ชำมะเลียงขาว พรรณไม้หายากต้องอนุรักษ์ไว้

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ         เมื่อกล่าวถึง“ชำมะเลียง”  มีน้อยคนที่จะรู้จักผลไม้พื้นเมืองถิ่นเอเชียต้นนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม  แต่ถ้ากล่าวถึง “ชำมะเลียงขาว” ก็จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนที่รู้จักชำมะเลียงชนิดเดิมอยู่แล้ว ชำมะเลียงขาวเป็นพืชกลายพันธุ์มาจากชำมะเลียงชนิดดั้งเดิมที่มีผลสีม่วงดำ นานมาแล้วที่ผู้เขียนได้เห็นชำมะเลียงขาวในสวนของชาวบ้านแห่งหนึ่งแถวบางมดที่เขาอนุรักษ์พันธุ์ส้มบางมดไว้ เจ้าของหวงชำมะเลียงขาวมาก เพราะหายาก ติดผลน้อยกว่าชำมะเลียงชนิดเดิม และมาพบอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่อยู่ใกล้สวนจตุจักร ซึ่งมีจำนวน 2 ต้น สูงราว3เมตร ที่กำลังออกดอกและติดผลอ่อน ก็เลยไปติดตามพัฒนาการของผลทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง จนได้ภาพถ่ายและข้อมูลครบวงจรมาเผยแพร่ให้รู้จักกันในวงกว้างยิ่งขึ้น

“ชำมะเลียงขาว” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับ “ชำมะเลียง”ชนิดเดิมทุกประการ จนไม่สามารถแยกชนิดได้หากไม่ออกดอกติดผลให้เห็น การนำต้นกล้าชำมะเลียงมาวางขายริมทางจะขาดความเชื่อถือจากผู้ซื้อ ผู้สนใจสามารถหาซื้อจากผู้ขายในอินเตอร์เน็ทจากผู้ขายที่เชื่อถือได้ในราคาที่ค่อนข้างแพง เพื่อนำมาเป็นพืชสะสมในสวนอนุรักษ์หรือสวนสาธารณะนั่นเอง

 

 

ชำมะเลียง

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.

ชื่อวงศ์                     SAPINDACEAE

ชื่อสามัญ                  Luna nut หรือ Chammaliang

ชื่ออื่น                      โคมเรียง  พูเวียง มะเถ้า ผักเต้า หวดข้าใหญ่ ภูเวียง ชำมะเลียง พุมเรียง ชุมเรียง

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 4-7 เมตร  เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง  มีขนสีน้ำตาลตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน ใบประกอบแบบขนนกชนิดปลายคู่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-7 คู่ ออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของแผ่นใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้า ขอบใบเรียบ ใบย่อยกว้าง 2-3 ซม. ยาว 7-21 ซม. แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 ซม. มีหูใบขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นแผ่นกลมเด่นชัดบริเวณโคนก้านใบโอบติดกับกิ่งหรือลำต้น ซึ่งเป็นลักษณะที่หาได้ยากในพืชอื่น ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ(raceme)ออกตามกิ่งใหญ่และลำต้น ช่อดอกห้อยลง ยาวได้ถึง 55 ซม. ดอกย่อยในแต่ละช่อจะมีทั้งชนิดสมบูรณ์เพศและไม่สมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวครีม ดอกเมื่อบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 มม. กลีบดอกมี 5 กลีบแยกกัน ที่ฐานจะเรียวเล็ก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน อกเพศเมียมีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน มีรังไข่ติดอยู่เหนือฐานรองดอก รังไข่มี 3 พู 3 ห้อง ในแต่ละห้องจะมีไข่ 1 อัน กลีบเลี้ยงเป็นขาว(หรือสีม่วง) มี 5 กลีบ ลักษณะรูปรี ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม ผลสดออกเป็นช่อ  ในช่อหนึ่งมี 20-30 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือแป้น รูปไข่ หรือรูปไข่ถึงรูปรีป้อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียว(หรือเขียวอมม่วงแดง) เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นขาว(หรือสีม่วงดำ) เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีรสหวาน รับประทานได้ ภายในผลมีประมาณ 1-2 เมล็ด และอาจพบถึง 3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ปนขอบขนาน ผิวเรียบเป็นสีดำ มีขนาดกว้าง 1-1.5 ซม.และยาว 1.5-2.0 ซม. ติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม และแก่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ (ข้อความในวงเล็บเป็นลักษณะของชำมะเลียงชนิดเดิม)

 

ประโยชน์ของชำมะเลียง

  1. ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ ผลสุกจัดมีรสหวาน ผลห่ามรสหวานอมฝาด ถ้ารับประทานผลห่ามเกินไปจะทำให้ท้องผูก
  2. ใบอ่อน ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ทำแกงใส่ผักรวม แกงเลียง หรือใช้เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก รวมทั้งนำมาต้มจิ้มกินกับน้ำพริกหรืออาหารรสจัด
  3. นำมาใช้ทำเป็น “น้ำชำมะเลียง”โดยมีส่วนผสมของ ชำมะเลียงสุกงอม น้ำเชื่อม เกลือป่นและน้ำต้ม โดยนำผลชำมะเลียงที่สุกงอมมาล้างให้สะอาด แล้วยีให้เนื้อแยกออกจากเมล็ด เติมน้ำต้มลงไป กรองเอาเมล็ดและเปลือกออก แล้วเติมน้ำเชื่อมและเกลือ ชิมรสชาติได้ตามชอบ ก็จะได้น้ำชำมะเลียง
  4. สีม่วงที่ได้จากผลสามารถนำมาใช้เป็นสีผสมอาหารได้
  5. ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เพราะทรงพุ่มแน่น ใบมีสีเขียวเข้มตลอดปี เมื่อผลิใบใหม่จะเป็นสีเขียวอ่อนแกมเหลืองสดใส ส่วนผลก็มีสีสันสวยงาม โดยนิยมปลูกแซมไว้ตามสวนผลไม้ทั่วไป หรือใช้ปลูกเพื่อการจัดสวนตามบ้าน ตามสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ หรือใช้ปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์ป่าในป่าอนุรักษ์

 

สรรพคุณของชำมะเลียง

  1. รากมีรสเบื่อจืดและขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้กินแก้ไข้เหนือ ไข้กาฬ ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้สั่น ไข้กำเดา แก้เลือดกำเดาไหล ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย แก้ระส่ำระสาย ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นปกติ ช่วยแก้อาการท้องผูก แก้ไม่ผูกไม่ถ่าย
  2. ผลสุกหรือผลแก่ช่วยแก้ท้องเสีย คนโบราณจะใช้ผลแก่สีดำที่มีรสฝาดหวานให้เด็กรับประทานเป็นยาแก้โรคท้องเสีย

 

หมายเหตุ       

  1. ชำมะเลียงขาว สุกแล้วสีขาวเหมือนน้ำนมกินแล้วปากไม่ดำ แต่ระยะหลังนี่ชักหายากเต็มทน เห็นมีขายตามงานต้นเล็กๆ ก็ตั้งหลายร้อยแถมเป็นพันธุ์เนื้อบางอีกต่างหาก
  2. ชำมะเลียงจัดเป็นไม้ผลชนิดหนึ่งโตค่อนข้างช้า ชำมะเลียงขาวจะมีดอกและผลสีขาว จัดว่าเป็นของแปลก เพราะชำมะเลียงชนิดเดิมจะมีดอกเป็นสีม่วง หรือสีเลือดหมู
  3. ต้นชำมะเลียง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ อยู่ใน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
  4. ชำมะเลียง เป็นไม้ผลในวงศ์เดียวกันกับ เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย มะหวด คอแลน เป็นต้น
  5. ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดรวมทั้งดินเค็ม ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี

 

 

 

 

อ้างอิง

http://www.dnp.go.th/flora/plant_pages

http://www.komchadluek.net/news/agricultural/176244

https://medthai.com

https://www.nanagarden.com/

http://www.qsbg.org/database/botanic

https://www.samunpri.com

http://www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/72.htm https://th.wikipedia.org/wiki         

http://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Lepisanthes+fruticosa