Category Archives: เทคนิคการสอน สื่อ นวัตกรรม และรูปแบบการสอนที่ทันสมัย

แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ประเภทผลงานทางวิชาการ : สรุปเอกสารจากการประชุมสัมมนา ประธานการสถานศึกษาของ สพ.ฐ. ทั่วประเทศจัดโดยสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอคองคอร์ด กรุงเทพฯ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : รายงานการวิจัยการศึกษาแนวทางพัฒนากฎหมายการศึกษา เพื่อบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : สภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ผู้สรุปเนื้อหาและนำเนื้อหามาประยุกต์กับบริบทการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คือ รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู เนื่องจากผู้สรุปเป็นผู้เข้าร่วมประชุมด้วย

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานวิจัย : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีบทบาทภารกิจในการศึกษาวิเคราะห์และวิจัยพัฒนากฎหมายการศึกษาและพัฒนากฎหมายการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในสังคมปัจจุบัน จึงได้จัดทำโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารประเทศ

       การดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาและรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เหมาะสมในพื้นที่ โดยการกระจายอำนาจในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีรูปแบบการจัดการศึกษาเฉพาะในพื้นที่ ตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป

       ตามที่รัฐบาลพยายามที่จะดำเนินการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้น โดยการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปดำเนินการและขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนตามข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนและข้อตกลงภายใต้กรอบเศรษฐกิจอื่น รวมทั้งจากการค้าบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและมีนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพ

       โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การศึกษาจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553 ซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้นำสาระสำคัญของกฎหมายการศึกษามาพิจารณา ทั้งนี้ในมาตรา 8 และมาตรา 15 ได้แก่

       1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน

       2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

       3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องภายใต้การจัดการศึกษาที่แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

       นอกจากนี้ยังให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง มาตรา 41 ได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น ดังนั้นจะเห็นว่าจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันต้องการให้ประชาชนในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเพื่อให้การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเป็นการจัดการศึกษาที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาหารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพบริบทและความต้องการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับใช้เป็นแนวทางพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อันจะส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างและการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของประชาชนในเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ใกล้เคียงในด้านการแข่งขัน และเพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของการเตรียมความพร้อมในการวางราก ฐานการพัฒนาประเทศ

กรอบแนวความคิดการวิจัย

       การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณแนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะนำไปสู่การร่างกฎหมายที่เอื้อต่อการบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำแนกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่

       1. การบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

       2. หลักการบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

       3. ทรัพยากรสำหรับใช้ในการบริหารจัดการการศึกษา

       4. กระบวนการการบริหารจัดการศึกษา

       5. คุณภาพการศึกษา

ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้

       1) แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

            1.1 กฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ควรตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีการจัดตั้งศูนย์การบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นองค์กรมหาชน มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์กรมหาชน พ.ศ. 2542 สำหรับการจัดการศึกษาให้มีระบบและแนวการจัดตามระบบการศึกษาและแนวการจัดการศึกษาของชาติ และควรมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ

            1.2 เขตพื้นที่การศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษควรมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด จัดตั้งองค์การมหาชนเรียกว่า ศูนย์การบริหารจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (องค์การมหาชน)

            1.3 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ควรมีสิทธิในการจัดการศึกษาระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับ ทุกประเภท ทุกรูปแบบ ตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้มีคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนและกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

            1.4 ศูนย์การบริหารจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการบริหารจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและสถานประกอบการ กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาตอบสนองความต้องการของชุมชนและสถานประกอบการตามศักยภาพและโอกาสของแต่ละเขต โดยเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาวิชาการ การวิจัยและพัฒนาของสถานศึกษาในกำกับ ประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการศึกษากับภาคีต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยยึดหลักประชารัฐและกำกับดูแลติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานและสถานศึกษาในกำกับของศูนย์การบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

            1.5 ศูนย์การบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (องค์การมหาชน) มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

                 1) ถือกรรมสิทธิ์มีสิทธิครอบครองและมีทรัพย์สินต่างๆ

                 2) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทผูกพันทรัพย์สิน ตลอดจนนิติกรรมอื่น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรม

                 3) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกิจการ

                 4) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ผู้เรียน และการดำเนินงานของศูนย์

                 5) บริหารจัดการศึกษา และทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน

                 6) เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำหนด

                 7) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ

                 8) ให้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่ผู้เรียนในสถานศึกษา มีบุคคลหรือทรัพย์ค้ำประกัน

                 9) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

                 10) ให้ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หนังสือรับรองและเครื่องหมาย วิทยฐานะในกิจกรรมตามวัตถุประสงค์และอำนาจของศูนย์

                 11) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นและต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์

            1.6 ความมุ่งหมายและหลักการในการบริหารจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านตัวผู้เรียน มุ่งพัฒนาคุณภาพคนให้มีความสมบูรณ์ ด้านสังคม มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างให้สังคมของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และด้านสาระการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ เน้นให้มีสาระการเรียนรู้ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการในเขตพัฒนาฯ

            1.7 หลักการจัดการศึกษาให้ยึดการจัดการศึกษาตลอดชีวิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของเขตฯ การจัดต้องมีความเป็นอิสระในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาสำหรับใช้ประกันคุณภาพการศึกษาและมีอิสระในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารงานบุคคล ไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการเรียนทุกคนมีความเสมอภาคกันและการจัดการศึกษาต้องมีเอกภาพ

            1.8 แนวทางการจัดการศึกษายึดศักยภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมศักยภาพสู่ความเป็นเลิศตามอัจฉริยภาพของตนเอง หลักสูตรและสาระการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ยึดศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญมุ่งเน้นการวิจัยและเพื่อสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการในเขตฯ

            1.9 กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริม กำกับดูแลการศึกษาทุกระดับทุกประเภทของเขตฯ สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาและราชการอื่นตามกฎหมาย มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ

            1.10 คณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารจัดการศึกษาของเขตฯ คำนึงถึงคุณภาพ ความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ กำหนดนโยบายการบริหารจัดการ ให้ความเห็นชอบแผนการจัดการศึกษา การอนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงิน ควบคุมดูแลการดำเนินงานและบริหารศูนย์ฯ และสถานศึกษาของเขตฯ การบริหารงานทั่วไปและการจัดแบ่งส่วนงาน การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน

            1.11 การจัดตั้ง ยุบ รวมหรือเลิกสถานศึกษา ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้สถานศึกษาในเขตฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคลโดยมีคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาของเขตฯประกอบด้วย คณะกรรมการการศึกษาของเขตฯ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง

            1.12 คณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ในเขตฯ เป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการศูนย์ฯ และผู้บริหารสถานศึกษาในเขตฯ

            1.13 ผู้อำนายการศูนย์ฯ และผู้บริหารสถานศึกษาในเขตฯ ต้องสามารถทำงานได้เต็มเวลา และต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี สามารถได้รับแต่งตั้งไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน

            1.14 ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์ฯ และสถานศึกษาเขตฯ มี 3 ประเภท คือ 1. เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง 2. ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ 3. เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาช่วยปฏิบัติงานชั่วคราว

            1.15 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาของเขตฯ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายในและภายนอก จัดให้มีระบบการประกันภายในและให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาทำหน้าที่ประเมินภายนอกตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

            1.16 ทุน รายได้ และทรัพย์สินเพื่อจัดการศึกษาของเขตฯ ประกอบด้วย เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับถ่ายโอนมา เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประกันและเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้หรือองค์กรอื่น ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการหรือจากการดำเนินงาน ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของศูนย์ ที่ไม่เป็นรายได้ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมาย

            1.17 การจ่ายเงินของศูนย์ฯ และสถานศึกษาในเขตฯ ให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการของศูนย์ฯ และสถานศึกษาในเขตฯ โดยเฉพาะ

            1.18 เขตฯ ควรเปิดโอกาสให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการณ์และสถาบันสังคม บริจาคเงินหรือทรัพยากรทางการศึกษา เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

            1.19 การบัญชี การตรวจสอบและการประเมินผลงานของศูนย์ และสถานศึกษาในเขตฯ ต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในทำหน้าที่ตรวจสอบโดยเฉพาะ

            1.20 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของศูนย์ฯ และสถานศึกษาในเขตฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เอกสารรายงานการศึกษาแนวทางพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการ การศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีเนื้อหาสาระสรุปเป็นประเด็น ได้แก่

       ประเด็นที่ 1 แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ตลอดจนแผนบูรณาการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

       ประเด็นที่ 2 ร่าง “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นศูนย์การบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (องค์การมหาชน) พ.ศ. … ” มีทั้งหมด 8 หมวด จำนวน 75 มาตรา ประกอบด้วย

            หมวดที่ 1 การจัดตั้งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่มีจำนวน 10 มาตรา

            หมวดที่ 2 ทุน รายได้และทรัพย์สินมีจำนวน 5 มาตรา

            หมวดที่ 3 การบริหารและการดำเนินกิจการมี 3 ส่วน ได้แก่

               ส่วนที่ 1 ความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษามีจำนวน 6 มาตรา

               ส่วนที่ 2 แนวการจัดการศึกษามีจำนวน 32 มาตรา

            หมวดที่ 4 ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์และสถานศึกษามีจำนวน 4 มาตรา

            หมวดที่ 5 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มีจำนวน 4 มาตรา

            หมวดที่ 6 การบัญชี การตรวจสอบและการประเมินผลงานของศูนย์และสถานศึกษามีจำนวน 5 มาตรา

            หมวดที่ 7 การกำกับดูแล มีจำนวน 1 มาตรา

            หมวดที่ 8 วุฒิบัตรและเครื่องหมายวิทยฐานะ มีจำนวน 3 มาตรา

       ประเด็นที่ 3 สรุปผลการวิจัย กลุ่มผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะสำหรับการจะทำศึกษาต่อยอด มีดังนี้

            1. ควรทำการวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action Research) พัฒนาความพร้อมในการจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

            2. ควรทำการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมในการจัดการศึกษา ในลักษณะโครงการนำร่องการบริหารจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบองค์การมหาชน

 

จุดเด่น / ความน่าสนใจของผลงานวิจัยและการนำไปใช้ : จากผลการวิจัยครั้งนี้ความน่าสนใจของผลงานตรงที่เป็นบทอภิปรายผลการวิจัย ดังนี้

       1. กฎหมายการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษควรตราเป็นพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์การบริหารจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นองค์การมหาชน

มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการศึกษาภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

       2. เขตพื้นที่การศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ควรมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาจัดตั้งองค์การมหาชนเรียกว่า ศูนย์การบริหารจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (องค์การมหาชน)

       3. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษควรมีสิทธิในการจัดการศึกษาในการจัดการศึกษาระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับทุกประเภท ทุกรูปแบบ ตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

       4. ศูนย์การบริหารจัดการการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์

            4.1 บริหารจัดการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและสถานประกอบการ

            4.2 กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา

            4.3 ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนาของสถานศึกษาในกำกับ

            4.4 ประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการศึกษากับภาคีต่างๆ ทั้งของหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

            4.5 กำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานและสถานศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

       5. ศูนย์การบริหารจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (องค์การมหาชน) มีอำนาจหน้าที่

            5.1 ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครองและมีทรัพย์สิทธิต่างๆ

            5.2 ก่อตั้งสิทธิหรือนิติกรรมทุกประเภทผูกพันทรัพย์สินและนิติกรรมอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน

            5.3 ทำความตกลง ร่วมมือองค์การหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

            5.4 จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ผู้เรียนและการดำเนินงานของศูนย์

            5.5 บริหารจัดการศึกษาตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง

            5.6 เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลในกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์

            5.7 กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำหนด

            5.8 ให้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่ผู้เรียนของสถานศึกษา

            5.9 เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินงานกิจการต่างๆ

            5.10 ให้ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หนังสือรับรองและเครื่องหมายวิทยฐานะในกิจกรรม

            5.11 กระทำการอื่นใดที่ไม่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

       6. ความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้เรียน เน้นพัฒนาคุณภาพ ด้านสังคม เน้นพัฒนาเพื่อสร้างให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และด้านสาระการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ

       7. ยึดหลักการจัดการศึกษาตลอดชีวิตและตอบสนองความต้องการของแต่ละเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

       8. แนวทางการจัดการศึกษา ยึดศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญและส่งเสริมความเป็นเลิศตามอัจฉริยะภาพ

       9. ให้กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภทและสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา

       10. คณะกรรมการบริหารศูนย์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคำนึงถึงคุณภาพ ความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ

       11. การจัดตั้งยุบรวมหรือเลิกสถานศึกษาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

       12. คณะกรรมการบริหารศูนย์มีอำนาจสรรหา แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการศูนย์ตามมติของคณะกรรมการ

       13. ผู้อำนวยการและผู้บริหารสถานศึกษาสามารถทำงานได้เต็มเวลา มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบปฏิบัติของราชการ

       14. ผู้ปฏิบัติงานของมนุษย์และสถานศึกษามี 3 ประเภท คือ เจ้าหน้าที่/ลูกจ้าง ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ของรัฐมาช่วยปฏิบัติงานของศูนย์

       15. มาตรฐานและประกันคุณภาพของสถานศึกษาทุกระดับ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ประกอบด้วย ระบบการประกันภายในกับภายนอก โดยให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทำหน้าที่ประเมิน

       16. ทุน รายได้ และทรัพย์สินเพื่อจัดการศึกษาประกอบด้วย เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการถ่ายโอนมา เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรร เงินอุดหนุนจากสถานประกอบการภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการหรือรายได้จากการดำเนินการและดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของศูนย์

       17. การใช้จ่ายเงินของศูนย์และสถานศึกษาให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการของศูนย์และสถานศึกษาเป็นไปตามข้อบังคับ พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542

       18. ควรเปิดโอกาสให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่นบริจาคเงินหรือทรัพยากรทางการศึกษา

       19. การบัญชี การตรวจสอบและการประเมินผลงานของศูนย์และสถานศึกษาจัดตามหลักสากล ตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารและต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน

       20. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการเป็นไปตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

 

การนำไปใช้ประโยชน์ : จากผลการวิจัยทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (School Based Management for Local Development : SBMLD) เกิดจากแนวคิด “การจัดการศึกษาต้องนำไปสู่การเป็นคนดี มีอาชีพสุจริตเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก

       การจัดการศึกษามุ่งเน้นการพัฒนามีความเป็นเลิศทางวิชาการ สอดคล้องกับหลักธรรมชาติที่แตกต่างกัน มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มผู้เรียนที่มีศักยภาพ หรืออัจฉริยภาพด้านวิชาการ ดังนั้นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนทุกคน เพื่อให้ผู้เรียนพบศักยภาพหรืออัจฉริยภาพของผู้เรียนแต่ละบุคคลสู่ความเป็นเลิศต่อไป

       โรงเรียนเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีทรัพยากรจัดการศึกษาอย่างคุ้มค่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นในระดับใดระดับหนึ่ง หรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น จัดการศึกษาตลอดชีวิตเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ หลักการสำคัญในการบริหารประกอยด้วย

       1) หลักการส่งเริมความเข้มแข็งให้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

       2) หลักการจัดการศึกษาตลอดชีวิตสู่ความเป็นเลิศตามศักยภาพหรืออัจฉริยภาพของผู้เรียน

       3) รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น

       4) แนวทางการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น

            4.1 เสริมสร้างความเข้มแข็งของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

            4.2 สนับสนุนให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดี

            4.3 จัดการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งเสริมจัดหาแหล่งเรียนรู้หลากหลายตามความต้องการของเด็ก

            4.4 สร้างวิสาหกิจชุมชน โดยการพัฒนาคนในท้องถิ่น ด้วยการจัดตั้งกิจการของชุมชนเกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนในท้องถิ่น ดำเนินการประกอบธุรกิจร่วมกันของประชาชนในท้องถิ่น ดำเนินการประกอบธุรกิจร่วมกัน นำไปสู่การสร้างรายได้และการพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชน

กรอบแนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น

นิยามศัพท์ :

การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึง บริเวณพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบายประเทศกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ตเสร็จที่สอดคล้องกับระบบ ASEAN Single Window และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากรและผู้เรียบเรียง

บทบาทการศึกษากับการก้าวสู่ยุคประเทศไทย ๔.๐

ชื่อผลงานทางวิชาการ : เอกสารทางวิชาการ เรื่อง บทบาทของการศึกษากับการก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารและ Power Point สรุปสาระ การบรรยายของ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : โครงการการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การปฏิบัติการศึกษาไทยสู่ผลลัพท์ Thailand 4.0 ” และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 ของสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20-22 เมษายน 2560 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต จังหวัดปทุมธานี

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา สรุปโดย รองศาสตราจารย์ ศรีมงคล เทพเรณู ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนสตรีวัดระฆัง กรุงเทพฯ และผู้นำร่วมประชุมสัมมนา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของเอกสารและ Power Point ประกอบการบรรยาย : การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 – 2551 แต่ผลการปฏิรูปการศึกษาพบว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่ตั้งเป้าหมายไว้และปัจจุบันยังอยู่ในช่วงปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 หรือเรียกว่า “การปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่ 2 พ.ศ. 2552 – 2561 ” ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 8 ปี แต่ปัญหาคุณภาพการศึกษาในภาพรวมกล่าวว่ายังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะด้านคุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้เรียน ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านประสิทธิภาพและการบริหารจัดการ การเพิ่มและการกระจายโอกาสทางการศึกษายังไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม ในด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและการวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศที่จะพยายามสื่อสารองค์ความรู้ใหม่โดยการกำหนดนโยบายการบริหารการศึกษาไทย 4.0 กระทรวงศึกษาธิการต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทยสู่ผลลัพท์ Thailand 4.0 ให้สำเร็จ

       ประเด็นของการปฏิรูปการศึกษาประกอบด้วยทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทักษะของประชากรในทศวรรษที่ 21 รัฐธรรมนูญ/แผนการศึกษาแห่งชาติ 2560 -2579 และการศึกษากับการเปลี่ยนแปลง

       บริบทการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยและภาพคนไทยในทศวรรษที่ 21 ได้แก่

       1. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Trend)

            – พลวัตการเปลี่ยนแปลงโลกจากก้าวผ่านจากทศวรรษที่ 20 เข้าสู่ทศวรรษที่ 21

            – แนวโน้มใหญ่ที่สำคัญของโลก (Mega Trend)

2. แรงขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค เกิดจากการรวมตัว รวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยใช้กรอบความร่วมมือที่มีความสำคัญใกล้ชิดกับประเทศไทย

3. ประเด็นภายในประเทศไทย (Local Issues) ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นปัญหาภายในประเทศไทย (Local Issues) กับยุทธศาสตร์ของประเทศ (Country Strategy)

สรุปสาระสำคัญของการบรรยายและเอกสาร : ยุทธศาสตร์ชาติ : กรอบการพัฒนาระยะยาว (20 ปี) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุขและตอบสนองต่อการบรรลุ ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้วและสร้างความสุขของคนไทย ความมั่งคั่ง เสมอภาคและเป็นรูปธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

1 = ความมั่นคง

2 = การสร้างความรู้สามารถการแข่งขัน

3 = การเสริมสร้างสมองเสริมสร้างศักยภาพ

4 = การสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันในสังคม

5 = การสร้าง การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6 = การปรับสมดุลและพัฒนาระบบริหารจัดการภาครัฐ

       ความมั่งคง : คือ การมีความมั่นคงปลอดภัย จากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือนและปัจเจกบุคคล และมีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง ประเทศไทยมีความมั่นคงเป็นเอกราชและอธิปไตย มีสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่เข้มแข็งเป็นศูนย์กลางและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน ระบบการเมืองที่มั่นคงเป็นกลไกที่นำไปสู่การบริหารประเทศที่ต่อเนื่อง โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลสังคมมีความปรองดองและความสามัคคี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนาประเทศ ชุมชน มีความเข้มแข็ง ครอบครัวมีความอบอุ่น ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีงานและรายได้ที่มั่นคงพอเพียงกับการดำรงชีวิต มีที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และฐานะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีความมั่นคงของอาหาร พลังงานและน้ำ

       ความมั่งคั่ง :  ประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ยกระดับเป็นประเทศในกลุ่มประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาลดลง ประชากรได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถสร้างรายได้ทั้งจากภายในและภายนอก ประเทศสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต และเป็นจุดสำคัญของการเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งการคมนาคมขนส่ง การผลิตการค้า การลงทุน และการทำธุรกิจ มีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก เกิดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างมีพลัง และมีความสมบูรณ์ในทุนที่สามารถสร้างการพัฒนาต่อเนื่อง ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญา ทุนการเงิน ทุนเป็นเครื่องมือเครื่องจักร ทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       ความยั่งยืน : การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติเกินพอดี ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจนเกินความสามารถในการรองรับและเยียวยาของระบบนิเวศน์ การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับกฎ ระเบียบของประชาคมโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพที่ดีขึ้นมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเอื้ออาทร เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมแบบยั่งยืนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาในทุกระดับอย่างสมดุลมีเสถียรภาพและยั่งยืนและประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมยึดถือและปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

       ไทยแลนด์ 4.0 มีวิวัฒนาการจาก : โมเดลเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา บูรณาการกับความมั่นคงของชาติ ดังนี้

1. โมเดลประเทศไทย 1.0 : เป็นเกษตรกรรม
: เป็นหัตกรรม
2. โมเดลประเทศไทย 2.0 : เป็นอุตสาหกรรมเบา
: เป็นการทดแทนการนำเข้า
: เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูก
3. โมเดลประเทศไทย 3.0 : เป็นอุตสาหกรรมหนัก
: เน้นส่งเสริมการส่งออก
: เน้นการลงทุนและการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

       จะเห็นว่าทั้ง 3 โมเดลนั้น ประเทศเผชิญกับ 3 กับดัก คือ ความไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำและประเทศรายได้ปานกลาง การขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 หรือ New Engines for Growth (ดังภาพ)

ทักษะที่จำเป็นเพื่อพัฒนาไปสู่ Thailand 4.0 ทักษะที่ต้องพัฒนาสำหรับคนไทย เพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0

1. Critical Thinking & Evaluation

2. Productivity & Innovation

3. Creativity & Imagination

4. Change & Problem Solving

5. Communication & Self Confident

6. Asian & International

7. Ethic & Responsibility

       ทักษะที่ต้องการพัฒนาสำหรับผู้เรียน เพื่อนำสู่ Thailand 4.0 ทักษะที่เป็นจุดเน้น

1. Critical Mind

2. Creative Mind

3. Productive Mind

4. Responsible Mind

       กรอบแนวคิดการพัฒนาการศึกษาระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)

       Quick – Win เป็นการพัฒนา 5 กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนระยะ 3 – 5 ปี

       Gifted / Thailand (1) ใช้ประโยชน์จากกลุ่ม Gifted โรงเรียนที่รับเด็กเก่งเฉพาะด้านให้คุ้มกับการลงทุนและใช้ทรัพยากรทางการศึกษาโดยส่งเสริมให้ศึกษาในสาขาที่ประเทศขาดแคลนและต้องการและจัดงานรองรับอย่างเหมาะสม (2) ส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถพอเศษให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

       อาชีวศึกษา : (1) เป็นการผลิตกำลังคนใน 5 กลุ่ม เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม เป้าหมาย คือ สามารถทำงานได้จริงและทันที (2) รวมพลังประชารัฐด้วยการยกระดับวิชาชีพ (3) ขยายการศึกษาแบบ     ทวิภาคีปรับวุฒิเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีทักษะในสาขาวิชาที่ตลาดต้องการ

       อุดมศึกษา : (1) พัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไปตามที่กำหนด (2) เพิ่มประสิทธิ ภาพการบริหารจัดการของสถาบัน (3) สร้างความเป็นเลิศในศาสตร์/สาขาวิชาที่แต่ละสถาบันมีความเชี่ยวชาญ

       กำลังแรงงาน : บัณฑิตที่ว่างงาน / แรงงานไร้ฝีมือ ต้องการยกระดับสมรรถนะกำลังแรงงานเพื่อรอง รับ 5 กลุ่ม เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

       ผู้สูงอายุ : ใช้ประโยชน์จากความรู้ ประสบการณ์ สร้างเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในลักษณะคลังสมองและผู้ประกอบการ

       การดำเนินการ Reprofile ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ การผลิตบัณฑิตและพัฒนาครู

ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคเหนือ : (1) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
(2) แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย
(3) เศรษฐกิจพิเศษ
ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคตะวันตก : (1) วิทยาศาสตร์ประยุกต์และคุณภาพ
(2) อุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยวธรรมชาติ การโรงแรมที่พัก
(3) อุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรอินทรีย์ อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ
ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคใต้ : (1) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
(2) เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร
ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : (1) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
(2) การพัฒนาอาหารสู่ครัวโลก
ยุทธศาสตร์ภาคกลาง : (1) การท่องเที่ยว
(2) การเกษตร
(3) สิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์กลุ่มกรุงเทพมหานคร : (1) อุตสาหกรรมการบริการ
(2) การดูแลผู้สูงอายุในเขตเมือง

       การดำเนินการ Reprofile ของสถาบันอุคมศึกษากลุ่มใหม่

       กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง คือ การผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ เช่น ระบบการขนส่งทางอากาศ พัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเนื้อหาการบรรยาย , เอกสารและ Power Point :

       (1) รัฐธรรมนูญกับทิศทางการศึกษาไทย หมวด 3 หน้าที่ของรัฐ

       มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

       รัฐต้องดำเนินการให้เด็กได้รับการดูแลก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรค  เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัยอารมณ์สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยเรียน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

       การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีมีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนและมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวชุมชน สังคมและประเทศชาติ

       (2) จุดเน้นการพัฒนาการศึกษา

            ก. ด้านการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอน การวัดและการประเมินผล เช่น สร้างคนไทยให้เป็นคนดีมีวินัย รักชาติ มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ เป็นต้น

            ข. ด้านการบริหารจัดการ เช่น บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพิ่มอำนาจบริหารจัดการให้แก่สถานศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

            ค. ด้านการผลิตและพัฒนาครู เช่น จัดให้มีกองทุนพัฒนาครูที่สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ระบบการคัดเลือกครู ผู้บริหารเข้าสู่ตำแหน่งมีประสิทธิภาพ ฯลฯ เป็นต้น

            ง. ทรัพยากรทางการศึกษา เช่น ปรับระบบงบประมาณให้เข้าถึงผู้เรียนและสถานศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

       (3) การศึกษากับการเปลี่ยนแปลง

            ก. กำหนดบทบาทการผลิตนักศึกษาของอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาใช้ชัดเจนตามความถนัดและความเป็นเลิศของแต่ละสถาบันเพื่อลดความซ้ำซ้อนและตรงกับทิศทางความต้องการของประเทศและประชาชนทุกช่วงวัย

            ข. กำหนดผลลัพท์ (Outcome) ของสถาบันอุดมศึกษา เช่น เป็นศูนย์วิจัยที่มีคุณภาพ มีการวิจัยและพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมจากทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ

            ค. จัดให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น

            ง. สร้างทักษะการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ภาษา เทคโนโลยี STEM

            จ. ต้องมีหลักสูตรที่คล่องตัว ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ทักษะและความรู้ตามที่ต้องการได้

            ฉ. ต้องมีการเรียนรู้ที่น่าสนใจและสอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ใช่การถ่ายทอดจากปาก แต่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาปรับจากครูห้องสี่เหลี่ยมเป็นครูจากสภาพแวดล้อมมีเครือข่ายความร่วมมือของครู

            ช. ครูเปลี่ยนสภาพจากผู้สอน เป็นครูฝึกหรือครูอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้หรือครูประเมิน

            ซ. ปรับระบบการเรียนรู้จากการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้เป็นเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ โดยการเรียนรู้แบบโครงงาน

            ฌ. ทำให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้มีความตื่นตัวในการเรียนรู้ สร้างกลยุทธ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : เนื่องจากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นพบว่า ในมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เรื่องการจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ปัจจุบันพบว่าปัญหาการจัดการศึกษาเกิดจากความไม่เพียงพอ การศึกษาควรเริ่มตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวให้สอดคล้องกับคำกล่าวถึงเอกลักษณ์คนไทย คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน โรงเรียนต้องสอนให้เกิดคุณค่าแห่งชีวิต แสดงกิริยาออกมาจากใจ ดังนั้นสถานศึกษาต้องดีพร้อมยอมรับในการปรับพฤติกรรมผู้เรียนให้เป็นรูปธรรมเน้นการปฏิบัติ ด้านความประพฤติควรมีจิตสำนึกมีการตัดสินใจอย่างถูกต้อง เสริมด้านหลักคุณธรรม จริยธรรม (Morality) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนสอนให้เกิดรูปธรรม โดยการนำอดีต    ปัจจุบัน    อนาคต เชื่อมโยงกัน ผู้สอนต้องปรับพฤติกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัย เมื่อโลกเปลี่ยน การศึกษาก็ต้องเปลี่ยนตาม

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙

ชื่อผลงานทางวิชาการ : แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือและเอกสารวิชาการ เรื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 -2579 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู เข้าร่วมประชุมเสวนาทางวิชาการด้วยในฐานะประธานคณะกรรมการสถานศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมสวิสโฮเตล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เรียบเรียงและสรุปโดย รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการในโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ 2560 – 2562  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ประเทศไทยให้ความสำคัญด้านการศึกษาในฐานะกลไกหลักของการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบันเสร็จเรียบร้อย ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 เพื่อเป็นกรอบ เป้าหมายและทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ โดยมุ่งการจัดการศึกษาให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ กระบวนการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2575 เน้นการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อนการศึกษาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ


 

       แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 เป็นระยะยาว 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ การจัดทำได้ทำการศึกษาสภาวการณ์และบริบทแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัลแบบก้าวกระโดดที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภูมิภาคและโลก การเปลี่ยนแปลงโดยโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัย และทักษะของประชากรในศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายและมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยุค 4.0 และนำผลการตอดตามประเมินแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 – 2559 ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวกับบริบทการจัดการศึกษา โอกาสทางการศึกษา คุณภาพทางการศึกษาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษาและการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งการพัฒนาการศึกษากับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษา ทั้งที่เกิดจากปัญหาของระบบการศึกษาและจากสภาวการณ์โลกที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำมากำหนดแนวคิดของการจัดการศึกษา วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย การพัฒนาการศึกษา บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการทางพัฒนา รวมทั้งโครงการเร่งด่วนที่สำคัญ และการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ได้แก่

       1. ความจำเป็นการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ประเทศไทยประสบความสำเร็จหลายด้าน และหลายด้านจำเป็นต้องแก้ไขระยะต่อไป ประกอบด้วย ด้านโอกาสทางการศึกษา ด้านคุณภาพการศึกษา ด้านประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณทางการศึกษา

       2. แนวคิดการจัดการ ประกอบด้วยหลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมกันและทั่วถึง (Inclusive Education) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy ) และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) อีกทั้งยึดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ประเด็นภายนอก (Local Issues) เช่น คุณภาพของคนทุกช่วงวัย ฯลฯ เป็นต้น โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ (National Strategy) มาเป็นกรอบความคิดสำคัญในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ

       3. วิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย ตัวชี้วัดและยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการการศึกษา 4 ประการ คือ เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคีและร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อนำประเทศไทยก้าวหน้าข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง

       แผนการศึกษาแห่งชาติวางเป้าหมายไว้ 2 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน (Learner Aspirations) มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs 8Cs)  3Rs = การอ่านออก (Reading) เขียนได้ (Writing) และการคิดเลข (Arithmetic) 8Cs = ทักษะการคิดอย่างมีวิจารญาณและทักษะในการแก้ไขปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ฯลฯ เป็นต้น

เป้าหมายของการจัดการศึกษา 5 ประการ คือ

       1) ประชากรทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึง

       2) ผู้เรียนทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียม

       3) ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถเต็มศักยภาพ

       4) ระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าและบรรลุเป้าหมาย

       5) ระบบการศึกษาที่สนองตอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่พลวัตและบริบทที่เปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์หลักที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้แผนการศึกษาแห่งชาติบรรลุเป้าหมายตามจุดมุ่งหมาย วิสัยทัศน์ และแนวคิดการจัดการศึกษา

       ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ

              1.1 คนทุกช่วงวัยมีความรักในสถาบันหลักของชาติและยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

              1.2 คนทุกช่วงวัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษได้รับการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

              1.3 คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษา การดูแลป้องกันจากภัยคุกคามในชีวิตรูปแบบใหม่

       ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การผลิตและการพัฒนากำลังคนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีเป้าหมาย :

              2.1 กำลังคนที่ทักษะที่สำคัญ จำเป็นและมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

              2.2 สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่จัดการศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศเฉพาะด้าน

              2.3 การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

       ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมาย :

              3.1 ผู้เรียนมีทักษะและคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทย และทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

              3.2 คนทุกช่วงวัย มีทักษะ ความรู้ความสามารถและสมรรถนะตามมาตรฐานการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามศักยภาพ

              3.3 สถานศึกษาทุกระดับการศึกษาสามารถจัดกิจกรรม / กระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

              3.4 แหล่งเรียนรู้ สื่อตำราเรียน นวัตกรรมและสื่อการเรียนรู้มีคุณภาพและมาตรฐานและประชาชนสามารถเข้าถึงโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

              3.5 ระบบและกลไกการวัด การติดตามและประเมินผลมีประสิทธิภาพ

              3.6 ระบบการผลิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้มาตรฐานระดับสากล

              3.7 ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาสมรรถนะตามมาตรฐาน

       ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา มีเป้าหมาย :

              4.1 ผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

              4.2 การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการศึกษาสำหรับทุกช่วงวัย

              4.3 ระบบข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศทางการศึกษาที่ครอบคลุม ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผนการบริหารจัดการศึกษา การติดตามประเมิน และรายงานผล

       ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมาย :

              5.1 คนทุกช่วงวัย มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมมีคุณธรรม จริยธรรม และนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

              5.2 หลักสูตร แหล่งเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณธรรม จริยธรรมและการนำแนวความคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

              5.3 การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

       ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารการจัดการการศึกษา มีเป้าหมาย :

              6.1 โครงสร้าง บทบาทและระบบการบริหารจัดการการศึกษามีความคล่องตัวชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้

              6.2 ระบบการบริหารจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา

              6.3 ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและพื้นที่

              6.4 กฎหมายและรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษารองรับลักษณะที่แตกต่างกันของผู้เรียน สถานศึกษาและความต้องการกำลังแรงงานของประเทศ

              6.5 ระบบบริหารงานบุคคลของครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษามีความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจและส่งเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มตามศักยภาพ

       การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษาของชาติ แนวทางการขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติ โดยการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงาน องค์กรและภาคีทุกภาคส่วน การดำเนินการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ โดยการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงาน องค์กร และภาคีทุกภาคส่วน การดำเนินการการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ โดยการนำของกระทรวงศึกษาธิการ และการติดตามประเมินผลแผนการศึกษาแห่งชาติ ทำด้วยการประเมินก่อนเริ่มโครงการ ระหว่างดำเนินการและหลังการดำเนินงานตามแผนเสร็จสิ้น ซึ่งต้องวางระบบตั้งแต่ระดับกระทรวงส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จังหวัดและเขตพื้นที่เชื่อมโยงแผนปฏิบัติแต่ละระดับกับแผนการศึกษาของชาติ

วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์

ชื่อผลงานทางวิชาการ : วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ (Introduction to Public Administration)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2555 – 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คระมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายสุรศักดิ์ โตประศรี ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และคณะ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : รัฐประศาสนศาสตร์ หมายถึง วิชาที่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการหรือการจัดการเกี่ยวกับราชการหรืองานของรัฐ วิชาที่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจ เป็นกระบวนการที่คนตั้งแต่ 2 คน ร่วมมือกระทำในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย

       วิวัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการศึกษาปรัชญาการเมืองรัฐธรรมนูญและการออกแบบกฎหมาย สนใจการปฏิรูปการทำงานของรัฐบาล ใช้เทคนิคทางศาสตร์มาแก้ปัญหาจัดองค์การและบริการ ตลอดเวลาที่ผ่านมาการศึกษาวิชานี้ก็ยังอยู่ในภาวะของการแสวงหาเอกลักษณ์ต่อไป โดยเฉพาะความรู้จากศาสตร์สาขาอื่นๆ ขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์มี 3 ขอบข่าย คือ การเมืองและนโยบายสาธารณะ ทฤษฎีองค์การและเทคนิคบริหาร

       สถานภาพของรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นสังคมศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้คนมีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ปฏิบัติตนในลักษณะเป็นระบบ รัฐประศาสนศาสตร์เป็นสาขาย่อยของรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์กับรัฐประศาสนศาสตร์มีความสัมพันธ์กัน เพราะนำเศรษฐศาสตร์มีประโยชน์ต่อการพิจารณาทางรัฐประศาสนศาสตร์ ได้แก่ เรื่องสินค้า บริการสาธารณะบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์การจัดการในแง่กรอบความคิด วิเคราะห์องค์การราชการในแง่มุมต่างๆ สอดคล้องระหว่างค่านิยมหลักในการบริหารกับค่านิยมพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ กระบวนทัศน์ของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คือ กรอบความคิดที่กำหนดแบบแผนหรือกรอบเค้าโครงเพื่อกำหนดขอบเขตของการศึกษาการบริหารรัฐเก่า กรอบการมองวิชาบริหารรัฐกิจต้องมีการสร้างแบบกรอบการมอง (Paradigm) ของนักรัฐศาสตร์ เช่น พาราไดม์ ที่ 1 การแยกการบริหารกับการเมืองออกจากกันเป็นสองส่วน พาราไดม์ ที่ 2 หลักการบริหาร ฯลฯ เป็นต้น

       ทุกองค์การต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการบริหารงาน อาทิเช่น สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น องค์การเปรียบเสมือนสิ่งที่มีชีวิตที่มีวงจรชีวิต พัฒนาการเจริญเติบโต พร้อมที่จะปรับตัวได้ทุกขณะเพื่อให้สามารถอยู่ได้ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความผันผวนตลอดเวลา แนวโน้มในการบริหารองค์การให้ประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างสูง จำเป็นต้องใช้หลักทฤษฎีองค์การมาประยุกต์ อาทิเช่น กลุ่มทฤษฎีดั่งเดิมหรือคลาสิก กลุ่มทฤษฎีดั่งเดิมแบบใหม่หรือนีโอคลาสิก ฯลฯ เป็นต้น นโยบายสาธารณะและการวางแผนเป็นแนวทางปฏิบัติกว้างๆ ซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลหรือข้าราชการระดับสูง ต้องมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่ง และรัฐบาลมีความจริงใจและจริงจังที่จะให้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติและนโยบายอาจเป็นบวกหรือลบหรือกระทำหรืองดเว้นก็ได้

       ประเภทของนโยบายสาธารณะมี 4 ประการ เช่น แบ่งตามการเน้นเนื้อหาสาระหรือวิธีปฏิบัติของนโยบาย แบ่งตามผลกระทบต่อสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย แบ่งตามความสามารถในการระบุกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายและแบ่งตามลักษณะเสรีนิยมหรือ อนุรักษ์นิยมของนโยบาย ขอบข่ายของการศึกษานโยบายสาธารณะ คือ การกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ ฯลฯ เป็นต้น การวางแผนมีความสำคัญของการวางแผน เป็นหน้าที่อันดับแรกของผู้บริหาร เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ เป็นต้น การวางแผนมี 2 ประเภท คือ แผนถาวร (Standing Plan) แผนใช้ครั้งเดียว (Single use Plan) สำหรับการบริหารงานบุคคลมีความสำคัญต่อผู้บริหารทุกคน ต้องเตรียมตั้งแต่การวางแผน จัดแผนภูมิองค์การและกำหนดสายการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงการควบคุมด้วยความชำนาญ หลักการบริหารงานบุคคลมีทั้งระบบอุปถัมภ์ (Patronage System)  กับระบบคุณธรรม (Merit System) โดยเฉพาะระบบคุณธรรมมี 4 ประการ คือ หลักความสามารถ หลักความเสมอภาคและหลักความมั่นคง

จุดเด่น/ความน่าสนใจของเอกสารประกอบการสอน : วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ มีหลายประเด็น อาทิเช่น

       ประเด็นที่ 1 ขอบข่ายการเมืองและนโยบายสาธารณะต้องอาศัยวิชารัฐศาสตร์เป็นพื้นฐานในการศึกษา เพราะมีสาระครอบคลุมทั้งหมดของคำว่า “รัฐ” เนื่องจากการเมืองและนโยบายสาธารณะนั้นมีสาระครอบคลุม 3 เรื่อง ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการบริหาร นโยบายสาธารณะและค่านิยม เนื่องจากขอบข่ายการเมืองนโยบายสาธารณะต้องอาศัยวิชารัฐศาสตร์เป็นพื้นฐานในการศึกษา เพราะสาระครอบคลุมคำว่า “รัฐ” ดังนั้นการบริหารรัฐกิจต้องคำนึงถึง การมองปัญหา การตัดสินใจและการติดต่อสัมพันธ์กับระบบต่างๆ ของระบบราชการ นักบริหารรัฐกิจต้องปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันจากสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ

       ประเด็นที่ 2 ทิศทางและแนวโน้มของรัฐประศาสนศาสตร์ มีส่วนผลักดันผู้บริหารรัฐกิจ ต้องยึดหลักประสิทธิภาพ ประหยัดและผลผลิต โดยเฉพาะการเรียนการสอนรัฐประศาสนศาตร์ต้องเน้นผลผลิตให้มีความรู้ ทักษะพฤติกรรมและค่านิยม สามารถบริหารรัฐกิจได้ทุกประเภท ความรู้ที่ใช้สอนต้องบูรณาการกันระหว่าง การเมืองและนโยบายสาธารณะ ทฤษฎีองค์การและเทคนิคการบริหาร

       ประเด็นที่ 3 เรื่องการวางแผนการปฏิบัติงาน เพราะมีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตามความต้องการอย่างเป็นระบบ ต้องสามารถกำหนดผลลัพท์ได้ว่า เมื่อวางแผนแล้วจะมีอะไรเกิดตามมาได้ ดังนั้นการวางแผนจึงมีความสำคัญ อาทิเช่น

       1) เป็นหน้าที่อันดับแรกของผู้บริหาร

       2) แผนเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ

       3) เป็นตัวอย่างกำหนดทิศทางและความรู้สึกในเรื่องของความมุ่งหมายสำหรับองค์การให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้รู้

       4) ช่วยให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานมองไปในอนาคตและเห็นโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์และการกระทำต่างๆ ให้บังเกิดผลสำเร็จ

       5) ทำให้การตัดสินใจที่มีเหตุผลรองรับ

       ประเด็นที่ 4 หลักการบริหารงานบุคคลตามระบบคุณธรรม ซึ่งการบริหารงานบุคคลนั้นต้องเริ่มต้นจากระบบอุปถัมภ์ซึ่งไม่มีระบบและหลักเกณฑ์ จึงมีการแก้ปัญหาด้วยการนำระบบการบริหารงานบุคคลแผนใหม่ใช้เรียกว่า ระบบคุณธรรมมีหลักสำคัญ 4 ประการ คือ

       1) หลักความสามารถ ยึดหลักความรู้ ความสามารถของบบุคลเป็นสำคัญ

       2) หลักความเสมอภาค เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติและพื้นความรู้ที่กำหนดไว้มีสิทธิสอบแข่งขัน

       3) หลักความมั่นคง เป็นหลักประกันของข้าราชการเกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิต

       4) หลักความเป็นกลางทางการเมือง ข้าราชการต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มความสามารถและเต็มภาคภูมิ

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : เอกสารวิชานี้มีจุดที่เป็นความรู้ทั่วไปที่นิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคคลอื่นๆ ที่สนใจเกี่ยวกับวิชารัฐประศาสนศาสตร์จำเป็นต้องรู้ คือ เรื่อง การบริหารงานคลังสาธารณะ เพราะจัดว่าวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเนื้อหาเศรษฐศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องเป็นอิสระในการตัดสินใจ ซึ่งมีลักษณะการตัดสินใจร่วมกันระหว่างประกาศจำนวนมาก ความสำคัญของการบริหารการคลังสาธารณะ คือ การทำให้ทุกคนจะได้รับประโยชน์และสังคมโดยรวมจะดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเข้าใจบทบาทใน 3 เรื่อง ดังนี้

       1) การป้องกันประเทศ

       2) การรักษาความสงบภายในประเทศ

       3) การจัดสรรบริการสาธารณะต่างๆ

       จากบทบาททั้ง 3 ข้อนี้ เป็นการบริหารการคลังจากสาเหตุการกำหนดการบริหารการคลังของรัฐล้วนมีผลต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของสังคม ภาครัฐเป็นองค์กรที่รับและจ่ายเงินรายใหญ่ที่สุดของประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองปัจจุบัน เป้าหมาในการบริหารงานคลังของรัฐและการบริหารการคลังสาธารณะ สำหรับเครื่องมือในการบริหารการคลังนั้นรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายไว้ 4 ประการ คือ ภาษีอากร งบประมาณ หนี้สาธารณะและเงินคงคลัง ในปัจจุบันรัฐบาลจะต้องบริหารงบประมาณหลายระบบ ซึ่งมีหลายประเภท อาทิเช่น ระบบงบประมาณแบบแสดงรายการ (Line Item Budgeting) งบประมาณแบบแสดงผลงานหรือปฏิบัติการ (Program or Performance Budgeting) และระบบงบประมาณแบบแสดงแผนงาน (Planning Programming Budgeting System : PPBS)

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร


 

การศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Education for Students with Special Needs)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนวิชา การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางสาวกาญจนา สุทธิเนียม ตำแหน่งอาจารย์ กลุ่มวิชาชีพครู

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : การศึกษาพิเศษเป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายสติปัญญา จิตใจและอารมณ์ ได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกาย จิตใจและความสามารถ เพื่อพัฒนาความถนัดและอัจฉริยะภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเด็กปกติและติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง มีการประสานความร่วมมือกับสหวิชาชีพและครอบครัวอย่างใกล้ชิด

       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทั้งด้านการแพทย์ การจัดการศึกษา อาชีพและบุคคลทั่วไปในสังคม ซึ่งปรัชญาการเรียนร่วมประกอบด้วยพื้นฐาน 3 ประการ คือ ทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการอยู่ร่วมกันในสังคม ฯลฯ เป็นต้น หลักในการจัดการศึกษาประกอบด้วย ความยุติธรรมในสังคม การคืนสู่ภาวะปกติสภาพแวดล้อมมีข้อจำกัดน้อยที่สุด และเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพ

       โปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล มีจุดประสงค์เพื่อจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษตามเป้าหมายสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษสำหรับคนพิการ ขั้นตอนในการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นส่งต่อมี 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมก่อนการส่งต่อ กับ การส่งต่อและวางแผนระยะเริ่มต้น และขั้นตรวจสอบมี 2 ขั้นตอน ได้แก่ การประเมินโดยคณะสหวิทยาการ (Multidisciplinary Assessment) ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านและการประชุมเด็กเฉพาะกรณีเพื่อวางแผนปัจจัยและตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการใช้โปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล ต้องได้รับการสนับสนุนจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายระดับชาติ โดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษาพิเศษวางแผนโปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล นอกจากนี้ตัวบ่งชี้ความสำเร็จการใช้โปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล ต้องมีการประเมินผลเป็นระยะๆ และพิจารณาจาก งบประมาณ นักเรียนปกติที่เรียนร่วม ผู้ปกครอง นักเรียน ครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียนและศึกษานิเทศก์

       บุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ประกอบด้วยเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางการมองเห็น บกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ บกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ บกพร่องทางด้านการพูดและภาษา เด็กออทิสติก บกพร่องทางพิการซ้ำซ้อนและเด็กปัญญาเลิศ

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือวิชาการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ได้กล่าวถึงบิดาแห่งการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กปัญญาอ่อนและร่างกายพิการ คือ อิทารด์ (ITard) แพทย์ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหู และการให้การศึกษาแก่นักเรียนหูหนวก สำหรับประเทศไทยเริ่มจาก เจเนวีฟ คอลฟิลด์ (Geneview Caulifield) ร่วมกับคนไทย ได้อบรมสั่งสอนเด็กตาพิการและสอนเขียน อ่าน อักษรเบรลล์ โดยการฝึกหัดทำงานการฝีมือในชีวิตประจำวัน ต่อมามีผู้ใจบุญให้การสนับสนุนร่วมมือในการให้การศึกษาเด็กตาบอด โดยการก่อตั้งมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” จัดการศึกษาโดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนาและระดับชั้นมีหลวงเลขาธิวิจารณ์เป็นประธานมูลนิธิคนแรก ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กพิการประเภทต่างๆ เช่น เรียนช้า ตาบอด หูหนวก ร่างกายพิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้รับความร่มมือช่วยการสื่อสนับสนุนด้านวิทยากรจากมูลนิธิอเมริกันเพื่อคนตาบอดโพ้นทะเล (American Foundation Overseas for the Blind) ทดลองกับคนตาบอดให้เรียนร่วมกับคนปกติในระดับประถมศึกษา เขตกรุงเทพมหานคร และขยายออกสู่ภูมิภาค เป็นระยะเวลาสั้นๆ

       สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่เป็นเด็กเรียนช้า จัดเป็นชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติในเขตกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนพญาไท โรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงเรียนวัดนิมมานรดีและโรงเรียนวัดหนัง และขยายต่อไปยังโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์และโรงเรียนวัดเวตวันธรรมาวาส สำหรับต่างจังหวัดที่กาญจนบุรี เลย สุราษฎร์ธานีและนครราชสีมา โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ พ.ศ. 2556 รวมทั้งแผนพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการให้มีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเท่าเทียมกันกับเด็กปกติทั่วไป ปัจจุบันจึงจัดการศึกษารูปแบบเดียวกัน คือ การศึกษาทั่วไป (Regular Education) การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมเน้นการศึกษาที่มีความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับการเรียนการสอนของครูที่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้วย ปรัชญาการเรียนร่วมเป็นการที่นักเรียนได้เรียนรู้อยู่ร่วมกัน การจัดการเรียนรู้ต้องตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของคนแต่ละคนได้ ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในบริบททางการศึกษา ขณะเดียวกันได้รับการศึกษาควบคู่กันไปกับการบำบัดฟื้นฟูความสามารถทุกด้าน คำนึงถึงการอยู่ร่วมสังคมกับคนปกติอย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเสียเปรียบของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละประเภท ต้องทำอย่างต่อเนื่องและควรเน้นเรื่องอาชีพด้วย

       แนวคิดในการจัดการเรียนร่วมประกอบด้วย การนำนักเรียนเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้บกพร่องทางประเภทต่างๆ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น จัดให้เหมาะสมกับความพิการของแต่ละประเภทอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมแบ่งเป็น

       1) การเรียนร่วมบางเวลา (Integration) จัดในชั้นปกติบางเวลา เช่น วิชาดนตรี พลศึกษา กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี กีฬาสี เป็นต้น แต่ต้องจัดทำแผนเฉพาะบุคคล

       2) การเรียนร่วมเต็มเวลา (Mainstreaming) เรียนชั้นเดียวกับเด็กปกติ ตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกัน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่

       1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553

       2. พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551

       3. พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

       4. พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550

       5. พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

       เด็กที่มีความบกพร่องการได้ยิน หมายถึง การสูญเสียการได้ยิน อาจจะหมายถึง หูหนวก สูญเสีย 90 เดซิเบลขึ้นไป หรือประสาทหูเสื่อม ได้ยินไม่ชัด เกิดจากสาเหตุก่อนคลอด ระหว่างคลอดและหลังคลอด ลักษณะอาการและพฤติกรรมการแสดงออกจำแนกได้ 5 ลักษณะ คือ การพูด อาจจะไม่ได้ยินหรือพูดไม่ชัด ขึ้นอยู่กับอายุ ภาษา เรียงคำในประโยคผิด ความสามารถทางสติปัญญา ไม่คุ้นเคยกับความบกพร่องทางการได้ยิน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพราะวิธีการสอน การวัดผลและการปรับตัวเกิดจากการสื่อสาร การจัดการศึกษาผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีวิธีสอน 5 วิธี ได้แก่

          1) วิธีการสอนพูด ต้องพูดกับเด็กให้มากๆ เพราะเป็นทักษะเกี่ยวข้องกับการอ่านริมฝีปากผู้พูด เช่น ฝึกพูดชื่อบุคคลในครอบครัวให้นำภาพพ่อแม่มาให้ดู แล้วชี้ที่ภาพดูภาพแล้วฟัง จึงให้พูดตาม

          2) วิธีสอนแบบรวม ใช้ภาษาพูด ภาษามือ การอ่านริมฝีปาก การใช้เครื่องช่วยฟังและการเขียนกระดานดำประกบกันไปในขณะที่เขียน

          3) การใช้วิธีสอนต่างวิธีพร้อมกันสลับกันไป คือ การใช้พูดมือสะกดหรือภาษามือ การใช้เครื่องมือช่วยฟังและการเขียนกระดานดำ

          4) วิธีสอนแบบรวมหลายวิธี ใช้การสอนพูด ใช้เครื่องช่วยฟัง ภาษามือสะกดด้วยนิ้วมือและการเขียนกระดานดำ

          5) วิธีการสอนแบบระบบรวม สอนฝึกฟัง ฝึกอ่านคำพูด ฝึกการอ่าน ฝึกการเขียน ภาษามือ การสะกดนิ้วและการสังเกตท่าทางมารวมกัน

       เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ผู้สอนต้องสามารถประเมินความรุนแรงของความบกพร่องจากการมองเห็นเพื่อเป็นพื้นฐานวางแผนการช่วยเหลือ กำหนดเป้าหมายการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก พัฒนาระบบสัมผัสและระบบการเคลื่อนไหว จัดหาอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี เช่น ภาพนูน กราฟนูน และต้องประสานกับครอบครัวเด็ก เพื่อวางแผนร่วมกัน

       เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้สอนต้องเข้าใจและยอมรับในตัวเด็ก ครูต้องอดทนและใส่ใจมากกว่าเด็กปกติ โดยใช้หลักการสอนเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวไปหาสิ่งที่ไกลตัว สอนที่ละขั้นสอนด้วยการลงมือกระทำ คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละบุคคลตามระดับสติปัญญาและสอนโดยการแบ่งหมู่ตามตารางสอน ฯลฯ เป็นต้น

       เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพใช้หลักสูตรเหมือนเด็กปกติ ปรับให้เหมาะกับเด็ก ปรับพฤติกรรมให้แสดงอย่างเหมาะสมและให้บริการเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ พิเศษ เป็นต้น ผู้สอนต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยหาสื่อเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว และควรโทรตามหรือไปเยี่ยมบ้านสม่ำเสมอ

       เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จะพบปัญหาในการเรียน เช่น ความบกพร่องการฟังและการพูด บกพร่องทางการอ่าน ทางการเขียน ทางคณิตศาสตร์ ทางกระบวนการคิด ครูผู้สอนต้องช่วยเหลือ โดยการให้ทำงานเป็นทีมระหว่างครูและครอบครัว ประสานกับครอบครัวของเด็กสม่ำเสมอ ควรให้เวลากับเด็กประเภทนี้ให้มากกว่าเด็กปกติทั่วไป ใช้กระบวนการเรียนที่บูรณาการกับประสบการณ์และใช้สื่อการสอนส่งเสริมให้ได้ใช้ประสาททั้ง 5 สัมผัส

       เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น เกเร ก้าวร้าว แยกตัวจากเพื่อน ฯลฯ เป็นต้น สามารถจำแนกกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ คือ ปัญหาด้านความประพฤติ ด้านความตั้งใจและสมาธิ ผิดปกติในร่างกายและอารมณ์รุนแรง  ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยทางสังคม การจัดการเรียนการสอนและจัดห้องเรียนเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ทางบวก ต้องตั้งกฎเกณฑ์ในห้องเรียนอย่างชัดเจนเพื่อให้ปฏิบัติตาม และส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของตนเอง ฝึกความรับผิดชอบและจัดบรรยากาศในชั้นเรียนให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้

       เด็กที่มีความบกพร่องทางพิการซ้อน ซึ่งมีหลายลักษณะรวมกันที่มีลักษณะ ปัญหาทางด้านจิตใจ ด้านพฤติกรรม ร่างกายและการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนต้องยึดหลักการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กและบูรณาการการเรียนรู้ สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้สามารถทำได้ด้วยการถ่ายโยงทักษะ การเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม เรียนรู้ผ่านการได้ยิน และปฏิบัติตามคำสั่งและรอคอยการช่วยเหลือ

จุดเด่น/ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : รูปแบบการจัดการศึกษาของการศึกษาพิเศษมีหลายรูปแบบ อาทิเช่น

       1) จัดการเรียนร่วมในชั้นปกติและรับบริการพิเศษ เช่น การสอนเสริมบางวิชา

       2) จัดโรงเรียนพิเศษ เช่น จัดในโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้น

       3) จัดแบบเต็มวันและมีครูเดินสอน ตามตารางสอน

       4) จัดการศึกษาโดยครอบครัว โรงเรียนมีส่วนร่วม ในการดำเนินการยึดโรงเรียนเป็นศูนย์การศึกษาต่างๆ

       5) จัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ยืดหยุ่นทั้งรูปแบบวิธี การวัดและประเมินหลักสูตร ระยะเวลา ฯลฯ เป็นต้น

       ผู้สอนสามารถปรับปรุงการสอนและปรับสิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนให้เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะความพิการของผู้เรียน โดยการใช้การพูดให้ช้าและมากขึ้น ใช้เหตุผลในแต่ละช่วงการสอน ปรับภาษาพูดให้เหมาะสมกับผู้เรียน ฟังผู้เรียนพูด อธิบายให้มาก ควรให้รางวัลด้วยวิธีการชมเชย เพื่อเพิ่มความพยายามและสำหรับการประเมินผลต้องสอดคล้องกับตัวผู้เรียนที่มีความพิการแตกต่างกัน เช่น เด็กออทิสติก เป็นโรคที่มีลักษณะแตกต่างกันมากและอาการมีหลายอย่างและความรุนแรงแตกต่างกัน เทคนิคการสอนในห้องเรียนมี 8 เทคนิค คือ

       1) หลีกเลี่ยงการสอนที่เป็นนามธรรม

       2) หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้เข้าใจผิด

       3) การมอบหมายงานต้องไม่ซ้ำซ้อน

       4) เพิ่มศักยภาพการฟังและการมอง ด้วยวิธีการจัดองค์ประกอบ

       5) มองผู้เรียนเชิงบวก สร้างสรรค์และยืดหยุ่น ฯลฯ เป็นต้น

       เด็กปัญญาเลิศจะมีลักษณะที่มีประสาทการรับรู้ว่องไวเป็นพิเศษ มีความอยากรู้อยากเห็นอย่างเข้มข้น มีความสามารถแก้ปัญหาและเข้าใจสิ่งต่างๆ ในระดับสูง มีแรงจูงใจและขยันอดทนและชอบแสวงหาสิ่งท้าทาย ฯลฯ เป็นต้น มีทฤษฎีสติปัญญา 3 ด้าน ของเด็กปัญญาเลิศ ได้แก่ ด้านวิเคราะห์ ด้านสังเคราะห์และด้านปฏิบัติ

       แนวคิดในการจัดการศึกษาเด็กปัญญาเลิศ สามารถทำได้ เช่น ประเมินอย่างถูกต้องและยอมรับในความเป็นเลิศ ผู้สอนต้องมีความสามารถ เทคนิคการสอนได้ และควรจัดโปรแกรมการศึกษาพิเศษให้สอดคล้องกับลักษณะความเป็นเลิศ เนื้อหาที่ใช้สอนต้องมีความเข้มข้นทั้งการอ่าน เขียน คิด ลงมือปฏิบัติและต้องเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน นอกจากนี้ผู้สอนยังต้องรู้จักการสอนคิดเชิงวิจารณ์ เน้นการสอนคิด รู้จักใช้เหตุผลก่อนตัดสินใจ

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือเล่นนี้เนื้อหาเหมาะสมกับการนำไปใช้สอนการศึกษาพิเศษในยุคอาเซียนศึกษา เพราะ

       ประเด็นที่ 1 การเขียนโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคลมี 3 ขั้นตอน คือ การรวบรวมข้อมูล การจัดทำโปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล และใช้โปรแกรมที่มีความสมบูรณ์แล้วพร้อมจัดกิจกกรม เรียกว่า ขั้นการสอน โดยมีข้อมูลครบถ้วน ดังตัวอย่างโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคล

              1) ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน

วัน……………………….เดือน…………………………………..พ.ศ. …………………………………..

ชื่อนักเรียน…………………………………. นามสกุล………………………………………….. เพศ………………………..

เกิดวันที่ ………………………………….. เดือน……………………………………..พ.ศ. ……………………………………

ชื่อผู้ปกครอง ……………………………………………….ความสัมพันธ์กับนักเรียน…………………………………..

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ……………………………… ซอย ……………………………… ถนน …………………………………..

แขวง/ตำบล ………………………………. เขต/อำเภอ …………………………… จังหวัด …………………………..

              2) ระดับสติปัญญา (IQ) ……………………………………………….…………….………

              3) ข้อมูลทางการแพทย์

       นักเรียน เจ็บป่วย เป็นโรค ………………………………………………………………………………………

       นักเรียนจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างไรบ้าง ………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………….

       4) ความสามารถของนักเรียน ด้าน

          4.1 ภาษาไทย

                4.1.1 ด้านการฟัง

                4.1.2 ด้านการพูด

                4.1.3 ด้านการอ่าน

                4.1.4 ด้านการเขียน

          4.2 ด้านคณิตศาสตร์

          4.3 การช่วยเหลือตนเอง

          4.4 พฤติกรรม

          4.5 ความสามารถอื่นๆ

       5) ปัญหาของนักเรียน ……………………………………………………………………………………………….

       6) นักเรียนได้รับการตัดสินว่ามีความบกพร่องประเภทใด

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       7) ควรได้รับการเรียนร่วมในลักษณะใด

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       8) บริการที่เกี่ยวข้อง ………………………………….…………………………….……….…………..

       9) ภาษาถิ่นของนักเรียน …………………………………………………………………………………………

       10) จุดมุ่งหมายระยะยาว ………………………………………………………………………………………

       11) จุดมุ่งหมายระยะสั้น ………………………………………………………………………………………..

       12) หลักสูตรโดยย่อ (ต้องเรียนอะไรบ้าง ?) …………………………………………………………..

       13) การวัดและประเมินผล …………………………………………………………………………………….

       14) ระยะเวลา ………………………………………………………………………………………………………..

       15) ชื่อคณะกรรมการผู้จัดทำโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคล……………………………….

       ………………………………………………………………………………………………………………………………..

ประเด็นที่ 2 ครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับเด็กพิเศษ ส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและยังเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม ครูผู้สอนจะต้องช่วยหาสื่อและพัฒนาเด็กได้ดังนี้

   1) ให้ความรู้กับเด็กปกติและเด็กที่เรียนร่วมในเรื่องความรู้เกี่ยวกับเด็กที่บกพร่อง อาจจะเป็นการเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญมาบรรยายในชั้นเรียน พร้อมใช้ทักษะต่างๆ ที่เหมาะสมกับความบกพร่อง

   2) สร้างโอกาสหรือให้โอกาสเด็กพิเศษทำงานร่วมกับเด็กปกติ เพื่อการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน

   3) จัดชั้นเรียนให้เหมาะสม และให้เด็กปกติได้ช่วยเหลือเด็กพิเศษด้วย

   4) การจับคู่ Buddy หรือ สนับสนุนการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

   5) ให้เด็กได้ค้นพบศักยภาพตัวเองให้ได้ ผู้สอนต้องส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้เด็กได้มีการพัฒนาในด้านความเชื่อมั่นและความสำเร็จ ฯลฯ เป็นต้น

ประเด็นที่ 3 การจัดทำตารางกิจกรรม กิจกรรมการเรียนรู้มีความสำคัญกับผู้เรียน โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กปกติทำกิจกรรมร่วมกับเด็กพิการ เช่น ห้องอาหาร ห้องเรียน โรงพลศึกษา ห้องอาบน้ำ ห้องดนตรี สนามเด็กเล่น แล้วจึงระบุกิจกรรมที่มีความหมายสำหรับแต่ละสถานที่ เช่น

ตัวอย่าง การทำตารางเวลาที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างเวลา กิจกรรมและสภาพแวดล้อม

       Reverse Chaining ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวัน เริ่มจากการผูกเชือกรองเท้า หรือสอนผูกหูกระต่าย

       Co – Activity การให้ความช่วยเหลือ แนะนำเมื่อจำเป็นเท่านั้น หรือโดยการปฏิบัติใช้ Hand Over Hand เป็นการค้นหาหรือการตรวจสอบ ครูอาจยืนด้านหลัง จับข้อมือนักเรียน

       Pre – Teaching ครูนำเสนออุปกรณ์หรือความรู้ ความเข้าใจกับเรื่องที่ไม่คุ้นเคยในบทเรียน

       Self – Verbalization นักเรียนอธิบายในสิ่งที่ตนเองทำในขณะปฏิบัติงาน

       Direction – Giving ชี้นำที่ชัดเจน กะทัดรัด ให้นักเรียนมองเห็นภาพของงานที่สมบูรณ์

       Generation นักเรียนต้องการตัวอย่างที่หลากหลายในการใช้อุปกรณ์ จะช่วยให้เข้าใจเร็วขึ้น

       Use of Anesthetics the tic Movement ฝึกซ้ำๆ ในกิจกรรมที่ปฏิบัติ หรือการเคลื่อนไหวกระตุ้นให้จดจำ

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน (Learning Management in Classroom)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนวิชา การจัดการเรียนรู้

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พิมพ์ที่ โรงพิมพ์สหธรรมมิก จำกัด กรุงเทพมหานคร

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางจุติมา รัตนพลแสนย์ และคณะ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์

คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การเรียนรู้จัดเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร เนื่องจากประสบการณ์และการฝึกหัดและจากสภาพแวดล้อม องค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้ ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคม การเรียนรู้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งมีทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญ อาทิเช่น ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกของฟาฟลอฟ สกินเนอร์ ธอรันไดด์ โคท์เลอร์และแบนดูรา

       รูปแบบการจัดการเรียนการสอนมีการจัดหมวดหมู่ของรูปแบบตามลักษณะ วัตถุประสงค์เฉพาะหรือเจตนารมณ์ของรูปแบบมี 5 หมวด อาทิเช่น เน้นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัยและทักษะพิสัย ฯลฯ เป็นต้น รูปแบบการสอนที่เน้นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัยมี 5 รูปแบบ ได้แก่ การสอนมโนทัศน์ สอนตามแนวคิดของยาเย การสอนโดยการนำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า สอนเน้นความจำและสอนโดยใช้ผังกราฟฟิค รูปแบบการสอนตามแนวคิดของกานเย มีผลการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ผลการเรียนรู้หรือความสามารถด้านต่างๆ ของมนุษย์ เกิดจากทักษะทางปัญญา ภาษาหรือคำพูดและเจตคติ และการเรียนรู้และจดจำของมนุษย์ ทักษะการเคลื่อนไหวและเจตคติ

       รูปแบบการสอน โดยการนำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า จะเกิดความคิดรวบยอดในสิ่งที่เรียนและสามารถจัดโครงสร้างความรู้ของตนเองได้ และพัฒนาทักษะอุปนิสัยในการคิดและเพิ่มพูนความรู้ รูปแบบการสอนเน้นความจำ ช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาสาระที่เรียนแล้วสามารถนำไปใช้ได้กับการเรียนรู้สาระอื่น และรูปแบบการสอน โดยใช้ผังกราฟฟิคเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม และสร้างความหมาย ความเข้าใจเนื้อหาข้อมูล พร้อมจัดระเบียบข้อมูลที่เรียนรู้ด้วยผังกราฟฟิคเพื่อง่ายต่อการจำ

       รูปแบบการสอนโดยใช้บทบาทสมมติ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้อื่น เกิดการปรับตัว เปลี่ยนเจตคติ ค่านิยมและพฤติกรรมของตนเองให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์ มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ช่วยให้เกิดแนวคิดแตกต่างจากเดิมและสามารถนำความคิดใหม่ให้เป็นประโยชน์ได้ สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนทางตรงมุ่งให้ผู้เรียนรู้ทั้งเนื้อหา สาระและมโนทัศน์ต่างๆ รวมทั้งฝึกปฏิบัติทักษะต่างๆ

       องค์ประกอบการเขียนแผนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อ แหล่งการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลและบันทึกผลการจัดการเรียนรู้

       รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้ที่นิยมใช้มี

       การเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ต้องให้ครบ 3 ด้าน ประกอบด้วยคามรู้ (K : Knowledge) ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (A : Attribute) และด้านทักษะกระบวนการ (P : Process)

       การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ คือ การกระทำให้สมบูรณ์นำหน่วยย่อยๆ ที่สัมพันธ์กันมาผสมผสานกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวให้ครบสมบูรณ์ในตัวเอง ลักษณะการบูรณาการ มีบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้กับบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ สำหรับรูปแบบบูรณาการมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การสอนบูรณาการแบบทดลองรวมหรือแบบสอดแทรก บูรณาการแบบคู่ขนาน บูรณาการแบบสหวิทยาการ และบูรณาการแบบเชื่อมโยงข้ามวิชา ขั้นตอนการสร้างหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ เริ่มจากการกำหนดหัวเรื่อง ทำเครือข่ายความคิด (Web) หรือผังความคิด (Concept Map) หรือผังกราฟฟิค และจัดเรียงลำดับเนื้อหาและทักษะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องเพื่อนำไปวางแผนการจัดการเรียนรู้

       การเลือกและการใช้สื่อการเรียนรู้ สื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เป็นตัวกลางที่ช่วยให้ผู้ทำได้ดีและประสบความสำเร็จในเวลาที่จำกัด และรูปแบบการสอนโดยการสร้างเรื่องเพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ เจตคติของผู้เรียนในเรื่องที่เรียน และทักษะกระบวนการต่างๆ เช่น ทักษะการคิด ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะการแก้ปัญหา พร้อมทักษะการสื่อสาร

       รูปแบบการสอนตามวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้สมองทุกส่วน ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง รูปแบบการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือช่วยให้เรียนรู้เนื้อหาสาระต่างๆ ด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ และพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ เป็นต้น

       การออกแบบการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะถ่ายทอดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร เป็นการทำความเข้าใจ การปรับปรุง การประยุกต์ใช้วิธีการสอนและตัดสินว่าจะใช้วิธีใดที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์ของความรู้ ทักษะและเจตคติในตัวผู้เรียนเป็นยุทธวิธีการสอนหลักก่อนและจัดเลือกเนื้อหา ให้เป็นสาระการเรียนรู้

ภาพ การวางแผนและการออกแบบการเรียนการสอน

จุดเด่น / ความน่าสนใจของหนังสือ : การออกแบบการเรียนการสอนใหม่ จะมีประสิทธิภาพ ต้องใช้วิธีการออกแบบการเรียนการสอนแบบย้อนกลับ (Backward Design) โดยเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่หลักสูตรกำหนดไว้ โดยการเชื่อมโยงสอดคล้องกันระหว่างกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ มี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแรก กำหนดเป้าหมายปลายทาง ขั้นสอง กำหนดการประเมินผล และขั้นสุดท้ายเป็นการออกแบบการเรียนรู้

       การออกแบบการจัดการเรียนรู้ จะต้องพิจารณาสื่อการสอนที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ข้างต้น ต้องพิจารณาของผลการออกแบบด้วย “Where To” W = วิธีใดช่วยให้นักเรียนรู้ว่าจะไปทิศทางใด   H = กระตุ้นและดึงดูดความสนใจ E= จะทำอย่างไรนักเรียนจะมีส่วนร่วม R = จัดกิจกรรมอย่างไรจึงจะทำให้เข้าใจ T = จะออกแบบเรียนรู้อย่างไรและ O = จัดระบบสิ่งที่ตนเรียนรู้จากความเข้าใจ

       แผนการจัดการเรียนรู้ที่ประมวลมาทั้งหมดในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดให้จากแนวการจัดการเรียนรู้ของคู่มือครูหรือกรมวิชาการภายใต้กรอบที่ต้องการให้เกรดการเรียนรู้ โดยการกำหนดจุดประสงค์ วิธีการดำเนินการหรือกิจกรรม ให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ สื่อ การเรียนรู้ และวิธีวัดผลประเมินผลที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้

       ขั้นตอนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เรียนได้ศึกษาความรู้ เกิดปฏิสัมพันธ์กัน กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การคิดแก้ไขปัญหา สามารถสร้างองค์ความรู้และเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มี 4 ลักษณะ คือ แบ่งตามทรัพยากรการเรียนรู้ แบ่งตามกระบวนการการพัฒนาความคิดตามทฤษฎีของบรูเนอร์ แบ่งตามประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับและแบ่งตามโครงสร้างของสื่อ รูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์มี 3 รูปแบบ ได้แก่ การฟัง การดู และการกระทำ เกณฑ์การเลือกสื่อการเรียนรู้ประกอบด้วยความเหมาะสม ความน่าเชื่อถือได้ ความน่าสนใจ การรวบรวมและความสมดุล คุณภาพด้านเทคนิคและราคา การวางแผนการใช้สื่อการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เริ่มจากการเตรียมตัวผู้สอน เตรียมสภาพแวดล้อม เตรียมความพร้อมผู้เรียน การใช้สื่อและการประเมิลผลการใช้สื่อการเรียนรู้

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือเล่มนี้มีสาระที่น่าสนใจ และสามารถนำไปประยุกต์ได้กับวิชาชีพครู ได้แก่ 1. การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการทักษะวิชาชีพ สามารถนำไปประยุกต์ได้ ตามแผนภาพ ดังนี้

ที่มา : ทิศนา แขมมณี และคณะ

       กระบวนการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทักษะวิชาชีพนั้นประกอบด้วย กระบวนการเตรียมการด้วยการสร้างความเข้าใจและกำหนดช่วงเวลา สำหรับการจัดการเรียนรู้จะใช้วิธีสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน หรือสอดแทรกและกระบวนการการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการทักษะวิชาชีพตามที่วางแผนไว้ ต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมวางแผนด้วย

       ตัวอย่าง แสดงการบูรณาการอาเซียนศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้

สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นหลัก

       การสอนแบบบูรณาการ สามารถนำไปใช้สำหรับการเรียนการสอนได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยผู้สอนอยู่ในระดับขั้นเดียวกัน ควรจะได้มีการประชุมปรึกษาหารือกัน พิจารณาเนื้อหาใดที่ซ้ำซ้อน หรือคล้ายคลึงกัน จะได้นำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน

       2. การบริหารจัดการชั้นเรียน สามารถส่งเสริมการเรียนการสอนให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เป็นสิ่งสัมพันธ์กับการจัดเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของบทบาทความเป็นผู้นำของครู และเป็นกลยุทธ์ในการวางแผนการเรียนรู้ด้วย ทำให้ครูสามารถสร้างข้อกำหนดและข้นตอนการปฏิบัตินำไปสู่พฤติกรรมที่ชัดเจน หลัก การบริหารจัดการชั้นเรียนประกอบด้วย

       1) ต้องยืดหยุ่นตามความเหมาะสมกับชั้นเรียน

       2) ต้องจัดห้องเรียนเพื่อสร้างเสริมความรู้ทุกด้าน

       3) ต้องจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น สภาพแวดล้อมทางกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่และการเรียนของผู้เรียนมาก

       4) ต้องจัดให้เอื้อต่อหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

ปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น

ชื่อผลงานทางวิชาการ : ปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น (Foundation of Philosophy Education)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือประกอบการเรียนวิชา การศึกษา

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : จัดพิมพ์โดย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พิมพ์ที่โรงพิมพ์ บริษัทสหธรรมิก จำกัด กรุงเทพ.

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางสาวแฝงกมล เพชรเกลี้ยง และคณะ ตำแหน่งอาจารย์ คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ปรัชญาเป็นวิธีการมองปัญหาหรือความรู้ที่มีอยู่เพราะปรัชญานำมาประยุกต์ก่อนใช้ จึงเป็นการนำแนวความคิดหรือวิธีการรวมทั้งปัญหาพื้นฐานทางปรัชญามาวิเคราะห์วิชาต่างๆ ชัดจนขึ้น การเกิดปรัชญามาจากความแปลกใจ ความประหลาดใจ การหวนคิด มนุษย์มีสัญชาติญาณอยากรู้อยากเห็น ความสงสัยและลังเลใจ ปรัชญามีหลายประเภท โดยการแบ่งเป็น 4 แบบ โดยเฉพาะแบบที่เป็นสากลมากที่สุด อาทิเช่น ปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์

       ปรัชญาการศึกษา คือ การนำเอาหลักบางประการของปรัชญาแม่บทมาดัดแปลงให้เป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ปรัชญาการศึกษามีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องเข้าใจเรื่องชีวิตของโลกและสิ่งแวดล้อม นักการศึกษาสามารถแบ่งสาขาปรัชญาออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 สาขา ได้แก่ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา ลัทธิปรัชญาการศึกษาประกอบด้วยปรัชญาการศึกษากลุ่มสารัตถนิยม กลุ่มนิรันตรนิยม กลุ่มพิพัฒนาการนิยม กลุ่มปฏิรูปนิยม กลุ่มอัตถินิยมและกลุ่มพุทธปรัชญาการศึกษา

       ทฤษฎีการศึกษา เป็นสมมติฐานหรือหลักการที่ได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลสามารถแบ่งทฤษฎีทางการศึกษาของไทยเป็น 4 กลุ่ม คือ ทฤษฎีการศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา เกี่ยวข้องกับปัญหาและความคิด เกี่ยวข้องกับสังคม และเกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางวิชาการ

       วิวัฒนาการของการศึกษาไทยและต่างประเทศซึ่งการศึกษาไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าการศึกษาช่วยกำหนดทิศทางของชาติ พัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังของชาติมี 3 ยุคสมัย คือ ยุคสุโขทัยจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน

จุดเด่น/ความน่าสนใจของเอกสารประกอบการสอน : วิวัฒนาการของการศึกษาไทยเป็นกระบวนการสร้างและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีความสามารถเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ในยุค

       1. ยุคสมัยสุโขทัยถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีปราชญ์หลายสาขา เช่น ด้านการก่อสร้าง หัตถกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรมและแพทย์แผนโบราณ แบ่งออกเป็นสมัยสุโขทัย พ.ศ. 1781 – พ.ศ. 1921 จัดการศึกษาเป็น 2 ฝ่าย การศึกษาสมัยอยุธยา พ.ศ. 1893 – พ.ศ. 2310 ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขาย ทำให้การศึกษาเจริญมากขึ้น แบ่งการศึกษาออกเป็น 5 รูปแบบ สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2411 มีลักษณะคล้ายอยุธยา มีการเก็บรวบรวมสรรพตำราจากแหล่งต่างๆ ให้รอดพ้นจากการทำลาย เน้นการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะวรรณคดี

       2. ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาเริ่มเป็นแบบแผน มีระเบียบแบบแผน จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎร์ทั่วไป รับแนวคิดวิทยาการต่างๆ ของชาติตะวันตกมาใช้ ต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจัดตั้งโรงเรียน รับคนเข้ารับราชการ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เน้นการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จัดตั้งกองเสือป่า กองลูกเสือ ปลูกฝังความรักชาติ แปลวรรณคดีต่างประเทศเป็นภาษาไทย วางโครงการศึกษาใหม่ส่งเสริมให้หาเลี้ยงชีพนอกเหนือรับราชการบังคับเด็กทุกคนมีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 8 ต้องเข้ารับการศึกษาพื้นฐานจนครบอายุ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่เสียค่าเล่าเรียน สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลีใช้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอุดหนุนการศึกษาแทน ปรับปรุงกระทรวงธรรมการให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ยุบกรมสามัญศึกษา และยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมีแผนการศึกษาชาติและการศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้นหลายฉบับ ทั้งหมดมี 9 ฉบับ อาทิเช่น แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 มี 3 ส่วน คือ จริยธรรมศึกษา เป็นการอบรมศีลธรรมอันดีงาน พุทธิศึกษาให้มีปัญญาความรู้และพลศึกษา เป็นการฝึกหัดให้เป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2479 กำหนดระยะเวลาของการเรียนชั้นประถมศึกษา เพียง 4 ปี เร่งรัดให้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับโดยเร็ว และแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เพิ่ม หัตถกรรม คือ การฝึกหัดอาชีพและการประกอบอาชีพ รวมเป็น 4 ส่วน มีการจัดการศึกษาพิเศษและผู้ใหญ่ด้วย ยกฐานะกองโรงเรียนประชาบาลในกรมสามัญเป็นกรมประชาศึกษา เพื่อจัดการศึกษาพิเศษ และขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น 7 ปี ฯลฯ เป็นต้น

       แนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคต เพื่อพัฒนาคนพัฒนาสังคมเป็นพลังขับเคลื่อนและเป็นภูมิคุ้มกันให้คนไทยมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกของการแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน แนวโน้มแนวบวกนั้นเกิดหลักสูตรใหม่จำนวนมาก มีหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น การศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น ส่วนแนวโน้มทางลบ ด้านคุณภาพการจัดการศึกษา การผลิตบัณฑิตล้นตลาดและคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ

       บทบัญญัติว่าด้วยการศึกษาในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (กฎหมายการศึกษา) จุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาของไทยเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยมีหลักการการจัดการศึกษา 3 ประการ คือ การศึกษาตลอดชีวิต สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับการศึกษา ประกอบด้วยกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กฎหมายรองรับการปฏิรูปการศึกษา คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 เกิดจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 81 ที่กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สิทธิทางการเรียน สิทธิผู้เรียน ให้ความสำคัญการศึกษานอกระบบและจัดสรรทรัพยากร เน้นความเสมอภาคและจัดสรรค่าเล่าเรียนเป็นรายบุคคล

       วัตถุประสงค์และนโยบายเป็นแผนยุทธศาสตร์ชั้นนำสำหรับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในแต่ละแผนงานแต่ละโครงการ อาทิเช่น พัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุลเพื่อเป็นรากฐานหลักของการพัฒนา สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้และพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคนและสร้างสังคมคุณภาพภูมิปัญญาและการเรียนรู้ การบริหารแผนไปสู่การปฏิบัติเชื่อมโยงกันตามแนวนโยบาย 11 ประการ เช่น หน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯเป็นต้น

       ระบบการศึกษา การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาในระบบมี 2 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา กับการศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับปริญญาตรี ส่วนสถานศึกษาที่จัดการศึกษา มี

       1. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ของสถาบันศาสนา ฯลฯ เป็นต้น
2. โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนที่สังกัดสถาบันพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่น
3. ศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน ฯลฯ เป็นต้น

       สำหรับการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้จัดในมหาวิทยาลัย สถาบันวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามกฎหมายเกี่ยวกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา กฎหมายที่ว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้นๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 19) และการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา การฝึกอบรมอาชีพให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ ของเอกชน สถานประกอบการหรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (มาตรา20) ซึ่งสถานศึกษาต้องพัฒนากระบวนการการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา (มาตรา30)

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ประกอบด้วย

       หมวดที่ 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ
หมวดที่ 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา
หมวดที่ 3 ระบบการศึกษา
หมวดที่ 4 แนวทางการจัดการศึกษา
หมวดที่ 5 การบริหารและการจัดการศึกษา
หมวดที่ 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
หมวดที่ 7 ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
หมวดที่ 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา   และ
หมวดที่ 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

การนำไปใช้ประโยชน์และอื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น สามารถนำสาระเนื้อหาไปใช้กับการศึกษาทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะอาชีพครู เนื่องจาก

       ประเด็นที่ 1 การนำเนื้อหา สาระไปพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ควรทำเชิงรุกรัฐบาลควรลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มากขึ้น มุ่งการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบัน

       ประเด็นที่ 2 กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศให้ชัดเจนทันต่อสภาพยุคโลกาภิวัฒน์ สร้างความเจริญที่ยั่งยืนควบคู่กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

       ประเด็นที่ 3 กำหนดทิศทางการพัฒนากำลังคนบนความต้องการของประเทศ เช่น การเปิดหลักสูตรต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น

       ประเด็นที่ 4 ด้านการพัฒนาครู ให้ความสำคัญบทบาทครูและงานของครูให้มากขึ้น

       ประเด็นที่ 5 พัฒนาหลักสูตร พัฒนาผู้เรียน ควบคู่กับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาทักษะการอ่าน ความคิดวิเคราะห์คิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยการจัดการศึกษาให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยเฉพาะพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีทักษะ มีความสามารถหลากหลาย

       ในส่วนแผนการศึกษาชาติเป็นแผนกลยุทธ์ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกันทั้งประเทศ บูรณาการคุณภาพชีวิตทุกๆ ด้าน ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ นโยบาย มาตรการ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นๆ ทิศทางในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ต้องกำหนดกรอบแนวความคิดและเจตนารมณ์ ดังนี้

          1) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2) ยึดคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา
3) เป็นแผนบูรณาการแบบองค์รวม
4) เป็นแผนที่พัฒนาชีวิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

       หลักการและแนวคิดในการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดจากแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ ความต้องการของมนุษย์ ขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมในสังคม ควรนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดเชิงพุทธศาสตร์ของท่านพระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยฺตโต) มาปรับใช้ คือ การพัฒนาหรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องอยู่ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมรองรับได้ ซึ่งหมายถึง การพัฒนาที่สัมพันธ์กับโลกและสิ่งแวดล้อม เป็นการรักษามรดกโลก และมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ซึ่งครอบคลุมและสมดุลกับการพัฒนา 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีสาระสำคัญ 4 ส่วน คือ

       ส่วนที่ 1 มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ส่วนที่ 2 การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร
ส่วนที่ 3 การส่งเสริมบทบาทของกลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ
ส่วนที่ 4 วิธีการในการดำเนินงาน

แนวทางการจัดการศึกษาที่ยั่งยืนนั้นมีแนวทางดำเนินการ 4 ประการ คือ

       1) การส่งเสริมและการปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2) การทบทวนการศึกษาที่เป็นอยู่ในทุกระดับต้องสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
3) การพัฒนาความเข้าใจสาธารณะ ความตระหนักเรื่องความยั่งยืน และการพัฒนาความก้าวหน้าไปสู่สังคมที่ยั่งยืน
4) การฝึกอบรม ต้องเกิดขึ้นทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนด้านทรัพยากรแรงงานมีความรู้ มีทักษะเพราะสำคัญมากต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

       การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องแทรกอยู่ในหลักสูตรและสาระการเรียนรู้ในห้องเรียนต้องมีกระบวนการหล่อหลอมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง มีความเชื่อมั่นและเห็นประโยชน์สามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้ประจำวัน บูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนสอดแทรกในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

       เครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ ต้องครอบคลุมประเด็น ต่อไปนี้

       1) เครือข่ายองค์ความรู้สร้างสรรค์ของบุคลากรทางการศึกษา
2) การผลิตสื่อออนไลน์ เช่น เกม VDO Clip และสื่ออื่นๆ นำเสนอผ่านอินเตอร์เน็ตให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็กและเยาวชน
3) จัดการความรู้ผ่านระบบภายในโรงเรียน ผสมผสานกับบริษัทต่างๆ เข้าด้วยกันแบบบูรณาการทั้งโรงเรียน บ้านและชุมชน
4) กระตุ้นเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อสีขาวออกสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงเด็ก

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร


 

การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขากลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางจุติมา รัตนพลแสนย์ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และคณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การพัฒนาหมายถึง การทำให้เจริญงอกงามเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งดีกว่าเดิมอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาของสังคมหรือประเทศต้องมีแผนหรือแนวทางของการพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทางและควบคุมการดำเนินการพัฒนาให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ การพัฒนาในบริบทของสังคมไทยจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ

       การศึกษาเป็นปัจจัยสำหรับด้านต่างๆ ทุกด้าน ช่วยในการวางแผนกำลังคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ตรงตามเป้าหมาย การพัฒนาการศึกษาให้กับประชาชนของประเทศจึงต้องมีแผนหรือแนวทางของการพัฒนาเพื่อกำหนดทิศทาง ประชาชนต้องมีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยของการบริหารประเทศด้วย

       การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มี 2 แนวทาง คือ แนวอนุรักษ์นิยม พัฒนามนุษย์ให้มีความรู้คู่คุณธรรมและแนวเสรีนิยม พัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้มีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติ กระบวนการพัฒนามี 4 ด้าน คือ ด้านกาย ศีล จิตและปัญญา

       การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นผลมาจากแบบจำลองการพัฒนาในอดีตที่ผ่านมาที่เน้นทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการใช้และกอบโกยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติขนานใหญ่ ก่อให้เกิดมลภาวะในลักษณะต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโดยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักในการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ การธำรงรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ แนวคิดและแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย แนวคิดการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การพัฒนาคุณภาพด้วยคุณธรรมนำความรู้ แนวทางการจัดการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการพัฒนาตามแนวพระพุทธศาสนา

       บทบาทของการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาในบทบาทของกลไกการพัฒนาบุคคล การถ่ายทอดวัฒนธรรมและเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ แนวคิดการพัฒนากับการศึกษาไทยในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาโดยการเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมและประโยชน์ โดยการปรับบทบาทภาครัฐมาเป็นผู้กำกับนโยบาย แผน มาตรฐานและส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน และการกระจายอำนาจการบริหารไปยังสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาให้มีอิสระ คล่องตัว ฐานะเป็นนิติบุคคล

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอนเล่มนี้มีสาระสำคัญหลายประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 กล่าวถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาซึ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ ประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กล่าวถึงลักษณะเด่นของแต่ละแผน และจุดเน้นของการพัฒนาดังนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 (2504-2509) เป็นเครื่องมือรวบรวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศกับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 (2510-2514) ให้ความสำคัญกับหลักพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง ฯลฯ เป็นต้น

       แผนพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์นั้นเป็นการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยขึ้นอยู่กับแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจด้านการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านการศึกษา คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2475 , 2478 , 2503 , 2512 , 2520 , 2535 , 2545 – 2559, 2552 – 2559 พบปัญหาจากการพัฒนาว่าต้นเหตุที่จะขจัดปัญหาการพัฒนาที่ไม่พึ่งประสงค์คือ ต้องเสริมสร้างความเข็มแข็งด้วยการพัฒนามนุษย์เพราะการพัฒนามนุษย์ต่างจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

       การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบยั่งยืน เรียกว่า ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการอนุรักษ์โลกโดยมีวัตถุ 3 ประการ คือ การธำรงรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ โดยเน้นการพัฒนาที่ท้องถิ่นและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งการพัฒนาที่มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสม การพัฒนาแบบยั่งยืน หมายถึง รูปแบบการพัฒนาที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความขาดแคลนหรือเกิดภาวะมลพิษซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Sustainable Development แนวคิดการอนุรักษ์ได้ผนวกเข้ากับการจัดทำแผนพัฒนาประเทศทำให้เกิดแนวทางพัฒนาแบบใหม่ คือ การพัฒนาแบบยั่งยืน กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทุกสาขา ดังที่ปัจจุบันแนวความคิดในการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทุกสาขา โดยที่แต่ละระบบสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายของตนเองได้ทั้งนี้เป้าหมายของระบบทางชีววิทยา คือ การนำไปสู่ความหลากหลายของพันธุกรรม (Genetic –Enhancing ) และมีสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามแนวความคิดของ Brown และ Barbier กล่าวถึง ลักษณะพึงประสงค์ชัดเจน ประกอบด้วยด้านระบบชีววิทยา ด้านระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมแนวคิดและแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย พัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การพัฒนาคุณภาพคนด้วยคุณธรรมนำความรู้ ฯลฯ เป็นต้น สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาตามการพัฒนาแนวพุทธศาสนานั้นได้นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้หรือประยุกต์ในการบริหารและพัฒนาผู้เรียน เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ เช่น รูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นระบบพัฒนาไตรสิกขาด้านปัญญา จิตใจและพฤติกรรม

ประเด็นที่ 2 กล่าวถึงบทบาทของการศึกษากับการพัฒนาว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นเรื่องชีวิตมนุษย์เพราะเป็นวิถีแห่งการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถสรุปบทบาทของการศึกษาได้ดังนี้ 1) บทบาทของกลไกการพัฒนาบุคคล 2) กลไกถ่ายทอดวัฒนธรรม 3) เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ ปัจจุบันเป็นยุคสังคมแห่งการเรียนรู้จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมและกำหนดเงื่อนไข ปัจจัยที่เหมาะสม วัตถุประสงค์ในการแบ่งระบบการศึกษา 6 ประการ คือ ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ตลอดช่วงอายุอย่างต่อเนื่อง สามารถเทียบโอนในระหว่างรูปแบบเดียวกันและต่างรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น แนวทางในการจัดการศึกษาในแต่ละรูปแบบมีการศึกษาในระบบ ประกอบด้วย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษานอกระบบไม่แบ่งระดับและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ประเด็นที่ 3 แนวคิดการพัฒนากับการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้คำนึงถึงการดำเนินงานตามนโยบายแห่งรัฐ สำหรับแนวทางในการพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้มีการขยายรูปแบบการเรียนการสอนมุ่งให้เด็กเรียนให้รู้ ฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบเข้าใจและควบคุมตนเองได้ สร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนให้มีความพร้อมด้านสติปัญญา อารมณ์และศีลธรรม ภายใต้ระบบการศึกษาทั้งปฏิบัติและวิชาการ นอกจากนี้ยังเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง จนเกิดนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้กับห่วงโซ่เป็นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : นอกจากทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นนั้น ยังพบว่าหนังสือเล่มนี้มีจุดอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนกับการจัดการศึกษาในสังคมที่กล่าวถึงกระแสการพัฒนาและสภาพเศรษฐกิจย่อมมีผลทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาและทวีความรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นปัญหาของสังคมในทุกๆ สังคม อาทิเช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทารุณแรงงานเด็กและสตรี ปัญหาธุรกิจบริการทางเพศ ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และปัญหาภาวะวัยเจริญพันธุ์และประชากรสูงวัย ดังนั้นการศึกษาจำเป็นต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกด้าน หลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนในการจัดการศึกษาต้องสนับสนุนและส่งเสริมหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เข้มแข็งเป็นความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ศักยภาพของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่พบปัญหาอุปสรรคของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย อาทิเช่น การยกระดับความตระหนัก การนำเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรจุในหลักสูตร และการพัฒนานโยบาย ฯลฯ เป็นต้น

       กลยุทธ์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระตุ้นให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสำคัญ 2 ประเด็น คือ ความซับซ้อนและพลังความร่วมมือระหว่างประเด็นที่คุกคามความยั่งยืน เป็นต้น

       การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของไทยมุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย เพื่อให้เกิดกรเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ ทัศนคติ ระบบความเชื่อต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมของบุคคลเพราะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนวิชาการศึกษา

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : พิมพ์ที่ บริษัท สหธรรมิก จำกัด กรุงเทพฯ โดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางจุติมา รัตนพลแสนย์ และคณะ ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : การจัดการเรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร สืบเนื่องมาจากประสบการณ์และการฝึกหัด เป็นกระบวนการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์กัน แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ สิ่งเร้า การสัมผัส การรับรู้ มโนทัศน์และการตอบสนอง องค์ประกอบที่สำคัญต่อการรับรู้มีทางกาย ทางจิตใจและด้านสังคม

     ทฤษฎีการเรียนรู้แบ่งเป็น ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบแสดงอาการการกระทำ ทฤษฎีการเชื่อมโยง กลุ่มทฤษฎีความคิดความเข้าใจหรือทฤษฎีสนาม และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

     รูปแบบการจัดการเรียนการสอน 5 หมวด ได้แก่ เน้นพัฒนาด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย ด้านทักษะพิสัย ด้านกระบวนการและประสบการณ์

     การออกแบบการเรียนการสอนและการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ คือ การประยุกต์ใช้วิธีสอนโดยครู เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การออกแบบเป็นวิธีการสอนหลักก่อน และเสริมยุทธวิธีรองและต้องรู้จักเลือกเนื้อหา การออกแบบจะเริ่มต้นจากการกำหนดวัตถุประสงค์ ต่อไปออกแบบกิจกรรม และทำการวัดและประเมินผล ในการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ ต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนดำเนินการเขียนแผนการสอน ซึ่งประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และบันทึกผลการจัดการเรียนรู้

     หลักสูตรบูรณาการมีการผสมผสานสาระตั้งแต่สองกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสองวิชาขึ้นไป ขั้นตอนการสร้างหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ได้แก่ กำหนดหัวเรื่อง ทำเครือข่ายความคิด จัดเรียงลำดับเนื้อหาและทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่อง เพื่อนำไปวางแผนการจัดการเรียนรู้ การเลือกใช้สื่อการเรียนรู้มีบทบาทมากในการจัดการเรียนการสอน สื่อการสอนแบ่งได้ 4 ลักษณะ ได้แก่ สื่อการเรียนรู้ตามทรัพยากรการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้แบ่งตามกระบวนการพัฒนาความคิดตามทฤษฎีของบรูเนอร์ สื่อการเรียนรู้แบ่งตามประสบการณ์การเรียนรู้ ที่ผู้เรียนได้รับและสื่อการเรียนรู้แบ่งตามโครงสร้างของสื่อ

     การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้และส่งผลต่อประสิทธิภาพของผู้เรียน หลักการจัดชั้นเรียนต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นความความเหมาะสม สร้างเสริมความรู้ทุกด้านโดยการจัดอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม จัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น สภาพแวดล้อมทางกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ : กล่าวถึง ทฤษฎีการเรียนรู้มี 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning Theory) เป็นการทดลองของ    พาพลอฟ (Ivan P.Pavlov) เป็นการกำหนดสิ่งเร้าก่อนวางเงื่อนไข ทดลองกับสุนัข ใช้เสียงกระดิ่งเป็นสิ่งเร้าและสามารถสร้างกฎการเรียนรู้จากทฤษฎี ได้ดังนี้ คือ ต้องมีการเสริมสร้างแรงการลบพฤติกรรม ฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ ฯลฯ เป็นต้น

2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบแสดงอาการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ของสกินเนอร์ (Burshus F.Skinner) ทดลองกับหนูและนกพิราบ กล่าวถึง พฤติกรรมคือการกระทำของอินทรีย์แสดงออกมาจากสิ่งแวดส้อม

3. ทฤษฎีเชื่อมโยง (Connectionism Theory) ของเอ็ดเวิด ลี ธอร์นไดด์ (Edward Lee Thorndike) เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง คือ การแก้ปัญหา

4. กลุ่มทฤษฎีความคิด ความเข้าใจหรือทฤษฎีสนาม (Cognitives Field Theory) ทดลองกับลิงซิม แพนซี การเรียนรู้แบบหยั่งรู้หรือหยั่งเห็น

5. ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning or Observational Learing or Modeleling Theory) ของอัลเบิร์ต แมนดูรา (Albert Bendura) เชื่อว่าพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการสังเกตและเลียนแบบบุคคลที่สนใจหรือผู้ใกล้ชิด

     รูปแบบและเทคนิคการจัดการเรียนการสอนมี 5 หมวด คือ รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นพัฒนาด้านพุทธิสัยมี 5 รูปแบบ เช่น การสอนมโนทัศน์ การสอนเน้นความจำ ฯลฯ เป็นต้น รูปแบบการเรียนการสอนเน้นการพัฒนาด้านจิตพิสัยมี 3 รูปแบบ เช่น การสอนตามแนวคิดการพัฒนาด้านจิตพิสัยของบลูม และการสอนใช้บทบาทสมมติ ฯลฯ เป็นต้น รูปแบบการสอนที่เน้นการพัฒนาด้านทักษะพิสัยมี 3 รูปแบบ ได้แก่ พัฒนาทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันและปฏิบัติตามองค์ประกอบของทักษะ เป็นต้น รูปแบบการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการมี 4 รูปแบบ คือ สอนแบบสืบสอบและแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม และการสอนกระบวนการคิดอุปนัย ฯลฯ เป็นต้น และรูปแบบการสอนที่เน้นการบูรณาการมี 4 รูปแบบๆ ได้แก่ รูปแบบการสอนโดยตรง โดยการสร้างเรื่อง ฯลฯ เป็นต้น

     การออกแบบการจัดการเรียนรู้ ต้องเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ ออกแบบกิจกรรมและวัดและประเมินผลการออกแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพมากเรียกว่า Backward Design คือ การออกแบบย้อนกลับ 3 ขั้นตอน  คือ กำหนดเป้าหมายปลายทาง กำหนดการประเมินผล และออกแบบการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการสอนที่ช่วยให้ครูสามารถจัดกระบวนการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของนักเรียน องค์ประกอบของการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ได้แก่ สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อแหล่งการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ ในการจัดการเรียนการสอนสามารถใช้บูรณาการ คือ การจัดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาในทางศาสตร์จัดเนื้อหาผสมผสานกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน เพราะการบูรณาการเป็นการผสมผสาน การเชื่อมโยงทำให้กลมกลืน สมดุลหรือสมบูรณ์ โดยใช้วิธีการบูรณาการแบบหลอมรวมหรือแบบสอดแทรก แบบคู่ขนาน แบบสหวิยาการ และแบบเชื่อมโยงข้ามวิชา เริ่มจากการกำหนดหัวเรื่อง (Theme) ทำเครือข่ายความคิด (Web) หรือยังความคิด (Concept Map) หรือยังกราฟฟิค (Graphic Organisers) จัดเรียงลำดับเนื้อหา ทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปวางแผนการจัดการเรียนรู้และวางแผนการจัดการเรียนรู้

     การเลือกและการใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญมากกับการจัดการเรียนรู้ นำมาใช้จัดกิจกรรม ซึ่งสื่อการเรียนรู้แบ่งเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ การเรียนรู้ตามทรัพยากรการเรียนรู้ สื่อตามกระบวนการพัฒนาความคิดตามทฤษฎีของบรูเนอร์และสื่อตามลักษณะโครงสร้างของสื่อ หลักการเลือกสื่อใช้สื่อต้องเหมาะสม เชื่อถือได้ น่าสนใจ การรวบรวมและความสมดุล คุณภาพด้านเทคนิคและราคา สำหรับการวางแผนการใช้สื่อต้องเริ่มจากการเตรียมตัวผู้สอน การเตรียมสภาพแวดล้อม การเตรียมความพร้อมผู้เรียน ต้องใช้ตามแผนการเรียน และการประเมินการใช้สื่อการเรียนรู้ และขั้นตอนการใช้สื่อ เริ่มจากการนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นดำเนินการสอนหรือประกอบกิจกรรม ขั้นวิเคราะห์และฝึกปฏิบัติ ขั้นสรุปบทเรียนและขั้นประเมินผู้เรียน

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือวิชาการเล่มนี้ สามารถนำเนื้อหาสาระไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้ทุกเนื้อหา ทุกรายวิชา โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่สำคัญมาก ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนด้วย โดยเฉพาะผู้สอนต้องจัดกระทำทุกอย่าง ในห้องเรียนให้เป็นระบบระเบียบที่ดี เพราะการจัดชั้นเรียน คือ การจัดสภาพห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์และกิจกรรม รวมทั้งวิธีการในการจัดการพฤติกรรมของเด็กด้วย เพื่อรักษาบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เด็กจะเกิดความร่วมมือในกิจกรรมการเรียนรู้ได้

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ภาครัฐ (Human Resource Management in the Public Sector)

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การบริหารทรัพยากรมนุษย์ภาครัฐ (Human Resource Management in the Public Sector)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นายพยนต์ เอี่ยมสำอาง ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRM) เป็นการจัดการทรัพยากรคน เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง สามารถปฏิบัติงานจนก่อให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ต่อสังคมได้มากมาย เริ่มตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก การบรรจุและแต่งตั้ง การพัฒนา การประเมินผลการปฏิบัติงาน การจัดสวัสดิการและการให้พ้นจากการปฏิบัติงาน ผู้บริหารพนักงานจะต้องทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายต่างมีความสำคัญและสัมพันธ์กัน ผู้บริหารจะต้องสนับสนุนการทำงานเต็มศักยภาพ

       ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีหลักการ รูปแบบและวิธีการบริหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาทางวิชาการ ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์อาจจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ระบบคุณธรรมและระบบอุปถัมภ์

       สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี แนวคิดทฤษฎีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ แนวคิดการจัดการยุคคลาสสิค มี 3 แนวคิด คือ การจัดแบบวิทยาศาสตร์ แบบกระบวนการและแบบระบบราชการ ส่วนแนวคิดการจัดการยุคพฤติกรรมศาสตร์มีหลายประเภท เช่น แบบมนุษย์สัมพันธ์ แบบสังคมศาสตร์ และแบบพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น กระบวนการวางแผนทรัพยากรมนุษย์มีขั้นตอนสำคัญดังนี้ การกำหนดทิศทางขององค์การ การคาดการณ์อุปสงค์กำลังคน การคาดการณ์อุปทานกำลังคน และการกำหนดความต้องการทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น เทคนิคการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วย เทคนิคเดลฟาย เทคนิคการพยากรณ์แนวโน้ม เทคนิคการพยากรณ์จากหน่วยงานภายในองค์กรและการสร้างภาพจำลอง กำลังแรงงาน

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : ผู้บริหารและพนักงานจะต้องทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญและสัมพันธ์กัน ผู้บริหารจะต้องสนับสนุนการทำงานเต็มศักยภาพ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้ คือ ช่วยให้พนักงานพัฒนาตนเองเต็มที่มีความสุขจากการทำงาน องค์การเจริญก้าวหน้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์การต้องสรรหาคนที่มีคุณภาพที่เหมาะสมกับงานและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ พนักงานสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเป็นกระบวนการเชื่อมโยงหลายส่วนระหว่างเป้าหมายของบุคคลกับเป้าหมายขององค์การไปสู่ทิศทางเดียวกัน

       วัตถุประสงค์ของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสรรหาเลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความประพฤติดี ใช้ประโยชน์ของบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุดรักษาไว้เพื่อให้อยู่กับองค์การนานๆ และเพิ่มพัฒนาสมรรถภาพอย่างต่อเนื่อง สรุปบริหารเพื่อให้ได้คนเก่ง คนดีและมีความสามารถเข้ามาทำงาน การบริหารราชการแผ่นดินของไทยต้องมีบุคลากรคือ ข้าราชการเป็นผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 มาตรา 5 กล่าวว่า การแบ่งราชการออกเป็นส่วนๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้กำหนดตำแหน่งและเงินเดือน โดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงานของส่วนราชการนั้นๆ ไว้ด้วยการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นการบริหารงานบุคคลในระบบราชการไทยต้องมีกฎหมายรองรับประกอบด้วย ประเภทของราชการ มีข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ได้แก่ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับพนักงานราชการ คือ บุคคลได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ ได้แก่ พนักงานราชการทั่วไปกับพนักงานราชการแบบพิเศษและตำแหน่งของพนักงานราชการจำแนกตามลักษณะงานและผลผลิตของงาน คือ กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิค กลุ่มงานบริหารทั่วไป กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะและกลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ

       ความแตกต่างระหว่างการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของรัฐกับเอกชนในด้านต่างๆ อาทิเช่น ด้านกฎหมาย ด้านการใช้กำลังคน การเลือกสรรคน ความมั่นคงในตำแหน่งและความรับผิดชอบต่อประชาชน ข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมือง หมายถึง บุคคลที่ปฏิบัติงานของรัฐ มีโอกาสก้าวหน้าจนกว่าจะออกจากงาน ซึ่งลักษณะสำคัญของข้าราชการประจำมี 5 ประการ คือ การมีหลักประกันความมั่นคง อยู่ภายใต้กฎแห่งความสามารถการมีโอกาสเท่าเทียมกัน มีความเป็นกลางในทางการเมืองและมีองค์กรกลางจัดระเบียบและควบคุม

       ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ จำแนกเป็น 2 รูปแบบ คือ ระบบคุณธรรม (Merit System) จำแนกได้ 4 ประการ ได้แก่ หลักความเสมอภาค (Equality of Opportunity) หลักความสามารถ (Competence) หลักความมั่นคง (Security on Ienure) และหลักความเป็นกลางทางการเมือง (Polical Neutrality) และระบบอุปถัมภ์ (Patronage System)

       การใช้ระบบคุณธรรมการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทำให้องค์การได้คนที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาปฏิบัติงานและบุคลากรก็จะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากผู้บริหารด้วยความเป็นธรรมตามหลักเกณฑ์ที่แน่นอน กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การกำหนดความต้องการทรัพยากรมนุษย์ การตอบสนองความต้องการของทรัพยากรมนุษย์และการธำรงรักษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะฉะนั้นกระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการธำรงรักษาพัฒนาจนถึงการพ้นตำแหน่ง นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 – 2559)

       ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการนำแนวคิดทฤษฎีขององค์การมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่แนวการจัดการแนวคลาสสิค หรือสมัยเดิม การจัดการแนวพฤติกรรมศาสตร์ การจัดการเชิงปริมาณและการจัดการสมัยใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

       ความสำคัญของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญ ได้แก่ ความสำคัญต่อองค์การและความสำคัญต่อผู้บริหาร วัตถุประสงค์ของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ 5 ประการ คือ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่ต้องการให้จำนวนที่ต้องการพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ให้สามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆ ขององค์การได้ และเพื่อใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฯลฯ เป็นต้น ความจำเป็นที่ต้องการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ ดังนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองระดับโลก การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและค่านิยมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความสำเร็จในการจัดทำแผนทรัพยากรมนุษย์มีปัจจัยสำคัญกำหนดความสำเร็จไว้ดังนี้ คือ ความมุ่งมั่นและเอาใจใส่ของผู้บริหารระดับสูง งานข้อมูล การมีส่วนร่วมของหน่วยงานในองค์การและการรายงาน ติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ เทคนิคการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ อาทิเช่น เทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) เทคนิคการพยากรณ์แนวโน้ม (Tread Technique) เทคนิคการพยากรณ์จากหน่วยงานภายในองค์การและเทคนิคการสร้างภาพจำลองกำลังแรงงาน (Model)

       การบรรจุและแต่งตั้ง ภายหลังการสรรหาและคัดเลือกบุคคลได้แล้ว เป็นการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการว่าจะรับบุคคลใดเป็นพนักงาน ควบคู่ไปกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง จึงเป็นการมอบหมายภารกิจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามคำบรรยายลักษณะงานให้พนักงานใหม่สอดคล้องตรงกับความรู้ ความสามารถของบุคคลนั้น ขณะเดียวกันผู้ได้รับการบรรจุแล้วควรปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบตามหน้าที่ของตนและควรมีพัฒนาตนเองตลอดเวลา หลักของการแต่งตั้งข้าราชการจะต้องคำนึงถึงหลักประกันความมั่นคง (Security of Lenure) หลักความเสมอภาค (Rule of Competence) หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) และหลักความเสมอภาคในโอกาส (Equality of Opportunity)

       การเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนไทยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับข้าราชการแต่ละประเภท โดยมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เป็นเสมือนพระราชบัญญัติกลางที่กฎหมายบริหารงานบุคคลฝ่ายพลเรือนยึดเป็นแนวและมาตรฐาน โดนยึด ก.พ. เป็นบรรทัดฐานการเลื่อนตำแหน่งมีหลายวิธี อาทิเช่น การสอบแข่งขัน การสอบคัดเลือก โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ความประพฤติ ประวัติการรับราชการและความเหมาะสมกับตำแหน่งเป็นเกณฑ์

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญ : องค์การเมื่อสรรหาคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับตำแหน่งที่เหมาะสม แต่ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการดำเนินงานในทุกตำแหน่ง จึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยวิธีการฝึกอบรม

       การฝึกอบรม หมายถึง การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ความชำนาญและเปลี่ยนแปลงเจตคติ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงาน โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูง การฝึกอบรมถือว่าเป็นงานส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร ซึ่งต้องดำเนินการอย่างไม่หยุดยั้ง การฝึกอบรมมีหลายประเภท อาทิเช่น การฝึกอบรมปฐมนิเทศ การฝึกอบรมการทำงาน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับนักบริหาร เป็นต้น สำหรับวิธีการฝึกอบรมมี 3 วิธี ได้แก่ วิธีการบอกกล่าว (Telling Method) เช่น การบรรยาย (Lecture) การประชุมอภิปราย (Conference) การศึกษากรณีตัวอย่าง (Case Study) และการสัมมนา (Seminar) วิธีการกระทำ (Doing Method) เช่น การระดมสมอง (Brainstorming) การทดลองเรียนงาน (Understudies) การสอนแนะ (Coaching) และการประชุมกลุ่มซินดิเคท (Syndicate) และวิธีการแสดง (Showing Method) เช่น การสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) การแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) การสาธิต (Demonstration) และการศึกษาดูงานนอกสถานที่ (Field Trip)

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือเล่มนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในองค์การของรัฐ วิสาหกิจ ธุรกิจ แม้แต่ธุรกิจหรือกิจการต่างๆ ที่มีบุคลากรปฏิบัติงาน ที่เป็นระบบนายจ้าง ลูกจ้าง โดยเฉพาะการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง การพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง การพิจารณาปรับปรุงสมรรถภาพของผู้ปฏิบัติงานให้ดีขึ้น การพิจารณาความดีความชอบประจำปี จะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง จะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรแต่ละคนก่อนว่า มีความรู้ความสามารถหรือคุณลักษณะที่เหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ พิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาว่าได้มาตรฐานเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ ฉะนั้นการประเมินผลงานจึงมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นองค์การของรัฐ บุคลากรมีทั้งข้าราชการ พนักงาน บุคลากรและเจ้าหน้าที่ หลักในการประเมินผลการปฏิบัติงานถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารทุกระดับ ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการประเมินเป็นอันดับแรก ต้องเลือกใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารด้วย ต้องแจ้งผลการประเมินให้พนักงานทุกคนทราบและต้องทำอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่อง

       กระบวนการในการประเมินผลการปฏิบัติงานมีขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอน คือ กำหนดวัตถุประสงค์ในการประเมิน กำหนดแบบและลักษณะงานที่จะประเมิน กำหนดตัวผู้ประเมินและทำการอบรมผู้ทำการประเมิน กำหนดวิธีการประเมินและการวิเคราะห์และการนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้

       ในปัจจุบันพบว่า การประเมินผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย มีปัญหาสามารถสรุปได้ว่า เกิดจากตัวผู้ประเมินขาดการตัดสินใจ เช่น ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากความคล้ายคลึงกับตน ความผิดพลาดจากการเปรียบเทียบ และผู้ประเมินมีความโน้มเอียงในการกำหนดแบ่งระดับการประเมิน เช่น การให้คะแนนต่ำ สูง ปานกลาง จึงไม่สามารถแยกคนดีและไม่ดียากและความผิดพลาดจากการให้คะแนน ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ความผิดพลาดยังเกิดจากเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินและพฤติกรรมการเมืองในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

       แนวทางแก้ไขสามารถกระทำได้ เช่น ถ้าเกิดจากตัวผู้ประเมิน ควรจัดให้เกิดการอบรมผู้ประเมินก่อน เป็นต้น นอกจากนั้นแก้ไขที่ระบบและเกณฑ์การประเมินของหน่วยงานควรเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีมาตรฐานเชื่อถือได้สำหรับ เครื่องมือการประเมิน ควรเลือกใช้เครื่องมือการประเมินของหน่วยงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ต้องผสมผสานกับข้อมูลข่าวสารที่ใช้ในการประเมิน ควรจัดให้มีคลังข้อมูล (Data Warehouse) เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศและพฤติกรรมทางการเมืองนั้น ช่วยทำให้เกิดความแม่นยำและยุติธรรมโดยฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน

       ความมุ่งหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คือ การให้บุคลากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรโดยใช้ความรู้ความสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันนี้พบบุคลากรจะมีความรู้ความสามารถเพียงใดก็ตามจะมีปัญหาเรื่องความประพฤติ ซึ่งการควบคุมความประพฤติของบุคลากร โดยส่วนใหญ่ได้แก่ กฎหมาย หากผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษและยังถูกควบคุมความประพฤติ โดยวินัยของข้าราชการอีกด้วยเพราะวินัยขององค์การราชการนั้น หมายถึง ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ซึ่งใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงานราชการ จึงสรุปว่า ข้าราชการต้องสนับสนุนการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญด้วยบริสุทธิ์ใจ สุภาพเรียบร้อย เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา อุทิศเวลาให้แก่ราชการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประพฤติชั่ว รักษาและปฏิบัติตามธรรมเนียมของราชการและต้องรักษาความลับของทางราชการ

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร