“มะกรูดหวาน” ผลไม้ที่ต้องอนุรักษ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ มะกรูดหวาน เป็นมะกรูดสายพันธุ์หนึ่ง มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับต้นมะกรูดทั่วไปเกือบทุกอย่าง ยกเว้น ใบนิ่ม ผิวใบเรียบ ผลใหญ่กว่ามะกรูดเปรี้ยว เนื้อในกลีบเป็นสีเหลืองเข้ม มีรสหวานหอม คล้ายส้มตราหรือส้มเช้ง ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ไม่นิยมใช้ปรุงอาหาร

          สมัยยังเป็นเด็กผู้เขียนได้กินมะกรูดหวานอยู่เสมอ ที่บ้านเกิดอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม  ตอนเช้าจะมีชาวบ้านหิ้วใส่ตะกร้าเล็กๆมาเร่ขายตามบ้าน แม่จะซื้อให้ไว้ในครัวเป็นประจำเพราะเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่แม่ก็ชอบกิน  ด้วยติดใจในรสชาติที่หวานหอม เมื่อโตขึ้นมาก็ไม่เห็นมะกรูดหวานอีกเลย ล่าสุดเมื่อปลายปี 2560 ไปพบในตลาดสดที่บ้านเกิด ที่ชาวบ้านนำมาขาย มีมาเพียง 10 ผล รีบซื้อมาทั้งหมด เพื่อขยายพันธุ์แจกจ่ายต้นกล้า  ก็ได้ลิ้มรสดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และขอตามไปที่บ้านแม่ค้าที่อยู่ห่างเมืองออกไปราว 10 กิโลเมตร พบว่าเป็นต้นเก่าแก่อยู่ปนอยู่กับต้นกล้วย น้อยหน่า มะม่วง และอื่นๆ เป็นการปลูกแบบสวนครัว ขาดการบำรุงรักษา  คุณภาพและปริมาณของผลผลิตจึงไม่แน่นอน .ในหมู่บ้านนั้นก็มีอีก2 ครอบครัวที่ปลูกทิ้งไว้กินในครอบครัว

          มะกรูดหวาน   จึงเป็นพืชหายากอีกชนิดหนึ่งที่ต้องจะอนุรักษ์ไว้ ควรปลูกไว้เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้กัน หากสามารถปลูกจำนวนมาก ก็สามารถนำไปขายทำรายได้ให้แก่เจ้าของได้ไม่น้อย คนโบราณชอบปลูกไว้ระหว่างต้นไม้อื่นในสวน ธรรมชาติของมะกรูดหวานจะออกผลดก หากได้รับการปลูกเป็นอาชีพ ได้รับการบำรุงรักษาที่ถูกหลักวิชาการ จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อาจเป็นสินค้าชุมชนในเบื้องต้น และพัฒนาเป็นผลไม้เศรษฐกิจได้ในอนาคตเหมือนส้มชนิดอื่นๆได้

มะกรูดหวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix DC.
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่อสามัญ Sweet kaffir lime
ชื่ออื่น บักหูดหวาน(มหาสารคาม)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น สูง 2-4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามยาว แหลม รูปทรงกระบอก ยาว 4 – 5 นิ้ว ใบ เปลือกลำต้นต้นเรียบ  สีน้ำตาลอ่อน ลำต้นมีกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบประกอบ มี 1 ใบย่อย เรียงสลับ รูปรี กว้างประมาณ 6.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ใบหนา ผิวเป็นมัน สีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วแผ่นใบ ก้านใบแผ่เป็นแผ่น มีลักษณะคล้ายปีกนก ดอกออกเป็นช่อ มีดอกย่อยประมาณ 5 – 10 ดอก มีสีขาว ดอกย่อยกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ ผลมีเนื้อ ผลแบบส้ม ติดผลดกเป็นพวง 5-7 ผล มีขนาดใหญ่กว่าผลของมะกรูดบ้าน ทรงกลมถึงรูปไข่ อาจมีจุกสั้นหรือไม่มี ผิว ขรุขระน้อย มีต่อมน้ำมันที่ผิว ผลกว้าง 5-7 ซม. ยาว 6-8 ซม. เปลือกหนาประมาณ 0.3 ซม. เมื่อสุกหรือแก่จัดเป็นสีเหลืองหรือเหลืองปนเขียวเล็กน้อย เนื้อข้างในมีลักษณะเป็นกลีบหลายกลีบ ประกอบด้วยถุงเล็ก ๆ จำนวนมาก มีน้ำสีเหลืองเข้มอยู่ข้างใน มีเมล็ดเกาะอยู่ในกลีบ เมล็ดกลมรี กว้าง 0.7 ซม. ยาว 0.9 ซม. จำนวน 15-20 เมล็ดต่อผล

การขยายพันธุ์

  1. เพาะกล้าจากเมล็ด
  2. ตอนกิ่ง  และเสียบยอด

หมายเหตุ

  1. สันนิษฐานว่ามะกรูดหวานเป็นเป็นมะกรูดกลายพันธุ์จากมะกรูดที่ใช้ปรุงอาหาร ได้รับความนิยมปลูกมาแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน
  2. มะกรูดหวานมีดอกและติดผลดกตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของมะกรูดหวานกับมะกรูดธรรมดา

ส่วนประกอบ มะกรูดหวาน มะกรูดธรรมดา
ลำต้น -หนามแหลม ยาว ลำต้นตรง ทรงพุ่มแคบ -หนามสั้นกว่า จำนวนมาก กิ่งแผ่ออกด้านข้าง ทรงพุ่มกว้าง
ใบ -ปลายใบเรียวเล็ก ท่อนล่างที่เกิดจากก้านใบมีขนาดเล็ก คล้ายใบส้มเขียวหวาน -ปลายใบโค้งมน ท่อนล่างที่เกิดจากก้านใบขยายใหญ่
-มีกลิ่นเช่นเดียวกับส้มเขียวหวาน -มีกลิ่นหอมรุนแรง
-ไม่สามารถนำไปปรุงอาหารได้ -นำไปประกอบอาหารได้
ผล -มีผิวค่อนข้างเรียบ ขรุขระแต่ร่องไม่ลึก -ผิวขรุขระ มีร่องผิวลึก
-มีทรงกลม กลิ่นไม่ฉุนรุนแรง -มีทรงรี มีกลิ่นรุนแรงเหมือนใบ
-ไม่มีจุก หรือมีจุกแต่เตี้ย -มีจุกที่ขั้วผล สูงบ้าง เตี้ยบ้าง
-นำไปรับประทานเป็นผลไม้ -นำผิวไปเป็นส่วนผสมของเครื่องแกง
-คั้นน้ำ ใส่น้ำแข็ง เป็นน้ำผลไม้ -นำไปสระผม
  – นำไปเป็นน้ำมันหอมระเหย
เมล็ด – มีเมล็ดน้อย – มีเมล็ดมากกว่า
รสชาติของเนื้อผล – หวาน (เหมือนส้มตราหรือส้มเช้ง) – เปรี้ยวจัด
 -มีกลิ่นหอม -มีกลิ่นเฉพาะตัว
การขยายพันธุ์ -เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด -เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด

อ้างอิง

http://oknation.nationtv.tv/blog/chabatani/2010/12/11/entry-1
https://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.doa.go.th/pvp/images
https://www.thairath.co.th/content/1088319