ชื่อผลงานทางวิชาการ : ปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น (Foundation of Philosophy Education)

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือประกอบการเรียนวิชา การศึกษา

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2558

ข้อมูลเพิ่มเติม : จัดพิมพ์โดย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พิมพ์ที่โรงพิมพ์ บริษัทสหธรรมิก จำกัด กรุงเทพ.

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางสาวแฝงกมล เพชรเกลี้ยง และคณะ ตำแหน่งอาจารย์ คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ปรัชญาเป็นวิธีการมองปัญหาหรือความรู้ที่มีอยู่เพราะปรัชญานำมาประยุกต์ก่อนใช้ จึงเป็นการนำแนวความคิดหรือวิธีการรวมทั้งปัญหาพื้นฐานทางปรัชญามาวิเคราะห์วิชาต่างๆ ชัดจนขึ้น การเกิดปรัชญามาจากความแปลกใจ ความประหลาดใจ การหวนคิด มนุษย์มีสัญชาติญาณอยากรู้อยากเห็น ความสงสัยและลังเลใจ ปรัชญามีหลายประเภท โดยการแบ่งเป็น 4 แบบ โดยเฉพาะแบบที่เป็นสากลมากที่สุด อาทิเช่น ปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์

       ปรัชญาการศึกษา คือ การนำเอาหลักบางประการของปรัชญาแม่บทมาดัดแปลงให้เป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ปรัชญาการศึกษามีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องเข้าใจเรื่องชีวิตของโลกและสิ่งแวดล้อม นักการศึกษาสามารถแบ่งสาขาปรัชญาออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 สาขา ได้แก่ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา ลัทธิปรัชญาการศึกษาประกอบด้วยปรัชญาการศึกษากลุ่มสารัตถนิยม กลุ่มนิรันตรนิยม กลุ่มพิพัฒนาการนิยม กลุ่มปฏิรูปนิยม กลุ่มอัตถินิยมและกลุ่มพุทธปรัชญาการศึกษา

       ทฤษฎีการศึกษา เป็นสมมติฐานหรือหลักการที่ได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลสามารถแบ่งทฤษฎีทางการศึกษาของไทยเป็น 4 กลุ่ม คือ ทฤษฎีการศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา เกี่ยวข้องกับปัญหาและความคิด เกี่ยวข้องกับสังคม และเกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางวิชาการ

       วิวัฒนาการของการศึกษาไทยและต่างประเทศซึ่งการศึกษาไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าการศึกษาช่วยกำหนดทิศทางของชาติ พัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังของชาติมี 3 ยุคสมัย คือ ยุคสุโขทัยจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน

จุดเด่น/ความน่าสนใจของเอกสารประกอบการสอน : วิวัฒนาการของการศึกษาไทยเป็นกระบวนการสร้างและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีความสามารถเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ในยุค

       1. ยุคสมัยสุโขทัยถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีปราชญ์หลายสาขา เช่น ด้านการก่อสร้าง หัตถกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรมและแพทย์แผนโบราณ แบ่งออกเป็นสมัยสุโขทัย พ.ศ. 1781 – พ.ศ. 1921 จัดการศึกษาเป็น 2 ฝ่าย การศึกษาสมัยอยุธยา พ.ศ. 1893 – พ.ศ. 2310 ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขาย ทำให้การศึกษาเจริญมากขึ้น แบ่งการศึกษาออกเป็น 5 รูปแบบ สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2411 มีลักษณะคล้ายอยุธยา มีการเก็บรวบรวมสรรพตำราจากแหล่งต่างๆ ให้รอดพ้นจากการทำลาย เน้นการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะวรรณคดี

       2. ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาเริ่มเป็นแบบแผน มีระเบียบแบบแผน จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎร์ทั่วไป รับแนวคิดวิทยาการต่างๆ ของชาติตะวันตกมาใช้ ต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจัดตั้งโรงเรียน รับคนเข้ารับราชการ สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เน้นการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จัดตั้งกองเสือป่า กองลูกเสือ ปลูกฝังความรักชาติ แปลวรรณคดีต่างประเทศเป็นภาษาไทย วางโครงการศึกษาใหม่ส่งเสริมให้หาเลี้ยงชีพนอกเหนือรับราชการบังคับเด็กทุกคนมีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 8 ต้องเข้ารับการศึกษาพื้นฐานจนครบอายุ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่เสียค่าเล่าเรียน สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลีใช้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอุดหนุนการศึกษาแทน ปรับปรุงกระทรวงธรรมการให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ยุบกรมสามัญศึกษา และยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมีแผนการศึกษาชาติและการศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้นหลายฉบับ ทั้งหมดมี 9 ฉบับ อาทิเช่น แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 มี 3 ส่วน คือ จริยธรรมศึกษา เป็นการอบรมศีลธรรมอันดีงาน พุทธิศึกษาให้มีปัญญาความรู้และพลศึกษา เป็นการฝึกหัดให้เป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2479 กำหนดระยะเวลาของการเรียนชั้นประถมศึกษา เพียง 4 ปี เร่งรัดให้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับโดยเร็ว และแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เพิ่ม หัตถกรรม คือ การฝึกหัดอาชีพและการประกอบอาชีพ รวมเป็น 4 ส่วน มีการจัดการศึกษาพิเศษและผู้ใหญ่ด้วย ยกฐานะกองโรงเรียนประชาบาลในกรมสามัญเป็นกรมประชาศึกษา เพื่อจัดการศึกษาพิเศษ และขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น 7 ปี ฯลฯ เป็นต้น

       แนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคต เพื่อพัฒนาคนพัฒนาสังคมเป็นพลังขับเคลื่อนและเป็นภูมิคุ้มกันให้คนไทยมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกของการแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน แนวโน้มแนวบวกนั้นเกิดหลักสูตรใหม่จำนวนมาก มีหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น การศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น ส่วนแนวโน้มทางลบ ด้านคุณภาพการจัดการศึกษา การผลิตบัณฑิตล้นตลาดและคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ

       บทบัญญัติว่าด้วยการศึกษาในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (กฎหมายการศึกษา) จุดมุ่งหมายการจัดการศึกษาของไทยเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยมีหลักการการจัดการศึกษา 3 ประการ คือ การศึกษาตลอดชีวิต สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับการศึกษา ประกอบด้วยกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กฎหมายรองรับการปฏิรูปการศึกษา คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 เกิดจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 81 ที่กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สิทธิทางการเรียน สิทธิผู้เรียน ให้ความสำคัญการศึกษานอกระบบและจัดสรรทรัพยากร เน้นความเสมอภาคและจัดสรรค่าเล่าเรียนเป็นรายบุคคล

       วัตถุประสงค์และนโยบายเป็นแผนยุทธศาสตร์ชั้นนำสำหรับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในแต่ละแผนงานแต่ละโครงการ อาทิเช่น พัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุลเพื่อเป็นรากฐานหลักของการพัฒนา สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้และพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคนและสร้างสังคมคุณภาพภูมิปัญญาและการเรียนรู้ การบริหารแผนไปสู่การปฏิบัติเชื่อมโยงกันตามแนวนโยบาย 11 ประการ เช่น หน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯเป็นต้น

       ระบบการศึกษา การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาในระบบมี 2 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา กับการศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับปริญญาตรี ส่วนสถานศึกษาที่จัดการศึกษา มี

       1. สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ของสถาบันศาสนา ฯลฯ เป็นต้น
2. โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนที่สังกัดสถาบันพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่น
3. ศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน ฯลฯ เป็นต้น

       สำหรับการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้จัดในมหาวิทยาลัย สถาบันวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามกฎหมายเกี่ยวกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา กฎหมายที่ว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้นๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 19) และการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา การฝึกอบรมอาชีพให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ ของเอกชน สถานประกอบการหรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (มาตรา20) ซึ่งสถานศึกษาต้องพัฒนากระบวนการการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา (มาตรา30)

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ประกอบด้วย

       หมวดที่ 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ
หมวดที่ 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา
หมวดที่ 3 ระบบการศึกษา
หมวดที่ 4 แนวทางการจัดการศึกษา
หมวดที่ 5 การบริหารและการจัดการศึกษา
หมวดที่ 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
หมวดที่ 7 ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
หมวดที่ 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา   และ
หมวดที่ 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

การนำไปใช้ประโยชน์และอื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น สามารถนำสาระเนื้อหาไปใช้กับการศึกษาทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะอาชีพครู เนื่องจาก

       ประเด็นที่ 1 การนำเนื้อหา สาระไปพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ควรทำเชิงรุกรัฐบาลควรลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มากขึ้น มุ่งการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบัน

       ประเด็นที่ 2 กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศให้ชัดเจนทันต่อสภาพยุคโลกาภิวัฒน์ สร้างความเจริญที่ยั่งยืนควบคู่กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

       ประเด็นที่ 3 กำหนดทิศทางการพัฒนากำลังคนบนความต้องการของประเทศ เช่น การเปิดหลักสูตรต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น

       ประเด็นที่ 4 ด้านการพัฒนาครู ให้ความสำคัญบทบาทครูและงานของครูให้มากขึ้น

       ประเด็นที่ 5 พัฒนาหลักสูตร พัฒนาผู้เรียน ควบคู่กับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาทักษะการอ่าน ความคิดวิเคราะห์คิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยการจัดการศึกษาให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยเฉพาะพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีทักษะ มีความสามารถหลากหลาย

       ในส่วนแผนการศึกษาชาติเป็นแผนกลยุทธ์ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกันทั้งประเทศ บูรณาการคุณภาพชีวิตทุกๆ ด้าน ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ นโยบาย มาตรการ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นๆ ทิศทางในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ต้องกำหนดกรอบแนวความคิดและเจตนารมณ์ ดังนี้

          1) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2) ยึดคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา
3) เป็นแผนบูรณาการแบบองค์รวม
4) เป็นแผนที่พัฒนาชีวิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

       หลักการและแนวคิดในการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดจากแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ ความต้องการของมนุษย์ ขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมในสังคม ควรนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดเชิงพุทธศาสตร์ของท่านพระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยฺตโต) มาปรับใช้ คือ การพัฒนาหรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องอยู่ในภาวะที่สิ่งแวดล้อมรองรับได้ ซึ่งหมายถึง การพัฒนาที่สัมพันธ์กับโลกและสิ่งแวดล้อม เป็นการรักษามรดกโลก และมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ซึ่งครอบคลุมและสมดุลกับการพัฒนา 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีสาระสำคัญ 4 ส่วน คือ

       ส่วนที่ 1 มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ส่วนที่ 2 การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากร
ส่วนที่ 3 การส่งเสริมบทบาทของกลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ
ส่วนที่ 4 วิธีการในการดำเนินงาน

แนวทางการจัดการศึกษาที่ยั่งยืนนั้นมีแนวทางดำเนินการ 4 ประการ คือ

       1) การส่งเสริมและการปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2) การทบทวนการศึกษาที่เป็นอยู่ในทุกระดับต้องสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
3) การพัฒนาความเข้าใจสาธารณะ ความตระหนักเรื่องความยั่งยืน และการพัฒนาความก้าวหน้าไปสู่สังคมที่ยั่งยืน
4) การฝึกอบรม ต้องเกิดขึ้นทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนด้านทรัพยากรแรงงานมีความรู้ มีทักษะเพราะสำคัญมากต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

       การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องแทรกอยู่ในหลักสูตรและสาระการเรียนรู้ในห้องเรียนต้องมีกระบวนการหล่อหลอมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง มีความเชื่อมั่นและเห็นประโยชน์สามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้ประจำวัน บูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ตลอดจนสอดแทรกในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

       เครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ ต้องครอบคลุมประเด็น ต่อไปนี้

       1) เครือข่ายองค์ความรู้สร้างสรรค์ของบุคลากรทางการศึกษา
2) การผลิตสื่อออนไลน์ เช่น เกม VDO Clip และสื่ออื่นๆ นำเสนอผ่านอินเตอร์เน็ตให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็กและเยาวชน
3) จัดการความรู้ผ่านระบบภายในโรงเรียน ผสมผสานกับบริษัทต่างๆ เข้าด้วยกันแบบบูรณาการทั้งโรงเรียน บ้านและชุมชน
4) กระตุ้นเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อสีขาวออกสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงเด็ก

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร