การนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

 

ชื่อผลงานทางวิชาการ      พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน

                                         กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

                              Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People

                              case study : Bangkok

ประเภทผลงานทางวิชาการ          บทความวิจัย

ปีที่พิมพ์                                   2557

ข้อมูลเพิ่มเติม                            บทความนี้ได้นำเสนอในงาน  Proceedings of The International Conference Comparativism, Identity, Communication (CIC2014) in Craiova, Romania (17-18 October 2014)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ

                                                     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิงห์ สิงห์ขจร สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร

องค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

บทความวิจัย เรื่องพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร   Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People case study : Bangkok  ผู้ศึกษา คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร (2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร        เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,198 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ผลการวิจัย พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด รองลงมา คือ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN  นิทรรศการ ASEAN  ตามลำดับ การเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มากที่สุด 2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสาร คือ การไม่มีเวลา ไม่สนใจ ไม่เห็นประโยชน์ และอื่นๆ  จากบทความวิจัยนี้ จะเห็นได้ว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ได้ความสำคัญในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ  ผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ดังนั้น การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชน จะนำเสนอข่าวสารใด เรื่องใด สาระสำคัญใด ก็ควรพิจารณาผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นลำดับแรกเป็นการดีที่สุด

 

 

พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People case study : Bangkok

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร (2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,198 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป

ผลการวิจัย พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN  นิทรรศการ ASEAN  ตามลำดับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มากที่สุด 2) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสาร คือ การไม่มีเวลา ไม่สนใจ ไม่เห็นประโยชน์ และอื่นๆ

คำสำคัญ : พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสาร ประชาคมอาเซียน กรุงเทพมหานคร

 

Abstract

The objection of this research is to study (1) Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People (2) problem, difficulty and suggestion on Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People case study : Bangkok

This is the surveying research; population of the research is 1,198 people living in Bangkok. The tool of the research is questionnaire; and data statistical analysis by using computer program, and report in frequency and percentage.

The results found: 1) the study on the Media Exposure Behavioral in ASEAN Community of People most media accepted is television, newspapers, internet, magazines, radio, Posters, ASEAN meeting, ASEAN conference and ASEAN exhibition. The most television is Channel 3, newspapers is Thairath newspaper and radio station is Radio Thailand 2) the study on the problem, difficulty and the suggestion on the Media Exposure Behavioral and Perception in ASEAN Community of People case study : Bangkok is the reason of having no time and not being interested.

Keywords : Media Exposure Behavioral, ASEAN Community, Bangkok

 

บทนำ

ประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558 ภายใต้ข้อตกลงและความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ  ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชาและไทย ภายใต้ชื่อสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) หรือประชาคมอาเซียน โดยมีกรอบแนวคิดหลักคือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์  หนึ่งประชาคม (One  Vision , One identify , One Community) มีการแบ่งเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 3 เสาหลักได้แก่ ประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การรวมตัวประชาคมอาเซียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยีและการบริหารส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงของภูมิภาค  ส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวกันเช่นส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียน การเชื่อมโยงตลาดทุนระหว่างกันและพัฒนาตลาดพันธบัตรโดยมาตรการการเปิดเสรีลงทุนและความร่วมมือทางการท่องเที่ยวจากบทบาทและความสำคัญของประชาคมอาเซียน ทำให้ประชาชนต้องติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจรวมถึงการมีส่วนร่วมในฐานะประเทศสมาชิกของประเทศ ถือเป็นวาระสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งถือเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อการมีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมแก่ประชาชนในทุกมิติ

การสื่อสารในปัจจุบันมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในชีวิตประจำวันของคนทุกคน เพราะตั้งแต่เราตื่นจนเรานอนหลับนั้น ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการสื่อสารแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือ ทางอ้อม การสื่อสารเป็นพฤติกรรมขั้นพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสื่อสารเป็นรากฐานของกิจกรรมทางสังคมและการเมืองทุกชนิด มนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองและอาศัยการสื่อสารเพื่อให้การอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมเป็นไปโดยปกติสุข การเปิดรับข่าวสารจากสื่อมวลชน โดยผู้รับสารจะมีความคาดหวังจากสื่อมวลชนว่า  การเปิดบริโภคข่าวสารจากสื่อมวลชนจะช่วยสนองตอบความต้องการของตนได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือเปลี่ยนลักษณะนิสัยและพฤติกรรมบางอย่างได้ โดยที่การเลือกรับข่าวสารจากสื่อมวลชนนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการหรือแรงจูงใจของผู้รับสารเอง เพราะบุคคลแต่ละคนย่อมมีวัตถุประสงค์และความตั้งใจในการใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนที่แตกต่างกันออกไป โดยสื่อมวลชนในที่นี้จะหมายถึงสื่อต่าง ๆ  ที่เผยแพร่ไปสู่มวลชน และกระบวนการในการจดจำ เลือก รวบรวม และตีความสิ่งเร้าต่าง ๆ เพื่อที่จะให้สามารถเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือประชาชนได้เปิดรับข่าวสารเรื่องที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน มีการเปิดรับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนจากสื่อใดมากที่สุด จากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจและประสงค์จะศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสาร เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชนในประเทศไทย
  2. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ในพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

  1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานครเท่านั้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ประชาชนในกรุงเทพมหานคร สถานที่เก็บรวบรวมข้อมูล คือ สถานที่ต่างๆในกรุงเทพมหานคร การเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างดำเนินการโดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นสำหรับเก็บรวบรวมตัวอย่างจำนวน 1,198 คนในกรุงเทพมหานครใช้ระยะเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ถึง วันที่ 15 พฤษภาคม 2556

ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดกลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,673,560 คน ( ข้อมูล: ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรแยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555)

กลุ่มตัวอย่างตัวอย่างในการวิจัย ขนาดของกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้  อ้างอิงตาราง  Taro Yamane (1973)  โดยกำหนดความเชื่อมั่น 95 % และความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 3 %  ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างไม่น้อยกว่า 1,111  ตัวอย่าง  ในการวิจัยครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,198 ตัวอย่าง

  1. การเก็บรวบรวมข้อมูล

วิธีการสุ่มตัวอย่างในการวิจัย วิธีการวิจัยในครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน  โดยการแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่เขต  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) และในการเลือกเขตของ แต่ละกลุ่มเขต  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย  (Simple Random Sampling) และสุดท้ายใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามสะดวก (Convenience Sampling) ดังมีรายละเอียดของขั้นตอนดังต่อไปนี้ ขั้นที่ 1  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ  กรุงเทพมหานครแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 กลุ่มเขต (สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, 2542) จากทั้งหมด 50 เขต ตามการกระจายอำนาจบริหารโซนแบ่งกลุ่มของ 50 เขต ออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนรัตนโกสินทร์  โซนบูรพา  โซนศรีนครินทร์  โซนเจ้าพระยา  โซนกรุงธนใต้  และโซนกรุงธนเหนือ ขั้นที่ 2  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ด้วยวิธีการจับฉลากเลือกเขตตัวแทนของแต่ละกลุ่มเขต  ตามสัดส่วนในขั้นตอนที่ 1 ได้รายชื่อเขตตามกลุ่มเขตดังนี้ ขั้นที่ 3  ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามสะดวก  การเก็บข้อมูลในแต่ละเขต ทำการเก็บข้อมูลตามสะดวก โดยเก็บตามแหล่งชุมชนที่คาดว่าเป็นแหล่งชุมชนของกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองใหญ่ แหล่งที่เป็นชุมชนจึงมีปริมาณมากเช่นกัน ดังนั้นผู้วิจัยจึงเจาะลงไปที่ศูนย์การค้าหรือตลาด จนครบจำนวน 10 เขต ตามที่กำหนด โดยผู้วิจัยและทีมงานนำแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างตอบและนำกลับคืนด้วยตัวเอง

เครื่องมือที่ใช้สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาจากการศึกษา ค้นคว้าเอกสาร หนังสือ ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาการสร้างแบบสอบถามอย่างละเอียดตามกรอบแนวคิดการวิจัย โดยแบบสอบถามที่ใช้สำหรับการวิจัยครั้งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นแบบสอบถามปลายปิดและแบบสอบถามปลายเปิดซึ่งประกอบด้วยคำถาม 3 ส่วนโดยมีเนื้อหาในแต่ละส่วน ดังนี้ คือส่วนที่ 1 เป็นคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของลักษณะประชากร ส่วนที่ 2 เป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และส่วนที่ 3 เป็นคำถามเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร

การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยจะนำแบบสอบถามที่ผ่านการทดสอบและแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ไปดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัยกับผู้ช่วยวิจัยอีกจำนวน 10 คน ได้ดำเนินการแจกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างประกอบการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว (Face-to-Face interview) และรับคืนแบบสอบถามด้วยตนเอง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ดังกล่าวให้ครบจำนวน 1,198 คน ในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2556

  1. การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ  โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ ในการประมวลผลข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามและใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้ การวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณา (Descriptive Statistics) แจกแจงค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ เพื่ออธิบายข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มตัวอย่างในเรื่องข้อมูลลักษณะประชากร พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสาร

สรุปผลการวิจัย

ผลการวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร มีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้  คือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ เอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN นิทรรศการ ASEAN ตามลำดับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3  หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ผ่านทางเว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มากที่สุด ทำให้เห็นว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีทั้งภาพและเสียงจึงทำให้ประชาชนเข้าใจข่าวสารได้ง่ายกว่าสื่อประเภทอื่นๆ ในส่วนของสื่อหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างได้อย่างกว้างขวางและสามารถนำมาอ่านซ้ำได้หากต้องการจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งสื่ออินเตอร์เน็ตนั้นทำให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถใช้เทคโนโลยีได้มากกว่าในอดีตและข้อมูลในอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว แต่สื่อประเภทโปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN นิทรรศการ ASEAN ซึ่งหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการผลิตสื่อโปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการจัดประชุมสัมมนา ASEAN นิทรรศการ ASEAN นั้นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กลับเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอยู่ในกลุ่มสุดท้าย  และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีความถี่ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 1 – 2 วัน ต่อสัปดาห์มากที่สุด และอยากให้มีข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนผ่านสื่อประเภท โทรทัศน์มากที่สุด หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต เอกสารประชาสัมพันธ์ นิทรรศการ ASEAN นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง โปสเตอร์/ป้ายประชาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา ASEAN ตามลำดับ

การศึกษาด้านปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการเปิดรับสื่อของผู้ตอบแบบสอบถาม เช่น ปัญหา และอุปสรรค  ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และในการรับรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีปัญหาและอุปสรรคในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ไม่มีเวลา ร้อยละ 60.4  อันดับสองคือ ไม่สนใจ ร้อยละ 21.7  อันดับสามคือ ไม่เห็นประโยชน์ ร้อยละ 15.4 และอันดับสุดท้ายคือ อื่นๆ ซึ่งมี คิดเป็นร้อยละ 2.5

 

อภิปรายผลการวิจัย

ในส่วนของพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของประชาชน ซึ่งผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจากสื่อโทรทัศน์มากเป็นอันดับหนึ่งรองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต ผลการวิจัยที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการที่สื่อโทรทัศน์สามารถกระจายข่าวสารไปถึงผู้รับสารได้อย่างรวดเร็วและในปริมาณความถี่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อมวลชนอื่นๆ จึงมีโอกาสเปิดรับสูง การติดตามสื่อโทรทัศน์นั้นผู้รับสารสามารถรับสารทั้งภาพและเสียงพร้อมๆ กันซึ่งสามารถทำความเข้าใจในเนื้อหาของสารง่ายกว่าสื่อมวลชนประเภทอื่น สอดคล้องกับแนวคิดของ Philip Kotler (2000) กระบวนการในการเลือกที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากทางเลือกต่าง ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งผู้รับสารมักจะต้องตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน โดยจะเลือกเปิดรับข่าวสารตามข้อมูลและข้อจำกัดของสถานการณ์ เป็นกระบวนการที่สำคัญและอยู่ภายใต้จิตใจของผู้รับสาร สอดคล้องกับแนวความคิดทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม Innovation Diffusion Theory  ของ Roger (1973)  ได้แบ่งกลุ่มคนในสังคมที่จะยอมรับการแพร่กระจายทางเทคโนโลยีไว้ดังนี้ กระบวนการ Social Adoption นั้น การยอมรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะต้องอาศัยช่องทาง (Channels) ในการสื่อสารของบุคคลกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อสื่อสารจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนวัตกรรมถูกสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ของระบบสังคม โดยใช้เวลาในการเข้าสู่สมาชิกในสังคม ทั้งสี่ส่วนประกอบหลักในสังคมนั่น คือ นวัตกรรม ช่องทางในการสื่อสาร เวลา และ ระบบสังคม Critical mass จำนวนผู้ที่ยอมรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมน้อยที่สุด ที่ยังคงมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนวัตกรรมและผู้ยอมรับนวัตกรรมเทคโนโลยี นั้น ซึ่งอัตราการยอมรับนั้นเพียงพอจะทำให้มันยังคงมีเทคโนโลยีนั้นอยู่ได้ด้วย ตัวมันเองต่อไปได้

ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย

  1. เสนอให้กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการเลือกใช้สื่อที่ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
  2. เสนอให้องค์กรสื่อมวลชน เกี่ยวกับการส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนให้ประชาชนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

 

Asseal Henry. (1998). Consumer Behavior and Marketing Action. 6th ed.  Cincinnati, OH :

South-Western College Publishing

Bussey, Cathy. (2011). Brilliant PR. Great Britain : Pearson

Dainton, Marianne. (2011). Applying Communication Theory for Professional Life. 2nd ed.USA : Sage Publication.

Kotler, P. (2000). Marketing management. 10th ed. Upper Saddle River, NJ : Prentive-Hall.

Rogers, Everett M. (1973). Communication Strategies for Familly Plamming.  New York: The Free Press.

Singh Singkhajorn. (2011) . Political Information Acceptance Behavior from Mass Media, and Political Participation of  People case study : Chiang Rai Province. Office of the Higher Education Commission:Ministry of  Education Thailand

Stanley J Baran, and Dennis K Davis . (2012). Mass Communication Theory . (6th edition) Canada: Wadsworth Cengage Learning.

Stephen W Littlejohn, and Karen A. Foss. (2012). Theory of Human Communication . (9th edition) Boston,MA: Wadsworth Cengage Learning.

The Government Public Relation Department. (2011)  The ASEAN Community. Prime Minister’s Office

The Government Public Relation Department. (2012) Thailand and ASEAN. Office of the Education Council:Ministry of  Education Thailand