สะตือ : พรรณไม้สำคัญที่ควรรู้

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

สะตือ เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านพฤกษศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของชาติไทยจึงเห็นสมควรเผยแพร่เรื่องของสะตือให้ผู้สนใจได้รู้จัก

สะตือ เป็นต้นไม้ที่มีคนรู้จักน้อยมาก เนื่องจากหาดูยาก เป็นไม้ใหญ่ที่ต้องใช้พื้นที่กว้าง  มักปลูกในวัดเพื่อให้ร่มเงาเพราะแผ่ทรงพุ่มให้ร่มเงาได้กว้างในรัศมี 10-15 เมตร

สะตือ ถูกจัดให้ขึ้นบัญชีพรรณไม้หายากของกรมป่าไม้ สมควรจะช่วยกันปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนให้แพร่หลาย ให้ประชาชนในรุ่นต่อไปเห็นคุณค่า

สะตือ จะออกดอกดกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และติดฝักจำนวนมาก ซึ่งจะแก่และให้เมล็ดช่วงกลางฤดูฝน เมล็ดจะงอกง่ายมากเนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่ว แต่ต้นกล้ามักถูกพัดพาให้เสียหาย ทำให้แทบไม่มีต้นกล้าใต้ต้นเดิม ควรที่มนุษย์จะช่วยกันนำไปเพาะขยายพันธุ์เพื่อปลูกแพร่พันธุ์ต่อไป

ในส่วนที่ “สะตือ” เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ก็คือ สะตือเป็นไม้เก่าโบราณ เป็นหมุดหมายแห่งประวัติศาสตร์ต้นหนึ่ง มีชื่อวัดตามต้นสะตือหลายแห่งเช่น วัดสะตือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยวัดนี้เป็นหนึ่งในเก้าวัดของการไหว้พระเก้าวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้มีต้นสะตือขนาดใหญ่อายุเป็นร้อยปี เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อโตหรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จึงมีประชาชนมาไหว้พระขอพรกันไม่ขาดสายส่วนวัดลุ่ม หรือวัดลุ่มมหาชัยชุมพล ที่อำเภอเมือง จังหวัดระยองนั้น ก็มีต้นสะตืออายุกว่า 300 ปี เป็นต้นสะตือที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน พาทหารและพลเรือนอพยพมาผูกช้าง ม้า และพักแรมที่โคนต้นสะตือที่มีร่มเงาแผ่กว้างมาก แล้วจึงเดินทัพบุกไปจังหวัดจันทบุรีเพื่อกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า

ประโยชน์ของสะตือ ก็มีทั้งด้านการใช้เนื้อไม้ และด้านสมุนไพร   เนื้อไม้สีน้ำตาลถึงน้ำตาล

ดำ แข็งและเหนียวของสะตือ นิยมใช้ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องเรือนและงานก่อสร้างทั่วไป ใช้ต้นทำครก  สาก  กระเดื่อง  และเครื่องใช้ต่าง ๆในชีวิตประจำวัน   สะตือเป็นไม้ร่มเงาได้ดี เพราะแผ่ทรงพุ่มและใบเป็นพุ่มกว้าง ควรปลูกในวัด สวนสาธารณะ หรือสถานศึกษา   สะตือมีสรรพคุณทางสมุนไพร คือ   ใช้ได้ทั้งต้น  เอาทั้งต้นซึ่งเรียกว่าทั้งห้า  ปรุงต้มเป็นยาแล้วเอาน้ำกินและอาบ  รับประทานครั้งละ  1  ถ้วยชา  แก้ไข้หัว  หัดหลบลงลำไส้  เหือด  ดำแดง  สุกใส  ฝีดาษ  แก้ไข้หัวทุกชนิด ต้มใบใช้อาบแก้โรคอีสุกอีใส โรคหัด ใช้เปลือกต้นปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง

สะตือ

ชื่อสามัญ     Crudia  chrysantha,  (Pierre) K. Schum

ชื่ออื่นๆ    เดือยขาว ดู่ไก่  ประดู่ขาว  แห้

ชื่อวงศ์     LEGUMINOSAE  – CAESALPINIOIDAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  ผลัดใบ สูง 15-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ

รูปเจดีย์ต่ำ   ใบเป็นพุ่มกว้างทึบมาก เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาวลำต้นยอดอ่อนมีกาบหุ้มแน่นคล้ายกระสวย ใบเดี่ยวออกสลับ ขนาดกว้าง 4.5 5 ซม. ยาว 7 11 ซม. ผลัดใบในช่วงเดือนธันวาคม ถึง มกราคม แล้วแตกใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดง รูปร่างใบมน รูปไข่ ปลายใบแหลมเรียวสอบเป็นติ่งยาว โคนใบสอบป้านถึงหยักเว้า ขอบหยักถี่มีตุ่มสีน้ำตาลแดงตามปลายหยัก เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ออกดอกเป็นช่อแบบหางกระรอกตามปลายกิ่ง ยาว 5-10 ซม. กว้าง  4  ซม.  แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยสีชมพูอมน้ำตาล ขนาด  2 -5  มม.   ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม ทั้งดอกและผลดกมาก ผลเป็นฝักแบนรูปไข่มน สีเขียวอมน้ำตาล เปลือกฝักเป็นคลื่น เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลแดง ขนาดกว้าง 4-5 ซม. ยาว 6-8 ซม. มี 1 เมล็ด เมื่อแห้งแล้วแตกเมล็ดกระเด็นออกมา เปลือกฝักยังติดคู่กันแต่ม้วนงอเป็นหลอดกลมแข็ง และติดค้างอยู่บนกิ่งอีกนานหลายเดือนจึงจะร่วงลงมา

หมายเหตุ ผู้สนใจที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถไปดูต้นสะตือขนาดใหญ่ได้ที่วัดสังข์กระจาย ถนนอิสรภาพ ซอย 21 เขตบางกอกใหญ่  วัดทองธรรมชาติ ใกล้โรงพยาบาลตากสิน  วัดราชาธิวาส ถนนสามเสน ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย