ชมพู่ม่าเหมี่ยว ผลเดียวมีหลายเมล็ด

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

 

ความนำ          จากประสบการณ์ในการสอนในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์มากว่า 40 ปี พบว่าเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก“ชมพู่ม่าเหมี่ยว” ไม่เคยเห็น ไม่เคยกิน  ทั้งๆที่ชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นผลไม้โบราณที่มีมานานหลายชั่วอายุคน เมื่อแม่ค้านำมาขายในตลาดสด ตลาดนัด หรือในซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างหรูก็ขายได้น้อย จุดอ่อนของชมพู่ม่าเหมี่ยวมีหลายประการ คือ รสชาติฝาดอมเปรี้ยว ไม่หวานเหมือนชมพู่ชนิดอื่น ผิวผลบาง บอบช้ำง่าย มีรอยขีดข่วนง่าย ทำให้มีตำหนิ จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของชมพู่ม่าเหมี่ยวคือออกดอกจำนวนมากแต่ติดผลไม่ดกเหมือนชมพู่ชนิดอื่น กิ่งหนึ่งจะติดผลประมาณ1-3 ผลเท่านั้น ทั้งที่มีลำต้นใหญ่ จึงใช้พื้นที่มากในการเพาะปลูกกว่าพืชชนิดอื่น เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นพืชแซมในสวนลิ้นจี่ ส้มโอ และอื่นๆ ชาวสวนหันไปปลูกไม้ผลอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนต้นชมพู่ม่าเหมี่ยวลดลง ทำให้หาชมพู่ม่าเหมี่ยวมากินแทบไม่ได้ ทั้งๆที่ชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นพืชที่ปลูกง่าย มีความสวยงามทั้งทรงพุ่ม ใบ ดอกและผล จึงขอเชิญชวนให้มาปลูกกันให้มากขึ้น

มีเรื่องน่าสนใจของชมพู่ม่าเหมี่ยวที่น่ารู้อีกเรื่องหนึ่ง ที่นำไปเป็นบทเรียนได้ คือ ภายในผลชมพู่ม่าเหมี่ยวมีเมล็ดขนาดใหญ่เป็นก้อนกลมสีน้ำตาล มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นเมล็ดแบบมีหลายต้นอ่อน หรือ polyembryonic seed หมายถึงเมล็ดที่สามารถงอกเป็นต้นกล้าได้มากกว่า 1 ต้น เพราะเมล็ดก้อนโตนั้นประกอบด้วยเมล็ดจำนวน 6-9 เมล็ดเกาะติดกันเป็นก้อนใหญ่ แต่มีรอยแยกระหว่างเมล็ดอย่างชัดเจน ก้อนเมล็ดนี้จะแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะติดกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อผลสุกก้อนเมล็ดจะปริแตกเป็นร่องลึกระหว่างเมล็ดจนเห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อน(คัพภะ) ซึ่งด้านในที่มีสีขาวอมเขียวหรือชมพู สามารถแยกออกเป็นชิ้นมาปลูกได้ ตามรูปประกอบ

 

ชมพู่ม่าเหมี่ยว

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Syzygium malaccense

ชื่อวงศ์                     MYRTACEAE

ชื่อสามัญ                  Pomerac , Malay Apple

ชื่ออื่น                      ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่สาแหรก  ชมพู่แดง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์         

ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-12 เมตร ลำต้นแตกกิ่งมาก และเป็นกิ่งขนาดใหญ่ มีกิ่งขนาดเล็กเฉพาะปลายยอด ทรงพุ่มแน่นทึบ  เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน ผิวลำต้นขรุขระ และสากมือ ใบเดี่ยว เรียงตัวตรงข้ามสลับกันเป็นคู่ ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีชมพู ใบแก่ขนาดใหญ่ ค่อนข้างแข็งเหนียว แผ่นใบและขอบใบเรียบ หนาเป็นมัน สีเขียวเข้ม รูปรี โคนใบมน ปลายใบแหลม กว้าง 8-15 ซม. ยาว 15-25 ซม.  และ แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวอมเขียวชัดเจน ดอกออกเป็นช่อ แบบช่อกระจุกตามข้อบนกิ่งขนาดใหญ่ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-5 ดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นก้อนทรงกลมที่ห่อหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง ดอกบานจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล จำนวน 5 กลีบ ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีลักษณะกลม จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีสีชมพูเข้ม ตรงกลางเป็นก้านเกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว 3-5 ซม. ก้านเกสรเป็นสีชมพูเข้ม ด้านในสุดเป็นเกสรเพศเมีย และรังไข่ที่ฝังอยู่บริเวณฐานดอก ก้านเกสรเพศผู้จะร่วงหลังจากดอกบานเต็มที่ ผลกลมเป็นรูประฆัง อวบอ้วน ขนาด 4.5-6.5 ซม. ยาว 5.5-8 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวอมขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม และเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมแดง เนื้อผลหนา และนุ่ม มีสีขาว ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่เป็นก้อนกลมสีน้ำตาล เป็นเมล็ดแบบpolyembryonic seed ซึ่งสามารถงอกเป็นต้นกล้าได้มากกว่า 1 ต้น เพราะประกอบด้วยเมล็ด 6-9 เมล็ดเกาะติดกันเป็นก้อนใหญ่ แต่มีรอยแยกระหว่างเมล็ดอย่างชัดเจน ก้อนเมล็ดแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อผลสุกก้อนเมล็ดจะปริแตกเป็นร่องของแต่ละเมล็ดจนให้เห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อนด้านในที่มีสีขาวอมเขียว สามารถแยกออกเป็นชิ้นมาปลูกได้

การขยายพันธุ์

1. เพาะกล้าจากเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายมาก จะได้ต้นที่สูง

  1. ตอนกิ่ง หรือเสียบยอด จะได้ต้นที่เตี้ย สะดวกในการบำรุงรักษา และการห่อผล

ประโยชน์        1. รับประทานผลที่แก่จัดเป็นผลไม้สด เนื่องจากมีเนื้อหนา กรอบ และมีรสเปรี้ยวอมหวาน

  1. ยอดอ่อนชมพู่ม่าเหมี่ยว ใช้รับประทานคู่กับอาหารรสจัด เช่น น้ำพริก ลาบ ซุปหน่อไม้
  2. ผลห่ามของชมพู่ม่าเหมี่ยวใช้ปรุงเป็นอาหารจำพวกแกง
  3. ผลสุกชมพู่ม่าเหมี่ยวนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม น้ำชมพูม่าเหมี่ยว และไวน์ เป็นต้น
  4. ปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากชมพู่ม่าเหมี่ยว มีความสวยงามทั้งทรงต้น ใบ ดอก ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกสรเพศผู้ที่มีสีชมพูเข้มสวยงาม

สรรพคุณ

  1. ผลของชมพู่ม่าเหมี่ยวมีสารแอนโทไซยานิน ที่พบมากบริเวณผิวด้านนอกของผลมีคุณสม

บัติช่วยต้านโรคมะเร็ง ผลของชมพู่ม่าเหมี่ยวช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ลำคออักเสบ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับเมหะ ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน แก้อาหารท้องเสีย

  1. ใบอ่อนและยอดอ่อนมีฤทธิ์ต้านโรคมะเร็ง ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืด ช่วยขับลม แก้อาการท้องเสีย แก้อาการปวดฟัน แก้โรคบิด
  2. ราก เปลือก และแก่นลำต้นช่วยรักษาอาหารผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยในการลดไข้ รักษาโรคบิด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับประจำเดือน

การปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยว

การปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยว นิยมปลูกด้วยต้นกล้า เป็นวิธีที่ง่าย ได้ต้นสูง แต่จะใช้เวลานานมากกว่า 4-6 ปี จึงจะติดผล ถ้าปลูกจากกิ่งตอน ลำต้นจะไม่สูงมาก สามารถติดผลได้เร็วกว่าการปลูกต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด ส่วนต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่งหรือการเสียบยอด สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายพันธุ์ไม้ทั่วไป

การเพาะกล้า และปลูกด้วยเมล็ด

เมล็ดชมพู่ม่าเหมี่ยวใน 1 ผล จะได้ต้นกล้ามากกว่า 5 ต้น เมล็ดที่ใช้ปลูกควรเป็นเมล็ดที่มาจากผลที่ร่วงจากต้นจึงจะมีอัตราการงอกสูง แต่ก็สามารถใช้เมล็ดจากผลที่ซื้อตามร้านขายผลไม้ได้เช่นกัน หลังจากได้ผลสุกของชมพู่ม่าเหมี่ยวแล้ว ให้แกะเมล็ดออก ซึ่งจะได้เมล็ดรวมที่เกาะกันเป็นก้อนเดียว จากนั้นนำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ โดยเกลี่ยดินกลบเพียงเล็กน้อย พร้อมรดน้ำทุกวันให้ชุ่ม ซึ่งเมล็ดจะงอกต้นอ่อนภายในเวลา3-4 สัปดาห์  เมื่อต้นกล้ามีใบจริง  3-5 ใบ จึงถอนขึ้นมาแยกปลูกในถุงเพาะชำ หลังจากนั้น ดูแล และรดน้ำจนกล้าต้นสูงประมาณ 30 ซม. ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน จึงนำลงปลูกในแปลงปลูก การปลูกด้วยกล้าจากการเพาะเมล็ด ให้ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 6-8 เมตร ส่วนต้นพันธุ์จากการกิ่งตอนหรือการเสียบยอดจะปลูกในระยะที่ใกล้กว่าคือ 4-6 เมตร

การดูแลรักษา  หากปลูกในฤดูฝนก็อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ หลังจากนั้นก็รดน้ำวันเว้นวัน และให้ปุ๋ยตามความจำเป็น คือให้ปุ๋ยสูตรเสมอ15-15-15 ช่วงก่อนออกดอก ส่วนในช่วงให้ผลผลิตต้องใช้สูตร 13-13-21 ชมพู่ม่าเหมี่ยวจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3-5 ปี ในระยะแรกจะให้ผลผลิตประมาณ 20-30 กิโลกรัมต่อ1 ต้น เมื่อลำต้นมีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป ก็จะให้ผลผลิตประมาณ 60-80 กิโลกรัมต่อต้นและต่อปี สำหรับชมพู่ม่าเหมี่ยวที่ปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ปี จึงจะให้ผล ส่วนการปลูกด้วยกิ่งตอนหรือการเสียบยอดจะติดผลได้เมื่ออายุ 2-3 ปี เมื่อผลชมพู่เริ่มโตประมาณหัวนิ้วมือและมีสีแดงออกเรื่อๆ ให้ใช้ถุงพลาสติกชนิดมีหูหิ้วขนาด 8 x 10 นิ้ว ห่อผลชมพู่ เพื่อป้องกันแมลงและกระรอกรบกวน

การเก็บเกี่ยว เมื่อผลชมพู่ม่าเหมี่ยวในถุงที่ห่อไว้แก่ได้ที่ ผิวผลจะออกสีแดงเข้ม และส่งกลิ่นหอมแสดงว่าพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว ต้องเก็บเกี่ยวอย่างระวังเป็นพิเศษ ด้วยการใช้มือเด็ดที่ขั้วผลหรือตัดด้วยกรรไกร ไม่ให้ผลช้ำเพราะชมพู่ม่าเหมี่ยวเป็นผลไม้ที่มีผิวเปลือกบาง และมีอายุในการขายค่อนข้างสั้น หลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้วให้นำมาบรรจุในเข่งที่มีความหนาเป็นพิเศษบุด้วยใบตองทุกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผลชมพู่เสียดสีกัน ผลที่มีคุณภาพจะจำหน่ายในราคาขายส่งกิโลกรัมละไม่น้อยกว่า 50 บาท          การเก็บรักษา ผลชมพู่ม่าเหมี่ยวที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเก็บไว้ในห้องธรรมดาจะเก็บได้นาน 3-5วัน แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นานประมาณ 7-14 วัน

ศัตรูของชมพู่ม่าเหมี่ยว ชมพู่ทั่วไปจะถูกรบกวนจากหนอนแมลงวันทองเจาะกินเนื้อจนเน่าแล้วทยอยร่วงหล่นลงมาทั้งหมด เกษตรกรไม่มีโอกาสได้เก็บเกี่ยว  แต่ศัตรูของชมพู่ม่าเหมี่ยวกลับเป็นกระรอกแทะกินผลที่กำลังเริ่มแก่ เกษตรกรต้องห่อผลทุกผลที่คัดเลือกไว้แล้ว จึงจะได้เก็บเกี่ยวมาบริโภคและจำหน่าย

 

หมายเหตุ  เมล็ดชมพู่ม่าเหมี่ยว เป็นเมล็ดแบบpolyembryonic seed ตามความหมายทางพฤกษศาสตร์นั้น หมายถึงเมล็ดที่สามารถงอกเป็นต้นกล้าได้มากกว่า 1 ต้น ซึ่งจะพบได้ในเมล็ดมะม่วง และชมพู่อีกหลายชนิด  เมล็ดก้อนโตที่เห็นนั้นประกอบด้วยเมล็ดจำนวน 6-9 เมล็ดเกาะติดกันเป็นก้อนใหญ่ แต่มีรอยแยกระหว่างเมล็ดอย่างชัดเจน เมล็ดก้อนโตนี้จะแยกออกจากเนื้อผล ไม่เกาะติดกับเนื้อผล เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อผลสุกก้อนเมล็ดจะปริแตกเป็นร่องลึกระหว่างเมล็ดจนเห็นเนื้อเมล็ด และต้นอ่อน(คัพภะ)ด้านในที่มีสีขาวอมเขียวหรือชมพู สามารถแยกออกเป็นชิ้นมาปลูกได้

 

อ้างอิง

http://halsat.com

                   http://puechkaset.com

                   https://sites.google.com/site/aujchara444/chmphu-ma-hemiyw

                   https://th.wikipedia.org/wiki