ชื่อผลงานทางวิชาการ : เอกสารทางวิชาการ เรื่อง บทบาทของการศึกษากับการก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารและ Power Point สรุปสาระ การบรรยายของ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : โครงการการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การปฏิบัติการศึกษาไทยสู่ผลลัพท์ Thailand 4.0 ” และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 ของสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20-22 เมษายน 2560 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต จังหวัดปทุมธานี

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา สรุปโดย รองศาสตราจารย์ ศรีมงคล เทพเรณู ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนสตรีวัดระฆัง กรุงเทพฯ และผู้นำร่วมประชุมสัมมนา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของเอกสารและ Power Point ประกอบการบรรยาย : การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 – 2551 แต่ผลการปฏิรูปการศึกษาพบว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่ตั้งเป้าหมายไว้และปัจจุบันยังอยู่ในช่วงปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 หรือเรียกว่า “การปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่ 2 พ.ศ. 2552 – 2561 ” ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 8 ปี แต่ปัญหาคุณภาพการศึกษาในภาพรวมกล่าวว่ายังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะด้านคุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้เรียน ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านประสิทธิภาพและการบริหารจัดการ การเพิ่มและการกระจายโอกาสทางการศึกษายังไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม ในด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและการวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศที่จะพยายามสื่อสารองค์ความรู้ใหม่โดยการกำหนดนโยบายการบริหารการศึกษาไทย 4.0 กระทรวงศึกษาธิการต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทยสู่ผลลัพท์ Thailand 4.0 ให้สำเร็จ

       ประเด็นของการปฏิรูปการศึกษาประกอบด้วยทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทักษะของประชากรในทศวรรษที่ 21 รัฐธรรมนูญ/แผนการศึกษาแห่งชาติ 2560 -2579 และการศึกษากับการเปลี่ยนแปลง

       บริบทการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยและภาพคนไทยในทศวรรษที่ 21 ได้แก่

       1. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Trend)

            – พลวัตการเปลี่ยนแปลงโลกจากก้าวผ่านจากทศวรรษที่ 20 เข้าสู่ทศวรรษที่ 21

            – แนวโน้มใหญ่ที่สำคัญของโลก (Mega Trend)

2. แรงขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค เกิดจากการรวมตัว รวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยใช้กรอบความร่วมมือที่มีความสำคัญใกล้ชิดกับประเทศไทย

3. ประเด็นภายในประเทศไทย (Local Issues) ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นปัญหาภายในประเทศไทย (Local Issues) กับยุทธศาสตร์ของประเทศ (Country Strategy)

สรุปสาระสำคัญของการบรรยายและเอกสาร : ยุทธศาสตร์ชาติ : กรอบการพัฒนาระยะยาว (20 ปี) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุขและตอบสนองต่อการบรรลุ ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้วและสร้างความสุขของคนไทย ความมั่งคั่ง เสมอภาคและเป็นรูปธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

1 = ความมั่นคง

2 = การสร้างความรู้สามารถการแข่งขัน

3 = การเสริมสร้างสมองเสริมสร้างศักยภาพ

4 = การสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันในสังคม

5 = การสร้าง การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6 = การปรับสมดุลและพัฒนาระบบริหารจัดการภาครัฐ

       ความมั่งคง : คือ การมีความมั่นคงปลอดภัย จากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือนและปัจเจกบุคคล และมีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง ประเทศไทยมีความมั่นคงเป็นเอกราชและอธิปไตย มีสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่เข้มแข็งเป็นศูนย์กลางและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน ระบบการเมืองที่มั่นคงเป็นกลไกที่นำไปสู่การบริหารประเทศที่ต่อเนื่อง โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลสังคมมีความปรองดองและความสามัคคี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนาประเทศ ชุมชน มีความเข้มแข็ง ครอบครัวมีความอบอุ่น ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีงานและรายได้ที่มั่นคงพอเพียงกับการดำรงชีวิต มีที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และฐานะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีความมั่นคงของอาหาร พลังงานและน้ำ

       ความมั่งคั่ง :  ประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ยกระดับเป็นประเทศในกลุ่มประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาลดลง ประชากรได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถสร้างรายได้ทั้งจากภายในและภายนอก ประเทศสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต และเป็นจุดสำคัญของการเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งการคมนาคมขนส่ง การผลิตการค้า การลงทุน และการทำธุรกิจ มีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก เกิดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างมีพลัง และมีความสมบูรณ์ในทุนที่สามารถสร้างการพัฒนาต่อเนื่อง ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญา ทุนการเงิน ทุนเป็นเครื่องมือเครื่องจักร ทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       ความยั่งยืน : การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติเกินพอดี ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจนเกินความสามารถในการรองรับและเยียวยาของระบบนิเวศน์ การผลิตและการบริโภคเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับกฎ ระเบียบของประชาคมโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพที่ดีขึ้นมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเอื้ออาทร เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมแบบยั่งยืนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาในทุกระดับอย่างสมดุลมีเสถียรภาพและยั่งยืนและประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมยึดถือและปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

       ไทยแลนด์ 4.0 มีวิวัฒนาการจาก : โมเดลเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา บูรณาการกับความมั่นคงของชาติ ดังนี้

1. โมเดลประเทศไทย 1.0 : เป็นเกษตรกรรม
: เป็นหัตกรรม
2. โมเดลประเทศไทย 2.0 : เป็นอุตสาหกรรมเบา
: เป็นการทดแทนการนำเข้า
: เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูก
3. โมเดลประเทศไทย 3.0 : เป็นอุตสาหกรรมหนัก
: เน้นส่งเสริมการส่งออก
: เน้นการลงทุนและการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

       จะเห็นว่าทั้ง 3 โมเดลนั้น ประเทศเผชิญกับ 3 กับดัก คือ ความไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำและประเทศรายได้ปานกลาง การขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 หรือ New Engines for Growth (ดังภาพ)

ทักษะที่จำเป็นเพื่อพัฒนาไปสู่ Thailand 4.0 ทักษะที่ต้องพัฒนาสำหรับคนไทย เพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0

1. Critical Thinking & Evaluation

2. Productivity & Innovation

3. Creativity & Imagination

4. Change & Problem Solving

5. Communication & Self Confident

6. Asian & International

7. Ethic & Responsibility

       ทักษะที่ต้องการพัฒนาสำหรับผู้เรียน เพื่อนำสู่ Thailand 4.0 ทักษะที่เป็นจุดเน้น

1. Critical Mind

2. Creative Mind

3. Productive Mind

4. Responsible Mind

       กรอบแนวคิดการพัฒนาการศึกษาระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)

       Quick – Win เป็นการพัฒนา 5 กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนระยะ 3 – 5 ปี

       Gifted / Thailand (1) ใช้ประโยชน์จากกลุ่ม Gifted โรงเรียนที่รับเด็กเก่งเฉพาะด้านให้คุ้มกับการลงทุนและใช้ทรัพยากรทางการศึกษาโดยส่งเสริมให้ศึกษาในสาขาที่ประเทศขาดแคลนและต้องการและจัดงานรองรับอย่างเหมาะสม (2) ส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถพอเศษให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

       อาชีวศึกษา : (1) เป็นการผลิตกำลังคนใน 5 กลุ่ม เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม เป้าหมาย คือ สามารถทำงานได้จริงและทันที (2) รวมพลังประชารัฐด้วยการยกระดับวิชาชีพ (3) ขยายการศึกษาแบบ     ทวิภาคีปรับวุฒิเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีทักษะในสาขาวิชาที่ตลาดต้องการ

       อุดมศึกษา : (1) พัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไปตามที่กำหนด (2) เพิ่มประสิทธิ ภาพการบริหารจัดการของสถาบัน (3) สร้างความเป็นเลิศในศาสตร์/สาขาวิชาที่แต่ละสถาบันมีความเชี่ยวชาญ

       กำลังแรงงาน : บัณฑิตที่ว่างงาน / แรงงานไร้ฝีมือ ต้องการยกระดับสมรรถนะกำลังแรงงานเพื่อรอง รับ 5 กลุ่ม เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

       ผู้สูงอายุ : ใช้ประโยชน์จากความรู้ ประสบการณ์ สร้างเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในลักษณะคลังสมองและผู้ประกอบการ

       การดำเนินการ Reprofile ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ การผลิตบัณฑิตและพัฒนาครู

ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคเหนือ : (1) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
(2) แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย
(3) เศรษฐกิจพิเศษ
ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคตะวันตก : (1) วิทยาศาสตร์ประยุกต์และคุณภาพ
(2) อุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยวธรรมชาติ การโรงแรมที่พัก
(3) อุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรอินทรีย์ อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ
ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคใต้ : (1) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
(2) เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร
ยุทธศาสตร์กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : (1) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
(2) การพัฒนาอาหารสู่ครัวโลก
ยุทธศาสตร์ภาคกลาง : (1) การท่องเที่ยว
(2) การเกษตร
(3) สิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์กลุ่มกรุงเทพมหานคร : (1) อุตสาหกรรมการบริการ
(2) การดูแลผู้สูงอายุในเขตเมือง

       การดำเนินการ Reprofile ของสถาบันอุคมศึกษากลุ่มใหม่

       กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง คือ การผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ เช่น ระบบการขนส่งทางอากาศ พัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเนื้อหาการบรรยาย , เอกสารและ Power Point :

       (1) รัฐธรรมนูญกับทิศทางการศึกษาไทย หมวด 3 หน้าที่ของรัฐ

       มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

       รัฐต้องดำเนินการให้เด็กได้รับการดูแลก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรค  เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัยอารมณ์สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยเรียน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

       การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีมีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนและมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวชุมชน สังคมและประเทศชาติ

       (2) จุดเน้นการพัฒนาการศึกษา

            ก. ด้านการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอน การวัดและการประเมินผล เช่น สร้างคนไทยให้เป็นคนดีมีวินัย รักชาติ มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ เป็นต้น

            ข. ด้านการบริหารจัดการ เช่น บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพิ่มอำนาจบริหารจัดการให้แก่สถานศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

            ค. ด้านการผลิตและพัฒนาครู เช่น จัดให้มีกองทุนพัฒนาครูที่สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ระบบการคัดเลือกครู ผู้บริหารเข้าสู่ตำแหน่งมีประสิทธิภาพ ฯลฯ เป็นต้น

            ง. ทรัพยากรทางการศึกษา เช่น ปรับระบบงบประมาณให้เข้าถึงผู้เรียนและสถานศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

       (3) การศึกษากับการเปลี่ยนแปลง

            ก. กำหนดบทบาทการผลิตนักศึกษาของอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาใช้ชัดเจนตามความถนัดและความเป็นเลิศของแต่ละสถาบันเพื่อลดความซ้ำซ้อนและตรงกับทิศทางความต้องการของประเทศและประชาชนทุกช่วงวัย

            ข. กำหนดผลลัพท์ (Outcome) ของสถาบันอุดมศึกษา เช่น เป็นศูนย์วิจัยที่มีคุณภาพ มีการวิจัยและพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมจากทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ

            ค. จัดให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น

            ง. สร้างทักษะการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ภาษา เทคโนโลยี STEM

            จ. ต้องมีหลักสูตรที่คล่องตัว ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ทักษะและความรู้ตามที่ต้องการได้

            ฉ. ต้องมีการเรียนรู้ที่น่าสนใจและสอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ใช่การถ่ายทอดจากปาก แต่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาปรับจากครูห้องสี่เหลี่ยมเป็นครูจากสภาพแวดล้อมมีเครือข่ายความร่วมมือของครู

            ช. ครูเปลี่ยนสภาพจากผู้สอน เป็นครูฝึกหรือครูอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้หรือครูประเมิน

            ซ. ปรับระบบการเรียนรู้จากการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้เป็นเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ โดยการเรียนรู้แบบโครงงาน

            ฌ. ทำให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้มีความตื่นตัวในการเรียนรู้ สร้างกลยุทธ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : เนื่องจากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นพบว่า ในมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เรื่องการจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ปัจจุบันพบว่าปัญหาการจัดการศึกษาเกิดจากความไม่เพียงพอ การศึกษาควรเริ่มตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวให้สอดคล้องกับคำกล่าวถึงเอกลักษณ์คนไทย คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน โรงเรียนต้องสอนให้เกิดคุณค่าแห่งชีวิต แสดงกิริยาออกมาจากใจ ดังนั้นสถานศึกษาต้องดีพร้อมยอมรับในการปรับพฤติกรรมผู้เรียนให้เป็นรูปธรรมเน้นการปฏิบัติ ด้านความประพฤติควรมีจิตสำนึกมีการตัดสินใจอย่างถูกต้อง เสริมด้านหลักคุณธรรม จริยธรรม (Morality) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนสอนให้เกิดรูปธรรม โดยการนำอดีต    ปัจจุบัน    อนาคต เชื่อมโยงกัน ผู้สอนต้องปรับพฤติกรรมวิธีการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัย เมื่อโลกเปลี่ยน การศึกษาก็ต้องเปลี่ยนตาม

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร