บทนำ

การใช้ยาสมุนไพรหลังคลอดเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราญมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่นเพื่อขับน้ำคาวปลา ขับเลือดเสีย ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว บำรุงร่างกายบำรุงน้ำนมเป็นยาที่ใช้แทนการอยู่ไฟ และยารักษาตามอาการ ยาส่วนใหญ่จะมีรสเผ็ดร้อนเนื่องจากในทางการแพทย์แผนไทยมีความเชื่อว่า ยารสร้อนจะช่วยให้ ร่างกายอบอุ่น น้ำนมไหลดี  ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย หลัง การคลอดร่างกายต้องเสียเลือดมาก ธาตุทั้งสี่ จึงเกิดความไม่สมดุลส่งผลให้ ร่างกายอ่อนแอ มีอาการหนาว  สั่นสะท้านเมื่ออากาศเย็น หรือมีลม ฝน จึงต้องกินยาที่มีรสร้อน และอยู่ในที่ร้อน คืออยู่ไฟ เพื่อให้ความร้อนเข้าไปไล่ความเย็น หรือเข้าไปปรับสมดุลในร่างกายนั้นเอง นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศให้ยาที่ใช้กรณีหลังคลอดจำนวนขนานที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน คือ ยาประสะไพล ยาไฟห้ากอง และยาไฟประลัยกัลป์ ใช้เป็นยาขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ใช้แทนการอยู่ไฟ เป็นต้น

แต่ในยุคปัจจุบันกระบวนการคลอดบุตรและการฟื้นฟูหญิงหลังคลอดนั้น ล้วนได้รับการดูแลจากการแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์แผนตะวันตกแทบทั้งสิ้น เพราะมีวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้เกิดความปลอดภัยสูง มากกว่าการคลอดบุตรและการฟื้นฟูหญิงหลังคลอดในสมัยโบราญ ด้วยการดูแลของการแพทย์แผนปัจจุบันทำให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะหลังคลอดนั้นลดลงมาก ผนวกกับสถานบริการสาธารณสุขยังไม่นิยมใช้ยาสมุนไพรในหญิงหลังคลอดมากนักเป็นเหตุให้ความนิยมในการใช้ยาสมุนไพรหลังคลอดลดน้อยลงแต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความนิยมในการใช้ยาสมุนไพรหลังคลอดน้อยลงนั้นมิใช่เป็นเพราะการแพทย์แผนปัจจุบันที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่เป็นเพราะความไม่เชื่อมั่นในยาสมุนไพรหลังคลอดว่าจะได้ผลดีจริง สาเหตุเพราะยาสมุนไพรหลังคลอดมีงานวิจัยค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพของยาสมุนไพรหลังคลอดได้อย่างเต็มที่

ถึงกระนั้นยังมีหญิงหลังคลอดอีกจำนวนมากที่มีความนิยมในการรับประทานยาสมุนไพรหลังคลอดโดยมีความเชื่อว่า จะช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยให้มดลูกเข้าอู่ไวขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะหาซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาสมุนไพรหลังคลอดในท้องตลาดนั้นหาได้ง่ายมีหลายประเภทมีทั้งยาสมุนไพรไทยและยาสมุนไพรจีน มีทั้งที่เป็นยาแคปซูล ยาลูกกลอน และยาดองเหล้า เป็นต้น หลังจากรับประทานยาสมุนไพรเหล่านั้นแล้วบางรายให้ผลดีและในบางรายกลับให้ผลเสีย สาเหตุเพราะผู้ใช้ยานั้นยังขาดความรู้ และยังไม่มีการควบคุมการผลิตและขายยาสมุนไพรเท่าที่ควร เป็นเหตุให้ยาสมุนไพรหลังคลอดถูกมองว่าเป็นยาที่ด้อยประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาสมุนไพรหลังคลอดของไทยนั้นมีความปลอดภัย ถ้าเรารู้จักวิธีการใช้ยาสมุนไพรหลังคลอดของไทยอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้อย่างแท้จริง

ยาประสะไพล

เป็นตำรับยาสมุนไพรซึ่งมีการใช้ในสถานบริการสาธารณสุขตำรับหนึ่งในยุคปัจจุบัน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยาประสะหมายถึง ยาประเภทหนึ่งซึ่งตามปรกติเข้าเครื่องยาสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นตัวยาหลักมีปริมาณเท่ากับยาอื่นๆ อีกหลายอย่างรวมกัน เรียกชื่อตามเครื่องยาที่เป็นหลัก เช่น ยาประสะขิง คือ เข้าขิงครึ่งหนึ่งกับตัวยาอื่นๆอีกครึ่งหนึ่ง เป็นต้น (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2542) แต่อาจมีบางชนิดเครื่องยาที่เป็นตัวหลักมีปริมาณไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเครื่องยาทั้งหมด เช่น ยาประสะกานพลูเป็นต้น ยาประสะไพลจึงหมายถึง ยาตำรับที่มีไพลหนัก 81 ส่วน และมีส่วนประกอบของสมุนไพรอื่นๆ คือ ผิวมะกรูด ว่านน้ำ กระเทียม หัวหอม พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้นอ้อย เทียนดำ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ 8 ส่วน และการบูรหนัก 1 ส่วน รวมกันเท่าน้ำหนักของไพล (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540) ยาประสะไพล ถูกจัดเป็นยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา

ข้อบ่งใช้

    1.ระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ

    2.บรรเทาอาการปวดประจำเดือน

    3.ขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

ขนาดและวิธีใช้

กรณีระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ

ชนิดผง :รับประทานครั้งละ 1 กรัมละลายน้ำสุกวันละ 3 ครั้งก่อนอาหารเป็นเวลา 3 – 5 วันเมื่อระดูมาให้หยุดรับประทาน

ชนิดแคปซูลชนิดเม็ดชนิดลูกกลอน :รับประทานครั้งละ 1 กรัมวันละ 3 ครั้งก่อนอาหารเป็นเวลา 3 – 5 วันเมื่อระดูมาให้หยุดรับประทาน

กรณีปวดประจำเดือน

ในกรณีที่มีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำให้รับประทานยาก่อนมีประจำเดือน 2 – 3วันไปจนถึงวันแรกและวันที่สองที่มีประจำเดือน

ชนิดผง :รับประทานครั้งละ 1 กรัมละลายน้ำสุกวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

ชนิดแคปซูลชนิดเม็ดชนิดลูกกลอน :รับประทานครั้งละ 1 กรัมวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

กรณีขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

ชนิดผง :รับประทานครั้งละ 1 กรัมละลายน้ำสุกวันละ 3 ครั้งก่อนอาหารให้รับประทานจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมดแต่ไม่เกิน 15 วัน

ชนิดลูกกลอนชนิดเม็ดชนิดแคปซูล :รับประทานครั้งละ 1 กรัมวันละ 3 ครั้งก่อนอาหารให้รับประทานจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมดแต่ไม่เกิน 15 วัน

ข้อห้ามใช้

  • ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอดหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้
  • ห้ามรับประทานในหญิงที่มีระดูมากกว่าปกติเพราะจะทำให้มีการขับระดูออกมามากขึ้น

คำเตือน

  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับไตเนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
  • กรณีระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน
  • กรณีขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตรไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน

(บัญชียาหลักแห่งชาติ, 2555)