น้อยหน่าครั่ง : ผลไม้กลายพันธุ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

ได้รับคำถามอยู่เสมอว่า

1. น้อยหน่าครั่ง มันมีมาได้อย่างไร

2. “น้อยหน่าครั่ง” กินได้ไหม อร่อยไหม

3. “น้อยหน่าครั่ง” อยากปลูกบ้าง ปลูกยากไหม มีต้นพันธุ์ขายที่ไหน

4. “น้อยหน่าครั่ง” มีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรหรือไม่

จากคำถามเหล่านี้จึงนำมาสู่การเขียนบทความทางวิชาการเรื่องนี้

 

น้อยหน่าครั่ง

สรุปประเด็นสำคัญของน้อยหน่าครั่งเป็นข้อๆ ดังนี้

1. น้อยหน่าครั่ง เป็นน้อยหน่าชนิดเดิมที่มีสีเขียวที่คุ้นเคยกัน เพียงแต่เปลือกผลเป็นสีม่วงเข้ม

2. น้อยหน่าครั่ง เกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติของน้อยหน่าพันธุ์เดิมที่มีสีเขียว ซึ่งปลูกด้วยเมล็ด ไม่ได้เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ของมนุษย์แต่อย่างใด

3. น้อยหน่าครั่ง อาจมีจำนวนผลบนต้นมากน้อยไม่แน่นอนในแต่ละปี เพราะว่ามีน้อยหน่าทั้ง2แบบปนกันอยู่บนต้นเดียวกัน สัดส่วนของทั้ง2ชนิดไม่แน่นอน ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่าการกลายพันธุ์แบบนี้เป็นแบบไม่ถาวร หมายความว่าน้อยหน่าครั่งอาจกลับกลายมาเป็นชนิดเขียวแบบเดิมได้อีก ซึ่งลักษณะแบบนี้พบเห็นในพืชหลายชนิด เช่น ไทรด่าง สาคูด่าง

4. น้อยหน่าครั่ง มีทั้งชนิด “เนื้อ” และ “หนัง” รสชาติเหมือนน้อยหน่าชนิดเดิมทุกประการ

5. น้อยหน่าครั่ง มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น “น้อยหน่าสีม่วง”  น้อยหน่าสีแดง”

6. น้อยหน่าครั่ง มีเนื้อสีขาวเช่นเดิม เพียงแต่ส่วนที่อยู่ติดเปลือกอาจมีสีชมพูหรือม่วงปนอยู่

7. เปลือกผลของน้อยหน่าครั่ง มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นรงควัตถุที่พบในพืชทั้งในดอกและในผลของพืช ที่มีสีแดง น้ำเงิน หรือม่วง เป็นสารที่ละลายในน้ำได้ดี มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของลิโปโปรตีน และการตกตะกอนของเกล็ดเลือด ทำให้แอนโทไซยานินมีบทบาทในการป้องการการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน จากเหตุผลนี้ทำให้เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคนิยมบริโภคผักผลไม้ที่มีสีม่วง ทำให้หลายสวนหันมานิยมปลูกน้อยหน่าครั่ง แต่ก็ชั่วระยะเวลาสั้นๆผู้บริโภคก็ลืมเรื่องแอนโทไชยานิน เมื่อได้เวลาน้อยหน่าครั่งออกผลผลิตมามากก็ขายได้ยาก อีกทั้งผู้บริโภคเพิ่งมาทราบภายหลังว่าเนื้อของน้อยหน่าครั่งไม่ได้เป็นสีครั่งหรือสีม่วงเข้มเหมือนเปลือกของมัน แล้วเปลือกมันก็กินไม่ได้

8. น้อยหน่าครั่ง อยู่ในวงศ์เดียวกันกับน้อยหน่าชนิดเดิม และมีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันทุกประการ คือ   วงศ์ ANNONACEAE  และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona squamosa Linn.

9.น้อยหน่าครั่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับต้นน้อยหน่าทั่วไปทุกประการบ่อยครั้งที่น้อยหน่าครั่งเกิดอยู่บนต้นเดียวกันกับน้อยหน่าพันธุ์เดิมโดยที่เจ้าของไม่ทราบ

10. การปลูกน้อยหน่าครั่งก็เหมือนการปลูกน้อยหน่าชนิดเดิม เติบโตได้ในดินร่วนปนทราย ทนแล้งได้ดี ชอบแดดจัด ชอบที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง  ใช้ปุ๋ยตามอัตราที่เหมาะสม ต้องการการตัดแต่งอย่างหนัก(heavy pruning) เพื่อกระตุ้นการออกดอกติดผล ป้องกันกำจัดศัตรูของผลอย่างพิถีพิถัน มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

11. หากต้องการซื้อต้นกล้าของ “น้อยหน่าครั่ง”ไปปลูก ก็ค้นหาแหล่งจำหน่ายในอินเตอร์เน็ตได้เลย  หรือทำได้ง่ายๆด้วยการซื้อน้อยหน่าครั่งมารับประทาน แล้วนำเมล็ดไปเพาะกล้าเอง จะประหยัดเงินได้มาก

………………………………………