน)เมื่อพิจารณาสัดส่วนของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพมหานครมีสัดส่วนผู้ใช้มากที่สุด (“สถิติเผยปี 57 คนไทยมีพีซีใช้เพิ่มขึ้น กทม.ครองแชมป์ใช้เน็ต-มือถือ,” 2557)ประกอบกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมีการวางเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ICT ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป, 2549) ดังนั้นในด้านของธุรกิจ การพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารการตลาดผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตจึงมีความสำคัญและได้รับความนิยมมากขึ้น ในอันที่จะเป็นช่องทางใหม่ที่ช่วยสื่อสารข้อมูลของสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภค ซึ่งรูปแบบการสื่อสารทางการตลาดผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็มีหลากหลายรูปแบบ โดยการตลาดแบบไวรัส (Viral Marketing) ก็ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของการสื่อสารจากผู้บริโภคไปยังผู้บริโภคผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนมากมาย อาศัยเพียงแค่ความแปลกใหม่ สื่อสารได้ตรงใจ ก็สามารถแพร่กระจายข้อมูลที่ต้องการส่งได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าเป็นทางเลือกในการสื่อสารการตลาดที่น่าสนใจอย่างมากในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดีการที่จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวจากการทำการตลาดในรูปแบบนี้ก็จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ ประการอันเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึก ทัศนคติ (Attitudes) แรงจูงใจ (Motivations) ตลอดจนพฤติกรรมการตอบสนองของผู้บริโภค (Consumer Responses) ที่มีต่อการตลาดแบบไวรัสด้วย และท้ายที่สุดแล้วควรที่จะนำการตลาดแบบไวรัสไปใช้ร่วมกับเครื่องมือสื่อสารการตลาดอื่นๆ ซึ่งก็คือการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (Integrated Marketing Communication or IMC) นั่นเอง

ดังนั้นบทความ “Viral Marketing : Communication in the Digital Age” จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำการตลาดแบบไวรัสมาใช้ในการสื่อสารทางการตลาด อันส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเก็บรวบรวมและค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากหนังสือ เอกสารทางวิชาการและอินเทอร์เน็ต โดยประเด็นที่ศึกษามีทั้งสิ้น 3 ประเด็น คือ (1) ความหมายหรือคำจำกัดความและลักษณะพื้นฐานของการตลาดแบบปากต่อปากและการตลาดแบบไวรัส (2) เคล็ดลับในการทำการตลาดแบบไวรัสให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนข้อดี-ข้อเสียของการทำการตลาดแบบไวรัสและ(3) อิทธิพลของผู้นำทางความคิดที่มีต่อการตลาดแบบไวรัส

 

การตลาดแบบปากต่อปาก (Word of mouth Marketing)

เนื่องจากการตลาดแบบไวรัสถือเป็นกลยุทธ์การสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่มีพื้นฐานมาจากการตลาดแบบปากต่อปาก (Word of mouth Marketing) ซึ่ง Solomon (2007) ได้อธิบายว่า คือ การส่งผ่านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการส่งผ่านข้อมูลจากบุคคลที่เรารู้จัก ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ได้รับมีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจมากกว่าแหล่งข้อมูลอื่นๆ นอกจากนี้ สมวงศ์ พงศ์สถาพร (2549) ได้เสริมว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าใหม่ของผู้บริโภคมักจะอาศัยข้อมูลจากบุคคลเป็นสำคัญ (Personal sources) ซึ่งก็คือข้อมูลที่มาจากคนใกล้ชิด เนื่องจากเป็นการตัดสินใจซื้อในสิ่งที่ตนเองไม่คุ้นเคยผู้บริโภคจึงมักจะเกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น ลังเล ไม่อยากเสี่ยง กลัวซื้อไปแล้วใช้ไม่ได้ ใช้สินค้าใหม่ไม่เป็น เป็นต้น จากความรู้สึกเหล่านี้ผู้บริโภคจึงหาข้อมูลด้วยการสอบถามจากแหล่งข้อมูลที่ตนเองไว้วางใจมากที่สุด นั่นก็คือ เพื่อน ญาติ พี่น้อง ถึงแม้ว่าจะได้รับข้อมูลจากโฆษณา หรือจากพนักงานขายมาก่อนหน้าแล้วก็ตาม

สำหรับลักษณะพื้นฐานของการตลาดแบบปากต่อปากนั้น Balter และ Butman (2006) ได้อธิบายไว้ว่า การตลาดแบบปากต่อปากไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการแพร่กระจายข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญเสมอไป เนื่องจากโดยปกติแล้วผู้บริโภคจะรับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการจากการตลาดแบบปากต่อปากผ่านทางผู้ส่งสารทุกประเภท  ไม่เฉพาะเจาะจงแต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยหลักในการเลือกรับข้อมูลจะมาจากการที่ผู้รับสารพิจารณาแล้วว่าข้อมูลที่จะได้จากผู้รับสารเป็นข้อมูลที่เขากำลังสนใจหรือเป็นข้อมูลที่จะกระตุ้นให้ผู้รับสารเกิดความสนใจในสินค้าหรือบริการนั้นๆ ได้

การตลาดแบบปากต่อปากนั้นผู้บริโภคไม่ได้เข้าร่วมการสนทนาเพียงเพราะว่าเป็นการพูดคุยในเรื่องของฟรีเท่านั้น เนื่องจากการทำการตลาดแบบปากต่อปากขอบเขตของข้อมูลที่ส่งต่อกันนั้นจะกว้างมาก กล่าวคือ จะมีการพูดคุยกันในหัวข้อที่หลากหลาย อาทิเช่น เรื่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ เรื่องของข่าวคราวใหม่ๆ การสื่อสารทางการตลาดอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งการพูดคุยเหล่านี้จะเป็นการส่งต่อและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร (Two-way communication)

การตลาดแบบปากต่อปากไม่ได้มีบทบาทต่อฐานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากว่ากว่า 80% ของข้อมูลจะได้มาจากการสนทนาแบบเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร (Face-to-face communication) และโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่ที่ทำงานหรือบ้าน

การตลาดแบบปากต่อปากไม่ได้ผูกขาดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศในการแพร่กระจายข้อมูล ผู้ชายก็ถือเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลของการตลาดแบบปากต่อปากได้เช่นกัน โดยหัวข้อที่มีการพูดคุยกันนั้นก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องต่างๆ เช่น สินค้าที่สนใจ การแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นจะทำได้ทั้งระหว่างผู้ชายด้วยกัน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้หญิง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับหัวข้อในการพูดคุย

ท้ายสุดการตลาดแบบปากต่อปากเป็นเรื่องที่สามารถวัดและติดตามได้ แต่ไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งผ่านข้อมูลที่ไม่มีที่สิ้นสุดด้วย

การตลาดแบบไวรัส (Viral Marketing)

การตลาดแบบไวรัสหรือ Viral Marketing เกิดขึ้นครั้งแรกโดย Steve Jurvetson และ Tim Draper ในปี 1996 ซึ่งเครื่องมือการตลาดรูปแบบนี้เป็นกลยุทธ์ของบริษัท DFJ (Draper Fisher Jurvetson) ที่ได้นำไปใช้ในการทำตลาดของผู้ให้บริการฟรีอีเมล์อย่าง Hotmail (Jurvetson, 2000) ซึ่ง Welker (2002) ได้อ้างอิงจากกรณีของ Hotmail ในการให้คำจำกัดความของการติดต่อสื่อสารแบบไวรัส (Viral Communication) ไว้ว่า เป็นกลยุทธ์ที่ง่ายและไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงนักในการแพร่กระจายหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารด้วยการออกแบบการนำเสนออย่างมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถกระตุ้นความสนใจหรือมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้บริโภค

ส่วน Solomon (2007) ได้นิยามว่า การตลาดแบบไวรัส เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้ที่เข้ามายังเว็บไซต์ได้ส่งต่อข้อมูลจากเว็บไซต์นั้นๆ ไปยังเพื่อนของเขา เพื่อให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไปในวงกว้าง

นอกจากนี้ Datta, Chowdhury, และ Chakraborty (2005) ได้อธิบายว่า การตลาดแบบไวรัสนั้นจะอาศัยการเผยแพร่ข้อมูลจากผู้บริโภคคนหนึ่งไปสู่ผู้บริโภคอีกคนหนึ่ง นำไปสู่การแพร่กระจายข้อมูลในวงกว้างต่อไปเป็นทอดๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการที่ใช้คน (Man) เป็นสื่อ (Medium) เพื่อนำส่งสาร (Message) ไปยังมวลชน (Mass) โดยสภาพแวดล้อมของการส่งต่อข้อมูลของการตลาดแบบไวรัสนั้นมีลักษณะคล้ายกับเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร (Web of communication) ดังนั้นการตลาดแบบไวรัสนั้นอาจเปรียบได้กับการทำการตลาดหลายขั้นตอน (Multi-level marketing) และผู้บริโภคแต่ละคนที่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารก็เปรียบได้กับพนักงานขาย (Salesperson) นั่นเอง

จากการที่การตลาดแบบไวรัสมีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งคือ เป็นการติดต่อสื่อสารผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่ อีกทั้งยังสื่อสารกับผู้อื่นได้คราวละหลายๆ คนด้วย (Thurau, Gwinner, Walsh, & Gremler, 2004)

ดังนั้นการตลาดแบบไวรัสอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า Electronics Word-of-Mouth (eWOM) โดย Thurau et al. (2004) ได้ให้คำจำกัดความว่า การตลาดแบบไวรัสเป็นการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเจ้าของสินค้าหรือบริการได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งในทางตรงหรือนำเสนอแบบมีความหมายแฝงภายในสาร ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดทัศนคติทางบวกหรือลบต่อสารนั้นได้ อาจกล่าวได้ว่า การตลาดแบบไวรัสก็เป็นเหมือนการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ต้องมีการค้นหาสถานที่ (เว็บไซต์) ที่เหมาะสมในการเผยแพร่ข้อมูล และต้องค้นหาผู้ส่งที่มีประสิทธิภาพ ผู้ซึ่งสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สารได้ (Kirby, 2006) โดยการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการติดต่อสื่อสารกันใน “ชุมชนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Online Communities)”  ซึ่งก็คือ ชุมชนที่ผู้บริโภคมารวมกันด้วยวัตถุประสงค์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่เขาแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือความคิดด้วย (Granitz & Ward, 1996, as cited in Thurau et al., 2004)

นอกจากนี้ Porter และ Golan (2006) ได้ให้คำจำกัดความของการโฆษณาแบบไวรัส (Viral advertising) ว่า คือ การที่นักการตลาดหรือนักโฆษณาได้นำเสนอข้อความด้วยวิธีการอันสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นหรือปลุกเร้าความรู้สึกของผู้บริโภคผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยนักการตลาดหรือนักโฆษณาต้องการที่จะจูงใจหรือเข้าไปมีอิทธิพลต่อผู้บริโภค เพื่อให้พวกเขาส่งต่อสารไปยังผู้อื่น

โดยสรุปแล้วการตลาดแบบไวรัสถือเป็นเครื่องมือทางการตลาดรูปแบบหนึ่งของการตลาดแบบปากต่อปาก (Word of mouth marketing) ที่นำมาใช้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อก่อให้เกิดการตระหนักรู้ในตราสินค้า (Brand awareness) ที่เพิ่มขึ้น โดยการแพร่กระจายข้อมูลนั้นจะมีกระบวนการคล้ายกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้เป็นเท่าทวีคูณไปเรื่อยๆ อีกทั้งการตลาดแบบไวรัสถือเป็นปรากฏการณ์ทางการตลาดที่เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการส่งต่อข้อมูลด้วยความสมัครใจ โดยรูปแบบของการตลาดแบบไวรัสมีหลากหลายรูปแบบ เช่น วีดีโอคลิป (Video clips)แฟลชเกม (Flash games) รูปภาพ อี-การ์ด หรือแม้กระทั่งข้อความสั้น (SMS text messages)

ทั้งนี้การทำการตลาดแบบไวรัสให้ประสบความสำเร็จควรที่จะมีความแตกต่าง โดดเด่น สนุกสนาน ต้องนำเสนอในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ต้องทำให้ผู้รับเกิดความสนใจ นำไปสู่การส่งต่อแต่อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะทำการตลาดแบบไวรัสได้ประสบความสำเร็จเสมอไป โดยสาเหตุที่ทำให้การตลาดแบบไวรัสไม่ประสบความสำเร็จอาจเนื่องมาจาก การนำเสนอสิ่งกระตุ้นที่ไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือตัวโครงสร้างของธุรกิจเอง (MacPherson, 2001) จากที่กล่าวมาจะสอดคล้องกับผลการวิจัยของ Porter และ Golan (2006) ที่พบว่า ลักษณะทางอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการใช้จุดจูงใจทางการโฆษณาของการโฆษณาแบบไวรัสที่แตกต่างกันด้วย

การทำการตลาดแบบไวรัสไม่เพียงแต่จะต้องคำนึงถึงแค่เรื่องของความเหมาะสมของการนำเสนออย่างสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงในการนำการสื่อสารการตลาดรูปแบบนี้มาใช้ด้วย ซึ่งความเสี่ยงหลักๆ ก็คือ การที่ข้อมูลข่าวสารอาจถูกบิดเบือนได้ นอกจากนี้การตลาดแบบไวรัสไม่ได้มีวัตถุประสงค์แค่เพื่อให้เกิดการแพร่กระจายหรือส่งต่อข้อมูลในปริมาณมากเท่านั้น แต่ประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้นก็คือ การที่ทำให้ผู้บริโภคเป้าหมายเห็นถึงความน่าสนใจของสาร และเกิดความเชื่อถือในสารนั้น เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมการตอบสนองได้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการสื่อสารด้วยการตลาดแบบไวรัส (Kirby, 2006)

ดังนั้นกระบวนการในการออกแบบการตลาดแบบไวรัสควรเริ่มด้วย การกำหนดวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมต่อการใช้วิธีการนี้ จากนั้นจึงพัฒนากลยุทธ์ที่จะใช้ในการนำเสนอ ซึ่งประกอบด้วย แนวคิด รูปแบบ และเรื่องราว ทั้งนี้จะต้องคำนึงความกลมกลืนกับเครื่องมือการสื่อสารการตลาดอื่นๆ ด้วยโดยKirby (2006)ได้แบ่งองค์ประกอบหลักของการทำการตลาดแบบไวรัสออกเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) Creative material การนำเสนอต้องมีความแปลกใหม่ น่าสนใจ (2) Seeding ผู้รับควรเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง ผู้ส่งควรเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นผู้นำทางความคิดหรือเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและ (3) Tracking ผลของการทำการตลาดแบบไวรัสควรเป็นสิ่งที่ตรวจสอบหรือวัดผลได้ซึ่งอาจตรวจสอบจากการที่สารสามารถส่งไปถึงผู้รับสารเป้าหมายปลายทางได้หรือกระแสการตอบกลับหรือพูดถึง

นอกจากองค์ประกอบหลักพื้นฐานที่ควรยึดถือเมื่อนำเครื่องมือการสื่อสารการตลาดวิธีนี้ไปใช้แล้ว ยังมีเคล็ดลับต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเครื่องมือชนิดนี้อีก 7 ประการด้วยกัน ได้แก่ (“7 เคล็ดลับเพื่อการทำ Viral Web Marketing,” 2550)

  1. ทำให้คนดูรู้สึกอะไรบางอย่าง

การสร้างให้โฆษณาชิ้นนั้นมีการถ่ายทอดความรู้สึกออกมาอย่างชัดเจน รุนแรง การนำเสนอจะต้องสามารถให้ผู้ชมแสดงความคิดเห็นออกมาได้เป็นคำพูด สามารถตัดสินสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาได้ว่าต้องการสื่ออารมณ์แบบไหน ตลอดจนพยายามทำให้สิ่งที่สื่อออกมานั้นมีความเป็นกลางมากที่สุด เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้หลายกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ ทำให้มีคนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบกับสิ่งที่นำเสนอให้น้อยที่สุด เพราะการทำการตลาดแบบไวรัสนั้น เป็นการทำการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของผู้ชมเสียเป็นส่วนใหญ่เช่น คลิปโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง Last Summer ที่ดึงเอาแก่นหลักของเนื้อเรื่องในภาพยนตร์มาใช้ในคลิป กล่าวคือ มีการนำกระเป๋าที่เหมือนมีศพอยู่ข้างในไปวางไว้ในห้องน้ำ พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศให้ดูน่ากลัว และซ่อนกล้องทำเป็นคลิปออกมาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตก่อนภาพยนตร์ออกฉาย จากความน่าสนใจของคลิปดังกล่าวที่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูทำให้ยอดดูพุ่งขึ้นสูงถึง 1 ล้านวิว ภายใน 1 สัปดาห์

 

  1. ทำบางอย่างที่เหนือความคาดหมาย

ถ้าต้องการให้ผู้รับสารสนใจในข้อมูลข่าวสารทางการตลาดที่ส่งออกไป นักการตลาดจะต้องทำให้การนำเสนอนั้นมีความแตกต่าง มีบางสิ่งบางอย่างที่เหนือความคาดหมาย ควรนำเสนอในสิ่งที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เช่น การตลาดแบบไวรัสของ Qualcomm ที่สร้างความแปลกใจให้แก่ผู้ใช้บริการรถสาธารณะ ที่ระหว่างรอรถเบื่อๆ มีการจูงใจด้วยป้ายโฆษณาที่ให้เราลองกดคลิ้กไปในเว็บไซต์ตาม url ที่กำหนด จากนั้นก็จะพบกับสิ่งที่จะพาเราไปจุดหมายปลายทางเหนือความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นรถสปอร์ตเปิดประทุน รถลากเทียมม้าแบบในนิทานสำหรับคู่รัก รถเมล์ที่เต็มไปด้วยคณะละครสัตว์สำหรับเด็กน้อย รถลากเลื่อน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ Qualcomm ต้องการสื่อสารว่า เขาเป็นองค์กรที่ช่วยคิดค้นระบบต่างๆเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากขึ้น

 

  1. อย่าพยายามทำให้ดูเป็นการโฆษณา

เนื่องจากการตลาดแบบไวรัสที่น่าสนใจนั้นคือ การนำเสนอเรื่องราวที่ดีๆ เช่นเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ T-Mobile ของประเทศอังกฤษที่มีสโลแกนว่า Life’s for sharing เน้นเรื่องการแบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุข ได้ทำเซอร์ไพรส์ให้แก่ผู้โดยสารขาเข้าที่สนามบิน Heathrow ด้วยการร้องเพลงต้อนรับ สร้างความรู้สึกดีๆ และผู้ที่พบเห็นได้ใช้โทรศัพท์ของตัวเองถ่ายคลิปเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป สมดังสโลแกนของ T-Mobileจะเห็นได้ว่าแนวทางใหม่ในการโฆษณาไม่จำเป็นต้องใช้ตัวสินค้าเป็นเครื่องมือในการนำเสนอเสมอไป แต่ควรเน้นไปที่การสร้างสรรค์เรื่องราวที่ดีและน่าสนใจแทน แต่อย่างไรก็ตามเจ้าของสินค้าก็สามารถนำสินค้าเข้าไปผสมผสานร่วมกันได้ แต่ต้องไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวใจหลักของการคิดเรื่องราวเพื่อทำโฆษณา

 

  1. มีเรื่องราวที่ต่อเนื่อง

กล่าวคือ ควรที่จะต้องมีการเอาใจใส่ที่จะผลิตโฆษณาตอนต่อๆ ไปออกมาเรื่อยๆ หรือการทำกิจกรรมต่อยอดความคิดต่างๆ เพื่อให้เกิดการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะหากโฆษณาชิ้นแรกสามารถสร้างความสนใจแก่ผู้บริโภคได้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่โฆษณาหรือกิจกรรมต่อไปผู้บริโภคจะเลือกที่จะเปิดรับสารเช่น ในกรณีของ T-Mobile ก่อนที่จะมี  Viral Clip ชุด Welcome Back นั้น ได้ทำ Flash mob ชื่อชุดว่า “Dance” ขึ้นที่สถานีรถไฟใน Liverpool เพื่อสื่อสารสโลแกน Life’s for sharing

 

 

และหลังจากที่ Viral Clip ทั้งสองนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก T-Mobile ก็ยังคงเล่นกับสถานการณ์สำคัญๆ โดยสื่อผ่านคลิปสนุกๆ ที่ยังคงตอกย้ำถึงไอเดียหลักของแบรนด์อย่าง Life’s for sharing ได้ ดังเช่นคลิป The T-Mobile royal wedding ที่เป็นการรวมเอาคนที่หน้าตาละม้ายคล้ายเชื้อพระวงศ์อังกฤษต่างๆ มาร่วมสนุกสนานเพื่อเฉลิมฉลองงานพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่พิธีหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกอย่างงานพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับแคทเธอรีน มิดเดิลตัน

 

  1. เปิดให้สามารถดาวน์โหลดและเอาไปโพสต์ที่เว็บไซต์อื่นได้

การแบ่งปันข้อมูลคือหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการทำการตลาดแบบไวรัส เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่นักการตลาดสร้างสรรค์ขึ้นมาสำหรับการตลาดในรูปแบบนี้ก็เพื่อให้เกิดการส่งต่อและแบ่งปันกับผู้อื่นได้ง่ายที่สุด ดังนั้นนักการตลาดต้องอนุญาตให้ผู้รับสารกระทำในสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ได้ เช่น ดาวน์โหลดไฟล์หรือรูปภาพต่างๆ ได้ ผู้รับสารสามารถนำไปโพสต์ไว้ที่เว็บไซต์อื่นๆ ได้ ซึ่งขนาดของไฟล์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากว่ามีขนาดที่ใหญ่เกินไปก็ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำไม่สามารถเปิดดูได้

  1. สร้างความสัมพันธ์ด้วยความคิดเห็น

การสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับสารก็ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำการตลาดแบบไวรัส เมื่อผู้รับสารเกิดความสนใจในสารที่นักการตลาดสื่อออกไป ก็ย่อมเกิดความต้องการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนวิจารณ์ในสิ่งที่ได้ชม ซึ่งความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่มีพลังและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตลาดแบบไวรัส กล่าวคือ ยิ่งมีคนพูดถึงมากเท่าไหร่ก็ย่อมหมายความว่ามีคนให้ความสนใจมากเท่านั้น โดย Walsh, Gwinner, และ Swanson (2004)ได้เสนอว่า เจ้าของสินค้าหรือบริการควรที่จะมีการเปิดพื้นที่ในเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคได้เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันด้วย

ทั้งนี้การที่จะทำให้ผู้รับสารเกิดความสนใจ นักการตลาดจำเป็นต้องสร้างอารมณ์ของเนื้อเรื่องให้มีความชัดเจน มีความน่าจดจำ ตราตรึงอยู่ในจิตใจของผู้รับสาร อย่างไรก็ดีนักการตลาดหรือเจ้าของสินค้าก็จำเป็นต้องทำใจยอมรับความคิดเห็นทั้งดีและไม่ดีที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนต้องต้อนรับทุกความคิดเห็นที่สะท้อนกลับมา แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องศึกษาหรือคาดการณ์ล่วงหน้า และเตรียมพร้อมรับมือกับการต่อต้านที่อาจเกิดขึ้นจากผู้รับสาร รวมทั้งการแทรกแซงของคู่แข่งด้วย

  1. ไม่มีการจำกัดการเข้าชม

การตลาดแบบไวรัสคือการสร้างปรากฏการณ์ทางการตลาดให้มีชีวิตด้วยตัวมันเองเหมือนกับการแพร่กระจายของไวรัส ซึ่งต้องการความมีอิสระ เพื่อส่งต่อไปยังผู้อื่นได้ง่ายๆ ดังนั้นการเข้าชมจึงควรเป็นไปอย่างไม่มีขอบเขตหรือข้อจำกัดใดๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ดังเช่น ไม่มีการลงทะเบียนก่อนเข้าชม ไม่ต้องสมัครสมาชิก ไม่ต้องดาวน์โหลดด้วยซอฟต์แวร์พิเศษ ไม่มีการล็อกรหัส เป็นต้น เนื่องจากการทำการตลาดแบบไวรัสไม่ต้องการทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่งออกมาถูกเก็บเป็นความลับ หากแต่ต้องการให้ทุกคนได้เห็นได้รับชมกันอย่างถ้วนหน้า

 

 

ข้อดีของการตลาดแบบไวรัส (Advantages of Viral Markerting)

  1. ต้นทุนต่ำ (Cheap and low cost)

เนื่องจากเป็นการเผยแพร่ข้อมูลโดยผู้บริโภคด้วยกันเอง กล่าวคือ ผู้บริโภคเป็นผู้ส่งต่อข้อมูลด้วยความสมัครใจของเขา

  1. การเข้าถึงที่กว้างและแพร่หลาย (Extensive reach)

เนื่องจากเป็นการสื่อสารที่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการส่งต่อสามารถมีผู้รับต่อครั้งเป็นจำนวนมาก

  1. ความน่าเชื่อถือสูง (High credibility)

เนื่องจากการพิจารณาการสื่อสารข้อมูลผ่านทางการตลาดในแต่ละครั้ง นักการตลาดจำเป็นต้องค้นหาผู้รับสารเบื้องต้นที่มีลักษณะเป็นผู้นำทางความคิด (Opinion Leader)เพื่อที่จะสามารถจูงใจและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สารได้ อีกทั้งในบางครั้งการส่งต่อข้อมูลข่าวสารของการตลาดแบบไวรัสยังเป็นการส่งต่อมาจากบุคคลผู้รับที่คุ้นเคยหรือรู้จักกันดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสารของการตลาดแบบไวรัส

  1. ประสิทธิภาพสูง (High efficiency)

ในกรณีที่มีการวางแผนที่รอบคอบและออกแบบการนำเสนอที่สามารถกระตุ้นความสนใจของผู้รับสารได้

ข้อเสียของการตลาดแบบไวรัส (Disadvantages of Viral Marketing)

  1. เสี่ยงต่อการเข้าใจผิด(Brand Dilution)

เนื่องจากการตลาดแบบไวรัสได้แพร่กระจายข้อมูลข่าวสารโดยอาศัยการส่งต่อของผู้บริโภค ดังนั้นการออกแบบข้อความที่ต้องการสื่อควรมีการออกแบบที่รัดกุม ตัวสารควรมีทิศทางที่ชัดเจนว่าต้องการสื่ออะไร เพื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ตรงตามที่นักการตลาดต้องการ

  1. เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ไม่รู้จัก (Association with unknown groups)

จุดแข็งของการตลาดแบบไวรัสก็คือการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารไปยังผู้รับจำนวนมากภายในระยะเวลาอันสั้น แต่อย่างไรก็ดีในกระบวนการแพร่กระจายข่าวสารนั้นแม้ว่าบางส่วนนักการตลาดจะสามารถควบคุมได้ กล่าวคือ ในตอนต้นที่ได้มีการคัดเลือกผู้รับเบื้องต้นที่เป็นผู้นำทางความคิด แต่ในช่วงต่อมาก็เป็นการยากที่จะควบคุมได้

  1. หลีกเลี่ยงการนำเสนอด้านการเงินเพียงอย่างเดียว (Avoid making purely financial-based offer)

การตลาดแบบไวรัสจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรหากนักการตลาดพยายามที่จะยัดเยียดข้อเสนอทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียว เนื่องจากผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดได้ว่าเป็นจดหมายขยะ (Spam mail)

  1. การคุกคามของจดหมายขยะ (Spam threats)

หากนักการตลาดวางแผนการดำเนินงานของการตลาดแบบไวรัสไม่ดีหรือไม่รอบคอบเพียงพอ จดหมายอิเล็กทรอนิคส์ที่ส่งออกไปก็เสี่ยงต่อการที่ผู้บริโภคจะเข้าใจว่าเป็นจดหมายขยะเช่น บริษัทได้ว่าจ้างให้พนักงานของตนส่งจดหมายอิเล็กทรอนิคส์ชักชวนให้ซื้อสินค้าไปยังเพื่อนของเขา แต่เพื่อนได้อนุญาตให้ส่งไปได้แค่จดหมายอิเล็กทรอนิคส์ที่เป็นเรื่องส่วนตัวเท่านั้น ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานผู้ส่งและเพื่อนก็จะแย่ลง รวมทั้งผู้รับก็จะเกิดความรู้สึกด้านลบแก่บริษัทอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทในใจผู้รับได้

การวิเคราะห์เปรียบเทียบการตลาดแบบปากต่อปากและการตลาดแบบไวรัส

(Traditional Word-of-Mouth versus Viral Marketing)

          จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทั้งการตลาดแบบปากต่อปากและการตลาดแบบไวรัสจะมีทั้งคุณสมบัติที่คล้ายกันและคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยในส่วนที่คล้ายกันนั้นจากการศึกษาของ Porter และ Golan (2006)พบว่าทั้งการตลาดแบบปากต่อปากรูปแบบเดิมและการตลาดแบบไวรัสจะถูกใช้เพื่อจูงใจหรือมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น

ส่วน Datta et al. (2005) วิเคราะห์ว่า ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของการตลาดแบบปากต่อปากและการตลาดแบบไวรัสก็คือ การเข้าถึงและความเร็วในการส่งต่อข้อมูล ในส่วนของการตลาดแบบปากต่อปากนั้นเป็นลักษณะการติดต่อสื่อสารแบบเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร (Face-to-face communication) ซึ่งความเร็วในการแพร่กระจายข้อมูลจะช้ากว่าการตลาดแบบไวรัส ส่วนการตลาดแบบไวรัสนั้นมีลักษณะการแพร่กระจายข้อมูลที่สามารถแพร่หลายไปทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากอาศัยการส่งต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีการเชื่อมต่อกันทั่วโลกอย่างไรขีดจำกัด อีกทั้งการแพร่กระจายข้อมูลในรูปแบบการตลาดแบบไวรัสนั้น ในครั้งหนึ่งๆ ของการเผยแพร่ข้อมูลผู้ส่งสารสามารถส่งไปยังผู้รับได้หลายคน

 

อิทธิพลของผู้นำทางความคิดที่มีต่อการตลาดแบบไวรัส

(Influences of Opinion Leader on Viral marketing)

ผู้นำทางความคิด (Opinion Leader) คือ คนที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน ในการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ผู้นำทางความคิดเหล่านี้มักจะแนะนำสินค้าใหม่ ให้คำปรึกษาในการตัดสินใจ ช่วยลดความเสี่ยงและออกความคิดเห็นในทางที่ดีเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจซื้อสินค้าใหม่ คนกลุ่มนี้จึงเป็นผู้ที่ช่วยสื่อสารให้กับนักการตลาดโดยอ้อม โดยลักษณะนิสัยของผู้นำทางความคิดมักจะเป็นคนชอบเข้าสังคม รู้จักคนมาก มีฐานะดี มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบลองของใหม่ ชอบทำตัวให้เด่นจากคนอื่นๆ เป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษาของคนอื่นๆ ต้องการให้คนยอมรับ เป็นแบบอย่างที่คนอื่นในสังคมเดียวกันมักจะเลียนแบบทำตาม ตัวอย่างเช่น อเมริกันเอ๊กซ์เพรส เมื่อตอนเปิดตัวบัตรเครดิตบัตรทอง ได้ใช้แคมเปญ “Do You Know Me” โดยเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นที่ยอมรับของคนในวงสังคมเดียวกัน มาเป็นแบบโฆษณาแนะนำให้ใช้บัตรเครดิต บัตรทองของอเมริกันเอ๊กซ์เพรส (สมวงศ์ พงศ์สถาพร, 2549)

นอกจากนี้ Cakim (2006) ได้อธิบายว่า ผู้มีอิทธิพลทางโลกออนไลน์ (Online influencers) หรือ “e-fluentials” นั้นมักจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดทั้งทางการสื่อสารแบบออนไลน์และออฟไลน์ อีกทั้งยังมักจะเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำในเรื่องต่างๆ แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า องค์กร การเมือง ตลอดจนเรื่องความบันเทิง สุขภาพ จนอาจกล่าวได้ว่า เมื่อใดที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจ e-fluentials ก็จะเป็นบุคคลแรกๆ ที่เขานึกถึง

จากการที่ e-fluentials มีบทบาทต่อความคิดหรือแนวทางการเกิดพฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนั้นองค์กรจึงควรที่จะมีการติดต่อสื่อสารกับบุคคลเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลสะท้อนกลับเกี่ยวกับทัศนคติที่ผู้บริโภคมีต่อสินค้าหรือบริการ การสื่อสารทางการตลาดขององค์กร ตลอดจนองค์กรจะได้ทราบปัญหาหรือข้อสงสัยต่างๆ เพื่อที่องค์กรจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงสินค้าและบริการให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

ผู้บริโภคในปัจจุบันมีการติดต่อหรือค้นหาข้อมูลจากโลกการสื่อสารบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ดังนั้นหากองค์กรต้องการประสบความสำเร็จในการสื่อสารการตลาดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต องค์กรควรที่จะต้องค้นหาผู้รับสารเบื้องต้นที่เป็น “Viral Consumers หรือ Opinion Leaders” กล่าวคือ เป็นผู้ที่สนใจในข้อมูลข่าวสารที่จะส่งไปจริงๆ แม้ว่าในเบื้องต้นอาจจะส่งไปหาผู้รับได้จำนวนน้อย แต่หากผู้รับเป็นผู้นำทางความคิดที่สนใจในสารนั้นจริง ก็จะช่วยให้ผู้รับในขั้นต่อๆ ไปเกิดการยอมรับ สนใจ ตลอดจนเชื่อถือในสารและเกิดพฤติกรรมการส่งต่อสารได้ง่ายขึ้น (Phelpset al., 2004)

ดังนั้นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งที่องค์กรต้องกระทำก็คือ การค้นหาผู้บริโภคที่เป็น e-fluentials โดย Cakim (2006)  แนะนำว่า ผู้บริโภคที่มีลักษณะเข้าข่ายคือ ผู้บริโภคที่มีลักษณะเป็นผู้ที่ชอบค้นหาข้อมูลในระดับที่มากกว่าคนทั่วไป (Active information seekers) โดยมีขั้นตอนหลักๆในการค้นหา 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกทำการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมที่ชอบค้นหาข้อมูลออกจากผู้บริโภคทั่วไป ต่อมาสำรวจถึงปัจจัยทางด้านจิตวิทยา (Psychographic section) ในเรื่องของทัศนคติที่มีต่อองค์กรหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ และท้ายสุดปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ (Demographic section) ในเรื่องต่างๆ เช่น การใช้สื่อ (Media usage) อำนาจซื้อ (Purchasing Power) การครอบครองผลิตภัณฑ์ (Product ownership) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงความถี่ของพฤติกรรมต่างๆ ด้วย เช่น การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิคส์ถึงองค์กร ความมีมนุษย์สัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต การส่งต่อข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ ให้แก่ผู้อื่น การให้ข้อมูลสะท้อนกลับที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร เป็นต้น

หลังจากที่องค์กรทราบกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพที่สามารถเป็น e-fluentials ให้แก่องค์กรแล้ว ขั้นตอนต่อมาองค์กรจะต้องสร้างความเชื่อใจหรือความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในจิตใจของ e-fluentials หลังจากนั้นจึงจะให้เขาช่วยแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารของสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลอื่นต่อไป นอกจากนี้องค์กรยังสามารถนำเอาข้อมูลข่าวสารที่ได้จาก e-fluentials มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้อีกด้วย

นอกจากผู้นำทางความคิดหรือ Opinion leader ดังที่กล่าวมาแล้ว ในงานวิจัยของ Feick และ Price (1987)ยังได้มีการใช้ศัพท์ในทำนองเดียวกับ Opinion leader  ด้วย ซึ่งคือ คำว่า “Market maven” โดย Feick และ Price ได้ให้คำนิยามของ Market maven ว่าหมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในข้อมูลทั่วๆ ไปเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ร้านค้า ตลอดจนข่าวสารทางการตลาดอื่นๆ ส่วน Opinion leader จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในข้อมูลที่มีความเฉพาะเจาะจงกว่า

บทสรุป

          จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การขยายขอบเขตของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ส่งผลให้พฤติกรรมการเปิดรับสื่อและการบริโภคต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีการใช้วิจารณญาณและความเชื่อถือข้อมูลแหล่งสารที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น วงการการสื่อสารการตลาดและการโฆษณาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีในการเข้าถึงผู้บริโภค การตลาดแบบไวรัสก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ธุรกิจนำมาเลือกใช้เพื่อสื่อสารข้อมูลของสินค้าและบริการของตนสู่ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งวิธีการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จำเป็นต้องศึกษาวิธีการใช้งาน รวมถึงการสร้างสรรค์เนื้อหา (Content)ให้มีความเหมาะสมไม่ดูเป็นการยัดเยียดจนเกินไป ต้องน่าสนใจ และมาจากแหล่งที่กลุ่มเป้าหมายเชื่อถือ นั่นก็คือ การหาผู้นำทางความคิด (Opinion leader) ที่เหมาะสมกับการถ่ายทอดข้อมูล หากองค์กรธุรกิจคำนึงและใส่ใจถึงองค์ประกอบเหล่านี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนของการสื่อสารการตลาดที่ช่วยสร้างความสำเร็จให้เกิดแก่กิจการได้

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

7 เคล็ดลับเพื่อการทำ viral web marketing. (2550). E-commerce, 99(16), 100-103.

ASTVผู้จัดการออนไลน์. (12 มกราคม 2558).3 นายกธุรกิจฯ ชี้เศรษฐกิจไทยปี 58 “แพะอมโรค-รับบาป. (2558). สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2558, จาก http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000003662

คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป. (2549). Broadband internet: เชื่อมยุโรปสู่อนาคต.สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม2558, จาก http://news.thaieurope.net/content/ view/1136/64/

ไทยรัฐออนไลน์. (14 ตุลาคม2557).สถิติเผยปี 57 คนไทยมีพีซีใช้เพิ่มขึ้น กทม.ครองแชมป์ใช้เน็ต-มือถือ. (2557). สืบค้นเมื่อ10กรกฎาคม2558, จากhttp://www.thairath.co.th/content/456551

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (5 มีนาคม 2556). ธุรกิจโฆษณาโตขึ้น : จับตา การเติบโตของสื่อทางเลือก และ AEC ส่งให้ผู้เล่นหลักปรับกลยุทธ์.(2557). สืบค้นเมื่อ8 กรกฎาคม2558, จากhttps://www.kasikornresearch.com/th/k-econanalysis/pages/ViewSummary.aspx?docid=30686

สมวงศ์ พงศ์สถาพร. (2549). การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานภาคปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร: พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์.

ภาษาอังกฤษ

Balter, D., & Butman, J. (2006). Clutter Cutter. Marketing Management, 15(4), 49-50.

Cakim, I. (2006). Online opinion leaders: A predictive guide for viral marketing campaigns. In J. Kirby & P. Marsden (Eds), Connected marketing (pp. 107-118). Burlington: MPG Books.

Datta, P. R., Chowdhury, D. N., & Chakraborty, B. R. (2005). Viral marketing: new form of word-of-mouth through internet. The Business Review, 3(2), 69-75.

Feick, L. F., & Price, L. L. (1987). The market maven: A diffuser of marketplace information. Journal of Marketing, 51(1), 83-97.

Jurvetson, S. (2000). What is viral marketing?. Retrieved October 4, 2007, from http://www.dfj.com/cgi-bin/artman/publish/steve_may00.shtml

Kirby, J. (2006). Viral marketing. In J. Kirby & P. Marsden (Eds), Connected marketing (pp. 91-97). Burlington: MPG Books.

MacPherson, K. (2001). Permission-based e-mail marketing that works!. Chicago, IL: Cynthia A. Zigmund.

Phelps, J. E., Lewis, R., Mobilio, L., Perry, D., & Raman, N. (2004). Viral marketing or electronic word-of-mouth advertising: examining consumer responses and motivations to pass along email. Journal of Advertising Research,44(4), 333-348.

Porter, L., & Golan, G. J. (2006). From subservient chickens to brawny men: a comparison of viral advertising to television advertising. Journal of Interactive Advertising, 6(2), 30-38.

Solomon, M. R. (2007). Consumer behavior buying, having, and being (7th ed.). Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall.

Thurau, T. H., Gwinner, K. P., Walsh, G., & Gremler, D. D. (2004). Electronic word-of-mouth via consumer-opinion platforms: What motivates consumers to articulate themselves on the internet?. Journal of Interactive Marketing, 18(1), 38-52.

Walsh, G., Gwinner, K. P., & Swanson, S. R. (2004). What makes mavens tick? exploring the motives of market mavens’ initiation of information diffusion. Journal of Consumer Marketing, 21(2), 109-122.

Welker, C. B. (2002). The paradigm of viral communication. Information Service and Use, 22(3), 3-8.

View Fullscreen

 

 

 

 

 

 

 

ราเม็ง (Raumen)

การนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ: ราเม็ง (Raumen)

ประเภทผลงานทางวิชาการ: บทความวิชาการ

ปีที่พิมพ์ :  2557

ข้อมูลเพิ่มเติม: บทความนี้ได้ลงวารสารของคณะวิทยาการจัดการเล่มที่ 1 ปีที่ 1 (2557)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์พรรณา พูนพิน

สาขาวิชา คอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทความวิชาการ เรื่อง ราเม็ง นี้ ผู้เขียน คือ อาจารย์พรรณา พูนพิน อาจารย์สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ ได้ให้ความสนใจ ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับรายการอาหาร ที่ประชาชนนิยมรับประทาน ซึ่งเหมาะสมกับราคาและเวลาในการรับประทาน แม้แต่ในประเทศไทย  ราเม็ง นี้ เป็นอาหารญี่ปุ่นประเภทบะหมี่น้ำ   ผู้เขียนได้บรรยายถึงประวัติ ส่วนประกอบหลัก ทั้งเส้น น้ำซุบและเครื่องปรุง บุคคลที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ  พิพิธภัณฑ์ราเม็ง นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นรูปแบบการบรรจุภัณฑ์ของราเม็งประเภทต่างๆ ขั้นตอนการทำเส้นราเม็ง และการสั่งซื้อราเม็งจากตู้หยอดเงิน เป็นต้น ซึ่งบทความจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ต้องการศึกษาข้อมูลของอาหาร “ราเม็ง” ในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ต่อไป

View Fullscreen

นั่งรถไฟ ในยุโรป

การนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ          นั่งรถไฟ ในยุโรป

ประเภทผลงานทางวิชาการ  บทความวิชาการ

ปีที่พิมพ์                           2557

ข้อมูลเพิ่มเติม                   บทความนี้ได้ลงในวารสารของคณะวิทยาการจัดการ       มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฉบับที่ 1 ปีที่ 1

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

                                  อาจารย์พรรณพิชญา  อัญชันภาติ  สาขาวิชาการท่องเที่ยว

คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทความวิชาการ เรื่อง “นั่งรถไฟ ในยุโรป” ผู้เขียน คือ อาจารย์พรรณพิชญา อัญชันภาติ อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเดินทางโดยรถไฟในทวีปยุโรป และเพื่อเป็นความรู้สำหรับนักเดินทางที่จะไปเที่ยวในทวีปยุโรป (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเบลเยี่ยม และประเทศเนเธอแลนด์)  ว่ามีลักษณะอย่างไร โดยได้กล่าวถึง สภาพการเดินทาง   ลักษณะของรถไฟต่างๆ   วิธีการซื้อตั๋ว วิธีการขึ้นรถไฟ  สภาพของรถไฟทั้งภายในและภายนอก  รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกภายในรถไฟและสถานีรถไฟ เป็นต้น เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทความเรื่องนี้จบแล้ว คงได้ข้อคิดหลายประการเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในสภาพปัจจุบันนี้

View Fullscreen

ศึกษาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : กรณีศึกษาตลาดน้ำ

การนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ      ศึกษาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : กรณีศึกษาตลาดน้ำ

                                         คลองบางหลวง จังหวัดกรุงเทพมหานคร

The Study of Ecotourism Potentials: A Case Study of

Khlong Bang Luang  Floating Market, Bangkok

ประเภทผลงานทางวิชาการ          บทความวิจัย

ปีที่พิมพ์                                   2560

ข้อมูลเพิ่มเติม                 บทความนี้ได้นำเสนอในงาน เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในการประชุม

                                       วิชาการระดับชาติ    ด้านการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัย

ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ครั้งที่ 1  (วันที่ 16 มิถุนายน 2560)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

                                      ดร.ตุลยราศรี ประเทพ     สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

            บทความวิจัย      เรื่อง     ศึกษาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ   :      กรณีศึกษาตลาดน้ำ

คลองบางหลวง  ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอภาษีเจริญ  กรุงเทพมหานคร นี้  ดร.ตุลยราศรี ประเทพ สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  เป็นผู้ศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาด้านการบริหารจัดการและศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตลาดน้ำคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือประชาชนในท้องถิ่น จำนวน 139 คนและนักท่องเที่ยว จำนวน 212 คน  รวมทั้งสิ้น451 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว  และสถิติที่ใช้ ได้แก่ การแจกแจงความถี่ (Frequency) ค่าเฉลี่ย (Mean) ร้อยล่ะ (Percentage) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลของการวิจัยพบว่า  การศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ในภาพรวม ประสบกับปัญหาที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับมาก คือ ปัญหาด้านผู้ประกอบการ และการศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว พบว่า ตลาดน้ำคลองบางหลวง โดยรวม มีศักยภาพอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า มีความคิดเห็นต่อศักยภาพ ด้านพื้นที่ อยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ด้านกิจกรรม)  และด้านการจัดการ  ตามลำดับ  ซึ่งบทความวิจัยดังกล่าวสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสร้างเส้นทางและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวตลาดน้ำคลองบางหลวง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร

 

บทคัดย่อ

            การวิจัยแบบผสมผสานวิธีเรื่องศึกษาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : กรณีศึกษาตลาดน้ำคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพมหานครโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตลาดน้ำคลองบางหลวง และ เพื่อศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตลาดน้ำคลองบางหลวง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประชาชนในท้องถิ่น (ประชาชนในพื้นที่) จำนวน 139 คนและเป็นนักท่องเที่ยว จำนวน 212 คน  โดยเลือกตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยในครั้งนี้ คือ แบบประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว

ผลการวิจัยพบว่า

1)การศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พบว่า การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในภาพรวมประสบกับปัญหาที่มีความรุนแรงระดับมากคือ ปัญหาด้านผู้ประกอบการโดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ1.52,2)การศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว พบว่า ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตลาดน้ำคลองบางหลวง โดยรวม มีศักยภาพอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า มีความคิดเห็นต่อศักยภาพ ด้านพื้นที่ อยู่ในระดับมากโดยมีค่าเฉลี่ย (= 3.57)รองลงมา คือ ด้านกิจกรรม(xˉ = 3.51)  และด้านการจัดการ(xˉ = 3.49)  ตามลำดับ

คำสำคัญ:ศักยภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

 

Abstract

This mixed-method research entitled “The Study of Ecotourism Potentials: A Case Study of Khlong Bang Luang Floating Market, Bangkok” aimed to study thecurrent issues of ecotourism attractions of Khlong BangLuang Floating Market and to study the ecotourism site potentials of Khlong Bang Luang Floating Market. The sample consisted of 139 local people and 212 tourists which had been selected using accidental sampling method. The instrument used was a tourism potential evaluation form. The process and statistic used to analyze information were content analysis, average, percentage and variance.

The findings revealed as follows:

1) The problem on the participatory ecotourism management of Khlong Bang Luang Floating Market. Sub-district was at a high level. It was found out that the highest mean score was found in the entrepreneur 2) The study revealed that the overall ecotourism potential of Khlong Bang Luang Floating Market was high. The findings, according to each aspect, were at a high levelincluding the area (xˉ = 3.57), the activities(xˉ = 3.51)  and the management (xˉ = 3.49) respectively.

Keywords: Ecotourism Potentials

View Fullscreen

การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ชื่อผลงานทางวิชาการ                การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ประเภทผลงานทางวิชาการ        บทความวิชาการ

ปีที่พิมพ์                                   2560

ข้อมูลเพิ่มเติม                           เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ครั้ง่ที่ 1  (วันที่ 16 มิถุนายน 2560)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ

               บทความ เรื่อง   การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ( Community Based Tourism Management for Sustainable Tourism Development)ผู้เขียน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ สาขาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยเน้นคนในชุมชนต้องเป็นศูนย์กลาง  ยึดมั่นต่อความเป็นธรรม  มีประชาธิปไตย มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้วยกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป  รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จึงจะส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สู่ความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป


 

การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

Community Based Tourism Management for Sustainable Tourism Development

                                                                                  ดร.สุดถนอม ตันเจริญ[*]

 

บทคัดย่อ

ด้วยลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนโดยรวม ด้วยกระบวนการทางสังคมที่มุ่งการพัฒนาโดยมีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง การรวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนที่ยึดมั่นต่อความเป็นธรรมในการจัดการ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงสะท้อนมิติเชิงการเมือง รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม ด้วยกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นผลของการจัดการทรัพยากรในชุมชนด้วยสมาชิกของชุมชนนั้น ๆ ลักษณะสุดท้ายคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลของความร่วมมือกันในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกปัจจัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการก้าวไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

 คำสำคัญ: การท่องเที่ยวโดยชุมชน การมีส่วนร่วม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

Abstract

               The essential aspects of Community Based Tourism (CBT) which consists of community economy which provide benefits to the community as a whole. For social aspect, as community organizations that they focus on people-centered development, social justice. Community participation, responsiveness for community needs and democratization are required as the political aspect. And cultural aspect, local culture passes on to the next generation and cultural preservation. The final aspect of environmental preservation and natural resource management rights with environmental responsibility and natural resource preservation are required. Such result of Community Based Tourism will effect to more career and continuous income without evvironment damages. All mention is vital factors of Community Based Tourism Management leading to the success of real sustainable tourism development.

 Keywords: Tourism Based Tourism, Participation, Environmental Preservation, Sustainable Tourism


บทนำ

               การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism หรือ CBT) เป็นแนวคิดที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาจัดการในชุมชนท้องถิ่น ตลอด  2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยรูปแบบของการจัดการโดยคนในชุมชน หรือเจ้าของพื้นที่ (Host Management) เช่น ประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ Etsuko (2008) แห่งมหาวิทยาลัย Okazaki Kobe ได้ศึกษาและพบว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นตัวแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ กระบวนการความร่วมมือ และความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มสังคม การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนขยายตัวอย่างรวดเร็วและในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงภายในและภายนอกชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้รูปแบบของการจัดการโดยชุมชนถูกคาดหวังว่าเป็นวิธีการจัดการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่มีศักยภาพ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ และสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทรัพยากรการท่องเที่ยวในตัวเอง (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2559)

               สำหรับประเทศไทย กระแสการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในท้องถิ่น รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 (มาตรา 46 และ 56) โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งตนเอง และการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจชุมชน (มาตรา 78) รวมถึงแนวโน้มการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ตามแนวคิดการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม (กอบกุล รายะนาคร, 2550) แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในหลายพื้นที่ที่นักวิจัยศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ และการท่องเที่ยวโดยการจัดการร่วมกันของชุมชนเองก็พบว่า ปัญหาเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการจัดการ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

               ท่ามกลางกระแสท้องถิ่นนิยม ที่มุ่งเน้นให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พอสรุปได้ว่า ในมาตรา 46 และมาตรา 56 กล่าวถึงการให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและการตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นตามมาตรา 78 รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

               แนวคิดของการเดินทางท่องเที่ยวในโลกปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะคำนึงถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่น โดยเฉพาะเรื่องของการตอบสนองความพึงพอใจที่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ในขณะที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มุ่งปกป้องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประเพณีที่สื่อจากโบราณสถาน ศิลปวัตถุ การแสดง ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสกับวิถีชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนจะเป็นกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในภาพรวม เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนถูกกล่าวขานและมุ่งพัฒนาอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อนประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อความตระหนักในการอยู่รอดและอยู่ได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากความเชื่อมโยงขององค์ประกอบสำคัญในกระบวนการมีส่วนร่วม คือร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

               ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาอุปสรรคของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ เช่น การศึกษาศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ชุมชนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการเมือง พบว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดการอย่างเป็นระบบและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนได้ ด้านเศรษฐกิจ พบว่า ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ ด้านสังคมและวัฒนธรรม พบว่า มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว เพื่อตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ พบว่า ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการได้รับประโยชน์ พบว่า ชุมชนไม่มีการรวมตัวกันเพื่อประกอบธุรกิจ ร่วมกัน และส่วนใหญ่ชุมชนจะมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว (วรรณวิมล ภู่นาค, 2557) ชี้ให้เห็นว่าชุมชนตระหนักถึงการเรียนรู้ ทั้งด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์วัฒนธรรม แต่ขาดความร่วมมือ เช่นเดียวกับผลการวิจัยเรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559) ซึ่งพบว่า องค์กรชุมชนถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการจัดการและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้จิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง แต่ความความเข้มแข็งในชุมชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนยังขาดความร่วมมือร่วมใจและแรงสนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่มในระยะยาว

               นอกจากปัญหาและอุปสรรคในชุมชนเองแล้ว การท่องเที่ยวยังประสบกับปัญหามลภาวะและส่งผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชนนั้น ๆ เพราะการเติบโตของการท่องเที่ยวที่มีผลดีทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ปัญหาการทําลายทัศนียภาพ ค่าครองชีพสูงขึ้น วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมืองและสูญเสียความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับการลดและขจัดปัญหานี้ เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนในบริบทของพื้นที่แหล่งทรัพยากรอันหลากหลายของชุมชน การพิจารณาการใช้ประโยชน์ในประเด็นนี้เป็นการเน้นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติเป็นหลัก มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมถึงแหล่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศในพื้นที่ ดังนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงตั้งอยู่บนฐานคิดที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการผสมผสานจุดมุ่งหมายของการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม รวมทั้งอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของชุมชนอันมีวิถีชีวิตและจารีตประเพณีแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายให้คนในชุมชนรู้จักการสร้างสำนึกท้องถิ่น เร่งเร้าความภาคภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมประเพณีของตน รวมทั้งสามารถให้คำอธิบายกับคนนอกหรือนักท่องเที่ยวได้รับรู้ และเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ความสวยงามและคุณค่า ตลอดจนการสื่อให้เห็นพัฒนาการของวัฒนธรรม จารีตประเพณีทั้งนี้เพื่อให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเคารพต่อความเชื่อ ศักดิ์ศรีและสิทธิในการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมของชุมชน โดยเน้นการจัดการท่องเที่ยวบนเงื่อนไขของการจัดการที่มีความรับผิดชอบที่จะช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้มุ่งให้มีการจัดการที่ยั่งยืนครอบคลุมถึงการอนุรักษ์

การท่องเที่ยวโดยชุมชน

               ด้วยลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยชุมชนเอง ซึ่งประกอบด้วยมิติการจัดการและการพัฒนา 5 ด้านคือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม (Mintzberg, 2009) สรุปได้ว่า การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องมีการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน โดยการพัฒนาที่มีคนในชมชนเป็นศูนย์กลาง และมีลักษณะด้านการเมืองคือรูปแบบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นผลของการจัดการทรัพยากรในชุมชนด้วยสมาชิกของชุมชนนั้น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในความหมายของการเป็นผู้ประกอบการ มีการจ้างงาน การจัดการที่ดิน จัดหาสินค้าและบริการให้แก่นักท่องเที่ยว ไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนนั้นก็มีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ประสบความสำเร็จยังแสดงให้เห็นถึงการที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจบริการที่ชุมชนนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวทุกประเภท (Middleton, 1998) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

               การท่องเที่ยวโดยชุมชนจัดว่าเป็นการมุ่งบทบาทสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำเป็นต้องมีหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานการท่องเที่ยวมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

               การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ในความหมายที่ครอบคลุมทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งหมายความถึง พื้นที่ สิ่งของ กิจกรรม และหรือมิติอื่นใดที่สามารถให้คุณค่าเชิงการท่องเที่ยว เช่น ความสวยงามตามธรรมชาติคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เป็นต้น แก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ทรัพยากรการท่องเที่ยวสามารถปรากฏได้ทั้งในลักษณะของรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้ด้วยการจับต้อง เช่น สิ่งก่อสร้าง ของที่ระลึก ถ้ำ และน้ำตก เป็นต้น และในลักษณะของนามธรรมที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยการจับต้องแต่สามารถสัมผัสได้ด้วยทางอื่น เช่น ภูมิปัญญาทอ้งถิ่น ภาษาความเป็นชนเผ่า และการเล่นการแสดงพื้นบ้าน เป็นต้น รวมถึงสถานที่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่ มีลักษณะเด่นดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว (มนัส สุวรรณ และคณะ, 2541)

               พจนา สวนศรี (2546: 15) กล่าวถึง องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชนว่ามีอยู่ 4 ด้าน คือ 1) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม 2) องค์กรชุมชน 3) การจัดการ 4) การเรียนรู้ จากผลการวิจัย เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559) ชี้ให้เห็นว่า องค์กรชุมชนถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการจัดการและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้จิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง คิดเป็นทำเป็น มีความพยายามในการเรียนรู้พัฒนา เกิดรายได้เพิ่มขึ้นมีการรวมตัวกัน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามความคาดหวังและความพยายามที่จะดำเนินการเพื่อให้เป็นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่ วีระพล ทองมา (2555) อธิบายไว้คือ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคมวัฒนธรรม 3) สิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนคือการรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา สืบสานสืบทอด ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ได้ เกิดความรัก ความภาคภูมิในความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในทรัพยากรของชุมชน และเกิดกระบวนการเรียนรู้การทำงานร่วมกันในที่สุด ในความหมายของผลกระทบด้านบวกของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

               จากแนวคิด หลักการ ความหมาย ลักษณะสำคัญและองค์ประกอบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่า ความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการยกระดับรายได้และกระจายงานหรือผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ผ่านกระบวนการจัดการ การมีส่วนร่วม และการดำเนินงานขององค์กรชุมชนที่เป็นทางการ เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นต้น ที่เข้าใจและพึงพอใจในเป้าหมายเดียวกัน โดยใช้ทรัพยากรของชุมชนเอง รวมถึงสถานที่ และการนำเสนอบริการท่องเที่ยวหรือข้อมูลเชิงวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างชัดเจน

               แนวทางป้องกันและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้เสื่อมโทรม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการจัดการท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการแสดงความต้องการ ความริเริ่ม เสนอความคิดเห็น ร่วมประชุม ให้ข้อมูล วิเคราะห์ตัดสินใจ และพัฒนากระบวนการ/ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง และเป็นการกระจายรายได้การยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นด้วย โดยการสร้างฐานความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ ให้กับชุมชนก่อน เช่น หลักการ แนวทาง ลักษณะของทรัพยากรการท่องเที่ยว ลักษณะและพฤติกรรมของกลุ่มตลาด เพื่อให้ชุมชนมีความสามารถในการ จัดการและพัฒนาทรัพยากรและการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ ถูกต้องและเหมาะสม (อริสรา เสยานนท์, 2552)

               จากผลการวิจัยของสุดถนอม ตันเจริญ (2559) ศักยภาพด้านการจัดการเกี่ยวกับการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างเป็นธรรม และศักยภาพด้านองค์กรชุมชน เกี่ยวกับชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา สร้างเสริมงานและรายได้ให้แก่ชุมชน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด แสดงว่า สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ยังไม่มีความเป็นธรรมเท่าที่ควร อีกทั้งพวกเขายังต้องการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ นรินทร์ สังข์รักษา สุภาภรณ์ พรหมฤาษี และ ธีรังกูร วรบำรุงกุล (2559) ที่พบว่า แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวต้องการบทบาทของ 5 ส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน นักท่องเที่ยว และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยกันสร้างแรงจูงใจแก่นักท่องเที่ยว ทั้งด้านความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมต่าง ๆ ความปลอดภัย ความเป็นมิตร และสิ่งอำนวยความสะดวก ล้วนต้องการผู้บริหารและคนจากทุกฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญของความร่วมมือในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องอาศัยสมาชิกในชุมชนรวมทั้งภาครัฐ (ท้องถิ่น) และเอกชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคำนึงการผลิต การใช้ไป จากทรัพยากร (การท่องเที่ยว) ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในขณะที่ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองให้คงอยู่และมีมากขึ้น มิใช่เพียงแต่สมาชิกในชุมชนเท่านั้น ดังภาพที่ 1

การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

               การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำด้วยความเต็มใจเพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พร้อม ๆ ไปกับความเจริญงอกงามเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะการท่องเที่ยวเป็นที่มาของรายได้ เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตอันดีงาม และเป็นเครื่องมือ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนนั้น ได้แก่ นักท่องเที่ยว เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการทุกประเภท

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

               แนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) หลักการที่สำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของ World Tourism Organization (2016) (1) มีการดำเนินการจัดการภายใต้ ขีดความสามารถของระบบธรรมชาติมีการทดแทนการฟื้นฟูให้สามารถผลิตและ ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตลอดไป โดยไม่ลดถอยหรือเสื่อมโทรมลง ตระหนัก ถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและความต้องการของชุมชน (2) มีการกระจาย ประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ท้องถิ่น (3) ให้ประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว (4) ให้ผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากรและวิถีชีวิต (5) การออกแบบที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และใช้วัสดุในท้องถิ่น (6) เน้นการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสู่แผนพัฒนา ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ (7) เน้นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเป็นฐานการ ตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ

               องค์การการท่องเที่ยวแห่งโลก (WTO, 2016) ได้ให้คำจำกัดความล่าสุดของการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable Tourism) ว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การท่องเที่ยวขนาดเล็กหรือการตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche tourism segments) หากแต่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะต้องครอบคลุมถึงการตลาดโดยรวมหรือที่เรารู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวแบบมวลชน” (Mass tourism) โดยทั่วไปการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการเสมอภาคระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสังคมและวัฒนธรรมของคนทั้งในรุ่นปัจจุบันต่อไปจนถึงคนในอนาคต ดังนั้น หลักการและแนวคิดที่สำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในคำจำกัดความของ WTO จึงประกอบด้วย

  • การท่องเที่ยวต้องตระหนักและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
  • การเคารพในสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของประชาชนพื้นเมือง รวมไปถึงการรู้จักปรับตัวและเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชุมชน
  • การสร้างความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควรก่อให้เกิดการกระจายของรายได้อย่างเป็นธรรมและทั่งถึงแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการท่องเที่ยว (tourism stakeholder) นอกจากนี้ ยังควรที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานและการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงการมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความยากจนในท้องถิ่นด้วย

               การพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งหมดต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน (All tourism should be Sustainable Tourism) ตามคำกล่าวของ Dowling (1995) เขาอธิบายภาพรวมว่า หลักการที่ต้องปฏิบัติจริงจัง ได้แก่ การดําเนินกิจการการท่องเที่ยวในขอบเขตความสามารถการรองรับของธรรมชาติชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนกับกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้การตระหนักในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนั้นจึงต้องมีการประสานการจัดการร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน อีกทั้งป้องกันปัญหาเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้งด้วยการประสานความต้องการและกําหนดแผนงานทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของการดำรงอยู่และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

สรุปและข้อเสนอแนะ

               ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ยั่งยืน โดยการจัดการการท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึกและมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศโดยเฉพาะแม่น้ำลำคลอง การจัดการท่องเที่ยวที่สร้างความรู้และให้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดของ อุษาวดี พูลพิพัฒน์ (2545) ที่ว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม เป็นการท่องเที่ยวที่มีความต่อเนื่อง มีคุณภาพ และมีความสมดุลด้านความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี และผลการวิจัยของเทพรัตน์ จันทพันธ์ และวิวัฒน์ ฤทธิมา (2556) พบว่าการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีรูปแบบของฐานการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งลักษณะของฐานองค์ความรู้ ประกอบด้วยกิจกรรมของแหล่งเรียนรู้ การท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม มีการกำหนดทิศทางโดยชุมชน การจัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยที่ชุมชนมีบทบาทในฐานะเจ้าของ มีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กร ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เข้ามาร่วมคิดร่วมวางแผน มีส่วนร่วมในการดำเนินการในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ สุดถนอม ตันเจริญ (2558)  พบว่าการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และป้ายประชาสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์เผยแพร่ความรู้ด้านการสื่อสารการตลาดกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย เป็นที่สนใจของชุมชนอย่างมาก รวมถึงการเรียนรู้ของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนได้คือสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยการจัดการร่วมกันของสมาชิกในชุมชน (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559)

               หลายพื้นที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องของการกระจายผลประโยชน์ ดังนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนนั้น ได้แก่ นักท่องเที่ยว เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการทุกประเภท การเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการสร้างงานสร้างรายได้ภายในชุมชน ต้องมีการวางแผนร่วมกันของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อส่วนรวม และสร้างความสามารถพึ่งตนเองได้ ยังต้องการการแนะนำจากผู้นำชุมชน รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

               นอกจากนั้น ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน ธุรกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเน้นการสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว (Destination Branding) เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนอย่างยั่งยืน ได้กลายเป็นแนวคิดที่สำคัญแนวคิดหนึ่งในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อม ๆ กับ การรณรงค์เพื่อป้องกันและลดการต่อต้านการเจริญเติบโต อันเนื่องมาจากการพัฒนา แต่ต้องเน้นข้อจำกัดของการเจริญเติบโต และการท่องเที่ยวต้องจัดการบริหารภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของชุมชน

               ด้านสมาชิกของชุมชนและผู้นำชุมชนควรร่วมหารือกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการวางแผนและจัดการการท่องเที่ยว มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหลักและคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง โดยอาศัยการแสดงความคิดเห็นด้วยฉันทามติทุกขั้นตอน และเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ชุมชนทุกพื้นที่ทุกจังหวัดมีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ อยู่แล้ว ควรศึกษาและทำความเข้าใจในความเป็นมาอย่างลึกซึ้งและจริงจัง เพื่อดึงออกมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้มุกประเภท เช่น แหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นเชิงวัฒนธรรม วัดและโบราณสถาน ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและจูงใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีเอกลักษณ์และมีความเป็นระเบียบที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

เอกสารอ้างอิง

กอบกุล รายะนาคร. (2550). กฎหมายกับสิ่งแวดล้อม.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.

เทพรัตน์ จันทพันธ์ และวิวัฒน์ ฤทธิมา. (2556). เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัด

พจนา สวนศรี. (2546). คู่มือการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน. กรุงเทพมหานคร: โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ.

มนัส สุวรรณ และคณะ. (2541). โครงการศึกษาแนวทางและการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลและสภาตำบล. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วรรณวิมล ภู่นาค. (2557). ศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน: กรณีศึกษาตลาดนํ้าอัมพวา. วารสารบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลา ปีที่ 26(1) หน้า 63-74.

วีระพล ทองมา. (2555). การท่องเที่ยวสีเขียว: เรื่องจริงหรือแค่ภาพลวงตา รายงานผลการดำเนินโครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (2559). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2559 จาก http://www.trf.or.th/index.php?option=com _content&view=article &id=957:2012-07-01-03-23-01&catid=35:research-orum&Itemid=146

สุดถนอม ตันเจริญ. (2558). ประเพณีลอยกระทงกับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและการอนุรักษ์วัฒนธรรม. รายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการระดับชาติสหวิทยาการเอเชียอาคเนย์ 2558 วันที่ 25 มิถุนายน 2558 กรุงเทพฯ (หน้า 496-502) กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์.

สงขลา. รายงานสืบเนื่องการประชุมหาดใหญ่วิชาการ ครั้งที่ 4 วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 หน้า 71-78..

นรินทร์ สังข์รักษา สุภาภรณ์ พรหมฤาษี และ ธีรังกูร วรบำรุงกุล. (2559). รูปแบบและพฤติกรรมท่องเที่ยวที่ไร้ความรีบเร่งของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย    วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยการหอการค้า ไทย มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์. 36, 2: 1-19.

อริสรา เสยานนท์. (2552). การป้องกันการเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตลาดน้ำ

อัมพวา . วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 หน้า 163-172, สืบค้นจาก http://www.utcc.ac.th/public_content/files/001/29_4-13.pdf29(4) 52

อุษาวดี พลพิพัฒน์. (2545). การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน: กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนในประเทศไทย. จุลสารการท่องเที่ยว. 21(4) หน้า 38-48.

Dowling, R.K. (1995). Regional ecotourism development plans: Theory and practice. Paperpresented in the regional Symposium of the geography of sustainable tourism: In Australia, New Zealand, SouthWest Pacific and South-East Asia, Canberra, Australia, September.

Etsuko, Okazaki. (2008). A Community-Based Tourism Model: Its Conception and Use. Journal of Sustainable Tourism, 16(5) pp. 511–529. Retrieved from http://www.tandfonline.com/doi/abs/10. 1080/09669580802159594#.VfAGANJVhBc

Middleton, V. T. C., & Hawkins, R. (1998). Sustainable tourism: A Marketing perspective.Massachusetts: Butterworth-Heinemann.

Mintzberg, H. (2009). Rebuilding companies as communities. Harvard Business Review (July–August 2009).

WTO. (World Tourism Organization). Tourism, a factor of sustainable development. Retrieved on 10 November 2016 from http://ethics.unwto.org/en/content/global-code-ethics-tourism-article-3

พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

การนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

 

ชื่อผลงานทางวิชาการ      พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน

                                         กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

                              Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People

                              case study : Bangkok

ประเภทผลงานทางวิชาการ          บทความวิจัย

ปีที่พิมพ์                                   2557

ข้อมูลเพิ่มเติม                            บทความนี้ได้นำเสนอในงาน  Proceedings of The International Conference Comparativism, Identity, Communication (CIC2014) in Craiova, Romania (17-18 October 2014)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

                                                     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิงห์ สิงห์ขจร สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร

องค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

บทความวิจัย เรื่องพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร   Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People case study : Bangkok  ผู้ศึกษา คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร (2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร        เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,198 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ผลการวิจัย พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด รองลงมา คือ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN  นิทรรศการ ASEAN  ตามลำดับ การเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มากที่สุด 2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสาร คือ การไม่มีเวลา ไม่สนใจ ไม่เห็นประโยชน์ และอื่นๆ  จากบทความวิจัยนี้ จะเห็นได้ว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ได้ความสำคัญในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ  ผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ดังนั้น การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชน จะนำเสนอข่าวสารใด เรื่องใด สาระสำคัญใด ก็ควรพิจารณาผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นลำดับแรกเป็นการดีที่สุด

 

 

พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People case study : Bangkok

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร (2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,198 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป

ผลการวิจัย พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN  นิทรรศการ ASEAN  ตามลำดับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มากที่สุด 2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสาร คือ การไม่มีเวลา ไม่สนใจ ไม่เห็นประโยชน์ และอื่นๆ

คำสำคัญ : พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสาร ประชาคมอาเซียน กรุงเทพมหานคร

 

Abstract

The objection of this research is to study (1) Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People (2) problem, difficulty and suggestion on Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People case study : Bangkok

This is the surveying research; population of the research is 1,198 people living in Bangkok. The tool of the research is questionnaire; and data statistical analysis by using computer program, and report in frequency and percentage.

The results found: 1) the study on the Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People most media accepted is television, newspapers, internet, magazines, radio, Posters, ASEAN meeting, ASEAN conference and ASEAN exhibition. The most television is Channel 3, newspapers is Thairath newspaper and radio station is Radio Thailand 2) the study on the problem, difficulty and the suggestion on the Media Exposure Behavioral and Perception in ASEAN Community of People case study : Bangkok is the reason of having no time and not being interested.

Keywords : Media Exposure Behavioral, ASEAN Community, Bangkok

 

บทนำ

ประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558 ภายใต้ข้อตกลงและความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ  ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชาและไทย ภายใต้ชื่อสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) หรือประชาคมอาเซียน โดยมีกรอบแนวคิดหลักคือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์  หนึ่งประชาคม (One  Vision , One identify , One Community) มีการแบ่งเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 3 เสาหลักได้แก่ ประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การรวมตัวประชาคมอาเซียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยีและการบริหารส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงของภูมิภาค  ส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวกันเช่นส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียน การเชื่อมโยงตลาดทุนระหว่างกันและพัฒนาตลาดพันธบัตรโดยมาตรการการเปิดเสรีลงทุนและความร่วมมือทางการท่องเที่ยวจากบทบาทและความสำคัญของประชาคมอาเซียน ทำให้ประชาชนต้องติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจรวมถึงการมีส่วนร่วมในฐานะประเทศสมาชิกของประเทศ ถือเป็นวาระสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งถือเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อการมีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมแก่ประชาชนในทุกมิติ

การสื่อสารในปัจจุบันมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในชีวิตประจำวันของคนทุกคน เพราะตั้งแต่เราตื่นจนเรานอนหลับนั้น ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการสื่อสารแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือ ทางอ้อม การสื่อสารเป็นพฤติกรรมขั้นพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสื่อสารเป็นรากฐานของกิจกรรมทางสังคมและการเมืองทุกชนิด มนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองและอาศัยการสื่อสารเพื่อให้การอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมเป็นไปโดยปกติสุข การเปิดรับข่าวสารจากสื่อมวลชน โดยผู้รับสารจะมีความคาดหวังจากสื่อมวลชนว่า  การเปิดบริโภคข่าวสารจากสื่อมวลชนจะช่วยสนองตอบความต้องการของตนได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือเปลี่ยนลักษณะนิสัยและพฤติกรรมบางอย่างได้ โดยที่การเลือกรับข่าวสารจากสื่อมวลชนนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการหรือแรงจูงใจของผู้รับสารเอง เพราะบุคคลแต่ละคนย่อมมีวัตถุประสงค์และความตั้งใจในการใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนที่แตกต่างกันออกไป โดยสื่อมวลชนในที่นี้จะหมายถึงสื่อต่าง ๆ  ที่เผยแพร่ไปสู่มวลชน และกระบวนการในการจดจำ เลือก รวบรวม และตีความสิ่งเร้าต่าง ๆ เพื่อที่จะให้สามารถเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือประชาชนได้เปิดรับข่าวสารเรื่องที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน มีการเปิดรับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนจากสื่อใดมากที่สุด จากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจและประสงค์จะศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสาร เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชนในประเทศไทย
  2. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ในพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

  1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานครเท่านั้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนในกรุงเทพมหานคร สถานที่เก็บรวบรวมข้อมูล คือ สถานที่ต่างๆในกรุงเทพมหานคร การเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างดำเนินการโดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นสำหรับเก็บรวบรวมตัวอย่างจำนวน 1,198 คนในกรุงเทพมหานครใช้ระยะเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ถึง วันที่ 15 พฤษภาคม 2556

ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดกลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,673,560 คน ( ข้อมูล: ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรแยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555)

กลุ่มตัวอย่างตัวอย่างในการวิจัย ขนาดของกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้  อ้างอิงตาราง  Taro Yamane (1973)  โดยกำหนดความเชื่อมั่น 95 % และความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 3 %  ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างไม่น้อยกว่า 1,111  ตัวอย่าง  ในการวิจัยครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,198 ตัวอย่าง

  1. การเก็บรวบรวมข้อมูล

วิธีการสุ่มตัวอย่างในการวิจัย วิธีการวิจัยในครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน  โดยการแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่เขต  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) และในการเลือกเขตของ แต่ละกลุ่มเขต  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย  (Simple Random Sampling) และสุดท้ายใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามสะดวก (Convenience Sampling) ดังมีรายละเอียดของขั้นตอนดังต่อไปนี้ ขั้นที่ 1  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ  กรุงเทพมหานครแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 กลุ่มเขต (สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, 2542) จากทั้งหมด 50 เขต ตามการกระจายอำนาจบริหารโซนแบ่งกลุ่มของ 50 เขต ออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนรัตนโกสินทร์  โซนบูรพา  โซนศรีนครินทร์  โซนเจ้าพระยา  โซนกรุงธนใต้  และโซนกรุงธนเหนือ ขั้นที่ 2  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ด้วยวิธีการจับฉลากเลือกเขตตัวแทนของแต่ละกลุ่มเขต  ตามสัดส่วนในขั้นตอนที่ 1 ได้รายชื่อเขตตามกลุ่มเขตดังนี้ ขั้นที่ 3  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามสะดวก  การเก็บข้อมูลในแต่ละเขต ทำการเก็บข้อมูลตามสะดวก โดยเก็บตามแหล่งชุมชนที่คาดว่าเป็นแหล่งชุมชนของกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองใหญ่ แหล่งที่เป็นชุมชนจึงมีปริมาณมากเช่นกัน ดังนั้นผู้วิจัยจึงเจาะลงไปที่ศูนย์การค้าหรือตลาด จนครบจำนวน 10 เขต ตามที่กำหนด โดยผู้วิจัยและทีมงานนำแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างตอบและนำกลับคืนด้วยตัวเอง

เครื่องมือที่ใช้สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาจากการศึกษา ค้นคว้าเอกสาร หนังสือ ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาการสร้างแบบสอบถามอย่างละเอียดตามกรอบแนวคิดการวิจัย โดยแบบสอบถามที่ใช้สำหรับการวิจัยครั้งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นแบบสอบถามปลายปิดและแบบสอบถามปลายเปิดซึ่งประกอบด้วยคำถาม 3 ส่วนโดยมีเนื้อหาในแต่ละส่วน ดังนี้ คือส่วนที่ 1 เป็นคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของลักษณะประชากร ส่วนที่ 2 เป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และส่วนที่ 3 เป็นคำถามเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยจะนำแบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบและแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ไปดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัยกับผู้ช่วยวิจัยอีกจำนวน 10 คน ได้ดำเนินการแจกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างประกอบการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว (Face-to-Face interview) และรับคืนแบบสอบถามด้วยตนเอง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ดังกล่าวให้ครบจำนวน 1,198 คน ในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2556

  1. การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ  โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ ในการประมวลผลข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามและใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้ การวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณา (Descriptive Statistics) แจกแจงค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ เพื่ออธิบายข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มตัวอย่างในเรื่องข้อมูลลักษณะประชากร พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสาร

สรุปผลการวิจัย

ผลการวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร มีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้  คือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN นิทรรศการ ASEAN ตามลำดับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3  หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ผ่านทางเว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มากที่สุด ทำให้เห็นว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงจึงทำให้ประชาชนเข้าใจข่าวสารได้ง่ายกว่าสื่อประเภทอื่นๆ ในส่วนของสื่อหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างได้อย่างกว้างขวางและสามารถนำมาอ่านซ้ำได้หากต้องการจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งสื่ออินเตอร์เน็ตนั้นทำให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถใช้เทคโนโลยีได้มากกว่าในอดีตและข้อมูลในอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว แต่สื่อประเภทโปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN นิทรรศการ ASEAN ซึ่งหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการผลิตสื่อโปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการจัดประชุมสัมมนา ASEAN นิทรรศการ ASEAN นั้นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กลับเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอยู่ในกลุ่มสุดท้าย  และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีความถี่ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 1 – 2 วัน ต่อสัปดาห์มากที่สุด และอยากให้มีข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต เอกสารประชาสัมพันธ์ นิทรรศการ ASEAN นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN ตามลำดับ

การศึกษาด้านปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการเปิดรับสื่อของผู้ตอบแบบสอบถาม เช่น ปัญหา และอุปสรรค  ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และในการรับรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีปัญหาและอุปสรรคในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ไม่มีเวลา ร้อยละ 60.4  อันดับสองคือ ไม่สนใจ ร้อยละ 21.7  อันดับสามคือ ไม่เห็นประโยชน์ ร้อยละ 15.4 และอันดับสุดท้ายคือ อื่นๆ ซึ่งมี คิดเป็นร้อยละ 2.5

 

อภิปรายผลการวิจัย

ในส่วนของพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน ซึ่งผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสื่อโทรทัศน์มากเป็นอันดับหนึ่งรองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต ผลการวิจัยที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการที่สื่อโทรทัศน์สามารถกระจายข่าวสารไปถึงผู้รับสารได้อย่างรวดเร็วและในปริมาณความถี่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อมวลชนอื่นๆ จึงมีโอกาสเปิดรับสูง การติดตามสื่อโทรทัศน์นั้นผู้รับสารสามารถรับสารทั้งภาพและเสียงพร้อมๆ กันซึ่งสามารถทำความเข้าใจในเนื้อหาของสารง่ายกว่าสื่อมวลชนประเภทอื่น สอดคล้องกับแนวคิดของ Philip Kotler (2000) กระบวนการในการเลือกที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากทางเลือกต่าง ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งผู้รับสารมักจะต้องตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน โดยจะเลือกเปิดรับข่าวสารตามข้อมูลและข้อจำกัดของสถานการณ์ เป็นกระบวนการที่สำคัญและอยู่ภายใต้จิตใจของผู้รับสาร สอดคล้องกับแนวความคิดทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม Innovation Diffusion Theory  ของ Roger (1973)  ได้แบ่งกลุ่มคนในสังคมที่จะยอมรับการแพร่กระจายทางเทคโนโลยีไว้ดังนี้ กระบวนการ Social Adoption นั้น การยอมรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะต้องอาศัยช่องทาง (Channels) ในการสื่อสารของบุคคลกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อสื่อสารจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนวัตกรรมถูกสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ของระบบสังคม โดยใช้เวลาในการเข้าสู่สมาชิกในสังคม ทั้งสี่ส่วนประกอบหลักในสังคมนั่น คือ นวัตกรรม ช่องทางในการสื่อสาร เวลา และ ระบบสังคม Critical mass จำนวนผู้ที่ยอมรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมน้อยที่สุด ที่ยังคงมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนวัตกรรมและผู้ยอมรับนวัตกรรมเทคโนโลยี นั้น ซึ่งอัตราการยอมรับนั้นเพียงพอจะทำให้มันยังคงมีเทคโนโลยีนั้นอยู่ได้ด้วย ตัวมันเองต่อไปได้

ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย

  1. เสนอให้กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการเลือกใช้สื่อที่ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
  2. เสนอให้องค์กรสื่อมวลชน เกี่ยวกับการส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนให้ประชาชนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

 

Asseal Henry. (1998). Consumer Behavior and Marketing Action. 6th ed.  Cincinnati, OH :

South-Western College Publishing

Bussey, Cathy. (2011). Brilliant PR. Great Britain : Pearson

Dainton, Marianne. (2011). Applying Communication Theory for Professional Life. 2nd ed.USA : Sage Publication.

Kotler, P. (2000). Marketing management. 10th ed. Upper Saddle River, NJ : Prentive-Hall.

Rogers, Everett M. (1973). Communication Strategies for Familly Plamming.  New York: The Free Press.

Singh Singkhajorn. (2011) . Political Information Acceptance Behavior from Mass Media, and Political Participation of  People case study : Chiang Rai Province. Office of the Higher Education Commission:Ministry of  Education Thailand

Stanley J Baran, and Dennis K Davis . (2012). Mass Communication Theory . (6th edition) Canada: Wadsworth Cengage Learning.

Stephen W Littlejohn, and Karen A. Foss. (2012). Theory of Human Communication . (9th edition) Boston,MA: Wadsworth Cengage Learning.

The Government Public Relation Department. (2011)  The ASEAN Community. Prime Minister’s Office

The Government Public Relation Department. (2012) Thailand and ASEAN. Office of the Education Council:Ministry of  Education Thailand

 

 

 

หนังสั้น หัวข้อ “เงินทอง ต้องวางแผน : ,มนุษย์เงินออม”  เรื่อง “ป้อมไรเดอร์” ของนิสิตสาขาการสื่อสารมวลชน ชันปีที่ 4  ได้รับรางวัลชนะเลิศ

ชื่อผลงานทางวิชาการ        “ป้อมไรเดอร์”

ประเภทผลงานทางวิชาการ        หนังสั้น

ปีที่ประกวด        2560

ข้อมูลเพิ่มเติม        ชนะเลิศการประกวดหนังสั้น ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

อาจารย์ปรียาภรณ์ สืบสวัสดิ์  สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา


สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยการนำของ อาจารย์ปรียาภรณ์ สืบสวัสดิ์ และคณะ ได้ส่งผลงานการผลิตหนังสั้น หัวข้อ “เงินทอง ต้องวางแผน : ,มนุษย์เงินออม”  เรื่อง “ป้อมไรเดอร์” ของนิสิตสาขาการสื่อสารมวลชน ชันปีที่ 4  ได้รับรางวัลชนะเลิศ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดหนังสั้น “เงินทองต้องวางแผน : มนุษย์เงินออม” ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ อาคาร B ชั้น 3 อาคารตลาด

การประกวดในครั้งนี้มีทีมที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดจำนวน 284 ทีม จาก 43 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สำหรับการตัดสินการประกวดหนังสั้นในครั้งนี้  ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งทางด้านการวางแผนการเงินและเทคนิคการนำเสนอ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่

คุณปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาความรู้  ผู้ลงทุน  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผลงานนิสิตเข้าประกวดระดับประเทศ

สื่อสารมวลชน มบส. ชนะเลิศหนังสั้น

“เงินทอง ต้องวางแผน : มนุษย์เงินออม”

หลักทรัพย์ฯ โดย คุณปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ผลงานหนังสั้นเรื่อง “ป้อมไรเดอร์” ทีม Low production ของนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประกอบด้วย

  1. นายปริญญา ยิ้มทะโชติ
  2. นางสาวอนุสรา โคตตัสสา
  3. นายเกียรติศักดิ์ แซ่คู
  4. นางสาวรัชนิตา พิมล
  5. นายณัฐพงษ์ พิทักษ์อำไพพันธุ์

สามารถตอบโจทย์มนุษย์เงินออมได้โดนใจคณะ กรรมการจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท ได้สำเร็จ!!

การประกวดหนังสั้น “เงินทองต้องวางแผน : มนุษย์เงินออม” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับนิตยสาร Filmmaker จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล การประกวดหนังสั้น “เงินทองต้องวางแผน” ภายใต้หัวข้อ “มนุษย์เงินออม” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน ระดับอุดมศึกษามีเวทีในการแสดงความสามารถด้านการผลิตหนังสั้น ซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับความนิยม อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเนื้อหาที่นำเสนอมุ่งเน้นให้เกิดความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงิน และเกิดแรงจูงใจที่จะเริ่มต้นลงมือวางแผนทางการเงินของตนเอง

 

การประกวดในครั้งนี้มีทีมที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดจำนวน 284 ทีม จาก 43 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สำหรับการตัดสินการประกวดหนังสั้นในครั้งนี้  ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งทางด้านการวางแผนการเงินและเทคนิคการนำเสนอ          จำนวน 2 ท่าน ได้แก่

คุณปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาความรู้  ผู้ลงทุน  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คุณโชตอนันต์ พฤทธิ์พรชนัน บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Filmmaker ร่วมเป็นกรรมการตัดสินผลงานในครั้งนี้

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต้องขอแสดงความยินดี และชื่นชม ถึงศักยภาพของคณาจารย์สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในการเรียนการสอน ให้แก่นักศึกษา จนสามารถฝึกปฏิบัติ เข้าสู่รางวัลแห่งเกียรติยศ ได้รับรางวัลชนะเลิศการผลิตหนังสั้น ปี 2560 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ซอสามสาย

ชื่อผลงานทางวิชาการ : ซอสามสาย

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความ

ปีที่พิมพ์ : 2555

มูลเพิ่มเติม : สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ

       

ซอสามสาย         เป็นบทความที่  ผศ.สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ   อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ

       บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้สอนในรายวิชาดนตรีปฏิบัติเพื่อธุรกิจบันเทิง สาขาวิชาโฆษณาและธุรกิจบันเทิง  คณะวิทยาการจัดการ  และเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้เรียบเรียงบทความนี้ ให้กับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ซึ่งผศ.สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาศิลปะการแสดง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่ง “ซอสามสาย” ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน ปี พ.ศ.2555 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ  คำนิยามของคำว่า “ซอสามสาย” ความเป็นมาและลักษณะสำคัญของซอสามสาย  ส่วนประกอบต่าง ๆ ของซอสามสาย ประเภทของการบรรเลงด้วยซอสามสาย  เทคนิคการบรรเลงซอสามสาย  วิวัฒนาการสภาพปัจจุบันและแนวโน้มของซอสามสายในอนาคต  บุคคลอ้างอิง

  


 

ซอสามสาย

        สิทธิศักดิ์    จรรยาวุฒิ

    มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

       ซอสามสาย เป็นเครื่องสีของไทยชนิดหนึ่งที่เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยอันสำคัญและทรงคุณค่ายิ่ง มีโครงสร้าง องค์ประกอบ แบบแผน การพัฒนา การสืบทอด มาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ในการนำเสนอเนื้อหาสาระของซอสามสายเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงในครั้งนี้ จะครอบคลุม นิยาม ลักษณะสำคัญของซอสามสาย ประเภทของวงที่นำซอสามสายไปบรรเลง อาทิ วงมโหรี วงเครื่องสายผสมซอสามสาย โอกาสในการบรรเลง หน้าที่และความหมายทางสังคมวัฒนธรรม การสืบทอดองค์ความรู้ บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยซอสามสาย วิวัฒนาการ สภาพการในอดีตจวบจนถึงในปัจจุบัน และแนวโน้มของซอสามสายในอนาคต การอ้างอิงนามองค์ศิลปิน และศิลปิน บางพระองค์บางท่านทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงบางท่านที่ยังคงมีชีวิตและยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลในลักษณะภาพรวมที่สำคัญและจำเป็นเพื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดนตรีของไทยที่มีการสั่งสมและพัฒนาจนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชนชาติใด แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณและวิถีความเป็นไทยที่จำเป็นต้องอนุรักษ์และพัฒนาต่อไปให้คงอยู่คู่สังคมไทยได้ในยุคกระแสโลกาภิวัฒน์เฉกเช่นในปัจจุบัน

 

นิยาม

       ซอสามสาย หมายถึง เครื่องดนตรีประเภทสีมีสามสายของไทย ที่แสดงถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทางการแสดงดนตรีของไทยที่ทรงคุณค่า มีความโดดเด่นด้วยขนบประเพณี วิธีคิดวิธีปฏิบัติ มีการดำเนินวิถีทางวัฒนธรรมดนตรี ที่หล่อหลอม สืบทอด มาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน มีขอบเขตครอบคลุมถึง การประสมวงดนตรี การสร้างเครื่องดนตรี รูปแบบการบรรเลง บทเพลง ศิลปินผู้บรรเลง นักประพันธ์เพลง  โอกาสการนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆและบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้อง

 

ความเป็นมาและลักษณะสำคัญของซอสามสาย

       ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีไทยที่ชนิดหนึ่งในประเภทเครื่องสี   ทำให้เกิดเสียงโดยการอาศัยคันชักสีลากไปมาบนสายซอ  มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ตัวสั่นสะเทือน (Vibrator) และตัวขยายเสียง (Resonator) ความดังเบาของเครื่องดนตรีจะขึ้นอยู่กับขนาดเล็กใหญ่ รูปทรงและวัสดุที่ใช้ทำตัวขยายเสียง  (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 37)    นับเป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีรูปร่างลักษณะสวยงามมาก เครื่องดนตรีมีรูปร่างและชื่อเรียกของต่างชาติที่มีความคล้ายคลึงกับซอสามสาย ได้แก่ ซามิเซน (Samisen) ของญี่ปุ่นและสามเสี่ยน (San Hsien) ของจีน   แต่ทั้งซามิเซนและสามเสี่ยนเป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดมีสามสาย มีคันยาว ไม่มีนม สามเสี่ยนของจีนมีกระโหลกเป็นรูปสี่เหลี่ยมลบมุมมนจนเกือบเป็นรูปไข่และขึ้นหน้าด้วยหนังงูเหลือม ดีดด้วยนิ้วมือ ส่วนซามิเซนของญี่ปุ่นรูปกระโหลกมีลักษณะใกล้จะเป็นสี่เหลี่ยมด้านข้างโค้งเข้าน้อยๆทั้งสี่ด้าน ขึ้นหน้าด้วยไม้ ดีดด้วยไม้ดีดรูปร่างคล้ายขวาน  เครื่องดนตรีที่เรียกว่า ตรัวขะแมร์  (Tro Khmer) ของกัมพูชา มีรูปลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับซอสามสายมากที่สุด นิยมทำจากไม้เนื้แข็ง เช่น เนียงนุง ครานุง (ขนุน) ชูว์คมัว (มะเกลือ) บางทีก็ใช้งาช้าง หรือกระดูกมาประกอบเพื่อประดับประดาให้มีคุณค่าและความสวยงามมากยิ่งขึ้น ตรัวขะแมร์มีลักษณะเฉพาะ โดยมีทวนบนสั้น ยอดซอมีลักษณะคล้ายหัวเม็ดบัว ทวนกลางไม่มีการใช้โลหะครอบแบบซอสามสายของไทย ส่วนพรมล่างและเกลียวเจดีย์จะสั้น กลึงหยาบๆ และไม่ทำเท้าซอปลายแหลมอย่างของไทย แต่จะทำเป็นกลมๆมนๆไว้เพียงนั้น กระโหลกซอของเขมรนี้ทำจากกะลามะพร้าว กระดองเต่าหรือไม้ขุด (อานันท์ นาคคงและคณะ, 2538)

       ซอสามสายมีส่วนประกอบอยู่หลายอย่าง ส่วนที่สำคัญที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงให้เกิดความดังกังวานนั้นทำมาจากกะลามะพร้าวพันธุ์พิเศษที่เรียกว่ามะพร้าวพันธุ์ซอ ซึ่งหาได้ยากมากที่จะมีรูปร่างงดงามเหมาะสมที่จะนำมาเป็นส่วนที่เรียกว่า กระโหลก” กล่าวคือต้องมีพูสามพูที่นูนขึ้มมาคล้ายลักษณะดั่งหัวช้าง จากนั้นจะนำกะลามาตัดขวางพู โดยจะให้คงเหลือพูทั้งสามไว้อยู่ด้านหลัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทรงเชี่ยวชาญในการทรงซอสามสาย ถ้าทรงทราบว่าสวนของผู้ใดมีต้นมะพร้าวที่มีกะลาที่ใช้ทำกระโหลกซอสามสายได้ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ตราภูมิคุ้มห้าม แก่เจ้าของสวนนั้นให้มิต้องเสียภาษีอากร นับเป็นกุศโลบายที่ทำให้บรรดาเจ้าของสวนมีกำลังใจในการที่จะเพาะปลูกและบำรุงพันธ์มะพร้าวนี้ให้มีไว้เพื่อทำซอสามสายได้ต่อไปโดยไม่สูญพันธุ์ ในปัจจุบันนี้ก็มีการปลูกมะพร้าวชนิดนี้กันมากในแถบอัมพวา บริเวณอุทยาน ร. 2  และในแถบประจวบคีรีขันธ์ก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว

       ประวัติศาสตร์ของดนตรีไทยมักจะขาดการบันทึกข้อมูลที่แน่ชัด จึงยากแก่การลงความเห็นหรือการอ้างถึงที่ชัดเจนที่จะสามารถระบุได้ว่าไทย มีซอสามสายตั้งแต่สมัยใดกันอย่างแน่ชัด  อย่างไรก็ตาม ก็จากข้อมูลที่มีอยู่ก็พอที่จะสันนิษฐานกันได้ว่าอย่างน้อยซอสามสายต้องมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวชื่นชมพระบารมีของสมเด็จพระมหาจักรพัตราธิราชตอนหนึ่งว่า ลางจำพวกดีดพิณและสีซอพุงตอกันแลกันฉิ่งริงรำ ท่านอาจารย์มนตรี ตราโมทก็ได้ตั้งข้อสันนิฐานว่า คำว่าสีซอกับพุงตอนั้นเขียนติดเป็นคำเดียวกันหรือไม่ เพราะโบราณท่านนิยมเขียนติดกันไปทั้งหมด ถ้าติดกันซอพุงตอก็เป็นชื่อซอชนิดหนึ่งที่อาจเป็นซอสามสายก็ได้ ๔ไม่ติดกัน สีซอก็เป็นเรื่องหนึ่ง พุงตอก็เป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง จึงนับว่าซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีของไทยที่มีมาแต่โบราณกาลชิ้นหนึ่ง  ท่านมหาแสง วิฑูรให้ความเห็นว่า ตรงกับภาษาเงี้ยวหรือไทยโบราณ ได้แก่กลองขนาดยาวที่เรียกว่ากลองแอว ดังนั้นน่าจะสันนิษฐานได้ว่าซอสามสายในสมัยสุโขทัยจะเรียกว่า ซอ แต่เมื่อได้นำมาบรรเลงร่วมกับซออู้ซอด้วง จึงเรียกว่าซอสามสายตามลักษณะที่มีสามสาย เพื่อเป็นที่หมายให้ได้ทราบกันแน่ชัดว่าเป็นซออะไร ป้องกันความสับสนอันอาจมีขึ้นได้ (มนตรี ตราโมท, 2519: 36) 

ส่วนประกอบต่างๆของซอสามสาย   

       ซอสามสายเป็นซอที่มีความงดงามเป็นเลิศ มีรายละเอียดของการประดิษฐ์เครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างวิจิตรบรรจง   แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการสร้างเครื่องดนตรีของไทยที่ประณีตมีความลึกซึ้งในการออกแบบเพื่ออรรถประโยชน์ในการบรรเลงและเพื่อความงดงามด้วยตัวเครื่องดนตรีเอง ดังนี้

เทริด   เป็นส่วนที่อยู่ด้านบนสุดเหนือทวนบน มีลักษณะเหมือนปากลำโพงที่บานออกทางด้นปลาย

ทวนบน   เป็นส่วนของคันซอ ทำด้วยไม้แก่นเช่น ไม้พยุง ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ หรืออาจเป็นไม้แก่นประดับงาช้างหรือใช้งาช้าง โดยสอดเข้าไปในกระโหลกซอ ทวนด้านบนของกระโหลกซอจะยาวประมาณ 67 เซนติเมตร       

ลูกบิด   ด้านทวนบนจะมีการเจาะรูเป็นโพรงสำหรับสอดลูกบิด 3 ลูก ลูกบิดมีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร

ทวนล่าง   ทำด้วยโลหะเป็นเหล็ก เงิน นาค ถมเงิน ถมทอง มุก ฯลฯ นิยมทำเป็นลวดลายต่างๆเพื่อความสวยงาม

พรมบน   เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างทวนล่างกับกระโหลก

กระโหลก   ทำด้วยกะลามะพร้าวพันธุ์ซอที่มีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา 3 ปุ่มเรียกว่า ปุ่มสามเส้า คล้ายวงแหวนสามวงวางอยู่ในรูปสามเหลี่ยม กะลาที่จะนำมาทำกระโหลกซอสามสายนั้นจะผ่าตามขวางให้เหลือสามปุ่มเป็นรูปดอกจิก ซึ่งต่างจากกระโหลกซออู้ที่จะผ่าตามยาว   ในปัจจุบันมีการนำไม้มาขุดทำกระโหลกซอสามสาย   และมีการใช้แม่พิมพ์ดัดกะลา เพื่อเป็นการบังคับให้สัดส่วนของกะลาให้มีรูปทรงเป็นพูสามเส้าเหมือนธรรมชาติ

หนังหน้าซอ   นิยมใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังแกะ หนังสัตว์เหล่านี้จะนำมาขูดเอาขนออก   แล้วนำมาทำความสะอาดโดยแช่ในน้ำขี้เถ้าแกลบประมาณ 3 ชั่วโมงแล้วจึงนำไปแช่ในน้ำสะอาดอีก 5 ชั่วโมง เพื่อให้หนังคืนตัว มีการยืดหดมากขึ้น จึงจะสามารถนำไปขึ้นหน้าซอได้โดยไม่ขาดและหนังจะมีความตึงมากเมื่อแห้งสนิทแล้ว   หน้าซอสามสายจะมีสองแบบคือหน้าพระและหน้านาง   เช่นเดียวกับหน้าตัวพระตัวนางในการแสดงละคร

สาย   ใช้ไหมมาควั่นเกลียวมีสามขนาดเรียงลำดับจากสายเล็กหรือสายเอกที่อยู่ด้านนอกสุดของผู้สี สายกลางบ้างก็เรียกสายสอง สายใหญ่ที่สุดที่อยู่ด้านในมักเรียกว่าสายสาม

หย่อง  มีไว้รองรับสายทั้งสามที่พาดผ่านหน้าซอเพื่อให้เกิดความสั่นสะเทือนจากการใช้คันชักสีไปมาบนสายซอสามสาย

ถ่วงหน้า  มีลักษณะเป็นโลหะประดับด้วยพลอย โลหะลงยา งาช้างแกะสลัก เป็นรูปวงกลม รูปไข่ รูปหยดน้ำ ฯลฯ ติดไว้ที่หน้าซอด้วยครั่ง   วัตถุประสงค์ในการติดถ่วงหน้านี้ไม่เพียงเป็นการประดับประดาเพื่อความสวยงามแต่ยังเป็นการทำให้เสียงซอดังกังวาน เพราะกระโหลกซอสามสายไม่มี่การเจาะช่องระบายเสียง   ดังนั้นเมื่อไม่มีถ่วงหน้าที่ช่วยเปิดทางให้เสียงดังลอดออกมาเสียงซอสามสายก็จะดังอู้อี้อยู่ในกระโหลกซอเท่านั้น

หนวดพราหมณ์   เป็นการร้อยสายไหมถักเป็นเกลียวโดยยึดติดกับพรมล่างไว้สามเส้นเพื่อใช้ผูกสายซอทั้งสามเส้น

พรมล่าง   เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกระโหลกกับพรมล่าง

เกลียวเจดีย์   จะอยู่ด้านล่างลงมาซึ่งเป็นส่วนปลายของพรมล่าง

คันชัก   นิยมทำด้วยไม้แก้ว ไม้พยุง ไม้ชิงชัน ฯลฯ ทำเป็นรูปโค้ง มีปลายงอนยาว ความยาวประมาณ 86 เซนติเมตร ผูกติดด้วยหางม้าสีขาวที่มีจำนวนประมาณ 250 – 300 เส้น

 

ประเภทของการบรรเลงด้วยซอสามสาย

       การบรรเลงซอสามสายมีวิธีการบรรเลงสองประเภท คือ การบรรเลงรวมวงและการบรรเลงคลอร้อง   ในการบรรเลงรวมวงนั้นซอสามสายจะทำหน้าที่ประสานสียงเพื่ออุ้มวงและเป็นการเพิ่มความไพเราะ จะไม่สีเป็นผู้นำวงอย่างซอด้วงที่ยึดการสีแนวทำนอง และไม่สีโลดโผนอย่างซออู้ ถ้าบรรเลงเพลงลูกล้อลูกขัดควรดูว่ามีเครื่องนำและเครื่องตามมีอย่างละกี่ชิ้น  หากเครื่องนำมีน้อยกว่าเครื่องตาม ให้สีเป็นฝ่ายเครื่องนำ ในทางตรงกันข้ามหากเครื่องตามมีน้อยกว่าเครื่องนำ ให้สีเป็นฝ่ายเครื่องตาม แต่หากมีเครื่องนำและเครื่องตามเท่ากันก็สามารถเป็นได้ทั้งเครื่องนำหรือเป็นฝ่ายเครื่องตามก็ได้ ในการบรรเลงคลอร้องนั้นซอสามสายมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนักร้องโดยให้ความสำคัญว่านักร้องเป็นใหญ่ จึงต้องคลอร้องให้เหมือนการร้องของนักร้องให้เหมาะสมให้มากที่สุด (อรพรรณ บางยี่ขัน, 2536) ซอสามสายจะสามารถนำไปบรรเลงเดี่ยวและใช้บรรเลงในการประสมวงประเภทต่างๆ   ดังต่อไปนี้

1.วงขับไม้   ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงขับไม้อันประกอบไปด้วย คนสีซอสามสายคนหนึ่ง คนไกวบัณเฑาะว์ และขับคนหนึ่ง หน้าที่ของซอสามสายก็คือสีคลอเสียงขับไปโดยตลอดและบรรเลงเพลงแทรกระหว่างบท   วงขับไม้นี้ใช้บรรเลงในการประกอบพระราชพิธีสมโภชมาแต่โบราณ อาทิ กล่อมเศวตฉัตรในพระราชพิธีฉัตรมงคล กล่อมช้างในพระราชพิธีขึ้นระวางพระคชาธาร และในงานเฉลิมฉลองพระราชมณเฑียร เป็นต้น

2.วงมโหรี   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่า เมื่อเริ่มผสมวงมโหรีในชั้นต้นผสมขึ้นจากการบรรเลงพิณกับวงขับไม้ อันประกอบด้วย คนดีดพิณ (กระจับปี่) คนหนึ่ง คนสีซอสามสายคนหนึ่ง คนตีทับ (โทน) คนหนึ่ง และคนร้องซึ่งตีกรับพวงด้วยอีกคนหนึ่ง   ด้วยเหตุที่ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่อยู่ในการก่อตั้งวงมโหรี จึงทำให้วงมโหรีต้องมีซอสามสายอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าวงมโหรีจะมีวิวัฒนาการไปเช่นไร มีการเพิ่มเติมเครื่องดนตรีต่างๆเข้าไปมากอีกสักเท่าใด จนกลายเป็นวงมโหรีเครื่องเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่ วงมโหรีเครื่องใหญ่   หน้าที่ของซอสามสายในวงมโหรีก็คือ การคลอเสียงร้องและบรรเลงทำนองเพลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ   (มนตรี ตราโมท, 2519: 37) 

3.วงเครื่องสายผสม    ซอสามสายแม้เป็นเครื่องสายประเภทสีและเป็นเครื่องดนตรีในวงมโหรี แต่ไม่ได้จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงเครื่องสายไทยทั่วๆไป การจะผสมซอสามสายในวงเครื่องสายจึงจัดเป็นการผสมซอสามสายเข้าวงเครื่องสาย ซึ่งเรียกว่าวงเครื่องสายผสมซอสามสายเท่านั้น   หน้าที่ของซอสามสายในวงเครื่องสายผสมก็คือ การคลอเสียงร้องและบรรเลงทำนองเพลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่นเดียวกับการบรรเลงในวงมโหรี

4.การบรรเลงเดี่ยว  ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง  ที่สามารถเดี่ยวแสดงความสามารถของผู้บรรเลงได้เป็นอย่างดี   บทเพลงที่ได้รับความนิยมนำมาบรรเลงเป็นเพลงเดี่ยวก็มีมากมาย อาทิ นกขมิ้น พญาโศก แสนเสนาะ สารถี หกบท แขกมอญ เชิดนอก ทยอยเดี่ยว กราวใน ฯลฯ   กลเม็ดเด็ดพรายในการเดี่ยวซอสามสายนั้นมีมากมายให้ได้ศึกษา ทั้งการใช้นิ้วการใช้คันชักที่ต้องมีความชำนาญมากที่สุดจึงจะสามารถเล่นได้ การใช้นิ้วต่างๆ ประกอบด้วย นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วแอ้ นิ้วประ นิ้วชุน นิ้วชั่ง ฯลฯ คันชักนั้นประกอบด้วย คันชัก1 คันชัก2  คันชัก4 คันชัก8 คันชัก16และคันชัก32 คันชักไกวเปล คันชักงูเลื้อย คันชักจับกระตั้วแทงกระตั้ว ฯลฯ (ศุนย์สังคีตศิลป์,2537 : 92)  ซอสามสายจึงเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกชิ้นหนึ่งที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศเหมาะที่จะใช้บรรเลงเพลงเดี่ยวด้วยมีกลเม็ดเด็ดพรายที่สามารถสร้างความสะเทือนในทางอารมณ์และมีเทคนิควิธีที่ยอดเยี่ยม

เทคนิคการบรรเลงซอสามสาย

       เทคนิคการบรรเลงซอสามสายนั้นประณีต ลึกซึ้ง วิจิตรบรรจงไม่ด้อยไปกว่า มีความเกี่ยวโยงกับสรรพสิ่งตามธรรมชาติ   เฉกเช่นเดียวกับรายละเอียดของการประดิษฐ์เครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างวิจิตรบรรจง    

       พระยาภูมีเสวิน  ผู้เชี่ยวชาญการสีซอสามสายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้อธิบายเทคนิคและลักษณะการสีซอสามสายไว้ในวารสารวัฒนธรรมไทย เดือนกันยายน 2511 โดยได้กล่าวถึงการสีซอสามสายที่มี สามแบบ คือการสีแบบขับไม้ การสีแบบไกวเปล การสีแบบฉุยฉาย การใช้คันสีหรือคันชัก การใช้นิ้วประเภทต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกอย่างเด่นชัด และการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาการที่ได้สั่งสมสืบทอดกันมาหลายชั่วคนจนเป็นหลักวิธีการที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้มิให้สูญหายไป   (พระยาภูมีเสวิน, 2519) ดังนี้

1.   การสีแบบขับไม้ หลักการของการสีแบบขับไม้ที่สำคัญก็คือ ต้องพยายามสีซอสามสายเคล้าไปกับเสียงของคนขับลำนำ ผู้สีต้องพยายามใช้เสียงซอสนับสนุนให้สอดคล้องกับทำนอง เป็นการเสริมให้การขับลำนำนั้นมีชีวิตจิตใจไพเราะยิ่งขึ้นในบางโอกาส ซึ่งมีความเหมาะสมเมื่อต้องการจะสีให้ชัดถ้อยชัดคำกับบทประพันธ์ แสดงให้เห็นฝีไม้ลายมือของผู้สีซอสามสายได้เป็นอย่างดี จุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ก็คือสีให้กลมกลืนสอดคล้องกับการขับลำนำ ในบางตอนที่คนขับลำนำถอนหายใจหรือหยุดชงักเสียง ซอก็ต้องบรรเลงให้มีเสียงซอเสริมเข้าไปในช่องว่างนั้น และเมื่อทำนองขับลำนำจะเปลี่ยนทำนองไปในทางใดทางหนึ่ง ซอสามสายก็ต้องสีทำเสียงทำนองขับลำนำที่จะต้องใช้ต่อไปข้างหน้า

       การเล่นขับไม้นี้ไม่มีหน้าทับเหมือนเพลงประเภทอื่น   ซึ่งมีอัตราบังคับความสั้นยาวไว้อย่างชัดเจน   แต่เป็นการสีให้กลมกลืนเป็นหลัก   ข้อสำคัญอีกอย่างผู้สีซอขับไม้นี้จะต้องเรียนรู้หลักการใช้คันชัก อาทิ การใช้คันชักสอง คันชักสี่ คันชักหก คันชักน้ำไหล คันชักงูเลื้อย ฯลฯ

2.   การสีแบบไกวเปล   ผู้เริ่มหัดเรียนซอสามสายต้องหัดสีแบบไกวเปลแบบนี้ก่อน   ด้วยเป็นการสีท่ไม่สู้ยากนัก   การสีแบบนี้ก็มีใช้ในเพลงจำที่ที่มีหน้าทับกำกับความสั้นยาวของจังหวะกำกับไว้อย่างชัดเจน   การสีแบบนี้เรียกว่า การสีแบบลำลอง คือสีตามไปตามเนื้อของตัวไป   แม้ผู้สีและผู้ขับไม่ต้องคำนึงถึงบทประพันธ์มากนัก   การสีแบบไกวเปลนี้เปรียบเสมือนเป็นอาการของการไกวเปลให้เด็กนอนหลับ   ผู้ไกวที่ดีจะไกวเปลไปมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ตะกุกตะกัก ไปมาเท่ากัน ทำให้เด็กนอนหลับได้นาน   การไกวเปลมีอุปมาฉันใด การสีเช่นนั้นก็มีอุปมัยฉันนั้น   แต่ถ้านำไปสีทุกแห่งทุกโอกาสมากนักมักจะเรียกกันว่า การสีอย่างเลื่อยไม้ลากซุง ซึ่งเป็นคำที่ใช้เย้ยหยันกัน  ส่วนวิธีการใช้คันชักมักใช้อัคราสองและสี่ เป็นหลัก   และต้องสีให้ดังทั้งต้นคันชักและปลสยคันชักทั้งไปมาให้สม่ำเสมอเหมือนเสียงเดียวกันตลอด

3.   การสีแบบฉุยฉาย   การสีแบบนี้นอกจากจะเป็นการรำฉุยฉายโดยเฉพาะแล้ว   ยังมีในจำพวกบทเพลงที่มีหน้าทับ มีความสั้นยาวเป็นหลัก   ผู้สีซอสามสายต้องบังคับเสียงซอให้ชัดถ้อยชัดคำกับการร้องและบทประพันธ์นั้นๆทุกจังหวะ ทุกตอน และทุกกริยา เช่น ผู้ร้องทอดเสียง เอ่อ เอย อือ เอ๋ย หนัก เบา หรือกระตุ้นแรงหรือบทประพันธ์ในลักษณะ เศร้าโศรก เสียใจ โกรธ และอาการองอาจประการใดก็ตาม ผู้สีต้องพยายามบังคับเสียงซอให้พยายามโน้มจิตใจของตนเอง   ให้เป็นไปตามเสียงซอได้เหมือนเสียงกับคนขับร้อง   จนผู้ฟังไม่รู้ว่าอะไรเป็นเสียงซอ อะไรเป็นเสียงร้อง จึงเป็นที่นิยมว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือดีเลิศ

       การใช้คันชักนั้น ผู้สีจะใช้คันชักอัตราหนึ่ง สอง สี่ หก แปด หรือสิบหก   คันชักหกนั้นบ้างก็เรียกว่าคันชักเสริมหรือคันชักซ้อนก็ได้   และต้องสีคันชักประเภทคันชักสอึก น้ำไหล งูเลื้อย และการใช้คันชักผิดให้เป็นคันชักถูก ฯลฯ   สำหรับการใช้นิ้วมีหลายอย่าง อาทิ นิ้วชุน นิ้วแอ้ นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วประนิ้วพรม การเปิดซอ ชะงักซอ ชะงักคันชัก   ส่วนคันชักนั้นต้องบังคับให้เป็นไปตามใจตนคือสามารถสีให้มีความดังหรือแผ่วตอนหนึ่งตอนใดได้ตามต้องการ   ตัวอย่างของลักษณะการใช้คันชักซอสามสาย มีดังนี้

คันสีสายน้ำไหล   คือการสีให้มีค่าเหมือนดังกระแสน้ำที่หลั่งไหลไปตามลำธารอันปราศจากแก่งหรือโขดหิน มีลักษณะสม่ำเสมอไม่ขาดสาย เพลาใดก็ตามที่สีด้วยคันชักน้ำไหลนี้ จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เหมือนแลเห็นกระแสธารไหลหลั่งไม่ขาดระยะ ซึ่งกระแสธารก็คือ คันสีนั่นเอง อุปาทานของผู้ฟังจะเกิดรู้สึกว่าคันสีนั้นยาวหาประมาณมิได้   เพราะกระแสเสียงไม่ขาดสะบั้นลงในตอนใดตอนหนึ่งจนจบตอน

คันสีงูเลื้อย   คือการสีให้มีลักษณะเหมือนการเลื้อยของอุรคชาติ   ซึ่งตามลักษณะการเลื้อยของงูนั่นเอง   ยิ่งมีพิษดุร้ายก็ยิ่งเลื้อยช้ามีอาการสง่างามน่าเกรงขาม   แสดงไม่หวั่นต่อศัตรูหรือภยันตรายที่จะบังเกิดขึ้นแก่ตน   คันสีด้วยลักษณะวิธีดังกล่าวนี้   คือการสีส่ายไปข้างหน้าด้วยลักษณะอาการเลื้อยของงู   ขณะใดที่สีด้วยคันสีงูเลื้อย ขณะนั้นเสียงซอที่ดังกังวานจากสายมีลักษณะห้าวหาญไปตามคันสีจนจบจังหวะและทำนองเพลงนั้นๆ

คันสีสะอึก   คือการสีด้วยคันชักที่ประสงค์จะให้สำเนียงซอขาดจังหวะไม่มีลีลาสัมพันธ์ต่อกันไปยังจังหวะข้างหน้า   การบรรเลงเพลงใดๆก็ตาม ลีลาย่อมส่งเป็นเสียงสดับ เสียงรับ เหมือน กลอน ฉันท์ แต่วิธีคันสีสะอึกนี้ ก็คือประสงค์จะให้ทำนองของเพลงสะดุดยุติลงในขณะนั้นให้เด็ดขาด เพราะถ้าปล่อยให้คันสีอยู่ในลักษณะน้ำไหลต่อไป กระแสเพลงก็จะกังวานไม่ขาดระยะ จึงสะอึกคันสีเหมือนผู้อ่านคำกลอน ฉันท์ ซึ่งหยุดระบายลมหายใจขณะที่ลงสัมผัสในวรรคใดวรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามการสีสะอึกนี้ ถ้าใช้มากไปจะเกิดความรำคาญ รกหูแก่ผู้ฟัง

การที่จะจับคันสีให้อ่อนไหวได้อย่างไรนั้น ให้ดูลักษณะการเคลื่อนไหวของงวงช้าง   ซึ่งในขณะที่ช้างชูงวงแกว่งไปมา หรือเอางวงตะพุ่นหญ้าเข้าปาก จะสังเกตเห็นความอ่อนช้อยของงวงช้างได้ ในขณะที่สีซอสามสายต้องจินตนาการถึงลักษณะการเคลื่อนไหวของงวงช้างให้ได้ จึงจะทำให้สีซอดี อ่อนหวาน มีชีวิตชีวาและสง่างามได้

การใช้นิ้วของซอสามสายมีลักษณะวิธีน่าสนเท่ห์อยู่มาก มีชื่อเรียกกันแปลกๆ เช่น เรียกว่า นิ้วชุน นิ้วแอ้ นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วประ นิ้วพรม ฯลฯ การใช้นิ้วแต่ละประเภทล้วนแต่เพิ่มความไพเราะเสนาะโสตให้แก่ผู้ฟังทั้งสิ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

นิ้วชุน  เป็นนิ้วที่ใช้แทงขึ้นเฉพาะสายเอก ไม่ใช่กดนิ้วลงตามตำแหน่งบนสายเอก การที่นิ้วใช้แทงขึ้นบนสายเอกนั้นจะทำให้เสียงซอสามสายดังกังวานหนักแน่นกว่าที่ใช้นิ้วกดลงบนสาย ซึ่งไม่ควรใช้เด็ดขาด อีกประการหนึ่งนิ้วชุนเป็นนิ้วที่ช้เลื่อนขึ้นเสื่อนลงตามสายซอจนกว่าจะถึงระดับตำแหน่งเสียงที่แท้จริงตามต้องการ ครั้นแล้วก็เปลี่ยนนิ้วชุนให้เป็นนิ้วประหรือนนิ้วพรมต่อไป

นิ้วแอ้   คือใช้นิ้วรูดสายขึ้นไปจากตำแหน่งเสียงเดิมของซอสามสายทำให้เสียงต่ำกว่าเดิมครึ่งเสียง   และให้เข้าหาเสียงที่แท้จริงของตำแหน่งเสียงในนิ้วชี้   นิ้วแอ้นี้ใช้เฉพาะนิ้วชี้นิ้วเดียวเท่านั้น   จะใช้นิ้วอื่นไม่ได้เด็ดขาด   นิ้วแอ้นี้ตรงกับนิ้วโอดของปี่   ผู้เล่นซอสามสายจึงต้องพยายามหา เสียงใน ให้ตกนิ้วนี้เป็นส่วนมากโดยเฉพาะเพลงเดี่ยว

นิ้วนาคสะดุ้ง   เป็นนิ้วที่สืบต่อกันมาจากนิ้วชุน คือเป็นลักษณะของการใช้นิ้วสะดุ้ง ประดุจพญานาคถูกจี้ที่สะดือ   กระแสเสียงของซอที่เกิดจากนิ้วนาคสะดุ้งนี้จะทำให้เกิดอารมณ์หวั่นไหวหวาดสะดุ้งแก่ผู้ฟัง   เหมือนลักษณะพญานาคสะดุ้งเมื่อเห็นพญาครุฑฉะนั้น    การใช้นิ้วนาคสะดุ้งนี้มีกฏเกณฑ์อยู่ว่าจะต้องเปิดซอให่เป็นเสียงสายเปล่าหนึ่งครั้งเสมอไป

นิ้วประนิ้วพรม   นิ้วประนิ้วพรมนี้เรียกคู่กันไป   เป็นการทำนิ้วประพรมลงไปบนซอเป็นระยะๆหรือเป็นห้วงๆ กระแสเสียงจะยืดยาวเท่าไรกี่จังหวะที่ประพรมนั้นแล้วแต่อัตราของจังหวะหรือคันสีเป็นต้น

 

วิวัฒนาการ  สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของซอสามสายในอนาคต

       การกำเนิดของเครื่องดนตรีในแนวคิดของนักมนุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicologist) ได้มีแนวคิดอยู่สองลักษณะคือ เครื่องดนตรีนั้นเกิดจากการคิดประดิษฐ์ของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเอง หรือได้รับมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมภายนอก   อย่างไรก็ตามการพัฒนาและการคิดค้นปรับปรุงเครื่องดนตรีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเจ้าของถิ่น   ก็ได้สรรสร้างให้เครื่องดนตรีของแต่ละชนชาติมีความต่าง ความคล้ายคลึง ความเหมือน ที่เป็นเอกลักษณ์ มีแนวคิดที่ว่า ซอสามสายมาจาก รีบับของอินโดนีเซีย และอีกแนวคิดหนึ่งกล่าวว่ามีต้นแบบมาจากตรัวขะแมร์ ของเขมร   อีกแนวคิดหนึ่งคือซอสามสายได้ปรับปรุงมาจากสะล้อของล้านนา   ซึ่งก็ยังไม่สามารถสืบค้นหาหลักฐานจนเป็นที่ประจักษ์ได้แน่ชัดจนสามารถยืนยันระบุข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับกันได้   โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทางดนตรีของไทย ขาดการบันทึกข้อมูลที่ชัดเจน จึงยากแก่การลงความเห็นหรือหาข้อสรุปที่แน่ชัด (ปัญญา รุ่งเรือง, 2538)

       อย่างไรก็ตามก็มีหลักฐานที่พอจะระบุได้ว่าชนชาติไทยมีซอสามสายมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และนิยมบรรเลงมาจนสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏใช้บรรเลงในวงขับไม้ วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก วงมโหรีเครื่องแปด วงมโหรีเครื่องเล็ก วงมโหรีเครืองคู่ วงมโหรีเครืองใหญ่ วงเครื่องสายผสม และการบรรเลงเดี่ยว   มีการสืบทอดที่มีหลักฐานระบุชัดเจนตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยบทความที่พระยาภูมีเสวินได้เขียนลงในวารสารวัฒนธรรมไทย เดือนตุลาคม 2511 ทำให้ปรากฏร่องรอยในการสืบค้นที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

       แต่เดิมนั้นซอสามสายจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักค่อนข้างมาก ดังปรากฏในการบรรเลงประกอบพระราชพิธีสำคัญๆต่างๆเป็นอันมาก ในหลังยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ซอสามสายก็ห่างหายออกจากวิถีแห่งราชสำนัก แต่จะพบได้ในสำนักดนตรีของปรมาจาย์ทางดนตรีไทย จนมาถึงพบในการเรียนการสอนดนตรีในโรงรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ยังคงมีการถ่ายทอดกันอยู่รุ่นแล้วรุ่นเล่า   และมีการบันทึกเสียงลงเทป ซีดีต่างๆ รวมถึงมีการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก   

       ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีที่หาผู้บรรเลงได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกันจำนวนของผู้สนใจหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นๆ   อันมีสาเหตุมาจาก

1.   การหาผู้สอนที่จะถ่ายทอดความรู้ได้ยาก

2.   เครื่องดนตรีมีราคาค่อนข้างสูง

3.   เป็นเครื่องดนตรีที่ต้องมีอุตสาหวิริยะสูงที่จะหัดเรียน

        อย่างไรก็ตาม ซอสามสายจะคงอยู่คู่สังคมไทยต่อไปแม้จะห่างหายออกไปจากวิถีชีวิตทั่วๆไปของชาวไทยด้วยกระแสการหลั่งไหลของวัฒนธรรมต่างชาติ ดังนั้นซอสามสายจึงมีความสำคัญและความจำเป็นในการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงเป็นอย่างยิ่ง

 

บุคคลอ้างอิง

1.   บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับวงการซอสามสายในอดีต   เช่น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมเด็จฯเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

เจ้าเทพกัญญา ณ เชียงใหม่

พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก )

เจ้าจอมมารดาวาด

เจ้าจอมประคอง

ครูโท้ ครูส่าย

หม่อมสุขหรือสุด (หม่อมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)

หม่อมผิว (หม่อมของเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิตย์)

พระยาธรรมสารนิตย์ (ตาด อมาตยกุล)

พระยาโบราณราชธานินท์ (พร เดชคุปต์)

พระยาอำมาตย์พงศ์ (ประสงค์ อมาตยกุล)

พระยาภูมีเสวิน

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง )

หลวงไพเราะเสียงซอ

ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล

คุณหญิงไพฑูรย์ กิติวรรณ

ครูคงศักดิ์ คำศิริ

ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์

ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์

ครูประเวช กุมุท

ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน

2.   บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับซอสามสายในปัจจุบัน

อ.เฉลิม ม่วงแพรศรี

อ.ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

รศ.พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์


 

เอกสารอ้างอิง

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2542). สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, กรุงทพฯ

ปัญญา รุ่งเรือง. (2533). อ่านและฟังดนตรีไทยประกอบเสียง. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ

อนุชา ทีรคานนท์, บรรณาธิการ.(2552). เล่าเรื่องเครื่องดนตรีชิ้นเอก. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,กรุงเทพฯ

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2550). จดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล. โรงพิมพ์เดือนตุลา, กรุงเทพฯ

อานันท์ นาคคงและคณะ. (2538). เพราะพร้องซอสามสายร่ายลำนำ. โรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ,กรุงเทพฯ

ศุนย์สังคีตศิลป์ฝ่ายประชาสัมพันธ์. (2557) เชิดชูเกียรติ 100 ปี พระยาภูมีเสวิน. เรือนแก้วการพิมพ์ ,กรุงเทพฯ

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี). (2519), (แผ่นพับ) กรุงเทพฯ

กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ


ชื่อผลงานทางวิชาการ กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

ประเภทผลงานทางวิชาการ บทความ

ปีที่พิมพ์ 2555

มูลเพิ่มเติม สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ

          กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย เป็นบทความที่ ผศ.สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้สอนในรายวิชาดนตรีปฏิบัติเพื่อธุรกิจบันเทิง สาขาวิชาโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง  ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม  ได้เรียบเรียงบทความนี้ ลงในหนังสือ “หนึ่งศตวรรตครูทองดี ศรีแผ่นดิน” ที่จัดขึ้นในวันเสาร์ที่   18 สิงหาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ โรงละครแห่งชาติ  เป็นหนังสือที่ รำลึก 100 ปี  ชาติกาลคุณครูทองดี สุจริตกุล เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี ความเมตตาที่คุณครูมีให้ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสรู้จัก จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนจิตรดา ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ) ซึ่งนักศึกษาของสาขาวิชาฯ ได้เป็นผู้ทำจัดสูจิบัตร โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ กำกับเวที อันเป็นผลสัมฤทธิ์ของการเรียนการสอนในรายวิชา “โครงการพิเศษด้านการโฆษณา” ของสาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

    ท่านผู้เรียบเรียงได้เล่าว่า คุณครูทองดี สุจริตกุล ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีโบราณของไทยประเภทดีดไว้ให้ศิษย์มากมาย หลายสถาบัน อาทิ วิทยาลัยนาฏศิลป์  สถาบันบัณฑิตพัฒนาศิลป์ คณะครุศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โรงเรียนจิตรลดาโรงเรียนสวนกุหลาบ ฯลฯ    เวลาล่วงมาจนถึงร้อยปีชาตกาลคุณครูทองดี สุจริตกุล จึงได้รวบรวมความรู้เรื่องกระจับปี่เพื่อบูชาครู คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในเครื่องสายของไทย ที่เรียกว่า “กระจับปี่” นี้ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะของกระจับปี่  ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของกระจับปี่ ประเภทและโอกาสในการบรรเลงด้วยกระจับปี่ เพลงขับเคลื่อนด้วยซอมโหรี ส่วนประกอบต่างๆ ของกระจับปี่ เทคนิคการบรรเลงเพลงกระจับปี่ สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของกระจับปี่ บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับกระจับปี่ในอดีตและในปัจจุบัน


กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

อ. สิทธิศักดิ์    จรรยาวุฒิ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

        กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีโบราณของไทยประเภทดีดมีสี่สาย ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ประเภทศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2554 เครื่องดีดของไทยชนิดนี้เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยอันสำคัญและทรงคุณค่ายิ่ง มีโครงสร้าง องค์ประกอบ แบบแผน การพัฒนา การสืบทอด มาอย่างยาวนานแม้ในปัจจุบันจะไม่ได้รับความนิยมในการบรรเลงเท่าใดนัก   แต่กระนั้นกระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีที่จำเป็นต้องได้รับการปกปักษ์รักษาไว้ให้ยังคงอยู่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย   ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย   ในการนำเสนอเนื้อหาสาระในครั้งนี้ จะครอบคลุมถึงลักษณะสำคัญของกระจับปี่ ประเภทของวงที่นำกระจับปี่ไปบรรเลง โอกาสในการบรรเลง หน้าที่ การสืบทอดองค์ความรู้ บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยกระจับปี่ วิวัฒนาการ  สภาพการในอดีตจวบจนถึงในปัจจุบัน และแนวโน้มของกระจับปี่ในอนาคต การอ้างอิงนามศิลปินบางท่านทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงบางท่านที่ยังคงมีชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ในกิจกรรมดนตรีของไทย ทั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลในลักษณะภาพรวมที่สำคัญและจำเป็น เพื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดนตรีของไทยที่มีการสั่งสมและพัฒนาจนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชนชาติใด   เป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทางการแสดงดนตรีของไทยที่ทรงคุณค่า มีความโดดเด่นด้วยขนบประเพณี วิธีคิดวิธีปฏิบัติ มีการดำเนินวิถีทางวัฒนธรรมดนตรี ที่หล่อหลอม สืบทอด มาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน มีขอบเขตครอบคลุมถึง การประสมวงดนตรี การสร้างเครื่องดนตรี รูปแบบการบรรเลง บทเพลง ศิลปินผู้บรรเลง นักประพันธ์เพลง  โอกาสการนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆและบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้อง    แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณและวิถีความเป็นไทยที่จำเป็นต้องอนุรักษ์มิให้สูญหายและพัฒนาต่อไปให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป

ลักษณะสำคัญของกระจับปี่

     ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เดิมมีอาณาจักรต่างๆเกิดขึ้นมาก่อนอาณาจักรสุโขทัยและได้เสื่อมอำนาจไป เช่น ทวารวดี โยนก เชียงแสน หริภุญชัย ละโว้หรือลพบุรี และชนกลุ่มเล็กๆตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดินแดนในแถบนี้อาณาจักรขอมเคยได้เข้ามาครอบครองเป็นครั้งคราว จนกระทั่งกลุ่มคนไทยสามารถรวมกำลังกันขับไล่ขอมออกไปและสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1792 (มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์, 2547 : 3) ศิลปวัฒนธรรมต่างๆรวมถึงการดนตรีตามแบบฉบับดั้งเดิมของแต่ละชนชาติเป็นสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรม ภาษา ความคิดความเชื่อ ความเจริญรุ่งเรือง ขนบประเพณี ฯลฯ แห่งกลุ่มชนนั้นๆ ได้อย่างดีเยี่ยม  นอกจากนี้ดนตรีของแต่ละชนชาติก็สามารถสะท้อนถึงลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันโดยสะท้อนอยู่ในท่วงทำนอง จังหวะลีลาของดนตรีได้เป็นอย่างดี ซึ่งดนตรีของแต่ละกลุ่มชนก็จะมีลีลาและเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง  ตามลักษณะสำเนียงภาษาพูดวิถีชีวิตความเป็นอยู่   เช่นเดียวกับดนตรีไทยในภาคกลางและดนตรีพื้นบ้านอีสาน ดนตรีภาคใต้ ก็จะมีสำเนียงที่แตกต่างกัน   ด้วยบริบทสำเนียงภาษาถิ่นที่แตกต่าง และสภาพอากาศ ความเชื่อ ศาสนา ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน กระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีของไทยที่มีมาแต่โบราณดังปรากฏในภาพปูนปั้นสมัยทวารวดี รูปร่างหน้าตาของเครื่องดนตรี รูปแบบวิธีการบรรเลง บทเพลงที่ใช้บรรเลงกระจับปี่นี้ ล้วนแล้วแต่มีสาระและประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยที่แฝงอยู่ และดังที่อาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติและปรมาจารย์ทางดนตรีไทยได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีจะมีคุณค่า ถ้าเข้าใจในภาษาดนตรี”   หากสามารถเข้าใจในสรรพเสียงและจิตวิญญาณแห่งดนตรีได้แล้ว ก็จะสามารถเกิดการรับรู้และเข้าใจในสรรพภาษาแห่งดนตรีเมื่อครั้งในอดีต ทำให้สามารถเข้าใจและรับรู้ถึง ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต แห่งผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้เช่นเดียวกับการย้อนรอยเวลากลับไปสัมผัสกลิ่นอายความเป็นไปในครั้งก่อนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคุณค่าของการเข้าใจในวัฒนธรรมดนตรีจึงมีความยิ่งใหญ่ที่จะสามารถขยายไปยังความเข้าใจในความเป็นชาติพันธุ์ได้อีกด้วย

      ดนตรีในภูมิภาคแถบภูมิภาคเอเซียรวมถึงประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียเช่นกัน  วัฒนธรรมการดนตรีของอินเดียมีแบ่งหมวดหมู่ของเครื่องดนตรีตามตำรา “นาฏยศาสตร์” ของท่านภรตมุนี ในช่วงระยะเวลาประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 และได้ปรากฏใน “สังคีตรัตนากร” ของท่านศรางเทพ ในประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 2   (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 32)   โดยได้มีการแบ่งแยกเครื่องดนตรีออกเป็น 4 หมู่ ดังนี้

1.   ตะตะ (เครื่องสายสำหรับดีดสีเป็นเสียง)
2.   สุษิระ (เครื่องเป่า)
3.   อะวะนัทธะ (เครื่องหนัง)
4.   ฆะนะ (เครื่องที่กระทบเป็นเสียง)

ดังนั้น การจำแนกเครื่องดนตรีของไทยที่ได้รับแบบอย่างมาจากอินเดียเช่นเดียวกับ เขมร มอญ พม่า ชวา มลายู นี้ทำให้โบราณจารย์ของไทยได้จำแนกเครื่องดนตรีไทยเป็น 4 ประเภท คือ

1.   เครื่องดีด               2.   เครื่องสี                  3.   เครื่องตี                     4.   เครื่องเป่า

      โดยแบ่งจำแนกตามลักษณะอาการบรรเลง ในกลุ่มเครื่องดีดก็ได้แก่ กระจับปี่ จะเข้ พิณเปี๊ยะ พิณน้ำเต้า  กลุ่มเครื่องสีก็ได้แก่ ซออู้ ซอด้วง ซอสามสาย สะล้อ   กลุ่มเครื่องตีจะแยกเป็นกลุ่มที่ทำทำนอง ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลุ่มที่ทำจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับคู่ กรับพวง โหม่ง กลองแขก โทน – รำมะนา ตะโพน กลองยาวกลองทัด สองหน้า บัณเฑาะว์ กลองมลายู เปิงมาง กลองชนะ กลองทัด กลุ่มเครื่องเป่า ได้แก่ ขลุ่ยอู้ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลิบ ปี่นอก ปี่ใน ปี่ชวา เป็นต้น (พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ, 2552 : 392) สำหรับการผสมรวมวงนั้นได้มีการนำเอาเครื่องดนตรีจากกลุ่มของ เครื่องดีด สี ตี เป่า ต่างๆนี้   นำมาบรรเลงผสมผสานกันเพื่อให้เกิดการประสมประสานของท่วงทำนอง จังหวะ รวมถึงการขับร้อง เข้าด้วยกัน   โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกลมกลืนของเสียงเป็นสำคัญ อาทิ ความดังความเบาของเครื่องดนตรี   (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 3) สุ้มเสียงของเครื่องดนตรีที่สามารถบรรเลงเข้ากันได้เป็นอย่างเหมาะสม และลักษณะการบรรเลงเครื่องดนตรีที่สามารถบรรเลงร่วมกันได้อย่างแคล่วคล่องด้วยกันเป็นอย่างดี กระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มต่ำและเบา จึงนิยมนำมาบรรเลงในวงที่มีเสียงไม่ดังมากนักเช่นในวงมโหรีแบบโบราณ อาทิ มโหรีเครื่องสี่ มโหรีเครื่องหก มโหรีเครื่องแปด ฯลฯ

    กระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดของไทยที่มีมานาน แต่ด้วยประวัติศาสตร์ของการดนตรีไทยมักจะขาดการบันทึกข้อมูลที่แน่ชัด จึงยากแก่การลงความเห็นหรือการอ้างถึงที่ชัดเจนที่จะสามารถระบุได้ว่าไทยมีกระจับปี่ตั้งแต่สมัยใดกันอย่างแน่ชัด การกำเนิดเครื่องดนตรีนั้นได้รับมาจากอิทธิพลจากชนชาติใดหรือมีการพัฒนาขึ้นเองก็มิอาจสรุปได้แน่ชัด การกำเนิดของเครื่องดนตรีในแนวคิดของนักมานุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicologist) ได้มีแนวคิดอยู่สองลักษณะคือ เครื่องดนตรีนั้นเกิดจากการคิดประดิษฐ์ของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเอง หรือได้รับมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมภายนอก อย่างไรก็ตามการพัฒนาและการคิดค้นปรับปรุงเครื่องดนตรีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเจ้าของถิ่น   ก็ได้สรรสร้างให้เครื่องดนตรีของแต่ละชนชาติมีความต่าง ความคล้ายคลึง ความเหมือน ที่เป็นเอกลักษณ์ ดังตัวอย่างที่มีแนวคิดว่า ซอสามสายมาจาก “รีบับ” ของอินโดนีเซีย และอีกแนวคิดหนึ่งกล่าวว่ามีต้นแบบมาจาก “ตรัวขะแมร์” ของเขมร   อีกแนวคิดหนึ่งคือซอสามสายได้ปรับปรุงมาจากสะล้อของล้านนา   ซึ่งก็ยังไม่สามารถสืบค้นหาหลักฐานจนเป็นที่ประจักษ์ได้แน่ชัดจนสามารถยืนยันระบุข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับกันได้   โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทางดนตรีของไทย ขาดการบันทึกข้อมูลที่ชัดเจน จึงยากแก่การลงความเห็นหรือหาข้อสรุปที่แน่ชัด (ปัญญา รุ่งเรือง, 2538)    ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวชื่นชมพระบารมีของสมเด็จพระมหาจักรพัตราธิราชตอนหนึ่งว่า “ลางจำพวกดีดพิณและสีซอพุงตอกันแลกันฉิ่งริงรำ” ท่านอาจารย์มนตรี ตราโมทก็ได้ตั้งข้อสันนิฐานว่า คำว่าสีซอกับพุงตอนั้นเขียนติดเป็นคำเดียวกันหรือไม่ เพราะโบราณท่านนิยมเขียนติดกันไปทั้งหมด ถ้าติดกันซอพุงตอก็เป็นชื่อซอชนิดหนึ่งที่อาจเป็นซอสามสายก็ได้ แต่ถ้าไม่ติดกัน สีซอก็เป็นเรื่องหนึ่ง พุงตอก็เป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง จึงนับว่าซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีของไทยที่มีมาแต่โบราณกาลชิ้นหนึ่ง  ท่านมหาแสง วิฑูรให้ความเห็นว่า ตรงกับภาษาเงี้ยวหรือไทยโบราณ ได้แก่กลองขนาดยาวที่เรียกว่ากลองแอว (มนตรี ตราโมท, 2519: 36)  ส่วนพิณนั้นก็สันนิฐานว่าคงจะเป็นกระจับปี่ที่มักใช้บรรเลงคู่กับซอสามสายนั่นเอง

    นักวิชาการทางดนตรีหลายๆท่านได้มุ่งความสนใจความเกี่ยวพันของกระจับปี่ไปที่ชวาและเขมรเป็นหลัก แต่ร่องรอยความเป็นมาของกระจับปี่มีความชัดเจนว่ามีความเกี่ยวพันกับอินเดียอันเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่เห็นได้จากภาษาสันสกฤตและบาลีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชื่อกระจับปี่ รศ.ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรีได้กล่าวถึงเมื่อครั้งได้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอินเดีย เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก ได้พบเครื่องดนตรีชื่อ “กัจฉปิ / Kacchapi” รูปร่างหน้าตาของเครื่องดนตรีนี้ละม้ายคล้ายกระจับปี่อย่างที่สุด   เครื่องดนตรีนี้เป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่งของอินเดีย จัดอยู่ในกลุ่มวีณา (พิณ) มีสายสี่สาย เคยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอดีต ในแถบรัฐเบงกอลไปจรดแถบภาคตะวันออกด้านติดกับประเทศพม่า ซึ่งในปัจจุบันได้หมดความนิยมไปแล้ว   มีเครื่องดนตรีชื่อ “กัจฉภิ / Kacchabhi”   ที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มรายชื่อเครื่องดนตรีทั้ง 60 ชนิดที่กล่าวไว้ในวรรณกรรมของเชน ที่เป็นศาสนาในร่วมสมัยกับพระพุทธศาสนา ทั้งสองศาสนานี้ปฏิเสธคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูโดยเฉพาะการแบ่งชั้นวรรณะ ดังนั้นภาษามคธและภาษาถิ่นต่างๆจึงถูกนำมาใช้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ชนทุกชั้น  เหตุนี้คำว่า “กัจฉปิ” ที่มีรูปศัพท์เดิมมาจาก “กัจฉปะ” นั้น เกิดการผสมผสานกับภาษาของกลุ่มชนที่ไม่ใช่ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก จึงทำให้เพี้ยนมาเป็นคำว่า “กัจฉภิ” ในวรรณกรรมของศาสนาเชนในที่สุด   ในคัมภีร์ “นาฏยศาสตร์” ของท่านภรตมุนี ในช่วงสมัย 500 ปี ก่อน ค.ศ. 200 ได้กล่าวถึงเตรื่องดนตรีที่ชื่อว่า “กัจฉปิ”  และในภายหลังท่านศรางเทพผู้เขียนคัมภีร์สังคีตรัตนากรในช่วงประมาณปี ค.ศ 1210 – 1247 ได้กล่าวถึงเครื่องดนตรีชนิดนี้และยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่เรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “กัจฉปิ” เป็นเพราะกะโหลกของเครื่องดนตรีชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า  และในงานประติมากรรมสมัยอมราวตี ราวปี ค.ศ. 150 – 250 มีนักวิจัยหลายท่านแสดงความเห็นว่าเครื่องดนตรีที่พระนางสรัสวดีทรงถือนั้น ที่พบในช่วง 200 ปีก่อนปี ค.ศ. 6 มีลักษณะคล้ายคลึงกับกัจฉปิ (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 159)

 

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของกระจับปี่

       กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีสายประเภทหนึ่งของไทย ตัวกะโหลกของกระจับปี่มีลักษณะแบนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีคันทวนยาวโค้งงอนไปด้านหลัง บรรเลงด้วยการดีด  เช่นเดียวกับพิณเปี๊ยะและพิณอื่นๆ  ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้อธิบายถึงกระจับปี่ไว้ว่า กระจับปี่เป็นพิณสี่สาย เป็นคำชวาเรียกว่า กัจฉปิ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า กจฺฉป (กัจฉปะ) แปลว่า เต่า   ที่เรียกดังนี้อาจารย์ธนิต อยู่โพธิได้ให้ความเห็นไว้ว่าอาจเป็นด้วยตัวกะโหลกของกระจับปี่นั้นมีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า จึงมีการเรียกชื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นได้   อีกทั้งให้ความเห็นว่า กระจับปี่อาจได้รับแบบมาจากชวาโดยผ่านทางเขมรก็เป็นได้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า คำว่า กัจฉปิ ที่เป็นคำชวานั้น เพี้ยนเป็น ขฺสจาปีหรือแคฺชจาเป็ย ในภาษาขอม

     ในกฎมณเฑียรบาลในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ประมาณปีพ.ศ. 1991 – 2031 ก็มีบันทึกกล่าวถึงกระจับปี่ดังปรากฏไว้ใว่า “ห้ามร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดจะเข้ ดีดกระจับปี่ ตีโทนตีทับ ในเขตพระราชฐาน” (อุทิศ นาคสวัสดิ์, 2525: 4) แสดงให้เห็นความนิยมในการบรรเลงกระจับปี่ในอดีตเป็นอย่างมากจนถึงกับต้องประกาศห้ามบรรเลงในเขตพระราชฐานกันเลยทีดียว อีกทั้งในงานจิตรกรรม ประติมากรรม เช่น ภาพปูนปั้น ภาพแกะสลัก  ภาพเขียนลายทองบนตู้หนังสือ ฯลฯ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลต่างๆเหล่านี้   ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานที่ใช้สืบค้นเกี่ยวกับการบรรเลงกระจับปี่และมโหรีโบราณได้เป็นอย่างดี   ด้วยรายละเอียดต่างๆจากงานจิตรกรรม ประติมากรรมเหล่านี้สามารถใช้เป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงให้เห็นความนิยมบรรเลงกระจับปี่ในครั้งโบราณกาลได้อย่างเด่นชัด   ดังปรากฏกระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงคู่กับซอสามสายในวงมโหรีตั้งแต่โบราณ   ได้แก่ วงมโหรีเครื่องสาม วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก วงมโหรีเครื่องแปด วงมโหรีเครื่องเก้า วงมโหรีเครื่องสิบ ไปจนถึงวงมโหรีในยุคปัจจุบันวงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่ และวงมโหรีเครื่องใหญ่ ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังปรากฏภาพกระจับปี่บรรเลงร่วมอยู่ในวงมโหรีด้วย   จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยามีภาพพุทธประวัติตอนที่ทรงฉัน ปัจฉิมบิณฑบาตรที่บ้านนายจุนทะกัมมารบุตร เมืองปาวา  ปัจจุบันอยู่ที่วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ จากภาพจิตรกรรมนี้แสดงให้เห็นว่า เป็นวงมโหรีเครื่องสาม   นอกจากนี้ยังพบภาพแกะสลักวงมโหรีเครื่องสี่อันประกอบด้วย คนสีซอสามสาย คนดีดกระจับปี่ คนตีทับหรือโทน และคนตีกรับที่เป็นผู้ขับลำนำ   ปรากฏอยู่บนฝาตู้ไม้จำหลักสมัยอยุธยา   ตรงกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ว่า “มโหรีนั้นเดิมวงหนึ่งมีคนเล่นเพียงสี่คน เป็นคนขับร้องลำนำและตีกรับพวงให้จังหวะเองคนหนึ่ง คนสีซอสามสายประสานเสียงคนหนึ่ง คนดีดกระจับปี่ให้ลำนำคนหนึ่ง คนตีทับ (โทน) ประสานจังหวะกับลำนำคนหนึ่ง สังเกตเห็นได้ชัดว่ามิใช่อื่นคือการเครื่องบรรเลงพิณกับเครื่องขับไม้มารวมกันนั่นเอง เป็นแต่ใช้กระจับปี่ดีดแทนพิณ ตีทับแทนไกวบัณเฑาะว์ และเติมกรับพวงสำหรับให้จังหวะเข้าอีกอย่างหนึ่ง   เครื่องมโหรีที่เพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคือ รำมะนาตีประกอบกับทับอย่างหนึ่ง ขลุ่ยสำหรับเป่าให้ลำนำอย่างหนึ่ง มโหรีวงหนึ่งจึงกลายเป็นหกคน มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เติมเครื่องมโหรีขึ้นอีกหลายอย่าง เอาเครื่องปี่พาทย์เข้าเพิ่มเป็นพื้นแต่ทำขนาดย่อมลง ในสมัยรัชกาลที่ 1 เติมระนาดไม้กับระนาดแก้ว รวมมโหรีวงหนึ่งเป็นแปดคน มาในรัชกาลที่ 2 เลิกระนาดแก้วเสีย ใช้ฆ้องวงแทน และเพิ่มจะเข้เข้าในเครื่องมโหรีอีกสิ่งหนึ่ง รวมมโหรีวงหนึ่งเป็นเก้าคน ถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อคิดทำระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเพิ่มเข้าในมโหรี ใช้ฉิ่งตีแทนกรับพวง และเพิ่มฉาบเข้าในมโหรีด้วย รวมเป็นสิบสองคน ถึงรัชกาลที่4 เพิ่มระนาดทองและระนาดเหล็กจึงเป็นสิบสี่คน มาถึงรัชกาลที่ 5 เครื่องมโหรีลดกระจับปี่กับฉาบ จึงกลับคงเหลือสิบสองคน ” (พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ, 2552 : 394)     ในหนังสือจินดามณีเล่ม 1 – 2 หน้า 45 ได้กล่าวถึงวงมโหรีไว้ว่า

  “นางขับขานเสียงแจ้ว พึงใจ

  ตามเพลงกลอนกลใน ภาพพร้อง

  มโหรีบรรเลงไฉน ซอพาทย์

  ทับกระจับปี่ก้อง เร่งเร้ารัญจวน”

       พิจารณาตามโคลงบทนี้ วงมโหรีนี้มีห้าคนคือ นางขับร้องซึ่งน่าจะตีกรับด้วยคนหนึ่ง คนเป่าปี่หรือขลุ่ยคนหนึ่ง คนสีซอสามสายคนหนึ่ง คนตีทับคนหนึ่ง คนดีดกระจับปี่คนหนึ่ง จึงนับเป็นมโหรีเครื่องห้า   จากภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตกในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 มีภาพของวงมโหรีเครื่องหก   มีผู้เล่น 6 คนประกอบไปด้วย ซอสามสาย กระจับปี่ โทน รำมะนา ขลุ่ย และคนขับลำนำ   สำหรับมโหรีเครื่องแปดนั้นมีการกล่าวว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีผู้คิดเพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองชนิดคือ ระนาดไม้และระนาดแก้ว   ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ใน “ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์” ว่า “…เล่ากันมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ 1 เติมระนาดไม้กับระนาดแก้วเป็นเครื่องมโหรีขึ้นอีกสองอย่าง รวมมโหรีวงหนึ่งมีแปดคน มาในรัชกาลที่ 2 เลิกระนาดแก้วเสียใช้ฆ้องวงแทน และเพิ่มจะเข้เข้าในเครื่องมโหรีอีก1 สิ่ง รวมมโหรีวงหนึ่งเป็น 9” (อนุชา ทีรคานนท์, 2552 : 77) และจากอีกหลักฐานหนึ่งที่ปรากฏบนตู้ไม้ลายจำหลักเรื่อง ภูริทัตตชาดก สมัยกรุงศรีอยุธยา มีคนเป่าขลุ่ยสองคน และมีคนตีฆ้องวงอีก 1 คน ฆ้องวงที่เพิ่มมานี้ภายหลังปี่พาทย์นำไปผสมในวงปี่พาทย์   อาจสันนิฐานได้ว่าวงมโหรีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจะมีวงมโหรีเครื่องเก้าแล้วก็เป็นได้    มีหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังวิหารพระนอนตรงเบื้องพระเศียรพระพุทธไสยาสน์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีผู้เล่นดนตรีสิบคนและบทเพลงยาวไหว้ครูมโหรีครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวว่าไว้ว่า  (patakorn, 2554 : ระบบออนไลน์)

“ขอพระเดชาภูวนาท พระบาทปกเกล้าเกศี

  ข้าผู้จำเรียงเครื่องมโหรี ซอกรับกระจับปี่รำมะนา

  โทนขลุ่ยฉิ่งฉาบระนาดฆ้อง ประลองเพลงขับกล่อมพร้อมหน้า

  จลเจริญศรีสวัสดิ์ ทุกเวลา ให้ปรีชาชาญเชี่ยวในเชิงพิณ”

          จากหลักฐานนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีมโหรีเครื่องเก้าเครื่องสิบในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว   อย่างไรก็ตามวงมโหรีโบราณที่นิยมและมักพบเห็นในการบรรเลงในวาระต่างๆ   ได้แก่ วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่งหก วงมโหรีเครื่องแปด เป็นส่วนใหญ่   ต่อมาเมื่อวงมโหรีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการเพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นอีกหลายชิ้นเพื่อขยายวงให้มีเครื่องดนตรีมากขึ้น   กระจับปี่ที่มีน้ำหนักมากและมีเสียงเบาจึงถูกเครื่องดนตรีอื่นๆกลบเสียงจนไม่ได้ยินเสียงกระจับปี่ในวงดนตรี  โดยเฉพาะเมื่อมีการนำจะเข้เข้ามาร่วมบรรเลงในวงมโหรีเครื่องสายต่างๆ   จะเข้นั้นดีดได้สะดวก คล่องแคล่ว และมีเสียงดังกว่ากระจับปี่   เมื่อมาบรรเลงในวงเดียวกัน จึงทำให้กระจับปี่ไม่เป็นที่นิยมตั้งแต่นั้นมา   อย่างไรก็ตามกระจับปี่ก็ยังไม่ถึงกับหายสาปสูญไปจากสังคมไทยเสียทีเดียว

 

ประเภทและโอกาสในการบรรเลงด้วยกระจับปี่   

กระจับปี่

       เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงอยู่ในวงมโหรีโบราณ อาทิวงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก และวงมโหรีเครื่องแปด  กล่าวกันว่าวงมโหรีชนิดนี้มีสุ้มเสียงนุ่มนวลไพเราะประดุจเสียงทิพย์จากสรวงสวรรค์   เพราะมีความดังของเสียงที่พอเหมาะไม่ดังจนเกินไป   และสำเนียงที่ทุ้มต่ำ   เหมาะแก่การที่จะใช้บรรเลงภายในอาคาร เหมาะสมในการขับกล่อม และในพระราชพิธีต่างๆ เป็นต้น   เป็นที่น่าเสียดายว่าการนำกระจับปี่มาใช้บรรเลงในวงมโหรีที่นิยมในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่  และวงมโหรีเครื่องใหญ่  จะไม่มีกระจับปี่ร่วมบรรเลงด้วยมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว  ดังที่กล่าวมาแล้วว่าด้วยเหตุที่กระจับปี่มีน้ำหนักมากและมีเสียงเบา เมื่อบรรเลงในวงที่มีเครื่องดนตรีมากๆ ก็จะถูกเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆกลบจนไม่ได้ยินเสียงของกระจับปี่  จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความนิยมในการบรรเลง  ทำให้ในปัจจุบันนี้จะไม่ได้พบเห็นการบรรเลงกระจับปี่กันอีกเลยด้วยหาผู้ที่ดีดกระจับปี่ได้ยากยิ่ง แต่ถึงแม้จะไม่ค่อยได้มีโอกาสพบเห็นการบรรเลงกระจับปี่กันแล้วก็ตาม   กระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีไทยชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์และควรมีการนำมาใช้และต้องการมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย   ในทุกวันนี้บางหน่วยงานได้มีความพยายามส่งเสริมให้มีการบรรเลงวงมโหรีโบราณเช่น วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก และวงมโหรีเครื่องแปด ที่ก็ยังต้องนำกระจับปี่ร่วมบรรเลงอยู่เช่นเดิม  จึงทำให้มีบางโอกาสที่จะได้พบเห็นกระจับปี่บรรเลงอยู่ในวงมโหรีโบราณเหล่านี้ในวาระพิเศษสำคัญต่างๆ   ซึ่งไม่ค่อยจะได้มีโอกาสพบเห็นกันได้อย่างง่ายดายนัก  วงดนตรีที่จะได้มีโอกาสพบเห็นกระจับปี่ร่วมบรรเลงด้วย มีดังนี้

1.   วงมโหรีเครื่องสี่   ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย
กระจับปี่
โทน
กรับพวง
1 คัน
1 ตัว
1 ใบ
1 พวง

2.   วงมโหรีเครื่องหก   ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย
กระจับปี่
โทน
รำมะนา
ขลุ่ยเพียงออ
กรับพวง
1 คัน
1 ตัว
1 ใบ
1 ใบ
1 เลส
1 พวง

 

 

3.   วงมโหรีเครื่องแปด   ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย
กระจับปี่
โทน
รำมะนา
ขลุ่ยเพียงออ
ระนาด
ระนาดแก้ว
กรับพวง
1 คัน
1  ตัว
1 ใบ
1 ใบ
1 เลา
1 ราง
1 เลา
1 พวง

 

   บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยกระจับปี่แต่เดิมจะเป็นเพลงสองชั้นสั้นๆ ที่มีทำนองเรียบง่าย จังหวะปานกลาง เป็นส่วนมาก อาทิ นางนาค พัดชา ลีลากระทุ่ม สรรเสริญพระจันทร์ มหาไชย สระสม นาคเกี่ยวพระสุเมรุ พระทอง ถอยหลังเข้าคลอง อังคารสี่บท ปะตงโอด ปะตงพัน อรชร ลำไป เนียรปาตี จันดิน ก้านต่อดอก  เป็นต้น เคยมีการรวบรวมรายชื่อเพลงในตำรามโหรีครั้งกรุงเก่าไว้และยังมีเพลงยาวตำรามโหรีสมัยรัชกาลที่ 1 ตกทอดมาอีกด้วย (อานันท์ นาคคง, 2538 : 80)   เมื่อพิจารณาจากเพลงขับเรื่องซอมโหรี ก็จะระบุชื่อเพลงโบราณถึง 192 เพลง (พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ, 2552 : 52)   เพลงบางเพลงก็ยังคงปรากฏใช้บรรเลงในปัจจุบัน แต่บางเพลงก็คงเหลือเพียงชื่อเพลงและบทขับร้องที่ไม่สามารถสืบค้นทำนองเพลงเหล่านั้นได้อีก


 

เพลงขับเรื่องซอมโหรี

ข้าไหว้ครูซอขอคำนับ
ขับบรรสานสายสุหร่ายเรื่อง
มโหรีแรกเริ่มเฉลิมเมือง
บอกเบื้องฉบับบุราณนาน
แต่บรรดาเพลงใหญ่ให้รู้ชื่อ
คือโฉลกแรกเรื่อยเฉื่อยฉาน
อักษรโฉลกบรรเลงลาน
วิศาลโฉลกนั้นเป็นหลั่นลด
มหาโฉลกลอยชายเข้าวัง
พราหมณ์เดินเข้ายังอุโบสถ
โยคีโยนมณีโชติชด
เจ็ดบทบอกต้นดนตรี ฯ





บทที่ ๑
โศลกแขก
อักษรโฉลก
วิศาลโฉลก
มหาวิศาลโฉลก, ลอยชายเข้าวัง
พราหมณ์เข้าโบสถ์
โยคีโยนแก้ว
(๗  เพลง)

เพลงซอที่สองรองรับ
นับอีกเจ็ดบทกำหนดสี่
ในนามว่าเนรปัตตี
กับศรีสุวรรณชมพูนุท
ทองเก้าน้ำนองทองย้อย
ทองพรายแพร้วพร้อยแสงสุด
ทองสระทองสรมสมมุติ
กุลบุตรจงจำลำตำนาน ฯ


บทที่ ๒
เนียรปาตี
ชมพูนุท
ทองเก้าน้ำ, ทองย้อย
ทองพราย
ทองสระ, ทองสรม
(๗  เพลง)


นางกราย
แล้วย้ายนางเยื้อง
เรียงเรื่องเรียบร้อยสร้อยต่าน
นาคเกี้ยวพระสุเมรุพาดพาน
พระอวตารติดตามกวางทอง
ราเมศออกเดินดงดอน
พระรามนครควรสนอง
เจ็ดเพลงบรรเลงล้ำทำนอง
ที่สามต่อสองประสานกัน ฯ

บทที่ ๓
นางกราย, นางเยื้อง
สร้อยต่าน
นาคเกี้ยว
พระรามตามกวาง
พระรามเดินดง
พระราม (คืน) นคร
(๗ เพลง)

ขึ้นมอญแปลงใหญ่ในบทสี่
สรรเสริญจันทรีสรวงสวรรค์
มหาไชยในเรื่องรำพัน
มโนห์ราโอดอั้นครั่นครวญ
ราโคเคียงเรียงเหรา
หงส์ไซ้ปทุมมาสร้อยสงวน
ยิ่งฟังยิ่งเพราะเสนาะนวล
ในขบวนบรรเลงเพลงพอ ฯ
บทที่ ๔
มอญแปลง
สรรเสริญพระจันทร์
มหาชัย
มโนห์ราโอด
ราโค, เหราเล่นน้ำ
หงส์ไซ้ดอกบัว
(๗ เพลง)

บังใบแฝงใบโอดอ้อน
ฝรั่งร่ายร้องถอนสมอ
คู่ฝรั่งบ้าบ่นบทซอ
คู่บ้าบ่นต่อลำดับไป
แขกสวดแล้วแขกกินเหล้า
อีกยาเมาเลสังข์ใหญ่
สังข์น้อยร้อยเรียบระเบียบใน
สิบเอ็ดบทบอกไว้ให้เจนจำ ฯ
บทที่ ๕
บังใบ, แฝงใบโอด
ฝรั่งถอนสมอ
คู่ฝรั่งถอนสมอ, บ้าบ่น
คู่บ้าบ่น
แขกสวด, แขกกินเหล้า
ยาเมาเล, สังข์ใหญ่
สังข์น้อย
(๑๑ เพลง)

สระบุหร่ง
รับขับอ้าง
กะระนะนางบุหร่งเรื่อยร่ำ
มะละกาเสียเมืองลำนำ
มลายูหวนซ้ำสืบไป
แล้วคู่มลายูหวน
เสนาะนวลเพลงเพื่อนนอนใหญ่
เพื่อนนอนน้อยดอกไม้ไทร
เป็นลำดับดอกไม้ตานี
แสนพิลาปใหญ่พิลาปน้อย
น้ำค้างย้อยตะวันตกเรื่อยรี่
น้ำค้างตะวันออกโดยมี
นกกระจอกต้องที่กระเบื้องร้อน
สมิงทองไทยรามัญแขก
สิบแปดเพลงแจงแจกจำสอน
ประสานเสียงเพียงซอสวรรค์วร
ที่หกจบกลอนไม่เบียดบัง ฯ
บทที่ ๖
สระบุหร่ง
กะระนะ, นางบุหร่ง
มะละกาเสียเมือง
มลายูหวน
คู่มลายูหวน
เพื่อนนอนใหญ่
เพื่อนนอนน้อย, ดอกไม้ไทร
ดอกไม้ตานี
แสนพิลาปใหญ่, แสนพิลาปน้อย
น้ำค้างตะวันตก
น้ำค้างตะวันออก
นกกระจอกต้องกระเบื้อง
สมิงทองไทย, สมิงทองมอญ,
สมิงทองแขก
(๑๘ เพลง)

เพลงเจ็ดนั้นตั้งอรชร
สายสมรปโตงโอดโดยหวัง
ปโตงหวนปโตงพันพึงฟัง
เป็นห้าเพลงไม่พลั้งเพลินชม ฯ
บทที่ ๗
อรชร
สายสมร, ปะตงโอด
ปะตงหวน, ปะตงพัน
(๕ เพลง)


เพลงแปดนั้นสุวรรณมาลา
มาก้านต่อดอกสระสม
ทั้งนางนาคใหญ่ชื่นชม
บรรสมเป็นเพลงแปดปอง ฯ

บทที่ ๘
สุวรรณมาลา
ก้านต่อดอก, สระสม
นางนาคใหญ่
(๔ เพลง)


พระทองคู่พระทองตุ๊ดตู่
 
คู่ตุ๊ดตู่จงรู้เรื่องสนอง
สี่บทเพราะล้ำทำนอง
จะเรียบร้องเพลงสิบสืบกลอน ฯ

บทที่ ๙
พระทอง, คู่พระทอง, ตุ๊ดตู่
คู่ตุ๊ดตู่
(๔ เพลง)


เริ่มแรกนั้นเรียกดอกไม้
ดอกไม้พันประไพเกษร
อีกดอกไม้โอดเอื้อนชออน
สุวรรณหงส์ร่อนคัคนานต์ ฯ

บทที่ ๑๐ 
ดอกไม้
ดอกไม้พัน
ดอกไม้โอด
สุวรรณหงส์ (๔ เพลง)


นางไห้ลมพัดชายเขา

ชมชเลเบ้าหลุดคำหวาน
ห้าบทกำหนดในการ
ประมาณที่สิบเอ็ดเพลงมี ฯ

บทที่ ๑๑
นางไห้, ลมพัดชายเขา
ชมทะเล, เบ้าหลุด, คำหวาน
(๕ เพลง)


อรุ่มสร้อยสน
ระคนกัน
อาถันตลุ่มโปงอาถันสี่
อาถันแปดเล่าซอต่อคดี
เพลงที่สิบสองมีเจ็ดครบ ฯ

บทที่ ๑๒
อรุ่ม, สร้อยสน
อาถรรพ์, ตลุ่มโปง, อาถรรพ์สี่
อาถรรพ์แปด, เล่าซอ
(๗ เพลง)


ยิกินใหญ่ล่องเรือนคร

แทรกซ้อนยิกินหน้าศพ
ยิกินยากซ้ำคำรบ
เพลงสิบสามจบเจนใจ ฯ

บทที่ ๑๓
ยิกินใหญ่, ล่องเรือละคร
ยิกินหน้าศพ
ยิกินยาก
(๔ เพลง)


สิบสี่นั้นคือพระนคร 
เรื่อยร่อนสำเนียงเสียงใส
อีกทั้งลำนำลำไป
ถอยหลังเข้าในคลองจร ฯ

บทที่ ๑๔
พระนคร

ลำไป
ถอยหลังเข้าคลอง (๓ เพลง)


เพลงสิบห้านั้นมานางนาคน้อย 
คู่นางนาคพลอยนกร่อน 
ม้าย่องม้ารำอรชร
สีสอนตามเรื่องเนื่องกัน
เขนงกระทงเขียวแสง
ขอมมอญแปลงเล็กสลับคั่น
แยกออกเพลงละเจ็ดจงสำคัญ
เพลงสิบห้ารำพันจงลง ฯ

บทที่ ๑๕
นางนาคน้อย
คู่นางนาค, นกร่อน
ม้าย่อง, ม้ารำ
เขนง, กระทงเขียว
ขอม, มอญแปลงเล็ก
(๙ เพลง)

สิบหกยกบทกำหนดชื่อ
คือว่าจันดินอย่าลืมหลง
อีกคู่จันดินโดยจง
บทบ้าระบุ่นคงครบขบวน
จบเพลงเรื่องใหญ่แม้นใครเรียน
อุตสาห์เพียรให้ดีถี่ถ้วน
เพลงพรัดท่านจัดไว้ตามสมควร
สืบสวนโดยระเบียบเรียบร้อย

บทที่ ๑๖
จันดิน
คู่จันดิน
บ้าระบุ่น
(๓ เพลง)

 
ศรีประเสริฐระส่ำระสาย 
เรียงรายวงแหวนรอบก้อย
อังคารนฤคันโยคมดน้อย
นางตานีไห้ละห้อยโศกา
พระนครเขินขันบรรเลง
ร้อยสามสิบเจ็ดเพลงศึกษา
มโหรีมีเรื่องบุราณมา
เป็นศรีกรุงอยุธยาใหญ่เอย

บทที่ ๑๗ 
ศรีประเสริฐ, ระส่ำระสาย
แหวนรอบก้อย
อังคาร, เนียรคันโยค, มดน้อย
นางพระยาตานีร้องไห้
พระนครเขิน
(๘ เพลง)

       ภายหลังก็มีความนิยมบรรเลงกระจับปี่ด้วยบทเพลงหลากหลายจำพวกทั้งเพลงเกร็ด เพลงละคร เพลงตับ เพลงเสภาต่างๆ รวมถึงเพลงเดี่ยวต่างๆ อาทิ ลาวแพน พญาโศก พญารำพึง แขกมอญ กราวใน ฯลฯ ที่บันทึกเสียงโดยครูลิ้ม ชีวสวัสดิ์ให้ไว้ที่ ห.จ.ก. พัฒนศิลป์การดนตรีและการละคร ของ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ที่ยังทำให้สามารถรับฟังการเดี่ยวกระจับปี่ในประมาณ 40 – 50ปีที่ผ่านมากันได้

  

ส่วนประกอบต่างๆของกระจับปี่   

กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีสายสี่สาย  บรรเลงด้วยการดีด เช่นเดียวกับพิณเปี๊ยะและพิณอื่นๆ   ส่วนประกอบต่างๆ ของกระจับปี่ มีดังนี้ (kruchokchai, 2554  : ระบบออนไลน์)

กะโหลก   หรือกระพุ้งเสียง ทำด้วยไม้สัก ไม้ขนุน ไม้ปุ่มมะค่า ไม้ประดู่แดง ฯลฯ มาขุดขึ้นรูปให้มีลักษณะมนรีเหมือนรูปไข่ ภายในขุดให้เป็นโพรงเพื่อเป็นประโยชน์ในการกำธรของเสียง โดยติดประกบด้านหน้าด้วยไม้แผ่นหน้าที่อาจใช้แข็งหรือไม้เนื้ออ่อน เช่นไม้สมพงศ์ซึ่งเป็นไม้ที่ใช้ทำหน้าขิมมาประกบไว้ และอาจเจาะรูตรงกลางเพื่อระบายเสียงเพิ่มความดังกังวานให้กระจับปี่มากยิ่งขึ้น

คันทวน   ทำด้วยไม้ท่อน เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน ไม้แก่นจันทร์ ไม้แก้ว ไม้พยุง ฯลฯ คันทวนนี้จะกลึงด้านหลังมีลักษณะมน แต่กลึงด้านหน้าให้มีลักษณะแบนเพื่อประโยชน์ในการติดนม ในส่วนด้านก่อนถึงปลายคันทวนจะมีการเจาะร่องเป็นรางลูกบิด โดยเจาะรูสำหรับใส่ลูกบิดด้านละสองลูก จากนั้นปลายคันทวนจะทำให้แบนและมีด้านปลายที่บานขยายแผ่ออกไป โดยจะแอ่นโค้งงอนไปทางด้านหลังเพื่อความสวยงาม

รางลูกบิด   อยู่ด้านเกือบส่วนปลายของคันทวนโดยเจาะร่องเป็นรางใส่ลูกบิดทั้งสี่ลูก เพื่อการร้อยสายส่วนที่เหลือเก็บไว้ในร่องลูกบิดนี้ คล้ายรางไหมของจะเข้ โดยเจาะรูสำหรับใส่ลูกบิดด้านละสองลูก

ลูกบิด   ทำด้วยไม้เนื้อแข็งชนิดต่างๆ ไม้ประกอบงาช้างหรือกระดูก แม้แต่ทำด้วยงาช้างก็มี กลึงด้านปลายเป็นลักษณะต่างๆเพื่อความสวยงาม และเจาะรูตรงปลายเพื่อใช้พันสาย

ซุ้มหย่อง   ทำจากไม้ กระดูก หรืองาช้าง มีลักษณะเหมือนซุ้มประตูมียอดแหลม ตรงกลางเจาะให้โปร่งเพื่อประโยชน์ในการพาดสายให้ผ่านลงไปในรางลูกบิด

นม  ทำด้วยไม้เล็กประมาณ 11 – 12 ชิ้น โดยติดไว้ที่ด้านหน้าของคันทวนเพื่อใช้กดสายให้เกิดเสียงสูงต่ำตามต้องการ

หย่อง   ทำด้วยไม้ตัดเป็นทรงแบนๆ วางไว้ที่ด้านหน้ากระโหลกเพื่อรองรับสายไม่ให้ติดราบไปบนนมของกระจับปี่

สาย  นิยมใช้สายไหมควั่นเป็นเกลียว สายไนลอน หรือสายลวด

ไม้ดีด   ใช้ไม้หรือกระดูกสัตว์ฝนให้เป็นแผ่นบางๆคล้ายปิ๊กกีตาร์ในลักษณะทรงใบมะยม   หรือทำเป็นไม้ดีดคล้ายไม้ดีดจะเข้แต่เหลาให้สั้นกว่าไม้ดีดจะเข้

 

เทคนิคการบรรเลงกระจับปี่

       การดีดกระจับปี่นั้น แต่โบราณท่านให้นั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิดีดประจับปี่ โดยวางกะโหลกของกระจับปี่ลงบนร่องตัก   ซึ่งการวางบริเวณปลายกระพุ้งเสียงหรือกะโหลกลงบริเวณร่องตักให้พอดีจะ ทำให้สะดวกและเบาแรงในการดีด จากนั้นปล่อยคันทวนเฉียงไปทางด้านซ้ายมือทำมุม 45 องศา ไม่วางแนวคันทวนขนานไปกับพื้นอย่างซึงที่ใช้แนวของลูกบิดขนานกับพื้นขณะบรรเลง   มือขวาใช้จับไม้ดีดสำหรับดีดปัดไปมาให้เกิดเสียงดังกังวาน โดยดีดสลับขึ้นลงตามจังหวะและท่วงทำนองของบทเพลง   การจับไม้ดีดที่มีลักษณะแบบไม้ดีดจะเข้ ก็เอาไม้ดีดหนีบไว้ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลางและงุ้มนิ้วทั้งหมดลงมา ใช้นิ้วโป้งบังคับที่ปลายไม้ดีด   การดีดใช้มือขวาดีดกระจับปี่นั้นใช้ทักษะเช่นเดียวกับทักษะการดีดจะเข้ มีดังนี้ (ณัฐชยา ไชยศักดา, 2541 : 73).

การดีดเก็บ   คือการดีดไม้ดีด ออก – เข้า ตามปกติไปมาตามทำนองของบทเพลง

การรัว   คือการใช้ไม้ดีด เข้า – ออก – เข้า สลับกันให้ถี่มากที่สุดโดยมีความยาวของเสียงหรือทำนองในช่วงนั้นๆที่ไม่ขาดตอน

การสะบัด   คือการดีดแทรกพยางค์เพิ่มเข้ามาอีก 1 พยางค์ ในเวลาดีดเก็บธรรมดา 2 พยางค์ รวมเป็น 3 พยางค์ ใช้ลักษณะการดีด เข้า ออก – เข้า โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ สะบัดขึ้น สะบัดลง และสะบัดเสียงเดียว

การปริบ   เป็นการดีดลักษณะเดียวกับการดีดสะบัด หากแต่เสียงขึ้นต้นและเสียงลงท้ายของการดีดปริบนั้นจะเป็นเสียงเดียวกัน

การขยี้   คือการบรรเลงเพิ่มตัวโน้ตหรือทำนองแทรกเข้าไปในการดีดเก็บตามปกติ

การดีดกระทบประสานคู่สาย   คือการดีดพร้อมกันทั้งสองสายคู่สาย ทำให้เกิดเป็นเสียงคู่ประสาน

การตบสาย   คือการดีดไม้ดีด 1 ครั้งให้ได้ 2 เสียง โดยการดีดด้วยสายเปล่าหรือการดีดโดยลงนิ้วกดบนสาย 1 ครั้งแล้วกดนิ้วลงบนสายที่มีเสียงสูงกว่าเดิมให้ได้อีก 1 เสียง

การโปรย   คือการดีดเสียงให้เคลื่อนไหวต่อเนื่องกันให้ได้สามเสียง ในลักษณะเช่นเดียวกับเอื้ยนเสียงของการขับร้อง

       สำหรับมือซ้ายนั้น  เป็นทักษะการใช้นิ้วแบบซอโดยใช้มือซ้ายจับประคองคันทวนของกระจับปี่อย่างหลวมๆ ให้มีส่วนช่องว่างของร่องนิ้วระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ไม่ควรใช้อุ้งมือหนีบจับคันทวนจนติดแนบแน่นไปบนคันทวนในลักษณะที่มือเกาะติดกับคันทวนเป็นพังพืดไป   เพราะจะทำให้ไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะการบรรเลงเพลงเร็วๆจะทำให้เล่นไม่ทัน   และเพื่อความสะดวกในการใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ในการกดสายไปบนนมเพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามต้องการ  การใช้นิ้วของกระจับปี่ในการดำเนินทำนองนั้น   ไม่กำหนดว่าจะต้องเหมือนการใช้นิ้วจะเข้ทุกประการ    แต่ขึ้นอยู่กับการใช้นิ้วให้สะดวกในการบรรเลงเป็นสำคัญ   รวมทั้งยังสามารถใช้นิ้วก้อยได้ด้วย   การดีดดำเนินทำนองเพลงต่างๆให้ใช้ดีดสายทั้งคู่นอกและคู่ในสลับกันตามทำนองเพลง   ผู้ดีดกระจับปี่ต้องพยายามหานิ้วที่อยู่ใกล้ๆระหว่างสายทั้งสองคู่ ไม่ต้องข้ามนิ้วไปไกลๆ   นอกจากนี้  การดำเนินทำนองของกระจับปี่ไม่จำเป็นต้องเก็บ สามารถกระโดดข้ามทำนองได้   ซึ่งเป็นธรรมชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการบรรเลงกระจับปี่

การตั้งเสียงของกระจับปี่ไม่มีแบบแผนที่แน่ชัด มักขึ้นอยู่กับผู้บรรเลงที่จะมีความถนัดและความพึงใจของผู้บรรเลง วิธีการตั้งเสียงของกระจับปี่ที่นิยมกันมีอยู่ 3 แบบ คือ (pantown, 2554 : ระบบออนไลน์)

1) สายคู่ใน ตั้งเสียง โด สายคู่นอก ตั้งเสียง ซอล

2) สายคู่ใน ตั้งเสียง เร สายคู่นอก ตั้งเสียง ซอล

3) สายคู่ใน ตั้งเสียง ซอล สายคู่นอก ตั้งเสียง โด

       จะเห็นว่าการตั้งเทียบเสียงกระจับปี่จะมีการเทียบเป็นคู่ 4 หรือคู่ 5 แต่ควรเป็นคู่ 4 เหมือนสายเอกและสายทุ้มจะเข้เพราะทำให้สะดวกในการบรรเลงและมีความไพเราะในการบรรเลง   ด้วยจะสามารถใช้เสียงโดรน (Drone) ตามจังหวะทำนองที่ต้องมีการดีดกระทบประสานคู่สาย   ทำให้มีความไพเราะและเป็นลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะที่ปรากฏในการบรรเลงเครื่องดีดต่างๆ   แต่ผู้ที่เป็นคนซอมาก่อนอาจจะเทียบเป็นคู่ 5 เพราะเหมือนกับการเทียบสายซอ   ก็จะทำให้สามารถบรรเลงได้ใกล้เคียงกับความชำนาญและความถนัดตามแต่เดิมที่มีอยู่   

       ระบบเสียงของดนตรีไทยไม่มีเสียงเป็นมาตรฐานกลางที่เป็นระบบเสียงอันกำหนดไว้ใช้ร่วมกัน ดังนั้นการเทียบเสียงดนตรีของแต่ละคณะ แม้เป็นบันไดเสียงเดียวกันก็ไม่เท่ากันไม่เหมือนดนตรีตะวันตกที่มีระดับเสียงกำหนดแน่นอน เช่น เสียง โดกลาง (Middle C) ใช้ความถี่ = ๒๖๒ C.P.S. และ เสียง A (ลา) = ๔๔๐ C.P.S. (๔๔๐ ไซเกิ้ลต่อวินาที) ส่วนระดับเสียงของไทยเราเสียงต้นของทางเพียงออ (หรือมาตราเสียง, หรือบันไดเสียงเพียงออ) ในปัจจุบันก็เทียบเท่ากับ ๒๖๒ C.P.S. เหมือนกัน สังเกตได้จากวงดนตรีที่บรรเลงกันตามวิทยุ โทรทัศน์ และของกรมศิลปากรเดิมทีเดียว ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๓ ระดับเสียงลูกต้นของทางเพียงออมีความถี่ประมาณ ๒๕๐ C.P.S. เท่านั้น จากระดับเสียงทางเพียงออที่ ๒๖๒ C.P.S. ถึงเสียงสุดท้าย ในช่วงเสียงนี้คือ เสียงเดิมที่สูงขึ้น ๑ ช่วงทบ (Octave) เท่ากับความถี่ ๕๒๔ C.P.S. ระบบเสียงแบบไทยที่เป็น ๗ เสียงห่างเท่า ๆ กันเป็นธรรมชาติของไทย ที่นักดนตรีไทยฟังดูสนิทสนมดีแต่ฟังดนตรีสากลจะรู้สึกว่า เสียงเพี้ยนไปเช่นเดียวกับที่นักดนตรีไทยฟังเสียงดนตรีสากลใน Major Scale ว่าเพี้ยนไปเนื่องจากมีเสียงครึ่ง (Semitone) ระหว่างเสียงที่ ๓๔ กับ ๗๘ (ปัญญา รุ่งเรือง, 2538) ดังนั้นการบรรเลงร่วมกันของเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีตะวันตกจึงมีความยากลำบากที่จะต้องหาเสียงที่มีความใกล้เคียงสามารถบรรเลงได้ไม่ขัดหูจนเกินไป    

สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของกระจับปี่

       จากหลักฐานทั้งมวลที่มีอยู่สันนิฐานได้ว่าเครื่องดนตรีในตระกูลกระจับปี่นี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปีมาแล้ว  และไม่ว่าประเทศไทยจะรับแบบอย่างเครื่องดนตรีชนิดนี้โดยผ่านมาทางประเทศพม่า หรือรับ กัจฉปิ ของอินเดียโดยผ่านทางประเทศเขมรหรือกัมพูชา หรือรับเอาแบบอย่างจากอินเดียโดยผ่านมาทางชวาก็ตาม (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 163) ครูบาอาจารย์และนักดนตรีไทยก็ได้ปรับปรุงรูปแบบการบรรเลงให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเสียงของเครื่องดนตรี เทคนิคการบรรเลง บทเพลงที่ใช้ในการบรรเลง ฯลฯ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระจับปี่นั้นเป็นเครื่องดนตรีไทยอย่างแท้จริง

       เป็นที่ตระหนักกันดีว่า กระจับปี่ เริ่มห่างหายหายไปจากสังคมดนตรีไทยตั้งแต่ในครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์   ปัจจุบันนี้หาผู้บรรเลงกระจับปี่แทบไม่ได้เลย   การจะหาผู้ถ่ายทอดการดีดกระจับปี่ก็แทบจะไม่มี   ผู้สนใจที่จะศึกษาการดีดกระจับปี่อย่างแท้จริงก็ไม่ปรากฏอย่างเด่นชัด   แม้กระจับปี่จะไม่เป็นที่นิยมแต่ก็ยังมีกลุ่มผู้สนใจการดีดกระจับปี่โดยมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นต่างๆ ทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง   ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้สนใจในกระจับปี่นี้จะมีจำนวนเป็นสัดส่วนที่น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วประเทศ  แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่แสดงให้เห็นว่ากระจับปี่ยังไม่ได้ลบเลือนออกไปจากความสนใจของคนไทยเสียทีเดียว  ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นของผู้สนใจกระจับปี่ได้ที่ www.pantown.com   ก็จะสามารถรับรู้ได้ว่ายังมีเยาวชนไทยและผู้ที่รักและสนใจในเครื่องดนตรีชนิดนี้อยู่พอสมควร

       เมื่อมองไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา   พบว่าในปัจจุบันนี้ ประเทศกัมพูชาหรือเขมรนั้นยังมีการใช้เครื่องดนตรีที่เรียกว่า “จับเปย” หรือกระจับปี่อย่างเขมรกันอยู่  มีบรรเลงจับเปยร่วมกับ “ตรัวขแมร์” ที่มีรูปลักษณ์คล้ายซอสามสาย ใน “ดนตรีอารัก” ที่ถูกกำหนดให้ใช้ในเรื่องพิธีกรรม การบนบานศาลกล่าว พิธีที่เกี่ยวข้องด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (Magical Rites)   นอกจากนี้ก็ใช้ในเพลงการ์ ที่มีบทบาทในเชิงดนตรีแต่งงาน (Wedding Music) ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าดนตรีธรรมดาทั่วไป อีกทั้งยังมีการบรรเลงจับเปยในการแสดงต่างๆที่ปรากฏให้เห็นทางอินเตอร์เน็ตกันพอสมควร   แม้กลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเขมรที่อาศัยในประเทศไทยก็ยังมีการรวมกลุ่มกันบรรเลงดนตรีในลักษณะนี้อยู่ (อานันท์ นาคคง, 2538 : 67) เช่นแถวคลองหก ปทุมธานี ก็มีการสอนมโหรีเขมร เช่นจับเปยและกระเปอ (จะเข้เขมร) กันอยู่ รวมถึงแถบชายแดนแถวเมืองสุรินทร์ก็มีการเล่นจับเปยกันอยู่เช่นกัน

       เป็นที่น่ายินดีที่มีการสร้างระบำชุดโบราณคดี 5 สมัยของกรมศิลปากร ที่ได้นำกระจับปี่เข้ามาร่วมบรรเลงในระบำศรีวิชัยและระบำลพบุรี ตามแนวความคิดของนายธนิต อยู่โพธิ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น โดยมีอาจารย์มนตรี ตราโมทเป็นผู้ประพันธ์ทำนอง การบรรเลงกระจับปี่จึงยังไม่ขาดหายไปเสียทีเดียว และปรากฏว่ามีความพยายามฟื้นฟูการบรรเลงมโหรีโบราณที่นำกระจับปี่มาร่วมบรรเลงด้วย อาทิ  ในรายการดร. อุทิศแนะนำดนตรีไทย ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ศ.ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์และครูลิ้ม ชีวสวัสดิ์ก็ได้นำกระจับปี่มาบรรเลงออกอากาศ  การแสดงดนตรี ครุศาสตร์คอนเสิร์ต” คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยมีการบรรเลงมโหรีเครื่องหก และการบรรเลงวงดนตรีไทยซึ่งมีกระจับปี่ร่วมบรรเลงอยู่ด้วยร่วมกับวงดุริยางค์ซิมโฟนี รวมถึงมีการบันทึกเสียงไว้อีกด้วย รศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อนก็ได้เดี่ยวกระจับปี่ถวายหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  การแสดงดนตรีนาฏศิลป์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงดนตรีของวงกอไผ่ เป็นต้น

       และในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็มีเค้าลางที่ดีว่ากระจับปี่กำลังได้รับความสนใจจากหลายๆฝ่ายที่จะช่วยกันปกปักษ์รักษาเครื่องดนตรีชิ้นนี้เอาไว้ให้ได้มากขึ้น   จะเห็นได้จากเริ่มมีการผลิตกระจับปี่ออกจำหน่ายจากหลายๆที่ ซึ่งแต่เดิมมานั้นไม่มีการทำกระจับปี่มานานหลายสิบปีแล้วอาทิ กระจับปี่ของร้านสมชัยการดนตรีที่เป็นทรงแบบในราชสำนักที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กะโหลกจะไม่ใหญ่โตมาก มีการประดับประดาลวดลายสวยงาม กระจับปี่ของร้านช่างจ้อนสมุทรปราการที่จำลองแบบมาจากกระจับปี่ของวังสวนผักกาด กระจับปี่ของช่างบุญรัตน์ที่เมืองเชียงใหม่ที่เป็นทรงแบบโบราณ กะโหลกใหญ่ กระจับปี่ของช่างจักรี มงคล ที่มีลักษณะทวนสั้นๆ  มีน้ำหนักเบา กระจับปี่ของร้านกิจเจริญการดนตรี ถนนจรัลสนิทวงศ์ 77 และที่ตลาดช่องจอมจังหวัดสุรินทร์ก็มีการจำหน่ายจับเปยแบบของเขมร เป็นต้น   แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้ต้องการกระจับปี่อยู่มิใช่น้อยในปัจจุบันนี้ จึงมีการผลิตกระจับปี่ขึ้นมาเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ที่สนใจ

       ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันส่งเสริมอนุรักษ์ให้กระจับปี่กลับมารับใช้อยู่ในกระแสสังคมไทยให้ได้เท่าที่จะสามารถทำได้   แม้ในปัจจุบันนี้กระจับปี่อาจจะไม่ได้รับความนิยมในการบรรเลงเท่าใดนัก   แต่กระนั้นกระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีที่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการดนตรีของไทยอีกชิ้นหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการปกปักรักษาไว้ให้ยังคงอยู่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย   ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทยโดยเด็ดขาด

บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับกระจับปี่ในอดีตและในปัจจุบัน

ม.ล.เสาวรี ทินกร ครูฉะอ้อน เนตตะสูตร์

ครูแสวง อภัยวงศ์ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์

ครูลิ้ม ชีวสวัสดิ์ ครูกมล เกตุสิริ

รศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน อ.จักรี มงคล

อ.ประสาน วงศ์วิโรจน์รักษ์ อ.สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ

อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี

สรณะ เจริญจิตต์ณัฐชยา ไชยศักดา

ภัทรพล ริจนา

 

เอกสารอ้างอิง

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2542). สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย.  กรุงทพฯ:โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ปัญญา รุ่งเรือง. (2533). อ่านและฟังดนตรีไทยประกอบเสียง. กรุงทพฯ :โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

อนุชา ทีรคานนท์, บรรณาธิการ.(2552). เล่าเรื่องเครื่องดนตรีชิ้นเอก. กรุงทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2550). จดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล. กรุงทพฯ:โรงพิมพ์เดือนตุลา.

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2552). เพลงดนตรี : จากสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ถึง พระยา อนุมานราชธน. กรุงทพฯ:สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2552). เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จาก สาส์นสมเด็จ. กรุงทพฯ: สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

อานันท์ นาคคงและคณะ. (2538). เพราะพร้องซอสามสายร่ายลำนำ. กรุงทพฯ:โรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ.

ศุนย์สังคีตศิลป์ฝ่ายประชาสัมพันธ์. (2547) เชิดชูเกียรติ 100 ปี พระยาภูมีเสวิน. กรุงทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.

ณัฐชยา ไชยศักดา. (2541). อาศรมศึกษา : อาจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน. หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต

สาขาดุริยางค์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ :  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อุทิศ นาคสวัสดิ์. (2525). ทฎษฏีและปฏิบัติดนตรีไทย. สถาบันฝึกดนตรีและนาฏศิลป์ ดร. อุทิศ กรุงทพฯ : ห.จ.ก. พัฒนศิลป์การดนตรีและการละคร.

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี). (2519). กรุงเทพฯ

จินตนา ธันวานิวัฒน์. (2547). กู่ฉินในสายธารแห่งอารยธรรมมังกร (สูจิบัตร) กรุงเทพฯ : โรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก สถาบันดนตรีคีตบูรพา.

สาขาวิชาดนตรีศึกษา. (2529). การแสดงดนตรีเพื่อการศึกษา ครั้งที่ 7 (สูจิบัตร) กรุงเทพฯ :  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์. (2547). ประวัติศาสตร์ชาติไทย. กรุงทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง จำกัด.

กระจับปี่. Available http://www.kruchokchai.com/4’1/6/mee4.html (22 April 2011)

กระจับปี่. Available http://my.dek-d.com/-dky-/blog/?blog _id=10035226 (22 April 2011)

กระจับปี่. Available http://www.patakorn.com/modules.php?name=News&file=article&sid=46 (22 April 2011)

กระจับปี่. Available http://www.pantown.com/board.php?id=27546=area=3&name=board1&topic=12&act (22 April 2011)

มุมมองการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการมีส่วนร่วมของชุมชน

มุมมองการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการมีส่วนร่วมของชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ


ชื่อผลงานทางวิชาการ มุมมองการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการมีส่วนร่วมของชุมชน

ประเภทผลงานทางวิชาการ บทความ

ปีที่พิมพ์ 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในรายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการระดับชาติ  สหวิทยาการเอเชียอาคเนย์  2559 ครั้งที่ 3

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ

 

             บทความ เรื่องมุมมองการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการมีส่วนร่วมของชุมชนนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเน้นความสำคัญที่อาคารสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ ศาสนา งานประเพณีระดับชาติ เช่น วัดวาอาราม ปราสาทราชวัง อุทยานประวัติศาสตร์ และงานประเพณีสำคัญ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เป็นต้น โดยมุ่งนำเสนอความเป็นมาอันน่าทึ่ง ความยิ่งใหญ่ อลังการ ความวิจิตรตระการตา สีสัน รวมไปถึงความสะดวกสบายที่สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ไปพร้อมกับการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงได้มีส่วนร่วมออกร้านหรือจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าของชุมชน เช่น งานหัตถกรรม งานศิลปะ และการแสดงทางวัฒนธรรมนั้น ล้วนเป็นงานที่ริเริ่มโดยภาครัฐ และมุ่งหวังที่จะให้ศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นตัวดึงดูด ก่อให้เกิดอาชีพและรายได้กระจายลงไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งเน้นความสำคัญของหลักการที่เป็นจุดอ่อนและส่งผลต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้านการมีส่วนร่วมที่กระทบต่อความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวของชุมชนเอง ปัญหาที่ต้องการแก้ไขและเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวคือการมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอาชีพและรายได้อย่างเป็นธรรม ประสมประสานกับการนำเสนอทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นจุดเด่น ในขณะที่ใช้ส่วนประสมทางการตลาดบริการ หรือ 7Ps เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเน้นความสำคัญของอาคาร สถานที่ทางประวัติศาสตร์ และงานประเพณีสำคัญ เช่น วัดวาอาราม ปราสาทราชวัง และโบราณสถานอื่น ๆ  ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมชนเอง เพื่อนำเสนอสินค้า บริการ แหล่งท่องเที่ยว และทำการตลาดด้วยตนเอง เพื่อความยั่งยืน พัฒนาไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้วยความเข้าใจในความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ความสามัคคีของคนในชุมชน ในฐานะผู้ประกอบการและผู้ขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง โดยชุมชนยังต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ และสถาบันการศึกษา ล้วนมีพลังในการผลักดันและขับเคลื่อนหลักการไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

 

ประวัติผู้เขียนบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุดถนอม ตันเจริญ
คุณวุฒิ : ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ : การตลาด การท่องเที่ยว การบริหารทรัพยากรมนุษย์ รัฐประศาสนศาสตร์
ตำแหน่งปัจจุบัน : อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ประสบการณ์ : เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
งานวิจัยที่สนใจ : การท่องเที่ยว การบริหารธุรกิจ การสื่อสารการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น  ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์