กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ


ชื่อผลงานทางวิชาการ กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

ประเภทผลงานทางวิชาการ บทความ

ปีที่พิมพ์ 2555

มูลเพิ่มเติม สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ

          กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย เป็นบทความที่ ผศ.สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้สอนในรายวิชาดนตรีปฏิบัติเพื่อธุรกิจบันเทิง สาขาวิชาโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง  ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม  ได้เรียบเรียงบทความนี้ ลงในหนังสือ “หนึ่งศตวรรตครูทองดี ศรีแผ่นดิน” ที่จัดขึ้นในวันเสาร์ที่   18 สิงหาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ โรงละครแห่งชาติ  เป็นหนังสือที่ รำลึก 100 ปี  ชาติกาลคุณครูทองดี สุจริตกุล เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี ความเมตตาที่คุณครูมีให้ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสรู้จัก จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนจิตรดา ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ) ซึ่งนักศึกษาของสาขาวิชาฯ ได้เป็นผู้ทำจัดสูจิบัตร โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ กำกับเวที อันเป็นผลสัมฤทธิ์ของการเรียนการสอนในรายวิชา “โครงการพิเศษด้านการโฆษณา” ของสาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

    ท่านผู้เรียบเรียงได้เล่าว่า คุณครูทองดี สุจริตกุล ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีโบราณของไทยประเภทดีดไว้ให้ศิษย์มากมาย หลายสถาบัน อาทิ วิทยาลัยนาฏศิลป์  สถาบันบัณฑิตพัฒนาศิลป์ คณะครุศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โรงเรียนจิตรลดาโรงเรียนสวนกุหลาบ ฯลฯ    เวลาล่วงมาจนถึงร้อยปีชาตกาลคุณครูทองดี สุจริตกุล จึงได้รวบรวมความรู้เรื่องกระจับปี่เพื่อบูชาครู คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจในเครื่องสายของไทย ที่เรียกว่า “กระจับปี่” นี้ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะของกระจับปี่  ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของกระจับปี่ ประเภทและโอกาสในการบรรเลงด้วยกระจับปี่ เพลงขับเคลื่อนด้วยซอมโหรี ส่วนประกอบต่างๆ ของกระจับปี่ เทคนิคการบรรเลงเพลงกระจับปี่ สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของกระจับปี่ บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับกระจับปี่ในอดีตและในปัจจุบัน


กระจับปี่ : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

อ. สิทธิศักดิ์    จรรยาวุฒิ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

        กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีโบราณของไทยประเภทดีดมีสี่สาย ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ประเภทศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2554 เครื่องดีดของไทยชนิดนี้เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยอันสำคัญและทรงคุณค่ายิ่ง มีโครงสร้าง องค์ประกอบ แบบแผน การพัฒนา การสืบทอด มาอย่างยาวนานแม้ในปัจจุบันจะไม่ได้รับความนิยมในการบรรเลงเท่าใดนัก   แต่กระนั้นกระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีที่จำเป็นต้องได้รับการปกปักษ์รักษาไว้ให้ยังคงอยู่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย   ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย   ในการนำเสนอเนื้อหาสาระในครั้งนี้ จะครอบคลุมถึงลักษณะสำคัญของกระจับปี่ ประเภทของวงที่นำกระจับปี่ไปบรรเลง โอกาสในการบรรเลง หน้าที่ การสืบทอดองค์ความรู้ บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยกระจับปี่ วิวัฒนาการ  สภาพการในอดีตจวบจนถึงในปัจจุบัน และแนวโน้มของกระจับปี่ในอนาคต การอ้างอิงนามศิลปินบางท่านทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงบางท่านที่ยังคงมีชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ในกิจกรรมดนตรีของไทย ทั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลในลักษณะภาพรวมที่สำคัญและจำเป็น เพื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดนตรีของไทยที่มีการสั่งสมและพัฒนาจนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชนชาติใด   เป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทางการแสดงดนตรีของไทยที่ทรงคุณค่า มีความโดดเด่นด้วยขนบประเพณี วิธีคิดวิธีปฏิบัติ มีการดำเนินวิถีทางวัฒนธรรมดนตรี ที่หล่อหลอม สืบทอด มาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน มีขอบเขตครอบคลุมถึง การประสมวงดนตรี การสร้างเครื่องดนตรี รูปแบบการบรรเลง บทเพลง ศิลปินผู้บรรเลง นักประพันธ์เพลง  โอกาสการนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆและบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้อง    แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณและวิถีความเป็นไทยที่จำเป็นต้องอนุรักษ์มิให้สูญหายและพัฒนาต่อไปให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป

ลักษณะสำคัญของกระจับปี่

     ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เดิมมีอาณาจักรต่างๆเกิดขึ้นมาก่อนอาณาจักรสุโขทัยและได้เสื่อมอำนาจไป เช่น ทวารวดี โยนก เชียงแสน หริภุญชัย ละโว้หรือลพบุรี และชนกลุ่มเล็กๆตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดินแดนในแถบนี้อาณาจักรขอมเคยได้เข้ามาครอบครองเป็นครั้งคราว จนกระทั่งกลุ่มคนไทยสามารถรวมกำลังกันขับไล่ขอมออกไปและสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1792 (มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์, 2547 : 3) ศิลปวัฒนธรรมต่างๆรวมถึงการดนตรีตามแบบฉบับดั้งเดิมของแต่ละชนชาติเป็นสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรม ภาษา ความคิดความเชื่อ ความเจริญรุ่งเรือง ขนบประเพณี ฯลฯ แห่งกลุ่มชนนั้นๆ ได้อย่างดีเยี่ยม  นอกจากนี้ดนตรีของแต่ละชนชาติก็สามารถสะท้อนถึงลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันโดยสะท้อนอยู่ในท่วงทำนอง จังหวะลีลาของดนตรีได้เป็นอย่างดี ซึ่งดนตรีของแต่ละกลุ่มชนก็จะมีลีลาและเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง  ตามลักษณะสำเนียงภาษาพูดวิถีชีวิตความเป็นอยู่   เช่นเดียวกับดนตรีไทยในภาคกลางและดนตรีพื้นบ้านอีสาน ดนตรีภาคใต้ ก็จะมีสำเนียงที่แตกต่างกัน   ด้วยบริบทสำเนียงภาษาถิ่นที่แตกต่าง และสภาพอากาศ ความเชื่อ ศาสนา ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน กระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีของไทยที่มีมาแต่โบราณดังปรากฏในภาพปูนปั้นสมัยทวารวดี รูปร่างหน้าตาของเครื่องดนตรี รูปแบบวิธีการบรรเลง บทเพลงที่ใช้บรรเลงกระจับปี่นี้ ล้วนแล้วแต่มีสาระและประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยที่แฝงอยู่ และดังที่อาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติและปรมาจารย์ทางดนตรีไทยได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีจะมีคุณค่า ถ้าเข้าใจในภาษาดนตรี”   หากสามารถเข้าใจในสรรพเสียงและจิตวิญญาณแห่งดนตรีได้แล้ว ก็จะสามารถเกิดการรับรู้และเข้าใจในสรรพภาษาแห่งดนตรีเมื่อครั้งในอดีต ทำให้สามารถเข้าใจและรับรู้ถึง ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต แห่งผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้เช่นเดียวกับการย้อนรอยเวลากลับไปสัมผัสกลิ่นอายความเป็นไปในครั้งก่อนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคุณค่าของการเข้าใจในวัฒนธรรมดนตรีจึงมีความยิ่งใหญ่ที่จะสามารถขยายไปยังความเข้าใจในความเป็นชาติพันธุ์ได้อีกด้วย

      ดนตรีในภูมิภาคแถบภูมิภาคเอเซียรวมถึงประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียเช่นกัน  วัฒนธรรมการดนตรีของอินเดียมีแบ่งหมวดหมู่ของเครื่องดนตรีตามตำรา “นาฏยศาสตร์” ของท่านภรตมุนี ในช่วงระยะเวลาประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 และได้ปรากฏใน “สังคีตรัตนากร” ของท่านศรางเทพ ในประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 2   (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 32)   โดยได้มีการแบ่งแยกเครื่องดนตรีออกเป็น 4 หมู่ ดังนี้

1.   ตะตะ (เครื่องสายสำหรับดีดสีเป็นเสียง)
2.   สุษิระ (เครื่องเป่า)
3.   อะวะนัทธะ (เครื่องหนัง)
4.   ฆะนะ (เครื่องที่กระทบเป็นเสียง)

ดังนั้น การจำแนกเครื่องดนตรีของไทยที่ได้รับแบบอย่างมาจากอินเดียเช่นเดียวกับ เขมร มอญ พม่า ชวา มลายู นี้ทำให้โบราณจารย์ของไทยได้จำแนกเครื่องดนตรีไทยเป็น 4 ประเภท คือ

1.   เครื่องดีด               2.   เครื่องสี                  3.   เครื่องตี                     4.   เครื่องเป่า

      โดยแบ่งจำแนกตามลักษณะอาการบรรเลง ในกลุ่มเครื่องดีดก็ได้แก่ กระจับปี่ จะเข้ พิณเปี๊ยะ พิณน้ำเต้า  กลุ่มเครื่องสีก็ได้แก่ ซออู้ ซอด้วง ซอสามสาย สะล้อ   กลุ่มเครื่องตีจะแยกเป็นกลุ่มที่ทำทำนอง ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลุ่มที่ทำจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับคู่ กรับพวง โหม่ง กลองแขก โทน – รำมะนา ตะโพน กลองยาวกลองทัด สองหน้า บัณเฑาะว์ กลองมลายู เปิงมาง กลองชนะ กลองทัด กลุ่มเครื่องเป่า ได้แก่ ขลุ่ยอู้ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลิบ ปี่นอก ปี่ใน ปี่ชวา เป็นต้น (พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ, 2552 : 392) สำหรับการผสมรวมวงนั้นได้มีการนำเอาเครื่องดนตรีจากกลุ่มของ เครื่องดีด สี ตี เป่า ต่างๆนี้   นำมาบรรเลงผสมผสานกันเพื่อให้เกิดการประสมประสานของท่วงทำนอง จังหวะ รวมถึงการขับร้อง เข้าด้วยกัน   โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกลมกลืนของเสียงเป็นสำคัญ อาทิ ความดังความเบาของเครื่องดนตรี   (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 3) สุ้มเสียงของเครื่องดนตรีที่สามารถบรรเลงเข้ากันได้เป็นอย่างเหมาะสม และลักษณะการบรรเลงเครื่องดนตรีที่สามารถบรรเลงร่วมกันได้อย่างแคล่วคล่องด้วยกันเป็นอย่างดี กระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มต่ำและเบา จึงนิยมนำมาบรรเลงในวงที่มีเสียงไม่ดังมากนักเช่นในวงมโหรีแบบโบราณ อาทิ มโหรีเครื่องสี่ มโหรีเครื่องหก มโหรีเครื่องแปด ฯลฯ

    กระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดของไทยที่มีมานาน แต่ด้วยประวัติศาสตร์ของการดนตรีไทยมักจะขาดการบันทึกข้อมูลที่แน่ชัด จึงยากแก่การลงความเห็นหรือการอ้างถึงที่ชัดเจนที่จะสามารถระบุได้ว่าไทยมีกระจับปี่ตั้งแต่สมัยใดกันอย่างแน่ชัด การกำเนิดเครื่องดนตรีนั้นได้รับมาจากอิทธิพลจากชนชาติใดหรือมีการพัฒนาขึ้นเองก็มิอาจสรุปได้แน่ชัด การกำเนิดของเครื่องดนตรีในแนวคิดของนักมานุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicologist) ได้มีแนวคิดอยู่สองลักษณะคือ เครื่องดนตรีนั้นเกิดจากการคิดประดิษฐ์ของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเอง หรือได้รับมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมภายนอก อย่างไรก็ตามการพัฒนาและการคิดค้นปรับปรุงเครื่องดนตรีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเจ้าของถิ่น   ก็ได้สรรสร้างให้เครื่องดนตรีของแต่ละชนชาติมีความต่าง ความคล้ายคลึง ความเหมือน ที่เป็นเอกลักษณ์ ดังตัวอย่างที่มีแนวคิดว่า ซอสามสายมาจาก “รีบับ” ของอินโดนีเซีย และอีกแนวคิดหนึ่งกล่าวว่ามีต้นแบบมาจาก “ตรัวขะแมร์” ของเขมร   อีกแนวคิดหนึ่งคือซอสามสายได้ปรับปรุงมาจากสะล้อของล้านนา   ซึ่งก็ยังไม่สามารถสืบค้นหาหลักฐานจนเป็นที่ประจักษ์ได้แน่ชัดจนสามารถยืนยันระบุข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับกันได้   โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทางดนตรีของไทย ขาดการบันทึกข้อมูลที่ชัดเจน จึงยากแก่การลงความเห็นหรือหาข้อสรุปที่แน่ชัด (ปัญญา รุ่งเรือง, 2538)    ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวชื่นชมพระบารมีของสมเด็จพระมหาจักรพัตราธิราชตอนหนึ่งว่า “ลางจำพวกดีดพิณและสีซอพุงตอกันแลกันฉิ่งริงรำ” ท่านอาจารย์มนตรี ตราโมทก็ได้ตั้งข้อสันนิฐานว่า คำว่าสีซอกับพุงตอนั้นเขียนติดเป็นคำเดียวกันหรือไม่ เพราะโบราณท่านนิยมเขียนติดกันไปทั้งหมด ถ้าติดกันซอพุงตอก็เป็นชื่อซอชนิดหนึ่งที่อาจเป็นซอสามสายก็ได้ แต่ถ้าไม่ติดกัน สีซอก็เป็นเรื่องหนึ่ง พุงตอก็เป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง จึงนับว่าซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีของไทยที่มีมาแต่โบราณกาลชิ้นหนึ่ง  ท่านมหาแสง วิฑูรให้ความเห็นว่า ตรงกับภาษาเงี้ยวหรือไทยโบราณ ได้แก่กลองขนาดยาวที่เรียกว่ากลองแอว (มนตรี ตราโมท, 2519: 36)  ส่วนพิณนั้นก็สันนิฐานว่าคงจะเป็นกระจับปี่ที่มักใช้บรรเลงคู่กับซอสามสายนั่นเอง

    นักวิชาการทางดนตรีหลายๆท่านได้มุ่งความสนใจความเกี่ยวพันของกระจับปี่ไปที่ชวาและเขมรเป็นหลัก แต่ร่องรอยความเป็นมาของกระจับปี่มีความชัดเจนว่ามีความเกี่ยวพันกับอินเดียอันเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่เห็นได้จากภาษาสันสกฤตและบาลีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชื่อกระจับปี่ รศ.ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรีได้กล่าวถึงเมื่อครั้งได้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอินเดีย เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก ได้พบเครื่องดนตรีชื่อ “กัจฉปิ / Kacchapi” รูปร่างหน้าตาของเครื่องดนตรีนี้ละม้ายคล้ายกระจับปี่อย่างที่สุด   เครื่องดนตรีนี้เป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่งของอินเดีย จัดอยู่ในกลุ่มวีณา (พิณ) มีสายสี่สาย เคยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอดีต ในแถบรัฐเบงกอลไปจรดแถบภาคตะวันออกด้านติดกับประเทศพม่า ซึ่งในปัจจุบันได้หมดความนิยมไปแล้ว   มีเครื่องดนตรีชื่อ “กัจฉภิ / Kacchabhi”   ที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มรายชื่อเครื่องดนตรีทั้ง 60 ชนิดที่กล่าวไว้ในวรรณกรรมของเชน ที่เป็นศาสนาในร่วมสมัยกับพระพุทธศาสนา ทั้งสองศาสนานี้ปฏิเสธคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูโดยเฉพาะการแบ่งชั้นวรรณะ ดังนั้นภาษามคธและภาษาถิ่นต่างๆจึงถูกนำมาใช้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ชนทุกชั้น  เหตุนี้คำว่า “กัจฉปิ” ที่มีรูปศัพท์เดิมมาจาก “กัจฉปะ” นั้น เกิดการผสมผสานกับภาษาของกลุ่มชนที่ไม่ใช่ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก จึงทำให้เพี้ยนมาเป็นคำว่า “กัจฉภิ” ในวรรณกรรมของศาสนาเชนในที่สุด   ในคัมภีร์ “นาฏยศาสตร์” ของท่านภรตมุนี ในช่วงสมัย 500 ปี ก่อน ค.ศ. 200 ได้กล่าวถึงเตรื่องดนตรีที่ชื่อว่า “กัจฉปิ”  และในภายหลังท่านศรางเทพผู้เขียนคัมภีร์สังคีตรัตนากรในช่วงประมาณปี ค.ศ 1210 – 1247 ได้กล่าวถึงเครื่องดนตรีชนิดนี้และยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่เรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “กัจฉปิ” เป็นเพราะกะโหลกของเครื่องดนตรีชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า  และในงานประติมากรรมสมัยอมราวตี ราวปี ค.ศ. 150 – 250 มีนักวิจัยหลายท่านแสดงความเห็นว่าเครื่องดนตรีที่พระนางสรัสวดีทรงถือนั้น ที่พบในช่วง 200 ปีก่อนปี ค.ศ. 6 มีลักษณะคล้ายคลึงกับกัจฉปิ (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 159)

 

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของกระจับปี่

       กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีสายประเภทหนึ่งของไทย ตัวกะโหลกของกระจับปี่มีลักษณะแบนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีคันทวนยาวโค้งงอนไปด้านหลัง บรรเลงด้วยการดีด  เช่นเดียวกับพิณเปี๊ยะและพิณอื่นๆ  ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้อธิบายถึงกระจับปี่ไว้ว่า กระจับปี่เป็นพิณสี่สาย เป็นคำชวาเรียกว่า กัจฉปิ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า กจฺฉป (กัจฉปะ) แปลว่า เต่า   ที่เรียกดังนี้อาจารย์ธนิต อยู่โพธิได้ให้ความเห็นไว้ว่าอาจเป็นด้วยตัวกะโหลกของกระจับปี่นั้นมีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า จึงมีการเรียกชื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นได้   อีกทั้งให้ความเห็นว่า กระจับปี่อาจได้รับแบบมาจากชวาโดยผ่านทางเขมรก็เป็นได้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า คำว่า กัจฉปิ ที่เป็นคำชวานั้น เพี้ยนเป็น ขฺสจาปีหรือแคฺชจาเป็ย ในภาษาขอม

     ในกฎมณเฑียรบาลในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ประมาณปีพ.ศ. 1991 – 2031 ก็มีบันทึกกล่าวถึงกระจับปี่ดังปรากฏไว้ใว่า “ห้ามร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดจะเข้ ดีดกระจับปี่ ตีโทนตีทับ ในเขตพระราชฐาน” (อุทิศ นาคสวัสดิ์, 2525: 4) แสดงให้เห็นความนิยมในการบรรเลงกระจับปี่ในอดีตเป็นอย่างมากจนถึงกับต้องประกาศห้ามบรรเลงในเขตพระราชฐานกันเลยทีดียว อีกทั้งในงานจิตรกรรม ประติมากรรม เช่น ภาพปูนปั้น ภาพแกะสลัก  ภาพเขียนลายทองบนตู้หนังสือ ฯลฯ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลต่างๆเหล่านี้   ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานที่ใช้สืบค้นเกี่ยวกับการบรรเลงกระจับปี่และมโหรีโบราณได้เป็นอย่างดี   ด้วยรายละเอียดต่างๆจากงานจิตรกรรม ประติมากรรมเหล่านี้สามารถใช้เป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงให้เห็นความนิยมบรรเลงกระจับปี่ในครั้งโบราณกาลได้อย่างเด่นชัด   ดังปรากฏกระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงคู่กับซอสามสายในวงมโหรีตั้งแต่โบราณ   ได้แก่ วงมโหรีเครื่องสาม วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก วงมโหรีเครื่องแปด วงมโหรีเครื่องเก้า วงมโหรีเครื่องสิบ ไปจนถึงวงมโหรีในยุคปัจจุบันวงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่ และวงมโหรีเครื่องใหญ่ ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังปรากฏภาพกระจับปี่บรรเลงร่วมอยู่ในวงมโหรีด้วย   จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยามีภาพพุทธประวัติตอนที่ทรงฉัน ปัจฉิมบิณฑบาตรที่บ้านนายจุนทะกัมมารบุตร เมืองปาวา  ปัจจุบันอยู่ที่วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ จากภาพจิตรกรรมนี้แสดงให้เห็นว่า เป็นวงมโหรีเครื่องสาม   นอกจากนี้ยังพบภาพแกะสลักวงมโหรีเครื่องสี่อันประกอบด้วย คนสีซอสามสาย คนดีดกระจับปี่ คนตีทับหรือโทน และคนตีกรับที่เป็นผู้ขับลำนำ   ปรากฏอยู่บนฝาตู้ไม้จำหลักสมัยอยุธยา   ตรงกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ว่า “มโหรีนั้นเดิมวงหนึ่งมีคนเล่นเพียงสี่คน เป็นคนขับร้องลำนำและตีกรับพวงให้จังหวะเองคนหนึ่ง คนสีซอสามสายประสานเสียงคนหนึ่ง คนดีดกระจับปี่ให้ลำนำคนหนึ่ง คนตีทับ (โทน) ประสานจังหวะกับลำนำคนหนึ่ง สังเกตเห็นได้ชัดว่ามิใช่อื่นคือการเครื่องบรรเลงพิณกับเครื่องขับไม้มารวมกันนั่นเอง เป็นแต่ใช้กระจับปี่ดีดแทนพิณ ตีทับแทนไกวบัณเฑาะว์ และเติมกรับพวงสำหรับให้จังหวะเข้าอีกอย่างหนึ่ง   เครื่องมโหรีที่เพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคือ รำมะนาตีประกอบกับทับอย่างหนึ่ง ขลุ่ยสำหรับเป่าให้ลำนำอย่างหนึ่ง มโหรีวงหนึ่งจึงกลายเป็นหกคน มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เติมเครื่องมโหรีขึ้นอีกหลายอย่าง เอาเครื่องปี่พาทย์เข้าเพิ่มเป็นพื้นแต่ทำขนาดย่อมลง ในสมัยรัชกาลที่ 1 เติมระนาดไม้กับระนาดแก้ว รวมมโหรีวงหนึ่งเป็นแปดคน มาในรัชกาลที่ 2 เลิกระนาดแก้วเสีย ใช้ฆ้องวงแทน และเพิ่มจะเข้เข้าในเครื่องมโหรีอีกสิ่งหนึ่ง รวมมโหรีวงหนึ่งเป็นเก้าคน ถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อคิดทำระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเพิ่มเข้าในมโหรี ใช้ฉิ่งตีแทนกรับพวง และเพิ่มฉาบเข้าในมโหรีด้วย รวมเป็นสิบสองคน ถึงรัชกาลที่4 เพิ่มระนาดทองและระนาดเหล็กจึงเป็นสิบสี่คน มาถึงรัชกาลที่ 5 เครื่องมโหรีลดกระจับปี่กับฉาบ จึงกลับคงเหลือสิบสองคน ” (พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ, 2552 : 394)     ในหนังสือจินดามณีเล่ม 1 – 2 หน้า 45 ได้กล่าวถึงวงมโหรีไว้ว่า

  “นางขับขานเสียงแจ้ว พึงใจ

  ตามเพลงกลอนกลใน ภาพพร้อง

  มโหรีบรรเลงไฉน ซอพาทย์

  ทับกระจับปี่ก้อง เร่งเร้ารัญจวน”

       พิจารณาตามโคลงบทนี้ วงมโหรีนี้มีห้าคนคือ นางขับร้องซึ่งน่าจะตีกรับด้วยคนหนึ่ง คนเป่าปี่หรือขลุ่ยคนหนึ่ง คนสีซอสามสายคนหนึ่ง คนตีทับคนหนึ่ง คนดีดกระจับปี่คนหนึ่ง จึงนับเป็นมโหรีเครื่องห้า   จากภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตกในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 มีภาพของวงมโหรีเครื่องหก   มีผู้เล่น 6 คนประกอบไปด้วย ซอสามสาย กระจับปี่ โทน รำมะนา ขลุ่ย และคนขับลำนำ   สำหรับมโหรีเครื่องแปดนั้นมีการกล่าวว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีผู้คิดเพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองชนิดคือ ระนาดไม้และระนาดแก้ว   ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ใน “ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์” ว่า “…เล่ากันมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ 1 เติมระนาดไม้กับระนาดแก้วเป็นเครื่องมโหรีขึ้นอีกสองอย่าง รวมมโหรีวงหนึ่งมีแปดคน มาในรัชกาลที่ 2 เลิกระนาดแก้วเสียใช้ฆ้องวงแทน และเพิ่มจะเข้เข้าในเครื่องมโหรีอีก1 สิ่ง รวมมโหรีวงหนึ่งเป็น 9” (อนุชา ทีรคานนท์, 2552 : 77) และจากอีกหลักฐานหนึ่งที่ปรากฏบนตู้ไม้ลายจำหลักเรื่อง ภูริทัตตชาดก สมัยกรุงศรีอยุธยา มีคนเป่าขลุ่ยสองคน และมีคนตีฆ้องวงอีก 1 คน ฆ้องวงที่เพิ่มมานี้ภายหลังปี่พาทย์นำไปผสมในวงปี่พาทย์   อาจสันนิฐานได้ว่าวงมโหรีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจะมีวงมโหรีเครื่องเก้าแล้วก็เป็นได้    มีหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังวิหารพระนอนตรงเบื้องพระเศียรพระพุทธไสยาสน์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีผู้เล่นดนตรีสิบคนและบทเพลงยาวไหว้ครูมโหรีครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวว่าไว้ว่า  (patakorn, 2554 : ระบบออนไลน์)

“ขอพระเดชาภูวนาท พระบาทปกเกล้าเกศี

  ข้าผู้จำเรียงเครื่องมโหรี ซอกรับกระจับปี่รำมะนา

  โทนขลุ่ยฉิ่งฉาบระนาดฆ้อง ประลองเพลงขับกล่อมพร้อมหน้า

  จลเจริญศรีสวัสดิ์ ทุกเวลา ให้ปรีชาชาญเชี่ยวในเชิงพิณ”

          จากหลักฐานนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีมโหรีเครื่องเก้าเครื่องสิบในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว   อย่างไรก็ตามวงมโหรีโบราณที่นิยมและมักพบเห็นในการบรรเลงในวาระต่างๆ   ได้แก่ วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่งหก วงมโหรีเครื่องแปด เป็นส่วนใหญ่   ต่อมาเมื่อวงมโหรีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการเพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นอีกหลายชิ้นเพื่อขยายวงให้มีเครื่องดนตรีมากขึ้น   กระจับปี่ที่มีน้ำหนักมากและมีเสียงเบาจึงถูกเครื่องดนตรีอื่นๆกลบเสียงจนไม่ได้ยินเสียงกระจับปี่ในวงดนตรี  โดยเฉพาะเมื่อมีการนำจะเข้เข้ามาร่วมบรรเลงในวงมโหรีเครื่องสายต่างๆ   จะเข้นั้นดีดได้สะดวก คล่องแคล่ว และมีเสียงดังกว่ากระจับปี่   เมื่อมาบรรเลงในวงเดียวกัน จึงทำให้กระจับปี่ไม่เป็นที่นิยมตั้งแต่นั้นมา   อย่างไรก็ตามกระจับปี่ก็ยังไม่ถึงกับหายสาปสูญไปจากสังคมไทยเสียทีเดียว

 

ประเภทและโอกาสในการบรรเลงด้วยกระจับปี่   

กระจับปี่

       เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงอยู่ในวงมโหรีโบราณ อาทิวงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก และวงมโหรีเครื่องแปด  กล่าวกันว่าวงมโหรีชนิดนี้มีสุ้มเสียงนุ่มนวลไพเราะประดุจเสียงทิพย์จากสรวงสวรรค์   เพราะมีความดังของเสียงที่พอเหมาะไม่ดังจนเกินไป   และสำเนียงที่ทุ้มต่ำ   เหมาะแก่การที่จะใช้บรรเลงภายในอาคาร เหมาะสมในการขับกล่อม และในพระราชพิธีต่างๆ เป็นต้น   เป็นที่น่าเสียดายว่าการนำกระจับปี่มาใช้บรรเลงในวงมโหรีที่นิยมในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่  และวงมโหรีเครื่องใหญ่  จะไม่มีกระจับปี่ร่วมบรรเลงด้วยมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว  ดังที่กล่าวมาแล้วว่าด้วยเหตุที่กระจับปี่มีน้ำหนักมากและมีเสียงเบา เมื่อบรรเลงในวงที่มีเครื่องดนตรีมากๆ ก็จะถูกเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆกลบจนไม่ได้ยินเสียงของกระจับปี่  จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความนิยมในการบรรเลง  ทำให้ในปัจจุบันนี้จะไม่ได้พบเห็นการบรรเลงกระจับปี่กันอีกเลยด้วยหาผู้ที่ดีดกระจับปี่ได้ยากยิ่ง แต่ถึงแม้จะไม่ค่อยได้มีโอกาสพบเห็นการบรรเลงกระจับปี่กันแล้วก็ตาม   กระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีไทยชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์และควรมีการนำมาใช้และต้องการมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย   ในทุกวันนี้บางหน่วยงานได้มีความพยายามส่งเสริมให้มีการบรรเลงวงมโหรีโบราณเช่น วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก และวงมโหรีเครื่องแปด ที่ก็ยังต้องนำกระจับปี่ร่วมบรรเลงอยู่เช่นเดิม  จึงทำให้มีบางโอกาสที่จะได้พบเห็นกระจับปี่บรรเลงอยู่ในวงมโหรีโบราณเหล่านี้ในวาระพิเศษสำคัญต่างๆ   ซึ่งไม่ค่อยจะได้มีโอกาสพบเห็นกันได้อย่างง่ายดายนัก  วงดนตรีที่จะได้มีโอกาสพบเห็นกระจับปี่ร่วมบรรเลงด้วย มีดังนี้

1.   วงมโหรีเครื่องสี่   ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย
กระจับปี่
โทน
กรับพวง
1 คัน
1 ตัว
1 ใบ
1 พวง

2.   วงมโหรีเครื่องหก   ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย
กระจับปี่
โทน
รำมะนา
ขลุ่ยเพียงออ
กรับพวง
1 คัน
1 ตัว
1 ใบ
1 ใบ
1 เลส
1 พวง

 

 

3.   วงมโหรีเครื่องแปด   ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ซอสามสาย
กระจับปี่
โทน
รำมะนา
ขลุ่ยเพียงออ
ระนาด
ระนาดแก้ว
กรับพวง
1 คัน
1  ตัว
1 ใบ
1 ใบ
1 เลา
1 ราง
1 เลา
1 พวง

 

   บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยกระจับปี่แต่เดิมจะเป็นเพลงสองชั้นสั้นๆ ที่มีทำนองเรียบง่าย จังหวะปานกลาง เป็นส่วนมาก อาทิ นางนาค พัดชา ลีลากระทุ่ม สรรเสริญพระจันทร์ มหาไชย สระสม นาคเกี่ยวพระสุเมรุ พระทอง ถอยหลังเข้าคลอง อังคารสี่บท ปะตงโอด ปะตงพัน อรชร ลำไป เนียรปาตี จันดิน ก้านต่อดอก  เป็นต้น เคยมีการรวบรวมรายชื่อเพลงในตำรามโหรีครั้งกรุงเก่าไว้และยังมีเพลงยาวตำรามโหรีสมัยรัชกาลที่ 1 ตกทอดมาอีกด้วย (อานันท์ นาคคง, 2538 : 80)   เมื่อพิจารณาจากเพลงขับเรื่องซอมโหรี ก็จะระบุชื่อเพลงโบราณถึง 192 เพลง (พูนพิศ อมาตยกุลและคณะ, 2552 : 52)   เพลงบางเพลงก็ยังคงปรากฏใช้บรรเลงในปัจจุบัน แต่บางเพลงก็คงเหลือเพียงชื่อเพลงและบทขับร้องที่ไม่สามารถสืบค้นทำนองเพลงเหล่านั้นได้อีก


 

เพลงขับเรื่องซอมโหรี

ข้าไหว้ครูซอขอคำนับ
ขับบรรสานสายสุหร่ายเรื่อง
มโหรีแรกเริ่มเฉลิมเมือง
บอกเบื้องฉบับบุราณนาน
แต่บรรดาเพลงใหญ่ให้รู้ชื่อ
คือโฉลกแรกเรื่อยเฉื่อยฉาน
อักษรโฉลกบรรเลงลาน
วิศาลโฉลกนั้นเป็นหลั่นลด
มหาโฉลกลอยชายเข้าวัง
พราหมณ์เดินเข้ายังอุโบสถ
โยคีโยนมณีโชติชด
เจ็ดบทบอกต้นดนตรี ฯ





บทที่ ๑
โศลกแขก
อักษรโฉลก
วิศาลโฉลก
มหาวิศาลโฉลก, ลอยชายเข้าวัง
พราหมณ์เข้าโบสถ์
โยคีโยนแก้ว
(๗  เพลง)

เพลงซอที่สองรองรับ
นับอีกเจ็ดบทกำหนดสี่
ในนามว่าเนรปัตตี
กับศรีสุวรรณชมพูนุท
ทองเก้าน้ำนองทองย้อย
ทองพรายแพร้วพร้อยแสงสุด
ทองสระทองสรมสมมุติ
กุลบุตรจงจำลำตำนาน ฯ


บทที่ ๒
เนียรปาตี
ชมพูนุท
ทองเก้าน้ำ, ทองย้อย
ทองพราย
ทองสระ, ทองสรม
(๗  เพลง)


นางกราย
แล้วย้ายนางเยื้อง
เรียงเรื่องเรียบร้อยสร้อยต่าน
นาคเกี้ยวพระสุเมรุพาดพาน
พระอวตารติดตามกวางทอง
ราเมศออกเดินดงดอน
พระรามนครควรสนอง
เจ็ดเพลงบรรเลงล้ำทำนอง
ที่สามต่อสองประสานกัน ฯ

บทที่ ๓
นางกราย, นางเยื้อง
สร้อยต่าน
นาคเกี้ยว
พระรามตามกวาง
พระรามเดินดง
พระราม (คืน) นคร
(๗ เพลง)

ขึ้นมอญแปลงใหญ่ในบทสี่
สรรเสริญจันทรีสรวงสวรรค์
มหาไชยในเรื่องรำพัน
มโนห์ราโอดอั้นครั่นครวญ
ราโคเคียงเรียงเหรา
หงส์ไซ้ปทุมมาสร้อยสงวน
ยิ่งฟังยิ่งเพราะเสนาะนวล
ในขบวนบรรเลงเพลงพอ ฯ
บทที่ ๔
มอญแปลง
สรรเสริญพระจันทร์
มหาชัย
มโนห์ราโอด
ราโค, เหราเล่นน้ำ
หงส์ไซ้ดอกบัว
(๗ เพลง)

บังใบแฝงใบโอดอ้อน
ฝรั่งร่ายร้องถอนสมอ
คู่ฝรั่งบ้าบ่นบทซอ
คู่บ้าบ่นต่อลำดับไป
แขกสวดแล้วแขกกินเหล้า
อีกยาเมาเลสังข์ใหญ่
สังข์น้อยร้อยเรียบระเบียบใน
สิบเอ็ดบทบอกไว้ให้เจนจำ ฯ
บทที่ ๕
บังใบ, แฝงใบโอด
ฝรั่งถอนสมอ
คู่ฝรั่งถอนสมอ, บ้าบ่น
คู่บ้าบ่น
แขกสวด, แขกกินเหล้า
ยาเมาเล, สังข์ใหญ่
สังข์น้อย
(๑๑ เพลง)

สระบุหร่ง
รับขับอ้าง
กะระนะนางบุหร่งเรื่อยร่ำ
มะละกาเสียเมืองลำนำ
มลายูหวนซ้ำสืบไป
แล้วคู่มลายูหวน
เสนาะนวลเพลงเพื่อนนอนใหญ่
เพื่อนนอนน้อยดอกไม้ไทร
เป็นลำดับดอกไม้ตานี
แสนพิลาปใหญ่พิลาปน้อย
น้ำค้างย้อยตะวันตกเรื่อยรี่
น้ำค้างตะวันออกโดยมี
นกกระจอกต้องที่กระเบื้องร้อน
สมิงทองไทยรามัญแขก
สิบแปดเพลงแจงแจกจำสอน
ประสานเสียงเพียงซอสวรรค์วร
ที่หกจบกลอนไม่เบียดบัง ฯ
บทที่ ๖
สระบุหร่ง
กะระนะ, นางบุหร่ง
มะละกาเสียเมือง
มลายูหวน
คู่มลายูหวน
เพื่อนนอนใหญ่
เพื่อนนอนน้อย, ดอกไม้ไทร
ดอกไม้ตานี
แสนพิลาปใหญ่, แสนพิลาปน้อย
น้ำค้างตะวันตก
น้ำค้างตะวันออก
นกกระจอกต้องกระเบื้อง
สมิงทองไทย, สมิงทองมอญ,
สมิงทองแขก
(๑๘ เพลง)

เพลงเจ็ดนั้นตั้งอรชร
สายสมรปโตงโอดโดยหวัง
ปโตงหวนปโตงพันพึงฟัง
เป็นห้าเพลงไม่พลั้งเพลินชม ฯ
บทที่ ๗
อรชร
สายสมร, ปะตงโอด
ปะตงหวน, ปะตงพัน
(๕ เพลง)


เพลงแปดนั้นสุวรรณมาลา
มาก้านต่อดอกสระสม
ทั้งนางนาคใหญ่ชื่นชม
บรรสมเป็นเพลงแปดปอง ฯ

บทที่ ๘
สุวรรณมาลา
ก้านต่อดอก, สระสม
นางนาคใหญ่
(๔ เพลง)


พระทองคู่พระทองตุ๊ดตู่
 
คู่ตุ๊ดตู่จงรู้เรื่องสนอง
สี่บทเพราะล้ำทำนอง
จะเรียบร้องเพลงสิบสืบกลอน ฯ

บทที่ ๙
พระทอง, คู่พระทอง, ตุ๊ดตู่
คู่ตุ๊ดตู่
(๔ เพลง)


เริ่มแรกนั้นเรียกดอกไม้
ดอกไม้พันประไพเกษร
อีกดอกไม้โอดเอื้อนชออน
สุวรรณหงส์ร่อนคัคนานต์ ฯ

บทที่ ๑๐ 
ดอกไม้
ดอกไม้พัน
ดอกไม้โอด
สุวรรณหงส์ (๔ เพลง)


นางไห้ลมพัดชายเขา

ชมชเลเบ้าหลุดคำหวาน
ห้าบทกำหนดในการ
ประมาณที่สิบเอ็ดเพลงมี ฯ

บทที่ ๑๑
นางไห้, ลมพัดชายเขา
ชมทะเล, เบ้าหลุด, คำหวาน
(๕ เพลง)


อรุ่มสร้อยสน
ระคนกัน
อาถันตลุ่มโปงอาถันสี่
อาถันแปดเล่าซอต่อคดี
เพลงที่สิบสองมีเจ็ดครบ ฯ

บทที่ ๑๒
อรุ่ม, สร้อยสน
อาถรรพ์, ตลุ่มโปง, อาถรรพ์สี่
อาถรรพ์แปด, เล่าซอ
(๗ เพลง)


ยิกินใหญ่ล่องเรือนคร

แทรกซ้อนยิกินหน้าศพ
ยิกินยากซ้ำคำรบ
เพลงสิบสามจบเจนใจ ฯ

บทที่ ๑๓
ยิกินใหญ่, ล่องเรือละคร
ยิกินหน้าศพ
ยิกินยาก
(๔ เพลง)


สิบสี่นั้นคือพระนคร 
เรื่อยร่อนสำเนียงเสียงใส
อีกทั้งลำนำลำไป
ถอยหลังเข้าในคลองจร ฯ

บทที่ ๑๔
พระนคร

ลำไป
ถอยหลังเข้าคลอง (๓ เพลง)


เพลงสิบห้านั้นมานางนาคน้อย 
คู่นางนาคพลอยนกร่อน 
ม้าย่องม้ารำอรชร
สีสอนตามเรื่องเนื่องกัน
เขนงกระทงเขียวแสง
ขอมมอญแปลงเล็กสลับคั่น
แยกออกเพลงละเจ็ดจงสำคัญ
เพลงสิบห้ารำพันจงลง ฯ

บทที่ ๑๕
นางนาคน้อย
คู่นางนาค, นกร่อน
ม้าย่อง, ม้ารำ
เขนง, กระทงเขียว
ขอม, มอญแปลงเล็ก
(๙ เพลง)

สิบหกยกบทกำหนดชื่อ
คือว่าจันดินอย่าลืมหลง
อีกคู่จันดินโดยจง
บทบ้าระบุ่นคงครบขบวน
จบเพลงเรื่องใหญ่แม้นใครเรียน
อุตสาห์เพียรให้ดีถี่ถ้วน
เพลงพรัดท่านจัดไว้ตามสมควร
สืบสวนโดยระเบียบเรียบร้อย

บทที่ ๑๖
จันดิน
คู่จันดิน
บ้าระบุ่น
(๓ เพลง)

 
ศรีประเสริฐระส่ำระสาย 
เรียงรายวงแหวนรอบก้อย
อังคารนฤคันโยคมดน้อย
นางตานีไห้ละห้อยโศกา
พระนครเขินขันบรรเลง
ร้อยสามสิบเจ็ดเพลงศึกษา
มโหรีมีเรื่องบุราณมา
เป็นศรีกรุงอยุธยาใหญ่เอย

บทที่ ๑๗ 
ศรีประเสริฐ, ระส่ำระสาย
แหวนรอบก้อย
อังคาร, เนียรคันโยค, มดน้อย
นางพระยาตานีร้องไห้
พระนครเขิน
(๘ เพลง)

       ภายหลังก็มีความนิยมบรรเลงกระจับปี่ด้วยบทเพลงหลากหลายจำพวกทั้งเพลงเกร็ด เพลงละคร เพลงตับ เพลงเสภาต่างๆ รวมถึงเพลงเดี่ยวต่างๆ อาทิ ลาวแพน พญาโศก พญารำพึง แขกมอญ กราวใน ฯลฯ ที่บันทึกเสียงโดยครูลิ้ม ชีวสวัสดิ์ให้ไว้ที่ ห.จ.ก. พัฒนศิลป์การดนตรีและการละคร ของ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ที่ยังทำให้สามารถรับฟังการเดี่ยวกระจับปี่ในประมาณ 40 – 50ปีที่ผ่านมากันได้

  

ส่วนประกอบต่างๆของกระจับปี่   

กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีสายสี่สาย  บรรเลงด้วยการดีด เช่นเดียวกับพิณเปี๊ยะและพิณอื่นๆ   ส่วนประกอบต่างๆ ของกระจับปี่ มีดังนี้ (kruchokchai, 2554  : ระบบออนไลน์)

กะโหลก   หรือกระพุ้งเสียง ทำด้วยไม้สัก ไม้ขนุน ไม้ปุ่มมะค่า ไม้ประดู่แดง ฯลฯ มาขุดขึ้นรูปให้มีลักษณะมนรีเหมือนรูปไข่ ภายในขุดให้เป็นโพรงเพื่อเป็นประโยชน์ในการกำธรของเสียง โดยติดประกบด้านหน้าด้วยไม้แผ่นหน้าที่อาจใช้แข็งหรือไม้เนื้ออ่อน เช่นไม้สมพงศ์ซึ่งเป็นไม้ที่ใช้ทำหน้าขิมมาประกบไว้ และอาจเจาะรูตรงกลางเพื่อระบายเสียงเพิ่มความดังกังวานให้กระจับปี่มากยิ่งขึ้น

คันทวน   ทำด้วยไม้ท่อน เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน ไม้แก่นจันทร์ ไม้แก้ว ไม้พยุง ฯลฯ คันทวนนี้จะกลึงด้านหลังมีลักษณะมน แต่กลึงด้านหน้าให้มีลักษณะแบนเพื่อประโยชน์ในการติดนม ในส่วนด้านก่อนถึงปลายคันทวนจะมีการเจาะร่องเป็นรางลูกบิด โดยเจาะรูสำหรับใส่ลูกบิดด้านละสองลูก จากนั้นปลายคันทวนจะทำให้แบนและมีด้านปลายที่บานขยายแผ่ออกไป โดยจะแอ่นโค้งงอนไปทางด้านหลังเพื่อความสวยงาม

รางลูกบิด   อยู่ด้านเกือบส่วนปลายของคันทวนโดยเจาะร่องเป็นรางใส่ลูกบิดทั้งสี่ลูก เพื่อการร้อยสายส่วนที่เหลือเก็บไว้ในร่องลูกบิดนี้ คล้ายรางไหมของจะเข้ โดยเจาะรูสำหรับใส่ลูกบิดด้านละสองลูก

ลูกบิด   ทำด้วยไม้เนื้อแข็งชนิดต่างๆ ไม้ประกอบงาช้างหรือกระดูก แม้แต่ทำด้วยงาช้างก็มี กลึงด้านปลายเป็นลักษณะต่างๆเพื่อความสวยงาม และเจาะรูตรงปลายเพื่อใช้พันสาย

ซุ้มหย่อง   ทำจากไม้ กระดูก หรืองาช้าง มีลักษณะเหมือนซุ้มประตูมียอดแหลม ตรงกลางเจาะให้โปร่งเพื่อประโยชน์ในการพาดสายให้ผ่านลงไปในรางลูกบิด

นม  ทำด้วยไม้เล็กประมาณ 11 – 12 ชิ้น โดยติดไว้ที่ด้านหน้าของคันทวนเพื่อใช้กดสายให้เกิดเสียงสูงต่ำตามต้องการ

หย่อง   ทำด้วยไม้ตัดเป็นทรงแบนๆ วางไว้ที่ด้านหน้ากระโหลกเพื่อรองรับสายไม่ให้ติดราบไปบนนมของกระจับปี่

สาย  นิยมใช้สายไหมควั่นเป็นเกลียว สายไนลอน หรือสายลวด

ไม้ดีด   ใช้ไม้หรือกระดูกสัตว์ฝนให้เป็นแผ่นบางๆคล้ายปิ๊กกีตาร์ในลักษณะทรงใบมะยม   หรือทำเป็นไม้ดีดคล้ายไม้ดีดจะเข้แต่เหลาให้สั้นกว่าไม้ดีดจะเข้

 

เทคนิคการบรรเลงกระจับปี่

       การดีดกระจับปี่นั้น แต่โบราณท่านให้นั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิดีดประจับปี่ โดยวางกะโหลกของกระจับปี่ลงบนร่องตัก   ซึ่งการวางบริเวณปลายกระพุ้งเสียงหรือกะโหลกลงบริเวณร่องตักให้พอดีจะ ทำให้สะดวกและเบาแรงในการดีด จากนั้นปล่อยคันทวนเฉียงไปทางด้านซ้ายมือทำมุม 45 องศา ไม่วางแนวคันทวนขนานไปกับพื้นอย่างซึงที่ใช้แนวของลูกบิดขนานกับพื้นขณะบรรเลง   มือขวาใช้จับไม้ดีดสำหรับดีดปัดไปมาให้เกิดเสียงดังกังวาน โดยดีดสลับขึ้นลงตามจังหวะและท่วงทำนองของบทเพลง   การจับไม้ดีดที่มีลักษณะแบบไม้ดีดจะเข้ ก็เอาไม้ดีดหนีบไว้ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลางและงุ้มนิ้วทั้งหมดลงมา ใช้นิ้วโป้งบังคับที่ปลายไม้ดีด   การดีดใช้มือขวาดีดกระจับปี่นั้นใช้ทักษะเช่นเดียวกับทักษะการดีดจะเข้ มีดังนี้ (ณัฐชยา ไชยศักดา, 2541 : 73).

การดีดเก็บ   คือการดีดไม้ดีด ออก – เข้า ตามปกติไปมาตามทำนองของบทเพลง

การรัว   คือการใช้ไม้ดีด เข้า – ออก – เข้า สลับกันให้ถี่มากที่สุดโดยมีความยาวของเสียงหรือทำนองในช่วงนั้นๆที่ไม่ขาดตอน

การสะบัด   คือการดีดแทรกพยางค์เพิ่มเข้ามาอีก 1 พยางค์ ในเวลาดีดเก็บธรรมดา 2 พยางค์ รวมเป็น 3 พยางค์ ใช้ลักษณะการดีด เข้า ออก – เข้า โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ สะบัดขึ้น สะบัดลง และสะบัดเสียงเดียว

การปริบ   เป็นการดีดลักษณะเดียวกับการดีดสะบัด หากแต่เสียงขึ้นต้นและเสียงลงท้ายของการดีดปริบนั้นจะเป็นเสียงเดียวกัน

การขยี้   คือการบรรเลงเพิ่มตัวโน้ตหรือทำนองแทรกเข้าไปในการดีดเก็บตามปกติ

การดีดกระทบประสานคู่สาย   คือการดีดพร้อมกันทั้งสองสายคู่สาย ทำให้เกิดเป็นเสียงคู่ประสาน

การตบสาย   คือการดีดไม้ดีด 1 ครั้งให้ได้ 2 เสียง โดยการดีดด้วยสายเปล่าหรือการดีดโดยลงนิ้วกดบนสาย 1 ครั้งแล้วกดนิ้วลงบนสายที่มีเสียงสูงกว่าเดิมให้ได้อีก 1 เสียง

การโปรย   คือการดีดเสียงให้เคลื่อนไหวต่อเนื่องกันให้ได้สามเสียง ในลักษณะเช่นเดียวกับเอื้ยนเสียงของการขับร้อง

       สำหรับมือซ้ายนั้น  เป็นทักษะการใช้นิ้วแบบซอโดยใช้มือซ้ายจับประคองคันทวนของกระจับปี่อย่างหลวมๆ ให้มีส่วนช่องว่างของร่องนิ้วระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ไม่ควรใช้อุ้งมือหนีบจับคันทวนจนติดแนบแน่นไปบนคันทวนในลักษณะที่มือเกาะติดกับคันทวนเป็นพังพืดไป   เพราะจะทำให้ไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะการบรรเลงเพลงเร็วๆจะทำให้เล่นไม่ทัน   และเพื่อความสะดวกในการใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ในการกดสายไปบนนมเพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามต้องการ  การใช้นิ้วของกระจับปี่ในการดำเนินทำนองนั้น   ไม่กำหนดว่าจะต้องเหมือนการใช้นิ้วจะเข้ทุกประการ    แต่ขึ้นอยู่กับการใช้นิ้วให้สะดวกในการบรรเลงเป็นสำคัญ   รวมทั้งยังสามารถใช้นิ้วก้อยได้ด้วย   การดีดดำเนินทำนองเพลงต่างๆให้ใช้ดีดสายทั้งคู่นอกและคู่ในสลับกันตามทำนองเพลง   ผู้ดีดกระจับปี่ต้องพยายามหานิ้วที่อยู่ใกล้ๆระหว่างสายทั้งสองคู่ ไม่ต้องข้ามนิ้วไปไกลๆ   นอกจากนี้  การดำเนินทำนองของกระจับปี่ไม่จำเป็นต้องเก็บ สามารถกระโดดข้ามทำนองได้   ซึ่งเป็นธรรมชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการบรรเลงกระจับปี่

การตั้งเสียงของกระจับปี่ไม่มีแบบแผนที่แน่ชัด มักขึ้นอยู่กับผู้บรรเลงที่จะมีความถนัดและความพึงใจของผู้บรรเลง วิธีการตั้งเสียงของกระจับปี่ที่นิยมกันมีอยู่ 3 แบบ คือ (pantown, 2554 : ระบบออนไลน์)

1) สายคู่ใน ตั้งเสียง โด สายคู่นอก ตั้งเสียง ซอล

2) สายคู่ใน ตั้งเสียง เร สายคู่นอก ตั้งเสียง ซอล

3) สายคู่ใน ตั้งเสียง ซอล สายคู่นอก ตั้งเสียง โด

       จะเห็นว่าการตั้งเทียบเสียงกระจับปี่จะมีการเทียบเป็นคู่ 4 หรือคู่ 5 แต่ควรเป็นคู่ 4 เหมือนสายเอกและสายทุ้มจะเข้เพราะทำให้สะดวกในการบรรเลงและมีความไพเราะในการบรรเลง   ด้วยจะสามารถใช้เสียงโดรน (Drone) ตามจังหวะทำนองที่ต้องมีการดีดกระทบประสานคู่สาย   ทำให้มีความไพเราะและเป็นลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะที่ปรากฏในการบรรเลงเครื่องดีดต่างๆ   แต่ผู้ที่เป็นคนซอมาก่อนอาจจะเทียบเป็นคู่ 5 เพราะเหมือนกับการเทียบสายซอ   ก็จะทำให้สามารถบรรเลงได้ใกล้เคียงกับความชำนาญและความถนัดตามแต่เดิมที่มีอยู่   

       ระบบเสียงของดนตรีไทยไม่มีเสียงเป็นมาตรฐานกลางที่เป็นระบบเสียงอันกำหนดไว้ใช้ร่วมกัน ดังนั้นการเทียบเสียงดนตรีของแต่ละคณะ แม้เป็นบันไดเสียงเดียวกันก็ไม่เท่ากันไม่เหมือนดนตรีตะวันตกที่มีระดับเสียงกำหนดแน่นอน เช่น เสียง โดกลาง (Middle C) ใช้ความถี่ = ๒๖๒ C.P.S. และ เสียง A (ลา) = ๔๔๐ C.P.S. (๔๔๐ ไซเกิ้ลต่อวินาที) ส่วนระดับเสียงของไทยเราเสียงต้นของทางเพียงออ (หรือมาตราเสียง, หรือบันไดเสียงเพียงออ) ในปัจจุบันก็เทียบเท่ากับ ๒๖๒ C.P.S. เหมือนกัน สังเกตได้จากวงดนตรีที่บรรเลงกันตามวิทยุ โทรทัศน์ และของกรมศิลปากรเดิมทีเดียว ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๓ ระดับเสียงลูกต้นของทางเพียงออมีความถี่ประมาณ ๒๕๐ C.P.S. เท่านั้น จากระดับเสียงทางเพียงออที่ ๒๖๒ C.P.S. ถึงเสียงสุดท้าย ในช่วงเสียงนี้คือ เสียงเดิมที่สูงขึ้น ๑ ช่วงทบ (Octave) เท่ากับความถี่ ๕๒๔ C.P.S. ระบบเสียงแบบไทยที่เป็น ๗ เสียงห่างเท่า ๆ กันเป็นธรรมชาติของไทย ที่นักดนตรีไทยฟังดูสนิทสนมดีแต่ฟังดนตรีสากลจะรู้สึกว่า เสียงเพี้ยนไปเช่นเดียวกับที่นักดนตรีไทยฟังเสียงดนตรีสากลใน Major Scale ว่าเพี้ยนไปเนื่องจากมีเสียงครึ่ง (Semitone) ระหว่างเสียงที่ ๓๔ กับ ๗๘ (ปัญญา รุ่งเรือง, 2538) ดังนั้นการบรรเลงร่วมกันของเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีตะวันตกจึงมีความยากลำบากที่จะต้องหาเสียงที่มีความใกล้เคียงสามารถบรรเลงได้ไม่ขัดหูจนเกินไป    

สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของกระจับปี่

       จากหลักฐานทั้งมวลที่มีอยู่สันนิฐานได้ว่าเครื่องดนตรีในตระกูลกระจับปี่นี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปีมาแล้ว  และไม่ว่าประเทศไทยจะรับแบบอย่างเครื่องดนตรีชนิดนี้โดยผ่านมาทางประเทศพม่า หรือรับ กัจฉปิ ของอินเดียโดยผ่านทางประเทศเขมรหรือกัมพูชา หรือรับเอาแบบอย่างจากอินเดียโดยผ่านมาทางชวาก็ตาม (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 163) ครูบาอาจารย์และนักดนตรีไทยก็ได้ปรับปรุงรูปแบบการบรรเลงให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเสียงของเครื่องดนตรี เทคนิคการบรรเลง บทเพลงที่ใช้ในการบรรเลง ฯลฯ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระจับปี่นั้นเป็นเครื่องดนตรีไทยอย่างแท้จริง

       เป็นที่ตระหนักกันดีว่า กระจับปี่ เริ่มห่างหายหายไปจากสังคมดนตรีไทยตั้งแต่ในครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์   ปัจจุบันนี้หาผู้บรรเลงกระจับปี่แทบไม่ได้เลย   การจะหาผู้ถ่ายทอดการดีดกระจับปี่ก็แทบจะไม่มี   ผู้สนใจที่จะศึกษาการดีดกระจับปี่อย่างแท้จริงก็ไม่ปรากฏอย่างเด่นชัด   แม้กระจับปี่จะไม่เป็นที่นิยมแต่ก็ยังมีกลุ่มผู้สนใจการดีดกระจับปี่โดยมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นต่างๆ ทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง   ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้สนใจในกระจับปี่นี้จะมีจำนวนเป็นสัดส่วนที่น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วประเทศ  แต่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่แสดงให้เห็นว่ากระจับปี่ยังไม่ได้ลบเลือนออกไปจากความสนใจของคนไทยเสียทีเดียว  ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นของผู้สนใจกระจับปี่ได้ที่ www.pantown.com   ก็จะสามารถรับรู้ได้ว่ายังมีเยาวชนไทยและผู้ที่รักและสนใจในเครื่องดนตรีชนิดนี้อยู่พอสมควร

       เมื่อมองไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา   พบว่าในปัจจุบันนี้ ประเทศกัมพูชาหรือเขมรนั้นยังมีการใช้เครื่องดนตรีที่เรียกว่า “จับเปย” หรือกระจับปี่อย่างเขมรกันอยู่  มีบรรเลงจับเปยร่วมกับ “ตรัวขแมร์” ที่มีรูปลักษณ์คล้ายซอสามสาย ใน “ดนตรีอารัก” ที่ถูกกำหนดให้ใช้ในเรื่องพิธีกรรม การบนบานศาลกล่าว พิธีที่เกี่ยวข้องด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ (Magical Rites)   นอกจากนี้ก็ใช้ในเพลงการ์ ที่มีบทบาทในเชิงดนตรีแต่งงาน (Wedding Music) ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าดนตรีธรรมดาทั่วไป อีกทั้งยังมีการบรรเลงจับเปยในการแสดงต่างๆที่ปรากฏให้เห็นทางอินเตอร์เน็ตกันพอสมควร   แม้กลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเขมรที่อาศัยในประเทศไทยก็ยังมีการรวมกลุ่มกันบรรเลงดนตรีในลักษณะนี้อยู่ (อานันท์ นาคคง, 2538 : 67) เช่นแถวคลองหก ปทุมธานี ก็มีการสอนมโหรีเขมร เช่นจับเปยและกระเปอ (จะเข้เขมร) กันอยู่ รวมถึงแถบชายแดนแถวเมืองสุรินทร์ก็มีการเล่นจับเปยกันอยู่เช่นกัน

       เป็นที่น่ายินดีที่มีการสร้างระบำชุดโบราณคดี 5 สมัยของกรมศิลปากร ที่ได้นำกระจับปี่เข้ามาร่วมบรรเลงในระบำศรีวิชัยและระบำลพบุรี ตามแนวความคิดของนายธนิต อยู่โพธิ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น โดยมีอาจารย์มนตรี ตราโมทเป็นผู้ประพันธ์ทำนอง การบรรเลงกระจับปี่จึงยังไม่ขาดหายไปเสียทีเดียว และปรากฏว่ามีความพยายามฟื้นฟูการบรรเลงมโหรีโบราณที่นำกระจับปี่มาร่วมบรรเลงด้วย อาทิ  ในรายการดร. อุทิศแนะนำดนตรีไทย ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ศ.ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์และครูลิ้ม ชีวสวัสดิ์ก็ได้นำกระจับปี่มาบรรเลงออกอากาศ  การแสดงดนตรี ครุศาสตร์คอนเสิร์ต” คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยมีการบรรเลงมโหรีเครื่องหก และการบรรเลงวงดนตรีไทยซึ่งมีกระจับปี่ร่วมบรรเลงอยู่ด้วยร่วมกับวงดุริยางค์ซิมโฟนี รวมถึงมีการบันทึกเสียงไว้อีกด้วย รศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อนก็ได้เดี่ยวกระจับปี่ถวายหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  การแสดงดนตรีนาฏศิลป์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงดนตรีของวงกอไผ่ เป็นต้น

       และในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็มีเค้าลางที่ดีว่ากระจับปี่กำลังได้รับความสนใจจากหลายๆฝ่ายที่จะช่วยกันปกปักษ์รักษาเครื่องดนตรีชิ้นนี้เอาไว้ให้ได้มากขึ้น   จะเห็นได้จากเริ่มมีการผลิตกระจับปี่ออกจำหน่ายจากหลายๆที่ ซึ่งแต่เดิมมานั้นไม่มีการทำกระจับปี่มานานหลายสิบปีแล้วอาทิ กระจับปี่ของร้านสมชัยการดนตรีที่เป็นทรงแบบในราชสำนักที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กะโหลกจะไม่ใหญ่โตมาก มีการประดับประดาลวดลายสวยงาม กระจับปี่ของร้านช่างจ้อนสมุทรปราการที่จำลองแบบมาจากกระจับปี่ของวังสวนผักกาด กระจับปี่ของช่างบุญรัตน์ที่เมืองเชียงใหม่ที่เป็นทรงแบบโบราณ กะโหลกใหญ่ กระจับปี่ของช่างจักรี มงคล ที่มีลักษณะทวนสั้นๆ  มีน้ำหนักเบา กระจับปี่ของร้านกิจเจริญการดนตรี ถนนจรัลสนิทวงศ์ 77 และที่ตลาดช่องจอมจังหวัดสุรินทร์ก็มีการจำหน่ายจับเปยแบบของเขมร เป็นต้น   แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้ต้องการกระจับปี่อยู่มิใช่น้อยในปัจจุบันนี้ จึงมีการผลิตกระจับปี่ขึ้นมาเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ที่สนใจ

       ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันส่งเสริมอนุรักษ์ให้กระจับปี่กลับมารับใช้อยู่ในกระแสสังคมไทยให้ได้เท่าที่จะสามารถทำได้   แม้ในปัจจุบันนี้กระจับปี่อาจจะไม่ได้รับความนิยมในการบรรเลงเท่าใดนัก   แต่กระนั้นกระจับปี่ก็เป็นเครื่องดนตรีที่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการดนตรีของไทยอีกชิ้นหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการปกปักรักษาไว้ให้ยังคงอยู่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย   ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทยโดยเด็ดขาด

บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับกระจับปี่ในอดีตและในปัจจุบัน

ม.ล.เสาวรี ทินกร ครูฉะอ้อน เนตตะสูตร์

ครูแสวง อภัยวงศ์ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์

ครูลิ้ม ชีวสวัสดิ์ ครูกมล เกตุสิริ

รศ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน อ.จักรี มงคล

อ.ประสาน วงศ์วิโรจน์รักษ์ อ.สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ

อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี

สรณะ เจริญจิตต์ณัฐชยา ไชยศักดา

ภัทรพล ริจนา

 

เอกสารอ้างอิง

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2542). สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย.  กรุงทพฯ:โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ปัญญา รุ่งเรือง. (2533). อ่านและฟังดนตรีไทยประกอบเสียง. กรุงทพฯ :โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

อนุชา ทีรคานนท์, บรรณาธิการ.(2552). เล่าเรื่องเครื่องดนตรีชิ้นเอก. กรุงทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2550). จดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล. กรุงทพฯ:โรงพิมพ์เดือนตุลา.

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2552). เพลงดนตรี : จากสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ถึง พระยา อนุมานราชธน. กรุงทพฯ:สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2552). เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จาก สาส์นสมเด็จ. กรุงทพฯ: สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

อานันท์ นาคคงและคณะ. (2538). เพราะพร้องซอสามสายร่ายลำนำ. กรุงทพฯ:โรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ.

ศุนย์สังคีตศิลป์ฝ่ายประชาสัมพันธ์. (2547) เชิดชูเกียรติ 100 ปี พระยาภูมีเสวิน. กรุงทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.

ณัฐชยา ไชยศักดา. (2541). อาศรมศึกษา : อาจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน. หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต

สาขาดุริยางค์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ :  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อุทิศ นาคสวัสดิ์. (2525). ทฎษฏีและปฏิบัติดนตรีไทย. สถาบันฝึกดนตรีและนาฏศิลป์ ดร. อุทิศ กรุงทพฯ : ห.จ.ก. พัฒนศิลป์การดนตรีและการละคร.

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี). (2519). กรุงเทพฯ

จินตนา ธันวานิวัฒน์. (2547). กู่ฉินในสายธารแห่งอารยธรรมมังกร (สูจิบัตร) กรุงเทพฯ : โรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก สถาบันดนตรีคีตบูรพา.

สาขาวิชาดนตรีศึกษา. (2529). การแสดงดนตรีเพื่อการศึกษา ครั้งที่ 7 (สูจิบัตร) กรุงเทพฯ :  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์. (2547). ประวัติศาสตร์ชาติไทย. กรุงทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง จำกัด.

กระจับปี่. Available http://www.kruchokchai.com/4’1/6/mee4.html (22 April 2011)

กระจับปี่. Available http://my.dek-d.com/-dky-/blog/?blog _id=10035226 (22 April 2011)

กระจับปี่. Available http://www.patakorn.com/modules.php?name=News&file=article&sid=46 (22 April 2011)

กระจับปี่. Available http://www.pantown.com/board.php?id=27546=area=3&name=board1&topic=12&act (22 April 2011)