Category Archives: ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก ไม้ผล ความหลากหลายทางชีวภาพ

ผักหวานป่า…น่าปลูกเป็นอาชีพ

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ ผักหวาน หรือผักหวานป่ามีรสชาติหวานมันอร่อย ไม่มีผักใดมาแทนที่ได้  ปรุงเป็นอาหารชนิดใดก็อร่อย แต่เดิมนั้นผักหวานเป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางส่วน ปัจจุบันได้รับความนิยมทั่วประเทศ เป็นเมนูอาหารในภัตตาคารใหญ่ รวมทั้งส่งออกไปหลายประเทศ แม้ราคาในประเทศจะสูงถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาทแต่ก็เป็นที่นิยมบริโภคกันมาก การที่หารับประทานได้ค่อนข้างยากเพราะผักชนิดนี้เป็นผักในป่าจะให้ผลผลิตในปลายฤดูหนาวถึงกลางฤดูร้อนประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนเท่านั้น และส่วนใหญ่จะถูกชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านตามชายป่าเก็บยอดอ่อนดอกอ่อนมาบริโภคและขายตามฤดูกาล การเก็บยอดอ่อนรวมทั้งดอกอ่อน ทำให้ประชากรของต้นผักหวานไม่มีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีดอกใหญ่ให้บานก็จะไม่มีผลไม่มีเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ อีกทั้งมีพ่อค้าต้นไม้ขุดต้นตอเล็กออกเร่ขาย และขุดล้อมต้นใหญ่ออกไปขายในเมืองในราคาต้นละหลายพันบาท โอกาสจะหมดไปจากป่าก็ยิ่งมีมากขึ้น แม้ในปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกผักหวานเพื่อการค้ากันมากขึ้น โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะผักหวานเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้ามาก การบำรุงรักษาก็ยุ่งยากกว่าการปลูกพืชอื่น การปลูกแบบพืชทั่วไปมีโอกาสตายมาก บทความนี้จะให้ความรู้เรื่องผักหวานและการปลูกพร้อมภาพประกอบซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการปลูกเป็นอาชีพที่ถูกวิธีมากขึ้น เพื่อการกระจายรายได้ และเป็นการอนุรักษ์ให้ผักหวานอยู่ในป่าเพื่อเป็นอาหารอันโอชะของชุมชนใกล้ป่าและสัตว์ป่าในระยะยาวต่อไป

 

ผักหวานป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์  Melientha suavis Pierre

ชื่อวงศ์  OPILIACEAE 

ชื่ออื่น ผักหวาน 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 4-11 เมตร เปลือกต้นหนา สีเทาอมสีน้ำตาลอ่อน เรียบ  กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อไม้มีความแข็ง สะสมอาหารที่รากและลำต้นสำหรับให้ชีวิตรอดในฤดูแล้ง ใบเดี่ยว หนา เนื้อใบกรอบ ขอบใบเรียบ ลักษณะของใบอ่อนเป็นรูปไข่หรือรูปรียาว สีเขียวอ่อน เมื่อใบแก่จะกว้างขึ้น รูปร่างไม่แน่นอน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียว สีเขียวเข้ม กว้างประมาณ 3-5 ซม. ยาว 4-8 ซม. ดอกออกเป็นช่อยาว 15-20 ซม. ช่อดอกออกจากกิ่งหรือลำต้นหรือตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน เกสรสีเหลือง ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้  ผลเดี่ยวติดเป็นพวงบนช่อเดิม ผลรูปไข่ มีขนาดกว้าง 1.5-1.7 ซม. ยาว 2.3-3 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลืองส้ม มีเมล็ดเดียว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด งอกภายใน 1 เดือน ต้นกล้ามีรากสะสมอาหาร

ประโยชน์ 1. ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน รับประทานเป็นผัก โดยอาจนำมาลวกให้สุกแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ใช้เป็นเครื่องเคียง หรืออาจนำไปผัดไฟแดง

2. ใช้ประกอบอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงปลา แกงกะทิสด แกงกับไข่มดแดงหรือปลาแห้ง แกงคั่ว แกงจืด

3. ผลสุกของผักหวานนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ นำเมล็ดไปต้มรับประทานได้เช่นเดียวกับเมล็ดขนุน โดยจะมีรสหวานมัน

4. ผลสุกยังเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่าง ๆ

5. ผักหวานเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน พลังงาน และวิตามินซี อีกทั้งยังมีปริมาณของเส้นใบอาหารอยู่พอสมควร จึงช่วยในการขับถ่ายได้ดี

6. ผักหวานเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟีนอลิก การรับประทานผักหวานป่าจึงไม่เพียงแต่จะได้คุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น หากแต่ยังได้รับสารอาหารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี

หมายเหตุ 1. ผักหวานเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์OPILIACEAE ซึ่งจัดว่าเป็นวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีพืชชนิดใดอยู่ในวงศ์นี้เลย เป็นพืชทนแล้ง แต่ไม่ทนแดด

2. ผักหวานสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลืองและพันธุ์ยอดเขียว โดยพันธุ์ยอดเขียวจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าและเร็วกว่าพันธุ์ยอดเหลือง แต่ลักษณะของทั้งสองสายพันธุ์ก็จะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นทรงพุ่ม กิ่ง และแขนงใบ หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะไม่เห็นความแตกต่าง 3. ผักหวานป่ากับผักหวานบ้านนั้นไม่ใช่พืชชนิดชนิดเดียวกัน ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเป็นพืชในตระกูลเดียวกันแต่อย่างใด เพียงแต่มีชื่อเรียกที่พ้องกันเท่านั้น จึงมีการเรียกชื่อผักหวานว่าผักหวานป่า เพื่อให้เกิดความแตกต่าง จากชื่อผักหวานบ้าน

4. ต้นผักหวานป่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จึงพบต้นผักหวานป่าได้ตามป่าเบญจพรรณในที่ราบหรือเชิงเขาที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล และโดยปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนทราย

5. ผักหวานป่าเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้กว่า 10 เมดร แต่ที่พบโดยทั่วจะมีขนาดเล็ก คล้ายไม้พุ่ม เนื่องจากมีการหักกิ่งเพื่อเด็ดยอดไปบริโภค จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิ่งและยอดอ่อนออกด้านข้าง ไม่มีโอกาสสูงตามธรรมชาติ

6. มีพรรณไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับผักหวานป่า เช่น ต้นเสน ต้นขี้หนอน หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการผิดสำแดงได้ คือ มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน คอแห้ง อ่อนเพลีย มึนงง และหมดสติ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

การปลูกผักหวาน ผักหวานเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้ามาก ผู้ปลูกต้องรอประมาณ 2-3 ปี จึงจะมียอดอ่อนให้เก็บได้ และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการปลูกต่อไปนี้

1. ผักหวานชอบพื้นที่ที่มีแสงรำไร เป็นพื้นที่ที่มีแสงส่องไม่ตลอดทั้งวัน ชอบอยู่ใต้ร่มไม้อื่นที่ใหญ่กว่า ดังนั้นการปลูกผักหวาน ต้องเลียนแบบธรรมชาติจึงจะได้ผลดี โดยการปลูกแซมกับไม้ชนิดอื่นที่สามารถให้ร่มเงาได้ เช่น แค ทองหลาง กระถิน ซึ่งเป็นพืชวงศ์ถั่วที่ระบบรากสามารถให้ธาตุไนโตรเจนในดิน

2. ต้นพันธุ์ผักหวานที่เหมาะสมคือต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด ส่วนการตอนกิ่งจะออกรากได้ยาก ถึงแม้จะใช้ฮอร์โมนเร่งราก  การปลูกจากต้นกล้าจะทำให้ได้ต้นที่แตกกิ่งมากกว่าวิธีอื่น

3. การเพาะกล้า ทำได้โดยนำผลที่สุกจัดที่ร่วงจากต้นมาแกะเปลือกผลออกนำเมล็ดออกมา

วางเรียงลงแปลงเพาะที่เตรียมไว้ แล้วเกลี่ยดินให้คลุมเมล็ด หรือเพาะในภาชนะขนาดเล็ก ซึ่งวัสดุปลูกเป็นดินเก่าผสมแกลบดำ และขุยมะพร้าว เมื่องอกแล้วและมีใบ 3-4 ใบก็ย้ายลงปลูกในถุงเพาะขนาด 4×4 นิ้ว ดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยเม็ด เมื่อต้นกล้าสูง 20-30 ซม. ก็นำไปปลูก หรือนำไปจำหน่ายได้

4. วิธีปลูก  เลือกปลูกในที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ขุดหลุมกว้างและยาว 1 ฟุต ลึก 1 ฟุต ผสมดินปลูกที่มีมูลสัตว์เป็นส่วนผสมครึ่งหนึ่งลงไปให้เต็มหลุม แล้วนำต้นกล้าออกจากภาชนะเดิมลงปลูก โดยปักไม้หลักพยุงไว้กันล้ม โรยปุ๋ยเม็ดเล็กน้อย แล้วรดน้ำตามทันที

5. การปลูกพืชพี่เลี้ยงเป็นร่มเงาให้แก่ต้นผักหวาน ต้นแคเหมาะสมที่สุด เป็นพืชโตเร็วจะช่วยพลางแสงให้ผักหวานขณะยังเล็กไปจนโต และแคยังให้ยอดให้ดอกเป็นอาหารได้ ควรเตรียมต้นกล้าแคสูง 2- 3 ฟุตไว้ล่วงหน้า เมื่อปลูกผักหวานเสร็จแล้วก็ปลูกต้นแคประกบทั้งด้านซ้ายและขวาทันที ให้ห่างจากต้นผักหวานราว 50 ซม.

6. เมื่อต้นผักหวานโตจนสามารถเก็บยอดขายได้ก็ต้องตัดแต่งกิ่งก้านของต้นแค ไม่ให้เบียดกับทรงพุ่มของผักหวานจนไม่ได้รับแสงแดด

อ้างอิง

1. http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=1559

2. https://medthai.com

3. http://puechkaset.com

4. https://th.wikipedia.org/wiki

 

จิกนา ไม้ต้นปลูกง่ายหลายประโยชน์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

 

                    ความนำ จิกนา หรือ จิกน้ำ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อยาวห้อยลง ดอกสีแดงสด บานตอนกลางคืน เวลามีดอกจะทิ้งใบเหลือเพียงใบอ่อนเป็นสีแดง สวยงามน่าชมมาก และยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จิกนาได้รับความนิยมนำมาปลูกประดับสวนในบ้าน ในรีสอร์ท ในสวนสาธารณะ และสถานที่ต่างๆ ผู้พบเห็นต่างก็ชื่นชมอยากปลูกบ้าง เพราะจิกนาโตเร็ว  บำรุงรักษาง่าย ไม่มีศัตรูรบกวน แต่มีปัญหาที่หาซื้อต้นพันธุ์ได้ยากและราคาสูง ในตลาดต้นไม้มีขายจำนวนน้อย ขนาดต้นสูง 2 เมตร ในราคาต้นละกว่า2,000 บาท จึงขอแนะนำให้เพาะกล้าเอง ซึ่งงอกง่ายมาก

 

จิกนา

 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.

ชื่อวงศ์              LECYTHIDACEAE

ชื่ออื่น               จิกน้ำ จิกอินเดีย กระโดนทุ่ง กระโดนน้ำ กระโดนสร้อย

ชื่อสามัญ                      Indian Oak , Freshwater Mangrove

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

                    ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5-10 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาลถึงดำ ลำต้นเป็นปุ่มปม ปลายกิ่งลู่ลง ทรงพุ่มแน่นทึบ ใบเดี่ยว ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลถึงแดงเข้ม ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายยอด ใบรูปหอก หรือรูปไข่กลับ ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักถี่แบบฟันเลื่อย กว้าง 6-8 ซม. ยาว 10-15 ซม. ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด ห้อยลงเป็นระย้า ยาว 30-40 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบซึ่งติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น ปลายแยกเป็น 4 กลีบ หลุดร่วงง่าย เป็นสีแดง หรือ ชมพูเข้ม เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 ซม. เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีแดง จำนวนมาก ดอกบานพร้อมกันตอนกลางคืน โดยจะผลัดใบก่อนมีดอก จะทิ้งใบหมดหรือเกือบหมดทั้งต้น และแตกยอดอ่อนเป็นสีแดงจัดขึ้นมาทดแทน ผลเป็นรูปขอบขนาน สีเขียว ขนาดนิ้วก้อย กว้าง 1.5- 2.0 ซม. ยาว 3-5 ซม. มีสันเป็นเหลี่ยม 4 สัน ตามความยาวของผล เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมี 1 เมล็ดต่อผล

ฤดูออกดอก      ออกดอกช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน บางแห่งก็สามารถออกดอกได้ตลอดปี

การขยายพันธุ์   เพาะกล้าจากเมล็ด โดยนำผลแก่ที่ร่วงอยู่ใต้ต้นมาผึ่งลมให้แห้งสัก 5 วัน แล้วนำไปเพาะในภาชนะรวม รดน้ำทุกวัน เพียง 3-4 สัปดาห์ก็จะงอก เมื่อต้นกล้าสูง 12-15 ซม.จึงย้ายไปปลูกเป็นต้นเดียวในภาชนะที่ใหญ่ขึ้น เมื่อต้นกล้าสูง 50 ซม. จึงนำไปปลูกในสถานที่ที่ต้องการ

ประโยชน์

  1. ยอดอ่อน และ ดอกอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดและผักจิ้มกับ น้ำพริก ลาบน้ำตก แจ่ว ขนมจีน  และอาหารรสเผ็ดอื่นๆ มีรสชาติมันปนฝาด [2]
  2. เปลือกและต้นมีสรรพคุณใช้เบื่อปลา
  3. เนื้อไม้ใช้ทำไม้อัดทำเครื่องมือเกษตรและทำเครื่องเรือนได้
  4. เป็นสมุนไพรแก้ระดูขาวใบแก่ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง เมล็ดใช้ทำเป็นยาลมแก้อาการจุกเสียดและแก้ไอในเด็ก
  5. เนื่องจากจิกนาเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับที่ริมน้ำริมตลิ่ง หรือบริเวณอาคารบ้านเรือน รีสอร์ท สวนสาธารณะ และสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ร่มเงา และดูช่อดอกที่สวยงามแปลกตา จิกนามีความแข็งแรง ทนน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี

 

อ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki

https://medthai.com

http://www.tungsong.com

 

มะกอกฝรั่ง…ปลูกง่ายขายได้ทั้งปี

มะกอกฝรั่ง…ปลูกง่ายขายได้ทั้งปี

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


 

                    ความนำ มะกอกฝรั่ง เป็นมะกอกอีกชนิดหนึ่ง เป็นชนิดที่ผลโตที่สุดในบรรดามะกอกด้วยกัน นิยมกินเป็นผลไม้สด คือปอกเปลือกแล้วล้างเมือกออกให้หมด สับออกเป็นชิ้นแล้วจิ้มพริกเกลือกินเป็นของว่าง ติดผลตลอดปี จึงเห็นมีขายในรถเข็นขายผลไม้ทั่วไปตลอดทุกฤดู ผู้บริโภคทั่วไปมักเรียกชื่อผิดว่ามะกอกน้ำ ซึ่งเป็นมะกอกผลเล็กขนาดปลายนิ้วมือ จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อให้เกิดความกระจ่างด้วยภาพประกอบที่เห็นรายละเอียดอย่างชัดเจน  

มะกอกฝรั่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Spondias dulcis Parkinson

วงศ์มะม่วง ANACARDIACEAE

ชื่อสามัญ  Jew’s plum, Otatheite apple, Golden apple, Jew plum

ชื่ออื่น ๆ มะกอกหวาน  มะกอกดง  มะกอกเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นเขตร้อน  สูง 7-12 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง ผิวเรียบ ทรงพุ่มแผ่ออกกระจายแบบไม่มีรูปร่างแน่นอน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยออกตรงข้าม 6 – 8 คู่ ก้านใบยาว ใบหนา เรียบลื่น สีเขียว ใบย่อยเป็นรูปไข่ค่อนข้างเรียวแหลม ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามปลายยอด  เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศคล้ายช่อดอกมะม่วง ดอกย่อยขนาดเล็กมาก สีขาวอมเขียว กลีบดอก 5 กลีบ ฐานรองดอกเป็นสีเหลือง ผลสดเป็นรูปไข่หรือรูปกระสวย ออกเป็นพวง มียางเป็นจุดๆบนผิว ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวอมเหลือง สุกแล้วเป็นสีส้ม ขนาดกว้าง 4 – 5.5 ซม. ยาว 5.5 – 7.5 ซม.  มีเมือกหุ้มผลที่ปอกเปลือกแล้ว เนื้อในเป็นสีขาวอมเขียว  มีเส้นใยหยาบๆคล้ายหนามแทรกอยู่  รสเปรี้ยวอมหวานมันและกรอบอร่อย ภายในผลมีกะลาที่มีเส้นใยหยาบๆคล้ายหนามโดยรอบหุ้มอยู่ ภายในกะลามีเมล็ดระหว่าง 3-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมรี

ถิ่นกำเนิด ในทวีปเอเชีย

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด และการตอนกิ่ง

ประโชน์ของมะกอกฝรั่ง

1. ผลใช้รับประทานเป็นผลไม้ ใช้ปรุงอาหาร หรือคั้นน้ำจากผลมาทำเครื่องดื่มสมุนไพร ผลมีรสเปรี้ยวปนหวานมันและกรอบอร่อยมาก นิยมนำมาจิ้มกับพริกเกลือ โดยหาซื้อได้ง่ายในรถเข็นขายผลไม้ริมถนน หรือสับราดน้ำจิ้มรสเผ็ด อีกทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปทำน้ำผลได้ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ฯลฯ

2. เนื้อผลมีรสเปรี้ยวฝาด หวานชุ่มคอ เป็นยาช่วยบำบัดโรคธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด เป็นยาแก้ร้อนในอย่างแรง น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาหยอดหู แก้อาการปวดหูได้ดี

3. หลายชาตินำใบอ่อนมารับประทาน ประเทศฟิจิใช้ใบอ่อนมาทำแยม ในซามัวและตองกาใช้ทำอาหารพื้นเมือง ส่วนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย นำมาจิ้มกับกะปิ สับยำใส่เครื่องปรุงพื้นเมือง หรือใช้เป็นส่วนผสมในอาหารที่มีลักษณะคล้ายกับยำผลไม้หรือส้มตำผลไม้

หมายเหตุ  1. มะกอกฝรั่ง อยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะม่วง คือวงศ์ ANACARDIACEAE

2. มะกอกฝรั่งมี 2 ชนิด คือ มะกอกฝรั่ง และมะกอกฝรั่งแคระ  ในบทความนี้เราจะมะกอกฝรั่งเท่านั้น ส่วนมะกอกแคระ ก็มีลักษณะโดยรวมเหมือนมะกอกฝรั่ง เพียงแต่มีลำต้นแคระ  สูงได้เพียง1.00 – 1.50 เมตร ผลดก ขนาดของผลเล็กกว่ามะกอกฝรั่งเล็กน้อย นิยมปลูกไว้ในสวนในบริเวณบ้านไว้บริโภค

3. เมล็ดมะกอกฝรั่งจะมีกะลาที่มีเส้นใยหยาบๆคล้ายหนามโดยรอบหุ้มอยู่ ภายในมีเมล็ดระหว่าง 3-5 เมล็ด เมื่อนำไปเพาะกล้าจึงได้ต้นกล้ามากกว่า 1 ต้น ซึ่งอาจงอกไม่พร้อมกัน

4. ผลมะกอกฝรั่งที่สุกแล้ว เนื้อจะเหลว เมื่อนำมาบีบเนื้อออกให้หมด ล้างน้ำหลายครั้งให้สะอาด ผึ่งลมไว้ 1-2 วันแล้วจึงนำไปเพาะกล้า จะงอกได้ง่ายและได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์

5. มะกอกฝรั่งเป็นพืชที่ปลูกง่ายโตเร็ว ชอบที่ริมน้ำ ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี ปลูกเป็นอาชีพได้ หากมีโรคใบหงิกที่ยอดอ่อน ให้หักยอดส่วนนั้นออกไปเผาทำลาย หากระบาด ต้องตัดแต่งออกมาก รอให้แตกยอดใหม่

อ้างอิง 1. https://medthai.com

2. https://www.thai-thaifood.com

 

เทคนิคการสำรวจพรรณพืช (สื่อ Powerpoint) ใช้ประกอบการบรรยายให้นักเรียนโรงเรียนด่านช้างวิทยา อ.ด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

**เนื่องจากไฟล์สื่อมีขนาดใหญ่อาจใช้เวลาโหลดนานกว่าปกติ**

 

View Fullscreen

 

หงอนไก่ทะเล…พรรณไม้หลายคุณค่า

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

                    ความนำ ครั้งแรกที่เห็นผลของ“หงอนไก่ทะเล”เมื่อกว่าสิบปีมาแล้วที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้เห็นถึงความสวยงามของผลขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างแปลก ก็ได้นำมาเก็บสะสมไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ในสภาพเดิม ก็เลยย้อนกลับไปที่วัดเดิม ปรากฏว่าต้นนั้นไม่อยู่แล้ว เลยเสาะหาแหล่งอื่น พบ 3 ต้นที่สวนหลวง ร.9 และสวนธนบุรีรมย์ อีก 3 ต้น ทั้ง6 ต้นนี้ยังเล็กเพิ่งติดผลไม่มาก  ล่าสุดมาพบที่วัดวังชัยทรัพย์วิมลที่อำเภอบ้านแพ้วเช่นเดิม ต้นใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สูงกว่า10เมตร มีผลดกมาก เมื่อนำมาผลที่ร่วงตามพื้นดินใต้ต้นมาให้ที่ประชุมศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 19 แห่ง อาจารย์ทุกท่านก็ความสนใจกันเป็นอย่างมาก เพราะต่างก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ผู้เขียนเห็นควรเผยแพร่ให้รู้จักกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้มีการปลูกมากขึ้น เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านให้เนื้อไม้ในการก่อสร้าง ให้ร่มเงา ให้ความสวยงาม เป็นสมุนไพร และผลแห้งที่มีรูปร่างสวยงามยังสามารถนำไปประดิษฐ์เป็นของตกแต่งได้ด้วย

 

หงอนไก่ทะเล

 

ชื่อวิทยาศาสตร์              Heritiera littoralis Ait.

ชื่อวงศ์                          STERCULIACEAE

ชื่ออื่นๆ             ไข่ควาย (กระบี่)  ดุหุน (ตรัง)  หงอนไก่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น สูง  5–15 เมตร ทรงพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้น สีน้ำตาลเทา แตกสะเก็ดตามยาวเป็นร่องตื้นๆ เปลือกต้นชั้นในสีน้ำตาลอมชมพู ระบบรากตื้นจึงพบว่ารากจะเจริญเติบโตบนผิวดิน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ถึงรูปขอบขนาน กว้าง 5–10 ซม. ยาว 10–22 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบกลมมน สอบแคบ หรือเบี้ยวเล็กน้อย ผิวใบเกลี้ยง หลังใบสีเข้ม ท้องใบมีไขสีขาว ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบ 7–15 คู่ ปลายเส้นแขนงใบเชื่อมประสานกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 1–2 ซม. ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกรูประฆัง สีเหลือง ผลกลมรี มีครีบเป็นสันด้านบน ผิวเกลี้ยงเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีน้ำตาลแก่ ขนาดกว้างประมาณ 4 ซม. ยาว 5- 6 ซม. เปลือกด้านในเป็นเส้นใย เป็นผลแห้งชนิดไม่แตก เปลือกผลจะแตกอ้าออกเมื่อเมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าเมล็ดค่อนข้างกลม 1 เมล็ดต่อผล

 

การขยายพันธุ์               เพาะกล้าด้วยผลแห้ง จะงอกภายใน 2-3 เดือน

การปลูกและบำรุงรักษา  ปลูกด้วยต้นกล้าที่สูงราว 50 ซม. ช่วงต้นฤดูฝน ในทำเลที่เป็นที่ดอนใกล้แหล่งน้ำหรือริมน้ำที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ บำรุงรักษาเหมือนไม้ต้นทั่วไป

การใช้ประโยชน์

  1. เนื้อไม้สีขาว แข็งแรงทนทาน ใช้ทำเสา ทำชิ้นส่วนต่อเรือ และอุปกรณ์ในการก่อสร้างต่างๆ
  2. เมล็ดมีแทนนิน ปรุงเป็นยาแก้ท้องเสียและบิด
  3. เปลือก ใช้ต้มน้ำอมบ้วนปากแก้รำมะนาด ปากอักเสบ
  4. กิ่งอ่อน มีสารเทนนิน ใช้ถูฟันรักษาเหงือก
  5. ใบสวย ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงาได้ดี
  6. ผลแห้ง นำมาประดับตกแต่ง หรือประดิดประดอยเป็นรูปร่างต่างๆได้สวยงาม

 

อ้างอิง

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ. วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.

http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9484

http://www.doa.go.th/hrc/chumphon (ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร)

http://www.thaikasetsart.com

 

 

ลำไยเถา พรรณไม้ที่ต้องอนุรักษ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

 

                    ความนำ ผู้เขียนรู้จักลำไยเถาตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะเจ้าของเขาเก็บผลมาขายในตลาดเช้าทั้งๆที่ไม่ใช่ฤดูลำไย เลยขอตามไปดูต้นที่บ้านเขา ก็แปลกใจที่ทำไมมันเลื้อยแบบต้นเฟื่องฟ้า หลังจากนั้นก็ไม่เห็นอีกเลย  เมื่อปีก่อนโชคดีได้พบลำไยเถาคลุมอยู่บนส่วนหนึ่งของหลังคาบ้านของเพื่อนบ้านที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เลยได้ภาพถ่ายมาและขอผลแก่เพื่อเอาเมล็ดมาเพาะกล้าแจกคนที่สนใจ และนำภาพมาเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค ก็ได้รับความสนใจกันมากเพราะต่างก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าลำไยแบบนี้ก็มีด้วย ดีใจที่มีคนสนใจอยากปลูกบ้าง จะได้เป็นการอนุรักษ์พรรณไม้เก่าแก่ที่เป็นพันธุกรรมที่แตกต่าง เมื่อมีโอกาสไปที่ต้นเดิมอีก ปรากฏว่าถูกตัดทอนลงมาเกือบหมดทั้งต้น เขาให้เหตุผลว่า หลังคาบ้านจะรับน้ำหนักไม่ได้ อีกเหตุผลหนึ่งคือแม้จะออกผลตลอดปีและดกมาก แต่รสชาติสู้ลำไยทั่วไปไม่ได้ ซื้อกินอร่อยกว่า มองในแง่นักอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะนี่เป็นหนึ่งในความหลากหลายทางชีภาพที่อาจจะสูญหายไปในไม่ช้า

                    ลำไยเถาหรือที่ชาวบ้านทางอีสานเรียกว่า”ลำไยเครือ”นั้นเป็นไม้ต้นรอเลื้อย ลำต้นยืดยาวกิ่งก้านห้อยลง สามารถพันหรือปีนป่ายรั้วหรือหลักได้ ออกดอกติดผลตลอดปี เปลือกผลเป็นสีเขียวอมชมพู ขนาดผลใกล้เคียงกับลำไยทั่วไป แต่เมล็ดโตกว่าลำไยทั่วไป เนื้อหุ้มเมล็ดบาง ฉ่ำน้ำ เนื้อค่อนข้างเหลว  มีเนื้อน้อย รสชาติหวานแต่มีกลิ่นคล้ายกำมะถัน ซึ่งบางคนที่เพิ่งเคยกินก็จะบอกว่ามีกลิ่นคาวเล็กน้อย จึงนิยมปลูกไว้ประดับและให้ร่มเงามากกว่าปลูกไว้รับประทาน ลำไยเถาชอบขึ้นในที่ดอน และต้องการแสงแดดเต็มที่

                    ลำไยและลำไยเถา อยู่ในวงศ์เดียวกันคือ SAPINDACEAE สปีชี่ส์เดียวกัน ต่างกันที่วาไรตี้ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นลำต้นของลำไยเถาจะอ่อนไหว โอนเอนไม่ตั้งตรง กิ่งก้านส่วนใหญ่จะห้อยลง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวเหมือนกัน แต่ใบย่อยมีขนาดเล็กกว่า เปลือกผลเมื่อแก่จัดจะมีสีชมพูเหลือบอยู่บนผิวผลอย่างชัดเจน

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ ของลำไย            Dimocarpus longan Lour.

ชื่อวิทยาศาสตร์                       Dimocarpus  longan var.  obtusus Leenh.

 

ลำไยเถา

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Dimocarpus  longan var.  obtusus Leenh.

ชื่อวงศ์                         SAPINDACEAE

ชื่อสามัญ                      Longan

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

                    เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล ทรงพุ่มแน่นทึบ ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน กิ่งก้านที่แตกมาใหม่จะชูขึ้น ถ้าไม่มีที่เกาะเกี่ยวก็จะงอและห้อยลง   ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคู่ ใบย่อยมี 3-5 คู่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบย่อยกว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-6 ซม. รูปร่างใบเป็นรูปรีหรือรูปหอก ส่วนปลายใบและฐานใบค่อนข้างป้าน ใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม กว่าด้านล่าง ผิวด้านบนเรียบ ส่วนผิวด้านล่างสากเล็กน้อย ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ตัวใบมักม้วนลงไปทางหลังใบตามยาวของตัวใบ ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด และอาจเกิดจากตาข้าง ช่อดอกยาวประมาณ 20-30 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาวหรือขาวอมเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 6-8 มม. ผลลำไยเถามีรูปทรงกลมหรือทรงเบี้ยวเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางผล 2.5 -3.5 ซม.  ผลแก่มีสีเขียวปนน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมชมพู ผิวเปลือกบาง เรียบ มีตุ่มเล็กๆ ปกคลุมที่ผิวเปลือกด้านนอก เนื้อบาง ฉ่ำน้ำ รสหวาน เมล็ดมีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลางเมล็ด 1.5 – 2.0 ซม.  ผิวมัน สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ  ส่วนของเมล็ดที่ติดกับขั้วผล มีลักษณะเป็นวงกลมสีขาว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แทงออกมาของต้นกล้า

การขายพันธุ์      เพาะกล้าจากเมล็ด หรือตอนกิ่ง

ประโยชน์ของลำไย

  1. ผลลำไย ใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ ที่ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินบี 12 โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ทองแดง เหล็ก เป็นต้น
  2. น้ำลำไยช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
  3. ทำเป็นอาหารได้ เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ลำไยลอยแก้ว วุ้นลำไย
  4. ลำไยอบแห้งมีส่วนช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวได้ดีกว่าการใช้สารเคมี
  5. ผลลำไยนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น การบรรจุกระป๋อง ลำไยอบแห้ง น้ำลำไยพร้อมดื่ม เป็นต้น
  6. เนื้อไม้สีแดงของต้นลำไยมักนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
  7. ด้านสรรพคุณ ลำไยใช้เป็นยารักษาโรคได้ เช่น เป็นยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคมาลาเรีย บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เมล็ดลำไยมีสารบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นงานวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ผลิตออกมาเป็นหลอดในรูปของครีมนวด ได้รับความนิยมมากอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

        

อ้างอิง
http://coursewares.mju.ac.th: แม่โจ้

https://dimocarpuslongan.wordpress.com

http://pirun.kps.ku.ac.th/~b5620104923/a2.html

https://www.thairath.co.th/content/984403

สาละลังกา ไม้ดอกสวยที่มักสับสน

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ พรรณไม้ชื่อ “สาละ” มี 2 ชนิด คือ สาละลังกา และ สาละอินเดีย ทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังเกิดความสับสน และเข้าใจผิดถึงความสำคัญมาเนิ่นนานยากที่จะแก้ไข เพราะเป็นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์และโชคลาภ สาละลังกาเป็นไม้ดอกสวยมาก มีลักษณะรูปร่างของดอกที่พิสดาร หาดอกไม้อื่นมาเทียบได้ยาก อีกทั้งผลขนาดใหญ่เท่าตะกร้อก็ดูโดดเด่น ผู้คนเกือบทั้งหมดเชื่อว่าสาละลังกาเป็นพรรณไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ  พระคุณเจ้าเกือบทุกวัดก็มีความเชื่อเช่นนั้น จึงมีการปลูกสาละลังกาไว้เกือบทุกวัด บางวัดก็ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกราบไหว้เพื่อขอพร ทั้งที่ความจริงแล้วนั้น ควรจะกราบไหว้ต้น“สาละอินเดีย” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติโดยตรง ด้วยเป็นต้นไม้วงศ์เดียวกันกับยางนา จึงเห็นแต่ใบทั้งปี ผู้คนจึงไม่ค่อยรู้จัก โอกาสต่อไปจะนำ“สาละอินเดีย”มาให้รู้จักกัน   

 

สาละลังกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Couroupita guianensis Aubl.

ชื่อวงศ์  LECYTHIDACEAE

ชื่อสามัญ Cannon-ball tree

ชื่ออื่น ลูกปืนใหญ่

ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบหมดทั้งต้นในฤดูหนาว  เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว  หนา ขนาดใหญ่ เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ขอบใบจักตื้น  กว้าง 5-8 ซม. ยาว 12-25 ซม.  ดอกสีชมพูอมเหลืองหรือแดง หรือม่วงหรือเหลือบทั้งสามสี  ด้านในสีม่วงอ่อนอมชมพู   มีกลิ่นหอมมาก   ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่ตามลำต้นแม้กระทั่งโคนต้น   ช่อดอกยาว 30-150 ซม.   ปลายช่อโน้มลง   ออกดอกตลอดปี กลีบดอกหนา  6 กลีบ ทุกกลีบมีขนาดเท่ากัน  กลางดอกนูน ก้านชูเกสรเพศผู้ปรับเป็นแผ่นใหญ่สีขาวขนาดเท่ากลีบดอกและพับครึ่งลงมา ทำให้รูปร่างแปลกไปจากดอกไม้อื่น มีสีขนสั้นสีเหลืองคล้ายแปรงที่ปลาย  เกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวสีชมพูแกมเหลืองจำนวนมาก ดอกทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ นานเป็นเดือน ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-10 ซม. ผลทรงกลมใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 ซม. เปลือกเเข็ง สีน้ำตาลปนแดง ผลสุกมีกลิ่นเหม็นเอียน มีเมล็ดรูปไข่จำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อที่เหนียวข้น

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด

ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการ วัด สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เพราะมีดอกขนาดใหญ่ สวยงาม มีกลิ่นหอม ผลกลมโตคล้ายลูกปืนใหญ่และดกมากก็เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้คนที่พบเห็น

หมายเหตุ สาละลังกาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด เนื่องจากสาละลังกามีดอกและผลตลอดปี ออกเป็นงวงยาวตามลำต้นตั้งแต่โคนขึ้นไป ซึ่งผลของของลูกปืนใหญ่มีเปลือกแข็งขนาดส้มโอ หรือตะกร้อ  ซึ่งไม่เหมาะแก่การนั่งพักหรือทำกิจใดๆได้ หากผลร่วงใส่ร่างกายก็อาจทำให้บาดเจ็บได้

อ้างอิง 1. http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/index.php/linkoldfragrant-2/338-couroupita

2.https://sites.google.com/site/councilcoving1/laksna-thang- phvkssastr/sala-langka

3. https://th.wikipedia.org/wiki

 

จิกสวน…ดอกสวยยอดอ่อนกินอร่อย

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ พรรณไม้ในวงศ์จิก หรือ FAMILY LECYTHIDACEAE มีชื่อคำว่า“จิก”นำหน้าหลายชื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นพรรณไม้ดอกสวยมีกลิ่นหอม และดอกบานกลางคืน เช่น จิกทะเล จิกนา จิกนมยาน จิกนา จิกเศรษฐี และจิกสวน เป็นต้น ผู้พบเห็นจิกเหล่านี้ก็จะสับสนว่า ต้นที่พบเป็นจิกชนิดใด บทความนี้ขอเขียนถึง “จิกสวน” ก่อน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เนื่องจากจิกสวนที่ผู้เขียนปลูกไว้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามากว่า10ปีนั้นกำลังออกดอกส่งกลิ่นหอม ดอกที่ร่วงอยู่ตามพื้นใต้โคนต้นก็ยังสวยสะดุดตา  ผู้พบเห็นก็จะสงสัยว่าต้นอะไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ผลคล้ายแอปเปิลนั้นกินได้หรือไม่ บทความนี้จะให้ความกระจ่างพร้อมภาพประกอบ

 

จิกสวน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Barringtonia racemosa (L.) Spreng

ชื่อวงศ์ LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[

ชื่อสามัญ  Powderpuff tree,  Bottle brush oak

ชื่ออื่น จิกน้ำ จิกบ้าน  

ถิ่นกำเนิด ไทย และกระจายพันธุ์ไปถึงอินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ตอนใต้ของแอฟริกา จนถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากผลมีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ดี ทำให้กระจายพันธุ์ไปได้แพร่หลายและรวดเร็ว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนเทา มีลักษณะขรุขระ เปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีชมพู มีเส้นใยเหนียว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเรียงเวียนรอบกิ่ง เป็นกระจุกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลีบแกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบหยักตื้นมนและละเอียด หรือเป็นจักฟันเลื่อยเล็กน้อย  กว้าง 10-15 ซม. ยาว 20-30 ซม. ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง มันวาว  แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว เนื้อใบหนา  หยาบ ก้านใบสั้นและเป็นครีบเล็กน้อย ดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอดและห้อยลง  ช่อดอกมีความยาวประมาณ 30-90 ซม. ก้านช่อดอกเป็นสีชมพูอมเขียว ดอกทยอยบานตั้งแต่โคนช่อดอกลงไปวันละ 5-10 ดอก หลายวันจนกว่าจะบานหมดทั้งช่อ กลีบดอกสีชมพู 4 กลีบ ปลายกลีบแหลม กว้าง 0.5-1.0 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 2-4 กลีบ ติดกันเป็นแผ่นเดียว เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีชมพูเข้มจำนวนมาก ยาว 2.5-4 ซม. โคนเกสรเชื่อมติดกัน โคนก้านเป็นสีชมพูเข้มกว่าส่วนบน เรียงเป็นชั้น 5-6 ชั้น ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน มีกลิ่นหอม บานกลางคืน และร่วงโรยตอนเช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ผลเป็นรูปลูกข่าง หัวป้านปลายตัดตรงจนแหลม โคนแคบเกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบเลี้ยงติดที่ขั้วผลจนผลแก่ ผลกว้าง 4-6 ซม. ยาว 5-7 ซม. มีเมล็ดเดียว รูปไข่ ผิวเป็นร่อง

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด และ การตอนกิ่ง

สภาพนิเวศน์ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดรำไรถึงแสงแดดจัด ชอบน้ำมาก ขึ้นได้ดีตามริมน้ำ ขอบป่าพรุ หรือในที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ หรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เช่น ตามริมฝั่งแม่น้ำ คูคลอง ร่องสวน เป็นต้น

ประโยชน์ 1. ใบอ่อนของต้นจิกสวน นำมาใช้รับประทานเป็นผักสดกับอาหารรสจัดพวกลาบ น้ำพริก และอาหารภาคใต้  มีรสชาติดีเฉพาะตัว ค่อนข้างฝาดแต่มัน นิยมรับประทานกันไม่เฉพาะในคนไทยเท่านั้น แต่คนชาติอื่น ๆ ก็นิยมรับประทานเช่นกัน

2. ดอกของต้นจิกมีความสวยงาม มีกลิ่นหอม อีกทั้ง ใบ ผล และทรงพุ่มก็สวยงาม จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งในบ้าน ในวัด สวนสาธารณะ และสถานที่อื่นๆอีกมาก

3. เนื้อไม้จิกสวนเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีขาวแกมสีแดง มีความเหนียว สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างในร่มได้ดี หรือนำมาใช้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ ครก สาก เครื่องเรือน ทำเรือ ทำพาย ทำเกวียน เป็นต้น

4. ผลแห้งของจิสวน นำมาตกแต่ง หรือประดิษฐ์เป็นของประดับได้สวยงาม

หมายเหตุ ต้นจิกสวน เป็นต้นไม้ในพระพุทธประวัติ  ในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงย้ายไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก 7 วัน และในระหว่างนั้นเองก็ได้มีฝนตกพรำและมีลมหนาวพัดตลอดเวลา ก็ได้มีพญานาคตนหนึ่งชื่อพระยามุจลินท์นาคราช ได้แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนและลมหนาวตลอดทั้ง 7 วันใต้ต้นจิก นี่คือมูลเหตุของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง 1. http://book.baanlaesuan.com/plant-library/wild-guava/

2. https://medthai.com

3. https://th.wikipedia.org/wiki

 

ม่อนไข่…ผลไม้หลายชื่อ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ “ม่อนไข่” มีอีกชื่อที่นิยมเรียกกันคือ “เซียนท้อ” และมีอีกหลายชื่อ เป็นไม้ผลที่มีผลสวย ใบสวย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับมากกว่าที่จะปลูกไว้รับประทานผล บางบ้านก็เก็บมาวางขายหน้าบ้านดีกว่าปล่อยให้ร่วงทิ้ง บางจังหวัดก็มีวางขายในตลาดตลอดปี เช่น ตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ มีหลายร้าน ร้านละกว่าสิบกิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท ผู้ขายต้องติดชื่อไว้ จะได้ไม่ต้องตอบคำถามตลอดทั้งวัน เคยเห็นผู้คนรุมล้อมดู“ม่อนไข่”ผลไม้แปลกในตลาดนัดที่อัมพวา เพราะเป็นผลไม้ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเขียนบทความนี้มาเผยแพร่ให้รู้จัก“ม่อนไข่”กันกว้างขวางยิ่งขึ้น 

 

ม่อนไข่

ชื่อวิทยาศาสตร์  Pouteria campechiana (Kunth) Baehni

ชื่อวงศ์ SAPOTACEAE

ชื่อสามัญ  Canistel, Egg fruit, Tiesa, Yellow sapote, Chesa, Laulu lavulu

ชื่ออื่น เซียนท้อ ลูกท้อ ท้อไข่ ท้อเขมร  ทิสซา ท้อเทวดา ละมุดเขมร ละมุดสวรรค์ 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้มากกว่า 8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของต้น 30-50 ซม. กิ่งก้านและลำต้นมียางสีขาว ลำต้นค่อนข้างตรง และแตกแขนงสาขาที่ความสูงประมาณ 1 เมตรเหนือระดับดิน   กิ่งอ่อนเป็นสีน้ำตาล ทรงพุ่มโปร่งกว้าง กว้าง 7-8 เมตร ใบเดี่ยว สีเขียวเข้มเป็นมันและบางเรียงสลับ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง  ใบรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม กว้าง 7-9 ซม. ยาว 15-28 ซม. ก้านใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน ดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อสั้นๆจำนวนมากตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ 2-3 ดอก  กลีบดอกเล็ก ปลายแหลมสีขาวนวล จำนวน 24 กลีบ เรียงซ้อนกันสองชั้น มีกลิ่นหอม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1–1.5 ซม. ผลเดี่ยว ทรงกลมรี ปลายผลแหลมหรือมีจะงอย กว้าง 6-8 ซม. ยาว 8-11 ซม. โคนผลกว้างมนและสอบแคบลงมาที่ก้นผลคล้ายลูกข่าง สีเขียวเรียบเนียน เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม  เปลือกผลบาง ขั้วผลใหญ่แต่สั้น เนื้อในผลเป็นสีเหลืองสด ลักษณะร่วนคล้ายไข่แดงต้ม รสหวาน มีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 ถึง 2 เมล็ด  รูปรีสีน้ำตาล เพาะกล้าได้ง่าย

ถิ่นกำเนิด มีถิ่นกำเนิดในประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น เม็กซิโก เบลีซ กัวเตมาลา คอสตาริกาเอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส ปานามา นิการากัว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด จะงอกภายใน 1 เดือน

ประโยชน์ 1. ผลม่อนไข่ รับประทานเป็นผลไม้สด มีรสหวาน หอม ชาวฟลอริดานิยมรับประทานร่วมกับเกลือ พริกไทย มายองเนส หรือน้ำมะนาว

2. นำผลมาทำเป็นขนมได้ เช่น แพนเค้ก แยม คัสตาร์ด ทาร์ต 

3. ผลสุกอบให้สุก แล้วนำมาผสมกับนมหรือโยเกิร์ต

4. ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะผลสวย ใบสวย และให้ร่มเงาได้ดีเนื่องจากไม่มีการผลัดใบ

5.เนื้อไม้มีความละเอียดและแข็ง สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้กระดานหรือใช้ในงานก่อสร้างได้

หมายเหตุ ม่อนไข่เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับ ละมุด ละมุดสีดา พิกุล จึงมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะส่วนของดอก ที่นอกจากจะคล้ายกันแล้วยังมีกลิ่นหอมเหมือนกัน

1. https://medthai.com

2. https://th.wikipedia.org/wiki

เกาลัดไทย ไม้ผลสีสวยเมล็ดกินได้

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ “เกาลัดไทย” ไม้ประดับผลสวย แต่เมล็ดกินได้ นิยมปลูกประดับในสวนมาระยะหนึ่ง นอกจากใบขนาดใหญ่ จะสวยงามด้วยความหนาและมันวาวแล้ว เมื่อออกดอกสีชมพูเป็นช่อใหญ่ก็สวย แล้วเมื่อติดผลก็ยิ่งสวยด้วยสีส้มแดงเป็นพวงหลายขนาด ผู้คนที่พบเห็นก็สงสัยว่าไม้ต้นนี้ชื่ออะไร มาจากไหน ทำไมถึงชื่อว่า “เกาลัดไทย” กินได้หรือไม่ ปลูกอย่างไร คำถามเหล่านี้จะนำมาเฉลยโดยละเอียดพร้อมภาพประกอบที่ถ่ายมาจากต้นจริง

            “เกาลัดไทย” ไม่ได้เป็นไม้ไทย แต่ที่ได้ชื่อว่าเกาลัดไทยทั้งที่มาจากจีน ก็เป็นเพราะคำว่า เกาลัด หรือ เกาลัดจีน ที่คั่วขายที่เยาวราช ก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว บางแห่งก็เลยเรียกเกาลัดไทยว่า “เกาลัดเทียม” เพราะไม้ต้นนี้ไม่ใช่พวกเกาลัด(เกาลัค) อยู่คนละวงศ์กับเกาลัดที่คั่วขายกันในราคาแพง

            “เกาลัดไทย”เป็นพืชถิ่นเดิมของจีนตอนใต้ บริเวณกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ไต้หวัน แล้วแพร่กระจายไปยังอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย ผลเป็นผลแห้งแล้ว เปลือกเหนียวเหมือนหนังมีสีส้มหรือสีแดงหุ้มเมล็ดสีดำไว้ข้างใน เมื่อแก่จัดผลจะแตกด้านหนึ่งทำให้เห็นความสวยงามของเมล็ดสีดำตัดกับสีแดงของเปลือกผล เนื้อในเมล็ดสีเหลือง ต้มสุกแล้วเนื้อในเมล็ดจะเป็นสีเหลืองสด เมื่อนำเมล็ดไปต้มหรือคั่วให้สุกก็รับประทานได้ เนื้อไม้นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เนื้อไม้มีเรซินมาก นำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้

 

เกาลัดไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia monosperma Vent

ชื่อวงศ์ STERCULIACEAE

ชื่อสามัญ Chestnut

ชื่ออื่น เกาลัด เกาลัดเทียม เกาลัดเมือง บ่าเกาลัด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง 4-20 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอ่อน เรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กตามยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ มักกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-15 ซม. ยาว 10-30 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบหนา มัน และเรียบหรือย่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 2-10 ซม.

ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง แบบแยกแขนง แตกแขนงย่อยจำนวนมาก ยาวได้ถึง 35 ซม. ดอกย่อยเล็ก สีชมพูอมเขียว กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายแผ่ออกเป็นรูปกรวย แยกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกโค้งงุ้มและติดกันบริเวณปลายกลีบ ไม่มีกลีบดอก ผลแห้งแล้วแตก รูปกระสวย เปลือกผลหนาสีส้มถึงแดงเข้ม เมื่อแก่จะปริแยกออกจากกันด้านหนึ่ง เมล็ด 1-3 เมล็ด ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลแดงถึงดำ เนื้อในสีขาวหรือเหลืองอ่อน กินได้เมื่อทำให้สุกด้วยการต้มหรือคั่ว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด งอกได้ง่ายมากเนื่องจากไม่มีระยะพักตัว

ประโยชน์ 1. ปลูกเป็นไม้ประดับ ด้วยความสวยของ ใบ ดอก ผล เมล็ด และทรงพุ่ม

2. นำเมล็ดไปต้มหรือคั่วให้สุกต้มรับประทานเป็นของขบเคี้ยวแบบเกาลัดจีน

3. เนื้อไม้นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้

การปลูกและบำรุงรักษา ต้องการแดดจัดจะให้ความเจริญเติบโตเต็มที่ หากได้แสงแดงน้อยหรือร่มรำไรจะเจริญเติบโตช้า ชอบพื้นที่ดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก อินทรียวัตถุมาก น้ำและอากาศถ่ายเทสะดวก ความชื้นสูง แต่ไม่มีน้ำขัง ใส่อินทรียวัตถุสลับกับปุ๋ยเคมี ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต ตัดแต่งกิ่งที่เกะกะออกนอกทิศทางให้ได้ทรงพุ่มที่สวยงามหลังฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่หมดผลในฤดูฝนแล้ว

อ้างอิง

1. https://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID

2. https://www.facebook.com/241731832551450/photos/pcb.

3. https://portkd.wordpress.com

4. https://th.wikipedia.org/wiki