กุ่มน้ำ พรรณไม้ดอกสวยดองกินได้

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ          เหตุผลที่นำเรื่อง“กุ่มน้ำ”มาเขียน มี 3 ประการ ประการแรกคือได้รับคำถามหลายครั้ง ทั้งที่อยู่ต่อหน้าต้นพืช ทั้งที่ส่งรูปมา รวมทั้งที่เด็ดส่วนของพืชมาให้ดู ประการที่สองคือ ต้นไม้ต้นนี้ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง กินได้ไหม เป็นพิษไหม ประการที่สามคือ ผู้เขียนเคยเห็นผักกุ่มดองในตลาดสดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อหลายปีมาแล้ว ต้องถามคุณยายที่เป็นแม่ค้าว่าคืออะไร จึงได้รู้จัก หลังจากนั้นก็แวะเวียนไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่พบอีก ทราบภายหลังคุณยายไม่อยู่แล้ว ไม่มีใครดองผักกุ่มมาขายอีกแล้ว ใครอยากกินต้องดองเอง  จากเหตุผลเหล่านี้ เลยนำมาเขียนเป็นคำตอบทั้งหมด รวมทั้งให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกุ่มน้ำมาไว้ในบทความนี้

กุ่มน้ำ มีพืชในวงศ์เดียวกันที่ลักษณะใกล้เคียงกันมาก คือ“กุ่มบก” หากได้เห็นแบบผิวเผินจะเข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่หากได้พิจารณาโดยใกล้ชิดจะเห็นความแตกต่าง   กุ่มน้ำมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crateva religiosa G.Forst.  ส่วนกุ่มบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Crateva adansonii  DC. จุดสังเกตที่เห็นได้ง่ายๆคือส่วนของใบ ปลายใบของกุ่มน้ำจะแหลม ปลายใบของกุ่มบกจะมน เนื้อใบของกุ่มน้ำจะบางกว่ากุ่มบก ส่วนอื่นที่เหลือจะคล้ายกันมาก จะนำเรื่องกุ่มบกมาให้รู้จักในโอกาสต่อไป

 

กุ่มน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์           Crateva religiosa G.Forst.

ชื่อวงศ์                     CAPPARIDACEAE

ชื่อสามัญ                  Crataeva

ชื่ออื่น                      ก่าม ผักก่าม ผักกุ่ม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์     ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบหมดทั้งต้นเมื่อออกดอก สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา หนา ผิวค่อนข้างเรียบ ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบ 3 ใบย่อย แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเป็นมัน ด้านล่างใบสีอ่อนกว่าด้านบน ก้านใบประกอบมีความประมาณ 4-14 ซม. หูใบเล็ก ร่วงได้ง่าย ใบย่อยใบกลางเป็นรูปใบหอกหรือขอบขนาน กว้าง 1.5-6.5 ซม. ยาว 4.5-18 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างอีกสองใบโคนใบจะเบี้ยวเล็กน้อย ใบย่อยไม่มีก้าน หรือถ้ามีสั้นมาก เส้นใบได้ชัดเจน เมื่อใบแห้งจะมีสีค่อนข้างแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่น(corymp)ตามปลายยอด หนึ่งช่อมีมากกว่า 20 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 4-7 ซม. กลีบเลี้ยงลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม กลีบดอกมี 4 กลีบ แบ่งเป็นกลีบล่างและกลีบบนอย่างละ 2 กลีบ กลีบบนจะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละกลีบมีก้านกลีบค่อนข้างยาว  เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีลักษณะค่อนข้างกลมถึงรี กว้าง 1-2.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมากกว่า 30 อัน ยาว 4.0-5.5 ซม. เกสรเพศเมีย มี 1 อัน มีก้านยาว 5-8 ซม. มีรังไข่  1 อัน  ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ผลเป็นรูปกลมรี มีเปลือกหนา ผิวเรียบ ผลกว้าง 3-4.5 ซม.และยาว 5-7 ซม.ก้านผลยาวประมาณ 8-13 ซม. ผลสุกจะเละ มีกลิ่นแรง เมล็ดโต รูปร่างคล้ายเกือกม้าจะนวนมาก ขนาด 0.7 ซม. สีน้ำตาลเข้ม

 

การขยายพันธุ์   1. เพาะกล้าจากเมล็ด

  1. แยกต้นอ่อนที่เกิดจากไหลของต้นเดิมมาปลูก

 

ประโยชน์ของกุ่มน้ำ

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาดองน้ำเกลือและใส่น้ำซาวข้าวตากแดด แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน แล้วรับประทานได้ หรือนำไปปรุงเป็นอาหารประเภทแกงหรือผัด
  2. เนื่องจากใบและดอกกุ่มน้ำมีความสวยงาม จึงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ ตามบ้านอยู่อาศัย รีสอร์ต หรือสวนสาธารณะ ซึ่งเหมาะสำหรับทำเลที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง เพราะทนต่อน้ำท่วมขังได้ดี
  3. ต้นกุ่มน้ำเป็นไม้โตเร็ว มีรากลึกและแผ่กว้าง เหมาะสำหรับปลูกไว้ตามริมตลิ่งชายน้ำในแนวสูงกว่าระดับน้ำปกติในช่วงฤดูฝน หรือปลูกไว้ตามริมห้วยในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายหลัก จะสามารถช่วยลดการกัดเซาะริมตลิ่งได้เป็นอย่างดี เพราะทนทานต่อน้ำท่วมขังอีกด้วย
  4. ต้นกุ่มจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันในอดีต ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะ มีเงินเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนชื่อของต้นกุ่ม
  5. ไม้กุ่มน้ำเป็นไม้เนื้ออ่อน จึงสามารถนำมาใช้ในงานแกะสลักประดิดประดอยได้ดี เช่น เครื่องประดับ หรือ เครื่องดนตรี เป็นต้น
  6. คนเมืองเหนือนำลำต้นของกุ่มน้ำนำมาเจาะทำเป็นไหข้าวได้

 

สรรพคุณของกุ่มน้ำ

  1. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาบำรุงร่างกาย ใช้เป็นยาช่วยแก้อาเจียน แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยบำรุงกำลัง ช่วยแก้กษัย แก้ในกองลม หรือต้มเป็นยาตัดลมในลำไส้ ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นยาช่วยระงับพิษที่ผิวหนัง ช่วยแก้ลมทำให้เรอ ช่วยแก้ริดสีดวงผอมแห้ง ช่วยขับน้ำดี ช่วยขับน้ำเหลืองเสียในร่างกาย
  2. รากและเปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีได้
  3. รากใช้แช่น้ำกิน เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย
  4. ใบช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ช่วยแก้อาการสะอึก ช่วยแก้อาการปวดเส้น แก้โรคไขข้ออักเสบ แก้อัมพาต ใช้เป็นยาทาภายนอก เป็นยาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงทั่วบริเวณที่นวด
  5. ดอกกุ่มบกมีรสเย็น ช่วยแก้อาการเจ็บในตา ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว
  6. ใบและเปลือกต้นมีรสหอมขม ช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้ไข้ ใช้เป็นยาระบาย ช่วยขับพยาธิ เปลือกต้นมีรสขมหอม ช่วยขับผายลม หรือใช้เป็นยาขับลม

หมายเหตุ

  1. หากปล่อยไปตามธรรมชาติกุ่มน้ำจะผลัดใบทั้งหมดก่อนออกดอก หากได้รับการรดน้ำอยู่

เสมอ หรืออยู่ในทำเลที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงในช่วงออกดอกจะผลัดใบบางส่วน และช่อดอกจะ

น้อยลง

  1. กุ่มน้ำชอบทำเลที่เป็นริมแม่น้ำ ข้างลำธาร หรือที่ชื้นแฉะ ในป่าเบญจพรรณ หรือพบได้ตามริมน้ำลำธารในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ
  2. กิ่งและใบของกุ่มน้ำมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งเป็นพิษ ไม่ควรรับประทานสด ควรทำให้สุกก่อน ด้วยการนำมาดองหรือต้มเพื่อกำจัดพิษก่อนนำมารับประทาน
  3. ใบแก่ของกุ่มน้ำมีพิษ มีฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้อาเจียนมึนงง ไม่รู้สึกตัว มีอาการหายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กระตุก ชักก่อนจะหมดสติ หากได้รับในปริมาณมาก อาจเกิดอาการรุนแรงได้ภายใน 10-15 นาที แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณเล็กน้อยจะมีสรรพคุณเป็นยาระบาย

5.วิธีทำผักกุ่มดอง โดยนำดอกและใบอ่อนมาตากแดดให้พอสลด ล้างให้สะอาด แล้วคลุกเคล้า

กับเกลือพอประมาณ ใส่ในขวดโหล ใส่น้ำซาวข้าวให้ท่วม หรือเติมข้าวเหนียวสุกเล็กน้อย กด

ให้แน่น จะช่วยให้ใบเหลืองเร็ว ปิดฝาให้สนิท ประมาณ 2 – 3 วันก็นำมากินได้

  1. ทั้งกุ่มน้ำและกุ่มบก ต่างก็เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับผักเสี้ยน เป็นที่น่าแปลกใจที่คนสมัย

โบราณมีภูมิปัญญาที่หาวิธีนำผักทั้ง3ชนิดนี้มารับประทานด้วยการดองเหมือนกัน ทั้งที่ท่านไม่

น่าจะทราบเรื่องของวงศ์พืช

 

 

อ้างอิง

http://book.baanlaesuan.com/plant-library/varuna

                   https://medthai.com

http://www.phargarden.com

http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06_2.htm