ชื่อผลงานทางวิชาการ : ซอสามสาย

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความ

ปีที่พิมพ์ : 2555

มูลเพิ่มเติม : สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ

       

ซอสามสาย         เป็นบทความที่  ผศ.สิทธิศักดิ์  จรรยาวุฒิ   อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ

       บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้สอนในรายวิชาดนตรีปฏิบัติเพื่อธุรกิจบันเทิง สาขาวิชาโฆษณาและธุรกิจบันเทิง  คณะวิทยาการจัดการ  และเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้เรียบเรียงบทความนี้ ให้กับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ซึ่งผศ.สิทธิศักดิ์ จรรยาวุฒิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาศิลปะการแสดง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่ง “ซอสามสาย” ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน ปี พ.ศ.2555 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ  คำนิยามของคำว่า “ซอสามสาย” ความเป็นมาและลักษณะสำคัญของซอสามสาย  ส่วนประกอบต่าง ๆ ของซอสามสาย ประเภทของการบรรเลงด้วยซอสามสาย  เทคนิคการบรรเลงซอสามสาย  วิวัฒนาการสภาพปัจจุบันและแนวโน้มของซอสามสายในอนาคต  บุคคลอ้างอิง

  


 

ซอสามสาย

        สิทธิศักดิ์    จรรยาวุฒิ

    มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

       ซอสามสาย เป็นเครื่องสีของไทยชนิดหนึ่งที่เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยอันสำคัญและทรงคุณค่ายิ่ง มีโครงสร้าง องค์ประกอบ แบบแผน การพัฒนา การสืบทอด มาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ในการนำเสนอเนื้อหาสาระของซอสามสายเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงในครั้งนี้ จะครอบคลุม นิยาม ลักษณะสำคัญของซอสามสาย ประเภทของวงที่นำซอสามสายไปบรรเลง อาทิ วงมโหรี วงเครื่องสายผสมซอสามสาย โอกาสในการบรรเลง หน้าที่และความหมายทางสังคมวัฒนธรรม การสืบทอดองค์ความรู้ บทเพลงที่นิยมบรรเลงด้วยซอสามสาย วิวัฒนาการ สภาพการในอดีตจวบจนถึงในปัจจุบัน และแนวโน้มของซอสามสายในอนาคต การอ้างอิงนามองค์ศิลปิน และศิลปิน บางพระองค์บางท่านทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงบางท่านที่ยังคงมีชีวิตและยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลในลักษณะภาพรวมที่สำคัญและจำเป็นเพื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดนตรีของไทยที่มีการสั่งสมและพัฒนาจนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชนชาติใด แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณและวิถีความเป็นไทยที่จำเป็นต้องอนุรักษ์และพัฒนาต่อไปให้คงอยู่คู่สังคมไทยได้ในยุคกระแสโลกาภิวัฒน์เฉกเช่นในปัจจุบัน

 

นิยาม

       ซอสามสาย หมายถึง เครื่องดนตรีประเภทสีมีสามสายของไทย ที่แสดงถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทางการแสดงดนตรีของไทยที่ทรงคุณค่า มีความโดดเด่นด้วยขนบประเพณี วิธีคิดวิธีปฏิบัติ มีการดำเนินวิถีทางวัฒนธรรมดนตรี ที่หล่อหลอม สืบทอด มาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน มีขอบเขตครอบคลุมถึง การประสมวงดนตรี การสร้างเครื่องดนตรี รูปแบบการบรรเลง บทเพลง ศิลปินผู้บรรเลง นักประพันธ์เพลง  โอกาสการนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆและบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้อง

 

ความเป็นมาและลักษณะสำคัญของซอสามสาย

       ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีไทยที่ชนิดหนึ่งในประเภทเครื่องสี   ทำให้เกิดเสียงโดยการอาศัยคันชักสีลากไปมาบนสายซอ  มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ตัวสั่นสะเทือน (Vibrator) และตัวขยายเสียง (Resonator) ความดังเบาของเครื่องดนตรีจะขึ้นอยู่กับขนาดเล็กใหญ่ รูปทรงและวัสดุที่ใช้ทำตัวขยายเสียง  (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, 2542 : 37)    นับเป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีรูปร่างลักษณะสวยงามมาก เครื่องดนตรีมีรูปร่างและชื่อเรียกของต่างชาติที่มีความคล้ายคลึงกับซอสามสาย ได้แก่ ซามิเซน (Samisen) ของญี่ปุ่นและสามเสี่ยน (San Hsien) ของจีน   แต่ทั้งซามิเซนและสามเสี่ยนเป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดมีสามสาย มีคันยาว ไม่มีนม สามเสี่ยนของจีนมีกระโหลกเป็นรูปสี่เหลี่ยมลบมุมมนจนเกือบเป็นรูปไข่และขึ้นหน้าด้วยหนังงูเหลือม ดีดด้วยนิ้วมือ ส่วนซามิเซนของญี่ปุ่นรูปกระโหลกมีลักษณะใกล้จะเป็นสี่เหลี่ยมด้านข้างโค้งเข้าน้อยๆทั้งสี่ด้าน ขึ้นหน้าด้วยไม้ ดีดด้วยไม้ดีดรูปร่างคล้ายขวาน  เครื่องดนตรีที่เรียกว่า ตรัวขะแมร์  (Tro Khmer) ของกัมพูชา มีรูปลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับซอสามสายมากที่สุด นิยมทำจากไม้เนื้แข็ง เช่น เนียงนุง ครานุง (ขนุน) ชูว์คมัว (มะเกลือ) บางทีก็ใช้งาช้าง หรือกระดูกมาประกอบเพื่อประดับประดาให้มีคุณค่าและความสวยงามมากยิ่งขึ้น ตรัวขะแมร์มีลักษณะเฉพาะ โดยมีทวนบนสั้น ยอดซอมีลักษณะคล้ายหัวเม็ดบัว ทวนกลางไม่มีการใช้โลหะครอบแบบซอสามสายของไทย ส่วนพรมล่างและเกลียวเจดีย์จะสั้น กลึงหยาบๆ และไม่ทำเท้าซอปลายแหลมอย่างของไทย แต่จะทำเป็นกลมๆมนๆไว้เพียงนั้น กระโหลกซอของเขมรนี้ทำจากกะลามะพร้าว กระดองเต่าหรือไม้ขุด (อานันท์ นาคคงและคณะ, 2538)

       ซอสามสายมีส่วนประกอบอยู่หลายอย่าง ส่วนที่สำคัญที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงให้เกิดความดังกังวานนั้นทำมาจากกะลามะพร้าวพันธุ์พิเศษที่เรียกว่ามะพร้าวพันธุ์ซอ ซึ่งหาได้ยากมากที่จะมีรูปร่างงดงามเหมาะสมที่จะนำมาเป็นส่วนที่เรียกว่า กระโหลก” กล่าวคือต้องมีพูสามพูที่นูนขึ้มมาคล้ายลักษณะดั่งหัวช้าง จากนั้นจะนำกะลามาตัดขวางพู โดยจะให้คงเหลือพูทั้งสามไว้อยู่ด้านหลัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทรงเชี่ยวชาญในการทรงซอสามสาย ถ้าทรงทราบว่าสวนของผู้ใดมีต้นมะพร้าวที่มีกะลาที่ใช้ทำกระโหลกซอสามสายได้ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ตราภูมิคุ้มห้าม แก่เจ้าของสวนนั้นให้มิต้องเสียภาษีอากร นับเป็นกุศโลบายที่ทำให้บรรดาเจ้าของสวนมีกำลังใจในการที่จะเพาะปลูกและบำรุงพันธ์มะพร้าวนี้ให้มีไว้เพื่อทำซอสามสายได้ต่อไปโดยไม่สูญพันธุ์ ในปัจจุบันนี้ก็มีการปลูกมะพร้าวชนิดนี้กันมากในแถบอัมพวา บริเวณอุทยาน ร. 2  และในแถบประจวบคีรีขันธ์ก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว

       ประวัติศาสตร์ของดนตรีไทยมักจะขาดการบันทึกข้อมูลที่แน่ชัด จึงยากแก่การลงความเห็นหรือการอ้างถึงที่ชัดเจนที่จะสามารถระบุได้ว่าไทย มีซอสามสายตั้งแต่สมัยใดกันอย่างแน่ชัด  อย่างไรก็ตาม ก็จากข้อมูลที่มีอยู่ก็พอที่จะสันนิษฐานกันได้ว่าอย่างน้อยซอสามสายต้องมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวชื่นชมพระบารมีของสมเด็จพระมหาจักรพัตราธิราชตอนหนึ่งว่า ลางจำพวกดีดพิณและสีซอพุงตอกันแลกันฉิ่งริงรำ ท่านอาจารย์มนตรี ตราโมทก็ได้ตั้งข้อสันนิฐานว่า คำว่าสีซอกับพุงตอนั้นเขียนติดเป็นคำเดียวกันหรือไม่ เพราะโบราณท่านนิยมเขียนติดกันไปทั้งหมด ถ้าติดกันซอพุงตอก็เป็นชื่อซอชนิดหนึ่งที่อาจเป็นซอสามสายก็ได้ ๔ไม่ติดกัน สีซอก็เป็นเรื่องหนึ่ง พุงตอก็เป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง จึงนับว่าซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีของไทยที่มีมาแต่โบราณกาลชิ้นหนึ่ง  ท่านมหาแสง วิฑูรให้ความเห็นว่า ตรงกับภาษาเงี้ยวหรือไทยโบราณ ได้แก่กลองขนาดยาวที่เรียกว่ากลองแอว ดังนั้นน่าจะสันนิษฐานได้ว่าซอสามสายในสมัยสุโขทัยจะเรียกว่า ซอ แต่เมื่อได้นำมาบรรเลงร่วมกับซออู้ซอด้วง จึงเรียกว่าซอสามสายตามลักษณะที่มีสามสาย เพื่อเป็นที่หมายให้ได้ทราบกันแน่ชัดว่าเป็นซออะไร ป้องกันความสับสนอันอาจมีขึ้นได้ (มนตรี ตราโมท, 2519: 36) 

ส่วนประกอบต่างๆของซอสามสาย   

       ซอสามสายเป็นซอที่มีความงดงามเป็นเลิศ มีรายละเอียดของการประดิษฐ์เครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างวิจิตรบรรจง   แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการสร้างเครื่องดนตรีของไทยที่ประณีตมีความลึกซึ้งในการออกแบบเพื่ออรรถประโยชน์ในการบรรเลงและเพื่อความงดงามด้วยตัวเครื่องดนตรีเอง ดังนี้

เทริด   เป็นส่วนที่อยู่ด้านบนสุดเหนือทวนบน มีลักษณะเหมือนปากลำโพงที่บานออกทางด้นปลาย

ทวนบน   เป็นส่วนของคันซอ ทำด้วยไม้แก่นเช่น ไม้พยุง ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ หรืออาจเป็นไม้แก่นประดับงาช้างหรือใช้งาช้าง โดยสอดเข้าไปในกระโหลกซอ ทวนด้านบนของกระโหลกซอจะยาวประมาณ 67 เซนติเมตร       

ลูกบิด   ด้านทวนบนจะมีการเจาะรูเป็นโพรงสำหรับสอดลูกบิด 3 ลูก ลูกบิดมีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร

ทวนล่าง   ทำด้วยโลหะเป็นเหล็ก เงิน นาค ถมเงิน ถมทอง มุก ฯลฯ นิยมทำเป็นลวดลายต่างๆเพื่อความสวยงาม

พรมบน   เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างทวนล่างกับกระโหลก

กระโหลก   ทำด้วยกะลามะพร้าวพันธุ์ซอที่มีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา 3 ปุ่มเรียกว่า ปุ่มสามเส้า คล้ายวงแหวนสามวงวางอยู่ในรูปสามเหลี่ยม กะลาที่จะนำมาทำกระโหลกซอสามสายนั้นจะผ่าตามขวางให้เหลือสามปุ่มเป็นรูปดอกจิก ซึ่งต่างจากกระโหลกซออู้ที่จะผ่าตามยาว   ในปัจจุบันมีการนำไม้มาขุดทำกระโหลกซอสามสาย   และมีการใช้แม่พิมพ์ดัดกะลา เพื่อเป็นการบังคับให้สัดส่วนของกะลาให้มีรูปทรงเป็นพูสามเส้าเหมือนธรรมชาติ

หนังหน้าซอ   นิยมใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังแกะ หนังสัตว์เหล่านี้จะนำมาขูดเอาขนออก   แล้วนำมาทำความสะอาดโดยแช่ในน้ำขี้เถ้าแกลบประมาณ 3 ชั่วโมงแล้วจึงนำไปแช่ในน้ำสะอาดอีก 5 ชั่วโมง เพื่อให้หนังคืนตัว มีการยืดหดมากขึ้น จึงจะสามารถนำไปขึ้นหน้าซอได้โดยไม่ขาดและหนังจะมีความตึงมากเมื่อแห้งสนิทแล้ว   หน้าซอสามสายจะมีสองแบบคือหน้าพระและหน้านาง   เช่นเดียวกับหน้าตัวพระตัวนางในการแสดงละคร

สาย   ใช้ไหมมาควั่นเกลียวมีสามขนาดเรียงลำดับจากสายเล็กหรือสายเอกที่อยู่ด้านนอกสุดของผู้สี สายกลางบ้างก็เรียกสายสอง สายใหญ่ที่สุดที่อยู่ด้านในมักเรียกว่าสายสาม

หย่อง  มีไว้รองรับสายทั้งสามที่พาดผ่านหน้าซอเพื่อให้เกิดความสั่นสะเทือนจากการใช้คันชักสีไปมาบนสายซอสามสาย

ถ่วงหน้า  มีลักษณะเป็นโลหะประดับด้วยพลอย โลหะลงยา งาช้างแกะสลัก เป็นรูปวงกลม รูปไข่ รูปหยดน้ำ ฯลฯ ติดไว้ที่หน้าซอด้วยครั่ง   วัตถุประสงค์ในการติดถ่วงหน้านี้ไม่เพียงเป็นการประดับประดาเพื่อความสวยงามแต่ยังเป็นการทำให้เสียงซอดังกังวาน เพราะกระโหลกซอสามสายไม่มี่การเจาะช่องระบายเสียง   ดังนั้นเมื่อไม่มีถ่วงหน้าที่ช่วยเปิดทางให้เสียงดังลอดออกมาเสียงซอสามสายก็จะดังอู้อี้อยู่ในกระโหลกซอเท่านั้น

หนวดพราหมณ์   เป็นการร้อยสายไหมถักเป็นเกลียวโดยยึดติดกับพรมล่างไว้สามเส้นเพื่อใช้ผูกสายซอทั้งสามเส้น

พรมล่าง   เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกระโหลกกับพรมล่าง

เกลียวเจดีย์   จะอยู่ด้านล่างลงมาซึ่งเป็นส่วนปลายของพรมล่าง

คันชัก   นิยมทำด้วยไม้แก้ว ไม้พยุง ไม้ชิงชัน ฯลฯ ทำเป็นรูปโค้ง มีปลายงอนยาว ความยาวประมาณ 86 เซนติเมตร ผูกติดด้วยหางม้าสีขาวที่มีจำนวนประมาณ 250 – 300 เส้น

 

ประเภทของการบรรเลงด้วยซอสามสาย

       การบรรเลงซอสามสายมีวิธีการบรรเลงสองประเภท คือ การบรรเลงรวมวงและการบรรเลงคลอร้อง   ในการบรรเลงรวมวงนั้นซอสามสายจะทำหน้าที่ประสานสียงเพื่ออุ้มวงและเป็นการเพิ่มความไพเราะ จะไม่สีเป็นผู้นำวงอย่างซอด้วงที่ยึดการสีแนวทำนอง และไม่สีโลดโผนอย่างซออู้ ถ้าบรรเลงเพลงลูกล้อลูกขัดควรดูว่ามีเครื่องนำและเครื่องตามมีอย่างละกี่ชิ้น  หากเครื่องนำมีน้อยกว่าเครื่องตาม ให้สีเป็นฝ่ายเครื่องนำ ในทางตรงกันข้ามหากเครื่องตามมีน้อยกว่าเครื่องนำ ให้สีเป็นฝ่ายเครื่องตาม แต่หากมีเครื่องนำและเครื่องตามเท่ากันก็สามารถเป็นได้ทั้งเครื่องนำหรือเป็นฝ่ายเครื่องตามก็ได้ ในการบรรเลงคลอร้องนั้นซอสามสายมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนักร้องโดยให้ความสำคัญว่านักร้องเป็นใหญ่ จึงต้องคลอร้องให้เหมือนการร้องของนักร้องให้เหมาะสมให้มากที่สุด (อรพรรณ บางยี่ขัน, 2536) ซอสามสายจะสามารถนำไปบรรเลงเดี่ยวและใช้บรรเลงในการประสมวงประเภทต่างๆ   ดังต่อไปนี้

1.วงขับไม้   ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงขับไม้อันประกอบไปด้วย คนสีซอสามสายคนหนึ่ง คนไกวบัณเฑาะว์ และขับคนหนึ่ง หน้าที่ของซอสามสายก็คือสีคลอเสียงขับไปโดยตลอดและบรรเลงเพลงแทรกระหว่างบท   วงขับไม้นี้ใช้บรรเลงในการประกอบพระราชพิธีสมโภชมาแต่โบราณ อาทิ กล่อมเศวตฉัตรในพระราชพิธีฉัตรมงคล กล่อมช้างในพระราชพิธีขึ้นระวางพระคชาธาร และในงานเฉลิมฉลองพระราชมณเฑียร เป็นต้น

2.วงมโหรี   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่า เมื่อเริ่มผสมวงมโหรีในชั้นต้นผสมขึ้นจากการบรรเลงพิณกับวงขับไม้ อันประกอบด้วย คนดีดพิณ (กระจับปี่) คนหนึ่ง คนสีซอสามสายคนหนึ่ง คนตีทับ (โทน) คนหนึ่ง และคนร้องซึ่งตีกรับพวงด้วยอีกคนหนึ่ง   ด้วยเหตุที่ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่อยู่ในการก่อตั้งวงมโหรี จึงทำให้วงมโหรีต้องมีซอสามสายอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าวงมโหรีจะมีวิวัฒนาการไปเช่นไร มีการเพิ่มเติมเครื่องดนตรีต่างๆเข้าไปมากอีกสักเท่าใด จนกลายเป็นวงมโหรีเครื่องเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่ วงมโหรีเครื่องใหญ่   หน้าที่ของซอสามสายในวงมโหรีก็คือ การคลอเสียงร้องและบรรเลงทำนองเพลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ   (มนตรี ตราโมท, 2519: 37) 

3.วงเครื่องสายผสม    ซอสามสายแม้เป็นเครื่องสายประเภทสีและเป็นเครื่องดนตรีในวงมโหรี แต่ไม่ได้จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงเครื่องสายไทยทั่วๆไป การจะผสมซอสามสายในวงเครื่องสายจึงจัดเป็นการผสมซอสามสายเข้าวงเครื่องสาย ซึ่งเรียกว่าวงเครื่องสายผสมซอสามสายเท่านั้น   หน้าที่ของซอสามสายในวงเครื่องสายผสมก็คือ การคลอเสียงร้องและบรรเลงทำนองเพลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่นเดียวกับการบรรเลงในวงมโหรี

4.การบรรเลงเดี่ยว  ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง  ที่สามารถเดี่ยวแสดงความสามารถของผู้บรรเลงได้เป็นอย่างดี   บทเพลงที่ได้รับความนิยมนำมาบรรเลงเป็นเพลงเดี่ยวก็มีมากมาย อาทิ นกขมิ้น พญาโศก แสนเสนาะ สารถี หกบท แขกมอญ เชิดนอก ทยอยเดี่ยว กราวใน ฯลฯ   กลเม็ดเด็ดพรายในการเดี่ยวซอสามสายนั้นมีมากมายให้ได้ศึกษา ทั้งการใช้นิ้วการใช้คันชักที่ต้องมีความชำนาญมากที่สุดจึงจะสามารถเล่นได้ การใช้นิ้วต่างๆ ประกอบด้วย นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วแอ้ นิ้วประ นิ้วชุน นิ้วชั่ง ฯลฯ คันชักนั้นประกอบด้วย คันชัก1 คันชัก2  คันชัก4 คันชัก8 คันชัก16และคันชัก32 คันชักไกวเปล คันชักงูเลื้อย คันชักจับกระตั้วแทงกระตั้ว ฯลฯ (ศุนย์สังคีตศิลป์,2537 : 92)  ซอสามสายจึงเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกชิ้นหนึ่งที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศเหมาะที่จะใช้บรรเลงเพลงเดี่ยวด้วยมีกลเม็ดเด็ดพรายที่สามารถสร้างความสะเทือนในทางอารมณ์และมีเทคนิควิธีที่ยอดเยี่ยม

เทคนิคการบรรเลงซอสามสาย

       เทคนิคการบรรเลงซอสามสายนั้นประณีต ลึกซึ้ง วิจิตรบรรจงไม่ด้อยไปกว่า มีความเกี่ยวโยงกับสรรพสิ่งตามธรรมชาติ   เฉกเช่นเดียวกับรายละเอียดของการประดิษฐ์เครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างวิจิตรบรรจง    

       พระยาภูมีเสวิน  ผู้เชี่ยวชาญการสีซอสามสายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้อธิบายเทคนิคและลักษณะการสีซอสามสายไว้ในวารสารวัฒนธรรมไทย เดือนกันยายน 2511 โดยได้กล่าวถึงการสีซอสามสายที่มี สามแบบ คือการสีแบบขับไม้ การสีแบบไกวเปล การสีแบบฉุยฉาย การใช้คันสีหรือคันชัก การใช้นิ้วประเภทต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกอย่างเด่นชัด และการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาการที่ได้สั่งสมสืบทอดกันมาหลายชั่วคนจนเป็นหลักวิธีการที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้มิให้สูญหายไป   (พระยาภูมีเสวิน, 2519) ดังนี้

1.   การสีแบบขับไม้ หลักการของการสีแบบขับไม้ที่สำคัญก็คือ ต้องพยายามสีซอสามสายเคล้าไปกับเสียงของคนขับลำนำ ผู้สีต้องพยายามใช้เสียงซอสนับสนุนให้สอดคล้องกับทำนอง เป็นการเสริมให้การขับลำนำนั้นมีชีวิตจิตใจไพเราะยิ่งขึ้นในบางโอกาส ซึ่งมีความเหมาะสมเมื่อต้องการจะสีให้ชัดถ้อยชัดคำกับบทประพันธ์ แสดงให้เห็นฝีไม้ลายมือของผู้สีซอสามสายได้เป็นอย่างดี จุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ก็คือสีให้กลมกลืนสอดคล้องกับการขับลำนำ ในบางตอนที่คนขับลำนำถอนหายใจหรือหยุดชงักเสียง ซอก็ต้องบรรเลงให้มีเสียงซอเสริมเข้าไปในช่องว่างนั้น และเมื่อทำนองขับลำนำจะเปลี่ยนทำนองไปในทางใดทางหนึ่ง ซอสามสายก็ต้องสีทำเสียงทำนองขับลำนำที่จะต้องใช้ต่อไปข้างหน้า

       การเล่นขับไม้นี้ไม่มีหน้าทับเหมือนเพลงประเภทอื่น   ซึ่งมีอัตราบังคับความสั้นยาวไว้อย่างชัดเจน   แต่เป็นการสีให้กลมกลืนเป็นหลัก   ข้อสำคัญอีกอย่างผู้สีซอขับไม้นี้จะต้องเรียนรู้หลักการใช้คันชัก อาทิ การใช้คันชักสอง คันชักสี่ คันชักหก คันชักน้ำไหล คันชักงูเลื้อย ฯลฯ

2.   การสีแบบไกวเปล   ผู้เริ่มหัดเรียนซอสามสายต้องหัดสีแบบไกวเปลแบบนี้ก่อน   ด้วยเป็นการสีท่ไม่สู้ยากนัก   การสีแบบนี้ก็มีใช้ในเพลงจำที่ที่มีหน้าทับกำกับความสั้นยาวของจังหวะกำกับไว้อย่างชัดเจน   การสีแบบนี้เรียกว่า การสีแบบลำลอง คือสีตามไปตามเนื้อของตัวไป   แม้ผู้สีและผู้ขับไม่ต้องคำนึงถึงบทประพันธ์มากนัก   การสีแบบไกวเปลนี้เปรียบเสมือนเป็นอาการของการไกวเปลให้เด็กนอนหลับ   ผู้ไกวที่ดีจะไกวเปลไปมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ตะกุกตะกัก ไปมาเท่ากัน ทำให้เด็กนอนหลับได้นาน   การไกวเปลมีอุปมาฉันใด การสีเช่นนั้นก็มีอุปมัยฉันนั้น   แต่ถ้านำไปสีทุกแห่งทุกโอกาสมากนักมักจะเรียกกันว่า การสีอย่างเลื่อยไม้ลากซุง ซึ่งเป็นคำที่ใช้เย้ยหยันกัน  ส่วนวิธีการใช้คันชักมักใช้อัคราสองและสี่ เป็นหลัก   และต้องสีให้ดังทั้งต้นคันชักและปลสยคันชักทั้งไปมาให้สม่ำเสมอเหมือนเสียงเดียวกันตลอด

3.   การสีแบบฉุยฉาย   การสีแบบนี้นอกจากจะเป็นการรำฉุยฉายโดยเฉพาะแล้ว   ยังมีในจำพวกบทเพลงที่มีหน้าทับ มีความสั้นยาวเป็นหลัก   ผู้สีซอสามสายต้องบังคับเสียงซอให้ชัดถ้อยชัดคำกับการร้องและบทประพันธ์นั้นๆทุกจังหวะ ทุกตอน และทุกกริยา เช่น ผู้ร้องทอดเสียง เอ่อ เอย อือ เอ๋ย หนัก เบา หรือกระตุ้นแรงหรือบทประพันธ์ในลักษณะ เศร้าโศรก เสียใจ โกรธ และอาการองอาจประการใดก็ตาม ผู้สีต้องพยายามบังคับเสียงซอให้พยายามโน้มจิตใจของตนเอง   ให้เป็นไปตามเสียงซอได้เหมือนเสียงกับคนขับร้อง   จนผู้ฟังไม่รู้ว่าอะไรเป็นเสียงซอ อะไรเป็นเสียงร้อง จึงเป็นที่นิยมว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือดีเลิศ

       การใช้คันชักนั้น ผู้สีจะใช้คันชักอัตราหนึ่ง สอง สี่ หก แปด หรือสิบหก   คันชักหกนั้นบ้างก็เรียกว่าคันชักเสริมหรือคันชักซ้อนก็ได้   และต้องสีคันชักประเภทคันชักสอึก น้ำไหล งูเลื้อย และการใช้คันชักผิดให้เป็นคันชักถูก ฯลฯ   สำหรับการใช้นิ้วมีหลายอย่าง อาทิ นิ้วชุน นิ้วแอ้ นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วประนิ้วพรม การเปิดซอ ชะงักซอ ชะงักคันชัก   ส่วนคันชักนั้นต้องบังคับให้เป็นไปตามใจตนคือสามารถสีให้มีความดังหรือแผ่วตอนหนึ่งตอนใดได้ตามต้องการ   ตัวอย่างของลักษณะการใช้คันชักซอสามสาย มีดังนี้

คันสีสายน้ำไหล   คือการสีให้มีค่าเหมือนดังกระแสน้ำที่หลั่งไหลไปตามลำธารอันปราศจากแก่งหรือโขดหิน มีลักษณะสม่ำเสมอไม่ขาดสาย เพลาใดก็ตามที่สีด้วยคันชักน้ำไหลนี้ จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เหมือนแลเห็นกระแสธารไหลหลั่งไม่ขาดระยะ ซึ่งกระแสธารก็คือ คันสีนั่นเอง อุปาทานของผู้ฟังจะเกิดรู้สึกว่าคันสีนั้นยาวหาประมาณมิได้   เพราะกระแสเสียงไม่ขาดสะบั้นลงในตอนใดตอนหนึ่งจนจบตอน

คันสีงูเลื้อย   คือการสีให้มีลักษณะเหมือนการเลื้อยของอุรคชาติ   ซึ่งตามลักษณะการเลื้อยของงูนั่นเอง   ยิ่งมีพิษดุร้ายก็ยิ่งเลื้อยช้ามีอาการสง่างามน่าเกรงขาม   แสดงไม่หวั่นต่อศัตรูหรือภยันตรายที่จะบังเกิดขึ้นแก่ตน   คันสีด้วยลักษณะวิธีดังกล่าวนี้   คือการสีส่ายไปข้างหน้าด้วยลักษณะอาการเลื้อยของงู   ขณะใดที่สีด้วยคันสีงูเลื้อย ขณะนั้นเสียงซอที่ดังกังวานจากสายมีลักษณะห้าวหาญไปตามคันสีจนจบจังหวะและทำนองเพลงนั้นๆ

คันสีสะอึก   คือการสีด้วยคันชักที่ประสงค์จะให้สำเนียงซอขาดจังหวะไม่มีลีลาสัมพันธ์ต่อกันไปยังจังหวะข้างหน้า   การบรรเลงเพลงใดๆก็ตาม ลีลาย่อมส่งเป็นเสียงสดับ เสียงรับ เหมือน กลอน ฉันท์ แต่วิธีคันสีสะอึกนี้ ก็คือประสงค์จะให้ทำนองของเพลงสะดุดยุติลงในขณะนั้นให้เด็ดขาด เพราะถ้าปล่อยให้คันสีอยู่ในลักษณะน้ำไหลต่อไป กระแสเพลงก็จะกังวานไม่ขาดระยะ จึงสะอึกคันสีเหมือนผู้อ่านคำกลอน ฉันท์ ซึ่งหยุดระบายลมหายใจขณะที่ลงสัมผัสในวรรคใดวรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามการสีสะอึกนี้ ถ้าใช้มากไปจะเกิดความรำคาญ รกหูแก่ผู้ฟัง

การที่จะจับคันสีให้อ่อนไหวได้อย่างไรนั้น ให้ดูลักษณะการเคลื่อนไหวของงวงช้าง   ซึ่งในขณะที่ช้างชูงวงแกว่งไปมา หรือเอางวงตะพุ่นหญ้าเข้าปาก จะสังเกตเห็นความอ่อนช้อยของงวงช้างได้ ในขณะที่สีซอสามสายต้องจินตนาการถึงลักษณะการเคลื่อนไหวของงวงช้างให้ได้ จึงจะทำให้สีซอดี อ่อนหวาน มีชีวิตชีวาและสง่างามได้

การใช้นิ้วของซอสามสายมีลักษณะวิธีน่าสนเท่ห์อยู่มาก มีชื่อเรียกกันแปลกๆ เช่น เรียกว่า นิ้วชุน นิ้วแอ้ นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วประ นิ้วพรม ฯลฯ การใช้นิ้วแต่ละประเภทล้วนแต่เพิ่มความไพเราะเสนาะโสตให้แก่ผู้ฟังทั้งสิ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

นิ้วชุน  เป็นนิ้วที่ใช้แทงขึ้นเฉพาะสายเอก ไม่ใช่กดนิ้วลงตามตำแหน่งบนสายเอก การที่นิ้วใช้แทงขึ้นบนสายเอกนั้นจะทำให้เสียงซอสามสายดังกังวานหนักแน่นกว่าที่ใช้นิ้วกดลงบนสาย ซึ่งไม่ควรใช้เด็ดขาด อีกประการหนึ่งนิ้วชุนเป็นนิ้วที่ช้เลื่อนขึ้นเสื่อนลงตามสายซอจนกว่าจะถึงระดับตำแหน่งเสียงที่แท้จริงตามต้องการ ครั้นแล้วก็เปลี่ยนนิ้วชุนให้เป็นนิ้วประหรือนนิ้วพรมต่อไป

นิ้วแอ้   คือใช้นิ้วรูดสายขึ้นไปจากตำแหน่งเสียงเดิมของซอสามสายทำให้เสียงต่ำกว่าเดิมครึ่งเสียง   และให้เข้าหาเสียงที่แท้จริงของตำแหน่งเสียงในนิ้วชี้   นิ้วแอ้นี้ใช้เฉพาะนิ้วชี้นิ้วเดียวเท่านั้น   จะใช้นิ้วอื่นไม่ได้เด็ดขาด   นิ้วแอ้นี้ตรงกับนิ้วโอดของปี่   ผู้เล่นซอสามสายจึงต้องพยายามหา เสียงใน ให้ตกนิ้วนี้เป็นส่วนมากโดยเฉพาะเพลงเดี่ยว

นิ้วนาคสะดุ้ง   เป็นนิ้วที่สืบต่อกันมาจากนิ้วชุน คือเป็นลักษณะของการใช้นิ้วสะดุ้ง ประดุจพญานาคถูกจี้ที่สะดือ   กระแสเสียงของซอที่เกิดจากนิ้วนาคสะดุ้งนี้จะทำให้เกิดอารมณ์หวั่นไหวหวาดสะดุ้งแก่ผู้ฟัง   เหมือนลักษณะพญานาคสะดุ้งเมื่อเห็นพญาครุฑฉะนั้น    การใช้นิ้วนาคสะดุ้งนี้มีกฏเกณฑ์อยู่ว่าจะต้องเปิดซอให่เป็นเสียงสายเปล่าหนึ่งครั้งเสมอไป

นิ้วประนิ้วพรม   นิ้วประนิ้วพรมนี้เรียกคู่กันไป   เป็นการทำนิ้วประพรมลงไปบนซอเป็นระยะๆหรือเป็นห้วงๆ กระแสเสียงจะยืดยาวเท่าไรกี่จังหวะที่ประพรมนั้นแล้วแต่อัตราของจังหวะหรือคันสีเป็นต้น

 

วิวัฒนาการ  สภาพปัจจุบันและแนวโน้มของซอสามสายในอนาคต

       การกำเนิดของเครื่องดนตรีในแนวคิดของนักมนุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicologist) ได้มีแนวคิดอยู่สองลักษณะคือ เครื่องดนตรีนั้นเกิดจากการคิดประดิษฐ์ของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นเอง หรือได้รับมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมภายนอก   อย่างไรก็ตามการพัฒนาและการคิดค้นปรับปรุงเครื่องดนตรีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเจ้าของถิ่น   ก็ได้สรรสร้างให้เครื่องดนตรีของแต่ละชนชาติมีความต่าง ความคล้ายคลึง ความเหมือน ที่เป็นเอกลักษณ์ มีแนวคิดที่ว่า ซอสามสายมาจาก รีบับของอินโดนีเซีย และอีกแนวคิดหนึ่งกล่าวว่ามีต้นแบบมาจากตรัวขะแมร์ ของเขมร   อีกแนวคิดหนึ่งคือซอสามสายได้ปรับปรุงมาจากสะล้อของล้านนา   ซึ่งก็ยังไม่สามารถสืบค้นหาหลักฐานจนเป็นที่ประจักษ์ได้แน่ชัดจนสามารถยืนยันระบุข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับกันได้   โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทางดนตรีของไทย ขาดการบันทึกข้อมูลที่ชัดเจน จึงยากแก่การลงความเห็นหรือหาข้อสรุปที่แน่ชัด (ปัญญา รุ่งเรือง, 2538)

       อย่างไรก็ตามก็มีหลักฐานที่พอจะระบุได้ว่าชนชาติไทยมีซอสามสายมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และนิยมบรรเลงมาจนสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏใช้บรรเลงในวงขับไม้ วงมโหรีเครื่องสี่ วงมโหรีเครื่องหก วงมโหรีเครื่องแปด วงมโหรีเครื่องเล็ก วงมโหรีเครืองคู่ วงมโหรีเครืองใหญ่ วงเครื่องสายผสม และการบรรเลงเดี่ยว   มีการสืบทอดที่มีหลักฐานระบุชัดเจนตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยบทความที่พระยาภูมีเสวินได้เขียนลงในวารสารวัฒนธรรมไทย เดือนตุลาคม 2511 ทำให้ปรากฏร่องรอยในการสืบค้นที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

       แต่เดิมนั้นซอสามสายจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักค่อนข้างมาก ดังปรากฏในการบรรเลงประกอบพระราชพิธีสำคัญๆต่างๆเป็นอันมาก ในหลังยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ซอสามสายก็ห่างหายออกจากวิถีแห่งราชสำนัก แต่จะพบได้ในสำนักดนตรีของปรมาจาย์ทางดนตรีไทย จนมาถึงพบในการเรียนการสอนดนตรีในโรงรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ยังคงมีการถ่ายทอดกันอยู่รุ่นแล้วรุ่นเล่า   และมีการบันทึกเสียงลงเทป ซีดีต่างๆ รวมถึงมีการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก   

       ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีที่หาผู้บรรเลงได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกันจำนวนของผู้สนใจหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นๆ   อันมีสาเหตุมาจาก

1.   การหาผู้สอนที่จะถ่ายทอดความรู้ได้ยาก

2.   เครื่องดนตรีมีราคาค่อนข้างสูง

3.   เป็นเครื่องดนตรีที่ต้องมีอุตสาหวิริยะสูงที่จะหัดเรียน

        อย่างไรก็ตาม ซอสามสายจะคงอยู่คู่สังคมไทยต่อไปแม้จะห่างหายออกไปจากวิถีชีวิตทั่วๆไปของชาวไทยด้วยกระแสการหลั่งไหลของวัฒนธรรมต่างชาติ ดังนั้นซอสามสายจึงมีความสำคัญและความจำเป็นในการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงเป็นอย่างยิ่ง

 

บุคคลอ้างอิง

1.   บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับวงการซอสามสายในอดีต   เช่น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมเด็จฯเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

เจ้าเทพกัญญา ณ เชียงใหม่

พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก )

เจ้าจอมมารดาวาด

เจ้าจอมประคอง

ครูโท้ ครูส่าย

หม่อมสุขหรือสุด (หม่อมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)

หม่อมผิว (หม่อมของเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิตย์)

พระยาธรรมสารนิตย์ (ตาด อมาตยกุล)

พระยาโบราณราชธานินท์ (พร เดชคุปต์)

พระยาอำมาตย์พงศ์ (ประสงค์ อมาตยกุล)

พระยาภูมีเสวิน

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง )

หลวงไพเราะเสียงซอ

ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล

คุณหญิงไพฑูรย์ กิติวรรณ

ครูคงศักดิ์ คำศิริ

ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์

ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์

ครูประเวช กุมุท

ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน

2.   บุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับซอสามสายในปัจจุบัน

อ.เฉลิม ม่วงแพรศรี

อ.ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

รศ.พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์


 

เอกสารอ้างอิง

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2542). สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, กรุงทพฯ

ปัญญา รุ่งเรือง. (2533). อ่านและฟังดนตรีไทยประกอบเสียง. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ

อนุชา ทีรคานนท์, บรรณาธิการ.(2552). เล่าเรื่องเครื่องดนตรีชิ้นเอก. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,กรุงเทพฯ

พูนพิศ อมายกุลและคณะ. (2550). จดหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล. โรงพิมพ์เดือนตุลา, กรุงเทพฯ

อานันท์ นาคคงและคณะ. (2538). เพราะพร้องซอสามสายร่ายลำนำ. โรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ,กรุงเทพฯ

ศุนย์สังคีตศิลป์ฝ่ายประชาสัมพันธ์. (2557) เชิดชูเกียรติ 100 ปี พระยาภูมีเสวิน. เรือนแก้วการพิมพ์ ,กรุงเทพฯ

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี). (2519), (แผ่นพับ) กรุงเทพฯ