ชะมวง  เป็นทั้งผักและสมุนไพรหลายสรรพคุณ

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ คนทั่วไปส่วนใหญ่รู้จัก“ชะมวง”เฉพาะชื่อเท่านั้น แต่ไม่เคยเห็นต้นชะมวง เพราะใบชะมวงเป็นส่วนผสมของอาหารที่มีชื่อเสียงโด่งดังชื่อ“แกงหมูชะมวง”ของจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนั่นเอง อาหารชนิดนี้ได้รับความนิยมด้วยรสชาติที่กลมกล่อม มีทั้งรสเปรี้ยวรสหวานมันเค็มในชามเดียวกัน ทำให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ “ชะมวง”ก็ได้รับการกล่าวขานถึงมากขึ้นด้วย เนื่องจากชะมวงเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบอากาศร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนตลอดปีสูง จึงเจริญเติบโตได้ดีในจังหวัดทางภาคตะวันออกและจังหวัดทางภาคใต้ เช่นเดียวกันกับมังคุดซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน โอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะเห็นต้นชะมวงจึงมีน้อย และด้วยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชะมวงเป็นพืชที่มีดอกแยกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้น ทำให้โอกาสที่จะติดผลเพื่อแพร่พันธุ์ยากขึ้น    เกษตรกรผู้ปลูกจึงต้องปลูกชะมวงจำนวนหลายต้นเพื่อให้มีโอกาสได้ต้นที่มีเพศเมียและต้นที่มีเพศผู้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ติดผลสำหรับขยายพันธุ์ บทความนี้จะแนะนำให้รู้จักต้นชะมวงและส่วนประกอบต่างๆของต้นชะมวง พร้อมภาพประกอบที่ไปถ่ายมาจากแหล่งปลูกที่จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังบอกประโยชน์และสรรพคุณทางสมุนไพรโดยสรุปให้เข้าใจได้ง่าย

ชะมวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa Roxb. ex Choisy
ชื่อวงศ์ GUTTTIFERACEAE หรือ CLUSIACEAE
ชื่อสามัญ Cowa
ชื่ออื่น หมากโมง (อุดรธานี), กะมวง (ใต้), ส้มมวง (นครศรีธรรมราช) ส้มโมง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ต้นไม่พลัดใบ ลำต้นสูง 15-20 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา เมื่ออายุมากเปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด มียางสีเหลือง ต้นแตกกิ่งในระดับต่ำ ใต้เปลือกเป็นสีแดงหรือออกชมพูเข้มมีน้ำยางสีเหลือง ใบเดี่ยว แตกใบมากบริเวณปลายกิ่ง ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นมุมฉาก ใบรูปรี ค่อนข้างหนา แต่กรอบ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 8-13 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบเรียบ เป็นมัน ขอบใบเรียบ มองเห็นเส้นใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้มตามอายุใบ ใบมีรสเปรี้ยว ดอกเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ และกิ่ง ดอกมีสีเหลืองนวล ด้านในดอกมีสีชมพูหรือม่วงแดง กลีบดอกมี 4 กลีบ ค่อนข้างแข็ง ขนาดกลีบเท่ากับกลีบเลี้ยง ดอกบานมีกลิ่นหอม ดอกเพศผู้ และตัวเพศเมียแยกต้นกัน ดอกเพศผู้มักออกตามซอกใบและกิ่งกลุ่มละ 3-8 ดอก ส่วนดอกเพศเมียออกบริเวณปลายยอดกลุ่มละ 2-5 ดอก ติดดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลสด มีลักษณะกลม เบี้ยวเล็กน้อย ผิวผลเรียบเป็นมัน ด้านบนผลบุ๋มลง และมีกลีบเลี้ยง 4-8 แฉกติดอยู่ที่ขั้วผล ผลมีร่องเป็นพูตื้นๆจากขั้วผลลงไปที่ก้นผล 5-8 ร่อง ขนาดผล 2.5-5.0 ซม. ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่เมื่อสุกมีสีเหลือง เมื่อสุกจัดมีสีเหลืองออกส้ม เปลือกผลมียางสีเหลือง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อผลดิบมีรสฝาดอมเปรี้ยว เมื่อสุกออกเปรี้ยวมากกว่า เมล็ดแบนรี 4-6 เมล็ดต่อผล

แหล่งกระจายพันธุ์   ในป่าดิบชื้นตามที่ลุ่มต่ำทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด เก็บผลสุกที่ร่วงลงมาจากต้น นำมาแกะเปลือก แยกเอาเมล็ดมาตากแห้ง 5-7 วัน แล้วนั้นจึงนำไปเพาะในถุงเพาะชำ โดยใช้เนื้อดินผสมกับแกลบดำและขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1

ประโยชน์

  1. ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้นำมาปรุงอาหารประเภทต้มยำ แกงส้ม หมูชะมวง ต้มเนื้อเปื่อย แกงอ่อม และแกงที่ต้องการรสเปรี้ยว เมื่อถูกความร้อนใบจะกรอบนุ่ม
  2. ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อน ใช้รับประทานสดกับลาบ แหนมเนือง หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก
  3. ผลแก่มีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้
  4. เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง สร้างบ้านเรือน และทำเป็นเฟอร์นิเจอร์
  5. เนื้อไม้ และกิ่ง ใช้เป็นฝืนหุงหาอาหาร
  6. ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้ร่มเงา
  7. เปลือกต้นและยางให้สีเหลืองที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
  8. น้ำยางสีเหลืองจากต้นชะมวง นำมาใช้ผสมในน้ำมันชักเงาได้

สรรพคุณของชะมวง

  1. ผลอ่อนช่วยฟอกโลหิต ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ
  2. ผล ใบ ดอก ช่วยรักษาธาตุพิการ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการไอ
  3. ราก ใบ และผลอ่อนมีรสเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน
  4. รากช่วยถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
  5. ผลอ่อน ใบ ดอกใช้เป็นยาระบายท้อง
  6. ดอกช่วยในการย่อยอาหาร
  7. ใบช่วยขับโลหิตระดูของสตรี ช่วยแก้ดีพิการ
  8. แก่นใช้ฝนหรือแช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเหน็บชา
  9. สาร“ชะมวงโอน”(Chamuangone)มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้ดี ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินอาหาร  ช่วยยับยั้งเชื้อโพรโทซัว

อ้างอิง

https://medthai.com
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=219
http://puechkaset.com/%E0%
https://th.wikipedia.org/wiki
https://www.samunpri.com/%