สารเคมีสำคัญที่พบในยาประสะไพล

พบว่า มีการทำการศึกษาวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของยาประสะไพลด้วย HPLC ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ควบคุมมาตรฐานของยาประสะไพล วิธีนี้สามารถวิเคราะห์สมุนไพรที่เป็นองค์ประกอบของตำรับยาประสะไพลได้ถึง 9 ชนิด และวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีได้ 13 ชนิด นอกจากนี้ยังพบว่ามีสารเคมีจาก Z. cassumunar และ N. sativaทำปฏิกริยากันเกิดสารใหม่ 3 ชนิดคือ (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-yl linoleate, (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-yl oleate, (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-yl palmitate (Nualkaew S. 2004)

การศึกษาความเป็นพิษของยาประสะไพล

ได้มีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูทดลองพบว่ายาประสะไพลสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์สามารถให้ได้สูงสุดถึง 20 /กก โดยหนูทุกตัวรอดชีวิตและไม่มีอาการใดๆในระยะเวลา  24 ชั่วโมงหลังจากให้ยา (Nualkaew S. 2004)

การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการหดตัวของมดลูกของสัตว์ทดลอง

ให้ยา สำหรับการทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกพบว่ายาประสะไพลสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์สามารถยับยั้งการหดตัวของมดลูกที่เกิดจากการกระตุ้นของ acetylcholine, oxytocin และ PGE2ได้ โดยค่า IC50 ของสารสกัดด้วยน้ำในการยับยั้งการหดตัวต่อสารดังกล่าวมีค่าเท่ากับ 11.70, 10.04 และ 5.75mg/ml ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดแอลกอฮอล์มีความแรงกว่าคือมีค่า IC50 เท่ากับ 2.09, 1.74 และ 2.95mg/ml ตามลำดับ (Nualkaew S. 2004)

การศึกษาฤทธิ์ในการต้านการอักเสบในสัตว์ทดลอง

ยาประสะไพลยังสามารถลดการอักเสบโดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ได้อีกด้วย โดยสารสกัดเฮกเซนมีความแรงสูงสุด ที่ปริมาณ 25 ไมโครกรัมสามารถยับยั้ง COX-1 และCOX-2ได้ถึง 64.43 และ 84.50 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามพบว่ายาประสะไพลไม่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Nualkaew S. 2004)

การศึกษาทางคลินิก

จากการศึกษางานวิจัยทางคลินิกของยาประสะไพล พบว่างานวิจัยทางคลินิกของยาประสะไพลนั้นส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนเท่านั้น แต่ยังไม่พบงานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพการขับน้ำคาวปลาและการฟื้นฟูหญิงหลังคลอดแต่อย่างใด

พบว่ามีการวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยาประสะไพลในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนในมนุษย์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยาประสะไพลผงบรรจุในแคปซูล ขนาดแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม โดยแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ให้ยาประสะไพลแคปซูลก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 แคปซูล กลุ่มที่2ให้รับประทานขณะปวดประจำเดือนวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 แคปซูล กลุ่มที่ 3ให้รับประทานยา mefenamic acid 250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 แคปซูล พบว่า ยาประสะไพลสามารถบรรเทาอาการปวดได้ แต่มีประสิทธิภาพด้อยกว่ายา mefenamicacid อย่างมีนัยสำคัญ และกลุ่มที่ได้รับยาประสะไพลมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณประจำเดือนมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยา mefenamic acid

(กฤษฎา จักรไชย. 2551)

และได้มีการศึกษาประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของตำรับยาแคปซูลประสะไพลสกัด 250 มิลลิกรัม เปรียบเทียบกับยาในกลุ่ม NSAIDs (Mefenamic acid 250 มิลลิกรัม)  และยาหลอก เป็นการศึกษาแบบ Randomised, double-blind, three period crossover of placebo controlled trial ในอาสาสมัครทั้งหมด 75 ราย

ผลการวิจัยพบว่ายาแคปซูลประสะไพลสกัด 250 มิลลิกรัมมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนเหนือกว่ายาหลอก และ ยา Mefenamic acid 250 มิลลิกรัมโดยกลุ่มทดลองที่ได้รับยาประสะไพลสกัด 250 มิลลิกรัมมีร้อยละของการใช้ยาสำรองระหว่างการศึกษาในน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกและ Mefenamic acid 250 มิลลิกรัม แสดงให้เห็นถึงการใช้ยาประสะไพลสกัด 250 มิลลิกรัมสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ดีกว่ายาหลอกและ Mefenamic acid 250 มิลลิกรัม (สิรภพ ซาซุม. 2553)

บทสรุป

ประสะไพลเป็นตำรับยาสมุนไพรไทยที่ใช้ในการรักษาโรคประจำเดือนและฟื้นฟูหญิงหลังคลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมีสรรพคุณเป็นยารสร้อน ช่วยขับเลือด ขับลม แก้จุกเสียด ลดอาการปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และขับน้ำคาวปลา นับว่าเป็นตำรับยาสมุนไพรที่มีการใช้มานานแล้วแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีการใช้กันในกลุ่มของผู้ที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพรเท่านั้น จากผลการวิจัยต่างๆเราจะเห็นได้ว่ายาประสะไพลนั้นมีประสิทธิภาพตามสรรพคุณที่กล่าวอ้าง  และมีแนวโน้มว่าสามารถช่วยฟื้นฟูหญิงหลังคลอดได้ จากข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของยาประสะไพลและหันมาใช้ยาสมุนไพรหลังคลอดมากขึ้น นำไปสู่การลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก  และจะเป็นแนวทางนำยาสมุนไพรไทยไปสู่ระดับสากลได้ในอนาคต