อินทนิลมี 2 อย่าง…ต่างกันอย่างไร

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ 

อินทนิล”ในธรรมชาติมี 2 ชนิด คือ อินทนิลบกกับอินทนิลน้ำ แต่ที่พบเห็นอยู่เสมอไม่ว่าจะ

เป็นที่ริมถนน ที่ปลูกประดับในสวนสาธารณะหรืออาคารบ้านเรือนทั่วไปคือ “อินทนิลน้ำ”  ส่วน “อินทนิลบก” นั้นจะหาดูได้ยากกว่า ทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ผู้พบเห็นมักจะสับสนมองไม่เห็นความแตกต่าง บทความนี้จะให้ความชัดเจนอย่างละเอียด โดยมีภาพประกอบเปรียบเทียบให้เห็นทุกส่วนทั้งใบ ดอก และผล

   

อินทนิลน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lagerstroemia speciosa Pers.

ชื่อสามัญ  Queen’s Flower, Queen’s Crape Myrtle, Pride of India

วงศ์  LYTHRACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

      ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง คลุมต่ำ เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบและมีรอยด่าง ใบออกเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ใบเดี่ยวรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 6-10 ซม. ยาว 11-26 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ปลายใบแหลม โคนใบกลมมนหรือเบี้ยว ออกดอกในฤดูร้อน เป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ดอกรวมกันเป็นช่อโต ยาวถึง 30 ซ.ม. จะบานจากโคนช่อไล่ขึ้นไปถึงปลายช่อ  กลีบดอกสีม่วงสด ม่วงปนชมพู หรือชมพู กลีบดอก 6 กลีบ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.0-7.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย มีสันนูนตามยาวเห็นชัดเจน และมีขนสั้นประปราย กลีบดอกบาง ปลายกลีบพลิ้ว ผิวกลีบเป็นคลื่นเล็กน้อย เกสรผู้จำนวนมาก  ผลเกือบกลม ผิวเกลี้ยง แข็ง ยาว 2-3 ซม. ผลแห้งแล้วแตกตามยาว 5 พู เมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก มีปีกซีกหนึ่งทำให้สามารถแพร่กระจายไปขยายพันธุ์ได้ในรัศมีกว้างไกล

ประโยชน์ใช้สอย

1. เนื้อไม้ นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและเครื่องมือการเกษตรต่าง ๆ

2. ใบ รสจืดขมฝาดเย็น ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้โรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ เป็นยาลดความดัน

3. ปลูกประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะ และทางเดินริมถนน

 


 

อินทนิลบก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia  macrocarpa  Wall.

ชื่อวงศ์ LYTHRACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลาง สูง 8 -15 เมตร เรือนยอดทรงสูง กิ่งก้านคลุมต่ำ เปลือกลำต้นขรุขระ เป็นเกล็ด   ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 6-18 ซม. ยาว 14-40 ซม. โคนใบมน ปลายใบมน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงมันวาว ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ยาว 10-20 ซม.กลีบดอก 6 กลีบ กลีบหนา เป็นสีชมพูอมม่วง ถึงม่วงแดง ดอกตูมเป็นรูปลูกข่าง ส่วนบนมีรอยบุ๋มตามยาว ดอกบานเต็มที่กว้าง 7-12 ซม.  เกสรผู้จำนวนมาก เป็นกระจุกสีเหลืองอยู่กลางดอก ผลเป็นผลแห้งขนาดใหญ่ รูปไข่หรือป้อมรี ยาว 3-4 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 6 แฉก เมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาล จำนวนมาก มีปีกบางโค้งทางด้านบนของปีก ทำให้สามารถแพร่กระจายไปขยายพันธุ์ได้ในรัศมีกว้างไกล

ประโยชน์ใช้สอย

ดอกสวยสะดุดตา นิยมปลูกประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะ และทางเดินริมถนน