ชื่อผลงานทางวิชาการ : การศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ (Education for Students with Special Needs)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือเรียนวิชา การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางสาวกาญจนา สุทธิเนียม ตำแหน่งอาจารย์ กลุ่มวิชาชีพครู

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : การศึกษาพิเศษเป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายสติปัญญา จิตใจและอารมณ์ ได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกาย จิตใจและความสามารถ เพื่อพัฒนาความถนัดและอัจฉริยะภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเด็กปกติและติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง มีการประสานความร่วมมือกับสหวิชาชีพและครอบครัวอย่างใกล้ชิด

       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทั้งด้านการแพทย์ การจัดการศึกษา อาชีพและบุคคลทั่วไปในสังคม ซึ่งปรัชญาการเรียนร่วมประกอบด้วยพื้นฐาน 3 ประการ คือ ทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการอยู่ร่วมกันในสังคม ฯลฯ เป็นต้น หลักในการจัดการศึกษาประกอบด้วย ความยุติธรรมในสังคม การคืนสู่ภาวะปกติสภาพแวดล้อมมีข้อจำกัดน้อยที่สุด และเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพ

       โปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล มีจุดประสงค์เพื่อจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษตามเป้าหมายสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษสำหรับคนพิการ ขั้นตอนในการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นส่งต่อมี 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมก่อนการส่งต่อ กับ การส่งต่อและวางแผนระยะเริ่มต้น และขั้นตรวจสอบมี 2 ขั้นตอน ได้แก่ การประเมินโดยคณะสหวิทยาการ (Multidisciplinary Assessment) ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านและการประชุมเด็กเฉพาะกรณีเพื่อวางแผนปัจจัยและตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการใช้โปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล ต้องได้รับการสนับสนุนจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายระดับชาติ โดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษาพิเศษวางแผนโปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล นอกจากนี้ตัวบ่งชี้ความสำเร็จการใช้โปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล ต้องมีการประเมินผลเป็นระยะๆ และพิจารณาจาก งบประมาณ นักเรียนปกติที่เรียนร่วม ผู้ปกครอง นักเรียน ครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียนและศึกษานิเทศก์

       บุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ประกอบด้วยเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางการมองเห็น บกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ บกพร่องทางการเรียนรู้ บกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ บกพร่องทางด้านการพูดและภาษา เด็กออทิสติก บกพร่องทางพิการซ้ำซ้อนและเด็กปัญญาเลิศ

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : หนังสือวิชาการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ได้กล่าวถึงบิดาแห่งการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กปัญญาอ่อนและร่างกายพิการ คือ อิทารด์ (ITard) แพทย์ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหู และการให้การศึกษาแก่นักเรียนหูหนวก สำหรับประเทศไทยเริ่มจาก เจเนวีฟ คอลฟิลด์ (Geneview Caulifield) ร่วมกับคนไทย ได้อบรมสั่งสอนเด็กตาพิการและสอนเขียน อ่าน อักษรเบรลล์ โดยการฝึกหัดทำงานการฝีมือในชีวิตประจำวัน ต่อมามีผู้ใจบุญให้การสนับสนุนร่วมมือในการให้การศึกษาเด็กตาบอด โดยการก่อตั้งมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” จัดการศึกษาโดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนาและระดับชั้นมีหลวงเลขาธิวิจารณ์เป็นประธานมูลนิธิคนแรก ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กพิการประเภทต่างๆ เช่น เรียนช้า ตาบอด หูหนวก ร่างกายพิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้รับความร่มมือช่วยการสื่อสนับสนุนด้านวิทยากรจากมูลนิธิอเมริกันเพื่อคนตาบอดโพ้นทะเล (American Foundation Overseas for the Blind) ทดลองกับคนตาบอดให้เรียนร่วมกับคนปกติในระดับประถมศึกษา เขตกรุงเทพมหานคร และขยายออกสู่ภูมิภาค เป็นระยะเวลาสั้นๆ

       สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่เป็นเด็กเรียนช้า จัดเป็นชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติในเขตกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนพญาไท โรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงเรียนวัดนิมมานรดีและโรงเรียนวัดหนัง และขยายต่อไปยังโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์และโรงเรียนวัดเวตวันธรรมาวาส สำหรับต่างจังหวัดที่กาญจนบุรี เลย สุราษฎร์ธานีและนครราชสีมา โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ พ.ศ. 2556 รวมทั้งแผนพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการให้มีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเท่าเทียมกันกับเด็กปกติทั่วไป ปัจจุบันจึงจัดการศึกษารูปแบบเดียวกัน คือ การศึกษาทั่วไป (Regular Education) การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมเน้นการศึกษาที่มีความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับการเรียนการสอนของครูที่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้วย ปรัชญาการเรียนร่วมเป็นการที่นักเรียนได้เรียนรู้อยู่ร่วมกัน การจัดการเรียนรู้ต้องตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของคนแต่ละคนได้ ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในบริบททางการศึกษา ขณะเดียวกันได้รับการศึกษาควบคู่กันไปกับการบำบัดฟื้นฟูความสามารถทุกด้าน คำนึงถึงการอยู่ร่วมสังคมกับคนปกติอย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเสียเปรียบของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละประเภท ต้องทำอย่างต่อเนื่องและควรเน้นเรื่องอาชีพด้วย

       แนวคิดในการจัดการเรียนร่วมประกอบด้วย การนำนักเรียนเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้บกพร่องทางประเภทต่างๆ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น จัดให้เหมาะสมกับความพิการของแต่ละประเภทอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมแบ่งเป็น

       1) การเรียนร่วมบางเวลา (Integration) จัดในชั้นปกติบางเวลา เช่น วิชาดนตรี พลศึกษา กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี กีฬาสี เป็นต้น แต่ต้องจัดทำแผนเฉพาะบุคคล

       2) การเรียนร่วมเต็มเวลา (Mainstreaming) เรียนชั้นเดียวกับเด็กปกติ ตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกัน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่

       1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553

       2. พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551

       3. พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

       4. พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550

       5. พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

       เด็กที่มีความบกพร่องการได้ยิน หมายถึง การสูญเสียการได้ยิน อาจจะหมายถึง หูหนวก สูญเสีย 90 เดซิเบลขึ้นไป หรือประสาทหูเสื่อม ได้ยินไม่ชัด เกิดจากสาเหตุก่อนคลอด ระหว่างคลอดและหลังคลอด ลักษณะอาการและพฤติกรรมการแสดงออกจำแนกได้ 5 ลักษณะ คือ การพูด อาจจะไม่ได้ยินหรือพูดไม่ชัด ขึ้นอยู่กับอายุ ภาษา เรียงคำในประโยคผิด ความสามารถทางสติปัญญา ไม่คุ้นเคยกับความบกพร่องทางการได้ยิน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพราะวิธีการสอน การวัดผลและการปรับตัวเกิดจากการสื่อสาร การจัดการศึกษาผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีวิธีสอน 5 วิธี ได้แก่

          1) วิธีการสอนพูด ต้องพูดกับเด็กให้มากๆ เพราะเป็นทักษะเกี่ยวข้องกับการอ่านริมฝีปากผู้พูด เช่น ฝึกพูดชื่อบุคคลในครอบครัวให้นำภาพพ่อแม่มาให้ดู แล้วชี้ที่ภาพดูภาพแล้วฟัง จึงให้พูดตาม

          2) วิธีสอนแบบรวม ใช้ภาษาพูด ภาษามือ การอ่านริมฝีปาก การใช้เครื่องช่วยฟังและการเขียนกระดานดำประกบกันไปในขณะที่เขียน

          3) การใช้วิธีสอนต่างวิธีพร้อมกันสลับกันไป คือ การใช้พูดมือสะกดหรือภาษามือ การใช้เครื่องมือช่วยฟังและการเขียนกระดานดำ

          4) วิธีสอนแบบรวมหลายวิธี ใช้การสอนพูด ใช้เครื่องช่วยฟัง ภาษามือสะกดด้วยนิ้วมือและการเขียนกระดานดำ

          5) วิธีการสอนแบบระบบรวม สอนฝึกฟัง ฝึกอ่านคำพูด ฝึกการอ่าน ฝึกการเขียน ภาษามือ การสะกดนิ้วและการสังเกตท่าทางมารวมกัน

       เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ผู้สอนต้องสามารถประเมินความรุนแรงของความบกพร่องจากการมองเห็นเพื่อเป็นพื้นฐานวางแผนการช่วยเหลือ กำหนดเป้าหมายการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก พัฒนาระบบสัมผัสและระบบการเคลื่อนไหว จัดหาอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี เช่น ภาพนูน กราฟนูน และต้องประสานกับครอบครัวเด็ก เพื่อวางแผนร่วมกัน

       เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้สอนต้องเข้าใจและยอมรับในตัวเด็ก ครูต้องอดทนและใส่ใจมากกว่าเด็กปกติ โดยใช้หลักการสอนเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวไปหาสิ่งที่ไกลตัว สอนที่ละขั้นสอนด้วยการลงมือกระทำ คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละบุคคลตามระดับสติปัญญาและสอนโดยการแบ่งหมู่ตามตารางสอน ฯลฯ เป็นต้น

       เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพใช้หลักสูตรเหมือนเด็กปกติ ปรับให้เหมาะกับเด็ก ปรับพฤติกรรมให้แสดงอย่างเหมาะสมและให้บริการเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ พิเศษ เป็นต้น ผู้สอนต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยหาสื่อเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว และควรโทรตามหรือไปเยี่ยมบ้านสม่ำเสมอ

       เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จะพบปัญหาในการเรียน เช่น ความบกพร่องการฟังและการพูด บกพร่องทางการอ่าน ทางการเขียน ทางคณิตศาสตร์ ทางกระบวนการคิด ครูผู้สอนต้องช่วยเหลือ โดยการให้ทำงานเป็นทีมระหว่างครูและครอบครัว ประสานกับครอบครัวของเด็กสม่ำเสมอ ควรให้เวลากับเด็กประเภทนี้ให้มากกว่าเด็กปกติทั่วไป ใช้กระบวนการเรียนที่บูรณาการกับประสบการณ์และใช้สื่อการสอนส่งเสริมให้ได้ใช้ประสาททั้ง 5 สัมผัส

       เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น เกเร ก้าวร้าว แยกตัวจากเพื่อน ฯลฯ เป็นต้น สามารถจำแนกกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ คือ ปัญหาด้านความประพฤติ ด้านความตั้งใจและสมาธิ ผิดปกติในร่างกายและอารมณ์รุนแรง  ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยทางสังคม การจัดการเรียนการสอนและจัดห้องเรียนเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ทางบวก ต้องตั้งกฎเกณฑ์ในห้องเรียนอย่างชัดเจนเพื่อให้ปฏิบัติตาม และส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของตนเอง ฝึกความรับผิดชอบและจัดบรรยากาศในชั้นเรียนให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้

       เด็กที่มีความบกพร่องทางพิการซ้อน ซึ่งมีหลายลักษณะรวมกันที่มีลักษณะ ปัญหาทางด้านจิตใจ ด้านพฤติกรรม ร่างกายและการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนต้องยึดหลักการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กและบูรณาการการเรียนรู้ สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้สามารถทำได้ด้วยการถ่ายโยงทักษะ การเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม เรียนรู้ผ่านการได้ยิน และปฏิบัติตามคำสั่งและรอคอยการช่วยเหลือ

จุดเด่น/ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : รูปแบบการจัดการศึกษาของการศึกษาพิเศษมีหลายรูปแบบ อาทิเช่น

       1) จัดการเรียนร่วมในชั้นปกติและรับบริการพิเศษ เช่น การสอนเสริมบางวิชา

       2) จัดโรงเรียนพิเศษ เช่น จัดในโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้น

       3) จัดแบบเต็มวันและมีครูเดินสอน ตามตารางสอน

       4) จัดการศึกษาโดยครอบครัว โรงเรียนมีส่วนร่วม ในการดำเนินการยึดโรงเรียนเป็นศูนย์การศึกษาต่างๆ

       5) จัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ยืดหยุ่นทั้งรูปแบบวิธี การวัดและประเมินหลักสูตร ระยะเวลา ฯลฯ เป็นต้น

       ผู้สอนสามารถปรับปรุงการสอนและปรับสิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนให้เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะความพิการของผู้เรียน โดยการใช้การพูดให้ช้าและมากขึ้น ใช้เหตุผลในแต่ละช่วงการสอน ปรับภาษาพูดให้เหมาะสมกับผู้เรียน ฟังผู้เรียนพูด อธิบายให้มาก ควรให้รางวัลด้วยวิธีการชมเชย เพื่อเพิ่มความพยายามและสำหรับการประเมินผลต้องสอดคล้องกับตัวผู้เรียนที่มีความพิการแตกต่างกัน เช่น เด็กออทิสติก เป็นโรคที่มีลักษณะแตกต่างกันมากและอาการมีหลายอย่างและความรุนแรงแตกต่างกัน เทคนิคการสอนในห้องเรียนมี 8 เทคนิค คือ

       1) หลีกเลี่ยงการสอนที่เป็นนามธรรม

       2) หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้เข้าใจผิด

       3) การมอบหมายงานต้องไม่ซ้ำซ้อน

       4) เพิ่มศักยภาพการฟังและการมอง ด้วยวิธีการจัดองค์ประกอบ

       5) มองผู้เรียนเชิงบวก สร้างสรรค์และยืดหยุ่น ฯลฯ เป็นต้น

       เด็กปัญญาเลิศจะมีลักษณะที่มีประสาทการรับรู้ว่องไวเป็นพิเศษ มีความอยากรู้อยากเห็นอย่างเข้มข้น มีความสามารถแก้ปัญหาและเข้าใจสิ่งต่างๆ ในระดับสูง มีแรงจูงใจและขยันอดทนและชอบแสวงหาสิ่งท้าทาย ฯลฯ เป็นต้น มีทฤษฎีสติปัญญา 3 ด้าน ของเด็กปัญญาเลิศ ได้แก่ ด้านวิเคราะห์ ด้านสังเคราะห์และด้านปฏิบัติ

       แนวคิดในการจัดการศึกษาเด็กปัญญาเลิศ สามารถทำได้ เช่น ประเมินอย่างถูกต้องและยอมรับในความเป็นเลิศ ผู้สอนต้องมีความสามารถ เทคนิคการสอนได้ และควรจัดโปรแกรมการศึกษาพิเศษให้สอดคล้องกับลักษณะความเป็นเลิศ เนื้อหาที่ใช้สอนต้องมีความเข้มข้นทั้งการอ่าน เขียน คิด ลงมือปฏิบัติและต้องเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน นอกจากนี้ผู้สอนยังต้องรู้จักการสอนคิดเชิงวิจารณ์ เน้นการสอนคิด รู้จักใช้เหตุผลก่อนตัดสินใจ

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือเล่นนี้เนื้อหาเหมาะสมกับการนำไปใช้สอนการศึกษาพิเศษในยุคอาเซียนศึกษา เพราะ

       ประเด็นที่ 1 การเขียนโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคลมี 3 ขั้นตอน คือ การรวบรวมข้อมูล การจัดทำโปรแกรมการศึกษาเฉพาะรายบุคคล และใช้โปรแกรมที่มีความสมบูรณ์แล้วพร้อมจัดกิจกกรม เรียกว่า ขั้นการสอน โดยมีข้อมูลครบถ้วน ดังตัวอย่างโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคล

              1) ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน

วัน……………………….เดือน…………………………………..พ.ศ. …………………………………..

ชื่อนักเรียน…………………………………. นามสกุล………………………………………….. เพศ………………………..

เกิดวันที่ ………………………………….. เดือน……………………………………..พ.ศ. ……………………………………

ชื่อผู้ปกครอง ……………………………………………….ความสัมพันธ์กับนักเรียน…………………………………..

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ……………………………… ซอย ……………………………… ถนน …………………………………..

แขวง/ตำบล ………………………………. เขต/อำเภอ …………………………… จังหวัด …………………………..

              2) ระดับสติปัญญา (IQ) ……………………………………………….…………….………

              3) ข้อมูลทางการแพทย์

       นักเรียน เจ็บป่วย เป็นโรค ………………………………………………………………………………………

       นักเรียนจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างไรบ้าง ………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………………….

       4) ความสามารถของนักเรียน ด้าน

          4.1 ภาษาไทย

                4.1.1 ด้านการฟัง

                4.1.2 ด้านการพูด

                4.1.3 ด้านการอ่าน

                4.1.4 ด้านการเขียน

          4.2 ด้านคณิตศาสตร์

          4.3 การช่วยเหลือตนเอง

          4.4 พฤติกรรม

          4.5 ความสามารถอื่นๆ

       5) ปัญหาของนักเรียน ……………………………………………………………………………………………….

       6) นักเรียนได้รับการตัดสินว่ามีความบกพร่องประเภทใด

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       7) ควรได้รับการเรียนร่วมในลักษณะใด

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       ……………………………………………………………………………………………………………………………

       8) บริการที่เกี่ยวข้อง ………………………………….…………………………….……….…………..

       9) ภาษาถิ่นของนักเรียน …………………………………………………………………………………………

       10) จุดมุ่งหมายระยะยาว ………………………………………………………………………………………

       11) จุดมุ่งหมายระยะสั้น ………………………………………………………………………………………..

       12) หลักสูตรโดยย่อ (ต้องเรียนอะไรบ้าง ?) …………………………………………………………..

       13) การวัดและประเมินผล …………………………………………………………………………………….

       14) ระยะเวลา ………………………………………………………………………………………………………..

       15) ชื่อคณะกรรมการผู้จัดทำโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคล……………………………….

       ………………………………………………………………………………………………………………………………..

ประเด็นที่ 2 ครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับเด็กพิเศษ ส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและยังเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม ครูผู้สอนจะต้องช่วยหาสื่อและพัฒนาเด็กได้ดังนี้

   1) ให้ความรู้กับเด็กปกติและเด็กที่เรียนร่วมในเรื่องความรู้เกี่ยวกับเด็กที่บกพร่อง อาจจะเป็นการเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญมาบรรยายในชั้นเรียน พร้อมใช้ทักษะต่างๆ ที่เหมาะสมกับความบกพร่อง

   2) สร้างโอกาสหรือให้โอกาสเด็กพิเศษทำงานร่วมกับเด็กปกติ เพื่อการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน

   3) จัดชั้นเรียนให้เหมาะสม และให้เด็กปกติได้ช่วยเหลือเด็กพิเศษด้วย

   4) การจับคู่ Buddy หรือ สนับสนุนการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

   5) ให้เด็กได้ค้นพบศักยภาพตัวเองให้ได้ ผู้สอนต้องส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้เด็กได้มีการพัฒนาในด้านความเชื่อมั่นและความสำเร็จ ฯลฯ เป็นต้น

ประเด็นที่ 3 การจัดทำตารางกิจกรรม กิจกรรมการเรียนรู้มีความสำคัญกับผู้เรียน โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กปกติทำกิจกรรมร่วมกับเด็กพิการ เช่น ห้องอาหาร ห้องเรียน โรงพลศึกษา ห้องอาบน้ำ ห้องดนตรี สนามเด็กเล่น แล้วจึงระบุกิจกรรมที่มีความหมายสำหรับแต่ละสถานที่ เช่น

ตัวอย่าง การทำตารางเวลาที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างเวลา กิจกรรมและสภาพแวดล้อม

       Reverse Chaining ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวัน เริ่มจากการผูกเชือกรองเท้า หรือสอนผูกหูกระต่าย

       Co – Activity การให้ความช่วยเหลือ แนะนำเมื่อจำเป็นเท่านั้น หรือโดยการปฏิบัติใช้ Hand Over Hand เป็นการค้นหาหรือการตรวจสอบ ครูอาจยืนด้านหลัง จับข้อมือนักเรียน

       Pre – Teaching ครูนำเสนออุปกรณ์หรือความรู้ ความเข้าใจกับเรื่องที่ไม่คุ้นเคยในบทเรียน

       Self – Verbalization นักเรียนอธิบายในสิ่งที่ตนเองทำในขณะปฏิบัติงาน

       Direction – Giving ชี้นำที่ชัดเจน กะทัดรัด ให้นักเรียนมองเห็นภาพของงานที่สมบูรณ์

       Generation นักเรียนต้องการตัวอย่างที่หลากหลายในการใช้อุปกรณ์ จะช่วยให้เข้าใจเร็วขึ้น

       Use of Anesthetics the tic Movement ฝึกซ้ำๆ ในกิจกรรมที่ปฏิบัติ หรือการเคลื่อนไหวกระตุ้นให้จดจำ

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร