ชื่อผลงานทางวิชาการ : แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือและเอกสารวิชาการ เรื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 -2579 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู เข้าร่วมประชุมเสวนาทางวิชาการด้วยในฐานะประธานคณะกรรมการสถานศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง แนวทางการพัฒนากฎหมายการศึกษาเพื่อบริหารจัดการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมสวิสโฮเตล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพ

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เรียบเรียงและสรุปโดย รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการในโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ 2560 – 2562  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ประเทศไทยให้ความสำคัญด้านการศึกษาในฐานะกลไกหลักของการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบันเสร็จเรียบร้อย ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 เพื่อเป็นกรอบ เป้าหมายและทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ โดยมุ่งการจัดการศึกษาให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ กระบวนการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2575 เน้นการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อนการศึกษาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ


 

       แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 เป็นระยะยาว 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ การจัดทำได้ทำการศึกษาสภาวการณ์และบริบทแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัลแบบก้าวกระโดดที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภูมิภาคและโลก การเปลี่ยนแปลงโดยโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัย และทักษะของประชากรในศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายและมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยุค 4.0 และนำผลการตอดตามประเมินแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 – 2559 ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวกับบริบทการจัดการศึกษา โอกาสทางการศึกษา คุณภาพทางการศึกษาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษาและการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งการพัฒนาการศึกษากับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษา ทั้งที่เกิดจากปัญหาของระบบการศึกษาและจากสภาวการณ์โลกที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำมากำหนดแนวคิดของการจัดการศึกษา วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย การพัฒนาการศึกษา บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการทางพัฒนา รวมทั้งโครงการเร่งด่วนที่สำคัญ และการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ได้แก่

       1. ความจำเป็นการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ประเทศไทยประสบความสำเร็จหลายด้าน และหลายด้านจำเป็นต้องแก้ไขระยะต่อไป ประกอบด้วย ด้านโอกาสทางการศึกษา ด้านคุณภาพการศึกษา ด้านประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณทางการศึกษา

       2. แนวคิดการจัดการ ประกอบด้วยหลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมกันและทั่วถึง (Inclusive Education) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy ) และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) อีกทั้งยึดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ประเด็นภายนอก (Local Issues) เช่น คุณภาพของคนทุกช่วงวัย ฯลฯ เป็นต้น โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ (National Strategy) มาเป็นกรอบความคิดสำคัญในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ

       3. วิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย ตัวชี้วัดและยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการการศึกษา 4 ประการ คือ เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคีและร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อนำประเทศไทยก้าวหน้าข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง

       แผนการศึกษาแห่งชาติวางเป้าหมายไว้ 2 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน (Learner Aspirations) มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs 8Cs)  3Rs = การอ่านออก (Reading) เขียนได้ (Writing) และการคิดเลข (Arithmetic) 8Cs = ทักษะการคิดอย่างมีวิจารญาณและทักษะในการแก้ไขปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ฯลฯ เป็นต้น

เป้าหมายของการจัดการศึกษา 5 ประการ คือ

       1) ประชากรทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึง

       2) ผู้เรียนทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียม

       3) ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถเต็มศักยภาพ

       4) ระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าและบรรลุเป้าหมาย

       5) ระบบการศึกษาที่สนองตอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่พลวัตและบริบทที่เปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์หลักที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้แผนการศึกษาแห่งชาติบรรลุเป้าหมายตามจุดมุ่งหมาย วิสัยทัศน์ และแนวคิดการจัดการศึกษา

       ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ

              1.1 คนทุกช่วงวัยมีความรักในสถาบันหลักของชาติและยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

              1.2 คนทุกช่วงวัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษได้รับการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

              1.3 คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษา การดูแลป้องกันจากภัยคุกคามในชีวิตรูปแบบใหม่

       ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การผลิตและการพัฒนากำลังคนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีเป้าหมาย :

              2.1 กำลังคนที่ทักษะที่สำคัญ จำเป็นและมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

              2.2 สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่จัดการศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศเฉพาะด้าน

              2.3 การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

       ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมาย :

              3.1 ผู้เรียนมีทักษะและคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทย และทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

              3.2 คนทุกช่วงวัย มีทักษะ ความรู้ความสามารถและสมรรถนะตามมาตรฐานการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามศักยภาพ

              3.3 สถานศึกษาทุกระดับการศึกษาสามารถจัดกิจกรรม / กระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

              3.4 แหล่งเรียนรู้ สื่อตำราเรียน นวัตกรรมและสื่อการเรียนรู้มีคุณภาพและมาตรฐานและประชาชนสามารถเข้าถึงโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

              3.5 ระบบและกลไกการวัด การติดตามและประเมินผลมีประสิทธิภาพ

              3.6 ระบบการผลิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้มาตรฐานระดับสากล

              3.7 ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาสมรรถนะตามมาตรฐาน

       ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา มีเป้าหมาย :

              4.1 ผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

              4.2 การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการศึกษาสำหรับทุกช่วงวัย

              4.3 ระบบข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศทางการศึกษาที่ครอบคลุม ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผนการบริหารจัดการศึกษา การติดตามประเมิน และรายงานผล

       ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมาย :

              5.1 คนทุกช่วงวัย มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมมีคุณธรรม จริยธรรม และนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

              5.2 หลักสูตร แหล่งเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณธรรม จริยธรรมและการนำแนวความคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

              5.3 การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

       ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารการจัดการการศึกษา มีเป้าหมาย :

              6.1 โครงสร้าง บทบาทและระบบการบริหารจัดการการศึกษามีความคล่องตัวชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้

              6.2 ระบบการบริหารจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา

              6.3 ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและพื้นที่

              6.4 กฎหมายและรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษารองรับลักษณะที่แตกต่างกันของผู้เรียน สถานศึกษาและความต้องการกำลังแรงงานของประเทศ

              6.5 ระบบบริหารงานบุคคลของครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษามีความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจและส่งเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มตามศักยภาพ

       การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษาของชาติ แนวทางการขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติ โดยการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงาน องค์กรและภาคีทุกภาคส่วน การดำเนินการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ โดยการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงาน องค์กร และภาคีทุกภาคส่วน การดำเนินการการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ โดยการนำของกระทรวงศึกษาธิการ และการติดตามประเมินผลแผนการศึกษาแห่งชาติ ทำด้วยการประเมินก่อนเริ่มโครงการ ระหว่างดำเนินการและหลังการดำเนินงานตามแผนเสร็จสิ้น ซึ่งต้องวางระบบตั้งแต่ระดับกระทรวงส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จังหวัดและเขตพื้นที่เชื่อมโยงแผนปฏิบัติแต่ละระดับกับแผนการศึกษาของชาติ